โสภณธรรม ครั้งที่ 062
ตอนที่ ๖๒
ธรรมเหล่านี้ควรเจริญ คือ ภาวนา หรือธรรมนี้ควรรู้แจ้ง ควรทำให้แจ้ง เป็นต้น ชื่อว่า สุตมยญาณ
การฟังมีหลายอย่าง ฟังแล้วไม่พิจารณาให้ถูกต้อง ให้เข้าใจว่าตรงกับสภาพธรรมไหม ท่านผู้ฟังที่เขียนจดหมายถามมา ท่านก็เป็นผู้ที่อ่าน และท่านก็คงเป็นผู้ที่ฟังด้วย แต่ว่าการอ่านและการฟังต้องรู้ว่า ฟังเรื่องของสภาพธรรม และเป็นเรื่องที่แสดงเหตุผลลักษณะของสภาพธรรมให้เกิดความเข้าใจขึ้นหรือเปล่า ถ้าเป็นเรื่องของธรรมที่ทำให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเพิ่มขึ้น อันนั้นก็เป็นประโยชน์จากการฟัง คือ ชื่อว่า สุตมยญาณ เพราะเหตุว่าเป็นปัญญาเครื่องทรงจำธรรมที่ได้สดับมาแล้ว คือ เครื่องรู้ชัดซึ่งธรรมที่ได้สดับมาแล้วว่า ธรรมเหล่านี้ควรเจริญ
เมื่อฟังแล้วเกิดปัญญาพิจารณาเห็นจริงว่า ควรที่จะได้อบรมเจริญขึ้น นั่นคือประโยชน์ของการฟัง
เพราะฉะนั้นในชีวิตประจำวันเป็นอย่างไร ไม่ใช่เวลาที่อบรมเจริญปัญญาแล้วไปเปลี่ยนเป็นอีกอย่างหนึ่ง อย่างที่ถามว่า ถ้าเห็นคนตกน้ำ ถ้ารู้ว่าเป็นนามเป็นรูป จะทำอย่างไร
ทุกอย่างเป็นปกติเหมือนเดิม ไม่เปลี่ยนเลย ถ้าไม่ได้รู้ว่าเป็นนามเป็นรูป จะทำอย่างไร เวลาเห็นคนตกน้ำแล้วก็ไม่รู้ว่าเป็นนามเป็นรูป จะทำอย่างไร เหมือนกันค่ะ จะทำอย่างไรเป็นเรื่องของแต่ละบุคคล ว่าบุคคลนี้จะทำอย่างนั้น บุคคลนั้นจะทำอย่างนี้ ตามเหตุตามปัจจัยที่ได้สะสม เพียงแต่ว่า ผู้ที่ได้ฟังเรื่องของการอบรมเจริญภาวนา ก็จะไม่ละโอกาสสักขณะเดียวที่สติจะเกิดได้ ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทั้ง ๖ ทาง
แต่ว่าสำหรับในขั้นต้น ทุกท่านเป็นผู้ตรงต่อตัวเองก็จะรู้ได้ว่า ทั่วทั้ง ๖ ทางหรือยัง เพราะเหตุว่าสติย่อมไม่สามารถที่จะมีความชำนาญคล่องแคล่วตั้งแต่ในตอนเริ่มที่จะระลึกลักษณะของสภาพธรรมได้ทั่วทั้ง ๖ ทาง เพียงแต่ว่าขณะใดที่มีเหตุปัจจัยพร้อมที่สติจะเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมใด สติก็เกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้น และก็ไม่เลือกโอกาสด้วย ในระหว่างที่ช่วยคนตกน้ำ ก็ไม่แน่ว่าสติปัฏฐานจะเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้น หรือในขณะที่ไม่ช่วย ก็ไม่แน่ว่า สติจะระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดในขณะนั้น แม้ในขณะนี้ก็ไม่แน่ว่า สติจะเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ เพราะเหตุว่าสติเป็นอนัตตา ไม่มีใครสามารถที่จะเจาะจงหรือเลือกให้สติเกิดตอนนั้นตอนนี้ หรือไปกลัวว่า พอสติเกิด รู้ว่าสภาพธรรมนั้นเป็นนามธรรมเป็นรูปธรรมแล้วก็จะไม่ช่วยคนที่ตกน้ำ
ทุกอย่างเป็นปกติ ตามเหตุตามปัจจัย เพียงแต่ว่าสติจะระลึกลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง เพราะเหตุว่าตามความเป็นจริง ทางตาที่เห็น เมื่อจักขุทวารวิถีวาระที่เห็น สิ่งที่ปรากฏทางตาดับไปแล้ว เร็วมากแค่ไหน ลองคิดดู ภวังคจิตเกิดคั่น ไม่มีใครสามารถที่จะนับได้ว่ามากน้อยเท่าไร แล้วมโนทวารวิถีจิตเกิดสืบต่อรับรู้สิ่งที่ปรากฏทางตาวาระหนึ่งแล้วก็ดับไป ภวังคจิตเกิดคั่น แล้วมโนทวารวิถีจิตที่เกิดต่อจึงเห็นว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด
เพราะฉะนั้นที่ทุกท่านกำลังนั่ง เห็น แล้วก็รู้ว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดทันที ก็จะเริ่มรู้ว่า แท้ที่จริงแล้วสภาพธรรมต้องเกิดดับอย่างเร็วที่สุด แต่เมื่อเกิดแล้วดับไป แล้วสภาพธรรมอื่นเกิดสืบต่อเป็นไปอย่างรวดเร็ว จนไม่รู้ว่า ทางจักขุทวาร สิ่งที่ปรากฏทางตายังไม่ได้เป็นขณะที่รู้ว่าสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นอะไร
เพราะฉะนั้นในขณะนี้แสดงให้เห็นว่า จิตเกิดดับสลับอย่างเร็วที่สุด ลองคิดถึงสภาพอะไรก็ได้ที่เกิดดับๆ ๆ สืบต่ออย่างเร็วมาก จนกระทั่งปรากฏว่า พอเห็นก็รู้ทันทีว่าเป็นคนนั้น คนนี้ ก็จะเห็นได้ว่า จะต้องอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมแต่ละทางตามความเป็นจริงมากเพียงไรที่จะละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนได้
นิภัทร ทุกคนก็รู้สึกเป็นห่วงเรื่องการปฏิบัติว่าจะปฏิบัติอย่างไร ซึ่งอันนี้กระผมอยากจะเรียนเรื่องส่วนตัวว่า สมัยหนึ่งผมห่วงเรื่องการปฏิบัติมาก จนถึงลงมือเข้าห้องปฏิบัติ ก่อนเข้าห้องปฏิบัติ อาจารย์ก็จะสอนอารมณ์ เรียกว่า อารมณ์กัมมัฏฐานให้ ทางตา เห็นเป็นนาม สีเป็นรูป ทางหู ได้ยินเป็นนาม เสียงเป็นรูป ทางจมูก ได้กลิ่นเป็นนาม กลิ่นเป็นรูป ทางลิ้น รู้รสเป็นนาม รสเป็นรูป ทางกาย รู้เย็น ร้อน อ่อน แข็ง เป็นนาม เย็น ร้อน อ่อน แข็งที่ปรากฏเป็นรูป ทางใจ ยืน เดิน นั่ง นอน เป็นรูป ที่รู้ว่ายืน เดิน นั่ง นอน เป็นนาม ท่องได้แล้ว อาจารย์ก็บอกว่า เข้าใจ ไปปฏิบัติได้ ก็เข้าไปปฏิบัติเพื่อจะหานามหารูป เพื่อจะให้เห็นนามเห็นรูป นั่งก็ยกมือ ไม่มีว่างเลย ก็จะต้องเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา เพื่อจะให้เห็นนามเห็นรูป แล้วก็เดิน ยืน ก็คอยกำหนดเพื่อให้รูปให้นามโผล่ออกมาให้เห็น ความเข้าใจเป็นอย่างนั้น อันนี้ผมก็มารู้ตอนหลังว่า การเป็นห่วงเรื่องการปฏิบัติโดยไม่มีความเข้าใจเป็นอันตรายจริงๆ ไม่รู้จะปฏิบัติไปทำไม ถ้าไม่เข้าใจธรรม
เพราะฉะนั้นผมก็อยากจะเรียนฝากเพื่อนสหายธรรมทั้งหลายว่า ไม่ต้องห่วงเรื่องการปฏิบัติ ห่วงเรื่องความเข้าใจธรรมว่า ท่านเข้าใจธรรมแค่ไหน อย่าง ธรรม คืออะไร เข้าใจหรือยัง ถ้ายังไม่เข้าใจธรรมแล้วอย่าไปปฏิบัติ จะไม่รู้อะไรเลย ใครว่าอะไรผิดอะไรถูก หรือใครเขียนอะไร อาจารย์นี้ว่าอะไร อาจารย์โน้นว่าอะไร จะไม่รู้ว่าสิ่งใดผิดสิ่งใดถูก เพราะอะไร เพราะเราไม่เข้าใจธรรม ใครว่าอาจารย์ไหนดี ก็จะตามไปปฏิบัติทั้งนั้น สาเหตุเพราะไม่เข้าใจธรรม
เพราะฉะนั้นที่อาจารย์พร่ำสอนอยู่ทุกวันเรื่องธรรม ธรรมไม่ใช่เรื่องอื่น เป็นปกติในชีวิตประจำวัน ขณะนี้ในชีวิตประจำวันอย่างนี้ ใครรู้บ้างว่าอะไรเป็นธรรม ถ้าหากยังไม่รู้ก็พยายามฟัง ฟังให้รู้ ให้เข้าใจธรรม เมื่อเข้าใจธรรมเมื่อไร ปฏิบัติจะมีมาเอง จะเกิดขึ้นเพราะเหตุที่เราเข้าใจธรรมเป็นปัจจัยให้มีสติเกิดขึ้นได้ ถ้ายังไม่เข้าใจ ให้ไปเพียรให้สติเกิดอย่างไร ก็ไม่มีทาง ไม่ใช่สติ ไม่ใช่สติปัฏฐานด้วย
