โสภณธรรม ครั้งที่ 069
ตอนที่ ๖๙
ปัญจทวารและมโนทวารก็เป็นจิต คือ เป็นสภาพรู้เหมือนกัน และสิ่งที่กำลังปรากฏ คือ รูปารมณ์ก็เหมือนกัน เป็นสัททารมณ์เหมือนกันเลย ถ้าเวลาสติระลึกรู้ที่รูปธรรม ก็ระลึกที่รูปเท่านั้นเอง ถ้าระลึกรู้นามธรรม ก็ระลึกที่นาม แล้วปัญญาที่เป็นนามรูปปริจเฉทญาณ ที่จะแยกขาดความต่างกันของปัญจทวารและทางมโนทวาร ก็ต้องระลึกรู้ลักษณะของภวังคจิตได้ใช่ไหม ถึงจะเห็นว่า ๒ ทวารไม่ต่อกัน
ท่านอาจารย์ ในขณะนี้สิ่งที่ปรากฏทางตาที่ขาดตอนต้องมี ใช่ไหม ถึงจะมีการได้ยินเสียงทางหู ถ้ายังคงปรากฏทางตาอยู่เรื่อยๆ ทางหูจะได้ยินไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นการที่ทางหูได้ยิน ก็ต้องแสดงว่า ทางตาต้องหมด นี่โดยเหตุผล ก่อนที่ปัญญาจะประจักษ์แจ้งสภาพธรรมทีละอย่างทางมโนทวาร ตามความเป็นจริงในขณะนี้ในขั้นการพิจารณา ช่วงที่ขาดตอนระหว่างปัญจทวารวิถีที่เห็นกับทางโสตทวารวิถีที่ได้ยิน ต้องมี เพราะเหตุว่าเป็นจิตต่างประเภท มีอารมณ์ปรากฏคนละอย่าง เพราะฉะนั้นช่วงที่ขาดตอน แม้ว่ากำลังมีอยู่ แต่ไม่ได้ปรากฏ เพราะเหตุว่าสภาพธรรมเกิดสืบต่ออย่างรวดเร็ว การเจริญสติปัฏฐานจะต้องอบรมเจริญปัญญา จนกระทั่งสามารถแยกบัญญัติออกจากปรมัตถ์ได้ ถ้าขณะใดไม่สามารถที่จะรู้ความต่างกันของขณะที่มีบัญญัติเป็นอารมณ์ และปรมัตถ์เป็นอารมณ์ ขณะนั้นไม่ใช่เป็นการเจริญปัญญา
เพราะฉะนั้นการอบรมเจริญสติปัฏฐานสามารถที่จะรู้ปรมัตถธรรม ซึ่งไม่ใช่บัญญัติ ก่อนที่จะเจริญสติปัฏฐาน ไม่มีใครรู้จักปรมัตถ์เลย ใช่ไหม อยู่ในโลกของบัญญัติทั้งหมด สิ่งที่เห็นก็เป็นวัตถุ เป็นคน เป็นสิ่งต่างๆ แต่ว่าเวลาที่ศึกษาธรรมแล้วก็รู้ว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นแต่เพียงสภาพธรรมชาติอย่างหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะปรากฏเมื่อกระทบกับจักขุปสาท สามารถจะปรากฏเฉพาะเมื่อกระทบกับจักขุปสาท
เพราะฉะนั้นสิ่งที่เพียงปรากฏทางตาในขณะที่กระทบกับจักขุปสาท จะเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นวัตถุใดๆ ไม่ได้เลย การรู้อย่างนี้ก็ทำให้สติเริ่มเกิดที่จะพิจารณา แต่ยังไม่ต้องไปกังวลถึงว่า นี่เป็นปัญจทวารวิถี หรือว่ามโนทวารวิถี หรือว่ามีภวังค์คั่นระหว่างจักขุทวารวิถีที่เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา และโสตทวารวิถีที่ได้ยินเสียง ความรู้เหล่านี้เป็นเครื่องประกอบที่จะทำให้สติเกิดระลึกได้ และยิ่งศึกษาเรื่องของสภาพธรรมละเอียดขึ้นๆ ถึงปัจจัยต่างๆ ที่จะให้เกิดสภาพธรรมแต่ละอย่างๆ แล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว ก็เป็นการประกอบที่จะให้มีการละคลาย ไม่ยึดถือ ไม่ติดข้องในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะเหตุว่าขณะนี้ถ้าจะระลึกที่ลักษณะของสิ่งที่แข็ง