โสภณธรรม ครั้งที่ 048
ตอนที่ ๔๘
ข้อความในพระไตรปิฎกทั้งหมดเกื้อกูล และก็เป็นประโยชน์สืบเนื่องซึ่งกัน และกัน เช่น ในมงคลคาถาที่ ๘ ในมงคลสูตรที่ว่า ความอดทน ๑ ความเป็นผู้ว่าง่าย ๑ การเห็นสมณะ ๑ การสนทนาธรรม ๑ กรรม ๔ อย่าง มีความอดทนเป็นต้นนี้ เป็นมงคลอันสูงสุด
เริ่มตั้งแต่ความเป็นผู้อดทน และความเป็นผู้ว่าง่าย และการเห็นสมณะ เพราะเหตุว่าถ้าเป็นผู้ที่ไม่อดทน เป็นผู้มักโกรธ ซึ่งไม่เป็นมงคลเลย เพราะฉะนั้นก็ทำให้เป็นคนว่ายาก เมื่อเป็นผู้ว่ายาก แล้วก็ไม่อดทนที่จะฟังและศึกษาพระธรรม เพื่อที่จะน้อมประพฤติปฏิบัติตามเพื่อขัดเกลากิเลส ซึ่งการเป็นผู้ว่ายาก ไม่เป็นมงคล เพราะเหตุว่าไม่ทำให้เห็นสมณะ
เพราะฉะนั้นแสดงว่าการเห็นสมณะ ไม่ใช่สิ่งที่เห็นง่าย ใช่ไหม เพราะเหตุว่าจะเห็นสมณะเมื่อไร และเห็นอะไรที่ว่าเห็น“สมณะ” สมณะ คือ ผู้สงบจากกิเลส เพราะฉะนั้นถ้าเห็นแต่เพียงจีวร หรือไตรจีวร หรือเครื่องหมายของเพศบรรพชิต นั่นชื่อว่า เห็นสมณะหรือยัง เพราะเหตุว่าสมณะต้องเป็นผู้สงบ
สำหรับผู้ที่ครองไตรจีวรเป็นเพศสมณะ ถ้าจะเห็นความประพฤติของผู้ที่ครองไตรจีวรในเพศสมณะ จะชื่อว่า เห็นสมณะไหม ถ้าบางขณะกายวาจาดี และบางขณะกายวาจาก็ไม่ดี ก็ยังไม่ใช่เป็นผู้ที่สงบจริงๆ ใช่ไหม เพราะฉะนั้นต้องเป็นผู้ที่เห็นข้อประพฤติปฏิบัติที่จะทำให้สามารถดับกิเลสได้ จึงจะเป็นผู้ที่สงบจริงๆ เพราะฉะนั้นการที่จะเห็นสมณะก็เป็นสิ่งซึ่งไม่ใช่ง่าย จะต้องเป็นผู้ที่ศึกษาอบรมเจริญปัญญารู้หนทางที่จะทำให้ดับกิเลสเมื่อไร เมื่อนั้นจึงสามารถที่จะเห็นสมณะได้ ถ้าไม่รู้ข้อปฏิบัติที่จะทำให้เป็นสมณะให้กิเลสสงบ และจะกล่าวว่าเห็นสมณะได้ไหม เมื่อไม่รู้ข้อปฏิบัติที่จะทำให้บุคคลนั้นเป็นผู้ที่สงบจากกิเลส ก็ย่อมไม่สามารถที่จะเห็นสมณะได้ และก็ย่อมไม่สามารถที่จะไปหาเพื่อที่จะเห็นสมณะด้วย
ข้อความในสังยุตตนิกาย มหาวารวรรค โพชฌังคสังยุตต์ สีลสูตร ข้อ ๓๗๓ มีข้อความว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่าใดเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยสมาธิ เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญา เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิมุติ เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิมุตติญาณทัสสนะ การได้เห็นภิกษุเหล่านั้นก็ดี การได้ฟังภิกษุเหล่านั้นก็ดี การเข้าไปหาภิกษุเหล่านั้นก็ดี การเข้าไปนั่งใกล้ภิกษุเหล่านั้นก็ดี การระลึกถึงภิกษุเหล่านั้นก็ดี การบวชตามภิกษุเหล่านั้นก็ดี แต่ละอย่างๆเรากล่าวว่ามีอุปการะมาก ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่าผู้ที่ได้ฟังธรรมของภิกษุเห็นปานนั้นแล้ว ย่อมหลีกออกอยู่ด้วย ๒ วิธี คือ หลีกออกด้วยกาย ๑ หลีกออกด้วยจิต ๑ เธอหลีกออกอยู่อย่างนั้นแล้ว ย่อมระลึกถึง ย่อมตรึกถึงธรรมนั้น
