โสภณธรรม ครั้งที่ 081


    ตอนที่ ๘๑

    ลักษณะของสภาพนามธรรมและรูปธรรมก็ต้องปรากฏชัดเจนอย่างนั้น แต่ปัญญาพิจารณารู้ถึงปัจจัย เช่นเวลาที่พิจารณาลักษณะของสภาพนามธรรมที่ได้ยิน ก็รู้ว่าเสียงเป็นปัจจัยที่ทำให้ผัสสะกระทบแล้วโสตวิญญาณก็เกิดขึ้นได้ยิน แต่ไม่ใช่ว่าจะต้องไปนึกเป็นคำๆ อย่างนี้ แต่ว่าการเกิดปรากฏของนามธรรมแต่ละอย่าง ทำให้รู้ความต่างกันของเหตุปัจจัยที่ทำให้นามธรรมนั้นๆ ต่างกัน เป็นนามธรรมที่รู้สิ่งที่ปรากฏทางตาบ้าง เป็นนามธรรมที่รู้เสียงที่ปรากฏทางหูบ้าง เป็นนามธรรมที่คิดนึกบ้าง

    นิภัทร เรื่องการเห็นเกิดดับ ซึ่งเป็นวิปัสสนาญาณ กระผมเข้าใจว่า ขณะที่เห็น เช่นเห็นกระดานดำ รับรองว่ากระดานดำไม่มีการเกิดดับแน่ เห็นโต๊ะ เห็นเก้าอี้ เห็นคน เห็นสัตว์ เห็นสิ่งของ รับรองว่า คน สัตว์ สิ่งของไม่เกิดดับแน่ ถ้ายังเห็นอยู่อย่างนั้นไม่มีทางที่จะเกิดดับ กระผมจะเล่าถึงตัวเองเมื่อตอนที่เข้าปฏิบัติอยู่นั้น เดินจงกรมไปเดินจงกรมมา ก็นึกถึงคำที่เพื่อนปฏิบัติด้วยกันเล่าให้ฟังว่า เขาเห็นเกิดดับแล้ว มองไปเห็นอะไรก็ดับวูบๆ ตกใจเลยเมื่อเห็นความเกิดดับที่เกิดขึ้น ผมก็สงสัยว่าเกิดดับแบบไหน เรามองดูฝาผนัง มองดูโบสถ์ ก็ไม่เห็นดับสักทีหนึ่ง กระผมก็มานึกดูว่า คงจะไม่ใช่โบสถ์วิหารหรือกระดาน คน สัตว์เกิดดับแน่ๆ ที่ว่าเกิดดับ ที่เราเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่ใช่กระดานหรือว่าไม่ใช่โต๊ะ ไม่ใช่คน ไม่ใช่เก้าอี้ สิ่งที่ปรากฏทางตามีลักษณะอย่างไรที่ทำให้เรารู้ว่าเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา แล้วถึงจะรู้ความเกิดดับของมันต่อไป เพราะตราบใดที่ยังไม่เข้าใจว่า สิ่งที่ปรากฏทางตานั้นคืออะไรแล้ว ก็รับรองว่าไม่มีทางเข้าใจ หรือปัญญา จะเกิดขึ้นในลำดับต่อไปได้ กระผมอยากจะขอให้ท่านอาจารย์ช่วยบรรยายว่า อะไรแน่ที่เราจะต้องรู้ในขณะที่เห็น สิ่งที่ปรากฏทางตามีลักษณะอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ปัญญาประจักษ์การเกิดดับ ถ้าไม่ใช่ปัญญาแล้วไม่มีทางที่จะประจักษ์เลย แล้วก่อนที่จะประจักษ์การเกิดดับต้องคลายการที่เคยยึดถือปรมัตถธรรมว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดเสียก่อน เพราะฉะนั้นทางตา วิธีพิสูจน์ก็คือว่า ยังเห็นว่าเป็นสัตว์บุคคลต่างๆ โดยที่สติไม่เคยระลึกได้เลยว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น และการที่ปัญญาจะเจริญขึ้น จะต้องอาศัยการพิจารณาอีกมากทีเดียว จะต้องรู้ว่าสิ่งที่ปรากฏทางตาในขณะนี้ก็ปรากฏเพียงชั่วขณะจิตเดียว เห็นไหมคะว่ากว่าที่จะประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปได้ ปัญญาจะต้องมนสิการ หมายความว่าพิจารณาและก็เพิ่มความรู้ เพิ่มความมั่นคงขึ้นว่า ทุกขณะจิตเป็นเพียงชั่วขณะเดียวในสังสารวัฏฏ์ฎ์ ซึ่งจะไม่มีการกลับมาอีกเลย ทางตาที่กำลังเห็นในขณะนี้ แล้วก็มีการได้ยิน กับเห็นหลังจากที่ได้ยิน ก็เป็นอีกขณะหนึ่ง

