โสภณธรรม ครั้งที่ 005
ตอนที่ ๕
เพราะเหตุว่าถ้าพิจารณาจริงๆ แล้วทำไมจึงทำอย่างนั้น เพื่อประโยชน์อะไร ถ้าไม่ใช่เพื่อให้คนอื่นเกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง โดยที่ไม่ได้หวังสิ่งใด แม้แต่ที่จะคิดว่า เพื่อที่จะได้บรรลุมรรคผลนิพพาน แต่การไม่หวังนั่นแหละ คือ การที่แสดงว่า ต้องการที่จะดับกิเลส โดยที่ว่าไม่จำเป็นที่จะต้องคิดขึ้นมาเป็นคำ ว่าการกระทำอย่างนี้ เพื่อที่จะได้ดับกิเลส หรือว่าบรรลุมรรคผลนิพพาน
เพราะเหตุว่าถ้าพิจารณาถึงบางท่าน ซึ่งอาจจะมีศรัทธาและพูดว่าต้องการที่จะดับกิเลส แต่ว่าไม่ขวนขวาย ไม่กระทำสิ่งใดที่จะเกื้อกูลต่อการที่จะเจริญปัญญาที่จะดับกิเลส อันนั้นก็ย่อมจะแสดงให้เห็นว่า ศรัทธายังไม่เท่ากับการที่จะทำประโยชน์ต่อผู้อื่น ในการที่จะให้เขาเข้าใจในพระธรรม แม้ว่าจะไม่เอ่ยว่า เพื่อการที่จะได้ดับกิเลส หรือรู้แจ้งอริยสัจจธรรม
ซึ่งก็ขอถือโอกาสอนุโมทนาทุกๆ ท่าน ที่ร่วมกันดำเนินงานเผยแพร่พระธรรมทางวิทยุ ทั้งท่านที่ได้บริจาคปัจจัยเป็นค่าเช่าสถานี ท่านที่ได้พยายามหาสถานีวิทยุ เพื่อที่จะให้ผู้ฟังได้เกิดปัญญา ความเข้าใจพระธรรมยิ่งขึ้น ท่านที่บริจาคปัจจัยเพื่อการพิมพ์หนังสือธรรมเป็นธรรมบรรณาการ ซึ่งงานทุกอย่างนี้ จะเห็นศรัทธาได้ ถ้าไม่ได้ยินได้ฟังก็อาจจะไม่ได้ทราบว่า ต้องมีศรัทธาทุกย่างก้าว หรือว่าทุกการเคลื่อนไหวในการที่จะติดต่อหาสถานี ในการที่จะจัดทำเทปออกอากาศเป็นจำนวนมากทีเดียว เพราะว่าไม่ใช่เพียงสถานีเดียว ต้องมีศรัทธาในการติดต่อ ในการส่งเทป ในการรับเทป ในการตรวจสอบเทป เพราะฉะนั้น ทุกอย่างที่ได้ฟัง ได้เห็น ก็จะทำให้ท่านได้อนุโมทนาในกุศลศรัทธาของทุกๆ ท่าน ที่ร่วมกันในการเผยแพร่พระธรรม และก็ในการจัดตั้งกลุ่มสนทนาธรรม
ซึ่งทุกท่านก็เริ่มที่จะเห็นศรัทธาของท่านเองและก็บุคคลอื่น ซึ่งจะต้องอบรมเจริญไป จนกว่าจะถึงวันหนึ่งที่รู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลย แต่เป็นเรื่องที่จะต้องมีชีวิตอยู่ไปวันหนึ่งๆ ด้วยการพิจารณาจิตใจ แล้วก็ให้กุศลเจริญขึ้น
ผู้ฟัง ศรัทธากับฉันทะนี้ใกล้กันมาก
ท่านอาจารย์ ฉันทะเป็นสภาพที่พอใจที่จะกระทำ
ผู้ฟัง เป็นกุศลล้วนหรือเปล่า
ท่านอาจารย์ ฉันทะเป็นปกิณณกเจตสิก เกิดได้กับทั้งกุศลจิตและอกุศลจิต
ผู้ฟัง เป็นได้ทั้งสองอย่าง
ท่านอาจารย์ แต่ศรัทธาเป็นอกุศลไม่ได้
ผู้ฟัง แต่ที่อาจารย์ว่าทำโน่นทำนี่ด้วยความศรัทธา ผมมาพิจารณาดูแล้วมันเฉียดๆ กับฉันทะอยู่เสมอ
ท่านอาจารย์ ในขณะที่กุศลจิตเกิด มีทั้งศรัทธาและมีทั้งฉันทะ ในขณะที่อกุศลจิตเกิดก็มีทั้งฉันทะและมีทั้งอกุศล แต่ว่าศรัทธาจะไม่เกิดกับอกุศลจิตเลย
ผู้ฟัง ทีนี้ศรัทธาบางทีไม่พอ แรงยังไม่พอ มันต้องบวกกับฉันทะ ถ้าไม่มีฉันทะแล้วไม่ทำ ถ้ามีฉันทะด้วยแล้วรู้สึกจะทำ
