โสภณธรรม ครั้งที่ 042
ตอนที่ ๔๒
ไปยังสำนักของท่านพระสารีบุตรเถระ ผู้เป็นอัครสาวก ผู้ทรงปัญญาอันเลิศ
เมื่อท่านไปถึงสำนักของท่านพระสารีบุตรแล้ว ท่านก็ได้ยืนอยู่ ณ ส่วนข้างหนึ่ง ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า “พวกท่านมาด้วยต้องการอะไร”
อตุลอุบาสกก็กล่าวว่า "ท่านขอรับ ผมพาอุบาสกเหล่านี้เข้าไปหาพระเรวตเถระ เพื่อต้องการฟังธรรม พระพระเรวตเถระไม่กล่าวอะไรแก่ผมเลย ผมโกรธท่านจึงมาที่นี้ ขอท่านจงแสดงธรรมแก่ผมเถิด"
ลำดับนั้น ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า "ท่านถ้าอย่างนั้น พวกท่านจงนั่งเถิด" แล้วก็ได้แสดงอภิธรรมกถาอย่างมากมายเพราะเหตุว่าท่านเป็นผู้เลิศทางปัญญา
อตุลอุบาสกฟังแล้วโกรธว่า "ชื่อว่าอภิธรรมกถา ละเอียดยิ่งนัก สุขุมยิ่งนัก ท่านพระเถระแสดงอภิธรรมอย่างเดียวมากมาย พวกเราต้องการอะไรด้วยพระอภิธรรมนี้"
ไม่พูดเลยก็ไม่ชอบ แต่ว่าเมื่อแสดงอย่างละเอียด ก็ไม่ชอบอีก
เมื่อโกรธแล้ว ก็ได้พาบริษัทของตนไปยังสำนักพระอานนท์เถระ เพื่อขอฟังธรรม อตุลอุบาสกกล่าวกับท่านพระอานนท์ว่า "ท่านขอรับ พวกผมเข้าไปหาพระเรวตเถระ เพื่อต้องการฟังธรรม ไม่ได้แม้แต่การสนทนาและปราศรัยในสำนักของท่าน เลยโกรธ แล้วจึงมายังสำนักของท่านพระสารีบุตรเถระ แม้ท่านพระสารีบุตรเถระ ก็แสดงอภิธรรมอย่างเดียวละเอียดนัก มากมายแก่พวกผม พวกผมโกรธพระเถระ จึงได้มา ณ ที่นี้ ขอท่านจงแสดงธรรมกถาแก่พวกผมเถิด ขอรับ"
นี่คืออตุลอุบาสกซึ่งโกรธ แต่ท่านพระเถระเหล่านั้นท่านไม่โกรธเลย แม้ว่าอตุลอุบาสกกล่าวว่า ได้ไปหาท่านพระเรวตะแล้ว ได้ไปหาท่านพระสารีบุตรแล้ว จิตใจของท่านก็ไม่ได้หวั่นไหวไปตามคำของอตุลอุบาสก
ท่านพระอานนท์กล่าวว่า “ถ้าอย่างนั้น ขอพวกท่านจงนั่งฟังเถิด”
ท่านก็ใจดีกันมากๆ เลยทีเดียว ไม่ว่าใครจะไปขอฟังธรรม ก็ให้โอกาสเสมอ
ท่านพระอานนท์ก็ได้แสดงธรรมแก่พวกอุบาสกเหล่านั้นแต่น้อยๆ ทำให้เข้าใจง่าย แต่อตุลอุบาสกก็โกรธท่านพระอานนท์ที่แสดงธรรมน้อย จึงได้พาบริษัทของตนไปยังสำนักของพระผู้มีพระภาค ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ส่วนข้างหนึ่ง
สมัยนี้ไม่มีพระอรหันต์เถระ ไม่มีท่านพระโสดาบันผู้เป็นพหูสูตอย่างท่านพระอานนท์ เพราะฉะนั้น ท่านที่ได้ฟังธรรม จะรู้สึกไม่พอใจบ้างไหม ในเมื่อถ้าได้ฟังจากท่านพระสารีบุตร ได้ฟังจากท่านพระอานนท์ซึ่งเป็นพหูสูต ก็ยังโกรธได้ เพราะฉะนั้น ถ้าในสมัยนี้ได้ฟังจากท่านผู้นั้นบ้าง ท่านผู้นี้บ้าง ถ้าไม่เป็นผู้ที่อดทน ก็อาจจะเกิดความขุ่นเคืองใจ ไม่พอใจ แต่ให้ทราบว่า สมควรไหม และก็ควรที่จะเจริญเมตตา หรืออโทสะ มากกว่าการที่จะสะสมความโกรธจนกระทั่งในวันหนึ่งข้างหน้า ถ้าได้ฟังธรรมจากพระอัครสาวก หรือท่านผู้เป็นพหูสูตแล้วจะโกรธอย่างอตุลอุบาสก
เพราะฉะนั้น พระธรรมที่ทรงแสดงเป็นสิ่งที่เตือนใจพุทธบริษัททุกประการ ถ้าเป็นผู้ที่ละเอียด และก็คิดที่จะอบรมเจริญกุศลธรรมยิ่งขึ้น
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสกะพวกเขาว่า "อุบาสกทั้งหลาย พวกท่านมาทำไมกัน"
เขากราบทูลว่า “เพื่อต้องการฟังธรรม พระเจ้าข้า”.
