โสภณธรรม ครั้งที่ 052
ตอนที่ ๕๒
นี่จะเห็นถึงลักษณะความสำคัญของตัตตรมัชฌัตตตาเจตสิกซึ่งต้องตรง ตั้งแต่กุศลในชีวิตประจำวันจนกระทั่งถึงการเจริญสติปัฏฐาน จนถึงขั้นปัญญาที่จะเป็นองค์ของการตรัสรู้ ก็จะต้องมีตัตตรมัชฌัตตตาซึ่งเป็นอุเบกขาสัมโพชฌงค์
เพราะฉะนั้นจึงควรที่จะเริ่มเป็นผู้ตรงด้วยตัตตรมัชฌัตตตาเจตสิก ที่จะพิจารณาสภาพธรรมตามความเป็นจริงที่จะรู้ว่า อกุศลเป็นอกุศล และกุศลเป็นกุศล
สำหรับลักษณะของกรุณาพรหมวิหาร
มีความเป็นไปโดยอาการช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นทุกข์ เป็นลักษณะ
เวลาที่เห็นใครทำอย่างนี้ก็รู้ได้ใช่ไหมว่า ในขณะนั้นเป็นกรุณาเจตสิก ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล แต่เป็นสภาพของกรุณาเจตสิกซึ่งมีความเป็นไปโดยอาการช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นทุกข์ เป็นลักษณะ
มีการกำจัดทุกข์ของผู้อื่น เป็นรสะ คือ เป็นกิจ
มีความไม่เบียดเบียน เป็นปัจจุปัฏฐาน
มีความเห็นสัตว์ผู้ถูกทุกข์ครอบงำ เป็นผู้น่าสงสาร เป็นปทัฏฐาน
ซึ่งควรพิจารณาคำที่ว่า “เป็นผู้ที่น่าสงสาร” ไม่ได้หมายความว่า ขณะนั้นจำเป็นจะต้องรู้สึกโทมนัสเสียใจในการที่จะช่วยเหลือบุคคลอื่นให้พ้นทุกข์
นี่เป็นสิ่งที่จะต้องมีตัตตรมัชฌัตตตาที่จะต้องตรงว่า ขณะใดที่เห็นคนที่กำลังมีความทุกข์ ในขณะนั้นความรู้สึกเป็นอย่างไร ถ้ารู้สึกเสียใจเป็นทุกข์กับเขา ตัตตรมัชฌัตตตาจะต้องตรงที่จะรู้ว่า ขณะนั้นเป็นอกุศล ที่กำลังพลอยเป็นทุกข์ไปด้วย บางท่านอาจจะถึงกับร้องไห้เสียใจไปด้วย ขณะนั้นเป็นอกุศล ถ้ารู้อย่างนี้ จิตใจก็จะคลายจากความเศร้าหมอง แล้วก็รู้ว่า ขณะใดที่เป็นกรุณา ขณะนั้นไม่ใช่โทมนัสเวทนา เพราะว่ากรุณาเป็นโสภณเจตสิก แต่ว่าโทมนัสเวทนาเป็นอกุศลเจตสิก เพราะฉะนั้นอาศัยปัญญาซึ่งตรงในขณะนั้น จะทำให้สามารถที่จะไม่เศร้าหมอง แม้ว่าจะเห็นผู้อื่นเป็นทุกข์ แต่ว่ากระทำกิจของกรุณาเจตสิก โดยกำจัดทุกข์ของคนอื่น ไม่เบียดเบียน แล้วก็ช่วยเหลือบุคคลอื่นให้พ้นจากทุกข์
ด้วยเหตุนี้กรุณาจึงมีโทมนัสอาศัยเรือน คือ ขณะที่เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ได้ยินเสียง ได้กลิ่น ลิ้มรส หรือกระทบสัมผัส เป็นข้าศึกใกล้
ที่จะต้องระวังจริงๆ คือ เมื่อเห็นคนอื่นเป็นทุกข์แล้ว อย่าเศร้าหมอง มีกรุณาเกิดขึ้นเป็นโสภณ แต่ไม่ควรที่จะให้เป็นโทสมูลจิต
