โสภณธรรม ครั้งที่ 067
ตอนที่ ๖๗
เพราะฉะนั้นไม่มีใครจะชนะโลภะได้ ไม่มีใครจะบังคับโลภะได้ นอกจากจะอบรมเจริญปัญญารู้ลักษณะของโลภะตามความเป็นจริงว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน
สำหรับสังวรวินัย ๕ นี้ ย่อมไม่มีแก่ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับอย่างนี้ เพราะความเป็นผู้มีสังวรอันทำลายแล้ว คือ ไม่มั่นคง
ปุถุชนนี่ ไม่ว่าจะเป็นสีลสังวรก็ดี สติสังวรก็ดี หรือญาณสังวรก็ดี หรือขันติสังวรก็ดี วิริยะสังวรก็ดี เป็นสังวรที่ไม่มั่นคงทั้งนั้น เพราะแม้แต่ศีล ๕ ก็ยังมีโอกาสหรือปัจจัยที่จะล่วงละเมิดได้
เหตุนั้นปุถุชนนี้จึงเรียกว่า ผู้มิได้ฝึกฝน เพราะไม่มีวินัยนั้นฉะนี้แล
นี่ก็เป็นส่วนประกอบของการที่จะได้เห็นชีวิตตามความเป็นจริงของการอบรมเจริญสติปัฏฐานว่า ตราบใดที่ยังเป็นปุถุชนอยู่ก็เป็นอย่างนี้ แต่ว่าสามารถที่จะอบรมเจริญปัญญาขึ้น เพื่อจะให้ถึงปหานวินัย ซึ่งมี ๕ อย่าง
สำหรับการละอกุศลธรรม มี ๕ คือ ๑. ตทังคปหาน ๒. วิขัมภนปหาน ๓. สมุจเฉทปหาน ๔. ปฏิปัสสัทธิปหาน ๕. นิสสรณปหาน
ไม่ใช่จะดับกิเลสกันได้ง่ายๆ เลย แต่ว่าต้องเป็นไปตามลำดับขั้น
สำหรับปหานที่ ๑ คือ ตทังคปหาน ได้แก่ การละกิเลสได้ด้วยองค์นั้นๆ ซึ่งได้แก่วิปัสสนาญาณตั้งแต่นามรูปปริจเฉทญาณ จนถึงโคตรภูญาณ นี่เป็นตทังคปหาน เพราะเหตุว่าไม่สามารถจะดับกิเลสได้เด็ดขาดเป็นสมุจเฉท เพราะเหตุว่าไม่ใช่มรรคจิต ไม่ใช่โลกุตตรจิต
เพราะฉะนั้นการที่จะพูดถึงโสภณสาธารณเจตสิก ซึ่งได้กล่าวตามลำดับมาจนกระทั่งถึงตัตตรมัชชัตตตาเจตสิกว่า ได้แก่สภาพธรรมขณะใดบ้าง แม้แต่ตัตตรมัชชัตตตาที่เป็นสังขารุเปกขาญาณ ก็จะต้องทราบเรื่องของตัตตรมัชชัตตตาตามลำดับ ตั้งแต่เป็นผู้ที่ตรงในเรื่องของการฟังพระธรรม ในเรื่องของการปฏิบัติธรรม จนกระทั่งในเรื่องของวิปัสสนาญาณแต่ละขั้นกว่าจะถึงสังขารุเปกขาญาณ
เพราะฉะนั้นพระธรรมมีมากทีเดียว และการที่จะกล่าวถึงพระธรรมไปลอยๆ โดยที่ไม่กล่าวถึงเหตุที่จะให้บรรลุถึงธรรมนั้นๆ ก็ย่อมไม่สามารถที่จะเข้าใจได้จริงๆ แต่ว่าการที่จะกล่าวถึงธรรม ก็ต้องกล่าวถึงธรรมตั้งแต่ขั้นเจริญสติปัฏฐานไปจนกระทั่งถึงความสมบูรณ์ของปัญญาที่เป็นวิปัสสนาญาณแต่ละขั้น ซึ่งเป็นตทังคปหาน
ให้ทราบว่าการที่จะดับกิเลสได้ แม้เพียงชั่วขณะที่เป็นวิปัสสนาญาณ ก็จะต้องอาศัยการอบรมที่สมควรแก่วิปัสสนาญาณนั้นๆ คือ ต้องเป็นผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐาน
สำหรับนามรูปปริจเฉทญาณซึ่งเป็นวิปัสสนาญาณที่ ๑ เป็นความสมบูรณ์ของปัญญาที่เกิดจากการระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม มีความรู้จริงๆ มั่นคงว่าลักษณะนี้เป็นนามธรรม เป็นสภาพรู้ เป็นเพียงธาตุรู้ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ขณะที่สติปัฏฐานเกิดระลึกลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม และค่อยๆ ศึกษา ค่อยๆ พิจารณา ค่อยๆ สังเกต ค่อยๆ อบรมไปเรื่อยๆ โดยไม่ได้หวัง และโดยไม่ได้คอยว่า ขณะนี้จะเป็นวิปัสสนาญาณหรือยัง จะเป็นการรู้ชัดนามธรรม จะเป็นการรู้ชัดรูปธรรมหรือยัง ถ้าถึงความสมบูรณ์ของปัญญาเมื่อไร นามรูปปริจเฉทญาณซึ่งได้แก่มหากุศลญาณสัมปยุตตจิตเกิดขึ้นทางมโนทวาร ประจักษ์แจ้งลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมโดยสภาพที่แยกขาดจากกัน ขณะนั้นละสักกายทิฏฐิได้ แต่ว่าเป็นเพียงตทังคปหาน เพราะเหตุว่าขณะนั้นนามธรรมและรูปธรรมไม่ได้ปรากฏโดยสภาพที่เป็นเรา ยังเป็นตัวตน ยังเป็นก้อน ยังเป็นแท่ง แต่ว่านามธรรมและรูปธรรมปรากฏโดยสภาพที่ไม่มีโลก ไม่มีเรา ไม่มีตัวตน มีแต่ลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ทีละอย่างที่ปรากฏทางมโนทวาร เพราะฉะนั้นจึงละสักกายทิฏฐิที่เคยยึดถือสภาพธรรมที่ประชุมรวมกัน เพราะเหตุว่าไม่เคยประจักษ์แจ้งเลยว่า สภาพธรรมที่เคยประชุมรวมกัน แท้ที่จริงแล้วสามารถที่จะปรากฏเพียงทีละอย่าง โดยไม่มีอย่างอื่นเลยทั้งสิ้น ไม่มีแม้แต่ที่จะให้เหลือความทรงจำว่า ยังมีตัวตนทั้งร่างกายตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า เพราะเหตุว่าในขณะนั้นไม่ปรากฏ มีแต่ว่าขณะนั้นสภาพนามธรรมใดเกิด ปัญญารู้ชัดทางมโนทวาร ลักษณะของรูปธรรมใดเกิดขึ้นปรากฏ มโนทวารก็รู้ชัดในลักษณะที่เป็นรูปธรรมนั้น ไม่มีสภาพธรรมอื่นปะปนเลย ด้วยเหตุนี้จึงสามารถที่จะละสักกายทิฏฐิได้ เป็นตทังคปหาน
ซึ่งในขณะนี้เป็นอย่างนั้นหรือเปล่า ปรากฏรวมกันทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ สลับกันอย่างเร็วทำให้ปรากฏเป็นสภาพธรรมที่รวมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน จึงไม่ใช่วิปัสสนาญาณ
เพราะฉะนั้นก่อนที่วิปัสสนาญาณจะเกิด ก็ยังมีอัตตสัญญา แต่ว่าเวลาที่สภาพธรรมปรากฏโดยความเป็นอนัตตาแล้ว ขณะนั้นอนัตตสัญญาจึงเริ่มที่จะเจริญขึ้นได้ แต่ว่าหลังจากที่นามรูปปริจเฉทญาณดับแล้ว โลกก็รวมกันเหมือนเดิม ปรากฏการเกิดดับสืบต่อสลับกันอย่างเดิม เพราะเหตุว่าชั่วขณะที่เป็นวิปัสสนาญาณเท่านั้นที่เป็นตทังคปหาน
เพราะฉะนั้นก็จะต้องระลึกถึงอนัตตสัญญาที่เคยประจักษ์แจ้งในนามรูปปริจเฉทญาณนั้น โดยน้อมพิจารณาลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมอื่นๆ ที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยต่อไปอีก เพราะเหตุว่าถ้าไม่นึกถึงอนัตตสัญญาที่เคยประจักษ์แจ้งแล้วในนามรูปปริจเฉทญาณ อัตตสัญญาที่เคยสะสมพอกพูนมาเนิ่นนานในสังสารวัฏฏ์ก็ไม่หมดสิ้นไปได้เพียงชั่วขณะที่นามรูปปริจเฉทญาณเกิด ก็จะต้องอบรมเจริญปัญญาต่อไป จนกว่าจะถึงวิปัสสนาญาณที่ ๒ คือ ปัจจยปริคหญาณ
