โสภณธรรม ครั้งที่ 044
ตอนที่ ๔๔
ถ้าท่านจะโกรธบุคคลใดบุคคลหนึ่ง เวลาที่ได้ยินคำพูดของท่านผู้นั้น ถ้าสติปัฏฐานเกิดในขณะนั้น จะรู้ได้ว่า เสียงเป็นแต่เพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่ง เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ถ้าใจของท่านคิดถึงบุคคลที่กล่าวคำที่ท่านไม่พอใจ ขณะนั้นแท้จริงแล้วบุคคลนั้นก็ไม่มี แม้ตัวท่านก็ไม่มี เป็นแต่เพียงจิต เจตสิก รูปซึ่งเกิดขึ้นและดับไป ทั้งจิต เจตสิก รูปของท่านเอง ทั้งจิต เจตสิก รูปของผู้ที่ท่านยึดมั่นว่า เป็นบุคคลหนึ่งบุคคลใด จิตของผู้นั้นก็ดับไปแล้วพร้อมกับเจตสิก และรูปของผู้นั้นก็ดับไปแล้วทุกๆ ขณะ เพราะฉะนั้นก็ไม่มีบุคคลหนึ่งบุคคลใดเป็นสัตว์ บุคคลที่ยั่งยืน ที่จะทำให้ท่านสมควรที่จะยึดมั่นในบุคคลนั้น แล้วก็มีความโกรธ หรือผูกโกรธทุกครั้งที่ระลึกถึงบุคคลนั้นขึ้น เพราะว่าทุกคนอยู่ในโลกของตัวเอง ไม่มีโลกอื่นเข้ามาปะปนเลย หลังจากเห็นก็คิด หลังจากได้ยินก็คิด หลังจากได้กลิ่นก็คิด หลังจากลิ้มรสก็คิด หลังจากที่กระทบสัมผัสก็คิด
เพราะฉะนั้นอยู่ในโลกความคิดของตัวเอง และให้ทราบว่า ตาก็ดี หูก็ดี จมูกก็ดี ลิ้นก็ดี กายก็ดี เป็นแต่เพียงทางหรือทวารที่จะนำเรื่องต่างๆ มาสู่ใจ และสภาพธรรมใดรับอารมณ์นั้น ตาเห็น นำเรื่องมาสู่ใจ แล้วแต่ว่าจิตที่คิดจะเป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิตของตนเอง อารมณ์ที่ปรากฏดับไปหมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย สัตว์บุคคลที่เที่ยงจริงๆ ไม่มีเลย
เพราะฉะนั้นทุกคนมักจะคิดถึงความตายในลักษณะที่ว่า พูดได้ว่า ความตายจะเกิดขึ้นเมื่อไรก็ได้ อาจจะเป็นเย็นนี้หรือพรุ่งนี้ก็ได้ แต่ถ้าคิดอย่างนั้นจริงๆ ทำไมจะยังโกรธคนอื่นซึ่งเมื่อท่านตายแล้ว หมดสิ้นสภาพความเป็นบุคคลนี้ และท่านจะไม่ได้พบกับบุคคลอื่นใดๆ ทั้งสิ้น เพราะเหตุว่าแต่ละบุคคลก็เป็นเพียงจิต เจตสิก รูป ซึ่งเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้น ท่านก็จะมีแต่กิเลสของท่านเองในความคิดของตัวเองเท่านั้น ที่จะทำให้ภพต่อไป ท่านจะเป็นผู้ที่ยังคงมีความผูกโกรธ มีการไม่ให้อภัยตามที่สะสมไว้ เพราะเหตุว่ายังไม่เห็นโทษ
เพราะฉะนั้นก็เป็นสิ่งที่ควรจะได้พิจารณาจริงๆ ถึงพระธรรมที่ละเอียด และเป็นประโยชน์กับแต่ละท่านที่ควรจะน้อมประพฤติปฏิบัติตาม
ผู้ฟัง คาวุต เป็นอย่างไร
ท่านอาจารย์ ต้องถามท่านผู้รู้บาลี จำนวนระยะทาง
ผู้ฟัง ตลอดระยะทาง ๑ คาวุต ได้รับคำบริภาษก็ไม่ได้โต้ตอบ และจิตใจก็เบิกบานด้วยขันติ
ท่านอาจารย์ เพราะขณะนั้นสติปัฏฐานเกิด
