โสภณธรรม ครั้งที่ 053


    ตอนที่ ๕

    ไม่ว่าจะสุขจะทุกข์อย่างไรก็ชั่วขณะที่กรรมนั้นๆ ให้ผลเท่านั้นเอง ถ้าหมดผลของกรรมนั้น คนที่เป็นสุขก็เป็นทุกข์ หรือคนที่เป็นทุกข์ก็เป็นสุข แล้วแต่ว่าจะเป็นผลของกรรมใดต่อไป เพราะว่าทุกคนโดยมากไม่ได้พิจารณาเลยสักนิดว่า ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้ามีมาได้อย่างไร มาจากไหน อะไรเป็นสภาพธรรมที่ทำให้เกิดรูปวัตถุร่างกายตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า แต่ถ้าเป็นผู้ที่พิจารณาก็จะรู้ได้จริงๆ ว่า กรรมเป็นปัจจัย ใครจะไปเอาดิน เอาน้ำ เอาไฟ เอาลมที่ไหนมาทำให้เป็นรูปร่างกายตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้าไม่ได้เลย แต่กรรมซึ่งทุกคนมองไม่เห็น แล้วก็ไม่รู้ว่ากรรมอะไร แต่ว่ากรรมนั้นได้กระทำแล้ว เป็นปัจจัยทำให้รูปนี้เกิดขึ้น ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า แม้ว่ารูปตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้าเมื่อวานนี้ก็ดับหมดไปแล้ว รูปขณะเมื่อกี้นี้ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้าก็ดับหมดไป โดยที่ไม่มีใครรู้ แต่ว่าอะไรทำให้ยังคงรู้สึกเมื่อกระทบสัมผัสยังมีอยู่ ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า เพราะเหตุว่ากรรมยังคงเป็นปัจจัยทำให้รูปนี้เกิดแล้วก็ดับ เกิดแล้วก็ดับ ปรากฏเมื่อกระทบสัมผัสเท่านั้นเอง ถ้าขณะใดที่ไม่กระทบสัมผัส รูปนั้นมี ก็เสมือนไม่มี โดยสมุฏฐานต่างๆ คือ โดยกรรมบ้าง โดยจิตบ้าง โดยอุตุบ้าง โดยอาหารบ้าง

    นี่คือความไม่รู้ในชีวิต ชาติหนึ่งๆ คือ ไม่รู้แม้แต่สิ่งซึ่งเกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย แต่ก็มายึดครองว่าเป็นเรา โดยที่ไม่ได้สอบสวนใคร่ครวญเลยว่า เราที่ว่าเป็นเรามาจากไหน อะไรเป็นปัจจัยทำให้รูปแม้แต่ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม แข็ง อ่อน เย็น ร้อน ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้าเกิดขึ้น หรือแม้แต่การเห็น การได้ยิน ซึ่งจะต้องยังคงมีอยู่ตลอดชีวิต ใครที่มีชีวิตแล้ว จะไม่เห็น ไม่ได้ยิน เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นก็ควรที่จะได้ใคร่ครวญว่า แม้แต่เห็น แม้แต่ได้ยินนี้ มีปัจจัยเกิดได้อย่างไร เพราะเหตุว่าจะต้องอาศัยจักขุปสาทซึ่งกรรมอีกนั่นแหละเป็นสมุฏฐานก่อตั้งให้จักขุปสาทเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป

    เพราะฉะนั้นถ้าไม่ศึกษาพระธรรม ไม่เห็นกรรม แล้วก็ไม่รู้ว่ามีชีวิตมาในโลกนี้ได้อย่างไร แล้วก็อยู่ในโลกนี้แต่ละขณะได้อย่างไร แต่ถ้าพิจารณาโดยเรื่องของกรรมแล้วจะเห็นได้ว่า ทุกคนล้วนมีกรรมเป็นของของตน ทุกขณะที่เห็น ที่ได้ยิน ที่มีชีวิตอยู่ จากขณะหนึ่งไปสู่อีกขณะหนึ่ง ทุกภพทุกชาติ

    เพราะฉะนั้นถ้ารู้อย่างนี้จริงๆ อุเบกขาพรหมวิหารก็จะเพิ่มขึ้น ไม่หวั่นไหวในสุขในทุกข์หรือในความเดือดร้อนต่างๆ

