โสภณธรรม ครั้งที่ 061
ตอนที่ ๖๑
สภาพธรรมอื่นๆ ที่เกิดร่วมกับทิฏฐิเจตสิก ก็วิปลาสไปด้วย แม้แต่จิตในขณะที่เกิดร่วมกับมิจฉาทิฏฐิ สักกายทิฏฐิ ก็เป็นจิตตวิปลาส แม้แต่สัญญาเจตสิกซึ่งเกิดกับจิตในขณะนั้นที่มีความเห็นผิด ก็เป็นสัญญาวิปลาส
เพราะฉะนั้นกว่าจะอบรมเจริญปัญญาจนกระทั่งดับกิเลสเป็นลำดับ แล้วก็ดับวิปลาสไปตามลำดับด้วย สำหรับผู้ที่เป็นพระโสดาบันบุคคล ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แล้วก็ศึกษาสังเกต จนกระทั่งปัญญาเจริญขึ้น ประจักษ์แจ้งลักษณะที่ไม่เที่ยง ที่เกิดขึ้นแล้วดับไปของนามธรรมและรูปธรรม จนกระทั่งวิปัสสนาญาณเกิดตามลำดับสามารถที่จะละคลายความพอใจในสังขารธรรม และน้อมไปสู่พระนิพพาน ประจักษ์แจ้งพระนิพพานด้วยโลกุตตรจิต คือ โสตาปัตติมรรคจิตเกิดขึ้น ดับสัญญาวิปลาส จิตตวิปลาส ทิฏฐิวิปลาส ที่เห็นว่าเที่ยงในธรรมอันไม่เที่ยง และที่เห็นว่าเป็นตนในธรรมที่ไม่ใช่ตน คือ ดับความเห็นผิดซึ่งเกิดกับโลภมูลจิต ๔ ดวง เพราะฉะนั้นก็ในขณะที่ความเห็นผิดเกิดขึ้น เป็นทิฏฐิวิปลาส มีสัญญาวิปลาส มีจิตตวิปลาสด้วย เพราะฉะนั้นโสตาปัตติมรรคจิตดับวิปลาสทั้ง ๓ ที่เกิดร่วมกัน ไม่เกิดอีก
นี่จะแสดงให้เห็นว่า ยากจริงๆ ที่ถ้าไม่รู้ถึงสภาพธรรมที่เป็นอกุศลธรรมโดยละเอียดว่า แม้แต่ทิฏฐิวิปลาสเกิดขึ้น สัญญาวิปลาสด้วย จิตตวิปลาสด้วยในธรรม ๔ ประการนั้น
สำหรับพระโสดาบันบุคคลเมื่อดับทิฏฐิวิปลาส ก็ยังมีความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะเกิดขึ้น แม้ว่าไม่มีทิฏฐิวิปลาส แต่ก็ยังมีสัญญาวิปลาสและจิตตวิปลาสในขณะที่โลภมูลจิตเกิด
เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่ายังมีความวิปลาสอยู่ แม้ว่าจะดับทิฏฐิแล้ว แต่ก็ยังมีสัญญาวิปลาสและจิตตวิปลาสในธรรมที่ไม่งามว่างาม สำหรับพระโสดาบัน และพระสกทาคามี ต่อเมื่อใดอบรมเจริญปัญญาจนสามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอนาคามี ดับความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ เมื่อนั้นก็ดับสัญญาวิปลาสและจิตตวิปลาสในสิ่งที่ไม่งามว่างามได้
สำหรับพระอนาคามีบุคคลก็ยังมีสัญญาวิปลาส และจิตตวิปลาสอยู่ ต่อเมื่อใดที่ได้อบรมเจริญปัญญา จนถึงการบรรลุอริยสัจจธรรมเป็นพระอรหันต์ จึงดับสัญญาวิปลาสและจิตตวิปลาสในธรรมที่เป็นทุกข์ แต่เห็นว่าเป็นสุข
เพราะฉะนั้นผู้ที่ยังเป็นปุถุชนก็จะต้องรู้ตามความเป็นจริงว่า ไม่ใช่มีแต่ทิฏฐิวิปลาสเท่านั้น ขณะใดที่ยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ แม้ว่าขณะนั้นไม่ได้มีมิจฉาทิฏฐิเกิดร่วมด้วย จิตที่เป็นโลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตต์ขณะใด ขณะนั้นก็เป็นสัญญาวิปลาสและจิตตวิปลาส