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคได้ทรงจำแนกธรรมออกเป็นหลายหมวด และก็บางแห่งก็ได้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของวิริยะด้วย แต่ว่าลักษณะของศรัทธา เป็นลักษณะที่เห็นได้ชัดว่า ทำให้ใจผ่องใสจากอกุศล ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบให้เห็นความต่างกันของอกุศลจิตและกุศลจิต เพราะเหตุว่าเวลาที่มีความเชื่อในอกุศล ในความเห็นผิด ดูเสมือนว่าเป็นศรัทธา แต่ความจริงไม่ใช่ เพราะว่าขณะนั้นไม่ใช่สภาพของจิตที่ใสสะอาดปราศจากอกุศล ในขณะนั้นเป็นโลภมูลจิต ทิฏฐิคตสัมปยุตต์
สำหรับการที่จะมีศรัทธาที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ ก็ต้องเริ่มจากศรัทธาในชีวิตประจำวัน ในการฟังพระธรรม ในการที่จะละกิเลสหรือว่าบรรเทากิเลส เพิ่มศรัทธายิ่งๆ ขึ้น ซึ่งจะต้องสะสมไป จนกระทั่งถึงศรัทธา
ที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ถ้ามิฉะนั้นแล้วปัญญาก็เจริญไม่ได้
เพราะฉะนั้น ในขณะนี้เองที่กำลังเห็น รู้ได้ว่าศรัทธาเกิดไหม เมื่อไร เมื่อมีการระลึก ศึกษา สังเกตลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตาขณะใด ขณะนั้นก็มีศรัทธาจึงระลึก ศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะเหตุว่าโดยขั้นของการฟังพระธรรม ทุกคนเชื่อในขณะนี้ว่า สภาพธรรมในขณะนี้กำลังเกิดดับโดยเหตุผลที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงลักษณะของสภาพธรรมไว้โดยละเอียด ก็รู้ว่าทางตาต้องดับ ในขณะที่กำลังได้ยิน เป็นสภาพของจิตที่รู้เฉพาะเสียง ในขณะนั้นจะมีการเห็นด้วยไม่ได้
นี่เป็นความเชื่อด้วยศรัทธา เมื่อมีความเชื่อมั่นอย่างนี้จริงๆ ก็มีหนทางที่จะทำให้ได้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม โดยระลึกลักษณะของการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส การคิดนึก ขณะใด นั่นก็เป็นผู้ที่มีศรัทธาในขณะนั้น ซึ่งก็จะต้องมีศรัทธาต่อไปอีก อย่าให้ศรัทธานั้นหยุดเสีย เพราะเหตุว่าถ้าจับด้ามมีดแล้วก็หยุดจับ ด้ามมีดนั้นก็สึกไม่ได้ ฉันใด การที่จะมีศรัทธาพร้อมสติที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรมนี้ ก็จะต้องระลึกลักษณะของสภาพธรรมต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าจะประจักษ์แจ้งในการเกิดดับของสภาพธรรมที่กำลังเกิดดับในขณะนี้ แต่ว่าสภาพธรรมทั้งหลายก็เป็นอนัตตา
เพราะฉะนั้น อาศัยการฟังพระธรรม จะทำให้สติเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรม เพราะเห็นประโยชน์ ข้อความในอังคุตตรนิกาย ติกนิบาตร ฐานสูตร แสดงลักษณะของผู้มีศรัทธา ๓ สถาน คือ เป็นผู้ใคร่ในการเห็นผู้มีศีลทั้งหลาย ๑ เป็นผู้ใคร่เพื่อจะฟังธรรม ๑ มีใจปราศจากมลทิน คือความตระหนี่ อยู่ครองเรือน ๑
