โสภณธรรม ครั้งที่ 051


    ตอนที่ ๕๑

    ถ้าเห็นโทษภัยของความคิดร้าย ความปองร้าย ความประทุษร้าย ความพยาบาท จะเป็นผู้ที่เริ่มเจริญเมตตาแม้ในขณะนี้เอง เพราะเหตุว่าทุกคนคิดว่ามีชีวิตยืนยาวมาก แต่ความจริงชีวิตของทุกคนดำรงอยู่เพียงชั่วขณะจิตเดียว เพราะว่าจิตเกิดขึ้นขณะหนึ่งแล้วก็ดับ เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้นแล้วก็ดับ แต่ว่าเกิดดับอย่างรวดเร็ว เมื่อไม่รู้ว่าเป็นจิตแต่ละขณะซึ่งเกิดดับ ก็เป็นเราซึ่งเดี๋ยวเป็นกุศล เดี๋ยวเป็นอกุศล เดี๋ยวก็เป็นสุข เดี๋ยวก็เป็นทุกข์ ความจริงเป็นจิตแต่ละขณะ แล้วก็เกิดขึ้นเพียงชั่วขณะเดียวจริงๆ

    เพราะฉะนั้นถ้าขณะนี้เมตตาไม่เกิด อกุศลจิตเกิด และขณะต่อๆ ไปอีก เมตตาก็ยังไม่เกิดอีก อกุศลจิตก็เกิดต่อๆ ไปอีก เพราะฉะนั้นกว่าจะเจริญเมตตาได้ก็ต้องลำบากมากทีเดียว ถ้าไม่เจริญเมตตาเสียเดี๋ยวนี้

    เพราะฉะนั้นกุศลทุกอย่างอยู่ที่ขณะนี้เอง ถ้าจะอบรมก็เริ่มตั้งแต่ขณะนี้

    ผู้ฟัง การศึกษาธรรม ถ้าเป็นแต่เพียงศึกษาเรื่องราว และจำข้อธรรมได้เฉยๆ ไม่ค่อยจะเกื้อกูลต่อการปฏิบัติ ถ้าเป็นการศึกษาโดยที่รู้สภาวะที่เกิดขึ้นกับตัวเอง อย่างที่อาจารย์พูดว่า จำธรรมได้ก็ยังไม่สำคัญเท่ากับที่เรารู้ว่า อย่างความโกรธเกิดขึ้นกับเรา เรารู้ว่าสภาวธรรมเกิดขึ้นแล้ว ไม่ใช่เราด้วย เป็นสภาวธรรมอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้น หรือความเมตตาเกิดขึ้นกับเรา อโทสะ ความไม่โกรธเกิดขึ้นกับเรา เราก็รู้ในขณะนั้นว่า เป็นสภาวธรรมอย่างหนึ่ง คือ ความไม่โกรธ ไม่ใช่เรา ถ้าศึกษาอย่างนี้ และพยายามทำความคุ้นเคยอยู่อย่างนี้เรื่อยๆ กระผมเข้าใจว่าจะเกื้อกูลแก่การปฏิบัติ เพราะว่าเท่าๆ กับเป็นการรู้จัก แทนที่จะศึกษาเรื่องราว แล้วก็เข้าใจเรื่องราวจากธรรมได้ โดยมากก็เป็นการจำได้ และพูดได้เฉยๆ บางทีก็เป็นเรื่องการถือตัวถือตนว่า เป็นผู้มีความรู้และพูดได้มาก ซึ่งเท่าที่กระผมสังเกตดู เท่าที่เรียนมาแล้วผ่านๆ มา โดยมากเป็นการเรียนเรื่องราว และเรียนชื่อ จำชื่อได้ แต่ว่าก็ไม่ค่อยรู้ ไม่ค่อยได้เอามาใช้ หรือไม่ค่อยรู้สภาวะ หรือธรรมจริงๆ ที่เกิดขึ้นกับเรา การที่จะทำให้เข้าใจว่า ขณะนี้สภาวธรรมอย่างนี้เกิดขึ้นแก่เราแล้ว และสภาวธรรมอย่างนี้ไม่ใช่เราด้วย เป็นแต่สภาวธรรมอย่างหนึ่งๆ มันเป็นเรื่องยาก กระผมอยากจะให้ท่านอาจารย์ช่วยแนะนำว่า การศึกษาโดยที่เข้าใจสภาวะกับการจำชื่อ อันไหนควรจะให้เกิดก่อน หมายความว่าถ้าเราพยายามที่จะรู้สภาวธรรมที่เกิดขึ้นกับเรา แทนที่จะพะวงถึงชื่อมากมาย กระผมเข้าใจว่า การที่เรารู้สภาวธรรมจริงๆ ที่เกิดขึ้นกับเรา โดยที่จะชื่ออะไรก็ยังไม่จำเป็น กระผมว่าจะเป็นทางที่ถูกกว่า