ผู้ฟัง ความอดทนเป็นภาระ ภาระในที่นี้คงจะเป็นหน้าที่ ไม่ใช่ภาระที่หนัก คือพยัญชนะทำให้คิดว่าต้องไปรับภาระ ความจริงหน้าที่ของท่านตอนนั้นก็ต้องอดทน ไม่ขุ่นข้องหมองใจ จิตใจเบิกบาน เป็นโสภณ ผมเข้าใจอย่างนั้น
ท่านอาจารย์ ถูกต้อง เพราะฉะนั้นไม่ใช่เพียงอดทนอดกลั้น แต่จะต้องเป็นกุศลด้วย เป็นผู้ที่มีใจเบิกบานไม่เดือดร้อน
ผู้ฟัง ที่ว่าการเห็นสมณะเป็นมงคล ทำไมแค่เห็นสมณะแล้วเป็นมงคล ขอให้อาจารย์ช่วยขยายความด้วย
ท่านอาจารย์ สำหรับผู้ที่จิตไม่สงบ จะเห็นลักษณะของความสงบได้ไหม จะรู้ธรรมที่ต่างกันของผู้สงบกับผู้ไม่สงบได้ไหม เพราะฉะนั้นคนที่โกรธจะรู้จิตใจของคนที่ไม่โกรธ รู้ได้ไหมว่า เพราะอะไรเขาถึงไม่โกรธ ทำไมเขาถึงไม่โกรธ ทำไมเขาถึงสงบจากความโกรธได้ ดูเป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์เสียจริงๆ ใช่ไหม เพราะเหตุว่าตัวบุคคลนั้นยังเป็นผู้ที่โกรธอยู่ เมื่อยังเป็นผู้ที่โกรธอยู่ ก็มองไม่เห็นประโยชน์เลยว่า ทำไมถึงจะต้องไม่โกรธ ในเมื่อคนอื่นไม่ดี นี่ก็เป็นมนสิการของคนที่ยังโกรธ
เพราะฉะนั้นที่ว่าไม่เห็นสมณะ คือ ไม่เห็นสภาพของผู้ที่สงบจากความโกรธ เพราะเหตุว่าตนเองยังไม่สงบจากความโกรธ ยังไม่สงบจากโลภะ ยังไม่สงบจากโทสะ ยังไม่สงบจากโมหะ เพราะฉะนั้นก็คาดไม่ถึงเลยว่า จะเป็นไปได้อย่างไร หรือว่าควรจะเป็นอย่างนั้นได้อย่างไร ในเมื่อตนเองยังมีฉันทะที่จะมีโลภะ มีโทสะ มีโมหะ เพราะฉะนั้นผู้ที่ยังมีโลภะ โทสะ โมหะ ยังมากด้วยโลภะ โทสะ โมหะ ยังไม่ใช่ผู้ที่อดทนจริงๆ ในการฟังพระธรรม ในการพิจารณาพระธรรม ในการเห็นประโยชน์ของพระธรรม ในการน้อมประพฤติปฏิบัติพระธรรมจนปัญญาเจริญขึ้น ย่อมไม่สามารถที่จะเห็นสภาพความสงบของผู้ที่สงบแล้วจากโลภะ โทสะ โมหะ
สำหรับลักษณะของขันติ ความอดทน คือ ความอดกลั้นเป็นลักษณะ ชื่อว่า อธิวาสนขันติ ซึ่งเป็นความอดทนความอดกลั้นต่อความยากลำบาก ความหนาว ความร้อน รวมทั้งคำว่าร้ายของบุคคลอื่น แต่ว่าจะต้องรู้ว่า การอดทนความหนาวร้อนนั้น ไม่ใช่ดุจพวกสมณะเปลือย
นี่เป็นความละเอียด มิฉะนั้นแล้วจะเข้าใจผิดว่า พวกชีเปลือยต่างๆ นั้นคงเป็นผู้ที่อดทนต่อหนาว อดทนต่อร้อนมาก แต่ว่าขณะนั้นให้ทราบว่าเป็นอกุศล ไม่ใช่เป็นกุศล เพราะฉะนั้นธรรมต้องเป็นความอดทนที่เป็นอธิวาสขันติ อดทนต่อความหนาวความร้อน อดทนต่อคำกล่าวชั่วของคนอื่นนั้น จะต้องเป็นกุศล เพราะเหตุว่าไม่ว่าจะหนาวมาก หรือร้อนมาก ปัญญาก็ยังเกิดได้ เช่นในขณะที่หนาวมาก บางท่านพิจารณาว่า ยังน้อยกว่าโลกันตนรก เพียงเท่านี้ก็พอที่จะระงับความกระวนกระวายได้ใช่ไหม เมื่อเทียบถึงโลกันตนรกซึ่งหนาวเย็นจนสุดที่จะทนได้ทีเดียว เพราะฉะนั้นความหนาวในโลกมนุษย์จะมากสักเท่าไร ถ้ามีการคิดพิจารณาว่า