โสภณธรรม ครั้งที่ 084
ตอนที่ ๘๔
แล้วก็จะรู้ว่า ใครมีความรู้ความเข้าใจถูกต้องเพียงใด ต้องด้วยการสนทนาเท่านั้น ไม่ใช่ด้วยเหตุอื่น ซึ่งข้อความในชฏิลสูตร ข้อ ๓๕๘ มีว่า
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ในเวลานั้นว่า
คนผู้เกิดมาดี ไม่ควรไว้วางใจ เพราะผิวพรรณและรูปร่าง ไม่ควรไว้วางใจ เพราะการเห็นกันชั่วครู่เดียว เพราะว่านักบวชผู้ไม่สำรวมทั้งหลาย ย่อมเที่ยวไปยังโลกนี้ ด้วยเครื่องบริขารของเหล่านักบวชผู้สำรวมดีแล้ว ประดุจกุณฑลดิน และมาสกโลหะหุ้มด้วยทองคำปลอมไว้ คนทั้งหลายไม่บริสุทธิ์ในภายใน งามแต่ภายนอก แวดล้อมด้วยบริวารท่องเที่ยวอยู่ในโลก ฯ
ไม่ว่าในสมัยที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน หรือว่าสมัยหลังต่อๆ มา ทุกท่านก็ย่อมพิจารณาได้ว่า เป็นความจริงอย่างนั้น คือ ยากที่จะรู้ได้ว่า ผู้ที่มีอากัปกิริยาอาการภายนอกที่ดูเหมือนสำรวม แต่ว่าจะมีลักษณะเหมือนกับกุณฑลดินและมาสกโลหะที่หุ้มด้วยทองคำปลอมไว้
บางท่านก็อาจจะคิดว่า ผู้ที่มีศีลตามพระวินัยนั้นเป็นพระอรหันต์ เพราะเหตุว่าดูเพียงอาการภายนอก ไม่ได้สนทนากัน ก็ไม่สามารถที่จะรู้ถึงความรู้ความเข้าใจของบุคคลนั้นได้ แต่ก็ไม่ทราบว่า ผู้ที่เชื่อว่าสมัยนี้ยังมีพระอรหันต์ มีหลักอะไรที่จะเชื่อว่า บุคคลนั้นหรือบุคคลนี้เป็นพระอรหันต์ เพราะเหตุว่าถ้าสอบถามผู้ที่มีความเชื่อว่า ท่านผู้นั้นท่านผู้นี้เป็นพระอรหันต์ คำตอบก็จะไม่เป็นไปในเรื่องของปัญญาที่รู้แจ้งสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริงในขณะนี้
ตามจดหมายของคนบ้านนอก ๒๔๙๗ ราชบุรีที่เขียนมา ก็ไม่เป็นการอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แม้แต่การที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมและรูปธรรมก็ไม่มี เพราะเหตุว่าเป็นเพียงความเชื่อว่า มีบางบุคคลที่เป็นพระอรหันต์ ได้ฌานสมาบัติ สามารถที่จะนิมิตเสียงแม้ว่าจะอยู่ไกล มาพูดคุยด้วยได้
การเป็นพระอรหันต์ไม่ใช่เป็นเรื่องง่าย หรือแม้แต่การที่จะเป็นพระโสดาบันก็ไม่ใช่เป็นเรื่องง่าย และแม้แต่การที่สติปัฏฐานจะเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ จนกระทั่งปัญญาค่อยๆ เจริญขึ้นเป็นวิปัสสนาญาณแต่ละขั้น ก็ไม่ใช่จะเป็นไปได้โดยง่ายเลย แม้ในกาลที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ทรงดับขันธปรินิพพาน ซึ่งเป็นกาลสมัยที่เป็นกาลสมบัติ ในสมัยนั้นมีผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็นพระอริยบุคคลเป็นจำนวนมากทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิต แต่แม้กระนั้นในครั้งนั้นก็ยังมีผู้ที่ตรงกันข้ามกับคนในสมัยนี้ คือยังมีผู้สงสัยว่า บุคคลนั้นบุคคลนี้เป็นพระอรหันต์หรือ นี่คือความต่างกัน
