โสภณธรรม ครั้งที่ 050
ตอนที่ ๕๐
ขณะนั้นยังต้องพิจารณาจิตของตนเองว่า เมื่อรู้แล้ว หวั่นไหว เอนเอียง และชังในผู้ที่ประพฤติผิดหรือเปล่า
นี่คือสิ่งซึ่งจะต้องเกิดต่อจากการที่จะรู้ความจริงของแต่ละเหตุการณ์ ของแต่ละบุคคล ของแต่ละเรื่องด้วย เพราะเหตุว่าถ้ารู้ว่าใครผิด แล้วก็ชิงชังในบุคคลนั้น ตัตตรมัชฌัตตตาไม่มีอีกแล้ว มีในขณะที่รู้ว่า ความจริงเป็นอย่างไร ความถูกเป็นอย่างไร ความผิดเป็นอย่างไร แต่จิตที่รู้ว่าใครผิด ขณะนั้นลองพิจารณาดูว่า มีตัตตรมัชฌัตตตาที่จะเกิดเมตตาไหม ถ้าเกิดเมตตาได้ ขณะนั้นพร้อม ทั้งศรัทธา สภาพของจิตที่ผ่องใส สะอาด ทั้งสติที่ระลึกได้ จะไม่หวั่นไหวไปเป็นอกุศล มีทั้งหิริ ความรังเกียจ และมีทั้งโอตตัปปะ ความเห็นโทษภัยของการที่จะต้องชิงชัง หรือเกิดการขุ่นเคืองใจขึ้น และทำกิจถอยกลับจากอกุศล ในขณะที่ตัตตรมัชฌัตตตาเกิด คือ ความเป็นผู้ตรง
เพราะฉะนั้นวันหนึ่งๆ จะเห็นได้ว่า ต้องอบรมต่อไปอีกๆ ๆ จนกว่ากุศลจะเพิ่มขึ้นๆ จริงๆ และในวันหนึ่งๆ ทุกคนซึ่งเป็นผู้ตรง ก็จะรู้ได้ว่า กุศลเกิดมากหรือน้อยเทียบกับเวลาของวันเวลาในวันหนึ่ง ตอนเช้ามีกุศลสักกี่ขณะ กี่เหตุการณ์ ตอนกลางวัน มีกุศลหรือเปล่า ตอนเย็นมีกุศลไหม หรือว่าโลภะบ้าง โทสะบ้าง และก็ความหวั่นไหวด้วยอคติต่างๆ บ้าง
เพราะฉะนั้นต้องเป็นผู้ที่พิจารณาว่า วันหนึ่งอกุศลเกิดมากกว่ากุศล เป็นผู้ตรงมาขั้นหนึ่งแล้ว แล้วยังต้องคิดแก้ไขด้วย นั่นคือตัตตรมัชฌัตตตาต่อไปที่จะต้องรู้ว่า ไม่ควรเลยที่จะปล่อยให้เป็นอกุศลเพิ่มขึ้นๆ ๆ มากเรื่อยๆ กว่าจะสิ้นชีวิตไป ลองคิดถึงอกุศลในวันหนึ่งซึ่งเพิ่มขึ้นทุกวัน ไม่ได้ส่วนกับกุศลเลย แล้วก็จะเป็นอย่างไร แต่ตรงกันข้ามถ้าเป็นผู้ไม่ประมาท อาจจะหลงลืมสติไปบ้าง แต่แม้กระนั้นก็ตาม การที่เป็นผู้ที่ถึงพระธรรมเป็นสรณะ ด้วยการขอประพฤติปฏิบัติตามจริงๆ เป็นผู้ที่มีสัจจะและอธิษฐาน คือ ความตั้งใจมั่น ก็จะทำให้เกิดการระลึกได้ละเอียดขึ้น และพิจารณาว่า ในวันหนึ่งเมื่อทาน อาจจะไม่ได้เกิดเลย ทานกุศล การสละวัตถุเพื่อประโยชน์สุขของบุคคลอื่นในวันนี้มีบ้างไหม ลองคิดดู ตั้งแต่เช้าถึงค่ำ ถ้าไม่มี ศีล ในวันนี้มีการวิรัติทุจริตทางกาย ไม่เบียดเบียน ทางวาจา ไม่ประทุษร้ายบุคคลอื่น และทางใจ ยังต้องเป็นผู้ตรงอีกว่า แม้ไม่ประทุษร้ายด้วยกายวาจา ใจคิดอย่างไร บางทีใจคิดเบียดเบียน แต่ยังไม่ทำ ได้ใช่ไหม โกรธใคร ก็อาจจะนึกคิดถึงคำแรงๆ อยู่ในใจได้ แต่ว่ายังไม่ได้กล่าวออกไป แม้อย่างนั้นก็ยังจะต้องเห็นว่า ในขณะนั้นจิตไม่สงบ