เพราะฉะนั้นท่านผู้ฟังที่ถามว่า ถ้ารู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมแล้วอย่างไรต่อไป เพียงนิดหน่อยยังไม่ใช่นามรูปปริจเฉทญาณ ก็จะต้องจนกว่าจะถึงนามรูปปริจเฉทญาณเสียก่อน และเมื่อถึงนามรูปปริจเฉทญาณแล้ว ก็ไม่ใช่ทำอย่างอื่น สติปัฏฐานก็ยังเหมือนเดิม คือ เป็นสภาพที่ระลึกได้ พิจารณาลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏทีละอย่าง แต่ว่ายังมีอนัตตสัญญา คือ ความจำได้ในสภาพที่ไม่รวมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน ซึ่งก่อนวิปัสสนาญาณจะเกิด ยังไม่มีอนัตตสัญญานี้ เพราะฉะนั้นเมื่อได้ประจักษ์แจ้งอนัตตสัญญาจากนามรูปปริจเฉทญาณแล้ว ก็พิจารณาลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม โดยน้อมระลึกถึงอนัตตสัญญาที่เคยประจักษ์แจ้ง
สำหรับปัจจยปริคหญาณก็เป็นสภาพธรรมที่ละทิฏฐิ คือ ความเห็นว่าไม่มีเหตุ และปราศจากเหตุอันควรแก่การเกิดขึ้นของสภาพธรรมนั้นๆ ปัญญาก็เพิ่มขึ้นอีก จากการที่พิจารณาลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม
ปัญญาที่จะถึงความสมบูรณ์ของปัจจยปริคหญาณต้องเพิ่มขึ้นจากเพียง รู้ว่า ลักษณะนี้เป็นนามธรรม หรือว่าลักษณะนั้นเป็นรูปธรรม เพราะว่าในขณะที่สติระลึกลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมนั้นเอง ย่อมสามารถรู้ถึงปัจจัยที่นามธรรมนั้นเกิดขึ้น เช่น ก่อนที่จะเป็นนามรูปปริจเฉทญาณ ต้องพิจารณาลักษณะที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม เมื่อเป็นนามรูปปริจเฉทญาณแล้ว ก็ประจักษ์ในลักษณะที่เป็นสภาพรู้ ธาตุรู้ โดยสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน
เพราะฉะนั้นเวลาที่หลังจากนั้นแล้ว สติระลึกลักษณะของนามธรรมที่เกิด ในขณะที่เกิดก็ย่อมรู้ถึงปัจจัยของนามนั้นด้วย เช่น ในขณะที่กำลังพิจารณาลักษณะของสภาพรู้ ขณะที่กำลังได้ยิน ก็จะรู้ว่า ลักษณะของธาตุรู้เสียงเกิดขึ้นเพราะเสียง ถ้าไม่มีเสียง ขณะนั้นจิตได้ยินไม่มี ลองพิจารณาแม้ในขั้นของการฟัง ซึ่งยังไม่ใช่ปัจจยปริคหญาณ ก็ยังสามารถพิจารณาเข้าใจได้ว่า ขณะใดที่เสียงไม่เกิด ไม่มีเสียงเกิด จิตได้ยินเกิดไม่ได้
เพราะฉะนั้นเวลาที่จิตได้ยินเกิด แล้วสติระลึกลักษณะที่กำลังได้ยินเสียง เป็นสภาพที่รู้ในขณะที่เสียงกำลังปรากฏ ในขณะนั้นก็จะรู้ว่า เพราะเสียงเป็นปัจจัย จิตประเภทนี้จึงเกิด เพื่อที่จะแยกลักษณะของจิตแต่ละประเภทออกจากกันละเอียดยิ่งขึ้นอีกว่า เกิดขึ้นเพราะปัจจัยที่ต่างกัน
ในขณะที่รู้สึกปวดหรือเมื่อยซึ่งขณะนั้นสติปัฏฐานจะระลึกลักษณะของนามธรรมบ้าง ระลึกลักษณะของรูปธรรมบ้าง เพราะฉะนั้นเวลาที่ทุกขเวทนาเกิด ไม่ใช่ว่าขณะนั้นสติปัฏฐานจะไม่ระลึกลักษณะของรูปเลย เพราะเหตุว่าทุกขเวทนาย่อมเกิดที่รูป เพราะฉะนั้นเวลาที่พิจารณาลักษณะของรูปแล้วมีทุกขเวทนาเกิดขึ้น ขณะนั้นปัญญาก็รู้ว่า ทุกขเวทนานี้เกิดที่รูป นี่เป็นการระลึกรู้ลักษณะของปัจจัยของนามธรรมที่เกิดในขณะนั้น ซึ่งเป็นความรู้ที่ละเอียดขึ้น ที่จะทำให้เห็นว่า สภาพธรรมทั้งหมดต้องมีเหตุปัจจัยจึงเกิด
