โสภณธรรม ครั้งที่ 041
ตอนที่ ๔๑
สำหรับการที่จะเกิดความพอใจ ไม่พอใจ เกิดความขุ่นเคืองใจในบุคคลหนึ่งบุคคลใด บางทีถ้าขาดการพิจารณาตนเอง ก็ไม่ทราบว่า ความไม่พอใจ ความขุ่นเคืองใจนั้นสมควรหรือไม่สมควร
ข้อความในมัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ อรรถกถา ฆฏิการสูตร มีข้อความว่า
เมื่อพระเจ้ากิกิราสิกราชได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคพระนามว่า กัสสปะให้ทรงรับการอยู่จำพรรษาที่เมืองพาราณสีของพระองค์ เพื่อที่พระองค์จะได้บำรุงพระสงฆ์เห็นปานนั้น พระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่า กัสสปะ ตรัสว่า พระองค์รับการอยู่จำพรรษาของฆฏิการะช่างหม้อแล้ว ซึ่งพระเจ้ากิกิก็ทรงปรารภถึงความไม่มีลาภ และก็มีความเสียพระทัย มีจิตโทมนัสว่า เราไม่ได้เพื่อถวายทานตลอดไตรมาส และไม่ได้เพื่อฟังพระธรรม และไม่ได้เพื่อปฏิบัติพระผู้มีพระภาคและพระภิกษุถึง ๒๐,๐๐๐ รูป โดยทำนองนี้ แต่ว่าพระเจ้ากิกิไม่ได้ทรงปรารภพระผู้มีพระภาค เพราะเหตุว่าไม่ได้ทรงน้อยพระทัย หรือเสียพระทัยในพระผู้มีพระภาค เป็นแต่ว่าโทมนัสเสียใจว่า พระองค์จะไม่ได้ถวายทานตลอดไตรมาส และไม่ได้ฟังธรรมตลอดไตรมาส
คำถามมีว่า เพราะเหตุไร
ตอบว่า เพราะพระองค์เป็นพระโสดาบัน
เพราะฉะนั้น ความโกรธของแต่ละคนในแต่ละวัน ก็ควรที่จะได้พิจารณาด้วยว่า สมควรหรือไม่สมควร ถูกหรือผิด เสียใจหรือน้อยใจบุคคลที่ควรน้อยใจหรือเสียใจไหม อย่าง พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ควรที่จะมีผู้หนึ่งผู้ใดน้อยใจหรือเสียใจเลย เมื่อพระองค์เป็นผู้มีพระคุณสูงสุด เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ถวายทานต่อพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ว่าเมื่อคิดถึงพระคุณสูงสุดของพระองค์แล้ว ก็ไม่ได้น้อยใจเสียใจที่พระองค์ไม่ได้อยู่จำพรรษาที่พระนครพาราณสี แต่ว่าไปจำพรรษาอยู่ที่เมืองของฆฏิการะช่างหม้อ
เพราะฉะนั้น ทุกวันนี้ก็ควรที่จะได้คิดว่า เคยน้อยใจใครบ้าง หรือว่าเคยเสียใจใครบ้าง และสมควรไหม ถ้าบุคคลนั้นเป็นผู้มีพระคุณอย่างมารดาบิดา หรือว่าญาติผู้ใหญ่
นี่ก็เป็นสิ่งที่ถ้ามีความละเอียดในการที่จะพิจารณาจิต แล้วก็เกิดสติ พิจารณาแม้เพียงความควรหรือไม่ควร ก็จะทำให้อกุศลทั้งหลายเบาบางลงบ้าง
ลักษณะของเมตตา คือ มีความเป็นไปโดยอาการเกื้อกูล เป็นลักษณะ
มีการน้อมเข้าไปซึ่งประโยชน์เกื้อกูล เป็นรสะ คือ เป็นกิจ
มีการจำกัดความอาฆาต เป็นปัจจุปัฏฐาน คือ เป็นอาการปรากฏ
มีการเห็นสัตว์ทั้งหลายเป็นที่พอใจ เป็นเหตุใกล้ให้เกิด
ไม่ใช่ว่าเห็นแล้วก็ขัดหูขัดตา ถ้าเป็นในลักษณะนั้นแล้ว ขณะนั้นเป็นลักษณะของโทสะ