ประทีป อาจารย์พูดถึงเรื่องการฟังธรรม กระผมคิดว่า แต่ละท่านคงจะไม่เหมือนกัน ความเข้าใจในการฟังธรรมไม่เหมือนกัน ผมอยากจะพูดเรื่องส่วนตัวของผมเอง ซึ่งผมได้เรียนถามสหายธรรมด้วยกันว่า สนใจมาฟังธรรมจากอาจารย์สุจินต์เพราะอะไร บางท่านก็ว่าติดใจเสียงเพราะ เสียงหวาน บางท่านก็ว่าอาจารย์สุจินต์สอนพระอภิธรรมละเอียดมาก เรื่องจิต เรื่องปัจจัย เรื่องรูปนาม ท่านสอนละเอียด บางท่านก็ชอบอย่างนั้น แต่ผมติดตามฟังอาจารย์ ผมคิดเอาเองว่า ผมมีความเข้าใจอยู่อย่างหนึ่งที่ติดใจและยึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติเรื่อยมา คือ อาจารย์พูดเรื่องกุศลกับอกุศลในชีวิตประจำวัน ผมก็จำได้เลาๆ ไม่ละเอียดนักว่า ลักษณะของกุศล เป็นสภาพธรรมที่ไม่เป็นโทษ ไม่เป็นภัย และไม่ใช่ลักษณะของโลภะที่มีความหวัง ความต้องการ ความอยาก และไม่ใช่ลักษณะที่เป็นโทสะ คือ ความขุ่นข้องหมองใจ ความขัดข้อง ความขัดเคือง และไม่ใช่ลักษณะของโมหะ ที่ไม่เข้าใจสภาพธรรมที่เป็นกุศลและอกุศลในชีวิตประจำวัน ใครก็ตามถ้าหากว่าไม่เข้าใจกุศลและอกุศลในชีวิตประจำวัน ก็ไม่สามารถที่จะเจริญกุศลในชีวิตประจำวันได้ จากการที่ผมได้ฟังอาจารย์ในช่วงนี้ ผมก็เข้าใจว่า ในชีวิตประจำวันโดยปกติธรรมดา โดยไม่ต้องทำอะไรขึ้น สติสามารถระลึกรู้ได้ว่า อย่างไหนเป็นกุศลและอกุศล
ท่านอาจารย์ ขออนุโมทนา นี่ก็เป็นผลของการฟังพระธรรมและการเข้าใจเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน และก็ไม่หวังว่าสติจะเกิดเมื่อไร และก็สติประเภทไหน แต่ว่าเป็นผู้ที่เริ่มเห็นกิจของสติ เพราะเหตุว่ามีการระลึกได้แม้แต่ในการที่จะแสดงความเคารพ หรือแม้แต่ขณะที่ให้ทานแล้วก็คิดถึงเรื่องผล นี่เป็นประโยชน์ของการฟังซึ่งก็จะเกื้อกูลปรุงแต่งให้สติปัฏฐานระลึกลักษณะของสภาพธรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ซึ่งยากกว่าสติขั้นอื่น ต้องอาศัยการเข้าใจจริงๆ แล้วก็ต้องอาศัยการที่จะต้องฟังเรื่องของสิ่งที่ปรากฏ ที่สติจะต้องระลึก ที่ปัญญาจะต้องรู้เนืองๆ บ่อยๆ
ในตอนต้นของการบรรยายก็ได้พูดถึงเรื่องการเจริญสติปัฏฐานมาก แล้วเมื่อเห็นว่าเมื่อท่านผู้ฟังมีความเข้าใจพอสมควร ก็ได้พูดถึงเรื่องธรรมข้ออื่นๆ และในขณะที่ได้พูดถึงเรื่องของโสภณสาธารณเจตสิกถึงตัตตรมัชฌัตตตาเจตสิก ก็เป็นโอกาสที่จะได้กล่าวถึงเรื่องของการอบรมเจริญสติปัฏฐาน เพราะเหตุว่าหลายท่านที่ไม่ได้ฟังตอนต้น ก็จะได้มีโอกาสพิจารณาเห็นประโยชน์ที่แท้จริงของการฟังพระธรรม เพื่อที่จะได้อบรมเจริญปัญญาที่เป็นสติปัฏฐานโดยถูกต้อง โดยไม่คลาดเคลื่อน เพราะว่าถึงแม้จะกล่าวถึงวิปัสสนาญาณ หรือว่าโสภณสาธารณเจตสิกอื่นๆ ซึ่งก็คงจะต้องกล่าวถึงต่อไป แต่ก็ขอแทรกเรื่องของการเจริญสติปัฏฐานซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญ
ทุกคนต้องจากโลกนี้ไป และก็ไม่ทราบว่าจะเร็วจะช้า เพราะฉะนั้นสิ่งที่ควรจะอบรมเจริญมากถ้ามีโอกาสก็คือ ฟังเรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน จะได้เป็นผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐานตั้งแต่ในชาตินี้
ประทีป มีอีกอย่างหนึ่งคือ ในขณะที่ฟังพระธรรมหรือทำอะไรที่เกี่ยวกับการศึกษาพระธรรม จะเป็นด้วยเหตุนี้หรือเปล่าที่ทำให้สติเกิดขึ้นบ้างบางครั้งบางคราว ไม่ได้หมายความว่าเกิดติดต่อเรื่อยๆ นานๆ สักครั้งหนึ่ง จะมากกว่าปกติธรรมดา หลังจากฟังเทปธรรมแล้ว ไม่ว่าอาจารย์จะพูดเรื่องมรณานุสสติ หรือเรื่องเย็น ร้อน อ่อน แข็ง หรือเรื่องอานาปานสติ ก็จะรู้สึกว่า เข้าใจเอาเองว่าตัวเองสติเกิด เพราะว่าผมยังคิดว่าเป็นปุถุชนธรรมดา ย่อมจะต้องมีความสงสัยอยู่เป็นธรรมดา กระผมเข้าใจว่าลักษณะอย่างนี้ก็คงจะต้องเกิดอยู่เรื่อยๆ บ่อยๆ เนืองๆ พร้อมด้วยความสงสัย จนกว่าจะมีแน่ชัดว่าสติที่เกิดขึ้นในเรื่องลมหายใจ ในเรื่องเย็นร้อนอ่อนแข็ง เรื่องเวทนาต่างๆ คงจะเป็นเรื่องความสงสัยไปเรื่อยๆ จนกว่าความแน่ชัดจะเกิดขึ้น ผมไม่ทราบว่าการเจริญในลักษณะที่เราไม่ได้ตั้งใจให้เกิดอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ในขณะที่ฟังธรรมของอาจารย์แล้ว สติเกิดขึ้นเป็นบางครั้งบางคราวอย่างนี้ ผมก็คิดว่าเป็นการเดินทางที่ถูกต้อง ใช่ไหมอาจารย์
ท่านอาจารย์ สติปัฏฐานต้องเกิดสลับแน่นอน น้อยหรือมากนั้นต้องแล้วแต่เหตุปัจจัย แต่ให้ทราบว่า ขณะใดที่สติเกิด สติจะระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรม ต้องมีลักษณะจริงๆ ปรากฏ
อดิศักดิ์ เรื่องการฟังพระธรรมนี่ อาจารย์ก็พร่ำสอนอยู่เรื่อยว่า ให้ฟัง ทีนี้พอดีผมไปอ่านในปัญจกนิบาต เรื่องอานิสงส์ของการฟังพระธรรม ก็อยากจะมาบอกไว้ ณ ทีนี้ว่า อานิสงส์ของการฟังพระธรรมมี ๕ ประการ ๑. ได้ฟังในสิ่งที่เราไม่เคยได้ฟังมาก่อน ๒. ทำให้สิ่งที่ได้ฟังมาแล้วแจ่มแจ้งขึ้น
อย่างทุกวันนี้ เราได้มาฟังอาจารย์เพิ่มขึ้นก็แจ่มแจ้งขึ้นทุกที อย่างเมื่อสักครู่นี้อาจารย์บอกว่า เรานึกถึงเรื่องใหญ่ๆ ว่าเป็นวิบาก แต่เห็นทางตา ได้ยินทางหู เราไม่ค่อยได้นึกเลยว่า นั่นเป็นวิบาก นี่ก็เป็นประโยชน์ ทำให้ผมแจ่มแจ้งขึ้นว่า เนื่องจากการฟัง และอานิสงส์ประการที่ ๓. ทำให้คลายความสงสัยลงไป อานิสงส์ประการที่ ๔. ทำความเห็นให้ตรง อันนี้ก็ถูกอีก ทำให้เราระลึกสภาพธรรมตามความเป็นจริง ระลึกได้ถูกต้อง ได้ตรงขึ้น อานิสงส์ประการที่ ๕. ทำให้จิตใจของผู้ฟังผ่องใส
เพราะฉะนั้นฟังไปเถอะ อานิสงส์ ๕ ประการนี้ได้แน่นอน
ท่านอาจารย์ ก็ขออนุโมทนา
เรื่องของสภาพธรรมที่ปรากฏรู้ยากว่าไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ก็ควรที่จะได้สังเกต ศึกษาแม้แต่เพียงเริ่มต้น อย่างเมื่อสักครู่นี้ที่มีเสียงดัง ขณะนั้นถ้าสังเกตจริงๆ จะ รู้ว่า ทางตาไม่ได้ปรากฏเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดขณะที่เสียงกำลังปรากฏ แล้วก็กำลังได้ยินเสียงนั้น และถ้าสติเกิดในขณะที่กำลังมีเสียงที่กำลังปรากฏ สภาพที่รู้เสียง ไม่ใช่เรา ถ้ามีความสังเกตพิจารณาในขณะนั้น แม้แต่ส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกายก็ไม่ได้ปรากฏเลย
