โสภณธรรม ครั้งที่ 040
ตอนที่ ๔๐
ขณะที่ได้กลิ่น ซึ่งช่วยไม่ได้เลย ผ่านบางแห่ง บางสถานที่จะมีกลิ่นขยะ หรือว่ากลิ่นน้ำเน่า กลิ่นสิ่งปฏิกูล ขณะนั้นก็เป็นโทสมูลจิต
บริโภคอาหารทุกวัน เปรี้ยวไปหน่อย เค็มไปนิด หวานจัดไปหน่อย หรือว่าเผ็ด ขณะนั้นโทสมูลจิตก็เกิดแล้ว
หรือขณะที่มีชีวิตอยู่ทุกวันนี้ ทุกคนก็อยู่ภายใต้ลมฟ้าอากาศ ถูกแดด เป็นอย่างไรคะ ร้อน ไม่พอใจแล้ว หรือว่าพายุฝนต่างๆ เหล่านี้ ก็แสดงให้เห็นว่า ความไม่พอใจ ความขุ่นเคืองใจนี้ มีปัจจัยที่จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจริงๆ ถ้าไม่สังเกตจะคิดว่าเป็นแต่เพียงในขณะที่โกรธเคืองขุ่นข้องใจกับสัตว์บุคคลต่างๆ เท่านั้น แต่ความจริงไม่ใช่อย่างนั้นเลย จะต้องเป็นผู้ละเอียด ที่จะรู้ลักษณะของโทสะจริงๆ ว่า แม้ในอารมณ์ที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล โทสะก็เกิดขึ้นได้
สำหรับอโทสเจตสิก เป็นสภาพธรรมที่ตรงกันข้ามกับโทสะ เพราะฉะนั้น ก็เป็นขณะที่ไม่เดือดร้อน ไม่กังวลใจ เป็นต้น ซึ่งทุกคนก็ปรารถนาที่จะเป็นอย่างนี้ ใช่ไหม คือ ปรารถนาที่จะไม่มีโทสะ แต่ก็จะต้องระวัง ว่าถ้าไม่มีโทสะแล้ว ต้องไม่ให้มีโลภะด้วย อย่าพอใจว่า เมื่อไม่มีโทสะแล้ว มีโลภะไม่เป็นไร อันนี้เป็นสิ่งที่ควรจะสังเกตว่าโทสะเป็นอกุศล ฉันใด โลภะก็เป็นอกุศล ฉันนั้น แล้วโทสะก็ยังแสดงตัวปรากฏให้เห็นง่าย แต่โลภะยากที่จะเห็นได้ เพราะทุกคนต้องการโลภะ ซึ่งไม่มีวันพอ
เพราะฉะนั้น เมื่อได้ทราบลักษณะของอกุศลธรรม ก็ควรที่จะรู้ธรรมที่เป็นฝ่ายตรงกันข้ามด้วย สำหรับลักขณาทิจตุกะ คือ ลักษณะ ๔ ของอโทสเจตสิก คือ
อจณฺฑิก ลกฺขโณ มีความไม่ดุร้าย เป็นลักษณะ
ถ้าจะเปรียบลักษณะของอโทสะ ก็เหมือนมิตรที่คอยช่วยเหลือ เพราะเหตุว่าเวลาโกรธ ไม่ช่วย ใช่ไหม แต่ว่าเวลาไม่โกรธถึงจะช่วย เพราะฉะนั้น ลักษณะของ อโทสะก็เป็นสภาพที่ไม่แค้นเคือง เปรียบเหมือนมิตรที่คอยช่วยเหลือ
อาฆาตวินิยรโส มีการกำจัดความอาฆาต เป็นกิจ หรือ ปริฬาหวินิยรโส มีการกำจัดความเร่าร้อน เป็นกิจ เปรียบเหมือนจันทน์หอม ฉะนั้น
นี่แสดงทั้งเวลาที่เป็นไปในสัตว์ ในบุคคล และเวลาที่ไม่เป็นไปกับสัตว์บุคคล เช่น มีการกำจัดความเร่าร้อน เป็นกิจ เปรียบเหมือนจันทน์หอม ฉะนั้น
โสมภาวปัจจุปัฏฐาโน มีภาวะร่มเย็น เป็นอาการปรากฏ เปรียบเสมือนพระจันทร์เพ็ญ ฉะนั้น
โยนิโสมนสิการปทัฏฐาโน มีการทำไว้ในใจโดยอารมณ์โดยแยบคาย เป็นเหตุใกล้
ผู้ถาม ดูจากลักขณาทิจตุกะแล้ว ข้อแรกคือลักษณะ อันที่ ๒ คือ กิจ มีการกำจัดอาฆาตเป็นรสะ คือ เป็นกิจ แสดงว่าในปุถุชนเราทุกคนมีความอาฆาตอยู่แล้วทุกคนใช่ไหม
ท่านอาจารย์ หรือมีการกำจัดความเร่าร้อน เป็นกิจ
ผู้ฟัง แสดงว่าทุกคนมีแล้ว
