โสภณธรรม ครั้งที่ 045


    ตอนที่ ๔๕

    เป็นประหนึ่งว่า ไม่ได้ยิน และเป็นประหนึ่งว่า ไม่เห็นวาจาและการกระทำนั้นๆ

    ผู้ฟัง ขันตินี่จะต้องมีเป็นกองทัพใช่ไหม แบบทนได้บ้าง บางครั้งก็ทนได้ บางครั้งก็ทนไม่ได้

    ท่านอาจารย์ และก็คิดว่าจะพยายามทนให้มากขึ้นไหม

    ผู้ฟัง ถ้าผู้ที่ขันติบ้างเล็กๆ น้อยๆ พอจะบรรลุได้บ้างไหม

    ท่านอาจารย์ ผู้มีขันติบ้างเล็กๆ น้อย ย่อมรู้ว่า กาลไหนไม่มีขันติ กาลไหนมีขันติ กาลไหนอธรรมชนะ

    ผู้ฟัง ในขณะที่กุศลเกิด ขณะนั้นอโทสะ ความไม่โกรธก็มี

    ท่านอาจารย์ ทุกคนคงจะทราบว่า ผู้ที่ไม่โกรธ คือ พระอนาคามีบุคคล เพราะเหตุว่าท่านดับอนุสัยกิเลส คือ ปฏิฆานุสัยได้แล้ว เพราะฉะนั้นผู้ที่ยังไม่ได้เป็นแม้พระอริยบุคคล เรื่องโกรธเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ใช่เป็นเรื่องแปลกประหลาด แต่ว่าอย่าผูกโกรธ เรื่องไม่ชอบเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ชอบอย่างนั้น ไม่ชอบอย่างนี้ ไม่ชอบการกระทำหรือคำพูดอย่างนั้นอย่างนี้ แต่อย่าให้ถึงกับเกลียด เพราะเหตุว่านั่นเป็นความลึกของกิเลสซึ่งสะสมมากทีเดียวที่แสดงออก เพราะฉะนั้นถ้าไม่รู้จักตัวเองตามความเป็นจริง ไม่มีเหตุการณ์ที่จะทำให้ลักษณะอาการของอกุศลขั้นต่างๆ นั้นปรากฏ ก็ย่อมจะไม่รู้จักตัวเองว่า มีอกุศลมากมายหนาแน่นแค่ไหน แต่ถ้าเป็นผู้ที่โกรธ แต่ไม่พยาบาท อภัยได้ และไม่ผูกโกรธ ก็เป็นเรื่องธรรมดา ไม่ใช่เรื่องของผู้ว่ายาก ถ้าเป็นผู้ที่ไม่ยอมจะอภัย และยังพอใจที่ยังโกรธอยู่ เป็นผู้ไม่น้อมที่จะประพฤติปฏิบัติธรรม นั่นคือผู้ที่ว่ายาก

    สำหรับลักษณะของผู้ว่าง่าย ก็ควรที่จะได้พิจารณาว่าเป็นอย่างไร

    ลักษณะของผู้ว่าง่าย คือ การว่ากล่าวได้ง่ายในบุคคลผู้รับโดยเบื้องขวา หมายความว่ารับคำว่ากล่าวด้วยความเคารพ ผู้ยินดีในการคล้อยตามตามพระธรรมที่ได้ฟัง เป็นไปกับด้วยความเอื้อเฟื้อนั่นมีอยู่ เหตุนั้นคนนั้นชื่อว่า ผู้ว่าง่าย ความเป็นผู้ว่าง่ายนั้น ท่านกล่าวว่า เป็นธรรมกระทำที่พึ่ง

    สำคัญไหม ถ้ายังเป็นผู้ว่ายากอยู่ จะไม่สามารถมีธรรมที่จะเป็นที่พึ่งได้เลย แต่ว่าเมื่อเริ่มเป็นผู้ที่ว่าง่าย ท่านกล่าวว่า เป็นธรรมกระทำที่พึ่ง

    ข้อความต่อไปอธิบายว่า

    บทว่า สุวโจ ความว่า ผู้ที่ผู้อื่นพึงว่ากล่าว คือ พึงพร่ำสอนได้โดยง่าย

    ถ้าสอนใครแล้ว คนนั้นก็ไม่ยอมเลยที่จะปฏิบัติตาม คนสอนก็เหนื่อยใช่ไหม และในยุคนี้สมัยนี้เมื่อพระพุทธศาสนาได้ล่วงเลยมาจนถึง ๒,๕๐๐ กว่าปี ซึ่งก็นับได้ว่าเป็นกึ่งพุทธกาล เพราะฉะนั้นพระธรรมคำสอนที่สมบูรณ์ในเหตุผล ก็จะรุ่งเรืองอยู่เพียงชั่วระยะหนึ่ง และต่อจากนั้นก็ถึงกาลที่จะค่อยๆ เสื่อมไปจนกระทั่งสูญไปในที่สุด

