โสภณธรรม ครั้งที่ 031
ตอนที่ ๓๑
ผู้ฟัง การเจริญสติปัฏฐานนั้นจะเป็นอย่างไร
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ตัวเรา ในขณะนั้นเป็นนามธรรม กับเป็นรูปธรรม สติระลึกที่ลักษณะของนามธรรมหรือรูปธรรมทางหนึ่งทางใด ทางตาที่กำลังเห็น ทางหูที่กำลังได้ยิน ทางจมูกที่กำลังได้กลิ่น ทางลิ้นขณะนั้นแล้วแต่จะมีหรือไม่มี ทางกายที่กระทบสัมผัส ทางใจที่คิดนึก แม้แต่ความนอบน้อมในขณะนั้น ก็เป็นสภาพธรรมที่เป็นหิริโอตตัปปะ เป็นความเคารพ เป็นความยำเกรง ไม่ใช่เป็นเรา เพราะเหตุว่าถ้าเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานจริงๆ จะรู้ได้ว่า สภาพธรรมทั้งหลายมีก็เหมือนไม่มี เพราะเหตุว่ามีอายุที่สั้นมาก คือ เพียงชั่วขณะที่ปรากฏแล้วก็หมดไป สิ่งใดที่มีในขณะที่ปรากฏแล้วก็หมดไป ปรากฏแล้วก็หมดไป ปรากฏแล้วก็หมดไป อยู่เรื่อยๆ สิ่งนั้นก็เสมือนไม่มี เพราะเป็นชั่วขณะที่เล็กน้อย แล้วสั้นมาก ใช่ไหม อย่างเสียงนี้ มี ชั่วขณะที่สั้นมาก ดับไปแล้ว เมื่อสิ่งนั้นดับไปแล้ว ก็เสมือนไม่มี เพราะว่าดับหมดไปแล้ว จะว่ามี ก็ไม่ถาวร เพราะเหตุว่าเพียงชั่วขณะที่สั้นเท่านั้นเอง
เพราะฉะนั้น ในขณะที่กำลังถวายทานก็ดี หรือว่ากำลังเป็นทานกุศลกับบุคคลหนึ่งบุคคลใดก็ดี สติสามารถที่จะระลึกลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้นได้ แล้วก็รู้ความจริงว่า ทุกอย่างทุกสิ่งที่มีเสมือนไม่มี และตามความจริงก็ต้องเป็นอย่างนั้นด้วย ทุกอย่างที่เป็นตัวของท่าน สมบัติของท่าน ญาติพี่น้องของท่าน ชั่วขณะจิตเดียวที่สิ่งนั้นปรากฏ แล้วก็หมดไป เพราะฉะนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างเหมือนไม่มี แม้ว่ามี ก็เพียงชั่วขณะที่ยังไม่ดับ แล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว แล้วสิ่งนั้นก็ไม่กลับมาอีกเลย
ผู้ฟัง ก็มหากุศลญาณสัมปยุตต์นี้แม้รู้สึกว่าจะเกิดยากจริงๆ เพราะขณะที่ให้ทานที่จะประกอบด้วยมหากุศลญาณสัมปยุตต์ในขั้นทานนี้ ก็รู้สึกว่าจะเกิดยาก แต่ส่วนใหญ่จะเป็นญาณวิปปยุตต์ คือ เคยให้ก็ให้ เห็นเขาให้ก็ให้ อะไรทำนองนี้ ซึ่งไม่ค่อยจะได้พิจารณาถึงเหตุถึงผลอะไรเท่าไร และยิ่งขึ้นไปอีกคือที่จะให้มีสติเกิดในขณะนั้น เป็นการเจริญสติปัฏฐาน ก็ยิ่งยากหนักเข้าไปอีก จะทำอย่างไรถึงจะเกื้อกูลที่จะให้สติปัญญาเกิดขึ้นในการให้ทาน ในการทำกิจวัตรประจำวันของเรา
