โสภณธรรม ครั้งที่ 085
ตอนที่ ๘๕
ถ้าทุกคนจะหันความสนใจมาให้กับสภาพธรรมที่คิดว่า แท้ที่จริงแล้วปรมัตถธรรมปรากฏเพียงเล็กน้อยทางตาแล้วคิด ปรมัตถธรรมปรากฏทางหูเล็กน้อยแล้วคิด ปรมัตถธรรมปรากฏทางจมูกเล็กน้อยแล้วคิด ทางลิ้น ทางกาย ก็โดยนัยเดียวกัน
เพราะฉะนั้นทุกคนอยู่ในโลกของความคิดมากที่สุด ให้เข้าใจความจริงว่า แท้ที่จริงแล้วคิดเอาเองทั้งหมด คิดเป็นคนนั้น คิดเป็นคนนี้ในขณะที่เห็นสิ่งต่างๆ ที่ปรากฏทางตา เวลาที่ได้ยินเสียงก็คิดเป็นเรื่องนั้น คิดเป็นเรื่องนี้ เพราะฉะนั้นต้องเห็นความสำคัญของความคิดว่า สุขทุกข์เพราะคิดเท่านั้น
ทุกคนอยู่ในโลกของความคิดในขณะที่ปรมัตถธรรมเกิดแล้วดับไปทันที เกิดปรากฏนิดเดียวแล้วก็ดับไปทันที เพราะฉะนั้นทุกคนก็ยังคงอยู่ในโลกของความคิด ถ้าไม่ประจักษ์การเกิดขึ้นของปรมัตถธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ
สำหรับในเรื่องของความคิด ก็มีความคิดหลายอย่าง เช่น ความคิดเห็นในเรื่องธรรม ผิดบ้างถูกบ้าง ถ้าไม่พิจารณาให้ละเอียด อาจจะเข้าใจธรรมบางประการผิด หรืออาจจะยึดถือความเห็นผิดต่างๆ ว่า เป็นความเห็นที่ถูกต้องได้ นั่นก็เป็นสิ่งที่สำคัญมาก
นอกจากในเรื่องของความคิดเห็นในทางธรรมแล้ว ก็ยังมีความคิดธรรมดาในชีวิตประจำวัน ซึ่งถ้าพิจารณาแล้วก็จะเห็นได้ว่า ขณะใดที่เป็นโยนิโสมนสิการ คือ พิจารณาด้วยความแยบคาย ขณะนั้นเป็นกุศล แต่ว่าขณะใดที่อกุศลจิตเกิด ซึ่งจะต้องมีมากทีเดียวในวันหนึ่งๆ ในวันนี้อกุศลจิตเกิดมาก แสดงว่าในขณะนั้นอโยนิโสมนสิการ ในขณะที่เห็นนี่เอง ไม่ใช่ในขณะอื่น เป็นอกุศลไปแล้ว ในขณะที่ได้ยิน ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด ปัญญาไม่เกิด อกุศลจิตก็เกิดแล้ว
เพราะฉะนั้นอวิชชาเป็นสภาพที่ไม่สามารถจะรู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏ และขณะใดที่ตรึกหรือคิดเป็นอกุศล ขณะนั้นต้องมีอวิชชา เช่นขณะที่โกรธ ซึ่งทุกคนไม่อยากจะโกรธเลย ไม่อยากจะขุ่นเคืองใจเลย แต่เพราะอวิชชาเกิด อโยนิโสมนสิการ
เพราะฉะนั้นขณะใดที่อกุศลประเภทใดเกิด แสดงว่าในขณะนั้นเพราะไม่รู้ และเพราะไม่เห็นโทษของอกุศล ซึ่งในวันหนึ่งๆ ความคิดในทางอกุศลมี เพราะเหตุว่าขณะใดที่จิตเป็นอกุศล ขณะนั้นวิตก คือ สภาพที่ตรึก ที่คิด ก็เป็นไปเพราะอโยนิโสมนสิการ
