โสภณธรรม ครั้งที่ 007
ตอนที่ ๗
หมายความว่าเป็นองค์ที่จะให้ได้บรรลุโสตาปัตติผลนี้ ความเลื่อมใสนี้ หมายถึงเลื่อมใสอย่างที่เราเคารพกราบไหว้บูชา หรือว่าเลื่อมใสในการรักษาศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๒๒๗ อย่างที่ทำอยู่นี้ หรือว่าขั้นไหน ที่จะเป็นถือว่าเป็นองค์คุณที่จะให้ได้เป็นพระโสดาบัน
ท่านอาจารย์ ท่านที่มีความเลื่อมใสในพระรัตนตรัย ถึงไตรสรณคมน์มี ๒ อย่าง คือ โลกียไตรสรณคมน์ กับโลกุตตรไตรสรณคมน์ ถ้าเป็นโลกียไตรสรณคมน์ ก็กล่าววาจาว่า ขอถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ แต่ว่าไม่มั่นคงเท่ากับผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจจธรรม เพราะเหตุว่าอาจจะเปลี่ยนแปลงได้ในวันใดวันหนึ่ง
บางท่านก็อาจจะเปลี่ยนความเชื่อ เห็นว่าคำสอนของพระผู้มีพระภาคไม่ได้ช่วยชีวิตของเขา คิดว่าถ้าไปเลื่อมใสในลัทธิคำสอนอย่างอื่น เขาอาจจะได้รับผลประโยชน์ตอบแทน อันนั้นก็เป็นสิ่งที่ทำให้ความเชื่อนั้นคลอนแคลนและก็ไม่มั่นคงได้
แต่สำหรับผู้ที่ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ โดยรู้แจ้งอริยสัจจธรรม เป็นพระอริยบุคคล ไม่มีวันที่จะเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าในภพไหน ชาติไหน เพราะเหตุว่าได้ประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ผู้ที่ยังไม่ประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง แม้ศรัทธาในการที่จะศึกษาและฟังพระธรรม ก็ยังเปลี่ยนได้ง่ายๆ บางวาระก็เป็นผู้ที่มีศรัทธามาก แล้วก็หายไปนาน ศรัทธาก็หายไป แล้วก็กลับมาใหม่ ก็เป็นไปได้ บางท่านก็ไม่กลับเลย บางท่านถึง ๒๐ ปีก็กลับมา แต่ว่าถ้าท่านสิ้นชีวิตก่อนถึง ๒๐ ปี ศรัทธาที่ท่านเคยมีแล้ว ก็ไม่ทราบว่าจะเจริญเติบโตต่อได้อีกหรือเปล่า ถ้าเกิดในภพภูมิซึ่งไม่มีคำสอนของพระผู้มีพระภาค บางท่านเคยฟังรายการธรรมเช้าค่ำ ไปๆ มาๆ ก็อาจจะเหลือแต่เช้า ค่ำไม่ฟัง ก็เป็นไปได้ นี่ก็เป็นเรื่องของศรัทธา
ผู้ฟัง ที่นี้เมื่อกี้นี้อาจารย์พูดตอนท้ายว่า วิริยะที่จะเป็นพละๆ ก็คงจะต้องเป็นวิริยะในสภาพธรรมตามความเป็นจริง ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
ท่านอาจารย์ ต้องได้แก่สัมมัปปธาน ซึ่งเกิดร่วมกับสัมมาสติ ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ
ผู้ฟัง อะไรๆ ก็คงจะไม่พ้นที่จะระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง
ท่านอาจารย์ ต้องอาศัยวิริยะมากมายจริงๆ วันนี้เกิดเท่าไร น้อยเหลือเกิน ใช่ไหม ก็ยังไม่ทอดทิ้งธุระ ยังไม่หมดหวัง ก็ยังมีวิริยะ ความพากเพียรต่อไปที่จะระลึกอีก แม้ว่าจะน้อยอีก วันหนึ่งๆ ที่สติจะเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมน้อยเท่าไรก็ตาม ก็ไม่สิ้นวิริยะ ที่จะระลึกต่อไปอีกเรื่อยๆ เพราะฉะนั้น วิริยะที่ได้สะสมที่เป็นสัมมัปปธาน ก็จะเป็นวิริยะพละ เป็นวิริยะที่มีกำลัง มีข้อสงสัยในเรื่องของกำลัง คือ สติ ไหม ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีสติประกอบด้วยสติเครื่องรักษาตัวชั้นเยี่ยม ระลึกตามแม้สิ่งที่ทำ แม้คำที่พูดไว้นานได้ นี้เรียกว่ากำลัง คือ สติ
