โสภณธรรม ครั้งที่ 083
ตอนที่ ๘๓
แม่ชี มีผู้บอกว่า อิริยาบถ ๔ ไม่มี แต่ผู้นั้นไม่เชื่อ อาจารย์เคยอบรมเคยสอนว่า ให้พิจารณาอิริยาบถ ๔ เขามาปรารภกับหนู ทำอย่างไรจึงจะให้เขาเข้าใจข้อนี้
ท่านอาจารย์ เราเข้าใจแล้วใช่ไหม คนอื่นไม่เข้าใจ ยากที่จะช่วย ถ้าได้อธิบายให้เขาฟังแล้ว เขายังไม่เห็นด้วย ก็หมายความว่าเขาสะสมมา เขามีฉันทะ มีอัธยาศัยที่จะคิดอย่างนั้น เข้าใจอย่างนั้น ไม่ใช่แต่เฉพาะในชาตินี้ชาติเดียว ต้องมีชาติก่อนๆ ที่ทำให้เขาสะสมโน้มเอียงมาที่จะไม่พิจารณาธรรมโดยละเอียด
แม่ชี แล้วจะเปลี่ยนแปลงเขาได้ไหม ให้เขาเข้าใจ
ท่านอาจารย์ ก็พยายามอธิบายเหตุผลเพื่อที่จะให้เขารับฟังว่า สิ่งไหนเป็นเหตุผล สิ่งไหนไม่ใช่เหตุผล เพราะเหตุว่าพระธรรมทรงแสดงไว้โดยละเอียด ไม่ว่าจะยกพระธรรมข้อไหนขึ้นมา ก็ควรที่จะให้เขาเปรียบเทียบพิจารณาดูว่า ความคิดเห็นของเขาค้านกับพระธรรมหรือเปล่า
แม่ชี แต่เขาอ้างสติปัฏฐานข้ออิริยาบถ
ท่านอาจารย์ ถ้าอ้างสติปัฏฐานข้ออิริยาบถ แล้วข้อลมหายใจละคะ อานาปานะ
แม่ชี เขาไม่ได้ยึดอานาปานะ
ท่านอาจารย์ มิได้ สติปัฏฐานไม่ใช่มีแต่อิริยาปถบรรพ มีบรรพอื่นด้วย เช่น ปฏิกูลมนสิการบรรพ การพิจารณาเห็นความเป็นปฏิกูลของขน ผม เล็บ ฟัน หนัง สิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตามซึ่งเนื่องกับกายที่เคยยึดถือว่าเป็นร่างกายทั้งหมด รวมอยู่ในกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน แม้แต่ลมหายใจ เพราะฉะนั้นการที่จะนึกเอาว่ามีท่าทาง เพราะว่าเป็นอิริยาปถบรรพ แล้วผม ขน เล็บ ฟัน หนัง จะว่าอย่างไร ในเมื่อก็เป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐานเหมือนกัน
นี่เป็นเหตุที่ไม่ศึกษาพระธรรมให้สอดคล้องกันว่า เหตุใดพระผู้มีพระภาคจึงได้ทรงแสดงปรมัตถธรรมหรืออภิธรรมด้วย ถ้าปัญญาไม่ประจักษ์ลักษณะของปรมัตถธรรม ความเป็นตัวตนก็ต้องมี ผมก็ต้องเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ไม่เกิดดับแน่ เล็บ ฟัน หนัง ก็ต้องเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดซึ่งเกิดดับไม่ได้ เพราะเหตุว่าไม่ได้รู้ลักษณะของปรมัตถธรรม
สำหรับการอบรมเจริญสติปัฏฐานจนกว่าปัญญาจะสมบูรณ์ถึงการที่จะประจักษ์แจ้ง รู้ชัดในลักษณะของสภาพนามธรรมและรูปธรรมที่ปรากฏ ก็จะต้องปฏิบัติคู่กันไปกับการฟังพระธรรม ไม่ใช่ว่าแยกกัน เพราะเหตุว่าชีวิตประจำวันเป็นนามธรรม เป็นรูปธรรมอย่างไร การฟังเรื่องของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังมีในขณะนี้ ที่กำลังปรากฏ ก็เพื่อให้เข้าใจชัด และถ้ามีปัจจัยเพียงพอ สติปัฏฐานก็เกิดระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏแม้แต่ในขณะกำลังฟังนี้เอง เพราะเหตุว่าเป็นนามธรรมและรูปธรรมทั้งนั้น
