โสภณธรรม ครั้งที่ 009
ตอนที่ ๙
ผู้ฟัง เรื่องสตินี้เป็นเรื่องที่เข้าใจกันยาก เพราะว่าความคิดความเข้าใจของชาวบ้านทั่วๆ ไป มักจะเข้าใจสับสนกันอยู่ ตามหลักแล้วสติเป็นธรรม เป็นเจตสิก เป็นกุศลสาธารณเจตสิก เกิดกับจิตที่เป็นกุศลเท่านั้น กรณีอย่างที่ว่า พอระลึกถึงเรื่องที่ผ่านมาแล้วในอดีต ตั้งแต่ยังเป็นเด็กเล็กๆ นึกถึงได้ทุกอย่าง ทั้งเรื่องทำดี ทำไม่ดี หรือซุกซนอะไรต่างๆ การที่ระลึกถึงอย่างนี้นั้น จะถือว่าเป็นสติหรือเปล่า
ท่านอาจารย์ ไม่เป็นไง บางคนก็จำเก่ง แล้วก็ระลึกได้ ตอนเด็กทำอะไรไว้ ไม่ใช่สติเลย ถ้าขณะนั้นไม่เป็นไปในทาน ในศีล ในภาวนา ไม่เป็นไปในบุญกิริยาวัตถุ ๑๐
ผู้ฟัง แล้วข้อที่อาจารย์ว่า อสมฺมสนตา ก็หมายความถึงสิ่งที่ทำ คำที่พูด แม้ล่วงเลยมานานได้นั้น เป็นเรื่องที่ดีทั้งนั้น
ท่านอาจารย์ ระลึกด้วยกุศล เวลาที่คิด คิดด้วยอกุศลจิตได้ คิดด้วยกุศลจิตได้ คิดด้วยโลภะก็เพลิดเพลิน คิดถึงเรื่องเก่าๆ สนุกสนาน บางคนก็อาจจะถึงกับยิ้มหรือหัวเราะ เพราะเหตุว่านึกขึ้นมาได้ และนึกถึงเรื่องเศร้า บางคนก็อาจจะถึงกับร้องไห้ น้ำตาไหล ก็เป็นไปได้อีกเหมือนกัน ทั้งๆ ที่เหตุการณ์นั้นก็ผ่านไป อาจจะถึง ๑๐ ปี ๒๐ ปีแล้วก็ได้ ในขณะนั้นก็เป็นการระลึกด้วยโลภมูลจิตบ้าง ด้วยโทสมูลจิตบ้าง แต่กุศลจิตย่อมระลึกถึงเหตุการณ์ที่ผ่านมาแล้วได้ในทางที่ถูกต้อง เป็นสิ่งที่จะควรกระทำหรือไม่ควรกระทำ บางทีคิดถึงสิ่งที่ทำแล้ว ในขณะที่ทำไม่รู้สึกตัวเลยว่าไม่ดีแค่ไหน ยังเป็นผู้อ่อนเยาว์ปัญญา คือ ยังคิดว่ายังต้องมีอกุศลอย่างนั้นบ้างอย่างนี้บ้าง แต่เมื่อได้เข้าใจเรื่องของธรรมถูกต้องยิ่งขึ้น แล้วระลึกถึงความคิดเห็นเก่าๆ ก็พิจารณารู้ได้ว่า ขณะนั้นเป็นความเห็นที่ไม่ถูก เป็นความเห็นที่ไม่ตรง จิตที่กำลังคิดในขณะนั้นเป็นสติที่ระลึกในเรื่องนั้นโดยความถูกต้อง
ผู้ฟัง อย่างในกรณีเราออกจากบ้านไป แต่พอเดินไป มีอะไรปรากฏสักอย่างหนึ่ง ก็ทำให้เราระลึกขึ้นมาได้ว่า อ้อ เราลืมกระเป๋าสตางค์ เราลืมแว่นตา การระลึกอย่างนี้ถือว่าเป็นสติหรือเปล่า
ท่านอาจารย์ ขณะนั้นจิตเป็นอะไร ต้องดูที่จิต จิตเป็นไปในทานหรือเปล่า เป็นไปในศีลหรือเปล่า เป็นไปในภาวนาหรือเปล่า เป็นไปในบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ หรือเปล่า ถ้าไม่ใช่ ขณะนั้นต้องเป็นอกุศล วันหนึ่งๆ คิดไปเถอะ อกุศลทั้งนั้น นอกจากขณะใดที่เป็นไปในบุญกิริยาวัตถุ เมื่อนั้นจึงจะเป็นไปในกุศลจิต
ผู้ฟัง ถ้าลักษณะอย่างนี้ไม่เป็นสติ เรียกว่าเป็นอะไร
ท่านอาจารย์ วิตกเจตสิก
ผู้ฟัง อย่างนั้นการที่ระลึกถึงเรื่องที่ผ่านมาในอดีตแม้นานได้ แต่ว่าไม่ได้เป็นไปในทาน ในศีล ในภาวนา ในทางกุศล ในทางที่ดี แล้วก็เป็นวิตกเจตสิก
ท่านอาจารย์ ข้อสำคัญที่คิดนั้น คิดด้วยกุศลหรือคิดด้วยอกุศล
ผู้ฟัง ที่คิดอาจจะเป็นทั้งกุศลและอกุศล