ผู้ฟัง พระโสดาบันท่านละวิปลาสทั้ง ๓ ได้ แต่ท่านยังละโลภทิฏฐิคตวิปปยุตต์ไม่ได้ วิปลาสที่เกิดกับอกุศลจิตที่เป็นทิฏฐิคตวิปปยุตต์นี่ ท่านไม่สำคัญผิดว่า มีสัตว์ มีบุคคล มีตัวมีตน มีเรามีเขาอย่างนี้ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ดับหมดแล้ว เพียงแต่ว่ายังสำคัญว่างามในสิ่งที่ไม่งาม
ผู้ฟัง แต่ไม่ได้เห็นผิดเหมือนปุถุชนว่า ยังมีสัตว์มีบุคคล มีตัวตน มีเรามีเขาที่เป็นของเที่ยง ของแน่นอน ไม่มีแล้ว
ท่านอาจารย์ ไม่มีเลย เพราะฉะนั้นโลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ไม่เกิดกับพระโสดาบันบุคคลเลย
ผู้ฟัง หมายความว่าตราบใดที่กิเลสยังไม่หมด เมื่อกิเลสเกิด พระอริยบุคคลที่ยังละกิเลสส่วนนั้นไม่ได้ ก็ยังเป็นเหตุเป็นปัจจัยที่จะให้สำคัญผิดได้เหมือนกัน
การศึกษาธรรม เราจะมุ่งหวังให้สติเกิด กระผมว่าจะไม่ค่อยถูก ถ้าเราตั้งใจศึกษาธรรมให้มีความเข้าใจถูกต้องตรงตามที่พระพุทธองค์สอนไว้ ให้มีความรู้ความเข้าใจเพิ่มขึ้นมากขึ้น กระผมว่าเรื่องสตินี่ไม่ควรจะเป็นห่วง อย่างนี้จะเป็นการถูกต้องหรือเปล่า
ท่านอาจารย์ อันนี้เป็นการถูกต้อง เพราะเหตุว่าเมื่อมีเหตุที่สมควรเมื่อไร ผลที่สมควรก็เกิด ไม่ต้องคอยเลย แล้วก็ไม่ต้องหวัง เป็นผู้ที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดกับตนตามความเป็นจริง แล้วแต่สติจะระลึกเมื่อไร ก็รู้ว่าสภาพธรรมนั้นๆ เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่มีการต้องไปทำอย่างอื่นเลย
เคยสังเกตไหมว่า พระธรรมทำให้ความรักความชังลดน้อยลง หรือว่ายังเลย ความรักความชังในสัตว์ในบุคคล ในญาติ ในมิตรสหาย ถ้ายังไม่ละคลายลงไปบ้างเลย ก็เท่ากับว่า ใจยังไม่คล้อยไปในการที่จะเข้าใจและเห็นสภาพธรรมตามความเป็นจริง
เพราะฉะนั้นการที่จะรู้ผลของธรรมที่ได้ฟัง ก็มีได้หลายประการ นอกจากจะรู้ว่า สติปัฏฐานเกิดบ้างไหม และยังจะพิจารณาตนเองได้บ้างว่า สติขั้นอื่นๆ เกิดเพิ่มขึ้นบ้างไหม หรือแม้แต่ขั้นความสงบของจิต ความเมตตาเกิดเพิ่มขึ้นบ้างไหม ความรักความชังในบุคคลทั้งหลายลดลงไปบ้างไหม
ผู้ฟัง พูดถึงความรักความชังลดลงไปบ้างไหม ผมก็ว่าต่างกัน อย่างเวลานี้ถ้ามารดาถึงแก่กรรมลงไป ความรักก็คงจะไม่มีเท่าไร เพราะท่านก็ชรามากแล้ว ก็รู้สึกเฉยๆ คงจะไม่รู้สึกเสียใจเท่าไร แต่ถ้าเผื่อลูกตายลงไปในขณะนี้ ความรักความชังก็คงจะไม่ไหว ทำไมถึงต่างกันอย่างนี้ ทั้งๆ ที่ก็เป็นสัตว์ เป็นบุคคลเหมือนกัน
