โสภณธรรม ครั้งที่ 033
ตอนที่ ๓๓
เพราะฉะนั้น ก็ควรที่จะเป็นอนุสติให้ระลึกได้ว่า ไม่ใช่เฉพาะชาตินี้ชาติเดียวที่เคยกลุ้มใจ ใครก็ตามที่อาจจะมีความกังวลใจในขณะนี้ ขอให้ทราบว่า เคยเป็นมาแล้ว เคยกังวลใจอย่างนี้ในชาติก่อนๆ ในสังสารวัฏฏ์ ไม่ใช่ว่าไม่เคยเป็นอย่างนี้ แต่ว่าความกลุ้มใจหรือความกังวลใจในชาติก่อนๆ ก็ผ่านไปๆ เหมือนกับชาตินี้ ความกังวลใจ ความกลุ้มใจก็ต้องเปลี่ยนไป จะคงอยู่ต่อไปไม่ได้ แม้ชาติหน้าก็จะต้องเกิดความกังวลใจ หรือว่าความกลุ้มใจ บางท่านก็อาจจะเป็นความกังวลใจเรื่องโรคภัยไข้เจ็บ ชาติก่อนก็ไม่รู้โรคอะไรบ้าง และขณะที่กำลังเป็นโรคนั้นๆ ก็กังวลใจอย่างนี้ พอถึงชาตินี้ก็อาจจะเป็นโรคใหม่ หรืออาจจะเป็นโรคเก่า แต่ความกังวลใจก็เหมือนเดิม เหมือนที่เคยกังวลใจมาในสังสารวัฏฏ์ และต่อไปในชาติหน้า ก็จะต้องเป็นความกังวลใจ กลุ้มใจอย่างนี้ต่อไปอีก เพราะฉะนั้น ทุกคนก็คงจะไม่ลืม สังเวควัตถุ ๘ ชาติ ชรา พยาธิ มรณะ อบายทุกข์ วัฏฏมูลกทุกข์ในอดีต ที่ผ่านมาแล้ว และไม่มีใครสามารถระลึกได้ แต่ก็ไม่ต่างกับชาตินี้ วัฏฏมูลกทุกข์ในอนาคต ที่จะเกิด ก็ต้องไม่ต่างกับชาตินี้อีก มีบ้านก็ต้องกลุ้มใจเรื่องบ้านอีก มีร่างกายก็ต้องกลุ้มในเรื่องโรคภัยอีก มีหน้าที่การงาน ก็ต้องเป็นกังวลห่วงใยเหมือนกับในชาตินี้อีก
เพราะฉะนั้น ขอให้พิจารณาดูความจริงแท้ในปัจจุบันชาติ คือ อาหารปริเยฎฐิมูลกทุกข์ การแสวงหารอบในปัจจุบัน
การแสวงหาอะไรในปัจจุบันที่เป็นการแสวงหารอบ ถ้าไม่ใช่การแสวงหาทุกข์ หรืออาหารของทุกข์ในปัจจุบัน
ทุกคนก้าวเดินไปไม่มีหยุดในสังสารวัฏฏ์ ทุกๆ ขณะนี้ แสวงหาอาหารของทุกข์ทั้งนั้น ทางตา กำลังเห็น แสวงหาทุกข์ในสังสารวัฏฏ์โดยรอบหรือเปล่า ไม่ใช่นิดหน่อย ทุกทางที่จะเกิดความยินดี พอใจทางตานี้ ขวนขวายหาโดยรอบจริงๆ คือ ไม่เว้น ทางหูในขณะที่ได้ยินเสียง มีความพอใจ แสวงหาแล้ว ในขณะที่แสวงหาด้วยความพอใจ คือ แสวงหาทุกข์ แสวงมูลเหตุของทุกข์โดยรอบในสังสารวัฏฏ์ เพราะเหตุว่าไม่เว้นเลย
ทางจมูกได้กลิ่นหอมๆ กลิ่นดอกไม้ กลิ่นเครื่องหอมต่างๆ แสวงหาทุกข์โดยรอบในสังสารวัฏฏ์ไหม ไม่เว้นนะคะ แม้แต่ทางจมูก ซึ่งไม่มีความจำเป็นเหมือนกับอาหารที่ต้องบริโภค ไม่มีความจำเป็นเหมือนกับเครื่องนุ่งห่มที่จะต้องใช้ แต่แม้กระนั้นก็แสวงหาทุกข์โดยรอบ
ทางลิ้นขณะที่ลิ้มรส ทางกายขณะที่กระทบสัมผัส ทางใจที่คิดนึก ลองคิดดูนะคะว่า คิดเรื่องอะไร ขณะนั้นแสวงหาทุกข์โดยรอบไหม ตั้งแต่เช้าจนค่ำ ถ้าไม่รู้ จะพ้นจากสังสารวัฏฏ์ไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น ก่อนที่จะดับกิเลสได้ ก่อนที่อโลภเจตสิกจะเกิดจนกระทั่งมีกำลัง เป็นขณะที่สละความเห็นแก่ตัวจริงๆ ก็จะต้องรู้ลักษณะของอาหารของทุกข์ สมุทัยของทุกข์ ซึ่งได้แก่โลภะ ความยินดีพอใจ ซึ่งกำลังแสวงหาโดยรอบจริงๆ