เป็นของจริงแน่นอน เกิดดับแน่นอน แล้วลักษณะของแข็งนั้นไม่ใช่ใครทั้งสิ้น เป็นแต่เพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งผู้ที่ไม่เคยพิจารณา ไม่เคยแม้แต่จะคิดว่า แข็ง เกิดมาได้อย่างไร มาจากไหน ใครทำให้มีแข็ง ไม่ว่าจะเป็นแข็งที่ร่างกาย หรือว่าแข็งภายนอกก็ตาม สิ่งใดก็ตามที่เกิดมีขึ้น สิ่งนั้นต้องมีปัจจัยปรุงแต่งเป็นสมุฏฐานให้สิ่งนั้นเกิด ถ้าสิ่งนั้นเป็นรูปที่ปรากฏอย่างเช่นแข็ง
เพราะฉะนั้นเวลาที่สติเริ่มระลึกลักษณะที่แข็ง ลักษณะแข็งปรากฏ แต่ทำไมการที่เคยยึดถือว่าแข็งเป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้ หรือว่าเป็นเรา หรือว่าเป็นนิ้วของเรา เป็นเท้าของเรา ไม่หมดไป ทั้งๆ ที่ลักษณะจริงๆ ของแข็ง ก็คือสิ่งนั้นแหละ ซึ่งจะไม่เป็นสิ่งอื่นไปเลย ด้วยเหตุนี้จึงต้องทรงแสดงพระธรรมโดยละเอียดที่จะให้รู้ถึงสมุฏฐานที่เกิดแม้ของรูปนั้น ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานค่อยๆ เริ่มระลึกลักษณะของปรมัตถ์ ให้เข้าใจเหตุผลอันนี้ว่า เคยอยู่ในโลกของบัญญัติ จนกระทั่งไม่สามารถที่จะแยกบัญญัติและปรมัตถ์ออกจากกันได้
เพราะฉะนั้นที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า สังขารธรรมทั้งหลายไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้วดับไป สำหรับท่านที่รู้ ท่านที่ประจักษ์ ไม่มีข้อสงสัยเลย แต่ผู้ที่กำลังฟัง กำลังเข้าใจ แล้วกำลังเริ่มศึกษา สติเริ่มระลึก น้อมไปที่จะรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ถ้าไม่อาศัยการฟังเลย ไม่สามารถที่จะละหรือรู้ได้ว่า เป็นเพียงสิ่งหนึ่งซึ่งปรากฏต่างกับทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น
เพราะฉะนั้นดูเสมือนว่า แข็งนี้ไม่ดับ ทางตาก็ดูเสมือนว่าเห็นนี้ไม่ดับ ทางหูก็แยกไม่ออกว่า ได้ยินกับคิดเป็นคำๆ ต่างขณะกัน ขณะที่ได้เฉพาะเสียง ไม่ใช่ขณะที่กำลังนึกถึงคำหรือความหมายของเสียงสูงๆ ต่ำๆ ที่ได้ยิน เพราะฉะนั้นจะบอกว่า เสียงดับ แน่ใจหรือว่า เสียงดับ หรือว่าได้ยินดับ หรือว่าคิดนึกถึงความหมายของเสียงดับ เพราะว่ารวมกันหมดแล้ว
ด้วยเหตุนี้การศึกษาก็สามารถทำให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมในขั้นของการพิจารณาได้ว่า ภวังคจิต มี วิถีจิต มี และแต่ละวิถีต้องมีภวังค์คั่น แล้วมโนทวารวิถีในขณะนี้ก็กำลังรับอารมณ์เดียวกับทางตาสืบต่อ ด้วยเหตุนี้จึงไม่สามารถที่จะแยกได้ว่า ขณะที่กำลังเห็นเป็นคนทันที ปัญจทวารวิถีดับไปเมื่อไร ภวังคจิตคั่นเมื่อไร มโนทวารวิถีเกิดกี่วาระถึงจะรู้ว่า กำลังเห็นคนนั้นคนนี้