ท่านอาจารย์ ต้องอดทน ต้องอดทนที่จะฟังพระธรรม เข้าใจพระธรรม และก็น้อมประพฤติปฏิบัติตามด้วย ข้อสำคัญที่สุด คือ เมื่อเข้าใจแล้ว น้อมประพฤติปฏิบัติตาม เป็นหนทางเดียวจริงๆ ถ้าเพียงแต่เข้าใจ พระธรรมจะไม่มีประโยชน์เลย แต่ว่าเมื่อเข้าใจแล้ว เห็นความยากของโสภณธรรมทั้งหลายที่จะเกิดขึ้นแต่ละขั้นๆ ๆ จะทำให้เป็นผู้ที่ไม่ละโอกาสที่จะทำกุศลทันที เพราะรู้ว่าถ้าพลาดโอกาสนั้น อกุศลก็เกิดอีก เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นผู้ที่สามารถจะทำกุศลได้เร็วเท่าไร ก็ยิ่งดีเท่านั้น เพราะเหตุว่าชีวิตแต่ละภพ แต่ละชาติก็สั้นมาก ก็ไม่ทราบว่า ชาติหน้าจะมาถึงเร็วหรือช้า เมื่อไร เกิดที่ไหน เป็นบุคคลใด มีโอกาสที่จะได้ฟังพระธรรม มีโอกาสที่จะได้เจริญกุศลอีกไหม
เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นโอกาสที่จะเจริญกุศลได้ก็กระทำโดยเร็ว หรือว่าโดยทันที และก็ต้องเข้าใจเรื่องของทานบารมีด้วย เพราะเหตุว่าทุกท่านมีการให้ทาน แต่ว่าทานของท่านจะเป็นทานบารมีต่อเมื่อมีจุดประสงค์ที่จะดับกิเลส ซึ่งเรื่องของการดับกิเลสเป็นเรื่องยาก เป็นเรื่องละเอียด เป็นเรื่องที่จะข้ามลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏไม่ได้เลยที่จะต้องรู้ ที่จะต้องเข้าใจโดยชัดเจน และก็เมื่อมีจุดประสงค์ที่จะดับกิเลส ก็จะต้องเป็นผู้ที่เจริญกุศลทุกประการด้วย
และคำว่า เจริญกุศลทุกประการนี้ ต้องเป็นทุกประการจริงๆ ทั้งในขั้นของทาน ศีล ความสงบของจิตจากอกุศล และการเจริญสติปัฏฐานด้วย เพราะมิฉะนั้นบางคนก็อาจจะพอใจเพียงขั้นทานและก็ขั้นศีล แต่ในเรื่องของความสงบของจิต หรือว่าการอบรมเจริญสติปัฏฐาน อาจจะยังรอไว้ก่อน ก็เป็นได้
ผู้ฟัง การให้ทาน ถ้าเกิดในขณะที่น้อมใจไปเพื่อพระอริยสงฆ์ ในขณะที่น้อมใจไปอย่างนี้จะเป็นญาณสัมปยุตต์ได้ไหม
ท่านอาจารย์ ขณะนั้นแล้วแต่ เป็นญาณวิปปยุตต์ก็ได้ หรือว่าเป็นญาณสัมปยุตต์ก็ได้ เพราะว่าเรื่องของญาณนี้ จริงๆ แล้วก็เป็นเรื่องของปัญญาที่ละเอียดมากทีเดียว
ผู้ฟัง แล้วการกระทำทานนี้ ถ้ากระทำไปเพื่อการเกื้อกูลการเจริญสติปัฏฐาน และก็รู้ประโยชน์ของการเจริญสติปัฏฐาน แล้วก็ทำทาน อย่างนี้จะเป็นญานสัมปยุตต์ไหม
ท่านอาจารย์ นี่ก็เป็นเรื่องความละเอียดของธรรม ซึ่งก็จะต้องเป็นผู้ที่สติระลึกโดยละเอียดจริงๆ เพราะมิฉะนั้นแล้วโลภะจะแทรกเข้ามาได้อีกทันที เพราะว่าถ้าเป็นไปเพื่อการที่จะดับกิเลส เพื่อการขัดเกลาจิต อย่างนั้นถูกต้อง แต่ถ้าทำเพื่อที่จะให้เป็นบาทให้สติเกิดให้ระลึก หวังสติปัฏฐานที่จะเกิด อันนั้นก็แทรกความหวังเข้ามาอีก เพราะเหตุว่ากิเลสทั้งหลายจะดับเป็นสมุจเฉทได้ ก็ต่อเมื่อปัญญารู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า เป็นแต่เพียงสภาพธรรมแต่ละลักษณะ ที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แม้ความหวังที่เกิดขึ้นอย่างบางเบา สติก็จะต้องระลึกรู้ลักษณะที่เป็นอโสภณะในขณะนั้นว่าไม่ใช่หนทาง ถ้าหนทางจริงๆ ก็คือสติระลึกทันที โดยไม่หวังว่าจะทำอย่างนั้น เพื่ออย่างนี้
บางท่านก็อ่านพระไตรปิฎกเสียหลายเล่ม เพื่อหวังให้สติเกิด คือ ทำหลายๆ อย่าง บางท่านก็หาสิ่งแวดล้อม จะต้องอยู่ในสถานที่อย่างนั้นเพื่อหวังที่จะให้สติเกิด แทนที่สติจะระลึกทันที หนทางเดียวคือ ไม่ใช่อื่นเจ้า เพียงแต่สติระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง แต่เรื่องของความหวัง เรื่องของโลภะ เป็นเรื่องที่ไม่มีใครสามารถที่จะห้าม ที่จะยับยั้ง ที่จะดับได้ ปัญญาที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมเท่านั้นที่จะรู้และที่จะดับได้ โดยรู้ว่า แม้ในขณะนั้นก็ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงความหวังที่เกิดขึ้น แล้วก็ดับไป ทันทีที่สติระลึกลักษณะของสภาพธรรมก็ตัดเรื่องของโลภะไปเลย แต่ถ้าหวังทำอย่างอื่นก่อน และก็ขณะที่กำลังหวังนั้น สติไม่ได้ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ขณะนั้นก็ไม่ใช่หนทางที่จะทำให้ดับความหวังนั้นได้
เรื่องของอกุศลจิตซึ่งมีมาก และก็วันหนึ่งๆ ที่กุศลจิตไม่เกิด ลองดูว่า วันไหนกุศลจิตไม่เกิดเลย วันนั้นรู้ตัวหรือเปล่าว่า มืดมิดด้วยอวิชชาและด้วยอกุศล แต่ดูสนุกสนานรื่นเริงดี ใช่ไหม
นี่เป็นเรื่องของความไม่รู้ทั้งหมด ในขณะที่กำลังเพลิดเพลินด้วยโลภะ กำลังพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ วันนี้สนุกจริง วันนี้สบายมาก ในขณะนั้นก็ให้ทราบว่า ขณะใดที่กุศลจิตไม่เกิด และก็อกุศลกลุ้มรุม ขณะนั้นมืดมิด ไม่ได้รู้หนทางที่จะทำให้กิเลสละคลายลงไปได้ แต่ว่าผู้ที่เห็นอกุศลมากเท่าไร ตามความเป็นจริง ก็ยิ่งจะเป็นผู้ที่เพียรที่จะขัดเกลากิเลส เพื่อที่จะดับอกุศลนั้นๆ
เพราะฉะนั้น สำหรับที่ว่า “เจริญกุศลทุกประการ” ขออย่าได้เป็นผู้เว้น ไม่เจริญกุศลประการหนึ่งประการใด ทั้งในขั้นของทาน ศีล ความสงบของจิตจากอกุศล และการเจริญสติปัฏฐานด้วย
แม้แต่ในเรื่องของทานเรื่องเดียว ก็มีทั้ง วัตถุทาน อภัยทาน และธรรมทาน ซึ่งก็ควรที่จะครบทั้ง ๓ ทาน เพราะเหตุว่าผู้ที่ควรแก่วัตถุทานก็มีมาก ไม่ใช่น้อยเลย และก็วันหนึ่งๆ ถ้าไม่มีทานกุศลเลย ก็เป็นไปไม่ได้แน่ที่จะดับกิเลสเป็นสมุจเฉทได้ในชาติหนึ่งๆ ที่ทานกุศลไม่เกิด ถ้าไม่มีการเอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่ ไม่มีกุศลจิตแม้ขั้นทาน แล้วก็จะให้กิเลสดับ ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้
