โสภณธรรม ครั้งที่ 073


    ตอนที่ ๗๓

    นิภัทร มันไม่รู้ จะเป็นเพราะเราไม่เคยคิด ไม่เคยช่ำชอง แต่กลับไปแปลเสียจนเป็นเรื่องเป็นราวยืดยาว การที่จะให้รู้ให้เข้าใจสิ่งที่ปรากฏทางตาจริงๆ มันช่างยากเย็นจริงๆ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นประโยชน์ของการฟังพระธรรม ก็เพื่อที่จะได้พิจารณาแล้วก็เข้าใจ แล้วสติปัฏฐานก็จะได้เกิดจนกว่าจะรู้จริงๆ ว่า ขณะที่เห็น ไม่มีสัตว์บุคคลอะไรเลย แต่หลังจากที่เห็นแล้ว ขณะที่แปลคือรู้ว่าสิ่งที่เป็นสีสันต่างๆ นั้นเป็นใคร หรือว่าเป็นวัตถุสิ่งใด ถ้าสามารถที่จะระลึกศึกษาอย่างนี้ ก็แยกทางจักขุทวารกับทางมโนทวารออกได้

    นิภัทร และในขณะที่แปล สมมติว่าเราเห็นพระพุทธรูป ก็เราก็รู้ว่าเป็นพระพุทธรูปองค์นี้สวยงาม ปางนั้นปางนี้ ขณะที่เลยไปแล้ว เลยถึงสิ่งที่ปรากฏทางตาไปแล้ว เลยไปถึงขั้นคิดเป็นเรื่องราวแล้ว ขณะนั้นสติจะมีโอกาสเกิดได้หรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ สติสามารถจะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมทุกอย่างในชีวิตประจำวัน จึงจะเป็นอริยสัจจธรรมได้ เพราะเหตุว่าสภาพธรรมทั้งหมดไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล มีลักษณะจริงๆ ปรากฏให้ปัญญาศึกษาจนกว่าจะรู้แจ้ง ถ้าไม่ใช่คำว่า “แปล” บางท่านไม่มีโอกาสจะรู้เลยว่า ขณะนี้ กำลังเห็นเป็นขณะหนึ่ง และที่รู้ว่าเป็นใครเป็นอีกขณะหนึ่ง แต่พอใช้คำว่า “แปล” เริ่มจะเข้าใจแล้วใช่ไหม

    นิภัทร ผมรู้สึกประทับใจที่ได้ยินอาจารย์ใช้คำว่า “แปล” เพราะรู้สึกว่าเราช่างเป็นนักแปลเสียจริงๆ แปลวิจิตรพิสดารจนกระทั่งไม่รู้ว่า สิ่งที่ตัวแปลนั้นคืออะไร มันเลยไปเสียหมด อันนี้เป็นสิ่งที่ยากจริงๆ แล้วจะมีวิธีที่จะทำให้สติเราระลึกถูกต้องตามที่สิ่งที่ปรากฏทางตา ปรากฏทางหูจริงๆ สติของเรามันช้า หรือมันไม่เกิด นอกจากฟังแล้ว กระผมก็ยังมองไม่เห็นว่า จะมีวิธีไหน แต่ก็ฟังมาหลายปีแล้ว ก็ยังไม่เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาสักทีหนึ่ง ก็เห็นแต่คน แต่สัตว์ สิ่งของอยู่อย่างนี้ เมื่อไรจะเห็นสักที

    ท่านอาจารย์ อดทน มีทางเดียว ไม่มีทางอื่นเลย เพราะเหตุว่าต้องเป็นปัญญาที่รู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ด้วยสติ พร้อมสติที่ระลึกแล้วก็ค่อยๆ ศึกษาสังเกตรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ

    อดิศักดิ์ คือเหตุที่แปลไปในทางเป็นตัวเป็นตน แปลเป็นบัญญัตินั้นก็เพราะเรายังไม่เคยชิน เราเคยชินกับที่เราจะแปลไปในทางนั้น เพราะฉะนั้นก็ต้องเพิ่มความรู้ คือ มีปัญญาเพิ่มขึ้นมา ที่จะแปลว่าสิ่งที่ปรากฏทางตา หรือสิ่งที่ปรากฏทางหู คุณนิภัทรถามว่ามาตั้งแต่กี่ชาติแล้ว สรุปก็คืออวิชชานั่นเอง เรายังไม่คุ้นเคยกับสภาพธรรม ถ้าเราคุ้นเคยกับสภาพธรรม เวลานี้ที่เรามาศึกษา มาฟังจากที่อาจารย์พร่ำสอนมานี่ เราได้เริ่มแล้ว ก็เหมือนกับได้จับด้ามมีดแล้ว ตัวเองก็ต้องเตือนตัวเองด้วย ไปเตือนคนอื่น เดี๋ยวก็หลงไปเหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ ถ้าเข้าใจว่า ในขณะที่กำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นขณะหนึ่ง แล้วเวลาที่รู้ความหมายของสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นอีกขณะหนึ่ง ซึ่งเท่ากับแปลสีต่างๆ ถ้าเข้าใจอย่างนี้จะเป็นโอกาสให้สติระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏก่อนแปลได้ว่า ก่อนแปลก็เป็นแต่เพียงสี เวลานี้มีแต่สี ยังไม่ต้องแปล แต่ว่าเวลาแปลออกมาแล้ว สีนี้เป็นคนนั้น สีนั้นเป็นคนนี้ นั่นคือเรื่องของความคิด โลกของความคิด ซึ่งทุกคนอยู่ในโลกของความคิดมานาน จนกระทั่งไม่ได้รู้ความจริงเลยว่า แท้ที่จริงแล้วสภาพธรรมเกิดแล้วก็ดับไป แต่เพราะเหตุว่าสติไม่ได้ระลึกที่ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดแล้วดับ มัวแต่พะวงแปล คิดเป็นเรื่องราวต่างๆ จึงไม่ประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง

    ณรงค์ ถ้าเผื่อว่ากำลังระลึกในขณะที่ยังไม่ได้แปลความหมายของสิ่งที่ปรากฏทางตา ถ้าขณะนั้นสติระลึก จะระลึกศึกษาลักษณะของรูปธรรมที่ปรากฏได้อย่างเดียว หรือสามารถที่จะระลึกศึกษาได้ทั้งรูปธรรมและนามธรรมที่กำลังรู้สีนั้นด้วย

    ท่านอาจารย์ ทีละขณะ ถ้าสติระลึกลักษณะของสภาพรู้ คือรู้ว่าในขณะนี้ที่สีสันวัณณะปรากฏเพราะมีลักษณะที่รู้ซึ่งกำลังเห็น หรือกำลังรู้สิ่งที่ปรากฏ นี่คือพิจารณาสภาพที่เป็นนามธรรมซึ่งกำลังรู้ กำลังเห็น สีสันวัณณะจึงปรากฏ แต่เวลาที่จะพิจารณาลักษณะของรูปธรรมทางตา ก่อนที่จะแปลก็รู้ว่า เป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาจริงๆ ลองพิจารณาให้ถึงความถ่องแท้ของสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาก่อนแปลว่า เป็นอย่างนั้นจริงๆ หรือเปล่า ต้องเป็นอย่างนั้นแน่นอน แล้วถึงจะคิดนึกแปลเป็นบุคคลต่างๆ

    ณรงค์ ขณะที่สติเกิด ก็เป็นคนละขณะกับสภาพธรรมกำลังปรากฏ สมมติว่าสภาพธรรมกำลังปรากฏ แล้วต่อมาเราก็แปลว่าเป็นบุคคลนั้น แปลว่าเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ แต่ก่อนที่จะแปลนั้น ก็เป็นเพียงสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทวารต่างๆ แต่เวลาที่สติจะเกิดระลึกก็ต้องเป็นอีกคนละขณะหนึ่ง

    ท่านอาจารย์ คนละวาระ

    ณรงค์ ทีนี้เวลาสติเกิดขึ้น ก็ต้องระลึกลักษณะของสภาพธรรม แล้วแต่ว่าจะระลึกรู้ที่รูปธรรมหรือนามธรรม และอารมณ์ที่จะเป็นอารมณ์ของสติปัฏฐานได้ก็ต้องเป็นปรมัตถอารมณ์ ก็ต้องเป็นส่วนที่ยังไม่ได้แปล ทีนี้เวลาที่สติหวนระลึกถึงสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะที่ยังไม่ได้แปลความหมายนั้น จะสามารถสังเกตลักษณะของนามธรรมที่กำลังรู้