เพราะฉะนั้นอาศัยการฟังพระธรรมมากๆ เป็นพหูสูต ก็จะทำให้ปัญญาที่เข้าใจพระธรรมยิ่งขึ้นนั้นน้อมไปสู่การที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่ว่าจะขณะที่กำลังฟังหรือว่าในขณะอื่น จนกว่าจะถึงกาลที่ปัญญาที่ได้ฟังมามากนั้นจะเป็นสังขารขันธ์ปรุงแต่งให้วิปัสสนาญาณเกิดขึ้น ซึ่งถ้าไม่ฟังพระธรรมเลยก็ไม่สามารถจะมีเครื่องลับปัญญาให้คมกล้า เพราะเหตุว่าพระธรรมที่ได้ยินได้ฟังที่ให้พิจารณาอย่างละเอียดนั้น เปรียบเสมือนเครื่องลับปัญญาให้คมกล้า ซึ่งถ้าไม่มีเครื่องลับปัญญาก็จะคมไม่ได้เลย ไม่สามารถจะเข้าใจความละเอียดของลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตั้งแต่เกิดจนตาย แต่ว่าอวิชชาปิดบังไม่ให้รู้ความจริงของสภาพธรรมนั้นเมื่อไม่ได้ฟังพระธรรม และชีวิตของผู้ที่ฟังพระธรรมและอบรมเจริญสติปัฏฐานก็ดำเนินไปตามปกติ ไม่มีการผิดปกติใดๆ เลยทั้งสิ้น เพราะว่าทุกชีวิตก็ยังต้องเป็นเรื่องของการดำรงชีพ การประกอบกิจการงาน การติดต่อกับบุคคลที่เกี่ยวข้องในชีวิตประจำวัน การที่จะต้องประสบกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และการคิดนึกต่างๆ ซึ่งเป็นไปกับโลภะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง อิสสาบ้าง มัจฉริยะบ้าง มานะบ้าง หรือฝ่ายกุศลก็เป็นความเมตตาบ้าง ความกรุณาบ้าง เป็นต้น
และนอกจากนั้นสำหรับผู้ที่อาจจะมีการศึกษาน้อย หรือว่าการฟังน้อย การพิจารณาน้อย เพิ่งจะมีโอกาสได้รับฟัง เพราะฉะนั้น ก็ยังมีความสงสัยในสภาพธรรม ในพระรัตนตรัย เพราะฉะนั้นก็จำเป็นที่จะต้องมีพระธรรมที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตประจำวันด้วย มิฉะนั้นใครเลยที่จะปฏิบัติอบรมเจริญปัญญาได้ ถ้าไม่มีพระธรรมที่เกื้อกูลต่อการที่จะให้ชีวิตดำเนินไปโดยสะดวกในวันหนึ่งๆ
พระ อาตมาจะถามเรื่องปัญญาที่เกิดในปัญจทวาร เช่น จักขุทวารวิถี ปัญญาที่เกิดในจักขุทวารวิถีมีอะไรเป็นอารมณ์
ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นทางตา ก็ต้องมีรูปารมณ์เป็นอารมณ์เจ้าค่ะ
พระ ไม่สามารถจะมีอย่างอื่นเป็นอารมณ์ได้
ท่านอาจารย์ แน่นอนเจ้าค่ะ
พระ เพราะฉะนั้นจิตที่เกิดในวิถีจักขุทวารวิถี จิตทั้งหมดตั้งแต่ปัญจทวาราวัชชนจิตจนถึงตทาลัมพนจิต จะต้องมีรูปารมณ์เป็นอารมณ์เท่านั้น แล้วถ้าเกิดดับไปแล้ว ภวังคจิตคั่นแล้ว มโนทวารวิถีเกิดรับอารมณ์นั้นต่อ จะต้องมีรูปารมณ์เป็นอารมณ์เท่านั้นหรือเปล่า
ท่านอาจารย์ วาระแรกต้องเป็นอย่างนั้นเจ้าค่ะ
พระ ถ้าวาระแรกเป็นอย่างนั้น วาระต่อไปจึงสามารถรู้ลักษณะของรูปธรรมและนามธรรมที่ต่างกันใช่ไหม ไม่สามารถจะรู้ได้ในมโนทวารที่ต่อจากจักขุทวารวิถีใช่ไหม
ท่านอาจารย์ พระคุณเจ้าหมายความถึงวิปัสสนาญาณหรือเปล่า
พระ ใช่ เจริญพร
ท่านอาจารย์ ขณะที่เป็นวิปัสสนาญาณไม่ใช่จะปราศจากปัญจทวาร เพราะเหตุว่าการที่รูปจะปรากฏแต่ละอย่างได้ ก็จะต้องปรากฏตามทวารนั้นๆ เช่น รูปารมณ์ก็ต้องกระทบกับจักขุปสาท และจะต้องมีมโนทวารวิถีจิตรู้รูปารมณ์ ถ้าเป็นเสียงที่ปรากฏก็ต้องกระทบกับโสตปสาท แล้วโสตทวารวิถีจิตต้องรู้สัททรูป คือเสียงนั้น แล้วมโนทวารวิถีจิตซึ่งรับรู้ต่อซึ่งเป็นวิปัสสนาญาณ ขณะนั้นเป็นมโนทวาร ซึ่งมีอารมณ์ซึ่งรับรู้ต่อจากทางปัญจทวาร ทวารหนึ่งทวารใด
