โสภณธรรม ครั้งที่ 082
ตอนที่ ๘๒
ที่จะเป็นผู้ที่อบรมเจริญปัญญาที่จะถึงความเป็นผู้ประจักษ์แจ้ง ในสภาพธรรมที่เป็นภังคญาณ ไม่ใช่ว่าไม่รู้สิ่งที่ปรากฏรอบตัว หรือสภาพธรรมทั้งหลาย แต่ว่าสามารถที่จะพิจารณาละเอียดขึ้น เข้าใจละเอียดขึ้น พร้อมทั้งสติที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรมตามปกติอย่างรวดเร็ว แม้แต่เพียงความคิดนึกที่เกิดจากการได้ยิน หรือว่าเกิดจากการเห็น หรือว่าเกิดจากการกระทบสัมผัสทางทวารอื่นๆ
ซึ่งเรื่องของภังคญาณก็เป็นเรื่องที่ยังอยู่อีกไกล ต้องขอกล่าวว่ายังอยู่อีกไกลจริงๆ สำหรับผู้ที่อบรมเจริญปัญญา และวิปัสสนาญาณยังไม่เกิด และแม้ว่าผู้ที่นามรูปปริจเฉทญาณจะเกิดแล้ว ก็ยังจะต้องรู้ว่า ไม่ใช่ว่าเป็นผู้สามารถที่จะบรรลุเป็นพระโสดาบันได้อย่างรวดเร็ว เพราะเหตุว่าบางท่านก็จะต้องอบรมเจริญนานมากทีเดียวกว่าปัญญาจะสมบูรณ์ถึงวิปัสสนาญาณแต่ละขั้นๆ ได้
เพราะฉะนั้นก็ขอกล่าวถึงข้อความในพระธรรมซึ่งจะเป็นเครื่องเตือนใจให้เห็นประโยชน์ เห็นคุณของการเป็นผู้ฟังพระธรรมอย่างละเอียด แล้วก็น้อมประพฤติปฏิบัติตามด้วย
ข้อความในปปัญจสูทนี อรรถกถามัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ อรรถกถาคหปติวรรค โปตลิยสูตร ข้อ ๙๓ แสดงความต่างกันของผู้บวชกับผู้ไม่บวช และสำหรับผู้บวชแล้วก็ยังจะต้องเตือนตัวเองซึ่งก็จะเป็นคติสำหรับผู้ที่ยังไม่บวช แม้ว่าจะเป็นเพศที่ต่างกัน
สำหรับผู้ที่บวชแล้วก็ต้องเตือนตนเองว่า
จำเดิมตั้งแต่เวลาบวช เจตนาว่าคฤหัสถ์ไม่มี บัญญัติว่าสมณะมีอยู่
นี่เป็นความละเอียดแล้วใช่ไหม เพราะฉะนั้นเห็นความต่างกันของผู้ที่เป็นคฤหัสถ์กับผู้ที่เป็นบรรพชิต ถ้าใครจะอบรมเจริญปัญญาในเพศของบรรพชิตซึ่งเป็นเพศสูง ต้องรู้ตัวว่า สามารถที่จะมีอัธยาศัยที่จะอบรมเจริญปัญญาในเพศนั้นได้หรือไม่ เพราะเหตุว่านับตั้งแต่เวลาบวช เจตนาว่าคฤหัสถ์ไม่มี ชีวิตเดิมที่เคยเป็นคฤหัสถ์ทุกประการไม่มี บัญญัติว่าสมณะมีอยู่
การกล่าวเรียกว่า คฤหัสถ์ ไม่มี การกล่าวเรียกว่า สมณะ มีอยู่
เพราะฉะนั้นการบวชแสดงว่าเป็นการเกิดใหม่สำหรับผู้ที่เป็นบรรพชิต แต่สำหรับผู้มีโอกาสได้ฟังพระธรรม แม้ว่าจะยังไม่เป็นบรรพชิต ก็อาจจะคิดได้ว่า การฟังพระธรรมก็เหมือนกับการเกิดใหม่ก็ได้ เพราะเหตุว่าการเกิดก่อนที่จะได้ฟังพระธรรม ไม่มีโอกาสจะได้เข้าใจสภาพธรรมเลย ปรมัตถธรรมเป็นอย่างไร ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นอนัตตาอย่างไร ปัญญาจะต้องอบรมจนกระทั่งสามารถที่จะประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมอย่างไร ก็ไม่สามารถที่จะรู้ได้
