โสภณธรรม ครั้งที่ 038


    ตอนที่ ๓๘

    เพราะฉะนั้น ถ้าไม่รู้ปรมัตถธรรม ก็ยังคงอยู่ในโลกของบัญญัติ และก็ไม่สามารถที่จะประจักษ์ทุกขสัจจ์ ซึ่งท่องว่า ได้แก่จิตเท่าไร ได้แก่เจตสิกเท่าไร ได้แก่รูป นั่นคือการท่อง การจำ แต่ว่าไม่สามารถที่จะประจักษ์ทุกขสัจจ์ได้

    ผู้ฟัง สังโยชน์มี ๑๐ พระอรหันต์ละได้หมดแล้วละสังโยชน์ได้ทั้ง ๑๐ ที่นี้มีวาสนาพระอรหันต์ยังละไม่ได้ แล้ววาสนานี่จัดว่าเป็นอะไร เป็นกิเลส หรือว่าสังโยชน์

    ท่านอาจารย์ เป็นการสะสม ถ้าเป็นพระอรหันต์แล้วก็มีแต่วิบากกับกิริยา ท่านผู้ฟังชอบที่จะขีดเส้น ใส่กล่อง แล้วก็วัดตัดด้วยไม้บรรทัด ด้วยอะไรก็ตามแต่ แต่ให้ทราบว่า เรื่องของการปรุงแต่งของสภาพธรรม เป็นเรื่องที่ละเอียดจริงๆ ไม่ทราบว่าจะเอาอะไรมาวัด หรือมาขีดมาคั่น ขอแต่ให้ทราบว่า ขณะนี้เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล จะเพียงพอไหม หรือว่าแทนที่จะระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ก็เป็นเรื่องของความสงสัย เป็นความคิดต่างๆ

    เพราะฉะนั้น เรื่องของธรรมก็เป็นเรื่องที่น่าคิด ว่าจะรู้ น้อย แต่ว่าพิจารณามากและก็เข้าใจจริงๆ และก็ประพฤติปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมดี หรือว่าจะรู้มาก แต่ว่าไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ อย่างไหนจะเป็นพหูสูต เพราะว่าเป็นการจำเรื่อง อ่านเรื่อง รู้เรื่อง ไม่ใช่รู้ลักษณะของสภาพธรรม กับการที่ไม่ว่าจะได้ยินได้ฟังอะไร ก็พิจารณาจนกระทั่งเข้าใจจริงๆ อย่างสภาพรู้ ธาตุรู้ อาการรู้เท่านี้ ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล มีทางไหนบ้างที่จะพิสูจน์ ทางตาที่กำลังเห็น พิสูจน์ได้แล้ว ทางหูที่กำลังได้ยิน ก็พิสูจน์ได้ ทางจมูกที่ได้กลิ่น ก็พิสูจน์ได้ ทางลิ้นที่กำลังลิ้มรส ก็พิสูจน์ได้ ทางกายที่กระทบสัมผัส ก็พิสูจน์ได้ ทางใจคิดนึก ก็พิสูจน์ได้ พร้อมที่จะให้พิสูจน์

    พอไหมที่จะเป็นพหูสูต ที่จะเป็นผู้รู้ทั่วถึงอรรถ และก็ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม

    แข็งมีปรากฏทุกวัน ตั้งแต่เช้าลืมตาจนกระทั่งหลับตา เป็นสิ่งที่จะทำให้กิเลสเพิ่มขึ้น หรือว่าทำให้กิเลสลดลง น่าคิดไหม เพียงเท่านี้ สีสันธรรมดาที่ปรากฏในชีวิตประจำวัน เป็นสิ่งที่จะทำให้กิเลสเพิ่มขึ้น หรือว่าจะทำให้กิเลสลดลงถึงกับดับกิเลสเป็นพระอรหันต์ได้