    เพราะฉะนั้นสำหรับในยุคนี้ซึ่งเป็นกึ่งพุทธกาล สิ่งที่น่าจะท้อใจมีอยู่ประการหนึ่ง คือ มีผู้ที่สนใจฟังและศึกษาพระธรรมมากพอสมควร แต่ว่าผู้ที่น้อมประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมที่ได้ฟังนั้นควรจะมีจำนวนเท่ากับผู้ที่สนใจศึกษาด้วย แต่ว่าไม่ใช่กาลสมัย เพราะฉะนั้นแต่ละท่านต้องเป็นผู้ที่ละเอียดจริงๆ ที่จะต้องประคับประคองตนเองให้เป็นผู้ที่ทั้งศึกษาและน้อมประพฤติปฏิบัติตามด้วย มิฉะนั้นแล้วก็จะมีแต่บุคคลที่สนใจศึกษา แต่ว่าเป็นผู้ที่ว่ายาก ไม่น้อมประพฤติปฏิบัติตาม แต่ถึงอย่างไรก็ตามหวังว่าทุกท่านที่จะเกื้อกูลสหายธรรม คงไม่เป็นผู้ที่ท้อใจ ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ว่ายาก หรือว่าง่าย พระธรรมที่ทรงแสดงไว้ ก็เป็นสิ่งเดียวที่บุคคลทั้งหลายจะพึ่งได้

    ข้อความต่อไปมีว่า

    บทว่า ขโม คือ ผู้อดทน ความว่า ถูกเขากล่าวด้วยคำหนัก หยาบคาย กล้าแข็ง ก็ทนได้ คือ ไม่โกรธ

    อย่างเพียงฟัง น้อมประพฤติปฏิบัติตาม วันนี้ยังไม่ได้ แต่เห็นประโยชน์และรู้ว่า ผู้อดทน คือ ผู้ถูกเขากล่าวด้วยคำหนัก หยาบคาย กล้าแข็ง ก็ทนได้ คือ ไม่โกรธ

    ไม่กระทำเหมือนบุคคลบางคนผู้อันเขาสั่งสอนอยู่ ย่อมรับโดยข้างซ้าย คือ ด้วยความไม่เคารพ คือ ย่อมโต้เถียงหรือไม่ฟัง เดินไปเสีย

    แต่ว่าผู้ที่ว่าง่ายจะทำตรงกันข้าม คือ

    กล่าวว่า “ท่านขอรับขอท่านจงว่ากล่าว จงพร่ำสอนเถิด เมื่อพวกท่านไม่ว่ากล่าว คนอื่นใครเล่าจะว่ากล่าว” ดังนี้ ชื่อว่า รับข้างขวา คือ รับด้วยความเคารพ

    ข้อความในมัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ อนุมานสูตร ข้อ ๒๒๑ มีข้อความว่า

    ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้

    สมัยหนึ่ง ท่านพระมหาโมคคัลลานะพำนักอยู่ ณ เภสกฬาวัน อันเป็นสถานที่ให้อภัยแก่เนื้อ ตำบลสุงสุมารคิระ ภัคคชนบท ณ ที่นั้นแล ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้กล่าวว่า “ท่านผู้มีอายุ ถ้าแม้ภิกษุปวารณาไว้ว่า ขอท่านจงว่ากล่าวข้าพเจ้า ข้าพเจ้าเป็นผู้ควรที่ท่านจะว่ากล่าวได้ แต่ว่าภิกษุนั้นเป็นคนว่ายาก ประกอบด้วยธรรมที่ทำให้เป็นคนว่ายาก เป็นผู้ไม่อดทน ไม่รับคำพร่ำสอนโดยเคารพ เมื่อเป็นเช่นนี้ เพื่อนพรหมจรรย์ต่างไม่สำคัญภิกษุนั้นว่า ควรว่ากล่าว ควรพร่ำสอน ทั้งไม่สำคัญความคุ้นเคยอันบุคคลควรถึงในบุคคลนั้น ท่านผู้มีอายุ ก็ธรรมที่ทำให้เป็นคนว่ายากเป็นไฉน