ท่านอาจารย์ มีจริงๆ หรือเปล่า
ผู้ฟัง มี แต่ว่าของใครมาก ของใครน้อย ไม่เท่ากัน
ท่านอาจารย์ ต้องเป็นผู้ละเอียด ถึงจะรู้ว่า มีความไม่พอใจในอะไรบ้าง นอกจากในสัตว์ ในบุคคล แล้วก็ยังในสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายด้วย กระทบสิ่งที่ร้อน โทสมูลจิตเกิดแล้ว ใช่ไหม ไม่ชอบ ตกใจ กลัว เร็วถึงอย่างนั้น
ผู้ฟัง แล้วๆ ต้องเป็นผู้ดุร้ายด้วย
ท่านอาจารย์ ลักษณะนั้นหยาบกระด้าง จะอ่อนโยนไหวไหมในขณะนั้นที่กำลังตกใจ
ผู้ฟัง ดุแบบอ่อนโยน มีไหม เป็นคนดุๆ นิ่มๆ
ท่านอาจารย์ จะใช้คำอะไรก็ตามแต่ ลักษณะสภาพของความหยาบกระด้างเป็นลักษณะของโทสะ และลักษณะที่ไม่ดุร้าย ไม่หยาบกระด้าง จะใช้คำว่า อ่อนโยนก็ได้ ก็เป็นลักษณะของอโทสะ
เพราะฉะนั้น ก็เป็นสภาพที่ต่างกัน โทสะ หยาบกระด้าง และก็อโทสะ ไม่ดุร้าย ไม่หยาบกระด้าง
ใจของเราเอง พิจารณาได้ ขณะที่อยากจะช่วยใคร ต้องการที่จะให้เขาเป็นสุข มีอะไรที่จะเป็นประโยชน์แก่เขา ทำในขณะนั้นจิตในขณะนั้นอ่อนโยน ตรงกันข้ามกับขณะที่กำลังโกรธ กำลังขุ่นเคือง ขณะนั้นใจลักษณะนั้นจะหยาบจริงๆ กระด้างจริงๆ มีลักษณะเหมือนกับความแข็ง ความดุร้าย
ผู้ฟัง ความดุร้าย ความเร่าร้อน และก็ถ้าเพื่อมีอโทสะ ก็เหมือนกับมีความร่มเย็น เป็นเหตุใกล้ ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ลักษณะอาการที่ปรากฏ มีภาวะร่มเย็น เปรียบเหมือนพระจันทร์เพ็ญ
ผู้ฟัง และก็ข้อสุดท้าย มีโยนิโสมนสิการเป็นเหตุใกล้ ผมมาพิจารณาโทสะในลักขณาทิจตุกะนี้แล้ว ก็มาเปรียบเทียบกับตัวเองและก็ในชีวิตประจำวัน น่ากลัวสั่งสมไว้เยอะเหลือเกิน
ท่านอาจารย์ เป็นของธรรมดา อกุศลต้องมากกว่ากุศล ไม่ว่าจะเป็นโลภะ หรือโทสะก็ตาม แต่ให้ทราบว่า ที่อโทสะเป็นโสภณสาธารณเจตสิก หมายความว่าต้องเกิดกับกุศลจิต แสดงให้เห็นว่า ขาดอโทสเจตสิกไม่ได้ ถ้าอโทสเจตสิกไม่เกิด จิตไม่เป็นกุศล
เพราะฉะนั้น วิธีที่จะรู้ว่า ขณะนี้จิตเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ก็โดยการสังเกตลักษณะที่เป็นโทสะ หรืออโทสะ ถ้าขณะนั้นจิตหยาบกระด้าง ดุร้าย ไม่ร่มเย็น ขณะนั้นก็เป็นลักษณะของโทสะ แต่ว่าขณะใดที่จิตอ่อนโยน ไม่ดุร้าย ไม่หยาบกระด้าง ขณะนั้นเป็นอโทสะ และถ้าไม่เป็นอโทสะ ขณะนั้นไม่ใช่กุศล
ท่านที่ถามว่า นั่นเป็นกุศลไหม นี่เป็นกุศลไหม ทำอย่างนั้นเป็นกุศลหรือเปล่า ทำอย่างนี้เป็นกุศลหรือเปล่า ไม่ต้องถามคนอื่นเลย พิจารณาจิต ถ้าจิตขณะนั้นไม่ดุร้าย ไม่หยาบกระด้าง เป็นจิตที่อ่อนโยน จึงเป็นกุศล แต่แม้ขณะที่กำลังทำกุศลต่างๆ แล้วก็เกิดความหยาบกระด้างของจิตขึ้น ความดุร้าย ความผูกโกรธ ความขุ่นเคือง ขณะนั้นก็ไม่ต้องถามใคร ขณะนั้นก็รู้ว่าเป็นอกุศล
