โสภณธรรม ครั้งที่ 064


    ตอนที่ ๖๔

    ทั้งๆ ที่ปรมัตถธรรมมี ไม่ใช่ไม่มี ถ้าไม่เห็น จะคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ไม่ได้เลย ถ้าไม่ได้ยิน ก็จะคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ที่เกี่ยวกับเรื่องราวต่างๆ จากเสียงที่ได้ยินไม่ได้ จะไม่มีการทรงจำคำและความหมายของคำไว้เลย เพราะฉะนั้นวันหนึ่งๆ ที่คิด อาจจะไม่ทราบว่า คิดถึงเรื่องสิ่งที่เห็นทางตา คิดถึงเสียงที่ได้ยินทางหู คิดถึงกลิ่นที่รู้ได้ทางจมูก คิดถึงรสที่ลิ้มได้ทางลิ้น คิดถึงสิ่งที่กระทบสัมผัสกายได้ และนอกจากนั้นแม้ว่ารูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะเหล่านี้จะไม่ปรากฏ จะไม่กระทบ แต่ใจก็ยังติดตามคิดถึงเรื่องของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ โดยเป็นเรื่องทั้งหมด ไม่ใช่เป็นปรมัตถธรรมเลย เป็นบัญญัติ เป็นเรื่องราวของสิ่งต่างๆ ทั้งหมด

    เพราะฉะนั้นวันหนึ่งๆ บัญญัติเป็นอารมณ์มากทีเดียว กว่าที่จะแหวกกระแสของบัญญัติที่เป็นอารมณ์แล้วก็ระลึกตรงลักษณะของปรมัตถธรรมที่กำลังปรากฏ เพื่อที่จะได้รู้ด้วยตนเองว่า ขณะใดมีปรมัตถ์เป็นอารมณ์ และขณะใดมีบัญญัติเป็นอารมณ์ทางทวารไหน

    ทางตา ข้อที่จะสังเกตมีหลายอย่างที่จะทำให้เข้าใจลักษณะของปรมัตถธรรมว่าต่างกับบัญญัติที่คิดว่าสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นคน เป็นวัตถุ เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็คือน่าที่จะคิดพิจารณา ถามตัวเองว่า สิ่งที่ปรากฏทางตา พูดได้ไหม อาจจะไม่เคยคิดมาก่อน แต่ว่าเป็นชีวิตประจำวันหรือเปล่า ทุกวันๆ แต่ถ้าเกิดว่าจะย้อนถามเพื่อที่จะให้คิดว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาในขณะนี้พูดได้ไหม

    ผู้ที่สติระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ก็จะตอบถูก แต่ผู้ที่ยังไม่ได้ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทางตาอาจจะตอบไม่ตรงก็ได้

    เพราะฉะนั้นก็ควรที่จะได้คิดว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาพูดได้ไหม ร้องเพลงได้ไหม ได้ไหม

    นี่คือการที่จะรู้ว่า บัญญัติต่างกับปรมัตถ์ แม้แต่สิ่งที่ปรากฏทางตาทุกวันๆ ก็เคยยึดถือว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคลต่างๆ บุคคลนั้นบุคคลนี้ กำลังพูด กำลังร้องเพลง กำลังเคลื่อนไหว กำลังทำกิจการงานต่างๆ ให้ทราบว่าทั้งหมดเป็นบัญญัติทั้งนั้น ถ้าไม่รู้อย่างนี้ สติปัฏฐานก็จะไม่ระลึกตรงลักษณะของปรมัตถธรรมที่ปรากฏทางตาว่า เพียงชั่วขณะเดียว แต่ว่าเมื่อขณะจิตที่เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตานั้นดับ แล้วก็มีการคิดจำสิ่งที่ปรากฏทางตาเมื่อกี้นี้ แล้วก็มีรูปใหม่ปรากฏกระทบกับจักขุปสาท แล้วก็มีการทรงจำรูปใหม่ พร้อมทั้งคิดถึงลักษณะอาการของรูปใหม่โดยสัณฐาน ก็จะทำให้ปรากฏว่ารูปนั้นต่อกัน เป็นคนกำลังเดิน หรือว่ากำลังทำกิจการงาน หรือว่ากำลังพูด หรือว่ากำลังร้องเพลง นั่นก็เป็นเรื่องของการคิดนึกซึ่งเป็นบัญญัติทั้งนั้น

    เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า ตราบใดที่มีนกร้อง นั่นคือบัญญัติ ตราบใดที่มีคนพูด ขณะนั้นก็มีบัญญัติเป็นอารมณ์