    มีคำถาม ในอรรถกถา ข้อความในอรรถกถาถามว่า เพราะเหตุใดเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขาเหล่านี้จึงเรียกว่า พรหมวิหาร ตอบว่า เพราะว่าเป็นธรรมที่ไม่มีโทษ เพราะอรรถว่า ประเสริฐ

    ถ้าพิจารณาจริงๆ และเป็นผู้ที่มีพรหมวิหาร ๔ จริงๆ ในชีวิตประจำวัน บุคคลนั้นสบายมากและประเสริฐจริงๆ

    ธรรมเหล่านี้ชื่อว่า เป็นธรรมเครื่องอยู่อันประเสริฐ เพราะเป็นข้อปฏิบัติโดยชอบในสัตว์ทั้งหลาย พวกพรหมมีจิตปราศจากโทษอยู่ฉันใด ผู้ประกอบด้วยพรหมวิหาร ๔ เหล่านี้ก็ฉันนั้น ย่อมเป็นอยู่เสมอกันกับพรหม ดังนั้นจึงตรัสเรียกว่า พรหมวิหาร

    ถ้านับถือกราบไหว้พระพรหม อย่าลืมว่า จริงๆ แล้วนับถือกราบไหว้อะไร ต้องนับถือกราบไหว้คุณธรรมของพระพรหม ไม่ใช่ว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่จะบันดาลทุกสิ่งทุกอย่าง เพราะเหตุว่าต้องเป็นผู้ที่รู้เรื่องของกรรมตั้งแต่ขณะเกิด จนกระทั่งขณะจุติ เพราะฉะนั้นถ้าจะนับถือพรหม ก็คือนับถือคุณธรรมของพระพรหม ซึ่งได้แก่ เมตตาพรหมวิหาร กรุณาพรหมวิหาร มุทิตาพรหมวิหาร อุเบกขาพรหมวิหาร ซึ่งไม่มีประมาณ ไม่ใช่แต่เฉพาะกับบางคน เว้นบางคน หรือว่าคนนี้ได้ คนนั้นไม่ได้ แต่ว่าต้องเป็นไปในอารมณ์อันหาประมาณมิได้ จึงจะชื่อว่า อัปปมัญญา หรืออัปปมาณารมณ์ ซึ่งเป็นไปโดยกว้างขวาง

    ถ้าใครที่มีพรหมวิหารกับบางบุคคลได้ วันหนึ่งๆ ก็ยังรู้สึกขัดเคือง ไม่แช่มชื่น เวลาที่พรหมวิหารเหล่านี้ไม่เกิด ใช่ไหม แต่ถ้ากว้างออกไปๆ จนประมาณไม่ได้ บุคคลนั้นก็ต้องมีความสงบเย็นสบาย ไม่เร่าร้อนเดือดร้อนด้วยอกุศลใดๆ ทั้งสิ้น

    ข้อเปรียบเทียบของพรหมวิหาร ๔ ที่มีในสัตว์ทั้งหลาย ๔ ประการ คือ

    • ๑. เมตตา มีการนำเข้าไปซึ่งประโยชน์เกื้อกูล
    • ๒. กรุณา มีการนำออกซึ่งสิ่งไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล
    • ๓. มุทิตา มีการพลอยยินดีต่อสมบัติของผู้อื่น
    • ๔. อุเบกขา มีการไม่ผูกใจในสัตว์ทั้งหลาย

    อุปมาเหมือนอย่างว่า ในบุตร ๔ คน คือ ลูกที่ยังเล็กคนหนึ่ง ลูกที่ป่วยไข้คนหนึ่ง ลูกที่กำลังเป็นหนุ่มสาวคนหนึ่ง และลูกที่เติบโตทำการงานได้แล้วคนหนึ่ง

    สำหรับลูกที่ยังเล็ก มารดาย่อมหวังให้เจริญเติบโตเลี้ยงดูทะนุบำรุงอุปถัมภ์ เกื้อกูลทุกอย่าง นั่นคือลักษณะอาการของเมตตา สำหรับลูกที่ป่วยไข้ มารดาย่อมบำบัดความป่วยไข้ให้ลูกที่ป่วยไข้หาย

    เวลาที่ลูกเจ็บไข้ได้ป่วย หน้าที่ของมารดาก็คือ รักษาพยาบาลบำบัดให้หายจากโรคภัยนั้น นี่คือสภาพของกรุณา