ยังน้อยกว่าโลกันตนรก ก็จะทำให้คลายความไม่อดกลั้นลงไปได้ และถ้าร้อนมาก ก็ยังสามารถที่จะเกิดสติพิจารณารู้ได้ว่า ยังน้อยกว่าอเวจีมหานรก ซึ่งทุกคนจะไปถึงเมื่อไร วันไหน ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ทั้งสิ้น ถ้ายังไม่เป็นพระอริยบุคคล ไม่ว่าจะทำกุศลมามากสักเท่าไรก็ตาม ตราบใดที่ยังไม่ใช่พระอริยบุคคลแล้ว ยังจะต้องไปพบความร้อนในอเวจีมหานรกได้ เพราะฉะนั้น เมื่อคิดไปถึงอย่างนี้แล้ว ยังอยู่ในโลกมนุษย์ แม้ว่าจะร้อน ร้อนมากขึ้นสักเท่าไรก็ตาม ก็ยังน้อยกว่าอเวจีมหานรก ก็พอจะทำให้อดทนได้ ใช่ไหม อย่างน้อยที่สุดก็ไม่เกิดวจีวิญญัติ ทำให้เกิดการบ่นแม้เพียงคำสองคำ ก็จะรู้สภาพของจิตได้ว่า ขณะนั้นไม่อดทนและเป็นโทสมูลจิตแล้ว
เวลาที่ได้อาหารหรือน้ำดื่ม ๒ – ๓ วาระ ก็ยังเกิดสติที่จะพิจารณาถึงการเกิดในปิติวิสัย คือ ยังน้อยกว่าในชาติที่เคยเกิดเป็นเปรต ลืมไปหมดแล้วก็จริง แต่ก็จะยังไปสู่ภพภูมินั้นได้ตราบใดที่ยังไม่เป็นพระอริยะ เพราะฉะนั้นถ้าหิวหรือถ้ากระหายน้ำวาระหนึ่งหรือสองวาระ พอจะทนได้ โดยไม่บ่น แต่ว่าจิตใจก็ยังเบิกบาน หมายความว่าสติปัฏฐานระลึกลักษณะของสภาพธรรมขณะใด ขณะนั้นก็เป็นกุศล ก็จะเป็นหนทางที่จะทำให้ถ้าเป็นอริยบุคคลเมื่อใด ก็ไม่ต้องไปเกิดเป็นเปรตอีกต่อไป แต่ให้ทราบ ให้เห็นภัยว่า ขณะหิวก็จะทำให้เกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรม เพราะรู้ว่าถ้าปัญญาไม่เกิด ไม่เจริญขึ้น ก็อาจจะไปเกิดเป็นเปรต แล้วก็หิวกระหายมาก ยิ่งกว่าการที่ไม่ได้อาหารหรือน้ำดื่มเพียง ๒ – ๓ วาระ
เวลาที่ถูกเหลือบ ยุง ลม แดดกระทบสัมผัส ก็ควรที่จะได้พิจารณาถึงชาติที่เกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉาน ไม่มีเสื้อผ้าป้องกัน ไม่มีบ้าน ไม่มีมุ้งม่าน ที่อยู่อาศัย ซึ่งก็มองเห็นอยู่ว่าจะลำบากสักแค่ไหน แต่ว่าในเมื่อทุกคนเกิดเป็นมนุษย์ ก็มีบ้านที่อยู่อาศัย มีเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มที่จะป้องกันเหลือบ ยุง ลม แดด กระทบสัมผัสร่างกายได้ เพราะฉะนั้นบางกาลที่มีเหลือบบ้าง ยุงบ้าง แดดบ้าง ลมบ้างกระทบสัมผัส ก็ควรที่จะระลึกถึงชาติที่เกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉาน ซึ่งไม่มีเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม บ้านเรือนที่อยู่อาศัยสำหรับจะป้องกันสิ่งต่างๆ เหล่านี้เลย ก็จะทำให้เป็นผู้ที่อดทนได้มากขึ้น และเวลาที่ถูกสัตว์เลื้อยคลานกระทบสัมผัส ก็พิจารณาถึงชาติที่เคยกลิ้งเกลือกอยู่ในปากสัตว์ร้าย มีราชสีห์ และเสือโคร่งเป็นต้น