โลภะเป็นเหตุของทุกข์ ฉันใด อโลภะก็เป็นเหตุของสุข ฉันนั้น ลองคิดดูว่า เพียงไม่ติด หรือว่าติดน้อยลงจากสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจนี้ การขวนขวาย การแสวงหาทุกข์จะน้อยลงไหมในสังสารวัฏฏ์ ถ้าชาตินี้เป็นอย่างนี้ ชาติหน้าต่อไป ก็เหมือนๆ อย่างนี้อีก เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่าสังสารวัฏฏ์นี้จะต้องยืดยาวต่อไปอีกนานเพียงใด ถ้าปัญญายังไม่ประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง
ข้อความในอังคุตตรนิกาย ติกนิบาต พราหมณวรรค ชนสูตรที่ ๒ ข้อ ๔๙๒ ข้อความตอนท้าย พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
เมื่อเรือนถูกไฟไหม้ สิ่งของที่นำออกได้ ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่เขา สิ่งของที่ถูกไฟไหม้อยู่ในเรือนนั้น หาเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่เขาไม่ ฉันใด เมื่อโลกถูกชราและมรณะแผดเผาแล้ว ฉันนั้นเหมือนกัน บุคคลควรนำเอาออกมาด้วยการให้ทาน สิ่งที่ให้ไปแล้ว ย่อมเป็นอันบุคคลนำออกมาดีแล้ว ความสำรวมทางกาย ทางวาจา และทางใจในโลกนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความสุขแก่ผู้ที่ละโลกนี้ไป ผู้ซึ่งได้สร้างสมบุญไว้แต่เมื่อยังมีชีวิตอยู่
ทุกคนก็ต้องเดินทางชีวิตต่อไปอีกยาวนานในสังสารวัฏฏ์ จนกว่าจะอบรมเจริญปัญญาถึงขั้นที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอริยบุคคล และชีวิตข้างหน้าก็จะสุขทุกข์อย่างไร ก็ย่อมเป็นไปตามกรรม ซึ่งถ้าทุกคนมีความมั่นใจจริงๆ และมีความเข้าใจจริงๆ ในเรื่องของกรรมนี้ ก็ย่อมจะเป็นผู้ที่ไม่ประมาทในการเจริญกุศล เพราะเหตุว่าข้อความตอนท้ายที่พระผู้มีพระภาคตรัสกับพราหมณ์ทั้งสอง ในชนสูตรที่ ๒ มีข้อความว่า
สิ่งที่ให้ไปแล้ว ย่อมเป็นอันบุคคลนำออกมาดีแล้ว ความสำรวมทางกาย ทางวาจา และทางใจในโลกนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความสุขแก่ผู้ที่ละโลกนี้ไป ผู้ซึ่งได้สร้างสมบุญไว้แต่เมื่อยังมีชีวิตอยู่
ทุกท่านเป็นผู้ที่มั่นใจในเรื่องของกุศลกรรมและอกุศลกรรมขึ้น เมื่อได้ศึกษาพระธรรมโดยละเอียดขึ้น
ขณะใดที่จิตใครเป็นกุศล ขออนุโมทนา และก็ขณะใดที่จิตใครเป็นอกุศล ก็อนุโมทนาไม่ได้
เพราะฉะนั้น แต่ละบุคคลมีขณะที่เป็นกุศลบ้าง ขณะที่เป็นอกุศลบ้าง การอนุโมทนาก็อนุโมทนาเฉพาะกาลๆ คือ เฉพาะในขณะที่เป็นกุศลเท่านั้น ไม่ใช่อนุโมทนาตลอดไปจนกระทั่งถึงอกุศลด้วย