ผู้ฟัง กำลังจะเรียนถาม ที่ว่า มีสติระลึกได้แม้สิ่งที่ล่วงมานานแล้วนี่ ไม่ทราบว่าจะเป็นสติปัฏฐานด้วยหรือเปล่า
ท่านอาจารย์ ไม่จำเป็น ทุกคนคิดทุกวัน และก็บางคนก็คิดถึงเรื่องในอดีต แล้วก็เคยทำอะไร เคยพูดอะไร ก็จำได้ แต่ตามปกติธรรมดานั้น จิตที่ระลึกนั้นเป็นอกุศล แล้วแต่ว่าจะระลึกด้วยโลภะ ความพอใจ หรือว่าระลึกด้วยความขุ่นเคืองใจ ความไม่สบายใจ นั่นเป็นการระลึกด้วยโลภมูลจิตบ้าง โทสมูลจิตบ้าง แต่สำหรับสติแล้วล่ะก็ จะต้องเป็นการระลึกด้วยกุศล สภาพของจิตที่ระลึกต้องเป็นกุศล แม้ว่าจะระลึกถึงสิ่งที่ได้เคยทำ หรือว่าคำที่ได้เคยพูดไว้ เพื่อพิจารณาว่าถูกหรือผิดประการใด แล้วแก้ไข ถ้ายังจะระลึกถึงสิ่งที่เคยทำไม่ดี มีประโยชน์ไหม ถ้าระลึกด้วยความกังวล แล้วก็ขุ่นข้องใจ ขณะนั้นเป็นวิตกเจตสิก ไม่ใช่สติ แต่ว่าถ้าในขณะนั้นระลึกแล้วเห็นว่า เป็นสิ่งที่ไม่ดี แล้วก็รู้ด้วยว่า ไม่ควรที่จะกระทำอีกต่อไป ในขณะนั้นก็เป็นมหากุศลที่ระลึกเรื่องที่ได้เคยทำหรือว่าคำที่ได้เคยพูดไว้
ผู้ฟัง หมายความว่าต้องเป็นไปในทางกุศลอย่างเดียว
ท่านอาจารย์ แน่นอน ถ้าเป็นสติแล้วต้องเป็นกุศล มิฉะนั้นแล้วก็เป็นลักษณะของวิตกเจตสิก
ผู้ฟัง แล้วในขณะที่สติเกิด จะมีสัมปชัญญะร่วมทุกครั้งหรือเปล่า
ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นมหากุศลญาณวิปปยุตต์ไม่มี
ผู้ฟัง รวมทั้งส่วนใหญ่แล้วที่เข้าใจว่า สติ ที่เป็นความระลึกได้ และที่ใช้คำว่าสัมปชัญญะ ความรู้ตัวนี่ ไม่เข้าใจว่าต้องแยกกันหรือเปล่า
ท่านอาจารย์ ต้องแยกกัน เวลาที่กล่าวถึงสติสัมปชัญญะ และลักษณะของสติสัมปชัญญะ จะแยกเลยว่า ลักษณะของสติเป็นอย่างไร กิจของสติเป็นอย่างไร อาการปรากฏของสติเป็นอย่างไร และก็ลักษณะของสัมปชัญญะเป็นอย่างไร กิจของสัมปชัญญะเป็นอย่างไร แต่ว่าเวลาที่พูดรวมกัน สติสัมปชัญญะต้องหมายความถึงสติเจตสิกและปัญญาเจตสิก ซึ่งในขณะใดที่มีความเข้าใจที่ถูกต้องเกิดขึ้น ในขณะนั้นไม่ใช่มีแต่สติเจตสิกเท่านั้น เมื่อมีการพิจารณาในเหตุผล และก็มีความเข้าใจในขณะนั้นก็ต้องเป็นสติสัมปชัญญะ คือ ต้องมีปัญญาเจตสิกซึ่งเป็นสัมปชัญญะเกิดร่วมกับสตินั้นด้วย
ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นในขณะที่เจริญสติปัฏฐาน คือสติเกิดแต่ละครั้งในขณะที่พิจารณารูปธรรมและนามธรรมก็ดี ในขณะนั้นชื่อว่า มีสัมปชัญญะด้วยใช่ไหม
ท่านอาจารย์ เวลาที่เป็นสติปัฏฐาน ธรรมดาแล้วก็จะต้องมีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วย ในขณะที่พิจารณาสังเกตลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แม้ว่าลักษณะของปัญญายังไม่ปรากฏชัด แต่ที่ปัญญาจะเจริญได้ ต้องเริ่มจากการสังเกต พิจารณา ศึกษาลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น ปัญญาก็เกื้อกูลกันเป็นลำดับขั้น
ผู้ฟัง แล้วเป็นไปได้ไหมเจริญพรอย่างเวลาที่ในขณะที่เห็นแล้วยังไม่ได้มีความรู้ในลักษณะหรือสภาวะสภาพรู้ในสิ่งที่เห็น แต่เกิดไประลึกรู้ในเสียงก่อนอย่างนี้