เพราะฉะนั้นผู้ใดก็ตามแม้ว่าเป็นคฤหัสถ์ ถ้าจะใช้ข้อเตือนตนเองอย่างบรรพชิตก็จะเตือนได้ว่า แม้ในการที่ได้ฟังพระธรรมก็เหมือนกับเป็นการเกิดใหม่ ที่จะทำให้จิตใจน้อมไปในทางที่เป็นกุศลเพิ่มขึ้น เพื่อที่จะละคลายอกุศล ที่ผิดจากก่อนที่จะได้ฟังพระธรรม
เพราะฉะนั้นผู้ที่ฟังพระธรรมน่าจะเตือนตัวเองว่า ต่างกับก่อนที่จะได้ฟังพระธรรมบ้างไหม นี่คือประโยชน์ ถ้ายังไม่ต่าง ต้องเตือนตัวเองว่า เมื่อฟังพระธรรมแล้วก็ควรที่จะได้พิจารณาเห็นคุณประโยชน์แล้วก็เริ่มน้อมประพฤติปฏิบัติตาม ไม่ใช่เพียงฟัง หรือไม่ใช่ว่าบางท่านอาจจะคิดว่าไปปฏิบัติโดยนั่ง แล้วไม่รู้อะไร แล้วก็สบายๆ นั่นก็ไม่ใช่เป็นการรู้จักตัวเองตามความเป็นจริงว่า กิเลสหนาแน่นมากมายที่ไม่เคยมองเห็น จะมีใครที่สามารถจะนำกิเลสทั้งหมดที่มากมายออกมาชี้ให้เห็น เพื่อที่จะได้เห็นความน่ารังเกียจ แล้วก็มีความพากเพียรที่จะละคลายให้สมกับที่เกิดใหม่ในพระธรรม
ผู้ที่เป็นบรรพชิตก็จะเตือนตนเองว่า
เราปฏิบัติเพื่อละ เพื่อตัดขาดเครื่องผูกพัน คือ ปาณาติบาตเหล่านั้นด้วยศีลสังวรทางกาย คือ ไม่ทำปาณาติบาตดังนี้ เราบวชในศาสนาของผู้ไม่ปลงชีวิตสัตว์ แม้แต่มดดำมดแดง ยังไม่อาจงดเว้นแม้เพียงจากปาณาติบาตได้ เราบวชทำไม
นี่คือผู้ที่เตือนตนเอง
เราบวชในพระศาสนาที่สอนไม่ให้ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ แม้แต่เส้นหญ้า ยังไม่อาจงดเว้นแม้เพียงอทินนาทานได้ เราบวชทำไม
เราบวชในศาสนาที่สอนไม่ให้กระทำมุสาวาท แม้ด้วยมุ่งหวังให้หัวเราะหรือหมายจะเล่น บวชในศาสนาที่สอนไม่ให้ทำการพูดส่อเสียดโดยอาการทั้งปวง บวชในศาสนาที่สอนไม่ให้กระทำความโลภ หรือความติดข้อง แม้มีประมาณน้อย บวชในศาสนาที่สอนไม่ให้กระทำความนินทาและกระทบกระทั่งผู้อื่น ในเมื่อแม้เขาเอาเลื่อยครูดตัว บวชในศาสนาที่สอนไม่ให้กระทำความโกรธและความคับแค้น แม้เมื่อตอและหนามตำเอา เป็นต้น บวชในศาสนาที่สอนไม่ให้ถือตัว แม้เพียงสำคัญผิด ก็ยังไม่ละแม้ความสำคัญผิดได้ เราบวชทำไม
ไม่ว่าจะเป็นบรรพชิตหรือคฤหัสถ์ ทุกท่านก็ไม่ควรที่จะคำนึงถึงบุคคลอื่น แต่ว่าควรที่จะคำนึงถึงตนเอง ซึ่งมีข้อที่น่าคิดว่า เมื่อได้ฟังพระธรรมแล้วยังไม่คิดที่จะพากเพียรเพื่อที่จะละอกุศลต่างๆ เหล่านี้แล้ว ฟังพระธรรมทำไม
นี่ก็กว่าจะถึงอุทยัพพยญาณ ก็ควรที่จะได้คิดว่า ถ้าถึงอุทยัพพยญาณจริงๆ แล้วจะได้เป็นพระโสดาบันจริงๆ จะมีการเกิดอีกเพียง ๗ ชาติ กิเลสมากมายในชีวิตจะอยู่ที่ไหน ถ้าไม่ใช่ปัญญาจริงๆ แล้ว ละไม่ได้เลย
เพราะฉะนั้น ก็จะต้องฟังพระธรรมด้วยการพิจารณาเพื่อสติจะมีสังขารขันธ์ที่จะปรุงแต่งให้ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏด้วย พร้อมกับเป็นผู้ที่ฟังพระธรรมเพื่อประโยชน์แก่การที่จะละคลายกิเลส