    นี่ เป็นสิ่งที่น่าคิดว่า เป็นของธรรมดาๆ แต่ผลคือกิเลสเพิ่มขึ้น หรือว่ากิเลสลดลง

    ผู้ถาม เมื่อกี้นี้ที่อาจารย์บอกว่า “วาสนา” นี้เป็นๆ อกุศลอย่างเดียว

    ท่านอาจารย์ เป็นสิ่งที่ไม่ดี

    ผู้ฟัง เป็นสิ่งที่ไม่ดี แล้วอย่างนั้น พระอรหันต์ที่ท่านยังมีวาสนา ท่านก็ยังละสิ่งไม่ดีไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ท่านไม่มีอกุศล เป็นสิ่งที่จะต้องทราบ อกุศลได้แก่อกุศลธรรมประการต่างๆ ๙ กอง ตามที่ได้ศึกษากันมาแล้ว พระอรหันต์ดับหมด แต่ว่ามีกายวาจาที่เรียกว่า สิ่งที่ไม่ดี แต่ไม่ใช่เกิดจากอกุศล

    ผู้ฟัง เกิดจากการสั่งสม

    ท่านอาจารย์ เกิดจากการสะสม พระอรหันต์มีจิตเพียง ๒ ชาติเท่านั้น คือ วิบากจิต กับกิริยาจิต ไม่มีกุศลไม่มีอกุศล เพราะฉะนั้น ธรรมนี้ต้องสอดคล้องกัน ต้องพยายามคิด ต้องพยายามพิจารณาถึงอรรถ ไม่ใช่โดยพยัญชนะอย่างเดียว แต่ต้องเข้าใจให้สอดคล้องกันถึงอรรถด้วย ไม่ใช่เรียนแต่คำหรือเรื่อง แต่ต้องเข้าใจสภาพตามความเป็นจริงของธรรมแต่ละประเภทด้วย

    วันนี้เห็นเป็นปัจจัยให้กิเลสเพิ่ม หรือว่าเป็นปัจจัยให้กิเลสลด จะต้องเห็นไปทุกชาติ จะต้องได้ยินไปทุกชาติ ต้องได้กลิ่น ต้องลิ้มรส ต้องรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสไปทุกชาติ

    เพราะฉะนั้น พระธรรมที่ทรงแสดงเพื่อให้ปัญญาเจริญขึ้น เพื่อจะรู้สิ่งที่กำลังปรากฏตามปกติ ตามความเป็นจริง

    นี่คือพระพุทธประสงค์ของการศึกษาธรรม จะน้อยหรือจะมากก็ตาม เพื่อเกื้อกูลให้สติระลึกได้

    ที่ท่านผู้ฟังฟังเรื่องของจิตประเภทต่างๆ ละเอียดขึ้น เจตสิกประเภทต่างๆ ละเอียดขึ้น รูปประเภทต่างๆ ละเอียดขึ้น ก็ไม่ควรลืมจุดประสงค์ เพื่อให้รู้ลักษณะของธรรมที่ได้ยินได้ฟัง และเพื่อเกื้อกูลให้ปัญญาละคลายการยึดถือสภาพธรรมนั้นว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน

    เพียงแข็งแค่นี้ น่าสนใจไหม หรือว่าไม่เอาจะเอาเยอะๆ แยะๆ ที่โน่นที่นี่ ชื่อต่างๆ ยากๆ แล้วก็ละเลยการที่แข็งนี่สามารถจะทำให้ถึงความเป็นพระอรหันต์ได้ เมื่อรู้ความจริงของแข็งที่ปรากฏว่าไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    เพราะฉะนั้น วันหนึ่งๆ ก็มีสภาพธรรมที่จะทำให้ถึงความเป็นพระอรหันต์ ถ้าลดลงมาอีกก็ถึงความเป็นพระอนาคามีบุคคล ถึงความเป็นพระสกทาคามีบุคคล ถึงความเป็นพระโสดาบันบุคคล ถึงความที่ปัญญาจะประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง เป็นปัญญาที่สมบูรณ์ตามลำดับขั้น

    อยู่ในโลกของความคิด สุขทุกข์กับความคิด เพราะไม่สามารถที่จะรู้ชัดในลักษณะของปรมัตถธรรม ต่อเมื่อใดรู้ลักษณะของปรมัตถธรรมจริงๆ เมื่อนั้นจึงสามารถที่จะประจักษ์แจ้งในการเกิดขึ้นและดับไปของสภาพธรรมได้ เพราะเหตุว่าบัญญัติไม่เกิดดับ เป็นแต่เพียงความคิดนึกเท่านั้น

