โสภณธรรม ครั้งที่ 079
ตอนที่ ๗๙
ซึ่งในขณะนี้ตัตตรมัชฌัตตตาก็เพิ่งจะมาถึงอุทยัพพยญาณเท่านั้น แต่ว่าไม่ใช่เป็นเรื่องรีบด่วน แต่ว่าเป็นเรื่องเข้าใจถึงเหตุและผลจริงๆ
ถ้ากล่าวถึงอย่างสั้นๆ และไม่ได้ประโยชน์อะไร เพราะเหตุว่าไม่มีพื้นฐานที่จะทำให้สามารถที่จะประจักษ์แจ้งการเกิดดับของสภาพธรรมได้ ถ้ายังเป็นผู้ที่หนาแน่นด้วยกิเลส และไม่มีเหตุปัจจัยที่จะให้สติเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมได้ตามความเป็นจริง ซึ่งวิปัสสนาญาณต่อไป ก็ยังไม่ถึงขั้นเบื่อหน่าย ยังอีกไกลทีเดียว ไม่ใช่เพียงแต่การประจักษ์การเกิดขึ้นและดับของนามธรรมและรูปธรรมเท่านั้น ก็สามารถที่จะหน่ายคลายการที่เคยยึดติดข้องในนามธรรมและรูปธรรมได้
ก่อนที่อุทยัพพยญาณจะเกิด ขอให้ทราบว่า ปัญญาจะต้องอบรมเจริญมากแค่ไหน ถึงจะประจักษ์ไตรลักษณะ คือ ลักษณะที่เกิดขึ้นและดับไปของปัจจุบันธรรม ซึ่งก่อนนั้นไม่เคยคิดว่าจะเป็นไปได้ เช่นในขณะนี้ สภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตาที่เห็นจะเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป และสภาพธรรมแต่ละอย่างที่ปรากฏก็เกิดขึ้นและดับไป ไม่เคยคิดว่าจะเป็นไปได้ และก็จะเป็นไปไม่ได้ถ้าไม่ใช่อุทยัพพยญาณ
ข้อความในขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค ข้อ ๑๐๓ มหาวรรค ญาณกถา มีข้อความว่า
ปัญญาในการพิจารณาเห็นความแปรปรวนแห่งธรรมทั้งหลายที่เป็นปัจจุบัน เป็นอุทยัพพยานุปัสสนาญาณอย่างไร
รูปที่เกิดแล้วเป็นปัจจุบัน ชาติแห่งรูปที่เกิดแล้วนั้นมีความเกิดเป็นลักษณะ ความเสื่อมมีความแปรปรวนเป็นลักษณะ ปัญญาที่พิจารณาเห็นดังนี้เป็นอุทยัพพยานุปัสนาญาณ เวทนาเกิดแล้ว สัญญาเกิดแล้ว สังขารเกิดแล้ว วิญญาณเกิดแล้ว จักษุเกิดแล้ว ฯลฯ ภพเกิดแล้วเป็นปัจจุบัน ชาติแห่งภพที่เกิดแล้วนั้นมีความเกิดเป็นลักษณะ ความเสื่อมมีความแปรปรวนเป็นลักษณะ ปัญญาที่พิจารณาเห็นดังนี้ เป็นอุทยัพพยานุปัสนาญาณ
ต้องเห็นสภาพธรรมที่กำลังเป็นปัจจุบันชัดเจนจริงๆ เพียงอย่างเดียวที่เกิดแล้วก็ดับ ถ้าทุกคนจะลืมสภาพความเป็นตัวตน แล้วไม่มีอะไรปรากฏ แต่ว่ามีสติสัมปชัญญะในขณะนั้น แล้วมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดเกิดขึ้น สิ่งนั้นดับไป มีชาติ มีการเกิด เกิดขึ้นแล้ว และสิ่งที่ปรากฏเป็นปัจจุบันนั้นดับด้วยสติสัมปชัญญะที่ประจักษ์แจ้งในลักษณะของสภาพธรรมที่แยกขาดจากกัน ขณะนั้นก็เป็นการประจักษ์ไตรลักษณะ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาของสภาพธรรม
แต่ให้เห็นว่ากว่าปัญญาจะเจริญอบรมถึงขั้นนั้นได้ ปัญญาจะต้องพิจารณารู้ลักษณะของสภาพนามธรรมและรูปธรรมที่ปรากฏตามปกติในชีวิตประจำวันมากมายสักแค่ไหน ไม่ใช่เพียงบางท่านเข้าใจว่า ท่านไปสู่สำนักแล้วเข้าใจว่าเป็นนามรูปปริจเฉทญาณแล้ว เป็นปัจจยปริคคหญาณแล้ว เป็นสัมมสนญาณแล้ว เป็นอุทยัพพยญาณแล้ว โดยไม่รู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ตามปกติ
เพราะฉะนั้นขอกล่าวถึงข้อความในขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค ญาณกถา ซึ่งพระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงปัญญาต่างๆ ไว้ ซึ่งปัญญาทั้งหมดนั้นไม่พ้นไปจากการเจริญสติปัฏฐาน
ข้อ ๑๖๐ วัตถุนานัตตญาณ คือ การพิจารณาภายใน ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
นี่จะพ้นไปจากสติปัฏฐานไม่ได้เลย เพราะเหตุว่าทุกคนมีใจ ขณะนี้ใจกำลังรู้อะไร สติปัฏฐานจะต้องระลึกรู้สิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ นั่นก็ชื่อว่าพิจารณาธรรมภายใน
ข้อ ๑๖๓ โคจรนานัตตญาณ พิจารณาธรรมภายนอก คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ
นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ถ้าไม่พิจารณาแล้ว ปัญญาเจริญไม่ได้ที่จะประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปของนามธรรมและรูปธรรมนั้น เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย
เพราะฉะนั้นใครจะรู้ชื่อของญาณ หรือว่าไม่รู้ชื่อของญาณก็ตาม แต่ว่าปัญญาที่ได้อบรมแล้ว ถ้าเป็นการพิจารณาสภาพธรรมภายในก็เป็นวัตถุนานัตตญาณ ถ้าเป็นการพิจารณาธรรมภายนอก คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์ ก็เป็นโคจรนานัตตญาณ
ข้อ ๑๖๕ คือ ปัญญาที่เป็น จริยานานัตตญาณ ได้แก่ วิญญาณจริยา อัญญาณจริยา ญาณจริยา
นี่เป็นปัญญาทั้งหมด เป็นปัญญามากมายทีเดียว ซึ่งกว่าจะถึงการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม โดยที่ต้องผ่านวิปัสสนาญาณตามลำดับขั้น และเริ่มเป็นพลววิปัสสนา ตั้งแต่อุทยัพพยญาณ ซึ่งจะต้องพิจารณา
วิญญาณจริยา คือ พิจารณาจิตที่เห็น จิตที่ได้ยิน จิตที่ได้กลิ่น จิตที่ลิ้มรส จิตที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ซึ่งขณะนั้นยังไม่ประกอบด้วยอกุศลธรรม ขณะนี้เอง ตา หู จมูก ลิ้น กาย และพิจารณาจิตที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังได้กลิ่น กำลังลิ้มรส กำลังรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส
อัญญาณจริยา คือ พิจารณาจิตที่เป็นอกุศลในขณะที่ไม่ประกอบด้วยกุศลธรรม และเป็นไปกับความไม่รู้
ญาณจริยา ขณะไม่มีอกุศลธรรม และเกิดร่วมกับปัญญา รวมถึงโลกุตตรจิต ๘
นี่มากไหม ปัญญา แต่ละขณะๆ ที่สะสมอบรมไป