สำหรับความต่างของผู้ที่อบรมเจริญปัญญาและผู้ที่ไม่ได้อบรมเจริญปัญญา ซึ่งไม่ใช่คนอื่น คือตัวของท่านผู้ฟังก่อนที่จะได้ฟังพระธรรม ก่อนที่จะอบรมเจริญปัญญา แต่หลังจากที่ได้ฟังพระธรรมแล้ว ได้อบรมเจริญปัญญาแล้ว ก็พอที่จะพิจารณาเห็นความต่างกันของขณะที่ปัญญาเกิดกับขณะที่อวิชชาเกิด
ข้อความในอรรถกถา สังยุตตนิกาย สคาถวรรค ทุติยวรรคที่ ๒ อรรถกถาชฎิลสูตร ข้อ ๓๕๔ มีข้อความว่า
บทว่า ฐาโม ได้แก่ กำลังแห่งญาณ จริงอยู่กำลังญาณของผู้ใดไม่มี เมื่อเกิดอุปัทวันตรายขึ้น ผู้นั้นก็มองไม่เห็นการถือสิ่งที่ควรถือ กิจที่ควรทำ ย่อมประพฤติเหมือนดังเข้าไปยังเรือนที่มืดตื้อ ด้วยเหตุนั้นพระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า บุคคลพึงรู้กำลังญาณได้ก็ในคราวมีอันตราย
ฟังดูเป็นข้อความธรรมดา แต่ว่าน่าพิจารณาข้อความที่ว่า
จริงอยู่กำลังญาณของผู้ใดไม่มี เมื่อเกิดอุปัทวันตรายขึ้น ผู้นั้นก็มองไม่เห็นการถือสิ่งที่ควรถือ กิจที่ควรทำ ย่อมประพฤติเหมือนดังเข้าไปยังเรือนที่มืดตื้อ ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า บุคคลพึงรู้กำลังญาณได้ก็ในคราวมีอันตราย
ท่านผู้ฟังอาจจะยังไม่เคยรู้สึกตัวเลยว่า เหมือนอยู่ในเรือนที่มืดตื้อ ใช่ไหม แต่เดี๋ยวนี้ทราบไหมว่า ขณะไหน พอที่จะตอบได้ไหมว่าเคยอยู่ในเรือนที่มืดตื้อบ้างไหม หรือว่าบ่อยๆ ในขณะไหน ขณะที่อกุศลจิตเกิด ไม่ใช่ขณะที่ปัญญาเกิด เพราะฉะนั้นก็ไม่ถือเอาสิ่งที่ควรถือ หรือไม่ได้ทำในสิ่งที่ควรทำ แต่ว่ามีความประพฤติเหมือนดังเข้าไปในเรือนที่มืดตื้อ ทำอะไรก็ไม่ถูก และทำสิ่งที่ผิดๆ ด้วย ไม่มีปัญญาที่จะส่องให้เห็นว่า สิ่งนั้นไม่ควรกระทำ แต่ว่าทำไปแล้วด้วยอวิชชา
คนที่โกรธจัดๆ พอหายโกรธแล้ว จะรู้ได้เลยว่า เมื่อสักครู่นี้อยู่ที่ไหน ทำอะไร ไม่ได้มีปัญญาที่จะเห็นโทษของการกระทำที่เกิดจากความโกรธ หรือว่าทุจริตกรรมต่างๆ เลย เพราะฉะนั้นใกล้เข้ามาอีกที่จะให้ถึงภังคญาณ ก็จะเห็นได้ว่า ขณะนี้กำลังมีอันตรายหรือเปล่า เพราะเหตุว่าเวลาที่คิดถึงอันตราย ย่อมคิดถึงภัยที่จะได้รับทางหนึ่งทางใด ตามข้อความที่ว่า กำลังญาณของผู้ใดไม่มี เมื่อเกิดอุปัทวันตรายขึ้น ผู้นั้นก็มองไม่เห็นการถือสิ่งที่ควรถือ กิจที่ควรทำ ย่อมประพฤติเหมือนดังเข้าไปยังเรือนที่มืดตื้อ
เพราะฉะนั้นที่ดิฉันเรียนถามว่า ใกล้เข้ามาอีกถึงในขณะนี้ที่กำลังเห็น กำลังได้ยินขณะนี้มีอันตรายอะไรหรือเปล่า ถ้าคิดว่าไม่มี ก็หมายความว่าไม่เห็นโทษของโลภะ โทสะ โมหะ ขณะที่กำลังสนุกสนานรื่นเริง หรือว่ากำลังเดินทางท่องเที่ยวพักผ่อน ขณะนั้นเห็นโทษภัยของเห็น ของได้ยิน ของได้กลิ่น ของลิ้มรส ของสิ่งที่กระทบสัมผัส หรือของคิดนึกในขณะนั้นไหม