นี่คือการที่จะเห็นภัยของสังสารวัฏฏ์ว่า ถ้ายังทนภัยเล็กๆ น้อยๆ อย่างนี้ไม่ได้ตราบใด ก็จะต้องผจญกับภัยที่ใหญ่กว่านี้แน่นอนในทุคติภูมิ
เพราะฉะนั้นการที่สติระลึกพิจารณาลักษณะของสภาพธรรมที่กุศลจิตจะเกิด ก็ย่อมมีหลายระดับขั้น ตั้งแต่ขั้นที่ระลึกได้ และขั้นที่เป็นสติปัฏฐาน
สำหรับสิ่งต่างๆ เหล่านี้ บางท่านก็อาจจะบอกว่าท่านทนได้ ทนได้ทุกอย่าง หนาวทนได้ ร้อนทนได้ หิวทนได้ เหลือบ ยุง ลม แดดทนได้ สัตว์เลื้อยคลานทนได้ แต่ว่าทนคำหยาบของบุคคลอื่นไม่ได้ โดยเฉพาะของผู้ที่เลวกว่า
นี่ก็เป็นเรื่องจิตใจที่ละเอียดของแต่ละคน เพราะเหตุว่าบางท่านทนคำของผู้ที่สูงกว่า ประเสริฐกว่าได้ แต่ว่าทนคำของผู้ที่เลวกว่าไม่ได้ เพราะฉะนั้นการที่กุศลจะเจริญขึ้นๆ ก็จะต้องอาศัยการฟังพระธรรมโดยละเอียดขึ้น ตามที่สรภังคดาบสกล่าวว่า
บุคคลพึงอดทนถ้อยคำของผู้สูงกว่าได้ เพราะความกลัวแล อนึ่ง พึงอดทนถ้อยคำของผู้เสมอกันได้ เพราะเหตุแห่งความแข่งดีกัน ส่วนผู้ใดในโลกนี้พึงอดทนถ้อยคำของผู้เลวได้ สัตบุรุษทั้งหลายกล่าวความอดทนนั้นของบุคคลนั้นว่าสูงสุด
เคยพิจารณาความอดทนต่อวาจาหยาบของคนอื่นไหมว่า ทนได้เพราะอะไร ทนได้เพราะผู้นั้นสูงกว่า มีกิจหน้าที่การงานดีกว่า เหนือกว่า หรือว่าทนเพราะอะไร หรือว่าทนผู้ที่เสมอกันได้ แต่ว่าทนผู้ที่เลวกว่าไม่ได้
นี่ก็เป็นเรื่องของแต่ละบุคคลที่จะรู้ว่า ถ้าทนจริงๆ แล้ว ไม่ว่าจะทนใคร ทนได้ทั้งหมด นั่นคือสติที่ระลึกได้พร้อมกับปัญญา ซึ่งข้อความในมังคลัตทีปนี ข้อ ๔๓๐ มีข้อความที่กล่าวถึงเรื่องที่ทุกท่านก็เคยได้ยินได้ฟังมาแล้ว ตามที่ทรงแสดงไว้ใน
พราหมณสังยุตต์
พราหมณ์ภารทวาชะพี่น้องชาย ๔ คน โกรธพระผู้มีพระภาค จึงได้กล่าวคำล่วงเกินพระผู้มีพระภาคโดยประการต่างๆ แต่เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรม ท่านเหล่านั้นก็เกิดศรัทธาและอุปสมบท ในเวลาไม่นานก็ได้บรรลุอรหันต์
พวกพระภิกษุทั้งหลายก็พากันพูดว่า “พระพุทธคุณน่าอัศจรรย์หนอ ก็พระผู้มีพระภาคแม้ถูกพราหมณ์เหล่านั้นล่วงเกินแล้ว มิได้ตรัสคำอะไรเลย กลับเป็นที่พึ่งพิงแก่พวกเขาเหล่านั้นเสียอีก”
พระผู้มีพระภาคทรงสดับคำนั้นแล้วตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราเพราะความเป็นผู้ประกอบด้วยกำลังคือขันติ ไม่ประทุษร้ายในบุคคลผู้ประทุษร้าย จึงเป็นผู้พึ่งพิงของมหาชนโดยแท้” ดังนี้แล จึงตรัสคาถานี้ในพราหมณวรรค ธรรมบทว่า
ผู้ใดไม่ประทุษร้ายผู้ด่า ผู้ประหารและจองจำ ย่อมอดกลั้นไว้ได้ เราเรียกผู้นั้นซึ่งมีกำลัง คือ ขันติ มีหมู่พล คือ ขันติ ว่าเป็นพราหมณ์
พลในที่นี้ ก็คือ กองพล หรือกองทัพ มีกองทัพ คือ ขันติ คิดดูว่า จะเป็นผู้ไม่หวั่นไหว และไม่ประทุษร้ายบุคคลผู้ด่า ผู้ประหาร ผู้จองจำ ย่อมอดกลั้นไว้ได้ เราเรียกผู้นั้นซึ่งมีกำลัง คือ ขันติ มีหมู่พล คือ ขันติ ว่าเป็นพราหมณ์