นอกจากนั้นยังมี ภูมินานัตตญาณ คือ ปัญญาที่รู้ภูมิ ๔
ท่านผู้ฟังที่อบรมเจริญสติปัฏฐานที่ไม่ได้ฌานจิต ก็จะรู้เพียงภูมิเดียว คือ กามาวจรภูมิ แต่ถ้าเป็นผู้ที่เคยได้ฌานจิตที่เป็นรูปฌาน อรูปฌาน ปัญญาก็จะต้องพิจารณาภูมินานัตตญาณ คือ ปัญญาที่รู้ความต่างกันของภูมิของจิต ซึ่งรวมทั้งโลกุตตรภูมิด้วย ก็เป็นปัญญาที่รู้ภูมิ ๔
ข้อ ๑๗๖ ได้แสดงภูมิ ๔ อีกประการหนึ่ง คือ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ ฌาน ๔ อรูปาวจรสมาบัติ ๔ ปฏิสัมภิทา ๔ ปฏิปทา ๔ สังคหวัตถุ ๔ จักร ๔ คือ สภาพธรรมทั้งหมดในชีวิตประจำวัน แล้วแต่ว่าจะเป็นอย่างหนึ่งอย่างใดในขณะที่กำลังปรากฏนั้น
ภูมิเหล่านี้ชื่อว่า ญาณ เพราะอรรถว่ารู้ธรรมนั้น ชื่อว่า ปัญญา เพราะอรรถว่ารู้ชัด เพราะเหตุนั้นท่านจึงกล่าวว่า ปัญญาในการกำหนดธรรม ๔ เป็นภูมินานัตตญาณ
เพราะฉะนั้นอย่าเข้าใจผิดว่า ไม่รู้อะไรเลยก็ประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปของนามธรรมและรูปธรรม หรือไตรลักษณะ แต่ว่าเมื่อใดที่รู้มาก รู้ละเอียด รู้จริงๆ รู้ทั่ว ประกอบด้วยปัญญาเหล่านี้ จึงสามารถที่จะประจักษ์แจ้งไตรลักษณะได้
นอกจากนั้น ข้อ ๑๗๗ มีข้อความว่า
ปัญญาในการกำหนดธรรม ๙ เป็นธรรมนานัตตญาณอย่างไร
ย่อมกำหนดธรรมทั้งหลายอย่างไร ย่อมกำหนดกามาวจรธรรมเป็นฝ่ายกุศล เป็นฝ่ายอกุศล เป็นฝ่ายอัพยากต ย่อมกำหนดรูปาวจรธรรมเป็นฝ่ายกุศล เป็นฝ่ายอัพยากต ย่อมกำหนดอรูปาวจรธรรมเป็นฝ่ายกุศล เป็นฝ่ายอัพยากต ย่อมกำหนดโลกุตรธรรมเป็นฝ่ายกุศล เป็นฝ่ายอัพยากต
ถ้ามีใครที่เคยทำฌานได้ถึงรูปาวจรปัญจมฌาน เวลาที่จะเจริญสติปัฏฐาน สติปัฏฐานก็จะต้องระลึกรู้ความต่างกันของธรรมที่เป็นกามาวจร รูปาวจร อรูปาวจร และถ้าเป็นผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจจธรรมแล้ว เป็นพระอริยบุคคลแล้ว ก็พิจารณาลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นโลกุตตรธรรมด้วย
นอกจากนั้น ข้อ ๑๘๓ มีข้อความว่า
ธรรมมีโยนิโสมนนิการเป็นเบื้องต้น ๙ ประการ
คราวก่อนได้กล่าวถึงธรรมมีความปราโมทย์เป็นเบื้องต้น ๙ ประการ แต่ว่าข้อความในขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค ญาณกถา ก็ได้แสดงธรรมมีโยนิโสมนสิการเป็นเบื้องต้น ๙ ประการ
ทุกท่านที่อยากจะโยนิโสมนสิการ เพราะเพียงได้ฟังชื่อก็คิดว่าจะทำได้ ขอให้บอกเถอะว่า โยนิโสมนสิการเป็นอย่างไร แต่ไม่ใช่อย่างนั้นเลย แม้แต่มนสิการที่เป็นโยนิโส ก็เพราะขณะนั้นเป็นกุศล จึงเป็นโยนิโสมนสิการ ถ้าขณะใดที่อกุศลธรรมเกิดขึ้น และจะบอกให้เป็นโยนิโสมนสิการสักเท่าไรก็เป็นไปไม่ได้