เพราะฉะนั้น เรื่องของกุศลและอกุศล เป็นเรื่องจิตที่จะพิจารณารู้ได้ว่า จิตขณะใดเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล โดยที่คนอื่นไม่สามารถจะรู้ได้เลย และถ้าไม่มีอโทสเจตสิกเกิด กุศลจิตเกิดไม่ได้ ในขณะที่มีอโลภเจตสิก ก็จะต้องมีอโทสเจตสิกเกิดร่วมด้วย พร้อมกับโสภณสาธารณะอื่นๆ เช่น ต้องมีศรัทธา มีสติ มีหิริ มีโอตตัปปะ มีอโลภะ จึงมีอโทสะ และโสภณสาธารณเจตสิกอื่นๆ เกิดร่วมกัน
เพราะฉะนั้น เรื่องของกุศล ไม่ควรจะคิดแต่เรื่องของทาน หรือวัตถุทาน การให้เท่านั้น เพราะเหตุว่าถึงแม้ว่าจะให้ทานไปสักเท่าไรก็ตาม แต่ก็ยังโกรธ หรือว่ายังมีความไม่สบายใจได้ ด้วยเหตุนี้จึงจะพต้องพิจารณาถึงอโทสเจตสิก ซึ่งเป็นโสภณเจตสิกด้วย
ข้อความในอังคุตตรนิกาย นวกนิบาต เวลามสูตรที่ ๑๐ ข้อ ๒๒๔ พระผู้มีพระภาคตรัสกับท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี สมัยที่พระองค์เป็นเวลามพราหมณ์ ในครั้งนั้นไม่มีพระอริยบุคคลที่จะถวายทานได้ แต่ว่ากุศลไม่ใช่มีแต่ทานเท่านั้น ไม่ว่าในกาลสมัยใด ไม่ว่าในกาลที่มีพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอริยเจ้าทั้งหลาย หรือในสมัยที่แม้ไม่มีพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอริยเจ้าแล้ว กุศลก็ไม่ควรที่จะเป็นไปเพียงในขั้นของทานอย่างเดียว
ข้อความในเวลามสูตรมีว่า
การที่บุคคลเจริญเมตตาจิตโดยที่สุดแม้เพียงเวลาสูดดมของหอม มีผลมากกว่าการที่บุคคลมีจิตเลื่อมใสสมาทานสิกขาบท
นี่เป็นการที่จะแสดงให้เห็นถึงกุศลที่มีกำลังเพิ่มขึ้น เช่น เมตตาแม้เพียงเวลาสูดดมของหอม มีผลมากกว่าการที่บุคคลมีจิตเลื่อมใสสมาทานสิกขาบท
ขณะที่ตั้งใจสมาทานศีลซึ่งเป็นชีวิตประจำวัน เพราะเหตุว่าทุกคนที่มีพระรัตนตรัยเป็นสรณะ ก็ย่อมจะต้องประพฤติปฏิบัติตามแม้ศีล ๕ ข้อ เท่าที่จะกระทำได้ เมื่อมีความเลื่อมใสที่จะสมาทานรักษาสิกขาบท คือ ศีล ๕ ในขณะนั้นจะต้องรู้ว่า การที่จะไม่ล่วงศีลได้ เพราะไม่โกรธ หรือว่าไม่มีโทสะ แต่ถ้าเกิดโทสะขึ้นขณะใด จะล่วงสิกขาบทข้อหนึ่งข้อใดใน ๕ ข้อ ได้ ถ้าปราศจากเมตตา ขณะใดที่เมตตาเกิดจะไม่ล่วงศีล แต่ขณะใดที่ปราศจากเมตตา จะล่วงศีลได้
เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่า การที่บุคคลสมาทานสิกขาบท แสดงว่ามีเจตนาที่จะไม่ล่วงศีล แต่ว่าที่จะไม่ล่วงศีลได้ ต้องเพราะเมตตา ขาดเมตตาขณะใด ขณะนั้นล่วงศีล
เพราะฉะนั้น สภาพธรรมจริงๆ ที่จะทำให้รักษาศีล ๕ ได้ ก็คือ เมตตา
เพราะฉะนั้น การเจริญเมตตาจิตโดยที่สุดแม้เพียงเวลาสูดดมของหอม มีผลมากกว่าการที่บุคคลมีจิตเลื่อมใสสมาทานสิกขาบท เพราะเหตุว่าสมาทานได้ แต่ว่าถึงเวลาเผชิญหน้าจริงๆ กับเหตุการณ์และกับอารมณ์ที่ปรากฏ จะล่วงศีลหรือไม่ล่วงศีล ถ้าเป็นผู้ที่มีเมตตาในขณะนั้น ไม่ล่วงศีล แต่ถ้าไม่มีเมตตา แม้สมาทานแล้ว ก็ยังล่วงศีลได้