พระ และถ้าเกิดสติปัฏฐานระลึกที่ลักษณะของรูปธรรม เช่น รูปารมณ์ ปัญญาก็รู้ชัดในรูปารมณ์แล้ว มโนทวารวิถีที่ต่อวาระแรกก็รู้ชัดในรูปารมณ์ จนกระทั่งวิถีหลังๆ ที่เป็นวิปัสสนาญาณเกิดขึ้น ขณะนั้นยังไม่มีลักษณะของนามธรรมเป็นอารมณ์ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นนามรูปปริจเฉทญาณจะไม่มีเราที่กำลังรู้ จึงเป็นวิปัสสนาญาณ เพราะฉะนั้น ลักษณะของนามธรรมในขณะนั้น ก็ปรากฏโดยเป็นธาตุรู้ ไม่ใช่เราที่กำลังรู้รูปารมณ์ หรือสัททารมณ์
พระ แสดงว่าสติปัฏฐานจะต้องระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมที่เป็นธาตุรู้ก่อนที่จะเป็นวิปัสสนาญาณได้ เพราะว่าวิปัสสนาญาณ เช่น นามรูปปริจเฉทญาณ จะต้องรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมแยกขาดจากกัน เพราะฉะนั้นในปัญจทวารต้องระลึกลักษณะของรูปธรรมแล้ว และมโนทวารที่ต่อจากปัญจทวารจะต้องรู้รูปธรรมด้วย เพราะว่ารู้อย่างอื่นไม่ได้ จนวาระหลังๆ แสดงว่าวิปัสสนาญาณจะต้องเกิดวาระหลังจากนั้นไปอีกใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ก่อนที่วิปัสสนาญาณจะเกิด สติปัฏฐานจะต้องระลึกลักษณะของนามธรรมบ้าง รูปธรรมบ้าง ในขณะที่กำลังระลึกและเริ่มพิจารณาสังเกตลักษณะของธรรมที่กำลังปรากฏ แล้วศึกษาว่าลักษณะนั้นเป็นลักษณะของรูปธรรม หรือเป็นลักษณะของนามธรรม ขณะนั้นไม่ใช่วิปัสสนาญาณ แต่ว่าผู้ที่สติปัฏฐานกำลังระลึก เริ่มที่จะรู้ว่า กำลังศึกษา ต้องมีการศึกษา คือ ต้องมีการพิจารณาด้วย ไม่ใช่ว่าระลึกเปล่าๆ เฉยๆ แล้วปัญญาก็ไม่รู้อะไรเลย แล้วอยู่ดีๆ ปัญญาก็จะเกิดขึ้นมาโดยที่ไม่เคยรู้ว่า ต้องมีการศึกษา พิจารณาลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ
ขอยกตัวอย่างทางตาในขณะนี้ เพื่อที่จะได้รู้ว่า ถ้าสติจะระลึก จะระลึกอย่างไร ถ้าระลึกลักษณะของนามธรรม ก็รู้ว่าขณะที่กำลังเห็น เป็นอาการรู้ ไม่ใช่สิ่งที่เป็นสีสันที่กำลังปรากฏ ซึ่งลักษณะของอาการรู้ สภาพรู้ ธาตุรู้ ไม่มีรูปร่างสัณฐานใดๆ ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นก็จะต้องน้อมไปที่จะเข้าใจจริงๆ ว่า อาการรู้นี้มี แต่ไม่ใช่สิ่งที่กำลังปรากฏเป็นสีสัน เพราะฉะนั้นขณะนั้นเริ่มรู้ว่า น้อมไปที่จะรู้ว่า ธาตุรู้ ลักษณะรู้ คือ ขณะที่กำลังเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้เอง นี่คือการระลึกลักษณะของนามธรรมทางตา
ถ้าจะระลึกลักษณะของรูปธรรมทางตา ก็รู้ว่า ในขณะนี้ที่เคยเข้าใจว่าเป็นญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง มิตรสหาย สิ่งหนึ่งสิ่งใด แท้ที่จริงแล้วขณะนั้นคิด ถ้าหยุดคิดมีแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาจริงๆ ไม่เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดเลย เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่ปรากฏได้ทางตาเท่านั้น