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ก็พวกท่านฟังธรรมแล้วหรือ?”
เขากราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เบื้องต้น พวกข้าพระองค์เข้าไปหาพระเรวตะ ท่านไม่กล่าวอะไรกับพวกข้าพระองค์ พวกข้าพระองค์โกรธท่าน แล้วจึงไปหาท่านพระสารีบุตร ท่านพระสารีบุตรนั้นแสดงอภิธรรมแก่พวกข้าพระองค์มากมาย พวกข้าพระองค์กำหนดอภิธรรมนั้นไม่ได้ จึงโกรธ แล้วเข้าไปหาท่านพระอานนท์ ท่านพระอานนท์แสดงธรรมแก่พวกข้าพระองค์น้อยนัก พวกข้าพระองค์โกรธแม้ต่อท่าน แล้วมาในที่นี้”
ซึ่งข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงเรื่องของธรรม ซึ่งมีมาตั้งแต่ครั้งโบราณ จนกระทั่งถึงเดี๋ยวนี้ จนต่อไปข้างหน้า คือเรื่องของการนินทาและสรรเสริญ
พระผู้มีพระภาคทรงสดับถ้อยคำของเขาแล้ว จึงตรัสว่า "อตุละ ข้อนั้นเขาเคยประพฤติกันมาตั้งแต่โบราณทีเดียว ชนทั้งหลายติเตียน ทั้งคนนิ่ง ทั้งคนพูดมาก ทั้งคนพูดน้อยทีเดียว ด้วยว่าคนอันพึงถูกผู้อื่นติเตียนอย่างเดียวเท่านั้น หรือว่าคนอันพึงได้รับสรรเสริญอย่างเดียวไม่มีเลย แม้พระราชาทั้งหลาย คนบางพวกก็นินทา บางพวกก็สรรเสริญ แผ่นดินใหญ่ก็ดี พระจันทร์และพระอาทิตย์ก็ดี ธาตุมีอากาศเป็นต้นก็ดี คนบางพวกนินทา คนบางพวกสรรเสริญ
จริงไหม วันนี้พระจันทร์เต็มดวง หรือเว้าๆ แหว่งๆ หรือว่ามีเมฆบัง รัศมีน้อย นั่นก็เป็นเรื่องของการที่จะพูดถึง ทุกสิ่งทุกอย่างในโลก ตามความคิดความเห็นของตน
แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ประทับนั่งแสดงธรรมในท่ามกลางบริษัท ๔ บางพวกนินทา บางพวกสรรเสริญ ก็การนินทาและสรรเสริญของพวกอันธพาลไม่เป็นประมาณ แต่ผู้ที่ถูกบัณฑิตผู้มีปัญญาติเตียน จึงชื่อว่า เป็นอันติเตียน ผู้อันบัณฑิตสรรเสริญแล้ว ชื่อว่าเป็นอันสรรเสริญ" ดังนี้แล้ว ได้ทรงภาษิตพระคาถาในคาถาธรรมบท โกธวรรคที่ ๗ ข้อ ๒๗ ดังนี้ว่า
บุคคลพึงละความโกรธเสีย
ตรัสไว้เมื่อ ๒,๕๐๐ กว่าปี แล้วก็เป็นประโยชน์จนถึงพุทธบริษัทในสมัยนี้ ที่จะน้อมประพฤติปฏิบัติตาม
บุคคลพึงละความโกรธเสีย พึงละมานะเสีย พึงก้าวล่วงสังโยชน์เสียทั้งหมด ทุกข์ทั้งหลายย่อมไม่ตกตามบุคคลนั้นผู้ไม่ข้องอยู่ในนามรูป ไม่มีกิเลสเครื่องกังวล บุคคลใดแลพึงห้ามความโกรธที่เกิดขึ้นแล้วไว้ได้ ดุจบุคคลห้ามรถซึ่งกำลังแล่นไปได้ ฉะนั้น เรากล่าวบุคคลนั้นว่าเป็นสารถี บุคคลนอกนี้เป็นคนถือเชือก พึงชนะความโกรธด้วยความไม่โกรธ พึงชนะความไม่ดีด้วยความดี พึงชนะความตระหนี่ด้วยการให้ พึงชนะคนมักกล่าวเหลาะแหละ ด้วยความสัตย์ พึงกล่าวคำสัตย์ ไม่พึงโกรธ แม้เมื่อมีของน้อย ถูกขอแล้วก็พึงให้ บุคคลพึงไปแห่งสำนักของเทวดาทั้งหลาย เพราะเหตุ ๓ ประการนี้ มุนีเหล่าใดผู้ไม่เบียดเบียน สำรวมแล้วด้วยกายเป็นนิจ มุนีเหล่านั้นย่อมไปสู่สถานที่ไม่จุติที่คนทั้งหลายไปแล้วไม่เศร้าโศก อาสวะ ทั้งหลายของผู้ตื่นอยู่ทุกเมื่อ ศึกษาเนืองๆ ทั้งกลางวันและกลางคืน ผู้น้อมไปแล้วสู่นิพพาน ย่อมถึงความไม่มี