สำหรับความสำคัญของความคิดนึกในระหว่างพุทธบริษัท ก็จะได้ยินได้ฟังเรื่องความคิดนึกต่างๆ ทั้งในเรื่องของปริยัติและในเรื่องของปฏิบัติด้วย ซึ่งถ้าเป็นผู้ที่เข้าใจปริยัติจริงๆ และเป็นผู้ข้าใจเรื่องของการปฏิบัติ ก็จะทำให้พ้นจากทิฏฐิวิบัติ คือ ความวิบัติที่เกิดจากความเห็นผิดได้
ข้อความในปุคคลบัญญัติปกรณ์ ข้อ ๖๖ ได้แสดงบุคคลผู้มีทิฏฐิวิบัติ เพราะเหตุว่าเมื่อมีความเห็นผิดก็จะนำไปสู่ความเสื่อม ความวิบัติต่างๆ โดยผู้เห็นผิดนั้นไม่รู้ตัวเลยว่า ที่ได้รับความวิบัติต่างๆ นั้นเพราะความเห็นผิด
ข้อความในปุคคลบัญญัติปกรณ์ ข้อ ๖๖ มีว่า
ทิฏฐิวิบัติในข้อนั้นเป็นไฉน
ทิฏฐิ ความเห็นไปว่า ทานที่ให้ ไม่มีผล
ไม่น่าจะคิดอย่างนี้เลย แต่ลองสนทนากับผู้ที่มีความคิดเห็นต่างๆ ก็จะเห็นได้ว่า ผู้ที่เห็นอย่างนี้ยังมี คือเห็นว่า ทานที่ให้ ไม่มีผล ไม่มีความจำเป็นที่จะให้ ไม่ใช่การกระทำที่สมควรที่จะให้ และบางคนก็คิดว่า ยิ่งให้ก็ยิ่งหมดไปนี่ก็มี
ข้อความต่อไปมีว่า
ทิฏฐิวิบัติในข้อนั้นเป็นไฉน คือ ทิฏฐิ ความเห็นว่าการบูชาใหญ่ ไม่มีผล
การบูชาใหญ่ คือ มหาทานที่ให้แก่คนทั่วไป
นี่ก็เป็นชีวิตประจำวัน คือบางครั้งเป็นทานที่ให้แต่ละบุคคล ในบางครั้งก็เป็นมหาทานที่ไม่จำกัดผู้รับ เป็นทานที่ให้กับบุคคลทั่วไป ถ้าผู้ใดมีความเห็นว่า การบูชาใหญ่ คือ มหาทานที่ทั่วไปแก่คนทั้งปวง ไม่มีผล นั่นก็เป็นความเห็นผิด ซึ่งจะนำมาซึ่งทิฏฐิวิบัติ
นอกจากนั้นบางคนก็มีความเห็นว่า
สักการะที่บุคคลทำเพื่อแขก ไม่มีผล
นี่เป็นความละเอียดที่จะรู้ว่า ขณะใดจิตเป็นกุศล ขณะใดจิตเป็นอกุศล เพราะฉะนั้นทุกคนสะสมกุศลจิตและอกุศลจิตโดยไม่รู้ตัวในชีวิตประจำวัน ตามอุปนิสัย ตามฉันทะที่สะสมมา แต่ว่าการกระทำในวันหนึ่งๆ ก็ย่อมแสดงให้เห็นถึง การสะสมความคิดเห็นแม้แต่ในเรื่องของการที่จะมีไมตรีจิตต่อผู้ไปเยี่ยมเยือน ซึ่งเป็นแขก ถ้าคิดว่าสักการะที่บุคคลทำเพื่อแขกไม่มีผล
แม้แต่ความคิดเล็กๆ น้อยๆ อย่างนี้ ก็ยังมนสิการได้ไม่ถูกต้อง เพราะฉะนั้นความคิดอื่นก็อาจจะพลอยคิดไปในทางที่ไม่ถูกต้องก็ได้ นี่เป็นเหตุที่ธรรมต้องเป็นเรื่องที่ละเอียด เพื่อที่จะได้พิจารณารู้ลักษณะสภาพของจิตของตนเองตามความเป็นจริง
ข้อความต่อไปมีว่า
ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีทำชั่ว ไม่มี