    ท่านอาจารย์ นี่เป็นการปฏิบัติธรรม โดยการพิจารณาธรรม แต่ว่าไม่จำเป็นต้องใส่ชื่อ แต่เวลาที่ศึกษาปริยัติธรรม ทำให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมชัดเจนขึ้น เช่น ในขณะที่กุศลจิตเกิด ขณะนั้นลักษณะของสภาพธรรมใดหรือเจตสิกใดปรากฏ เพราะเหตุว่าโสภณสาธารณเจตสิกมีถึง ๑๙ ประเภทที่ต้องเกิดพร้อมกัน เพราะฉะนั้นถ้าลักษณะของสภาพธรรมใดปรากฏให้ระลึกได้ว่า ขณะนี้เป็นลักษณะของความเป็นมิตร ความเป็นเพื่อน ความเกื้อกูล นั่นเป็นลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่เรา ถ้าโดยปริยัติ ก็เป็นเมตตา หรืออโทสเจตสิก ประกอบกันทั้ง ๒ อย่าง ดีไหม เลือกไม่ได้ว่าจะให้อันไหนเกิดก่อน แล้วแต่ขณะนั้นจะเป็นปัจจัยให้นึกถึงเรื่อง หรือขณะนั้นจะเป็นปัจจัยให้ระลึกถึงสภาพธรรมที่ปรากฏ

    ผู้ฟัง อาจารย์พูดถึงไปอินเดีย แล้วบอกว่าไปหาเช็ดธุลี ได้ไหม

    ท่านอาจารย์ ดิฉันเรียนให้ทราบแล้วว่า เป็นการรำลึกถึง เพราะว่าในครั้งอดีต มีผ้าเช็ดธุลีนับไม่ถ้วนเลย ณ พระวิหารเชตวัน แต่สมัยนี้ไม่เห็น ใช่ไหม แต่ว่ารำลึกถึงผ้าเช็ดธุลีในอดีต

    ผู้ฟัง แต่ในชีวิตประจำวันของเราทุกวันนี้ ยังไม่มีใครยอมเป็นผ้าเช็ดธุลี

    ท่านอาจารย์ วันหนึ่งซิคะ วันนี้ไม่ยอม ขอหวังว่าวันหนึ่งจะยอม

    ผู้ฟัง ยังอยากจะเป็นผ้าไหม ใครจะมาเหยียบมาย่ำก็ยังไม่ยอม

    ท่านอาจารย์ ขอหวังว่า วันหนึ่งทุกคนจะเป็นผ้าเช็ดธุลี

    ผู้ฟัง บางทีเราทำตัวเป็นผ้าเช็ดธุลี เป็นโคเขาขาด ก็ยิ่งโดนเขาข่มขู่

    ท่านอาจารย์ ตัตตรมัชฌัตตตา ไม่คำนึงถึงจิตของคนอื่น แต่ว่าพิจารณาจิตของตนเองในขณะนั้นว่า ขณะที่เห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจ ได้ยินเรื่องราวที่ไม่น่าพอใจก็ตาม จิตของตนเองในขณะนั้นตรงต่อกุศลที่จะไม่หวั่นไหว เพราะเหตุว่าเรื่องของคนอื่นแก้ไขไม่ได้ แต่ว่าเรื่องของเราเองจะต้องทำกิจอบรมเจริญกุศล

    ผู้ฟัง อยากได้คำแนะนำจากอาจารย์ว่า ก่อนจะเป็นผ้าเช็ดธุลี ควรจะเป็นผ้าอะไรก่อน

    ท่านอาจารย์ เช็ดไปเรื่อยๆ ทุกอย่าง ทีแรกก็เป็นผ้าไหม และก็ค่อยๆ เช็ดไปทีละเล็กทีละน้อย ในที่สุดก็เป็นผ้าเช็ดธุลี ไม่ว่าจะเป็นผ้าไหมของแคว้นกาสีหรือผ้าชนิดไหนก็ตาม เริ่มเช็ดธุลีเสีย แล้ววันหนึ่งผ้านั้นก็จะเป็นผ้าเช็ดธุลีโดยสมบูรณ์