ดูกรอตุละ การนินทาหรือการสรรเสริญนี้มีมาแต่โบราณ มิใช่มีเพียงวันนี้ คนย่อมนินทาแม้ผู้นั่งนิ่ง แม้ผู้พูดมาก แม้ผู้พูดพอประมาณ ผู้ไม่ถูกนินทา ไม่มีในโลก บุรุษผู้ถูกนินทาโดยส่วนเดียว หรือถูกสรรเสริญโดยส่วนเดียวไม่ได้มีแล้ว จักไม่มี และไม่มีในบัดนี้ ถ้าว่าผู้รู้ใคร่ครวญแล้วทุกวัน ย่อมสรรเสริญบุคคลใด ผู้มีความประพฤติไม่ขาด เป็นนักปราชญ์ ตั้งมั่นแล้วในปัญญาและศีล ใครย่อมควรเพื่อจะนินทา บุคคลนั้นผู้เหมือนดังแท่งแห่งทองชมพูนุท
นี่ก็คือกล่าวถึงอตุละติเตียนท่านพระเรวตะ ท่านพระสารีบุตร และท่านพระอานนท์
เพราะฉะนั้น ในขณะที่ฟัง อตุละก็พิจารณาถึงความไม่ควรของตนที่เกิดอกุศลในท่านเหล่านั้น
แม้เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ก็ย่อมสรรเสริญบุคคลนั้น แม้พรหมก็สรรเสริญบุคคลนั้น
ภิกษุพึงรักษาความกำเริบทางกาย พึงเป็นผู้สำรวมด้วยกาย ละกายทุจริตแล้ว พึงประพฤติสุจริตด้วยกาย พึงรักษาความกำเริบทางวาจา พึงเป็นผู้สำรวมด้วยวาจา ละวจีทุจริตแล้ว พึงประพฤติสุจริตด้วยวาจา พึงรักษาความกำเริบทางใจ พึงเป็นผู้สำรวมด้วยใจ ละมโนทุจริตแล้ว พึงประพฤติสุจริตด้วยใจ
นักปราชญ์ทั้งหลายสำรวมแล้วด้วยกาย สำรวมแล้วด้วยวาจา สำรวมแล้วด้วยใจ ท่านเหล่านั้นแลสำรวมเรียบร้อยแล้ว
จบโกธวรรคที่ ๑๗
ท่านที่สำรวมกาย แต่ว่าวาจายังไม่ได้สำรวม ก็ยังไม่พอ ท่านที่สำรวมกายแล้ว สำรวมวาจาแล้ว ก็ยังไม่พอ ยังต้องสำรวมใจ คนอื่นไม่สามารถที่จะล่วงรู้ถึงใจของท่านได้ นอกจากตัวท่าน เพราะฉะนั้น เวลาที่อกุศลจิตเกิด ควรที่จะสำรวมใจ และก็ละมโนทุจริต และก็พึงประพฤติสุจริตด้วยใจ คือ แทนที่จะให้คิดถึงสิ่งอื่น บุคคลอื่นที่จะทำให้เกิดความขุ่นเคืองใจ ไม่พอใจ ก็เตือนให้ระลึกถึงกิเลสของตนเอง
ข้อความในอรรถกถามีว่า
ในกาลจบเทศนา อุบาสกเหล่านั้นดำรงอยู่แล้วในโสดาปัตติผล ดังนี้แล
ท่านผู้ฟังอยากอีกใช่ไหม ฟังแล้ว จบแล้ว เมื่อกี้นี้ อยากเป็นอย่างอุบาสกเหล่านั้น เมื่อไรจะถึงเสียเร็วๆ แต่เป็นไปไม่ได้ถ้าปราศจากเหตุที่สมควรแก่ผล แต่ถ้าเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานจริงๆ แม้แต่ในขณะที่กำลังฟังพระธรรมเทศนา สติระลึกลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้น ตามความเป็นจริงได้