นี่ก็เป็นประโยชน์จากการที่จะได้เห็นสมณะ ซึ่งสำหรับในมงคลข้อที่ว่า การเห็นสมณะนั้นหมายความถึงการเห็น ๒ อย่าง คือ การเห็นด้วยจักษุ ๑ และการเห็นด้วยญาณ คือ การเห็นด้วยปัญญา ๑ แต่ว่าก่อนที่จะเห็นด้วยญาณ ก็จะต้องเห็นด้วยจักษุก่อน เพราะเหตุว่าการเห็นด้วยจักษุนั้นเป็นการเกื้อกูลแก่การเห็นด้วยญาณ เพราะเหตุว่าเมื่อเห็นด้วยจักษุแล้ว ก็เป็นเหตุให้ได้ฟัง เป็นเหตุให้เข้าไปหา เป็นเหตุให้เข้าไปนั่งใกล้ เป็นเหตุให้ระลึกถึง เป็นต้น จนกระทั่งสามารถที่จะประพฤติปฏิบัติตามธรรมได้ ต้องเป็นผู้ที่เข้าใจข้อปฏิบัติ และรู้ว่าบุคคลใดปฏิบัติเช่นนั้น และการเห็นบุคคลนั้นก็เป็นมงคลอย่างสูงสุด เพราะเหตุว่าเป็นเหตุให้ได้ฟังพระธรรม เป็นเหตุให้เข้าไปนั่งใกล้ เป็นเหตุให้ระลึกถึงพระธรรมที่ได้ฟัง และก็น้อมประพฤติปฏิบัติตาม
ข้อความต่อไปมีว่า
การเห็นด้วยจักษุ คือ การเห็นด้วยตา คือการแลดูพระอริยเจ้าทั้งหลายด้วยจักษุอันเลื่อมใส
บางท่านไม่ทราบว่าผู้ใดเป็นพระอริยบุคคล ก็ไม่มีการที่จะมองดูด้วยความเลื่อมใส เพราะฉะนั้นการที่จะมีความเลื่อมใสในพระอริยะได้ หมายความว่าต้องมีความเข้าใจถูกในข้อปฏิบัติ และก็สามารถที่จะรู้ว่า บุคคลใดปฏิบัติอย่างนั้น จึงจะเป็นหนทางที่จะทำให้เป็นพระอริยะ จึงมองดูด้วยความเลื่อมใสได้
แม้การได้ยินด้วยหูว่า มีพระอรหันต์อยู่ในแว่นแคว้น หรือในชนบท ในนิคม ในวิหาร ในถ้ำชื่อโน้น แม้การได้ฟังอย่างนี้ก็มีอุปการะมากเหมือนกัน
แต่ต้องเป็นความจริง ไม่ใช่การตื่นเต้นโดยที่ไม่รู้ว่า บุคคลนั้นเป็นพระอรหันต์จริงหรือไม่ ไม่รู้ข้อปฏิบัติที่ถูกต้องเลย แต่ว่าได้ยินว่ามีพระอรหันต์ ขณะนั้นจะไม่ใช่กุศลจิตที่เลื่อมใส เพราะเหตุว่ายังไม่รู้หนทางที่จะทำให้เป็นพระอริยบุคคล แต่ถ้ารู้หนทาง และก็แม้ด้วยการได้ยินด้วยหูว่า มีพระอรหันต์อยู่ในแว่นแคว้น หรือในชนบท ในนิคม ในวิหาร ในถ้ำชื่อโน้น แม้การได้ฟังอย่างนี้ก็มีอุปการะมากเหมือนกัน เช่น บุคคลที่ได้ยินได้ฟังว่า พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ที่พระวิหารเชตวัน หรือว่าประทับอยู่ที่พระวิหารเวฬุวัน ก็มีโอกาสที่จะได้ไปเฝ้า ได้ฟังธรรม นั่นก็คือ มงคลอย่างสูงสุด