    เพราะฉะนั้นขณะที่สติระลึกลักษณะของปรมัตถธรรมจะสั้นสักแค่ไหน จะเร็วสักแค่ไหน ที่จะรู้ว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา จึงจะไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีนก ไม่มีวัตถุใดๆ ในสิ่งที่ปรากฏ แล้วก็เคยคิดอย่างนี้ไหมว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาพูดได้ไหม หรือว่าร้องเพลงได้ไหม หรือทำกิจการงานต่างๆ ได้ไหม ในเมื่อเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏเมื่อกระทบกับจักขุปสาทเท่านั้นเอง นั่นคือสภาพที่แท้จริงของสิ่งที่ปรากฏทางตา

    ถ้ารู้อย่างนี้จริงๆ แยกสภาพปรมัตถธรรมที่ปรากฏแต่ละทวารออกไป เวลาที่กระทบสัมผัสก็อ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน ตึงหรือไหว และก็ทั้ง ๖ ทวารนี่ก็รวมกัน ทำให้มีการยึดถือสภาพธรรมที่ปรากฏสืบเนื่องกันอย่างรวดเร็ว ว่ามีคนจริงๆ ที่กำลังพูด แต่ถ้าตราบใดยังไม่มีความรู้ว่า แท้ที่จริงแล้วไม่มีใครเลยนอกจากคนเดียว ตัวคนเดียวจริงๆ

    คำว่า “ตัวคนเดียว” นี่ก็ยังมาก เพราะเหตุว่ายังเป็นตัว แต่ว่าลดจำนวนลง จากคนมากมายที่เคยอยู่ร่วมบ้าน ร่วมสถานที่ ร่วมแผ่นดิน ร่วมโลก มาเป็นตามความเป็นจริงแล้วอยู่คนเดียวจริงๆ คือ ในขณะที่เห็นไม่มีคน เพราะฉะนั้นในขณะนั้นเป็นจิตที่กำลังรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา แล้วคิดนึกถึงเรื่องสิ่งที่ปรากฏทางตา ถ้ากำลังพูด ก็คือพูดคนเดียว เพราะเหตุว่ามีสิ่งที่ปรากฏทางตาซึ่งก็เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น คิดก็คิดคนเดียว ทำอะไรก็ทำคนเดียวทั้งนั้น เพราะเหตุว่าจิตเกิดขึ้นแล้วก็เห็น แล้วก็รู้ว่าเป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏ

    เพราะฉะนั้นก็เหมือนกับโลกของความเพ้อฝัน ความคิดทุกขณะที่ว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นโลกต่างๆ เหมือนกับความเพ้อฝัน เหมือนกับอยู่ในกระจกเงา ซึ่งมองดูแล้วเหมือนกับว่ามีสิ่งต่างๆ มากมาย แต่ความจริงแล้วอยู่คนเดียว ส่วนที่จะปรากฏเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ต่างๆ ก็เหมือนกับความคิดนึก

    รูปในโทรทัศน์พูดได้ไหม ย่อออกไป ถ้าไม่เข้าใจเรื่องสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ก็ย่อจากใหญ่ให้เป็นเล็กลงไปที่โทรทัศน์ รูปที่ปรากฏที่โทรทัศน์พูดได้ไหม ทุกคนรู้ว่าเป็นรูป กระทบสัมผัสก็เพียงแข็ง แล้วก็มีสีสันต่างๆ แล้วก็มีเสียง แต่ว่าตัวรูปที่ปรากฏทางตานั้นพูดได้หรือเปล่า รูปในโทรทัศน์พูดไม่ได้ฉันใด รูปนอกโทรทัศน์คือสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้ ก็พูดไม่ได้ฉันนั้น

    เพราะฉะนั้นต้องแยกออกจริงๆ ว่า ทุกคนอยู่คนเดียว และก็กำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา กำลังคิดเรื่องสิ่งที่ปรากฏทางตา แล้วก็มีคำพูดก็ยังคงเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา แต่ว่าไม่ได้พูดกับใคร นอกจากมีสิ่งที่ปรากฏทางตาให้เห็น