เพราะฉะนั้นสำหรับปัจจยปริคหญาณละทิฏฐิคือความเห็นว่า ไม่มีเหตุและปราศจากเหตุอันควรแก่การเกิดขึ้นของสภาพธรรมนั้นๆ
แม้ปัจจยปริคหญาณก็เป็นการประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทีละอย่างทางมโนทวาร เพราะเหตุว่าวิปัสสนาญาณทุกญาณจะต้องเป็นขณะหนึ่ง ช่วงหนึ่งซึ่งประจักษ์แจ้งสภาพธรรมที่ไม่มีโลก ไม่มีตัวตนที่รวมกันเหมือนขณะที่ไม่ใช่วิปัสสนาญาณ เพราะเหตุว่าเป็นการแทงตลอดลักษณะของสภาพธรรมทีละอย่าง
ถาม ในขณะที่แทงตลอดสภาพของธรรมทีละอย่างเป็นวิปัสสนาญาณ หมายความถึงสภาพที่รูปธรรมและนามธรรมแยกขาดออกจากกัน
ท่านอาจารย์ ทีละอย่าง
ผู้ฟัง ขณะที่สภาพของรูปธรรมปรากฏ ขณะนั้นจะต้องรู้ลักษณะของนามธรรมที่กำลังรู้รูปธรรมด้วยในขณะนั้น หรือว่าหลังจากนั้น สภาพธรรมที่ปรากฏขึ้นอีก อาจจะเป็นรูปธรรมดับไปแล้ว หลังจากนั้นก็พิจารณาลักษณะของนามธรรม รูปธรรมดับไปหลายขณะมากมายแล้วก็พิจารณาลักษณะของนามธรรม ในขณะนั้นเป็นวิปัสสนาญาณหรือเปล่า
ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นวิปัสสนาญาณ ไม่ใช่ขณะที่ต้องพิจารณาเลย เป็นความสมบูรณ์ของปัญญาซึ่งมีปัจจัยเกิดทางมโนทวาร ซึ่งจะปรากฏต่างกับขณะที่ทางมโนทวารและทางปัญจทวารกำลังปรากฏรวมกันโดยสภาพของการเป็นกลุ่มเป็นก้อน แต่ว่าเมื่อสภาพธรรมที่เป็นวิปัสสนาญาณนั้นเกิดทางมโนทวาร จะไม่มีการรวมกันเลยสักอย่างเดียว เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่ปรากฏ
เพราะฉะนั้นในขณะนั้นมีธาตุรู้ และก็มีสิ่งที่ปรากฏให้รู้เท่านั้น ไม่มีการที่จะต้องพิจารณาอะไร เพราะเหตุว่าในขณะนั้นธาตุรู้ในขณะนั้นเป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์ เป็นตัวปัญญาที่กำลังประจักษ์ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ
ผู้ฟัง ในขณะนั้นแทงตลอดแล้วใช่ไหม
ท่านอาจารย์ กำลังประจักษ์ ไม่ต้องพิจารณาเลย เพราะเหตุว่าเป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์ เป็นตัวปัญญาที่ประกอบพร้อมด้วยสติสัมปชัญญะ ซึ่งเป็นธาตุชนิดหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่การรวมกันของสักกายะ ที่จะต้องพิจารณาอย่างในขณะนี้
ถ้าในขณะนี้จะพิจารณาลักษณะของได้ยิน ก็อาจจะมีสิ่งอื่นปรากฏสลับ แต่ว่าเวลาที่เป็นวิปัสสนาญาณ จะไม่มีสิ่งที่ปรากฏสืบต่อกันจนกระทั่งเป็นสิ่งที่รวมกันเป็นอัตตา คือ การปรากฏของมโนทวาร
ผู้ฟัง การปรากฏของมโนทวาร หมายถึงปัญญาในมโนทวารกำลังรู้สภาพของรูปธรรมนามธรรม ส่วนวิปัสสนาญาณที่จะต้องเกิดในมโนทวารหมายถึงขณะที่ปัญญาเกิดในมโนทวารตอนนั้นขณะนั้นสภาพของรูปธรรมนามธรรมก็ต้องเกิดในมโนทวารด้วยหรือเปล่า