คนในสมัยนี้เชื่อ ว่าบุคคลนั้นบุคคลนี้เป็นพระอรหันต์โดยไม่มีหลัก แต่ว่าคนในสมัยที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพานนั้น แม้ว่าจะมีพระอริยบุคคลเป็นจำนวนมาก แต่ก็ยังมีผู้ที่สงสัยว่า ผู้นั้นผู้นี้เป็นพระอรหันต์หรือ
ทั้งนี้ก็เป็นเพราะเหตุว่าความยากและความลึกซึ้งของพระธรรม ถ้าไม่มีความอดทนพอที่จะศึกษาพิจารณาให้เข้าใจโดยละเอียด โดยถูกต้องจริงๆ ก็ไม่มีทางที่จะรู้ได้ว่า บุคคลใดเป็นพระอริยบุคคล และบุคคลใดไม่ใช่พระอริยบุคคล
ข้อความในสังยุตตนิกาย สคาถวรรค อรหันตสูตร มีว่า
เทวดาที่อยู่ในป่าได้ยินภิกษุผู้อยู่ในป่าพูดกันว่า
“เราฉันอาหาร เรานั่ง บาตรของเรา จีวรของเรา” เป็นต้น เทวดานั้นก็คิดว่า เราสำคัญว่าภิกษุเหล่านี้เป็นพระขีณาสพ คือ เป็นพระอรหันต์ ก็แต่ถ้อยคำอิงอาศัยความเห็นว่า เป็นคน เป็นสัตว์ ชื่อปานนี้ของพระขีณาสพทั้งหลายมีอยู่หรือไม่หนอ
คือสงสัยเวลาที่ท่านพูดว่า เรานั่ง บาตรของเรา จีวรของเรา จะอิงอาศัยความเห็นว่า เป็นคน เป็นสัตว์ ยังมีอยู่หรือไม่
เพื่อที่จะทราบความเป็นไปนั้น จึงได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
“ภิกษุใดเป็นผู้ไกลจากกิเลส มีกิจทำเสร็จแล้ว มีอาสวะสิ้นแล้ว เป็นผู้ทรงไว้ซึ่งร่างกายอันมีในที่สุด ภิกษุนั้นพึงกล่าวว่า เราพูดดังนี้บ้าง บุคคลทั้งหลายอื่นพูดกะเราดังนี้บ้าง”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุใดเป็นผู้ไกลจากกิเลส มีกิจทำเสร็จแล้ว มีอาสวะสิ้นแล้ว เป็นผู้ทรงไว้ซึ่งร่างกายอันมีในที่สุด ภิกษุนั้นพึงกล่าวว่า เราพูด ดังนี้บ้าง บุคคลทั้งหลายอื่นพูดกะเรา ดังนี้บ้าง ภิกษุนั้นฉลาด ทราบคำพูดในโลก พึงกล่าวตามสมมติที่พูดกัน”
เพราะฉะนั้นก็ไม่ต้องกลัวที่จะพูดว่า เรา หรือว่าคนอื่น เพราะเหตุว่าจะต้องอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ว่า สภาพธรรมที่มีจริงๆ เป็นปรมัตถธรรม ไม่ใช่ตัวตนที่เที่ยง ที่ยั่งยืน เมื่อเข้าใจแล้วก็ยังคงพูดอย่างนั้นได้ว่า เรา หรือว่าบุคคลอื่น เพราะเหตุว่าเป็นผู้ที่ฉลาด ทราบคำพูดในโลก
ซึ่งข้อความในอรรถกถาอธิบายว่า
ภิกษุนั้นฉลาด ทราบคำพูดในโลก พึงกล่าวตามสมมติที่พูดกัน
ไม่เปลี่ยนแปลง แม้ว่าจะเป็นพระอริยบุคคล หรือพระอรหันต์แล้ว เคยพูดอย่างไรก็พูดอย่างนั้น
ข้อความต่อไปมีว่า
เพราะแม้ว่าจะประจักษ์แจ้งอริยสัจจธรรม ดับกิเลสหมดสิ้นแล้ว แต่ก็ไม่นำคำที่พูด สมัญญัง คำพูดนี้ถือเป็นภาษาของชาวโลก เป็นโวหารของชาวโลกให้แตกต่างกัน
