โสภณธรรม ครั้งที่ 006
ตอนที่ ๖
ลองอ่านใหม่อีก แล้วก็ลองพิจารณาส่วนที่ไม่เข้าใจ แม้แต่เรื่องของอุบาสิกา ซึ่งลูกถูกงูกัด ก็จะได้เห็นศรัทธาที่มั่นคงว่า การที่นางคิดว่า “ถ้าเราจะบอกว่า ลูกของเราถูกงูกัด ก็จะเป็นอันตรายแก่การฟังพระธรรม” ก็อาจจะทำให้คนอื่นพลอยวุ่นวายด้วย ใช่ไหม และก็ขณะที่ทุกคนกำลังมีโอกาสได้ฟังพระธรรมนั้น ก็อาจจะเป็นอุปสรรค ทำให้การฟังพระธรรมนั้นหยุดชะงักลงได้ ซึ่งถ้าแลกกันแล้วก็คิดว่า การฟังพระธรรมซึ่งเป็นโอกาสที่หายากนี้ ควรจะมีมากกว่าที่จะมีความทุกข์ ความกังวลใจในเรื่องของลูก ซึ่งนางเป็นผู้ที่มีความมั่นคงในกรรมจริงๆ ว่า การที่ลูกจะถูกงูกัด ก็ต้องเป็นกรรม และการที่ลูกจะตาย ถ้าจะถึงเวลาตาย ก็ไม่สามารถที่จะช่วยได้ แต่ด้วยศรัทธาที่มั่นคง เมื่อได้บรรลุโสดาบัน เมื่ออรุณขึ้นแล้ว ก็ได้ทำลายพิษงูในบุตรด้วยสัจจกิริยา
ผู้ฟัง ขอเรียนถามปัญหาเกี่ยวกับอุบาสิกาที่ฟังธรรมแล้วบุตรโดนงูกัดนั้น คือว่าพระสูตรนี้เป็นตัวอย่างที่ดีของผู้ที่มีความตั้งมั่นมีศรัทธาในครั้งพุทธกาล แต่ในสมัยปัจจุบันนี้ ถึงแม้เหตุการณ์อย่างนี้จะไม่มีเกิดขึ้น แต่ว่าผู้ที่ศึกษาบางครั้งก็มีความคิดเห็นไปอีกแง่หนึ่ง เห็นว่าการที่ทำอย่างนั้นเป็นการเอาตัวรอดเฉพาะตนบ้าง เป็นการไม่เห็นแก่ประโยชน์ของผู้อื่น มุ่งที่จะเจริญสมณธรรม โดยไม่เห็นกับว่าผลเสียหรือโทษจะเกิดกับผู้อื่น ซึ่งโดยส่วนตัวเองก็เคยโดนเรื่องนี้เหมือนกัน ก็ไม่ทราบจะหาเหตุผลอย่างไรมากล่าวแก้เขาดี
ท่านอาจารย์ ในขณะที่ฟังพระธรรมนี้ ก็มีความเข้าใจในพระธรรม พระธรรมที่ทรงแสดงก็แสดงเรื่องของสภาพธรรมที่เป็นอนัตตา เพราะฉะนั้น สิ่งใดๆ ก็ตามที่เกิดขึ้นในขณะนั้น ในเวลานั้น และแม้ในขณะนี้ก็เป็นอนัตตาด้วย โดยเฉพาะเรื่องของวิบากจิต ถ้าปราศจากกรรมแล้วก็ย่อมจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น การที่ลูกถูกงูกัดเป็นกรรมแน่นอน แล้วก็ถ้าถึงคราวที่ลูกจะตาย แม้ว่าจะโวยวาย หรือว่าทำให้คนอื่นรู้ว่าลูกถูกงูกัด ลูกก็ต้องตายอยู่ดี ถ้าถึงคราวที่ลูกจะตาย แต่ถ้ายังไม่ถึงคราวที่ลูกจะตาย และก็มีโอกาสที่จะได้ฟังพระธรรมซึ่งเป็นสิ่งซึ่งได้ฟังโดยยาก และถ้านางให้คนอื่นทราบว่า ลูกของนางถูกงูกัด ก็อาจจะทำให้การฟังธรรมนั้นต้องสิ้นสุดลงก็ได้เจ้า เพราะฉะนั้น เพื่อเห็นแก่ประโยชน์ของการฟังพระธรรมทั้งของนางเองและคนอื่น
ผู้ฟัง ก็ยังดีอยู่ที่ว่าในพระสูตรตอนท้ายนั้น ก็คุณโยมอุบาสิกาก็ยังสามารถช่วยให้บุตรนั้นรอดชีวิตได้ แต่สมมติว่ามีเหตุการณ์เกิดขึ้นในลักษณะที่จะต้องเลือกฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งๆ ธรรม และก็สอง ชีวิตของบุตร ในกรณีอย่างนี้แล้วก็ สมมติว่าเราเลือกธรรม และเราก็ไม่ได้ปฏิบัติการช่วยเหลือตามควรเลยอะไรอย่างนี้ ก็จะถูกชาวโลกในสังคมสมัยปัจจุบันมองไปอีกแง่หนึ่ง แทนที่จะเห็นไปในทางกุศล แต่กลับเห็นไปในทางอกุศล อาจจะคิดว่า ธรรมของพระพุทธองค์เป็นธรรมที่สอนให้คนหลีกเร้น และก็ปฏิเสธปัญหาของสังคม ปฏิเสธสิ่งที่ตนเองจะต้องรับผิดชอบ อะไรอย่างนี้ ซึ่งถ้าผู้ที่ไม่เข้าใจธรรม ก็ยากที่จะอธิบาย
