โสภณธรรม ครั้งที่ 047
ตอนที่ ๔๗
ประการที่ ๔
อีกประการหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายย่อมไม่ทำการสาธยายธรรมตามที่ได้ฟังมา ตามที่ได้เล่าเรียนมาแก่ผู้อื่นโดยพิสดาร นี้เป็นธรรมข้อที่ ๔ ย่อมเป็นไปเพื่อความลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม
นี่ก็เป็นความละเอียดอีก ถึงเรื่องเมื่อศึกษาแล้ว แสดงธรรมแล้ว บอกธรรมแล้ว ถ้าผู้ใดย่อมไม่ทำการสาธยายธรรมตามที่ได้ฟังมา ตามที่ได้เล่าเรียนมาแก่ผู้อื่นโดยพิสดาร นี้เป็นธรรมข้อที่ ๔ ย่อมเป็นไปเพื่อความลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม
สาธยายก็คือการแสดงธรรมในพระไตรปิฎก เช่นในสมัยนี้ทุกท่านได้ฟังการสวดธัมมจักกัปปวัตตนสูตรบ้าง รัตนสูตรบ้าง นี่คือการสาธยายพระสูตรตรงตามที่ได้ทรงแสดงไว้ ไม่ใช่หยิบมาเพียงเล็กน้อย แล้วก็กล่าวถึงเพียงนิดหน่อย ขาดหลักฐานอ้างอิงหรือเหตุการณ์ หรือความละเอียดตามที่ทรงแสดงไว้ แต่ว่าถ้าเป็นผู้เห็นคุณค่าของพระธรรมทั้งหมด จะไม่เว้นข้อความตอนหนึ่งตอนใดเลย ไม่ว่าจะเป็นข้อความในธัมมจักกัปปวัตตนสูตรก็ดี รัตนสูตรก็ดี มงคลสูตรก็ดี มหาสติปัฏฐานสูตรก็ดี สูตรต่างๆ ที่ได้ยินได้ฟังโดยตลอด นั่นคือการสาธยายธรรมตามที่ได้ฟังมา ตามที่ได้เล่าเรียนมาแก่ผู้อื่นโดยพิสดาร มิฉะนั้นแล้วก็จะไม่ใครรู้ได้ว่า มหาสติปัฏฐานสูตรจริงๆ มีข้อความว่าอย่างไร ถ้าเพียงแต่ยกข้อความมาเพียงเล็กน้อย หรือแม้แต่มงคลสูตรจริงๆ มีข้อความว่าอย่างไร ถ้าเพียงยกมาเพียงนิดหน่อย นี่ก็แสดงให้เห็นถึงความสมบูรณ์ที่จะรักษาพระสัทธรรมไว้ได้ ก็โดยการที่แม้ว่าจะได้ศึกษา แม้ว่าจะได้แสดงธรรม แม้ว่าจะได้บอกธรรมแล้ว ก็ยังสาธยายธรรมตามที่ได้ฟังมา ตามที่ได้เล่าเรียนมาแก่ผู้อื่นโดยพิสดาร
สำหรับการสาธยายในสมัยนี้ก็เป็นไปโดยยากมาก เพราะฉะนั้นก็เป็นไปโดยการอ่าน หรือว่าเป็นไปโดยการสวด
นี้เป็นธรรมข้อที่ ๔ สำหรับผู้ที่ไม่ทำการสาธยายธรรม ก็ย่อมทำให้พระสัทธรรมลบเลือนเสื่อมสูญ
อีกประการหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายย่อมไม่ตรึกตรอง ไม่พิจารณาดูด้วยใจ คือ ไม่อบรมเจริญภาวนานั่นเอง ซึ่งธรรมตามที่ได้ฟังมา ตามที่ได้เล่าเรียนมาโดยพิสดาร โดยละเอียด โดยลึกซึ้ง นี้เป็นธรรมข้อที่ ๕ ย่อมเป็นไปเพื่อความลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อความลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม ฯ
นี่เป็นความจริงใช่ไหม ถ้าทุกคนศึกษาพระธรรมเป็นปริยัติศาสนา แล้วแสดงธรรม บอกธรรม สาธยายธรรม แต่ไม่อบรมเจริญภาวนา คือ ไม่พิจารณาธรรมตามที่ได้ฟังมา ตามที่ได้เล่าเรียนมาโดยละเอียด โดยลึกซึ้ง ก็ไม่มีผู้ที่สามารถจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ มีแต่เพียงปริยัติศาสนา ก็ย่อมจะไม่ทำให้พระสัทธรรมสืบทอดต่อๆ ไปได้
การที่จะทำให้พระธรรมไม่ลบเลือนเสื่อมสูญ ก็โดยนัยตรงกันข้าม