ข้อความในอรรถกถาฐานสูตรมีว่า
เล่ากันมาว่า ใกล้ประตูพระนครปาฏลีบุตร มีพราหมณ์ ๒ คน ได้ทราบเกียรติคุณของพระมหานาคเถระผู้อยู่ในกาฬวัลลิมณฑป (ที่เกาะลังกา ตัวท่านเองอยู่ที่ประเทศอินเดีย ที่ใกล้ประตูพระนครปาฏลีบุตร) ท่านคิดกันว่า เรา ๒ คนควรจะไปหาภิกษุนั้น ดังนี้ ทั้งสองคนจึงออกจากพระนครเดินทางไป คนหนึ่งสิ้นชีวิตในระหว่างทาง คนหนึ่งไปถึงฝั่งทะเล ลงเรือที่ท่ามหาดิตถ์มายังอนุราธปุระ ถามว่า กาฬวัลลิมณฑปอยู่ที่ไหน ก็ได้รับคำตอบว่า ที่โรหณชนบท เขาไปถึงที่อยู่ของพระเถระ พักในเรือนประกอบธุรกิจใกล้จุลลนครคาม ได้ปรุงอาหารเพื่อถวายพระเถระ ถามถึงที่อยู่ของพระเถระ เพื่อจะได้นมัสการท่านแต่เช้าๆ แล้วไปยืนอยู่ท้ายประชาชน เห็นพระเถระเดินมาแต่ไกลทีเดียว เขายืนอยู่ตรงนั้นแหละครู่หนึ่ง ไหว้แล้วเดินเข้าไปหาอีก จับข้อเท้า (ของพระเถระ) ไว้แน่น แล้วกราบเรียนว่า พระคุณเจ้าสูงมากขอรับ
ก็พระเถระนั้นไม่สูงเกินไป ไม่ต่ำเกินไป พอได้ขนาดเท่านั้น ด้วยเหตุนั้น เขาจึงกราบเรียนท่านอีกว่า พระคุณเจ้าไม่ได้สูงเกินหรอก แต่คุณความดีของพระคุณเจ้า แผ่ไปตามน้ำทะเลสีคราม ท่วมท้นถึงพื้นชมพูทวีปทั้งหมด แม้กระผมนั่งอยู่ใกล้ประตูพระนครปาฏลีบุตร ก็ได้ยินเกียรติคุณของพระคุณเจ้า เขาได้ถวายภิกษาหารแด่พระเถระ มอบไตรจีวรของตนบวชในสำนักของพระเถระ ดำรงอยู่ในโอวาทของท่านแล้ว ได้บรรลุอรหัตตผลโดย ๒-๓ วันเท่านั้น
นี่คือศรัทธาที่จะได้เห็นผู้มีศีล เป็นผู้ใคร่ในการเห็นผู้มีศีล เป็นผู้ใคร่เพื่อที่จะฟังพระธรรม เดินทางจากพระนครปาฏลีบุตร ทางเหนือของอินเดียไปทางใต้ แล้วก็ลงเรือ แล้วก็เดินทางต่อไปโรหณชนบททางใต้ของลังกา เพื่อไปนมัสการและมีศรัทธาที่จะปรุงอาหารถวาย เพื่อบูชาคุณความดีของผู้ที่ทรงคุณความดี ซึ่งก็เป็นศรัทธาของผู้ที่จะได้บรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันต์
สมัยโน้นต้องเดินทางไกลมาก เพื่อที่จะได้ฟังพระธรรม นี่คือศรัทธาที่จะได้เห็นผู้มีศีล เป็นผู้ใคร่ในการเห็นผู้มีศีล เป็นผู้ใคร่เพื่อที่จะฟังพระธรรม เดินทางจากพระนครปาฏลีบุตร ทางเหนือของอินเดียไปทางใต้ แล้วก็ลงเรือ แล้วก็เดินทางต่อไปโรหณชนบททางใต้ของลังกา เพื่อไปนมัสการและมีศรัทธาที่จะปรุงอาหารถวาย เพื่อบูชาคุณความดีของผู้ที่ทรงคุณความดี ซึ่งก็เป็นศรัทธาของผู้ที่จะได้บรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันต์
สมัยโน้นต้องเดินทางไกลมาก เพื่อที่จะได้ฟังพระธรรม
อีกเรื่องหนึ่ง เป็นเรื่องของหญิงชาวบ้านกาฬุมพระผู้หนึ่ง ซึ่งมีศรัทธาในการฟังพระธรรมอย่างยากที่ใครจะมีได้