    นี่หมายความว่าจะขาดการพิจารณาเพื่อที่จะให้ปัญญาระลึกลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรมอยู่เรื่อยๆ ไม่ได้ ไม่ใช่ว่าเดินไปจงกรมไป แล้วก็คิดว่าประจักษ์การเกิดดับ โดยที่ไม่มีการรู้ลักษณะที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม แล้วก็ปัญญาของแต่ละบุคคลเป็นปัจจัตตัง เป็นการรู้เฉพาะตัวจริงๆ เช่นขณะนี้ใครจะพิจารณาทางตา แล้วก็มีความรู้เพิ่มขึ้นจริงๆ ว่า เป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาชั่วขณะเดียวในสังสารวัฏฏ์ฎ์ พอได้ยินเสียง เห็นอีกก็รู้ว่า ที่เห็นนี้ก็เป็นชั่วขณะเดียวในสังสารวัฏฏ์ฎ์

    เพราะฉะนั้นปัญญาจะทำหน้าที่ละคลายการติดข้องไปเรื่อยๆ ด้วย ไม่ใช่ว่าเมื่อปัญญาเกิดแล้วไม่ได้ละอะไรเลย แต่ปัญญาทุกขณะที่เกิดจะต้องละตามลำดับขั้นของปัญญา แม้ว่าในตอนต้นยังไม่ได้ละโลภะ โทสะ ในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แต่ก็ต้องละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เป็นสัตว์ เป็นวัตถุ เป็นบุคคลต่างๆ โดยรู้ว่าเป็นแต่เพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่งที่ปรากฏเพียงชั่วขณะเดียวในสังสารวัฎฎ์ ถ้ารู้ว่าทุกคนในขณะนี้ที่ได้ยิน ก็เป็นชั่วขณะหนึ่งในสังสารวัฏฏ์ฎ์เท่านั้น ก็จะไม่มีสาระสำคัญอะไรเลย สิ่งที่ดับไปเมื่อกี้นี้ก็ไม่กลับมาอีกเลย มีแต่ไป ไป ไป เกิดขึ้นแล้วก็ไป คือ ดับ เกิดขึ้นแล้วก็ไป คือ ดับ เกิดขึ้นแล้วก็ไป คือ ดับอยู่เรื่อยๆ

    เพราะฉะนั้นจึงต้องอาศัยความเป็นพหูสูต การฟังพระธรรม พร้อมกับการเป็นผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐาน เพื่อที่จะให้มีฐานที่มั่นคง ที่จะทำให้ความรู้นั้นสมบูรณ์ถึงขั้นที่สติปัฏฐานและสัมปชัญญะจะเกิดประจักษ์แจ้งลักษณะที่เกิดดับได้จริงๆ

    นิภัทร สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นสิ่งที่เข้าใจยากจริงๆ ทั้งๆ ที่เราก็เห็นอยู่ตลอดเวลา แต่เราไม่ได้เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา

    ท่านอาจารย์ ถ้ารู้ว่าเพียงชั่วขณะเดียว หมดไปแล้วเมื่อกี้นี้ ระลึกใหม่ พิจารณาใหม่

    นิภัทร โดยมากถ้าเห็น ก็เห็นเป็นต้นไม้ เห็นเป็นคน เห็นเป็นสิ่งของไป

    ท่านอาจารย์ ก็ไม่ต้องไปติด เพราะเหตุว่าดับไปแล้ว ขณะนี้ขณะใหม่ พิจารณาในขณะนี้เองว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา การที่จะไปยึดถือว่าเป็นสิ่งเดิมหรือสิ่งนั้นสิ่งนี้ก็จะลดน้อยลง ถ้าจะเห็นญาติพี่น้อง หรือเห็นใคร ก็รู้ว่าเพียงชั่วขณะเดียวในสังสารวัฏฏ์ฎ์ ไม่มีบุคคลนั้นอีกแล้ว