ทุกท่านทราบเรื่องความไม่แน่นอนของชีวิตไหม ทุกอย่างที่จะเกิดขึ้นอาจจะเกิดขึ้นอย่างกะทันหัน แม้แต่ความตาย เพราะฉะนั้น ก็ไม่ควรที่จะรอคอยวันเวลาที่จะทำกุศล ไม่ว่าจะเป็นวัตถุทาน อภัยทาน ธรรมทาน หรือกุศลอื่นๆ และกุศลที่ควรจะง่าย และสะดวก ซึ่งไม่น่าจะต้องคอยกาลเวลาเลยก็คือ อภัยทาน กุศลอื่นยังต้องคอยกาลเวลา ใช่ไหม การใส่บาตร การทำบุญ ก็ยังจะต้องคอยกาลเวลา การตระเตรียม แต่อภัยทานไม่น่าที่จะต้องคอยกาลเวลาเลย ควรจะเป็นกุศลที่ง่ายและสะดวก แต่สำหรับบางท่านก็ยังรอไว้อีกได้ คือ ชาตินี้ยังไม่ให้อภัย อาจจะเคยได้ยินบางท่านกล่าวอย่างนี้ ว่าชาตินี้ยังไม่ให้อภัย แต่ก็ลองคิดดูว่า ชาติหน้าจะให้อภัยหรือ ถ้าชาตินี้ไม่ให้อภัย ชาติหน้าจะให้อภัยไหม นี่รอแล้วใช่ไหม รอไว้ชาติหน้า คิดว่าชาตินี้ไม่ให้อภัย ดูเสมือนว่าชาติหน้าจะให้อภัย แต่ก็ควรที่จะรู้ความจริงว่า ถ้าชาตินี้ไม่ให้อภัย ชาติหน้าก็ให้อภัยไม่ได้เหมือนกัน ในเมื่อความเป็นบุคคลนี้จบสิ้นลงในเฉพาะชาตินี้เท่านั้น ไม่มีความเป็นบุคคลนี้เหลือไปถึงชาติหน้าเลย แล้วจะไปให้อภัยใครที่ไหน ในเมื่อทุกอย่างจบหมดแล้ว เป็นบุคคลใหม่ เรื่องใหม่ พบเหตุการณ์ใหม่ จะให้อภัยไหม ก็เป็นการที่ผลัดไปทุกชาติๆ
เพราะฉะนั้น ให้ทราบว่า ทุกชาตินี้จะกระทำเหมือนกับที่ได้เคยกระทำมาแล้ว เพราะฉะนั้น ถ้าต้องการจะเป็นบุคคลใดในชาติหน้า ต้องทำตั้งแต่ชาตินี้ เพื่อว่าชาติหน้าจะได้เป็นผู้ที่เหมือนกับที่ได้เคยกระทำมาแล้ว แล้วก็ลองคิดดูว่า สิ่งง่ายๆ ดูจะง่ายที่สุด ง่ายกว่าอย่างอื่น ยังทำไม่ได้ แล้วจะทำอะไรได้ สิ่งอื่นก็จะต้องยากกว่านี้ทั้งนั้น เพราะฉะนั้น กุศลทุกประการควรกระทำในชาตินี้ ไม่ควรที่จะรอคอยถึงชาติหน้า
ข้อความในอังคุตตรนิกาย ติกนิบาต มังคลวรรคที่ ๕ สุปุพพัณหสูตร ข้อ ๕๙๕ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตว์เหล่าใดประพฤติสุจริตด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ ในเวลาเช้า เวลาเช้านั้นก็เป็นเวลาดีของสัตว์เหล่านั้น สัตว์เหล่าใดประพฤติสุจริตด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ ในเวลากลางวัน เวลากลางวันนั้นก็เป็นเวลาดีของสัตว์เหล่านั้น สัตว์เหล่าใดประพฤติสุจริตด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ ในเวลาเย็น เวลาเย็นนั้นก็เป็นเวลาดีของสัตว์เหล่านั้น
สัตว์ทั้งหลายประพฤติชอบในเวลาใด เวลานั้นเป็นฤกษ์ดี มงคลดี สว่างดี รุ่งดี ขณะดี ยามดี และเป็นการบูชาดีในพรหมจารีบุคคลทั้งหลาย
บุคคลทั้งหลายทำกรรมประกอบด้วยความเจริญแล้ว ท่านเหล่านั้นได้ประโยชน์อันประกอบด้วยความเจริญ ถึงซึ่งความสุข งอกงามในพระพุทธศาสนา เป็นผู้หาโรคมิได้ สำราญกายใจ พร้อมด้วยญาติทั้งมวล ฯ
จบมังคลวรรคที่ ๕