ผู้ฟัง การที่ฟังธรรมมา แล้วเอามาสาธยายให้ผู้อื่น ฟังมาข้อความเป็นอย่างนี้ แล้วมาแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมตามที่ตนเข้าใจ ทำให้พระสัทธรรมเลือนหายไหม
ท่านอาจารย์ ทำให้คนอื่นเข้าใจขึ้น หรือทำให้คนอื่นเข้าใจผิดไป นี่เป็นข้อที่สำคัญ
ผู้ฟัง จะทำให้ผู้อื่นคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง
ท่านอาจารย์ ถ้าอย่างนั้นก็ไม่ถูกต้อง เพราะเหตุนั้นจึงต้องสาธยาย คือ แสดงทั้งหมดของพระสูตร หรือของส่วนของพระไตรปิฎกแต่ละส่วนๆ ให้ผู้ฟังได้พิจารณา ได้มีโอกาสไตร่ตรองด้วยตนเองว่า ข้อความที่ได้ยินจากพระไตรปิฎก ได้ฟังจากพระไตรปิฎก ตรงกับความเข้าใจของผู้แสดง หรือของผู้ฟังหรือไม่ เพื่อเป็นการสอบทาน
ผู้ฟัง ผมว่าเป็นทั้งคุณและโทษ การที่ได้ฟัง เอามาสาธยายให้ผู้อื่นฟัง
ท่านอาจารย์ อย่างสัทธัมมสัมโมสสูตรที่ ๒ ข้อ ๑๕๕ ที่กล่าวถึงเมื่อกี้นี้ เป็นประโยชน์หรือเป็นโทษในการที่จะรู้เหตุที่จะทำให้พระสัทธรรมเสื่อมสูญ หรือว่าเหตุที่จะทำให้พระสัทธรรมสืบต่อไปได้ เป็นประโยชน์หรือเป็นโทษ เพราะเหตุว่าไม่ใช่กล่าวเอง แต่ว่าเป็นข้อความที่ทรงแสดงไว้โดยสมบูรณ์ทุกประการ
ผู้ฟัง มาบวกความเห็นของตัวเองเข้าไปด้วย
ท่านอาจารย์ ความเห็นนั้นถูกหรือผิด ความเห็นนั้นชัดขึ้น หรือว่าเป็นความที่ทำให้เข้าใจคลาดเคลื่อน เพราะเหตุว่าทุกคนมีโอกาสที่จะได้ฟังอนัตตลักขณสูตร มีโอกาสที่จะได้ฟังธัมมจักกัปปวัตตนสูตร แต่ว่าสามารถที่จะเข้าใจในอนัตตลักขณสูตรก็ดี หรือว่าธัมมจักกัปปวัตตนสูตรก็ดี ได้ไหม เพราะเหตุว่าได้ยินได้ฟังธรรมที่สวดเป็นภาษาบาลี แล้วก็ได้เคยอ่านข้อความที่เป็นภาษาไทย แต่ว่าสามารถที่จะเข้าใจได้ไหม แต่ถ้าไม่เข้าใจ จะต้องมีการศึกษาทั้งพระอภิธรรม และพิจารณาพระสูตรให้สอดคล้องกัน และไม่ขัดกับพระวินัยด้วย นั่นคือธรรมที่ถูกต้อง ถ้าสิ่งที่ได้ฟังนั้นขัดกับพระอภิธรรม พระสูตร พระวินัย ก็ไม่เป็นสิ่งที่ถูกต้อง ถ้าอย่างนั้นก็มีแต่สวดๆ หรือสาธยาย หรืออ่านเท่านั้น แต่ว่าเมื่อไม่มีผู้ใดที่สามารถจะเข้าใจได้ ก็จะต้องอาศัยการศึกษาส่วนอื่น เช่น พระอภิธรรมด้วยประกอบกัน จึงจะทำให้สามารถที่จะเข้าใจในอรรถของอนัตตลักขณสูตร หรือธัมมจักกัปปวัตตนสูตร หรือแม้มงคลสูตรได้
ถาม เรื่องการสาธยายนี่ เช่น ได้ฟังมหาสติปัฏฐานสูตร ยกมาเลยทั้งสูตร ฟังแล้ว ฟังหลายๆ ครั้ง ฟังก็แล้ว อ่านก็แล้ว พยัญชนะก็ยังไม่ชัดเจน และชวนให้เข้าใจไปในการเจริญสติปัฏฐานที่ไม่ตรงหลายๆ อย่าง เพราะฉะนั้นอาจารย์ถึงได้บอกว่า ต้องอ่านพระวินัย อ่านพระสูตร พระอภิธรรม แล้วมารวมกันพิจารณาอีกทีหนึ่ง เพื่อให้เกิดความเข้าใจ แม้กระทั่งทุกวันนี้ก็ยังมี อย่างในมหาสติปัฏฐานสูตร เป็นเรื่องที่ยากมาก เช่น เดินอยู่ก็ให้รู้ว่าเราเดิน พยัญชนะชวนไปอย่างแน่นอนเลย อันนี้จะอาศัยอะไรที่จะทำให้ธรรมตรงและไม่คลาดเคลื่อน ก็ได้ฟังเรื่องสาธยายมาแล้ว