    ท่านอาจารย์ นามธรรมเป็นสภาพรู้ ซึ่งจะเป็นอารมณ์ของสติปัฏฐานได้ในขณะที่มีการเห็น ในขณะที่มีการได้ยิน ขณะที่มีการได้กลิ่น ขณะที่มีการลิ้มรส ขณะที่มีการรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ขณะที่คิดนึก ๖ ทาง ๖ ทวาร กำลังนอนหลับสนิท ไม่มีทาง ถึงแม้จะมีนามธรรมเกิดดับ แต่สติก็ระลึกไม่ได้ ปัญญาก็รู้ชัดไม่ได้ในขณะที่หลับสนิท แต่ว่าจะรู้ชัดว่ามีนามธรรมก็เมื่อเห็น ขณะนี้ที่กำลังเห็น และก็จะเห็นต่อไปอีกกี่ภพกี่ชาติก็จะต้องมีการเห็น ซึ่งถ้าไม่ได้ฟังพระธรรมจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย ไม่มีโอกาสสักขณะเดียวที่จะระลึกได้ว่า ขณะนี้เป็นเพียงสภาพรู้ หรือเป็นธาตุรู้ เป็นอาการรู้อย่างหนึ่ง ซึ่งคนตายไม่มี ถ้าเทียบกับคนตายก็พอจะเห็นได้ใช่ไหมว่า ขณะนี้ต้องเป็นธาตุรู้ แต่ธาตุรู้นี่ปิดบัง เพราะเหตุว่าสติไม่เคยระลึก และดับไปอย่างรวดเร็วด้วย แล้วก็มีแต่ความคิดนึกกับอัตตสัญญา คือ ความทรงจำในสิ่งที่ปรากฏว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด บุคคลหนึ่งบุคคลใดอยู่ตลอดเวลา ซึ่งจะต้องละคลายด้วยอนัตตสัญญา ซึ่งจะค่อยๆ เกิดขึ้นด้วยการที่สติระลึกศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ จนกว่าจะรู้ชัดจริงๆ ว่า ทางตา สิ่งที่ปรากฏจะต้องเป็นแต่เพียงสีเท่านั้น ถ้าไม่อย่างนั้นจะไม่มีทางละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลเลย

    บุญเติม การที่พูดถึงเรื่องการระลึกรู้ว่า การทำงานของจิตที่มีสภาวธรรมที่รวดเร็วเหลือเกินจนกระทั่งไม่รู้เลย ขณะที่เราเห็นพระพุทธรูป ก็แปลออกมาเร็วมากจนกระทั่งจากเห็นแล้วไปรู้ที่เป็นขณะ ความจริงขณะนี่ห่างกันมาก แต่ว่าไปได้เร็วเหลือเกิน อันนี้ผมขออนุญาตเรียนเสริมว่า ถ้าใครเคยศึกษาเรื่องระบบเรดาร์ในปัจจุบัน เราจะพอเข้าใจบ้างว่า ความจริงจิตก็มีลักษณะคล้ายๆ คลื่น เท่าที่ผมลองสังเกตดู พอเครื่องบินบินขึ้นเข้ามาในย่านขนาดคลื่นของเรดาร์จะรับได้ พอรับแล้วกระทบ บนจอเรดาร์จะเห็นว่าเป็นจุด คือ เห็นเท่านั้น แต่ยังไม่รู้ ยังไม่แปล และหลังจากชั่วระยะหนึ่งมีข้อมูลต่างๆ เข้ามา อันนี้จิตที่ทำหน้าที่แปลนี่เร็วมาก จะบอกได้ทันทีว่านี่เป็นอะไรที่มาปรากฏบนจอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครื่องมือวิทยาศาสตร์สมัยปัจจุบันที่เราจะเห็นว่ามีข้อมูลขึ้นมาแบบคอมพิวเตอร์ เป็นข้อมูลเดิม ซึ่งจิตเราเก็บอยู่แล้ว มีอยู่แล้ว จะขึ้นมาเปรียบเทียบให้เห็นทันที แล้วสภาพรู้ก็จะออก แต่รู้อันนี้ก็เป็นแต่เพียงรู้ตามที่มันเกิดมา และตามที่มีสัญญาหรือความจำข้อมูลเดิมอยู่ ข้อมูลทางใจอยู่ในลักษณะนั้น เพราะฉะนั้นขณะเห็นกับขณะรู้จะห่างกันหน่อย แต่ความจริงเราเห็นพระพุทธรูปก็ขณะเดียวกัน แยกไม่ออก แต่ความจริงเป็นขณะๆ อยู่