หญิงนั้นอุ้มลูกไปยังจิตตลบรรพตด้วยคิดว่า จักฟังพระธรรม ให้ลูกนอนพิงต้นไม้ต้นหนึ่ง ตนเองยืนฟังพระธรรมในระหว่างกลางคืน งูตัวหนึ่งกัดลูกที่นอนอยู่ใกล้ๆ ทั้งๆ ที่นางดูอยู่เข้าสี่เขี้ยว แล้วหนีไป
นางคิดว่า ถ้าเราจักบอกว่า ลูกของเราถูกงูกัด ก็จักเป็นอันตรายแก่การฟังพระธรรม นางคิดว่าเมื่อเรายังเวียนว่ายอยู่ในสังสารวัฏฏ์ เด็กคนนี้ได้เป็นลูกของเรามาหลายครั้งแล้ว เราจักประพฤติธรรมเท่านั้น แล้วยืนอยู่ตลอดทั้ง ๓ ยาม ประคองธรรมไว้ ได้บรรลุโสดาปัตติผล เมื่ออรุณขึ้นแล้ว ทำลายพิษงูในบุตรด้วยสัจจกิริยา แล้วอุ้มบุตรไป คนเห็นปานนี้ ย่อมชื่อว่า เป็นผู้ใคร่การฟังธรรม
นี่เป็นเรื่องในอดีตของพระโสดาบันท่านหนึ่ง
ผู้ฟัง เป็นผู้ใคร่จะฟังพระธรรม ผมว่าตรงกับอัธยาศัยของผม มีคำว่า ฟัง เพราะผมชอบฟัง ทีนี้ผมดูองค์ของศรัทธาที่จะทำให้ศรัทธาเกิด ก็คล้ายๆ กับองค์ที่จะทำให้กุศลจิตเกิด คบสัตบุรุษ ฟังธรรมของสัตบุรุษ ตั้งตนไว้ชอบ อยู่ในประเทศที่สมควรใช่ไหมรู้สึกจะคล้ายๆ กัน
ท่านอาจารย์ ก็มีหลายอย่าง เช่น เป็นผู้ที่ตั้งใจไว้ว่าจะทำกุศล ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้กุศลจิตเกิด หรือว่าเวลาที่อกุศลจิตเกิด แล้วระลึกได้ แล้วก็เห็นว่าเป็นโทษ ขณะนั้นก็ทำให้กุศลจิตเกิดแทนอกุศลได้ หรือว่าการสะสมก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้กุศลจิตเกิดได้ การที่เคยทำกุศลอย่างนั้นบ่อยๆ
ผู้ฟัง การใคร่เป็นผู้ฟังธรรมนี้ สำหรับในประเทศไทยนี้ ผมว่ามันยากเหลือเกิน ผมมานึกถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านมีกิจของท่านอยู่ข้อหนึ่งว่า สายณฺเห ธมฺมเทสนํ เราแน่นอนเลย ทุกเย็นเราจะไปฟังธรรมได้แน่ ถ้าเกิดในสมัยนั้นแล้ว จะมีความอิ่มเอิบแล้วมีความปีติจริงๆ เย็นเราได้ไปฟังธรรมแน่นอนเลย เดี๋ยวนี้จะได้ฟังธรรมอย่างนั้นแน่นอน มันก็ไม่ค่อยแน่นอน แล้วก็อีกประการหนึ่ง การฟังจากวิทยุนี้ กับถ้าสมมติว่าเราได้มีภาพอย่างสมัยพุทธกาล เย็นทุ่มหนึ่ง ผมไปฟังธรรมนี้ ผมว่าผมมีศรัทธาที่จะไปได้ปีละ ๓๖๕ วัน เว้นแต่จะป่วยเจ็บเท่านั้นเอง ถ้าพระพุทธเจ้ายังอยู่ ยังมี สายณฺเห ธมฺสเทสนํ อย่างเวลานี้แม้กระทั่งอาจารย์อยู่แค่ ซอย ๗๑ นี่ นึกๆ จะไป ก็ยังๆ มีอะไรๆ ที่ยังไปไม่ได้ ทั้งๆ ที่ตัวเองมีศรัทธาอยากจะฟังพระธรรมจริงๆ และเป็นพระธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วย แต่ถ้าเป็นธรรมของคนอื่น ก็คงจะไม่มีศรัทธาเหมือนกัน
ท่านอาจารย์ นี่เป็นขณะนี้ ซึ่งไม่มีพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว เพราะฉะนั้น ถ้าจะย้อนกลับไปสมัยหนึ่ง ซึ่งพระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน ไม่มีใครจะสามารถรู้ได้ว่า ศรัทธาของท่านจะเหมือนอย่างที่กล่าวไว้หรือเปล่า เพราะเหตุว่าทุกท่านนี้มีภารกิจมากในฐานะที่เป็นคฤหัสถ์