    ผู้ถาม มีท่านผู้ฟังมีข้อที่เขียนถามมา ที่ว่าที่อาจารย์บอกว่า วาสนาเป็นอกุศล เป็นได้อย่างไร วาสนาหมายถึงอะไร และบารมีต่างกับวาสนาอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ไม่ทราบเมื่อกี้เข้าใจหรือเปล่า ที่ว่าวาสนาไม่ดี แต่ว่าไม่ใช่อกุศลจิต ไม่ใช่อกุศลเจตสิก สำหรับพระอรหันต์ดับอกุศลธรรมทั้งหมด แต่ว่าผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าดับวาสนาไม่ได้ คือ ยังมีความประพฤติทางกายทางวาจาที่ดูไม่งาม การเดินเร็วๆ เหมือนวิ่ง ใครเห็นจะว่าอย่างไรคะ บางท่านกล่าวว่าเหมือนลิง หรือว่าใครชอบ แต่ว่าถ้าบุคคลนั้นไม่มีอกุศลจิต แต่มีการกระทำที่สะสมมาจนชิน ทางกาย ทางวาจาที่ไม่งาม นั่นคือความหมายของวาสนา

    ถ้าไม่ใช่เป็นพระอรหันต์ จะเดินสวยเพราะอกุศลได้ไหม จะเดินไม่สวยเพราะอกุศลได้ไหม ผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ แน่นอนใช่ไหม เพราะเหตุว่ายังมีอกุศลอยู่ด้วยโลภะ กิริยาอาการมารยาทน่าดูในการบริโภคอาหาร ในการเดิน ในการพูด ในการนั่ง ในการนอนด้วยโลภะได้ สวย แต่ว่าบางท่านก็มีกายวาจาที่ไม่งามด้วยอกุศลเหมือนกัน แต่ว่าสำหรับผู้ที่เป็นพระอรหันต์แล้วดับอกุศลทั้งหมด ไม่มีอกุศลธรรมเลย แต่การสะสมความเคยชินของการกระทำความประพฤติทางกาย ทางวาจา ละไม่ได้ แม้ว่าอกุศลจิตไม่เกิด เพราะเหตุว่าเรื่องของใจเป็นกุศลและอกุศล จริง แต่ว่าเรื่องของกิริยาอาการทางกาย ทางวาจา กระทำไปด้วยกุศลก็ได้ ด้วยอกุศลก็ได้ แต่ถ้าดับอกุศลหมดแล้ว ก็ยังคงมีการกระทำทางกาย ซึ่งอาจจะไม่เหมาะเลย ไม่น่าดูเลย หรือทางวาจา อย่างบางท่านใช้คำว่า คนถ่อยจนติดปาก กับคนที่ยังมีกิเลสอยู่และก็ใช้คำว่าคนถ่อย

    นี่คือความต่างกันของผู้ที่ดับอกุศล กับผู้ที่ยังมีอกุศล ผู้ที่ยังมีอกุศลพูดคำว่าคนถ่อยกับผู้อื่นด้วยความสำคัญตน คนอื่นถ่อย และตัวเองคงจะไม่ถ่อย ถึงได้ว่าคนอื่นถ่อยในขณะนั้น แต่สำหรับผู้ที่เป็นพระอรหันต์ แล้วก็เคยสะสมกายวาจามา แม้ว่าจะดับอกุศลแล้ว อกุศลธรรม คือ อกุศลเจตสิกไม่มีเลย กุศลจิตก็ไม่มีเลย แต่ความคุ้นเคยกับกาย วาจา ที่ได้ทำมามากจนติด แม้ว่าในขณะนั้นอกุศลจิตไม่เกิด แต่ก็มีกิริยาจิตที่ทำให้กายวาจาเป็นไปโดยไม่น่าดู นั่นคือความหมายของวาสนา