เพราะว่าการที่จะเห็นภัยจริงๆ ต้องเห็นภัยของการเกิดขึ้นของสังขารธรรม เพราะเหตุว่าไม่มีใครสามารถที่จะยับยั้งการเกิดขึ้นได้เลย ไม่อยากจะเกิด ไม่มีทาง ใครจะบอกว่า ไม่อยากจะเห็นอีก ไม่อยากจะได้ยินอีก ไม่อยากจะเกิดอีก เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย เพราะเหตุว่ามีปัจจัยที่จะเกิดก็ต้องเกิด แล้วปัจจัยนั้นก็คืออวิชชา ความไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ
เพราะฉะนั้นผู้ที่ละเอียดเมื่อได้ฟังพระธรรม พิจารณาพระธรรมแล้วก็น้อมระลึกถึงธรรมโดยละเอียดขึ้น คือ แม้แต่กำลังเห็นในขณะนี้ เมื่อไม่รู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏก็เป็นอันตราย เป็นโทษ เพราะเหตุว่าเป็นปัจจัยให้เกิดโลภะบ้าง โทสะบ้าง เป็นส่วนใหญ่ในชีวิต
เพราะฉะนั้นการที่จะถึงภังคญาณได้ ก็ต้องเป็นผู้ที่พิจารณาโดยละเอียด เห็นโทษโดยละเอียด และสติปัฏฐานก็จะระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏไปเรื่อยๆ
นิภัทร เมื่อสักครู่ที่ท่านอาจารย์บรรยายหมายถึงลำดับหรือชั้นของวิปัสสนาญาณ ก็มีญาตปริญญา ตีรณปริญญา และปหานปริญญา ญาตปริญญาถ้าจะเทียบกับวิปัสสนาญาณแล้วถึงแค่ไหน
ท่านอาจารย์ นามรูปปริจเฉทญาณ เป็นต้นไปจนถึงอุทยัพพยญาณ จากอุทยัพพยญาณตลอดไปเป็นตีรณปริญญา และภังคญาณก็เริ่มปหานปริญญา
เพราะฉะนั้นไม่มีการลำดับขั้นวัดว่า เมื่อหมดเขตของปริญญานี้แล้ว ก็จะไม่เป็นปริญญานี้อีกต่อไป ไม่ใช่อย่างนั้น เพราะเหตุว่าคำว่าตีรณะ แปลว่า พิจารณา เพราะฉะนั้นตีรณปริญญา ก็คือปริญญาที่พิจารณาความไม่เที่ยงของสภาพธรรม ซึ่งก็จะต้องพิจารณาเรื่อยไปโดยตลอด
นิภัทร แต่เฉพาะญาตปริญญานี่หมายถึงแค่อุทยัพพยญาณเท่านั้น
ท่านอาจารย์ ญาตปริญญาก็ตั้งแต่นามรูปปริจเฉทญาณ ปัจจยปริคคหญาณ อุทยัพพยญาณที่จริงแล้วที่จะเกิดขึ้นได้ ก็จะต้องมีการพิจารณาความไม่เที่ยง คือ การเกิดดับของนามธรรมและรูปธรรม แต่ยังไม่ประจักษ์แจ้งจึงยังไม่ชื่อว่าสมบูรณ์ หรือเป็นขั้นของตีรณปริญญา แต่หมายความว่าที่ตีรณปริญญาจะมีได้ก็ต้องอาศัยการพิจารณา
เพราะฉะนั้นไม่มีขีดขั้นจำกัดเขตอย่างที่ว่า เพราะเหตุว่าแต่ละปริญญาก็อาศัยกัน และไม่ทิ้งกันด้วย หมายความว่าไม่ใช่ว่าเมื่อถึงภังคญาณแล้วจะไม่มีตีรณปริญญาอีก ยังมีตีรณปริญญาควบคู่กันไปกับญาตปริญญาด้วย เพราะเหตุว่าการพิจารณานั้นทำให้มีการเริ่มหน่าย เริ่มคลาย เพราะเหตุว่าน้อมระลึกถึงสภาพที่ดับ
นิภัทร วิปัสสนาญาณที่สูงๆ ขึ้นไป กระผมฟังแล้วก็ไม่รู้สึกประทับใจ เพราะคิดว่าอยู่ห่างไกลเหลือเกิน ซึ่งไม่ทราบว่าจะถึงหรือไม่ถึง ไม่ทราบว่าชาติไหนจึงจะถึง แต่กระผมก็ติดใจตอนต้นๆ อย่างนามรูปปริจเฉทญาณ แค่นี้กระผมก็ยังไม่เข้าใจดี ก็พอจะรู้บ้างว่า นามอย่างไร รูปอย่างไรในขณะเห็น ขณะได้ยิน ขณะได้กลิ่น ขณะรู้รส ขณะสัมผัสเย็นร้อนอ่อนแข็ง คิดนึก ก็พอที่จะรู้บ้าง แต่ไม่มั่นคงอะไร รู้สึกว่าแค่ขั้นต้น คือ นามรูปปริจเฉทญาณ ก็เป็นปัญหาที่จะต้องศึกษา ที่จะต้องอบรม ต้องฝึกฝนไปอีกมาก และที่เข้าใจอยู่ ก็ยังไม่มั่นใจตัวเองว่าเป็นความเข้าใจที่ถูกต้อง