คือไม่ใช่ผู้ที่เป็นพระอริยบุคคล หรือเป็นพระอรหันต์แล้ว จะมีคำพูดพิเศษซึ่งต่างจากกับคำพูดของชาวโลกทั่วๆ ไป เพราะฉะนั้นก็ควรที่จะกล่าวว่า เรา ของเรา ดังนี้ ไม่กล่าวว่า ขันธ์ทั้งหลายย่อมบริโภค ขันธ์ทั้งหลายย่อมนั่ง บาตรของขันธ์ทั้งหลาย จีวรของขันธ์ทั้งหลายดังนี้ ความแตกต่างกันแห่งคำพูดมีอยู่ แต่ใครๆ ก็ทราบไม่ได้
คือไม่มีทางจะรู้ว่าหมายความถึงขันธ์ไหน ถ้าพูดว่าบาตรของขันธ์ทั้งหลาย จีวรของขันธ์ทั้งหลาย หรือว่าขันธ์ทั้งหลายย่อมนั่ง ขันธ์ทั้งหลายย่อมบริโภค
แต่เทวดาก็ไม่หมดความสงสัย นี่จะแสดงให้เห็นถึงการสะสมที่ต่างกันของแต่ละบุคคล บางบุคคลก็ฟังพระธรรม พิจารณาพระธรรมตรงๆ แล้วก็เข้าใจได้ แต่บางคนก็สะสมวิจิกิจฉา ความสงสัยไว้มากทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เรื่องหนึ่งเรื่องใด ก็อดที่จะวิจารณ์ หรือตรึก หรือคิดออกนอกแนวไปบ้างก็มีตามการสะสม เพราะฉะนั้นเทวดานั้นก็ยังคิดว่า ถึงแม้ท่านจะใช้คำว่า เรา หรือว่าของเรา แต่ไม่มีความเห็นผิดแล้ว ก็อาจจะพูดว่า “เรา” เพราะยังมีมานะอยู่ก็เป็นได้ ด้วยเหตุนั้นเทวดานั้นเมื่อไม่หมดความสงสัยในพระอรหันต์ จึงกราบทูลถามต่อไปว่า
“ภิกษุใดเป็นพระอรหันต์ มีกิจทำเสร็จแล้ว มีอาสวะสิ้นแล้ว เป็นผู้ทรงไว้ซึ่งร่างกายอันมีในที่สุด ภิกษุนั้นยังติดมานะหรือหนอ จึงกล่าวว่าเราพูดดังนี้บ้าง บุคคลทั้งหลายอื่นพูดกะเรา ดังนี้บ้าง”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
“กิเลสเป็นเครื่องผูกทั้งหลายมิได้มีแก่ภิกษุที่ละมานะเสียแล้ว มานะและคันถะทั้งปวงอันภิกษุนั้นกำจัดเสียแล้ว ภิกษุเป็นผู้มีปัญญาดีล่วงเสียแล้วซึ่งความสำคัญ ภิกษุนั้นพึงกล่าวว่า เราพูดดังนี้บ้าง บุคคลทั้งหลายอื่นพูดกะเราดังนี้บ้าง ภิกษุนั้นฉลาด ทราบคำพูดในโลก พึงกล่าวตามที่พูดกัน”
พระผู้มีพระภาคทรงทราบความคิดของเทวดา จึงได้ตรัสให้เทวดารู้ว่า พระอรหันต์ทั้งหลายกำจัดมานะและอกุศลธรรมทั้งปวงหมดสิ้นแล้ว
เรื่องของพระอรหันต์หรือพระอริยบุคคล ก็ดูเป็นที่น่าสงสัยสำหรับผู้ที่ยังไม่ใช่พระอริยบุคคล เพราะฉะนั้นบางคนก็อาจจะคิดไปต่างๆ นานา โดยไม่มีหลักธรรมที่จะรู้แน่ได้เลยว่า บุคคลใดเป็นพระอรหันต์ตามข้อความในชฎิลสูตร หรือตามข้อความในอรหันตสูตร ซึ่งข้อความในพระไตรปิฎกมีอุปการะสำหรับพุทธบริษัททุกยุคทุกสมัยที่จะพิจารณาถึงความต่างกันของความคิดเห็น ซึ่งแต่ละท่านที่กำลังอบรมเจริญสติปัฏฐาน ก็จะต้องประสบพบกับบุคคลที่มีความความคิดเห็นต่างๆ อีกมากในสังสารวัฏฏ์ ไม่ใช่แต่เฉพาะในชาตินี้ชาติเดียว