    คำถามต่อไป ท่านถามว่า และบารมีต่างกับวาสนาอย่างไร

    บารมีก็ต้องเป็นการสะสมที่จะให้ถึงฝั่ง คือ พระนิพพาน

    พระธรรมทั้งหมดที่ได้ยินได้ฟัง ไม่ว่าจะจากพระสูตรหรือว่าพระอภิธรรมก็ตาม เป็นข้อความที่ควรแก่การพิจารณา แม้ว่าจะเป็นสิ่งซึ่งดูเสมือนว่า จะเป็นประโยชน์น้อยสำหรับบางท่าน แต่ว่าตามความเป็นจริงแล้ว ถ้าพิจารณาให้ทั่วถึงในอรรถนั้นๆ จริงๆ แล้ว จะทำให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังเป็นอยู่กับทุกท่านได้

    เช่น ข้อความในสังยุตตนิกาย สคาถวรรค เอณิชังคสูตร ที่ ๑๐ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    กามคุณ ๕ มีใจเป็นที่ ๖ บัณฑิตประกาศแล้วในโลก บุคคลเลิกความพอใจในนามรูปนี้ได้แล้ว ก็พ้นจากทุกข์ได้อย่างนี้ ฯ

    สั้นนิดเดียวใช่ไหม เพียงให้เลิกความพอใจในนามรูปนี้ได้แล้ว ก็พ้นจากทุกข์ได้อย่างนี้

    ครอบคลุมถึงอริยสัจจ์และธรรมข้ออื่นๆ ไหมนี่ เพียงแต่ว่าจะเลิกได้อย่างไร เท่านั้นเอง เพราะเหตุว่าทุกข์ทั้งหลายมาจากนามรูป เมื่อไม่รู้ความจริงของสภาพธรรม ก็ย่อมจะยินดีเพลิดเพลินในกามคุณ ๕ มีใจเป็นที่ ๖

    เพราะฉะนั้น เห็นจริงหรือยังว่า ทุกขอริยสัจจ์คืออะไร วันหนึ่งๆ ทุกขสัจจะคืออะไร

    ขันธ์ ๕ ที่เป็นไปในภูมิ ๓ ที่เหลือ เว้นตัณหา เป็นทุกข์ โดยนัยของทุกขอริยสัจจ์ ไม่ต้องกล่าวถึงจิตกี่ดวงก็ได้ เจตสิกกี่ดวงก็ได้ เพียงแต่รู้ความจริงว่า ขันธ์ ๕ ที่เป็นไปในภูมิ ๓ ได้แก่ กามภูมิ รูปภูมิ อรูปภูมิ เว้นโลกุตตระแล้ว ใช่ไหม แม้ว่าจะไม่กล่าวโดยจำนวน แต่กล่าวโดยข้อความว่า ขันธ์ ๕ ที่เป็นไปในภูมิ ๓ ที่เว้นตัณหา เป็นทุกข์ โดยนัยของทุกขอริยสัจจ์

    เพราะฉะนั้น ก็ขณะนี้เอง กำลังเป็นกามภูมิในขณะที่เห็น ในขณะที่ได้ยิน ในขณะที่ได้กลิ่น ก็สามารถที่จะพิจารณาจนกระทั่งรู้ว่าเป็นทุกข์ เพราะเหตุว่าไม่เที่ยง ถ้าไม่สามารถที่จะแยกปรมัตถธรรมออกจากบัญญัติ อย่างทางตากับที่กำลังคิดถึงสีสันวรรณะต่างๆ จะประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปได้ไหม ไม่มีทางเลย

    เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นที่จะไปกระทำสิ่งใดๆ ก็ตาม ที่จะให้ประจักษ์การเกิดดับของนามธรรมและรูปธรรมนี้ ขอเพียงให้รู้ความจริงว่า ปรมัตถธรรมที่เป็นรูปปรากฏทางตา โดยไม่ใช่การคิดนึกเรื่องของสิ่งที่ปรากฏ เมื่อไร เมื่อนั้นจะเข้าใจว่า บัญญัติธรรมต่างกับปรมัตถธรรมอย่างไร แต่ถ้ายังไม่แยกแล้วก็คิดว่า จะไปพากเพียรระลึกลักษณะของนามธรรมนั้นบ้าง รูปธรรมนี้บ้าง เพื่อที่จะให้ประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไป จะเป็นไปไม่ได้เลย ตราบใดที่ยังไม่รู้ขณะที่ต่างกันของปรมัตถอารมณ์กับบัญญัติอารมณ์