เพราะฉะนั้น เรื่องของการอบรมปัญญา ไม่ใช่เรื่องอื่นนอกจากระลึกเพื่อที่จะรู้ชัดจริงๆ ว่า ไม่ใช่เรา เพราะเหตุว่าเป็นนามธรรมและเป็นรูปธรรมเท่านั้น ทุกภพทุกชาติ ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงอะไรทั้งสิ้น ซึ่งมีปัจจัยเกิดขึ้นเป็นไปแล้วสติระลึก
ข้อที่น่าสังเกต แล้วก็ควรที่จะระลึกได้อย่างยิ่งในขณะที่โกรธ ก็คือว่าขณะใดที่โกรธ ขณะนั้นคิดถึงแต่ความไม่ดีของคนอื่น ลืมระลึกถึงกิเลสของตนเอง ขณะที่โกรธใครให้ทราบว่า ขณะนั้นลืมระลึกถึงกิเลสของตนเองในขณะนั้น แต่ถ้าขณะใดที่สติเกิดระลึกได้ ขณะนั้นก็เป็นกุศลจิต แล้วก็ไม่โกรธ และก็จะสามารถเกิดเมตตาเพิ่มขึ้นได้
ชีวิตของแต่ละคน แต่ละท่านในภพหนึ่งชาติหนึ่ง ก็ต่างกันไป
ผู้ฟัง พระพุทธองค์ตรัสเรื่องโลกธรรม ๘ อตุลอุบาสกก็ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน แสดงว่าอตุลอุบาสกและบริวาร ๕๐๐ ก็ต้องฟังธรรมอย่างอื่นมาแล้วมาก ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ต้องเป็นผู้ที่มีปัญญา อบรมเจริญสติปัฏฐาน
ผู้ฟัง ไม่ใช่ฟังเรื่องโลกธรรม ๘ สรรเสริญ นินทาอย่างเดียว
ท่านอาจารย์ การเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติ เป็นสิ่งที่ผู้ที่ได้ฟังพระธรรมเทศนาเข้าใจ แล้วก็ประพฤติปฏิบัติกันเป็นประจำ เพราะฉะนั้น ก็อาศัยพระธรรมเทศนาแต่ละสูตร เพื่อที่จะเกื้อกูลให้ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้น
ผู้ฟัง แล้วที่ท่านพระสารีบุตรเทศนาอภิธัมมกถาตั้งเยอะแยะ ไม่ได้เกื้อกูลท่านเลย
ท่านอาจารย์ สะสมมาที่จะรู้สึกว่า ละเอียดยิ่งนัก และก็ท่านที่ต้องการฟังอย่างละเอียดเรื่องของอภิธรรม แล้วก็ดูว่าท่านจะเหมือนอตุละหรือไม่ ก็อ่านในธัมมสังคินีปกรณ์ พระไตรปิฎกคัมภีร์แรก แล้วก็จะทราบได้ว่า ท่านจะรู้สึกอย่างอตุละหรือเปล่า
ผู้ฟัง ท่านชอบง่ายๆ
ท่านอาจารย์ คนอื่น ง่ายหรือยากไม่สำคัญ ขอให้ธรรมนั้นเกื้อกูลให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จะฟังมากหรือฟังน้อย ไม่สำคัญเลย แต่ว่าให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏแม้เพียงคำสั้นๆ คาถา ๔ บาท ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา เพียงเท่านี้ ถ้าเข้าใจจริงๆ ก็จะทำให้สติระลึกจนกว่าจะรู้ว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ในขณะที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังได้กลิ่น กำลังลิ้มรส กำลังรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส กำลังคิดนึก ขณะนี้เอง
ผู้ฟัง ธรรมที่ท่านอตุลอุบาสกฟัง โลกธรรม ๘ ก็ที่ท่านรู้เมื่อฟังแล้วท่านรู้ เข้าใจตามความเป็นจริงนั้น เพราะเข้าใจสภาวะ ก็คงจะตรงกับที่ท่านพระสารีบุตรแสดงให้ฟังเรื่องอภิธรรม เพราะว่าอภิธรรมก็พูดถึงเรื่องสภาวะของธรรมต่างๆ แจกแจงไปเป็นรายละเอียด ถ้าหากท่านไม่เข้าใจอย่างนั้น ก็คงจะไม่ได้บรรลุพระโสดาบัน
