โสภณธรรม ครั้งที่ 043


    ตอนที่ ๔๓

    และในการศึกษาพระธรรมหรือในการฟังพระธรรม และในการน้อมประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมนั้น ต้องเป็นผู้ที่อดทน เรื่องของความอดทนเป็นเรื่องของอโทสเจตสิก ซึ่งท่านที่ไม่อยากจะมีโทสะ แต่ถ้าเป็นผู้ที่ไม่อดทนแล้ว กุศลทั้งหลายก็ย่อมเจริญไม่ได้ แม้แต่ในเรื่องของการฟังพระธรรมหรือการศึกษาพระธรรม หรือการน้อมประพฤติปฏิบัติตาม ก็เป็นเรื่องที่จะต้องอาศัยความอดทนเป็นอย่างยิ่ง เพราะเหตุว่าต้องอดทนแม้แต่การเป็นที่จะพยายามฟัง เพราะว่าพระธรรมไม่ใช่สิ่งที่ง่าย เพราะฉะนั้นเพียงฟังครั้งเดียวอาจจะยังไม่เข้าใจโดยตลอด เพราะฉะนั้นก็จะต้องมีความพยายามในการที่จะฟัง แล้วก็พยายามที่จะพิจารณาเพื่อให้เข้าใจความลึกซึ้งของพระธรรมด้วย เพราะเหตุว่าถ้าไม่เข้าใจความลึกซึ้งของพระธรรม ก็ปฏิบัติตามไม่ได้ ซึ่งชีวิตประจำวันเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า แม้ว่าจะได้ฟังพระธรรม และก็มีความเข้าใจ แต่อกุศลก็ช่างเกิดบ่อย และก็รวดเร็วมาก นี่ก็เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงว่า จะต้องอดทนที่จะฟังต่อไป พิจารณาความลึกซึ้งต่อไป จนกว่าจะประพฤติปฏิบัติตามได้มากยิ่งขึ้น

    สำหรับความอดทนในชีวิตประจำวัน มีโดยตลอดที่จะทำให้เป็นผู้พิจารณาเห็นได้ เช่นในการฟังพระธรรม ก็จะต้องอดทนที่จะสละเวลาของความสำราญความสุขรื่นเริง การพักผ่อนเพื่อฟังพระธรรม เพราะเหตุว่าบางคนคิดว่าการพักผ่อนสำคัญมาก แต่ว่ายังลืมเรื่องการพักผ่อนโดยกุศลจิตเกิดด้วยการฟังพระธรรม ซึ่งนั่นจะเป็นการพักผ่อนจากอกุศล เพราะมิฉะนั้นแล้วถึงจะพักผ่อนสนุกสนานสำราญใจอย่างไรก็ตาม ขณะนั้นก็เป็นด้วยอกุศลได้ คือด้วยความพอใจในขณะที่กำลังมีความรู้สึกสบายกายและสบายใจ แม้แต่ในชีวิตประจำวัน เช่น ความร้อนหรือว่าความหนาว ถ้าไม่ใช่เป็นผู้ที่ละเอียดก็จะไม่ได้สังเกตเลยว่า มีอโทสเจตสิกหรือว่ามีโทสเจตสิก หลายท่านทีเดียวไม่ชอบอากาศร้อน เวลาที่อากาศร้อนมากๆ ก็เป็นสิ่งที่ไม่มีใครจะบังคับบัญชาหรือว่าจะไปเปลี่ยนแปลงได้ เพราะฉะนั้นเป็นบทฝึกหัดความอดทนที่จะสังเกตตัวเองว่า บ่นบ้างหรือเปล่า

    ลองคิดดู เพียงแค่บ่น ทันทีที่วจีวิญญัติทำให้เกิดเสียงที่เกิดจากจิต ในขณะนั้นเป็นเครื่องที่จะพิจารณาได้แล้วถึงความไม่อดทน เพราะเหตุว่าขณะที่บอกว่าร้อนเหลือเกิน ร้อนมาก ทนไม่ไหว ทำไมถึงร้อนอย่างนี้ ในขณะนั้นก็คงจะไม่ทราบแล้วว่า เป็นโทสมูลจิต

    เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความทุกข์ยากลำบากในเรื่องของที่อยู่อาศัย ในเรื่องของลมฟ้าอากาศ ในเรื่องของอาหาร ในเรื่องของกิจการงาน ในเรื่องของการคบค้าสมาคม ทุกอย่างหมด เป็นเครื่องที่จะพิสูจน์ให้เห็นว่า ถ้าไม่เป็นผู้ที่ละเอียดแล้ว โทสมูลจิตจะเกิดในขณะที่มีความรู้สึกไม่พอใจ เพียงความรู้สึกไม่ชอบ ความไม่รู้สึกไม่พอใจ และก็การพูดเพียงคำเล็กๆ น้อยๆ โดยที่ว่าขณะนั้นขาดความอดทน เพราะเหตุว่าถ้าอดทนจริงๆ ขณะนั้นจิตใจก็จะหวั่นไหวไปกับความยากลำบากต่างๆ แต่เวลาที่มีเหตุการณ์หนึ่งเหตุการณ์ใดในชีวิตประจำวันเกิดขึ้น จะเห็นได้ว่า อกุศลย่อมเกิดมากกว่า

    เพราะฉะนั้นก็จะต้องเป็นผู้ที่อดทนต่อไปอีกในการฟังพระธรรม พิจารณาพระธรรม และน้อมประพฤติปฏิบัติตามธรรมด้วย มิฉะนั้นแล้วประโยชน์ที่จะได้รับจากการฟังพระธรรมจะน้อยมาก และที่จะกล่าวว่ามีพระธรรมเป็นสรณะ ไม่ใช่เพียงในขั้นของการฟัง แต่ว่าในขั้นของการที่จะต้องประพฤติปฏิบัติตามด้วย

    เพราะฉะนั้นวันหนึ่งๆ พิจารณาจิตของตนเองว่า มีการเจริญในกุศลธรรมที่เป็น อโทสะเป็นประธานเพิ่มขึ้นไหม คือ ความไม่โกรธ ความไม่เดือดร้อน ความไม่กังวล และก็เป็นผู้ที่มีความอดทน อดทนแม้แต่ที่จะไม่ให้วจีวิญญัติเกิดขึ้นบ่นเรื่องของความร้อน หรือความหนาว นั่นก็แสดงให้เห็นถึงการเป็นผู้ที่ระลึกได้ว่า ขณะใดเป็นกุศลจิต ขณะใดเป็นอกุศลจิต

    บางท่านอาจจะมีความโกรธซึ่งบ่อยกว่าคนอื่น แต่ก็เป็นของธรรมดา แต่ว่าอย่าให้ถึงกับความผูกโกรธ หรือว่าความเกลียด เพราะเหตุว่าถ้าถึงขั้นนั้นแล้ว ก็จะเป็นการขาดสติที่จะไม่รู้ตัวว่า ขณะนั้นเป็นผู้ที่จะน้อมประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมหรือเปล่า แล้วถ้าจะพิจารณาถึงการที่พระผู้มีพระภาคได้ประสูติเมื่อ ๒,๕๐๐ กว่าปี กว่าที่จะได้ประสูติในชาติสุดท้าย ก็ต้องทรงบำเพ็ญพระบารมีถึง ๔ อสงไขยแสนกัปป์ หลังจากที่ทรงได้รับพุทธพยากรณ์ว่าจะได้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า และกว่าที่จะได้ตรัสรู้ เมื่อได้ประสูติแล้ว ก็ยังจะต้องมีการอบรมมนสิการ พิจารณาในสิ่งที่ถูก ในสิ่งที่ควร จนกระทั่งแม้เมื่อสละเพศคฤหัสถ์แล้ว ก็ยังต้องพากเพียรหาหนทางที่จะตรัสรู้อริยสัจจธรรมถึง ๖ พรรษา และเมื่อตรัสรู้แล้ว ๔๕ พรรษาที่ได้ทรงแสดงพระธรรม มากยิ่งกว่าบุคคลอื่น อย่างท่านผู้ฟังทุกท่านก็คงจะฟังพระธรรมตอนเช้า และก็ตอนค่ำ ซึ่งเป็นเวลาสะดวก และสำหรับบางท่านก็อาจจะฟังมากกว่านั้นอีก ถ้ามีเวลา แต่ถ้าเทียบกับพระมหากรุณาของพระผู้มีพระภาคที่ก่อนจะเสด็จบิณฑบาต เมื่อเป็นเวลาที่ยังเช้านัก ก็ยังเห็นเป็นโอกาสควรที่ไปพบปะกับผู้ที่เมื่อได้ฟังพระธรรมแล้ว จะเป็นประโยชน์กับผู้นั้น แม้ว่าผู้นั้นจะเป็นเดียรถีย์ ยังไม่ได้รับฟังพระธรรม และก็ยังไม่มีความเห็นถูก แต่ก็มีพระมหากรุณาที่จะเสด็จไปก่อนที่จะได้เสด็จบิณฑบาต และเมื่อเสด็จบิณฑบาตแล้ว หลังภัตกิจ หลังจากที่ทรงพักผ่อนเพียงเล็กน้อย ก็ได้ทรงแสดงพระธรรม ไม่ว่าจะประทับอยู่สถานที่ใดก็ตาม แม้ตอนเย็น แม้ตอนค่ำ และตอนดึก