    นิภัทร ก็หมายความว่าสติจะต้องเกิดเร็วมากขณะที่เห็น ขณะที่ปรากฏ พอลืมตา สติของเราจะต้องมีพลังสามารถจะรู้ขณะที่เห็นขณะแรกเท่านั้นเอง ถ้าต่อไปจะเห็นต้นไม้ เป็นสัตว์ สิ่งของ มีชื่อเสียงเรียก ซึ่งขณะแรกที่สิ่งที่ปรากฏทางตาจริงๆ เกิด สติก็ไม่ค่อยจะระลึกได้หรือไม่ค่อยจะเกิด

    ท่านอาจารย์ ยังยากที่จะหวังว่า พอลืมตาตื่นสติก็เกิด จะเป็นไปได้บางขณะ บางวัน แต่ว่าไม่ใช่เสมอไปและทุกวัน เพราะเหตุว่าปัจจัยที่จะให้เกิดอกุศลยังมากอยู่ เพราะฉะนั้นไม่จำกัดดีกว่าว่าจะเป็นเมื่อไร แต่ให้ทราบกำลังของปัญญาว่า ที่สติจะมีกำลังเป็นสติพละ ก็เพราะเหตุว่าปัญญาเพิ่มขึ้น ถ้าปัญญาไม่เพิ่ม สติจะมีกำลัง หรือจะเป็นพละไม่ได้เลย

    เพราะฉะนั้นที่อยากจะให้สติมีกำลังสามารถที่จะระลึกลักษณะของสภาพธรรมเมื่อไรก็ได้ ที่ไหนก็ได้ ทวารไหนก็ได้ ก็ต้องเป็นการศึกษารู้ลักษณะของนามธรรมซึ่งเป็นสภาพรู้ในขณะที่สติระลึกไปเรื่อยๆ ทีละเล็กทีละน้อย จนกว่าความรู้จะค่อยๆ เพิ่มขึ้น

    แต่ว่าผู้ใดก็ตามที่มีความเข้าใจถูก และสัมมาสติเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏบ้าง วันหนึ่งก็จะต้องถึง เพราะเหตุว่าการฟังที่ได้ฟังก็ไม่ได้สูญหายไปไหน การพิจารณา การเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมก็ไม่ได้สูญหายไปไหน เพียงแต่ว่ายังไม่ถึงกาลที่จะถึงความสมบูรณ์ที่จะประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมเท่านั้นเอง ก็จะต้องอบรมเจริญไป

    เพราะฉะนั้นการกล่าวถึงวิปัสสนาญาณแต่ละขั้นๆ ก็เป็นเรื่องที่ห่างไกล แต่ว่าผู้ที่รู้จักตนเองตามความเป็นจริง ก็ไม่ได้หมดหวังหรือว่าไม่ได้ท้อถอย ตราบใดที่เป็นผู้เข้าใจข้อปฏิบัติที่ถูกต้อง ข้อสำคัญคือ อย่าเข้าใจผิด แล้วก็อย่าปฏิบัติผิด อย่ายึดถือข้อปฏิบัติผิด ซึ่งจะไม่เป็นหนทางที่จะทำให้ประจักษ์แจ้งการเกิดดับของสภาพธรรมที่ปรากฏ ตามปกติ ตามความเป็นจริง ไม่ใช่ไปรู้อย่างอื่นเลย ต้องรู้ว่าอริยสัจจธรรม คือ ในขณะที่เห็นเดี๋ยวนี้ เพราะฉะนั้นในครั้งที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรม บางท่านเป็นพระอรหันต์ได้ ขณะที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังคิดนึกเหมือนผู้อื่นที่ฟังอยู่ที่เป็นปุถุชน หรือบางท่านก็อาจจะเป็นพระโสดาบัน บางท่านก็เป็นพระสกทาคามี บางท่านก็เป็นพระอนาคามี นี่ก็ตามการสะสมของแต่ละบุคคล แต่ว่าจะต้องเป็นปัญญาที่รู้ เพราะฉะนั้นไม่ควรจะสนใจในข้อปฏิบัติที่ไม่ทำให้เกิดความรู้ หรือว่าคำใดๆ ก็ตามที่ไม่เกื้อกูลต่อการที่จะให้รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏให้เข้าใจขึ้น