    สำหรับลูกที่เป็นหนุ่มสาว มารดาก็ย่อมหวังให้ลูกที่เป็นหนุ่มสาวสมบูรณ์ด้วยความเป็นหนุ่มสาวนานๆ ชื่นชมยินดีในสภาพที่สมบูรณ์เป็นหนุ่มสาว นั่นคือลักษณะของมุทิตา

    สำหรับลูกที่เติบใหญ่ทำการงานได้แล้ว มารดาบิดาก็ไม่ต้องขวนขวายในกิจธุระ เพราะเหตุว่าเลี้ยงตัวได้ ไม่ต้องเกื้อกูลอุปถัมภ์อีกต่อไป นั่นคืออาการของอุเบกขาพรหมวิหาร

    เพราะฉะนั้นอาการของมารดาที่ปฏิบัติต่อลูกทั้ง ๔ ฉันใด ก็เป็นอาการของพรหมวิหาร ๔ ฉันนั้น แต่ต้องรู้ข้าศึกใกล้ ข้อสำคัญที่สุด คือ เมื่อฟังแล้ว ต้องตรงอีก ที่จะรู้ว่าเป็นเมตตา หรือว่าเป็นโลภะ

    สำหรับการเจริญพรหมวิหาร ๔ จะเห็นได้ว่า จะต้องเจริญเมตตาก่อน เพราะเหตุว่าเวลาที่เกิดความรู้สึกเป็นไมตรี เป็นเพื่อน ย่อมมีความรู้สึกที่จะเกื้อกูลผู้ที่ตนเมตตานั้นให้พ้นทุกข์เมื่อบุคคลนั้นมีทุกข์ แล้วก็พลอยยินดีด้วยเมื่อบุคคลนั้นมีสุข และเมื่อหมดหน้าที่แล้วก็พึงปฏิบัติโดยอาการเป็นกลาง คือ ไม่มีกิจที่จะต้องกระทำ วางเฉย เพราะเหตุว่าหมดธุระภาระที่จะต้องกระทำแล้ว

    เพราะฉะนั้นอุเบกขาจึงชื่อว่า มีความเป็นไปโดยอาการวางตัวเป็นกลาง เป็นลักษณะ

    ท่านที่เคยได้ยินคำว่า “อุเบกขา” แล้วก็เข้าใจเฉพาะเป็นความรู้สึกที่เป็นอุเบกขาเวทนาเท่านั้น ควรจะได้ทราบว่า อุเบกขา มี ๑๐ อย่าง ไม่ใช่มีเพียงอย่างเดียว อุเบกขา ๑๐ ได้แก่

    • ๑. ฉฬังคุเปกขา
    • ๒. พรหมวิหารุเปกขา
    • ๓. โพชฌังคุเปกขา
    • ๔. วิริยุเปกขา
    • ๕. สังขารุเปกขา
    • ๖. เวทนุเปกขา
    • ๗. วิปัสสนูเปกขา
    • ๘. ตัตตรมัชฌัตตตุเปกขา
    • ๙. ฌานุเปกขา
    • ๑๐. ปาริสุทธุเปกขา

    นี่คือความละเอียดของธรรม ซึ่งก็เป็นชีวิตประจำวัน โดยที่ว่าถ้าไม่ศึกษา ก็อาจจะใช้คำซึ่งไม่สามารถที่จะเข้าใจได้ชัดเจนว่า คำว่า “อุเบกขา” หมายความถึงสภาพธรรมอะไร เพราะเหตุว่าลักษณะอาการของอุเบกขานั้นมีถึง ๑๐ ประการ

    สำหรับอุเบกขาที่ ๑ คือ ฉฬังคุเปกขา ฉ คือ ๖ เพราะฉะนั้นฉฬังคุเปกขา ได้แก่ ตัตตรมัชฌัตตตาเจตสิกซึ่งเกิดกับมหากิริยาชวนจิตของพระอรหันต์ ในขณะที่รู้อารมณ์ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ทั้งที่น่าปรารถนาและไม่น่าปรารถนาทางทวารทั้ง ๖