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ต้องเจริญสติปัฏฐานถึงจะรู้ กุศลก็ได้ อกุศลก็ได้ แต่ว่าใครจะรู้จริงๆ ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิดในขณะนั้น
ผู้ฟัง เพราะว่าความคิดนั้นคิดทั้งในเรื่องที่ดีและเรื่องที่ไม่ดี
ท่านอาจารย์ แล้วก็สลับกันด้วย ใช่ไหม ถ้าคิดถึงเมื่อครั้งที่ไปนมัสการสังเวชนียสถาน มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น เป็นความปลาบปลื้มปีติยินดีอย่างไร ลองพิจารณาว่ามีอกุศลแทรกคั่นบ้างไหม มีความสำคัญตนเกิดขึ้นบ้างไหม มีความติดในรูปหนึ่งรูปใดบ้างหรือเปล่า ซึ่งธรรมนี้เป็นเรื่องที่ละเอียด เป็นนามธรรม ซึ่งไม่มีรูปร่างลักษณะให้พิสูจน์ด้วยตา หรือว่าให้ได้ยินด้วยหู เพราะฉะนั้น ก็คิดถึงสภาพความละเอียดของนามธรรม ซึ่งไม่มีรูปปะปนเลยสักประเภทเดียว แล้วก็เกิดขึ้นอย่างสั้นมาก เพียงชั่วขณะสั้นที่สุด รูปๆ หนึ่งซึ่งดับไปเร็วมากนี้ ก็ยังมีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ เพราะฉะนั้น ชวนวิถีจิต ๗ ขณะ จะเร็วสักแค่ไหน ที่จะรู้ได้ว่า ขณะนั้นเป็นกุศลหรืออกุศล ก็ต้องอาศัยการเจริญสติปัฏฐานอย่างเดียว มิฉะนั้นแล้ว ก็เป็นการกล่าวโดยประมาณ ใช่ไหม แต่ไม่ใช่โดยการรู้ลักษณะของสภาพของจิตที่กำลังปรากฏจริงๆ ในขณะนั้น
ผู้ฟัง เป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะว่าส่วนมากชาวบ้านมักจะเข้าใจสับสนจริงๆ เรื่องสตินี้ เพราะถ้าเป็นคนหลงๆ ลืมๆ เขาก็ว่าไม่มีสติ ซึ่งความจริงแล้วคงไม่เข้าข่ายของสติที่พูดถึง
ท่านอาจารย์ ด้วยเหตุนี้ความเข้าใจพระพุทธศาสนาในยุคนี้สมัยนี้ จึงกล่าวได้ว่า สับสน ถ้าไม่ศึกษาโดยละเอียดจริงๆ
ผู้ฟัง ขอความกรุณาอาจารย์อธิบายเพิ่มเติมให้ชัด เพื่อที่จะได้ให้เห็นความต่างกันของกุศลจิตและอกุศลจิตเพิ่มขึ้น เพราะทั้งกุศลจิตและอกุศลจิตก็มีวิตกเจตสิกทั้งสอง แต่กุศลจิตมีสติเพิ่มขึ้นมาอีกตัวหนึ่ง แต่อกุศลจิตไม่มีสติ ทีนี้เวลาที่นึกถึงเหตุการณ์ที่ผ่านมานานแล้ว ก็เป็นได้ทั้งอกุศลและกุศล ทีนี้เวลาปฏิบัติจริงๆ จะสังเกตเทียบเคียงอย่างไร จึงจะเห็นได้ว่า ขณะนั้นเป็นสติหรือเป็นแค่วิตกเจตสิกเท่านั้น
ท่านอาจารย์ สำหรับวิตกเจตสิก ก็เป็นองค์หนึ่งในมรรคมีองค์ ๘ ด้วย แล้วสติก็เป็นองค์หนึ่งในมรรคมีองค์ ๘ ด้วย สำหรับวิตกเจตสิกนี้เป็นปกิณณกเจตสิก คือ เกิดกับจิตได้เกือบทุกดวง แต่ไม่ใช่สัพพจิตตสาธารณเจตสิก เพราะเหตุว่าถ้าเป็นสัพพจิตตสาธารณเจตสิกแล้วต้องเกิดกับจิตทุกดวง แต่เมื่อวิตกเจตสิกเป็นอัญญสมานาเจตสิก ประเภทปกิณณกเจตสิก ย่อมเกิดได้ทั้งที่เป็นอกุศลจิต กุศลจิต วิบากจิต และกิริยาจิต นั่นคือวิตกเจตสิก