อย่างทางตากระผมก็เป็นปัญหาที่ข้องใจอยู่ตลอดเวลาว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาที่ว่าเห็นนั้น ที่จริงๆ คืออะไรแน่ ก็ยังไม่สามารถที่จะตัดสินลงไปได้เด็ดขาด อาจารย์เคยยกตัวอย่างว่า ถ้าเราเข้ามาในสภามหามกุฏฯ ก็เห็นทุกอย่างที่โต๊ะหมู่บูชา ขณะแรกที่เห็น เรายังไม่รู้หรอกว่า นั่นคือพระพุทธรูป นั่นคือพระสาวก นั่นคือแจกัน แต่รู้ว่าเห็น รู้ว่าปรากฏ แต่ยังไม่ได้จำแนกชื่อต่างๆ ออกไปการเห็นลักษณะที่ยังไม่ได้จำแนกชื่อ เห็นปรากฏ แต่ไม่ได้เรียกชื่อ หรือไม่ได้ตั้งชื่อ ไม่ได้นึกถึงชื่อขึ้นมา อย่างนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตาหรือเปล่า
ท่านอาจารย์ นี่เป็นการแสดงให้เห็นถึงความลึกของการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เพราะฉะนั้นลองคิดดูอย่างนี้ว่า ถ้าขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา มีแน่ๆ แล้วก็มีเสียงด้วย ลองทิ้งความยึดถือความทรงจำว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นใครหรือเป็นอะไร คือไม่ใส่ใจ ผ่านไปแล้วก็ผ่านไปเลย แล้วก็ใส่ใจในเสียงที่กำลังปรากฏ แล้วเมื่อเสียงนั้นหมด มีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ก็ละความยึดถือ ขอให้ระลึกถึงคำว่า “ละความยึดถือ” เพราะว่าเคยยึดถือว่าเป็นคน แล้วก็เป็นคนนี้ที่เรารู้จัก นี่คือความยึดถือ
เพราะฉะนั้นถ้าละความยึดถือว่า เป็นคนนี้ที่เรารู้จัก ไม่สนใจว่าเป็นคนนี้ที่เรารู้จัก แต่เป็นสิ่งที่ปรากฏเท่านั้นเอง
นิภัทร การเห็น อย่างที่อาจารย์ยกตัวอย่าง เขามีรูปร่างอย่างไร ใส่เสื้อผ้าสีอะไร สูงต่ำดำขาวอย่างไร ขณะนั้นเห็นทันทีเลย
ท่านอาจารย์ เพราะเคยชินกับการยึดถืออย่างมั่นคงเหนียวแน่นว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เพราะฉะนั้น การที่จะละคลายก็คือ โดยการที่ว่า ละเสียความยึดถืออันนั้น ว่าไม่ใช่คนนั้นที่เรารู้จัก เพียงแต่เป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ชั่วขณะที่รู้อย่างนี้และก็ได้ยินเสียง ขณะนั้นไม่นึกถึงคนนี้ที่เรารู้จักแล้ว ทั้งๆ ที่กำลังเห็น แต่เวลาขณะที่เสียงปรากฏแล้วสติระลึกที่เสียง การที่จะมาทรงจำยึดถือว่า นี่เป็นคนที่เรารู้จักก็ไม่มี ก็เพียงแต่ผ่านไปเห็นก็เห็น เพราะฉะนั้นเวลาที่เสียงดับและกลับเห็นอีก ก็เพิ่มความรู้ว่า ไม่ใช่คนที่เรารู้จักมั่นคงเป็นสัตว์เป็นบุคคล เป็นเพียงสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาเท่านั้น