มีความเบียดเบียนเป็นข้าศึกไกลของกรุณาพรหมวิหาร
เพราะเหตุว่าในขณะใดที่เบียดเบียนคนอื่นให้เดือดร้อน ขณะนั้นจะกรุณาไม่ได้ เพราะฉะนั้นขณะใดที่กรุณาเจตสิกเกิด ขณะนั้นไม่เบียดเบียนคนอื่นแน่นอน
สำหรับกรุณานั้น มีการสงบระงับวิหิงสา ความเบียดเบียน เป็นสมบัติ มีการเกิดความโศก เป็นวิบัติ
ท่านผู้ฟังเคยเกิดความโศกเวลาเห็นคนอื่นเป็นทุกข์ไหม เศร้าสลดใจ ตัตตรมัชฌัตตตาควรจะเกิดพิจารณาให้รู้ว่า ขณะนั้นเป็นอกุศล ถึงแม้ว่าจะช่วยเหลือบุคคลอื่นโดยที่จิตใจไม่เป็นอกุศล ย่อมดีกว่าที่จะช่วยด้วยแล้วเป็นอกุศลไปด้วย ซึ่งควรที่จะช่วยโดยที่ไม่เป็นอกุศล จะดีกว่า
ลักษณะของมุทิตาเจตสิกซึ่งเป็นมุทิตาพรหมวิหาร
มีความพลอยยินดี เป็นลักษณะ เมื่อเห็นความดีหรือเห็นสมบัติของคนอื่น
มีความไม่ริษยา เป็นรสะ คือ เป็นกิจ
มีความกำจัดความไม่ยินดี เป็นปัจจุปัฏฐาน
มีการเห็นสมบัติของสัตว์ทั้งหลาย เป็นปทัฏฐาน เป็นเหตุใกล้
ถ้าสัตว์ทั้งหลายไม่ได้สมบัติแล้วจะให้เกิดมุทิตาเจตสิก ก็เป็นไปไม่ได้ เพราะเหตุว่าสภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา เพราะฉะนั้นพรหมวิหารทั้ง ๔ มีสัตว์ บุคคลในสภาพต่างๆ กันเป็นอารมณ์
สำหรับมุทิตาตรงกันข้ามกับกรุณา เพราะเหตุว่ากรุณา ต้องมีคนที่กำลังเดือดร้อนเป็นทุกข์เป็นอารมณ์ แต่ว่ามุทิตานั้นเป็นความพลอยยินดีกับความสุขหรือสมบัติของคนอื่น
สำหรับข้อที่ว่า มีความกำจัดความไม่ยินดี เป็นปัจจุปัฏฐาน
ทุกท่านต้องรู้จักตัวของท่านเองมากกว่าบุคคลอื่น ในบรรดาพรหมวิหาร ๔ พรหมวิหารไหนสะดวกสำหรับท่าน พรหมวิหารไหนยากสำหรับท่าน เมตตาง่ายหรือยัง กรุณาง่ายหรือยัง มุทิตาง่ายหรือยัง อุเบกขาง่ายหรือยัง บางคนมุทิตาน้อย อาจจะมีกรุณาเวลาที่เห็นสัตว์อื่นตกทุกข์ได้ยากลำบาก แต่พอถึงเรื่องของมุทิตา บางท่านไม่เกิด หรือว่าเกิดน้อยมาก แต่ความจริงถ้ารู้ลักษณะสภาพของมุทิตาเจตสิกซึ่งเป็นมุทิตาพรหมวิหาร จะเห็นได้ว่าไม่ยากเลย แล้วควรจะอบรมด้วย เพราะเหตุว่าขณะใดที่พลอยยินดีกับคนอื่นซึ่งมีสมบัติหรือว่าได้สมบัติ ได้ความสุขในขณะนั้น ไม่น่าจะยากเลย
สำหรับผู้ที่มุทิตาไม่ได้ ลองพิจารณาจริงๆ ว่า เป็นเพราะอะไร ขณะที่ไม่มุทิตา ขณะนั้นเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ลองคิดดู ได้ฟังข่าวดีที่น่าชื่นชมโสมนัส เป็นความสำเร็จ เป็นความสามารถในการกระทำของบุคคลอื่นซึ่งสามารถทำประโยชน์ แต่ว่าบางท่านอนุโมทนาได้แม้ว่าตนเองจะไม่ใช่ผู้กระทำ แต่ว่าบางท่านเนื่องจากตนเองไม่ใช่ผู้กระทำก็เลยไม่อนุโมทนา หรือว่าอนุโมทนาไม่ได้