ท่านอาจารย์ อาศัยพระธรรมที่ได้ทรงแสดงไว้ ๔๕ พรรษา ไม่ใช่เพียงประโยคเดียว หรือสูตรเดียว เพราะเหตุว่าธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ทรงแสดงไว้อย่างนี้ เพราะฉะนั้นก็ต้องสอดคล้องกับมหาสติปัฏฐานสูตรด้วย เมื่อเป็นอนัตตาหมายความถึงไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เมื่อไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ขณะที่ยืนเป็นอะไร สภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตนขณะที่ยืนเป็นอะไร ในขณะที่เดินเป็นอะไร แม้จะใช้พยัญชนะว่า “เรา” แต่ก็ต้องเข้าใจว่า ที่ใช้คำว่า “เรา” เพราะเหตุว่าก่อนที่ปัญญาจะเจริญขึ้น ขณะที่ยืนเป็นใครในความรู้สึก ยังไม่ได้ดับความรู้สึกว่าเป็น “เรา” เลยใช่ไหม
ผู้ฟัง ก็ต้องอาศัยพระอภิธรรมที่แสดงว่า ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล มันยากที่จะมีผู้พูดได้ จะพูดอย่างนี้ พอเวลาสาธยายแล้ว ก็เอามหาสติปัฏฐานสูตรวิเคราะห์กันตรงนั้นเลย เจาะกันตรงนั้นเลย แล้วออกมาก็ผิด ส่วนมากจะผิด
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมไม่เล่าเรียนธรรม คือ สุตตะ เคยยะ ไวยากรณ คือ พระอภิธรรม คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรม เวทัลละ ถ้าไม่เล่าเรียนแล้วก็ไม่มีทางที่จะเข้าใจได้ ก็จะต้องคิดว่าเข้าใจแล้วในสิ่งที่ยังไม่เข้าใจ ตามข้อความในสัทธัมมนิยามสูตร เป็นผู้มีความถือตัวว่าเข้าใจในสิ่งที่ยังไม่เข้าใจ
ถาม การสาธยายพระสูตร กระผมเองก็ไม่อวดตัว แต่ว่าก็สวดพระสูตรหลายพระสูตร เช่น มงคลสูตร รัตนสูตร กรณียเมตตสูตร สวดเป็นประจำทุกวัน แต่ว่าสวดตามอักขระที่ปรากฏในพระบาลี เช่นอย่างในมงคลสูตร เอาเฉพาะคาถาที่เป็นมงคล ก็ว่า อเสวนา จ พาลานัง บัณฑิตานัญจ เสวนา ปูชา จ ปูชะนียานัง เอตัมมังคะละมุตตะมัง สวดไปแล้วก็ไม่เข้าใจอรรถ ก็รู้ว่าสวดมงคลสูตร การที่ไม่เข้าใจอย่างนี้ การที่จะรู้อรรถ รู้ธรรม ก็เป็นไปได้ยาก ไม่เหมือนอย่างสมัยพุทธกาล พระพุทธองค์ทรงแสดงมงคลสูตร เทวดาและมนุษย์ได้บรรลุเป็นแสนๆ โกฎิๆ แต่คนสมัยนี้ฟังแล้วก็ไม่เข้าใจ ไม่ทราบว่าอะไร ได้ยินแต่เสียง ถ้าเป็นแต่การสาธยายเฉยๆ กระผมว่าคงไม่เกื้อกูลแก่การเป็นข้อปฏิบัติได้แน่ๆ
ท่านอาจารย์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเล่าเรียนธรรม คือ สุตตะ เคยยะ ไวยากรณ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรม เวทัลละ ถ้าไม่เล่าเรียนแล้วก็ไม่มีทางจริงๆ ที่จะเข้าใจพระธรรมได้โดยสูตรหนึ่งสูตรเดียว แล้วก็เอามาอ่าน แล้วพยายามอย่างไรที่จะเข้าใจก็เป็นไปไม่ได้
ผู้ฟัง ต้องเรียนนวังคสัตถุศาสตร์ทั้ง ๙ เลย
ท่านอาจารย์ ถูกต้อง
ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นใครจะมาอ้างว่า ศึกษาพระสูตรมาแล้ว มหาสติปัฏฐานสูตรก็ศึกษามาแล้ว และปฏิบัติตามสติปัฏฐานสูตร ก็ปฏิบัติแล้ว กระผมว่าคำว่า “แล้ว แล้ว” ในที่นี้ก็ยังไม่แน่ว่า จะเป็นการศึกษาที่ถูกต้อง ที่ตรงตามพระพุทธประสงค์ที่พระองค์ทรงให้สาวกเข้าใจหรือเปล่า
ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นผู้สามารถจะเข้าใจคำเพียงที่ตรัสไว้ว่า “ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา” ได้จริงๆ ธรรมทั้งหลายย่อมเกิดจากเหตุปัจจัยได้จริงๆ เมื่อดับเหตุปัจจัยนั้น ธรรมนั้นก็ย่อมดับด้วย ถ้าเข้าใจจริงๆ แล้ว ก็เป็นอันว่าเหมือนกับได้ศึกษาพระธรรมทั้งหมดที่ได้ทรงแสดง แต่ที่นี้ความสำคัญอยู่ที่ว่า อนัตตา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน คืออย่างไร ไม่ใช่เพียงแต่บอกว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้เท่านั้น แต่กำลังเห็นเป็นอนัตตาอย่างไร กำลังได้ยินเป็นอนัตตาอย่างไร อนัตตาไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล แล้วที่สำคัญกำลังเห็นเป็นอะไร ถ้าไม่เข้าใจก็ต้องศึกษา
ผู้ฟัง อย่างนั้นข้อความในพระสูตรแต่ละสูตรที่สาธยาย ผู้สาธยายนั้นจะต้องเข้าใจอรรถ เข้าใจธรรมของพระสูตรนั้นอย่างถูกต้อง ถ้าไม่เข้าใจแล้ว อย่างท่านพระปัญจวัคคีย์ที่ได้ฟังธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ท่านก็คงไม่บรรลุดวงตาเห็นธรรมแน่ๆ และเมื่อท่านได้ฟังอนัตตลักขณสูตร ท่านก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ถ้าท่านไม่เข้าใจ เป็นแต่เพียงท่านจำได้ หรือท่องได้ หรือฟังพระพุทธองค์ แล้วเอามาสาธยายได้อย่างนี้ กระผมก็เข้าใจว่าคงไม่สำเร็จประโยชน์
ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่าจะต้องเป็นเรื่องการเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง แสดงถึงลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ เพียงแต่กล่าวว่า สิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ก็ยังไม่ทราบว่าอะไร เพราะฉะนั้นจะกล่าวว่า เข้าใจคำว่า “อนัตตา” ไม่ได้เลย ทุกอย่างเป็นอนัตตา ทุกสิ่งทุกอย่างที่กำลังปรากฏในขณะนี้เป็นอนัตตา ถ้ายังบอกไม่ได้ว่า ขณะนี้อะไรเป็นอนัตตาบ้าง ก็หมายความว่ายังต้องศึกษา เพราะเหตุว่ายังไม่เข้าใจละเอียดว่า สิ่งทั้งหลายนั้นคืออะไร
ถาม ผมรู้สึกว่า กำกวม ข้อที่ว่าพระธรรมลบเลือนเพราะไม่สาธยาย อย่างที่อาจารย์บอกว่า สาเหตุที่ลบเลือน เพราะว่าสาธยายพระธรรมโดยพิสดาร
ท่านอาจารย์ ไม่สาธยายถึงจะลบเลือน
ผู้ฟัง สาธยายโดยพิสดารนี่ความหมายแค่ไหน การที่สวดพระสูตรต่างๆ อนัตตลักขณสูตรก็ดี อาทิตตปริยายสูตรก็ดี สักแต่ว่าสวดอย่างนี้ ชื่อว่าสาธยายไหม
ท่านอาจารย์ ถ้าไม่เป็นไปด้วยความเข้าใจ ก็ไม่มีประโยชน์ เพราะเหตุว่าข้อความในสัทธัมมสัมโมสสูตร เริ่มตั้งแต่ย่อมไม่เล่าเรียนธรรม อันนั้นก็เป็นไปเพื่อความลบเลือนเสื่อมสูญ และไม่แสดงธรรมตามที่ได้ฟังมา ตามที่ได้เล่าเรียนมา