นี่ถึงจะค่อยๆ ถ่ายถอนการที่เคยยึดถือคนที่เรารู้จักไว้มั่นคงในขณะที่เห็น โดยการเพิ่มความรู้ขึ้นว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา และสำหรับวิปัสสนาญาณต่างๆ เป็นจริงอย่างที่ท่านผู้ฟังกล่าว คือว่าจะไม่มีความซาบซึ้งประทับใจ เพราะเหตุว่าในพระไตรปิฎกเป็นข้อความที่สั้นๆ เสมอ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับวิปัสสนาญาณต่างๆ เพราะเหตุว่าเป็นปัจจัตตัง เป็นปัญญาที่รู้เฉพาะตัว เพราะฉะนั้นเมื่อบุคคลอื่นไม่สามารถที่จะรู้ได้ เพราะฉะนั้นก็ฟังดูเสมือนว่า เป็นสิ่งที่กล่าวซ้ำไปซ้ำมาโดยไม่เปลี่ยนแปลง แม้ว่าการเกิดขึ้นและดับไปของนามธรรมและรูปธรรมทางตาที่กำลังเห็น ทางหูที่กำลังได้ยิน ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็ดูเหมือนเป็นปกติธรรมดา จนกว่าการประจักษ์แจ้งจะเกิด ก็รู้ว่าการประจักษ์แจ้งก็ประจักษ์แจ้งสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ซึ่งอวิชชาไม่สามารถที่จะประจักษ์ได้
เพราะฉะนั้นเมื่อปัญญายังไม่เจริญขึ้น อวิชชาก็ยังคงไม่สามารถจะซาบซึ้งในปัญญาที่สมบูรณ์คมกล้าที่แทงตลอดในลักษณะของสภาพธรรม
ปทุม สมมติว่าเราคิดเรื่องโลภะว่า ถูกลอตเตอรีรางวัลที่ ๑ สักทีก็ดี ก็เกิดมีสติขึ้นมา นิดหนึ่ง แล้วต่อจากนั้นไปก็จะเป็นคิดเรื่องธรรมทั้งหลายเชื่อมโยงว่า เราจะถูกได้อย่างไร เราคงไม่ได้ทำบุญมาแต่ปางก่อน เราเป็นผู้สังเกตอย่างที่อาจารย์เคยสอนให้สังเกตให้สำเหนียก ดิฉันก็พยายามสังเกตทุกอิริยาบถเวลามีสติขึ้นมา แต่เวลาที่มีสตินิดขึ้นมาก็กั้นโลภะว่าจะเป็นสติปัฏฐานหรือเปล่า
ท่านอาจารย์ สติมีหลายขั้น
ปทุม แต่ตอนนั้นวิ๊บหนึ่ง มันไม่มีทั้งสัตว์ ทั้งบุคคล และต่อมาอีกนิดหนึ่งเราจะถูกได้อย่างไร คือเราไม่เคยได้ทำบุญ มันติดต่อกัน
ท่านอาจารย์ ข้อสำคัญที่สุด โดยมากบางคนจะบอกว่า มีสติขึ้นมานิดหนึ่ง แล้วก็รู้สึกว่าไม่มีตัวตน ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล
ปทุม แบบนี้ดิฉันอยากจะทราบว่าเป็นสติปัฏฐานหรือเปล่า เดี๋ยวจะคิดผิด เข้าใจผิดอย่างที่อาจารย์บอก
ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน
ปทุม ตอนนั้นไม่มี วิ๊บเดียว เหมือนอย่างที่อาจารย์อธิบายว่า ผ้าไหมเนื้อดีที่ลูบภูเขา ดิฉันก็คิดๆ ดิฉันก็เข้าใจว่าเป็นสติปัฏฐาน อยากจะทราบว่าใช่หรือเปล่า กลัวจะเข้าใจผิด
ท่านอาจารย์ ถ้าในขณะนั้นไม่มีความรู้สึกว่าเป็นตัวตน สัตว์ บุคคล ขณะนั้นมีอะไรที่กำลังปรากฏ
ปทุม วิ๊บเดียวของสติ
ท่านอาจารย์ สติเป็นสภาพที่ระลึกรู้ ต้องมีสิ่งที่สติระลึกรู้ เพราะฉะนั้นในขณะที่กล่าวว่า มีความรู้สึกว่า ไม่มีเรา ไม่มีตัวตน ไม่มีสัตว์บุคคล ขณะนั้นมีอะไรปรากฏ