และเวลาที่อกุศลจิต เช่น โลภมูลจิตเกิด ก็ต้องมีสัพพจิตตสาธารณเจตสิก และต้องมีวิตกเจตสิก ซึ่งเป็นปกิณณกเจตสิก แต่เพิ่มอกุศลเจตสิก คือ ต้องมีโลภเจตสิกรวมอยู่ด้วย มิฉะนั้น จิตนั้นก็ไม่เป็นโลภมูลจิต ฉันใด ทางฝ่ายกุศล แทนที่จะมีโลภเจตสิก ก็เป็นสติเจตสิกและโสภณเจตสิกอื่นๆ ที่เป็นปัจจัยทำให้กุศลจิตเกิดขึ้นขณะหนึ่ง ไม่ใช่ว่าจะขาดวิตกเจตสิกทั้งฝ่ายอกุศลจิต คือ โลภมูลจิตและโทสมูลจิต แต่ทางฝ่ายโสภณจิตนั้น มีวิตกเจตสิก แต่ไม่มีโลภะ แต่มีศรัทธา มีสติ และมีโสภณสาธารณเจตสิกอื่นๆ
ลักษณะของวิตกเจตสิกเป็นสภาพที่ตรึก หรือจรดในอารมณ์ตามระดับขั้นของจิตที่เกิดแต่ละขณะ เช่นเวลาที่เกิดทางปัญจทวารวิถี ยังไม่รู้ว่าสิ่งที่เห็นเป็นอะไร เพราะเหตุว่าจิตใดก็ตามที่ชื่อว่า จักขุทวารวิถี หมายความว่า จิตซึ่งเป็นวิถีนั้นทั้งหมดมีรูปารมณ์ซึ่งยังไม่ดับเป็นอารมณ์ จึงชื่อว่า จักขุทวารวิถี เพราะความหมายของจักขุทวารวิถี คือ วิถีจิตที่เกิดขึ้นโดยอาศัยจักขุเป็นทวาร เป็นทางที่จะเกิดขึ้นเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา นั่นเป็นจักขุทวารวิถี ซึ่งทวิปัญจวิญญาณทั้งหมด ๑๐ ดวง ไม่มีวิตกเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้น ในขณะที่จักขุวิญญาณเกิดขึ้นทำทัสสนกิจ ไม่มีวิตกเจตสิก แต่ทันทีที่จักขุวิญญาณดับ สัมปฏิจฉนจิตเกิด มีวิตกเจตสิก ขณะนั้นวิตกเจตสิกไม่ได้คิดเป็นเรื่องเป็นราว เป็นรูปร่างสัณฐานอะไรเลย เพียงแต่เป็นสภาพที่จรดในอารมณ์ที่รับต่อจากจักขุวิญญาณ
เพราะฉะนั้น นี่ก็เป็นลักษณะและเป็นกิจของเจตสิกตามระดับขั้น ซึ่งถ้าเป็นทางปัญจทวาร ไม่มีการตรึกนึกถึงเรื่องใดเลย แต่ถ้าเป็นทางมโนทวารวิถี เวลาเกิดนึกคิดขึ้นด้วยโลภมูลจิต ลักษณะของวิตกก็เป็นสภาพที่ตรึกหรือจรดในเรื่องที่คิด
ผู้ฟัง คำที่กล่าวว่า สติจะต้องเกิดในกุศลจิตเท่านั้น คำกล่าวนี้ถูกต้องหรือ
ท่านอาจารย์ ก็แคบไปหน่อย เพราะเหตุว่าสติเป็นโสภณเจตสิก หมายความว่าเกิดกับโสภณจิตซึ่งเป็นกุศลก็ได้ วิบากก็ได้ กิริยาก็ได้
ผู้ฟัง แต่อกุศลจิตไม่ได้ อาจารย์ช่วยอธิบายมิจฉาสติหน่อย
ท่านอาจารย์ มิจฉาสติ หมายความถึงโลภมูลจิต
ผู้ฟัง ไม่ใช่สติ
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่แน่นอน ทรงแสดงไว้เพื่อเปรียบเทียบให้เห็นว่า เมื่อสัมมามรรคมี ๘ มิจฉามรรคซึ่งคนเข้าใจว่าเป็นสติ แต่ลักษณะจริงๆ ไม่ใช่สติ ตามความเข้าใจของคนที่เข้าใจผิด เข้าใจว่าตนเองมีสติ เพราะฉะนั้น จึงเป็นมิจฉาสติ แต่ว่าโดยลักษณะแล้วก็เป็นโลภมูลจิต ทิฏฐิคตสัมปยุตต์
ผู้ฟัง พระอรหันต์ทั้งหลายเป็นผู้มีสติ จำได้ทุกเรื่องไหมที่ผ่านมาทั้งในอดีต
ท่านอาจารย์ ไม่จำเป็น ท่านอาจจะเห็นว่าไร้สาระที่จะคิดถึงเรื่องเก่าๆ เพราะถึงแม้ว่าไม่ใช่พระอรหันต์ก็เบื่อที่จะคิดเรื่องเก่าๆ ก็ได้ ท่านมีชีวิตอยู่กับปัจจุบันจะสบายใจกว่าไหม ทุกคนในทุกวันนี้เป็นทุกข์เพราะอดีตและอนาคต
ผู้ฟัง เรื่องประโยชน์น่ะ ประโยชน์ว่ามีความสามารถ