    เพราะฉะนั้นไม่มีใครจะได้กระทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสัตว์โลกเท่าพระผู้มีพระภาค แต่อย่าลืมว่าที่ทรงพระมหากรุณากระทำอย่างนั้น เพื่อประโยชน์แก่สัตว์โลก เพราะฉะนั้นผู้ที่ได้รับฟังพระธรรม ก็ควรที่จะน้อมระลึกถึงพระมหากรุณาคุณที่ได้ทรงแสดงพระธรรมไว้เป็นอันมาก เพื่อให้ทุกท่านเป็นผู้ที่ว่าง่ายต่อการที่กุศลจิตเกิด เป็นผู้ที่อดทน เป็นผู้ที่ไม่ว่ายากในการที่จะประพฤติปฏิบัติธรรม

    ในพระไตรปิฎกมีคำว่า “โมฆบุรุษ” พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุที่ไม่ได้น้อมประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมว่า โมฆบุรุษ เพราะฉะนั้นโมฆบุรุษในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน ๒,๕๐๐ กว่าปี ถ้าบุคคลนั้นยังเป็นโมฆบุรุษต่อไปอีก คือ ไม่ปฏิบัติธรรม เพียงแต่ฟังธรรม ๒,๕๐๐ กว่าปี ความเป็นโมฆบุรุษนั้น ก็ยังคงเป็นโมฆบุรุษต่อไปอีก และขณะนี้ถ้าท่านผู้ใดเป็นผู้ฟังพระธรรม แต่ว่ายังมีความโกรธมาก ยังมีความไม่พอใจขุ่นเคืองมาก แล้วก็ไม่คิดที่จะละคลายความขุ่นเคืองใจ ความไม่พอใจนั้น ผู้นั้นก็จะเป็นโมฆบุรุษด้วยตั้งแต่ในชาตินี้และในชาติต่อๆ ไป ก็จะเพิ่มความเป็นโมฆบุรุษต่อๆ ไปอีก จนกระทั่งถึงในชาติที่ได้เฝ้าและได้ฟังพระธรรมจากพระผู้มีพระภาค ก็จะยังคงเป็นโมฆบุรุษต่อไป

    ช่วยได้ไหม อยู่ที่แต่ละคนที่จะตัดสินพิจารณา โยนิโสมนสิการ อโยนิโสมนสิการว่า จะเป็นโมฆบุรุษ หรือจะเป็นผู้ที่น้อมประพฤติปฏิบัติธรรม