    อันนี้ผมอยากจะเรียนว่า ความรู้ทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ ก็พอจะมองเห็นว่าการทำงานเป็นสเต็ปๆ เหมือนกัน เพราะฉะนั้นจิตนี้จึงพิสดาร และเป็นเรื่องที่พระพุทธองค์ได้ทรงค้นพบมานานเหลือเกิน วิทยาศาสตร์ยังตามไม่ทัน

    ท่านอาจารย์ ขอบพระคุณ

    ไม่ทราบท่านผู้ฟังยังมีข้อสงสัยอะไรอีกหรือเปล่า

    บางท่านก็คิดว่า แสนกัปป์นี่แสนนาน แต่ว่าทุกท่านก็ได้มีชีวิตมาแล้วแสนโกฏิกัปป์ คือ ไม่มีคำที่จะไปใช้อธิบายว่า นานมากน้อยแค่ไหน เพราะฉะนั้นเมื่อแสนโกฏิกัปป์ผ่านมาได้จนถึงเดี๋ยวนี้ แล้วก็ขณะนี้จะผ่านไปถึงแสนโกฏิกัปป์ไม่ได้หรือ ในเมื่อแสนโกฏิกัปป์ก็ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน เพราะฉะนั้นจากปัจจุบันก็จะค่อยๆ ผ่านไปทีละขณะๆ ๆ โดยไม่รู้ตัวเลย แต่ละขณะที่ผ่านไปไม่รู้ แต่ว่าแต่ละขณะที่ผ่านไปเต็มไปด้วยความต้องการ อยากเห็นสิ่งต่างๆ ซึ่งยังไม่เคยเห็น อยากได้ยินเสียงต่างๆ อยากได้กลิ่นใหม่ๆ อยากได้รสใหม่ๆ อยากรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสเรื่อยๆ อยากคิดนึกเป็นเรื่องเป็นราวต่างๆ เพราะฉะนั้นเมื่อมีความอยากซึ่งเป็นเหตุที่จะให้เกิดขณะข้างหน้าต่อไปตราบใด แสนโกฏิกัปป์ข้างหน้าเป็นไปได้ไหม ถ้าปัญญาไม่เจริญจนสามารถที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จนกระทั่งสามารถที่จะดับกิเลสได้จริงๆ ทุกคนก็จะถึงแสนกัปป์ข้างหน้าโดยไม่รู้ตัว เหมือนแต่ละขณะที่ผ่านไปในขณะนี้โดยไม่รู้ตัว แต่เมื่อมีเหตุที่จะให้เกิดชาติหน้าและชาติต่อๆ ไป เพราะยังมีความต้องการอยู่ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แสนกัปป์ข้างหน้าก็ต้องมีแน่นอน

    นิภัทร เราเกิดมากี่โกฏิกี่แสนกัปป์ เราก็ไม่สามารถที่จะรู้ได้ แต่ว่าพอเราไม่ได้ฟังธรรม ใจมันร้อน มันอยากจะรู้อะไรเร็วๆ อยากจะเอาให้ได้ในชาตินี้ การคิดอย่างนี้ผมก็เข้าใจว่า ไม่ใช่หนทางที่ถูกแน่ๆ เพราะว่าอยากได้ ก็ไม่ใช่สติแล้ว ก็เป็นโลภะแล้ว เป็นอกุศลไปแล้ว ทีนี้เราจะทำอุบายอย่างไร ไม่ให้เราใจรีบร้อนจนกระทั่งอยากจะได้สำเร็จมรรคผลในชาตินี้ ซึ่งตามประวัติพระสาวกอย่างท่านพระอัญญาโกณฑัญญะตอนที่ท่านถวายข้าวที่ตั้งท้องอ่อนๆ นับตั้งแต่พระวิปัสสีจนกระทั่งถึงพระโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราก็ ๗ พระองค์ ก็รู้สึกว่าท่านไม่ได้เดือดร้อนอะไรเลยที่ว่าจะต้องสำเร็จสมัยนั้นสมัยนี้ แต่พอถึงคราวถึงโอกาสท่านก็สำเร็จเอง แต่ใจของกระผมเองรู้สึกว่ามันรีบร้อนเหลือเกิน คล้ายๆ กับว่าเราตายจากชาตินี้ก็ไม่รู้ว่าจะไปเป็นอะไร ไม่มีหลักประกันอะไร