อีกพระสูตรหนึ่งก็ได้แสดงให้เห็นความต่างกันของเดียรถีย์ปริพาชก ซึ่งถ้าบุคคลในยุคนี้ไม่ได้ศึกษาพระธรรม และไม่ได้พิจารณาพระธรรมโดยละเอียด ก็อาจจะคิดอย่างเดียวกับเดียรถีย์ปริพาชกผู้นี้ก็ได้ และเพื่อที่จะให้แต่ละท่านได้รู้จักตนเองตามความเป็นจริงโดยถ่องแท้ยิ่งขึ้น แม้ว่าจะเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานก็ตาม ขอกล่าวถึงข้อความในอรรถกถา มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ปริพาชกวรรค สมณมุณฑิกสูตร ข้อ ๓๕๙
ซึ่งครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคประทับ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี นายช่างไม้ผู้หนึ่งชื่อ ปัญจกังคะ ออกจากเมืองสาวัตถีเพื่อไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเมื่อเวลาเที่ยงแล้ว ครั้งนั้นเขาคิดว่าไม่ใช่กาลที่จะเฝ้าพระผู้มีพระภาค และไม่ใช่สมัยที่จะไปหาภิกษุทั้งหลายผู้หลีกเร้นอยู่
ซึ่งข้อความในอรรถกถา สังยุตตนิกาย สคาถวรรค อรรถกถาสักกมานสูตร ข้อ ๒๒ มีข้อความว่า
ชื่อว่า เวลาเที่ยงวัน นี้เป็นเวลาทุรพลแห่งอิริยาบถของสรรพสัตว์ทั้งหลาย
ซึ่งทุกท่านก็คงพิจารณาเห็นจริงว่า เมื่อตอนเช้าก็รู้สึกสดชื่น กระปรี้กระเปร่า มีเรี่ยวมีแรง แต่พอเวลาหลังเที่ยงไปสักหน่อยหนึ่ง ก็อาจจะรู้สึกง่วง หรือรู้สึกว่าต้องการพักผ่อน
นายช่างไม้ชื่อ ปัญจกังคะ จึงเข้าไปหาอุคคาหมานปริพาชกสมณมุณฑิกบุตร ผู้เป็นบุตรของนางสมณมุณฑิกา ที่อารามของพระนางมัลลิการาชเทวี ณ ตำบลเอกศาลา ชื่อว่า ติณฑุกาจีระ อันเป็นที่ประชุมแสดงลัทธิของพวกนักบวช
นี่ก็แสดงให้เห็นว่า อาศัยทิฏฐิต่างๆ กัน ก็มีสถานที่ชุมนุมพวกที่มีความคิดเห็นต่างๆ กันมาแสดงความคิดเห็น
เมื่อช่างไม้ปัญจกังคะได้ไปถึงที่นั่นแล้ว อุคคาหมานปริพาชกสมณมุณฑิกบุตร ซึ่งเดิมอุคคาหมานปริพาชกผู้นี้ ชื่อ สุมณะ แต่เพราะเหตุว่าสามารถเรียนวิชาหลายอย่าง เป็นผู้ที่คนทั้งหลายเข้าใจว่า มีความรู้มาก จึงเรียกเขาว่า อุคคาหมานะ
อุคคาหมานปริพาชกได้แสดงความเห็นของตน เพื่อที่จะให้ช่างไม้ปัญจกังคะเลื่อมใสโดยกล่าวว่า เขาย่อมบัญญัติบุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการว่าเป็นผู้มีกุศลสมบูรณ์ มีกุศลอย่างยิ่ง เป็นสมณะ ถึงภูมิปฏิบัติอันอุดม ไม่มีใครรบได้
ซึ่งธรรม ๔ ประการ ท่านผู้ฟังลองพิจารณาว่า ท่านเห็นด้วยไหม ถ้าไม่พิจารณาโดยละเอียด ก็อาจจะเห็นด้วย แต่ขอให้ทราบถึงธรรมที่น่าจะเห็นด้วย ๔ ประการ ซึ่งมีข้อความว่า
บุคคลในโลกนี้ไม่ทำกรรมชั่วด้วยกาย ไม่กล่าววาจาชั่ว ไม่ดำริถึงความดำริชั่ว ไม่เลี้ยงชีพชั่ว ผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้ เป็นผู้มีกุศลสมบูรณ์ มีกุศลอย่างยิ่ง เป็นสมณะ ถึงภูมิปฏิบัติอันอุดม ไม่มีใครรบได้
น่าเห็นด้วยไหม คือบุคคลในโลกนี้ ใครก็ตามไม่ทำกรรมชั่วด้วยกาย ๑ ไม่ทำเลยทางกาย ไม่กล่าววาจาชั่ว ๑ ก็ประเสริฐมาก ถ้าไม่มีวาจาชั่วเลยในชีวิต ไม่ดำริถึงความดำริชั่ว ๑ และไม่เลี้ยงชีพชั่ว ๑