    สำหรับในเรื่องโทสะ อโทสะ ก็ควรที่จะได้พิจารณาว่า ท่านอยากจะเจริญธรรมฝ่ายไหน ไม่ใช่เพียงแต่ฟังชื่อ โทสะและอโทสะ แต่ต้องพิจารณาจริงๆ ว่า ท่านอยากจะเจริญธรรมฝ่ายไหน ฝ่ายโทสะ หรือฝ่ายอโทสะ ถ้าฝ่ายโทสะก็ยังผูกโกรธ ยังไม่ให้อภัย หรือว่ายังพยาบาท เพราะฉะนั้นก็ควรที่จะได้พิจารณาแม้ในขณะที่ได้ฟังพระธรรมว่า ธรรมฝ่ายไหนชนะ โทสะหรืออโทสะ เพื่อความเป็นโมฆบุรุษหรือเพื่อความเป็นบัณฑิต แม้ว่าจะได้ฟังอย่างนี้ จิตใจของแต่ละท่านก็ต้องต่างกันอีก ซึ่งเป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ แต่ว่าทุกท่านก็มีประโยชน์ที่จะพิจารณาตนเองว่า การฟังพระธรรมนั้นเพื่อให้เห็นโทษของอกุศล และเพื่อให้เห็นประโยชน์ของกุศลต่อไปอีกเรื่อยๆ ต่อไปอีก ต่อไปอีก จนกว่าจะเป็นผู้ว่าง่าย และได้รับประโยชน์โดยการประพฤติปฏิบัติตามพระธรรม แต่ว่าไม่มีผู้อื่นสามารถจะเกื้อกูลได้เลย นอกจากพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงแล้ว เพราะฉะนั้นถ้าขาดการฟังพระธรรม ก็ไม่มีทางที่จะเกื้อกูลเลย แม้ว่าในขณะนี้พระธรรมยังไม่สามารถที่จะเกื้อกูลได้ แต่ถ้าฟังพระธรรมต่อไป และพิจารณาลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นกุศลและอกุศลธรรมละเอียดขึ้น จิตใจก็จะอ่อนโยนลง และโยนิโสมนสิการก็ควรที่จะเกิดได้

    สำหรับในวันนี้เป็นเรื่องของอโทสเจตสิกต่อจากที่ได้เคยกล่าวถึงแล้วในคราวก่อน ซึ่งก็จะขอกล่าวถึงข้อความในมงคลคาถาที่ ๘ ในมงคลสูตร ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสมงคล ๔ ข้อ คือ ความอดทน ๑ ความเป็นผู้ว่าง่าย ๑ การเห็นสมณะ ๑ การสนทนาธรรม ๑ กรรม ๔ อย่างนี้มีความอดทนเป็นต้นนี้ เป็นมงคลอันสูงสุด

    คงจะไม่มีใครไม่เห็นด้วย และมงคลทั้ง ๔ นี้ก็เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกัน ตั้งแต่ ความอดทน ๑ ความเป็นผู้ว่าง่าย ๑ การเห็นสมณะ ๑ การสนทนาธรรม ๑ มีความอดทนเพิ่มขึ้นไหม และอดทนในเรื่องใดบ้าง และยังไม่สามารถที่จะอดทนในเรื่องใดบ้าง เพราะเหตุว่าแต่ละท่านก็อาจจะพิจารณาเป็นเรื่องๆ ไปว่า เรื่องอากาศ ท่านอดทนได้เพิ่มขึ้น เรื่องของความยากลำบากต่างๆ ความหิวกระหาย ท่านก็อดทนได้มากขึ้น หรือในเรื่องของความไม่สะดวก ในเรื่องของความไม่เรียบร้อย ในเรื่องอุปสรรคต่างๆ ท่านก็อาจจะอดทนได้มากขึ้น แต่ว่ายังมีอะไรอีกที่ท่านไม่สามารถที่จะอดทนได้ นั่นก็ต้องเป็นแต่ละบุคคลที่จะรู้จักตัวเองตามความเป็นจริง

    ผู้ฟัง ในคาถาที่ ๘ ในมงคลสูตรนี้ มีคำว่า “เป็นผู้ว่าง่าย” การเป็นผู้ว่าง่ายในที่นี้กับการที่พระผู้มีพระภาคสอนไว้ในเกสปุตตสูตรว่า ไม่ให้เชื่อ อย่าเพิ่งเชื่อ ปลงใจเชื่อ จนกว่าจะได้พิสูจน์แล้ว อาจารย์ช่วยขยายความ อธิบายหน่อยว่า อันหนึ่งก็สอนให้ว่าง่าย อันหนึ่งก็สอนว่า อย่าเพิ่งเชื่อ