ถ้าสติเกิด ระลึกลักษณะของจิต ขณะที่โกรธ จะต่างกับขณะที่เมตตา ลักษณะของจิตต่างกันจริงๆ ขณะที่โกรธ เป็นขณะที่จิตมีสภาพที่หยาบกระด้าง แต่เวลาที่เกิดเมตตา ขณะนั้นสงบจากความพยาบาท เป็นสภาพของจิตที่อ่อนโยน เวลาที่ไม่อยากจะโกรธ แล้วก็อยากจะมีเมตตาไหม หรือว่าเพียงไม่อยากให้ตัวเองไม่ขุ่นเคืองใจ เพราะเหตุว่าไม่ชอบความเดือดร้อนใจ แต่ว่าในขณะนั้น ไม่ได้คิดถึงเรื่องการควรที่จะมีเมตตาต่อสัตว์บุคคลทั้งหลายเพิ่มขึ้น แต่ว่าลักษณะของเมตตา จะต้องทราบว่า คล้ายกับลักษณะของโลภะ ซึ่งเป็นสิ่งที่จะต้องเป็นผู้ละเอียด เพราะเหตุว่าลักษณะของเมตตานั้น มีการสงบจากความโกรธ หรือความพยาบาทเป็นสมบัติ มีการเกิดโลภะหรือเสน่หาเป็นวิบัติ
เพราะฉะนั้น สำหรับเมตตาจะไม่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์เลย แต่ว่าโลภะเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังจะพิจารณาได้ เวลาที่เกิดความเดือดร้อนใจ ความไม่สบายใจ ความไม่พอใจ ให้ทราบว่าในขณะนั้นไม่ใช่เมตตา แต่ต้องเป็นโลภะ เพราะเหตุว่าถ้าท่านมีความเมตตาต่อบุคคลใดจริงๆ จะไม่เกิดความทุกข์ความเดือดร้อนเลย
ถ้ามีญาติผู้ใหญ่หรือมิตรสหายที่เคารพนับถือ ที่ชอบพอคุ้นเคย จากโลกนี้ไป ถ้าเสียใจ ขณะนั้นเป็นเมตตาหรือเปล่า หรือว่าเป็นโลภะ
วิธีที่จะทดสอบสภาพธรรม และก็รู้จริงๆ ว่า ความรู้สึกที่เคยคิดว่ามีเมตตาต่อกัน แท้ที่จริงเป็นโลภะ หรือว่าเป็นเมตตา เพราะเหตุว่าเมตตามีโลภะเป็นข้าศึกใกล้ และก็มีโทสะหรือพยาบาทเป็นข้าศึกไกล คือ อยู่ห่าง ไม่เข้ามาใกล้ได้เลย ระหว่างความโกรธกับความเมตตา เป็นสภาพธรรมที่ตรงกันข้ามกันจริงๆ เข้าใกล้กันไม่ได้ แต่ว่าลักษณะของเมตตากับโลภะใกล้เคียงกันมาก ซึ่งถ้าไม่พิจารณาจริงๆ เป็นอกุศล คือ โลภะ ไม่ใช่เมตตา โดยรู้ว่า ความรู้สึกนั้นที่เคยเข้าใจว่าเมตตา เป็นเหตุให้เกิดความทุกข์หรือไม่ ถ้าขณะใดเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ ให้รู้ว่าขณะนั้นไม่ใช่เมตตาจริงๆ แต่ว่าเป็นโลภะ
ท่านที่มีสัตว์เลี้ยง พอที่จะทราบได้ไหมว่า เป็นเมตตาหรือว่าเป็นโลภะ แล้วแต่ขณะจิตจริงๆ ถ้ามีอันเป็นเกิดขึ้น แล้วก็จะต้องเศร้าโศกเสียใจเพราะสิ่งใด ให้ทราบว่าไม่ใช่เมตตาในสิ่งนั้น แต่ว่าเป็นความพอใจ เป็นโลภะในสิ่งนั้น
เพราะฉะนั้น พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง แม้แต่โลภะเป็นข้าศึกใกล้ ก็เพื่อประโยชน์ คือ ให้ปฏิบัติ ให้สังเกต ให้พิจารณา ให้รู้ เพื่อที่จะละคลายเหตุแห่งทุกข์ให้ลดน้อยลง เพราะเหตุว่าถ้าไม่รู้ ทุกคนก็เข้าใจว่าเมตตา แต่ความจริงเป็นโลภะ เพราะฉะนั้น วันหนึ่งก็ต้องเป็นทุกข์เพราะโลภะ แต่ถ้ารู้ว่า โลภะกับเมตตามีลักษณะที่ต่างกัน กุศลจิตก็ย่อมเจริญขึ้น โดยคลายความติด ความเสน่หา หรือโลภะ แล้วก็เพิ่มความเมตตาขึ้น จนกระทั่งแม้สิ่งนั้นจะมีอันเป็นเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ก็ไม่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ขึ้นได้ นั่นคือลักษณะของเมตตาจริงๆ