นี่ก็เป็นสภาพความละเอียดของจิตที่แต่ละคนจะรู้จักตัวเองว่า เป็นลักษณะสภาพของขณะใด แต่ว่าถ้าพิจารณาจริงๆ แล้ว มุทิตามีความไม่ริษยา เป็นกิจ คือ เป็นรสะ และมีความจำกัดความไม่ยินดี เป็นปัจจุปัฏฐาน แสดงให้เห็นว่าแต่ก่อนนี้ไม่มุทิตา แต่พอมุทิตาเกิดกำจัดความไม่ยินดีในสมบัติของคนอื่น ในขณะที่ไม่เกิด อาจจะไม่รู้สึกตัวว่า ในขณะนั้นไม่ยินดีกับสมบัติของคนอื่น ขณะใดที่มุทิตาไม่เกิด ไม่ยินดีกับสมบัติของคนอื่น เพราะฉะนั้นเมื่อมุทิตาเกิด กำจัดความไม่ยินดีในขณะนั้นคือพลอยยินดีด้วยทันทีในขณะใด ขณะนั้นก็เป็นมุทิตาเจตสิก
ข้าศึกใกล้ของมุทิตา คือ โสมนัสด้วยโลภะ
เพราะว่าถ้าเป็นผู้ที่ใกล้ชิดแล้วก็ได้รับความสุขความสำเร็จ ความเจริญอย่างมากมาย ขณะนั้นก็จะพลอยดีใจมากมายเกินกว่ามุทิตา เพราะเหตุว่าขณะนั้นเป็นโลภะแล้ว เวลาที่ดีใจมากๆ ก็ลองพิจารณาดูว่า ยังคงเป็นมุทิตาอย่างมากขึ้น หรือว่าขณะนั้นเป็นโลภะเสียแล้ว
ข้าศึกไกล คือ ความริษยา
เพราะเหตุว่าความริษยาเกิดร่วมกับมุทิตาเจตสิกไม่ได้ ด้วยเหตุนี้มุทิตาเจตสิก มีการสงบระงับความไม่ยินดี แม้แต่รู้สึกเฉยๆ ก็คือไม่ยินดีด้วย เป็นสมบัติ มีการเกิดความร่าเริง เป็นวิบัติ
นี่ก็เป็นความละเอียดซึ่งตัตตรมัชฌัตตตาจะต้องตรงจริงๆ ที่จะพิจารณาจิตเพื่อที่จะให้เป็นกุศลยิ่งขึ้น
มีข้อสงสัยไหมในเรื่องมุทิตาพรหมวิหาร ไม่สงสัย แต่ท่านเป็นผู้ที่ยินดีง่าย หรือยินดียากในความสุขในสมบัติของบุคคลอื่น เป็นเรื่องที่ผู้ที่จะเจริญกุศลจะเพิ่มความเข้าใจตัวเองยิ่งขึ้น
สำหรับพรหมวิหารที่ ๔ คือ อุเบกขาพรหมวิหาร ซึ่งได้แก่ ตัตตรมัชฌัตตตาเจตสิก ถ้าเกิดขึ้นในชีวิตประจำวันขณะใด ขณะนั้นก็เป็นความสงบของจิต เพราะเหตุว่าเป็นกุศลจิต ลักษณะของอุเบกขาพรหมวิหาร คือ
มีความเป็นไปโดยอาการเป็นกลางในสัตว์ทั้งหลาย เป็นลักษณะ
มีความเห็นความเสมอกันในสัตว์ทั้งหลาย เป็นรสะ
มีการเข้าไปสงบระงับความยินดีและความยินร้าย เป็นปัจจุปัฏฐาน
มีความเห็นการที่สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของของตน เป็นปทัฏฐาน