เพราะฉะนั้นข้อความที่ว่า ธรรมมีโยนิโสมนนิการเป็นเบื้องต้น ๙ ประการในที่นี้ หมายถึงเบื้องต้นของการถึงพลววิปัสสนา ไม่ใช่เป็นเพียงกุศลขั้นทาน ขั้นศีลเท่านั้น
เมื่อมนสิการโดยอุบายอันแยบคายโดยความไม่เที่ยง ย่อมเกิดปราโมทย์ เมื่อถึงความปราโมทย์ ย่อมเกิดปิติ เมื่อใจมีปิติ กายย่อมสงบ ผู้มีกายสงบย่อมได้เสวยความสุข ผู้มีความสุข จิตย่อมตั้งมั่น รู้ชัดตามความเป็นจริง
นี่คือการที่จะประจักษ์ลักษณะของไตรลักษณ์ได้ แต่ว่าต้องมีโยนิโสมนสิการเป็นเบื้องต้น คือ มนสิการโดยอุบายอันแยบคายโดยความไม่เที่ยง ย่อมเกิดปราโมทย์
ข้อ ๑๘๔ ก่อนจะถึงอุทยัพพยญาณ ปัญญาจะต้องรู้ความต่างกัน ๙ ประการ คือ
ความต่างแห่งผัสสะอาศัยความต่างแห่งธาตุเกิดขึ้น
ถ้าฟังอย่างนี้ ดูเหมือนไม่ใช่ในขณะนี้ แต่ถ้าเป็นผู้มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน และปัญญากำลังรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ไม่สงสัยในสภาพที่เป็นธาตุรู้กับสิ่งที่ปรากฏ เพียงได้ฟังว่า ความต่างแห่งผัสสะอาศัยความต่างแห่งธาตุเกิดขึ้น
จะเห็นความเป็นอนัตตาได้ว่า ในขณะที่กำลังเห็น จะต้องมีผัสสเจตสิกเกิดกับจักขุวิญญาณที่เห็น เพราะฉะนั้นถ้ารูปธาตุ คือ รูปารมณ์ วัณณธาตุไม่ปรากฏ จักขุวิญญาณก็เกิดเห็นไม่ได้ ผัสสะก็กระทบไม่ได้ ในขณะที่ได้ยินเสียงก็รู้ว่า ในขณะนี้โสตวิญญาณ สภาพที่ได้ยินเสียงต่างกับขณะที่เห็น เพราะความต่างแห่งผัสสะอาศัยความต่างแห่งธาตุ เพราะเหตุว่าเสียงมี ผัสสะกระทบเสียง โสตวิญญาณจึงเกิด
ด้วยเหตุนี้ในขณะที่สติปัฏฐานเกิด และปัญญาสามารถที่จะรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม รู้ความเป็นปัจจัย และรู้ความต่างกันของธาตุ เพียงชั่วขณะที่ไม่มีแล้วเกิดมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดขึ้น สิ่งนั้นเกิดมีขึ้นเพราะความต่างแห่งผัสสะ ซึ่งอาศัยความต่างแห่งธาตุเกิดขึ้น
เพราะฉะนั้นก็ไม่มีตัวตน ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีความคิดที่จะพยายามทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดขึ้น เพียงแต่ว่าตามระลึกรู้จนเข้าใจชัดเจนจริงๆ ว่า ลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่าง ไม่มีใครยับยั้งที่จะไม่ให้เกิดขึ้นได้เลย เพราะเหตุว่าสภาพธรรมมีเหตุปัจจัยเกิด แล้วผัสสะก็กระทบสภาพธรรมนั้น เพราะฉะนั้นความต่างแห่งผัสสะ อาศัยความต่างแห่งธาตุเกิดขึ้นแล้ว
ความต่างแห่งเวทนาอาศัยความต่างแห่งผัสสะเกิดขึ้น
ถ้าอารมณ์ที่ไม่ดี ผัสสะกระทบอารมณ์ที่เป็นอนิฏฐารมณ์ที่ไม่น่าพอใจ ความต่างแห่งเวทนาอาศัยความต่างแห่งผัสสะเกิดขึ้น แต่ถ้าเป็นอิฏฐารมณ์ คือ เป็นอารมณ์ที่ดี ผัสสะกระทบอารมณ์ที่ดี เวทนาก็เป็นโสมนัสบ้าง หรือว่าเป็นอุเบกขาบ้าง เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่า ความต่างแห่งเวทนาที่เกิดอาศัยความต่างแห่งผัสสะเกิดขึ้น