ท่านอาจารย์ แล้วแต่คุณธรรม พระอรหันต์เองก็ต่างกันไปตามการสะสมของชวนวิถี
ผู้ฟัง พระพุทธเจ้าก็อย่างหนึ่ง
ท่านอาจารย์ แต่ว่าลองคิดดูว่า ใครอยากจะคิดถึงเรื่องเก่าๆ บ้าง ซึ่งทุกขณะนี้ผ่านไปแล้ว เรียกกลับคืนมาไม่ได้เลย
ผู้ฟัง เมื่อสักครู่ที่อาจารย์กล่าวว่า มิจฉาสมาธิ แล้วเราจะเอาอะไรมาตัดสินว่า อะไรเป็นมิจฉาสมาธิ อะไรเป็นสัมมาสมาธิ
ท่านอาจารย์ ขณะที่เป็นมิจฉาสมาธิ ขณะนั้นไม่มีสัมมาทิฏฐิ คือ ปัญญาเกิดร่วมด้วย นั่งทำสมาธิกันไปเปล่าๆ โดยไม่รู้อะไร ไม่รู้เหตุ และไม่รู้ลักษณะของจิตในขณะนั้นด้วยว่า กุศลจิตกับอกุศลจิตต่างกันอย่างไร มีปัจจัยอะไรที่ทำให้เป็นอกุศล และมีปัจจัยอะไรที่ทำให้เป็นกุศล
ผู้ฟัง แล้วเราจะเอาการประพฤติปฏิบัติของเขามาตัดสินได้ไหมว่า ที่เขาทำเป็นมิจฉาสมาธิ
ท่านอาจารย์ ขณะไหน
ผู้ฟัง หมายถึงการกระทำในชีวิตประจำวัน
ท่านอาจารย์ คนละขณะแล้ว ถ้าทำสมาธิ โดยมากนั่ง ใช่ไหม แล้วจะไปรู้อะไรกับคนที่กำลังนั่ง นั่งเหมือนกัน แล้วก็นั่งหลับตาเหมือนกันด้วย แล้วจะรู้ได้อย่างไร เอาอะไรเป็นเครื่องตัดสิน ถ้าจะเอาชีวิตประจำวันนั้น คนละขณะแล้ว
ผู้ฟัง แล้วถ้าอย่างนั้นคนที่เขาทำมิจฉาสมาธิ แต่ว่าในชีวิตประจำวัน เป็นคนดีได้ เขาทำเช่นนั้นไปตลอดชีวิตจนตาย ความดีที่เขาทำจะพอทำให้เขามีโอกาสได้มาเป็นสัมมาสมาธิไหม
ท่านอาจารย์ ไม่มีโอกาส ถ้าอาศัยมิจฉาสมาธิ ทำให้เป็นสัมมาสมาธิได้ เหตุผลไม่ตรงกัน นอกจากมิจฉาสมาธิจะยิ่งทำให้เกิดมิจฉาสมาธิต่อไปอีก
ผู้ฟัง อยากจะเรียนถามอีกอย่างหนึ่ง คือ คนที่ถือศีล ๘ กับศีล ๕ นี้ได้บุญแตกต่างกันไหม
ท่านอาจารย์ คนที่ถือศีล ๘ กับศีล ๕ ได้บุญต่างกันไหม ต้องการอานิสงส์อะไร ต้องการจะขัดเกลา หรือได้ผล หรืออยากจะได้อานิสงส์
ผู้ฟัง เคยได้ยินคำกล่าวที่ว่า อยากได้บุญมากๆ ก็ต้องถือศีลมากๆ ข้อ
ท่านอาจารย์ กุศลจิตอยู่ที่ไหน
ผู้ฟัง ก็ที่จิต
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ดูสภาพของจิต ไม่ใช่หวังอานิสงส์ ถ้ากุศลจิตเกิดมาก ผลมากไหม มาก ถ้ากุศลจิตเกิดน้อย ผลก็น้อย เพราะฉะนั้น เกือบจะไม่ต้องถามใคร เพราะเหตุกับผลก็ต้องตรงตัว
ผู้ฟัง อย่างกรณีที่เมื่อสักครู่ อาจารย์ก็ได้พูดแล้วว่า สมัยนี้พุทธศาสนาก็สับสนมาก และพุทธศาสนิกชนเองนี่ ยิ่งไม่ได้เรียนรู้อะไรเลย ก็จะไปยึดหลักอะไรได้ว่า อันไหนถูกต้อง
ท่านอาจารย์ ต้องเรียนถึงจะรู้ ถ้าตราบใดยังไม่เรียนก็ไม่มีทางจะรู้ เพราะเหตุว่าถ้าเป็นโดยวิธีนั้น จะประมาทพระปัญญาของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะเหตุว่าถึงไม่เรียนพระธรรมก็คิดว่าเข้าใจได้ ใช่ไหม แต่ผู้ที่ไม่ประมาทในพระปัญญา รู้ว่าต้องศึกษาแน่นอน ถ้าไม่ศึกษาพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว ไม่มีโอกาสที่จะได้เข้าใจพระธรรมโดยถูกต้องเลย คิดเองไม่ได้ คิดเองผิดมากกว่าถูก