เพราะฉะนั้นการที่จะเจริญกุศล นอกจากจะพิจารณาเรื่องทาน เรื่องศีล ซึ่งไม่ได้เกิดบ่อยในชีวิตประจำวันแล้ว ยังจะต้องพิจารณาส่วนที่เหลือในวันหนึ่งๆ ว่า เมื่อทานไม่เกิด ศีลก็ไม่ได้เกิดบ่อย ส่วนที่เหลือควรจะเจริญกุศลอื่นซึ่งไม่ใช่ทานและศีล ได้แก่ ความสงบของจิต และการอบรมเจริญปัญญาที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเพื่อที่จะดับความยึดถือสภาพธรรมนั้นว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล
เพราะฉะนั้นถ้ารู้อย่างนี้ พิจารณาว่าชีวิตประจำวันที่เกี่ยวข้องกับบุคคลต่างๆ ไม่ว่าจะโดยฐานะของหัวหน้า ผู้บังคับบัญชา หรือว่าผู้ใต้บังคับบัญชา ในฐานะของผู้ใหญ่ หรือว่าในฐานะของผู้น้อย ในฐานะของญาติ หรือในฐานะของเพื่อนฝูง หรือว่าในฐานะของคนคุ้นเคยไม่คุ้นเคยก็ตาม ควรที่จะได้พิจารณาว่า ทานก็ไม่ได้ทำบ่อย ศีลก็ไม่ได้ทำบ่อย และจิตใจหวั่นไหวไป กระสับกระส่ายไป วุ่นวายไปกับเหตุการณ์ต่างๆ เรื่องราวต่างๆ จากวจีสังสารมากขึ้นหรือว่าน้อยลง
นี่คือการที่จะเป็นผู้ที่จะขัดเกลากิเลส คือ เริ่มพิจารณา ถ้ายังไม่ได้พิจารณาเลย จะไม่มีวันน้อยลงเลย แต่ถ้าเริ่มพิจารณา อกุศลทั้งหลายเริ่มน้อยลง แม้แต่วจีสังสาร การที่จะกล่าวเรื่องราวต่างๆ ต่อกันไปต่อกันมา โต้ตอบ หรือว่าวนเวียนไป เรื่องนั้นบ้าง เรื่องนี้อีก ก็ควรที่จะพิจารณาดูว่า ในขณะนั้นจิตเป็นอย่างไร ตัตตรมัชฌัตตตาจะทำให้เป็นผู้ที่เริ่มเห็นโทษ เห็นภัยของความยุ่งยากต่างๆ อกุศลต่างๆ เพราะเหตุว่าถ้ายังไม่เกิด ถ้าตัตตรมัชฌัตตตาไม่เกิด อกุศลก็ต้องทวีคูณขึ้นทุกประการ
เพราะฉะนั้นวันหนึ่งๆ ซึ่งมีการพบปะบุคคลอื่น เกี่ยวข้องกับบุคคลอื่น และไม่ได้เป็นไปในเรื่องของทาน ในเรื่องของศีล ก็ควรที่จะให้จิตสงบด้วยพรหมวิหาร ๔ ซึ่งได้ยินกันบ่อยมาก แล้วก็เป็นสิ่งที่จำเป็นจริงๆ ในชีวิตประจำวัน เพราะในชีวิตประจำวันมีใครบ้างที่จะไม่เห็นคนอื่น มีผู้ที่เฉยๆ มีผู้ซึ่งเป็นที่รัก มีผู้ซึ่งเป็นที่ชัง มีผู้ที่ใกล้ชิด มีผู้ที่ห่างไกล ทั้งนั้นเลย เพราะฉะนั้นทุกบุคคล ขณะนั้นไม่ใช่เรื่องของทาน ไม่ใช่เรื่องของศีล แต่ก็ควรจะเป็นการอบรมเจริญความสงบของจิตด้วยพรหมวิหารหนึ่งพรหมวิหารใดในพรหมวิหาร ๔ คือ ๑. เมตตา ๒ . กรุณา ๓. มุทิตา ๔. อุเบกขา
๑. เมตตา ได้แก่ อโทสเจตสิก กรุณา ได้แก่ กรุณาเจตสิก มุทิตา ได้แก่ มุทิตาเจตสิก อุเบกขา ได้แก่ ตัตตรมัชฌัตตตาเจตสิก
ทุกวันไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคลเลย บางขณะที่มีจิตเมตตา ไม่รู้เลยว่าอะไร สภาพธรรมนั้นคืออะไร แต่ว่ายึดถือว่าเป็นเราที่เมตตา แต่ความจริงแล้วไม่ใช่เรา ขณะที่เมตตานั้นเป็นเจตสิกชนิดหนึ่ง เป็นสภาพธรรมที่มีจริงชนิดหนึ่งซึ่งทำกิจของสภาพธรรมนั้น ซึ่งเจตสิกอื่นทำกิจของสภาพธรรมนั้นไม่ได้เลย เมื่อเมตตาเจตสิกเกิด ก็ต้องทำกิจของเมตตา โดยที่เจตสิกอื่นจะทำกิจของเมตตาไม่ได้