คือ มีความเห็นว่าสัตว์ทั้งหลายย่อมมีกรรมเป็นของของตน ไม่ว่าสัตว์เหล่านั้นจะมีสุข หรือว่าจะพ้นจากทุกข์ จะไม่เสื่อมจากสมบัติ ก็ไม่ใช่เป็นไปตามความพอใจหรือความต้องการของใคร ขณะที่รู้ตามความเป็นจริงอย่างนี้ ขณะนั้นก็เป็นอุเบกขาพรหมวิหาร
ต่างกับขณะที่เห็นอะไรก็เฉย ใช่ไหม เพราะเหตุว่าในขณะนั้นไม่ได้รู้เลยว่า สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน ใครกำลังได้ลาภ เพราะอะไร เพราะกรรมของบุคคลนั้น ใครกำลังเสื่อมลาภ เพราะอะไร เพราะกรรมของบุคคลนั้น ใครกำลังเป็นทุกข์ ประสบความทุกข์ยากต่างๆ เพราะอะไร เพราะกรรมของบุคคลนั้น ใครกำลังประสบความสุข เพราะอะไร เพราะกรรมของคนนั้น ขณะที่รู้อย่างนี้ จิตเป็นกลางอย่างนี้ สม่ำเสมอในสัตว์ทั้งหลาย ในขณะนั้นเป็นอุเบกขาพรหมวิหาร คือ รู้ว่าสัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของของตน เพราะฉะนั้นก็เป็นกลางในสัตว์ทั้งหลายโดยไม่หวั่นไหว ไม่ยินดี ไม่ยินร้าย
ข้าศึกใกล้ของอุเบกขาพรหมวิหาร คือ อุเบกขาอาศัยเรือนในขณะที่เห็น ในขณะที่ได้ยิน ในขณะที่ได้กลิ่น ในขณะที่ลิ้มรส แล้วอุเบกขา คือ เฉยๆ โดยที่ไม่ได้พิจารณาด้วยความเป็นกลางในสัตว์ทั้งหลาย
สำหรับข้าศึกไกลของอุเบกขาพรหมวิหาร คือ โลภะและโทสะ
เพราะเหตุว่าโลภะและโทสะเกิดร่วมกับอุเบกขาพรหมวิหารไม่ได้
ผู้ฟัง ในพรหมวิหาร ๔ นี้ อุเบกขาเป็นพรหมวิหารที่สำคัญมาก อย่าไปเห็นว่า เฉยๆ แล้วไม่เอาเรื่องเอาราว เพราะอาจารย์บอกว่า จะต้องมีการพิจารณาว่า มีกรรมเป็นของของตน ความจริงก่อนศึกษาธรรม หรือเริ่มศึกษาธรรม แต่ยังไม่มีความเข้าใจมากขึ้น ขณะนั้นก็เคยพิจารณาว่า ทำไมคนนี้ถูกศาลตัดสินประหารชีวิต ทำไมคนนี้ถูกศาลตัดสินจำคุกตลอดชีวิต เราก็พิจารณาว่า เขามีกรรมเป็นของตัวแล้วเขาก็ได้รับ แต่ตอนนั้นเราก็ไม่รู้ว่า นี่คืออุเบกขาพรหมวิหาร แต่มาเดี๋ยวนี้พอฟังจากอาจารย์แล้วว่า จะต้องพิจารณาว่า สัตว์มีกรรมเป็นของของตน มีความเป็นกลางในสัตว์ แต่ผมว่าไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ เนื่องจากอุเบกขาเป็นทั้งบารมี เป็นทั้งสัมโพชฌงค์ เป็นองค์ของการตรัสรู้ได้ทีเดียว เพราะฉะนั้นผมว่าอุเบกขาสำคัญมาก และใจอย่างไรถึงจะเรียกว่าเป็นกลาง ที่เป็นกุศล ที่เป็นอุเบกขาพรหมวิหาร ที่มีอะไรลึกซึ้งกว่านี้
ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นเรื่องของการรู้แจ้งอริยสัจจธรรมไม่ใช่อุเบกขาพรหมวิหาร แต่เป็น ตัตตรมัชฌัตตตาเจตสิก ซึ่งมีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ เป็นเรื่องของการเจริญมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งต้องเป็นกลางต่อลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ทำให้ปัญญาเจริญ ขึ้น จนสามารถที่จะรู้ชัดขึ้นในสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล
เพราะฉะนั้นตัตตรมัชฌัตตตาเจตสิกจะมีหลายระดับ และอาการหนึ่งลักษณะหนึ่งก็คือเป็นอุเบกขาพรหมวิหาร ซึ่งในขณะใดที่เป็นอุเบกขาพรหมวิหาร ขณะนั้นต้องมีสัตว์บุคคลเป็นอารมณ์ แต่ในเวลาที่เป็นอุเบกขาสัมโพชฌงค์ เป็นองค์ของการตรัสรู้ ในขณะนั้นไม่ใช่มีสัตว์บุคคลเป็นอารมณ์
ถาม แล้วลักษณะของสติก็ระลึกได้หรือ
ท่านอาจารย์ ทุกอย่าง คือ ส่วนมากแล้วทุกคนจะมาถึงปัญหาที่ว่า ขณะนี้ขณะนั้นเป็นสิ่งที่สติระลึกได้ไหมในชีวิตประจำวัน เพราะเหตุว่าดูเสมือนว่า ช่างยากจริงๆ ที่สติจะระลึก เช่น ในขณะที่กำลังพูด และในขณะที่พูดนั้นก็ได้ยินด้วย เห็นด้วย คิดนึกด้วย เพราะฉะนั้นจะยากสักเพียงไร ที่จะรู้ว่า ไม่ใช่เรา เป็นแต่เพียงนามธรรมแต่ละอย่าง เพราะฉะนั้นก็จะมีปัญหาว่า ในขณะอย่างนั้น สติจะระลึกได้ไหม จะรู้ได้ไหมว่า เป็นนามธรรม ซึ่งสติจะต้องระลึกจนกว่าจะรู้ชัดจริงๆ
ผู้ฟัง ขณะพูดนี่ ต้องคิดด้วยไม่ใช่หรือคะ ต้องรู้ความหมายของคำพูดที่เราพูดออกไป
ท่านอาจารย์ ขณะนั้นก็เป็นนามธรรมที่รู้ นามธรรมหมายถึงสภาพรู้ อาการรู้ ขณะใดที่เป็นสภาพรู้ ขณะนั้นเป็นนามธรรม เราจะไม่ใช่คำว่า นามธรรมก็ได้ เพราะว่าขณะนั้นเป็นธรรมชนิดหนึ่งซึ่งเป็นอาการรู้
ผู้ฟัง มันต้องคิดนี่ถึงจะพูด
ท่านอาจารย์ ขอให้ทราบหลักหนึ่งซึ่งสำหรับบางท่านที่อาจจะยังไม่ทราบว่า เป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรมอย่างนั้นอย่างนี้ คือ คนตายไม่ได้พูด ใช่ไหม เพราะฉะนั้นคนตายก็ไม่คิดที่จะพูด และคนตายก็ไม่เห็น ถ้าเทียบกับคนตายแล้ว จะรู้ว่า คนเป็น นามธรรมเป็นสภาพที่รู้ ซึ่งคนตายไม่รู้ เพราะเหตุว่าคนตายไม่มีนามธรรม เพราะฉะนั้นคนตายไม่พูด คนตายไม่คิด คนตายไม่ได้ยิน คนตายไม่เห็น เพราะฉะนั้นขณะใดที่พูด คือ คนเป็น เพราะเป็นนามธรรม ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล แต่มีนามธรรมเกิดขึ้น