การที่บุคคลมีจิตเลื่อมใสสมาทานสิกขาบท มีผลมากกว่าการมีจิตเลื่อมใสถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ
นี่ก็แสดงให้เห็นถึงความละเอียดของการมีพระรัตนตรัยเป็นสรณะ เพราะเหตุว่าบางท่านถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะเพียงด้วยการกล่าวตาม ว่าเป็นผู้ที่ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ แต่จริงๆ แล้ว จะต้องเข้าใจในพระพุทธคุณ ในพระธรรมคุณ ในพระสังฆคุณ ต้องศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ ว่าสรณะจริงๆ นั้น คือ พระธรรม คำสอนที่ทำให้เราเข้าใจสภาพธรรมถูกต้อง ตามความเป็นจริง รู้ว่าขณะใดเป็นอกุศล ขณะใดเป็นกุศล แล้วก็รู้เหตุ รู้ผล รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ละเอียดขึ้น ทำให้เพิ่มความรู้ความเข้าใจ ที่จะทำให้มีพระรัตนตรัยเป็นสรณะจริงๆ แต่ว่าถ้าเพียงแต่มีพระรัตนตรัยเป็นสรณะ โดยไม่สมาทานสิกขาบท หรือว่าโดยไม่เจริญเมตตาจิตก็ไม่พอ เพราะเหตุว่าจะเป็นการถึงโดยการกล่าวตามเท่านั้น แต่ว่าการมีจิตเลื่อมใสถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ มีผลมากกว่าการสร้างวิหารถวายสงฆ์อันมาจากจตุรทิศ
พระสงฆ์ที่ท่านมาจากทิศต่างๆ เพื่อที่จะได้ฟังพระธรรม เพื่อที่จะได้อบรมเจริญปัญญา และก็มีผู้ที่มีศรัทธาสร้างวิหารถวาย ในขณะนั้นก็เป็นทานกุศลซึ่งเกิด แต่ว่าไม่บ่อย และก็ไม่นาน แต่ว่าจิตซึ่งเกิดดับเป็นประจำวันที่จะไม่ให้เป็นไปในการเบียดเบียนบุคคลอื่น หรือว่าให้เป็นไปในการเจริญกุศลยิ่งขึ้นด้วยเมตตา ย่อมมีผลมากกว่าการที่เพียงสร้างวิหารถวายสงฆ์ซึ่งมาจากจตุรทิศ
เพราะเหตุว่าบางคนมักจะคิดว่า ทำบุญอย่างไรถึงจะได้อานิสงค์มาก จะสร้างวิหารดี หรือว่าจะถวายทานดี หรือว่าจะทำอะไร แต่ลืมว่า การสร้างวิหารก็ดี เดียวเดี๋ยว เดียวเดี๋ยวที่นี่ไม่ได้หมายความว่า ๑ นาที ๒ นาที ๓ วัน ๔ วัน แต่เทียบกับการที่วันหนึ่งๆ ที่จะมีการทำบุญด้วยทาน ด้วยวัตถุที่เป็นทาน หรือการสร้างวิหาร ก็ยังจบยังสิ้น แต่จิตใจของทุกคนในทุกวันซึ่งไม่จบ และก็ขณะใดที่ไม่ได้ให้ทานวัตถุ วันใด เดือนใด ปีใดที่ไม่ได้สร้างวิหาร จิตเป็นอะไร เพราะฉะนั้น เรื่องของจิตแต่ละขณะก็ย่อมจะสำคัญกว่า ที่จะต้องระลึกว่า การเจริญเมตตาจิตแม้ที่สุดเพียงสูดดมของหอม มีผลมากกว่าการที่บุคคลมีจิตเลื่อมใสสมาทานสิกขาบท การที่บุคคลมีจิตเลื่อมใสสมาทานสิกขาบท มีผลมากกว่าการมีจิตเลื่อมใสถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ การมีจิตเลื่อมใสถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ มีผลมากกว่าการสร้างวิหารถวายสงฆ์อันมาจากจตุรทิศ การสร้างวิหารถวายสงฆ์อันมาจากจตุรทิศ มีผลมากกว่าการถวายแก่พระภิกษุสงฆ์ มีพระผู้มีพระภาคเป็นประมุขบริโภค การถวายทานแก่พระภิกษุสงฆ์ มีพระผู้มีพระภาคเป็นประมุขบริโภค มีผลมากกว่าการถวายทานที่บุคคลถวายให้พระผู้มีพระภาคเสวย การถวายทานที่บุคคลถวายให้พระผู้มีพระภาคเสวย มีผลมากกว่าทานที่ถวายแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า ๑๐๐ องค์บริโภค การถวายทาแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า ๑๐๐ องค์บริโภค มีผลมากกว่าทานที่ถวายแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า ๑ องค์ การถวายทานแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า ๑ องค์ มีผลมากกว่าการถวายทานแก่พระอรหันต์ ๑๐๐ องค์ การถวายทานแก่พระอรหันต์ ๑๐๐ องค์ มีผลมากกว่าการถวายทานแก่พระอรหันต์ ๑ องค์ การถวายทานแก่พระอรหันต์ ๑ องค์ มีผลมากกว่าการถวายทานแก่พระอนาคามี ๑๐๐ องค์
นี่ก็เป็นเรื่องของจิต แต่ว่าถ้าย้อนกลับไปถึงทานทั้งหมด ก็ยังไม่เท่ากับการที่บุคคลเจริญเมตตาจิต โดยที่สุดแม้เวลาสูดดมของหอม และเมตตาก็คือ อโทสเจตสิก
ข้อความในอังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต สังขิตสูตร ข้อ ๑๖๐ มีข้อความว่า
ครั้งนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งได้เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ถ้าบุคคลที่มีชีวิตอยู่ในพระไตรปิฎกยังไม่เป็นพระอริยบุคคล ยังไม่ปรินิพพาน จะอยู่ที่ไหนในสมัยนี้ เพราะฉะนั้น ก็คิดถึงสภาพของจิตของแต่ละบุคคล แม้ในครั้งนี้และในครั้งนั้นก็ไม่ต่างกัน แม้ภิกษุรูปนี้
ครั้งนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งได้เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคโปรดแสดงธรรมโดยย่อแก่ข้าพระองค์ …
ถูกใจไหม ท่านที่อยากจะฟังพระธรรมย่อๆ แม้แต่ในครั้งนั้นก็มีภิกษุที่ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
“ขอพระผู้มีพระภาคโปรดทรงแสดงธรรมโดยย่อแก่ข้าพระองค์ ที่ข้าพระองค์ได้ฟังแล้ว พึงเป็นผู้หลีกออกจากหมู่ อยู่ผู้เดียว ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยวอยู่เถิด”
เวลาที่ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค แล้วก็ทูลขอให้พระองค์ทรงแสดงธรรม จะให้พระองค์ทรงแสดงธรรมเปล่าๆ หรือว่าเพื่อที่จะปฏิบัติตามด้วย