    การที่จะรู้สึกตัวว่าเป็นคนว่ายาก ก็ควรที่จะรู้ถึงเหตุที่ทำให้เป็นคนว่ายาก แล้วถึงจะแก้เหตุที่ทำให้เป็นว่ายากได้ เพราะเหตุว่าแม้จะเป็นคนว่ายากก็ต้องมีเหตุ ถ้าไม่มีเหตุก็จะไม่เป็นคนว่ายากเลย แต่เมื่อไม่รู้ว่าอะไรเป็นเหตุทำให้เป็นคนว่ายาก ก็ไม่สามารถจะแก้เหตุที่ทำให้เป็นคนว่ายากได้

    ท่านพระมหาโมคคัลลานะกล่าวว่า ก็ธรรมที่ทำให้เป็นคนว่ายากเป็นไฉน

    ๑. ท่านผู้มีอายุ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีความปรารถนาลามก ลุอำนาจแห่งความปรารถนาลามก แม้ข้อที่ภิกษุเป็นผู้มีความปรารถนาลามก ลุอำนาจแห่งความปรารถนาลามก นี้ก็เป็นธรรมที่ทำให้เป็นคนว่ายาก

    ความปรารถนาชั่ว ความปรารถนาลาภ ยศ สรรเสริญ สุข สักการะ บางคนแม้แต่ว่าเพียงคำชมก็ปรารถนา ก็เป็นสิ่งที่ทำให้เป็นผู้ที่ว่ายากได้

    ๒. อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้ยกตนข่มผู้อื่น แม้ข้อที่ภิกษุเป็นผู้ยกตนข่มผู้อื่น นี้ก็เป็นธรรมที่ทำให้เป็นคนว่ายาก

    ถ้าเห็นคนอื่นเลวมาก ชั่วมาก หรืออะไรอย่างนี้ ก็ลองพิจารณาดูว่า เป็นความเห็นที่ตรงทั้งหมด ถูกทั้งหมด หรือว่าไม่ตรง ไม่ถูก แต่ว่าเป็นความคิดเห็นของตนเอง เพราะเหตุว่าบางคนพิจารณาคน ได้ยินชื่อบุคคลนั้น ก็รู้สึกว่าเป็นคนที่มีอกุศลทั้งหมด หรือได้ยินชื่อบุคคลนี้ก็คิดว่า ต้องเป็นผู้ที่มีกุศลทั้งหมด แต่ว่าความจริงแล้วไม่ว่าใคร นอกจากพระอรหันต์ มีทั้งกุศลและอกุศล แม้แต่พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี ก็ยังมีอกุศล ด้วยเหตุนี้สังฆรัตนะจึงหมายความถึงโลกุตตรบุคคล คือ โลกุตตรกุศลจิต ๔ และโลกุตตรผลจิต ๔ ถ้ายังเป็นพระโสดาบันอยู่ ก็ยังมีกิเลสอยู่ เพราะฉะนั้นกิเลสของพระโสดาบันก็ไม่เปลี่ยน พระโสดาบันซึ่งโกรธ ขณะนั้นก็เป็นโทสะ เป็นอกุศล ไม่ใช่เป็นกุศล เพราะฉะนั้นก็ต้องเป็นผู้ที่ตรงในการพิจารณาเหตุการณ์ ในการพิจารณาสภาพธรรม แต่ไม่ใช่พิจารณาบุคคล มิฉะนั้นแล้วก็จะทำให้เป็นผู้ยกตนข่มผู้อื่น โดยการที่เห็นแต่อกุศลของคนอื่น ลืมอกุศลของตนเอง แต่ว่าถ้าจะเป็นประโยชน์จริงๆ ขณะที่เห็นอกุศลของคนอื่น ควรจะคิดว่าเราเป็นอย่างนั้นหรือไม่ ถ้าเราเป็น ก็หมายความว่ามีสิ่งที่ละคลายให้เบาบางลง

    ๓. อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นคนมักโกรธ อันความโกรธครอบงำแล้ว แม้ข้อที่ภิกษุเป็นคนมักโกรธ อันความโกรธครอบงำแล้ว นี้ก็เป็นธรรมที่ทำให้เป็นคนว่ายาก

    ๔. อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นคนมักโกรธ ผูกโกรธ เพราะความโกรธเป็นเหตุ แม้ข้อที่ภิกษุเป็นคนมักโกรธ ผูกโกรธ เพราะความโกรธเป็นเหตุ นี้ก็เป็นธรรมที่ทำให้เป็นคนว่ายาก