สำหรับอภัยทาน ไม่ต้องมีวัตถุไทยธรรมที่จะให้ แต่ก็ควรพิจารณาว่า จะยากกว่าการสละวัตถุทานหรือเปล่า เพราะเหตุว่าเป็นการสละความเห็นแก่ตัว ความรักตัวในการที่ไม่อภัยในความผิดของคนอื่น หรือในความบกพร่องของคนอื่น ขณะที่ไม่อภัยให้บุคคลอื่น ขณะนั้นลองพิจารณาดูว่า เพราะรักตัวเองหรือเปล่า ที่ทำให้ไม่สามารถจะอภัยในความผิด หรือในความบกพร่องของคนอื่นได้ ลึกลงไปจริงๆ เป็นเพราะความรักตัว ความยึดมั่นในตัวตนหรือเปล่า การสละความเห็นแก่ตัวขั้นอภัยทาน ทำให้สละความคิดร้าย สละความแค้นเคือง สละความผูกโกรธ สละความไม่หวังดี สละความไม่เป็นมิตร สละความไม่เกื้อกูล สละความไม่มีน้ำใจต่อคนอื่น
พระธรรมเหมือนกระจกที่จะส่องตัวของท่าน ให้รู้จักตัวของท่านตามความเป็นจริงชัดเจนว่า ท่านมีทานขั้นไหน เพียงวัตถุทาน หรือว่าอภัยทานด้วย เพราะบางคนสละวัตถุง่าย แต่อภัยทานยาก เพราะฉะนั้น ก็เห็นความเห็นแก่ตัว ความยึดมั่นในตัวตน ความรักตัว ซึ่งเป็นเหตุที่ทำให้ไม่อภัยในความผิดและความบกพร่องของคนอื่น ถ้าเห็นความบกพร่องของตัวเองที่ไม่อภัย เห็นความเห็นแก่ตัวเองที่ไม่ให้อภัยคนอื่น ก็ควรที่จะเห็นความเห็นแก่ตัวนั้นว่า เป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ น่ากลัว และก้ควรที่จะรีบอภัยให้ทันที จะไม่มีอกุศลธรรมที่น่ารังเกียจ ที่เป็นความเห็นแก่ตัวนั้นๆ ก็ควรที่จะคิดต่อไปอีกว่า ผู้ที่ควรแก่การรับอภัยทานนั้นมีใครบ้าง เพราะบางคนก็ช่างคิด คนนี้อภัยให้ได้ คนนั้นอภัยให้ไม่ได้ นี่ก็เป็นเรื่องของอกุศลทั้งนั้น ไม่มีความเสมอกันในสภาพธรรมที่ยึดถือว่าเป็นบุคคลต่างๆ เพราะฉะนั้น ก็ควรที่จะพิจารณาว่า ผู้ที่ควรแก่การที่จะรับอภัยทานนั้นมีใครบ้าง จะเว้นไหม หรือไม่ควรเว้น ทุกคน ไม่ว่าคนดีและคนชั่ว บางคนอาจจะอภัยให้เฉพาะคนดี เพราะเหตุว่าเขาดี ก็อภัยให้ แต่คนชั่วไม่อภัย
ลองพิจารณาจิตในขณะนั้นจริงๆ พระธรรมที่ทรงแสดงให้เห็นถึง โลภะ ความยึดมั่นในความเป็นตัวตน และอโลภะ ที่จะค่อยๆ สละความยึดมั่นในความเห็นแก่ตัว หรือในความเป็นตัวตน ที่จะต้องไม่ใช่แต่เฉพาะสละวัตถุเป็นทานเท่านั้น แม้อภัยทานก็ควรที่จะมีแก่ทุกคน ไม่ใช่แต่เฉพาะกับคนดี เพราะเหตุว่าคนดีก็อาจจะมีบางครั้งบางคราว ซึ่งผิดพลาดพลั้งเผลอ ทำให้คนอื่นคิดมาก