นี่ก็เป็นทิฏฐิวิบัติ คือ ความเห็นผิด เพราะฉะนั้นถ้าเห็นอย่างนี้แล้วจะทำดีหรือทำชั่ว ใครก็ตามที่คิดว่า ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีทำชั่ว ไม่มี ถ้าคิดอย่างนี้ก็คงจะทำชั่ว ไม่ทำดี ไม่เห็นว่า ควรที่จะขัดเกลาอกุศลแม้เล็กๆ น้อยๆ หรือความคิดผิดแม้เล็กๆ น้อยๆ ที่มีต่อแต่ละบุคคลในชีวิตประจำวัน
นอกจากนั้นก็มีความเห็นผิดไปว่า
โลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี มารดาไม่มี บิดาไม่มี
ซึ่งไม่ได้หมายความว่า คิดว่ามารดาไม่มี บิดาไม่มี แต่เข้าใจว่า คุณของมารดาไม่มี คุณของบิดาไม่มี
นี่ก็เป็นชีวิตประจำวันของแต่ละบุคคล ซึ่งกรรมจำแนกวิถีชีวิตของแต่ละคนให้ต่างกัน เพราะฉะนั้นบางคนอาจจะได้รับความลำบาก ความทุกข์ยากจากการต้องพลัดพรากจากมารดาบิดา ก็เลยทำให้เกิดความคิดเห็นว่า มารดาไม่มี บิดาไม่มี คือ พระคุณของมารดา พระคุณของบิดาไม่มีนั่นเอง ถ้าคิดอย่างนี้ ลองพิจารณาจิตว่า จิตขณะนั้น เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล
เพราะฉะนั้นความคิดสะท้อนกลับให้เห็นจิตที่คิดว่า จิตในขณะนั้นที่คิดอย่างนั้นเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ซึ่งก็เป็นจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ถ้าสามารถที่จะระลึกรู้ได้ว่า ขณะนั้นไม่ใช่ตัวตน แต่เป็นสภาพธรรมที่มีเหตุปัจจัยก็เกิดคิด โดยที่ว่าไม่ได้เตรียมตัว ไม่ได้คิดล่วงหน้าว่าจะคิดเห็นอย่างนั้น แต่เมื่อสะสมมาที่จะเกิดความคิดอย่างนั้น แม้ความคิดอย่างนั้นก็เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย
ข้อความต่อไปมีว่า
มีทิฏฐิ คือความเห็นไปว่า สัตว์อุปปาติกะ ไม่มี สมณพราหมณ์ผู้พร้อมเพรียงกัน ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบที่รู้ยิ่งแล้วซึ่งโลกนี้และโลกหน้าด้วยตนเอง แล้วประกาศทำให้แจ้งในโลก ไม่มี
คือไม่เชื่อในพระปัญญาคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งถ้าได้ฟังบุคคลที่นับถือลัทธิอื่น คำสอนอื่น ศาสนาอื่น จะพิสูจน์ได้ชัดเจนจริงๆ ว่า บุคคลเหล่านั้นไม่มีความเชื่อในพระปัญญาคุณ ในพระบริสุทธิคุณ และในพระมหากรุณาคุณของพระผู้มีพระภาค เพราะท่านเหล่านั้นเป็นผู้ที่เชื่อว่า สมณพราหมณ์ผู้พร้อมเพรียงกัน ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบที่รู้ยิ่งแล้วซึ่งโลกนี้และโลกหน้าด้วยตนเอง แล้วประกาศทำให้แจ้งในโลก ไม่มี