เพราะฉะนั้นสิ่งที่ปรากฏทางตาในขณะนั้น ก็ไม่ได้สนใจว่า เป็นใคร หรือว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด นี่คือการเริ่มสังเกต
จะรู้ได้ว่า สิ่งที่เราเคยเห็นทางตาว่า ไม่เห็นดับไปเลย และได้ฟังธรรมมาไม่ว่านานสักกี่ปี ก็ยังคงเห็นเป็นคนนั้นคนนี้อยู่เรื่อยไป ยังไม่สามารถที่จะแยกโลกที่ปรากฏทางตากับโลกที่คิดนึกเรื่องสิ่งที่ปรากฏทางตาออกจากกัน ว่าสิ่งที่ปรากฏทางตาจะเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดไม่ได้เลย ถ้าไม่คิด เพียงไม่คิดเท่านั้น สิ่งที่ปรากฏทางตาก็เพียงปรากฏเท่านั้นเอง แต่ว่าเมื่อเกิดคิดขึ้น ก็จะเป็นบุคคลนั้นบุคคลนี้ แล้วการเกิดดับสลับกันอย่างรวดเร็ว ก็จะเห็นเป็นคนกำลังพูด พัดลมกำลังหมุน แต่ลองคิดดูว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาที่ดับในขณะที่เสียงปรากฏ แล้วถ้าไม่เห็นอีก จะมีการเคลื่อนไหวของรูปที่เห็นเมื่อสักครู่นี้ได้ไหม
เห็น แล้วก็มีการได้ยิน ขณะที่กำลังได้ยินเสียง จิตเห็นที่จริงแล้วจะต้องไม่มีในขณะนั้น และถ้าได้ยินอยู่ตลอดเวลาโดยที่ว่าไม่ได้พิจารณา ไม่นึกถึงสิ่งที่ปรากฏทางตา หรือไม่เห็น จะมีการเคลื่อนไหวของรูปเมื่อสักครู่นี้ที่เห็นไหม แต่เพราะเหตุว่าเมื่อเห็นแล้ว จิตคิดนึกจำสิ่งที่เห็น แล้วก็เห็นอีก แล้วจิตคิดนึกจำสิ่งที่เห็นอีก แล้วก็เห็นอีก แล้วจิตคิดนึกจำสิ่งที่เห็นอีก ก็ปรากฏว่ารูปนั้นเคลื่อนไหว อาจจะเป็นคนที่กำลังพัด เพราะว่าร้อนมาก นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ต้องมีการเห็นหลายขณะซึ่งสลับกับการได้ยิน ซึ่งการได้ยินก็ดับแล้ว เพราะฉะนั้นการเห็นอีกสืบต่อทำให้ปรากฏเป็นคนยืน คนพูด คนเคลื่อนไหว หรือว่าวัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใดเคลื่อนไหว แต่ให้ทราบว่าในขณะนั้นการเกิดดับของสิ่งที่ปรากฏทางตาต้องเร็วสักแค่ไหน สลับกับเสียงที่ปรากฏทางหู หรือว่าสลับกับแข็งที่กำลังปรากฏในขณะนี้
ทุกคนจะต้องมีกายปสาทที่จะกระทบกับสิ่งที่อ่อนบ้าง ร้อนบ้าง แข็งบ้าง ในขณะนี้พิสูจน์ธรรมได้ ขณะที่กำลังรู้แข็ง จะต้องไม่มีการเห็น นี่สำหรับผู้ที่ประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง แต่ผู้ที่ปัญญายังไม่ได้อบรมเจริญถึงขั้นที่จะประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรม ก็ยังคงเห็นด้วยและรู้แข็งด้วย แต่ว่าควรที่จะน้อมพิจารณาถึงความจริงว่า ขณะที่แข็งปรากฏ เห็นดับแล้ว คิดนึกเรื่องสิ่งที่ปรากฏทางตาซึ่งเกิดต่อทางมโนทวารวิถีก็ดับหมดแล้ว แข็งจึงปรากฏได้
เพราะฉะนั้นถ้าใส่ใจในลักษณะที่แข็ง จะเห็นสิ่งนั้นเคลื่อนไหวทางตาไหม ต้องไม่เห็น ถ้ารู้แข็งแล้วไม่เห็นอีกเลย หลับไปเลย ก็จะไม่มีการปรากฏการเคลื่อนไหวของรูปที่ปรากฏทางตา แต่เพราะเหตุว่าเห็น แล้วก็คิด แล้วก็อาจจะรู้อารมณ์ทางทวารอื่น แล้วก็กลับมาเห็นอีก จำได้อีก เห็นอีก จำได้อีก ทางตาก็ปรากฏเสมือนว่าเป็นสิ่งที่เป็นคน เป็นสัตว์ เป็นวัตถุต่างๆ แล้วก็กำลังเคลื่อนไหวด้วย