ผู้ฟัง แล้วอย่างพระคุณเจ้าหลายท่านที่คิดว่าการปฏิบัติของท่านถูกต้อง ของคนอื่นไม่ถูก ท่านก็ศึกษานี่
ท่านอาจารย์ พุทธบริษัทฟังพระธรรม ไม่ว่าเป็นใครพูด ใช่ไหม ไม่ว่าจะเป็นภิกษุ หรืออุบาสก หรืออุบาสิกากล่าวธรรม พุทธบริษัทย่อมฟังพระธรรม ไม่ใช่ฟังบุคคล เมื่อฟังพระธรรม ก็พิจารณาว่าพระธรรมที่ได้ยินได้ฟังนี้ ทำให้เกิดปัญญาความเข้าใจในสภาพลักษณะของธรรมที่กำลังปรากฏถูกต้องขึ้นไหม หรือว่าไม่ได้ทำให้เกิดความเข้าใจอะไรเลย ถ้าไม่ทำให้เกิดความเข้าใจ ไม่ใช่พระธรรมของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะพระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง แล้วก็มีพระมหากรุณาทรงแสดงพระธรรม เพื่อที่จะให้บุคคลที่ได้ฟังพิจารณาแล้วเกิดปัญญา คือความเข้าใจถูกในลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง
ผู้ฟัง จะขอถามที่อาจารย์บรรยายในตอนต้น เรื่องศรัทธา คือ อยากจะทราบว่า ถ้าสมมติว่ามี ๒ คน บ้านอยู่ใกล้กัน และอยู่ใกล้วัดๆ และไปทำบุญตักบาตรที่วัดนั้นเป็นประจำทุกวันไม่เคยขาด ต่อมาพระวัดนั้นเกิด strike เจ้าอาวาส คนหนึ่งก็เลยบอกว่าหมดศรัทธาแล้วล่ะ ไปทำบุญวัดอื่นดีกว่า อีกคนหนึ่งก็บอกว่าไม่ค่อยศรัทธาเหมือนกัน แต่ไม่มีเวลาที่จะไปทำที่วัดอื่น ก็เลยทำที่เดิม ในกรณีทั้ง ๒ นี้ ถ้าหากว่าอย่างนี้ อยากจะเรียนถามว่า ใครจะมีศรัทธามากกว่ากัน ซึ่งจะเป็นผู้ที่สัตบุรุษจะพึงแสดงธรรมให้ฟังก่อน
ท่านอาจารย์ โดยมากไม่เข้าใจเรื่องของกุศลจิตจริงๆ คิดว่ากุศลนั้นคือการทำบุญ ใช่ไหม แล้วก็มีการเลือกบุคคล แต่จะคิดถึงในยุคต่อๆ ไปหลังจากนี้ไปอีก ซึ่งยุคนี้พระพุทธศาสนาก็ผ่านพ้นมาถึง ๒,๕๐๐ กว่าปีแล้ว พระอรหันต์อย่างท่านพระสารีบุตร ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ท่านพระมหากัสสปะ ท่านพระอนุรุทธะ ที่จะเดินบิณฑบาตให้พวกเราได้มีโอกาสใส่บาตรนี่ เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แต่ว่าผู้ที่มีศรัทธาออกบวช เพื่อที่จะประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัย ยังมีอยู่สืบทอดมาจากพระอรหันต์ทั้งหลาย นอกจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว สืบทอดมาจากท่านพระอานนท์ ท่านพระมหากัสสปะ ท่านพระอนุรุทธะ
เพราะฉะนั้น เรื่องของกุศลจิตของเราไม่ควรที่จะเศร้าหมอง ด้วยการที่คิดว่า ต้องการที่จะใส่บาตร หรือทำบุญกับผู้ที่เหมือนอย่างท่านพระสารีบุตร หรือท่านพระมหาโมคคัลลานะ แต่ถ้าเรามีเจตนาที่เป็นกุศลที่จะถวายภัตตาหารแก่ผู้ที่มีศรัทธาบวช ส่วนความประพฤติของแต่ละบุคคลซึ่งเป็นภิกษุบุคคลแต่ละรูป ก็เป็นเรื่องส่วนตัวของท่าน เป็นกรรมของท่าน ใจของเราก็ไม่เศร้าหมอง ท่านจะไปทำอะไรที่ไหน ก็เป็นเรื่องส่วนตัวของท่าน เพียงแต่ว่าในขณะนี้พระธรรมวินัยก็ยังสืบต่อมาจนถึงสมัยนี้ ซึ่งยุคสมัยก็จะผ่านไปอีก จาก ๒,๕๐๐ กว่าปี และเหตุการณ์ต่างๆ ก็จะเปลี่ยนไป แต่ว่าศรัทธาของใครมีที่จะถวายภัตตาหารต่อผู้ที่มีศรัทธาจะบวช ส่วนความประพฤติส่วนตัวของภิกษุแต่ละบุคคลนั้นก็เป็นเรื่องของแต่ละบุคคลนั้น