    โกรธ แล้วก็ยังไม่ลืม เพราะฉะนั้นเมื่อคิดผูกโกรธอีก ก็แสดงให้เห็นว่า ยังเป็นคนว่ายากที่ยังไม่เห็นโทษของความโกรธ

    ๕. อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นคนมักโกรธ มักระแวงจัดเพราะความโกรธเป็นเหตุ แม้ข้อที่ภิกษุเป็นคนมักโกรธ มักระแวง เพราะความโกรธเป็นเหตุนี้ก็เป็นธรรมที่ทำให้เป็นคนว่ายาก

    มีท่านผู้หนึ่ง ท่านเป็นผู้ที่อ่อนน้อม ท่านเป็นคนที่เรียกบุคคลอื่นด้วยความเคารพ บางครั้งท่านก็ใช้คำว่า “ท่าน” แต่ผู้ที่ได้ฟังก็โกรธ ไม่น่าจะโกรธเลย แต่ตรงกับข้อ ๕. ที่ว่า อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นคนมักโกรธ มักระแวงจัดเพราะความโกรธเป็นเหตุ เวลาที่คนอื่นเรียก “ท่าน” ทำไมถึงต้องโกรธด้วย แต่เพราะระแวงจัด คิดว่าเป็นการประชด หรือคิดว่าเป็นอะไรก็ตามแต่ด้วยอกุศลจิต

    เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่า แม้คำพูดดี แต่ถ้าคนนั้นฟังด้วยความระแวง แล้วก็เข้าใจผิด ขณะนั้นก็เป็นอกุศลจิต ขณะนั้นก็เป็นผู้ว่ายาก เพราะเหตุว่าถ้าเป็นผู้ว่าง่าย พร้อมที่จะเห็นกุศลของคนอื่น เห็นความอ่อนน้อมของบุคคลนั้น เห็นความเป็นผู้ถ่อมตนของบุคคลนั้น แล้วอนุโมทนา แต่กลับกลายเป็นเห็นว่า ไม่สมควรจะเรียกอย่างนั้น และเป็นไปด้วยความระแวง

    นี่ก็แสดงให้เห็นถึงสภาพของจิตซึ่งต่างกัน ซึ่งควรที่จะพิจารณา

    ๖. อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นคนมักโกรธ เปล่งวาจาใกล้ต่อความโกรธ แม้ข้อที่ภิกษุเป็นคนมักโกรธ เปล่งวาจาใกล้ต่อความโกรธ นี้ก็เป็นธรรมที่ทำให้เป็นคนว่ายาก

    ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นเรื่องของโทสะทั้งนั้นที่ทำให้เป็นคนว่ายาก เพราะเหตุว่าในขณะนั้นเป็นจิตที่หยาบกระด้าง

    ๗. อีกประการหนึ่ง ภิกษุถูกภิกษุผู้เป็นโจทก์ฟ้อง กลับโต้เถียงโจทก์ แม้ข้อที่ภิกษุถูกภิกษุผู้เป็นโจทก์ฟ้อง กลับโต้เถียงโจทก์ นี้ก็เป็นธรรมที่ทำให้เป็นคนว่ายาก

    โต้เถียงได้ไหม หรือว่าอดทน ชี้แจงแสดงเหตุผล นี่ก็เป็นสิ่งที่ต้องพิจารณา

    ๘. อีกประการหนึ่ง ภิกษุถูกภิกษุผู้เป็นโจทก์ฟ้อง กลับรุกรานโจทก์ แม้ข้อที่ภิกษุถูกภิกษุผู้เป็นโจทก์ฟ้อง กลับรุกรานโจทก์ นี้ก็เป็นธรรมที่ทำให้เป็นคนว่ายาก

    ๙. อีกประการหนึ่ง ภิกษุถูกภิกษุผู้เป็นโจทก์ฟ้อง กลับปรักปรำโจทก์ แม้ข้อที่ภิกษุถูกภิกษุผู้เป็นโจทก์ฟ้อง กลับปรักปรำโจทก์ นี้ก็เป็นธรรมที่ทำให้เป็นคนว่ายาก

    เวลาที่มีคดี เห็นได้เลยว่า การกระทำการเป็นผู้ว่ายากอย่างนี้หรือเปล่า แทนที่จะอธิบายถ้ามีการเข้าใจผิดเกิดขึ้น ก็พยายามให้เป็นการเข้าใจถูก แต่ว่ากลับโต้เถียง กลับรุกราน หรือกลับปรักปรำ นี่ก็เป็นลักษณะของผู้ว่ายาก