    ข้อความในขุททกนิกาย มหานิทเทส ข้อ ๒๐๑ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ชนทั้งหลายที่เห็นกันก็ดี ที่ได้ยินชื่อเรียกกันก็ดี ชนเหล่านั้นที่จากไปแล้ว ยังเหลือแต่ชื่อเท่านั้นที่พูดถึงกันอยู่

    นี่แสดงถึงปรมัตถธรรมกับบัญญัติหรือเปล่า

    ชนทั้งหลายที่เห็นกันก็ดี ที่ได้ยินชื่อเรียกกันก็ดี ชนเหล่านั้นที่จากไปแล้ว ยังเหลือแต่ชื่อเท่านั้นที่พูดถึงกันอยู่

    คิดถึงคนอื่น หรือว่าคิดถึงตัวท่าน ในขณะที่ได้ยินข้อความนี้ คิดถึงคนที่จากไปหรือคิดถึงว่า แม้ตัวท่านเองก็จะเป็นบุคคลนี้อยู่อีกไม่นานเลย บุคคลนี้ในชาตินี้เป็นอย่างไร ย่อมประจักษ์แจ้งกับตัวของท่านเองว่า ชาตินี้ท่านเป็นอย่างนี้ ตั้งแต่เกิดมาจนกระทั่งถึงเดี๋ยวนี้ มีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส การที่ได้รับผลของกรรมที่เป็นกุศลวิบาก อกุศลวิบากอย่างไร แต่ว่าก็ไม่นานเลย ก็จะเป็นบุคคลอื่น พ้นสภาพความเป็นบุคคลนี้

    เพราะฉะนั้น ทุกท่านนี่ ตามความเป็นจริงแล้ว ไม่ใช่เมื่อสิ้นชีวิตแล้วเท่านั้นที่จะเหลือแต่ชื่อ แม้ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ ก็มีแต่ชื่อเท่านั้นทุกๆ ขณะ เพราะเหตุว่ามีสภาพธรรมอะไรบ้างที่เหลือจากเมื่อกี้นี้ ไม่มีเลย ใช่ไหม เห็นเมื่อกี้นี้ก็ดับไปแล้ว ได้ยินเมื่อกี้นี้ก็ดับไปแล้ว คิดนึกก็ดับไปแล้ว เหลือแต่ชื่อ ที่เรียกกันว่าคนนี้หรือคนนั้น แต่ว่าตามความเป็นจริงแล้วสภาพธรรมทุกขณะที่เกิดแล้วดับไป เพราะฉะนั้นก็ไม่ใช่แต่เฉพาะขณะที่สิ้นชีวิตแล้ว แม้แต่ในขณะนี้เอง ก็มีแต่เพียงชื่อ

    มีใครคิดว่าไม่จริงบ้าง ไม่มีอะไรเหลือ ทุกๆ ขณะที่ผ่านไป แล้วก็อีกไม่นานก็จะเป็นคนอื่น ไม่ใช่คิดถึงแต่เฉพาะผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ซึ่งไม่มีโอกาสจะพบอีก จะเห็นอีก จะคิดถึง ก็คิดถึงแต่เพียงชื่อจริงๆ แต่แม้ตัวท่านเอง อีกไม่นานก็เป็นเช่นนั้น

    สำหรับการอบรมเจริญปัญญาจนสามารถที่จะดับโลภะได้เป็นสมุจเฉท ถึงความเป็นพระอรหันต์ ข้อความในขุททกนิกาย มหานิทเทส ปุราเภทสุตตนิทเทสที่ ๑๐ ข้อ ๔๑๓ มีข้อความที่แสดงถึงผู้ที่ดับโลภะแล้ว จะไม่มีการติดในอารมณ์ทั้งหลายเลย ต่างกับขณะที่ยังคงมีความพอใจ ต้องการ ยึดมั่นในอารมณ์ทุกอย่าง ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    ข้อความในขุททกนิกาย มหานิทเทส ปุราเภทสุตตนิทเทสที่ ๑๐ ข้อ ๔๑๓ มีข้อความว่า