อุคคาหมานปริพาชกมีความเห็นว่า ผู้นั้นเป็นผู้มีกุศลสมบูรณ์ มีกุศลอย่างยิ่ง เป็นสมณะ ถึงภูมิปฏิบัติอันอุดม ไม่มีใครรบได้
นายช่างไม้ฟังแล้วก็ไม่ยินดี ไม่คัดค้านภาษิตของอุคคาหมานปริพาชกสมณมุณฑิกบุตร เพราะเขารู้ว่า ธรรมดาพวกเดียรถีย์ทั้งหลายรู้บ้าง ไม่รู้บ้าง ก็พูดไปตามเรื่อง เพราะฉะนั้นก็ไม่ได้ยินดีและก็ไม่คัดค้านภาษิตของอุคคาหมานปริพาชก
ท่านผู้ฟังมีความเห็นอย่างไรบ้างคะในเรื่องนี้ เห็นด้วยไหมกับอุคคาหมานปริพาชก เกือบๆ จะเห็นด้วยหรือเปล่าคะ เกือบจะเห็นด้วยนะคะ
เขาได้ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคและกราบทูลให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ถ้าคำของอุคคาหมานปริพาชกเป็นจริง เด็กอ่อนที่ยังนอนหงายอยู่ แม้เพียงจะรู้ว่ากายดังนี้ก็ยังไม่มี ที่ไหนจะทำกรรมชั่วด้วยกายได้เล่า
คือเปรียบคนกับเด็กอ่อน เพราะฉะนั้นท่านผู้ฟังจะได้ทราบว่า ตัวท่านที่เจริญเติบโตมาแล้ว จะต่างกับเด็กอ่อน หรือว่าจะเหมือนกับเด็กอ่อนประการใดตามความเป็นจริง
เด็กอ่อนที่ยังนอนหงายอยู่ แม้จะรู้ว่ากายดังนี้ก็ยังไม่มี ที่ไหนจะทำกรรมชั่วด้วยกายได้เล่า นอกจากจะมีเพียงอาการดิ้นรน ด้วยการสัมผัสเถาวัลย์บนที่นอนหรือถูกเรือดกัด นอกจากนั้นแล้วก็ไม่มีการทำทางกายอย่างอื่นสำหรับเด็กอ่อน
เพราะฉะนั้นถ้าจะกล่าวว่า บุคคลในโลกนี้ไม่ทำกรรมชั่วด้วยกาย ๑ ก็อย่าลืมคิดถึงเด็กเล็กๆ ซึ่งยังไม่รู้เรื่องอะไรทั้งสิ้น ไม่รู้แม้แต่ว่ามีกาย เพราะฉะนั้นก็ไม่มีการที่จะกระทำกรรมชั่วด้วยกาย
เด็กอ่อนที่ยังนอนหงายอยู่ แม้แต่จะรู้ว่าวาจาดังนี้ก็ยังไม่มี ที่ไหนจะกล่าววาจาชั่วได้เล่า นอกจากจะมีเพียงการร้องไห้
คือพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ ทรงตรัสรู้ไม่ใช่เพียงผิวเผิน แต่ว่าโดยละเอียดและโดยทั่วจริงๆ ไม่เว้นแม้แต่การที่จะถ้าจะกล่าวธรรมอย่างนี้ ก็ยังต้องคำนึงถึงบุคคลซึ่งแม้ว่าเป็นเด็กอ่อน ก็จะต้องรวมอยู่ในคำกล่าวของอุคคาหมานปริพาชกด้วย
เพราะฉะนั้นสำหรับเด็กอ่อนที่ยังนอนหงายอยู่ พูดก็ไม่เป็น เพราะฉะนั้นที่ไหนจะกล่าววาจาชั่วได้เล่า นอกจากจะมีเพียงการร้องไห้ ข้อความในอรรถกถาก็ได้อธิบายว่า
ด้วยจิตที่ประกอบด้วยกิเลสเท่านั้น
คือถึงแม้ว่าจะไม่กล่าววาจาชั่ว แต่เด็กอ่อนนอนหงายนั้นก็มีกิเลสแล้วในขณะที่เกิดและก็ร้องไห้ เพราะฉะนั้นก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นผู้ที่มีกุศลสมบูรณ์
ข้อความต่อไปมีว่า
เด็กอ่อนที่ยังนอนหงายอยู่ แม้แต่จะรู้ว่า ความดำรินี้ก็ยังไม่มี ที่ไหนจะคิดชั่วได้เล่า นอกจากจะมีเพียงการร้องไห้และการหัวเราะ