    ยังมีข้อสงสัยไหม ถึงแม้ว่าจะถึงอุทยัพพยญาณแล้ว ความเหนียวแน่น ความหนาแน่นของกิเลสก็ปรากฏให้รู้ว่า ยังไม่ได้ไถ่ถอนหรือดับการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนเด็ดขาดเป็นสมุจเฉท เพราะว่าเพิ่งจะเริ่มเป็นพลววิปัสสนา

    เพราะฉะนั้น ปัญญาจะต้องอบรมเจริญต่อไปอีกโดยสติสัมปชัญญะเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏแล้วก็น้อมระลึกถึงลักษณะที่ดับ เพราะเหตุว่าถึงแม้ว่าอุทยัพพยญาณเป็นการประจักษ์แจ้งการเกิดแล้วดับอย่างชัดเจน แต่ก็ชั่วระยะที่เป็นวิปัสสนาญาณ หลังจากนั้นแล้วก็มีปัจจัยที่จะให้อกุศลทั้งหลายเกิดขึ้น แสดงให้เห็นว่าในสังสารวัฏฏ์ฎ์ที่เคยไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมและเคยยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนมายาวนาน เพียงปัญญาขั้นนี้ยังดับการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนไม่ได้เป็นสมุจเฉท และผู้นั้นก็รู้ว่า ยังไม่ถึงการที่จะดับการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน เพราะความเหนียวแน่นของกิเลส ลองคิดดู ทั้งๆ ประจักษ์ แต่ก็ยังไม่สามารถที่จะดับการยึดถือสภาพธรรม ความเยื่อใย ความพอใจว่าเป็นเราหรือเป็นตัวตนได้ เพราะฉะนั้นผู้นั้นก็น้อมระลึกถึงอาการดับเพิ่มขึ้น เพราะเหตุว่าหลังจากอุทยัพพยญาณแล้ว ก็ขอกล่าวไปถึงภังคญาณ

    ลองคิดดูว่า ทุกคนถ้าคิดถึงความดับไปของทุกอย่าง กิเลสจะเบาบางไหม สิ่งที่เกิดดูเหมือนมีสาระ ดูเหมือนน่าดูน่าชม น่าติด น่าใคร่ ไม่ว่าจะเป็นรูปก็ดี เสียงก็ดี กลิ่นก็ดี รสก็ดี สัมผัสก็ดี แต่ว่าถ้าคิดถึงการดับของสิ่งนั้นซึ่งมีอายุที่สั้นมาก คือเพียงเกิดแล้วก็ดับไป เกิดแล้วก็ดับไป เกิดแล้วก็ดับไป ถ้าน้อมพิจารณาถึงอาการดับของสิ่งนั้น ก็ย่อมที่จะละคลายมากกว่าเห็นเพียงการเกิดแล้วก็ดับ แล้วก็เกิดอีก แล้วก็ดับไป แล้วก็เกิดอีก แล้วก็ดับไป ด้วยเหตุนี้ผู้ที่บรรลุถึงอุทยัพพยญาณแล้ว จึงน้อมพิจารณาถึงการดับของสภาพธรรม จนกระทั่งปัญญาสมบูรณ์ถึงขั้นภังคญาณ

    ข้อความในขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค ญาณกถา ข้อ ๑๑๒ มีข้อความว่า

    ปัญญาในการพิจารณาอารมณ์ แล้วพิจารณาเห็นความแตกไป คือการดับไปเป็น วิปัสสนาญาณอย่างไร ฯ