    ท่านอาจารย์ ถ้าจะเปลี่ยนจากความอยาก เป็นการค่อยๆ เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมขึ้น แม้เพียงในการฟัง ฟังครั้งแรกอาจจะยังไม่เข้าใจละเอียด แล้วเมื่อได้ฟังต่อๆ ไป พิจารณาต่อไป เข้าใจละเอียดขึ้น แค่นี้ก็เป็นฉันทะ เป็นความที่ควรจะพอใจแล้ว ใช่ไหม ที่ว่าปัญญาเจริญขึ้นแม้ในการฟัง ในการฟังก็ยังเข้าใจขึ้นแล้ว เพราะฉะนั้นเรื่องของวิปัสสนาญาณต่างๆ จะเกิดเป็นไปไม่ได้เลยถ้าไม่มีความเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ซึ่งต้องอาศัยตั้งแต่ขั้นการฟัง

    เพราะฉะนั้น ขณะใดที่ฟังแล้วเข้าใจก็เป็นบันไดเป็นสังขารขันธ์ที่จะปรุงแต่งให้สัมมาสติเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรม เพราะฉะนั้นก็พอใจตั้งแต่ในขั้นฟังแล้วเข้าใจ ซึ่งแต่ก่อนไม่เคยเข้าใจ หรือไม่เคยฟัง หรือว่าฟังยังน้อยอยู่ ความเข้าใจก็น้อย เมื่อฟังมากขึ้น ความเข้าใจก็เพิ่มขึ้น

    นี่ก็ควรเป็นที่น่าพอใจแล้ว ใช่ไหม คือ พอใจที่จะเข้าใจดีกว่าอยากที่จะถึง ไม่ทราบจะถึงได้อย่างไร และจะถึงอะไรถ้าไม่เข้าใจ ถูกไหม ถ้าไม่เข้าใจจะถึงอะไร อย่างนิพพาน ถ้าไม่เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แล้วจะถึงนิพพานอะไร นิพพานชนิดไหน นิพพานที่ไม่รู้เรื่อง นิพพานที่ไม่รู้ว่าคืออะไร เพราะฉะนั้นแทนที่จะไปหวังไกล เพียงเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมในชีวิตประจำวันเพิ่มขึ้น นั่นคือประโยชน์ เพราะเหตุว่าจะทำให้สัมมาสติเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ

    ถ้าใครก็ตาม ระหว่างผู้ที่ฟังน้อยแล้วก็เข้าใจน้อย กับผู้ที่ฟังมากและเข้าใจมาก ทั้ง ๒ คน สติยังไม่เกิด สติปัฏฐานยังไม่เกิด แต่ว่าคนหนึ่งก็ยังคงฟังน้อยๆ และอีกคนหนึ่งก็ฟังและพิจารณาเข้าใจในอรรถเพิ่มขึ้น ซึมซาบมากขึ้น เวลาที่สติของ ๒ บุคคลนี้เกิด จะมีความต่างกันไหม สติของคนที่ได้ฟังมาก เข้าใจมากเรื่องของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ โดยนัยต่างๆ แล้วก็พิจารณาตาม สามารถที่จะเข้าใจในอนัตตสัญญาได้ กับอีกคนหนึ่งก็ฟังน้อยๆ ฟังแล้วก็ไม่ค่อยจะพิจารณาในเรื่องเหตุเรื่องผลให้ถูกต้อง แต่เวลาที่สติของคนนั้นเกิดกับสติของคนที่ฟังมากๆ เข้าใจมากๆ เกิด ต้องต่างกัน

