โสภณธรรม ครั้งที่ 080


    ตอนที่ ๘๐

    เพราะฉะนั้นอามิส หมายความถึงรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ซึ่งเป็นที่ใคร่ที่พอใจ

    ขอกล่าวถึงปัญญาขั้นอื่นๆ ต่อไป เพื่อจะได้เห็นว่า พระธรรมที่ทรงแสดงไว้ ทรงแสดงไว้ละเอียดจริงๆ

    ข้อ ๒๔๓

    ปัญญาในความที่ธรรมปรากฏ เป็นขันติญาณอย่างไร ฯ

    ชื่อของปัญญาก็มีมาก ตามคุณธรรม

    คือ รูปปรากฏโดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

    ไม่ว่าจะเป็นรูปใดๆ เวทนาใดๆ สัญญาใดๆ สังขารใดๆ วิญญาณใดๆ ปรากฏโดยความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ปัญญาในความที่ธรรมปรากฏจึงเป็นขันติญาณ

    อดทนต่อสภาพธรรมที่เกิดขึ้นและดับไปโดยไม่หวั่นไหว จึงจะเป็นขันติญาณ เพราะเหตุว่าถ้าเป็นปัญญาเพียงเล็กน้อย แล้วก็คิดว่าสภาพธรรมเกิดขึ้น ดับไป ไม่เที่ยง ย่อมเป็นทุกข์ หรือว่าตกใจ หรืออาจจะกลัวลักษณะที่กำลังปรากฏนั้น แต่ว่าปัญญาที่ทนต่อสภาพการเกิดขึ้นและดับไป ไม่หวั่นไหวที่จะประจักษ์แจ้งในอาการที่เกิดดับนั้น เป็นขันติญาณ นี่ก็เป็นพลววิปัสสนา

    ข้อ ๒๔๔

    ปัญญาในความถูกต้องธรรม เป็นปริโยคาหนญาณอย่างไร ฯ

    ท่านที่ไม่ชินต่อภาษาบาลีก็คงไม่ต้องจำ แม้แต่ดิฉันเองก็เพียงแต่ค้นคว้า และได้แสดงให้เห็นว่า ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงลักษณะของปัญญาไว้มากมาย ก็เพื่อที่จะให้เห็นความสมบูรณ์ ความคมกล้าของปัญญาแต่ละขั้นที่เป็นพลววิปัสสนา

    ปัญญาย่อมถูกต้องรูปโดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ปัญญาย่อมถูกต้องรูปใดๆ ก็เข้าไปสู่ คือประจักษ์แจ้งในรูปนั้นๆ ฉะนั้น ปัญญาในความถูกต้องธรรม จึงเป็นปริโยคาหนญาณ

    ข้อ ๒๔๕

    ปัญญาในการรวมธรรม เป็นปเทสวิหารญาณอย่างไร

    หมายความว่า ปัญญาขั้นนี้รู้ธรรมทุกชนิดโดยละเอียด โดยความต่างกัน เช่น

    เพราะมิจฉาทิฏฐิเป็นปัจจัย ก็ย่อมมีอกุศลเวทนา เพราะความสงบแห่งมิจฉาทิฏฐิเป็นปัจจัย ย่อมมีกุศลเวทนา