เช้านี้เป็นเช้าที่ดีไหม ไม่ต้องไปคิดถึงฤกษ์งามยามดีทั้งหมด แต่ขึ้นอยู่กับกุศลจิตเกิดขณะใด ในตอนเช้าก็เป็นเช้าดี ในตอนกลางวันก็เป็นกลางวันดี ในตอนเย็นก็เป็นเย็นดี แต่ว่าต้องเป็นผู้ละเอียด อย่าคิดเพียงเรื่องทานกุศลอย่างเดียว ว่าได้กระทำแล้วตอนเช้า ได้กระทำแล้วตอนกลางวัน หรือว่าได้กระทำแล้วในตอนเย็น แต่กาย วาจา และใจด้วย ที่จะต้องพิจารณาว่า เช้านี้เป็นเช้าดีหรือเปล่า ทั้งกาย ทั้งวาจา และทั้งใจ
เพราะฉะนั้น ผู้ที่เข้าใจในเรื่องเหตุและผล ก็จะได้ทราบว่า ฤกษ์ดี เวลาดี มงคลดี ทั้งหมดก็คือ ขณะจิตที่เป็นกุศล ไม่ว่าจะเป็นขณะใดทั้งตอนเช้า ตอนกลางวัน ตอนเย็น จริงไหม แต่ว่าพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ๔๕ พรรษา มีประโยชน์สำหรับผู้ที่น้อมรับฟังพระธรรมด้วยความเคารพ คือ เป็นผู้ที่น้อมประพฤติปฏิบัติตาม เป็นการบูชาพระคุณของพระผู้มีพระภาคอย่างสูงสุด ตามข้อความที่ตรัสว่า
สัตว์ทั้งหลายประพฤติชอบในเวลาใด เวลานั้นเป็นฤกษ์ดี มงคลดี สว่างดี รุ่งดี ขณะดี ยามดี และเป็นการบูชาดีในพรหมจารีบุคคลทั้งหลาย
ไม่ใช่ให้ทำอย่างอื่นเลย แต่ว่าให้ประพฤติธรรม คือ การเจริญกุศล แต่ว่าตามความเป็นจริง ทุกคนก็ยังมีกิเลสอยู่ เพราะฉะนั้น กุศลแต่ละประการที่ได้ฟัง เป็นการเห็นประโยชน์ของกุศลในขั้นของการฟัง และในขั้นของการพิจารณา แต่ว่ายากที่จะเกิดได้บ่อยๆ แต่ก็ยังดีใช่ไหม คือเมื่อฟังแล้ว พิจารณาในเหตุในผลให้เข้าใจ เพื่อจะเป็นการเกื้อกูล ปรุงแต่งให้เกิดกุศลในแต่ละประการเพิ่มยิ่งขึ้น แต่ถ้ามีการฟังน้อย การพิจารณาน้อย ก็ไม่มีกำลังพอที่จะเป็นสังขารขันธ์ปรุงแต่งให้กุศลเจริญขึ้นได้
กุศลของแต่ละคนจะเจริญขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อสติเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เป็นการศึกษารู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ไม่ใช่เพียงในขั้นของการฟัง หรือว่าในขั้นของการพิจารณาเท่านั้น
ข้อความในอังคุตตรนิกาย ติกนิบาต พราหมณวรรคที่ ๑ พราหมณสูตร ข้อ ๔๙๓ มีข้อความว่า
ครั้งนั้นแล พราหมณ์คนหนึ่งได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
นี่เป็นกุศลหรือเปล่า ลองคิดดู แม้แต่ในเรื่องของการปราศรัย พอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว ก็จะต้องเป็นกุศลจิตในขณะนั้นด้วย ถ้าขาดความละเอียดก็จะไม่รู้ว่า ในขณะนั้นเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล แต่ว่าผู้ที่ละเอียดย่อมรู้ และที่จะรู้ได้ก็คือในขณะที่สติเกิด รู้แม้แต่ความนอบน้อมในการที่จะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ในการปราศรัย และในการนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ พระองค์ย่อมตรัสว่า ธรรมอันผู้ได้บรรลุจะพึงเห็นเอง ธรรมอันผู้ได้บรรลุจะพึงเห็นเอง ดังนี้