ท่านอาจารย์ ซึ่งถ้าเป็นตามความเป็นจริง ถ้าเป็นปัญญาที่ถูกต้องก็จะรู้ว่า ผู้ที่เป็นมารดา หรือผู้ที่เป็นบุตร ก็เป็นเพียงชาตินี้ชาติเดียวเท่านั้นเอง จริงไหม เพราะเหตุว่าเมื่อผู้ที่เป็นมารดาสิ้นชีวิตลง น่าใจหายไหมที่ไม่มีบุคคลผู้นั้นอีกเลย ไม่ว่าในโลกไหนๆ ทั้งสิ้น คือสิ้นสุดสภาพความเป็นบุคคลนั้นโดยแท้จริง โดยสิ้นเชิง และผู้ที่เป็นบุตรก็เหมือนกัน ถ้าสิ้นชีวิตลงในขณะใด ก็จะไม่มีบุคคลนั้นซึ่งเคยเป็นบุตร ซึ่งเคยเป็นที่รักอีกเลย ไม่ว่าในโลกไหนทั้งนั้น เพราะเหตุว่ากรรมจะทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดเป็นบุคคลใหม่ เพราะฉะนั้นจะกลับไปหามารดาบิดาก็ดี หรือว่าบุตรธิดาซึ่งเป็นที่รักก็ดีไม่ได้เลย ถ้าเริ่มรู้ความจริงเสียตั้งแต่อย่างนี้ ก็จะทำให้คลายความรักความชัง แต่ว่าเพิ่มความกตัญญู ความรู้คุณซึ่งท่านมีอุปการะเพิ่มขึ้น ระหว่างมารดากับบุตร ใครมีอุปการคุณมากกว่า
ผู้ฟัง ก็บุพพการีก็ต้องมีมากกว่า
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นถ้าคิดถึงอย่างนี้ กุศลจิตย่อมเกิด ไม่ต้องมีความรักในท่านทั้งสอง เพราะเหตุว่าความรักเป็นอกุศล แต่ว่ามีความเมตตา มีความหวังดี มีการที่จะมีปฏิการะ คือ การตอบแทนพระคุณของท่าน ซึ่งได้มีคุณต่อ เพราะฉะนั้นความรู้สึกที่มีต่อมารดาบิดาที่ประกอบด้วยปัญญาจะเปลี่ยนไปจากการผูกพันด้วยความรัก เป็นความกตัญญูที่เพิ่มขึ้น แล้วก็จะทำให้เกิดกุศลจิตที่ใคร่ที่จะกระทำทุกอย่างเพื่อท่าน เพื่อได้เป็นผู้ที่มีคุณต่อตนตั้งแต่เด็กจนโต และจะได้เกิดกุศลที่ถูกต้องตามความเป็นจริง คือว่าคลายความรัก แต่ว่าเจริญเมตตา และการที่จะเป็นผู้มีกตัญญู หรือว่าพรหมวิหารกับบุคคลที่เกี่ยวข้องกันในชีวิต แต่ว่าตามความเป็นจริงน่าใจหายจริงๆ ไม่ว่าใครก็ตามที่จากโลกนี้ไปโดยสถานใด ไม่ว่าจะโดยเคยเป็นมารดาบิดาก็จะไม่มีอีกแล้ว แต่ว่ามีพระคุณที่ท่านผู้นั้นได้เคยกระทำต่อ เพราะฉะนั้นจิตก็จะไม่มีความผูกพันเยื่อใยที่จะทำให้เกิดความเศร้าหมอง แต่ก็จะทำให้เกิดการทำกุศลและก็อุทิศส่วนกุศลให้ท่านอนุโมทนา
ต้องเป็นอย่างนั้นแน่นอนในวันหนึ่ง และถ้าคิดได้รู้สภาพความจริงเสียตั้งแต่ในขณะนี้ว่า แท้ที่จริงแล้วก็ไม่ต้องคอยจนถึงสิ้นชีวิต แม้ในขณะนี้ก็ไม่มีทั้งเราทั้งเขา เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แล้วก็ดับไปเท่านั้นเอง แต่ว่ามีความสัมพันธ์กันโดยฐานะของความเป็นญาติ โดยฐานะของความเป็นมิตรสหาย เพราะฉะนั้นเมตตาไม่ได้จำกัดแต่เฉพาะในระหว่างญาติและมิตรสหาย ถ้าเป็นกุศลแล้วต้องทั่วไปในสัตว์บุคคลทั้งปวง