ท่านอาจารย์ รู้ในสิ่งไหน
ผู้ฟัง คืออย่างเห็นแล้ว ยังไม่ทราบว่าเป็นสิ่งอะไร เป็นบัญญัติอะไร แต่ว่าในขณะนั้นเกิดได้ยินเสียง แล้วก็ไประลึกรู้ที่เสียงก่อนอย่างนี้
ท่านอาจารย์ เป็นไปได้ไหมหรือ เป็นไปได้ เพราะเหตุว่าการรู้อารมณ์ทางทวารทั้ง ๕ แต่ละทวาร มีหลายวาระ บางวาระก็เป็นโมฆะวาระ คือ เป็นเพียงแค่อตีตภวังค์และภวังคจลนะ วิถีจิตไม่เกิดเลย บางวาระก็เป็นการรู้อารมณ์เพียงเล็กน้อยเท่านั้น คือ ชวนจิตไม่เกิด แต่การเห็น จักขุวิญญาณเกิดแล้ว สัมปฏิจฉนจิตเกิดแล้ว สันตีรณจิตเกิดแล้ว โวฏฐัพพนจิตเกิดแล้ว เพราะฉะนั้น ในขณะนั้นก็รู้สึกคล้ายว่าเห็น ขณะนั้นก็ยังไม่รู้ว่า สิ่งที่เห็นเป็นอะไร
ผู้ฟัง และในขณะผู้ที่เจริญสติปัฏฐาน จะทราบถึงทุกข์ได้อย่างไร ในขณะที่ระลึกรู้สภาพธรรมก็ตาม หรือว่าต้องไปทราบเฉพาะทุกขเวทนา ที่เกิดเป็นโทมนัสหรือเป็นทุกข์กายเท่านั้น
ท่านอาจารย์ สติปัฏฐานไม่ได้กล่าวไว้อย่างนั้นเลย สติปัฏฐานมี ๔ กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ระลึกลักษณะของรูปที่ปรากฏที่กาย เห็นกายว่าเป็นกาย ไม่ใช่เรา เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ระลึกลักษณะของสภาพความรู้สึกทุกชนิดที่กำลังปรากฏในขณะนั้น มีทั้งที่เป็นอุเบกขาเวทนา โสมนัสเวทนา หรือทุกขเวทนา หรือโทมนัสเวทนา แล้วแต่สภาพธรรมใดเกิดขึ้นและสติระลึก ไม่ใช่ว่าต้องไปรู้ทุกข์
ผู้ฟัง เป็นแต่เพียงกำหนดรู้เฉพาะที่เวทนาที่เกิดขึ้น ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ลักษณะของความรู้สึกที่กำลังมีในขณะนี้
ผู้ฟัง อาตมาเดินทางมาจากจังหวัดชลบุรี จากวัดญาณสังวราราม ตั้งใจไว้ตั้งแต่เมื่อวานนี้ แต่พอดี ตอนเช้ายังไม่ตื่น แต่ฝันว่ามาแล้ว มาตั้งแต่เช้าแล้วก็ยังฝันต่อไป ฝันว่าวันนี้กลับวัดไม่ทัน
ท่านอาจารย์ ก็เป็นสภาพของจิตคิดนึก
ขอกล่าวถึงข้อความในพระสูตรนี้ต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็กำลัง คือ สมาธิเป็นไฉน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌานมีวิตกวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ เพราะวิตกวิจารสงบไป บรรลุทุติยฌาน อันเป็นความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตกวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่ เพราะปีติสิ้นไป เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติ มีสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย บรรลุตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข บรรลุจตุตถฌาน อันไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุขและทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ นี้เรียกว่ากำลัง คือ สมาธิ
ก็กำลัง คือปัญญาเป็นไฉน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีปัญญา ประกอบด้วยปัญญาที่หยั่งถึงการเกิดและความดับ เป็นอริยะ ชำแรกกิเลส เป็นเครื่องให้ถึงความสิ้นไปแห่งทุกข์โดยชอบ นี้เรียกว่ากำลัง คือ ปัญญา