ท่านอาจารย์ ต้องแล้วแต่กาละ เพราะเหตุว่าในขณะนั้นเป็นกาละของการฟังพระธรรม หรือว่าเป็นในกาละอื่น ในขณะนี้บางท่านอาจจะรู้สึกไม่ค่อยสบายก็ได้ แต่ก็ไม่บอกใคร ก็นั่งฟังพระธรรมต่อไป โดยที่ว่าเกรงว่าคนอื่นจะต้องพลอยวุ่นวายด้วย หรือว่าไม่ได้ฟังพระธรรมต่อไป ก็ย่อมเป็นไปได้ ถ้าเทียบจากสิ่งที่เล็กน้อยที่สุดไปจนถึงสิ่งที่ใหญ่ที่สุด เพื่อแสดงระดับของศรัทธา เพราะเหตุว่าถ้าไม่ใช่อุบาสิกาท่านนั้น เป็นบุคคลท่านอื่น ก็จะไม่ทำอย่างนั้น แต่เมื่ออุบาสิกาท่านนั้นทำอย่างนั้น แสดงถึงศรัทธาและความเชื่อมั่นในกรรม และเมื่อหมดเวลาของการฟังพระธรรมแล้ว อุบาสิกาก็ได้ทำหน้าที่ของอุบาสิกา คือ การช่วยเหลือบุตรด้วยสัจจกิริยา เพราะเหตุว่านางได้บรรลุคุณธรรมเป็นพระโสดาบัน แล้วก็มีกุศลศรัทธาถึงอย่างนั้นในขณะที่เห็นลูกถูกงูกัด
ถ้าใครเห็นผู้ซึ่งเป็นที่รัก ที่เคารพนับถือ จะเป็นมารดา บิดา หรือว่าบุตร มิตรสหายก็ตามแต่ กำลังได้รับภัย อาจจะเป็นจากความเจ็บไข้ได้ป่วย หรือว่าความทุกข์เดือดร้อนประการใด และจิตในขณะนั้นหวั่นไหวหรือไม่หวั่นไหว ถ้าเป็นอกุศลจะดีไหม เศร้าโศก เสียใจ เดือดร้อนดีไหม หรือว่าเป็นผู้ที่ไม่ปราศจากสติและปัญญา ในขณะนั้นยังสามารถที่จะระลึกถึงกรรมได้ และพร้อมกันนั้นในขณะนั้นก็ยังรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ด้วย อาศัยสัจจะ คือ ความรู้สึกจริงใจในขณะนั้น สามารถที่จะช่วยเหตุการณ์นั้นได้ เมื่อยังไม่ถึงคราวที่กรรมอื่นจะให้ผล
เพราะฉะนั้น ถ้าเข้าใจเหตุกับผลให้ตรงกัน คือว่าอกุศลกรรมทั้งหลายย่อมเป็นปัจจัยให้เกิดอกุศลวิบาก และกุศลกรรมทั้งหลายก็มีกำลังที่จะเป็นปัจจัยให้เกิดกุศลวิบาก ก็แล้วแต่ระดับขั้นของกุศลนั้น และแล้วแต่ระดับขั้นของความจริงใจซึ่งเป็นสัจจะนั้น
เรื่องของการที่กรรมจะให้ผล ไม่มีใครที่สามารถจะพยากรณ์ได้ว่า ถึงเวลาที่กุศลกรรมจะให้ผล โรคภัยไข้เจ็บใดๆ ก็อาจจะหายไปหมดได้ หรืออาจจะทุเลาขึ้นก็ได้ แล้วแต่ขั้นของกุศลกรรมนั้น เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องของจิต เจตสิก รูป เป็นเรื่องของสภาพธรรมจริงๆ แต่สำหรับอุบาสิกาท่านนั้น ท่านมองเห็นโทษว่า ถ้าบุคคลอื่นรู้ว่าลูกท่านถูกงูกัด ก็จะทำลายการฟังธรรมในขณะนั้น ซึ่งขณะนั้นคนอื่นจะคิดอย่างไร ก็ต้องแล้วแต่ แต่ว่าเมื่อเหตุการณ์นั้นผ่านไป เมื่อการฟังธรรมนั้นสิ้นสุดลง ท่านก็อาศัยสัจจะ คือ ความรู้สึกจริงใจของท่านในขณะนั้น ทำให้ลูกของท่านรอดพ้นจากอันตรายได้ ทำลายพิษงูได้