ผู้ฟัง ถ้ามีพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผมคิดว่าคงจะวางๆ หมด
ท่านอาจารย์ นั่นเป็นความคิดในขณะที่ไม่มีพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ถ้าจะคิดในมุมกลับ พระไตรปิฎกอยู่ที่บ้าน จะฟังธรรมที่พระวิหารเชตวัน ที่พระวิหารนิโครธาราม หรือที่พระวิหารเวฬุวัน ที่พระวิหารโกสัมพี หรือที่ไหนย่อมได้ทั้งนั้น โดยเพียงแต่มีเวลาที่จะอ่านพระไตรปิฎก
ผู้ฟัง ทีนี้อรรถรสและก็นิรุติภาษาเรามันไม่เพียงพอ อ่านแล้วมัน พูดกันอย่างชาวบ้าน ก็คือมันไม่ค่อยสนุกไม่ค่อยเพียงพอ ถ้าลองพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ เราได้โอ้โฮ
ท่านอาจารย์ พระธรรมเป็นสัจจะ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ซึ่งทุกคนฟังแล้วก็พิจารณา แล้วก็เห็นประโยชน์ แล้วเพลิดเพลินในธรรมได้ เพลิดเพลินร่าเริงในกุศล ไม่ใช่หมายความว่า เพลิดเพลินอย่างอกุศล แต่ว่าจะเห็นได้จริงๆ ว่า ใครจะรู้ว่า เคยฟังหรือไม่เคยฟังพระธรรมจากพระโอษฐ์มาก่อน และก็พระธรรมที่ทรงแสดงที่พระวิหารเชตวัน หรือพระวิหารเวฬุวัน ก็ไม่ต่างกับที่พระอานนท์ท่านได้ทรงจำ และก็สังคายนา และท่านพระเถระทั้งหลายก็ทรงจำสืบต่อกันมา ซึ่งข้อความมีความไพเราะในอรรถ ถ้าเพียงแต่จะพิจารณาให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมตรงตามความเป็นจริง
อย่างท่านผู้หนึ่งท่านก็ถามว่า ที่ว่าทวารอื่น เช่น ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เป็นโลกมืด ไม่ใช่โลกสว่าง เหมือนอย่างทางตานั้นน่ะ มีกล่าวไว้ที่ไหนในพระไตรปิฎก
ซึ่งถ้าจะพิจารณาธรรมที่ได้ยินได้ฟัง ย่อมรู้ว่ามีกล่าวตั้งแต่ทรงแสดงเรื่องของทวารทั้ง ๖ ในขณะที่พระผู้มีพระภาคตรัสถามพระสาวกว่า ทางตา จักขุวิญญาณเที่ยงหรือไม่เที่ยง ขณะนี้สภาพธรรมอะไรกำลังปรากฏทางตา มืดหรือสว่าง สิ่งที่ปรากฏ ปรากฏเมื่อกระทบกับจักขุปสาท เป็นสีสันวัณณะต่างๆ ทำให้เข้าใจในรูปร่างสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏทางตา แล้วเวลาที่พระผู้มีพระภาคตรัสถามเรื่องทางหู เช่น โสตวิญญาณไม่เที่ยง โสตวิญญาณไม่ใช่จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณเป็นสภาพที่ได้ยินเสียง เสียงไม่มีรูปร่างสัณฐานเลย ในขณะที่หลับตาก็ยังได้ยินเสียง เพราะฉะนั้น ทวารอื่นทั้งหมด คือ ทางหูก็ดี ทางจมูกก็ดี ทางลิ้นก็ดี ทางกายก็ดี ทางใจก็ดี ไม่สว่าง เพราะเหตุว่าไม่ใช่ทางจักขุทวาร ไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นส่วนหนึ่งในพระไตรปิฎกที่จะต้องกล่าวว่า ส่วนใหญ่แล้ว โลกที่ทุกคนเข้าใจว่าสว่างนี้ ความจริงมืด เพราะเหตุว่าทวารที่ปรากฏความสว่าง มีเพียงทวารเดียว คือ จักขุทวาร นอกจากนั้นแล้วทวารอื่นมืดทั้งนั้น