ดูกรภิกษุทั้งหลายกำลัง ๕ ประการนี้แล ฯ
จบสูตรที่ ๔
ศรัทธาที่มีอยู่ในชีวิตประจำวันนี้ เป็นสภาพธรรมที่เกิดกับกุศลจิต ไม่ว่าจะเป็นกุศลเล็กๆ น้อยๆ ประการใดทั้งสิ้น ถ้าศรัทธาไม่เกิดแล้วล่ะก็ กุศลกรรมนั้นก็เป็นไปไม่ได้เลย แต่ว่าบางท่านอาจจะกระทำไปโดยที่ไม่ได้สังเกต ไม่มีการระลึกได้ ว่าในขณะนั้นก็เป็นกุศลกรรม เมื่อเป็นผู้ที่ประกอบด้วยศรัทธา ก็ย่อมจะได้อานิสงส์ของศรัทธา ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ด้วย ไม่ใช่ว่าจะต้องรอผลไปจนถึงชาติหน้า
ข้อความในอังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต ศรัทธานิสังสสูตร ข้อ ๓๘ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรผู้มีศรัทธา ย่อมมีอานิสงส์ ๕ ประการ ๕ ประการเป็นไฉน คือ สัปบุรุษผู้สงบในโลกทุกๆ ท่าน เมื่อจะอนุเคราะห์ย่อมอนุเคราะห์ผู้มีศรัทธาก่อนผู้อื่น ย่อมไม่อนุเคราะห์ผู้ไม่มีศรัทธาก่อนผู้อื่น ๑ เมื่อจะเข้าไปหา ย่อมเข้าไปหาผู้มีศรัทธาก่อนผู้อื่น ย่อมไม่เข้าไปหาผู้ไม่มีศรัทธาก่อนผู้อื่น ๑ เมื่อจะต้อนรับ ย่อมต้อนรับผู้มีศรัทธาก่อนผู้อื่น ย่อมไม่ต้อนรับผู้ไม่มีศรัทธาก่อนผู้อื่น ๑ เมื่อจะแสดงธรรม ย่อมแสดงธรรมแก่ผู้มีศรัทธาก่อนผู้อื่น ย่อมไม่แสดงธรรมแก่ผู้ไม่มีศรัทธาก่อนผู้อื่น ๑ กุลบุตรผู้มีศรัทธาเมื่อตายไปแล้ว ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรผู้มีศรัทธาย่อมมีอานิสงส์ ๕ ประการนี้แล
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนต้นไทรใหญ่ที่ทางสี่แยก มีพื้นราบเรียบ ย่อมเป็นที่พึ่งของพวกนกโดยรอบ ฉันใด กุลบุตรผู้มีศรัทธาก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมเป็นที่พึ่งของชนเป็นอันมาก คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา
ต้นไม้ใหญ่ สล้างด้วยกิ่ง ใบ และผล มีลำต้นแข็งแรง มีรากมั่นคง สมบูรณ์ด้วยผล ย่อมเป็นที่พึ่งของนกทั้งหลาย ฝูงนกย่อมอาศัยต้นไม้นั้น ซึ่งเป็นที่รื่นรมย์ใจ ให้เกิดสุข ผู้ต้องการความร่มเย็น ย่อมเข้าไปอาศัยร่มเงา ผู้ต้องการผล ก็ย่อมบริโภคผลได้ ฉันใด ท่านผู้ปราศจากรา ปราศจากโทสะ ปราศจากโมหะ ไม่มีอาสวะ เป็นบุญเขตในโลก ย่อมคบหาบุคคลผู้มีศรัทธา ซึ่งสมบูรณ์ด้วยศีล ประพฤติถ่อมตน ไม่กระด้าง สุภาพ อ่อนโยน มีใจมั่นคง ฉันนั้นเหมือนกัน ท่านเหล่านั้นย่อมแสดงธรรมเครื่องบรรเทาทุกข์ทั้งปวงแก่เขา เขาเข้าใจทั่วถึงธรรมนั้นแล้ว ย่อมเป็นผู้หมดอาสวกิเลส ปรินิพพาน ฯ
จบสูตรที่ ๘
ต่อไปถ้าท่านมีความสนใจในการที่จะเผยแพร่พระธรรม ท่านก็ย่อมจะอนุเคราะห์เกื้อกูลบุคคลอื่นๆ ซึ่งมีความสนใจในธรรม เพราะเหตุว่าผู้ที่มีศรัทธาเปรียบเสมือนต้นไทรใหญ่ที่ทางสี่แยก มีพื้นราบเรียบ ย่อมเป็นที่พึ่งของพวกนกโดยรอบ ฉันใด กุลบุตรผู้มีศรัทธาก็ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะว่าถ้ามีศรัทธาที่จะอนุเคราะห์บุคคลอื่นในเรื่องธรรมนี้ ก็ย่อมมีหนทางที่จะทำได้ โดยการสนทนาธรรม และก็มีธรรมปฏิสันถาร