จะให้เด็กคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ต่างๆ ความเห็นต่างๆ ทิฏฐิต่างๆ นี่ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้
เด็กอ่อนที่ยังนอนหงายอยู่ แม้แต่จะรู้ว่าอาชีพดังนี้ก็ยังไม่มี ที่ไหนจะเลี้ยงชีพชั่วได้เล่า นอกจากน้ำนมของมารดา
ซึ่งข้อความในอรรถกถาก็ได้อธิบายถึง การที่เด็กอ่อนจะมีกิเลสเกิดในขณะที่ดื่มนมก็คือว่า
เวลาที่มารดาให้ดื่มนมบางครั้งก็ไม่ดื่ม แต่ว่าในเวลาที่มารดาทำงานก็มาข้างหลังเพื่อจะดื่มน้ำนม มิจฉาชีพอย่างอื่นนอกจากนี้ก็ไม่มี
ถ้าเป็นอย่างถ้อยคำของอุคคาหมานปริพาชก เด็กอ่อนที่ยังนอนหงายอยู่ ก็จะเป็นผู้ที่มีกุศลสมบูรณ์ มีกุศลอย่างยิ่ง เป็นสมณะ ถึงภูมิปฏิบัติอันอุดม ไม่มีใครรบได้
พระผู้มีพระภาคตรัสกับนายช่างไม้ต่อไปว่า
ดูกรนายช่างไม้ เราบัญญัติบุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการว่า มิใช่ผู้มีกุศลสมบูรณ์เลย มิใช่ผู้มีกุศลอย่างยิ่ง มิใช่เป็นสมณะผู้ถึงภูมิปฏิบัติอันอุดม ไม่มีใครรบได้ ก็แต่ว่าบุคคลผู้นี้ก็ยังดีกว่าเด็กอ่อนที่ยังนอนหงายอยู่บ้าง ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน
ดูกรนายช่างไม้ บุคคลในโลกนี้ไม่ทำกรรมชั่วด้วยกาย ไม่กล่าววาจาชั่ว ไม่ดำริถึงความดำริชั่ว ไม่เลี้ยงชีพชั่ว เราบัญญัติบุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แลว่า มิใช่ผู้มีกุศลสมบูรณ์ มิใช่ผู้มีกุศลอย่างยิ่ง มิใช่เป็นสมณะถึงภูมิปฏิบัติอันอุดม ไม่มีใครรบได้ ก็แต่ว่าบุคคลผู้นี้ยังดีกว่าเด็กอ่อนที่ยังนอนหงายอยู่บ้าง
เป็นท่านผู้ฟังหรือเปล่า ขณะใดที่ไม่ทำกรรมชั่วด้วยกาย ไม่กล่าววาจาชั่ว ไม่คิดชั่ว ไม่เลี้ยงชีพชั่ว แต่ว่ายังมีกิเลสอยู่เต็มที่ ยังไม่ได้ดับกิเลสเป็นสมุจเฉท เพราะเหตุว่ายังไม่ใช่พระอริยบุคคล ก็เพียงดีกว่าเด็กอ่อนที่ยังนอนหงายอยู่บ้างเท่านั้น
พอใจไหม เติบโตขึ้น แต่ว่าชีวิตที่เติบโตจากการเป็นเด็กอ่อนนอนหงาย ขณะใดที่ไม่ทำกรรมชั่วด้วยกาย ไม่กล่าววาจาชั่ว ไม่ดำริถึงความดำริชั่ว ไม่เลี้ยงชีพชั่ว ขณะนั้นจึงเป็นผู้ที่ยังดีกว่าเด็กอ่อนที่ยังนอนหงายอยู่บ้าง แต่ว่านอกจากนี้ขณะใดที่เป็นอกุศลจิต เด็กอ่อนก็มีอกุศลจิต แต่ว่าเด็กโตมีอกุศลจิตเพิ่มขึ้นมากกว่าเด็กอ่อนที่ยังนอนหงาย จนกระทั่งเป็นผู้ใหญ่ที่เติบโตขึ้น
เพราะฉะนั้นก็จะต้องอบรมเจริญปัญญา ไม่ใช่ว่าเพียงแต่พอใจในคำที่ผู้ที่ไม่รู้จริงๆ ก็กล่าวคำที่ดูเหมือนน่าจะเชื่อ แต่ว่าความจริงแล้วจะต้องอบรมเจริญปัญญาจนกว่าศีลที่เป็นอกุศลดับไม่เหลือ ตามฐานะของการบรรลุธรรม คือ ละทุจริตด้วยการตั้งอยู่ในโสตาปัตติผล และปาติโมกขสังวรศีลย่อมบริบูรณ์ด้วยโสตาปัตติผล ส่วนความดำริเป็นอกุศลเหล่านี้ดับสิ้นไปในปฐมฌาน คือ ตั้งอยู่ในอนาคามิผล ส่วนความดำริที่เป็นกุศลเหล่านี้ ดับสิ้นไปในทุติยฌาน คือ ตั้งอยู่ในอรหัตตผล