ข้อความในอรรถกถามีว่า
การเจริญขึ้นของเมตตานั้น เริ่มด้วยกัตตุกัมยตาฉันทะ คือ ความพอใจที่จะอบรมเจริญเมตตา
นี่เป็นขั้นต้น เพราะเหตุว่าทุกคนทราบว่า อโทสะก็เป็นโสภณธรรม เมตตาต่อสัตว์บุคคลทั้งหลายก็เป็นธรรมฝ่ายดี แต่ว่าทำอย่างไรถึงจะมีเมตตาเพิ่มขึ้นมากๆ เพราะเหตุว่าถ้ายังโกรธใครอยู่ ก็แสดงว่าขณะนั้นขาดเมตตา เพราะเหตุว่าถ้ายังโกรธ ชื่อว่า เมตตาเกิดไม่ได้ เป็นสภาพธรรมที่ตรงกันข้าม
เพราะฉะนั้น การที่เมตตาจะเจริญขึ้นได้ ก็ต้องเริ่มด้วยกัตตุกัมยตาฉันทะ ความพอใจที่จะอบรมเจริญเมตตา เมื่อได้ฟังพระธรรมมามากแล้ว ก็เป็นผู้ที่น้อมประพฤติปฏิบัติตาม โดยเฉพาะในเรื่องของเมตตา ถ้าอบรมเจริญแล้วก็ไม่ยากเลยที่จะมีความเป็นมิตรกับทุกคน และก็อภัยให้ในสิ่งซึ่งอาจจะขาดตกบกพร่องของบุคคลอื่น แต่ว่าถ้าไม่เป็นผู้ที่มีฉันทะ มีความพอใจที่จะอบรมเจริญเมตตา ก็อาจจะยังคงขัดหูขัดตา หรือว่าขุ่นเคืองไม่พอใจในสัตว์ ในบุคคลทั้งหลายได้
ผู้ฟัง เมตตาในผู้ที่ใกล้ชิด หรือผู้ที่คุ้นเคย แบบว่าเป็นไปได้ยากมาก คุ้นเคยกันมากๆ รักมาก ก็มีโทสะมาก แล้วที่จะเป็นเมตตา ผมสงสัยว่า ทำได้ยากมาก
ท่านอาจารย์ ทุกอย่างที่ยาก ต้องเริ่มต้น จนกว่าจะง่ายขึ้น ถ้าเห็นว่าเมตตาเป็นกุศล และก็โลภะเป็นอกุศล ก็เลือกได้แล้วว่า วันหนึ่งๆ ควรที่จะมีเมตตา ไม่ใช่โลภะ ต้องรู้ความต่างกันจริงๆ แล้วก็เริ่มมีความพอใจที่จะอบรมเจริญเมตตาด้วย ไม่ใช่ว่าเมื่อยาก ก็ปล่อยไปทุกวันๆ ไม่ทำให้ง่ายขึ้น
ผู้ฟัง บางครั้งมีโทสะแบบรุนแรง แล้วก็มีสติระลึกว่า ขณะนี้เรากำลังมีโทสะอยู่ และขณะระลึก ผมก็ว่าไม่ใช่เป็นสติระลึก หรือเป็นโทสะระลึกโทสะ
ท่านอาจารย์ สภาพธรรมเกิดดับสืบต่อกันเร็วมาก ขณะที่สติเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรม และสติก็ดับ และโทสะก็เกิด เพราะฉะนั้น ก็ยังไม่ชัดเจน ใช่ไหมว่า สภาพธรรมใด ขณะไหนเป็นอกุศล ขณะไหนเป็นกุศล
ผู้ฟัง สภาพธรรมปรากฏขึ้นเล็กน้อย ผมก็ได้ยินได้ฟังมานานแล้วว่า ปรากฏเล็กน้อย ให้มีสติระลึกในขณะนั้นที่มีโทสะแบบรุนแรง แล้วสติจะมีคั่นขึ้นมาบ้างหรือเปล่า บางทีผมก็สังเกต
ท่านอาจารย์ คนอื่นไม่สามารถจะรู้ได้ นอกจากตัวเอง ธรรมเป็นเรื่องเฉพาะตัว
ผู้ฟัง ผมว่าการเจริญสติปัฏฐานนี่ยากมากเลย
ท่านอาจารย์ ก็ถูกต้อง ไม่ง่าย
ผู้ฟัง แล้วระลึก ให้มีสติระลึกสภาพธรรมต่างๆ ตามความเป็นจริง มันก็มีความคิดอย่างนี้ แต่ว่าเวลาระลึกเข้าจริง ระลึกไม่เป็น ระลึกไม่ถูก