แล้วถ้าสติปัฏฐานระลึกชำนาญขึ้น ก็จะรู้ว่า ความคิดสลับกับปรมัตถธรรมที่ปรากฏมากมายเหลือเกิน ไม่ว่าจะเป็นทางตา เห็นนิดเดียว แต่ว่าคิดเรื่องราวของสิ่งที่เห็นมาก เป็นคนหนึ่งคนใด กำลังทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด หรือว่ากำลังคิดเรื่องราวของคนนั้นคนนี้ ซึ่งสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาสั้นนิดเดียว ปรากฏแล้วก็ดับไปแล้ว แต่ความคิดนึกสืบต่อเป็นเรื่องราว ซึ่งผสมกับเสียงทางหูซึ่งดับไปแล้วอย่างรวดเร็ว แต่ทางใจก็คิดนึกเรื่องของสิ่งที่ได้ยินทางหู
เพราะฉะนั้นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานจริงๆ จึงสามารถที่จะรู้โลกของสมมติสัจจะกับปรมัตถสัจจะได้ว่า ในวันหนึ่งๆ ปรมัตถธรรมปรากฏมากหรือคิดนึกมาก
พระ คิดนึกมาก
ท่านอาจารย์ แต่ว่าระหว่างที่สติปัฏฐานไม่เกิด ไม่รู้เลยว่ากำลังอยู่ในโลกของความคิดนึกทั้งนั้น เพราะฉะนั้นปรมัตถธรรมเล็กน้อยและสั้น และความคิดที่ไม่มีสาระ เพราะเหตุว่าเรื่องราวต่างๆ ไม่ใช่สิ่งที่มีจริง ทั้งๆ ที่ไม่ใช่สิ่งที่มีจริง แต่ก็คิดได้มากมายเหลือเกิน เหมือนกับวาดภาพต่างๆ นานา และก็ทำให้เกิดสุขทุกข์มากมาย โดยที่เมินต่อปรมัตถธรรมที่กำลังปรากฏที่สติควรจะระลึกแล้วรู้จริงๆ ว่า ไม่มีอะไรจริงเท่ากับปรมัตถธรรม ความคิดเรื่องราวทั้งหลายทั้งหมด ไม่เป็นสิ่งที่เป็นสาระจริงๆ เท่ากับปรมัตถธรรมที่มีลักษณะจริงๆ ที่ปรากฏ
นี่คือการที่จะเริ่มรู้ลักษณะของนามธรรม เพราะฉะนั้นต้องรู้ทั่วทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย แต่การที่วิปัสสนาญาณที่ ๑ คือ นามรูปปริจเฉทญาณจะเกิด ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้ว่า คนนี้ที่นามรูปปริจเฉทญาณเกิด ได้เคยพิจารณาลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมพร้อมกับสติปัฏฐานในชาติก่อนๆ มามากน้อยเท่าไร เพราะว่าเพียงชาติเดียวเป็นไปไม่ได้เลยที่จะไม่มีปัจจัยที่จะทำให้นามรูปปริจเฉทญาณเกิด ถ้าศึกษาอดีตชาติของพระอริยสาวกทั้งหลาย จะพบว่าท่านเคยได้รับฟังพระธรรมจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ หลายพระองค์ และก็เป็นพหูสูตร พร้อมกันนั้นท่านก็จะต้องเป็นผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐานในชาติก่อนๆ ด้วย สะสมมา เพราะฉะนั้นเมื่อสติของท่านเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ และวิปัสสนาญาณเกิด แล้วแต่ว่าขณะนั้นจะมีนามธรรมใดปรากฏ รูปธรรมใดปรากฏ เพราะเหตุว่าไม่มีการที่จะตระเตรียมหรือเจาะจง เพราะเหตุว่าไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้ว่า ขณะต่อไปอะไรจะเกิดขึ้น ขณะต่อไปของเดี๋ยวนี้ไม่สามารถจะรู้ได้ว่า อะไรจะเกิดขึ้น ฉันใด เมื่อขณะต่อไปเป็นวิปัสสนาญาณ หรือขณะนี้เป็นวิปัสสนาญาณ ก็ไม่รู้ว่านามอะไรรูปอะไรต่อไปที่จะปรากฏกับวิปัสสนาญาณ