มีใครพิจารณาเวทนาบ้างไหม ความรู้สึกในขณะนี้เอง ไม่ใช่ต้องไปหาอย่างอื่นเลย หรือเมื่อสักครู่นี้ ประมาณบ่ายสองโมงกว่าๆ ยังไม่ถึงบ่ายสามโมง มีเวทนาอะไรเกิด ความรู้สึกไม่สบายใจ ไม่ชอบใจเกิด ขณะนั้นเพราะความต่างแห่งผัสสะ เมื่อผัสสะกระทบกับอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจ เวทนาที่ไม่สบายใจก็เกิด ขณะนั้นถ้าสติสัมปชัญญะเกิด ก็รู้ว่าเป็นอนัตตาจริงๆ เหตุใดความไม่สบายใจนี้จึงเกิด เพราะเหตุว่าผัสสะกระทบกับอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจ เพราะฉะนั้นธรรมทั้งหลายยิ่งพิจารณาก็ยิ่งเห็นความเป็นอนัตตา จนกว่าจะละเอียดขึ้นๆ ขณะใดที่ปัญญาเกิด ปัญญาทำกิจละคลายการไม่รู้ การหลงยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นเรา เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน แม้แต่ความรู้สึกไม่สบายใจในขณะนั้นก็เป็นแต่เพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งเกิดเพราะผัสสะ ซึ่งกระทบกับธาตุที่ไม่น่าพอใจ นอกจากนั้นแล้ว
ความต่างแห่งสัญญาอาศัยความต่างแห่งเวทนาเกิดขึ้น
เวทนาเป็นอย่างไร สัญญาก็จดจำอย่างนั้น วันนี้จำอะไรได้บ้างตั้งแต่เช้ามา เห็นทางตามากมายตั้งแต่ลืมตาตื่น ทางหูก็ได้ยินเสียง ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย แต่ว่าการที่จะจำอะไรไว้ก็แล้วแต่ว่าเวทนาขณะนั้นทำให้เกิดความจำหรือไม่เกิดความจำ โดยมากถ้าเฉยๆ จำไม่ค่อยได้ ใช่ไหม แต่ถ้าสุขมาก จำได้ หรือว่าทุกข์มากก็จำได้ โกรธมากก็จำได้ เกลียดมากก็จำได้ ไม่พอใจมากก็จำได้
เพราะฉะนั้นเหตุการณ์เมื่อครู่นี้ก็เป็นเครื่องพิสูจน์ได้เหมือนกัน ใครไม่ลืมเพราะเวทนาอย่างไรจึงไม่ลืม เพราะฉะนั้นแม้สัญญา ความจำ ซึ่งมีต่างๆ กันในวันหนึ่ง ความต่างแห่งสัญญาก็อาศัยความต่างแห่งเวทนาเกิดขึ้น
ดูเป็นเรื่องเหมือนกับไม่ใช่สติปัฏฐาน หรือไม่ใช่สภาพธรรมที่จะต้องแทงตลอด จนกระทั่งประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไป แต่ให้ทราบว่า พลววิปัสสนาจริงๆ ปัญญาจะต้องพิจารณาลักษณะของสภาพธรรมทั่วและละเอียด มิฉะนั้นก็ไม่สามารถที่จะรู้ความต่างกันของผัสสะ ของเวทนา ของสัญญา หรือของความตรึก หรือความดำริ ซึ่งแต่ละคนเมื่อได้ประสบกับอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจแล้วก็คิดนึกต่างกัน เมื่อสักครู่นี้เป็นเครื่องพิสูจน์ได้อีกเหมือนกันว่า ต่างคนก็ต่างใจ ต่างคนก็ต่างความคิด แม้ว่าจะเห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจเหมือนกัน แต่ว่า