ถ้าเป็นอย่างนี้แล้ว จิตใจก็ย่อมจะไม่เศร้าหมอง ใช่ไหม ไม่ว่าท่านจะลาสิกขาบท หรือว่าท่านจะทำสิ่งซึ่งชาวโลกติเตียนก็เป็นเรื่องส่วนตัวของท่าน
สติเป็นโสภณเจตสิก เป็นธรรมที่จำปรารถนาในที่ทั้งปวง เพราะเหตุว่าชีวิตวันหนึ่งๆ ซึ่งเต็มไปด้วยอวิชชา ขณะนั้นหลงลืมสติ ไม่เป็นกุศล ไม่สามารถที่จะพิจารณาสภาพธรรมในชีวิตประจำวันได้ตามความเป็นจริง จนกว่าสติจะเกิดเมื่อใด มีการระลึกได้ แม้ในเหตุในผล ในความถูกความควรในชีวิตประจำวันขณะใด ขณะนั้นก็เป็นการเกิดขึ้นของสติ ซึ่งจะเห็นได้ว่า ในชีวิตประจำวันนี้ไม่ว่าในกาลสมัยไหน กุศลธรรมเกิดขึ้นเพราะสติมีการระลึกได้ มิฉะนั้นแล้ว วันหนึ่งๆ ทุกคนก็เต็มไปด้วยโลภะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง
เพราะฉะนั้น แม้แต่การที่จะฟังพระธรรมข้อเล็กข้อน้อย หรือว่าข้อความสั้นๆ หรือเป็นเรื่องที่ท่านผู้ฟังอาจจะคิดว่า คงจะไม่มีความสำคัญเท่าข้อความอื่น แต่ถ้าในขณะนั้นสติเกิดระลึกได้ พิจารณาข้อความนั้นจริงๆ จะได้ประโยชน์จากพระธรรมข้อนั้น ตามขั้นของความเข้าใจ
เพราะฉะนั้น การศึกษาพระธรรมซึ่งเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน เป็นเรื่องที่สุขุมลึกซึ้ง แม้เพียงการฟังก็ยังจะต้องประกอบด้วยสติ หรือฟังด้วยสติ พิจารณาจริงๆ จึงจะได้ประโยชน์ และกุศลทั้งหลายก็จะเจริญขึ้นตามลำดับขั้น
สำหรับลักษณะของสติ อาการต่างๆ ของสติ ตามที่กล่าวไว้ในมิลินทปัญหา สัตมวรรค สติอาการ ปัญหาที่ ๑
ท่านพระนาคเสนแสดงลักษณะของสติที่เกิดขึ้นด้วยอาการ ๑๗ สถาน คือ
นี่ เริ่มจะต้องฟังด้วยสติ มิฉะนั้น ก็จะไม่เข้าใจโดยถูกต้อง
๑. อภิชานโต สติ ได้แก่ สติขั้นยอดยิ่ง เป็นสติของบุคคลทั้งหลายที่ระลึกชาติได้ หรือสติของท่านพระอานนท์ที่ทรงจำพระสูตรแม้ได้ฟังเพียงครั้งเดียวได้ทั้งหมด สติของขุชชุตราอุบาสิกาที่ได้ฟังพระสัทธรรมเทศนาครั้งเดียว ก็สามารถแสดงพระธรรมนั้นให้คนอื่นๆ ได้ฟังอย่างครบถ้วนทั้งพระคาถา
เพราะฉะนั้น ก็เทียบได้ว่าสติของแต่ละท่านในชีวิตประจำวัน เป็นสติเล็กๆ น้อยๆ นิดๆ หน่อยๆ ยังไม่ใช่สติขั้นพิเศษเยี่ยม หรือว่าสติขั้นยอดยิ่งดังเช่นสติของผู้ที่ระลึกชาติได้ หรือว่าสติของท่านพระอานนท์ที่ทรงจำพระไตรปิฎกได้แม้เพียงฟังครั้งเดียวได้ตลอดหมด หรือแม้แต่อุบาสิกาขุชชุตราซึ่งโดยฐานะก็เป็นอุบาสิกา แต่เมื่อได้ฟังพระธรรมเทศนาครั้งเดียว ก็สามารถที่จะแสดงพระธรรมนั้นให้คนอื่นได้ฟังอย่างครบถ้วนทั้งพระคาถา