ท่านผู้ฟังมีกองทัพอะไรในตัวบ้าง มีกองทัพโทสะ มีกองทัพโลภะ แต่สำหรับผู้มีปัญญา มีความอดทนเกิดขึ้นทีละเล็กทีละน้อย ค่อยๆ สะสมไป อีกไม่นานเลย ผู้นั้นก็จะมีกองทัพของขันติ เพราะเหตุว่าเกิดขึ้นบ่อยๆ ถ้าเกิดขึ้นได้เพียงครั้งเดียว ก็ยังไม่ชื่อว่ากองพล ยังไม่ชื่อว่ากองทัพ เพราะเหตุว่ายังมีจำนวนน้อยอยู่ แต่ถ้าเป็นผู้ที่ฝึกอบรมจริงๆ ในวันหนึ่งก็จะต้องมีกองพลของขันติได้
เพราะฉะนั้นก็น่าพิจารณาว่า จะเป็นโมฆบุรุษหรือว่าจะเป็นบัณฑิต จะเป็นผู้ว่าง่ายเสียเดี๋ยวนี้ หรือว่ารอไป รอไป รอไป เมื่อไรจะเป็น หรือว่าไม่มีโอกาสที่จะเป็นเลย เพราะเหตุว่าในขณะที่รอนั้น อกุศลทั้งหลายก็เพิ่มพูนขึ้น
ข้อความต่อไปมีว่า
แม้พระผู้มีพระภาคมีพระประสงค์จะแสดงโทษของความไม่อดทนแก่ภิกษุทั้งหลายแล้ว ทรงประกอบไว้ในความอดทน เมื่อตรัสเรื่องหญิงเจ้าเรือน ชื่อ เวเทหิกา แล้วจึงตรัสอีกว่า “อย่างนั้นนั่นแล ภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ย่อมเป็นผู้เสงี่ยมเจียมตัว ถ่อมตัวนักถ่อมตัวหนา สงบระงับ ตลอดเวลาที่ถ้อยคำอันไม่เป็นที่พอใจยังไม่กระทบเขา ภิกษุทั้งหลาย ในกาลใดแล ถ้อยคำอันไม่เป็นที่พอใจกระทบภิกษุ ในกาลนั้นอันท่านทั้งหลายพึงทราบว่า ภิกษุเป็นผู้สงบเสงี่ยม พึงทราบว่า เป็นผู้ถ่อมตัว พึงทราบว่าเป็นผู้สงบ”
น่าพิสูจน์ไหม หรืออยากจะขอให้ใครมาพิสูจน์กับตัวท่านว่า ลองกล่าวคำร้ายๆ กับท่านดู เพื่อท่านจะได้รู้ว่า ท่านสามารถที่จะอดกลั้น หรือสามารถจะอดทนได้ไหม เพราะเหตุว่าบางคนนั้นพระผู้มีพระภาคตรัสว่า ย่อมเป็นผู้เสงี่ยมเจียมตัว ถ่อมตัวนักถ่อมตัวหนา สงบระงับ ตลอดเวลาที่ถ้อยคำอันไม่เป็นที่พอใจยังไม่กระทบเขา
เพราะฉะนั้นนี่ก็เป็นบทพิสูจน์สำหรับแต่ละท่านที่มีคำที่ไม่พอใจกระทบ และจะได้ทราบว่าท่านยังเป็นผู้ที่เสงี่ยมเจียมตัว ถ่อมตัวนักถ่อมตัวหนา เป็นผู้ที่สงบระงับอยู่หรือเปล่า
ยาก แต่นี่คือพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเพื่อเกื้อกูลตลอด ๔๕ พรรษา ซึ่งกว่าจะได้ทรงแสดง ต้องบำเพ็ญบารมีที่จะทรงประสูติ และทรงแสวงหาทางที่จะได้ตรัสรู้หนทางที่จะทรงสามารถแสดงธรรมโดยละเอียด เพื่อเกื้อกูลพุทธบริษัทให้เห็นประโยชน์ของกุศล และให้เห็นโทษของอกุศล
ไม่ทราบพร้อมจะเป็นผู้ว่าง่ายหรือยัง เมื่อคิดถึงพระมหากรุณาคุณ สำหรับเรื่องของการเป็นผู้ว่าง่าย ก็เป็นเรื่องที่ละเอียด ที่จะต้องพิจารณาว่า การที่จะเป็นผู้ว่าง่ายนั้น เป็นอย่างไร ข้อความในมังคลัตทีปนี มีโดยละเอียดในเรื่องของความเป็นผู้ว่าง่าย เริ่มตั้งแต่แม้ในเรื่องของการขัดคอ นี่คือความละเอียดของชีวิตประจำวันจริงๆ ที่จะเป็นผู้ว่าง่าย หรือว่าผู้ว่ายาก ข้อความมีว่า