    จิตมีรูปเป็นอารมณ์ เกิดขึ้นแล้วย่อมแตกไป ผู้พิจารณาอารมณ์นั้นแล้ว ย่อมพิจารณาเห็นความแตกไปแห่งจิตนั้น ย่อมพิจารณาเห็นอย่างไร ชื่อว่าพิจารณาเห็น ย่อมพิจารณาเห็นโดยความเป็นของไม่เที่ยง ไม่พิจารณาเห็นโดยความเป็นของเที่ยง ย่อมพิจารณาเห็นโดยความเป็นทุกข์ ไม่พิจารณาเห็นโดยความเป็นสุข ย่อมพิจารณาเห็นโดยความเป็นอนัตตา ไม่พิจารณาเห็นโดยความเป็นอัตตา ย่อมเบื่อหน่าย ไม่เพลิดเพลิน ย่อมคลายกำหนัด ไม่กำหนัด ย่อมให้ดับ ไม่ให้เกิด ย่อมสละคืน ไม่ถือมั่น เมื่อพิจารณาเห็นโดยความเป็นของไม่เที่ยง ย่อมละนิจจสัญญาได้ เมื่อพิจารณาเห็นโดยความเป็นทุกข์ ย่อมละสุขสัญญาได้ เมื่อพิจารณาโดยความเป็นอนัตตา ย่อมละอัตตสัญญาได้ เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมละความเพลิดเพลินได้ เมื่อคลายกำหนัด ย่อมละราคะได้ เมื่อให้ดับ ย่อมละสมุทัยได้ เมื่อสละคืน ย่อมละความถือมั่นได้ ฯ

    ผู้ที่ปัญญายังไม่บรรลุถึงขั้นนี้ ฟังดูก็เหมือนเรื่องตัวอักษร แต่ว่าตามความเป็นจริงแล้ว ปัญญาก็จะต้องพิจารณาอย่างนี้ เห็นอย่างนี้ เพราะว่าความจริงเป็นอย่างนี้ สิ่งใดที่เห็นอยู่ชัดๆ ว่า ดับไป จะไม่คลายความพอใจหรือ ในเมื่อไม่เคยประจักษ์มาก่อนเลยว่า สิ่งนั้นแท้จริงเกิดขึ้นมีอายุที่สั้นมากแล้วก็ดับไป ขณะนี้เมื่อไม่ประจักษ์ว่าเห็นเกิดขึ้นสั้นมาก แล้วก็ดับไป ก็ไม่ประจักษ์ว่า แท้ที่จริงแล้วควรจะหน่ายหรือว่าคลายความยินดีในการเห็น ซึ่งในขณะนี้ทุกขณะกำลังเกิดดับอยู่ ถูกต้องไหม มีขณะไหนบ้างไหมที่จิตน้อมพิจารณาถึงการดับ

    เพิ่งฟังเรื่องของภังคญาณเมี่อกี้นี้เองว่า ทุกอย่างเกิดแล้วก็ดับ แล้วก็จะต้องพิจารณาการดับไปเพื่อให้เห็นว่า เป็นสิ่งที่ควรเบื่อหน่าย แต่แม้กระนั้นในขณะนี้ที่กำลังเห็นแล้วก็ดับ ได้ยินแล้วก็ดับ แต่ว่าปัญญาก็ยังไม่ได้พิจารณาการดับไปของเห็นและของได้ยิน เพราะเหตุว่ายังไม่ใช่ภังคญาณ ยังไม่ใช่วิปัสสนาญาณ เพราะฉะนั้นจึงยังไม่สามารถพิจารณาอย่างนั้นได้จริงๆ แล้วก็ไม่ใช่แต่เฉพาะรูป

    ข้อความต่อไปในข้อ ๑๑๓ มีว่า

    จิตมีเวทนาเป็นอารมณ์ จิตมีสัญญาเป็นอารมณ์ จิตมีสังขารเป็นอารมณ์ จิตมีวิญญาณเป็นอารมณ์ จิตมีจักษุเป็นอารมณ์ จิตมีชราและมรณะเป็นอารมณ์ เกิดขึ้นแล้วย่อมแตกไป พระโยคาวจรพิจารณาอารมณ์นั้นแล้ว พิจารณาเห็นความแตกไปแห่งจิตนั้น ย่อมพิจารณาเห็นอย่างไร ชื่อว่าพิจารณาเห็น ย่อมพิจารณาเห็นโดยความเป็นของไม่เที่ยง เมื่อสละคืน ย่อมละความถือมั่นได้ ฯ