นี่ก็แสดงให้เห็นแล้วว่า สติปัฏฐานในขั้นต้น เพียงแต่เริ่มที่จะระลึกได้ว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาไม่ใช่บัญญัติอย่างไร เพื่อที่จะไถ่ถอนถอดบัญญัติที่เคยยึดถือปรมัตถธรรมจนกระทั่ง เมื่อปรากฏว่าเป็นปรมัตถธรรมแล้ว ปัญญาสมบูรณ์ขึ้นก็จะประจักษ์ในการเกิดขึ้นและดับไปของปรมัตถธรรมนั้นๆ ได้ แต่ถ้ายังไม่สามารถที่จะแยกบัญญัติกับปรมัตถ์ ไม่มีทางที่จะประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปของปรมัตถธรรมได้
เพราะฉะนั้นยิ่งฟังก็ต้องถอยไปตั้งต้นกันใหม่อีก เรื่อยๆ ก็เป็นความจริง เพราะเหตุว่าพิสูจน์ได้ว่า วันนี้รู้ลักษณะที่ไม่ใช่บัญญัติกี่ครั้ง คือ ถ้าพูดถึงเรื่องปรมัตถธรรม เรื่องของจิต เรื่องของเจตสิก เรื่องของรูป ก็มีความเข้าใจ รู้ได้ว่า มีจิตกี่ประเภท ชื่ออะไรบ้าง มีเจตสิกเท่าไร เจตสิกประเภทไหนเกิดกับจิตประเภทไหน แม้แต่ตัตตรมัชฌัตตตาก็เป็นโสภณเจตสิก เป็นสภาพที่เป็นกลาง ก็ต้องเกิดกับจิตที่ดีงาม ก็เป็นเพียงชื่อ แต่ว่าที่จะรู้จริงๆ ว่า นามธรรม รูปธรรมเป็นสภาพที่ไม่ใช่นามธรรม เพียงเท่านี้ก็จะต้องอาศัยการพิจารณาตนเองว่า รู้ลักษณะของนามธรรมในขณะที่เห็นหรือยัง ถ้าไม่รู้ก็มีหนทางเดียว คือ เริ่มระลึกได้เท่านั้นเองว่า ขณะนี้ขณะที่เห็นเป็นอาการรู้ เป็นลักษณะรู้ เป็นสภาพรู้อย่างหนึ่ง จนกว่าจะรู้ว่า ขณะที่ไม่ใช่บัญญัติ คือ กำลังศึกษาลักษณะของปรมัตถธรรม
แม้ว่าจะยังเห็นเป็นคนอยู่ ยังเห็นเป็นโต๊ะ ยังเห็นเป็นเก้าอี้ แต่ก็เริ่มระลึกได้ว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาทั้งหมด เพียงไม่คิดก็จะไม่มีใครเลยในห้องนี้ เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้นจริงๆ แต่ว่าความคิดนี่ก็รวดเร็วเหลือเกิน กั้นไม่ได้ เพราะเหตุว่าหลังจากที่ตาเห็นแล้ว คิดเรื่องสิ่งที่ปรากฏทางตา หลังจากหูได้ยิน ก็คิดเรื่องที่ได้ยินทางหู
เพราะฉะนั้นโลกจึงเต็มไปด้วยบัญญัติ คือ การคิดนึก ซึ่งมากเหลือเกิน เพียงแต่เริ่มพิจารณาว่า วันหนึ่งๆ เราคิดมากแค่ไหน แค่นี้ก็เป็นประโยชน์แล้วใช่ไหม เต็มไปด้วยเรื่องของโลกของความคิดทั้งนั้นในวันหนึ่งๆ แต่ว่าความจริงแท้ๆ เพียงชั่วขณะที่เห็นนิดเดียวเท่านั้นเอง ถ้าไม่เปรียบเทียบกับทางหู เมื่อสักครู่นี้ จะไม่รู้เลยว่า ทางตาต้องดับ
เพราะฉะนั้นปัญญาที่จะประจักษ์แจ้งได้จริงๆ ว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาต้องดับด้วย ไม่ใช่ปรากฏสืบต่อสว่างอย่างนี้ไปตลอด ก็คือการที่จะต้องรู้ว่า เวลาที่ได้ยินเสียงต้องไม่มีสิ่งที่ปรากฏทางตาแน่นอน แต่ว่าเมื่อยังไม่ประจักษ์ก็ไม่ประจักษ์ ก็ค่อยๆ อบรมไปจนกว่าจะรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมเพิ่มขึ้น
เพราะฉะนั้นไม่ใช่เรื่องของการรีบร้อนหรือใจร้อนที่จะต้องการผล แต่เป็นเรื่องที่พิสูจน์ตนเองว่า เริ่มรู้ลักษณะของปรมัตถธรรมและบัญญัติเพิ่มขึ้นหรือยัง ขณะใดมีบัญญัติเป็นอารมณ์ ขณะใดมีปรมัตถ์เป็นอารมณ์