ท่านอาจารย์ แต่ในขณะนั้นท่านไม่อยากจะฟังมากๆ กาลนั้น สมัยนั้น แต่ว่าท่านต้องเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมโดยพระธรรมที่ทรงแสดง เช่น เรื่องของโลกธรรม เพราะอะไรทุกคนถึงได้ขวนขวายต้องการโลกธรรมฝ่ายดี ถ้าไม่ใช่เพื่อตัวเอง เพราะเหตุว่ามีความยึดมั่นในความเป็นตัวตนอย่างมาก เพราะฉะนั้น จึงเห็นว่า ลาภก็ดี ยศก็ดี สรรเสริญก็ดี สุขก็ดี เป็นเรา เพราะฉะนั้น จึงขวนขวาย แต่ถ้ารู้ว่าไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้น ก็เห็นลาภ ยศ สรรเสริญ สุข หรือว่าเสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ เป็นของธรรมดา และถ้าสามารถจะรู้จนกระทั่งว่า เป็นเพียงชั่วขณะจิตเดียว ตัวตนอยู่ที่ไหน ไม่มีเลย หลงยึดถือสิ่งที่เกิดดับว่า เป็นเรา ว่าเป็นตัวตน ต่อเมื่อใดปัญญาเจริญขึ้น คลายความยึดถือสภาพธรรมที่เกิดดับ และก็รู้ว่า ไม่ว่าจะเป็นธรรมฝ่ายใด ก็เป็นแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรมที่เกิดขึ้นและก็ดับไป เมื่อเกิดแล้วดับแล้ว เราจะอยู่ที่ไหน เราเมื่อกี้นี้อยู่ที่ไหน เราชั่วขณะเดียวที่ได้ยินเมื่อกี้นี้อยู่ที่ไหน ก็ไม่มี
เพราะฉะนั้น ถ้าสามารถที่จะคลายความเป็นตัวตนได้ ก็จะเข้าใจว่า แม้ธรรมที่เป็นโลกธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงก็เกื้อกูลในการที่จะคลายความยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนได้
สำหรับท่านอื่น ที่ท่านก็ต่างอัธยาศัยกับอตุลอุบาสก คือ สะสมขันติ ความอดทน ความไม่โกรธ ซึ่งถ้าได้สะสมมากๆ จะอดทนได้ต่อสถานการณ์ทุกอย่าง แต่ว่าต้องเป็นผู้ที่เคยสะสมมามากทีเดียว
ข้อความในอรรถกถา มังคลสูตรมีว่า
ความอดทน ๑ ความเป็นผู้ว่าง่าย ๑ การเห็นสมณะ ๑ การสนทนาธรรม ๑ กรรม ๔ อย่าง มีความอดทนเป็นต้นนี้ เป็นมงคลอันสูงสุด
ความอดทน คือ ความไม่โกรธ ความไม่โลภ ความไม่เดือดร้อน ต้องอดทนทั้งที่จะไม่เกิดโลภะ และที่จะไม่เกิดโทสะ
คาถาว่าด้วยความอดทนมีว่า
ภิกษุผู้ประกอบด้วยความอดทน คือ ความอดกลั้นใด ย่อมเป็นผู้ไม่มีอาการผิดแปลก เป็นประหนึ่งว่าไม่ได้ยิน และเป็นประหนึ่งว่าไม่เห็นบุคคลผู้ด่าอยู่ด้วยอักโกสวัตถุ ๑๐ หรือผู้เบียดเบียนอยู่ด้วยการฆ่าและการจองจำ เป็นต้น ดุจขันติวาทีดาบส ฉะนั้น ย่อมทำไว้ในใจโดยความเป็นผู้เจริญ เพราะความไม่มีความผิดยิ่งไปกว่านั้น ดุจท่านพระปุณณเถระ ฉะนั้น ความอดทน คือ ความอดกลั้นนั้น ชื่อว่า ขันติ