    นี่คือความต่างกันของผู้ที่เป็นพระอรหันต์กับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ เพราะเหตุว่าพระอรหันต์ดับกิเลสหมด ไม่มีเชื้อของกิเลสใดๆ จะเกิดขึ้นเลย เพราะฉะนั้นเวลาที่เห็น ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่น่าพอใจหรือไม่น่าพอใจ กุศลจิตก็ไม่เกิด อกุศลจิตก็ไม่เกิด ลองคิดดู สำหรับผู้ที่เป็นพระอริยบุคคลขั้นต้น คือ พระโสดาบันบุคคล พระสกทาคามีบุคคล ยังยินดีในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ในธัมมารมณ์ เวลาเห็นอารมณ์ที่น่าพอใจ ก็ชอบ เวลาเห็นอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจ ก็ไม่ชอบ แม้ว่าท่านเป็นพระอริยบุคคลขั้นพระโสดาบัน ขั้นพระสกทาคามี แต่เห็นความละเอียดยิ่งขึ้นของผู้ที่ละคลายกิเลส เช่น พระอนาคามี ไม่ยินดีไม่ติดในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ เพราะฉะนั้นเวลาที่เห็นแล้ว ได้ยินแล้ว ไม่มีความยินดีพอใจ ไม่มีโลภมูลจิตในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และไม่มีโทสมูลจิต เพราะเหตุว่าพระอนาคามีดับโทสมูลจิตเป็นสมุจเฉท ไม่เกิดเลย แต่สำหรับผู้ที่เป็นพระอรหันต์ แม้โลภะก็ไม่มี ซึ่งสำหรับพระอนาคามีไม่มีโลภะในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะจริง แต่ว่ายังมีความพอใจในภพ ในขันธ์ ซึ่งพระอรหันต์ดับความพอใจทั้งหมด

    เพราะฉะนั้นเวลาที่พระอรหันต์ดับกิเลสหมด แต่ท่านยังไม่ปรินิพพาน ยังเห็น เหมือนคนธรรมดาทั้งหลาย ยังได้ยินเหมือนคนธรรมดาทั้งหลาย ไม่ว่าคนธรรมดาเห็นอะไร ได้ยินอะไร ได้กลิ่นอะไร ลิ้มรสอะไร สัมผัสอะไร ผู้ที่เป็นพระอรหันต์ก็ได้ยินอย่างนั้น เห็นอย่างนั้น ได้กลิ่นอย่างนั้น ลิ้มรสอย่างนั้น รู้โผฏฐัพพะอย่างนั้น แต่ว่าจิตที่เป็นชวนวิถีเป็นฉฬังคุเปกขา เพราะเหตุว่าเป็นมหากิริยาจิต ก็ลองคิดดูถึงสภาพที่ต่างกันมากของผู้ที่ยังหวั่นไหวไปกับสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ โดยยับยั้งไม่ได้ อย่างเสียงดังปรากฏเมื่อกี้นี้ ถ้าเป็นผู้ไว จะรู้สึกความรู้สึกแล้วใช่ไหม เวทนาขณะนั้นชอบหรือไม่ชอบ ถ้าไม่ชอบ เพียงความไม่ชอบนิดเดียวที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ยับยั้งไม่ได้ นั่นคือสภาพของกิเลสซึ่งยังไม่ได้ดับ แต่สำหรับพระอรหันต์ ถ้าได้ยินเสียงอย่างนั้น ก็เห็นความที่ดับกิเลสเป็นสมุจเฉทซึ่งฉฬังคุเปกขา เพราะเป็นมหากิริยาจิต

    เพราะฉะนั้นสำหรับพระอรหันต์ไม่ว่าจะเห็น จะได้ยินคำที่น่าพอใจ ไม่น่าพอใจต่างๆ ไม่ว่าจะอารมณ์อะไรทั้งสิ้น จิตของท่านเป็นมหากิริยา

    สำหรับปุถุชนยังหวั่นไหวกับเรื่องที่น่าตื่นเต้น ก็ตื่นเต้น เรื่องที่น่าโศกเศร้า ก็โศกเศร้า เป็นไปตามอารมณ์ที่ปรากฏจริงๆ

    มีใครไม่เป็นอย่างนั้นบ้าง ต้องเป็นผู้ที่ค่อยๆ อบรมด้วยกุศลจิต โดยเฉพาะคือ สติปัฏฐานที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้นตามความเป็นจริง

    ข้อความในอังคุตตรนิกาย ทุกนิบาต ทุติยปัณณาสก์ ข้อ ๓๐๒

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ๒ จำพวกนี้ เมื่อฟ้าผ่าย่อมไม่สะดุ้ง ๒ จำพวกเป็นไฉน คือ พระภิกษุขีณาสพ ๑ ช้างอาชาไนย ๑