    แม้แต่เวทนาที่เป็นกุศลก็รู้ว่า ต่างกับเวทนาที่เป็นอกุศล และผู้ที่ยังไม่ใช่พระโสดาบันบุคคล ยังไม่ได้ดับมิจฉาทิฏฐิเป็นสมุจเฉท เพราะฉะนั้นบางครั้งบางขณะที่จะมีเหตุปัจจัยที่จะทำให้มิจฉาทิฏฐิเกิดคิดไปในทางที่ไม่ถูกต้อง ขณะนั้นปัญญาก็ยังสามารถที่จะรู้ว่า เพราะมิจฉาทิฏฐิเป็นปัจจัย ก็ย่อมมีอกุศลเวทนา ไม่ว่าเวทนาที่เกิดร่วมกับมิจฉาทิฏฐินั้น จะเป็นอุเบกขาเวทนา หรือว่าจะเป็นโสมนัสเวทนาก็ตาม ปัญญาก็ยังรู้ว่า เวทนานั้นเกิดเพราะมิจฉาทิฏฐิ และเมื่อมิจฉาทิฏฐิหมดไป เพราะความสงบแห่งมิจฉาทิฏฐิเป็นปัจจัยก็ย่อมมีกุศลเวทนา บางท่านพิจารณากุศลจิตและอกุศลจิตว่าต่างกัน แต่ถ้าเป็นความละเอียดยิ่งกว่านั้น ก็พิจารณาสภาพของความรู้สึกว่า ความรู้สึกที่เป็นอกุศลก็อย่างหนึ่ง ความรู้สึกที่เป็นกุศลก็อย่างหนึ่ง ความรู้สึกที่เป็นอกุศลที่เป็นอุเบกขาก็มี ที่เป็นโสมนัสก็มี แต่เป็นอกุศล ส่วนความรู้สึกที่เป็นกุศล เป็นอุเบกขาก็มี เป็นโสมนัสก็มี แต่เป็นกุศล

    เพราะฉะนั้นก็สามารถเห็นความต่างกันของเวทนาซึ่งเป็นกุศลและเป็นอกุศล

    นอกจากนั้นปัญญาก็ยังรู้ว่า

    เพราะมิจฉาวิมุติเป็นปัจจัย ก็ย่อมมีอกุศลเวทนา

    ใครก็ตามที่เคยปฏิบัติผิด เข้าใจผิดว่าบรรลุแล้ว เพราะมิจฉาวิมุติเป็นปัจจัย ก็ย่อมมีอกุศลเวทนา

    ในขณะที่เข้าใจผิดว่าบรรลุ ขณะนั้นมีอกุศลเวทนา แต่ไม่รู้ว่าเป็นอกุศลเวทนา แต่ภายหลังเมื่อได้ศึกษาได้เข้าใจได้เปลี่ยนวิธีปฏิบัติ เป็นการอบรมเจริญปัญญาที่ถูกต้องจริงๆ ขณะนั้นก็จะรู้ว่า

    เพราะความสงบแห่งมิจฉาวิมุติเป็นปัจจัย ก็ย่อมมีกุศลเวทนา

    ความที่เคยหลงผิด เข้าใจผิดว่าพ้นแล้ว แต่เป็นการพ้นผิด เพราะไม่ใช่การพ้นจริงๆ เมื่อรู้แล้วว่า ขณะก่อนที่เป็นมิจฉาวิมุติเป็นปัจจัยให้เกิดอกุศลเวทนา

    เพราะฉะนั้นเมื่อเข้าใจว่า ขณะนั้นแต่ก่อนที่เคยเข้าใจว่าพ้น ความจริงเป็นมิจฉาวิมุติ การที่ปัญญาเข้าใจถูกอย่างนี้ ก็ย่อมมีกุศลเวทนาในขณะนั้น

    นี่ก็เป็นการรู้ธรรมทุกชนิดโดยละเอียด เป็นปเทสวิหารญาณ คือ ปัญญาในการรวมธรรม

    นิภัทร กุศลเวทนากับอกุศลเวทนาที่เป็นฝ่ายโสมนัสด้วยกัน ต่างกันอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ต่างกันที่สภาพของเวทนาไม่ผ่องใส เป็นอกุศล กับสภาพของเวทนาผ่องใสเป็นกุศล ไม่ผ่องใสบางทีใช้คำว่าเศร้าหมอง แต่ไม่ได้หมายความว่าเป็นทุกข์โศกเศร้า หมายความว่ามีมลทินคืออกุศลธรรมเกิดร่วมด้วย

    นิภัทร ที่รูปสวย เสียงเพราะ พอใจเป็นโสมนัส

    ท่านอาจารย์ ทุกคนเคยชินกับความหลงเพลินไปในความสุขของรูป ของเสียง ของกลิ่น ของรส แล้วเวลาที่เป็นกุศล ไม่ติดไม่ข้องในสิ่งนั้น หรือไม่เห็นว่าเป็นสาระมากมายอย่างที่เคย ขณะที่เป็นกุศลจิตเกิดขึ้น จะรู้ว่า เวทนาแม้ว่าเป็นอุเบกขาก็ตาม หรือโสมนัสก็ตาม แต่ก็ต่างกัน แม้ในความคิดความเห็นก็ต่างกัน