ผู้ถือแผกไปจากการปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม คือ กรรมอันเป็นข้าศึกต่อการปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมนั้นนั่นแล คือ ความปฏิบัติชั่ว
นี่คือคำอธิบายเป็นตอนๆ ให้ทราบว่า ผู้ถือแผกไปจากการปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม คือ กรรมอันเป็นข้าศึกต่อการปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมนั้นนั่นแล คือ ความปฏิบัติชั่วเป็นที่พอใจ เป็นที่ปรารถนาของบุคคลนั้น เหตุนั้นผู้นั้นชื่อว่า มีความยินดีในการขัดคอ ในบุคคลผู้ยินดีในการขัดคอนั้น
เรื่องเล็กไหม เรื่องขัดคอ ดูเป็นเรื่องธรรมดาในชีวิตประจำวัน ซึ่งดูเหมือนว่า ถ้าไม่เห็นด้วย ก็น่าจะขัดคอได้ แต่ตามความเป็นจริงลองพิจารณาถึงใจของคนที่ขัดคอ ถ้าเป็นผู้ที่มีเหตุผล และต้องการที่จะแสดงเหตุผล รอกาลที่สมควร ทั้งกาล ทั้งสถานที่ ทั้งบุคคล เพื่อจะได้ชี้แจงด้วยความเมตตาที่จะให้บุคคลนั้นได้พิจารณาในเหตุในผล อย่างนั้นไม่ชื่อว่า เป็นการขัดคอ ใช่ไหม แต่ว่าบุคคลใดก็ตามที่ชอบขัดคอ แล้วก็กล่าวว่า คนอื่นพูดผิด ไม่ฟังคำของคนอื่นเลย หรือว่าถึงแม้จะฟังก็ไม่พิจารณา แต่ว่าคัดค้านทันทีว่า คนอื่นผิด ตนเองถูก แม้ในการกล่าวธรรม ก็จะเห็นได้ว่า เป็นผู้ที่ถือแผกไปจากการปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม
เล็กๆ น้อยๆ อย่างนี้ เป็นเครื่องส่องไปถึงจิตของแต่ละบุคคล ซึ่งจะต้องพิจารณาในเหตุในผลจริงๆ
ซึ่งข้อความต่อไปมีว่า
ก็บุคคลผู้เป็นเช่นนี้ ย่อมเป็นผู้เว้นจากความเอื้อเฟื้อ และความเคารพในระเบียบแห่งศาสนาอันเป็นโอวาท และในผู้สั่งสอน เพราะเหตุนั้นท่านจึงกล่าวว่า ผู้ไม่เอื้อเฟื้อ
คือไม่ใช่ผู้ที่ใจกว้างที่คิดที่จะทำประโยชน์แก่บุคคลอื่น เพียงแต่เป็นผู้ต้องการที่จะถูก และไม่ต้องการให้บุคคลอื่นถูก
สองบทว่า ตัสสะกัมมัง ความว่า เจตนาอันเป็นไปด้วยอำนาจความไม่เอื้อเฟื้อของบุคคลผู้ว่ายากนี้ชื่อว่า โทวจัสสัง
สองบทว่า ตัสสะภาโว คือ ความมีกรรมของบุคคลผู้ว่ายากตามที่กล่าวแล้วนั้น ชื่อว่า โทวจัสสตา เพราะเหตุนั้นนั่นแล ท่านจึงกล่าวว่า ความเป็นผู้ว่ายากนั้น โดยเนื้อความก็ได้แก่ สังขารขันธ์ ก็ท่านกล่าวอย่างนั้นเพราะความที่สังขารขันธ์มีเจตนาเป็นประธาน
ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนใดๆ ทั้งสิ้น แม้แต่เรื่องของการเป็นผู้ว่ายาก การเป็นผู้ว่าง่าย หรือการขัดคอ ก็เป็นสังขารขันธ์ซึ่งมีเจตนาเป็นประธาน