เป็นทุกข์โดยไม่ตั้งใจ เพราะว่าทุกคนเป็นอย่างนี้ค่ะ วันหนึ่งสุขทุกข์ก็เกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์ต่างๆ เรื่องราวต่างๆ บุคคลต่างๆ อาจจะเป็นโดยความบังเอิญ โดยความประจวบกันของเรื่องราวและเหตุการณ์อื่นๆ หรือว่าการฟังผิด การคิดผิด การเข้าใจผิดเล็กๆ น้อยๆ ก็ผสมผสานกัน ทำให้โลภะซึ่งเป็นความรักตน ยึดมั่นในตน เป็นเหตุให้ผูกโกรธ และไม่อภัยในกาย วาจา ใจของคนอื่น ซึ่งขณะที่ไม่อภัยให้นั้น ขณะนั้นไม่ได้สละความเห็นแก่ตัวของตนเอง
เพราะฉะนั้น ถ้าอภัยให้เมื่อไร ก็แสดงว่าสละความรักตน ความยึดมั่นในตน ความเห็นแก่ตนลง เพราะฉะนั้น ธรรมเป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาโดยละเอียดจริงๆ แม้แต่การไม่อภัยก็ต้องรู้ว่า มีเพราะโลภะเป็นเหตุ เพราะฉะนั้น ถ้าสภาธรรมที่เป็นอโลภะเกิดขึ้น คลายความยึดมั่นในตัวตน ก็จะทำให้อโลภะเจริญขึ้น จนถึงขั้นที่สามารถจะดับกิเลสได้
สำหรับธรรมทาน เป็นการสละความเห็นแก่ตัวขั้นสูงทีเดียว เพราะเหตุว่ากุศลทั้งหลายจะเจริญขึ้นได้ก็เพราะธรรมทาน แม้ว่าจะมีวัตถุทานสักเท่าไร ก็ไม่พอที่จะเกื้อกูลคนที่ยากไร้ที่ควรแก่การที่จะรับวัตถุทานในสังสารวัฏฏ์ ทั้งในอดีต ทั้งปัจจุบัน ทั้งอนาคต การที่จะสงเคราะห์ช่วยเหลือบุคคลอื่น ด้วยวัตถุทาน ก็เป็นเพียงการช่วยเหลือสงเคราะห์ให้เขาอยู่ต่อไปในสังสารวัฏฏ์ เวียนสุข เวียนทุกข์ ซึ่งไม่พ้นจากการลำบากยากไร้ได้โดยเด็ดขาด เพราะฉะนั้น ธรรมทานจึงเป็นการสละการเห็นแก่ตัว ความยึดมั่นในตัวตน โดยบำเพ็ญขั้นประโยชน์สูงสุด คือ ผู้ที่จะเกื้อกูลบุคคลอื่นในทางธรรม ต้องเป็นผู้ที่ศึกษาพระธรรม พิจารณาพระธรรม เผยแพร่พระธรรม ช่วยเหลือบุคคลอื่นให้เข้าใจพระธรรม โดยทางหนึ่งทางใด ไม่ว่าจะเป็นโดยการสนทนา โดยการพิมพ์หนังสือ โดยการสงเคราะห์ช่วยเหลือในเรื่องที่จะเป็นไปในธรรมทั้งหมด ก็เป็นธรรมทาน และพร้อมกันนั้นก็เป็นผู้ที่ประพฤติปฏิบัติธรรมทุกประการด้วย ไม่ใช่เพียงแต่เป็นผู้ที่จะให้ธรรมเป็นทานเท่านั้น แต่จะต้องปฏิบัติธรรมด้วย
การฟังพระธรรมไม่มีวันจบ การศึกษาพระธรรมก็ไม่มีวันจบ กิจที่จะกระทำก็ไม่มีวันจบสิ้น จนกว่าจะถึงความเป็นพระอรหันต์ เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องซึ่งทุกท่านจะต้องเจริญกุศลเป็นบารมีต่อไปเรื่อยๆ
เหตุให้เกิดโยนิโสมนสิการ ในชีวิตทุกชาติ จากการฟังพระธรรมและศึกษาพระธรรม ข้อความในสัมโมหวิโนทนี อรรถกถา วิภังคนิทเทส สมาธิสัมโพชฌงค์ มีข้อความว่า