    ๑๐. อีกประการหนึ่ง ภิกษุถูกภิกษุผู้เป็นโจทก์ฟ้อง กลับเอาเรื่องอื่นมากลบเกลื่อน พูดนอกเรื่อง แสดงความโกรธ ความมุ่งร้าย และความไม่เชื่อฟังให้ปรากฏ แม้ข้อที่ภิกษุถูกภิกษุผู้เป็นโจทก์ฟ้อง กลับเอาเรื่องอื่นมากลบเกลื่อน พูดนอกเรื่องแสดงความโกรธ ความมุ่งร้าย และความไม่เชื่อฟังให้ปรากฏ นี้ก็เป็นธรรมที่ทำให้เป็นคนว่ายาก

    ๑๑. อีกประการหนึ่ง ภิกษุถูกภิกษุผู้เป็นโจทก์ฟ้อง ไม่พอใจตอบในความประพฤติ แม้ข้อที่ภิกษุถูกภิกษุผู้เป็นโจทก์ฟ้อง ไม่พอใจตอบในความประพฤติ นี้ก็เป็นธรรมที่ทำให้คนว่ายาก

    ๑๒. อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นคนลบหลู่ตีเสมอ แม้ข้อที่ภิกษุเป็นคนลบหลู่ ตีเสมอ นี้ก็เป็นธรรมที่ทำให้เป็นคนว่ายาก

    ๑๓. อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นคนริษยา เป็นคนตระหนี่ แม้ข้อที่ภิกษุเป็นคนริษยา เป็นคนตระหนี่ นี้ก็เป็นธรรมที่ทำให้เป็นคนว่ายาก

    ๑๔. อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นคนโอ้อวด เจ้ามายา แม้ข้อที่ภิกษุเป็นคนโอ้อวด เจ้ามายา นี้ก็เป็นธรรมที่ทำให้เป็นคนว่ายาก

    ๑๕. อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นคนกระด้าง ดูหมิ่นผู้อื่น แม้ข้อที่ภิกษุเป็นคนกระด้าง ดูหมิ่นผู้อื่น นี้ก็เป็นธรรมที่ทำให้เป็นคนว่ายาก

    ๑๖. อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นคนถือแต่ความเห็นของตน ถือรั้น ถอนได้ยาก แม้ข้อที่ภิกษุเป็นคนถือแต่ความเห็นของตน ถือรั้น ถอนได้ยาก นี้ก็เป็นธรรมที่ทำให้เป็นคนว่ายาก

    ท่านผู้มีอายุ ธรรมเหล่านี้เรียกว่า ธรรมที่ทำให้เป็นคนว่ายาก

    ถ้าเกิดว่ายากขึ้นมา จะไม่ใช่เพราะเหตุ ๑๖ ประการนี้ได้ไหม นั่นจะเรียกว่าเข้าข้างตัวเองได้ไหม ทั้งๆ ที่ว่ายาก ก็ยังไม่ยอมรับว่าเป็นเพราะเหตุหนึ่งเหตุใดใน ๑๖ เหตุนี้ เพราะฉะนั้นความเป็นผู้ว่าง่าย ต้องเป็นผู้ที่ตรง แล้วพิจารณาในเหตุในผลจริงๆ นี่คือผู้ที่แม้ว่าจะปวารณาให้คนอื่นว่ากล่าว แต่ว่าตามความเป็นจริงแล้วกลับเป็นผู้ที่ว่ายาก แต่สำหรับผู้ที่ว่าง่าย แม้ว่าจะไม่ปวารณา เป็นผู้ที่อดทนรับคำพร่ำสอนโดยเคารพ เมื่อเป็นเช่นนี้ เพื่อนพรหมจรรย์ต่างสำคัญภิกษุนั้นว่า ควรว่ากล่าวได้ ควรพร่ำสอนได้ ทั้งสำคัญว่า ควรถึงความคุ้นเคยในบุคคลนั้นได้

    เมื่อท่านพระมหาโมคคัลลานะกล่าวธรรมที่ทำให้เป็นคนว่าง่าย ๑๖ ประการ ซึ่งตรงกันข้ามกับธรรมที่ทำให้เป็นคนว่ายาก ๑๖ ประการแล้ว ท่านก็ยังกล่าวต่อไปว่า