เรื่องของนามรูปปริจเฉทญาณยังมีข้อสงสัยอะไรอีกบ้างไหม กว่าจะถึงต้องอบรมเจริญปัญญา ศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ และเป็นผู้ที่ตรงที่จะรู้ว่า วันหนึ่งๆ รู้ลักษณะของปรมัตถธรรมมากหรือน้อย เพิ่มขึ้นหรือเปล่า หรือว่าวันหนึ่งๆ ก็ยังเป็นเรื่องของบัญญัติเสียมากมายอยู่ตลอด ไม่ว่าเช้า สาย บ่าย เย็น ก็ยังคงเต็มไปด้วยเรื่องของบัญญัติ
เพราะฉะนั้นต้องเป็นผู้ที่สามารถจะแยกลักษณะของปรมัตถ์ออกจากบัญญัติจริงๆ จึงจะประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมโดยความเป็นอนัตตาทางมโนทวาร ถึงความสมบูรณ์พร้อมที่จะแทงตลอดลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมในขณะนี้ โดยสภาพที่เป็นอนัตตา
เพราะฉะนั้นก็ต้องเป็นผู้ตรงต่อเหตุผล ต่อข้อปฏิบัติ ถ้าเป็นผู้ที่ไม่ตรง และอยากจะรู้สภาพธรรม ประจักษ์แจ้งอริยสัจจ์เร็วๆ รีบร้อนหาทางอื่น อันนั้นจะยิ่งไม่สามารถที่จะเกิดปัญญาที่ดับกิเลสได้
ข้อความในอรรถกถา มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ คหปติวรรค อุปาลิวาทสูตร มีข้อความว่า
นิครนถ์นาฏบุตรได้ส่งลูกศิษย์ คือ ท่านอุบาลีคฤหบดีให้ไปยกวาทะของพระผู้มีพระภาค เพราะสำคัญตนว่าเก่งกว่าพระผู้มีพระภาค และแม้ว่าจะอยู่ในนครเดียวกันกับพระผู้มีพระภาค คือ ในครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ใกล้เมืองนาลันทา และนิครนถ์นาฏบุตรก็อยู่ที่เมืองนาลันทา แต่นิครนถ์นาฏบุตรก็ไม่เคยเห็นพระผู้มีพระภาคเลย ด้วยว่า ผู้ใดย่อมปฏิญาณตนด้วยวาทะว่าเป็นศาสดา ผู้นั้นยังไม่ละปฏิญาณนั้น ก็ไม่สมควรเห็นพระพุทธเจ้า
เพราะฉะนั้นนิครนถ์นาฏบุตรนั้นไม่รู้ถึงสมบัติ คือ การเห็นและการฟังพระธรรมของพระผู้มีพระภาค เพราะไม่เคยเห็นพระผู้มีพระภาค
นี่เป็นสิ่งที่สาวกจะเห็นคุณค่าของพระธรรม โดยการรู้ว่า ไม่รู้อะไร นอกจากจะได้ฟังพระธรรม แล้วก็เริ่มพิจารณา เริ่มเข้าใจขึ้น จนกระทั่งพิจารณาข้อปฏิบัติที่ละเอียด รอบคอบ เป็นหนทางที่จะทำให้รู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมตรงตามความเป็นจริง ไม่คลาดเคลื่อน เพราะเหตุว่าถ้าผิดไปเพียงเล็กน้อย ทีละนิดทีละหน่อย ไม่เป็นผู้ที่พิจารณาเหตุผลโดยถูกต้องแล้วละก็ จะทำให้มีข้อประพฤติปฏิบัติที่ผิด ซึ่งในทุกวันนี้ ทุกคนก็จะเห็นได้ว่า เพราะไม่รู้ปัจจัย คือ เหตุที่จะทำให้เกิดผล คือสภาพธรรมแต่ละขณะในขณะนี้ ก็เลยทำให้มีการเข้าใจผิด มีการเชื่อและประพฤติผิดต่างๆ ซึ่งความเห็นผิดในปัจจุบันนี้ก็เป็นเฉพาะในยุคนี้สมัยนี้ ซึ่งทุกท่านเห็นเหตุการณ์ต่างๆ ซึ่งเป็นความเข้าใจผิด เป็นความเชื่อผิดๆ แต่ว่าความเชื่อผิด หรือความเห็นผิดไม่ได้มีแต่เฉพาะในสมัยนี้ แม้แต่ในครั้งโบราณนานมาแล้ว จะเป็นพันล้านปีก่อน หรือว่าอีกพันล้านปีข้างหน้า ความเห็นผิดหรือว่าความเชื่อผิดๆ ก็ยังคงเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยของผู้ที่ไม่พิจารณาเหตุและผลให้ถูกต้องตามความเป็นจริง