ท่านอาจารย์ ปรากฏทางมโนทวาร เพราะเหตุว่านามธรรมย่อมรู้ได้ทางมโนทวารเท่านั้น รู้ทางอื่นไม่ได้เลย นามธรรมทุกประเภทจะรู้ได้ จะปรากฏได้แก่มโนทวารวิถีจิตเท่านั้น และสำหรับรูป เมื่อรับรู้รูปทางแต่ละทวาร เช่น จักขุทวาร เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ดับแล้ว มโนทวารวิถีจิตรับรู้ต่อ เมื่อเสียงปรากฏแก่โสตทวารวิถีจิต ดับหมดแล้ว ภวังคจิตคั่นแล้ว มโนทวารรับรู้เสียงต่อ
เพราะฉะนั้นเมื่อมโนทวารปรากฏ ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมแต่ละลักษณะขาดตอนจริงๆ ที่ไม่ปะปนกันเลย จึงปรากฏได้
ผู้ฟัง แล้วถ้าเกิดลักษณะสภาพของนามธรรมซึ่งกำลังรู้ปรากฏทางตา สภาพที่รู้สิ่งที่ปรากฏทางตา กำลังปรากฏให้รู้ได้ ขณะนั้นก็คือว่า รู้ในสภาพที่กำลังรู้สี รู้สิ่งที่ปรากฏทางตา ปัญญาในขณะนั้นก็ไม่รู้ว่าเกิดที่ไหน แต่รู้ว่าในขณะนั้นไม่ใช่เราที่เห็นสภาพที่เห็นทางตา แต่มีสภาพเห็นที่กำลังเห็นอยู่ทางตา อันนั้นเป็นปัญญาที่เกิดทางมโนทวาร แล้วสภาพของนามธรรมและรูปธรรมนั้นเกิดทางมโนทวารด้วยหรือเปล่า แต่ในขั้นปริยัติ ปัญญาจะต้องเกิดทางมโนทวาร ส่วนสภาพธรรมที่เกิดขึ้นในขณะนั้นไม่สามารถรู้ได้ว่าเป็นปัญจทวารหรือมโนทวาร รู้แต่เพียงสภาพรู้ กำลังรู้รูปธรรม อย่างสภาพรู้เสียงกำลังรู้เสียง ซึ่งไม่ใช่เรารู้เสียง ในขณะนั้นปัญญารู้ลักษณะที่เด่นชัด ซึ่งไม่มีรูปอื่นมาคั่นเลย มีแต่นามธรรมและรูปธรรมเท่านั้นเอง ขณะนั้นไม่รู้ว่าเป็นมโนทวาร แต่ย่อมแตกต่างจากปัญจทวาร อย่างทางตาเราพิจารณา เราก็รู้ว่าทางตาแตกต่างจากทางหูแน่นอนขณะที่ปรากฏ ทางกายก็ย่อมแตกต่างจากทางลิ้น หรือทางจมูก แล้วทางใจที่เป็นสภาพที่คิดนึก หรือสภาพที่เป็นโทสะก็ดี เป็นสภาพที่ปรากฏทางใจ แล้วเห็นความแตกต่าง เนื่องจากสติระลึกบ่อยๆ จนสามารถแยกขาดว่า ขณะไหนเป็นทวารไหน เป็นปัญญาขั้นหนึ่งที่สามารถรู้ได้ว่า ทางตาก็ดี ทางหูก็ดี ไม่ใช่ทางเดียวกัน จนกระทั่งปัญญาเห็นความแตกต่าง จนเป็นสภาพของนามธรรมและรูปธรรมที่ปรากฏให้รู้ได้ว่า นี่เป็นสภาพนามธรรมและรูปธรรมทางหนึ่งทางใด เช่น ทางหู ก็เป็นสภาพของนามธรรมซึ่งกำลังรู้ คือ สภาพรู้เสียง กำลังรู้เสียง ซึ่งไม่ใช่เรารู้เสียง ในขณะนั้นก็ไม่แตกต่างกับขณะที่ปัญญารู้ว่า เสียงกำลังปรากฏ ซึ่งไม่ใช่เรา ขณะนั้นก็ไม่มีรูปธรรมปรากฏ ซึ่งสติก็ระลึกสภาพเสียงที่ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ขณะนั้นเป็นมโนทวารหรือเปล่า ถ้าปัญญารู้ว่ารูปธรรมไม่ใช่เรา