๒. สำหรับกรุณา ได้แก่ กรุณาเจตสิก ขณะที่เห็นบุคคลที่ยากไร้หรือว่าตกทุกข์ได้ยาก แล้วมีจิตใคร่ที่จะให้บุคคลนั้นพ้นจากความทุกข์ยาก ด้วยการอนุเคราะห์ช่วยเหลือต่างๆ ในขณะนั้นก็ไม่รู้อีกเหมือนกันว่า แท้ที่จริงแล้วก็เป็นกรุณาเจตสิก ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลใดๆ เลย แต่ไม่ชินกับสภาพธรรม แต่ชินกับความรู้สึก เวลาที่เห็นคนตกทุกข์ได้ยาก แล้วเกิดการคิดที่จะช่วยเหลือ ความรู้สึกอย่างนี้มีใช่ไหม ขณะนั้น แต่เมื่อไม่รู้ว่าเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นเจตสิกชนิดหนึ่ง เป็นเจตสิกฝ่ายดี เป็นโสภณเจตสิกซึ่งเกิดกับกุศลจิต โสภณจิต ก็เข้าใจว่าเรากำลังกรุณา แต่ความจริงไม่ใช่เรา เพราะเหตุว่ากรุณาเจตสิกต่างหากที่เป็นโสภณเจตสิกเกิดขึ้นทำกิจกรุณาในขณะนั้น
๓. พรหมวิหารที่ ๓ คือ มุทิตา การพลอยยินดีด้วยกับความสุขของคนอื่น ได้แก่ มุทิตาเจตสิก เพราะฉะนั้นต่อไปนี้เวลาเกิดความรู้สึกอย่างนี้ขึ้น ก็รู้ว่าเป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง แม้ว่าจะยังไม่รู้จักชื่อภาษาบาลี แต่ก็เริ่มศึกษา เริ่มรู้ในลักษณะนั้นๆ ว่า เป็นสภาพที่ต่างกัน เมตตาเจตสิกเป็นอย่างหนึ่ง กรุณาเจตสิกเป็นอย่างหนึ่ง มุทิตาเจตสิกเป็นอีกอย่างหนึ่ง เป็นสภาพของเจตสิกแต่ละอย่างๆ ๆ จริงๆ และก็อีกหน่อยก็จะค่อยๆ ชินกับชื่อในภาษาบาลี ซึ่งความจริงบางท่านอาจจะคิดว่าไม่จำเป็น ที่จะต้องจำชื่อของภาษาบาลี เพราะว่าสามารถที่จะสังเกตรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ได้ แต่ว่าถ้าจำได้ ก็มีประโยชน์ เพราะเหตุว่าภาษาบาลีเป็นภาษาสากลสำหรับพุทธศาสนา สำหรับคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ว่าชาติใดภาษาใดก็ใช้ภาษาบาลีทั้งนั้น
๔. พรหมวิหารที่ ๔ คือ อุเบกขา ได้แก่ สภาพที่เป็นกลาง สม่ำเสมอในอารมณ์ ไม่ตกไปทางฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด คือ ด้วยโลภะ หรือโทสะ หรือโมหะ ได้แก่ ตัตตรมัชฌัตตตาเจตสิก
ซึ่งก็ขอกล่าวถึงพรหมวิหารทั้ง ๔ นี้ เพราะเหตุว่าเป็นการอบรมเจริญกุศลใน ชีวิตประจำวัน ซึ่งสามารถที่จะเกิดได้บ่อยในชีวิตประจำวันมากกว่าขั้นทาน หรือศีล เพราะสำหรับทานก็ต้องมีวัตถุปัจจัยที่จะสละให้บุคคลอื่น ศีล ก็จะต้องมีสิ่งที่ปรากฏเฉพาะหน้าที่จะให้วิรัติทุจริต แต่ว่าในขณะที่ไม่มีทาน โอกาสของทานหรือโอกาสของศีลทุกขณะกุศลจิตที่เป็นสมถะในชีวิตประจำวัน คือ การอบรมความสงบของจิต