    นี่คือความหมายของการอยู่คนเดียวจริงๆ และถ้าย่อสภาพธรรมที่เคยยึดถือว่า เป็นเราคนเดียว ก็จะเหลือเพียงขณะจิตเดียว ทางตาจะไม่ปนกับทางหู เพราะเหตุว่าจะมีแต่เห็นกับสิ่งที่ปรากฏทางตา แต่พอรวมกับทางหูที่ได้ยิน แล้วก็มีเสียงปรากฏ ก็กลายเป็นคนหนึ่ง คือ สิ่งที่ปรากฏทางตาเคลื่อนไหวเป็นเสียงที่พูดออกมา แต่ว่าความจริงไม่ใช่ ทางไหนก็ต้องทางนั้น คือ ทางตาก็เพียงปรากฏ ไม่ได้พูดอะไร และเสียงทางหูก็ปรากฏ แต่ว่าสภาพของจิตที่กำลังคิดรวดเร็วมากทีเดียว ทันทีที่วิตก วิจาร คิดถึงคำใด เสียงเปล่งออกมาทันที เพราะเหตุว่าวิตก วิจาร ซึ่งเป็นกุศลจิตหรือเป็นอกุศลจิตในขณะนั้นเป็นปัจจัยให้เกิดวจีวิญญัติ คือ รูปที่กระทบที่ฐานของเสียง แล้วก็ทำให้เสียงนั้นๆ เกิดขึ้น ตามวิตกวิจารนั้นๆ

    นี่คือชีวิตประจำวันซึ่งทุกคนที่พูด สติสามารถที่จะระลึกรู้ได้ว่า ทำไมเสียงนี้จึงปรากฏรวดเร็วตามที่จิตคิด แล้วแต่ว่าขณะนั้นจะระลึกลักษณะสภาพของความคิด หรือว่าจะระลึกลักษณะสภาพของเสียงที่กระทบหู หรือจะระลึกถึงลักษณะอาการเคลื่อนไหวของรูปที่ฐานที่ทำให้เกิดเสียง

    เพราะฉะนั้นวันหนึ่งๆ กว่าที่จะรู้ว่า ขณะไหนเป็นบัญญัติ และก็ขณะไหนเป็นปรมัตถ์ เมื่อรู้ว่าเป็นบัญญัติ ก็รู้ว่าเป็นเพียงเรื่องเพ้อฝัน เพราะเหตุว่าเป็นเพียงความคิดทั้งหมด และสภาพธรรมจริงๆ ที่เป็นปรมัตถธรรม ก็เป็นแต่เพียงลักษณะธรรมแต่ละอย่างซึ่งปรากฏทีละทวาร แล้วก็ดับไป ไม่ต่อกัน

    เพราะฉะนั้นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานเนืองๆ ก็รู้ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างก็จบไปพร้อมกับการดับของจิตแต่ละขณะ เรื่องเมื่อวานนี้ จบแล้วเมื่อวานนี้ วันนี้ก็เป็นเรื่องใหม่ เพราะฉะนั้นก็ไม่น่าที่ย้อนกลับไปเป็นสุขเป็นทุกข์ ห่วงใย ขุ่นเคือง เศร้าหมองกับเรื่องที่ผ่านไปแล้ว เพราะเหตุว่าเป็นแต่เพียงการคิดย้อนไป แล้วก็สร้างความรู้สึกเป็นสุขเป็นทุกข์ด้วยความคิดนั้นๆ เท่านั้น แต่ว่าตามความเป็นจริงแล้ว สิ่งที่หมดไปแล้ว ก็หมดไปเลย แม้แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนี้ ก็เป็นเฉพาะของเหตุการณ์ในวันนี้ ไม่ใช่เหตุการณ์เมื่อวานนี้ ไม่ใช่เหตุการณ์พรุ่งนี้ เพราะฉะนั้นสิ่งใดที่เกิดวันนี้ ก็จบวันนี้ หรือว่าสิ่งใดที่เกิดขณะนี้ ก็ดับขณะนี้

    เพราะฉะนั้นก็จะเป็นหนทางหนึ่งที่จะทำให้เมื่อไม่เพลิดเพลินไปเป็นสุข เป็นทุกข์ไปกับบัญญัติ เรื่องราวต่างๆ ก็จะทำให้สติระลึกตรงลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรม โดยที่ไม่ต้องคิดถึงเรื่องราวของสิ่งที่กำลังปรากฏเป็นคำๆ แต่ว่าศึกษา สังเกต พิจารณาที่จะรู้ว่า ลักษณะนั้นเป็นปรมัตถธรรม คือ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง และลักษณะสภาพธรรมนั้นเป็นสภาพรู้ หรือว่าไม่ใช่สภาพรู้ จนกว่าปัญญาจะประจักษ์แจ้งถึงความสมบูรณ์ที่จะแยกขาดลักษณะของนามธรรมออกจากรูปธรรม ปรากฏโดยสภาพที่เป็นอนัตตา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แต่ว่าต้องรู้ความต่างกันของบัญญัติกับปรมัตถ์ แล้วต้องรู้ว่า บัญญัติไม่เป็นอารมณ์ของสติปัฏฐาน