การสงเคราะห์ผู้ที่มีศรัทธาก่อน เป็นการสะดวก เป็นการที่จะทำให้เกิดประโยชน์โดยไม่ยาก ไม่เหมือนกับผู้ที่ไม่มีศรัทธา แม้ว่าจะพยายามชักจูงสักเท่าไร ก็อาจจะไม่มีความคิดที่จะเจริญกุศลก็ได้
ผู้ฟัง เวลานี้มีศรัทธาแล้ว แต่ยังตื่นตีสี่ครึ่งฟัง ตชด. ไม่ได้ อาจารย์ลองเพิ่มศรัทธาให้ผมหน่อย
ท่านอาจารย์ พยายามตื่น ตั้งนาฬิกาปลุก แล้วก็ฟังติดต่อกันสัก ๗ วัน
ผู้ฟัง ๗ วัน
ท่านอาจารย์ ให้เวลา ๗ วัน ซึ่งถ้าทำจริงๆ แล้ว ก็จะตื่นได้ เพราะว่าเคยมีท่านที่ ๖ โมงเช้าไม่ตื่น แล้วก็ต้องใช้นาฬิกาปลุก ฟังติดต่อกัน ๗ วัน ตั้งแต่นั้นมา ก็บอกว่าเหมือนมีนาฬิกาในหัวใจ
ผู้ฟัง ผมเคยพลิกตัวตื่นได้ ๓ วันติดต่อกัน พอนอนๆ คลาดเคลื่อนไป ก็เลยไม่ตื่นอีก ถ้านอนในเวลาปกติ รู้สึกพอตื่น พอรู้สึกตัว ตอนตีสี่กว่าๆ พอมองนาฬิกาแล้ว ถ้ามันใกล้ตีสี่ครึ่ง ผมก็ไม่นอนละ จะเปิดฟัง ได้ ๓ วัน อาจารย์บอกว่า เอาให้ได้ ๗ วัน
ทีนี้อีกเรื่องหนึ่ง ที่วันนั้นที่ผมได้พูดถึงเรื่อง ก็เกี่ยวกับศรัทธาเหมือนกัน ในการทำกุศลที่เกี่ยวกับการตักบาตร อาจารย์บอกว่าทำปีละครั้ง สองครั้ง แล้วเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ซึ่งผมได้เริ่มแล้วเมื่อเช้านี้ แต่กว่าจะลงมาได้ก็แทบแย่ แต่ให้ที่บ้านเขาช่วยจัดให้ ผมเองก็เพียงแต่ลุกขึ้นเท่านั้นเอง จากคำแนะนำของอาจารย์ ผมคิดว่า ผมจะลองดู ๗ วันนี่ ผมจะลองดู
ท่านอาจารย์ ก็ขออนุโมทนา แล้วท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า ผู้ที่มีศรัทธาย่อมชักนำให้คนอื่นมีศรัทธาด้วย ถ้าเป็นผู้ที่ไม่มีศรัทธา ผู้คนในบ้านก็ไม่มีศรัทธาด้วยเหมือนกัน แต่ถ้าหัวหน้าครอบครัวเป็นผู้ที่มีศรัทธาแล้ว ย่อมชักนำให้คนอื่นมีศรัทธาด้วย
ข้อความในอังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต สาลสูตร ข้อ ๔๐ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ต้นสาละใหญ่อาศัยขุนเขาหิมวันต์ ย่อมเจริญด้วยความเจริญ ๕ ประการ ๕ ประการเป็นไฉน คือ ย่อมเจริญด้วยกิ่งและใบ ๑ ย่อมเจริญด้วยเปลือก ๑ ย่อมเจริญด้วยกะเทาะ ๑ ย่อมเจริญด้วยกระพี้ ๑ ย่อมเจริญด้วยแก่น ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ต้นสาละใหญ่อาศัยขุนเขาหิมวันต์ ย่อมเจริญด้วยความเจริญ ๕ ประการนี้แล ฉันใด ชนภายในอาศัยเจ้าบ้านผู้มีศรัทธา ย่อมเจริญด้วยความเจริญ ๕ ประการ ฉันนั้นเหมือนกันแล ความเจริญ ๕ ประการเป็นไฉน คือ ย่อมเจริญด้วยศรัทธา ๑ ย่อมเจริญด้วยศีล ๑ ย่อมเจริญด้วยสุตะ ๑ ย่อมเจริญด้วยจาคะ ๑ ย่อมเจริญด้วยปัญญา ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ชนภายในอาศัยเจ้าบ้านผู้มีศรัทธา ย่อมเจริญด้วยความเจริญ ๕ ประการนี้แล ฯ
ต้นไม้ทั้งหลาย อาศัยบรรพตศิลาล้วนในป่าใหญ่ ย่อมเจริญขึ้นเป็นไม้ใหญ่ชั้นเจ้าป่า ฉันใด บุตร ภรรยา มิตร อำมาตย์ หมู่ญาติ และคนที่เข้าไปอาศัยเลี้ยงชีพทั้งหลายในโลกนี้ ได้อาศัยกุลบุตรผู้มีศรัทธา สมบูรณ์ด้วยศีล จึงเจริญได้ ฉันนั้นเหมือนกัน ชนเหล่านั้นเห็นศีล จาคะ และสุจริตทั้งหลายของกุลบุตรผู้มีศีล จาคะ และสุจริตนั้น เมื่อประจักษ์ชัดแล้ว ย่อมประพฤติตาม ชนเหล่านั้นครั้นประพฤติธรรมอันเป็นที่ไปสู่สวรรค์ สุคติ ในโลกนี้แล้ว ย่อมเป็นผู้เพลิดเพลิน เพียบพร้อมด้วยกาม บันเทิงใจในเทวโลก ฯ