หรือการเจริญสติปัฏฐานย่อมเกิดได้ และสำหรับสติปัฏฐานก็ต้องอาศัยความเข้าใจ และอาศัยการอบรม นานๆ จะเกิดสักครั้งหนึ่ง สองครั้ง สามครั้ง สำหรับบางท่านหลายเดือนห่างกันมาก แล้วก็เกิดอีก ก็เป็นไปได้ ซึ่งไม่ต้องเป็นห่วงเป็นกังวลเลย เพราะเหตุว่าเป็นเรื่องของขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรื่องของเรา ไม่ใช่เรื่องของตัวตนที่จะคิดพยายามจะบังคับบัญชาสภาพธรรมอย่างหนึ่งอย่างใด แต่เป็นเรื่องที่จะต้องศึกษาให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมว่า ธรรมเป็นธรรม ไม่ใช่เรา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน อาศัยความเข้าใจธรรมยิ่งขึ้น ละเอียดขึ้น ก็จะเป็นสังขารขันธ์ที่จะปรุงแต่งให้กุศลแต่ละประเภท ค่อยๆ เจริญขึ้น แล้วก็ไม่หวั่นไหวที่สติจะเกิดเป็นสติปัฏฐานมากหรือน้อย เมื่อเป็นผู้ที่ไม่หวั่นไหวแล้วละก็ แล้วแต่ว่าสังขารขันธ์จะปรุงแต่งสภาพธรรมใดเกิดขึ้น สภาพธรรมนั้นก็เป็นอย่างนั้น และกุศลทั้งหลายก็จะค่อยๆ เจริญขึ้น
เพราะฉะนั้นถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด ก็ควรจะเป็นผู้ที่พิจารณาตนเองในเรื่องของพรหมวิหารที่ ๑ คือ เมตตาพรหมวิหารว่า มีมากหรือมีน้อย ถ้ามีน้อยก็ไม่เป็นไร อบรมเจริญให้มากขึ้นอีกทีละเล็กทีละน้อยได้ อย่าคิดว่าทำไม่ได้ ถ้าคิดว่าทำไม่ได้แล้วละก็ ไม่มีการที่จะขัดเกลากิเลสเลย แต่ถ้าคิดว่าทำได้ ยาก ไม่ง่าย แต่ทำได้ ค่อยๆ ทำ ได้ไหม
มีท่านผู้หนึ่งท่านเล่าให้ฟังว่า ท่านแจกของให้คนรับใช้ในบ้านหรือเพื่อนบ้านของท่านด้วย คนรับใช้ของเพื่อนบ้านด้วย แต่ว่ามีคนรับใช้คนหนึ่งซึ่งทำหลายอย่างซึ่งไม่สมควร ท่านก็ไม่ค่อยอยากจะให้เสียเลย คือ รู้สึกว่าไม่น่าจะให้ ไม่ควรจะให้ ซึ่งก็ต้องอาศัยตัตตรมัชฌัตตตา ความเป็นผู้ตรงอีกเหมือนกันว่า ควรหรือไม่ควร แม้จะให้ผู้ซึ่งไม่ชอบ ทำได้ไหม สิ่งไหนดีกว่ากัน ตัตตรมัชฌัตตตา ต้องพิจารณาเห็นว่า การให้ย่อมดีกว่า แต่ว่าถ้าเป็นอกุศล อโยนิโสมนสิการ ให้ทำไม ไม่มีประโยชน์ ไม่ได้เกิดอะไรขึ้น ทำคุณบูชาโทษ หรือจะคิดนึกปรุงแต่งออกเป็นเรื่องยาวมากมายอีกหลายเรื่องได้ทั้งสิ้นด้วยอกุศลจิต ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล แต่มีปัจจัยที่จะคิดเองอย่างนั้น ที่จะปรุงแต่งอย่างนั้น เพราะฉะนั้นความคิดของแต่ละคนไม่เหมือนกัน แล้วแต่ว่าคิดด้วยกุศลจิต หรือว่าคิดด้วยอกุศลจิต ในที่สุดผู้ที่จะขัดเกลากิเลสก็ให้ ทำได้ไหม ถ้าทำขณะนี้ไม่ได้ ขณะต่อไปยิ่งยากขึ้น แต่ถ้าทำแม้ขณะเล็กๆ น้อยๆ อย่างนี้ได้ ขณะต่อไปก็ยิ่งคล่องแคล่วรวดเร็วและก็ชำนาญขึ้น