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอแล ธรรมจึงเป็นคุณชาติอันผู้ได้บรรลุจะพึงเห็นเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามา อันวิญญูพึงรู้เฉพาะตน”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ดูกรพราหมณ์ บุคคลผู้กำหนัด ถูกราคะครอบงำ มีจิตอันราคะกลุ้มรุมแล้ว ย่อมคิดเพื่อเบียดเบียนตนเองบ้าง ย่อมคิดเพื่อเบียดเบียนคนอื่นบ้าง ย่อมคิดเพื่อเบียดเบียนตนเอง และคนอื่นทั้งสองฝ่ายบ้าง ย่อมเสวยทุกข์โทมนัสที่เป็นไปทางใจบ้าง เมื่อละราคะได้เด็ดขาดแล้ว ย่อมไม่คิดเพื่อจะเบียดเบียนตนเองเลย ย่อมไม่คิดแม้เพื่อจะเบียดเบียนคนอื่น ย่อมไม่คิดแม้เพื่อจะเบียดเบียนตนเองและคนอื่นทั้งสองฝ่าย ย่อมไม่เสวยทุกข์โทมนัสที่เป็นไปทางจิต
ดูกรพราหมณ์ แม้ด้วยเหตุดังกล่าวมาฉะนี้แล ธรรมย่อมเป็นคุณชาติอันผู้บรรลุจะพึงเห็นเอง ...”
ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด จะไม่รู้เลยว่า ทุกขณะ การเคลื่อนไหวของกายบ้าง วาจาหรือใจที่คิดนึกเป็นโลภมูลจิต
ท่านผู้ฟังที่ห่วงสุขภาพร่างกาย จิตอะไร วันหนึ่งตื่นขึ้นมา ก็ต้องคิดเรื่องการรักษาสุขภาพ โลภะ ใช่ไหม แต่ทำอย่างไรจึงจะรู้ได้จริงๆ ว่า ขณะนั้นเป็นโลภมูลจิต เป็นสราคจิต ถ้าสติไม่เกิดขึ้น ด้วยความห่วงซึ่งเป็นโลภะ ก็มีการบำรุงรักษาร่างกายด้วยประการต่างๆ มีการออกกำลังกาย เคลื่อนไหว เพื่อที่จะให้ร่างกายแข็งแรง ในขณะนั้นโลภมูลจิตหรือเปล่า ก็เป็นโลภมูลจิตอีก อยากรู้จักโลภมูลจิตไหม อยากหรือไม่อยาก มีโอกาสที่จะรู้จักแล้ว ในขณะไหนก็ได้ ขณะที่กำลังออกกำลังกาย บริหารร่างกาย ถ้าสติเกิดจะรู้ได้เลยว่า ขณะนั้นเป็นจิตที่ต้องการ การกระทำนั้นจึงเกิดขึ้นเคลื่อนไหวเป็นไปด้วยความยินดี พอใจ ในการเป็นตัวตน ตราบใดที่ยังไม่รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมขณะนั้นว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน โลภมูลจิตอยู่ที่ไหน วันหนึ่งๆ หาไม่เจอ ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด แต่เมื่อสติปัฏฐานเกิด ทุกขณะการเคลื่อนไวของกาย วาจา พิสูจน์ได้เลย จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน สราคจิตเกิดอยู่เป็นประจำ
เพราะฉะนั้น การที่จะรู้โลภมูลจิต ไม่ใช่ขณะอื่น ท่านที่เคยออกกำลังบริหารร่างกาย แล้วสติปัฏฐานไม่เคยเกิด ก็ไม่รู้จักโลภมูลจิต แต่เมื่อรู้ว่าขณะนั้นเป็นโลภมูลจิต ก็มีการบริหารร่างกายตามปกติ แล้วสติก็ระลึกลักษณะสภาพของนามธรรมและรูปธรรมในขณะนั้น ตามปกติตามความเป็นจริง ไม่เปลี่ยน เพราะว่าเปลี่ยนไม่ได้ จะเอาโลภมูลจิตที่มีความพอใจในความสมบูรณ์ของร่างกายที่จะให้แข็งแรงไปทิ้งที่ไหน ในเมื่อทุกคนบริโภคอาหารแล้วก็บริหารร่างกาย เพื่อที่จะมีร่างกายที่แข็งแรงในการที่จะดำรงชีวิตอยู่ แต่ก็จะต้องรู้ว่า ขณะใดเป็นกุศลจิต ขณะใดเป็นอกุศลจิต ถ้าขณะที่เป็นทาน ขณะนั้นเป็นกุศล ไม่ว่าจะเป็นวัตถุทาน อภัยทาน หรือธรรมทาน ขณะที่เป็นศีล ขณะนั้นก็เป็นกุศล ไม่ว่าจะเป็นการวิรัติทุจริต หรือว่าการช่วยเหลือสงเคราะห์บุคคลอื่น การนอบน้อมต่อผู้ที่ควรนอบน้อม ในขณะที่ฟังธรรม สนทนาธรรม หรือว่าอบรมจิตใจ ไม่ให้เป็นอกุศลจิต มากด้วยโลภะ โทสะ โมหะ หรือในขณะที่สติปัฏฐานเกิด ในขณะนั้นเป็นกุศล