    นิภัทร เป็นโสมนัส แต่ไม่ติดในอารมณ์ หรือว่าเข้าใจถูกต้องตามความเป็นจริง แล้วก็มีความพอใจความยินดี

    ท่านอาจารย์ ขณะใดที่กุศลจิตเกิด เวทนาขณะนั้นต่างกับเวทนาที่เกิดกับอกุศลจิต เวลาที่โทสมูลจิตเกิดต่างกับเวทนาที่เป็นกุศลจิต ใช่ไหม เวลาที่กำลังอยากได้อะไร หรือพอใจอะไรมากๆ กำลังติดข้อง กำลังเพลิน เพราะจริง หรือว่าสวยจริง น่าดูจริง สนุกจริง กำลังมีโสมนัสเวทนา แล้วชั่วขณะต่อไปก็ระลึกได้ว่า เพียงชั่วขณะจิตเดียวเท่านั้นเอง สิ่งซึ่งหลงพอใจหรือว่าเป็นสุขมากมายนั้นก็ไม่ยั่งยืน นี่เป็นเวทนาที่ต่างกันแล้ว ใช่ไหมคะ ถ้าระลึกได้ด้วยความโสมนัส ดีใจที่ได้ระลึกได้ถึงขั้นนี้ที่ว่า แม้แต่ความสุขชั่วขณะนั้นก็ไม่เที่ยง ขณะที่เป็นโสมนัสที่ระลึกได้ด้วยปัญญา กับขณะที่กำลังเพลินพอใจในสิ่งที่กำลังเห็น กำลังสนุกร่าเริง นี่ก็แสดงให้เห็นว่าโสมนัสเวทนา ๒ ขณะนี้ต่างกัน

    พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโดยละเอียดมีอุปการะเกื้อกูลเป็นอันมาก ข้อความในอรรถกถา อังคุตตรนิกาย ทุกนิบาต อธิกรณวรรค ที่ ๒ ในสูตรที่ ๔ ข้อ ๒๖๐ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้

    พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า ธรรมเทศนามี ๒ เท่านั้น คือ ธรรมเทศนาโดยสังเขป ธรรมเทศนาโดยพิสดาร คือ โดยละเอียด เทศนาที่ตรัสแสดงเฉพาะหัวข้อ ชื่อเทศนาโดยสังเขป เทศนาที่ตรัสแสดงอธิบายโดยละเอียด ชื่อเทศนาโดยพิสดาร

    ในเทศนา ๒ อย่างนั้น เทศนาโดยสังเขปตรัสแก่บุคคลที่มีปัญญามาก เทศนาโดยพิสดารตรัสแก่บุคคลผู้มีปัญญาน้อย เพราะเทศนาโดยพิสดารย่อมเป็นเหมือนเนิ่นช้าอย่างยิ่งแก่ผู้มีปัญญามาก เทศนาโดยสังเขปย่อมเป็นเหมือนกระต่ายกระโดดแก่ผู้มีปัญญาน้อย ไม่อาจจับต้นชนปลายได้

    อนึ่ง เทศนาโดยสังเขปตรัสแก่บุคคลประเภทอุคฆฏิตัญญูบุคคล เทศนาโดยพิสดารตรัสแก่บุคคล ๓ ประเภทนอกนี้ คือ ตรัสแก่ วิปัญจิตัญญูบุคคล เนยยบุคคล และ ปทปรมบุคคล พระไตรปิฎกทั้งสิ้นย่อมนับเข้าในข้อนี้ว่า เทศนาโดยสังเขป เทศนาโดยพิสดารนั่นแล