    อดิศักดิ์ อาจารย์บอกว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาไม่พูด ไม่ร้องเพลง ในทำนองเดียวกัน สิ่งที่ปรากฏทางหู ก็ไม่ร้องเพลงเหมือนกันใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เป็นเสียงที่ปรากฏ แล้วก็ดับไปเท่านั้นเอง

    อดิศักดิ์ เดี๋ยวคนจะเข้าใจผิดว่า เสียงกำลังร้องเพลง เพราะเสียง เมื่อกี้เปรียบเทียบกับตา ก็ยังชัดหน่อย แต่เมื่อมาเปรียบเทียบกับทางหูแล้วก็นึกว่ามีร้องเพลง ทางหูก็ไม่มีร้องเพลงเหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ มีเสียงที่เกิด ปรากฏแล้วก็ดับไป เสียงนั้นเป็นคนหรือเปล่า เป็นนกหรือเปล่า เป็นไก่หรือเปล่า เป็นเพียงเสียง คือ สภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งมีลักษณะกระทบกับโสตปสาทแล้วดับ ๑๗ ขณะจิตนี่เร็วเหลือเกิน เพราะฉะนั้นจึงไม่ใช่ของใครทั้งสิ้น ไม่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่จะพึงยึดถือได้ว่า เป็นของเรา หรือเป็นเรา หรือเป็นตัวตนของเรา สิ่งที่เกิดแล้วดับไป เกิดแล้วดับไป เกิดแล้วดับไปอยู่เรื่อยๆ ก็จะเป็นของบุคคลหนึ่งบุคคลใดไม่ได้

    เพราะฉะนั้นถ้าไม่รู้ว่า บัญญัติคืออะไร บัญญัติก็ปิดบังไม่ให้รู้สภาพปรมัตถธรรม ตามความเป็นจริง

    นิภัทร การเข้าใจธรรมโดยที่จะไม่ระลึกถึงชื่อของธรรม โดยที่รู้แต่สภาวะลักษณะของธรรมอย่างเดียว เป็นเรื่องที่ลำบากจริงๆ เช่น อย่างทางตา ขณะที่สิ่งที่ปรากฏทางตา มักจะคิดถึงเรื่องสิ่งที่ปรากฏทางตา แทนที่จะรู้สิ่งที่ปรากฏทางตาจริงๆ ขณะนั้น คือ คิดว่านี่เป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา โดยมากจะไม่พ้นจากบัญญัติที่จะมาแทรก ทำให้เราไม่สามารถที่จะเข้าใจสภาวะได้อย่างแท้จริง อันนี้จะมีวิธีใดที่จะช่วยเหลือให้เราสามารถระลึกรู้สภาวะได้ถูกต้องตรงตามลักษณะของสภาวธรรมที่ปรากฏจริงๆ โดยที่ไม่ระลึกถึงชื่อ หรือว่าจะต้องนึกอย่างนั้นเป็นธรรมดาของมัน

    ท่านอาจารย์ อนัตตา บังคับอะไรไม่ได้เลย ความคิดเป็นสิ่งที่มีจริง และก็ต้องคิดไปตลอดชีวิต ไม่ว่าจะเป็นพระอรหันต์แล้วก็ต้องคิด ไม่ใช่ว่าจะขาดการคิด แต่รู้ว่าขณะใดคิดเป็นเรื่อง ขณะใดไม่ได้คิด แต่ศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    นิภัทร คิดถึงเรื่องก็ให้รู้ว่า

    ท่านอาจารย์ เป็นสภาพนามธรรมที่คิด รูปคิดไม่ได้เลย

    ผู้ฟัง ในมหาสติปัฏฐานสูตรทรงแสดงกายานุปัสสนาสติปัฏฐานหลายๆ บรรพ เช่น อิริยาบถบรรพ สัมปชัญญบรรพ ท่านทรงแสดงไว้เพื่อให้เราพิจารณาทางทวารทั้ง ๖ ให้มีสติสัมปชัญญะระลึกลักษณะสภาพที่กำลังปรากฏ เนื่องจากวันๆ หนึ่งเราอยู่กับอิริยาบถเหล่านี้ แล้วใช้อิริยาบถเหล่านี้มาเพื่อให้เราเจริญสติปัฏฐาน

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่การเลือกสติปัฏฐานหนึ่งสติปัฏฐานใด แต่ว่ามหาสติปัฏฐาน ชื่อก็บอกแล้วถึงความกว้างขวางว่าครอบคลุมทุกสิ่งทุกอย่าง จิตทุกประเภท รูปทุกชนิด เวทนาความรู้สึกทุกอย่าง ธรรมทุกอย่าง