ปทุม สมมติว่าเราเปรียบว่ากำลังคิดนึกอยู่ว่า เราถูกลอตเตอรีรางวัลที่ ๑ เราก็เกิดสติขึ้นมานิดหนึ่ง อธิบายไม่ถูก
ท่านอาจารย์ ถ้าอธิบายไม่ถูก ยังไม่ใช่ปัญญา
ปทุม คล้ายๆ เรารู้ คล้ายๆ มากั้นอยู่ว่า นี่โลภะกำลังเกิดเสียแล้วเรา
ท่านอาจารย์ เรารู้ว่า โลภะกำลังเกิดกับเรา
ปทุม แล้วเราก็หยุด และก็มาคิดอีก
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็เราหยุด แล้วเราก็คิด ก็ยังคงมีเราอยู่ เพราะเหตุว่าในขณะนั้นไม่ใช่สติปัฏฐาน ถ้าสติปัฏฐานก็คือว่า จะต้องมีลักษณะสภาพธรรมอย่างหนึ่งที่สติกำลังระลึกรู้ตรงลักษณะนั้น ซึ่งทางตาเห็นกันอยู่ทุกวัน ถ้าสติปัฏฐานเกิด ไม่ได้หมายความว่าไม่มีความเป็นตัวตน ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคลในขณะที่เห็น แต่หมายความว่าสิ่งที่เห็น มี แล้วสติก็ระลึกตรงลักษณะของสภาพธรรมนั้น แล้วปัญญาก็เริ่มสังเกตพิจารณาที่จะรู้ว่า ลักษณะที่ปรากฏนั้นเป็นอะไร คือรู้ความจริงว่าเป็นอะไร ก่อนที่สติปัฏฐานจะเกิดเป็นคน เห็นคน เป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้ เป็นถ้วย เป็นจาน เป็นอาหาร เป็นหนังสือ เป็นวัตถุสิ่งต่างๆ เป็นวิทยุ เป็นโทรทัศน์ เป็นคนกำลังร้องเพลง เป็นหนังสือพิมพ์ เป็นเรื่องราวต่างๆ
นี่คือขณะที่สติปัฏฐานไม่เกิดในขณะที่เห็น เพราะฉะนั้น ในขณะที่เห็นที่จะเป็นสติปัฏฐานก็คือว่ามีสิ่งที่กำลังปรากฏ แล้วปัญญาเริ่มพิจารณาที่จะรู้ว่าสิ่งนั้นเป็นอะไร
ปทุม เราก็พิจารณาต่อจากนั้น
ท่านอาจารย์ ยังไม่ต่อ ต่อไม่ได้เลย คือ จะต้องรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ อย่าไปต่อ สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา สติเกิดเป็นอย่างไร ต่างกับหลงลืมสติอย่างไร ขณะที่หลงลืมสติเป็นสัตว์ เป็นบุคคลมากหน้าหลายตาเยอะแยะ ขณะที่สติปัฏฐานเกิด เริ่มรู้ความจริงว่า ไม่มีใครเลย มีแต่สิ่งที่ปรากฏได้เฉพาะทางตา เคยเป็นคนที่รู้จัก แต่ว่าลักษณะจริงๆ แท้ๆ ของคนไม่มี มีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาให้เห็น
เพราะฉะนั้นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา จะเป็นลักษณะของคนได้ไหม เพราะว่าลักษณะจริงๆ ของสิ่งที่ปรากฏทางตานั้นปรากฏทางตา ลักษณะแท้จริงคือเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งปรากฏทางตา แล้วเรานึกเอาเองว่าสิ่งนั้นเป็นใคร เป็นอะไร เพราะฉะนั้นไม่ใช่ในขณะที่สิ่งนั้นกำลังปรากฏทางตาจริงๆ