นี่เป็นสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่ควรจะสังเกตว่า แม้แต่ผู้ที่ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ไปเฝ้าแล้วก็ขอให้ทรงแสดงธรรม แต่ถ้าไม่ประพฤติปฏิบัติตาม จะเสียเวลาของพระผู้มีพระภาคไหม ที่เมื่อแสดงแล้วก็ยังไม่ได้ประพฤติปฏิบัติตาม เพราะฉะนั้น การฟังพระธรรมก็เหมือนกัน อย่าให้เป็นการเสียไปโดยเปล่า เหมือนกับว่าได้เข้าไปเฝ้าและก็ขอให้ทรงแสดง เพื่อที่พระองค์จะได้ไม่ทรงแสดงเปล่าๆ ก็จะต้องประพฤติตามที่ทรงแสดงด้วย แม้ว่าจะทรงแสดงโดยย่อสักเพียงใดก็ตาม แต่สิ่งที่ทรงแสดงโดยย่อ ต้องปฏิบัติกันตลอดชีวิต ทุกชาติ จนกว่าจะรู้แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริง
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “โมฆบุรุษบางพวกในโลกนี้ ย่อมเชื้อเชิญเราโดยหาเหตุมิได้ เมื่อเรากล่าวธรรมแล้ว ย่อมสำคัญเราว่าควรติดตาม ด้วยคิดว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดแสดงธรรมโดยย่อแก่ข้าพระองค์ ขอพระสุคตโปรดแสดงธรรมโดยย่อ ไฉนหนอเราพึงรู้ทั่วถึงเนื้อความแห่งภาษิตของพระองค์ ไฉนหนอเราพึงเป็นทายาทแห่งภาษิตของพระองค์” เพราะฉะนั้นแหละภิกษุ เธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า จิตของเราจักตั้งมั่น ดำรงอยู่ด้วยดีในภายใน และธรรมอันเป็นบาปอกุศลที่เกิดขึ้นแล้วจักไม่ครอบงำจิตได้
ดูกรภิกษุ เธอพึงศึกษาอย่างนี้แล”
นี่โดยย่อ คือ ให้ตั้งมั่น ดำรงอยู่ด้วยดี คือ ให้เป็นกุศล อย่าให้เป็นอกุศล
พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า
“ดูกรภิกษุ เมื่อใดจิตของเธอเป็นจิตตั้งมั่นดำรงอยู่ด้วยดีแล้วในภายใน และธรรมอันเป็นบาปอกุศลที่เกิดขึ้นแล้วไม่ครอบงำจิตได้ เมื่อนั้น เธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราจักเจริญกระทำให้มากซึ่งเมตตาเจโตวิมุติ ทำให้เป็นดุจยาน ทำให้เป็นที่ตั้ง ให้มั่นคง สั่งสม ปรารภดีแล้ว
ดูกรภิกษุ เธอพึงศึกษาอย่างนี้แล
นี่เป็นความสำคัญของการที่จะเจริญเมตตา ซึ่งก็ไม่พ้นจากการเจริญสติปัฏฐาน และก็ที่พระผู้มีพระภาคตรัสให้ภิกษุนั้นปฏิบัติ แม้ว่าจะโดยย่อ สั้น แต่ว่าการปฏิบัติของผู้ที่จะรับฟังพระธรรมโอวาทโดยย่อ สั้นนั้น จะปฏิบัติตามได้อย่างมั่นคงแค่ไหน นี่เป็นสิ่งที่พุทธบริษัทจะต้องน้อมรับพระธรรมมาประพฤติปฏิบัติด้วยความเคารพ และพระผู้มีพระภาคก็ได้ตรัสให้ภิกษุรูปนั้นเจริญเมตตาพรหมวิหารจนถึงรูปฌาน ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน และก็ให้เจริญกรุณา มุทิตา และก็ให้เจริญอุเบกขาพรหมวิหารถึงปัญจฌาน แต่ว่าก็เป็นการอบรมเจริญสติปัฏฐานด้วย เพราะเหตุว่าพระธรรมทั้งหมดที่ทรงแสดงไม่พ้นจากการเจริญสติปัฏฐาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเจริญเมตตาก็ตาม