    เพราะฉะนั้นขณะนี้มีสภาพธรรมใดกำลังปรากฏ ไม่ควรที่จะหลงลืมสติ หรือไม่ควรที่จะคิดถึงสภาพธรรมที่ยังไม่ปรากฏ แต่ว่าขณะนี้กำลังมีสิ่งที่กำลังปรากฏแล้ว เพราะฉะนั้นก็สะสมการระลึกรู้ การสังเกต การพิจารณาลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมบ่อยๆ เนืองๆ นั่นจึงจะเป็นการอบรมเจริญสติปัฏฐาน

    ผู้ฟัง ทีท่านทรงแสดงให้พิจารณา เช่น อานาปานสติ หรืออาการ ๓๒ เหล่านี้ ก็ตรงกับการเจริญสมถภาวนา

    ท่านอาจารย์ มหาสติปัฏฐานกว้างขวางมากทีเดียว ครอบคลุมทุกอย่าง ขณะนั้นจิตคิดอะไร ใครจะทำอะไร แล้วแต่สังขารขันธ์ที่ปรุงแต่งของบุคคลนั้น แต่สติระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรม เป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรมในขณะนั้น จึงจะเป็นสติปัฏฐาน แต่ไม่ใช่ให้เลือก หรือว่าไม่ใช่ว่าให้เจาะจง

    เพราะฉะนั้นบางท่านก็อาจจะมีคำถามว่า เมื่อได้ฟังเรื่องของสาธยายๆ ก็คงจะสงสัยว่า ก่อนที่สติปัฏฐานจะเกิด จะต้องท่องไหม หรือว่าควรท่องไหม แต่ถ้าเข้าใจถูกแล้วไม่มีปัญหาเลย ใช่ไหมคะ เพราะเหตุว่าการเจริญสติปัฏฐานเป็นการระลึกได้ รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่ทำอย่างใดอย่างหนึ่ง ทันทีที่สติเกิด ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    ในขณะที่ท่องหรือในขณะที่คิดว่าจะท่อง ก็เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง รู้หรือเปล่าคะว่าไม่ใช่ตัวตน ขณะที่กำลังคิด กำลังท่อง ก็เป็นนามธรรม เพราะฉะนั้นถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด ไม่พิจารณาลักษณะของจิตในขณะที่กำลังคิด ขณะนั้นก็ต้องยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เป็นเรา ซึ่งความจริงในขณะที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังเป็นสุข กำลังเป็นทุกข์ หรือกำลังคิด ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด ลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ก็ดับไป ดับไปอยู่ตลอดเวลา โดยไม่รู้ว่าไม่ใช่เรา

    เพราะฉะนั้นขณะใดที่ท่อง ขณะนั้นไม่ใช่ขณะที่กำลังอบรมเจริญสติปัฏฐาน ต้องเป็นในขณะที่สติระลึกได้ สังเกตลักษณะของสภาพธรรมแม้แต่ขณะที่กำลังคิดหรือท่อง ก็รู้ว่าเป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง นั่นจึงจะเป็นการเจริญสติปัฏฐาน

    เพราะฉะนั้นก็ควรที่จะได้คิดถึงจุดประสงค์ถ้าจะท่องว่าเพื่ออะไร ทุกอย่างต้องมีเหตุผลค่ะ ถ้าจะท่องเพื่ออะไร เพื่อรอให้สติปัฏฐานเกิดหรือเปล่า ถ้าไม่ใช่เพื่อรอให้สติปัฏฐานเกิดทำไมท่อง ในเมื่อสติระลึกทันทีได้ ขณะนี้กำลังเห็น สติเกิดระลึกทันที กำลังได้ยินเสียงปรากฏ สติเกิดระลึกทันที ทำไมต้องรอให้ท่องเสียก่อน แล้วถึงจะระลึกรู้

    เพราะฉะนั้นนี่ก็แสดงให้เห็นแล้วว่า สติปัฏฐานเป็นขณะที่ระลึกรู้ แต่ว่าการท่องอาจจะไม่ได้พิจารณาว่า ขณะนั้นเป็นการรอให้สติเกิดหรือเปล่า แทนที่จะระลึกทันทีที่ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    ข้อความในมัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ คหปติวรรค กันทรกสูตร ข้อ ๑ มีข้อความว่า

    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ฝั่งสระโบกขรณี ชื่อคัคครา เขตนครจำปาพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่

    ครั้งนั้น บุตรของนายควาญช้างชื่อเปสสะ และปริพาชกชื่อกันทรกะ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ แล้วก็สรรเสริญภิกษุทั้งหลายซึ่งนั่งสงบเงียบ ไม่มีความรำคาญด้วยมือและเท้า และภิกษุทุกรูปก็ไม่ได้คุยกันด้วยความเคารพในพระผู้มีพระภาค