เพราะฉะนั้น ก็จะรู้ได้ว่า ขณะที่บริหารร่างกาย ขณะที่กำลังเคลื่อนไหวกาย วาจา ใดๆ ก็ตาม ที่ไม่ใช่เป็นไปในทาน ในศีล ในภาวนา ขณะนั้นเป็นกาล เป็นโอกาสที่จะได้รู้จักโลภมูลจิต ไม่ได้อยู่ไกลตัวเลย เพราะฉะนั้น ท่านที่ยังบริหารร่างกายอยู่เป็นประจำ สติก็เกิดระลึกได้ หรือว่าจะในโอกาสไหนก็ได้ทั้งสิ้น ซึ่งจะไม่พ้นจากโลภะ หรืออกุศลจิตที่เป็นโทสะ โมหะ ถ้าในขณะนั้นไม่เป็นกุศล ที่เป็นทาน ศีล ภาวนา แล้วก็ลองคิดดู โลภะนี้บุคคลผู้กำหนัด ถูกราคะครอบงำ มีจิตอันราคะกลุ้มรุมแล้ว ย่อมคิดเพื่อเบียดเบียนตนเองบ้าง ย่อมคิดเพื่อเบียดเบียนคนอื่นบ้าง ย่อมคิดเพื่อเบียดเบียนตนเอง และคนอื่นทั้งสองฝ่ายบ้าง ย่อมเสวยทุกข์โทมนัส ที่เป็นไปทางจิตบ้าง เคยพิจารณาไหม ถ้ายังอีก ก็ลองคิดว่า เคยคิดเบียดเบียนใครบ้างไหม นี่ มุมกลับ ไม่เคยเห็นโลภะ แต่ว่าลองคิดดูว่า ในขณะที่คิดเบียดเบียนคนอื่นด้วยโลภะ ความรักตัวตนที่เคยยึดถือว่ามีเราหรือเปล่า หรือว่าทุกท่านไม่เคยคิดเบียดเบียนใครเลย เบียดเบียนนี้มีได้ตั้งแต่เรื่องที่เล็กที่สุด จนกระทั่งถึงเรื่องที่ใหญ่ได้
เบียดเบียนทางกาย คนที่อ่อนแอ แต่ว่าให้เขาทำงานหนัก อันนั้นเบียดเบียนหรือเปล่า รักใครในขณะที่ให้คนอื่นทำงานหนักกว่าตนเองซึ่งมีร่างกายแข็งแรงกว่า
นี่ก็เป็นเรื่องที่ถ้าจะสังเกตว่า ที่จะรู้จักลักษณะของธรรมจริงๆ ด้วยสติที่เกิดระลึกได้ ในขณะนั้นเท่านั้น ไม่ใช่การศึกษา และเข้าใจโทษของอกุศลทางตำรา หรือว่าโดยการฟัง การพิจารณา แต่ต้องเป็นการค่อยๆ คุ้นเคยกับสภาพลักษณะที่เป็นอกุศล ที่ไม่ใช่เรา แต่ว่าเป็นอกุศลประเภทต่างๆ ที่เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย
ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
“ดูกรพราหมณ์ บุคคลผู้โกรธ ถูกโทสะครอบงำ มีจิตอันโทสะกลุ้มรุมแล้ว ย่อมคิดเพื่อเบียดเบียนตนเองบ้าง ย่อมคิดเพื่อเบียดเบียนคนอื่นบ้าง ย่อมคิดเพื่อเบียดเบียนตนเองและคนอื่นทั้งสองฝ่ายบ้าง ย่อมเสวยทุกข์โทมนัสที่เป็นไปทางจิตบ้าง เมื่อละโทสะได้เด็ดขาดแล้ว ย่อมไม่คิดแม้เพื่อจะเบียดเบียนตนเองเลย ย่อมไม่คิดแม้เพื่อจะเบียดเบียนคนอื่น ย่อมไม่คิดแม้เพื่อจะเบียดเบียนตนเอง และคนอื่นทั้งสองฝ่าย ย่อมไม่เสวยทุกข์โทมนัสที่เป็นไปทางจิต ดูกรพราหมณ์ แม้ด้วยเหตุดังกล่าวมาฉะนี้แล ธรรมย่อมเป็นคุณชาติอันผู้ได้บรรลุจะพึงเห็นเอง ...”