เพราะฉะนั้น วันหนึ่งๆ เวลาที่สติปัฏฐานเกิดแล้วก็ระลึกศึกษาลักษณะของสภาพธรรมทั่วทั้ง ๖ ทาง ไม่ว่าจะเป็นทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ปัญญาสามารถที่จะแยกโลกของความคิดนึกออกจากปรมัตถธรรมที่ปรากฏ แล้วก็จะรู้ได้จริงๆ ว่า ปรมัตถธรรมที่ปรากฏสั้นมาก เพียงเล็กน้อย เพียงนิดเดียว แต่ว่าเรื่องราวที่คิดมากมายเหลือเกิน เพราะฉะนั้นวันหนึ่งๆ เป็นโลกของความคิดนึกของแต่ละคนที่สลับกับสิ่งที่ปรากฏทางตา เสียงที่ปรากฏทางหู กลิ่นที่ปรากฏทางจมูก รสที่ปรากฏทางลิ้น และสิ่งที่กระทบสัมผัสกาย
เพราะฉะนั้นการที่มีปัญญาเริ่มที่จะรู้ว่า แท้ที่จริงแล้วเป็นโลกของความนึกคิดมากมาย เรื่องราวที่คิดนึก ไม่จริง เป็นเพียงชั่วขณะที่จิตเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นเมื่อเป็นเรื่องทั้งหมดที่ไม่จริง เป็นสิ่งที่ไม่มีสาระ ในขณะที่สิ่งที่เป็นสาระที่จะรู้ได้ว่าเกิดดับก็ผ่านไปทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย แต่ความคิดนึกปิดบังหมด เพราะเหตุว่าไม่ได้รู้ความจริงว่า สิ่งไหนเป็นสิ่งซึ่งปัญญาจะต้องรู้ และสภาพธรรมนั้นเป็นสิ่งที่มีลักษณะที่เกิดดับให้ปัญญาประจักษ์แจ้งได้
แม่ชี มีผู้บอกว่า อิริยาบถ ๔ ไม่มี แต่ผู้นั้นไม่เชื่อ อาจารย์เคยอบรมเคยสอนว่า ให้พิจารณาอิริยาบถ ๔ เขามาปรารภกับหนู ทำอย่างไรจึงจะให้เขาเข้าใจข้อนี้
- โสภณธรรม ครั้งที่ 051
- โสภณธรรม ครั้งที่ 052
- โสภณธรรม ครั้งที่ 053
- โสภณธรรม ครั้งที่ 054
- โสภณธรรม ครั้งที่ 055
- โสภณธรรม ครั้งที่ 056
- โสภณธรรม ครั้งที่ 057
- โสภณธรรม ครั้งที่ 058
- โสภณธรรม ครั้งที่ 059
- โสภณธรรม ครั้งที่ 060
- โสภณธรรม ครั้งที่ 061
- โสภณธรรม ครั้งที่ 062
- โสภณธรรม ครั้งที่ 063
- โสภณธรรม ครั้งที่ 064
- โสภณธรรม ครั้งที่ 065
- โสภณธรรม ครั้งที่ 066
- โสภณธรรม ครั้งที่ 067
- โสภณธรรม ครั้งที่ 068
- โสภณธรรม ครั้งที่ 069
- โสภณธรรม ครั้งที่ 070
- โสภณธรรม ครั้งที่ 071
- โสภณธรรม ครั้งที่ 072
- โสภณธรรม ครั้งที่ 073
- โสภณธรรม ครั้งที่ 074
- โสภณธรรม ครั้งที่ 075
- โสภณธรรม ครั้งที่ 076
- โสภณธรรม ครั้งที่ 077
- โสภณธรรม ครั้งที่ 078
- โสภณธรรม ครั้งที่ 079
- โสภณธรรม ครั้งที่ 080
- โสภณธรรม ครั้งที่ 081
- โสภณธรรม ครั้งที่ 082
- โสภณธรรม ครั้งที่ 083
- โสภณธรรม ครั้งที่ 084
- โสภณธรรม ครั้งที่ 085
- โสภณธรรม ครั้งที่ 086
- โสภณธรรม ครั้งที่ 087
- โสภณธรรม ครั้งที่ 088
- โสภณธรรม ครั้งที่ 089
- โสภณธรรม ครั้งที่ 090
- โสภณธรรม ครั้งที่ 091
- โสภณธรรม ครั้งที่ 092
- โสภณธรรม ครั้งที่ 093
- โสภณธรรม ครั้งที่ 094
- โสภณธรรม ครั้งที่ 095
- โสภณธรรม ครั้งที่ 096
- โสภณธรรม ครั้งที่ 097
- โสภณธรรม ครั้งที่ 098
- โสภณธรรม ครั้งที่ 099
- โสภณธรรม ครั้งที่ 100