เมื่อสักครู่นี้ ก็ได้สนทนากับท่านผู้ฟังท่านหนึ่ง ท่านก็บอกว่า เวลาที่ท่านเกิดขุ่นเคืองใจ โทสะเกิดขึ้น แล้วสติก็ระลึก ขณะนั้นโทสะก็หายไป แต่แล้วก็เกิดอีก ก็ได้เรียนถามท่านว่า แล้วต้องการอย่างไร ท่านก็คงต้องการที่จะไม่ให้โทสเจตสิกเกิดขึ้นอีกเลย ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ หมายความว่าปรารถนาในสิ่งซึ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะเหตุว่าตราบใดที่ยังไม่รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมตามความเป็นจริง ที่จะให้กิเลสทั้งหลายไม่เกิดอีก เป็นไปไม่ได้ แต่ข้อสำคัญที่จะต้องรู้ก็คือว่า ธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้น ดับ ไม่ใช่ไม่ดับ เพราะฉะนั้น เวลาที่บางท่านเห็นว่า ธรรมนั้นที่เกิดแล้วดับ ก็เลยเกิดความพอใจ แทนที่จะรู้ความจริงว่า แท้ที่จริงแล้ว ธรรมทั้งหมดเป็นอย่างนั้น ไม่ใช่แต่เฉพาะโทสะ ที่ต้องการให้ดับ ไม่ว่ากำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังได้กลิ่น กำลังลิ้มรส กำลังคิดนึก ก็เป็นสภาพธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่งเกิดขึ้น แล้วก็ดับไปทันที
เพราะฉะนั้น ถ้าสามารถจะระลึกรู้ลักษณะของธรรมที่กำลังปรากฏ โดยตามความเป็นจริง คือ เพียงชั่วขณะเล็กน้อย อย่างทางตาที่กำลังเห็น ให้ทราบว่าชั่วขณะเล็กน้อยจริงๆ เพราะทางหูได้ยินเสียง นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ความเล็กน้อยของทางตาที่กำลังเห็น เล็กน้อยสักแค่ไหน ก็ลองคิดดู ในขณะที่เห็นเล็กน้อย แล้วก็ทางหูก็ได้ยิน แล้วก็เล็กน้อย แล้วก็เห็นอีกเพียงเล็กน้อย แล้วก็กระทบแข็งอีกเพียงเล็กน้อย ถ้าทางใจไม่ปรุงแต่งเป็นเรื่องเป็นราวต่างๆ มากมาย สภาพธรรมก็ย่อมจะปรากฏตามความเป็นจริง แต่เมื่อลักษณะของปรมัตถธรรมปรากฏทางทวารหนึ่งทวารใดใน ๕ ทวารแล้ว ทางมโนทวารรับต่อ แล้วก็ปรุงแต่งอย่างมากทีเดียว จนกระทั่งปิดบังไม่ให้รู้ลักษณะของปรมัตถธรรมว่า เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่เล็กน้อย เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป อย่างทุกท่านอาจจะเห็นเก้าอี้ตั้งอยู่ตั้งนาน เมื่อสักครู่ก็ยังอยู่ หรืออาจจะคิดถึงอาทิตย์ก่อน เก้าอี้นี่ก็ยังอยู่ เพราะว่านึกถึงความเป็นเรื่องราวของสิ่งที่ปรากฏ ไม่ใช่รู้ว่าทางตาชั่วขณะที่กำลังปรากฏเล็กน้อย แล้วขณะที่กำลังกระทบแข็ง ก็เล็กน้อย เพราะเหตุว่าแข็งที่ปรากฏในขณะที่กระทบครั้งที่ ๑ ดับไป แล้วเมื่อแข็งกระทบอีกครั้งหนึ่ง ต้องไม่ใช่แข็งเก่าที่ปรากฏ
นี่คือความเล็กน้อยชั่วขณะจริงๆ ของสภาพธรรมแต่ละอย่าง เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญปัญญาไม่ใช่รู้อย่างอื่นเลย นอกจากรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ตรงตามลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ
เรื่องของความโกรธเป็นเรื่องที่ทำให้จิตใจไม่สบาย แล้วก็ถ้าเป็นความไม่พอใจในสิ่งที่ไม่มีวิญญาณ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ความไม่พอใจนั้นก็จะไม่นานเท่ากับความไม่พอใจในสัตว์ บุคคล เพราะเหตุว่าถ้าเป็นความไม่พอใจในสัตว์ บุคคล จะทำให้นึกถึงเป็นบุคคลนั้นอีก และก็ความไม่พอใจนั้นก็เกิดอีก แต่ว่าความไม่พอใจในสิ่งที่ไม่ใช่สัตว์บุคคล จะไม่อยู่นาน แต่ก็จะเกิดตามการกระทบของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจได้
เพราะฉะนั้น ก็ควรที่จะรู้ประโยชน์ของสภาพธรรมที่ตรงกันข้ามกับโทสะ ได้แก่ อโทสเจตสิก และถ้าเป็นไปในสัตว์ ในบุคคล ก็เป็นลักษณะของเมตตา ซึ่งเป็นสภาพที่เย็นสบาย ไม่เดือดร้อนใจเลย เพราะเหตุว่าลักษณะของเมตตานั้นเป็นลักษณะของความเป็นมิตรหรือความเป็นเพื่อน ในขณะที่เกิดความขุ่นเคืองใจ หรือว่าไม่พอใจในบุคคลหนึ่งบุคคลใดก็ตาม ลองพิจารณาดูจริงๆ ว่า ขณะนั้นเป็นเพราะอะไร ถ้าพิจารณาจริงๆ ก็จะรู้ได้ว่า ไม่ใช่เพราะคนอื่น ไม่ใช่เพราะสิ่งที่ปรากฏภายนอก แต่ว่าเป็นเพราะกิเลสของตนเองทั้งสิ้น
สำหรับการที่จะเกิดความพอใจ ไม่พอใจ เกิดความขุ่นเคืองใจในบุคคลหนึ่งบุคคลใด บางทีถ้าขาดการพิจารณาตนเอง ก็ไม่ทราบว่า ความไม่พอใจ ความขุ่นเคืองใจนั้นสมควรหรือไม่สมควร
- โสภณธรรม ครั้งที่ 001
- โสภณธรรม ครั้งที่ 002
- โสภณธรรม ครั้งที่ 003
- โสภณธรรม ครั้งที่ 004
- โสภณธรรม ครั้งที่ 005
- โสภณธรรม ครั้งที่ 006
- โสภณธรรม ครั้งที่ 007
- โสภณธรรม ครั้งที่ 008
- โสภณธรรม ครั้งที่ 009
- โสภณธรรม ครั้งที่ 010
- โสภณธรรม ครั้งที่ 011
- โสภณธรรม ครั้งที่ 012
- โสภณธรรม ครั้งที่ 013
- โสภณธรรม ครั้งที่ 014
- โสภณธรรม ครั้งที่ 015
- โสภณธรรม ครั้งที่ 016
- โสภณธรรม ครั้งที่ 017
- โสภณธรรม ครั้งที่ 018
- โสภณธรรม ครั้งที่ 019
- โสภณธรรม ครั้งที่ 020
- โสภณธรรม ครั้งที่ 021
- โสภณธรรม ครั้งที่ 022
- โสภณธรรม ครั้งที่ 023
- โสภณธรรม ครั้งที่ 024
- โสภณธรรม ครั้งที่ 025
- โสภณธรรม ครั้งที่ 026
- โสภณธรรม ครั้งที่ 027
- โสภณธรรม ครั้งที่ 028
- โสภณธรรม ครั้งที่ 029
- โสภณธรรม ครั้งที่ 030
- โสภณธรรม ครั้งที่ 031
- โสภณธรรม ครั้งที่ 032
- โสภณธรรม ครั้งที่ 033
- โสภณธรรม ครั้งที่ 034
- โสภณธรรม ครั้งที่ 035
- โสภณธรรม ครั้งที่ 036
- โสภณธรรม ครั้งที่ 037
- โสภณธรรม ครั้งที่ 038
- โสภณธรรม ครั้งที่ 039
- โสภณธรรม ครั้งที่ 040
- โสภณธรรม ครั้งที่ 041
- โสภณธรรม ครั้งที่ 042
- โสภณธรรม ครั้งที่ 043
- โสภณธรรม ครั้งที่ 044
- โสภณธรรม ครั้งที่ 045
- โสภณธรรม ครั้งที่ 046
- โสภณธรรม ครั้งที่ 047
- โสภณธรรม ครั้งที่ 048
- โสภณธรรม ครั้งที่ 049
- โสภณธรรม ครั้งที่ 050