เพราะฉะนั้นจึงต้องเป็นผู้ที่ไม่ประมาทจริงๆ ว่า ถ้าขาดเหตุผลขณะใด จะไม่รู้ปัจจัยที่จะทำให้เกิดสภาพธรรมแต่ละอย่างตามความเป็นจริงแล้วละก็ จะทำให้เชื่อผิดๆ และปฏิบัติผิดๆ ได้
ข้อความในอรรถกถา มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ คหปติวรรค อุปาลีวาทสูตร มีข้อความว่า
พวกนิครนถ์เห็นผิดว่า แม้ต้นไม้ ใบไม้แห้งๆ ผุๆ กรวด หรือกระเบื้องแตกก็มีชีวิต คือ มีปานะ มีลมหายใจ
เพราะฉะนั้นความคิดอย่างนี้ในสมัยนี้ ไม่ได้มีเฉพาะในสมัยนี้ แม้ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคหรือก่อนนั้น ก็ยังมีความเชื่อที่ผิดๆ มีความเห็นที่ผิดๆ ได้
และอีกเรื่องหนึ่งก็คือ ตามข้อความในอุปาลีวาทสูตร
หญิงงามเมืองผู้หนึ่งที่อาศัยกรรมดีในอดีตที่ได้กระทำมาแล้ว จึงได้ฐานันดร คือ มีตำแหน่งเป็นหญิงงามเมือง แต่ก็เข้าใจว่า ที่ตนได้ฐานันดรนั้นเพราะเห็นดาบสผู้หนึ่งที่มีหนวดเคราปิดอกรุงรัง ก็เลยคิดว่าเป็นกาลกิณี เพราะฉะนั้นเมื่อเห็นดาบสนั้นก็เลยล้างตา แปรงฟัน เคี้ยวไม้สีฟัน ถ่มน้ำลายเป็นก้อนๆ ไปที่ดาบสนั้น และโยนไม้สีฟันลงไปบนเซิงผม บ้วนปาก และเอาราดบนศีรษะของดาบส โดยที่เข้าใจว่า การทำอย่างนั้นเป็นการลอยพลีโทษแล้ว ซึ่งก็ทำให้ผู้อื่นพลอยกระทำตามกันไปหมด
นี่ก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งสมัยนี้จะมีอย่างนี้หรือเปล่า จะมากกว่านี้ หรือจะน้อยกว่านี้ ก็ต้องแล้วแต่สถานที่ เพราะว่าตามชายแดนห่างไกล ก็ไม่ทราบว่า จะมีความเห็นผิด ความเข้าใจผิด เพราะไม่รู้เหตุปัจจัยของสภาพธรรมมากน้อยแค่ไหน
ซึ่งเมื่อผู้อื่นได้กระทำตามอย่างนั้น ได้อาศัยกรรมดีที่ได้กระทำแล้วในอดีต ก็เป็นเหตุให้ได้ยศถาบรรดาศักดิ์กัน ก็เลยยิ่งทำให้เชื่อว่า ด้วยการกระทำอย่างนั้นเป็นเหตุที่จะทำให้ได้ยศถาบรรดาศักดิ์
นี่คือประวัติของป่าทัณฑกี ในอุปาลีสูตร
อีกป่าหนึ่ง คือ ป่ากาลิงคะ ก็มีประวัติที่แสดงความเห็นผิดของพระราชาองค์หนึ่ง ซึ่งเมื่อได้ฟังดาบสรูปหนึ่งแสดงโทษของการล่วงศีล ๕ พระราชาองค์นั้นก็คิดว่า ดาบสนั้นพูดกระทบกระเทียบทิ่มแทงพระองค์ผู้เดียวท่ามกลางบริษัท จึงคิดที่จะเบียดเบียนดาบสทั้ง ๕๐๐ รูปผู้สมบูรณ์ด้วยตบะนั้นจนสิ้นชีวิตในวันเดียวเท่านั้น
นี่คือความคิดปรุงแต่งมากมายแม้แต่เพียงได้ฟังเรื่องโทษของการล่วงศีล ๕ แต่ว่าคำพูดที่ดีที่เป็นศีล ก็เป็นทุศีลสำหรับผู้ที่ไม่มีศีล เพราะฉะนั้นพระราชาพระองค์นั้นก็เลยเข้าใจว่า ดาบสนั้นกระทบกระเทียบทิ่มแทงพระองค์ผู้เดียว จนกระทั่งเกิดความคิดที่จะเบียดเบียน และในที่สุดก็ได้ประหารดาบสทั้ง ๕๐๐ ผู้สมบูรณ์ด้วยตบะในวันเดียว
นี่คือประวัติของป่ากาลิงคะ