    ท่านผู้ฟังคงจะเคยมีบางท่านที่กล่าวว่า ขอให้พูดธรรมย่อๆ นิดๆ หน่อยๆ เพราะฉะนั้นบุคคลไม่ทราบว่า แท้ที่จริงแล้วเทศนาโดยสังเขปนั้นตรัสแก่บุคคลที่มีปัญญามาก โดยเฉพาะ คือ ตรัสแก่บุคคลประเภทอุคฆฏิตัญญู คือ ผู้ที่เพียงแสดงธรรมด้วยพระคาถาสั้นๆ ก็บรรลุคุณธรรมเป็นพระโสดาบัน เป็นพระอริยบุคคล

    เพราะฉะนั้นธรรมที่ทรงแสดงโดยพิสดาร โดยละเอียดตรัสแก่บุคคล ๓ ประเภท คือ วิปจิตัญญูบุคคล ผู้ที่ต้องแสดงธรรมละเอียดกว่าหัวข้อจึงรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ และเนยยบุคคลคือผู้ที่ต้องฟังมาก พิจารณามาก ศึกษามาก สอบถามมาก ใคร่ครวญมาก สนทนาธรรมมาก แสดงธรรมมาก จึงจะบรรลุเป็นเนยยบุคคล และสำหรับปทปรมบุคคล คือ แม้ว่าจะได้ฟังสักเท่าไร พิจารณาสักเท่าไร ศึกษาสักเท่าไร สอบถามสนทนาธรรมสักเท่าไร ในชาตินั้นก็ไม่บรรลุ

    เพราะฉะนั้นท่านผู้ฟังที่จะกล่าวว่า ให้แสดงธรรมนิดๆ หน่อยๆ หรือว่าโดยย่อๆ เท่านั้น ต้องเป็นผู้ที่สำคัญผิด ที่คิดว่าสามารถจะเข้าใจพระธรรมได้เพียงการแสดงหรือการกล่าวธรรมโดยย่อ แต่ว่าการที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมโดยละเอียดเพื่อเกื้อกูลต่อผู้ที่ไม่ใช่อุคฆฏิตัญญูบุคคล กว่าที่ปัญญาจะเจริญขึ้นจนทั่วจริงๆ

    ซึ่งขอกล่าวถึงข้อความต่อไป คือ ในข้อ ๒๖๖

    ทุกขญาณเป็นไฉน

    มีแต่ชื่อญาณ ญาณทั้งนั้นเลย เพราะว่าเป็นเรื่องของปัญญา แล้วบางญาณก็ชินหู เช่น คำว่า ทุกขญาณ ญาณคือป็ญญาที่ประจักษ์ทุกข์คือไตรลักษณ์ ไม่ใช่ทุกข์อื่น แต่ทุกข์ที่เป็นการเกิดขึ้นและดับไป เพราะฉะนั้นก็เป็นอุทยัพพยานุปัสสนาญาณ

    ทุกขญาณเป็นไฉน ความรู้ทั่ว

    อย่าข้ามพยัญชนะเลย พิจารณาตามไปด้วยว่า กว่าจะถึงต้องเป็นอย่างนั้นจริงๆ

    ความรู้ทั่ว ความรู้ชัด ความเลือกเฟ้น ความค้นคว้า ความสอดส่องธรรม ความกำหนดดี ความเข้าไปกำหนด เฉพาะ ความเป็นบัณฑิต ความเป็นผู้ฉลาด ความเป็นผู้ละเอียด ฉลาดยังไม่พอ ต้องความเป็นผู้ละเอียด

    ความแจ่มแจ้ง ความคิด ความพิจารณา ปัญญากว้างขวางดังแผ่นดิน ปัญญาอันทำลายกิเลส ปัญญาอันนำไปรอบ ความเห็นแจ้ง ความรู้ทั่วพร้อม ปัญญาดังปฏัก ปัญญาเป็นใหญ่ ปัญญาเป็นกำลัง ปัญญาดังศาตรา ปัญญาดังปราสาท ปัญญาเป็นแสงสว่าง ปัญญาเป็นรัศมี ปัญญารุ่งเรือง ปัญญาดังรัตนะ ความไม่หลง ความเลือกเฟ้นธรรม สัมมาทิฏฐิที่ปรารถทุกข์เกิดขึ้น นี้ท่านกล่าวว่า ทุกขญาณ