เพราะฉะนั้น ถ้าโลกมืดปรากฏตามความเป็นจริง ที่จะให้รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฎเพียงแต่ละอย่าง เช่น เพียงหลับตา ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้าหายไปหมด เหลือแต่เพียงลักษณะของรูปเพียงเล็กๆ น้อยๆ นิดๆ หน่อยๆ ที่จะปรากฏเมื่อกระทบกับส่วนหนึ่งส่วนใดที่แข็งเท่านั้นเอง ใช่ไหม ฟันไม่มี ตาไม่มี แขนไม่มี หัวใจ ปอด ตับ อะไรก็ไม่มีทั้งนั้น เพราะเหตุว่ามีอยู่แต่เพียงในความทรงจำเท่านั้น แต่ลักษณะสภาพธรรมจริงๆ ไม่ได้เป็นอย่างนั้นเลย ไม่ต้องจำ แต่ว่ามีลักษณะปรากฏที่ให้เห็นความเป็นอนัตตา และการอยู่ในโลกที่ไม่สว่าง นอกจากขณะที่เห็นเท่านั้น
เพราะฉะนั้น ถ้าศึกษาพระธรรมโดยละเอียด ก็จะทำให้เข้าใจในลักษณะของสภาพธรรมได้ เมื่อได้พิจารณาโดยถูกต้อง
นี่ก็เป็นเรื่องของอุบาสิกาที่มีศรัทธาในการฟังธรรม ซึ่งบางท่านยุคนี้สมัยนี้อาจจะมีข้อโต้แย้งได้ว่า ท่านจะทำอย่างนั้นได้ไหม หรือไม่ได้ เพราะเหตุใด เพราะเหตุว่าศรัทธาไม่เท่ากัน ถ้าไม่มีเหตุการณ์ใดๆ เกิดขึ้น ก็ย่อมไม่สามารถที่จะรู้ศรัทธาของตนเองว่ามีศรัทธามั่นคงในการฟังพระธรรมแค่ไหน
ถูกหรือผิดที่ทำอย่างนั้น ถ้าถูกท่านพิจารณาอย่างไรในขณะนั้น เพราะเหตุว่าท่านกำลังฟังพระธรรมอยู่ แล้วผู้ที่จะรู้แจ้งเป็นพระโสดาบันในขณะนั้น ไม่ใช่เพียงฟังเฉยๆ แต่ว่าสติระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น เมื่อระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น ก็ย่อมรู้ว่าธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่ว่าสภาพธรรมที่จะปรากฏทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ ก็มีเหตุปัจจัยเกิดขึ้น แล้วก็ดับไป แม้แต่เรื่องของลูกที่ถูกงูกัด ก็จะต้องรู้ว่า ทางทวารไหนเป็นความคิด เป็นมโนทวาร และก็สุขเวทนา หรือทุกขเวทนา อุเบกขาเวทนา ที่กำลังปรากฏในขณะนั้น ก็เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยทั้งสิ้น
ย่อมเป็นผู้ที่มั่นคงในกรรม เพราะว่าย่อมจะเห็นได้ว่า ถ้าไม่มีกรรมที่จะถูกงูกัด ใครก็ถูกงูกัดไม่ได้ในขณะนั้น และก็การที่จะมีชีวิตอยู่หรือที่จะตายลงในวันหนึ่งวันใด ก็เพราะกรรมอีก ไม่มีใครสามารถที่จะ เมื่อถึงคราวที่กรรมจะให้ผล แล้วก็จะหลีกเลี่ยงได้
เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นผู้ที่พิจารณาธรรมที่ได้ฟัง และก็เป็นผู้ที่มีสติปัญญามั่นคง ก็จะเป็นผู้ที่ไม่กังวลใจ ไม่เดือดร้อน และก็สามารถที่จะแก้ไขเหตุการณ์ต่างๆ ได้ โดยไม่เดือดร้อนด้วย