    ท่านผู้มีอายุ ในธรรมทั้ง ๑๖ ข้อนั้น ภิกษุพึงเทียบเคียงตนด้วยตนเองอย่างนี้ว่า บุคคลที่มีความปรารถนาลามก ลุอำนาจแห่งความปรารถนาลามก หาเป็นที่รักใคร่พอใจของเราไม่ ก็หากเราจะพึงเป็นคนมีความปรารถนาลามก ลุอำนาจแห่งความปรารถนาลามกบ้างเล่า เราคงไม่เป็นที่รักใคร่พอใจของคนอื่น ภิกษุรู้อยู่อย่างนี้พึงยังความคิดให้เกิดขึ้นว่า เราจักไม่เป็นคนมีความปรารถนาลามก ไม่ลุอำนาจแห่งความปรารถนาลามก

    นี่คืออนุมานสูตร คือ สูตรที่เทียบเคียงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นกับตนและเกิดขึ้นกับบุคคลอื่น ในเมื่อไม่พอใจในความปรารถนาของบุคคลอื่น และถ้าตนเองมีความปรารถนาลามกอย่างนั้น ก็ต้องไม่เป็นที่พอใจของคนอื่นด้วย ถ้ารู้อย่างนี้ พึงยังความคิดให้เกิดขึ้นว่า เราจักไม่เป็นคนมีความปรารถนาลามก ไม่ลุอำนาจแห่งความปรารถนาลามก

    นี่แสดงว่าไม่ใช่เห็นแต่อกุศลของคนอื่น แต่ก็ต้องพิจารณาจิตของตนเองด้วย ข้อความต่อไป ท่านพระมหาโมคคัลลานะกล่าวว่า

    ถึงบุคคลที่ยกตนข่มผู้อื่น ก็หาเป็นที่รักใคร่พอใจของเราไม่ ก็หากเราจะพึงเป็นคนยกตนข่มผู้อื่นบ้างเล่า เราคงไม่เป็นที่รักใคร่พอใจของคนอื่น ภิกษุรู้อยู่อย่างนี้พึงยังความคิดให้เกิดขึ้นว่า เราจักไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น ถึงบุคคลที่เป็นคนมักโกรธ อันความโกรธครอบงำ ก็หาเป็นที่รักใคร่พอใจของเราไม่ ก็หากเราจะพึงเป็นคนมักโกรธ อันความโกรธครอบงำบ้างเล่า เราคงไม่เป็นที่รักใคร่พอใจของคนอื่น ภิกษุรู้อยู่อย่างนี้พึงยังความคิดให้เกิดขึ้นว่า จักไม่เป็นคนมักโกรธ ไม่ให้ความโกรธครอบงำ

    สำหรับประการต่อไปอีก ๑๓ ประการ ก็โดยนัยเดียวกัน คือ ตลอดไปจนถึง

    บุคคลที่เป็นคนกระด้าง ดูหมิ่นผู้อื่น นี้ก็หาเป็นที่รักใคร่พอใจของเราไม่ ก็หากเราจะพึงเป็นคนกระด้าง ดูหมิ่นผู้อื่นบ้างเล่า เราคงไม่เป็นที่รักใคร่พอใจของคนอื่น ภิกษุรู้อยู่อย่างนี้ พึงยังความคิดให้เกิดขึ้นว่า เราจักไม่เป็นคนกระด้าง ไม่ดูหมิ่นผู้อื่น ถึงบุคคลที่ถือแต่ความเห็นของตน ถือรั้น ถอนได้ยาก ก็หาเป็นที่รักใคร่พอใจของเราไม่ ก็หากเราจะพึงเป็นคนถือแต่ความเห็นของตน ถือรั้น ถอนได้ยากบ้างเล่า เราคงไม่เป็นที่รักใคร่พอใจของคนอื่น ภิกษุรู้อยู่อย่างนี้ พึงยังความคิดให้เกิดขึ้นว่า เราจักไม่เป็นคนถือแต่ความเห็นของตน ไม่ถือรั้น ถอนได้ง่ายดังนี้

    ไม่ควรที่จะให้ท่านพระมหาโมคคัลลานะเหนื่อยเปล่าอีกเหมือนกัน ถ้ายังคงเป็นผู้ว่ายากอีกต่อไป