แต่ว่าในช่วงระยะนั้นเป็นความสมบูรณ์ของปัญญาพร้อมกับสติสัมปชัญญะ ที่มีปัจจัยที่จะแทงตลอด คือ สามารถที่สภาพธรรมจะปรากฏชัดกับปัญญาในขณะนั้นทางมโนทวาร ซึ่งก็จะต้องผ่านทางปัญจทวารแต่ละทวารตามปกติด้วย เพราะเหตุว่าถ้าเสียงจะปรากฏทางมโนทวาร ขณะนั้นจะไม่มีโสตทวารวิถีจิตไม่ได้ เพราะเหตุว่าจะต้องมีจิตที่กำลังได้ยินเสียง แต่ในขณะนั้นไม่มีตัวตนเลย มีแต่ธาตุรู้เท่านั้นที่ปรากฏทางมโนทวาร และกำลังรู้อารมณ์ที่กำลังปรากฏ นามธรรมบ้าง รูปธรรมบ้าง ทีละอย่าง ทีละประเภท
พระ ปกติแล้วเห็นเดี๋ยวนี้ก็คิดนึกถึงลักษณะของคนของสัตว์ รูปร่างสัณฐานต่างๆ ซึ่งเป็นมโนทวารที่ต่อจากหลังจากปรมัตถธรรมดับไปแล้ว แล้วถ้าเกิดเป็นวิปัสสนาญาณเกิดขึ้น มโนทวารที่คิดถึงบัญญัติดับด้วยหรือเปล่า คือ ไม่เกิด เกิดแต่ลักษณะของปรมัตถธรรมที่ให้เห็นชัด และลักษณะของบัญญัติซึ่งไม่มีจริงๆ เพราะว่าลักษณะของปรมัตถ์นั้นปรากฏให้รู้ชัดว่า จริงๆ แล้วไม่ใช่ลักษณะเป็นคน เป็นสัตว์ ปัญญาต้องรู้อย่างนี้ก่อน วิปัสสนาญาณจึงเกิดได้ เพราะว่าธรรมดาแล้วเราเห็นเดี๋ยวนี้ ซึ่งจักขุวิญญาณเห็นแท้ๆ แต่เราก็คิดว่า เป็นตัวเราเห็น แล้วก็คิดนึกเป็นเรื่องราวต่างๆ ซึ่งไม่ใช่จักขุวิญญาณคิดนึกถึงสัณฐาน ต้องประจักษ์เสียก่อนว่า ไม่ใช่จักขุวิญญาณที่เห็น แยกขาดจากกันเสียก่อนแล้ว ถึงจะเข้าใจว่าบัญญัติจริงๆ แล้วไม่มีจริงๆ เพราะว่าปรมัตถธรรมปรากฏแล้ว บัญญัติก็หายไปทันที เพราะว่าขณะนั้นโลกทางอื่นไม่มี ลักษณะของสติปัฏฐานระลึกตรง ในเมื่อระลึกตรงแล้ว บัญญัติก็ไม่มี อันนั้นปัญญาจะต้องเกิดรู้แต่ละขั้นอย่างนี้ก่อนใช่ไหมที่โยมว่า
ท่านอาจารย์ สำหรับนามรูปปริจเฉทญาณเป็นปัญญาที่ประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมทางมโนทวารโดยสภาพที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เพราะขณะนั้นไม่มีเราที่กำลังรู้ แต่ว่าเป็นธาตุรู้ที่ปรากฏ และรู้สิ่งที่ปรากฏในขณะนั้น แล้วแต่ว่าจะเป็นนามธรรมใดหรือรูปธรรมใด แต่ไม่มีเราที่กำลังรู้
พระ เพราะฉะนั้นจะต้องรู้ว่า ธาตุรู้เป็นอย่างไร และเรารู้เป็นอย่างไร และประจักษ์ความแตกต่างกันว่า ธาตุรู้ ไม่มีลักษณะที่เรารู้ ซึ่งเดี๋ยวนี้มีเรารู้ บัญญัติขณะนั้นเกิดหรือเปล่า
ท่านอาจารย์ บัญญัติเกิดไม่ได้ บัญญัติไม่มีทางจะเกิดเลย เพราะเหตุว่าบัญญัติไม่ใช่สภาพธรรม แต่ขณะนั้นมีจิตที่คิดได้ เพราะเหตุว่านามรูปปริจเฉทญาณเป็นปัญญาที่รู้ชัดในลักษณะที่แยกขาดจากกันของนามธรรมและรูปธรรม ขณะที่คิดเป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง เพราะฉะนั้นในนามรูปปริจเฉทญาณ นอกจากลักษณะของนามธรรมแต่ละลักษณะ และรูปธรรมแต่ละลักษณะที่ปรากฏ ไม่ใช่ว่าทั้งหมด รูป ๒๘ หรือจิตกี่ประเภท เจตสิกเท่านั้นเท่านี้ แล้วแต่ว่าขณะนั้นนามธรรมใดจะปรากฏกับบุคคลใด และรูปธรรมใดจะปรากฏกับบุคคลใด ในขณะนั้นความคิดนึกมีได้ เพราะเหตุว่าความคิดนึกก็เป็นนามธรรมด้วย
เพราะฉะนั้น ในขณะนั้นสำหรับนามรูปปริจเฉทญาณไม่มีความสงสัยเลยว่าลักษณะสภาพที่คิดเป็นสภาพรู้ที่กำลังคิด