และเห็นว่าเป็นเรื่องแสนง่าย คือ ใครจะเป็นอย่างไร ก็เป็นไปตามการสะสมของบุคคลนั้น ไม่เกี่ยวกับกุศลจิตของผู้ที่จะให้เลย ด้วยความเป็นผู้ตรงต่อกุศลจริงๆ ย่อมเห็นว่ากุศลของตนเองเป็นสิ่งที่ควรเจริญ และก็ไม่ไปก้าวก่ายกับอกุศลของคนอื่น เพราะเหตุว่าแม้จะอยากให้เขาเป็นกุศลมากสักเท่าไรก็ตาม พากเพียรอธิบายชี้แจงสักเท่าไร แต่ถ้ากุศลจิตของเขายังไม่เกิด หรือว่ามีสังขารขันธ์ที่จะปรุงแต่งให้คิดเอาเอง เป็นเรื่องราวของอกุศลมากมาย คนอื่นก็ไม่สามารถจะไปก้าวก่ายในความคิดปรุงแต่งของคนอื่นได้ ถ้าเข้าใจอย่างนี้จริงๆ ทุกคนก็จะกระทำกิจของตนเอง คือ ละอกุศลของตนเอง และไม่ไปทำให้คนอื่นเกิดอกุศล แต่ว่าการให้ของบุคคลนั้นเป็นประโยชน์ เพราะเหตุว่าคนรับใช้คนนั้นก็เป็นผู้ที่ช่วยเหลืออย่างดีในโอกาสต่อไป แต่ไม่ใช่ด้วยสินจ้างอามิสก็ได้ แต่เป็นการเห็นน้ำใจของผู้ที่ไม่โกรธตอบ
นี่ก็เป็นสิ่งซึ่งถ้าผู้ใดมีกุศล แล้วก็มีความอดทน มีความมั่นคงจริงๆ ในการเจริญกุศลแล้วละก็ คงจะเป็นตัวอย่างสำหรับคนอื่นที่จะทำให้อดทนตาม และไม่หวั่นไหวตาม แล้วก็ทำกุศลไปโดยที่ไม่คำนึงถึงว่า บุคคลอื่นจะมีสังขารขันธ์ที่จะปรุงแต่งคิดอย่างไร ก็เป็นเรื่องของแต่ละบุคคล เพราะฉะนั้นถ้าเห็นประโยชน์ของเมตตา ต้องทำได้ แม้ว่าจะยาก ค่อยๆ ทำทีละเรื่อง ทีละเหตุการณ์ และก็ลองพิจารณาดูเมื่อได้เข้าใจเรื่องของตัตตรมัชฌัตตตาเจตสิกว่า ขณะนี้ เรื่องนี้ เหตุการณ์นี้ ตัตตรมัชฌัตตตาเจตสิกเกิดหรือยัง ยังไม่เกิดอีก เรื่องต่อไปคราวหน้าเกิดหรือยัง คอยดูว่าตัตตรมัชฌัตตตาเจตสิกจะเกิดเมื่อไร ถ้าเป็นผู้ที่ตรง และตรงขึ้นๆ ค่อยๆ ตรงทีละน้อย ในที่สุดตัตตรมัชฌัตตตาเจตสิกก็ย่อมเกิด และวันนั้นจะรู้สึกสบายใจ หมดเรื่องราวที่เคยกังวล หมกมุ่นเป็นทุกข์ เดือดร้อนทุกอย่าง เพราะสภาพของกุศลจิตเป็นสภาพที่ไม่ทำร้าย และไม่ทำให้ไม่สบายใจ ตรงข้ามกับลักษณะของอกุศลเจตสิกและอกุศลจิต
อยากเจริญเมตตาไหม หรืออยากจะท่อง วันหนึ่งท่องมาก แต่ว่าไม่เมตตาเลย หรือว่าไม่ต้องท่อง แต่คิดถึงใครก็คิดด้วยจิตที่เมตตา และก็คิดแต่ประโยชน์ที่จะเกื้อกูลบุคคลอื่น แล้วเวลาที่พบกัน ก็ยิ้มแย้มแจ่มใสทักทาย มีปฏิสันถาร เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ยากไหม หรือไม่ยากเลย ง่ายมาก อันนี้ต้องแล้วแต่จิตใจของแต่ละบุคคล แต่ว่าพระธรรมเริ่มจะส่องเป็นกระจกอย่างดีที่จะเห็นทุกซอกมุมของจิตใจของตนเองว่า เป็นบุคคลประเภทใด แต่ต้องเป็นผู้ตรงด้วย