ผู้ฟัง เรื่องอุบาสิกาที่กำลังฟังธรรม แล้วก็ลูกถูกงูกัดนี้ ถ้าเป็นเหตุการณ์ในสมัยนี้ ก็คงจะถูกหนังสือพิมพ์เอาไปโจมตีเป็นเรื่องใหญ่โต หาว่าเป็นแม่ที่ขาดเมตตา ไม่รักลูก แต่เท่าที่อาจารย์บรรยายแล้ว กระผมว่า อุบาสิกาผู้นี้ไม่ใช่เป็นคนฟังธรรมเหมือนอย่างที่เข้าใจกันธรรมดา เพราะว่าท่านฟังธรรมด้วย ท่านก็มีสติตามระลึกไปด้วย คือเข้าใจธรรม เข้าใจสภาพธรรมที่ปรากฏในขณะนั้น ถ้าเป็นอย่างนี้แล้ว ท่านก็ย่อมจะรู้ว่า ลูกที่งูกัดนั้น ก็ต้องเป็นกรรมอะไรของเขาที่เคยทำมา เพราะท่านพูดอยู่ว่า เคยเป็นลูกเป็นแม่กันมาก็หลายชาติ เพราะฉะนั้น กระผมจึงมีความเชื่อมั่นว่า เป็นไปได้ๆ ว่า คนที่เข้าใจธรรมอย่างถูกต้อง คือทางตา ทางหู จมูก ลิ้น กาย อะไรจะปรากฏ ก็เข้าใจอย่างถูกต้องในขณะนั้น แล้วฏ้จะเห็นทุกสิ่งทุกอย่างที่ปรากฏเกิดขึ้นเป็นเรื่องปกติธรรมดา ถ้าไม่เข้าใจธรรมถูกต้องแล้ว จิตใจจะหวั่นไหวไปหมด ไม่รู้ว่าอะไรจะมาปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก อะไรก็จะหวั่นไหวไปตามอารมณ์นั้นทั้งหมด ซึ่งเป็นเรื่องที่คนที่ยังไม่เข้าใจ และยังไม่มีสติระลึกรู้แล้ว จะไม่สามารถทำได้เป็นอันขาด
กระผมคิดว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ยากจริงๆ เพราะว่าผู้ที่ฟังธรรม ศึกษาธรรมนี้ อย่างที่คุณอดิศักดิ์พูดเหมือนกันว่าว่าอยากจะเจอ อยากจะเกิดทันพระพุทธองค์ เพื่อจะได้ไปฟังพระธรรมของพระองค์ทุกเย็น อาจารย์ก็บอกว่าพระไตรปิฎกนั้นเป็นพระพุทธวจนะ เป็นตัวแทนของพระองค์ เมื่อพระองค์ปรินิพพานไปแล้ว ก็พระธรรมก็จะเป็นศาสดา เป็นครู เป็นอาจารย์แทนพระองค์ ที่ท่านตรัสกับท่านพระอานนท์ว่า เมื่อพระตถาคตล่วงลับไปแล้ว พระธรรมวินัยที่พระองค์ทรงตรัสไว้ดีแล้ว บัญญัติไว้ดีแล้ว จะเป็นศาสดาแทนพระองค์
แต่เราก็มีพระไตรปิฎกอยู่ในบ้าน ซื้อมา ๔ – ๕ พันนี้ ก็ไม่ค่อยจะได้เปิดดู อันนี้จะว่า มีศรัทธาหรือไม่มีศรัทธาก็ไม่รู้ รวมทั้งตัวกระผมเองด้วย ไม่ค่อยจะได้เปิดดูเท่าไรหรอก เพราะฉะนั้น เรื่องศรัทธาที่จะมีจริงๆ จะต้องเกิดจากมีความเข้าใจ เพราะว่าบางทีอ่านพระไตรปิฎกแล้ว อ่านไปก็ไม่ค่อยเข้าใจ ยกตัวอย่างที่อาจารย์เคยพูดว่า สัตว์ บุคคล เบื้องหน้าแต่ตายแล้วไปเกิดอีกหรือไม่ อะไรอย่างนี้ ซึ่งกระผมคิดว่า คนมีกิเลสมันก็จะต้องไปเกิดอีก แต่พระพุทธองค์บอกว่า ถ้าคิดอย่างนั้นแล้ว ว่าถ้าสัตว์บุคคลเบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ไปเกิดอีกหรือไม่ไปเกิดอีก ถ้ามีความเห็นอย่างนั้น ก็ยังเป็นมิจฉาทิฏฐิอยู่ กระผมไม่เข้าใจคำว่า สัตว์ บุคคลที่ตายแล้วๆ จะไปเกิดอีก ทำไมจะเป็นมิจฉาทิฏฐิ
พออาจารย์พูดคำว่า สัตว์ บุคคล มันไปเกิดไม่ได้ เพราะมันเป็นสมมติบัญญัติ ไม่ใช่สภาวธรรม พออาจารย์พูดอย่างนี้ แม้กระผมก็เข้าใจว่าโอ้โฮ ถ้าเราไม่ได้ฟังแล้ว เราจะไม่สามารถรู้ได้เลย เพราะว่าคนตายก็ไปเกิดไม่ได้ สัตว์ตายก็ไปเกิดไม่ได้ เพราะว่าที่ไปเกิดนั้น ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ มันเป็นสภาวธรรมของมันอย่างนั้น ที่ว่าเป็นไปตามอย่างจุติจิตเกิดปฏิสนธิจิตก็เกิดต่อทันที แต่ทางโลกเรียกว่า สัตว์ตาย คนตายแต่ความจริงไม่ใช่สัตว์ตาย คนตาย เป็นแต่เพียงว่าจุติจิตเกิดแล้วปฏิสนธิดับ