เรื่องของกรรมเป็นเรื่องที่ยากที่ใครจะรู้ผล ทั้งกุศลกรรมและอกุศลกรรม แต่ว่ากรรมก็มีทางของกรรมซึ่งคนอื่นคาดไม่ถึงว่าจะเป็นไปได้อย่างนั้นทั้งฝ่ายกุศลกรรมและอกุศลกรรม
ผู้ฟัง ในที่เมื่อกี้แสดงไว้ว่า สัจจกิริยานี้ อุบาสิกาได้แสดงสัจจกิริยาอะไร ในนั้นมีบอกไว้ไหม
ท่านอาจารย์ ไม่ได้กล่าวไว้ แต่ก็คงจะหมายความถึง ความรู้สึกของท่าน ความคิดของท่านในขณะที่ท่านเห็นลูกถูกงูกัด
ผู้ฟัง คือผมเคยฟังพระสูตรอยู่เรื่องหนึ่ง เรื่องการแสดงสัจจกิริยานั้น ต้องแสดงกันถึงทั้งสามีและภรรยา ช่วยกันแสดงใหญ่ ลูกถึงได้ฟื้นขึ้นมา ถ้าเป็นสมัยนี้ เขาคงจะไม่เชื่อกันเรื่องสัจจกิริยานี้
ท่านอาจารย์ กรรมมีทางของกรรมที่จะให้ผล ทั้งอกุศลกรรมและกุศลกรรม
เพราะฉะนั้น โดยมากเราจะเห็นทางอกุศลกรรม มีเหตุการณ์แปลกๆ ประหลาดๆ เกิดขึ้น ซึ่งไม่น่าจะเกิดเลย แต่ว่าเมื่อกรรมที่ได้กระทำแล้วเป็นปัจจัย ก็ย่อมจะทำให้ผู้นั้นได้รับผลของอกุศลกรรมนั้น อย่างนั้นๆ เฉพาะตนๆ ฉันใด ทางฝ่ายกุศลก็ต้องเป็นอย่างนั้น
ผู้ฟัง ผมคิดว่าอุบาสิกานั้นที่กำลังฟังอยู่นั้น ท่านก็ได้ๆ วิบากที่ดี คือหมายความว่าท่านจะต้องได้ฟังธรรมแน่ เพราะว่าอาจารย์เคยบอกว่า การเห็นก็ดี การได้ยินก็ดี เป็นวิบาก เพราะฉะนั้น ขณะนั้นวิบากของอุบาสิกาต้องดีแน่ ต้องได้ฟัง งูจะกัดก็คงจะยับยั้งไม่ได้ เพราะวิบากอันนั้นคงให้ผลแล้ว ท่านจะต้องฟังแล้วก็จะได้บรรลุ ส่วนเรื่องแสดงสัจจกิริยานี่ ผมเคยฟังเรื่องสัจจกิริยา ตัวผมเองก็มีแยะ ถ้าแสดงแล้วมีอภินิหารได้อย่างนั้น หรือว่ามันหาย แต่ว่ากำลังของเราคงไม่เพียงพอ เลยคิดว่า ไม่อยากจะแสดงอะไรกับใคร เรื่องสัจจกิริยา ฟังๆ ดูแล้วจะเป็นอิทธิฤทธิหรือเปล่า เรื่องสัจจกิริยา
ท่านอาจารย์ เป็นผลของกุศล
ผู้ฟัง เป็นผลของกุศลกรรม
ท่านอาจารย์ เพราะกุศลกรรมนี้เป็นสภาพธรรมที่มีกำลังตามสภาพของกุศลนั้นๆ ที่จะให้ผล แล้วแต่ว่ากุศลนั้นมีกำลังแค่ไหน
ผู้ฟัง ถ้าพูดถึงสัจจกิริยาอย่างที่คุณอดิศักดิ์สงสัยนี้ กระผมก็อยากจะกราบเรียนขออนุญาตท่านอาจารย์ด้วยว่า กระผมนึกถึงวัฏฏกปริตร หรือพระปริตรที่ว่าด้วยนกคุ่ม คือ นกคุ่มนี้ตามประวัติว่า เพิ่งจะออกจากไข่ใหม่ๆ ปีกก็ยังบินไม่มี ขนก็ยังเล็กอ่อนๆ อยู่ ขาแข้งก็ยังไม่แข็งแรง ที่จะบินได้ แล้วก็เกิดไฟป่าไหม้มาๆ จวนจะถึงอยู่แล้ว แม่ก็ออกไปหาอาหาร พ่อก็ออกไปหาอาหาร แม่พ่อไม่อยู่ ลูกนกคุ่มก็ตั้งสัจจกิริยา สัจจกิริยานี้พูดตามศัพท์แล้วก็หมายความว่า ทำความจริงหรือพูดความจริง เช่นในนั้นบอกว่า