ถ้าเป็นผู้ที่ริษยาคนอื่น ต้องรู้ว่าเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง เกิดแล้วน่ารังเกียจ อนุโมทนาหรือมีมุทิตาจิตทันที นี่คือโยนิโสมนสิการ คือ ผู้ฉลาด ถ้ามีมานะ ความสำคัญตน ในขณะนั้นไม่ใช่ความเป็นเพื่อนเลย เพราะว่าความเป็นมิตรเป็นสหายต้องเป็นผู้ที่เสมอกัน เข้ากันได้ แต่ถ้ามีความสำคัญว่า ดีกว่า สูงกว่า เก่งกว่า ขณะนั้นความรู้สึกว่าเป็นเพื่อนกันก็เป็นไปไม่ได้
เพราะฉะนั้นถ้ามีเมตตาแล้ว ก็จะทำให้กุศลจิตอีกหลายประการเกิดได้ แต่ข้อสำคัญคือต้องเป็นผู้ตรงจริงๆ แล้วจะเห็นคุณของตัตตรมัชฌัตตตาเจตสิก ซึ่งอาจจะไม่เคยรู้จักมาก่อนเลย แต่ว่าเกิดกับกุศลจิตทุกประเภท ตั้งแต่ขั้นทาน ขั้นศีล ขั้นความสงบของจิต จนถึงขั้นอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ก็จะต้องเป็นผู้ที่ตรงขึ้นๆ อีก ถ้าเป็นผู้คดนิดเดียว เขวนิดเดียว พลาดจากอริยมรรคมีองค์ ๘ ไม่ใช่หนทางที่จะอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้
สำหรับพรหมวิหารเป็นธรรมเครื่องอยู่ของพรหม คือ ผู้ประเสริฐ เป็นความจริงทีเดียว ถ้าคิดถึงใครที่ไม่โกรธเลย ไม่ว่าใครจะกล่าวร้าย หรือว่าใช้คำที่ไม่เหมาะสม หรือว่ามีกิริยาอาการที่ไม่เหมาะสมประการใดก็ตาม แต่บุคคลผู้นั้นก็เสมือนผ้าเช็ดธุลีได้
นี่เป็นสิ่งซึ่งเป็นผู้ประเสริฐ เป็นธรรมของผู้ประเสริฐ
การไปนมัสการสังเวชนียสถานที่อินเดียคราวนี้ ในขณะที่จะเข้าไปสู่พระวิหารเชตวัน ดิฉันก็มีความรู้สึกว่า น่าจะให้ทุกๆ คนได้คิดถึงธรรม แต่ละบุคล เพราะฉะนั้นก็ตั้งเป็นปริศนาธรรมขึ้นว่า “ไปหาอะไรในพระเชตวัน?” เพราะว่าทุกคนกำลังที่จะเข้าสู่พระวิหารเชตวัน ไปทำไม ไปหาอะไร พระวิหารเชตวันมีอะไรที่แต่ละบุคคลต้องการที่จะไปหาสิ่งนั้น แต่ว่าสิ่งที่อยู่ในใจของดิฉัน คือ ไปหาผ้าเช็ดธุลี ซึ่งเป็นคุณธรรมของท่านพระสารีบุตร ซึ่งท่านเปรียบตัวของท่านเองว่า ท่านเป็นผู้ที่นอบน้อมอย่างยิ่ง ท่านเป็นอัครสาวก เป็นผู้เลิศทางฝ่ายปัญญา แต่ขอให้ดูสภาพของปัญญาว่า ยิ่งเป็นผู้มีปัญญาเท่าใด ความอ่อนน้อมถ่อมตนยิ่งมีมากเท่านั้น ไม่ใช่เป็นผู้ที่อวดความรู้ หรือว่าอวดความเก่ง หรือมีกิริยาอาการที่ไม่เหมือนผ้าเช็ดธุลี แต่ว่ายิ่งเป็นผู้ที่มีปัญญาแล้ว ต้องเป็นผู้ที่อ่อนน้อมถ่อมตน และสามารถที่จะไม่หวั่นไหว รับกระทบได้ทั้งสิ่งที่สะอาดและไม่สะอาด ไม่ว่าความไม่สะอาดนั้นจะเป็นเลือด เป็นน้ำลาย เป็นสารพัดอย่าง ผ้าเช็ดธุลีก็ไม่หวั่นไหวฉันใด เพราะฉะนั้นถ้าเข้าไปหาผ้าเช็ดธุลีในพระวิหารเชตวัน ในสมัยนี้ก็มีแต่การที่จะรำลึกถึงผ้าเช็ดธุลีหลายๆ ผืนมากมายทีเดียวในพระวิหารเชตวัน แต่ว่าในสมัยนี้ก็เพียงรำลึกถึง เพราะเหตุว่ากว่าแต่ละบุคคลจะได้อบรมเจริญปัญญาจนสามารถที่จะถึงความเป็นผ้าเช็ดธุลีได้ ต้องเป็นสิ่งซึ่งอีกไกลแสนไกลทีเดียว