ท่านอาจารย์ เวลานี้มีมโนทวารวิถีมากคั่นอยู่ระหว่างแต่ละปัญจทวารวิถี นี่เป็นความจริง ใช่ไหม แต่ว่าลักษณะของมโนทวารที่กำลังรู้สี ปรากฏหรือเปล่า ขณะที่กำลังได้ยินเสียง โสตทวารวิถีจิตดับหมด ภวังคจิตคั่น มโนทวารวิถีจิตรู้เสียงต่อ และขณะนี้ที่มโนทวารวิถีกำลังรู้เสียง ปรากฏหรือยังว่าเป็นมโนทวารวิถี เวลานี้มีแต่จักขุทวารวิถี กับโสตทวารวิถีใช่ไหมที่กำลังปรากฏจริงๆ ทั้งๆ ที่ทุกคนรู้ว่า มีมโนทวารวิถีคั่นมาก แต่กำลังเห็นอยู่ตลอดเวลา มโนทวารวิถีอยู่ที่ไหน ถูกไหม และมโนทวารวิถีในขณะนี้รู้สิ่งที่ปรากฏทางตา และรู้เสียงที่ปรากฏทางหู และยังรู้เรื่องรู้ความหมาย และมีภวังค์คั่นด้วย นี่คือสภาพธรรมตามความเป็นจริง ซึ่งถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด สภาพธรรมตามความเป็นจริงไม่ปรากฏเลย
เพราะฉะนั้นก็ดูเสมือนว่า เพียงเข้าใจว่ามีมโนทวารวิถีคั่น แต่ว่ามโนทวารวิถีไม่ได้ปรากฏเลย เพราะเหตุว่าไม่ใช่วิปัสสนาญาณ เพราะฉะนั้นวิปัสสนาญาณคือการปรากฏลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง เมื่อตามความเป็นจริงแล้วต้องปรากฏทางมโนทวารมากกว่าทางปัญจทวารแต่ละทวาร เพราะเหตุว่าลองคิดถึงอายุของรูป ๑๗ ขณะ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา หรือเสียง ๑๗ ขณะจิตนี่เร็วมากทีเดียว ขณะที่รู้สึกเหมือนกับว่า เห็นด้วยและได้ยินด้วย ความจริงทางตาที่เห็น ดับ และมีภวังค์คั่นก่อนที่จะได้ยินเสียง ก่อนที่จะรู้ความหมาย เพราะฉะนั้นเวลาได้ยินเสียง แล้วก็คิดว่ารู้ความหมาย แล้วก็คิดว่าเห็นด้วย และมีมโนทวารวิถีคั่น แล้วก็มีภวังค์คั่นตามความเป็นจริงคืออย่างนั้น แต่ว่ามโนทวารวิถีไม่ปรากฏเลย
คำว่า “มโนทวารวิถี” ก็เข้าใจแล้วว่าหมายความว่า รู้อารมณ์ทางใจโดยไม่อาศัยทางตา ทางหู เพียงแต่ว่ารับอารมณ์นั้นสืบต่อจากทางตา ทางหู
เพราะฉะนั้นมโนทวารวิถีจริงๆ ต้องปรากฏ ตามความเป็นจริงแล้วต้องมากกว่าทางปัญจทวารวิถีแต่ละวาระ แต่ละทวาร แล้วทำไมไม่ปรากฏ ซึ่งถ้าสภาพธรรมปรากฏจริงๆ อะไรจะปรากฏ มโนทวารต้องปรากฏ
เพราะฉะนั้นอย่างที่เคยเรียนถามว่า วันหนึ่งๆ ทุกคนรู้สึกว่าเหมือนกับอยู่ในโลกที่สว่าง แต่ว่าตามความเป็นจริงแล้วทุกคนจะอยู่ในโลกที่มืดมากกว่าสว่างหรือเปล่า เพราะเหตุว่าในขณะที่กำลังได้ยิน ในขณะที่รู้เสียง เสียงกำลังปรากฏ ขณะนั้นสว่างหรือมืด ขณะที่กำลังกระทบแข็งที่กำลังปรากฏ กำลังรู้แข็ง สว่างหรือมืด
ผู้ฟัง มืด
ท่านอาจารย์ ขณะที่กำลังรู้กลิ่น กำลังได้กลิ่น สว่างหรือมืด
ผู้ฟัง มืด
ท่านอาจารย์ ก็มืดไปหมด เหลือทวารเดียว คือ จักขุทวารวิถีเท่านั้นที่สว่าง แต่ทำไมปรากฏเหมือนสว่างตลอด มืดหายไปไหนหมด
ผู้ฟัง เพราะว่าปัญญาขณะนั้นไม่ประจักษ์ในสภาพธรรมลักษณะเดียว โดยไม่ปน
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นทางมโนทวารถูกทางปัญจทวารปิดกั้นไว้ เพราะเหตุว่าการเกิดดับสลับกันอย่างเร็ว เพราะฉะนั้นถ้าสภาพธรรมปรากฏตามความเป็นจริง จะไม่สงสัยในลักษณะของมโนทวาร เพราะเหตุว่าสภาพที่เป็นนามธรรมจะปรากฏได้กับเฉพาะมโนทวารวิถีจิตเท่านั้น จะปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายไม่ได้เลย การรู้ลักษณะของนามธรรม