    ข้อความต่อไป ท่านพระมหาโมคคัลลานะกล่าวว่า

    ในธรรมทั้ง ๑๖ ข้อนั้น ภิกษุพึงพิจารณาตนด้วยตนเองอย่างนี้ว่า เราเป็นคนมีความปรารถนาลามก ลุอำนาจแห่งความปรารถนาลามกหรือไม่ หากพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า เราเป็นคนมีความปรารถนาลามก ลุอำนาจแห่งความปรารถนาลามกจริง ก็ควรพยายามเพื่อที่จะละอกุศลธรรมอันชั่วช้านั้นเสีย

    ทุกคนรู้ใช่ไหม ยังมีอกุศล เพราะฉะนั้นก็ควรพยายามที่จะละอกุศลธรรมอันชั่วช้านั้นเสีย

    หากพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า เราไม่ใช่คนมีความปรารถนาลามก ไม่ลุอำนาจแห่งความปรารถนาลามก ภิกษุนั้นพึงอยู่ด้วยปีติและปราโมทย์นั้นทีเดียว หมั่นศึกษาทั้งกลางวันกลางคืนในกุศลธรรมทั้งหลาย

    ก็ยังไม่จบ จนกว่าจะเป็นผู้ที่อบรมเจริญปัญญาถึงความเป็นพระอรหันต์

    ตอนสุดท้าย ท่านพระมหาโมคคัลลานะกล่าวว่า

    หากภิกษุพิจารณาอยู่ เห็นชัดอกุศลธรรมอันชั่วช้าเหล่านี้ทั้งหมดที่ยังละไม่ได้ในตน ภิกษุนั้นก็ควรพยายามเพื่อที่จะละอกุศลธรรมอันชั่วช้าทั้งหมดเหล่านั้น หากพิจารณาอยู่ เห็นชัดอกุศลธรรมอันชั่วช้าทั้งหมดเหล่านี้ที่ละได้แล้วในตน ภิกษุนั้นพึงอยู่ด้วยปีติและปราโมทย์นั้นทีเดียว หมั่นศึกษาทั้งกลางวันกลางคืนในกุศลธรรมทั้งหลาย

    ท่านผู้มีอายุ อุปมาเหมือนสตรีหรือบุรุษ รุ่นกำดัด ชอบโอ่อ่าส่องดูเงาหน้าของตนในกระจกเงา หรือในภาชนะน้ำใสสะอาดบริสุทธิ์ ถ้าเห็นธุลีหรือมลทินบนในหน้านั้น ย่อมพยายามที่จะให้ธุลีหรือมลทินนั้นหายไป หากไม่เห็นธุลีหรือมลทินบนใบหน้านั้น ก็จะรู้สึกพอใจว่า ช่างเป็นลาภของเรา ใบหน้าของเราบริสุทธิ์สะอาด ดังนี้ ฉันใด แม้ภิกษุหากพิจารณาอยู่ เห็นชัดอกุศลธรรมอันชั่วช้าทั้งหมดเหล่านี้ที่ยังละไม่ได้ในตน ภิกษุนั้นก็ควรพยายามเพื่อที่จะละอกุศลธรรมอันชั่วช้าทั้งหมดนั้นเสีย แต่ถ้าเมื่อพิจารณาอยู่ เห็นชัดอกุศลธรรมอันชั่วช้าทั้งหมดเหล่านี้ที่ละได้แล้วในตน ภิกษุนั้นพึงอยู่ด้วยปีติและปราโมทย์นั้นทีเดียว หมั่นศึกษาทั้งกลางวันกลางคืนในกุศลธรรมทั้งหลาย ฉันนั้น นั่นแล

    นี่คือความเป็นผู้ไม่ประมาท เพราะเห็นว่าตราบใดที่ยังมีอกุศลธรรมอยู่ ก็จะต้องเจริญกุศลทุกประการเพื่อที่จะละอกุศลธรรมนั้น

    ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้กล่าวภาษิตดังนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจชื่นชมยินดีภาษิตของท่านพระมหาโมคคัลลานะแล้วแล

    จบ อนุมานสูตร ที่ ๕

    ใครชื่นชมบ้าง ข้อความอย่างเดียวกัน และที่ควรจะพิจารณาต่อไปก็คือ จะเพียงชื่นชมเท่านั้นหรือ หรือว่าควรพยายามที่ละอกุศลธรรมอันชั่วช้าเหล่านั้นเสียทั้งหมด

    นี่เป็นข้อพิสูจน์ที่จะเข้าใจคำว่า “โยนิโสมนสิการ” หรือ “อโยนิโสมนสิการ” ไม่ใช่รู้จักเพียงคำจำกัดความ แต่รู้จักสภาพลักษณะที่เป็นการพิจารณาในเหตุผลที่ถูกต้อง แยบคาย ตามความเป็นจริง