เคยเป็นอย่างนี้ไหม ไม่มีอาการผิดแปลกเป็นประหนึ่งว่าไม่ได้ยิน และเป็นประหนึ่งว่าไม่เห็นบุคคลผู้ด่าอยู่ หรือว่าผู้เบียดเบียนอยู่ด้วยการฆ่าและการจองจำ เป็นต้น
นี่คือลักษณะของอโทสเจตสิก เรื่องขันติวาทีดาบสมีว่า
ในอดีตกาล พระโพธิสัตว์เป็นพราหมณ์ชื่อ กุณฑะ ในกรุงพาราณสี บวชเป็นดาบสอยู่ในหิมวันต์ประเทศเป็นเวลานาน เพื่อจะเสพของเค็มและของเปรี้ยว จึงไปสู่กรุงพาราณสี อันเสนาบดีบำรุง พักอยู่ในพระราชอุทยาน
ต่อมาวันหนึ่ง พระราชาทรงพระนามว่า กลาปุ เสวยน้ำจันฑ์มึนเมา เสียพระสติ มีพวกนักฟ้อนห้อมล้อม เสด็จไปสู้พระราชอุทยาน ได้ทรงนิทรา ทอดพระเศียรลงบนตักของหญิง ซึ่งเป็นที่รักและพอพระหฤทัยคนหนึ่ง
ครั้งนั้นหญิงพวกอื่น ต่างพากันทอดทิ้งพระราชา เที่ยวไปในพระราชอุทยาน เห็นพระโพธิสัตว์นั่งอยู่ที่โคนไม้รังซึ่งมีดอกบานสะพรั่ง จึงไหว้ท่าน แล้วนั่งฟังธรรมอยู่
พระราชาทรงตื่นบรรทมขึ้น เมื่อไม่ทอดพระเนตรเห็นหญิงเหล่านั้น จึงกริ้ว ทรงถือพระขรรค์เสด็จไป ทีนั้นหญิงที่ทรงโปรดปรานมากคนหนึ่ง ได้คว้าเอาพระขรรค์จากพระหัตถ์ของพระองค์ไปเสีย
พระราชาตรัสถามว่า “สมณะ ท่านมีปกติกล่าวอะไร?”
ขันติวาทีดาบสตอบว่า “มีปกติกล่าวขันติ มหาบพิตร”
พระราชาตรัสว่า “ชื่อว่าขันตินั้น คืออะไร?”
ขันติวาทีดาบสกล่าวว่า “คือความไม่โกรธในเมื่อคนอื่นด่าอยู่ ประหารอยู่ และดูหมิ่นอยู่”
พระราชาตรัสว่า “บัดนี้ เราจะเห็นความที่ขันติของท่านมีอยู่”
พระองค์รับสั่งให้เรียกคนฆ่าโจรมา แล้วตรัสว่า “เจ้าจงฆ่าดาบสชั่วคนนี้ให้ล้มลงบนแผ่นดิน ให้การประหารสัก ๒,๐๐๐ ครั้งในทั้ง ๔ ข้าง คือ ข้างหน้า ข้างหลัง และในข้างทั้งสอง
เขาได้ทำตามรับสั่งแล้ว พระราชาตรัสถามอีกว่า “ท่านมีปกติกล่าวอะไร?” ขันติวาทีดาบสทูลว่า “มีปกติกล่าวขันติ มหาบพิตร ก็พระองค์สำคัญว่า ขันติมีในระหว่างหนังของอาตมาภาพหรือ ขันตินี้ไม่ได้มีในระหว่างหนังนี้ แต่ขันตินี้ตั้งอยู่ ภายในหทัยอันลึกของอาตมาภาพ”
พระราชาตรัสว่า “เจ้าจงตัดมือและเท้าของดาบสนี้”
ซึ่งเขาก็ได้ทำตามรับสั่งแล้ว พระราชาจึงตรัสถามแม้อีก ขันติวาทีดาบสก็ได้กล่าวว่า “มีปกติกล่าวขันติ มหาบพิตร ก็พระองค์ทรงสำคัญว่า ขันติมีอยู่ที่ปลายมือปลายเท้าของอาตมาภาพหรือ ขันติไม่มีที่ปลายมือปลายเท้านี้”
พระราชาก็รับสั่งให้ตัดหูและจมูกของดาบส ซึ่งเขาก็ได้ทำตามรับสั่ง แล้ว พระราชาก็ได้ตรัสถามอย่างนั้นอีก และขันติวาทีดาบสก็ได้ทูลโดยนัยดังกล่าวแล้ว พระราชากริ้วมาก เอาพระปราษณี คือ ส้นพระบาทกระทืบลงตรงกลางอกของพระโพธิสัตว์ แล้วเสด็จหลีกไป ถูกแผ่นดินสูบที่ประตูพระราชอุทยานนั่นเอง เกิดในอเวจีแล้ว