ความดำริอาศัยความต่างแห่งสัญญาเกิดขึ้น
ถ้าในขณะนั้นเป็นอนัตตสัญญา รู้ว่าไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่ง แม้แต่ความรู้สึกที่เกิดขึ้นก็เกิดเพราะเหตุปัจจัยเท่านั้นจริงๆ ความดำริก็จะเป็นไปในทางกุศล อาจจะมีความเมตตา มีความกรุณา หรืออาจจะคิดเกื้อกูลอย่างหนึ่งอย่างใดก็ได้ แต่ความดำรินั้นก็ต่างกันไปตามสัญญาที่จำว่า จำเหตุการณ์นั้นไว้ในลักษณะใด นอกจากนั้น
ความต่างแห่งฉันทะอาศัยความต่างแห่งความดำริเกิดขึ้น
การที่แต่ละคนจะตรึกอย่างไร ก็เพราะเหตุว่ามีฉันทะแต่ละอย่าง
ความต่างแห่งความเร่าร้อน อาศัยความต่างแห่งฉันทะเกิดขึ้น
ความต่างแห่งการแสวงหาอาศัยความต่างแห่งความเร่าร้อนเกิดขึ้น
เมื่อสักครู่นี้มีใครคิดที่จะทำอะไรบ้างหรือเปล่า ถ้ามี นั่นคือการแสวงหาซึ่งอาศัยความเร่าร้อนเกิดขึ้น
ความต่างแห่งการได้ (รูปเป็นต้น) อาศัยความต่างแห่งการแสวงหาเกิดขึ้น
นี่ก็เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ
ความต่าง ๙ ประการนี้ ชื่อว่าญาณ เพราะอรรถว่ารู้ธรรมนั้น ชื่อว่าปัญญา เพราะอรรถว่ารู้ชัด เพราะเหตุนั้นท่านจึงกล่าวว่าการกำหนดธรรม ๙ ประการ เป็นธรรมนานัตตญาณ ฯ
ถ้ามีใครจะประจักษ์ไตรลักษณ์เมื่อสักครู่นี้ เป็นไปได้ไหม ถ้าจะเป็นจริงๆ ต้องเป็นปกติธรรมดาอย่างนี้ เมื่อเหตุสมควรแก่ผล แต่เพราะเหตุที่ยังไม่สมควรแก่ผล
ก็ดูเหมือนเป็นภาวะที่สุดวิสัยที่จะเป็นไปได้ เพราะฉะนั้นจึงต้องเป็นผู้ที่รู้ความจริงว่า ปัญญาที่จะละกิเลสได้ ไม่ใช่ละเพียงบางสถานการณ์ แต่ว่าไม่ว่าปัญญาจะอบรมสมบูรณ์ที่จะประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมในขณะใดพร้อมที่จะเกิดขึ้น ก็เกิดขึ้นได้ในสถานการณ์นั้นๆ
ข้อ ๑๘๕ แสดงปัญญาขั้นต่อไป คือ
ปัญญาอันรู้ยิ่งเป็นญาตัฏฐญาณอย่างไร ปัญญาเครื่องกำหนดรู้เป็นตีรณัฏฐญาณ ปัญญาเครื่องละเป็นปริจจาคัฏฐญาณ ปัญญาเครื่องเจริญเป็นเอกรสัฏฐญาณ ปัญญาเครื่องกระทำให้แจ้งเป็นผัสสนัฏฐญาณ
นี่ดูเป็นชื่อซึ่งเป็นภาษาบาลี แต่คำอธิบายก็คือชีวิตประจำวันนั่นเอง คือ
ถ้าบุคคลใดรู้ยิ่งธรรมใดๆ แล้ว เป็นอันรู้ธรรมนั้นๆ แล้ว
นี่เป็นของที่แน่นอน คือถ้าพูดถึงเรื่องนามธรรมและรูปธรรม รู้โดยชื่อ แต่ว่า
บุคคลใดรู้ยิ่งธรรมใดๆ แล้ว เป็นอันรู้ธรรมนั้นๆ แล้ว คือประจักษ์ชัดจริงๆ ในลักษณะสภาพธรรมนั้นที่เป็นความรู้ยิ่ง ไม่มีความสงสัย ก็ชื่อว่าเป็นอันรู้ธรรมนั้นๆ แล้ว
เพราะฉะนั้นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานเป็นผู้ที่ตรง ที่จะพิสูจน์ตัวเองว่า รู้ธรรมนั้นๆ แล้วหรือยัง ถ้ายังก็จะต้องอบรมเจริญปัญญาต่อไป