เพราะฉะนั้นการเห็น คือ การเข้าไปหาด้วยจิตเห็นปานนี้ว่า เมื่อรู้ว่ามีพระอริยบุคคลเป็นต้น หรือว่ามีพระอรหันต์อยู่ในที่ใด ผู้นั้นต้องการเห็นเพื่ออะไร เพราะฉะนั้นการเห็น คือ การเข้าไปหาด้วยจิตเห็นปานนี้ว่า จักถวายทาน จักถามปัญหา จักฟังธรรม หรือจักทำสักการะ หรือจักทำกิจ มีการรับใช้ ก็ชื่อว่า เข้าไปนั่งใกล้เหมือนกัน
ไม่ใช่เข้าไปหาเฉยๆ เพียงแต่จะไปดู แต่ว่าจะถวายทาน หรือว่าจะถามปัญหา จะฟังธรรม หรือจะทำการสักการะ หรือจะทำกิจมีการรับใช้ นี่คือประโยชน์ที่จะได้รับ คือ กุศลนานาประการที่จะเกิดจากการเห็นพระอริยเจ้า
ข้อความในมังคลัตทีปนี ข้อ ๔๕๓ มีข้อความว่า
กุลบุตรผู้ใคร่ประโยชน์เกื้อกูล เห็นภิกษุทั้งหลายผู้มีศีล มาถึงประตูเรือนแล้ว ถ้าไทยธรรมมีอยู่พึงต้อนรับด้วยไทยธรรมตามกำลัง ถ้าไม่มี พึงทำเบญจางคประดิษฐ์ไหว้ เมื่อทำเบญจางคประดิษฐ์นั้นไม่สำเร็จ พึงประคองอัญชลีนมัสการ แม้เมื่อประคองอัญชลีนมัสการนั้นไม่สำเร็จ ควรแลดูด้วยจักษุอันเจือด้วยเมตตาอันเลื่อมใส คือ ด้วยจิตอันเลื่อมใส
บางท่านอาจจะไม่ได้ระลึกรู้ว่า ขณะที่ท่านมองบุคคลอื่น หรือเห็นบุคคลอื่น แววตาเป็นอย่างไร ถ้าจิตไม่ประกอบด้วยความเลื่อมใส ตาก็จะไม่ประกอบด้วยแววของความเมตตา เพราะฉะนั้นถ้าได้เห็นผู้ที่มีศีล แม้เมื่อประคองอัญชลีนมัสการนั้นไม่สำเร็จ ควรและดูด้วยจักษุอันเจือด้วยเมตตาอันเลื่อมใส คือ ด้วยจิตอันเลื่อมใส
น่าจะเป็นอย่างนี้ ไม่ว่าจะดูใครหรือเปล่า หรือว่าเว้นก็ดี ถ้าเป็นคนที่ไม่ชอบ นี่เป็นสิ่งซึ่งไม่สมควรเลยจริงๆ พระธรรมทั้งหมดจะเกื้อกูลให้เป็นผู้ที่พิจารณาตนเอง ประโยชน์ คือ พิจารณารู้จักสภาพธรรมที่ปรากฏ เพราะเหตุว่าแต่ละท่านคงจะไม่เห็นแววตาของตัวเอง แต่สามารถจะรู้สภาพของจิตได้ว่า ถ้าจิตขณะนั้นไม่เป็นกุศล การมองนี่ ลักษณะของตา หรือแววตาที่ดูจะเปิดเผยทีเดียวถึงสภาพของจิตในขณะนั้น เพราะฉะนั้นควรจะเป็นผู้มีปกติมีเมตตา และจะทำให้ไม่ว่าจะเห็นใคร ก็ดูด้วยตาอันเจือด้วยความเมตตา หรือว่าด้วยจิตอันเลื่อมใสสำหรับท่านผู้มีศีล
มีท่านผู้หนึ่งท่านเล่าให้ฟังจากการได้ฟังธรรมคราวก่อนเรื่องของการขัดคอ ซึ่งท่านได้ขัดคอไปแล้ว แต่ไม่รู้สึกตัว จนกระทั่งได้ฟังพระธรรมเรื่องขัดคอ ท่านถึงพิจารณาถึงเสียงของท่านในขณะที่ท่านได้กล่าววาจาเช่นนั้น ว่าเป็นการขัดคอจริงๆ