    ท่านอาจารย์ ความเป็นผู้ว่าง่าย ไม่ได้หมายความว่าให้เป็นผู้เชื่อง่าย ไม่เหมือนกัน ความเป็นผู้ว่าง่าย หมายความว่าแม้ว่าพระธรรมจะได้ทรงแสดงให้ละกิเลส ให้เห็นโทษของอกุศล เช่นโทสะ แต่ว่าผู้นั้นก็ยังคงจะพอใจที่จะโกรธต่อไป ที่จะผูกโกรธต่อไป ที่จะไม่อภัยต่อไป ที่จะเป็นผู้ที่ละอกุศล นั่นคือผู้ว่ายาก เพราะฉะนั้นผู้ว่าง่ายไม่ใช่ผู้เชื่อง่าย ในเรื่องของความเชื่อ ในเรื่องของความเห็น ต้องเป็นผู้ที่พิจารณาความถูกต้อง ความผิดและความถูกว่า สิ่งใดผิดก็ผิด สิ่งใดถูกก็ถูก อย่างอกุศล ต้องเห็นว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดี ไม่งาม นี่ถูกขั้นหนึ่ง แต่ทั้งๆ ที่เห็นว่าไม่ดีไม่งาม แต่ยังอยากจะมีหรือยังคงมีต่อไป นี่ผิด นี่คือผู้ว่ายาก

    ผู้ฟัง ทีนี้สิ่งที่เป็นกุศล ก็มีผู้มาบอกว่า สิ่งนี้เป็นกุศลแล้ว แต่ว่าบางอย่างก็เฉียดๆ กันอยู่ ถ้าเราเป็นผู้ว่าง่ายก็เชื่อเขาไปก่อน

    ท่านอาจารย์ อย่างโทสะอย่างนี้ เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล

    ผู้ฟัง ถ้าชัดๆ อย่างนี้ไม่มีปัญหา

    ท่านอาจารย์ ชัดๆ อย่างนี้แล้วละอกุศลได้ไหม

    ผู้ฟัง บางอย่างก็ก่ำกึ่ง

    ท่านอาจารย์ สิ่งที่เห็นชัดๆ ว่าเป็นสิ่งที่ควรละ บางท่านยังไม่ยอมที่จะละ นี่คือผู้ที่ว่ายาก

    ผู้ฟัง ก็อย่าไปคิดมากเลย

    ท่านอาจารย์ เรื่องของตัวเอง เรื่องของแต่ละท่าน แล้วแต่โยนิโสมนสิการจริงๆ

    ถาม เรื่องความเป็นผู้ว่าง่าย สำหรับตัวกระผมเองเป็นผู้ว่ายาก เพราะว่าทั้งๆ ที่ได้ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยบ้าง เวลาประสบอารมณ์ที่พอใจก็ดี ที่ไม่พอใจก็ดี จะเสียไปทุกทีเลย คือหวั่นไหวไปตามอารมณ์นั้นทุกครั้งไปเลย ที่จะระงับยับยั้งหรือมีสติระลึกรู้ทันในขณะที่พอใจ ในขณะที่ไม่พอใจ น้อยที่สุด เพราะฉะนั้นโมฆบุรุษก็คงจะหนีไม่พ้นแน่ๆ จะมีโอกาสหรือมีวิธีอย่างไรที่จะพ้นคำว่า โมฆบุรุษ คำว่า “โมฆบุรุษ” กับการให้พ้นจากโมฆบุรุษ ห่างกันแค่ไหน