    นอกจากนั้นก็ ปรารภทุกขสมุทัย ปรารภทุกขนิโรธ ปรารภทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ไม่มีอะไรต่างไปจากการเป็นผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐาน จนกว่าปัญญาจะรู้ทั่วอย่างนั้นจริงๆ

    ทุกท่านรู้จักตนเองตามความเป็นจริง หรือว่าอาจจะมีบางท่านที่ไม่รู้จักตนเองตามความเป็นจริง ก็ประมาทว่าการอบรมเจริญปัญญาก็คงจะไม่นานเท่าไร ก็สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ นั่นสำหรับผู้ที่ประมาท แต่ว่าถ้าเป็นผู้ที่รู้จักตัวเองตามความเป็นจริงก็จะรู้ว่า ขณะนี้ทางตา สติปัฏฐานเกิดไหม รู้หรือยัง ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ทั้งรูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ สติปัฏฐานจะต้องระลึกจนทั่ว

    สำหรับผู้ที่ยังไม่รู้จักตัวเอง ข้อความใน อินทริยปโรปริยัตตญาณของพระตถาคตเป็นไฉน ข้อ ๒๖๙ มีข้อความว่า

    ในอินทริยปโรปริยัตตญาณของพระตถาคตนี้ พระตถาคตย่อมทรงเห็นสัตว์ทั้งหลายผู้มีกิเลสน้อยในปัญญาจักษุ มีกิเลสมากในปัญญาจักษุ มีอินทรีย์แก่กล้า มีอินทรีย์อ่อน มีอาการดี มีอาการชั่ว พึงให้รู้แจ้งได้โดยง่าย พึงให้รู้แจ้งได้โดยยาก บางพวกมีปกติเห็นปรโลกและโทษโดยความเป็นภัย บางพวกมิได้มีปกติเห็นปรโลกและโทษโดยความเป็นภัย

    จะเลือกอยู่ฝ่ายไหน ถ้าเป็นผู้ที่รู้จักตัวเองตามความเป็นจริง ซึ่งได้ทรงแสดงไว้โดยละเอียดว่า

    คำว่า “มีกิเลสธุลีน้อยในปัญญาจักษุ” และ “มีกิเลสธุลีมากในปัญญาจักษุ” ความว่า บุคคลผู้มีศรัทธา เป็นคนมีกิเลสธุลีน้อยในปัญญาจักษุ บุคคลผู้ไม่มีศรัทธา เป็นคนมีกิเลสธุลีมากในปัญญาจักษุ

    เริ่มจากศรัทธาในขณะที่ท่านผู้ฟังได้ยินได้ฟังพระธรรม มีความสนใจที่จะเข้าใจในพระธรรมยิ่งขึ้น เป็นผู้ที่กำลังสะสมปัญญา เพราะฉะนั้นบุคคลผู้มีศรัทธา เป็นคนมีกิเลสธุลีน้อยในปัญญาจักษุ บุคคลผู้ไม่มีศรัทธา เป็นคนมีกิเลสธุลีมากในปัญญาจักษุ

    หลายท่านก็บอกว่า มีญาติสนิทมิตรสหายอีกมากทีเดียวซึ่งชักชวนให้เห็นคุณประโยชน์ของการฟังพระธรรม ก็ยังไม่เห็น เพราะฉะนั้นก็เป็นการเปรียบเทียบได้ ระดับของผู้มีกิเลสธุลีน้อยกับผู้ที่มีกิเลสธุลีมากในปัญญาจักษุ

    บุคคลผู้ปรารภความเพียร เป็นคนมีกิเลสธุลีน้อยในปัญญาจักษุ

    บุคคลผู้เกียจคร้าน เป็นคนมีกิเลสธุลีมากในปัญญาจักษุ

    การที่จะฟังพระธรรมก็ต้องเป็นคนขยัน ใช่ไหม ถ้าเป็นคนที่เกียจคร้าน ก็จะมีข้ออ้างหลายอย่างทีเดียว ที่จะทำให้ไม่ฟังพระธรรม เพราะฉะนั้นบุคคลผู้ปรารภความเพียรเป็นคนมีกิเลสธุลีน้อยในปัญญาจักษุ บุคคลผู้เกียจคร้านเป็นคนมีกิเลสธุลีมากในปัญญาจักษุ แต่ก็ยังไม่พอ ข้อความต่อไปมีว่า