มีบุคคลหนึ่งซึ่งพูดถึงการกระทำของเขาเอง และบุคคลนั้นก็เห็นว่าเป็นสิ่งที่ไม่สมควร เพราะฉะนั้นก็กล่าวด้วยเสียงซึ่งขณะนั้นคงจะไม่รู้สึกตัว แต่เมื่อได้ฟังเรื่องของการขัดคอแล้วก็ระลึกขึ้นได้ในคืนหลังๆจากที่ได้ฟังแล้วว่า เสียงที่พูดนั้น ช่างเป็นเสียงที่กระด้าง และแม้ว่าจะเป็นการกล่าวคำที่ควร เช่นว่า ท่านก็ศึกษาพระวินัยแล้ว ทำไมท่านไม่เกื้อกูลต่อพระวินัย นี่เป็นคำที่ท่านผู้นั้นกล่าว แต่ว่าเมื่อระลึกถึงจิตในขณะนั้น ท่านก็รู้ได้ว่า เสียงในขณะนั้นต้องเป็นเสียงที่กระด้าง เพราะเหตุว่าขณะนั้นไม่ใช่จิตที่เมตตา และก็เป็นการขัดคอการกระทำของบุคคลนั้นทันทีที่ได้เล่าถึงการกระทำของบุคคลนั้น
เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่า เวลาที่สติเกิด เมื่อระลึกถึงเหตุการณ์หนึ่งเหตุการณ์ใดที่เกิดขึ้น ย่อมเห็นความถูกและความผิด แต่ถ้าเป็นวิตกเจตสิกที่เพียงตรึกนึกถึงเรื่องนั้น ด้วยอกุศลจิต จะไม่รู้เลยว่า ขณะนั้นจะเป็นสิ่งที่ไม่ควร และสภาพของจิตที่ได้กล่าวคำขัดคอนั้นเป็นจิตที่เป็นอกุศล นั่นคือวิตกเจตสิก คือ นึกถึงเรื่องต่างๆด้วยความโกรธบ้าง ด้วยความพอใจบ้าง แต่ถ้าตรึกด้วยสติสามารถที่จะย้อนพิจารณาการกระทำของตนเอง และก็สามารถที่จะรู้ได้ว่า ขณะนั้นเป็นอกุศล ซึ่งถ้ารู้อย่างนี้ ต่อไปก็จะไม่มีการขัดคอด้วยอกุศลจิตอีก แต่ว่าจะเป็นการเตือนด้วยเมตตาจิต ด้วยเสียงซึ่งประกอบด้วยเมตตา และก็ด้วยแววตาที่ประกอบด้วยเมตตาด้วย
เพราะฉะนั้นการฟังพระธรรมโดยละเอียด และพิจารณาสภาพจิตของตนเอง ก็จะทำให้เห็นโทษของอกุศล และจะเป็นผู้ที่อ่อนโยน ไม่กระด้างด้วยความโกรธ
ข้อความในมังคลัตทีปนี ข้อ ๔๕๙ มีข้อความว่า
ก็เพราะบุญแม้มีการเห็นอย่างนี้ ก็เป็นมูลเหตุ คือ การที่เพียงจะมองดูด้วยตาที่เมตตา โรคก็ดี โทษก็ดี ความฝ้าฟางก็ดี ต้อก็ดี ย่อมไม่มีในนัยน์ตาตลอดพันชาติเป็นอเนก นัยน์ตาย่อมเป็นธรรมชาติผ่องใส บุคคลย่อมเป็นผู้ได้สมบัติทุกชนิดในเทพยดาและในมนุษย์ตลอดกาลประมาณแสนกัป ก็ข้อที่บุคคลเป็นมนุษย์ มีชาติแห่งความเป็นคนมีปัญญา พึงเสวยวิบากสมบัติเห็นปานนี้ เพราะบุญซึ่งสำเร็จด้วยการเห็นสมณะอันตนให้เป็นไปแล้วโดยชอบ คือ ด้วยจิตที่ประกอบด้วยเมตตาในขณะที่มองดู แม้สัตว์ดิรัจฉานผู้ได้บำเพ็ญบารมีมาแล้ว เพื่อที่จะได้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าก็ยังมีจิตเลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคด้วยความคุ้นเคยในพระพุทธศาสนามาก่อน
ข้อความที่เป็นตัวอย่างในอรรถกถามัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ จูฬสีหนาทสูตร ข้อ ๑๕๓ มีว่า
ได้ยินว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในถ้ำอินทศาล ณ เวทิสสกบรรพต ครั้งนั้นนกฮูกตัวหนึ่ง ครั้นเมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปสู่บ้านเพื่อบิณฑบาต ก็บินตามได้ครึ่งทาง ครั้นพระผู้มีพระภาคเสด็จกลับมา ก็บินออกไปต้อนรับครึ่งทาง