    ท่านอาจารย์ โมฆบุรุษหมายความถึงผู้ที่ไม่ยอมประพฤติปฏิบัติตาม ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติตาม แต่ยังประพฤติปฏิบัติตามไม่ได้ทั้งหมด เช่น อกุศล เป็นสิ่งที่ไม่ดี รู้ ย่อมที่จะเป็นผู้ว่าง่ายที่พยายามที่จะละ มีความตั้งใจพยายามที่จะละ นั่นไม่ใช่โมฆบุรุษ แต่ถ้าไม่มีความตั้งใจ ไม่มีความพยายามที่จะละ ยังคงมีความพอใจที่จะให้เป็นอกุศลอย่างนั้นอยู่ นั่นคือโมฆบุรุษ

    ผู้ฟัง อย่างนั้นก็คงพอจะพ้นได้บ้าง

    ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นผู้ที่น้อมประพฤติปฏิบัติตาม ไม่ใช่โมฆบุรุษ

    ถาม ผมมาคิดดูอีกทีแล้วว่า ผู้ที่ว่ายาก คือ ผู้ที่สอนยาก

    ท่านอาจารย์ แน่นอน สอนยากหรือว่ายาก เหมือนกัน

    ผู้ฟัง ไม่ใช่เรื่องเชื่อ ที่ผมยกมาเทียบแล้ว ทีนี้ตอนที่อาจารย์พูดถึง เป็นโมฆบุรุษ โมฆบุรุษ ผมว่ายังดีกว่าพวกมิจฉาทิฏฐิ เพราะว่าได้ฟังพระธรรมแล้ว แต่ยังไม่น้อมนำมาประพฤติปฏิบัติ แต่มิจฉาทิฏฐิฟังแล้วไม่เห็นด้วยเลย คือ คัดค้านกับพระธรรมเลย

    ท่านอาจารย์ แต่ก็น่าเสียดายการศึกษาหรือการฟังที่มาก แต่ไม่ได้ประพฤติปฏิบัติตาม ซึ่งจะเป็นเหตุให้การฟังพระธรรมในลักษณะนั้นเป็นแบบการจับงูพิษที่หาง เพราะฉะนั้นก็จะถูกงูนั้นกัดได้ เพราะเหตุว่าถ้าไม่น้อมประพฤติปฏิบัติตาม จะเกิดความสำคัญตนได้ว่า เป็นผู้ที่มีความรู้ แต่ว่ายิ่งเป็นผู้มีความรู้ในทางธรรม ยิ่งต้องเป็นผู้ที่อ่อนน้อมถ่อมตน นี่เป็นสิ่งที่จะต้องคู่กัน เพราะฉะนั้นถ้าผู้ใดก็ตามเป็นผู้ฟังมาก มีความรู้ความเข้าใจธรรม แต่ไม่ใช่ผู้อ่อนน้อมถ่อมตน ไม่ใช่ผู้ที่ปฏิบัติธรรม เพราะฉะนั้นธรรมที่ได้ฟัง ไม่ได้เป็นประโยชน์ นอกจากจะทำให้เกิดอกุศลประเภทอื่น เช่น ความสำคัญตน

    เพราะฉะนั้นเรื่องของธรรมแต่ละเรื่อง เป็นเรื่องที่ละเอียดจริงๆ แม้แต่ในเรื่องของความอดทนซึ่งเป็นลักษณะของอโทสเจตสิก ก็เป็นสิ่งที่ควรพิจารณาให้เห็นประโยชน์จริงๆ

    ข้อความในมังคลทีปนี อธิบายลักษณะของขันติ คือ ความอดทน มีข้อความว่า ข้อ ๔๑๒

    แม้ในอรรถกถาสังคีติสูตร ท่านก็กล่าวไว้ว่า ความอดทน คือ ความอดกลั้น

    นี่แสดงว่า จะไม่มีการแสดงออกที่ไม่เหมาะสมทางกาย ทางวาจา นั่นก็เป็นลักษณะหนึ่งของความอดทน

    ที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้อย่างนี้ว่า ในมาติกาที่ยกขึ้นตั้งไว้ว่า ขันตินั้น ขันติเป็นไฉน

    แม้แต่เพียงคำว่า “ความอดทน” ก็ยังจะต้องอธิบาย เพราะเหตุว่าเพียงแต่คิดว่า นี่อดทนแล้ว ความจริงอาจจะไม่ใช่ความอดทนก็ได้ เพราะฉะนั้น