ทั้งหมดนี้แม้พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเพื่อใคร สำหรับใคร ในเรื่องดูเหมือนเล็กๆ น้อยๆ จริงๆ แต่ถ้าเป็นประโยชน์ที่จะพิจารณา ก็จะทำให้เกื้อกูลแก่ผู้ที่อาจจะเข้าใจในความละเอียด และเห็นประโยชน์ของธรรมที่ละเอียดได้
ผู้ฟัง ขันติก็ดี โสวจัสสตาก็ดี ก็เป็นธรรมที่เป็นกุศล แต่กระผมยังนึกอยู่ว่า ขันติเมื่อเอาเทียบกับกุศลสาธารณเจตสิก จะตรงกับอโทสเจตสิกหรือเปล่า
ท่านอาจารย์ เป็นลักษณะของอโทสเจตสิกผู้ถาม ขันติ องค์ธรรมคืออโทสเจตสิก แต่โสวจัสสตาคืออะไร
ท่านอาจารย์ ความว่าง่ายหรือความว่ายาก เป็นสังขารขันธ์ ไม่จำเป็นต้องชี้เจาะจงลงไป เรื่องของสภาพธรรมไม่จำเป็นต้องกล่าวว่า เป็นเจตสิกนั้นเป็นเจตสิกนี้ แต่ว่าสภาพธรรมทั้งหลายต้องอาศัยกันเกิดขึ้น เป็นไป แล้วแต่ว่าจะมีอะไรเป็นประธาน อาจจะมีเจตนาเป็นประธาน หรืออาจจะมีอโทสะเป็นประธาน แล้วแต่เหตุการณ์ แล้วแต่ขณะจิต
ผู้ฟัง การที่เราจะมีอโทสเจตสิก คือ มีขันติก็ดี มีโสวจัสสตาก็ดี กระผมว่าถ้าหากยังไม่เข้าใจธรรม หรือยังไม่เห็นว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นเป็นธรรม ยังคิดว่า เราไม่พอใจ เราพอใจ เราโกรธ เราเกลียดอะไรอย่างนี้อยู่แล้วก็ ยังเป็นเราอยู่ตลอดไป ความเป็นผู้มีขันติก็ดี เป็นผู้ว่าง่ายก็ดี รู้สึกว่าจะห่างไกลมาก
ท่านอาจารย์ เป็นเรื่องที่ยากที่ว่า ธรรมทั้งหลายต้องเป็นสังขารขันธ์ที่จะปรุงแต่งจริงๆ เพราะเหตุว่าบางท่านอาจจะศึกษาปรมัตถธรรม คือ อภิธรรมมาก มีความเข้าใจเรื่องจิต มีความเข้าใจเรื่องเจตสิก มีความเข้าใจเรื่องรูป แต่ลืมจุดประสงค์ของการศึกษาว่า เพื่อขัดเกลากิเลส เพราะฉะนั้นถึงแม้ว่าจะมีความรู้ในลักษณะของสภาพธรรมโดยตำรา โดยการพิจารณาว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แต่ขาดจุดประสงค์ที่จะขัดเกลากิเลส เพราะฉะนั้นจึงเป็นผู้ที่ว่ายากก็ได้ เพราะฉะนั้นต้องพร้อมกันที่จะเป็นสังขารขันธ์ที่จะปรุงแต่งทั้งในเรื่องของการที่จะรู้ประโยชน์ของการฟังพระธรรมด้วย และไม่ลืมที่จะเตือนตัวเองว่า ถ้ามีความรู้มากเรื่องจิต เรื่องเจตสิก เรื่องรูป เรื่องปรมัตถธรรม เรื่องปัจจัย เรื่องทุกอย่าง แต่ว่าถ้าไม่น้อมประพฤติปฏิบัติธรรม แม้เพียงในเรื่องความอดนทน ก็เป็นผู้ไม่ได้รับประโยชน์จากพระธรรม เป็นโมฆบุรุษ