    การก้าวไปสู่อัญญวัตถุแต่ปุริมวัตถุ การหลีกไปด้วยปัญญาอันรู้ชอบ การคำนึงถึงอันเป็นกำลัง ธรรม ๒ ประการ คือ การพิจารณาหาทางและความเห็นแจ้ง บัณฑิตกำหนดเอาด้วยสภาพเดียวกัน โดยความเป็นไปตามอารมณ์ ความน้อมจิตไปในความดับ ชื่อว่าวิปัสสนาอันมีความเสื่อมไปเป็นลักษณะ การที่พระโยคาวจรพิจารณาอารมณ์แล้ว พิจารณาเห็นความแตกไปแห่งจิต และความปรากฏโดยความเป็นของสูญ ชื่อว่า อธิปัญญาวิปัสสนา คือ ความเห็นแจ้งด้วยอธิปัญญา พระโยคาวจรผู้ฉลาดในอนุปัสนา ๓ ในวิปัสสนา ๔ ย่อมไม่หวั่นไหวเพราะทิฏฐิต่างๆ เพราะความเป็นผู้ฉลาดความปรากฏ ๓ ประการ ฯ ชื่อว่าญาณ เพราะอรรถว่ารู้ธรรมนั้น ชื่อว่าปัญญา เพราะอรรถว่ารู้ชัด เพราะเหตุนั้นท่านจึงกล่าวว่า ปัญญาในการพิจารณาอารมณ์ แล้วพิจารณาเห็นความแตกไป เป็นวิปัสสนาญาณ คือ ภังคานุปัสสนาญาณ

    แต่ถ้าปัญญายังไม่อบรมจนถึงขั้นนั้นก็ไม่มีทางเลย ทั้งๆ ที่จะได้ยินได้ฟังอย่างนี้ต่อไปอีก ก็จะต้องอบรมเจริญปัญญาตามลำดับขั้น แต่ข้อสำคัญที่สุดก็คือต้องทราบว่า การประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นวิปัสสนาญาณ ต้องเป็นการประจักษ์ลักษณะของปรมัตถธรรม ไม่ใช่เป็นการคิดว่า สิ่งนั้นสิ่งนี้หมดไป ดับไป เพราะเหตุว่านั่นเป็นการคิดเรื่องของปรมัตถธรรม แต่ไม่ใช่เป็นการประจักษ์ลักษณะของปรมัตถธรรม

    สำหรับวิปัสสนาญาณมี ๓ ขั้น คือ ญาตปริญญา ๑ ตีรณปริญญา ๑ ปหานปริญญา ๑

    ข้อความในอรรถกถา สังยุตตนิกาย สคาถวรรค สมิทธิสูตร มีข้อความว่า

    ญาตปริญญา คือ ปัญญาที่รู้ลักขณาทิจตุกะของขันธ์ ๕

    คือปัญญาที่รู้ลักษณะของรูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์แต่ละประเภท และวิญญาณขันธ์ อย่างโลภะเกิดขึ้นมีลักษณะที่ต่างจากโทสะ ขณะนั้น เป็นปัญญาที่รู้ในสภาพที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เพราะเหตุว่าปกติขณะที่กำลังสบายใจ ทุกคนก็รู้ หรือขณะที่กำลังขุ่นเคืองใจ ทุกคนก็รู้ แต่ว่าไม่ใช่ปรมัตถธรรม ในขณะนั้นเป็นเราที่สบายใจ เป็นเราที่ไม่สบายใจ เพราะฉะนั้นก็ต่างกับวิปัสสนาญาณซึ่งรู้ลักษณะของสภาพที่พอใจติดข้องว่า เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง และเวลาที่สภาพที่ไม่พอใจ หยาบกระด้าง ขุ่นเคืองเกิดขึ้น ก็รู้ว่าขณะนั้นก็ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ปัญญาที่รู้อย่างนี้เป็นญาตปริญญา

    สำหรับตีรณปริญญา ก็คือ พิจารณาขันธ์ ๕ ที่ตนรู้แล้วโดยวิปัสสนาญาณ โดยพิจารณาสภาพที่เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา คือ ลักษณะที่เกิด ดับไป ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา นั่นคือ ตีรณปริญญา