นี่คือสิ่งที่จะต้องค่อยๆ สังเกตพิจารณา แม้เพียงได้ยินปรากฏ ถ้าใส่ใจในขณะนั้นก็จะรู้ว่า ไม่ได้สนใจในสีที่ปรากฏ จึงไม่ได้สังเกตรู้ว่า เป็นวัตถุ หรือเป็นบุคคลนั้นบุคคลนี้ ทั้งนิมิตและอนุพยัญชนะ
เพราะฉะนั้นเมื่อสภาพธรรมเป็นอย่างนี้ การที่สติเกิดเริ่มระลึกได้ เริ่มน้อมพิจารณาไปเรื่อยๆ โดยอาจจะมีลักษณะของสภาพธรรมอื่นเกิดแทรกคั่นสติดับไปอย่างรวดเร็วและก็นานมากกว่าสติจะเกิดอีก และสติก็ไม่ค่อยจะระลึกทางตา อาจจะระลึกทางกายบ้าง แล้วทางรสก็ไม่ได้ระลึกเลยสำหรับบางท่าน ก็เป็นเรื่องปกติ ซึ่งแล้วแต่สังขารขันธ์ ซึ่งได้ฟังเรื่องของธรรมจนกระทั่งเป็นสุตมยปัญญา หรือสุตมยญาณ จะรู้จริงๆ ว่า เป็นสิ่งที่ควรเจริญ และสติก็จะค่อยๆ เริ่มพิจารณาไปทีละเล็กทีละน้อย แต่ต้องรู้จุดประสงค์ว่า การที่ระลึกทางตาก็เพื่อที่จะแยกลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏออกจากลักษณะอ่อนหรือแข็งที่ปรากฏทางกาย และจะต้องแยกกับลักษณะของรูปธรรมนามธรรมอื่นๆ จึงจะปรากฏว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลได้
นิภัทร เมื่อสติเกิด รู้ว่าเป็นสติปัฏฐานได้ไหม
ท่านอาจารย์ แน่นอน
นิภัทร และที่จะเป็นเครื่องตัดสินว่าเป็นสติปัฏฐานในขณะที่สติเกิดนั้น สติจะต้องระลึกรู้สภาวธรรมที่ปรากฏในขณะนั้น คือ จะต้องมีสภาวธรรมปรากฏด้วย
ท่านอาจารย์ ถูกต้อง
นิภัทร ไม่ใช่ว่าระลึกเฉยๆ
ท่านอาจารย์ ไม่ได้
ทางตา สิ่งที่ปรากฏเป็นของจริง ระลึกได้
สมนึก ผมสงสัยเรื่องของบัญญัติ มีผู้กล่าวว่า บัญญัติไม่เที่ยง ผมอยากทราบว่า บัญญัติเที่ยงหรือเปล่า
ท่านอาจารย์ ก่อนอื่นที่จะเข้าใจสภาพธรรมได้ ต้องเข้าใจว่า บัญญัติคืออะไร การที่จะพูดถึงธรรมข้อหนึ่งข้อใด จะต้องชัดเจนว่า หมายความถึงอะไร อย่างถ้าใช้คำว่า ปรมัตถธรรม หมายความถึงสภาพธรรมที่มีจริง มีลักษณะปรากฏให้รู้ได้ แล้วแต่ว่าจะเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยอะไรต่างๆ ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ว่า ปรมัตถธรรม คือ สภาพธรรมที่มีจริง จะไม่ใช้คำใดๆ ก็ตาม ลักษณะนั้นมีจริง เช่น เห็น ไม่ต้องเรียกชื่อเป็นภาษาต่างๆ เห็นก็มี
เพราะฉะนั้นปรมัตถธรรมที่มี มีเพียง ๔ ประเภท คือ ๑. จิต ๒. เจตสิก ๓. รูป ๔. นิพพาน
ถ้าเข้าใจปรมัตถธรรมแล้ว จะทำให้เข้าใจบัญญัติว่า บัญญัติไม่ใช่ปรมัตถธรรม เพราะฉะนั้นก็จะรู้ได้ว่า ที่ใช้คำว่า “บัญญัติ” ต้องไม่ใช่ปรมัตถธรรม ต้องไม่ใช่จิต ต้องไม่ใช่เจตสิก ต้องไม่ใช่รูป
สภาพธรรมที่เป็นสังขารธรรม เกิดขึ้นแล้วดับไป ได้แก่ ปรมัตถธรรม ๓ คือ จิต ๑ เจตสิก ๑ รูป ๑ เป็นสังขารธรรมซึ่งเกิดดับ
เพราะฉะนั้นบัญญัติไม่ใช่ปรมัตถธรรม ไม่ใช่สังขารธรรม ไม่เกิด เพราะฉะนั้นจะดับได้ไหม
สมนึก ถ้าไม่เกิดแล้วไม่ดับแน่ๆ
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจความหมายของบัญญัติก่อน
สมนึก และบัญญัติเป็นอารมณ์ของสติปัฏฐานได้ไหม
ท่านอาจารย์ ไม่ได้เลย เพราะเหตุว่าสติปัฏฐานจะต้องระลึกลักษณะของสภาพธรรมซึ่งเกิดปรากฏแล้วดับ แล้วก็จะประจักษ์ว่าลักษณะนั้นเป็นธรรมแต่ละชนิดซึ่งไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เพื่อวิปัสสนาญาณจะสมบูรณ์ถึงการประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมตามลำดับขั้น ตั้งแต่วิปัสสนาญาณที่ ๑ คือ นามรูปปริจเฉทญาณ เป็นความสมบูรณ์ของปัญญาซึ่งประจักษ์แจ้งในลักษณะที่แยกขาดจากกันของนามธรรมและรูปธรรม เพราะฉะนั้นในขณะนั้นไม่ใช่บัญญัติ
และสำหรับผู้ที่จะคิดว่า บัญญัติเป็นอารมณ์ของสติปัฏฐานได้ ขอให้แสดงวิธีเจริญสติโดยการระลึกรู้บัญญัติว่า จะระลึกรู้บัญญัติได้อย่างไร
สมนึก เขามีเหตุผลอ้างว่า ในกายานุปัสสนาสติปัฏฐานกล่าวถึงอาการ ๓๒ ว่า ให้พิจารณาอาการ ๓๒ แล้วเกิดความเบื่อหน่าย เกิดความละคลาย ขณะนั้นกล่าวว่า เป็นสติปัฏฐาน
ท่านอาจารย์ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงพระอภิธรรมไว้เพื่ออะไร
สมนึก เพื่อให้เข้าใจสภาวะตามความเป็นจริง
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นส่วนที่เคยยึดถือว่ากาย ทรงแสดงว่าได้แก่ปรมัตถ์อะไร มิฉะนั้นแล้ว จะต้องไม่มีปรมัตถธรรมเป็นเครื่องยืนยันใช่ไหม ส่วนที่เคยยึดถือว่ากาย ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้าได้แก่ปรมัตถธรรมอะไร
สมนึก ได้แก่รูปปรมัตถ์
ท่านอาจารย์ ได้แก่รูปปรมัตถ์ ได้แก่ธาตุอะไร
สมนึก ดิน น้ำ ไฟ ลม
ท่านอาจารย์ นี่ทรงแสดงไว้หรือเปล่า
สมนึก ทรงแสดงไว้
ท่านอาจารย์ เมื่อทรงแสดงไว้แล้ว ทำไมไม่ประกอบกันว่า แม้ว่าจะใช้คำว่า “ลมหายใจ” หรืออิริยาปถบรรพ หรือว่าการพิจารณาส่วนต่างๆ ของกายก็ดี ถ้าเป็นสติปัฏฐานแล้วจะต้องระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรม เพื่อจะได้ถึงความสมบูรณ์ของปัญญาที่ประจักษ์ลักษณะที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม
สมนึก ถ้าอย่างนั้นในกายานุปัสสนาสติปัฏฐานที่ว่าด้วยอาการ ๓๒ ให้พิจารณา มีประโยชน์อย่างไร
ท่านอาจารย์ สติปัฏฐานทั้งหมดเพื่อไม่ให้หลงลืมสติ ถ้าผู้ที่ศึกษาพระธรรมโดยตลอด จะเห็นได้ว่ารวบรวมธรรมทุกขั้นทุกประเภททุกระดับ แม้แต่เรื่องของจิต ไม่ว่าจะเป็นฌานจิต ก็เป็นสติปัฏฐาน หรือไม่ใช่ฌานจิตก็เป็นสติปัฏฐาน
เพราะฉะนั้นสำหรับที่ผู้ไม่ได้ฌาน ทำไมทรงแสดงเรื่องของฌานว่าเป็นสติปัฏฐาน เพราะฉะนั้นสำหรับผู้ที่เคยยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน แล้วแต่ว่าจะยึดถือผม ขน เล็บ ฟัน หนัง หรือส่วนหนึ่งส่วนใดก็ตามทั้งหมด ที่เคยยึดถือว่าเป็นกาย สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพที่เป็นปรมัตถธรรมเพื่อจะรู้ชัดว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล
ถ้าจะเอาผม ขน เล็บ ฟัน หนังมาเป็นการเจริญสติปัฏฐาน จะทำอย่างไร