ในวันหนึ่ง นกฮูกนั้นลงจากภูเขาไหว้พระผู้มีพระภาคซึ่งมีพระภิกษุสงฆ์แวดล้อมประทับนั่งในเวลาเย็น โดยป้องปีกประคองอัญชลีทำศีรษะให้ต่ำลง ยืนนมัสการพระผู้มีพระภาคอยู่ พระผู้มีพระภาคทรงแลดูนกฮูกนั้นแล้ว ทรงกระทำการยิ้มแย้ม
ท่านพระอานนท์เถระทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอแล เป็นปัจจัย อะไรหนอแล เป็นเหตุ อะไรเป็นปัจจัยแห่งการทรงยิ้มแย้มให้ปรากฏ”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดูกรอานนท์ เธอจงดูนกฮูกนี้ นกฮูกนี้ยังจิตให้เลื่อมใสในเราและในพระภิกษุสงฆ์ แล้วท่องเที่ยวในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายตลอดแสนกัปป์ จักเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้านามว่าโสมนัส”
ซึ่งแม้ว่าจะเป็นสัตว์ดิรัจฉานในกำเนิดของนกฮูก แต่ว่าเป็นผู้ที่ได้บำเพ็ญบารมีมาแล้วเพื่อที่จะได้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า เพราะฉะนั้นก็มีจิตเลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคได้ด้วยความคุ้นเคยในพระพุทธศาสนามาก่อน เพราะฉะนั้นท่านผู้ฟังจะเป็นอย่างนกฮูกได้ไหม หรือว่านกฮูกเก่งกว่า
นี่ก็เป็นเรื่องที่น่าคิด เพราะเหตุว่าการกระทำกุศลทีละเล็กทีละน้อย แม้แต่การที่จะเป็นผู้มีจิตอ่อนโยน เป็นผู้ว่าง่าย เริ่มต้นไป ค่อยๆเป็นไปทีละเล็กทีละน้อย ก็จะเป็นการคุ้นเคยในการที่จะประพฤติปฏิบัติตามพระธรรม เมื่อได้ฟังพระธรรมโอวาทหรือคำพร่ำสอน แล้วก็จะเป็นผู้ที่มีเมตตา แม้ว่าจะไปเกิดในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ก็ยังสามารถที่จะมีจิตอ่อนโยนได้ เป็นผู้ที่มีจิตเลื่อมใสในบุคคลที่ควรเลื่อมใส ด้วยความที่เคยคุ้นเคยมาแล้วในพระศาสนา สิ่งที่เป็นมงคลก็เป็นมงคลจริงๆ
ผู้ถาม การเห็นสมณะ ในมงคลทีปนี ท่านจำแนกไว้หรือเปล่าว่า หมายถึงการเห็นพระอริยะ
สุ. การเห็น ๒ อย่าง คือ การเห็นด้วยตาและการเห็นด้วยปัญญา เพราะเหตุว่าถ้าไม่มีปัญญาแล้วไม่สามารถจะรู้ได้เลยว่า ใครจะเป็นพระอริยะหรือไม่เป็น
ผู้ถาม อย่างในปัจจุบันนี้ เราไปวัดก็ดี หรือว่าเห็นพระมาบิณฑบาตก็ดี จะจัดว่าเป็นการเห็นสมณะได้หรือเปล่า
สุ. ถ้าไม่มีปัญญา จะทราบได้ไหมว่า ท่านเป็นผู้สงบ หรือไม่เป็นผู้สงบ แต่ท่านเป็นผู้มีศีลในขณะนั้น