ผู้ฟัง พูดถึงมารดา ผมเองผมมีวิบากที่คงจะไม่เหมือนใคร บิดามารดาคนอื่นคงจะไม่เหมือนของผม ผมอยู่กับมารดาได้แค่ ๕ – ๖ ขวบ มารดาก็แยกออกจากเรือนไป ไม่เกี่ยวข้องกับบิดา แล้วตั้งแต่นั้นมา ผมเองไม่มีความสัมพันธ์กับมารดาเลย มีแต่ญาติผู้ใหญ่พาไปพบไปหาบ้างเท่านั้นว่า นี่คือแม่ของเรานะ ก็จำได้ แล้วตลอดชีวิตมาตั้งแต่ ๕ ขวบไปแล้ว ท่านก็ไม่ได้อุปการะเกื้อกูลอะไรผมเลย ก่อนที่ผมจะมาศึกษาธรรม ผมก็คิดว่าในชีวิตของผม ผมคงไม่สามารถตอบแทนบุญคุณหรือว่าอุปการะอะไรท่านได้ ผมตั้งใจไว้อย่างนั้นเลยว่า แม่คนนี้ผมไม่มีทางที่จะไปเลี้ยงท่าน ขณะที่เรียนอยู่มัธยม ๖ มีวันหนึ่งผมไปดูเจ้าเข้าทรง ก็แบมือลงไป เจ้าก็บอกว่า มือนี้บิดามารดาได้พึง ผมไม่เชื่อหรอก เพราะตอนนั้นผมตั้งใจไว้แล้ว ผมจะไม่ยุ่งกับแม่ คือท่านไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับผม ผมจะไม่เลี้ยงท่าน ทีนี้อาจจะเป็นปุพเพกตบุญญตาของเก่าที่เคยสั่งสมกันมา ผมมาศึกษาธรรมก็ขัดเกลาผมไปเรื่อย พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ได้สอนไว้ว่า บุพพการี คือ ผู้ที่ทำคุณให้แก่เราก่อนโดยไม่หวังผลอะไรเลย ทำให้ก่อนเลย บิดามารดามีคุณ ก็ศึกษาไป มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องบิดามารดา จนกระทั่งผมมาเข้าใจธรรมดีแล้ว ก็ไม่ได้นึกจะไปเลี้ยงดูอะไร จนทุกวันนี้ผมต้องเลี้ยงดูท่านทุกอย่าง ค่ายา อาหาร แต่ว่าท่านก็มีวิบากไม่ดีเหมือนกัน ผมจะรับท่านมาอยู่ด้วย ท่านก็อยู่ด้วยไม่ได้ ท่านไม่คุ้นเคยกับผม ท่านก็อยากจะอยู่กับพี่สาว ก่อนจะศึกษาธรรม ผมเคยนึกท้อแท้ว่า ทำไมบิดามารดาคนอื่นเขารักกัน กลมเกลียวกัน อย่างเคยเห็นอาจารย์ไปไหนกับบิดา ตัวเราเองไม่มีความอบอุ่นเลย ก็นึกท้อแท้ใจ ก็เกิดปฏิปักษ์ที่ว่าไม่เลี้ยงมารดาแน่ๆ แต่พระธรรมมีคุณ ทุกวันนี้ผมต้องเลี้ยงแม่เพราะผมศึกษาธรรม ถ้าผมไม่ได้ศึกษา ผมคงไม่เลี้ยงท่านแน่
ท่านอาจารย์ ขออนุโมทนา นี่ก็เป็นการแสดงให้เห็นว่า เป็นผู้ที่ได้ประโยชน์จากการฟังพระธรรม คือว่าต้องเป็นผู้ที่สำรวจตัวเองเสมอ เมื่อฟังแล้วได้ประโยชน์จริงๆ หรือเปล่า ถ้าฟังแล้วก็ยังเป็นอกุศลมากมายอยู่ ยังคิดเหมือนเดิม อย่างนั้นก็ไม่เชื่อว่า ได้ประโยชน์จากพระธรรม แต่ว่าเมื่อได้ฟังพระธรรมแล้ว ก็เกิดกุศลจิตเพิ่มขึ้นในแต่ละทางจึงเป็นผู้ที่ชื่อว่า ได้ประโยชน์จากพระธรรม
ผู้ฟัง การเจริญเมตตานั้นจะต้องมีสัตว์ บุคคลเป็นอารมณ์ใช่ไหม ในกรณีที่ผู้มีพระคุณได้ล่วงลับไปแล้ว และฝันว่าท่านมาขอส่วนบุญ แล้วเราก็เกิดเมตตาทำบุญทำทานไปให้ ลักษณะนี้ถือว่าเป็นเมตตาหรือเปล่า