    สำหรับปหานปริญญาก็เป็นการละความยินดีในขันธ์ ๕ ด้วยมรรคอันเลิศ

    แต่ก่อนที่จะถึงการที่จะดับเป็นสมุจเฉท ภังคญาณเป็นการเริ่มต้นของปหานปริญญา ถ้ายังไม่ถึงภังคญาณ ที่จะค่อยๆ คลาย ค่อยๆ ปหาน ค่อยๆ ละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา ยังมีไม่ได้

    เพราะฉะนั้นจึงต้องเห็นความละเอียดของวิปัสสนาญาณแต่ละขั้นว่า ใครก็ตามที่คิดว่า จะละการยึดถือว่าเป็นเรา โดยคิดเอาเองบ้าง หรือว่าโดยนามรูปปริจเฉทญาณยังไม่เกิด หรือเมื่อนามรูปปริจเฉทญาณเกิดแล้ว ก็จะละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ จนกว่าจะถึงภังคญาณ จึงจะเป็นการเริ่มของปหานปริญญา

    สำหรับพละ คือ สภาพธรรมที่มีกำลังที่จะต้องอบรมให้เจริญขึ้น ข้อความในขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค ญาณกถา ข้อ ๒๑๙ – ๒๒๑ มีข้อความว่า

    พละ ๒ คือ สมถพละ ๑ วิปัสสนาพละ ๑

    สมถพละ คือ ความที่จิตมีอารมณ์เป็นอันเดียว ไม่ฟุ้งซ่านด้วยสามารถแห่งเนกขัมมะ ด้วยสามารถแห่งความไม่พยาบาท ด้วยสามารถแห่งอารมณ์สมถะ

    คนที่อยากจะสงบ ก็จะต้องเข้าใจด้วยว่า ต้องประกอบด้วยปัญญา และความสงบนั้นก็เป็นความสงบด้วยอารมณ์ของสมถะ

    ชื่อว่าสมถพละ เพราะอรรถว่า ไม่หวั่นไหวเพราะนิวรณ์ ด้วยปฐมฌาน เป็นต้นไปจนถึงเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน

    มิฉะนั้นแล้วยังไม่ชื่อว่า เป็นพละ คนที่อยากจะทำสมาธิ เพราะคิดว่าสมาธิจะมีกำลัง ให้ทราบว่า ถ้าเป็นอกุศลจิตจะมีกำลังไม่ได้เลย และถึงแม้ว่าจะเป็นมหากุศลจิตที่สงบทีละเล็กทีละน้อย แต่ว่าตราบใดที่ยังไม่ถึงปฐมฌานก็ยังไม่ใช่สมถพละ

    วิปัสนาพละเป็นไฉน อนิจจานุปัสนา ทุกขานุปัสนา อนัตตานุปัสนา นิพพิทานุปัสนา วิราคานุปัสนา นิโรธานุปัสนา ปฏินิสสัคคานุปัสนา

    วิปัสสนามากมายเหลือเกินตามความเป็นจริงที่กว่าจะละการยึดถือสภาพธรรมด้วยปัญญาที่รู้แจ้งชัด จนกระทั่งค่อยๆ เริ่มหน่าย เริ่มคลายได้ จะต้องเป็นพละโดยการที่พิจารณาเห็นความไม่เที่ยงในรูป ในเวทนา ในสัญญา ในสังขาร ในวิญญาณ จึงเป็นอนิจจานุปัสสนาไม่ใช่นึกเอาว่าขณะนี้ไม่เที่ยง แต่ว่าจะต้องพิจารณาเห็นความไม่เที่ยงของปรมัตถธรรม จึงจะพิจารณาเห็นความสละคืนในรูปได้ เป็นต้นไปจนกระทั่งถึงในวิญญาณ การพิจารณาเห็นความไม่เที่ยงในจักษุ ตลอดไปจนกระทั่งถึงชรามรณะ การพิจารณาเห็นความสละคืนในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

    เพราะเหตุว่าปัญญาเมื่อเกิดแล้ว บุคคลนั้นจะรู้จริงๆ ว่า ปัญญาได้กระทำกิจของปัญญา คือ การสละคืน ค่อยๆ ถอนตัวออกจากการติดอย่างเหนียวแน่นในนามธรรมและรูปธรรมแต่ละอย่าง