    ผู้ฟัง เรื่องผ้าเช็ดธุลีนี่ ผมก็โดนอัดมาเหมือนกัน คือ ไปเล่าเรื่องอย่างที่อาจารย์เล่า ก่อนเข้าพระเชตวัน อาจารย์ได้ตั้งปัญหาให้ทุกคนคิดว่า ไปหาอะไรในพระเชตวัน ผมก็บอกว่า ท่านอาจารย์บอกว่าไปหาผ้าเช็ดธุลี เขาก็ไม่เข้าใจ กระผมก็เลยเล่าให้ฟังว่า ผ้าเช็ดธุลีนี่ใครๆ จะเช็ดก็ได้ ผ้าเช็ดธุลีก็รับได้ทั้งนั้น ไม่ว่าผู้ดีมีจนก็เช็ดได้ทั้งนั้น พอคุยๆ กันไป เสียงชัดดังขึ้น เขาก็เลยเตือนว่า ไหนว่าเป็นผ้าเช็ดธุลี กระผมก็บอกว่า ผมเองยังไม่เป็นผ้าเช็ดธุลี

    ท่านอาจารย์ ต้องขออนุโมทนาผู้ที่เตือน เป็นผู้ที่ชี้ขุมทรัพย์จริงๆ ถ้าเขาไม่เตือนในขณะนั้น จะรู้สึกตัวได้อย่างไรว่า ตัตตรมัชฌัตตตาก็ไม่เกิด ศรัทธาก็ไม่เกิด หิริโอตตัปปะ อโลภะ อโทสะ อะไรก็ไม่เกิด เพราะฉะนั้นถ้าใครเตือน น่ากราบไหว้บุคคลนั้นที่ช่วยชี้ขุมทรัพย์ให้ เพื่อที่จะได้เป็นผ้าเช็ดธุลีได้

    ผู้ฟัง แล้วก็มาถึงว่า เขาปรารภว่า พวกที่ไปวัด ไปฟังธรรม แต่ก็ไม่เห็นละอะไรได้เท่าไรเลย โกรธก็เหมือนกัน บางทีคนที่ไม่ไปวัด เขายังไม่ค่อยจะโกรธด้วยซ้ำไป คือ เขายังมีอารมณ์เยือกเย็นดี ใครจะพูดอะไร หนักนิดเบาหน่อย ก็ยังทนได้ บางทีพวกเข้าวัด อารมณ์ฉุนเฉียว ดุร้าย โมโห เขาถามผมว่า แล้วไปทำไม

    ท่านอาจารย์ ก็น่าขอบคุณเขาอีกที่ชี้โทษให้เห็นว่า แม้ว่าจะได้ฟังพระธรรม ได้เรียนเรื่องของจิต ได้เรียนเรื่องของเจตสิก ได้เรียนเรื่องของรูป ได้เรียนเรื่องนิพพาน ปริจเฉทต่างๆ ทั้งอรรถกถา ฎีกาต่างๆ แล้ว แต่ยังเป็นผู้ที่มากด้วยอกุศล ซึ่งคนอื่นยังต้องเตือน แต่ก็น่าจะขอบคุณผู้เตือน เพราะว่าความจริงเป็นอย่างไร ก็เป็นอย่างนั้น

    ความจริงประการหนึ่ง คือ ผู้ที่รู้ตัวเองว่า มีกิเลส จึงศึกษาพระธรรม นี่ต่างกับผู้ที่ดีส่วนอื่น แต่ไม่ศึกษาพระธรรม เพราะเข้าใจว่าดีแล้ว เพราะฉะนั้นในชีวิตประจำวันจริงๆ แต่ละบุคคลจะพิจารณาได้ บางท่านมีอุปนิสัยที่สะสมมาดี เป็นทานุปนิสัย มีอุปนิสัยในการสละวัตถุเพื่อประโยชน์สุขของบุคคลอื่น มีสีลุปนิสัย สะสมมาในเรื่องของกายวาจาที่งามพร้อม แต่ว่าไม่ได้สะสมปัญญาที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ส่วนผู้ใดที่สะสมในทางปัญญา ต้องการที่จะศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ ก็ยังจะต้องเป็นผู้ตรงที่จะรู้ว่า พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่องของการศึกษาพระธรรมไว้ ถ้าบุคคลใดศึกษาในลักษณะของจับงูพิษที่หาง ย่อมเป็นโทษ เพราะเหตุว่าไม่ได้ศึกษาเพื่อที่จะขัดเกลากิเลส