จิตสังเวช ด้วยการพิจารณาสังเวควัตถุ ๘ ประการ ชื่อว่า สังเวควัตถุ ๘ คือ ชาติ ชรา พยาธิ มรณะ รวมเป็น ๔ อบายทุกข์ เป็นที่ ๕ วัฏฏมูลกทุกข์ในอดีตเป็นที่ ๖ วัฏฏมูลกทุกข์ในอนาคตเป็นที่ ๗ อาหารปริเยฏติมูลกทุกข์ในปัจจุบันเป็นที่ ๘ และยังความเลื่อมใสให้เกิดด้วยการระลึกถึงคุณแห่งพระรัตนตรัย
นี่คือการที่จิตจะสังเวช ถอยกลับจากการที่จะเป็นอกุศล ด้วยการพิจารณา สังเวควัตถุ ๘ ประการนี้
สำหรับ “ชาติ” ความเกิดมีจริงแท้แน่นอนใช่ไหม เพราะเหตุว่าทุกคนพิสูจน์แล้ว รู้แล้ว เพราะว่าเกิดมาแล้วในโลกนี้ เพราะฉะนั้น ชาติ การเกิดนี้ต้องมีแน่นอน ตราบใดที่ยังไม่ได้ดับกิเลสหมดเป็นพระอรหันต์ และเมื่อเกิดมาแล้ว “ชรา” ก็ต้องมีแน่นอน ท่านที่กำลังสู่วัยชรา ล่วงไปๆ ทุกขณะ ก็เป็นการพิสูจน์ธรรมว่า “ชรา” มีจริง เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องรู้ แล้วพิสูจน์ด้วยตนเองแน่นอน ความไม่เที่ยง เมื่อเกิดมาแล้ว จะคงอยู่ในสภาพนั้นต่อไปไม่ได้ ก็จะต้องมีการเปลี่ยนแปลง และก็จากวัยเด็กสู่วัยชรา “พยาธิ"”เป็นสิ่งที่มีจริง ยังคงจะพอใจไหม เมื่อเกิดมาแล้วต้องแก่ แล้วก็ต้องเจ็บ ต้องมีโรคภัยเบียดเบียน ทุกภพชาติไป นอกจากในภูมิที่เป็นสุคติภูมิขั้นเทวโลก ขั้นสวรรค์ ขั้นพรหม แต่แม้กระนั้นก็ไม่มีใครสามารถที่จะอยู่ตลอดไปในสวรรค์ และในพรหมโลกได้ ถ้าไม่ใช่เป็นพระอริยบุคคลตามลำดับขั้น ที่ควรแก่ภูมินั้นๆ เพราะฉะนั้น ก็จะต้องกลับมาสู่ความเป็นอย่างนี้ เวลาเป็นทุกข์เพราะโรคภัย ก็เห็นความจริงว่า ชีวิตไม่ใช่มีแต่สนุกสนานรื่นเริง แต่ว่าความจริงนี้ไม่ใช่ความจริงแต่เฉพาะในชาตินี้ แม้ในชาติก่อนๆ คือ วัฏฏมูลกทุกข์ในอดีต และวัฏฏมูลกทุกข์ในอนาคต เกิดอีกก็จะต้องเป็นอย่างนี้อีก จะต้องมีชาติ มีชรา มีพยาธิ มีมรณะ
เพราะฉะนั้น ถ้าพิจารณาอย่างนี้ ก็จะทำให้โยนิโสมนสิการเกิด เพราะเหตุว่ามีชีวิตอยู่ในโลกนี้ตลอดไปไม่ได้ สิ่งใดที่เคยถือว่าเป็นของเรา ทั้งศีรษะตลอดเท้าก็ไม่ใช่ เพราะเหตุว่าจะต้องถึงมรณะในวันหนึ่ง ซึ่งจะไม่มีความเป็นบุคคลนี้อีกต่อไป นี่คือสิ่งที่เคยหวงแหนเป็นที่สุด คือ สิ่งที่เคยยึดถือว่าเป็นตัวตน ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า
สำหรับทรัพย์สมบัติทั้งหลายก็แสดงให้เห็นถึงความไม่เที่ยง ความเปลี่ยนแปลง แม้ยังไม่จากโลกนี้ได้ เพราะฉะนั้น ก็ควรที่จะได้เห็นว่า ถึงอนาคตชาติก็ต้องเป็นอย่างนี้อีก คือ ไม่มีสิ่งใดเลยที่จะเป็นสมบัติอันแท้จริง เพียงแต่ว่าสภาพธรรมแต่ละอย่างเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้น มีก็เหมือนไม่มี เป็นสิ่งที่ว่างเปล่าจริงๆ เพราะเหตุว่าเมื่อดับไปแล้ว สิ่งนั้นไม่ได้กลับมาอีก