สนฺติ ปกฺขา อปตฺตนา มาตา ปิตา จ นิกฺขนฺตา มารดาบิดาก็ไม่อยู่ออกไปข้างนอก สนฺติ ปกฺขา อปตฺตนา ปีกมีอยู่แต่ว่าขนยังไม่มียังบินไม่ได้ แล้วก็เท้าก็มีแต่ว่ายังไม่แข็งแรง และก็ด้วยการทำสัจจกิริยาอย่างนี้ ไฟป่าหยุดเลย ไหม้มาไม่ถึง ที่อินเดียนี่ เดี๋ยวนี้ยังอยู่หรือเปล่าไม่ทราบ คือ ป่าที่นั่นเขาบอกว่าเวลาไฟไหม้มาถึง แล้วจะดับไม่ไหม้ อันนี้เป็นความหมายของคำว่าสัจจกิริยา คือ พูดความจริง ความจริงที่พูดมีอะไรก็พูดออกไป เช่นอย่างนกคุ่มลูกนกคุ่มพูด พูดว่าแม่ไม่อยู่ แล้วก็ปีกมี แต่ว่าไม่มีขน แล้วก็ขามีแต่ว่ายังไม่แข็งแรง ที่จะบินไหนได้ หนีไม่พ้นพูดง่ายๆ คือ ด้วยสัจจกิริยานี้ ขอไฟจงหยุด แค่นี้ไฟก็หยุด
ท่านอาจารย์ ไม่ทราบว่ามีใครคิดจะใช้สัจจกิริยาอะไรบ้างหรือเปล่า หรือว่าจะนึกไม่ออกเวลาที่มีภัยอันตราย แต่ก็คงจะได้ยินเรื่องเล่าจากญาติมิตรสหายหลายท่านเหมือนกัน ว่าเวลาที่ท่านได้รับอันตราย ท่านรอดพ้นจากอันตรายนั้นด้วยอะไร อย่างท่านหนึ่ง คราวที่เรือล่ม แล้วท่านก็อยู่ใต้แพ ซึ่งหลายคนก็จมน้ำตาย เพราะว่าออกจากใต้แพไม่ได้ ท่านระลึกถึงพระคุณของมารดา ขณะนั้นเองก็มีทางที่ออกจากใต้แพนั้นได้
เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องที่แต่ละท่านที่จะไม่ทราบทางของกรรม ทั้งที่เป็นกุศลและอกุศลที่จะให้ผล เพราะว่าสุดวิสัยที่ใครจะนึกฝันได้ว่า เหตุการณ์นั้นๆ จะเกิดขึ้นเป็นไปเพราะผลของกุศลกรรม หรืออกุศลกรรม แต่ไม่ว่าผลใดๆ จะเกิด ผู้ที่ยังจะต้องอยู่ในสังสารวัฏฏ์วนเวียนไป ก็รู้ว่าท่านมีทั้งอกุศลกรรมและกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้ว เพราะฉะนั้น จะหวั่นไหวหรือไม่หวั่นไหว ท่านก็จะต้องได้รับผลของกรรมนั่นแหละ จะเปลี่ยนแปลงผลของกรรมนั้นเป็นอย่างอื่นไม่ได้ เพียงแต่ว่าเมื่อได้รับผลของกรรมประเภทใด ก็ควรที่จะพิจารณาจิตในขณะนั้นว่า เป็นกุศลหรืออกุศล เพื่อที่จะได้ขัดเกลาอกุศล เพราะเหตุว่าเป็นของธรรมดา ที่ทุกคนก็ย่อมต้องได้รับผลของกุศลกรรมบ้าง อกุศลกรรมบ้างในวันหนึ่งๆ
อีกเรื่องหนึ่ง
เล่ากันมาว่า ภิกษุ ๓๐ รูป เข้าจำพรรษาบนเนิน ชื่อว่า ควรวาฬะ ทุกๆ กึ่งเดือน ในวันอุโบสถ จะพูดกันถึงมหาอริยวงศ์ ที่พรรณนาถึงการสันโดษด้วยปัจจัย ๔ และการยินดีในภาวนา
พระเถระผู้ถือบิณฑบาตเป็นวัตรรูปหนึ่ง มาภายหลังนั่งในที่กำบัง ลำดับนั้น งูขว้างคอนตัวหนึ่งได้มากัดท่านจนเนื้อหลุด เหมือนเอาคีมคีบเนื้อออกจากปลีแข้ง
พระเถระมองดูเห็นงูขว้างค้อน คิดว่า วันนี้ เราจักไม่ทำอันตรายแก่การฟังธรรม จับงูใส่ลงในย่าม ผูกปากย่ามไว้ แล้ววางไว้ในที่ไม่ไกล นั่งฟังธรรมอยู่ ขณะ อรุณนั่นเองพิษงูก็สงบ พร้อมกับพระเถระได้บรรลุผลทั้งสาม ถึงความเป็นพระอนาคามีบุคคล พิษงูไหลออกจากปากแผลลงดินไป พร้อมกับพระเถระผู้แสดงธรรมจบธรรมกถา ในขณะเดียวกันนั้นเอง
ต่อนั้นพระเถระได้พูดว่า อาวุโสทั้งหลาย เราจับโจรได้ตัวหนึ่งแล้วแก้ถุงย่ามออก ปล่อยงูขว้างค้อนไป ภิกษุทั้งหลายเห็นแล้วจึงถามว่างูกัดท่านเมื่อไร