ไม่มีคนอื่นเห็นอกุศลของท่านได้ชัดเจนเท่ากับตัวท่าน แต่ตัวท่านเท่านั้นที่สามารถที่จะรู้อกุศลจิตทุกระดับขั้นของท่านได้ ว่าเป็นอกุศลประเภทใด ประเภทโลภะ หรือว่าโทสะ แต่ข้อสำคัญ คือ ขณะที่คิดเบียดเบียนคนอื่น แล้วยังไม่รู้ว่าเป็นอกุศล สติควรที่จะเกิดระลึกได้ว่า ขณะนั้นเป็นเพราะโลภมูล หรือว่าโทสมูล
ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกรพราหมณ์ บุคคลผู้หลง ถูกความหลงครอบงำ มีจิตอันความหลงกลุ้มรุมแล้ว ย่อมคิดเพื่อเบียดเบียนตนเองบ้าง ย่อมคิดเพื่อเบียดเบียนคนอื่นบ้าง ย่อมคิดเพื่อเบียดเบียนตนเองและคนอื่นทั้งสองฝ่ายบ้าง ย่อมเสวยทุกขโทมนัสที่เป็นไปทางจิตบ้าง เมื่อละโมหะได้เด็ดขาดแล้ว ย่อมไม่คิดแม้เพื่อจะเบียดเบียนตนเองเลย ย่อมไม่คิดแม้เพื่อจะเบียดเบียนคนอื่น ย่อมไม่คิดแม้เพื่อจะเบียดเบียนตนเอง และคนอื่นทั้งสองฝ่าย ย่อมไม่เสวยทุกขโทมนัสที่เป็นไปทางจิต
ดูกรพราหมณ์ แม้ด้วยเหตุดังกล่าวมาฉะนี้แล ธรรมย่อมเป็นคุณชาติอันผู้ได้บรรลุพึงเห็นเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามา อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน”
พราหมณ์นั้นกราบทูลว่า “ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก พระองค์ทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืดด้วย หวังว่าคนมีจักษุจักเห็นรูป ฉะนั้น ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระองค์กับทั้งพระธรรมและพระภิกษุสงฆ์เป็นสรณะ ขอท่านพระโคดมโปรดทรงจำข้าพระองค์ว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต จำเดิมแต่วันนี้เป็นต้นไป”
มีสิ่งที่ควรดูเยอะใช่ไหม และก็น่าดูจริงๆ เพราะเหตุว่าเป็นประโยชน์ เป็นของจริง เมื่อเห็นแล้วก็เป็นประโยชน์มหาศาลทีเดียว เพราะเหตุว่าไม่ใช่ของหลอกลวง ไม่ใช่ของที่ไม่มี แต่ว่าเป็นของจริงที่มี และก็ควรที่จะเห็น
ผู้ถาม มีปัญหาเล็กน้อยที่ว่าประโยคที่ว่า “รู้เฉพาะตน” หมายความว่าคนอื่นรู้ไม่ได้ ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ แน่นอน เวลานี้ใครทราบใจของท่านผู้นี้บ้างไหม
ผู้ฟัง อันนี้อาจารย์รับรองไว้ก่อนว่ารู้ไม่ได้ ก็เลยคิดต่อไปว่า การที่พระองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสบอกกับพระภิกษุว่า ภิกษุรูปนั้นตรัสรู้เป็นพระอรหันต์แล้ว อย่างนี้ชื่อว่า รู้ผู้อื่นได้ไหม