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดูกรกันทรกะ ก็ในภิกษุสงฆ์นี้ ภิกษุทั้งหลายผู้อรหันตขีณาสพอยู่จบพรหมจรรย์แล้ว มีกิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว ปลงภาระเสียแล้ว มีประโยชน์ตนถึงแล้ว มีสังโยชน์ในภพสิ้นรอบแล้ว หลุดพ้นแล้ว เพราะรู้โดยชอบ มีอยู่

    ดูกรกันทรกะ อนึ่ง ในภิกษุสงฆ์นี้ ภิกษุทั้งหลายผู้ยังต้องศึกษา มีปกติสงบ มีความประพฤติสงบ มีปัญญาเลี้ยงชีพด้วยปัญญามีอยู่ เธอเหล่านั้นมีจิตตั้งมั่นดีแล้ว ในสติปัฏฐาน ๔ สติปัฏฐาน ๔ เป็นไฉน

    นี่คือพระพุทธพจน์

    ดูกรกันทรกะ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสติ มีสัมปชัญญะ กำจัดอภิชฌา และโทมนัสในโลกเสียได้ พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ มีความเพียร มีสติ มีสัมปชัญญะ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ มีความเพียร มีสติ มีสัมปชัญญะ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ พิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสติ มีสัมปชัญญะ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้

    ไม่ได้มีข้อความที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงให้ท่องใช่ไหมคะ แต่ว่าถ้าไม่ข้ามพยัญชนะ พิจารณาเห็นกายในกาย พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนา พิจารณาเห็นจิตในจิต พิจารณาเห็นธรรมในธรรม

    นิภัทร ที่อาจารย์พูดถึงพระสูตรเมื่อกี้นี้ มีคำว่า “มีจิตตั้งมั่นในสติปัฏฐาน ๔” คำว่า “จิตตั้งมั่น” ก็หมายถึงสมาธิ

    ท่านอาจารย์ ถ้าจะเข้าใจว่ามีจิตตั้งมั่นในการอบรมเจริญสติปัฏฐานจะได้ไหมคะ แม้ว่าพระผู้มีพระภาคจะได้ทรงแสดงว่าให้พิจารณากาย พิจารณาเวทนา พิจารณาจิต พิจารณาธรรม แต่ก็จะไปทำอย่างอื่น อย่างนั้นจะชื่อว่าตั้งมั่นหรือเปล่า จะไปให้สมาธิเกิดอย่างนี้ อย่างนั้นชื่อว่า พิจารณากาย พิจารณาเวทนา พิจารณาจิต พิจารณาธรรมหรือเปล่า

    นิภัทร จะหมายถึงว่ามีความรู้ความเข้าใจมั่นคงในสติ

    ท่านอาจารย์ เป็นผู้ที่ตั้งมั่นในการเจริญสติปัฏฐาน

    นิภัทร หมายความว่าอารมณ์ทั้งหลายที่ปรากฏก็รู้ว่าเป็นสภาวธรรมที่

    ท่านอาจารย์ เป็นผู้ที่ไม่ทำอย่างอื่น นอกจากเป็นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน ตั้งมั่นในการเจริญสติปัฏฐาน

    นิภัทร ก็เพราะอย่างนี้สมัยนี้จึงมาคิดแบบวิธีที่จะให้สติเกิดตลอดเวลา ก็มีกำหนดว่าจะต้องนั่งเท่านั้น จะต้องเดินเท่านี้

    ท่านอาจารย์ ข้อความในพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไม่ได้ตรัสอย่างนี้เลย เพียงแต่ให้พิจารณากาย ไม่ได้บอกให้ทำอย่างอื่น พิจารณาเวทนา ขณะนี้มีกาย มีจิต มีธรรม พิจารณา สะสมการสังเกต การพิจารณา

    นิภัทร เพราะฉะนั้นถ้าจิตจะตั้งมั่นได้ ก็หมายความว่าจะต้องตั้งมั่นอยู่ในกาย อยู่ในเวทนา ในจิต ในธรรมนี้เท่านั้น

    ท่านอาจารย์ ตั้งมั่นในการเจริญสติปัฏฐาน ไม่ไปทำอย่างอื่น

    นิภัทร ในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม ก็ครอบหมดอยู่แล้ว

    ท่านอาจารย์ เป็นผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐาน เพราะฉะนั้นถ้าเป็นผู้ที่ไม่ตั้งมั่นในการเจริญสติปัฏฐานก็อยากจะไปให้สมาธิเกิด หรืออยากจะไปท่อง หรืออยากจะไปทำอย่างอื่น มีวิธีต่างๆ ซึ่งไม่ใช่เป็นผู้ตั้งมั่นในการเจริญสติปัฏฐาน เพราะว่ามักจะอยากให้ได้ผลเร็ว