ท่านก็ตอบให้ทราบว่า งูกัดท่านเมื่อเย็นวันวาน
ซึ่งพระเถระทั้งหลายที่ได้ฟัง ก็เห็นว่า เป็นการกระทำที่ทำได้ยากจริงๆ
สำหรับศรัทธาทั่วๆ ไป จะเห็นได้ว่ายังไม่มีกำลัง ยังไม่ชื่อว่า มั่นคง เพราะเหตุว่าศรัทธาเป็นสภาพธรรมที่เกิดแล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว และก็ศรัทธาที่ดับไปนั้น อาจจะไม่เกิดอีกนานทีเดียวก็ได้ เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงลักษณะของศรัทธาที่มีกำลังที่มั่นคง ในอังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต ปฐมปัณณาสก์ ทัฏฐัพพสูตร ข้อ ๑๕ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย กำลัง ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน คือ กำลัง คือศรัทธา ๑ กำลัง คือ วิริยะ ๑ กำลัง คือ สติ ๑ กำลัง คือ สมาธิ ๑ กำลัง คือ ปัญญา ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็พึงเห็นกำลัง คือ ศรัทธาในที่ไหน พึงเห็นในโสตาปัตติยัง คือ องค์ธรรมเป็นเครื่องให้บรรลุความเป็นพระโสดาอย่างหนึ่ง และองค์ธรรมคุณธรรมของพระโสดาบันบุคคลอีกอย่างหนึ่ง พึงเห็นกำลัง คือ ศรัทธาในที่นี้ พึงเห็นกำลัง คือวิริยะในที่ไหน พึงเห็นในสัมมัปปธาน ๔ พึงเห็นกำลัง คือ วิริยะในที่นี้ พึงเห็นกำลัง คือ สติในที่ไหน พึงเห็นในสติปัฏฐาน ๔ พึงเห็นกำลัง คือ สติในที่นี้ พึงเห็นกำลังคือสมาธิในที่ไหน พึงเห็นในฌาน ๔ พึงเห็นกำลัง คือ สมาธิในที่นี้ พึงเห็นกำลัง คือ ปัญญาในที่ไหน พึงเห็นในอริยสัจจ์ ๔ พึงเห็นกำลัง คือ ปัญญาในที่นี้
ดูกรภิกษุทั้งหลาย กำลัง ๕ ประการนี้แล ฯ
จบสูตรที่ ๕
เพราะฉะนั้น ก็ทราบได้ว่า ศรัทธาของท่านถึงความเป็นพละหรือว่ายังไม่ถึง
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็พึงเห็นกำลัง คือ ศรัทธาในที่ไหน พึงเห็นในโสตาปัตติยัง คือ องค์เป็นเครื่องให้บรรลุความเป็นพระโสดา ๔ ได้แก่
การคบสัตบุรุษ ๑ ฟังธรรมของท่าน ๑ พิจารณาธรรม ๑ ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ๑
สำหรับโสตาปัตติยัง ซึ่งเป็นคุณธรรมของพระโสดาบัน ๔ คือ
ความเลื่อมใสมั่นคงในพระรัตนตรัย ในพระพุทธรัตนะ ๑. ในพระธรรมรัตนะ ๑ในพระสังฆรัตนะ ๑ และในศีล ๑
เพราะเหตุว่าท่านเป็นผู้ที่ไม่ล่วงศีล ๕ เลย
เพราะฉะนั้น ศรัทธาของแต่ละท่านในแต่ละวันนี้ ก็จะต้องอบรมจนกว่าจะมีกำลังที่เป็นพละอย่างนั้น
ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า พึงเห็นกำลัง คือวิริยะในที่ไหน พึงเห็นในสัมมัปปธาน ๔ พึงเห็นกำลัง คือ วิริยะในที่นี้