เพราะฉะนั้นถ้ามีทิฏฐิ คือ ความเห็นอย่างนี้ ก็ลองคิดดูว่า บุคคลนั้นจะขวนขวายหาบุคคลผู้มีความรู้ มีความเข้าใจในธรรม มีการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบที่รู้ยิ่งแล้วซึ่งสภาพธรรมในขณะนี้ไหม ในเมื่อเขาเองเข้าใจว่า ไม่มีบุคคลเช่นนั้น
ข้อความต่อไปมีว่า
ทิฏฐิ ความเห็นไปว่า การยึดถือความปฏิบัติผิด มรรคาผิด ทางผิด การยึดถือ การแสวงหาผิดอันใด มีลักษณะอย่างนี้ เรียกว่า ทิฏฐิวิบัติ
มิจฉาทิฏฐิแม้ทั้งหมด เป็นทิฏฐิวิบัติ
เพราะฉะนั้นต้องพิจารณาจริงๆ ในเรื่องสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ และหนทางปฏิบัติที่จะทำให้ประจักษ์แจ้ง โดยการศึกษา ฟังพระธรรม แล้วก็เป็นผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐาน มิฉะนั้นแล้ววันหนึ่งๆ ถ้าไม่ย้อนกลับมาพิจารณาถึงจิตที่กำลังคิด จะไม่รู้เลยว่า ต้องขัดเกลา เพราะบางคนอาจจะคิดว่า สามารถที่จะเข้าใจเหตุการณ์ต่างๆ ได้ดี รู้จักบุคคลต่างๆ ได้ดี แต่ลืมว่า ในขณะที่กำลังคิดถึงความรู้สึกก็ดี จิตใจของบุคคลต่างๆ ก็ดี ในขณะนั้นจิตที่กำลังคิดเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด ไม่ระลึก ไม่รู้ ก็ไม่รู้ว่า ขณะนั้นแท้จริงเป็นอกุศลจิตที่คิด แต่ว่าถ้าสติปัฏฐานเกิด แล้วก็รู้ว่า ขณะที่คิดอย่างนั้นไม่ประกอบด้วยเมตตา ถ้ารู้อย่างนั้นจริงๆ เวลาที่คิดถึงคนอื่น จะคิดด้วยกุศลจิต
เพราะฉะนั้นความเห็นต่างๆ แม้เล็กๆ น้อยๆ ในวันหนึ่งๆ ก็เนื่องมาจากการไม่เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม และบางท่านก็เป็นเพราะมีความเห็นผิดต่างๆ ซึ่งทำให้ความประพฤติทางกายบ้าง ทางวาจาบ้าง ผิดตามไป โดยไม่รู้ว่าผิด เพราะเหตุว่าขณะที่คิด ไม่ได้พิจารณาสภาพของจิตที่คิดเลย
เรื่องของความคิด ลองพิจารณาจริงๆ ว่า แท้ที่จริงแล้วสีสันที่ปรากฏทางตา แม้หลับตาไม่มี อยู่ในโลกของความคิดล้วนๆ ก็ยังมีความคิดเรื่องต่างๆ คนนั้นบ้าง คนนี้บ้าง ซึ่งไม่มีเลย มีแต่สภาพธรรมที่ปรากฏชั่วขณะที่ตาเห็นแล้วก็ดับ แต่ทำไมจึงไม่ยอมทิ้งความเป็นบุคคลต่างๆ ยังทรงจำไว้จนกระทั่งเป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง มากมายเหลือเกินในวันหนึ่งๆ
เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่า หนทางเดียวจริงๆ ที่จะละคลายกิเลสได้ ก็ด้วยขณะที่สติเกิด พิจารณาลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ
ขอกล่าวถึงความคิดเห็นต่างๆ ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน ข้อความในสารัตถปกาสินี อรรถกถาสังยุตตนิกาย สคาถวรรค อรรถกถา ทหรสูตร มีข้อความว่า
กัปปหลาหล พุทธหลาหล จักกวัตติหลาหล คำอธิบายมีว่า
คำว่า หลาหล มี ๓ คือ กัปปหลาหล พุทธหลาหล จักกวัตติหลาหล
อรรถกถาของพม่าใช้คำว่า โกลาหล ๓ คือ กัปปโกลาหล พุทธโกลาหล จักกวัตติโกลาหล
บรรดาหลาหลทั้ง ๓ นั้น หลาหลที่ว่า กัปจักปรากฏที่สุดแสนปี ชื่อว่า กัปปหลาหล เหล่าเทวดาเที่ยวป่าวร้องในถิ่นมนุษย์ว่า ในที่สุดแสนปีแต่นี้ไป โลกจักพินาศ ผู้นิรทุกข์ทั้งหลายจงเจริญเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขากันเถิด
ยังไม่ถึงเวลานั้น อีกนานแสนนาน เพราะว่าทุกคนก็จะเหลือเวลาในโลกนี้ก็อีกไม่ถึง ๑๐๐ ปี แต่ว่ากว่าจะถึงเวลาอีกแสนปีแต่นี้ไป โลกจะพินาศ
เพราะฉะนั้นก็จะไม่แน่ว่า ใครจะได้เกิดในสมัยนั้น แต่ก็เป็นโกลาหลหรือหลาหลที่จะต้องเตรียมตัว เตรียมจิตเตรียมใจที่จะอบรมเจริญกุศล เพื่อจะได้พ้นจากเวลาที่โลกพินาศ
ส่วนหลาหลที่ว่า พระพุทธเจ้าจักอุบัติในที่สุดพันปี ชื่อว่า พุทธหลาหล เหล่าเทวดาป่าวร้องว่า ในที่สุดพันปีแต่นี้ไป พระพุทธเจ้าจักเสด็จอุบัติขึ้น อันพระสังฆรัตนะผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมแวดล้อมแล้ว จักเสด็จจาริกแสดงธรรมโปรด
สมัยนี้ยังเป็นสมัยของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระสมณโคดม ยังไม่ถึงกาลที่พระศาสนาจักอันตรธาน เพราะฉะนั้นก็ยังไม่ถึงกาลที่พระพุทธเจ้าพระองค์ต่อไปจักเสด็จอุบัติขึ้น เพราะฉะนั้นก็ยังไม่มีโกลาหลอย่างนั้น เพราะเหตุว่ายังไม่ถึงเวลา
ส่วนหลาหลที่ว่า ในที่สุดร้อยปี พระเจ้าจักรพรรดิจักอุบัติ ชื่อว่า จักกวัตติหลาหล
ก็ในหลาหลทั้ง ๓ นี้ ศาสดาทั้ง ๖ เหล่านี้ได้ยินเรื่องพุทธหลาหล ก็เข้าไปหาอาจารย์ เล่าเรียนวิชา แล้วก็ปฏิญญาว่า เราเป็นพุทธะ มหาชนห้อมล้อมจาริกไปตลอดชนบท มาถึงกรุงสาวัตถีตามลำดับ
นี่คือเหตุการณ์ในสมัยนั้น คือ คนที่เข้าใจว่าเป็นผู้รู้ เป็นพุทธะ เป็นครูอาจารย์ที่มีชื่อเสียง ๖ คน เป็นครูอาจารย์ที่มีชื่อเสียง แต่ไม่ใช่พุทธะ แต่ว่าการสะสมความเห็นผิดมาก็ทำให้เข้าใจว่าตนเองเป็นพุทธะ เป็นสัพพัญญู