อีกป่าหนึ่ง คือ ป่ามาตังคะ ก็ได้แสดงให้เห็นความเข้าใจผิดที่ไม่รู้ว่า สภาพธรรมทุกอย่างที่เกิดขึ้นเป็นไปทุกขณะ ต้องมีเหตุปัจจัยที่จะทำให้เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกุศลวิบากก็ต้องเกิดจากกุศลกรรม อกุศลวิบากก็ต้องเกิดจากอกุศลกรรม แต่ว่าเมื่อไม่รู้สภาพธรรมนั้นๆ ตามความเป็นจริง ก็ทำให้เข้าใจผิดได้ เช่น
ในครั้งนั้นความเห็นผิดของคนในสมัยนั้นมีว่า เมื่อคนจัณฑาลโกรธ นอนตายใกล้ประตูห้องของผู้ใด คนที่อยู่ในห้องนั้นทั้งหมดต้องตกเป็นจัณฑาล หรือว่าเมื่อคนจัณฑาลตายกลางเรือน คนในเรือนทั้งหมดต้องเป็นจัณฑาล หรือเมื่อคนจัณฑาลตายที่ประตูเรือนคนที่อยู่ในเรือนทั้ง ๒ ข้าง ต้องเป็นจัณฑาล เมื่อคนจัณฑาลตายที่ลานบ้าน คนที่อยู่ในเรือนทั้ง ๑๔ หลัง คือ ทั้งข้างโน้น ๗ หลัง ข้างนี้ ๗ หลัง ต้องเป็นจัณฑาล
ไม่มีเหตุไม่มีผลอะไรเลย แต่ก็เพราะไม่รู้เหตุปัจจัยของสภาพธรรมที่เกิดปรากฏ ก็ทำให้มีการเห็นผิดต่างๆ
สำหรับเรื่องของนายมาตังคะ ก็ได้เคยกล่าวถึงแล้วครั้งหนึ่ง ซึ่งก็เป็นพระชาติหนึ่ง ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ผู้ที่จะอบรมเจริญปัญญาถึงความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็จะต้องเกิดขึ้นเป็นไปในแต่ละภพแต่ละชาติตามเหตุตามปัจจัยที่ได้สะสมมา
สำหรับท่านผู้ฟังใหม่ก็จะขอกล่าวถึงเรื่องของนายมาตังคะอีกครั้งหนึ่งโดยย่อ
ในสมัยนั้นที่พระนครพาราณสี มีเศรษฐีผู้หนึ่งมีทรัพย์ ๘๐ โกฏิ เศรษฐีผู้นั้นมีธิดาคนหนึ่ง ชื่อ ทิฏฐมังคลิกา สะสวย น่ารักน่าชม พร้อมด้วยรูปสมบัติ โภคสมบัติและคุณสมบัติ แต่ไม่ว่าจะมีชายใดมาสู่ขอ นางก็เห็นว่าไม่มีใครคู่ควรเลยสักคนเดียว มีข้อตำหนิไปเสียหมด ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องชาติบ้าง หรือไม่ก็ในเรื่องทรวดทรง เรื่องมือ เรื่องเท้า เป็นต้น
วันหนึ่งนางทิฏฐมังคลิกาก็ตั้งใจจะลงเล่นน้ำในแม่น้ำคงคา ก็ได้สั่งให้จัดตบแต่งท่าน้ำ และบรรทุกของเคี้ยวของกินเป็นอันมากเต็มเล่มเกวียน เอาของหอมและดอกไม้เป็นต้นไปด้วย และขึ้นยานอย่างมิดชิด มีหมู่ญาติแวดล้อมออกจากปราสาทไป
สมัยนั้นพระมหาบุรุษได้กำเนิดเป็นคนจัณฑาล มีชื่อว่า มาตังคะ อายุ ๑๖ ปี อาศัยอยู่ในกระท่อมหนังนอกพระนคร วันนั้นนายมาตังคะมีกิจที่จะเข้าไปในพระนครพาราณสี เขานุ่งผ้าเก่าสีเขียว มือข้างหนึ่งถือกระเช้า อีกข้างหนึ่งถือกระดิ่ง สั่นร้องบอกคนที่ผ่านไปมาให้รู้ว่าเขาเป็นคนจัณฑาล ด้วยความนอบน้อมเจียมตน
ซึ่งความนอบน้อมเจียมตนเป็นกุศล แต่ผู้คนในสมัยโน้นหรือแม้ในสมัยนี้ ก็ยังคงยึดถือในกำเนิด คือ ไม่ได้พิจารณาถึงกุศลจิตและอกุศลจิต แต่ก็ถือชั้นวรรณะ
เมื่อนางทิฏฐมังคลิกาได้ยินเสียงกระดิ่ง ก็ได้มองทางช่องม่าน เห็นนายมาตังคะก็รังเกียจจนตัวสั่น
ก็ลองคิดดูว่า นายมาตังคะซึ่งเป็นพระชาติหนึ่งของพระผู้มีพระภาค รูปร่างหน้าตาทำให้คนรังเกียจจนตัวสั่น