ดับ กิเลสดับ ไม่ใช่เพียงไม่ทำกรรมชั่วด้วยกาย ด้วยวาจา หรือแม้แต่คิด เพราะฉะนั้นก็จะต้องพิจารณาให้ละเอียดถึงจะรู้ความต่างกันของพระธรรม คำสอนของผู้ที่เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าและผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
รู้จักตัวเองขึ้นไหม เมื่อเปรียบเทียบกับเด็กอ่อนที่ยังนอนหงาย ก็จะได้รู้ว่า ขณะใดที่วิรัติทุจริต ขณะนั้นดีกว่าเด็กอ่อนที่ยังนอนหงายอยู่บ้าง
จุดประสงค์ของการกล่าวถึงวิปัสสนาญาณ ก็เพื่อที่จะป้องกันไม่ให้มีการเข้าใจผิด เพราะเหตุว่าถ้าเพียงแต่การอ่าน และไม่เป็นผู้มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน ไม่เข้าใจจริงๆ แล้วก็จะเข้าใจผิดได้ว่า ขณะที่กำลังพิจารณาลักษณะของสภาพธรรมนั้น เป็นการรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมแล้ว
เพราะฉะนั้นเรื่องของการที่ปัญญาจะเจริญขึ้นจากการที่สติเริ่มระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จะเห็นได้ตามความเป็นจริงว่า เป็นสิ่งที่ไม่ง่ายเลย การศึกษาพระธรรมทั้งหมด เรื่องของปรมัตถธรรม เรื่องของจิต เรื่องของเจตสิก เรื่องของรูป ก็คือการที่จะให้เป็นสังขารขันธ์ปรุงแต่งให้สติเกิดระลึกลักษณะของจิต ลักษณะของเจตสิก ลักษณะของรูปที่กำลังเกิดขึ้นปรากฏเพราะเหตุปัจจัยตามปกติตามความเป็นจริง
เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า ในวันหนึ่งๆ ธรรมต้องเจริญขึ้นหลายๆ ด้าน แม้ในขั้นของการคิด หรือการพิจารณา ถ้าไม่เห็นความสำคัญของการคิด ก็จะไม่รู้เลยว่า วันหนึ่งๆ ที่เป็นสุขเป็นทุกข์ต่างๆ หรือว่าเป็นอกุศลบ้าง เป็นกุศลบ้างนั้นก็เพราะคิดถูกหรือคิดผิด เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมถูก หรือว่าเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมผิด
ซึ่งในวันหนึ่งๆ ลองคิดจริงๆ ลองพิจารณาจริงๆ ว่า ระลึกลักษณะของความคิดบ้างไหม ซึ่งความคิดมีหลายขั้น หลังจากเห็นแล้ว คิด นี่ต้องเป็นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานจึงจะสามารถแยกโลกของสิ่งที่ปรากฏทางตาเพียงสั้นๆ สิ่งที่ปรากฏทางตาขอให้ระลึกอยู่เสมอว่า สั้นนิดเดียว เพราะเหตุว่าความคิดเรื่องสิ่งที่ปรากฏทางตาสืบต่อทันที ถ้าไม่รู้ว่าสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาแท้จริงสั้นมาก แล้วก็มีความคิดเกิดต่อ ถ้าไม่รู้อย่างนี้ สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้ก็ไม่มีทางที่จะดับ เพราะเหตุว่าความคิดนึกปิดบัง ไม่ให้รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ในขณะที่ยังไม่ทันคิดถึงรูปร่างสัณฐาน หรือคิดว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน
เพราะฉะนั้นก็จะพิจารณาได้แม้ในขณะที่ฟังพระธรรม การฟังพระธรรมทุกครั้งก็ควรที่จะพิจารณาทุกครั้งว่า ในขณะนี้สติระลึกทางตาหรือยัง ซึ่งก็กล่าวถึงทุกอาทิตย์ ทุกครั้ง เพราะเหตุว่ามีการเห็นทุกวัน และมีสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้นการที่กล่าวถึงกำลังเห็นขณะนี้ ระลึกรู้ว่าเป็นเพียงธาตุรู้ อาการรู้ ลักษณะรู้ และสิ่งที่ปรากฏทางตาก็เป็นแต่เพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ก็คงจะต้องกล่าวถึงไปเรื่อยๆ เพื่อที่จะเป็นสังขารขันธ์ให้สติปัฏฐานเกิดในขณะนี้ได้ ซึ่งเป็นไปได้ ไม่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้เลย
นี่ก็คือการฟังแล้วก็คิดพิจารณา โยนิโสมนสิการแยบคาย สามารถที่จะเข้าใจว่า การศึกษาทั้งหมดเพื่อสติระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แต่ว่าวันหนึ่งๆ ที่สติปัฏฐานจะเกิดก็ไม่มากเลย ตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้นวันหนึ่งๆ คิดเรื่องอะไรบ้าง ถ้าทุกคนจะหันความสนใจมาให้กับสภาพธรรมที่คิด
- โสภณธรรม ครั้งที่ 051
- โสภณธรรม ครั้งที่ 052
- โสภณธรรม ครั้งที่ 053
- โสภณธรรม ครั้งที่ 054
- โสภณธรรม ครั้งที่ 055
- โสภณธรรม ครั้งที่ 056
- โสภณธรรม ครั้งที่ 057
- โสภณธรรม ครั้งที่ 058
- โสภณธรรม ครั้งที่ 059
- โสภณธรรม ครั้งที่ 060
- โสภณธรรม ครั้งที่ 061
- โสภณธรรม ครั้งที่ 062
- โสภณธรรม ครั้งที่ 063
- โสภณธรรม ครั้งที่ 064
- โสภณธรรม ครั้งที่ 065
- โสภณธรรม ครั้งที่ 066
- โสภณธรรม ครั้งที่ 067
- โสภณธรรม ครั้งที่ 068
- โสภณธรรม ครั้งที่ 069
- โสภณธรรม ครั้งที่ 070
- โสภณธรรม ครั้งที่ 071
- โสภณธรรม ครั้งที่ 072
- โสภณธรรม ครั้งที่ 073
- โสภณธรรม ครั้งที่ 074
- โสภณธรรม ครั้งที่ 075
- โสภณธรรม ครั้งที่ 076
- โสภณธรรม ครั้งที่ 077
- โสภณธรรม ครั้งที่ 078
- โสภณธรรม ครั้งที่ 079
- โสภณธรรม ครั้งที่ 080
- โสภณธรรม ครั้งที่ 081
- โสภณธรรม ครั้งที่ 082
- โสภณธรรม ครั้งที่ 083
- โสภณธรรม ครั้งที่ 084
- โสภณธรรม ครั้งที่ 085
- โสภณธรรม ครั้งที่ 086
- โสภณธรรม ครั้งที่ 087
- โสภณธรรม ครั้งที่ 088
- โสภณธรรม ครั้งที่ 089
- โสภณธรรม ครั้งที่ 090
- โสภณธรรม ครั้งที่ 091
- โสภณธรรม ครั้งที่ 092
- โสภณธรรม ครั้งที่ 093
- โสภณธรรม ครั้งที่ 094
- โสภณธรรม ครั้งที่ 095
- โสภณธรรม ครั้งที่ 096
- โสภณธรรม ครั้งที่ 097
- โสภณธรรม ครั้งที่ 098
- โสภณธรรม ครั้งที่ 099
- โสภณธรรม ครั้งที่ 100