วิริยะ คือ ความพากเพียรในการเจริญกุศล ในการเจริญปัญญา ถ้าท่านผู้ใดยังไม่เกิดสัมมาสติระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่เห็นวิริยะ ซึ่งจะต้องอดทนจริงๆ จะต้องมีความเพียรที่จะระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ลองคิดดูก็แล้วกันว่า ขณะนี้สภาพธรรมกำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ วิริยะ ความเพียรที่จะระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จะมีกำลังเมื่อเป็นสัมมัปปธาน เกิดร่วมกับสติปัฏฐาน ระลึกลักษณะของสภาพธรรม ซึ่งยากจริงๆ ใช่ไหม ให้ทำอย่างอื่นชั่วโมงหนึ่งก็เสร็จ หรือว่า ๓ วันก็เสร็จ อาทิตย์หนึ่งก็เสร็จ เดือนหนึ่งก็เสร็จ แต่ว่าการที่จะอบรมเจริญปัญญา ที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรม ต้องอาศัยวิริยะที่เป็นสัมมัปปธานที่เกิดร่วมกับสติปัฏฐาน
เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นวิริยะ ความเพียร ซึ่งจะต้องเพียรไปทุกชาติ จนกว่าจะประจักษ์ลักษณะที่เกิดดับของสภาพธรรมที่กำลังเกิดดับในขณะนี้ได้
พึงเห็นกำลัง คือ สติในที่ไหน พึงเห็นในสติปัฏฐาน ๔
สติวันหนึ่งๆ ที่เกิด เป็นไปในทานก็น้อยครั้ง เป็นไปในศีลก็น้อยครั้ง แต่ว่าสภาพธรรมกำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เพราะฉะนั้น จะเห็นกำลังของสติ เมื่อสติสามารถจะระลึกได้ในขณะนี้นั่นเอง ถ้าสติสามารถที่จะระลึกได้ ก็เรียกว่าเป็นสติที่มีกำลัง
พึงเห็นกำลังคือสมาธิในที่ไหน พึงเห็นในฌาน ๔
ถ้าพูดถึงความสงบของจิตที่มั่นคง ก็จะต้องเป็นไปในการอบรมเจริญสมถภาวนา เพราะเหตุว่าไม่ใช่ขณิกสมาธิที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏชั่วขณะ แต่จะต้องเป็นความสงบของจิต ที่ระลึกในอารมณ์ที่ทำให้สงบ จนกระทั่งจิตสงบเพิ่มขึ้นตามลำดับขั้น
พึงเห็นกำลัง คือ ปัญญาในที่ไหน พึงเห็นในอริยสัจจ์ ๔
ถ้าขณะใดที่รู้แจ้งลักษณะของอริยสัจจธรรม ก็แสดงว่าในขณะนั้นเป็นปัญญาที่มีกำลัง
ซึ่งประโยชน์ของศรัทธา จะเห็นได้ว่า ทำให้กุศลทั้งหลายเจริญขึ้น ตั้งแต่ขั้นของการฟัง และก็ขั้นที่จะพิจารณาตนเอง แก้ไขตนเอง โดยการที่ขัดเกลาอกุศลธรรมจนกระทั่งเป็นศรัทธาในการอบรมเจริญสติปัฏฐาน เพื่อที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม
ข้อความในอังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต พลวรรคที่ ๒ อนนุสสุตสูตร ข้อ ๑๑ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราบรรลุถึงบารมีอันเป็นที่สุด เพราะรู้ยิ่งในธรรมที่ไม่ได้สดับแล้วในกาลก่อน จึงปฏิญาณได้ กำลังของตถาคต ๕ ประการนี้ที่เป็นเหตุให้ตถาคตผู้ประกอบแล้ว ปฏิญาณฐานะของผู้เป็นหัวหน้า ผู้เป็นใหญ่ บันลือสีหนาทในบริษัท ประกาศพรหมจักร กำลัง ๕ ประการเป็นไฉน คือ กำลัง คือ ศรัทธา ๑ กำลัง คือ หิริ ๑ กำลัง คือ โอตตัปปะ ๑ กำลัง คือ วิริยะ ๑ กำลัง คือปัญญา ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย กำลังของตถาคต ๕ ประการนี้แล ที่เป็นเหตุให้ตถาคตผู้ประกอบแล้ว ปฏิญาณฐานะของผู้เป็นใหญ่ บันลือสีหนาทในบริษัท ประกาศพรหมจักร