เพราะฉะนั้นในขณะนี้ที่ว่าเป็นนามธรรมเป็นนามธาตุ เป็นธาตุรู้ เป็นอาการรู้ ไม่มีรูปใดๆ ปนเลย จะรู้ลักษณะของธาตุรู้ได้ทางมโนทวารเท่านั้น และในขณะนั้นที่รู้ก็เป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์ เพราะฉะนั้นขณะนั้นเป็นปัญญาที่ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะที่กำลังประจักษ์ลักษณะสภาพธรรม โดยไม่ใช่ขั้นพิจารณา แต่เป็นขั้นที่เห็น ประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่าง ทีละอย่าง ตามความเป็นจริง
ผู้ฟัง แล้วเพราะเหตุใด ในปัญจทวารก็มีสภาพรู้ทางตา แต่เหตุใดปัญญาจึงเกิดรู้สภาพรู้ทางตาในปัญจทวารไม่ได้
ท่านอาจารย์ มหากุศลญาณสัมปยุตต์โดยการศึกษาเกิดได้กี่ทวาร
ผู้ฟัง เกิดได้ทั้ง ๖ ทวาร
ท่านอาจารย์ เกิดได้ทั้ง ๖ ทวาร แน่นอนใช่ไหม เวลาที่รูปปรากฏ แล้วมหากุศลญาณสัมปยุตต์กำลังรู้ในลักษณะรูปที่ปรากฏนั้น เพราะความที่เป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์ที่รู้ในรูป ไม่ใช่โมหมูลจิต ไม่ใช่โลภมูลจิต ไม่ใช่โทสมูลจิต แต่เป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์ที่กำลังมีรูปเป็นอารมณ์ทางปัญจทวาร จึงรู้รูปนั้นชัด ไม่เหมือนในขณะที่เป็นโลภะ โทสะ โมหะ เมื่อรู้ชัดอย่างนั้น เวลาที่ผ่านไปถึงมโนทวารวิถี ซึ่งเป็นวิปัสสนาญาณ จึงเป็นความรู้ชัดในลักษณะของรูปที่ปรากฏ โดยสภาพที่เป็นรูป ถ้าทางปัญจทวาร มหากุศลญาณสัมปยุตต์ไม่เกิด การรู้ชัดในรูปนั้นก็มีไม่ได้ แต่ว่าวิปัสสนาญาณเป็นช่วงระยะความสมบูรณ์ของปัญญาซึ่งสังขารขันธ์ปรุงแต่งพร้อมที่จะประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรม สภาพธรรมจึงปรากฏตามความเป็นจริง
เวลานี้ก็มีสภาพธรรมที่เกิดดับ แต่ว่าไม่ปรากฏกับอวิชชา ไม่สามารถที่จะรู้ลักษณะของรูปที่ปรากฏทางตาแล้วดับไป แล้วมีการรู้เสียงทางหูแล้วดับไป มีการคิดนึกเรื่องของสิ่งที่ปรากฏทางตา มีการคิดนึกเรื่องของสิ่งที่ปรากฏทางหูสลับเกิดดับอย่างเร็ว จนปรากฏรวมกัน แต่เมื่อเป็นวิปัสสนาญาณ เป็นความสมบูรณ์ของปัญญาที่จะประจักษ์แจ้ง สภาพธรรมก็ปรากฏตามความเป็นจริงทางมโนทวาร ไม่มีข้อสงสัยเลยว่า มโนทวารคืออย่างไร ต่างกับปัญจทวารอย่างไร ซึ่งก่อนที่จะเป็นวิปัสสนาญาณจะต้องสงสัยลักษณะของมโนทวาร เพราะว่าไม่ปรากฏ มีแต่เห็นอย่างนี้ มโนทวารอยู่ที่ไหน