ทุกท่านที่ได้ฟังพระธรรมหรือว่าได้อ่านพระไตรปิฎก เคยเฉลียวใจบ้างไหม ที่ในพระไตรปิฎกเต็มไปด้วยเรื่องของโลภะ โทสะ โมหะ อโลภะ อโทสะ อโมหะ มากกว่าเรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน ซึ่งเป็นเพียงบางสูตร เพราะเหตุว่าหนทางที่จะดับกิเลสมีหนทางเดียว คือ การเป็นผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐาน เมื่อได้เข้าใจหนทางนี้ถูกต้องแล้ว และเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน ก็ย่อมระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมในชีวิตตามปกติ เช่น ในขณะที่เป็นโลภะ ในขณะที่เป็นโทสะ ในขณะที่เป็นอกุศล ซึ่งมีมากกว่าในขณะที่เป็นกุศลในวันหนึ่งๆ เพราะฉะนั้น แม้ว่าจะเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานแล้ว ก็ยังมีปัจจัยที่จะทำให้อกุศลเกิดขึ้นปรากฏให้รู้ ซึ่งถ้าไม่รู้จักลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ตามความเป็นจริง ก็ดับกิเลสไม่ได้เลย
เพราะฉะนั้น ในพระไตรปิฎกจะเห็นได้ว่า มีเรื่องของอโลภะ อโทสะ อโมหะ และเรื่องของโลภะ โทสะ โมหะ ซึ่งเป็นชีวิตประจำวันจริงๆ ให้รู้ บางท่านก็อาจจะรู้สึกว่า ท่านได้พบพระธรรม หรือว่าได้ฟังพระธรรมเมื่ออายุมากแล้ว แต่แม้กระนั้นเมื่อได้ฟังพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแก่คนชราอายุ ๑๒๐ ปี ด้วยการพิจารณาอย่างแยบคาย ก็ย่อมจะเห็นคุณของกุศลธรรม และเห็นโทษของอกุศลธรรม ที่จะทำให้มีชีวิตอยู่ต่อไปด้วยการละอกุศล และเจริญกุศลยิ่งขึ้น ซึ่งก็ย่อมจะเป็นไปทั้งในชาตินี้ และต่อๆ ไปในชาติหน้าด้วย ถ้าเริ่มเจริญกุศลตั้งแต่ในชาตินี้
ข้อความในอังคุตตรนิกายติกนิบาต ทุติยปัณณาสก์ พราหมณวรรคที่ ๑ ชนสูตรที่ ๑ ข้อ ๔๙๑ มีข้อความว่า
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล พราหมณ์ ๒ คน เป็นคนชรา แก่เฒ่าล่วงกาลผ่านวัยมาโดยลำดับ มีอายุได้ ๑๒๐ ปีแต่กำเนิด ได้ชวนกันไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลว่า
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ พวกข้าพระองค์เป็นพราหมณ์ชรา แก่เฒ่า ล่วงกาลผ่านวัยมาโดยลำดับ มีอายุได้ ๑๒๐ ปีแต่กำเนิด แต่มิได้สร้างความดี มิได้ทำกุศล มิได้ทำกรรมอันเป็นที่ต้านทานความขลาดไว้ ขอพระโคดมผู้เจริญ ทรงโอวาทสั่งสอนพวกข้าพระองค์ถึงข้อที่จะพึงเป็นไป เพื่อประโยชน์และความสุขแก่พวกข้าพระองค์สิ้นกาลนานเถิด