จบสูตรที่ ๑๐
นี่ก็จะเห็นได้ว่า การกระทำของทุกท่านซึ่งเป็นหัวหน้าบ้าน หัวหน้าครอบครัวจะก่อให้เกิดกุศลจิตอีกหลายขณะสำหรับคนในบ้าน แม้แต่ในเรื่องการฟังธรรม ท่านอาจจะคิดว่า ท่านฟังคนเดียว แต่ถ้าเปิดแล้ว คนอื่นมีโอกาสที่จะได้ยินได้ฟังบ้าง แม้ว่าทีแรกอาจจะไม่สนใจ ฟังไปทีละเล็กทีละน้อย ย่อมจะเจริญด้วยศรัทธา ๑ เจริญด้วยศีล ๑ เจริญด้วยสุตะ ๑ เจริญด้วยจาคะ ๑ เจริญด้วยปัญญา ๑ ตามควรแก่การสะสมของแต่ละท่าน ซึ่งก็ไม่สามารถที่จะเร่งรัดบุคคลหนึ่งบุคคลใดได้ เพราะว่าแต่ละคนก็ต้องคอยกาลเวลาที่สมควร
เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ ซึ่งศรัทธาในวันหนึ่งๆ ถ้าสังเกตจะรู้ว่าเจริญขึ้นหรือว่าเสื่อมลง เฉพาะตัวก่อน แล้วจึงจะพิจารณาบุคคลอื่น ซึ่งถ้าพิจารณาบุคคลอื่น ก็ควรที่จะพิจารณาในลักษณะที่จะเป็นเครื่องเตือนใจ ให้ตนเองเป็นผู้ที่ไม่ประมาทที่จะเสื่อมศรัทธาเหมือนอย่างบุคคลที่เสื่อมศรัทธา หรือว่าควรจะเป็นผู้ที่มีศรัทธาเจริญขึ้น เหมือนท่านที่มีศรัทธาเจริญขึ้น ซึ่งเวลาที่ศรัทธาเจริญขึ้น จะเห็นได้ว่า มีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งตนเองก็สามารถที่จะสังเกตเห็นได้ หรือแม้คนอื่นก็สังเกตเห็นได้ อย่างกุศลที่บางท่านอาจจะทำได้ยาก แต่ว่าง่ายสำหรับคนอื่น ก็เห็นว่าเป็นสิ่งที่น่าจะเพิ่มกุศลอย่างนั้น ซึ่งคนอื่นเข้าใจว่าทำยาก แต่ทำไมคนอื่นทำได้สะดวก เพราะเหตุว่าสะสมมาจึงมีปัจจัยที่จะทำอย่างนั้น
แล้ววันหนึ่งทุกคนก็ต้องจากโลกนี้ไป ไม่รู้ไม่เห็นว่า มีสิ่งอะไรจะเกิดขึ้นต่อไปอีกในโลกนี้ แล้วก็โลกใหม่ที่จะไปสู่ ในขณะนี้ก็ไม่ปรากฏ ทั้งๆ ที่มีเหตุที่จะไปสู่โลกใหม่นั้นแล้ว แต่ตราบใดที่ยังอยู่ในโลกนี้ ก็ยังไม่สามารถที่จะรู้แน่ว่า จะไปสู่โลกไหน ต้องแล้วแต่กรรมของผู้ที่ได้กระทำไว้ ซึ่งก็มีทั้งกุศลกรรมและอกุศลกรรม แต่ถ้าเป็นผู้ที่มีศรัทธาเจริญขึ้นในโลกนี้ ข้อความในอังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต ปฐมปัณณาสก์ จุนทิสูตร ข้อ ๓๒ มีข้อความว่า
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวันกลันทกนิวาปสถานใกล้กรุงราชคฤห์ ครั้งนั้นแล ราชกุมารีชื่อว่าจุนที แวดล้อมด้วยรถ ๕๐๐ คัน และกุมารี ๕๐๐ คน เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ราชกุมารพระนามว่าจุนทะ พระภาดาของหม่อมฉัน กล่าวอย่างนี้ว่า หญิงหรือชายเป็นผู้ถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ ถึงพระธรรมเป็นสรณะ ถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ เว้นขาดจากปาณาติบาต เว้นขาดจากอทินนาทาน เว้นขาดจากกาเมสุมิจฉาจาร เว้นขาดจากมุสาวาท เว้นขาดจากการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ผู้นั้นตายไปแล้ว ย่อมเข้าถึงสุคติอย่างเดียว ไม่เข้าถึงทุคติ ดังนี้