พระ และปัญญา วิปัสสนาญาณต้องรู้สภาพรู้ เสร็จแล้วบัญญัติก็ยังต้องเกิด
ท่านอาจารย์ บัญญัติเกิดไม่ได้
พระ จิตที่รู้บัญญัติ
ท่านอาจารย์ จิตคิดดีกว่า ใช้คำว่า “จิตคิด”
พระ จิตคิดก็ยังต้องคิดอยู่
ท่านอาจารย์ ห้ามคิดไม่ได้
พระ แต่สติปัฏฐานจะต้องระลึกลักษณะของจิตที่คิดด้วยหรือเปล่า ในขณะที่รู้สภาพของนามรูปแล้ว
ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นวิปัสสนาญาณไม่ใช่ขั้นพิจารณา นี่ต้องแยกจากกันว่า ถ้าเป็นขั้นสติปัฏฐาน สติระลึกแล้วปัญญาก็ศึกษา เพราะเหตุว่ายังไม่รู้ จึงน้อมไปสังเกตพิจารณา น้อมไประลึกไปพิจารณาไป แล้วค่อยๆ ชินกับลักษณะที่เป็นสภาพรู้ ธาตุรู้ แต่ยังไม่ใช่ขั้นประจักษ์
เพราะฉะนั้นเมื่อเป็นขั้นประจักษ์ที่เป็นวิปัสสนาญาณ พ้นจากขั้นการที่จะต้องคิดเรื่องที่จะต้องมาสังเกตว่า นี่เป็นนาม หรือนั่นเป็นรูป แต่ว่าความคิดเกิดได้ แล้วแต่ว่าขณะนั้นจะคิดอะไรก็เป็นแต่เพียงธาตุที่กำลังคิด ไม่ใช่เราที่คิด
เพราะฉะนั้นบางท่านจึงเข้าใจคำว่า นามรูปปริจเฉทญาณก็ดี ปัจจยปริคหญาณก็ดี สัมมสนญาณก็ดี เมื่อเป็นตรุณวิปัสสนาแล้วก็เข้าใจว่าเป็นจินตาญาณ แต่ความจริงไม่ได้หมายความว่าเป็นปัญญาที่ไปศึกษาจากครูบาอาจารย์ แล้วก็เข้าใจว่านามธรรมเป็นธาตุรู้ รูปธรรมไม่ใช่สภาพรู้ ก็เข้าใจว่าขณะนั้นได้นามรูปปริจเฉทญาณตามที่พระคุณเจ้าจากจังหวัดปราจีนบุรีเขียนมา ไม่ใช่อย่างนั้น แต่หมายความว่าแม้ในขณะที่เป็นนามรูปปริจเฉทญาณก็มีนามธรรมที่คิดเกิดได้ แต่ว่าไม่ใช่เราที่คิด เป็นธาตุรู้ที่กำลังคิด
พระ ปัญญาต้องรู้ด้วยหรือเปล่า
ท่านอาจารย์ ขณะนั้นเป็นปัญญาตลอด ที่ไม่ใช่ต้องพิจารณาเลย เพราะเหตุว่าเป็นสิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็น เมื่อปรากฏให้เห็นก็มีหน้าที่เห็นชัดเท่านั้น
พระ คืออาตมาหมายถึงอย่างนี้ คือเห็นเป็นคน จริงๆ แล้วที่เห็นเป็นคน มโนทวารคิดถึงคน แต่ว่าสติปัฏฐานเกิดแล้ว รู้ลักษณะของรูปธรรมนามธรรม สติปัฏฐานต้องระลึกรู้ถึงลักษณะที่คิดถึงคนด้วยหรือเปล่า
ท่านอาจารย์ ขณะที่กำลังรู้ว่าเป็นคน เป็นอะไรเจ้าคะ
พระ ขณะที่รู้ว่าเป็นคน ก็ต้องเป็นจิตที่คิด
ท่านอาจารย์ ต้องเป็นนามธรรม ไม่ใช่เราที่รู้
พระ ไม่ใช่เราที่รู้ แต่ปัญญาจะต้องรู้ว่า เป็นจิตที่รู้ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ แน่นอนเจ้าค่ะ ขณะที่กำลังรู้ว่าอะไรก็เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง แล้วก็สั้นลงสำหรับผู้ที่สติปัฏฐานเกิดบ่อยๆ เพราะว่าจะระลึกลักษณะของปรมัตถธรรมเพิ่มขึ้น
พระ ปัญญาไม่ต้องแทงตลอดหมดได้ไหม ถ้าจะรู้แต่ลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรมของนามธรรมรูปธรรม แล้วไม่ต้องแทงตลอดถึงจิตที่คิดนึกด้วยได้ไหม ในขณะนั้นจะถือว่าเป็นวิปัสสนาญาณได้ไหม
ท่านอาจารย์ วิปัสสนาญาณไม่ต้องพิจารณา ไม่ต้องสังเกต
พระ หมายถึงที่ประจักษ์ชัดแล้วว่าเป็นรูปธรรมนามธรรม เป็นไปได้ไหมที่จะไม่ต้องประจักษ์ของนามที่คิดนึก