นางถ่มน้ำลาย และบอกให้พี่เลี้ยงเอาน้ำมาล้างตาที่เห็นนายมาตังคะ และบ้วนปากที่เอ่ยชื่อนายมาตังคะ แล้วให้กลับรถไปปราสาท
คือเลิกเล่นน้ำที่แม่น้ำคงคา
พวกที่คิดว่าจะได้ข้าวปลาอาหาร สุรา เนื้อ ของหอมจากการไปเล่นแม่น้ำคงคาของนางทิฏฐมังคลิกาก็โกรธนายมาตังคะ ที่ทำให้ตนพลาดโอกาสจะได้สนุกสนานและได้ลาภอย่างนั้น
คนเหล่านั้นก็ตามนายมาตังคะไปจนกระทั่งถึงที่อยู่ และก็ทำร้ายจนกระทั่งเข้าใจว่า นายมาตังคะตายแล้ว แล้วก็ช่วยกันจับลากไปทิ้งไว้ที่กองขยะ
เมื่อนายมาตังคะรู้สึกตัว ก็พิจารณาหาเหตุที่ถูกทำร้ายว่าเกิดจากอะไร ก็รู้ว่าเป็นเพราะนางทิฏฐมังคลิกานั่นเอง นายมาตังคะจึงคิดที่จะละมานะของนางทิฏฐมังคลิกา
นายมาตังคะไปนอนที่ลานบ้านของนางทิฏฐมังคลิกาด้วยตั้งใจว่า เราได้นางทิฏฐมังคลิกาจึงจะลุก เมื่อไม่ได้ก็จะตายเสียที่นี้แหละ
ความเห็นผิดของคนในสมัยนั้นมีว่า เมื่อคนจัณฑาลโกรธนอนตายใกล้ประตูห้องของใคร คนที่อยู่ในห้องนั้นทั้งหมดต้องเป็นจัณฑาล หรือเมื่อคนจัณฑาลตายกลางเรือน คนในเรือนนั้นทั้งหมดต้องเป็นจัณฑาล หรือเมื่อคนจัณฑาลตายที่ประตูเรือน คนที่อยู่ในเรือนสองข้างต้องเป็นจัณฑาล เมื่อคนจัณฑาลตายที่ลานบ้าน คนที่อยู่ในเรือนทั้ง ๑๔ หลัง คือ ข้างโน้น ๗ หลัง ข้างนี้ ๗ หลัง ทั้งหมดต้องตกเป็นจัณฑาล
คนทั้งหลายก็ได้ไปบอกเศรษฐีว่า นายมาตังคะนอนอยู่ที่ลานบ้านของเศรษฐี เศรษฐีก็บอกให้เอาทรัพย์ไปให้นายมาตังคะ ๑ มาสก เพื่อที่จะให้นายมาตังคะลุกไป แต่นายมาตังคะก็ไม่ยอมลุก เขาบอกว่าไม่ได้ต้องการเงิน แต่ต้องการนางทิฏฐมังคลิกา คนเหล่านั้นก็ถามว่า นางทิฏฐมังคลิกามีโทษผิดอะไร นายมาตังคะก็บอกว่า นางทิฏฐมังคลิกาไม่ได้ทำอะไร แต่พวกของนางทำร้ายตน
เมื่อคนเหล่านั้นไปบอกเศรษฐี เศรษฐีก็เพิ่มเงินให้อีก เพื่อที่จะให้นายมาตังคะกลับไป แต่นายมาตังคะก็ไม่กลับไปยังนอนอยู่ตามเดิม
เศรษฐีและภรรยากลัวนายมาตังคะจะตาย ก็ส่งอาหารและทรัพย์ไปให้นายมาตังคะเพิ่มขึ้น แต่นายมาตังคะก็ไม่รับ
ล่วงไปวันหนึ่ง ๒ วัน ๓ วัน ๔ วัน ๕ วัน พวกเพื่อนบ้านที่อยู่ติดกัน ก็บอกให้เศรษฐีให้นางทิฏฐมังคลิกากะนายมาตังคะไปเสีย แต่เศรษฐีและภรรยาก็ไม่ยอม ส่งเงินไปให้เพิ่มอีกเรื่อยๆ จนถึงหนึ่งแสน แต่นายมาตังคะก็ไม่ยอมรับ
จนถึงวันที่ ๗ ชาวบ้านทั้ง ๑๔ หลังก็ประชุมกัน ยกนางทิฏฐมังคลิกาให้นายมาตังคะ โดยพากันขึ้นไปบนปราสาท ถอดเครื่องประดับทุกชิ้นออก ให้นุ่งผ้าเขียวเก่าๆ ให้ประดับต่างหูดีบุก มอบกระเช้าใบตาลให้ แล้วจับแขนไปส่งให้นายมาตังคะ
นายมาตังคะทำมานะของนางทิฏฐมังคลิกาให้ลดลง โดยไม่ยอมลุกขึ้น จนกว่านางทิฏฐมังคลิกาจะพูดกับตนอย่างนอบน้อม ซึ่งนางทิฏฐมังคลิกาก็เรียกนายมาตังคะว่า เจ้านาย แล้วก็บอกให้ลุกขึ้น