เมื่อกำหนดรู้ธรรมใดๆ แล้ว เป็นอันพิจารณาธรรมนั้นๆ แล้ว
นี่เหตุกับผลต้องตรง ใช่ไหม การที่จะรู้ธรรมใดๆ ได้จริงๆ ก็หมายความว่า ได้พิจารณาธรรมนั้นๆ แล้ว ไม่ใช่เป็นความหวังว่า ไม่ต้องพิจารณา สติปัฏฐานไม่ต้องเกิด ไม่ต้องรู้สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู แล้วก็จะรู้ยิ่งซึ่งธรรมนั้นๆ เป็นไปไม่ได้เลย
เจริญธรรมใดๆ แล้ว ธรรมนั้นๆ ย่อมมีกิจเป็นอันเดียวกัน กระทำให้แจ้งธรรมใดแล้ว เป็นอันถูกต้องธรรมนั้นแล้ว เพราะเหตุนั้นท่านจึงกล่าวว่าปัญญาอันรู้ยิ่งเป็นญาตัฏฐญาณ
ชื่อเมื่อสักครู่นี้ ที่ว่า ปัญญาอันรู้ยิ่งเป็นญาตัฏฐญาณอย่างไร
ปัญญาเครื่องกำหนดรู้เป็นตีรณัฏฐญาณ ปัญญาเครื่องละเป็นปริจจาคัฏฐญาณ ปัญญาเครื่องเจริญเป็นเอกรสัฏฐญาณ ปัญญาเครื่องกระทำให้แจ้งเป็นผัสสนัฏฐญาณ ฯ
ปัญญาทั้งนั้นเลย เพราะเหตุว่าถ้าเข้าใจผิดไม่สามารถที่จะดับกิเลสได้จริงๆ
ข้อความในวิภังคปกรณ์ ขุททกวัตถุวิภังค์ ข้อ ๘๙๙ แสดงความสำคัญผิดที่ว่า ได้บรรลุธรรมวิเศษ คือ
ความสำคัญว่าถึงแล้วในธรรมที่ตนยังไม่ถึง
เพราะฉะนั้นที่กล่าวถึงเรื่องปัญญามากมายในพระไตรปิฎก ก็เพื่อที่จะแสดงให้เห็นจริงๆ ว่า อย่าเพิ่งคิดว่าจะถึงอย่างเร็ว หรือว่าเมื่อได้ยินได้ฟังใครบอกว่าถึงแล้ว ก็ควรที่จะพิจารณาให้ละเอียดถี่ถ้วนว่า ความสำคัญว่าถึงแล้วในธรรมที่ตนยังไม่ถึง เป็นสิ่งที่เป็นไปได้
ความสำคัญว่าทำแล้วในกิจที่ตนยังไม่ได้ทำ
ถ้าขณะนี้ไม่ได้ระลึกศึกษาลักษณะของเห็นซึ่งเป็นธาตุรู้ ขณะที่ได้ยิน สภาพที่กำลังได้ยิน ไม่ใช่ตัวตน เป็นนามธรรม ขณะที่คิดนึกรู้ว่าเป็นคนนั้นคนนี้ที่กำลังนั่งอยู่ที่นั่นที่นี่ ถ้าไม่รู้ว่า ขณะนั้นก็เป็นนามธรรมที่คิดนึก ถ้าไม่เป็นอย่างนี้ ชื่อว่า ยังไม่ได้ทำกิจที่ควรที่จะกระทำ แต่ถ้าเข้าใจว่าแม้ไม่ทำอย่างนี้ก็สามารถที่จะถึงอุทยัพพยญาณได้ ก็เป็นความสำคัญว่า ทำแล้วในกิจที่ตนไม่ได้ทำ
ความสำคัญว่าได้บรรลุแล้วในธรรมที่ตนยังไม่บรรลุ ความสำคัญว่าได้ทำให้แจ้งแล้วในธรรมที่ตนยังไม่ได้ทำให้แจ้ง
คือยังไม่ถึงนิพพานเลย ยังไม่รู้แจ้งอริยสัจจ์ ก็เข้าใจว่าได้ฟังคำบอกเล่าว่า ได้บรรลุแล้ว เพราะฉะนั้นถ้าเป็นโดยลักษณะนั้น จะมีความสำคัญตนแน่นอน เพราะเหตุว่าเมื่อไม่ใช่ปัญญาก็ไม่ได้ละคลายกิเลส
ความถือตัว กิริยาที่ถือตัว สภาพที่ถือตัว การยกตน การเทิดตน การเชิดชูตนดุจธง ความยกตนขึ้น ความที่จิตต้องการเป็นดุจธงอันใด มีลักษณะเช่นว่านี้ นี้เรียกว่า ความสำคัญว่า ได้บรรลุธรรมวิเศษ
เพราะฉะนั้นถ้าใครเข้าใจผิดว่า ได้บรรลุแล้ว ท่านผู้ฟังก็คงไม่เข้าใจผิดอย่างนั้น และก็เป็นผู้ที่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า ได้กระทำกิจอะไรแล้วบ้าง