ท่านอาจารย์ ท่านจะห้ามความคิดได้ไหมเจ้าคะ
พระ ห้ามไม่ได้ แต่ไม่มนสิการ ขณะนั้นปัญญาไม่ได้ระลึก
ท่านอาจารย์ ก็ถ้าคิดแล้วจะไม่รู้หรือเจ้าคะ ก็ถ้าสภาพคิดเกิดขึ้นในขณะนั้น วิปัสสนาญาณจะไม่รู้หรือว่าในขณะนั้นเป็นแต่เพียงธาตุชนิดหนึ่งที่คิด
พระ เข้าใจแล้ว คือปัญญาสมบูรณ์แล้วต้องรู้ทั้งหมด
ท่านอาจารย์ ข้อความในอรรถสาลินี จิตตุปปาทกัณฑ์ พรรณนาโลกุตตรกุศล แสดงเรื่องทุกขาปฏิปทาทันธาภิญญา คือ การที่จะบรรลุลำบากและช้า มีข้อความว่า
อนึ่งเมื่อกำหนดรูปนาม ลำบากอยู่ด้วยความขวนขวายของตนอันยากเข็ญ ฝืดเคือง จึงสามารถกำหนดได้ การปฏิบัติของโยคาวจรบุคคลนั้นจะเป็นทุกขาปฏิปทา
ยากไหมที่จะรู้ว่าเป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรม ไม่ใช่ว่าฟังปุ๊บรู้ปั๊บได้ แต่ว่าจะต้องมีการขวนขวายอันยากเข็ญ ฝืดเคือง ทั้งๆ ที่ได้ยินได้ฟังบ่อยๆ เนืองๆ ว่านามธรรมเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ เป็นอาการรู้ เป็นลักษณะรู้ที่กำลังเห็น แต่กว่าปัญญาสามารถที่จะพิจารณาและชินกับลักษณะของสภาพรู้จริงๆ ต้องขวนขวายอย่างยากเข็ญ ฝืดเคือง จึงสามารถกำหนดพิจารณารู้ได้ การปฏิบัติของบุคคลนั้นจะเป็นทุกขาปฏิปทา
ส่วนสำหรับผู้มีรูปนามอันกำหนดได้แล้ว กว่าวิปัสสนาญาณแต่ละขั้นและมรรคจิตจะปรากฏก็ช้านาน ฉะนั้นจึงจัดเป็น ทันธาภิญญา ผู้ที่บรรลุช้า
เพราะฉะนั้นคำถามเมื่อกี้นี้ที่ว่า แล้วจะรู้นามอื่นรูปอื่นไหม ก็ต้องแล้วแต่ว่าในขณะที่เป็นวิปัสสนาญาณนั้นมีนามธรรมและรูปธรรมอะไรบ้างที่ปรากฏ เพราะเหตุว่าลักษณะของปัญญาที่เกิดไม่ได้นานมากเลยที่จะเป็นวิปัสสนาญาณ ในขณะนี้ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด จะไม่มีการรู้เลยว่า มีนามธรรมและรูปธรรมอะไรบ้างเยอะแยะในช่วงระยะเวลาสั้นๆ เพราะเหตุว่าวันหนึ่งๆ ก็ผ่านไปในขณะที่เห็น ได้ยิน คิดนึก แต่ถ้าสติปัฏฐานเกิด มีปัจจัยที่จะให้เสียงเล็กๆ เพียงนิดเดียวเกิด เสียงนั้นก็เกิดแล้วปรากฏกับสติสัมปชัญญะ มีปัจจัยที่จะให้ความไหวของร่างกายแม้เพียงเล็กน้อยส่วนหนึ่งส่วนใดที่เร็วที่สุด สั้นที่สุดปรากฏ สภาพธรรมนั้นก็ปรากฏแล้วกับสติสัมปชัญญะ
เพราะฉะนั้นถ้าเป็นผู้ที่มีสติสัมปชัญญะจริงๆ ลักษณะของปรมัตถธรรมจะปรากฏมากกว่าขณะที่หลงลืมสติ อย่างบางคนเวลาที่คุยกัน แล้วก็เหม่อลอยก็ไม่ได้ยินว่า เขาพูดเรื่องอะไรบ้าง หรือว่าสิ่งหนึ่งสิ่งใดผ่านสายตาไปก็ไม่ได้สังเกต นี่คือลักษณะของผู้ที่ไม่มีสติสัมปชัญญะในขณะนั้นเพราะเหม่อลอย แต่ถ้าเป็นผู้ที่ไม่เหม่อลอย สิ่งเล็กๆ น้อยๆ ทุกอย่างที่คนอื่นยังไม่ทันได้สังเกตเลย ก็ปรากฏกับบุคคลนั้น นี่ยังไม่ใช่วิปัสสนาญาณ เพราะฉะนั้นถ้าเป็นผู้ที่พร้อมด้วยสติสัมปชัญญะบริบูรณ์ ความรู้สึกในขณะนี้ ถ้าปวดหรือเจ็บเริ่มเกิด แล้วก็ค่อยๆ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตามการเกิดดับของจิต ตามปัจจัยที่ทำให้เกิดขึ้นจนปรากฏเป็นความเจ็บมาก แต่ผู้ที่สติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์และไม่ใช่วิปัสสนาญาณ พอเจ็บมากแล้วถึงจะรู้ ใช่ไหม แต่ตอนที่เริ่มนิดเดียวไม่ได้ปรากฏเลย นี่คือความต่างกันของผู้ที่เป็นวิปัสสนาญาณกับผู้ที่ไม่ใช่วิปัสสนาญาณ สติสัมปชัญญะสมบูรณ์พร้อมด้วยปัญญา สภาพธรรมย่อมปรากฏละเอียดและตามปกติตามความเป็นจริง ให้ปัญญาเห็นชัดในขณะนั้น