นี่ก็ต้องอบรมเจริญไป เพราะว่าเห็นความยอดยิ่งของสติ ซึ่งเป็นไปได้ว่า ถ้าอบรมเจริญแล้ว ย่อมสามารถที่จะเป็นสติขั้นยอดยิ่งถึงอย่างนั้น
๒. กฎุมพิกาย สติ ได้แก่ สติของคนทั่วๆ ไป ที่ระลึกได้ว่าเก็บอะไรไว้ที่ไหน
อันนี้ ถ้าไม่พิจารณาลักษณะของสติเจตสิก ก็อาจจะคิดว่า ขณะใดที่เกิดนึกขึ้นได้ ขณะนั้นก็เป็นสติ แต่การฟังพระธรรมต้องละเอียด เพราะฉะนั้น ในเมื่อสติเจตสิกเป็นโสภณเจตสิก เกิดกับโสภณจิตเท่านั้น เพราะฉะนั้น ก็ไม่ใช่ขณะที่นึกออกว่าเก็บอะไรไว้ที่ไหน แต่ว่าขณะใดที่ระลึกได้ว่าพระธรรมบทไหนอยู่ส่วนไหนของพระไตรปิฎก ขณะนั้นก็เป็นกุศลจิต หรือว่าระลึกถึงพระธรรม ระลึกถึงเรื่องการกุศลต่างๆ ระลึกถึงสิ่งที่เนื่องกับการกุศลได้ ขณะนั้นจิตเป็นกุศล เป็นโสภณ ขณะนั้นก็เป็นลักษณะอาการหนึ่งของสติเจตสิก
๓. โอฬาริกวิญญาณโตสติ ได้แก่ สติของพระโสดาบัน ซึ่งแม้จะหลงลืมไป ก็ไม่ต้องเดือดร้อนกังวลใจอีกต่อไป
เพราะเหตุว่าท่านเป็นผู้ที่ได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม เป็นผู้ที่ไหลไปตามกระแสของพระนิพพานสู่ความเป็นพระอรหันต์ ไม่มีที่พระโสดาบันบุคคลจะกลับไปเป็นปุถุชนอีก เพราะฉะนั้น สำหรับพระโสดาบัน ท่านก็จะเป็นพระสกทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์ ซึ่งจะมีการเกิดอีกอย่างมากไม่เกิน ๗ ชาติ เพราะฉะนั้น สำหรับโอฬาริกวิญญาณโตสติ ก็ได้แก่สติของพระโสดาบัน ซึ่งแม้ว่าจะหลงลืมไป ก็ไม่ต้องเดือดร้อนกังวลใจอีกต่อไป
๔. หิตวิญญาณโตสติ ได้แก่ ผู้ที่เคยเป็นสุขแต่ก่อน แล้วก็ระลึกถึงความสุขแต่ก่อนๆ
ต้องไม่ลืมว่า สติเป็นโสภณเจตสิก เพราะฉะนั้น ระลึกถึงความสุขก่อนๆ ระลึกด้วยจิตอะไร ถ้าระลึกด้วยความสุขที่เคยผ่านความสุขนั้นๆ มาอย่างยอดเยี่ยม แล้วเกิดปีติยินดี ขณะนั้นก็เป็นโลภมูลจิต หรือว่าในขณะนี้ไม่ได้ประสบกับสุขอย่างนั้นอีกแล้ว ด้วยความโทมนัส ว่าเคยสุข แต่ ณ บัดนี้ ก็ไม่ได้เป็นสุขอย่างนั้นอีกแล้ว ในขณะที่ระลึกอย่างนั้นก็เป็นโทสมูลจิตขณะนั้น ก็ไม่ใช่กุศล แต่ถ้าสติระลึกได้ว่า แม้สุขอย่างนั้นก็จะไม่กลับมาอีก เพราะเหตุว่าสภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา มีเหตุปัจจัยให้เกิดขึ้นเพียงชั่วขณะเดียวแล้วดับไป และสภาพธรรมนั้นๆ จะไม่กลับมาอีก
เพราะฉะนั้น ทุกๆ วัน ทุกๆ ขณะ ที่ทุกคนกำลังเห็น กำลังได้ยิน ให้ทราบว่า เพียงชั่วขณะเดียวจริงๆ เรื่องราวต่างๆ ที่เกิดจากการเห็น การได้ยิน ดับพร้อมจิต ถ้าจิตไม่เกิดนึกเรื่องนั้นขึ้นมาอีก ก็จะไม่มีเรื่องนั้นในความคิดนึกเลย เพราะฉะนั้น ไม่ว่าเรื่องนั้นจะทำให้เกิดสุข เกิดทุกข์อย่างไร เรื่องนั้นก็ปรากฏเพียงชั่วขณะที่จิตคิด และเรื่องนั้นก็ดับหมดเมื่อจิตดับ เท่านั้นเอง