    เพราะฉะนั้นไม่ต้องห่วงเรื่องสติปัฏฐานจะเกิดเมื่อไร จะเกิดน้อยหรือจะเกิดมาก แต่ต้องสะสมเครื่องปรุงที่จะให้เกิดปัญญาที่สามารถที่จะรู้ชัด ที่สามารถจะละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล

    ด้วยเหตุนี้พระผู้มีพระภาคจึงทรงสรรเสริญการฟังด้วยดี คือ ฟังให้เข้าใจในลักษณะของสภาพธรรมให้ถูกต้องให้ตรงตามความเป็นจริง เพราะเหตุว่าเวลาที่สติปัฏฐานเกิด ยังสามารถที่จะพิจารณารู้ได้แจ่มแจ้งชัดเจน เมื่อถึงกาลที่สมควร แต่ว่าอย่าลืมแสนโกฏิกัปป์ที่จะมาถึงขณะนี้ก็ค่อยๆ ผ่านไปโดยไม่รู้ตัวทีละขณะฉันใด ขณะนี้ก็กำลังจะก้าวไปสู่อีกแสนโกฏิกัปป์ข้างหน้า หรืออาจจะเป็นอีกแสนกัปป์ข้างหน้า หรืออาจจะเป็นหมื่นกัปป์ข้างหน้า หรืออาจจะเป็นสองกัปป์ข้างหน้า ก็แล้วแต่การสะสมปัญญาของผู้ที่ได้ฟังมาก เป็นพหูสูต เพราะว่าทุกคนที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องเป็นพหูสูต หรือแม้แต่พระผู้มีพระภาคเองก่อนที่จะตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ต้องทรงเป็นพหูสูตมาก่อน คือ ต้องเป็นผู้ที่ได้ฟังแล้วแล้วต้องเข้าใจสิ่งที่ฟัง แม้ว่าปัญญายังไม่ประจักษ์ เช่น ในขณะนี้แม้ว่าจะได้ฟังว่า สิ่งที่ปรากฏทางตา จะเป็นอื่นใดไปไม่ได้ นอกจากเพียงสีสันวัณณะต่างๆ ที่กำลังปรากฏเท่านั้นเอง

    เพียงเท่านี้ก็จะสะสมเป็นปัจจัย วันดีคืนดีโอกาสเหมาะ สังขารขันธ์ปรุงแต่ง สติก็จะระลึก แล้วก็จะรู้จริงๆ ว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาในขณะที่ไม่ได้คิดนึก ก็คืออย่างนี้เอง หลังจากนั้นเมื่อคิดจึงจะเป็นบุคคลนั้นบุคคลนี้ หรือวัตถุนั้นวัตถุนี้ เป็นเรื่องราวต่างๆ สามารถจะแยกโลกของปรมัตถธรรมกับบัญญัติธรรมออกได้ มิฉะนั้นแล้วก็จะปะปนกัน ถ้าตราบใดที่บัญญัติยังปกปิดปรมัตถ์ ตราบนั้นก็ไม่สามารถที่จะเข้าถึงสภาพที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    เพราะฉะนั้นก็จะเห็นประโยชน์ของการฟัง การพิจารณา และการอบรมเจริญ

    สติปัฏฐานไปเรื่อยๆ โดยประโยชน์อยู่ที่การเข้าใจลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ เพื่อเมื่อสติเกิดระลึกก็จะได้มีสังขารขันธ์ที่จะปรุงแต่ง ที่จะเข้าใจได้ อาจจะเป็นทันที ซึ่งไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้ เพราะมิฉะนั้นท่านพระพาหิยทารุจีริยะคงจะไม่สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้โดยรวดเร็ว จนกระทั่งเป็นเอตทัคคะ แต่ว่าการที่ท่านจะเป็นเอตัคคะที่จะรู้แจ้งสภาพธรรมได้รวดเร็ว ก็จะต้องอาศัยเหตุปัจจัยคือการอบรมเรื่องของความเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมทั้งโดยขั้นของการฟัง ซึ่งเป็นสุตตามยญาณและขั้นสังวรซึ่งเป็นสีลมยญาณและในขั้นของการสำรวม เจริญสติปัฏฐาน เป็นภาวนามยญาณ จนกว่าจะบรรลุถึงวิปัสสนาญาณแต่ละขั้น เพราะฉะนั้นไม่ต้องกังวลถึงนามรูปปริจเฉทญาณ