สมนึก ก็ให้พิจารณาผมโดยที่ตั้ง สัณฐาน สี กลิ่น ว่าเป็นของไม่งาม ทั้งหมดนี่ก็เป็นบัญญัติ เมื่อพิจารณาแล้วเกิดความเบื่อหน่ายจริง แต่ไม่ทราบว่า จะเป็นสติปัฏฐานหรือเปล่า
ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นสติปัฏฐานขณะใด ต้องรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ตรงตามความเป็นจริงของลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ต้องเป็นปรมัตถธรรม
นิภัทร ในปฏิกูลมนสิการบรรพ ปรากฏว่ามีเรื่องในอรรถกถาธรรมบทว่า พระที่ท่านสาธยายอาการ ๓๒ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เรื่อยไปจนถึง เยื่อในสมอง ปรากฏว่าท่านได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์พร้อมด้วยปฏิสัมภิทา และอุบาสิกาที่ไปเรียนจากพระ ก็ได้สำเร็จเป็นพระอนาคามี และสำเร็จก่อนพระที่ยังเป็นปุถุชน และอาการ ๓๒ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังพืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา เปลว มัน น้ำลาย มูก ไขข้อ มูตร พวกนี้ก็เป็นสมมติบัญญัติทั้งนั้น ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ถูกต้อง
นิภัทร แต่ทำไมท่านสาธยาย ท่านจึงได้บรรลุ
ท่านอาจารย์ น่าคิด และก็ควรที่จะได้คิดถึงพระสูตรอื่นๆ อีกมากมายทีเดียว ผู้ที่ไม่ได้สาธยาย ทำไมถึงได้บรรลุ พอพูดถึงเรื่องสาธยาย ก็เลยคิดว่า สาธยายแล้วก็จะได้บรรลุ แต่ก็ยังสงสัยว่า จะบรรลุได้อย่างไร แต่ที่นี้ในสูตรอื่นๆ ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ได้ฟังธรรม ไม่ได้สาธยายอะไร ทำไมถึงได้บรรลุ เพียงการฟังธรรม
- โสภณธรรม ครั้งที่ 051
- โสภณธรรม ครั้งที่ 052
- โสภณธรรม ครั้งที่ 053
- โสภณธรรม ครั้งที่ 054
- โสภณธรรม ครั้งที่ 055
- โสภณธรรม ครั้งที่ 056
- โสภณธรรม ครั้งที่ 057
- โสภณธรรม ครั้งที่ 058
- โสภณธรรม ครั้งที่ 059
- โสภณธรรม ครั้งที่ 060
- โสภณธรรม ครั้งที่ 061
- โสภณธรรม ครั้งที่ 062
- โสภณธรรม ครั้งที่ 063
- โสภณธรรม ครั้งที่ 064
- โสภณธรรม ครั้งที่ 065
- โสภณธรรม ครั้งที่ 066
- โสภณธรรม ครั้งที่ 067
- โสภณธรรม ครั้งที่ 068
- โสภณธรรม ครั้งที่ 069
- โสภณธรรม ครั้งที่ 070
- โสภณธรรม ครั้งที่ 071
- โสภณธรรม ครั้งที่ 072
- โสภณธรรม ครั้งที่ 073
- โสภณธรรม ครั้งที่ 074
- โสภณธรรม ครั้งที่ 075
- โสภณธรรม ครั้งที่ 076
- โสภณธรรม ครั้งที่ 077
- โสภณธรรม ครั้งที่ 078
- โสภณธรรม ครั้งที่ 079
- โสภณธรรม ครั้งที่ 080
- โสภณธรรม ครั้งที่ 081
- โสภณธรรม ครั้งที่ 082
- โสภณธรรม ครั้งที่ 083
- โสภณธรรม ครั้งที่ 084
- โสภณธรรม ครั้งที่ 085
- โสภณธรรม ครั้งที่ 086
- โสภณธรรม ครั้งที่ 087
- โสภณธรรม ครั้งที่ 088
- โสภณธรรม ครั้งที่ 089
- โสภณธรรม ครั้งที่ 090
- โสภณธรรม ครั้งที่ 091
- โสภณธรรม ครั้งที่ 092
- โสภณธรรม ครั้งที่ 093
- โสภณธรรม ครั้งที่ 094
- โสภณธรรม ครั้งที่ 095
- โสภณธรรม ครั้งที่ 096
- โสภณธรรม ครั้งที่ 097
- โสภณธรรม ครั้งที่ 098
- โสภณธรรม ครั้งที่ 099
- โสภณธรรม ครั้งที่ 100