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรพราหมณ์ ที่แท้ พวกท่านเป็นคนชรา แก่เฒ่า ล่วงกาลผ่านวัยมาโดยลำดับมีอายุได้ ๑๒๐ ปีแต่กำเนิด แต่มิได้สร้างความดี มิได้ทำกุศล มิได้ทำกรรมอันเป็นที่ต้านทานความขลาดไว้
ดูกรพราหมณ์ โลกนี้ถูกชรา พยาธิ มรณะ นำเข้าไปอยู่แล เมื่อโลกถูกชรา พยาธิ มรณะ นำเข้าไปอยู่เช่นนี้ ความสำรวมทางกาย ความสำรวมทางวาจา ความสำรวมทางใจในโลกนี้ ย่อมเป็นที่ต้านทาน เป็นที่เร้น เป็นเกาะ เป็นที่พึ่ง เป็นที่ยึดหน่วงของเขาผู้ละไปแล้ว
ชีวิตถูกชรานำเข้าไปใกล้ความมีอายุสั้น ผู้ที่ถูกชรานำเข้าไปใกล้แล้ว ย่อมไม่มีที่ต้านทาน เมื่อบุคคลเล็งเห็นภัยในความตายนี้ ควรทำบุญทั้งหลายอันนำความสุขมาให้ ความสำรวมทางกาย ทางวาจา และทางใจในโลกนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความสุขแก่ผู้ที่ละโลกนี้ไปแล้ว ผู้ซึ่งสร้างสมบุญไว้แต่เมื่อยังมีชีวิตอยู่
ตายแล้วจะหวังได้ไหม ว่าจะไปสร้างบุญกันที่ไหนต่อ อาจจะได้และก็อาจจะไม่ได้
- โสภณธรรม ครั้งที่ 001
- โสภณธรรม ครั้งที่ 002
- โสภณธรรม ครั้งที่ 003
- โสภณธรรม ครั้งที่ 004
- โสภณธรรม ครั้งที่ 005
- โสภณธรรม ครั้งที่ 006
- โสภณธรรม ครั้งที่ 007
- โสภณธรรม ครั้งที่ 008
- โสภณธรรม ครั้งที่ 009
- โสภณธรรม ครั้งที่ 010
- โสภณธรรม ครั้งที่ 011
- โสภณธรรม ครั้งที่ 012
- โสภณธรรม ครั้งที่ 013
- โสภณธรรม ครั้งที่ 014
- โสภณธรรม ครั้งที่ 015
- โสภณธรรม ครั้งที่ 016
- โสภณธรรม ครั้งที่ 017
- โสภณธรรม ครั้งที่ 018
- โสภณธรรม ครั้งที่ 019
- โสภณธรรม ครั้งที่ 020
- โสภณธรรม ครั้งที่ 021
- โสภณธรรม ครั้งที่ 022
- โสภณธรรม ครั้งที่ 023
- โสภณธรรม ครั้งที่ 024
- โสภณธรรม ครั้งที่ 025
- โสภณธรรม ครั้งที่ 026
- โสภณธรรม ครั้งที่ 027
- โสภณธรรม ครั้งที่ 028
- โสภณธรรม ครั้งที่ 029
- โสภณธรรม ครั้งที่ 030
- โสภณธรรม ครั้งที่ 031
- โสภณธรรม ครั้งที่ 032
- โสภณธรรม ครั้งที่ 033
- โสภณธรรม ครั้งที่ 034
- โสภณธรรม ครั้งที่ 035
- โสภณธรรม ครั้งที่ 036
- โสภณธรรม ครั้งที่ 037
- โสภณธรรม ครั้งที่ 038
- โสภณธรรม ครั้งที่ 039
- โสภณธรรม ครั้งที่ 040
- โสภณธรรม ครั้งที่ 041
- โสภณธรรม ครั้งที่ 042
- โสภณธรรม ครั้งที่ 043
- โสภณธรรม ครั้งที่ 044
- โสภณธรรม ครั้งที่ 045
- โสภณธรรม ครั้งที่ 046
- โสภณธรรม ครั้งที่ 047
- โสภณธรรม ครั้งที่ 048
- โสภณธรรม ครั้งที่ 049
- โสภณธรรม ครั้งที่ 050