ท่านอาจารย์ จนกว่าจะถูก
ผู้ฟัง มันมีการสังเกต ต้องมีโดยแยบคาย โดยถูกภูมิของตัวเอง
ท่านอาจารย์ ต้องมีความเพียร ทุกคนทำอะไรไม่เป็นตั้งแต่ต้น แต่ว่าอยู่ไปๆ ค่อยๆ ตั้งอกตั้งใจ มีความเพียรขึ้น อบรมขึ้น ก็ทำได้
ผู้ฟัง เริ่มต้นสังเกต ต้องมีอุบายที่แยบคายในการสังเกต
ท่านอาจารย์ อยากหาอุบายหรือ ทุกคนต้องการอุบาย ทำไมไม่ระลึกเดี๋ยวนี้ไปเรื่อยๆ นั่นแหละคืออุบาย ทันทีเลย เดี๋ยวนี้ แทนที่จะไปพยายามเสาะแสวงหาทางหรืออุบายอื่น ขณะนี้มีสภาพธรรมกำลังปรากฏแล้ว ระลึก ศึกษา พิจารณา รู้ สภาพรู้ต่างกับสิ่งที่ปรากฏ นี่เป็นสิ่งที่จะต้องศึกษา
ผู้ฟัง อย่างเริ่มต้นจากการฟัง ฟังแล้วเข้าใจ เข้าใจยังไม่พอ จะต้องสังเกตด้วย ผมก็ฟังมามากเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน
ท่านอาจารย์ ถ้าเทียบกับ ๔ อสงไขยแสนกัปป์ นี่มากไหมที่ฟังนี่
ผู้ฟัง เทียบไม่ได้
ท่านอาจารย์ ก็ยังใช้คำว่า “มาก” ไม่ได้ ยังน้อยอยู่
ผู้ฟัง ผมประมาณ หลายครั้งแล้วเหมือนกัน
ท่านอาจารย์ ถ้าฟังมาก แล้วก็สติระลึกคล่องแคล่วชำนาญ ถ้าอบรมมามาก
ผู้ฟัง ถึงเวลาผมไปสนทนาธรรมกับเพื่อนด้วยกัน เขาคุยสติปัฏฐานกัน ผมก็คิดว่า ผมนี่ระลึกสู้เขาไม่ได้
ท่านอาจารย์ ขอประทานโทษ สติปัฏฐาน ไม่ใช่เรื่องสำหรับคุย
ผู้ฟัง แล้วคุย ผมรู้สึกว่าไม่ค่อยเข้าใจเลย
ท่านอาจารย์ ขณะนี้สติของท่านผู้ฟังหลายท่านอาจจะกำลังระลึกลักษณะของอ่อนหรือแข็ง หรือเสียง หรือได้ยิน ท่านบอกใครบ้างไหม เพื่อนฝูงที่นั่งใกล้ๆ กันว่า ขณะนี้สติของท่านกำลังระลึกทางไหน ไม่จำเป็นต้องบอกใคร
ผู้ฟัง แล้วฟังจากการฟัง เขาก็มีเหตุผลว่าในการคุยว่า เขาก็มีการเจริญสติกัน ทีนี้เวลาผมก็เจริญไม่เป็น ระลึกก็ระลึกไม่เป็น
ท่านอาจารย์ ก็ขออนุโมทนาซึ่งเป็นผู้ตรง ข้อสำคัญที่สุด คือ ต้องตรงต่อตัวเอง ถ้ายังไม่รู้ สติเพิ่งจะเริ่ม แล้วก็อบรมระลึกศึกษาไปเรื่อยๆ จนกว่าจะค่อยๆ รู้ขึ้น และก็จะทราบว่า ท่านทั้งหลายที่ท่านรู้ขึ้นแล้ว ท่านก็ต้องผ่านอย่างเดียวกัน คือ เริ่มด้วยสติระลึก แล้วก็ค่อยๆ ศึกษาไป จากไม่รู้ จนกระทั่งค่อยๆ รู้ขึ้น เป็นของธรรมดา ถ้าระลึกแล้วรู้ทันที พระอรหันต์ก็ต้องมากมายในโลกนี้
ผู้ฟัง จะระลึกอย่างไร
ท่านอาจารย์ ขณะนี้อะไรกำลังปรากฏ
ผู้ฟัง ทางตาก็มีเห็นพระพุทธรูป เห็นนาฬิกา เห็นต่างๆ
ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นปรมัตถธรรม หมายถึงเป็นสิ่งที่สามารถปรากฏเมื่อกระทบกับจักขุปสาท
ผู้ฟัง เราระลึกบัญญัติธรรมได้ไหม
ท่านอาจารย์ ไม่ได้
ผู้ฟัง ระลึกว่า สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา บัญญัติเป็นบัญญัติ มันก็มี แต่ว่าบัญญัติคิดนึกทางใจเป็นบัญญัติ เราก็ระลึกอย่างนี้ไปก่อน