    อดิศักดิ์ ผมฟังแล้ว ผมก็อยากจะพิสูจน์ธรรม อย่างที่เมื่อกี้พูดถึงการสาธยาย ท่อง ถ้าท่องว่า ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก แล้วได้บรรลุ ตั้งแต่วันนี้ผมท่องแน่ ๓ เดือน ๖ เดือน ผมก็ว่าไม่ผิดอะไรกับท่อง ๑ ๒ ๓ ๔ ๕....๐ ก็ไม่ได้พิจารณาอะไร

    เพราะฉะนั้นนี่เป็นการพิสูจน์ธรรม อย่างที่ท่านพระสาวกบอก ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ท่านไล่ไปแล้ว ในขณะนั้น ผม ท่านก็พิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม ทีนี้จิตของท่านจะปรากฏอย่างไร เราพิสูจน์เลยในขณะ ผม ขน เล็บ สติก็ระลึกได้ เสียงมา ก็ระลึกที่เสียง หรือสิ่งที่ปรากฏทางตา พิสูจน์ก็ระลึกทันที ผมว่าในขณะที่ท่านสาวก ท่าน ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เสียงที่ท่องไปหรือที่พูดไปอย่างนี้ สติของท่านก็ระลึก แต่จะตรงไหน ของเราก็ตามทันไม่ทัน

    ท่านอาจารย์ เวลานี้ท่านผู้ฟังกำลังท่องหรือเปล่าคะ ข้อที่สำคัญที่สุด คือเป็นผู้ที่รู้จักตัวเองตามความเป็นจริง สติปัฏฐานจะไม่ทำให้ท่านกลายเป็นบุคคลอื่น แต่ว่ารู้จักตัวเอง ขณะนี้ท่องหรือเปล่า ถ้าไม่ท่อง มีสภาพธรรมที่เป็นกาย เป็นเวทนา เป็นจิต เป็นธรรม ขณะนี้ที่สติจะระลึกตามปกติ ตามความเป็นจริง ไม่ใช่ว่าให้ไปท่อง แต่ว่าท่านผู้ใดที่เคยอบรมเจริญสมถภาวนา จะโดยอานาปานสติก็ตาม หรือว่ากายคตาสติก็ตาม คือ ปฏิกูลมนสิการก็ตาม นั่นเป็นอัธยาศัย เป็นสิ่งที่เมื่อท่านระลึกได้ถึงผม ขณะนั้นสติปัฏฐานคือรู้ว่าขณะนั้นเป็นการคิด เป็นนามธรรม เป็นสภาพคิด

    เพราะฉะนั้นสติปัฏฐานจึงครอบคลุมทุกบุคคล แต่ไม่ใช่หมายความว่าให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดไปทำสิ่งที่ไม่มีในขณะนั้น เช่นขณะนี้กำลังเห็นแล้วก็จะไปท่อง นั่นคือไม่ใช่เป็นผู้ที่ตั้งมั่นในการพิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม ไปรออะไร คือไปรอที่จะให้สติปัฏฐานเกิด แต่ไม่รู้ว่าขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏแล้ว

    ผู้ฟัง การเจริญสติปัฏฐานมี ๒ อย่าง คือ รู้กับละ แต่รู้ได้ ๒ อย่าง คือ รู้ด้วยปัญญา หรือรู้ด้วยสัญญา ถ้ารู้ด้วยปัญญาคงจะละได้ ถ้ารู้ด้วยสัญญาคงจะละไม่ได้ ผมอยากจะถามอาจารย์ว่า ตั้งแต่อาจารย์บรรยายมา คือรู้ด้วยปัญญามีหรือไม่

    ท่านอาจารย์ คนอื่นไม่สามารถจะรู้ได้

    ผู้ฟัง ก็พอจะสังเกตได้

    ท่านอาจารย์ ถ้าสังเกตได้จะถามไหม

    ผู้ฟัง ถ้ารู้ปัญญาคงจะละได้ แต่ถ้ารู้ด้วยสัญญาไม่ว่าจะมากขนาดไหน คงจะละไม่ได้

    ท่านอาจารย์ สัญญามีอัตตสัญญากับอนัตตสัญญา

    ผู้ฟัง ถ้ารู้ด้วยปัญญา ต้องรู้ด้วยปรมัตถ์ ย่อมต้องละได้แน่ๆ

    ท่านอาจารย์ ก่อนนามรูปปริจเฉทญาณ มีการฟังเรื่องนามธรรมและรูปธรรม แต่ตราบใดที่ยังเห็นเป็นคน เป็นสัตว์ ก็ยังเป็นอัตตสัญญาอยู่