นายมาตังคะก็ให้นางทิฏฐมังคลิกาแบกตนพาไปยังประตูที่จะออกไปสู่บ้าน แต่ไม่บอกให้ไปทางไหน ซึ่งนางทิฏฐมังคลิกาเป็นผู้ที่ไม่เคยแม้แต่จะยกของที่เบาๆ อย่างก้านบัว แต่ก็เชื่อฟัง เพราะฉะนั้นก็แบกนายมาตังคะเดินไปทางประตูด้านทิศตะวันออก แล้วก็ถามว่า ออกทางประตูนี้ใช่ไหม นายมาตังคะก็บอกว่าไม่ใช่ นางทิฏฐมังคลิกาก็แบกต่อไปอีก จนถึงประตูเมืองด้านตะวันตก นายมาตังคะก็บอกว่าให้ออกไปทางประตูด้านนี้ไปยังกระท่อมมุงหนังของตน
พระโพธิสัตว์อยู่ในกระท่อมของตนกับนางทิฏฐมังคลิกาโดยไม่เกี่ยวข้องกับนางทิฏฐมังคลิกาเลย ตลอด ๗ – ๘ วัน ระหว่างนั้นท่านก็คิดว่าจะมีทางใดที่จะทำให้นางทิฏฐมังคลิกาได้เกียรติ ได้ยศ และได้บริวาร เมื่อเห็นว่า ถ้าท่านยังอยู่เป็นคฤหัสถ์ ก็ไม่มีทางที่จะทำให้นางทิฏฐมังคลิกาได้เกียรติ ได้ยศ ได้บริวารได้ เพราะฉะนั้นก็ออกบวช เจริญฌานสมาบัติ จนกระทั่งได้อภิญญา เมื่อบรรลุอภิญญาแล้ว ก็ได้กลับไปบอกนางทิฏฐมังคลิกาว่า ให้นางประกาศให้ทั่วพระนครว่า สามีของนางไม่ใช่จัณฑาล แต่เป็นท้าวมหาพรหม และให้ประกาศว่า อีก ๗ วันซึ่งจะเป็นอุโบสถนั้น ท้าวมหาพรหมสามีของนางจะเหาะลงมาจากวงพระจันทร์ และเมื่อถึงวันนั้นก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ
เมื่อมหาชนเห็นดังนั้น ก็พากันแวดล้อมนางทิฏฐมังคลิกา เรียกนางว่า พรหมปชาบดี แล้วปรึกษากันที่จะเชิญนางเข้าไปอยู่ในพระนคร โดยหามไปด้วยวอทอง ไม่ให้คนที่มีชาติบริสุทธิ์ ๗ ชั่วโคตรคนหาม
- โสภณธรรม ครั้งที่ 051
- โสภณธรรม ครั้งที่ 052
- โสภณธรรม ครั้งที่ 053
- โสภณธรรม ครั้งที่ 054
- โสภณธรรม ครั้งที่ 055
- โสภณธรรม ครั้งที่ 056
- โสภณธรรม ครั้งที่ 057
- โสภณธรรม ครั้งที่ 058
- โสภณธรรม ครั้งที่ 059
- โสภณธรรม ครั้งที่ 060
- โสภณธรรม ครั้งที่ 061
- โสภณธรรม ครั้งที่ 062
- โสภณธรรม ครั้งที่ 063
- โสภณธรรม ครั้งที่ 064
- โสภณธรรม ครั้งที่ 065
- โสภณธรรม ครั้งที่ 066
- โสภณธรรม ครั้งที่ 067
- โสภณธรรม ครั้งที่ 068
- โสภณธรรม ครั้งที่ 069
- โสภณธรรม ครั้งที่ 070
- โสภณธรรม ครั้งที่ 071
- โสภณธรรม ครั้งที่ 072
- โสภณธรรม ครั้งที่ 073
- โสภณธรรม ครั้งที่ 074
- โสภณธรรม ครั้งที่ 075
- โสภณธรรม ครั้งที่ 076
- โสภณธรรม ครั้งที่ 077
- โสภณธรรม ครั้งที่ 078
- โสภณธรรม ครั้งที่ 079
- โสภณธรรม ครั้งที่ 080
- โสภณธรรม ครั้งที่ 081
- โสภณธรรม ครั้งที่ 082
- โสภณธรรม ครั้งที่ 083
- โสภณธรรม ครั้งที่ 084
- โสภณธรรม ครั้งที่ 085
- โสภณธรรม ครั้งที่ 086
- โสภณธรรม ครั้งที่ 087
- โสภณธรรม ครั้งที่ 088
- โสภณธรรม ครั้งที่ 089
- โสภณธรรม ครั้งที่ 090
- โสภณธรรม ครั้งที่ 091
- โสภณธรรม ครั้งที่ 092
- โสภณธรรม ครั้งที่ 093
- โสภณธรรม ครั้งที่ 094
- โสภณธรรม ครั้งที่ 095
- โสภณธรรม ครั้งที่ 096
- โสภณธรรม ครั้งที่ 097
- โสภณธรรม ครั้งที่ 098
- โสภณธรรม ครั้งที่ 099
- โสภณธรรม ครั้งที่ 100