ผู้ฟัง แต่เวลาพูดนี่ จะระลึกรู้ลำบากมาก เพราะว่าต้องพูดไปด้วย
ท่านอาจารย์ ก็เป็นเรื่องที่จะต้องอบรม แต่ให้ทราบว่าความต่างกันของคนเป็นกับคนตาย คือ คนตายไม่มีนามธรรม เพราะฉะนั้นอาการอื่นทั้งหมด เช่น เห็นบ้าง คิดบ้าง เป็นนามธรรมทั้งหมด
ผู้ฟัง แล้วลักษณะของสติที่เกิดเพียงขณะจิตเดียว จะระลึกรู้ทันหรือคะ เพราะว่าเร็วมาก
ท่านอาจารย์ เวลาที่สติเกิด หมายความว่าขณะนั้นระลึกที่ลักษณะของปรมัตถธรรม ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล จึงเป็นสติปัฏฐาน แต่ว่ากว่าจะรู้ว่า ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ต้องอาศัยสติเกิดบ่อยๆ เนืองๆ ไม่ใช่เพียงครั้งเดียว เพราะเหตุว่าสติเกิดแล้วก็ดับ
ผู้ฟัง แล้วลักษณะของสติที่ระลึกอีกทีหนึ่ง ที่เราจะต้องพิจารณาว่า สติระลึกที่นามธรรมเร็วมาก
ท่านอาจารย์ โดยมากใหม่ๆ ท่านผู้ฟังจะคิดว่า นามธรรมซ้อนกันอยู่เรื่อยๆ ใช่ไหม คือ พอสติเกิดระลึกที่รูป แล้วนามธรรมก็ระลึกที่สติที่ระลึกที่รูปอีก ง่ายที่สุด คือ สติเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมใด ศึกษาพิจารณาลักษณะของสภาพธรรมนั้น เท่านั้น แล้วแต่ว่าสติจะระลึกอะไรก็ได้ทุกอย่าง
ผู้ฟัง อย่างสติที่ระลึกรู้แข็ง พอระลึกรู้แล้ว เราจะพิจารณาสติที่ระลึกรู้นั้นอีกทีหนึ่ง
ท่านอาจารย์ แล้วแต่สติจะระลึกอะไร
ผู้ฟัง มันเร็วมาก
ท่านอาจารย์ เร็วก็ไม่เป็นไร มีสติเกิดอีก มีเห็นเกิดอีก มีได้ยินเกิดอีก คือ ขณะนี้มีของจริงทั้งนั้นที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แล้วก็ดับไปด้วย เพราะฉะนั้นจะรู้อย่างนี้ได้ก็ต่อเมื่อสติเกิด ถ้าสติไม่เกิดก็ระลึกไม่ได้ รู้ไม่ได้
ผู้ฟัง ถ้าเกิดเราต้องการรู้ลักษณะของสติที่รู้ อย่างนั้นหรือ
ท่านอาจารย์ เราไม่ควรต้องการรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดโดยเฉพาะ ให้เป็นหน้าที่ของสติที่เกิด แล้วแต่สติจะระลึกอะไร
ผู้ฟัง ก็มันมีจริงนี่
ท่านอาจารย์ มีจริง แล้วใครระลึก
ผู้ฟัง สติระลึก
ท่านอาจารย์ เมื่อสติระลึก ก็แล้วแต่สติจะระลึกอะไร ไม่ต้องไปจัดการให้สติ
ผู้ฟัง แต่ถ้าอยากจะรู้ให้ทั่วถึง
ท่านอาจารย์ ที่อยากจะรู้นั่น เป็นสติหรือเปล่า ไม่ใช่ เพราะฉะนั้นก็ทิ้งไป ขณะนั้นเป็นความต้องการ เป็นความอยาก ไม่ใช่ขณะที่สติระลึก เพราะฉะนั้นที่จะรู้ว่าไม่ใช่ตัวตน ต้องขณะที่สติระลึก ไม่ใช่ขณะที่อยาก แล้วแต่สติจะระลึกลักษณะของสภาพธรรมใด