    ผู้ฟัง อย่างนี้ก็ยังรู้ไม่จริง

    ท่านอาจารย์ ต้องอบรมเจริญปัญญาจริงๆ ต้องเป็นผู้ที่ละเอียด และเป็นผู้ที่อดทน และเป็นผู้ที่ตั้งมั่นในการอบรมเจริญสติปัฏฐาน

    เรือง เวลาที่คนอื่นมีความทุกข์หรือมีความสุข เราก็รู้ได้ ทีนี้ในการเจริญสติปัฏฐาน เราพิจารณาตามดูเวทนาของคนอื่นได้

    ท่านอาจารย์ ดูช่างอยากจะไปทำอะไรต่างๆ ซึ่งขณะนี้ก็มีกายของเรา ซึ่งเคยยึดถือว่าเป็นเรา แล้วก็มีความรู้สึกของเราด้วยที่เคยยึดถือว่าเป็นเรา แล้วทำไมถึงยังจะต้องไปขวนขวายที่จะเอากายคนอื่น เอาเวทนาคนอื่น เอาจิตคนอื่น เอาธรรมคนอื่นมาพิจารณา

    นี่เป็นเรื่องของการที่ไม่รู้ว่าวันหนึ่งๆ ความคิด คิดมากทุกเรื่อง แล้วก็เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล แม้แต่ว่าไม่มีเลย เช่น นวนิยายต่างๆ หรือว่าเรื่องต่างๆ ในโทรทัศน์ ละครต่างๆ มีตัวจริงๆ หรือเปล่า แต่ในความรู้สึกเหมือนมี ทั้งๆ ที่ไม่มี ก็ยังพอใจที่จะคิดถึงเรื่องนั้น คนนี้ บทคนนั้น บทคนนี้ ความรู้สึกคนนั้น ความรู้สึกคนนี้ แต่จริงๆ แล้วขณะนั้นเป็นจิตของตัวเองที่นึกถึงเรื่องคนอื่น

    เรือง หมายความว่าเวทนาของคนอื่น

    ท่านอาจารย์ คิดว่าเป็นเวทนาของคนอื่น นึกถึงสภาพของเวทนา แล้วก็คิดว่าเป็นของคนอื่น แต่ขณะนั้นเป็นจิตที่คิด เพราะฉะนั้นต้องรู้ความจริงว่า ไม่มีใคร ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคลจริงๆ มีแต่ความคิด ซึ่งคิดวิจิตรมาก มีคนเต็มไปหมด ซึ่งความจริงแล้วก็เป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา

    ข้อความต่อไปในพระสูตรนี้

    เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว นายเปสสหัตถาโรหบุตรได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

    “น่าอัศจรรย์ พระพุทธเจ้าข้า ไม่เคยมี พระพุทธเจ้าข้า สติปัฏฐาน นี้ พระองค์ทรงบัญญัติไว้ดีแล้ว เพื่อความบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลาย เพื่อก้าวล่วงความโศกและความร่ำไร เพื่อความดับแห่งทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุญายธรรม เพื่อทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน ที่จริงแม้พวกข้าพระพุทธเจ้าเป็นคฤหัสถ์นุ่งผ้าขาว ก็ยังมีจิตตั้งมั่นดีแล้วในสติปัฏฐาน ๔ เหล่านี้อยู่ตามกาลที่สมควร ขอประทานพระวโรกาส พวกข้าพระพุทธเจ้าพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสติ มีสัมปชัญญะ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ พิจารณาเวทนา จิต ธรรม โดยนัยเดียวกัน

    น่าอัศจรรย์ พระพุทธเจ้าข้า ไม่เคยมี พระพุทธเจ้าข้า เพียงเท่านี้ พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคชื่อว่าย่อมทรงทราบประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ของสัตว์ทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์รกชัฏเป็นไปอยู่อย่างนี้ ในเมื่อมนุษย์เดนกากเป็นไปอยู่อย่างนี้ ในเมื่อมนุษย์โอ้อวด เป็นไปอยู่อย่างนี้ ก็สิ่งที่รกชัฏ คือมนุษย์ สิ่งที่ตื้น คือสัตว์

    ถ้าจะพิจารณาโดยละเอียด จะเห็นว่าเป็นเรื่องของการเจริญสติปัฏฐานตามปกติตามความเป็นจริง เรื่องของการพิจารณากาย พิจารณาเวทนา พิจารณาจิต พิจารณาธรรม


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 24
    26 ม.ค. 2565

    ซีดีแนะนำ