ท่านอาจารย์ นั่นเป็นเรื่องราว คิดเป็นคำๆ เป็นเรื่องของปรมัตถธรรม ไม่ใช่สติที่ระลึกลักษณะที่แม้ไม่ต้องคิดเป็นคำ สภาพธรรมนั้นปรากฏแล้ว
ผู้ฟัง ถ้าสติปัฏฐาน อารมณ์ต้องเป็นปรมัตถ์
ท่านอาจารย์ แน่นอน
ผู้ฟัง เป็นหนทางเดียวที่จะแยกบัญญัติธรรมและปรมัตถธรรม ถ้ายังไม่แยก ก็หมายความว่า ยังรวมกันเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดอยู่ เป็นเรื่องของปรมัตถ์ แทนที่จะเป็นลักษณะของปรมัตถ์ อย่างแข็งที่กำลังกระทบสัมผัส แทนที่จะศึกษาว่า ไม่มีเราเลย มีแต่สภาพที่กำลังรู้และแข็ง ลืมอย่างอื่นหมด ไม่เกี่ยวข้อง ไม่มีความเป็นอัตตสัญญา ความทรงจำว่าเป็นตัวตนที่กำลังนั่ง หรือนอน หรือยืน หรือเดินใดๆ ทั้งสิ้น ไม่มีอะไรอื่น ไม่มีใครในโลก นอกจากแข็ง กับสภาพที่รู้แข็ง นั่นคือการเริ่มศึกษาลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรม
ผู้ฟัง ถ้าในขณะที่ระลึกรู้ ในขณะแข็งปรากฏ ก็ระลึกรู้ว่า สภาพนั้นเป็นสภาพแข็ง ซึ่งไม่ใช่เรา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ขณะนั้นก็เริ่มศึกษาแล้วใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ค่อยๆ เริ่ม
ผู้ฟัง ค่อยๆ เริ่ม ผมสงสัยว่า เป็นการคิดเอามากกว่า
ท่านอาจารย์ ก็รู้เอง รู้ด้วยตัวเองทั้งนั้น ปัญญาของแต่ละคนก็เป็นเรื่องของแต่ละคนที่จะรู้ว่า คิด หรือว่ารู้ ก็ต้องแยกอีก ระหว่างคิดกับรู้ เพราะว่าทุกคนห้ามคิดไม่ได้ แต่ว่ารู้ว่าขณะที่คิด ไม่ใช่กำลังศึกษารู้แข็ง กับสภาพที่ไม่ใช่ตัวตนที่กำลังรู้
สภาพธรรมทั้งหมดที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโดยละเอียดในพระไตรปิฎกและอรรถกถา ไม่ได้อยู่ที่อื่นเลย ไม่ว่าจะเป็นโสภณเจตสิก ไม่ว่าจะเป็นจิตประเภทใดๆ ไม่ว่าจะเป็นรูป แต่ว่าสติไม่ระลึก แล้วก็เวลาที่ศึกษา บางท่านก็อาจจะไม่ได้ระลึกไปด้วย ก็เลยเป็นการรู้เรื่องของปรมัตถธรรม แต่ว่าไม่ใช่รู้ลักษณะของปรมัตถธรรมจริงๆ ที่กำลังปรากฏ
เพราะฉะนั้น การศึกษาที่เป็นประโยชน์จริงๆ ไม่ใช่เพียงรู้เรื่อง หรือว่ารู้ชื่อ แต่ว่าจะต้องรู้ขณะที่เมตตากำลังเกิด หรือว่าโทสะกำลังเกิด หรือว่าโลภะกำลังเกิด ด้วยเหตุนี้พระผู้มีพระภาคจึงทรงแสดงลักขณาทิจตุกะ คือ ลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่างโดยลักษณะ โดยกิจ โดยอาการปรากฏ โดยเหตุใกล้ให้เกิด
ทุกท่านต้องถือประโยชน์จากสิ่งที่ได้ฟังว่า ทรงแสดงไว้เพื่ออะไร เพื่อให้สังเกตได้ เพื่อให้รู้ได้ว่า ถ้าเป็นเมตตาจะมีลักษณะอย่างนั้น ถ้าเป็นโทสะจะมีลักษณะอีกอย่างหนึ่ง และก็กิจหน้าที่การงานของเจตสิกทั้ง ๒ นี้ก็ต่างกัน และก็อาการที่ปรากฏก็ต่างกัน แม้แต่ปทัฏฐาน คือ เหตุใกล้ให้เกิดก็ต่างกัน