แม้แต่พระผู้มีพระภาคเอง การที่จะตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็จะต้องอาศัยศรัทธา หิริ โอตตัปปะ วิริยะ ปัญญา เป็นพละ คือ เป็นสภาพธรรมที่มีกำลัง มิฉะนั้น ก็ไม่สามารถที่จะบรรลุได้
สำหรับศรัทธาของผู้ที่เป็นสาวก ข้อความในวิตถตสูตร ข้อ ๑๔ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย กำลัง ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน คือ กำลัง คือ ศรัทธา ๑ กำลัง คือ วิริยะ ๑ กำลัง คือ สติ ๑ กำลัง คือ สมาธิ ๑ กำลัง คือ ปัญญา ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย กำลัง คือ ศรัทธาเป็นไฉน อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศรัทธา ย่อมเชื่อพระปัญญาตรัสรู้ของพระตถาคตว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเป็นพระอรหันต์ ข้อความละต่อไป เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม นี้เรียกว่ากำลัง คือ ศรัทธา
ท่านผู้ฟังเป็นอย่างนี้หรือเปล่า มีศรัทธา ความเชื่อในการตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาค หรือว่ายังสงสัย ยังคิดว่าเป็นไปไม่ได้ ยังคิดว่าไม่จริง ที่สภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้เกิดขึ้นแล้วดับไป
นี่เป็นความต่างกันของผู้ฟังพระธรรม แล้วก็พิจารณาในเหตุผล กับผู้ที่ไม่ได้ฟัง หรือว่าผู้ที่ได้ฟังแล้วไม่ได้พิจารณาโดยละเอียด ข้อที่จะรู้ได้ คือ การปฏิบัติ ถ้าเป็นผู้ที่เชื่อแน่ว่า พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ซึ่งเป็นสังขารธรรม ซึ่งกำลังเกิดดับทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจตามปกติ ถ้าเชื่ออย่างนี้จริงๆ ผู้นั้นปฏิบัติไม่ผิด คือ เป็นผู้ที่มีปกติระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จากการไม่รู้เลยในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม จนกระทั่งรู้โดยการฟัง เป็นปัจจัยให้สติเกิดระลึก แล้วก็ระลึกที่ลักษณะของสภาพธรรม แล้วก็สังเกตพิจารณา แม้ว่ายังไม่สามารถที่จะแยกลักษณะที่ต่างกันของนามธรรมและรูปธรรมได้ แต่โดยการฟังบ่อยๆ รู้ว่าสภาพรู้เป็นอย่างหนึ่ง ธาตุรู้เป็นอย่างหนึ่ง ไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏทางตา ถ้าไม่หลงลืม ระลึกได้ ก็เป็นผู้ที่มีความเชื่อในพระปัญญาคุณของพระผู้มีพระภาค เพราะว่าเป็นผู้ที่ปฏิบัติธรรมตามที่พระองค์ทรงแสดง
ก็กำลัง คือ วิริยะเป็นไฉน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ปรารภความเพียรเพื่อละอกุศลธรรม ... ไม่ทอดธุระในกุศลธรรมทั้งหลาย นี้เรียกว่ากำลัง คือ วิริยะ