    ...จักษุเป็นธรรมชาติชอบรูป ยินดีในรูป ชื่นชมในรูป พระอรหันต์ฝึก คุ้มครอง รักษา สำรวมจักษุ และย่อมแสดงธรรมเพื่อความสำรวมจักษุนั้น

    นี่เป็นความต่างกันมาก ของผู้ที่ได้ฝึกอบรมจิตแล้ว กับผู้ที่ยังไม่ได้อบรมจิตเลย หรือว่าผู้ที่กำลังอบรมจิตอยู่ เพราะเหตุว่าธรรมดา จักษุเป็นธรรมชาติชอบรูป ยินดีในรูป ชื่นชมในรูป แต่ว่าพระอรหันต์ฝึก คุ้มครอง รักษา สำรวมจักษุ และย่อมแสดงธรรมเพื่อความสำรวมจักษุนั้น

    ข้อความในอรรถกถามีว่า

    สำหรับม้าก็ดี ช้างก็ดี ที่ยังไม่ได้ฝึก ใครจะไปห้ามที่จะไม่ให้ประพฤติในสิ่งซึ่งไม่เหมาะไม่ควร ก็เป็นไปไม่ได้ แต่ว่าช้างที่ฝึกแล้ว ม้าที่ฝึกแล้ว ใครจะห้ามไม่ให้ทำในสิ่งที่ถูกที่ควร ก็ไม่ได้ ฉันใด คนที่ยังไม่ได้ฝึก ที่จะห้ามไม่ให้ชอบในสิ่งที่ปรากฏทางตา ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย ใครจะมาชี้แจงพร่ำสอนอย่างไร แต่ผู้ที่ไม่ได้ฝึกก็ยังจะต้องออกไปนอกทางของคำสอนนั้น ตามกิเลสที่สะสมมา แต่ถ้าผู้นั้นฝึกแล้วจริงๆ ก็ไม่มีใครสามารถจะแนะนำชักชวนให้ผู้ที่ได้ฝึกจิตแล้ว มีความประพฤติเหมือนเช่นที่ไม่ได้เคยฝึกฝนมาก่อน

    ข้อความต่อไปมีว่า

    หูเป็นธรรมชาติชอบเสียง จมูกเป็นธรรมชาติชอบกลิ่น ลิ้นเป็นธรรมชาติชอบรส กายเป็นธรรมชาติชอบโผฏฐัพพะ ใจเป็นธรรมชาติชอบธรรมารมณ์ ยินดีในธรรมารมณ์ ชื่นชมในธรรมารมณ์ พระอรหันต์ คุ้มครอง รักษา สำรวมใจ และแสดงธรรมเพื่อความสำรวมใจนั้น

    สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ชนทั้งหลาย ย่อมนำพาหนะที่เขาฝึกแล้วไปสู่ที่ประชุม พระราชาทรงขึ้นพาหนะที่เขาฝึกแล้ว บุคคลผู้ฝึกฝนแล้ว อดกลั้นถ้อยคำที่ล่วงเกินได้ เป็นผู้ประเสริฐสุดในหมู่มนุษย์

    ม้าอัสดร ม้าสินธพผู้อาชาไนย ช้างใหญ่กุญชร ที่เขาฝึกแล้ว เป็นสัตว์ประเสริฐ บุคคลผู้ฝึกตนแล้วประเสริฐกว่าสัตว์เหล่านั้น

    ใครๆ ไม่พึงไปถึงนิพพาน อันเป็นทิศที่ไม่เคยไป ด้วยยานเหล่านั้น เหมือนบุคคลผู้ฝึกแล้ว มีตนอันฝึกแล้วฝึกดีแล้ว ย่อมไปถึงได้

    พระอรหันต์ไม่หวั่นไหวในมานะทั้งหลาย เป็นผู้พ้นขาดแล้วจากภพใหม่ เป็นผู้บรรลุถึงแล้วซึ่งภูมิที่ฝึกแล้ว คือ อรหัตตผล พระอรหันต์เหล่านั้น เป็นผู้ชนะแล้วในโลก

    ผู้ใดอบรมอินทรีย์ทั้งหลายในโลกทั้งปวง ทั้งในภายในทั้งในภายนอก ผู้นั้นฝึกดีแล้ว รู้โลกนี้และปรโลกแล้ว รอคอยอยู่ซึ่งกาลมรณะ