ผู้ฟัง เล่าเรียนก็เล่าเรียนมาตามสูตรที่พระท่านสวดทุกวันๆ ก็หมายความว่า สาธยาย แต่ว่าจะโดยพิสดารหรือเปล่า ถ้าโดยพิสดารมีคนเข้าใจแล้ว พระอรรถกถาจารย์คงไม่มายกร่างอรรถกถาต่างๆ อย่างเช่นมงคลสูตรที่อาจารย์อ้างมานี่ ก็เป็นอรรถกถา ท่านอาจารย์ท่านก็เก็บจากพระไตรปิฎกมาอธิบาย มารวบรวม
ท่านอาจารย์ มงคลสูตรไม่ใช่อรรถกถา แต่มังคลัตทีปนีเป็นอรรถกถถา ถ้าสาธยายหมายถึงกล่าวถึงข้อความในพระไตรปิฎก โดยครบถ้วน ไม่ใช่เพียงแต่หยิบยกมาเล็กๆ น้อยๆ นิดๆ หน่อยๆ แล้วก็อาศัยความคิดเห็นของตนเอง โดยที่ไม่มีโอกาสจะให้ผู้ฟังได้พิจารณาโดยตลอดให้เข้าใจความละเอียดยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นการที่จะกล่าวธรรม ก็ควรที่จะเมื่อได้ศึกษาแล้ว ก็แสดงธรรมที่ได้ศึกษา แล้วก็บอกธรรมที่ได้ศึกษา แล้วก็ยังสาธยายธรรมที่ได้ศึกษาโดยพิสดารด้วย เพื่อที่จะให้ถึงความสมบูรณ์ของ...
ผู้ฟัง อย่างมังคลัตทีปนี เป็นอัตโนมัติของอรรถกถาจารย์หรือเปล่า
ท่านอาจารย์ ไม่ได้อยู่ในพระไตรปิฎกก็จริง แต่ว่าทำให้ผู้ศึกษาได้เพิ่มความเข้าใจขึ้นหรือไม่ นี่เป็นสิ่งที่จะต้องพิจารณา เพื่อเห็นคุณของท่านผู้รู้รุ่นก่อนๆ ซึ่งท่านช่วยผู้ศึกษารุ่นหลังๆ
ผู้ฟัง แล้วอย่างนี้นับว่า พิสดาร ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ พิสดาร คือ โดยละเอียด โดยลึกซึ้ง โดยละเอียด
ผู้ฟัง อย่างอธิบายมงคลต่างๆ ของมังคลัตทีปนี ถือว่าโดยพิสดารหรือเปล่า
ท่านอาจารย์ โดยพิสดารตามมังคลัตทีปนี โดยพิสดารตามทีฆนิกาย มัชฌิมนิกาย สังยุตตนิกาย แล้วแต่ โดยพิสดารตามพระไตรปิฎกแต่ละคัมภีร์
ผู้ฟัง แล้วที่อาจารย์ทดสอบมา ถูกหรือผิด
ท่านอาจารย์ ทดสอบอะไร
ผู้ฟัง มังคลัตทีปนี ศึกษามาและทดสอบหรือเปล่าว่า ท่านสาธยายมาถูกหรือผิด
ท่านอาจารย์ ท่านอ้าง และดิฉันก็ดูในพระไตรปิฎกประกอบด้วย สิ่งที่ท่านอ้างก็ตรงกับพระไตรปิฎก
ผู้ฟัง ก็หมายความว่า ยืนยันความถูกต้อง ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ท่านอ้างในพระไตรปิฎก และเมื่อตรวจสอบดูก็มีข้อความนั้นในพระไตรปิฎก
ผู้ฟัง ข้อความที่ท่านยกมาน่ะ มี แต่คำอธิบายของท่าน อาจารย์เคยได้ศึกษาและตรวจสอบดูว่าตรงหรือไม่
ท่านอาจารย์ ไม่อยากจะให้ดิฉันเป็นผู้ตัดสินพระอรรถกถารุ่นก่อน เพราะเหตุว่าไม่อยู่ในฐานะที่จะวิจารณ์พระอรรถกถารุ่นก่อน แต่ว่าประโยชน์ที่ได้รับจากอรรถกถามีมากทีเดียว
ผู้ฟัง ก็แสดงว่าเป็นคุณมากกว่าโทษ
ท่านอาจารย์ ไม่มีใครกล้าที่จะไปบอกได้
ผู้ฟัง ยกตัวอย่างมงคลสูตร สูตรเดียว แต่ก็มีสูตรอื่นๆ อีก เท่าที่อาจารย์ได้ศึกษามา
ท่านอาจารย์ ตามที่ได้เรียนให้ทราบว่า ได้รับประโยชน์มากจากอรรถกถาทุกเล่ม
ผู้ฟัง นี่ก็ต้องนับว่า เป็นความสาธยายพิสดารที่เรียกว่าเป็นคุณ ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ เป็นพระคุณของพระอรรถกถาจารย์รุ่นก่อนอย่างมาก ไม่ควรที่จะลบหลู่ท่านที่มีความรู้ที่สามารถจะช่วยทำให้คนรุ่นหลังได้เข้าใจพระธรรมโดยละเอียดขึ้น