เพราะฉะนั้นวิปัสสนาญาณก็เป็นช่วงขณะที่ไม่นาน แล้วแต่ว่าสภาพธรรมนามธรรมใดจะปรากฏ รูปธรรมใดจะปรากฏ โดยที่ว่าไม่ใช่นามธรรมเดียวและรูปธรรมเดียว แต่ว่าเป็นสภาพธรรมที่อาศัยปัจจัยที่ได้พิจารณาสังเกตอบรมจนกระทั่งสังขารขันธ์ปรุงแต่งให้วิปัสสนาญาณเกิด ประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมทางมโนทวาร โดยสภาพที่เป็นอนัตตา คือ ไม่ใช่ต้องเตรียมตัวที่จะรู้ แต่ว่าเมื่อสภาพธรรมปรากฏกับวิปัสสนาญาณขณะใด ขณะนั้นก็ประจักษ์แจ้งในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น
ในคราวก่อนได้กล่าวถึงข้อความในอรรถกถา สังยุตตนิกาย สคาถวรรค โกสลสังยุตต์ ทุติยวรรคที่ ๒ ชฏิลสูตร ซึ่งข้อความต่อไปมีว่า
บทว่า สากัจฉายะ ได้แก่การสนทนากัน จริงอยู่ถ้อยคำของคนทรามปัญญาย่อมเลื่อนลอยเหมือนลูกยางลอยน้ำ ปฏิภาณของผู้มีปัญญาพูดไม่มีที่สิ้นสุด เป็นความจริง โดยอาการที่น้ำไหว เขาก็รู้ได้ว่า ปลาตัวเล็กหรือตัวโต
นี่คือการที่แต่ละคนที่พบกัน แล้วก็จะรู้ว่า ใครมีความรู้ความเข้าใจถูกต้องเพียงใด ต้องด้วยการสนทนาเท่านั้น
- โสภณธรรม ครั้งที่ 051
- โสภณธรรม ครั้งที่ 052
- โสภณธรรม ครั้งที่ 053
- โสภณธรรม ครั้งที่ 054
- โสภณธรรม ครั้งที่ 055
- โสภณธรรม ครั้งที่ 056
- โสภณธรรม ครั้งที่ 057
- โสภณธรรม ครั้งที่ 058
- โสภณธรรม ครั้งที่ 059
- โสภณธรรม ครั้งที่ 060
- โสภณธรรม ครั้งที่ 061
- โสภณธรรม ครั้งที่ 062
- โสภณธรรม ครั้งที่ 063
- โสภณธรรม ครั้งที่ 064
- โสภณธรรม ครั้งที่ 065
- โสภณธรรม ครั้งที่ 066
- โสภณธรรม ครั้งที่ 067
- โสภณธรรม ครั้งที่ 068
- โสภณธรรม ครั้งที่ 069
- โสภณธรรม ครั้งที่ 070
- โสภณธรรม ครั้งที่ 071
- โสภณธรรม ครั้งที่ 072
- โสภณธรรม ครั้งที่ 073
- โสภณธรรม ครั้งที่ 074
- โสภณธรรม ครั้งที่ 075
- โสภณธรรม ครั้งที่ 076
- โสภณธรรม ครั้งที่ 077
- โสภณธรรม ครั้งที่ 078
- โสภณธรรม ครั้งที่ 079
- โสภณธรรม ครั้งที่ 080
- โสภณธรรม ครั้งที่ 081
- โสภณธรรม ครั้งที่ 082
- โสภณธรรม ครั้งที่ 083
- โสภณธรรม ครั้งที่ 084
- โสภณธรรม ครั้งที่ 085
- โสภณธรรม ครั้งที่ 086
- โสภณธรรม ครั้งที่ 087
- โสภณธรรม ครั้งที่ 088
- โสภณธรรม ครั้งที่ 089
- โสภณธรรม ครั้งที่ 090
- โสภณธรรม ครั้งที่ 091
- โสภณธรรม ครั้งที่ 092
- โสภณธรรม ครั้งที่ 093
- โสภณธรรม ครั้งที่ 094
- โสภณธรรม ครั้งที่ 095
- โสภณธรรม ครั้งที่ 096
- โสภณธรรม ครั้งที่ 097
- โสภณธรรม ครั้งที่ 098
- โสภณธรรม ครั้งที่ 099
- โสภณธรรม ครั้งที่ 100