    บุคคลผู้มีสติตั้งมั่น เป็นผู้มีกิเลสธุลีน้อยในปัญญาจักษุ บุคคลผู้มีสติหลงลืม เป็นคนมีกิเลสธุลีมากในปัญญาจักษุ

    ท่านผู้ฟังก็เทียบเคียงความเป็นผู้มีกิเลสธุลีน้อยกับความเป็นผู้มีกิเลสธุลีมากแต่ละขั้นๆ ได้ เพราะขั้นนี้มาถึง

    ผู้มีสติมั่นคง เป็นผู้ที่มีกิเลสธุลีน้อยในปัญญาจักษุ ผู้มีสติหลงลืม เป็นผู้มีกิเลสธุลีมากในปัญญาจักษุ

    บุคคลผู้มีจิตตั้งมั่น เป็นผู้มีกิเลสธุลีน้อยในปัญญาจักษุ บุคคลผู้มีจิตไม่ตั้งมั่นเป็นผู้มีกิเลสธุลีมากในปัญญาจักษุ

    บุคคลผู้มีปัญญา เป็นผู้มีกิเลสธุลีน้อยในปัญญาจักษุ บุคคลผู้มีปัญญาทราม เป็นผู้มีกิเลสธุลีมากในปัญญาจักษุ

    ส่วนคำว่า “มีอินทรีย์แก่กล้า มีอินทรีย์อ่อน มีอาการดี มีอาการชั่ว พึงให้รู้แจ้งได้โดยง่าย พึงให้รู้แจ้งได้โดยยาก บางพวกมีปกติเห็นปรโลกและโทษโดยความเป็นภัย บางพวกมิได้เห็นปรโลกและโทษโดยความเป็นภัย” ก็โดยนัยเดียวกัน

    สำหรับชื่อว่า “โทษ” ก็คือ เห็นกิเลสทั้งปวง ทุจริตทั้งปวง อภิสังขารทั้งปวง กรรมอันเป็นเหตุให้สัตว์ไปสู่ภพทั้งปวง เป็นโทษ ความสำคัญในโลกนี้ และโทษนี้ ว่าเป็นภัยอันแรงกล้าปรากฏแล้วด้วยประการฉะนี้

    สำหรับผู้ที่ปัญญาอบรมเจริญสูงขึ้นไปจากขั้นอุทยัพพยญาณ

    วิปัสสนาญาณขั้นที่ ๕ คือ ภังคญาณ แต่ว่าก่อนที่จะถึงขั้นนั้นก็จะต้องเข้าใจว่า ปัญญาจะต้องอบรมจนสามารถรู้ทั่วในนามธรรมและรูปธรรมตามปกติในชีวิตประจำวันทั้ง ๖ ทวาร และไม่ว่าจะเป็นรูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ใดๆ ก็สามารถที่จะระลึกรู้ได้ในสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลของสภาพธรรมนั้นๆ

    สำหรับอุทยัพพยญาณ ยังมีข้อสงสัยอะไรไหม

    อดิศักดิ์ ธรรมเทศนาโดยสังเขป อาจารย์บอกว่า แสดงกับอุคฆฏิตัญญู ธรรมโดยพิสดารแสดงกับวิปจิตัญญู เนยยบุคคล และปทปรมะ แล้วอย่างพวกเรา ธรรมเทศนาที่แสดงโดยพิสดาร ก็ยังไม่สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ ก็ยิ่งกว่าปทปรมะ

    ท่านอาจารย์ ก็ฟังไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นก็ต้องค้นคว้าถึงจะเป็นปัญญาที่รู้ทั่ว ต้องคิดต้องพิจารณา จนกว่าจะสามารถระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ตามปกติได้จริงๆ