    อัลลัน อยากจะให้กำลังใจนิดหน่อย เพราะว่าแม้แต่ผมทุกวันนี้ไม่ลืมที่จะมาฟังที่นี่ แทบทุกๆ วันอาทิตย์ ผมก็พอใจมาก เพราะรู้ว่าเป็นเหตุปัจจัยที่จะทำให้ปัญญาค่อยๆ เพิ่มขึ้น ขอบคุณ

    ท่านอาจารย์ ขออนุโมทนา เป็นผู้ที่เห็นประโยชน์ของการฟัง

    อดิศักดิ์ การสั่งสมเหตุเป็นสิ่งที่ควร ที่ถูกต้อง การสะสมเหตุที่ถูกต้องเพื่อจะนำไปสู่การรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ผมอยากจะให้ข้อคิดนิดหนึ่งว่า สมัยก่อนที่เราจะมาฟังเรื่องสติปัฏฐาน หรือก่อนที่จะมาศึกษาธรรม ตอนนั้นไม่เคยห่วงเลยว่า อยากจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม เพราะไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ตอนนั้นก็มีแต่ความสนุกเพลิดเพลินในชีวิตประจำวัน ไม่เคยอยากจะไปสู่พระนิพพานเลย หรือถึงพระนิพพานเร็วๆ ตอนนั้นไม่ห่วงแบบมีโมหะ แต่ตอนนี้อยากไปเร็วๆ แบบก็พอมีปัญญาบ้างแล้ว ก็มีประโยชน์กว่าตอนสมัยที่ไม่ได้ศึกษา

    ท่านอาจารย์ เข้าใจแล้วก็อย่าติด คืออย่าอยากถึงเท่านั้นเอง ในเมื่อรู้ว่าปัญญาจะต้องอบรมไปจนกว่าจะถึงความสมบูรณ์ของปัญญาแต่ละขั้น ก็อย่าใจร้อนที่จะรีบไปถึง เพียงแต่ขอให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม แล้วก็ให้เข้าใจจริงๆ ว่า วิปัสสนาญาณจะเกิดได้ก็ต่อเมื่อเหตุสมควรแก่ผล ถ้าไม่มีการระลึกลักษณะของสภาพธรรม และศึกษาสังเกตรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมเพิ่มขึ้น จนกระทั่งมีความมั่นคงจริงๆ แล้ว นามรูปปริจเฉทญาณจะเกิดได้อย่างไร เพียงแต่หวังรอ แล้วก็หวังคอย แล้วก็คิดว่า นิดๆ หน่อยๆ อย่างนี้จะเป็นนามรูปปริจเฉทญาณหรือยัง

    ไม่ต้องใจร้อน หรือคิดเทียบหวัง เพียงแต่ให้เป็นผู้ตรงที่จะรู้ว่าความเข้าใจลักษณะของนามธรรม โดยที่ไม่ใช่ขั้นคิดเป็นคำว่า นามธรรมเป็นธาตุรู้ เป็นสภาพรู้ เป็นอาการรู้ แต่รู้จริงๆ ในขณะที่สติเกิด แล้วก็รู้ว่าธาตุรู้คืออย่างนี้ที่กำลังเห็น

    นิภัทร กระผมติดนิสัยที่เคยบวชมาก่อน ตอนบวชก็ไปนั่งเจริญภาวนาอยากให้ได้บรรลุมรรคผล นั่งกันเป็นวันๆ ทีนี้ตอนมาศึกษาธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้ฟังอาจารย์มาตั้งแต่ต้น ก็มารู้ได้ว่า การที่จะรู้ธรรม ไม่ใช่ไปนึก นั่งภาวนาเอาแน่ๆ จะต้องมีการศึกษาสังเกตใส่ใจ รู้สภาวะลักษณะของธรรมต่างๆ โดยเป็นสัจจญาณ คือ โดยความจริงของธรรมนั้นๆ ไม่ใช่เป็นแบบไปนั่งนึกเอา ถ้าความเข้าใจ ความเห็นยังไม่ถูกต้องเมื่อไร จะไปนั่งนึกนั่งภาวนา พุทโธ ธัมโม สังโฆ กี่ชาติก็ไม่มีทางที่จะได้บรรลุแน่ๆ