ท่านอาจารย์ แน่นอน เพราะเหตุว่าความรู้มีหลายขั้น นี่พูดถึงผู้ที่ยังไม่มีความรู้เลย และก็ใจของตัวเองก็ยังไม่รู้ แต่ว่าไปรู้ใจของคนอื่น ย่อมเป็นไปไม่ได้ แต่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือว่าท่านที่มีคุณวิเศษได้บรรลุธรรมขั้นคุณวิเศษแล้ว รู้ใจของตนเองก่อน แล้วจึงสามารถที่จะรู้ใจของคนอื่นได้ แต่ว่าผู้ที่ยังไม่รู้แม้แต่ใจของตนเอง แล้วจะกล่าวว่า รู้ใจของคนอื่น ก็เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง
ผู้ฟัง ธรรมอันผู้บรรลุจะพึงเห็นเอง แล้วผู้ที่ไม่บรรลุก็จะไม่เห็นหรือ
ท่านอาจารย์ ก็โลภะขณะนี้มี ก็ไม่รู้ โทสะมี ก็ไม่รู้
ผู้ฟัง ผู้ที่ไม่บรรลุนี้ก็รู้ได้เวลาที่โลภะเกิดผู้ที่เจริญสติปัฏฐานอย่างนี้
ท่านอาจารย์ รู้หรือว่านึก หรือว่ารู้จักชื่อ ใส่ชื่อได้ พอใจตื่นเต้น ก็เรียกชื่อออกมาเลยว่า โลภะ แต่ว่าลักษณะที่เป็นโลภะ ที่ไม่ใช่เรา เป็นอย่างไร
ผู้ฟัง ก็เฉพาะผู้บรรลุเท่านั้นที่จะพึงเห็นเอง ถ้าไม่บรรลุก็ไม่เห็น
ท่านอาจารย์ ก่อนที่จะบรรลุก็ต้องเป็นผู้ที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมก่อน แล้วจึงจะเห็นได้ ถ้าสติไม่เกิด ไม่ระลึกแล้วจะเห็นได้อย่างไร
- โสภณธรรม ครั้งที่ 001
- โสภณธรรม ครั้งที่ 002
- โสภณธรรม ครั้งที่ 003
- โสภณธรรม ครั้งที่ 004
- โสภณธรรม ครั้งที่ 005
- โสภณธรรม ครั้งที่ 006
- โสภณธรรม ครั้งที่ 007
- โสภณธรรม ครั้งที่ 008
- โสภณธรรม ครั้งที่ 009
- โสภณธรรม ครั้งที่ 010
- โสภณธรรม ครั้งที่ 011
- โสภณธรรม ครั้งที่ 012
- โสภณธรรม ครั้งที่ 013
- โสภณธรรม ครั้งที่ 014
- โสภณธรรม ครั้งที่ 015
- โสภณธรรม ครั้งที่ 016
- โสภณธรรม ครั้งที่ 017
- โสภณธรรม ครั้งที่ 018
- โสภณธรรม ครั้งที่ 019
- โสภณธรรม ครั้งที่ 020
- โสภณธรรม ครั้งที่ 021
- โสภณธรรม ครั้งที่ 022
- โสภณธรรม ครั้งที่ 023
- โสภณธรรม ครั้งที่ 024
- โสภณธรรม ครั้งที่ 025
- โสภณธรรม ครั้งที่ 026
- โสภณธรรม ครั้งที่ 027
- โสภณธรรม ครั้งที่ 028
- โสภณธรรม ครั้งที่ 029
- โสภณธรรม ครั้งที่ 030
- โสภณธรรม ครั้งที่ 031
- โสภณธรรม ครั้งที่ 032
- โสภณธรรม ครั้งที่ 033
- โสภณธรรม ครั้งที่ 034
- โสภณธรรม ครั้งที่ 035
- โสภณธรรม ครั้งที่ 036
- โสภณธรรม ครั้งที่ 037
- โสภณธรรม ครั้งที่ 038
- โสภณธรรม ครั้งที่ 039
- โสภณธรรม ครั้งที่ 040
- โสภณธรรม ครั้งที่ 041
- โสภณธรรม ครั้งที่ 042
- โสภณธรรม ครั้งที่ 043
- โสภณธรรม ครั้งที่ 044
- โสภณธรรม ครั้งที่ 045
- โสภณธรรม ครั้งที่ 046
- โสภณธรรม ครั้งที่ 047
- โสภณธรรม ครั้งที่ 048
- โสภณธรรม ครั้งที่ 049
- โสภณธรรม ครั้งที่ 050