ผู้ฟัง ถ้าระลึกรู้ไม่ได้ ทำอย่างไรคะ อาจารย์
ท่านอาจารย์ ระลึกรู้อะไรไม่ได้คะ
ผู้ฟัง ลักษณะของสติที่ระลึกรู้
ท่านอาจารย์ สติระลึกได้ทุกอย่างที่กำลังปรากฏ ขณะนี้ระลึกทางตา ได้ไหม ทางหู ค่อยๆ ระลึกไปเรื่อยๆ
เป็นเรื่องที่จะต้องอบรมเจริญตลอดชีวิต ไม่ใช่เฉพาะชาติเดียว เพราะเหตุว่ากว่าจะไถ่ถอนความเป็นตัวตน โดยที่ต้องรู้ก่อนว่า กำลังเห็นเป็นตัวตนอย่างไร เป็นตัวตนเพราะกำลังเห็นสัตว์ บุคคล วัตถุสิ่งต่างๆ ซึ่งขณะนั้นจะต้องรู้ว่า ไม่ใช่เห็น เป็นคิด เพราะฉะนั้นต้องแยกออกทีละทวารตามความเป็นจริง ค่อยๆ อบรมเจริญไปเรื่อยๆ
ถาม ถ้าเห็น ระลึกที่เห็น ระลึกตรง อันนี้เป็นตัตตรมัชฌัตตตาไหม
ท่านอาจารย์ แน่นอน
ผู้ฟัง เมื่อสักครู่ผมเข้าใจผิด นึกว่าอุเบกขาพรหมวิหารเป็นอันเดียวกับอุเบกขาสัมโพชฌงค์ อาจารย์ก็กรุณาชี้แจงแล้ว ทีนี้อุเบกขาบารมีที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าบำเพ็ญนั้น เป็นอย่างไรบ้าง
ท่านอาจารย์ ตัตตรมัชฌัตตตานั่นเอง เป็นเจตสิกซึ่งมีลักษณะอาการ แล้วแต่จะเกิดกับจิตขณะไหน ถ้าขณะใดที่ไม่ใช่สติปัฏฐาน แต่ขณะนั้นกำลังมีสัตว์ บุคคลเป็นอารมณ์ ก็เป็นอาการของอุเบกขาพรหมวิหาร
ในชีวิตประจำวันสามารถที่จะรู้ได้ว่า มีเมตตา หรือกรุณา หรือมุทิตา หรืออุเบกขา ถ้าอุเบกขายังไม่เคยมีเลย ก็เริ่มที่จะมีอุเบกขา โดยเห็นกรรมของสัตว์ทั้งหลาย สามารถที่จะช่วยใครก็ได้ แต่ว่าขณะนั้นรู้ถึงกรรมของบุคคลนั้นด้วย จึงเป็นผู้ที่เป็นกลาง ไม่หวั่นไหว ไม่ว่าจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จ จะช่วยได้หรือช่วยไม่ได้ ต้องแล้วแต่กรรม ขณะที่รู้ว่า สัตว์ทั้งหลายย่อมเป็นไปตามกรรม ขณะนั้นก็ไม่หวั่นไหว จึงเป็นอุเบกขาพรหมวิหาร
เพราะฉะนั้นสำหรับอุเบกขาพรหมวิหารในชีวิตประจำวันที่ค่อยๆ อบรมเจริญไปทีละเล็กทีละน้อย จะมีกำลังขึ้น แต่ว่ายังไม่ถึงกับอัปปนาสมาธิ ถึงความมั่นคงที่จะสงบจนกระทั่งเป็นฌานจิต เพราะเหตุว่าสำหรับพรหมวิหาร ๔ เมตตาพรหมวิหาร กรุณาพรหมวิหาร มุทิตาพรหมวิหารจะทำให้บรรลุถึงปฐมฌาน (ฌานที่ ๑) ทุติยฌาน (ฌานที่ ๒) ตติยฌาน (ฌานที่ ๓) จตุตถฌาน (ฌานที่ ๔) โดยปัญจกนัย แต่จะไม่ถึงปัญจมฌาน เฉพาะอุเบกขาพรหมวิหารเดียวเท่านั้นที่จะถึงปัญจมฌาน หลังจากที่เจริญเมตตาพรหมวิหาร หรือกรุณาพรหมวิหาร