เพราะฉะนั้น ธรรมที่เป็นโสภณทั้งหลาย ควรที่จะได้มีความพอใจ คือ ฉันทะที่จะอบรมเจริญขึ้น แม้แต่เมตตา เมื่อรู้ว่าเป็นสิ่งที่ดี เป็นสภาพธรรมที่สงบ ระงับพยาบาท หรือความโกรธ คนที่ไม่อยากโกรธ มีทางเดียว คือ ต้องอบรมเจริญเมตตา โดยการเห็นว่า น่าที่จะเจริญมาก ควรที่จะเจริญมากๆ มีฉันทะ มีความพอใจเกิดขึ้นแล้ว ที่จะเริ่มเจริญเมตตา ไม่ใช่เพียงแต่ทราบว่า เมตตาดี แต่ว่ายังไม่เจริญสักทีหนึ่ง เมื่อดีแล้ว ก็ควรที่จะมีฉันทะที่เจริญด้วย เพราะฉะนั้น การเจริญขึ้นของเมตตานั้นเริ่มด้วย กัตตุกัมยกตาฉันทะ
ความพอใจที่จะอบรมเจริญเมตตาเป็นเบื้องต้น มีการข่มนิวรณ์เป็นท่ามกลาง มีอัปปนาสมาธิ คือ ฌานจิตเป็นที่สุด
ลองคิดถึงเบื้องต้น และก็ท่ามกลาง แล้วก็ที่สุดของเมตตา ทุกท่านอยู่ข้างไหน คงจะบอกว่ากำลังเตาะแตะ ล้มลุกคลุกคลาน เพราะเหตุว่ามีเพียงฉันทะที่จะอบรมเจริญเมตตาหรือยัง นี่เป็นขั้นแรก ถ้ามีแล้ว ก็จะต้องพยายามจะเจริญขึ้นในวันหนึ่งๆ แล้วจึงจะรู้ลักษณะที่ว่า แทนที่จะโกรธ กลับไม่โกรธ ไม่ว่าจะได้ยินได้ฟัง ได้เห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดซึ่งเคยไม่พอใจ แต่เวลาที่เมตตาค่อยๆ อบรมเจริญขึ้น ก็เป็นการที่ไม่ต้องฝืน ไม่ต้องบังคับ แต่ว่าขณะนั้นเป็นความไม่โกรธ ไม่เดือดร้อนใจกับสิ่งที่เคยทำให้เดือดร้อนใจ แต่ว่าคงจะไม่ถึงที่สุด คือ อัปปนาสมาธิ ได้แก่ ฌานจิต หรือคงไม่ถึงแม้อุปจารสมาธิ ซึ่งเป็นสมาธิที่สงบมั่นคงใกล้ที่จะเป็นอัปปนาสมาธิ
เพราะฉะนั้น วันหนึ่งๆ สังเกตได้ว่า ไม่ใช่การท่อง แต่ว่าต้องเป็นการปฏิบัติ เพราะเหตุว่าการที่จะขยายอารมณ์ให้กว้างออกไป เป็นเมตตาซึ่งหาประมาณไม่ได้ ก็ต่อเมื่อสามารถจิตสงบถึงขั้นอุปจารสมาธิ หรืออัปปนาสมาธิแล้ว จึงจะแผ่เมตตาออกได้กว้างขวางจริงๆ โดยกำหนดอาวาส คือ ที่อยู่แห่งหนึ่ง แล้วเจริญเมตตาในบุคคลทุกคนที่อยู่ในที่นั้น นี่เป็นขั้นต้น ไม่ใช่ท่องเลย แต่วันนี้ดูว่า ที่บ้านมีใครบ้าง แล้วก็มีเมตตาในคนที่อยู่ในบ้านครบถ้วนทุกคนไหม ถ้ายังไม่มีเมตตาในบ้านครบถ้วนทุกคน ก็เป็นอันว่าไม่ต้องไปแผ่ หรือว่าไปขยายเมตตาไปถึงที่อื่นเลย เพราะเหตุว่าจะต้องเริ่มจากการกำหนดอาวาส คือ ที่อยู่แห่งหนึ่ง แล้วก็เจริญเมตตาในทุกชีวิตที่อยู่ในอาวาสนั้น จากทุกคนเป็นทุกชีวิต ได้ไหม เตาะแตะๆ อยู่ ซึ่งเป็นขั้นต้น
ข้อความในอรรถกถามีว่า
เหมือนชาวนาผู้ฉลาดทำการกำหนดสถานที่ที่จะพึงไถก่อน แล้วจึงไถ
นี่คือการที่จะอบรมเจริญเมตตา
เมื่อสามารถจะกระทำจิตให้อ่อน ควรแก่การงานในอาวาสนั้นแล้ว จึงควรกำหนดอาวาส ๒ แห่ง