ผู้ถาม เพราะฉะนั้นเราคนธรรมดาก็ไม่สามารถตัดสินได้ว่า ขณะที่เราเห็นพระมาบิณฑบาตก็ดี หรือตามวัดก็ดี ก็ไม่สามารถรู้ได้ว่าเป็นผู้ทรงศีลหรือไม่ แต่ว่าที่จะเป็นกุศลแน่ๆก็คือ จะไม่ไปเพ่งโทษของท่านว่าท่านจะบริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์ สมมติว่าจะใส่บาตร ก็ไม่ได้คิดว่า พระวัดนี้ไม่อยากใส่ เพราะเห็นปฏิปทาไม่น่าเลื่อมใส ถ้าคิดแล้วจะไม่ทำ ก็ตั้งใจว่า เราทำบุญเป็นการเสียสละ เมื่อใส่บาตรแล้วท่านจะไปแจกให้ใครก็เป็นเรื่องของท่าน เรื่องนี้ผมก็บอกที่บ้านเป็นประจำ เขาบอกว่าไม่ค่อยจะศรัทธา พระท่านเอาไปแล้วท่านไม่ฉันหรอก อาหารเหลือเฟือเหลือเกิน อาหารที่เหลือทิ้งเกลื่อนกลาด ไม่เป็นประโยชน์อะไร กระผมก็บอกว่า อย่าไปเพ่งอย่างนั้น ต้องนึกถึงว่าเราเสียสละ เมื่อเราบริจาคเป็นการสละความตระหนี่ที่เราเคยมี เคยเป็นอยู่ให้ออกไป ก็ถือว่าเราได้บุญได้กุศลแล้ว การเพ่งโทษผู้อื่น แทนที่จะได้บุญกุศล กลับได้อกุศลเพิ่มขึ้น การคิดอย่างนี้จะจัดอยู่ในข้อ “การเห็นสมณะเป็นมงคล” ได้หรือเปล่า
สุ. วันหนึ่งๆ จิตเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล เพราะเหตุใด ควรที่จะพิจารณา เพราะว่าโดยมากแล้วเป็นอกุศลเวลาที่เห็นบุคคลอื่น หรือว่าพิจารณาบุคคลอื่น เพราะฉะนั้นถ้าเห็นพระภิกษุ แล้วก็พิจารณาถึงปฏิปทาหรือวัตรข้อปฏิบัติของท่าน ขณะนั้นลองพิจารณาดูใจว่า เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล สำคัญอยู่ที่จิตของตนเอง ถ้าพิจารณาแล้วเป็นกุศล ก็ควรพิจารณา แต่ถ้าพิจารณาแล้วเป็นอกุศล ก็ควรพิจารณาถึงจิตที่คิดถึงคนอื่นแล้วเป็นอกุศล
ผู้ถาม เมื่อแรกผมก็สงสัยเหมือนกันว่า พระในปัจจุบันนี้จะเป็นสมณะหรือไม่ ผมจึงตั้งคำถามไว้เมื่ออาทิตย์ที่แล้ว เมื่อได้ฟังอาจารย์บรรยายก็เข้าใจว่า สมณะนั้นคือพระอริยบุคคล ใช่หรือเปล่า
สุ. สมณะ หมายความถึงผู้สงบ
ผู้ถาม เป็นความหมายก่อน แต่ทีนี้เรามาเรียกพระปัจจุบันว่า สมณะ เลยสงสัยว่าเราเรียกกันมาเมื่อไร ก็อยากจะทราบว่าในสมัยพุทธกาล ที่ท่านเรียกพระภิกษุที่ยังไม่บรรลุพระอริยบุคคลว่า สมณะ หรือเปล่า มีปรากฏในพระไตรปิฎกหรือเปล่า สมณะปัจจุบันก็หมายถึงพระห่มจีวรปัจจุบันนี้
สุ. ถ้าเป็นผู้ที่ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัย ก็เป็นผู้ที่อบรมข้อประพฤติปฏิบัติที่จะเป็นผู้สงบ เพราะฉะนั้นขึ้นอยู่กับว่า เป็นผู้ที่ประพฤติปฏิบัติตามพระวินัย ตามพระธรรมวินัยหรือเปล่า ถ้าไม่ใช่ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติตามพระวินัย ก็เป็นโมฆบุรุษ แม้ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน พระภิกษุที่ไม่ได้ประพฤติปฏิบัติตามพระวินัย ตามพระธรรมวินัย พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกว่า โมฆบุรุษ