เพราะฉะนั้นสำหรับผู้ที่แม้ว่าจะได้ฟังเรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน ที่จะใช้คำ ก็ควรจะใช้ให้ถูกต้อง เพื่อที่จะแสดงให้เห็นว่า ความเข้าใจเรื่องการเจริญสติปัฏฐานไม่คลาดเคลื่อน เช่น ไม่ควรใช้คำว่า “ใช้สติ” ซึ่งบางคนอาจจะได้ยินบ่อยๆ แล้วบางท่านก็บอกว่าเป็นคำพูดที่ติดปากเท่านั้นเอง แต่ความจริงแล้ว การที่จะใช้คำพูดใดๆ ก็ตาม ย่อมแสดงถึงความเข้าใจว่า ยังมีข้อที่คลาดเคลื่อนหรือเปล่า เพราะเหตุว่าไม่มีใครที่จะใช้สติได้ เพียงแต่ว่าสามารถที่จะเกิดสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมขณะใด ขณะนั้นก็เป็นขณะที่มีสติ ส่วนขณะใดที่สติไม่เกิด ไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ขณะนั้นก็หลงลืมสติ
แม้ว่าเป็นผู้ที่จะได้ยินได้ฟังเรื่องของการเจริญสติปัฏฐานมามาก และเป็นผู้ที่กำลังเริ่มอบรมเจริญสติปัฏฐานก็ตาม แต่การที่จะได้ฟังเรื่องของการเจริญสติปัฏฐานบ่อยขึ้น ก็เป็นทางที่จะทำให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมพร้อมกับขณะที่สติระลึกได้ละเอียดขึ้น เช่น ถ้าสังเกต จะรู้ได้ว่า ในขณะที่สติเกิด ขณะที่สติปัฏฐานเกิด ขณะนั้นเป็นขณะที่เริ่มรู้ว่า ขณะที่คิดนึกเป็นเรื่องราวต่างๆ ทั้งวันนั้น ไม่ใช่ในขณะที่มีสภาพปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์
นี่เป็นสิ่งซึ่งจะต้องพูดถึงบ่อยๆ เพราะเหตุว่าทุกคนคิดมากทีเดียว ทุกวัน แต่ว่าในขณะใดก็ตามที่กำลังคิดเป็นเรื่องเป็นราวต่างๆ ขณะนั้นไม่ใช่มีลักษณะของปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์
- โสภณธรรม ครั้งที่ 051
- โสภณธรรม ครั้งที่ 052
- โสภณธรรม ครั้งที่ 053
- โสภณธรรม ครั้งที่ 054
- โสภณธรรม ครั้งที่ 055
- โสภณธรรม ครั้งที่ 056
- โสภณธรรม ครั้งที่ 057
- โสภณธรรม ครั้งที่ 058
- โสภณธรรม ครั้งที่ 059
- โสภณธรรม ครั้งที่ 060
- โสภณธรรม ครั้งที่ 061
- โสภณธรรม ครั้งที่ 062
- โสภณธรรม ครั้งที่ 063
- โสภณธรรม ครั้งที่ 064
- โสภณธรรม ครั้งที่ 065
- โสภณธรรม ครั้งที่ 066
- โสภณธรรม ครั้งที่ 067
- โสภณธรรม ครั้งที่ 068
- โสภณธรรม ครั้งที่ 069
- โสภณธรรม ครั้งที่ 070
- โสภณธรรม ครั้งที่ 071
- โสภณธรรม ครั้งที่ 072
- โสภณธรรม ครั้งที่ 073
- โสภณธรรม ครั้งที่ 074
- โสภณธรรม ครั้งที่ 075
- โสภณธรรม ครั้งที่ 076
- โสภณธรรม ครั้งที่ 077
- โสภณธรรม ครั้งที่ 078
- โสภณธรรม ครั้งที่ 079
- โสภณธรรม ครั้งที่ 080
- โสภณธรรม ครั้งที่ 081
- โสภณธรรม ครั้งที่ 082
- โสภณธรรม ครั้งที่ 083
- โสภณธรรม ครั้งที่ 084
- โสภณธรรม ครั้งที่ 085
- โสภณธรรม ครั้งที่ 086
- โสภณธรรม ครั้งที่ 087
- โสภณธรรม ครั้งที่ 088
- โสภณธรรม ครั้งที่ 089
- โสภณธรรม ครั้งที่ 090
- โสภณธรรม ครั้งที่ 091
- โสภณธรรม ครั้งที่ 092
- โสภณธรรม ครั้งที่ 093
- โสภณธรรม ครั้งที่ 094
- โสภณธรรม ครั้งที่ 095
- โสภณธรรม ครั้งที่ 096
- โสภณธรรม ครั้งที่ 097
- โสภณธรรม ครั้งที่ 098
- โสภณธรรม ครั้งที่ 099
- โสภณธรรม ครั้งที่ 100