ท่านพระสารีบุตรไม่ได้เปรียบตัวของท่านเองเพียงเป็นดุจผ้าเช็ดธุลี ยังเปรียบตัวท่านเองเหมือนลูกคนจัณฑาล ซึ่งเข้าไปสู่ที่ที่มีบุคคลมากหน้าหลายตา ก็เข้าไปด้วยความอ่อนน้อม เข้าไปด้วยความนอบน้อม แล้วก็ยังเปรียบตัวของท่านเองว่า เหมือนกับโคเขาขาด ซึ่งเมื่อไม่มีเขาแล้ว ก็ไม่สามารถที่จะทำร้ายหรือทำลายอะไรได้ ก็จะต้องเป็นผู้ที่เสงี่ยมเจียมตัว นี่คือคุณธรรมของพระอัครสาวกผู้เลิศทางฝ่ายปัญญา
เพราะฉะนั้นทุกอย่างเป็นสิ่งที่อบรมได้ เจริญได้ ค่อยๆ อบรมไป โดยเฉพาะเมื่อรำลึกถึงพระคุณของพระอรหันต์ผู้ประเสริฐในสถานที่ซึ่งมีโอกาสได้นมัสการ ก็ทำให้ขอเป็นผู้ถึงพระธรรมด้วยการประพฤติปฏิบัติตาม แล้วแต่ว่าสติปัญญา กำลังความสามารถ จะทำให้ประพฤติปฏิบัติตามได้แค่ไหน แต่ก็ควรจะเป็นความตั้งใจมั่นพร้อมทั้งสัจจะ ที่จะอบรมประพฤติปฏิบัติตามไปอย่างนั้นเรื่อยๆ
สำหรับลักษณะของเมตตาพรหมวิหาร คือ อโทสเจตสิก เป็นสภาพธรรมที่ระงับพยาบาท เกิดร่วมกันไม่ได้เลย ขณะใดที่โกรธ ขณะนั้นรู้ได้ว่า ไม่เมตตาจึงโกรธ และขณะใดที่เมตตา ขณะนั้นรู้ได้ว่า เป็นสภาพจิตที่ห่างไกลกับความโกรธ ลักษณะของเมตตาเป็นสภาพที่เป็นมิตร เวลาเห็นมิตรรู้สึกอย่างไร ดีใจได้พบกัน มีความรู้สึกสนิทสนมคุ้นเคย ไม่มีภัยไม่มีอันตรายอะไรเลย นั่นคือสภาพลักษณะของเมตตา ซึ่งไม่ใช่ลักษณะของความโกรธ เพราะฉะนั้นลักษณะของเมตตานั้น ก็เป็นสภาพที่ระงับพยาบาท
สำหรับความโกรธ ซึ่งทุกคนที่ไม่ใช่พระอนาคามีบุคคลต้องมี เพราะเหตุว่ามีปฏิฆานุสัย ซึ่งยังไม่ได้ดับเชื้อของความโกรธจนหมดเป็นสมุจเฉท บางคนเป็นผู้มีอัธยาศัยน่ารัก มีอัธยาศัยดี มีจิตใจงาม มีความเมตตา มีความกรุณา ทุกอย่าง เกือบจะดูเหมือนว่าไม่เห็นโกรธ แต่ว่าเมื่อไม่ใช่พระอนาคามีบุคคลต้องโกรธแน่ แม้ว่าไม่มาก ความขุ่นใจ ความไม่พอใจ เวลาประสบกับสิ่งที่ไม่น่าพอใจ ซึ่งในวันหนึ่งๆ ต้องมีมาก เช่น สถานที่ที่ไม่สะอาด เวลาเห็นแล้ว ยากที่ใจจะไม่เกิดความไม่ขุ่น คือ ขณะนั้นก็รู้สึกไม่สบายใจ ความไม่สบายใจนั้นก็เป็นลักษณะของโทสะชนิดหนึ่ง เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่า แต่ละวันๆ ก็มีแต่เรื่องซึ่งจะให้ ถ้าเป็นผู้ละเอียดแล้วจะเห็นว่า ขุ่นใจนิดเดียว รู้สึกตัวได้แล้วว่า นั่นคือความโกรธ ซึ่งยังไม่ได้ดับ จึงมีปัจจัยที่จะเกิดอีก แม้ว่าจะไม่มาก ไม่ต้องถึงกับความโกรธอย่างแรงที่จะแสดงออกมาทางกาย หรือทางวาจา แต่ว่าจิตของใครที่มีความโกรธหรือความขุ่นเคืองใจเกิดขึ้น บุคคลนั้นรู้ คนอื่นไม่สามารถที่จะรู้ได้ เพราะฉะนั้นทันทีที่ความโกรธปรากฏ ขณะนั้นผู้ที่อบรมเจริญเมตตาเป็นผู้ที่ละเอียด ก็จะต้องรู้แล้วว่า ขณะนั้นเป็นอกุศล เพราะเหตุว่าถ้าไม่สะอาด โกรธคนที่ทำให้ไม่สะอาดหรือเปล่า บางทีเรื่องของชาติชั้นวรรณะ ฐานะ เชื้อชาติ ก็เข้ามาอีกแล้ว นั่นก็เป็นเรื่องที่สังขารขันธ์ปรุงแต่งไกลมากออกไป จนกระทั่งถึงชื่อ ถึงชาติ ถึงฐานะ ถึงอะไรต่างๆ
เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาละเอียดจริงๆ ว่า ทุกคนที่ยังไม่ใช่พระอนาคามีบุคคล ยังต้องมีความโกรธเกิดขึ้น แล้วดับไป ถ้าเพียงโกรธขึ้นแล้วก็ดับไป ไม่คิดที่จะโกรธซ้ำอีก ดีไหม เมื่อมีปัจจัยให้ความโกรธ ความขุ่นเคืองใจจะเกิดก็เกิด เกิดแล้วก็ดับ ดับแล้วหมด ก็จบ ถ้าเป็นอย่างนั้นได้ ก็จะไม่เป็นความคิดโกรธ ซึ่งไม่จบ แล้วก็คิดอีก แล้วก็โกรธอีก แล้วจนกระทั่งถึงไม่ลืม เวลาที่โกรธจนไม่ลืม สังขารขันธ์ก็จะปรุงแต่งต่อไปอีก จนกระทั่งถึงกับเป็นความพยาบาท เป็นความขุ่นเคืองที่คิดจะประทุษร้าย หรือก่อร้าย หรือปองร้าย
เพราะฉะนั้นถ้าไม่เจริญเมตตา ก็จะระงับความพยาบาทนั้นไม่ได้เลย ถ้าเห็นโทษภัยของความคิดร้าย ความปองร้าย ความประทุษร้าย ความพยาบาท จะเป็นผู้ที่เริ่มเจริญเมตตาแม้ในขณะนี้เอง
- โสภณธรรม ครั้งที่ 001
- โสภณธรรม ครั้งที่ 002
- โสภณธรรม ครั้งที่ 003
- โสภณธรรม ครั้งที่ 004
- โสภณธรรม ครั้งที่ 005
- โสภณธรรม ครั้งที่ 006
- โสภณธรรม ครั้งที่ 007
- โสภณธรรม ครั้งที่ 008
- โสภณธรรม ครั้งที่ 009
- โสภณธรรม ครั้งที่ 010
- โสภณธรรม ครั้งที่ 011
- โสภณธรรม ครั้งที่ 012
- โสภณธรรม ครั้งที่ 013
- โสภณธรรม ครั้งที่ 014
- โสภณธรรม ครั้งที่ 015
- โสภณธรรม ครั้งที่ 016
- โสภณธรรม ครั้งที่ 017
- โสภณธรรม ครั้งที่ 018
- โสภณธรรม ครั้งที่ 019
- โสภณธรรม ครั้งที่ 020
- โสภณธรรม ครั้งที่ 021
- โสภณธรรม ครั้งที่ 022
- โสภณธรรม ครั้งที่ 023
- โสภณธรรม ครั้งที่ 024
- โสภณธรรม ครั้งที่ 025
- โสภณธรรม ครั้งที่ 026
- โสภณธรรม ครั้งที่ 027
- โสภณธรรม ครั้งที่ 028
- โสภณธรรม ครั้งที่ 029
- โสภณธรรม ครั้งที่ 030
- โสภณธรรม ครั้งที่ 031
- โสภณธรรม ครั้งที่ 032
- โสภณธรรม ครั้งที่ 033
- โสภณธรรม ครั้งที่ 034
- โสภณธรรม ครั้งที่ 035
- โสภณธรรม ครั้งที่ 036
- โสภณธรรม ครั้งที่ 037
- โสภณธรรม ครั้งที่ 038
- โสภณธรรม ครั้งที่ 039
- โสภณธรรม ครั้งที่ 040
- โสภณธรรม ครั้งที่ 041
- โสภณธรรม ครั้งที่ 042
- โสภณธรรม ครั้งที่ 043
- โสภณธรรม ครั้งที่ 044
- โสภณธรรม ครั้งที่ 045
- โสภณธรรม ครั้งที่ 046
- โสภณธรรม ครั้งที่ 047
- โสภณธรรม ครั้งที่ 048
- โสภณธรรม ครั้งที่ 049
- โสภณธรรม ครั้งที่ 050