ผู้ถาม เมื่อวานนี้ก็ได้มีการสนทนาธรรมกันว่า คาวุต ผมไปค้นในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้ให้ความหมายไว้ว่า เป็นมาตราวัดความยาวโบราณ มีระยะทางเท่ากับ ๑๐๐ เส้น ซึ่งตรงกับพจนานุกรมของท่านมหาประยุตต์ ปยุตโต ได้อธิบายคำว่า คาวุต ไว้ตรงกัน ระยะทาง ๑๐๐ เส้นเหมือนกัน ซึ่งเท่ากับ ๔ กิโลเมตร ไม่ใช่น้อยๆ เพราะฉะนั้นจากพจนานุกรมทั้ง ๒ ฉบับที่ผมกล่าวถึงแล้ว ก็เข้าใจว่าคงจะไม่คลาดเคลื่อนแน่
สุ. ก็ขอขอบพระคุณและอนุโมทนาสำหรับท่านที่สนใจในเรื่องของระยะทาง และในเรื่องของความละเอียดของคำในภาษาบาลี
ก่อนที่จะถึงโสภณเจตสิกดวงต่อไป คือ ตัตตรมัชฌัตตตาเจตสิก ก็ขอกล่าวถึงโทษของโทสเจตสิก เพื่อที่ว่า เมื่อได้เห็นโทษของโทสะแล้ว ก็ย่อมจะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้อโทส เจตสิกเกิดได้ เพราะว่าส่วนมากจริงๆ โทษของโทสเจตสิกจะรู้ในขณะที่โทสะไม่เกิด แต่เวลาที่โทสะกำลังเกิดอยู่ ย่อมไม่เห็นโทษของโทสะในขณะนั้น
เพราะฉะนั้นถ้าเป็นผู้ที่ละเอียดจริงๆ และก็พิจารณาเห็นโทษของโทสะ แม้ในขณะที่กำลังขุ่นเคืองใจ อโทสเจตสิกก็เกิดได้ เพราะพิจารณาเห็นโทษของโทสะในขณะนั้น ซึ่งในวันหนึ่งๆ ทุกคนมักจะคิดถึงเรื่องสุขภาพของร่างกาย และเห็นโทษภัยของความเจ็บไข้ได้ป่วยต่างๆ และมีความปรารถนาที่จะหายจากโรคภัยไข้เจ็บ ถึงแม้ว่าจะมีเงินทองทรัพย์สมบัติมากมาย แต่ท่านที่มีโรคภัยไข้เจ็บจนกระทั่งไม่สามารถที่จะมีความสุขได้จากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ก็ย่อมจะเห็นจริงๆว่า ถ้าเพียงปราศจากโรค ก็จะมีความสุขความสบาย ความสะดวกความสบายมากทีเดียว แต่ในขณะที่ยังไม่เป็นโรค ก็ลืมว่า แท้ที่จริงแล้วลาภอันประเสริฐก็คือความไม่มีโรค ซึ่งสามารถที่จะลุกนั่ง เดินเหินทำกิจการงานต่างๆได้ แต่แม้กระนั้นโรคทางกายก็ยังสามารถที่จะรักษาให้หายได้ มีนายแพทย์ มียาที่พอจะรักษาได้ โดยที่ทุกคนลืมคิดว่า โรคที่สำคัญกว่าโรคทางกาย ก็คือโรคทางใจ ซึ่งทุกคนอาจจะไม่ได้สำรวจ ไม่ได้พิจารณาเลยว่า โรคทางใจของแต่ละท่านมีอะไรบ้าง มีโรคอะไรบ้างทางใจ เมื่อไม่ได้สังเกต ไม่ได้สำรวจ ไม่ได้พิจารณาก็ย่อมจะไม่ได้เห็นโทษของโรคทางใจนั้น และเมื่อโรคทางใจเป็นโรคที่เห็นยาก เพราะไม่ได้พิจารณา เพราะฉะนั้นการที่จะรักษาโรคทางใจ ก็จะต้องรักษายากกว่าโรคทางกาย และจะต้องใช้เวลานานในการที่จะเจริญอบรมกุศล ซึ่งเป็นยาที่จะรักษาอกุศล ซึ่งเป็นโรคทางใจ ซึ่งถ้าผู้ใดพิจารณาเห็นอกุศลธรรมที่ตนมีตามความเป็นจริง แล้วก็รีบแก้ไข คือ พิจารณาเห็นโทษ ก็คงจะดีกว่าการที่จะปล่อยให้โรคนั้นกำเริบหรือว่าทรุดหนัก จนกระทั่งถึงกับเป็นอัมพาตทางใจ คือ ไม่ยอมที่จะขัดเกลากิเลสเลย ถ้าอกุศลมากมายเพิ่มพูนเหนียวแน่นถึงอย่างนั้น ก็จะเห็นโทษในขณะนั้น ซึ่งเป็นผู้ที่ไม่ยอมแม้แต่คิดที่จะขัดเกลากิเลส