ข้อความในสัทธัมมสัมโมสสูตรที่ ๓ ก็เป็นความละเอียดเพิ่มขึ้นในการที่พระธรรมจะเสื่อมสูญและไม่เสื่อมสูญ ข้อ ๑๕๖ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุทั้งหลายในธรรมวินัยนี้ ย่อมเล่าเรียนพระสูตรที่ทรงจำไว้ไม่ดี ด้วยบทและพยัญชนะที่ตั้งไว้ไม่ดี แม้อรรถแห่งบทและพยัญชนะที่ตั้งไว้ไม่ดี ย่อมเป็นเนื้อความมีนัยไม่ดี นี้เป็นธรรมข้อที่ ๑
อย่างคำถามของท่านผู้ถามทั้ง ๒ ท่าน ที่ว่า เมื่อได้ยินได้ฟังแล้วจะเข้าใจถูกหรือเข้าใจผิด ก็แสดงให้เห็นว่า ถ้าภิกษุทั้งหลายในธรรมวินัยนี้ ย่อมเล่าเรียนพระสูตรที่ทรงจำไว้ไม่ดี ไม่ใช่ว่าทรงจำไว้โดยถูกต้อง แต่ที่ทรงจำไว้นั้นคลาดเคลื่อน ด้วยบทและพยัญชนะที่ตั้งไว้ไม่ดี แม้อรรถแห่งบทและพยัญชนะที่ตั้งไว้ไม่ดี ย่อมเป็นเนื้อความมีนัยไม่ดี
ที่จะรู้ได้ว่า สิ่งที่ได้ยินได้ฟังดีหรือไม่ดี ทั้งบททั้งพยัญชนะ ก็โดยการที่ว่าทำให้เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ได้หรือไม่ ถ้าไม่สามารถที่จะทำให้เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้ ก็หมายความว่า สิ่งที่ทรงจำไว้นั้นไม่ถูกต้อง แม้แต่การที่จะบกพร่องด้วยพยัญชนะแม้เพียงเล็กน้อย ก็เป็นสิ่งที่ควรจะได้พิจารณา แต่อย่างไรก็ตามก็คงจะไม่มีนักปราชญ์ราชบัณฑิตคนหนึ่งคนใดที่จะไปตรวจสอบดูอักขระ บท พยัญชนะของพระไตรปิฎกทั้งหมด ตั้งแต่ต้นโดยตลอดได้ เพราะเหตุว่าความสามารถของบุคคลในรุ่นนี้กับความสามารถของบุคคลในรุ่นก่อนก็ต่างกัน แต่ว่าเป็นข้อที่จะเตือนใจว่า ไม่ว่าใครจะอ้างว่าเป็นข้อความที่มาจากพระสูตร หรือมาจากพระไตรปิฎกส่วนใดส่วนหนึ่งก็ตาม ย่อมพิสูจน์ได้ว่าสามารถเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมได้ตรงตามความเป็นจริงหรือไม่
นี่เป็นธรรมข้อที่ ๑ ย่อมเป็นไปเพื่อความลบเลือน เสื่อมสูญแห่งสัทธรรม
อีกประการหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายเป็นผู้ว่ายาก ประกอบด้วยธรรมกระทำให้เป็นผู้ว่ายาก เป็นผู้ไม่อดทน รับคำพร่ำสอนโดยไม่เคารพ นี้เป็นธรรมข้อที่ ๒ ย่อมเป็นไปเพื่อความลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม
อีกประการหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายที่เป็นพหูสูต มีการเล่าเรียนมาก ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา ย่อมไม่บอกพระสูตรแก่ผู้อื่นโดยเคารพ เมื่อภิกษุเหล่านั้นล่วงลับไป พระสูตรย่อมขาดเค้ามูล ไม่มีหลัก นี้เป็นธรรมข้อที่ ๓ ย่อมเป็นไปเพื่อความลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม
อีกประการหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายผู้เถระ เป็นผู้มักมาก มีความประพฤติย่อหย่อน เป็นหัวหน้าในการล่วงละเมิด ทอดธุระในทางวิเวก ไม่ปรารภความเพียร เพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุเพื่อทำให้แจ้งธรรมที่ยังไม่ทำให้แจ้ง ประชุมชนรุ่นหลังย่อมถือเอาภิกษุเหล่านั้นเป็นตัวอย่าง ประชุมชนเหล่านั้นก็เป็นผู้มักมาก มีความประพฤติย่อหย่อน เป็นหัวหน้าในการล่วงละเมิด ทอดธุระในทางวิเวก ไม่ปรารภความเพียรเพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งธรรมที่ยังไม่ทำให้แจ้ง นี้เป็นธรรมข้อที่ ๔ ย่อมเป็นไปเพื่อความลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม