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ๒ จำพวกนี้แล เมื่อฟ้าผ่าย่อมไม่สะดุ้ง

    ข้อ ๓๐๓ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ๒ จำพวกนี้ เมื่อฟ้าผ่าย่อมไม่สะดุ้ง ๒ จำพวกเป็นไฉน คือ

    พระภิกษุขีณาสพ ๑ ม้าอาชาไนย ๑

    ข้อ ๓๐๔ ก็ได้แก่ พระภิกษุขีณาสพ ๑ และพญาราชสีห์ ๑

    นี่ก็เป็นผู้ที่เห็นความต่างกันได้จริงๆ ระหว่างผู้ที่อบรมเจริญความไม่หวั่นไหว กับผู้ที่ยังต้องหวั่นไหวอยู่

    ธรรมพิสูจน์ได้ เวลาที่ได้ยินเสียงฟ้าร้อง ฝนตก น้ำท่วม สิ่งที่ไม่น่าพอใจต่างๆ จะตกใจมากน้อยสักแค่ไหน

    ถาม อย่างพระขีณาสพ ไม่สงสัยเวลาฟ้าผ่าไม่สะดุ้ง แต่ช้างอาชาไนย ม้าอาชาไนย พญาราชสีห์ไม่สะดุ้งนี่ อันนี้ยังสงสัยอยู่

    ท่านอาจารย์ ค่อยๆ สะสมไปที่จะไม่สะดุ้งจนถึงความเป็นอาชาไนย

    ผู้ฟัง ช้างอาชาไนย ม้าอาชาไนย พญาราชสีห์ก็ได้เจริญสติปัฏฐานเหมือนกันหรือ

    ท่านอาจารย์ ไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นผู้ที่เจริญสติปัฏฐาน แต่เป็นผู้ที่อบรมความไม่หวั่นไหวก็ได้

    ผู้ฟัง อบรมความไม่สะดุ้งต่อเสียงฟ้าผ่า อย่างนั้นหรือ

    ท่านอาจารย์ เรื่องของการอบรมเจริญกุศล ค่อยๆ ประกอบกันเป็นสังขารขันธ์ ในขณะที่กำลังเจริญสติปัฏฐานอยู่ ก็อบรมเจริญพรหมวิหารด้วย แล้วก็อบรมเจริญกุศลขั้นอื่นๆ ด้วย ประกอบกันไป เกื้อกูลกันไป เพราะเหตุว่าใครจะรู้ว่า ช้างอาชาไนยก็ดี ม้าอาชาไนยก็ดี พญาราชสีห์ก็ดี อาจจะเป็นผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจจธรรมเมื่อได้เกิดใหม่ในภพภูมิที่สามารถจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมก็ได้

    สำหรับช้างอาชาไนยในชาติที่เป็นช้าง ก็ไม่ได้เจริญสติปัฏฐานแน่ ม้าอาชาไนย พญาราชสีห์ในชาตินั้นก็ไม่ได้เจริญ แต่ว่าการเจริญกุศลควรที่จะเจริญทุกประการพร้อมทั้งเป็นผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐาน กำลังตกใจ กำลังกลัว แต่พอสติเกิดก็บรรเทาไปได้มากทีเดียว โดยเฉพาะที่เป็นสติปัฏฐาน

    ถาม ที่ว่าอุเบกขา ถ้าเห็นคนตกน้ำ แต่เราปล่อยให้ตายไปต่อหน้าต่อตา แต่เราคิดว่า ถ้าเราช่วยตอนนั้นคงไม่ตาย

    ท่านอาจารย์ นี่เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาจิตว่า ขณะนั้นเป็นกุศลหรืออกุศล ถ้าตกน้ำก็ตกไป ขณะนั้นเป็นกุศลหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ถ้าเมตตาลงไปช่วยเลย ก็เป็นกุศล

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็เห็นได้ด้วยตัวเองว่า ต้องระวังอุเบกขาที่อาศัยเรือน คือ ขณะที่เห็น ได้ยิน แล้วกุศลจิตไม่เกิด ต้องรู้ลักษณะของจิตว่าขณะนั้นเป็นอกุศล ถ้าไม่ใช่โลภมูลจิต ไม่ใช่โทสมูลจิต ก็ต้องเป็นโมหมูลจิต ไม่ใช่กุศล แล้วแต่ว่าขณะนั้นกำลังประสบกับอารมณ์อะไร ถ้าประสบกับอารมณ์ที่กรุณาควรจะเกิด ขณะที่กรุณาเกิด จะรู้ว่าต่างกับขณะที่ตกก็ตกไป แต่ถ้าคนนั้นตาย ควรจะเศร้าหมองร้องไห้ หรือว่าควรที่จะระลึกถึงกรรม