    อดิศักดิ์ อย่างในธรรมบทที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมเทศนา ผมคิดว่าโดยสังเขปกับท่านจูฬปันถก ที่บอกให้เอาผ้าแล้วภาวนาว่า “ผ้าเปื้อนธุลี ผ้าเปื้อนธุลี” อันนี้เป็นการแสดงโดยสังเขป ใช่ไหม โดยย่อ ท่านก็เป็นอุคฆติตัญญูแน่นอน อันนี้ไม่สงสัย แต่ว่าก่อนที่ท่านจะได้ดวงตาเห็นธรรมนั้น ท่านมหาปัณถกก็ติเตียนท่านว่า ท่านท่องอะไรไม่ได้เลย ดูเสมือนว่าท่านไม่ใช่อุคฆติตัญญู เป็นตัวอย่างที่มองอย่างฉิวเชี่ยวทีเดียวถ้ามองว่าท่านไม่ใช่อุคฆฏิตัญญู คงจะมองผิดแน่ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ อุคฆติตัญญูคือสามารถที่จะฟังแล้วบรรลุได้ทันที แต่ถ้ายังไม่ทันที ก็ต้องเป็นวิปัญจิตัญญูบุคคล เนยยบุคคล

    ณรงค์ ที่อาจารย์บรรยายตอนแรก อุทยัพพยญาณต้องเป็นสภาพปัญญาที่ประจักษ์แจ้งสภาพธรรมที่เป็นปัจจุบัน ทั้งเกิดขึ้นและดับไป ใช่ไหม ขณะที่สภาพธรรมปรากฏเป็นปัจจุบันกับปัญญา คือ ตอนแรกไม่มี แล้วก็มีขึ้น แล้วดับไป จะต้องเห็นทั้ง ๒ อย่าง ไหม

    ท่านอาจารย์ ต้องเห็นการเกิดขึ้นและดับไปด้วย

    ณรงค์ เมื่อสภาพธรรมยังไม่เคยเกิดขึ้นเลย ก็เกิดขึ้นกับอุทยัพพยญาณ แล้วอุทยัพพยญาณก็ต้องเห็นทั้งเกิดขึ้นและทั้งดับไป

    ท่านอาจารย์ ถึงชื่อว่า “อุทยัพพยญาณ”

    ณรงค์ ในสภาพธรรมอย่างเดียวที่กำลังปรากฏ

    ท่านอาจารย์ อย่างเดียว เพราะว่าธรรมดาของสัมมสนญาณจะประจักษ์การเกิดดับๆ ๆ อย่างรวดเร็วตามปกติ แต่เพราะเหตุว่าในขณะนั้นปัญญาประจักษ์การเกิดดับอย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้นก็ยังไม่มีกำลังพอที่จะเห็นโทษของการเกิดขึ้นและดับไปที่ชัดเจน แจ่มแจ้งยิ่งกว่านั้น คือใกล้เข้าไปยิ่งกว่าเพียงเกิดดับๆ ๆ เพราะเหตุว่าถ้าลักษณะที่เกิดขึ้นและดับไปๆ สภาพการเกิดขึ้นสืบต่อของอันอื่น แม้ว่าจะเป็นอาการที่เกิดดับ แต่ก็ยังไม่สามารถที่จะทำให้เกิดการละคลายได้มากเท่ากับที่ปัญญาใกล้ชิดโดยการที่ว่า ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นปัจจุบันเกิดปรากฏแล้วก็ดับไปโดยขาดตอน มีการขาดตอนของการเกิดดับแจ่มแจ้งกว่าสัมมสนญาณ

    นิภัทร ขณะที่ปัญญาขั้นสูงๆ เกิดขึ้น ฟังดูคล้ายๆ กับสภาวธรรมเกิดให้เห็นช้าลง อย่างนั้นหรือ อย่างสัมมสนญาณเห็นไม่ชัด ไม่ปรากฏชัด คล้ายๆ กับว่าเกิดดับอย่างรวดเร็วเกินไป แต่ว่าพออุทยัพพยญาณเกิดขึ้น เห็นชัด แสดงว่าสภาวธรรมหรือรูปธรรมนามธรรมเกิดดับช้าลงหรืออย่างไร