เห็นไหมว่า จะต้องอาศัยหลายอย่างหลายประการที่จะทำให้พระสัทธรรมดำรงอยู่ และถ้าขาดธรรมที่จะทำให้พระสัทธรรมดำรงอยู่ ก็ย่อมจะทำให้พระสัทธรรมเสื่อมสูญ
ประการที่ ๕ คือ อีกประการหนึ่ง สงฆ์เป็นผู้แตกกัน เมื่อสงฆ์แตกกันย่อมมีการด่ากันและกันบริภาษกันและกัน แช่งกันและกัน ทอดทิ้งกันและกัน ในเหตุการณ์เช่นนั้น คนผู้ไม่เลื่อมใสย่อมไม่เลื่อมใส และคนบางพวกที่เลื่อมใสแล้วย่อมเหินห่าง นี้เป็นธรรมข้อที่ ๕ ย่อมเป็นไปเพื่อความลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อความลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม
ทุกท่านก็พอที่จะพิจารณาได้ว่า ยุคนี้สมัยนี้จะเป็นยุคที่พระสัทธรรมเจริญรุ่งเรือง หรือว่าเป็นยุคสมัยที่พระสัทธรรมกำลังค่อยๆ เสื่อมลง พิสูจน์จากแต่ละบุคคลแต่ละท่าน และก็แต่ละกลุ่มของบุคคลด้วย
ผู้ฟัง ถ้าพิจารณาจาก ๕ ประการหลังที่อาจารย์บรรยายนี้แล้ว ผมว่าพระสัทธรรมนี้เสื่อมแน่ เล่าเรียนแล้วทรงจำไว้ไม่ถูกต้องก็มาก เป็นผู้ว่ายากก็มาก ประกอบด้วยธรรมเป็นผู้ว่ายากก็มาก แล้วพหูสูตนี่ ผมว่าไม่มี เป็นพหูสูตแล้วไม่บอกต่อ มักมาก เป็นหัวหน้าล่วงละเมิด ประพฤติย่อหย่อน สรุปแล้วทั้ง ๕ ประการ ผมว่ายุคนี้ใกล้เข้าไปทุกทีแล้ว
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นทุกท่านช่วยตัวเอง เป็นยุคสมัยที่จะต้องพิจารณาธรรมและเป็นผู้ที่ว่าง่าย เป็นผู้ที่อดทน ที่จะเจริญกุศลทุกประการ เพื่อที่ให้พ้นจากการที่จะตกไปในทางฝ่ายอกุศล และก็จะทำให้พระสัทธรรมเสื่อมสูญเร็วยิ่งขึ้น แต่ก็ไม่มีใครสามารถที่จะแก้ไขเหตุการณ์ต่างๆ ได้ เพราะเหตุว่าเป็นไปตามยุคสมัย
สำหรับเหตุที่จะทำให้พระสัทธรรมตั้งมั่น ซึ่งตรงกันข้าม ก็ขอกล่าวถึงโดยตลอด เพื่อที่จะได้พิจารณาและก็พยายามที่จะดำรงพระสัทธรรมไว้
ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความตั้งมั่น ไม่ลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุทั้งหลายในธรรมวินัยนี้ ย่อม
เล่าเรียนพระสูตรที่ทรงจำไว้ดี ด้วยบทและพยัญชนะที่ตั้งไว้ดี แม้อรรถแห่งบทและพยัญชนะที่ตั้งไว้ดี ย่อมเป็นเนื้อความที่มีนัยดี นี้เป็นธรรมข้อที่ ๑ ย่อมเป็นไปเพื่อความตั้งมั่น ไม่ลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม
อีกประการหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายเป็นผู้ว่าง่าย ประกอบด้วยธรรมที่กระทำให้เป็นผู้ว่าง่าย เป็นผู้อดทน รับคำพร่ำสอนโดยเคารพ นี้เป็นธรรมข้อที่ ๒ ย่อมเป็นไปเพื่อความตั้งมั่น ไม่ลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม
อีกประการหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายที่เป็นพหูสูต เล่าเรียนมาก ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา ย่อมบอกแก่ผู้อื่นโดยเคารพ เมื่อภิกษุเหล่านั้นล่วงลับไป พระสูตรย่อมไม่ขาดเค้ามูล มีหลักฐานอยู่นี้เป็นธรรมข้อที่ ๓ ย่อมเป็นไปเพื่อความตั้งมั่น ไม่ลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม
อีกประการหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายผู้เถระ ย่อมไม่มักมาก ไม่ประพฤติย่อหย่อน ทอดธุระในการล่วงละเมิด เป็นหัวหน้าในทางวิเวก ปรารภความเพียรเพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ เพื่อกระทำให้แจ้งธรรมที่ยังไม่ทำให้แจ้ง นี่เป็นธรรมข้อที่ ๔ ย่อมเป็นไปเพื่อความตั้งมั่น ไม่ลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม
อีกประการหนึ่ง สงฆ์ย่อมเป็นผู้สมัครสมานกันดี ชื่นชมต่อกันไม่วิวาทกัน มีอุเทศเป็นอย่างเดียวกัน อยู่สบาย ก็เมื่อสงฆ์สมัครสมานกันดี ไม่มีการด่ากันและกัน ไม่บริภาษกันและกัน ไม่มีการแข่งกันและกัน ไม่ทอดทิ้งกันและกัน ในเหตุการณ์เช่นนั้น คนผู้ไม่เลื่อมใสย่อมเลื่อมใส และคนบางพวกที่เลื่อมใสแล้วย่อมเลื่อมใสยิ่งขึ้น นี้เป็นธรรมข้อที่ ๕ ย่อมเป็นไปเพื่อความตั้งมั่น ไม่ลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อความตั้งมั่น ไม่ลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม ฯ
จบสูตรที่ ๖
- โสภณธรรม ครั้งที่ 001
- โสภณธรรม ครั้งที่ 002
- โสภณธรรม ครั้งที่ 003
- โสภณธรรม ครั้งที่ 004
- โสภณธรรม ครั้งที่ 005
- โสภณธรรม ครั้งที่ 006
- โสภณธรรม ครั้งที่ 007
- โสภณธรรม ครั้งที่ 008
- โสภณธรรม ครั้งที่ 009
- โสภณธรรม ครั้งที่ 010
- โสภณธรรม ครั้งที่ 011
- โสภณธรรม ครั้งที่ 012
- โสภณธรรม ครั้งที่ 013
- โสภณธรรม ครั้งที่ 014
- โสภณธรรม ครั้งที่ 015
- โสภณธรรม ครั้งที่ 016
- โสภณธรรม ครั้งที่ 017
- โสภณธรรม ครั้งที่ 018
- โสภณธรรม ครั้งที่ 019
- โสภณธรรม ครั้งที่ 020
- โสภณธรรม ครั้งที่ 021
- โสภณธรรม ครั้งที่ 022
- โสภณธรรม ครั้งที่ 023
- โสภณธรรม ครั้งที่ 024
- โสภณธรรม ครั้งที่ 025
- โสภณธรรม ครั้งที่ 026
- โสภณธรรม ครั้งที่ 027
- โสภณธรรม ครั้งที่ 028
- โสภณธรรม ครั้งที่ 029
- โสภณธรรม ครั้งที่ 030
- โสภณธรรม ครั้งที่ 031
- โสภณธรรม ครั้งที่ 032
- โสภณธรรม ครั้งที่ 033
- โสภณธรรม ครั้งที่ 034
- โสภณธรรม ครั้งที่ 035
- โสภณธรรม ครั้งที่ 036
- โสภณธรรม ครั้งที่ 037
- โสภณธรรม ครั้งที่ 038
- โสภณธรรม ครั้งที่ 039
- โสภณธรรม ครั้งที่ 040
- โสภณธรรม ครั้งที่ 041
- โสภณธรรม ครั้งที่ 042
- โสภณธรรม ครั้งที่ 043
- โสภณธรรม ครั้งที่ 044
- โสภณธรรม ครั้งที่ 045
- โสภณธรรม ครั้งที่ 046
- โสภณธรรม ครั้งที่ 047
- โสภณธรรม ครั้งที่ 048
- โสภณธรรม ครั้งที่ 049
- โสภณธรรม ครั้งที่ 050