    ผู้ฟัง ระลึกถึงกรรม แต่ถ้าช่วยได้ ก็ช่วยเลย

    ท่านอาจารย์ แน่นอน ต้องเป็นกุศลประการหนึ่งประการใดในพรหมวิหาร

    ผู้ฟัง ต้องประกอบกัน เมตตา กรุณา

    สุ. เมตตาในเมื่อควรเมตตา กรุณาเมื่อควรกรุณา มุทิตาเมื่อควรมุทิตา อุเบกขาเมื่อควรอุเบกขา ต่อเมื่อใดที่ไม่สามารถที่ช่วยได้ เพราะเหตุว่าแม้ว่าช่วยแล้ว ก็ไม่สำเร็จ มีเมตตาแล้วก็ตาม มีกรุณาแล้วก็ตาม ก็ยังไม่สามารถที่จะทำให้คนนั้นพ้นจากความทุกข์ ความเดือดร้อนได้ ใช่ไหม ก็ต้องเป็นอุเบกขาพรหมวิหาร แทนที่จะเศร้าหมอง คือ ไม่ควรที่จะให้จิตตกไปในอกุศล

    ยังมีข้อสงสัยอะไรไหม ในเรื่องของฉฬังคุเปกขา ใครมีบ้าง ไม่มี อุเบกขาเวทนา มี อุเบกขาพรหมวิหาร มี แต่ฉฬังคุเปกขา ไม่มี เพราะเหตุว่าต้องเป็นไปเมื่อกระทบกับอารมณ์ทั้ง ๖ ทางทวารทั้ง ๖ โดยเป็นมหากิริยาชวนจิตของพระอรหันต์เท่านั้น ซึ่งดับเชื้อของกิเลสหมด ไม่มีกิเลสเหลือเลย

    อุเบกขาที่ ๒ ในอุเบกขา ๑๐ คือ พรหมวิหารุเปกขา ซึ่งก็ได้แก่ ตัตตรมัชฌัตตตาเจตสิกซึ่งเกิดกับโสภณจิต ซึ่งเป็นสภาพที่วางตนเป็นกลางในสัตว์ทั้งหลาย

    บางคนสะสมความเป็นกลางตั้งแต่เด็ก เพราะฉะนั้นตัตตรมัชฌัตตตาซึ่งเป็นอุเบกขาพรหมวิหาร ไม่จำกัดวัย ว่าจะต้องเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ เพราะเหตุว่าบางคนก็เป็นกลางและเป็นคนที่ยุติธรรมมากทีเดียวแม้ว่ายังเป็นเด็กอยู่

    ลูกชายของท่านผู้หนึ่ง ซึ่งท่านผู้นั้นก็เอาเด็กคนหนึ่งมาเลี้ยงด้วย และก็เวลาที่มีอาหารที่รู้สึกว่าไม่ค่อยมีรสอร่อย เพราะเหตุว่าเก็บไว้หรือรสชาติไม่ดีก็ให้ลูกที่เอามาเลี้ยงรับประทาน แต่ลูกจริงๆ ของคนนั้นกล่าวกับคุณแม่โดยกล่าวว่า “ทีลูกของตัวไม่ให้รับประทาน แต่ให้เด็กอื่นรับประทาน”

    ลองคิดดูถึงความยุติธรรมของเด็กคนนั้นว่า เข้าใจถึงจิตใจของแม่ว่า เป็นกลางหรือเปล่า ในขณะที่อาหารไม่อร่อย รสชาติเสียแล้ว ไม่ให้ลูกของตัวเองรับประทาน แต่ให้ลูกคนอื่นรับประทาน ก็ทำให้ผู้เป็นมารดาเกิดระลึกได้ถึงความไม่เป็นกลาง

    เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่า ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ ถ้าเป็นผู้ที่สังเกตทุกอย่าง เป็นผู้ที่ละเอียด และเป็นผู้ที่ตรง สะสมตัตตรมัชฌัตตตามาแล้ว มีความเป็นกลาง ไม่ว่าตัวเองหรือบุคคลอื่น ทั้งๆ ที่ตัวเองเป็นลูก และเป็นผู้ที่จะได้รับประทานอาหารอร่อย และอีกคนหนึ่งเป็นเด็กที่เอามาเลี้ยง ไม่ใช่ลูกจริงๆ แต่ได้รับประทานที่ไม่อร่อย แต่ผู้ที่เป็นลูกจริงๆ นั้นก็ถึงกับกล่าวกับคุณแม่ว่า “ทำไมลูกของตัวไม่ให้รับประทานอาหารที่รสชาติไม่อร่อย แต่ว่าให้ลูกคนอื่นรับประทาน”

    นี่ก็เป็นสิ่งซึ่งควรที่จะได้เห็นประโยชน์ของตัตตรมัชฌัตตตาเจตสิก ซึ่งจะสะสมสืบต่อไป จะทำให้เป็นผู้ที่เจริญกุศล โดยการเป็นผู้ที่เป็นกลางจริงๆ แม้ตนเองเป็นฝ่ายที่ได้ประโยชน์ ก็ยังคิดถึงคนอื่นว่า ทำไมคนอื่นไม่ได้ประโยชน์อย่างนั้นด้วย ซึ่งก็ยากซึ่งเด็กในวัยนั้นจะคิด เพราะว่าโดยมากทุกคนก็มักจะเห็นแก่ตัว ถ้าได้สิ่งที่เป็นประโยชน์แล้วก็ไม่คำนึงถึงคนอื่น หรือว่าถ้าตนเองได้สิ่งที่ดีแล้ว คนอื่นได้สิ่งที่ไม่ดี ก็เลยไม่เดือดร้อน แต่ถ้าเป็นผู้ที่เป็นกลางจริงๆ ก็จะเห็นว่า ความเป็นธรรม ควรจะเป็นอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นลูกเขาหรือลูกเรา ก็ควรที่จะเหมือนกัน นั่นคือสภาพของอุเบกขาพรหมวิหาร

    อุเบกขาที่ ๓ ในอุเบกขา ๑๐ คือ โพชฌังคุเปกขา ซึ่งก็ได้แก่ ตัตตรมัชฌัตตตาเจตสิกที่เกิดในการเจริญสติปัฏฐาน ซึ่งจะต้องเป็นผู้ที่ตรงต่อข้อปฏิบัติที่ตรงด้วยตัตตรมัชฌัตตตาตั้งแต่ต้น เพราะเหตุว่าจะต้องเป็นการพิจารณาข้อปฏิบัติโดยรอบคอบจริงๆ ถ้าไม่พิจารณาโดยละเอียด โดยถี่ถ้วน โดยรอบคอบ จะไม่ทราบเลยว่า ความต้องการผลอย่างรวดเร็ว โลภะ จะทำให้ข้อปฏิบัตินั้นเพี้ยนไปหรือว่าเขวไป ไม่ใช่ข้อปฏิบัติที่ถูกต้องเสียแล้ว

    เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะคิดที่จะต้องการให้เกิดสติมากสักเท่าไร พยายามหาทางอื่นอีกสักเท่าไร ก็จะต้องคิดว่าถ้าเป็นคำสอนของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าตามพระไตรปิฎกแล้ว ก็จะต้องเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน

    นี่เป็นอย่างเดียวเท่านั้น ไม่ใช่ให้ไปทำอย่างอื่นเลย ถ้าตราบใดยังไม่ใช่ผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน ก็แสดงว่าไม่ใช่หนทางที่จะทำให้รู้สภาพธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ตามปกติตามความเป็นจริง ซึ่งปัญญาจะต้องตรงที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้น แล้วค่อยๆ เพิ่มความรู้ลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน จนสามารถที่จะคลายความยึดถือสภาพธรรมนั้นว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนได้

    เพราะฉะนั้นในขณะนี้ เป็นปกติอย่างนี้ นามธรรมที่เกิด เกิดเพราะเหตุปัจจัย รูปธรรมที่กำลังปรากฏ เกิดเพราะเหตุปัจจัย สติระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทันที

    นี่เป็นหนทางเดียว ไม่ใช่ไปพยายามทำอย่างอื่นขึ้นมา ซึ่งไม่ใช่ปกติ

    ขอให้พิจารณาจริงๆ แล้วก็จะต้องระลึกอยู่เสมอว่า ต้องเป็นผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐานเท่านั้น มิฉะนั้นแล้วโลภะจะทำให้คลาดเคลื่อน อยากจะให้มีวิธีการอย่างนั้นอย่างนี้บ้าง และถ้าเป็นวิธีหนึ่งวิธีใด ซึ่งไม่ใช่เป็นการเป็นผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐานแล้ว จะรู้สภาพธรรมทั่วไม่ได้ เพราะเหตุว่าถ้ารู้ทั่ว ต้องเป็นในขณะนี้ ยังไม่เป็นการไปทำอย่างอื่นขึ้นมาเลย ใช่ไหม เพราะเหตุว่าสติระลึกได้ทันที ตามความเป็นจริง

    เพราะฉะนั้นโพชฌังคุเปกขา ก็ได้แก่ ตัตตรมัชฌัตตตาเจตสิกซึ่งต้องเกิดตั้งแต่พิจารณาข้อปฏิบัติให้ตรง ให้ถูกต้อง แล้วก็อบรมเจริญปัญญาไปเรื่อยๆ จนกว่าจะค่อยๆ ศึกษาพิจารณารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตาตามปกติ ทางหูตามปกติ ทางจมูกตามปกติ ทางลิ้นตามปกติ ทางกายตามปกติ ทางใจตามปกติ จนคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน แม้ว่าจะยาก แต่ก็เป็นของจริง ซึ่งถ้าไม่ใช่ของจริงแล้วละก็ ปัญญาไม่สามารถที่จะละกิเลสได้เลย เพราะเหตุว่าขณะนั้นแม้โลภะเกิด ที่จะให้ทำอย่างอื่นก็ไม่รู้ ก็เข้าใจว่าขณะนั้นสติเกิดมาก แต่ว่าถ้าไม่ใช่สัมมาสติในมรรคมีองค์ ๘ ก็ไม่ใช่หนทางที่ถูกต้อง

    มีใครคิดหาทางที่จะให้สติเกิดบ่อยๆ มากๆ บ้างไหม ขณะที่คิด ไม่ใช่ขณะที่ระลึกทันที เพราะฉะนั้นก็ผ่านไปอีกแล้ว เลยสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติแล้ว แล้วก็หลงติดในความคิดที่ว่า จะมีหนทางอื่น ไม่ใช่การระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ตามที่ทรงแสดงไว้ว่าเป็นหนทางเดียว

    เพราะฉะนั้นเมื่อปัญญาค่อยๆ อบรม ค่อยๆ เจริญขึ้น ก็จะเป็นโพชฌังคุเปกขา คือ เป็นอุเบกขาที่เป็นองค์ของการตรัสรู้ เพราะฉะนั้นทุกคนก็สามารถที่จะพิจารณาธรรมที่ได้ยินได้ฟังจริงๆ ว่า มีอุเบกขาชนิดไหน ฉฬังคุเปกขา ไม่มี อุเบกขาที่ ๑ ไม่มี อุเบกขาที่ ๒ คือ พรหมวิหารุเปกขา ก็จะต้องพิจารณาด้วย ต้องเป็นผู้ที่ตรงจริงๆ สำหรับการที่จะเจริญพรหมวิหารุเปกขา และอุเบกขาที่ ๓ คือ โพชฌังคุเปกขา ถ้าปัญญายังไม่เจริญถึงขั้นที่จะเป็นองค์ของการตรัสรู้อริยสัจจธรรม ตัตตรมัชฌัตตตานั้นก็ยังไม่เป็นโพชฌังคุเปกขา

    สำหรับโพชฌงค์ซึ่งเป็นองค์ของการตรัสรู้ มี ๗ คือ สติสัมโพชฌงค์ ๑ ได้แก่ สติเจตสิก ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ ๑ ได้แก่ ปัญญาเจตสิก วิริยสัมโพชฌงค์ ๑ ได้แก่ วิริยเจตสิก ปีติสัมโพชฌงค์ ๑ ได้แก่ ปีติเจตสิก ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ๑ ได้แก่ ปัสสัทธิเจตสิก สมาธิสัมโพชฌงค์ ๑ ได้แก่ เอกัคคตาเจตสิก อุเปกขาสัมโพชฌงค์ ๑ ซึ่งก็ได้แก่ ตัตตรมัชฌัตตตาเจตสิก

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 24
    20 ม.ค. 2565

    ซีดีแนะนำ