อดิศักดิ์ ผมขออนุญาตย้อนไปสงสัยตรงเวทนาเมื่อสักครู่ คือ เวทนา ความรู้สึก มีหรือไม่กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ก็ตอบได้ชัดเจนว่า ไม่มี เพราะยังเกรงใจว่าท่านอยู่ในสงฆ์
ท่านอาจารย์ ไม่มีเวทนาไม่ได้
อดิศักดิ์ มี แต่ไม่ใช่จะคิดจะทำอะไร ไม่ได้คิด เพราะว่าท่านอยู่ในสงฆ์ ก็เลยเกรงใจ ก็คิดว่าจะรอเวลาสักครู่ แต่ก็รู้สึกว่ามี แต่ไม่มากมายอะไร ก็ผิดปกติไปเล็กน้อยเท่านั้นเอง ก็อยากจะถามเรื่องเวทนา เมื่อวานนี้อ่านกันเรื่องสติปัฏฐานสูตร เวทนามีอามิส กับเวทนาไม่มีอามิส ก็ไม่เข้าใจกัน ขอคำอธิบาย
ท่านอาจารย์ เวทนามีอามิส หมายถึง เวทนาที่เป็นไปในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ เวทนาไม่มีอามิส ไม่ใช่เป็นไปในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ภูมิของจิตก็ต่างกันเป็นเท่านี้เอง คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นกาม เป็นกามภูมิ ส่วนนอกเหนือไปจากนั้นก็ไม่ใช่กามภูมิ
เพราะฉะนั้นอามิส หมายความถึงรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ
- โสภณธรรม ครั้งที่ 051
- โสภณธรรม ครั้งที่ 052
- โสภณธรรม ครั้งที่ 053
- โสภณธรรม ครั้งที่ 054
- โสภณธรรม ครั้งที่ 055
- โสภณธรรม ครั้งที่ 056
- โสภณธรรม ครั้งที่ 057
- โสภณธรรม ครั้งที่ 058
- โสภณธรรม ครั้งที่ 059
- โสภณธรรม ครั้งที่ 060
- โสภณธรรม ครั้งที่ 061
- โสภณธรรม ครั้งที่ 062
- โสภณธรรม ครั้งที่ 063
- โสภณธรรม ครั้งที่ 064
- โสภณธรรม ครั้งที่ 065
- โสภณธรรม ครั้งที่ 066
- โสภณธรรม ครั้งที่ 067
- โสภณธรรม ครั้งที่ 068
- โสภณธรรม ครั้งที่ 069
- โสภณธรรม ครั้งที่ 070
- โสภณธรรม ครั้งที่ 071
- โสภณธรรม ครั้งที่ 072
- โสภณธรรม ครั้งที่ 073
- โสภณธรรม ครั้งที่ 074
- โสภณธรรม ครั้งที่ 075
- โสภณธรรม ครั้งที่ 076
- โสภณธรรม ครั้งที่ 077
- โสภณธรรม ครั้งที่ 078
- โสภณธรรม ครั้งที่ 079
- โสภณธรรม ครั้งที่ 080
- โสภณธรรม ครั้งที่ 081
- โสภณธรรม ครั้งที่ 082
- โสภณธรรม ครั้งที่ 083
- โสภณธรรม ครั้งที่ 084
- โสภณธรรม ครั้งที่ 085
- โสภณธรรม ครั้งที่ 086
- โสภณธรรม ครั้งที่ 087
- โสภณธรรม ครั้งที่ 088
- โสภณธรรม ครั้งที่ 089
- โสภณธรรม ครั้งที่ 090
- โสภณธรรม ครั้งที่ 091
- โสภณธรรม ครั้งที่ 092
- โสภณธรรม ครั้งที่ 093
- โสภณธรรม ครั้งที่ 094
- โสภณธรรม ครั้งที่ 095
- โสภณธรรม ครั้งที่ 096
- โสภณธรรม ครั้งที่ 097
- โสภณธรรม ครั้งที่ 098
- โสภณธรรม ครั้งที่ 099
- โสภณธรรม ครั้งที่ 100