    นี่เป็นความต่างกันของจุดประสงค์ของผู้ศึกษาว่า ศึกษาเพื่ออะไร ถ้าศึกษาเพื่อขัดเกลากิเลส เริ่มจากการที่ค่อยๆ เข้าใจตัวเอง เพราะว่าธรรมเป็นเรื่องของตัวเองทั้งหมด ตั้งแต่ตื่นจนหลับ ตั้งแต่เกิดจนตาย พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง เป็นเรื่องของแต่ละบุคคลจริงๆ เรื่องของการเห็น แล้วก็ชอบใจ ไม่ชอบใจ เกิดการกระทำทางกาย ทางวาจาที่เป็นด้วยกุศลจิตบ้าง อกุศลจิตบ้าง

    นี่ก็เป็นชีวิตประจำวัน เพราะฉะนั้นเมื่อได้ศึกษาพระธรรมแล้ว ก็ย่อมเป็นผู้ที่เข้าใจสภาพธรรมที่ตัวเองชัดเจนถูกต้อง ถ้าเป็นการศึกษาเพื่อที่จะขัดเกลากิเลส เพราะฉะนั้นลืมจุดประสงค์ของการศึกษาพระธรรมไม่ได้เลย มิฉะนั้นแล้วการศึกษานั้นจะเป็นการศึกษาแบบจับงูพิษที่หาง และงูพิษนั้นก็จะกัด เพราะเหตุว่าเมื่อมีความรู้มากขึ้น ก็มีความสำคัญตน มีความทะนงตน แต่ว่าไม่ได้น้อมที่จะเป็นผู้ที่ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมด้วยการขัดเกลากิเลส

    ถ้าใครเตือนก็ขอขอบคุณบุคคลนั้น

    ผู้ถาม ผมมีความรู้สึกว่า ธรรมข้อนี้ที่ว่า จะเป็นผ้าเช็ดธุลี มันตรงกับใจผม ผมอยากจะเป็นจริงๆ หลายๆ ครั้งที่นึกถึงคนที่พูดถึงผ้าเช็ดธุลี นึกถึงท่านพระสารีบุตรทีไร อยากจะเป็นจริงๆ มันซาบซึ้งจริงๆ คือ เรายอมให้เขาเหยียบได้ ย่ำได้มานะจะลดไปแยะเลย

    ท่านอาจารย์ ขอให้บุคคลอื่นทดลองซิคะ

    ผู้ฟัง มันเป็นจริงๆ เรื่องผ้าเช็ดธุลี

    ท่านอาจารย์ เมื่อซึ้งแล้ว ก็รับการทดลองได้

    ผู้ฟัง คุณนิภัทรพูดถึงว่า อาจารย์ไปที่นั่นแล้วไปหาผ้าเช็ดธุลี แล้วซาบซึ้งธรรมบทนี้จริงๆ

    ท่านอาจารย์ บทพิสูจน์มีเยอะ ตั้งแต่ ณ บัดนี้เป็นต้นไป พอใครพูดอะไรหรือทำอะไรซึ่งแต่ก่อนเคยไม่พอใจ เคยโกรธ ต่อไปนี้ก็ดู พิจารณาสภาพของจิตว่าเป็นผ้าเช็ดธุลีหรือเปล่า อย่างน้อยก็เป็นอนุสติที่จะระลึกได้ นี่เป็นคุณของพระธรรมที่ทรงแสดงไว้ แม้ท่านพระสารีบุตรท่านกล่าวทำไมเรื่องความประพฤติของท่านดุจดังผ้าเช็ดธุลี ถ้าไม่เป็นประโยชน์สำหรับคนรุ่นหลังที่จะได้พิจารณาเห็นประโยชน์ว่า แม้แต่ท่านเองยังเป็นอย่างนั้น เป็นผู้ที่หมดจดจากกิเลส เป็นผู้อ่อนน้อมอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้นเป็นตัวอย่างสำหรับพุทธบริษัทที่จะประพฤติปฏิบัติตาม ไม่ใช่เพียงแสดงแล้วก็ผ่านไป แต่ประโยชน์ที่จะได้จากพระธรรม คือ พิจารณาทุกพยัญชนะแล้วก็ถือสิ่งที่เป็นประโยชน์ แม้แต่เรื่องผ้าเช็ดธุลีก็ไม่ควรที่จะผ่านไป อย่างน้อยก็เตือนให้ระลึกได้ว่า วันนี้ยอมเป็นผ้าเช็ดธุลีหรือเปล่า ซึ่งขอหวังว่าวันหนึ่งคงได้เป็น