นี่คือชีวิตของแต่ละบุคคล เรื่องราวของแต่ละชีวิตของแต่ละบุคคลในวันหนึ่งๆ เพราะฉะนั้น ถ้ารู้ความจริงอย่างนี้ ไม่ว่าจะคิดถึงอดีตที่ผ่านมา ก็รู้ว่าเป็นเรื่องของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แล้วก็จะไม่กลับมาอีก ความเบาใจความสบายใจก็มี ไม่ต้องผูกพันเยื่อใยกับสิ่งที่ผ่านไปแล้ว ขณะนั้นก็เป็นหิตวิญญาณโตสติ ซึ่งการคิดนึกในชีวิตประจำวันมีมาก และถ้าสติไม่เกิด ก็ปล่อยให้เป็นโลภะบ้าง โทสะบ้างกับความคิดนึกนั้นๆ แต่ถ้าสติเกิดระลึกได้ถึงความไม่มีสาระ เพียงชั่วขณะจิตเดียวที่คิด แล้วเรื่องนั้นก็ดับพร้อมจิต เพราะฉะนั้น ก็จะทำให้ไม่เยื่อใย พร้อมกันนั้นก็จะเกื้อกูลแก่สติปัฏฐานด้วย
๕. อหิตวิญญาณโตสติ ได้แก่ สติของผู้ที่เคยตกทุกข์ได้ยากมาก่อน แล้วก็ระลึกถึงความทุกข์ยากต่างๆ
นี่ก็โดยนัยเดียวกัน ถ้าระลึกแล้วเป็นอกุศล ก็ควรที่จะเกิดสติรู้ว่า ขณะนั้นเป็นเพียงสภาพธรรมที่กำลังคิดเรื่องต่างๆ
๖.สภาคนิมิตตโตสติ ได้แก่ ขณะที่เห็นคนที่คล้ายมารดาบิดา ญาติพี่น้องที่สิ้นชีวิต แล้วระลึกได้
จะเป็นกุศลหรืออกุศลอยู่ที่ใจของคนที่ระลึกถึงมารดาบิดาที่สิ้นชีวิตแล้วใน ขณะนั้น ถ้าระลึกด้วยเยื่อใยขณะนั้นก็เป็นอกุศล แต่ถ้าระลึกแล้วก็มีความนอบน้อมต่อบุคคลนั้นเสมือนมารดาบิดา ขณะนั้นก็ทำให้เกิดกุศลได้ เวลาที่เห็นท่านผู้ใหญ่รุ่นราวคราวเดียวกับมารดาบิดาแล้วก็มีจิตอ่อนโยน มีความนอบน้อม มีการคิดใคร่ที่จะทำประโยชน์แก่ท่าน แม้ด้วยกายและวาจา
- โสภณธรรม ครั้งที่ 001
- โสภณธรรม ครั้งที่ 002
- โสภณธรรม ครั้งที่ 003
- โสภณธรรม ครั้งที่ 004
- โสภณธรรม ครั้งที่ 005
- โสภณธรรม ครั้งที่ 006
- โสภณธรรม ครั้งที่ 007
- โสภณธรรม ครั้งที่ 008
- โสภณธรรม ครั้งที่ 009
- โสภณธรรม ครั้งที่ 010
- โสภณธรรม ครั้งที่ 011
- โสภณธรรม ครั้งที่ 012
- โสภณธรรม ครั้งที่ 013
- โสภณธรรม ครั้งที่ 014
- โสภณธรรม ครั้งที่ 015
- โสภณธรรม ครั้งที่ 016
- โสภณธรรม ครั้งที่ 017
- โสภณธรรม ครั้งที่ 018
- โสภณธรรม ครั้งที่ 019
- โสภณธรรม ครั้งที่ 020
- โสภณธรรม ครั้งที่ 021
- โสภณธรรม ครั้งที่ 022
- โสภณธรรม ครั้งที่ 023
- โสภณธรรม ครั้งที่ 024
- โสภณธรรม ครั้งที่ 025
- โสภณธรรม ครั้งที่ 026
- โสภณธรรม ครั้งที่ 027
- โสภณธรรม ครั้งที่ 028
- โสภณธรรม ครั้งที่ 029
- โสภณธรรม ครั้งที่ 030
- โสภณธรรม ครั้งที่ 031
- โสภณธรรม ครั้งที่ 032
- โสภณธรรม ครั้งที่ 033
- โสภณธรรม ครั้งที่ 034
- โสภณธรรม ครั้งที่ 035
- โสภณธรรม ครั้งที่ 036
- โสภณธรรม ครั้งที่ 037
- โสภณธรรม ครั้งที่ 038
- โสภณธรรม ครั้งที่ 039
- โสภณธรรม ครั้งที่ 040
- โสภณธรรม ครั้งที่ 041
- โสภณธรรม ครั้งที่ 042
- โสภณธรรม ครั้งที่ 043
- โสภณธรรม ครั้งที่ 044
- โสภณธรรม ครั้งที่ 045
- โสภณธรรม ครั้งที่ 046
- โสภณธรรม ครั้งที่ 047
- โสภณธรรม ครั้งที่ 048
- โสภณธรรม ครั้งที่ 049
- โสภณธรรม ครั้งที่ 050