ดูสั้นๆ ใช่ไหม และก็ข้อความในพระไตรปิฎก ก็มักจะละ เพราะว่าท่านผู้ฟังที่อ่านก็จะเบื่อ หรือว่าท่านผู้ฟังที่ฟังก็อาจจะเบื่อ แต่ว่าเวลาที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ทรงชี้ให้เห็นสิ่งที่ กำลังมี กำลังปรากฏในขณะนั้น ซึ่งละไม่ได้ จะต้องทรงแสดงโดยครบถ้วน แต่ว่าเมื่อข้อความซ้ำกันข้อความในพระไตรปิฎกก็จะละไว้ เพราะเหตุว่าได้กล่าวถึงแล้ว และก็มีปรากฏในที่อื่นๆ และก็ท่านผู้ฟังก็คงจะได้ทราบแล้ว แต่ก็เห็นได้ว่า วิริยะของใครมีมากในการที่จะขัดเกลาอกุศล สิ่งที่ไม่ดี ไม่มีคนอื่นจะเอาออกไปได้ นอกจากสติระลึกได้ และก็รู้ว่าเป็นอกุศลขณะใดก็เกิดศรัทธา และความเพียรที่จะขัดเกลาในขณะนั้น
ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็กำลัง คือ สติเป็นไฉน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีสติ ประกอบด้วยสติเครื่องรักษาตัวชั้นเยี่ยม ระลึกตามแม้สิ่งที่ทำ แม้คำที่พูดไว้นานได้ นี้เรียกว่ากำลัง คือ สติ
ผู้ฟัง อยากจะขอให้ท่านอาจารย์ขยายความเรื่องความเลื่อมใสในพระพุทธ ๑ พระธรรม ๑ พระสงฆ์ ๑ และในศีล ๑ ที่ว่าเป็นโสตาปัตติยัง หมายความว่าเป็นองค์ที่จะให้ได้บรรลุโสตาปัตติผลนี้
- โสภณธรรม ครั้งที่ 001
- โสภณธรรม ครั้งที่ 002
- โสภณธรรม ครั้งที่ 003
- โสภณธรรม ครั้งที่ 004
- โสภณธรรม ครั้งที่ 005
- โสภณธรรม ครั้งที่ 006
- โสภณธรรม ครั้งที่ 007
- โสภณธรรม ครั้งที่ 008
- โสภณธรรม ครั้งที่ 009
- โสภณธรรม ครั้งที่ 010
- โสภณธรรม ครั้งที่ 011
- โสภณธรรม ครั้งที่ 012
- โสภณธรรม ครั้งที่ 013
- โสภณธรรม ครั้งที่ 014
- โสภณธรรม ครั้งที่ 015
- โสภณธรรม ครั้งที่ 016
- โสภณธรรม ครั้งที่ 017
- โสภณธรรม ครั้งที่ 018
- โสภณธรรม ครั้งที่ 019
- โสภณธรรม ครั้งที่ 020
- โสภณธรรม ครั้งที่ 021
- โสภณธรรม ครั้งที่ 022
- โสภณธรรม ครั้งที่ 023
- โสภณธรรม ครั้งที่ 024
- โสภณธรรม ครั้งที่ 025
- โสภณธรรม ครั้งที่ 026
- โสภณธรรม ครั้งที่ 027
- โสภณธรรม ครั้งที่ 028
- โสภณธรรม ครั้งที่ 029
- โสภณธรรม ครั้งที่ 030
- โสภณธรรม ครั้งที่ 031
- โสภณธรรม ครั้งที่ 032
- โสภณธรรม ครั้งที่ 033
- โสภณธรรม ครั้งที่ 034
- โสภณธรรม ครั้งที่ 035
- โสภณธรรม ครั้งที่ 036
- โสภณธรรม ครั้งที่ 037
- โสภณธรรม ครั้งที่ 038
- โสภณธรรม ครั้งที่ 039
- โสภณธรรม ครั้งที่ 040
- โสภณธรรม ครั้งที่ 041
- โสภณธรรม ครั้งที่ 042
- โสภณธรรม ครั้งที่ 043
- โสภณธรรม ครั้งที่ 044
- โสภณธรรม ครั้งที่ 045
- โสภณธรรม ครั้งที่ 046
- โสภณธรรม ครั้งที่ 047
- โสภณธรรม ครั้งที่ 048
- โสภณธรรม ครั้งที่ 049
- โสภณธรรม ครั้งที่ 050