หรือมุทิตาพรหมวิหาร จนถึงจตุตถฌานแล้ว ฌานขั้นต่อไปจึงจะเจริญอุเบกขาพรหมวิหารเป็นปัญจมฌานได้ แต่ถ้าคนนั้นเจริญกสิณ หรือว่าอารมณ์ของสมถกัมมัฏฐานอารมณ์อื่นๆ ไม่สามารถจะให้อุเบกขาปัญจมฌานพรหมวิหารเกิดได้ ที่จะเป็นอุเบกขาพรหมวิหารถึงขั้นปัญจมฌานได้ ต้องต่อจากเมตตาพรหมวิหาร กรุณาพรหมวิหาร มุทิตาพรหมวิหาร ซึ่งถึงจตุตถฌาน แล้วถึงจะเจริญอุเบกขาพรหมวิหารเป็นปัญจมฌานได้
เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่า วันหนึ่งๆ อาจจะเป็นเมตตามาก หรือว่าบางท่านก็เป็นกรุณามาก บางท่านก็เป็นมุทิตามาก แต่ก็ควรจะพิจารณาถึงอุเบกขาพรหมวิหารด้วย ซึ่งถ้าเห็นสัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของของตน ก็จะทำให้จิตใจละคลายความเศร้าหมองลงไปได้มากทีเดียว ไม่ว่าจะสุขจะทุกข์อย่างไรก็ชั่วขณะที่กรรมนั้นๆ ให้ผลเท่านั้นเอง
- โสภณธรรม ครั้งที่ 051
- โสภณธรรม ครั้งที่ 052
- โสภณธรรม ครั้งที่ 053
- โสภณธรรม ครั้งที่ 054
- โสภณธรรม ครั้งที่ 055
- โสภณธรรม ครั้งที่ 056
- โสภณธรรม ครั้งที่ 057
- โสภณธรรม ครั้งที่ 058
- โสภณธรรม ครั้งที่ 059
- โสภณธรรม ครั้งที่ 060
- โสภณธรรม ครั้งที่ 061
- โสภณธรรม ครั้งที่ 062
- โสภณธรรม ครั้งที่ 063
- โสภณธรรม ครั้งที่ 064
- โสภณธรรม ครั้งที่ 065
- โสภณธรรม ครั้งที่ 066
- โสภณธรรม ครั้งที่ 067
- โสภณธรรม ครั้งที่ 068
- โสภณธรรม ครั้งที่ 069
- โสภณธรรม ครั้งที่ 070
- โสภณธรรม ครั้งที่ 071
- โสภณธรรม ครั้งที่ 072
- โสภณธรรม ครั้งที่ 073
- โสภณธรรม ครั้งที่ 074
- โสภณธรรม ครั้งที่ 075
- โสภณธรรม ครั้งที่ 076
- โสภณธรรม ครั้งที่ 077
- โสภณธรรม ครั้งที่ 078
- โสภณธรรม ครั้งที่ 079
- โสภณธรรม ครั้งที่ 080
- โสภณธรรม ครั้งที่ 081
- โสภณธรรม ครั้งที่ 082
- โสภณธรรม ครั้งที่ 083
- โสภณธรรม ครั้งที่ 084
- โสภณธรรม ครั้งที่ 085
- โสภณธรรม ครั้งที่ 086
- โสภณธรรม ครั้งที่ 087
- โสภณธรรม ครั้งที่ 088
- โสภณธรรม ครั้งที่ 089
- โสภณธรรม ครั้งที่ 090
- โสภณธรรม ครั้งที่ 091
- โสภณธรรม ครั้งที่ 092
- โสภณธรรม ครั้งที่ 093
- โสภณธรรม ครั้งที่ 094
- โสภณธรรม ครั้งที่ 095
- โสภณธรรม ครั้งที่ 096
- โสภณธรรม ครั้งที่ 097
- โสภณธรรม ครั้งที่ 098
- โสภณธรรม ครั้งที่ 099
- โสภณธรรม ครั้งที่ 100