ผู้ฟัง เรื่องขันติ ความอดทน ในชีวิตประจำวัน เมื่อสักครู่อาจารย์ถามว่า พร้อมหรือยังที่จะทนต่อคำพูดของผู้ที่เสมอกัน ผู้ที่เหนือกว่า หรือผู้ที่ด้อยกว่าเรา มันเป็นความจริง จริงๆ ผู้ที่ด้อยกว่า อย่าว่าแต่มาว่าเลย เพียงแต่พูดจาเทียบเสมอ เดี๋ยวก็โดนตวาดไปแล้ว ที่อาจารย์พูดถึงขันติวันนี้มาตรงกับเหตุการณ์เมื่อเช้านี้ คู่สนทนาเกือบจะวางมวยกัน ตอนนั้นผมยังไม่ได้ฟังขันติจากอาจารย์ แต่ขันติทั่วๆ ไป ก็คงจะได้ฟังมาแล้วบ้าง คิดว่าคงจะมีเหตุมีปัจจัยพอที่จะยับยั้งได้ ก็ได้ห้ามปรามเรียบร้อย เวลาห้ามเขา กลับมาชวนผมอีกว่า หรือผมก็ได้ที่จะต่อกรกับเขาต่อไป แต่ว่าเราก็โชคดีที่ยังมีขันติ ผมก็ไม่ได้ต่อกร ผมก็เลยพาอีกท่านหนึ่งมาที่วัดมหาธาตุ แล้วก็เลยมาที่นี้เลย ทีนี้อาจารย์บอกว่าพร้อมแล้วหรือยัง ผมว่าถ้าได้ฟังจากอาจารย์ไปนี่ ต่อไปนี้เราตั้งไว้ในใจ จะต้องถามตัวเองว่า “เราพร้อมหรือยัง เราพร้อมหรือยัง” ผมว่าดี ถ้าเราได้ตั้งหลักไว้ก่อนแล้ว ผมเชื่อว่า อย่างไรๆ ก็ดีกว่าที่เราไม่มีคำนี้อยู่เลย “เราพร้อมหรือยัง เราพร้อมแล้วหรือยังที่จะยังมีขันติ” แล้วก็เป็นผู้ว่าง่ายด้วย ผมรู้สึกว่ายังไงๆ ก็ยังดีกว่าที่เราไม่มีคำนี้อยู่เลย “เราพร้อมหรือยัง เราพร้อมแล้วหรือยังที่จะมีขันติ” และเป็นผู้ว่าง่ายด้วย ผมรู้สึกซาบซึ้งคำสอนอันนี้จริงๆ
ท่านอาจารย์ คือขอให้เริ่มด้วยความเป็นผู้ว่าง่าย นี่คือจุดที่เริ่มต้น และต่อจากนั้นก็ต้องไม่มีอาการผิดแปลกต่อการกระทำทางกายและวาจาของคนอื่น เป็นประหนึ่งว่า ไม่ได้ยิน และเป็นประหนึ่งว่า ไม่เห็น
- โสภณธรรม ครั้งที่ 001
- โสภณธรรม ครั้งที่ 002
- โสภณธรรม ครั้งที่ 003
- โสภณธรรม ครั้งที่ 004
- โสภณธรรม ครั้งที่ 005
- โสภณธรรม ครั้งที่ 006
- โสภณธรรม ครั้งที่ 007
- โสภณธรรม ครั้งที่ 008
- โสภณธรรม ครั้งที่ 009
- โสภณธรรม ครั้งที่ 010
- โสภณธรรม ครั้งที่ 011
- โสภณธรรม ครั้งที่ 012
- โสภณธรรม ครั้งที่ 013
- โสภณธรรม ครั้งที่ 014
- โสภณธรรม ครั้งที่ 015
- โสภณธรรม ครั้งที่ 016
- โสภณธรรม ครั้งที่ 017
- โสภณธรรม ครั้งที่ 018
- โสภณธรรม ครั้งที่ 019
- โสภณธรรม ครั้งที่ 020
- โสภณธรรม ครั้งที่ 021
- โสภณธรรม ครั้งที่ 022
- โสภณธรรม ครั้งที่ 023
- โสภณธรรม ครั้งที่ 024
- โสภณธรรม ครั้งที่ 025
- โสภณธรรม ครั้งที่ 026
- โสภณธรรม ครั้งที่ 027
- โสภณธรรม ครั้งที่ 028
- โสภณธรรม ครั้งที่ 029
- โสภณธรรม ครั้งที่ 030
- โสภณธรรม ครั้งที่ 031
- โสภณธรรม ครั้งที่ 032
- โสภณธรรม ครั้งที่ 033
- โสภณธรรม ครั้งที่ 034
- โสภณธรรม ครั้งที่ 035
- โสภณธรรม ครั้งที่ 036
- โสภณธรรม ครั้งที่ 037
- โสภณธรรม ครั้งที่ 038
- โสภณธรรม ครั้งที่ 039
- โสภณธรรม ครั้งที่ 040
- โสภณธรรม ครั้งที่ 041
- โสภณธรรม ครั้งที่ 042
- โสภณธรรม ครั้งที่ 043
- โสภณธรรม ครั้งที่ 044
- โสภณธรรม ครั้งที่ 045
- โสภณธรรม ครั้งที่ 046
- โสภณธรรม ครั้งที่ 047
- โสภณธรรม ครั้งที่ 048
- โสภณธรรม ครั้งที่ 049
- โสภณธรรม ครั้งที่ 050