    การฝึกตนมีมาก แล้วก็ทุกเหตุการณ์ ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ บุคคลผู้ฝึกฝนแล้ว อดกลั้นถ้อยคำที่ล่วงเกินได้ เป็นผู้ประเสริฐสุดในหมู่มนุษย์

    ซึ่งก่อนนั้นจักษุเป็นธรรมชาติชอบรูป หูเป็นธรรมชาติชอบเสียง จมูกเป็นธรรมชาติชอบกลิ่น ลิ้นเป็นธรรมชาติชอบรส กายเป็นธรรมชาติชอบโผฏฐัพพะ ใจเป็นธรรมชาติชอบธัมมารมณ์

    ชอบมากไหม ธัมมารมณ์ หรือว่าชอบแต่สี เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ความชอบธัมมารมณ์นี้จะมากไหม

    กำลังอ่านหนังสือสนุกมาก ชอบอะไร สนุกมาก เรื่องที่อ่านสนุกมาก นวนิยายเรื่องต่างๆ สารคดีต่างๆ ชอบอะไรคะขณะนั้น ชอบธัมมารมณ์ ไม่ได้ชอบสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาเลย ใช่ไหม เพราะฉะนั้น กว่าจะฝึกจนกระทั่งรู้จริงๆ ว่า หลงชอบสิ่งที่ไม่มีเลยนอกจากคิดเอา คิดเอาทั้งนั้น และก็ห้ามไม่ได้ด้วย เพราะเหตุว่าตราบใดที่ยังไม่ฝึก ก็ยังจะต้องชอบธัมมารมณ์ต่อไป

    อโลภเจตสิกเป็นสภาพธรรมที่เกิดยาก การสละการไม่ติดข้องในอารมณ์ทั้ง ๖ เพราะฉะนั้น ก็จะต้องอบรมอโลภะ ความไม่ติดข้องด้วยความพากเพียรจริงๆ

    ข้อความในมโนรถปุรณี อรรถกถา อังคุตตรนิกาย ทุกนิบาต วรรคที่ ๑ ปธานสูตร ข้อ ๒๔๘ มีข้อความว่า

    ความเพียร ท่านกล่าวว่า ปธาน เพราะเป็นภาวะอันบุคคลพึงตั้งมั่น หรือเพราะกระทำให้เป็นประธาน

    มีโลภะมากเหลือเกิน เมื่อไรจะน้อยลงสักทีหนึ่ง ถ้าไม่มีความเพียร หรือว่าไม่มีความตั้งมั่นคงที่จะเพียร ที่จะละโลภะจริงๆ แล้วละก็ วันหนึ่งๆ โลภะก็ยังคงต้องมีกำลังมากทีเดียว เพราะเหตุว่าไม่ว่าจะเห็น ไม่ว่าจะได้ยิน ไม่ว่าจะได้กลิ่น ไม่ว่าจะลิ้มรส ไม่ว่าจะรู้โผฏฐัพพะ ไม่ว่าจะคิดนึก ให้ทราบว่า โลภะยังมีกำลังอยู่มาก

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ทุกคนมีโลภะเป็นธรรมดา

    จริงใช่ไหม และให้เห็นกำลังของโลภะและความอ่อนกำลังของโลภะ ตามข้อความที่ว่า

    การที่บุคคลจะกล่าวว่า ท่านทั้งหลายจงให้ผ้าท่อนเก่าที่เย็บแล้ว ๔ ครั้งก็ดี (คือทั้งปะ ทั้งชุน ๔ ครั้งแล้ว) จงให้ภัตสักว่าข้าวสารกำมือหนึ่งก็ดี (ใครมาขอวันนี้ข้าวสารกำมือหนึ่ง ลองคิดดู ใจวันนี้คิดจะสละข้าวสารกำมือหนึ่งไหม หรือว่าเพียงกำมือหนึ่งก็ไม่ให้) จงให้บรรณศาลาที่มีขนาดสี่เหลี่ยมก็ดี (ไม่ต้องเป็นอาคารใหญ่โต เพียงแค่บรรณศาลาขนาดสี่เหลี่ยมเท่านั้น) หรือว่า จงให้เภสัชมีประมาณน้อย ในเภสัชทั้งหลาย มีเนยใส และน้ำผึ้ง เป็นต้นก็ดี แก่ชนทั้งหลายเหล่าอื่นก็ดี หรือแม้การนำออกมาแล้วให้ก็ดี ชื่อว่าเป็นการกระทำได้ยากยิ่ง เป้นเช่นกับการเข้าไปสู่สงครามของกองทัพ ๒ ฝ่าย