    พรหมวิหารที่ ๒ คือ กรุณาพรหมวิหาร ได้แก่ กรุณาเจตสิก กรุณาเจตสิกไม่ใช่โสภณสาธารณเจตสิก หมายความว่าไม่ใช่โสภณเจตสิกที่เกิดกับกุศลจิตหรือโสภณจิตทุกดวง เพราะเหตุว่าถ้าเป็นโสภณสาธารณเจตสิกแล้วหมายความว่า ไม่ว่าโสภณจิตประเภทใดจะเกิด จะขาดโสภณสาธารณเจตสิกทั้ง ๑๙ ดวงนั้นไม่ได้เลย แต่ ๑๙ ดวงนั้นไม่รวมกรุณาเจตสิก

    เพราะฉะนั้นกรุณาเจตสิกไม่ได้เกิดร่วมกับโสภณจิตทุกดวง เกิดกับโสภณจิตบางดวงในบางกาล คือ เมื่อประสบกับบุคคลซึ่งกำลังเป็นทุกข์เดือดร้อน เป็นปัจจัยให้กรุณาเจตสิกเกิด

    สำหรับลักษณะของกรุณาพรหมวิหารนั้นก็เป็นสภาพธรรมที่ระงับวิหิงสา คือ การเบียดเบียนคนอื่นให้เดือดร้อน ข้อความในอรรถสาลินี กรุณาพรหมวิหารมีว่า

    ที่ชื่อว่า กรุณา เพราะย่อมกระทำจิตของคนดีให้หวั่นไหว ในเมื่อผู้อื่นมีความทุกข์

    ลองคิดถึงวันหนึ่งๆ คงจะได้ประสบพบเห็นผู้ที่ตกอยู่ในความทุกข์ ตั้งแต่ทุกข์เล็กๆ น้อยๆ จนกระทั่งทุกข์มากมายใหญ่หลวง ลองคิดถึงว่า ถ้าท่านเป็นบุคคลนั้น ท่านจะสามารถรับความทุกข์อย่างนั้นไหวไหม จะมีความอดทนพอ จะมีความอาจหาญที่จะมีชีวิตต่อไปด้วยกุศลจิตได้ไหม

    เพราะฉะนั้นสำหรับลักษณะของกรุณาเจตสิก เป็นสภาพธรรมที่ย่อมกระทำจิตของคนดีให้หวั่นไหว ในเมื่อผู้อื่นมีความทุกข์

    ถ้าเห็นคนอื่นเป็นทุกข์แล้ว ยังไม่หวั่นไหวด้วยความต้องการที่จะช่วยให้เขาพ้นทุกข์ ขณะนั้นก็ไม่ใช่กรุณาเจตสิก

    อีกอย่างหนึ่งที่ชื่อว่า กรุณา เพราะถ่ายความทุกข์ของผู้อื่น หรือกำจัด คือ ทำให้ทุกข์ของผู้อื่นพินาศไป

    อีกอย่างหนึ่งที่ชื่อว่า กรุณา เพราะกระจายออกไป คือ แผ่ออกไปด้วยอำนาจการแผ่ไปในสัตว์อื่นที่มีทุกข์

    ท่านที่เคยคิดถึงเฉพาะตัวเอง ทุกสิ่งทุกอย่างต้องเพื่อตัวเอง ของตัวเอง แล้วก็อาจจะขยายวงออกไปเล็กน้อย คือ เพื่อคนในบ้าน ในครอบครัวของตัวเอง ก็จะเห็นได้ว่า ถ้าเป็นลักษณะของกรุณาเจตสิกแล้วละก็เป็นการกระจายออก คือ แผ่ออกไปด้วยอำนาจการแผ่ไปในสัตว์อื่นที่มีทุกข์ ไม่เลือกเลยว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน รู้จักหรือไม่รู้จัก แต่ว่าคนนั้นกำลังมีความทุกข์ ขณะใดที่ความรู้สึกกระจายออกไปด้วยความต้องการที่จะให้บุคคลนั้นพ้นจากความทุกข์ นั่นคือสภาพของกรุณาเจตสิก ซึ่งเป็นกรุณาพรหมวิหาร

    พิจารณาได้ว่าวันหนึ่งๆ เกิดบ่อยไหม เพราะว่าคนที่มีความทุกข์มีมาก แต่ว่าบางท่านลืมคิดถึง หรือว่าเห็นแล้วก็ลืม