คือเริ่มจากที่อยู่แห่งเดียวไปสู่อีกแห่งหนึ่ง อีกบ้านหนึ่ง บ้านใกล้เรือนเคียงก็ได้ มีกี่คน นอกจากกี่คนแล้ว ทุกชีวิตในบ้านนั้น ในที่อยู่ที่อาศัยแห่งที่ ๒ แล้วก็ค่อยๆ ขยายไป จากบ้านหนึ่งสู่อีกบ้านหนึ่งๆ จนถึงตรอกหนึ่ง นิคมหนึ่ง ชนบทหนึ่ง แว่นแคว้นหนึ่ง ทิศหนึ่ง จนกระทั่งทั่วจักรวาล
นี่คือผู้ที่อบรมเจริญเมตตา เพราะเห็นประโยชน์ของเมตตา แต่ถึงอย่างนั้นโดยการเจริญสมถภาวนาแล้ว ไม่สามารถจะดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท
นี่ก็แสดงให้เห็นถึงความเหนียวแน่นของกิเลส แม้ว่าจะไม่โกรธเป็นเวลานาน และก็มีเมตตามากนับไม่ถ้วน แผ่ขยายออกไป แต่ก็ยังดับโทสะไม่ได้เป็นสมุจเฉท เพราะเหตุว่าไม่ได้รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง
แต่ว่าใครก็ตามที่มีฉันทะที่จะเจริญเมตตา แล้วเมตตาก็ค่อยๆ เจริญขึ้นเรื่อยๆ เมตตานั้นเป็นพรหมวิหาร โดยความเป็นธรรมที่ไม่มีโทษ เพราะอรรถว่า ประเสริฐ
ลองคิดถึงคนไม่โกรธ เป็นคนประเสริฐ ใช่ไหม ในทุกวันนี้ ถ้ามีใครซึ่งอาจจะมีคนว่าร้าย กล่าวร้าย เข้าใจผิด หรือว่าแสดงกิริยาอาการต่างๆ แต่ผู้นั้นก็ยังไม่โกรธ ใครๆ ก็ต้องเห็นความเป็นคนประเสริฐของคนที่ไม่โกรธ
ด้วยเหตุนี้ เมตตาชื่อว่า เป็นธรรมเครื่องอยู่อันประเสริฐ เพราะเป็นข้อปฏิบัติชอบในสัตว์ทั้งหลาย
คนที่อยู่ด้วยกันที่จะมีความสุข ผาสุกจริงๆ ก็ด้วยข้อปฏิบัติชอบ คือ เมตตา เพราะฉะนั้น ก็ไม่ใช่เพียงท่อง และก็ไม่ใช่เพียงรู้ แต่ว่าต้องปฏิบัติด้วย ท่านที่ท่องเมตตาได้ เคยพิจารณาจิตใจไหมว่า ยังไม่ชอบคนนั้นบ้าง ยังไม่ชอบคนนี้บ้าง แต่ว่าท่องได้เรียบร้อยทุกบรรทัด ท่องเก่ง ถ้าอย่างนั้นก็แสดงให้เห็นว่า ไม่ใช่การปฏิบัติ
สำหรับเมตตานั้น พวกพรหมทั้งหลายมีจิตปราศจากโทสะอยู่ ฉันใด ผู้ประกอบด้วยเมตตา ก็ฉันนั้น ย่อมเป็นอยู่เสมือนกับพรหมดังนั้น จึงตรัสเรียกว่า พรหมวิหาร ก็เพราะปราศจากโทษโดยอรรถว่า ประเสริฐ และถ้าเมตตานั้นเป็นไปในอารมณ์ไม่มีประมาณ ก็เป็นอัปปมัญญา คือ ประมาณไม่ได้
เรื่องของความโกรธเป็นเรื่องเก่า พร้อมกับธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นในโลก และก็จะต้องคงมีความโกรธคู่กับโลกต่อไป ทั้งในปัจจุบันจนถึงอนาคต ตราบใดที่ยังไม่ได้ดับกิเลส ก็จะพ้นความโกรธไม่ได้ แต่ว่าขอให้พิจารณาว่า ถ้าเป็นผู้ที่สะสมความโกรธ และก็อีกท่านหนึ่งสะสมความไม่โกรธ ความต่างกันของ ๒ บุคคล ขอยกตัวอย่างข้อความในธัมมปทัฏฐกถา โกธวรรควรรณนา เรื่องอตุลอุบาสก ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ผู้ที่สะสมความโกรธ โกรธแม้แต่ผู้ที่ทรงคุณความดี
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภอุบาสก ชื่อ อตุละ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "โปราณเมตํ" เป็นต้น