อันนี้เป็นเรื่องที่ๆ จะหาฟังได้ยาก และเป็นเรื่องที่จะทำความเข้าใจได้ยาก อันนี้ผมก็เห็นใจคนอื่นรวมทั้งตัวกระผมเองด้วยที่จะฟังธรรมให้เข้าใจ และก็ศึกษาให้เข้าใจ ที่จะให้เกิดอุตสาหะ ให้เกิดศรัทธา ให้มีความพยามยามที่จะศึกษาเล่าเรียนต่อๆ ไป เป็นเรื่องที่ยากจริงๆ อาจารย์ เกี่ยวกับที่จะให้เกิดที่จะมีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องที่อ่าน แม้จะอ่านพระไตรปิฎกแล้วก็ดี ทั้งๆ ที่อ่านไปแล้ว จบไปแล้ว ต้องสองเที่ยว สามเที่ยว ก็ยังไม่ค่อยจะเข้าใจ
ท่านอาจารย์ ก็จะต้องสะสมศรัทธาอีกเรื่อยๆ เพราะเหตุว่าส่วนใดที่ยังไม่เข้าใจ ลองอ่านอีก ตั้งใจอ่าน แล้วก็พิจารณา ความเข้าใจจะเพิ่มขึ้นจริงๆ เพราะบางทีในขณะที่อ่านอาจจะสนใจข้อความตอนอื่น และก็ข้ามตอนที่ไม่เข้าใจไป โดยที่อาจจะคิดว่า ไม่ได้ข้าม แต่ว่าเมื่อไม่ได้เพ่งถึงความละเอียด ไม่ได้ใส่ใจใคร่ครวญพิจารณาตอนนั้นจริงๆ ก็ทำให้ไม่เข้าใจ ลองอ่านใหม่อีก แล้วก็ลองพิจารณาส่วนที่ไม่เข้าใจ
- โสภณธรรม ครั้งที่ 001
- โสภณธรรม ครั้งที่ 002
- โสภณธรรม ครั้งที่ 003
- โสภณธรรม ครั้งที่ 004
- โสภณธรรม ครั้งที่ 005
- โสภณธรรม ครั้งที่ 006
- โสภณธรรม ครั้งที่ 007
- โสภณธรรม ครั้งที่ 008
- โสภณธรรม ครั้งที่ 009
- โสภณธรรม ครั้งที่ 010
- โสภณธรรม ครั้งที่ 011
- โสภณธรรม ครั้งที่ 012
- โสภณธรรม ครั้งที่ 013
- โสภณธรรม ครั้งที่ 014
- โสภณธรรม ครั้งที่ 015
- โสภณธรรม ครั้งที่ 016
- โสภณธรรม ครั้งที่ 017
- โสภณธรรม ครั้งที่ 018
- โสภณธรรม ครั้งที่ 019
- โสภณธรรม ครั้งที่ 020
- โสภณธรรม ครั้งที่ 021
- โสภณธรรม ครั้งที่ 022
- โสภณธรรม ครั้งที่ 023
- โสภณธรรม ครั้งที่ 024
- โสภณธรรม ครั้งที่ 025
- โสภณธรรม ครั้งที่ 026
- โสภณธรรม ครั้งที่ 027
- โสภณธรรม ครั้งที่ 028
- โสภณธรรม ครั้งที่ 029
- โสภณธรรม ครั้งที่ 030
- โสภณธรรม ครั้งที่ 031
- โสภณธรรม ครั้งที่ 032
- โสภณธรรม ครั้งที่ 033
- โสภณธรรม ครั้งที่ 034
- โสภณธรรม ครั้งที่ 035
- โสภณธรรม ครั้งที่ 036
- โสภณธรรม ครั้งที่ 037
- โสภณธรรม ครั้งที่ 038
- โสภณธรรม ครั้งที่ 039
- โสภณธรรม ครั้งที่ 040
- โสภณธรรม ครั้งที่ 041
- โสภณธรรม ครั้งที่ 042
- โสภณธรรม ครั้งที่ 043
- โสภณธรรม ครั้งที่ 044
- โสภณธรรม ครั้งที่ 045
- โสภณธรรม ครั้งที่ 046
- โสภณธรรม ครั้งที่ 047
- โสภณธรรม ครั้งที่ 048
- โสภณธรรม ครั้งที่ 049
- โสภณธรรม ครั้งที่ 050