    ยากหรือง่าย กรุณาพรหมวิหาร ถ้าใครเขาจะเสียใจเพราะคำพูดของเรา เพียงคิดเท่านี้ แล้วเขากำลังเป็นทุกข์อยู่เพราะคำพูดของเรา จะมีความกรุณาอะไรเกิดขึ้นได้ไหมที่จะทำให้เขาพ้นจากความทุกข์นั้น ด้วยคำพูดที่ทำให้เขาสบายใจขึ้นก็ได้ เพราะฉะนั้นก็แล้วแต่ว่า จะเป็นแม้เรื่องเล็กๆ น้อยๆ สิ่งเล็กๆ น้อยๆ แต่จะทำให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดที่กำลังมีความทุกข์ พ้นความทุกข์ ก็ควรจะทำ

    พรหมวิหารที่ ๓ คือ มุทิตาพรหมวิหาร ได้แก่ มุทิตาเจตสิก ซึ่งไม่ใช่โสภณสาธารณเจตสิก มุทิตาเจตสิกเป็นโสภณเจตสิก ต้องเกิดกับจิตที่ดี แต่ว่าแม้กระนั้นมุทิตาเจตสิกก็ไม่ใช่โสภณสาธารณเจตสิก ๑๙ ดวง เพราะเหตุว่าไม่เกิดกับโสภณจิตทุกดวง แต่เกิดกับโสภณจิตในขณะที่มีสมบัติหรือความสุขของสัตว์อื่นเป็นอารมณ์

    มุทิตาพรหมวิหารเป็นสภาพที่ยินดีด้วยในความสุข หรือในสมบัติของคนอื่น

    ไม่น่าจะยากเลย ใครได้ดีมีสุขก็ยินดีด้วย จิตใจก็เบิกบานแช่มชื่นผ่องใส ในขณะนั้นเป็นกุศลแล้ว แต่ถ้าไม่รู้สึกอย่างนั้น คงจะไม่รู้ว่า ขณะนั้นเป็นอกุศล เพราะเหตุว่าตัตตรมัชฌัตตตาไม่เกิด ไม่เป็นผู้ตรงที่จะรู้ว่า เพราะอะไรจึงไม่ยินดีด้วยในความสุขหรือในสมบัติของคนอื่น

    สำหรับมุทิตาพรหมวิหารนั้น เป็นสภาพธรรมที่ระงับความไม่พอใจ และเป็นธรรมเป็นเครื่องสละออกซึ่งความริษยา ผู้ที่ไม่ใช่พระโสดาบัน ยังไม่ได้ดับอิสสาเจตสิกซึ่งเป็นอกุศลเจตสิก บางคนอาจจะมีมาก บ่อย แต่ว่าบางคนอาจจะเป็นผู้มีความเมตตากรุณา เพราะฉะนั้นลักษณะของความอิสสาในความสุขของคนอื่นก็ไม่มี แต่ว่าเมื่อยังไม่ใช่เป็นพระโสดาบันบุคคลก็ยังไม่ได้ดับอิสสาเป็นสมุจเฉท

    เพราะฉะนั้นบางขณะที่อาจจะเป็นอิสสาที่บางเบาและเล็กน้อยและละเอียด แต่เมื่อเกิดกับจิตของผู้ใด และตัตตรมัชฌัตตตาเกิด ในขณะนั้นจะเป็นผู้รู้สภาพของจิตในขณะนั้นตามความเป็นจริงว่า นี่เป็นอกุศล ซึ่งถ้าไม่รู้อย่างนี้ ไม่มีทางที่จะละคลายอกุศลได้เลย แม้แต่ความอิสสา ซึ่งบางท่านอาจจะคิดว่า ท่านไม่มี แต่บางกาลอาจจะนานๆ ครั้งหนึ่ง หลายเดือนหลายปีครั้งหนึ่ง แล้วก็เพียงเล็กน้อย ซึ่งเกือบจะสังเกตไม่ได้ ก็อาจจะมีได้ นี่เป็นเรื่องของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ซึ่งเมื่อยังไม่ใช่พระโสดาบันซึ่งยังไม่ได้ดับกิเลสเป็นสมุจเฉท ยังมีเชื้อของสภาพอกุศลประเภทใดที่จะเกิด สภาพของอกุศลประเภทนั้นก็ต้องเกิด เพราะเหตุว่ายังไม่ได้ดับไป

    สำหรับพรหมวิหารที่ ๔ คือ อุเบกขาพรหมวิหาร ซึ่งได้แก่ ตัตตรมัชฌัตตตาเจตสิก เป็นสภาพธรรมที่ระงับโลภะ โทสะ ด้วยความเป็นกลาง