เรื่องมีว่า อตุละนั้นเป็นอุบาสกชาวพระนครสาวัตถี มีอุบาสกเป็นบริวาร ๕๐๐ วันหนึ่งพาพวกอุบาสกเหล่านนี้ไปพระวิหาร เพื่อต้องการฟังพระธรรม
เจตนาดีไหม อตุลอุบาสกพาบริวาร ๕๐๐ คนไปพระวิหารเพื่อที่จะฟังพระธรรม
ท่านใคร่จะฟังธรรมในสำนักของท่านพระเรวตเถระ ท่านก็ได้ไปยังสำนักของท่านพระเถระ เมื่อไหว้ท่านพระเถระแล้วนั่ง
แต่ว่าไม่ว่าใครจะไปหาใครเรื่องอะไรก็ตาม ก็ควรที่จะได้รู้อัธยาศัยของผู้ที่ตนไปหาด้วย สำหรับท่านพระเรวตะ ท่านเป็นผู้ยินดีในการหลีกเร้น เป็นผู้ที่มีปกติเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนราชสีห์ เพราะฉะนั้น ท่านก็ไม่กล่าวอะไรเลยกับอตุลอุบาสก
บางคนเป็นอย่างนี้ไหม สะสมมาที่จะไม่พูดมาก มีทั้งคนที่พูดน้อย มีทั้งคนที่พูดปานกลาง แล้วก็มีทั้งคนที่พูดมาก เพราะฉะนั้น ก็แล้วแต่ว่าแต่ละท่านสะสมมาที่จะพอใจแบบไหน แต่ว่าบางคนเมื่อสะสมความไม่พอใจ ไม่พอใจทุกแบบ แม้แต่ผู้ที่ไม่พูดเลย ก็โกรธ
อตุลอุบาสกโกรธที่พระเถระไม่กล่าวอะไรเลย ท่านก็ลุกขึ้นไปยังสำนักของท่านพระสารีบุตรเถระ
ที่พระวิหารเชตวัน ก็จะมีที่อยู่ของพระเถระแต่ละท่าน เพราะฉะนั้น อตุลอุบาสกก็ได้ลุกขึ้นแล้วก็ไปยังสำนักของท่านพระสารีบุตรเถระ
- โสภณธรรม ครั้งที่ 001
- โสภณธรรม ครั้งที่ 002
- โสภณธรรม ครั้งที่ 003
- โสภณธรรม ครั้งที่ 004
- โสภณธรรม ครั้งที่ 005
- โสภณธรรม ครั้งที่ 006
- โสภณธรรม ครั้งที่ 007
- โสภณธรรม ครั้งที่ 008
- โสภณธรรม ครั้งที่ 009
- โสภณธรรม ครั้งที่ 010
- โสภณธรรม ครั้งที่ 011
- โสภณธรรม ครั้งที่ 012
- โสภณธรรม ครั้งที่ 013
- โสภณธรรม ครั้งที่ 014
- โสภณธรรม ครั้งที่ 015
- โสภณธรรม ครั้งที่ 016
- โสภณธรรม ครั้งที่ 017
- โสภณธรรม ครั้งที่ 018
- โสภณธรรม ครั้งที่ 019
- โสภณธรรม ครั้งที่ 020
- โสภณธรรม ครั้งที่ 021
- โสภณธรรม ครั้งที่ 022
- โสภณธรรม ครั้งที่ 023
- โสภณธรรม ครั้งที่ 024
- โสภณธรรม ครั้งที่ 025
- โสภณธรรม ครั้งที่ 026
- โสภณธรรม ครั้งที่ 027
- โสภณธรรม ครั้งที่ 028
- โสภณธรรม ครั้งที่ 029
- โสภณธรรม ครั้งที่ 030
- โสภณธรรม ครั้งที่ 031
- โสภณธรรม ครั้งที่ 032
- โสภณธรรม ครั้งที่ 033
- โสภณธรรม ครั้งที่ 034
- โสภณธรรม ครั้งที่ 035
- โสภณธรรม ครั้งที่ 036
- โสภณธรรม ครั้งที่ 037
- โสภณธรรม ครั้งที่ 038
- โสภณธรรม ครั้งที่ 039
- โสภณธรรม ครั้งที่ 040
- โสภณธรรม ครั้งที่ 041
- โสภณธรรม ครั้งที่ 042
- โสภณธรรม ครั้งที่ 043
- โสภณธรรม ครั้งที่ 044
- โสภณธรรม ครั้งที่ 045
- โสภณธรรม ครั้งที่ 046
- โสภณธรรม ครั้งที่ 047
- โสภณธรรม ครั้งที่ 048
- โสภณธรรม ครั้งที่ 049
- โสภณธรรม ครั้งที่ 050