ก็เมื่อพระราชานั้นพอเสด็จหลีกไปแล้ว เสนาบดีเช็ดโลหิตของพระโพธิสัตว์ พยุงให้นั่งลงแล้ว เรียนอย่างนี้ว่า “ท่านผู้เจริญ ถ้าท่านมีประสงค์จะโกรธ ก็พึงโกรธต่อพระราชาผู้ทำความผิดในท่านเท่านั้น อย่าโกรธต่อผู้อื่นเลย”
ขันติวาทีดาบสเมื่อได้ฟังคำนั้น จึงกล่าวคาถานี้ในขันติวาทีชาดก ในทุติยวรรค จตุกนิบาต มีข้อความว่า
“พระราชาพระองค์ใดรับสั่งให้ตัดมือ เท้า หู และจมูกของเราแล้ว ขอพระราชาพระองค์นั้นจงทรงดำรงพระชนม์ตลอดกาลนานเถิด เพราะคนเช่นเราหาโกรธไม่”
ต่างกันแล้วใช่ไหม การสะสมความไม่โกรธ ซึ่งเป็นขันติ สามารถที่จะไม่โกรธได้ทุกสถานการณ์ นั่นคงจะเป็นอีกนานแสนนานของแต่ละชีวิต ของแต่ละท่าน แต่ว่าถ้าเริ่ม เริ่มเริ่มเดี๋ยวนี้ ที่จะรู้สึกว่า เวลาที่ความโกรธเกิดขึ้น ไม่ใช่เพราะคนอื่น แต่เป็นเพราะกิเลสของท่านเองเท่านั้น และก็ที่จะดับกิเลสได้หมดเป็นสมุจเฉท ก็ต้องอบรมเจริญสติปัฏฐาน
ผู้ถาม ขันติวาทีดาบส ขณะถูกกระทำถูกพระราชาสั่งให้กระทำอย่างนั้นแล้ว ท่านก็ไม่โกรธ แต่ถึงอย่างนั้น ท่านก็ยังละกิเลสไม่ได้ กิเลสของท่านก็ยังมี โทสะของท่านก็มีอยู่
ท่านอาจารย์ จนกว่าปัญญาจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม
ผู้ฟัง แต่ทำไมถึงได้ทนได้ ทนดี
ท่านอาจารย์ ก็ลองสะสมไปเรื่อยๆ วันนี้หัดทนนิดหน่อย วันต่อๆ ไปก็จะทนเพิ่มขึ้นอีกได้ เพราะรู้ว่าคนที่กล่าวคำต่างๆ กำลังโกรธ หรือว่ากำลังเข้าใจผิด หรือว่ากำลังเหลวไหล กำลังพูดสิ่งที่ไม่มีสาระ แล้วทำไมใจของท่านถึงจะเดือดร้อนกับคำที่ไม่มีสาระ เรื่องที่ไม่มีสาระเหล่านั้น ควรที่จะเมตตาในผู้ที่ถูกครอบงำด้วยอวิชชาและอกุศลธรรม ซึ่งเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน แต่เป็นเหตุที่จะให้ได้รับวิบากที่เป็นอกุศลวิบาก สำหรับบุคคลนั้นก็เป็นผู้ที่น่าสงสารมากกว่าที่จะน่าโกรธ
ผู้ฟัง แสดงว่าท่านก็คงจะเข้าใจสภาวธรรมอยู่แล้ว
ท่านอาจารย์ แน่นอน ต้องเป็นผู้ที่เจริญโสภณธรรม และก็เห็นโทษของอกุศลธรรม
ผู้ฟัง ขันติกับโทสะนี้ ไม่ใช่ตัวเดียวกันหรือ
ท่านอาจารย์ อโทสะ ความไม่โกรธ เพราะฉะนั้น ขณะที่กำลังไม่โกรธ เป็นขันติหรือเปล่า
ผู้ฟัง คือเนื่องจากท่านยังไม่ใช่พระอรหันต์ ท่านก็ย่อมจะมีโทสะ ทำไมท่านไม่มีโทสะ ขันติกับโทสะนี่คนละตัวกันหรือ
ท่านอาจารย์ เวลาที่เป็นพระโพธิสัตว์ แล้วก็แต่ละชาติก็บำเพ็ญพระบารมีต่างๆ จนกว่าจะถึงความที่ปัญญาสมบูรณ์ที่จะดับกิเลสได้ เพราะฉะนั้น ในบางกาลบางโอกาส บางเดือน บางวัน ท่านผู้ฟังเป็นคนดีไหม ตั้งใจทำดี ทำได้พอสมควร ก็หลายวันอยู่ หรืออาจจะเต็มวัน แต่ว่าอาจจะไม่ตลอดเดือน อาจจะไม่ตลอดปี แล้วก็ขยายออกไปให้เป็นช่วงชีวิตชาติหนึ่งๆ ในชาติหนึ่งก็อาจจะได้บำเพ็ญกุศลกรรม โสภณธรรมเอาไว้พอสมควร แต่ว่าชาติต่อไปเมื่อมีเหตุมีปัจจัยที่จะให้ความโกรธเกิดขึ้น ความโกรธก็เกิดได้ เพราะเหตุว่ายังไม่ดับเป็นสมุจเฉท