หม่อมฉันจึงขอทูลถามว่า ผู้ที่เลื่อมใสในศาสดาเช่นไร เมื่อตายไปแล้วจึงเข้าถึงสุคติอย่างเดียว ไม่เข้าถึงทุคติ ผู้ที่เลื่อมใสในธรรมเช่นไร เมื่อตายไปแล้วจึงเข้าถึงสุคติอย่างเดียว ไม่เข้าถึงทุคติ ผู้ที่เลื่อมใสในสงฆ์เช่นไร เมื่อตายไปแล้วจึงเข้าถึงสุคติอย่างเดียว ไม่เข้าถึงทุคติ ผู้ที่ทำให้บริบูรณ์ในศีลเช่นไร เมื่อตายไปแล้ว จึงเข้าถึงสุคติอย่างเดียว ไม่เข้าถึงทุคติ ฯ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกรจุนที สัตว์ที่ไม่มีเท้าก็ดี มี ๒ เท้าก็ดี มี๔ เท้าก็ดี มีเท้ามากก็ดี มีรูปก็ดี ไม่มีรูปก็ดี มีสัญญาก็ดี ไม่มีสัญญาก็ดี มีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่ก็ดี มีประมาณเท่าใด พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า บัณฑิตกล่าวว่าเลิศกว่าสัตว์เหล่านั้น ชนเหล่าใดเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า ชนเหล่านั้นชื่อว่า เลื่อมใสในสิ่งที่เลิศ ก็วิบากอันเลิศย่อมมีแก่บุคคลผู้ที่เลื่อมใสในสิ่งที่เลิศ
ธรรมที่เป็นปัจจัยปรุงแต่งก็ดี ที่ปัจจัยไม่ปรุงแต่งก็ดี มีประมาณเท่าใด วิรา คือ ธรรมอันย่ำยีความเมา กำจัดความกระหาย ถอนเสียซึ่งอาลัย เข้าไปตัดวัฏฏะ เป็นที่สิ้นตัณหา เป็นที่คลายกำหนัด เป็นที่ดับ นิพพาน บัณฑิตกล่าวว่าเลิศกว่าธรรมเหล่านั้น ชนเหล่าใดเลื่อมใสในวิราคธรรม ชนเหล่านั้นชื่อว่าเลื่อมใสในสิ่งที่เลิศ ก็วิบากอันเลิศย่อมมีแก่บุคคลผู้เลื่อมใสในสิ่งที่เลิศ ฯ
หมู่ก็ดี คณะก็ดีมีประมาณเท่าใด สงฆ์สาวกของพระตถาคต คือ คู่แห่งบุรุษ ๔ บุรุษบุคคล ๘ นี้ สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ เป็นผู้ควรของทำบุญ เป็นผู้ควรทำอัญชลี เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า บัณฑิตกล่าวว่าเลิศกว่าหมู่หรือคณะเหล่านั้น ชนเหล่าใดเลื่อมใสในสงฆ์ ชนเหล่านั้นชื่อว่าเลื่อมใสในสิ่งที่เลิศ ก็วิบากอันเลิศย่อมมีแก่บุคคลผู้ที่เลื่อมใสในสิ่งที่เลิศ
ศีลมีประมาณเท่าใด ศีลที่พระอริยเจ้าใคร่แล้ว คือ ศีลที่ไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย เป็นไทย อันวิญญูชนสรรเสริญ อันตัณหาและทิฏฐิไม่ลูบคลำ เป็นไปเพื่อสมาธิ บัณฑิตกล่าวว่าเลิศกว่าศีลเหล่านั้น ชนเหล่าใดย่อมทำให้บริบูรณ์ในอริยกันตศีล ชนเหล่านั้นชื่อว่าทำให้บริบูรณ์ในสิ่งที่เลิศ ก็วิบากอันเลิศย่อมมีแก่บุคคลผู้ทำให้บริบูรณ์ในสิ่งที่เลิศ ฯ
บุญอันเลิศ คือ อายุ วรรณะ ยศ เกียรติ สุขและกำลัง ย่อมเจริญแก่บุคคลผู้รู้แจ้งธรรมที่เลิศ เลื่อมใสในสิ่งที่เลิศ คือ เลื่อมใสในพระพุทธเจ้าผู้เลิศ ผู้เป็นทักขิเณยบุคคลชั้นเยี่ยม เลื่อมใสในพระธรรมที่เลิศ อันปราศจากรา เป็นที่เข้าไปสงบ เป็นสุข เลื่อมใสในพระสงฆ์ผู้เลิศ เป็นนาบุญชั้นเยี่ยม ให้ทานในสิ่งที่เลิศ ปราชญ์ผู้ถือมั่นธรรมที่เลิศ ให้สิ่งที่เลิศ เป็นเทวดาหรือมนุษย์ ย่อมถึงสถานที่เลิศ บันเทิงใจอยู่ ฯ
จบสูตรที่ ๒