ท่านอาจารย์ เป็นเมตตาในการที่จะอุทิศส่วนกุศลให้ แต่ไม่ใช่เป็นการที่จะเจริญเมตตากับบุคคลนั้นจนกระทั่งสามารถที่จะถึงอัปปนาสมาธิได้ เพราะเหตุว่าบุคคลนั้นไม่มีที่จะเป็นพื้นให้เมตตาเจริญถึงขั้นนั้น แต่ว่าในขณะนั้นการที่เราจะทำกุศลให้กับบุคคลหนึ่งบุคคลใดก็ตาม ให้ทราบว่าในขณะนั้น อย่างทาน ถ้าไม่มีเมตตาก็คงจะไม่ให้ หรือแม้แต่การที่จะอุทิศส่วนกุศล ก็คงจะไม่ให้
ผู้ฟัง อย่างในกรณีที่เราศึกษามาว่า มี ๓๑ ภพภูมิ และเข้าใจว่า มีเปรต อสุรกาย สัตว์นรก การที่เราได้ทำบุญทำทานแล้วก็อุทิศส่วนกุศลให้ในลักษณะซึ่งอยู่คนละภพภูมิกับเรานี้ ครั้งแรกผมเข้าใจว่าเป็นการเจริญเมตตาอย่างหนึ่ง อย่างนี้จะถือว่าเป็นสัตว์เป็นบุคคลไหม
ท่านอาจารย์ ขณะนั้นจิตของเราเป็นเมตตาที่ให้ จะต้องเป็นอโทสเจตสิกที่เกิดกับจิต แต่ไม่สามารถที่จะเป็นการเจริญเมตตาพรหมวิหาร เพราะเหตุว่าบุคคลนั้นไม่มีที่จะทำให้พื้นฐานจิตของเรามั่นคง เพราะเหตุว่าคนที่เราพบเห็นในโลกนี้ที่เราจะเจริญเมตตา เราจะรู้ได้ว่าเราเจริญได้จริงๆ หรือเปล่า มีจิตที่เปี่ยมด้วยเมตตาเมื่อพบคนที่ยังมีชีวิตอยู่ในโลกนี้ หรือว่าคนในโลกนี้เราก็ไม่เมตตา แต่ว่าเราจะไปเมตตาโดยนึกถึงบุคคลซึ่งไม่ได้เผชิญหรือไม่ได้พบในโลกนี้ ที่จะให้เมตตาเจริญขึ้นได้จริงๆ ในการเจริญเมตตาพรหมวิหารที่จะถึงอัปปนาสมาธิ
กุศลจิตเกิดเวลาที่กระทำทานอุทิศส่วนกุศลให้ แต่ว่าไม่ใช่การอบรมเจริญเมตตา โดยการที่ไม่ใช่บุคคลในโลกนี้ที่เราพบเราเห็น เพราะเหตุว่าถ้าเรายังคงโกรธ ไม่พอใจขัดเคืองใจกับคนในโลกนี้ที่เรายังเห็น ก็ไม่ต้องไปกล่าวถึงการที่เราจะมีเมตตากับบุคคลอื่นได้จริงๆ เพราะเหตุว่าคนที่เราพบเผชิญหน้าอยู่ เมตตาของเรายังไม่มั่นคงพอ แล้วเราจะแผ่ขยายกระจายไปจนกระทั่งถึงสัตว์อื่นภูมิอื่นภพอื่น ก็เป็นแต่เพียงการคิด เพราะเหตุว่าแม้แต่บุคคลที่เราเห็นเราพบ เราก็ยังไม่สามารถที่จะมีเมตตาได้โดยทั่ว เอาแต่เพียงในโลกนี้เสียก่อน หรือเอาแต่เพียงภายในบ้าน แล้วก็ขยายออกไป กว้างออกไปๆ แต่ว่าต้องเริ่มจากคนที่เราพบปะคือภายในบ้าน ในอาวาส ในที่อยู่อันเดียวกัน ชอบทุกชีวิตในบ้านหรือเปล่า แล้วก็จะไปเจริญเมตตาอย่างไร นึกถึงคนอื่นอย่างไร
ไม่ทราบเรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน ยังมีอะไรเป็นที่สงสัยไหม เพราะว่าวิปัสสนาญาณที่ ๑ ก็ย่อมจะเกิดไม่ได้เลย ถ้าข้อปฏิบัตินั้นยังไม่ถูก ต้องเป็นผู้ที่อดทน มีชีวิตตามปกติ แล้วก็อาศัยการฟังพระธรรม การเข้าใจพระธรรม การเข้าใจลักษณะของสิ่งที่สติจะระลึกเพิ่มขึ้น เช่น สิ่งที่ปรากฏทางตา เคยเห็นเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นวัตถุสิ่งต่างๆ เพราะฉะนั้นขณะใดที่สติเกิด คือ ระลึกศึกษาเพื่อที่จะรู้ว่า ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตนเลย เพราะว่าสภาพธรรมนี้เป็นแต่เพียงสิ่งหนึ่งซึ่งมีจริงที่ปรากฏขณะที่กระทบกับจักขุปสาทเท่านั้น และหลังจากนั้นแล้วมโนทวารก็คิดถึงรูปร่างสัณฐานต่างๆ และถ้าไม่ละคลายการที่ยึดมั่นในรูปร่างสัณฐาน ก็จะทำให้มีความพอใจไม่พอใจและยึดมั่นในความเป็นสัตว์ เป็นบุคคลเพิ่มขึ้น มีทั้งทิฏฐิวิปลาส สัญญาวิปลาส จิตวิปลาสในสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าเที่ยง ในสิ่งซึ่งเป็นทุกข์ว่าเป็นสุข ในสิ่งที่ไม่ใช่ตัวตนว่าเป็นตัวตน ในสิ่งที่ไม่งามว่างาม ซึ่งเป็นชีวิตประจำวัน
เพราะฉะนั้นการที่ปัญญาจะเจริญ ก็ต้องเจริญขึ้นจากการเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏในชีวิตประจำวัน จนกว่าปัญญาจะเจริญขึ้นจริงๆ และก็จะข้ามทางหนึ่งทางใดไม่ได้เลย ไม่ว่าจะเป็นทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ
ทุกขณะเป็นนามธรรม เป็นรูปธรรมทั้งนั้น
ท่านอาจารย์ ไม่ทราบว่า วันนี้ท่านผู้ใดมีข้อสงสัยอะไรบ้างหรือเปล่า ในเรื่องการเจริญสติปัฏฐานที่ได้รับฟังในคราวก่อน เพราะว่าไม่ว่าจะฟังธรรมเรื่องใดๆ ก็ตาม หรือว่าจะศึกษามากสักเท่าไรก็ตาม ก็เพื่อที่จะให้เกิดสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ซึ่งเป็นประโยชน์สูงสุดจริงๆ เพราะว่าทุกคนก็จะต้องจากโลกนี้ไป โดยที่ไม่ทราบว่าจะเป็นวันไหน เพราะฉะนั้นโอกาสที่จะขวนขวายศึกษาให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ เพื่อที่จะได้ละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน ซึ่งเคยยึดถือมานานแสนนานในสังสารวัฏฏ์ ถ้าไม่ฟังพระธรรม ไม่พิจารณาเพื่อที่จะให้สติเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ก็จะยังคงยึดถือสภาพธรรมที่ปรากฏในชาตินี้ว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ซึ่งยากแก่การที่จะละคลาย ถ้าปัญญาไม่เจริญขึ้นจริงๆ อย่าลืมว่า สภาพธรรมทั้งหลายที่เกิดทุกๆ ขณะ ย่อยเหตุการณ์ใหญ่ลงมาเป็นแต่ละขณะจิต เป็นทางตาเห็นขณะหนึ่ง แล้วทางใจคิดเรื่องสิ่งที่เห็น ทางหูที่ได้ยินวาระหนึ่ง แล้วทางใจก็คิดเรื่องเสียงที่ได้ยิน ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย สลับกับทางใจที่คิดตลอดเวลา จะรวดเร็วสักแค่ไหน ลองคิดถึงสภาพธรรมตามความเป็นจริง แม้ว่าจะยังไม่ได้ประจักษ์แจ้งตามที่ท่านที่ตรัสรู้แล้วประจักษ์แจ้ง แต่ด้วยการฟัง ค่อยๆ น้อม ค่อยๆ พิจารณาว่า ไม่ต้องคิดถึงเหตุการณ์ทั้งหมด การที่ปัญญาจะเจริญได้ก็ต่อเมื่อรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทีละทาง
บางท่านก็บอกว่า เริ่มจะเข้าใจว่า ผลของกรรมที่ได้รับในชาตินี้ต้องเกิดจากกรรมที่เป็นเหตุในอดีต เริ่มเข้าใจนะคะ แต่นั่นยังเป็นเหตุการณ์ใหญ่ๆ สามารถที่จะเข้าใจกำลังเห็นเดี๋ยวนี้ไหมว่า นี่เป็นผลของกรรมที่เกิดจากเหตุในอดีต ในขณะที่กำลังได้ยินเดี๋ยวนี้ ก็เป็นผลของกรรมซึ่งเกิดจากเหตุในอดีต เพราะฉะนั้นก็ย่อยเหตุการณ์ทั้งเหตุการณ์ลงมาที่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แม้ว่าไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่า กำลังเห็นเดี๋ยวนี้เป็นผลของกรรมอะไร หรือว่ากำลังได้ยินเดี๋ยวนี้ เป็นผลของกรรมอะไร แต่ก็สามารถที่จะเห็นความต่างกันของวิบากจิตกับกุศลจิต หรืออกุศลจิต เช่น เห็นในขณะนี้อาศัยจักขุปสาท ซึ่งไม่มีใครสามารถจะทำให้เกิดขึ้นได้เลย นอกจากกรรม
นี่ก็เห็นกรรม ถ้าพิจารณาจะเห็นได้เลยว่า ที่เคยคิดว่าเป็นเราตั้งแต่เกิดจนตายเคยยึดถือว่าเป็นเรา แต่ไม่เคยพิจารณาเลยว่า รูปตั้งแต่ศีรษะจรดเท้าเกิดขึ้นมาได้อย่างไร มาจากไหน หาเหตุซิคะว่าใครเอามาให้ อยู่ดีๆ ก็มีขึ้นมาในโลก แต่ว่าตามความเป็นจริงแล้ว กรรมเป็นปัจจัยให้รูปตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า เกิดโดยละเอียดทีเดียว แตกย่อยออกไป ถ้าจะคิดถึงเฉพาะตา ก็ต่างและห่างไกลจากหู ห่างไกลจากจมูก ห่างไกลจากลิ้น แม้ว่าจะอยู่ในส่วนของสรีระคือกายส่วนบน แต่ถ้าแยกออกเป็นกลุ่มๆ ของรูปที่ละเอียดมาก ก็จะเห็นได้ว่า มีรูปมากมาย เริ่มพิจารณาเห็นในขณะนี้ว่า รูปที่เคยยึดถือว่าเป็นตัวตน อย่ายึดถือเป็นก้อนเป็นแท่ง รวมกันไปอย่างนั้น จะเห็นว่าเป็นก้อนเป็นแท่งใหญ่ และบางท่านก็เริ่มจะแยกออกเป็นส่วนๆ อย่างหยาบ คือ แยกเป็นผมบ้าง ขนบ้าง เล็บบ้าง ฟันบ้าง หนังบ้าง นั่นก็ยังแยกเป็นส่วนใหญ่ แต่ถ้าแยกเฉพาะเป็นกลุ่มเล็กๆ ซึ่งมีอากาศธาตุคั่นอยู่อย่างละเอียดตลอดทั่วทั้งกาย และแต่ละรูปก็เกิดดับตามเหตุตามปัจจัยอย่างรวดเร็ว ก็จะเห็นได้ว่า กำลังเห็นในขณะนี้ต้องเป็นวิบาก เพราะเหตุว่าบังคับไม่ได้เลยที่จะไม่เห็น ทางหูก็บังคับไม่ได้ที่จะให้ได้ยิน แต่ว่าหลังจากที่เห็นแล้ว จิตต่างกันไป บางคนเป็นกุศล บางคนเป็นอกุศล หลังจากที่ได้ยินแล้วก็ต่างกันไป คือ บางคนก็เป็นกุศล และบางคนก็เป็นอกุศล
เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่า ส่วนใดที่ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา เช่น เห็นและได้ยิน อาศัยรูปซึ่งเกิดจากกรรม คือ จักขุปสาทกระทบกับรูปารมณ์ คือ สิ่งที่กระทบตา และเป็นปัจจัยให้เห็นสิ่งที่ดีหรือเห็นสิ่งที่ไม่ดี ซึ่งการเห็นนั้นต้องเป็นวิบาก เป็นผลของกรรม ถ้าเพียงเข้าใจอย่างนี้ก็จะทำให้รู้สภาพธรรมเพิ่มขึ้น ที่จะละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนในวันหนึ่งๆ แต่ต้องอาศัยการฟัง ต้องอาศัยการพิจารณา และอาศัยการที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ตามความเป็นจริงด้วย