    อันนี้กระผมมาเข้าใจตอนหลัง แต่ว่านิสัยที่เคยอยากจะได้อะไรโดยไปนั่ง ไปคิดเอา ก็ยังมีติดอยู่ ทั้งๆ ที่ได้มาฟังแล้วก็ยังติดมา

    เพราะฉะนั้นอันนี้เป็นเครื่องเตือนใจว่า ธรรมไม่ใช่เป็นเรื่องที่จะมานั่งคิดเอาตามชอบใจว่า เหตุอย่างนั้น ผลอย่างนี้ เป็นเรื่องที่จะรู้ ต้องเข้าใจประจักษ์ แต่ที่จะเข้าใจประจักษ์ได้ก็เป็นเรื่องที่เราจะต้องศึกษาสภาวธรรม ศึกษาธรรมในชีวิตประจำวันให้เข้าใจว่า อะไรเป็นอะไรจริงๆ จังๆ เสียก่อน สติปัญญาถึงจะเกิดได้ ถ้าหากไม่เข้าใจแล้ว จะไปพยายามอย่างไร ก็ไม่มีโอกาส เพราะฉะนั้นความเข้าใจจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ซึ่งอาจารย์ย้ำแล้วย้ำอีก และกระผมก็เห็นว่าเป็นความสำคัญจริงๆ

    ผู้ที่จะบรรลุมรรคผล อยากจะประจักษ์ญาณนั้นญาณนี้ ถ้าหากยังไม่เข้าใจแล้ว ก็อย่าไปพยายามเป็นอันขาด ไม่มีทางที่จะเป็นไปได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นในขณะนี้เป็นนามธรรมและรูปธรรมทั้งนั้น แค่นี้ก็เตือนแล้วใช่ไหม ขณะนี้เป็นนามธรรมและรูปธรรมทั้งนั้น ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ฟังอีกกี่ครั้งก็เพื่อที่จะได้ระลึกได้ว่า ขณะนี้เป็นนามธรรมและรูปธรรมทั้งนั้น แต่เมื่อยังไม่ประจักษ์ ก็เป็นแต่เพียงฟัง สะสมไปเรื่อยๆ ที่จะได้ยินได้ฟังว่า ขณะนี้ทางตาเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง

    นี่คือการสะสมจริงๆ สะสมแม้แต่การที่จะได้ฟังสิ่งซึ่งอาจจะไม่ได้ฟังในชาติหน้า หรือในชาติต่อๆ ไปอีกหลายชาติ แต่ว่าในขณะนี้ก็ยังสามารถที่จะระลึกว่า ขณะนี้แม้ขั้นเตือนก็เป็นนามธรรมและรูปธรรมทั้งนั้น

    เพราะฉะนั้นผู้ที่รู้ คือ สติเกิด แล้วก็ได้ศึกษาสังเกตพิจารณาแล้ว แต่ผู้ที่เพียงฟังแล้วสติปัฏฐานยังไม่เกิด ก็รู้จักตัวเองตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้นธรรมนี้เป็นปัจจัตตัง คือ รู้ได้เฉพาะตน สติของใครเกิด และเมื่อสติเกิดแล้ว ปัญญาของใครพิจารณาสังเกต และปัญญาที่พิจารณาสังเกตแล้ว รู้ขึ้นบ้าง หรือว่ารู้เพิ่มขึ้น เรื่องการประจักษ์แจ้งไม่ต้องห่วงเลย ขอให้เพียงรู้เพิ่มขึ้น หรือว่าระลึกรู้ศึกษา แล้วก็อาจจะรู้บ้าง ไม่รู้บ้าง เพราะเหตุว่าบางครั้งเมื่อความรู้นิดหน่อย


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 24
    1 ก.พ. 2565

    ซีดีแนะนำ