ท่านที่อยากจะได้ฟังพระธรรมจากพระโอษฐ์ที่พระวิหารเวฬุวัน หรือที่พระวิหารเชตวัน ก็จะได้ฟังสูตรนี้ คือ จุนทิสูตร ในอังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต ปฐมปัณณาสก์ ไม่ว่าในกาลสมัยไหน แม้ว่าจะ ๒๕๐๐ กว่าปีผ่านไปแล้ว ข้อความที่ท่านพระอานนท์ได้ทรงจำไว้ และท่านสาวกทั้งหลายก็ได้ทรงจำสืบๆ ต่อกันมา ก็เป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้น ก็ไม่รอกาลเวลาที่จะถึงอีกสมัยหนึ่งของพระพุทธเจ้าอีกพระองค์หนึ่ง ก็ยังมีโอกาสที่จะได้ฟังพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงไว้
ข้อความชัดเจน ถ้าเป็นผู้ที่เลื่อมใสในพระรัตนตรัย ย่อมเป็นผู้ที่น้อมประพฤติปฏิบัติตาม จนกระทั่งถึงการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม เมื่อนั้นก็ย่อมไม่เกิดในอบายภูมิ
ผู้ฟัง พระสูตรนี้ก็เริ่มจากถามว่า ทำอย่างไรจึงจะเข้าสู่สุคติโลกสวรรค์ สรุปแล้วก็คือต้องถึงพระรัตนตรัยนั่นเอง
ท่านอาจารย์ แล้วก็ถึงศีลที่พระอริยะทั้งหลายใคร่ คือศีลที่สัมปยุตด้วยมรรคและผล เพราะเหตุว่าทุกท่านอยากที่จะเป็นผู้มีศีล แต่ก็ยังมีบางกาลซึ่งอาจจะล่วงศีล เวลาที่ล่วงศีลแล้วจิตใจก็คงจะเดือดร้อนกระวนกระวาย อาจจะทำให้ระลึกถึงเหตุการณ์ที่ทำให้ล่วงศีล จิตใจก็กระสับกระส่าย แต่ผู้ที่สามารถจะมีพระรัตนตรัยเป็นสรณะ และน้อมประพฤติปฏิบัติตาม จนกระทั่งรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ศีลของท่านจะสมบูรณ์ คือ เป็นผู้ที่ไม่ล่วงศีล ๕ อันจะเป็นเหตุให้เกิดอกุศลกรรมบถที่จะทำให้เกิดในอบายภูมิ
ผู้ฟัง สรุปแล้วก็คือระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง
ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นผู้ที่ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ
- โสภณธรรม ครั้งที่ 001
- โสภณธรรม ครั้งที่ 002
- โสภณธรรม ครั้งที่ 003
- โสภณธรรม ครั้งที่ 004
- โสภณธรรม ครั้งที่ 005
- โสภณธรรม ครั้งที่ 006
- โสภณธรรม ครั้งที่ 007
- โสภณธรรม ครั้งที่ 008
- โสภณธรรม ครั้งที่ 009
- โสภณธรรม ครั้งที่ 010
- โสภณธรรม ครั้งที่ 011
- โสภณธรรม ครั้งที่ 012
- โสภณธรรม ครั้งที่ 013
- โสภณธรรม ครั้งที่ 014
- โสภณธรรม ครั้งที่ 015
- โสภณธรรม ครั้งที่ 016
- โสภณธรรม ครั้งที่ 017
- โสภณธรรม ครั้งที่ 018
- โสภณธรรม ครั้งที่ 019
- โสภณธรรม ครั้งที่ 020
- โสภณธรรม ครั้งที่ 021
- โสภณธรรม ครั้งที่ 022
- โสภณธรรม ครั้งที่ 023
- โสภณธรรม ครั้งที่ 024
- โสภณธรรม ครั้งที่ 025
- โสภณธรรม ครั้งที่ 026
- โสภณธรรม ครั้งที่ 027
- โสภณธรรม ครั้งที่ 028
- โสภณธรรม ครั้งที่ 029
- โสภณธรรม ครั้งที่ 030
- โสภณธรรม ครั้งที่ 031
- โสภณธรรม ครั้งที่ 032
- โสภณธรรม ครั้งที่ 033
- โสภณธรรม ครั้งที่ 034
- โสภณธรรม ครั้งที่ 035
- โสภณธรรม ครั้งที่ 036
- โสภณธรรม ครั้งที่ 037
- โสภณธรรม ครั้งที่ 038
- โสภณธรรม ครั้งที่ 039
- โสภณธรรม ครั้งที่ 040
- โสภณธรรม ครั้งที่ 041
- โสภณธรรม ครั้งที่ 042
- โสภณธรรม ครั้งที่ 043
- โสภณธรรม ครั้งที่ 044
- โสภณธรรม ครั้งที่ 045
- โสภณธรรม ครั้งที่ 046
- โสภณธรรม ครั้งที่ 047
- โสภณธรรม ครั้งที่ 048
- โสภณธรรม ครั้งที่ 049
- โสภณธรรม ครั้งที่ 050