    ถ้ายังยึดถือว่าเป็นของเรา แล้วก็มีไว้สำหรับใช้เพื่อการอุปโภค บริโภค ก็ลองคิดดูตามความเป็นจริงว่า ข้อความนี้ไม่ผิด หรือผิด เวลาที่ไม่มีกุศลเจตนาที่จะให้ แม้แต่เพียงเภสัชมีประมาณน้อยในเภสัชทั้งหลาย มีเนยใสและน้ำผึ้งเป็นต้น ก็ดี ที่จะให้แก่ชนเหล่าอื่น หรือแม้การนำออกมาแล้วให้ก็ดี ชื่อว่า เป็นการกระทำได้ยากยิ่ง

    เรื่องของอกุศลทั้งหลายเป็นเรื่องของคนพาล ไม่ใช่เป็นของบัณฑิต เพราะฉะนั้น คนพาลจะไกลตัวหรือว่าจะใกล้ตัว เพราะเหตุว่าบางท่านคิดถึงลักษณะของพาลว่า เป็นลักษณะของผู้อื่น แต่ว่าถ้ารู้ว่า “พาล” คือ อกุศลจิต จะทำให้รังเกียจอกุศลเพิ่มขึ้น ไม่ปรารถนาที่จะให้ตนเองเป็นคนพาล หรือว่ามีอกุศลมากๆ อย่างนั้น

    ข้อความในมโนรถปุรณี อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ปฐมปัณณาสก์ วรรคที่ ๑ อรรถกถา ลักขณสูตร ข้อ ๔๔๑ มีข้อความว่า

    หนทางอันคนพาลไปแล้ว ย่อมเป็นดุจหนทางที่เปลวเพลิงอันเผาไหม้ต้นไม้ กอไม้ บ้านและนิคม เป็นต้น ไปแล้ว ฉะนั้น

    คนพาล คือ อกุศลจิต เพราะฉะนั้น เวลาที่อกุศลจิตเกิดขึ้นเป็นดุจหนทางที่เปลวเพลิง อันเผาไหม้ต้นไม้ กอไม้ บ้านและนิคม เป็นต้น ไปแล้ว ฉะนั้น

    หนทางอันบัณฑิตไปแล้ว เป็นเช่นเดียวกันกับหนทางอันเมฆ ซึ่งมาจากทิศทั้ง ๔ นำความถึงพร้อมแห่งข้าวกล้านานาชนิด ยังหนองและบึงให้เต็มแล้ว

    นี่คือหนทางของบัณฑิต คือไปทางกุศล ทางอโลภะ ทางการไม่ติด ทางการบริจาค ทางการสละ เป็นเช่นเดียวกับ หนทางอันเมฆ ซึ่งมาจากทิศทั้ง ๔ นำความถึงพร้อมแห่งข้าวกล้านานาชนิด ยังหนองและบึงให้เต็มแล้ว เพราะเหตุว่าย่อมนำมาซึ่งสมบัติในหนทางที่บัณฑิตไปแล้ว ไม่ใช่นำมาซึ่งไฟไหม้ ทำลายทุกสิ่งทุกอย่าง แต่ว่านำมาซึ่งข้าวกล้านานาชนิด

    ทุกท่านที่ยังไม่ดับกิเลสเป็นสมุจเฉท ก็เห็นกำลังของโลภะได้ว่ามากมายจริงๆ ในแต่ละวัน ในแต่ละภพ ในแต่ละชาติ ดูไม่น่าเชื่อเลยว่า จะเป็นไปได้ว่า คนที่เคยพอใจทุกอย่างในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 23
    18 ม.ค. 2565

    ซีดีแนะนำ