อย่างบางท่านตั้งใจจะถวายทาน ขณะที่กระทำ ก็กระทำด้วยความผ่องใสจริงๆ ชั่วขณะ แต่ว่าอีกหลายวันต่อมา คนอื่นมาขออะไรก็อาจจะไม่ให้ก็ได้ ใช่ไหม ไม่ใช่ว่าจะต้องเป็นอย่างนั้นเสมอไป ตลอดไปสำหรับผู้ที่ยังไม่ได้ดับกิเลสเป็นสมุจเฉท
เพราะฉะนั้น กุศลกรรมหรือกุศลธรรมทั้งหลายก็เกิดขึ้นเมื่อมีเหตุปัจจัย เฉพาะกาลๆ หนึ่งเท่านั้น แล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้น ถ้าพิจารณาว่าไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตนที่ยั่งยืนเลย ทุกคนมีทั้งกุศลและอกุศล ถ้ายังไม่เป็นพระอริยบุคคลก็มีความเป็นปุถุชน หนาด้วยกิเลสเหมือนกัน เพราะเหตุว่ายังไม่ได้ดับกิเลสใดๆ เป็นสมุจเฉท
เพราะฉะนั้น ก็ควรที่จะมีความเข้าใจและก็เห็นใจ และก็อภัยให้คนที่ขณะนั้นมีปัจจัยที่จะให้อกุศลจิตเกิด และตัวเองก็ไม่เดือดร้อน เพราะเหตุว่าอภัยให้ได้ แต่ให้ทราบว่า เป็นกาลๆ เฉพาะกาลๆ ไม่ใช่ตลอดไป
วันหนึ่งใจดีมาก วันหลังโกรธมาก ให้ทานเยอะ อาทิตย์หนึ่ง อีกอาทิตย์หนึ่งอาจจะโกรธมากก็ได้ หรืออาจจะไม่ให้อะไรก็ได้
- โสภณธรรม ครั้งที่ 001
- โสภณธรรม ครั้งที่ 002
- โสภณธรรม ครั้งที่ 003
- โสภณธรรม ครั้งที่ 004
- โสภณธรรม ครั้งที่ 005
- โสภณธรรม ครั้งที่ 006
- โสภณธรรม ครั้งที่ 007
- โสภณธรรม ครั้งที่ 008
- โสภณธรรม ครั้งที่ 009
- โสภณธรรม ครั้งที่ 010
- โสภณธรรม ครั้งที่ 011
- โสภณธรรม ครั้งที่ 012
- โสภณธรรม ครั้งที่ 013
- โสภณธรรม ครั้งที่ 014
- โสภณธรรม ครั้งที่ 015
- โสภณธรรม ครั้งที่ 016
- โสภณธรรม ครั้งที่ 017
- โสภณธรรม ครั้งที่ 018
- โสภณธรรม ครั้งที่ 019
- โสภณธรรม ครั้งที่ 020
- โสภณธรรม ครั้งที่ 021
- โสภณธรรม ครั้งที่ 022
- โสภณธรรม ครั้งที่ 023
- โสภณธรรม ครั้งที่ 024
- โสภณธรรม ครั้งที่ 025
- โสภณธรรม ครั้งที่ 026
- โสภณธรรม ครั้งที่ 027
- โสภณธรรม ครั้งที่ 028
- โสภณธรรม ครั้งที่ 029
- โสภณธรรม ครั้งที่ 030
- โสภณธรรม ครั้งที่ 031
- โสภณธรรม ครั้งที่ 032
- โสภณธรรม ครั้งที่ 033
- โสภณธรรม ครั้งที่ 034
- โสภณธรรม ครั้งที่ 035
- โสภณธรรม ครั้งที่ 036
- โสภณธรรม ครั้งที่ 037
- โสภณธรรม ครั้งที่ 038
- โสภณธรรม ครั้งที่ 039
- โสภณธรรม ครั้งที่ 040
- โสภณธรรม ครั้งที่ 041
- โสภณธรรม ครั้งที่ 042
- โสภณธรรม ครั้งที่ 043
- โสภณธรรม ครั้งที่ 044
- โสภณธรรม ครั้งที่ 045
- โสภณธรรม ครั้งที่ 046
- โสภณธรรม ครั้งที่ 047
- โสภณธรรม ครั้งที่ 048
- โสภณธรรม ครั้งที่ 049
- โสภณธรรม ครั้งที่ 050