ข้อความในขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค ญาณกถา ข้อ ๗๖ มีข้อความว่า
ชื่อว่าญาณ ด้วยอรรถว่า รู้ธรรมนั้นๆ
ใช้คำว่า รู้ และในขณะนี้เป็นธรรมทั้งหมด ทางตาที่กำลังเห็น เห็นก็เป็นธรรม สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาก็เป็นธรรม ทางหู ได้ยินก็เป็นธรรม เสียงก็เป็นธรรม ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ สภาพปรมัตถธรรมเกิดขึ้น ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เพราะเหตุนั้นชื่อว่า ญาณ ด้วยอรรถว่า รู้ธรรมนั้นๆ ต้องธรรมทีละอย่างที่กำลังปรากฏ และสติระลึกศึกษาพิจารณาจนรู้ชัด และสภาพธรรมนั้นปรากฏตามความเป็นจริง จึงจะชื่อว่า รู้ธรรมนั้นๆ
ส่วนในขณะที่ฟังพระธรรม ปัญญาเครื่องทรงจำธรรมที่ได้สดับมาแล้ว คือ เครื่องรู้ชัดซึ่งธรรมที่ได้สดับมาแล้วว่า ธรรมเหล่านี้ควรเจริญ คือ ภาวนา
- โสภณธรรม ครั้งที่ 051
- โสภณธรรม ครั้งที่ 052
- โสภณธรรม ครั้งที่ 053
- โสภณธรรม ครั้งที่ 054
- โสภณธรรม ครั้งที่ 055
- โสภณธรรม ครั้งที่ 056
- โสภณธรรม ครั้งที่ 057
- โสภณธรรม ครั้งที่ 058
- โสภณธรรม ครั้งที่ 059
- โสภณธรรม ครั้งที่ 060
- โสภณธรรม ครั้งที่ 061
- โสภณธรรม ครั้งที่ 062
- โสภณธรรม ครั้งที่ 063
- โสภณธรรม ครั้งที่ 064
- โสภณธรรม ครั้งที่ 065
- โสภณธรรม ครั้งที่ 066
- โสภณธรรม ครั้งที่ 067
- โสภณธรรม ครั้งที่ 068
- โสภณธรรม ครั้งที่ 069
- โสภณธรรม ครั้งที่ 070
- โสภณธรรม ครั้งที่ 071
- โสภณธรรม ครั้งที่ 072
- โสภณธรรม ครั้งที่ 073
- โสภณธรรม ครั้งที่ 074
- โสภณธรรม ครั้งที่ 075
- โสภณธรรม ครั้งที่ 076
- โสภณธรรม ครั้งที่ 077
- โสภณธรรม ครั้งที่ 078
- โสภณธรรม ครั้งที่ 079
- โสภณธรรม ครั้งที่ 080
- โสภณธรรม ครั้งที่ 081
- โสภณธรรม ครั้งที่ 082
- โสภณธรรม ครั้งที่ 083
- โสภณธรรม ครั้งที่ 084
- โสภณธรรม ครั้งที่ 085
- โสภณธรรม ครั้งที่ 086
- โสภณธรรม ครั้งที่ 087
- โสภณธรรม ครั้งที่ 088
- โสภณธรรม ครั้งที่ 089
- โสภณธรรม ครั้งที่ 090
- โสภณธรรม ครั้งที่ 091
- โสภณธรรม ครั้งที่ 092
- โสภณธรรม ครั้งที่ 093
- โสภณธรรม ครั้งที่ 094
- โสภณธรรม ครั้งที่ 095
- โสภณธรรม ครั้งที่ 096
- โสภณธรรม ครั้งที่ 097
- โสภณธรรม ครั้งที่ 098
- โสภณธรรม ครั้งที่ 099
- โสภณธรรม ครั้งที่ 100