    ขันติเป็นไฉน คือ สภาพที่อดทน สภาพที่อดกลั้น และต้องเป็นสภาพที่ไม่ดุร้าย สภาพที่ไม่ปลูกน้ำตา สภาพที่จิตเบิกบานอันใด นี่เรากล่าวว่า ขันติ

    เพราะเหตุว่าขันติต้องเป็นโสภณเจตสิก เป็นอโทสเจตสิก ขณะนั้นเป็นสภาพธรรมที่ปราศจากโลภะ โทสะ โมหะ ด้วยเหตุนี้จึงเป็นสภาพที่จิตเบิกบาน

    ไม่ใช่เพียงแต่อดกลั้นไว้ แต่ขุ่นข้อง แต่ขณะนั้นต้องเป็นสภาพจิตที่เบิกบานเป็นกุศลด้วย

    ฎีกาสังคีติสูตร อธิบายว่า

    ความอดกลั้น ชื่อว่า ความอดทน คือ สภาพที่ยกกรรมชั่วและคำพูดชั่วของชนเหล่าอื่นไว้เหนือตน โดยไม่ทำการโกรธตอบ

    สามารถที่จะเป็นอย่างนี้ได้ไหม สภาพที่ยกกรรมชั่วและคำพูดชั่วของชนเหล่าอื่นไว้เหนือตน โดยไม่ทำการโกรธตอบ

    ความไม่โกรธ ชื่อว่า ความเป็นผู้ไม่ดุร้าย การไม่ให้น้ำตาเกิดในนัยน์ตาทั้งสองของชนเหล่าอื่นด้วยอำนาจเกรี้ยวกราด ชื่อว่า การไม่ปลูกน้ำตา ภาวะใจที่ไม่พยาบาท ชื่อว่า ความเป็นผู้มีใจเบิกบาน

    ซึ่งตัวอย่างของพระเถระที่ท่านเป็นผู้ที่น้อมประพฤติปฏิบัติธรรม เพราะว่าได้พิจารณาเห็นคุณของขันติและไม่หวั่นไหว ตัวอย่างคือ ท่านพระทีฆพานกอภัยเถระ ผู้อดทนต่อถ้อยคำที่ผู้อื่นกล่าวชั่วได้

    นี่เป็นตัวอย่างซึ่งท่านจะต้องเป็นผู้ที่กระทำได้ เพราะฉะนั้นใครก็ตามที่เห็นประโยชน์และค่อยๆ เป็นผู้ว่าง่าย และอบรมไปเรื่อยๆ วันหนึ่งก็จะเหมือนกับท่านทีฆพานกอภัยเถระได้ เรื่องมีว่า

    ดังได้สดับมา ท่านพระเถระแสดงปฏิปทาแห่งมหาอริยวงศ์ เพราะความเป็นปฏิปทาของภิกษุผู้มีความสันโดษในปัจจัย และมีภาวนาเป็นที่มายินดี

    วงศ์ของพระอริยะ คือ ข้อปฏิบัติของท่านที่มีความสันโดษในปัจจัย และมีการอบรมเจริญภาวนา เพื่อที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็นพระอริยเจ้า เพราะฉะนั้นผู้ที่จะสันโดษในปัจจัยได้ ก็จะต้องเป็นผู้ที่อดทนต่อโลภะ อดทนต่อโทสะ และต้องเป็นผู้ที่อบรมเจริญปัญญาด้วย มิฉะนั้นแล้วก็ไม่สามารถที่จะทำให้อดทนต่อโลภะและโทสะได้

    ชาวบ้านหมู่ใหญ่ทั้งหมดก็พากันมาหาท่าน สักการะมากมายก็ได้เกิดแก่ท่านพระเถระแล้ว แต่ว่าท่านพระมหาเถระรูปหนึ่งไม่สามารถจะทนได้ เมื่อได้ฟังธรรมที่ท่านกล่าว และก็เห็นว่า ท่านได้รับสักการะมากมาย พระมหาเถระรูปนั้นจึงด่าท่านด้วยคำเป็นต้นว่า “พระทีฆพานกะย่อมทำความโกลาหลตลอดคืนยังรุ่ง ด้วยอ้างว่าเรากล่าวอริยวงศ์”