    ขอกล่าวถึงลักษณะของพรหมวิหารที่ ๑ เพื่อที่จะได้พิจารณาว่า ตัตตรมัชฌัตตตาต้องตรงจริงๆ ที่จะไม่สับสนลักษณะของเมตตาพรหมวิหารกับสภาพธรรมอื่น

    เมตตามีความเป็นไปโดยอาการเกื้อกูล เป็นลักษณะ

    เพียงเท่านี้ ก็จะพิจารณาชีวิตประจำวันได้แล้วใช่ไหมว่า ในวันหนึ่งๆ ความเกื้อกูลในขณะนั้น เป็นสภาพของธรรมอะไร ที่ไม่ใช่ตัวตน ที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล แต่ต้องตรงจริงๆ ว่า

    มีความเป็นไปโดยอาการเกื้อกูล ซึ่งมีการนำเข้าไปซึ่งประโยชน์ เป็นรสะ คือ เป็นกิจ

    มีการกำจัดความอาฆาต เป็นปัจจุปัฏฐาน

    มีการเห็นว่า สัตว์ทั้งหลายเป็นที่น่าพอใจ คือ ไม่ใช่เป็นที่น่าขัดเคือง

    มีราคะ คือ โลภะเป็นข้าศึกใกล้ ที่จะต้องระวังและเป็นผู้ตรง และเป็นผู้รู้ชัดเจนว่า สภาพธรรมใดเป็นกุศล เป็นอกุศล ก็โดยตัตตรมัชฌัตตตาเกิด พิจารณาในขณะที่เกื้อกูลว่า ในขณะนั้นเป็นกุศลจริงๆ หรือว่ามีข้าศึกใกล้ เข้ามาใกล้ชิดเสียแล้ว คือ ลักษณะของโลภะหรือราคะนั่นเอง

    ถ้าชอบใคร มักจะช่วยเหลือคนนั้น เกื้อกูลคนนั้น ให้อะไรคนนั้น ช่วยทุกสิ่งทุกอย่างด้วยความพอใจ ด้วยโลภะได้ ใช่ไหม

    เพราะฉะนั้นต้องเป็นผู้ที่ละเอียด และจะตรงได้จริงๆ ก็ด้วยตัตตรมัชฌัตตตา ที่จะไม่มีการเอนเอียง แต่ว่าเป็นสภาพที่ทำให้กุศลจิตสม่ำเสมอที่จะเป็นเมตตา โดยที่ไม่ใช่โลภะในขณะนั้น แต่ถ้าไม่ได้พิจารณา ก็อาจจะมีความเอียงด้วยฉันทาคติ และก็ทำประโยชน์ให้กับบุคคลซึ่งเป็นที่รัก โดยที่ละเลยคนอื่น และก็ไม่พิจารณาว่า แท้ที่จริงขณะนั้นไม่ใช่กุศล แต่ว่าเป็นอกุศลนั่นเอง

    สำหรับเมตตา มีข้าศึกไกลที่เห็นชัด คือ พยาบาท ความโกรธเกิดขึ้นขณะใด ขณะนั้นไม่ใช่เมตตาเพราะว่าเมตตากับโทสะ เป็นสภาพที่ตรงกันข้ามกัน เพราะฉะนั้นก็เป็นข้าศึกที่ไกล เข้าใกล้ไม่ได้ แต่ว่าโลภะสามารถที่จะเข้าใกล้เมตตาได้ แล้วก็สามารถที่จะเกิดแทรก เกิดสลับกับเมตตาได้ เพราะเหตุว่าโลภะเป็นสภาพธรรมที่ย่อมเกิดได้เร็ว เพราะฉะนั้นพึงรักษาเมตตาจากราคะนั้นไว้ให้ดี เพราะราคะเหมือนคนที่เดินอยู่ใกล้ๆ