    ข้อความตอนท้ายของอรรถกถาอนุมานสูตร มีว่า

    ท่านพระโบราณาจารย์ทั้งหลายกล่าวว่า ภิกษุพึงพิจารณาเรื่องความเป็นผู้ว่าง่าย ที่เพียรละอกุศลธรรมที่ยังละไม่ได้ คือ ความเป็นผู้ว่ายาก เป็นต้น วันละ ๓ ครั้ง เช้า หลังอาหารกลางวัน และเย็น เมื่อไม่อาจพิจารณาถึงวันละ ๓ ครั้ง ก็พึงพิจารณาเพียง ๒ ครั้ง แต่เมื่อไม่อาจถึงวันละ ๒ ครั้ง ก็พึงพิจารณาเพียง ๑ ครั้งที่เหลือ คือในตอนเย็นที่ว่าง การไม่พิจารณาเลย ไม่สมควร ดังนี้

    คือเมื่อฟังแล้ว ก็มีผู้เตือนต่อว่า ควรพิจารณาวันละ ๓ ครั้ง ถ้าวันละ ๓ ครั้งไม่ได้ ก็ ๒ ครั้ง ถ้าธุระมากนัก วันละครั้งหนึ่งก็ยังดี

    ข้อความในอรรถกถาอนุมานสูตรที่แสดงลักษณะของผู้ว่ายากที่จะทำให้รู้สึกตัวว่า เป็นผู้ว่ายากหรือไม่นั้น ข้อความตอนหนึ่งมีว่า

    เมื่อมีผู้กล่าวเตือน ผู้ว่ายากก็จะพูดว่า “พวกท่านว่ากล่าวผมเพราะเหตุใด” เหมือนกับว่าทำไมต้องมากล่าวเตือน “ผมย่อมรู้สิ่งที่ควรและไม่ควร ที่มีโทษและไม่มีโทษ เป็นประโยชน์ และไม่ใช่ประโยชน์ของตนได้”

    นี่ก็แสดงว่าไม่พร้อมที่จะให้คนอื่นเตือน หรือไม่เห็นว่าตนเองนั้นสมควรที่ผู้อื่นจะเตือน เพราะเหตุว่าเป็นผู้รู้สิ่งที่ควรและไม่ควร ที่มีโทษและไม่มีโทษ ที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์

    สำหรับเรื่องของความว่าง่าย ก็ยังมีความละเอียดอีกที่จะต้องพิจารณาว่า ว่าง่ายเพราะเหตุใด เพราะเหตุว่าคนที่ว่าง่ายนั้นก็ยังต้องต่างกันเป็น ๒ จำพวก คือ ถ้าว่าง่ายเพราะเหตุแห่งลาภสักการะ หรือเพราะเหตุแห่งจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัย เภสัชบริขาร พระผู้มีพระภาคตรัสว่า หาเป็นผู้ว่าง่ายไม่ คือว่าถ้ามีสิ่งที่จะได้รับตอบแทนก็ว่าง่าย ทำตามทุกอย่าง อย่างนั้นไม่ชื่อว่าเป็นผู้ว่าง่าย แต่ว่าผู้ใดสักการะจำเพาะพระธรรมอยู่ ทำความเคารพพระธรรมอยู่ นอบน้อมพระธรรมอยู่ ย่อมเป็นผู้ว่าง่าย ย่อมถึงความเป็นผู้ว่าง่าย พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุนั้นว่า เป็นผู้ว่าง่าย ดังเช่นท่านพระราธเถระผู้บวชในสำนักของท่านพระสารีบุตรเถระ ท่านพระราธะอุปสมบทเมื่อแก่ ทั้งๆ ที่ท่านเป็นผู้อุปสมบทเมื่อแก่ ท่านก็เป็นผู้ที่ว่าง่ายอย่างยิ่ง ขอให้คิดดูสำหรับผู้ที่มีวัยสูงแล้ว ก็ยังเป็นผู้ที่ว่าง่าย ไม่ว่าท่านพระสารีบุตรซึ่งเป็นอุปัชฌาย์ของท่าน จะโอวาท จะพร่ำสอนอย่างไร เช่นสอนว่า สิ่งนี้ท่านควรทำ สิ่งนี้ท่านไม่ควรทำ ท่านก็เป็นผู้มีปกติรับคำพร่ำสอนของท่านพระสารีบุตรด้วยความเคารพ


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 23
    18 ม.ค. 2565

    ซีดีแนะนำ