    นี่ เมื่อเห็นคนอื่นทำความดี แทนที่จะเกิดกุศลจิตอนุโมทนา ก็กลับไม่อนุโมทนา แล้วก็ไม่เห็นอกุศลของตนเอง

    ก็ท่านพระเถระทั้งสอง เมื่อไปสู่วิหารของตนได้ไปโดยทางเดียวกัน ตลอดระยะทางมีประมาณ ๑ คาวุต พระมหาเถระนั้นก็ด่าท่านเรื่อยไปแม้ตลอดคาวุตทั้งสิ้น

    ลำดับนั้นพระทีฆพานกอภัยเถระยืนอยู่ตรงทางแยกจะไปสู่วิหารของพระเถระทั้งสอง ท่านพระทีฆพานกอภัยเถระไหว้ท่านพระมหาเถระแล้วเรียนท่านว่า “ท่านขอรับ นั่นทางของท่าน” พระมหาเถระทำเป็นไม่ได้ยิน เดินไปเสีย

    เป็นธรรมดาไหม สำหรับคนที่มีความโกรธ เพราะฉะนั้นท่านที่เคยโกรธใคร ลองพิจารณาดูว่า ไม่เห็นความดีของคนที่ท่านโกรธ หรือว่ายังเห็นในความดีของคนที่ท่านโกรธบ้าง

    นี่คือความที่ต้องเป็นผู้ตรง มิฉะนั้นแล้วก็จะขาดมงคลข้อว่า ความอดทน ๑ ความเป็นผู้ว่าง่าย ๑ การเห็นสมณะ ๑ การสนทนาธรรม ๑ ซึ่งจะต้องเชื่อมโยงกันตั้งแต่ ขาดความอดทน ก็เป็นผู้ว่ายาก ทำให้ไม่มีการเห็นสมณะ และไม่ให้มีการสนทนาธรรม

    ท่านพระทีฆพานกอภัยเถระได้ไปถึงวิหารแล้ว พวกอันเตวาสิกของท่านก็ได้ถามท่านว่า “ท่านขอรับ ท่านไม่ได้กล่าวคำอะไรกับท่านพระมหาเถระ ผู้บริภาษอยู่ตลอดคาวุตทั้งสิ้นหรอกหรือ” ท่านพระทีฆพานกอภัยเถระกล่าวว่า “ความอดทนนั่นแล เป็นภาระของเรา ความไม่อดทน หาใช่ไม่ เราไม่เห็นการพรากจากกรรมฐานแม้ในชั่วขณะยกเท้าข้างหนึ่งเลย”

    เรื่องท่านพระทีฆพานกอภัยเถระจบ

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่า การที่แต่ละท่านจะคิดถึงเรื่องมรรคมีองค์ ๘ การเจริญสติปัฏฐาน การอบรมเจริญปัญญา ที่เป็นไปได้ ก็ต้องแสดงว่า โดยมุมกลับ ถ้าปัญญาเจริญขึ้น ถ้าสติปัฏฐานเจริญขึ้น ความเป็นผู้อดทนต้องเพิ่มขึ้น

    ผู้ที่อดทน คือ ผู้ที่ประกอบด้วยความอดทนต่อการกระทำทางกายและวาจาของคนอื่น ย่อมเป็นผู้ไม่มีอาการผิดแปลก เป็นประหนึ่งว่าไม่ได้ยิน และเป็นประหนึ่งว่าไม่ได้เห็นการกระทำและวาจานั้นๆ

    พอที่จะเป็นอย่างนี้ได้ไหม ในขณะที่สติปัฏฐานเกิด จะสบายมาก สะดวกมากทีเดียว เพราะเหตุว่าในขณะนั้นเป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่ปรากฏเกิดขึ้นเป็นอารมณ์แล้วก็หมดไป


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 23
    18 ม.ค. 2565

    ซีดีแนะนำ