    สำหรับเมตตา มีการสงบระงับความพยาบาทเป็นสมบัติ มีการเกิดความเสน่หาเป็นวิบัติ

    นี่คือชีวิตประจำวันของผู้ที่จะเพียรขัดเกลากิเลส เจริญกุศลเพื่อที่จะละอกุศล ถ้าจะละโลภะก็ต้องเปลี่ยนโลภะที่เคยมีเป็นเมตตา แต่ว่าถ้าไม่เริ่มอบรม เมตตาก็ยังยาก และโลภะก็ง่ายดี เพราะเหตุว่าเร็วเสมอที่จะเกิด ไม่ว่าทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    บางคนอยากจะให้คนอื่นรัก เป็นอย่างนั้นหรือเปล่า รัก อยากจะให้เป็นที่รัก หรือว่าตัตตรมัชฌัตตตา ทำให้ไม่ชอบที่จะให้คนอื่นรัก แต่ว่าชอบและดีใจถ้าคนอื่นเมตตา นี่คือความตรง ซึ่งจะต้องพิจารณาจริงๆ ถ้ามีคนรัก และคนนั้นเป็นผู้ตรง ก็ควรที่จะพยายามทุกอย่างที่จะเปลี่ยนความรักนั้นให้เป็นความเมตตาที่มีต่อตน ถ้าทำได้อันนั้นก็จะเป็นการเกื้อกูลทั้งบุคคลอื่นด้วย ไม่ให้เป็นที่รัก แต่ให้เป็นที่เมตตา จะทำให้จิตของเขาเป็นกุศลเพิ่มขึ้น แต่ว่าคนที่เคยชอบที่จะให้เป็นที่รัก ต่อจากนี้ก็ต้องระวังตัวแล้วใช่ไหม อย่าให้ใครรัก แต่ว่าให้คนเมตตาจะดีกว่า นั่นเป็นสิ่งที่ควรจะพิจารณา

    ไม่ทราบท่านผู้ฟังยังจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย แต่สภาพธรรมเป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น โลภะต้องเป็นอกุศล และเมตตาก็ต้องเป็นกุศล ส่วนใหญ่แล้วชาวโลกต้องการจะเป็นที่รัก แต่ถ้าเป็นผู้ที่เห็นประโยชน์ของทางธรรม ก็เปลี่ยนจากการที่คิดอยากจะให้คนอื่นรัก เป็นคิดจะให้คนอื่นเมตตามากกว่า ไม่ต้องรัก แต่ว่าเมตตา เพราะเหตุว่าขณะนั้นเป็นกุศล ซึ่งจะไม่ทำให้ใครเดือดร้อนเลย ซึ่งเป็นลักษณะที่ต่างกับโลภะ เพราะถ้าเป็นโลภะแล้วเดือดร้อนวุ่นวายมากมายใหญ่โต คนโน้นก็รัก คนนี้ก็รัก วุ่นวายใช่ไหม แล้วเดี๋ยวก็คนโน้นก็รักน้อย คนนี้ก็รักมาก หรือว่าคนโน้นรัก แล้วก็ไม่ได้ทำตามใจที่คนโน้นรัก คนนี้ไม่รัก สารพัดอย่างที่จะวุ่นวาย แต่ว่าถ้าเป็นเรื่องเมตตาแล้ว เป็นเรื่องที่สบายใจมากทีเดียว ไม่มีการที่จะต้องเดือดร้อนประการใดๆ เลย

    ต่อไปนี้ทุกท่านก็คงจะพิจารณาธรรมละเอียดขึ้นด้วยตัตตรมัชฌัตตตา ซึ่งจะทำให้เห็นชัดในลักษณะที่ต่างกันของโลภะและเมตตา

    ผู้ฟัง อาจารย์ว่าจะไม่เดือดร้อน ผมว่าทุกวันน่าจะเดือดร้อน ที่อาจารย์บรรยายว่า เมตตากับโลภะใกล้กัน แล้วคนที่จะรู้ลักษณะของมัน จะต้องมีความตรง คือ ตัตตรมัชฌัตตตาว่า อันนั้นเป็นเมตตาหรือเป็นโลภะ เราเองในฐานะเป็นนักศึกษาธรรม ก็ยังพิจารณาโดยยากกว่าจะรู้กว่าจะเข้าใจได้ แล้วเราจะไปหวังเมตตาจากคนที่ไม่ได้ศึกษาธรรมหรือเข้าใจธรรมคลาดเคลื่อน ผมว่ายิ่งจะยากขึ้น

    ท่านอาจารย์ พยายามที่จะให้คนอื่นเกิดเมตตากับท่านแทนความรัก จะดีกว่าไหม

    ผู้ฟัง ใช่ ทีนี้เมตตากับโลภะหรือราคะ มันใกล้กัน เราก็ไม่รู้ที่เขาให้เรา มันเป็นเมตตา หรือเป็นโลภะ

    ท่านอาจารย์ ท่านผู้ฟังรู้สึกว่า ไม่รู้ว่าใครรัก

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 24
    20 ม.ค. 2565

    ซีดีแนะนำ