    คำว่า วิปสฺสนาพลํ ความว่า ชื่อว่าวิปัสสนาพละ เพราะอรรถว่ากระไร ฯ

    ชื่อว่าวิปัสสนาพละ เพราะอรรถว่า ไม่หวั่นไหวเพราะนิจจสัญญาด้วยอนิจจานุปัสนา ไม่หวั่นไหวเพราะสุข ด้วยทุกขานุปัสนา ไม่หวั่นไหวเพราะอัตตสัญญา ด้วยอนัตตานุปัสนา เป็นต้น ไม่หวั่นไหวเพราะความเพลิดเพลิน ด้วยนิพพิทานุปัสนา ไม่หวั่นไหวเพราะความกำหนัด ด้วยวิราคานุปัสนา ไม่หวั่นไหวเพราะสมุทัย ด้วยนิโรธานุปัสนา ไม่หวั่นไหวเพราะความถือมั่น ด้วยปฏินิสสัคคานุปัสนา ไม่หวั่นไหว ไม่กวัดแกว่ง ไม่คลอนแคลน เพราะอวิชชา เพราะกิเลสอันเกิดร่วมกับอวิชชา และเพราะขันธ์ นี้ชื่อว่าวิปัสสนาพละ

    กว่าจะถึง เพราะฉะนั้นก็ผ่านไปก่อน จนกว่าจะอบรมเจริญปัญญาจนถึงจริงๆ แต่ตราบใดที่ยังไม่ถึง จิตก็จะต้องหวั่นไหวอยู่เสมอด้วยนิจจสัญญา เห็นว่าสิ่งหนึ่งสิ่งใดเที่ยง เพราะฉะนั้นถ้าแตกทำลายเสียหายไป ก็เป็นเหตุให้เกิดความหวั่นไหว แต่ถ้าขณะนั้นเป็นอนิจจานุปัสสนา เป็นปัญญาที่ประจักษ์แจ้งว่า สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง ขณะนั้นจริงๆ จะไม่หวั่นไหว และบางท่านก็หวั่นไหวเพราะสุข ต้องการความสุข แต่ถ้ารู้ว่าสุขก็เป็นเพียงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้นก็ไม่หวั่นไหวเพราะสุขด้วยทุกขานุปัสสนา ไม่หวั่นไหวเพราะอัตตสัญญา ด้วยอนัตตานุปัสนา เป็นต้น

    เพราะฉะนั้นทุกท่านก็รู้จักตนเองได้ตามความเป็นจริง ตามที่สติปัญญาจะเกิด แล้วก็จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม แต่ก็ไม่สามารถจะรู้จริตที่แต่ละบุคคลได้ประพฤติผ่านมาแล้วในอดีตกาลในแสนโกฏิกัปป์จนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้

    ท่านผู้ฟังฟังแล้วอาจจะคิดว่าไม่เกี่ยวกับภังคญาณเลยใช่ไหม แต่ความจริงก่อนที่จะถึงภังคญาณ ปัญญาที่จะถึงภังคญาณนั้นมาจากไหน ถ้าไม่ใช่เป็นผู้ที่ละเอียดจริงๆ แล้วก็พิจารณารู้จักตัวเองจริงๆ แล้วก็น้อมพิจารณาสังเกตเห็นธรรม ไม่ใช่เป็นบุคคลอีกต่อไป แต่ว่าเป็นสภาพธรรมแต่ละอย่าง เช่น ผู้ที่มีความเห็นผิดก็คบหาสมาคมกับผู้ที่เห็นผิด พอใจในความคิดผิดๆ ในความเห็นผิดๆ ต่างๆ นี่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แต่ว่าเป็นสภาพปรมัตถธรรม เป็นธรรมจริงๆ

    เพราะฉะนั้นการที่จะมีชีวิตในวันหนึ่งๆ ที่จะเป็นผู้ที่อบรมเจริญปัญญาที่จะถึงความเป็นผู้ประจักษ์แจ้ง


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 24
    3 ก.พ. 2565

    ซีดีแนะนำ