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่อย่างนั้น หมายความว่าสภาพธรรมเกิดดับ ไม่มีใครสามารถที่จะ เปลี่ยนแปลงความรวดเร็วของสภาพธรรมที่เกิดดับได้ แต่ว่าปัญญาคมขึ้นจึงได้ประจักษ์ชัดลงไปในการที่เกิดแล้วก็ดับ เกิดแล้วก็ดับสืบต่อที่เป็นสัมมสนญาณ ไม่เท่ากับปัญญาขั้นอุทยัพพยญาณ นามธรรมและรูปธรรมเกิดดับ เท่าเดิมเหมือนเดิม รวดเร็วอย่างเดิม ปัญญาคมกล้าที่จะแทงตลอดใกล้ชิดไปยิ่งกว่านั้นอีก

    ถาม ญาณนี่เกิดแล้วเกิดอีกได้หรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ได้

    ผู้ฟัง อย่างญาณแรกเกิดไปแล้วก็เกิดอีก แล้วเกิดในชาตินี้แล้ว ชาติหน้าเกิดได้อีกหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ แล้วแต่เหตุปัจจัย บางท่านสงสัยว่า วิปัสสนาญาณ เช่น นามรูปปริจเฉทญาณเกิดแล้วจะเกิดอีกไหม แต่วิปัสสนาญาณที่ ๑ คือ นามรูปปริจเฉทญาณ ปัญญาที่ประจักษ์การแยกขาดจากกันของนามธรรมและรูปธรรม เพราะฉะนั้นถ้าเป็นวิปัสสนาญาณที่ ๒ คือ ปัจจยปริคคหญาณ จะกล่าวว่าไม่มีนามรูปปริจเฉทญาณในขณะที่สภาพนามธรรมและรูปธรรมปรากฏ แล้วปัญญาก็ประจักษ์ถึงปัจจัยที่ทำให้สภาพธรรมนั้นเกิดขึ้นได้ไหม เพราะฉะนั้นวิปัสสนาญาณเหมือนกันโดยตลอด คือ เป็นการปรากฏของสภาพธรรมทางมโนทวารทีละอย่าง แล้วก็ดับไปเหมือนเดิม แต่ว่าตัวปัญญาไม่เท่ากัน เพราะเหตุว่านามรูปปริจเฉทญาณเป็นปัญญาที่เพียงประจักษ์แจ้งในลักษณะของนามธรรม ซึ่งไม่เคยปรากฏทางมโนทวาร และลักษณะของรูปธรรมซึ่งไม่ปรากฏทางมโนทวารด้วย เพราะฉะนั้นเมื่อนามรูปปริจเฉทญาณเกิดขึ้นปรากฏ ประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมทางมโนทวาร แล้ววิปัสสนาญาณอื่นๆ จะขาดวิปัสสนาญาณต้นๆ ได้ไหม เพราะเหตุว่าลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมก็ต้องปรากฏชัดอย่างนั้น แต่เพราะเหตุว่าปัญญาเพิ่มขึ้น การใส่ใจเพราะเหตุว่าได้พิจารณามาแล้วโดยตีรณปริญญา เพราะเหตุว่าถ้าพูดถึงวิปัสสนาญาณแล้วก็ต้องพูดถึงปริญญา ๓ ด้วย เพราะว่าจะต้องสัมพันธ์กัน

    สำหรับนามรูปปริจเฉทญาณเป็นญาตปริญญา คือปัญญาที่รู้ลักษณะของสภาพนามธรรมและรูปธรรมตามลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมนั้นๆ ที่ว่ามีลักขณาทิจตุกะของสภาพธรรมแต่ละอย่างเป็นอย่างไร ลักษณะนั้นๆ ก็ปรากฏ แล้วแต่ว่าปัญญาสามารถที่จะรู้ในลักษณะของสภาพธรรมนั้นทั่วถึงแค่ไหน แต่ก็เป็นการประจักษ์ลักษณะที่เป็นประเภทต่างๆ ของนามธรรมและรูปธรรม

    เพราะฉะนั้นเมื่อถึงวิปัสสนาญาณขั้นต่อไปทางมโนทวาร ลักษณะของสภาพนามธรรมและรูปธรรมก็ต้องปรากฏชัดเจนอย่างนั้น แต่ปัญญาพิจารณารู้ถึงปัจจัย


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 24
    2 ก.พ. 2565

    ซีดีแนะนำ