ข้อความในอรรถสาลินี จิตตุปาทกัณฑ์ อธิบายอโทสะ สภาพที่ไม่โกรธ มีข้อความว่า
ที่ชื่อว่า อโทสะ โดยที่ไม่ประทุษร้าย ที่ชื่อว่า อโทสะ เพราะไม่ก่อร้าย อาการที่ไม่ประทุษร้าย ชื่อว่า อทุสสนา ภาวะแห่งบุคคลผู้ไม่ประทุษร้าย ชื่อว่า อทุสสิตัตตะ สภาวะที่ชื่อว่า อัพยาบาท เพราะไม่ปองร้ายโดยเป็นปฏิปักษ์ต่อพยาบาท ที่ชื่อว่า อัพยาปัชฌะ เพราะไม่เบียดเบียน โดยเป็นปฏิปักษ์ต่อทุกข์อันเกิดแต่ความโกรธ
นอกจากนั้น กุศลมูล คือ อโทสะ ชื่อว่า เป็นราก เหง้าแห่งกุศล
นี่ก็เป็นลักษณะอาการของอโทสะ ซึ่งจะเห็นได้ว่าตรงข้ามกับอาการของโทสะ อโทสะแล้วไม่ประทุษร้าย ไม่ก่อร้าย ไม่พยาบาท เพราะเหตุว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อพยาบาท และก็ไม่เบียดเบียน เป็นปฏิปักษ์ต่อทุกข์อันเกิดจากความโกรธ
- โสภณธรรม ครั้งที่ 001
- โสภณธรรม ครั้งที่ 002
- โสภณธรรม ครั้งที่ 003
- โสภณธรรม ครั้งที่ 004
- โสภณธรรม ครั้งที่ 005
- โสภณธรรม ครั้งที่ 006
- โสภณธรรม ครั้งที่ 007
- โสภณธรรม ครั้งที่ 008
- โสภณธรรม ครั้งที่ 009
- โสภณธรรม ครั้งที่ 010
- โสภณธรรม ครั้งที่ 011
- โสภณธรรม ครั้งที่ 012
- โสภณธรรม ครั้งที่ 013
- โสภณธรรม ครั้งที่ 014
- โสภณธรรม ครั้งที่ 015
- โสภณธรรม ครั้งที่ 016
- โสภณธรรม ครั้งที่ 017
- โสภณธรรม ครั้งที่ 018
- โสภณธรรม ครั้งที่ 019
- โสภณธรรม ครั้งที่ 020
- โสภณธรรม ครั้งที่ 021
- โสภณธรรม ครั้งที่ 022
- โสภณธรรม ครั้งที่ 023
- โสภณธรรม ครั้งที่ 024
- โสภณธรรม ครั้งที่ 025
- โสภณธรรม ครั้งที่ 026
- โสภณธรรม ครั้งที่ 027
- โสภณธรรม ครั้งที่ 028
- โสภณธรรม ครั้งที่ 029
- โสภณธรรม ครั้งที่ 030
- โสภณธรรม ครั้งที่ 031
- โสภณธรรม ครั้งที่ 032
- โสภณธรรม ครั้งที่ 033
- โสภณธรรม ครั้งที่ 034
- โสภณธรรม ครั้งที่ 035
- โสภณธรรม ครั้งที่ 036
- โสภณธรรม ครั้งที่ 037
- โสภณธรรม ครั้งที่ 038
- โสภณธรรม ครั้งที่ 039
- โสภณธรรม ครั้งที่ 040
- โสภณธรรม ครั้งที่ 041
- โสภณธรรม ครั้งที่ 042
- โสภณธรรม ครั้งที่ 043
- โสภณธรรม ครั้งที่ 044
- โสภณธรรม ครั้งที่ 045
- โสภณธรรม ครั้งที่ 046
- โสภณธรรม ครั้งที่ 047
- โสภณธรรม ครั้งที่ 048
- โสภณธรรม ครั้งที่ 049
- โสภณธรรม ครั้งที่ 050