พระเจ้าปเสนทิโกศลตรัสสั่งว่า พวกท่านจงนิมนต์ศาสดาเหล่านั้นเข้ามา ศาสดาทั้ง๖นั้น อันอุปัฏฐากเหล่านั้นบอกว่า พระราชานิมนต์พวกท่าน โปรดไปรับอาหารในพระราชวังเถิด ดังนี้ ก็ไม่กล้าไป
นี่คือความคิดของแต่ละคนซึ่งวิจิตรมาก เมื่อ ๒,๕๐๐ กว่าปีคิดอย่างนั้น แล้วก็กาลเวลาล่วงมา ๒,๕๐๐ กว่าปี แล้วก็ต่อไปอีกจนถึง ๕,๐๐๐ ปี และต่อไปอีก ก็จะเห็นได้ว่า ความคิดของแต่ละคนจะวิจิตรละเอียดมาก แม้แต่ว่าจะเป็นครูที่ใครๆ นับถือว่ามีความรู้ และมีผู้ที่เลื่อมใส แต่แม้กระนั้นเพราะเหตุว่าไม่ได้เป็นพุทธะจริงๆ เพราะฉะนั้นเมื่อทราบว่าพระราชานิมนต์ ก็ไม่กล้าไป
เมื่อถูกรบเร้าบ่อยๆ เข้า ก็รับ เพื่อต้องการรักษาน้ำใจของเหล่าอุปัฏฐาก ก็ไปพร้อมกันทั้งหมด พระราชาโปรดให้จัดปูอาสนะ รับสั่งให้นั่ง พระราชอำนาจแผ่สร้านไปทั่วตัวเหล่านิครนถ์ นิครนถ์เหล่านั้นไม่อาจนั่งเหนืออาสนะที่สมควรอย่างใหญ่ได้ ก็นั่งบนแผ่นกระดานและพื้นดิน ด้วยเหตุเพียงเท่านี้นี่แล พระราชาก็ตรัสว่า ธรรมอันสะอาดภายในของนิครนถ์เหล่านั้นไม่มี จึงไม่พระราชทานอาหาร ตรัสถามว่า พวกท่านเป็นพุทธะ หรือไม่ใช่พุทธะ ประหนึ่งทรงเอาค้อนตีผลตาลหล่นจากต้นตาล ฉะนั้น
คือถามตรงๆ เพื่อที่จะให้ตอบตามความเป็นจริง
นิครนถ์เหล่านั้นคิดว่า ถ้าทูลว่า เราเป็นพุทธะ พระราชาตรัสถามในพุทธวิสัย เราก็ไม่อาจทูลตอบได้ พระองค์ก็จะตรัสว่า พวกท่านเที่ยวลวงมหาชนว่าเราเป็นพุทธะ ก็จะพึงโปรดให้ตัดลิ้นเสีย พึงทำความพินาศแม้อย่างอื่น ดังนี้แล้ว จึงกล่าวปฏิญญาของตนอย่างเดียวว่า ข้าพเจ้าไม่ได้เป็นพุทธะ
แต่ไม่ใช่เพราะเหตุอื่น เพราะความกลัว ไม่ใช่ว่าสำนึกจริงๆ ว่าไม่เป็นพุทธะ แต่เพราะเหตุว่ากลัวอันตรายว่า ถ้าพระราชาตรัสถามในพุทธวิสัย ก็ไม่อาจทูลตอบได้ นี่ก็เห็นความวิจิตรซับซ้อนของจิต ซึ่งทำให้แต่ละบุคคลมีวาจาต่างๆ กัน ตามความคิดในขณะนั้น
ดังนั้น พระราชาจึงให้ลากตัวนิครนถ์เหล่านั้นไปเสียจากพระราชวัง พวกนิครนถ์เหล่านั้น ออกจากพระราชวังแล้ว เหล่าอุปัฏฐากก็พากันถามว่า ท่านอาจารย์ พระราชาตรัสถามปัญหาแล้ว ได้ทรงกระทำสักการะและสัมมานะอะไร เหล่านิครนถ์กล่าวว่า พระราชาตรัสถามว่า พวกท่านเป็นพุทธะ หรือไม่ใช่พุทธะ
ขอให้ฟังความคิดของนิครนถ์ที่จะกล่าวต่อไป
ต่อนั้น พวกเราคิดว่า ถ้าพระราชาพระองค์นี้ไม่ทรงทราบปัญหาที่ตรัสถามในพุทธวิสัย ก็จักขัดพระทัยในพวกเรา จักทรงประสบสิ่งที่ไม่ใช่บุญเป็นอันมาก
กลายเป็นความผิดของพระราชา คือว่าถ้าตอบไปแล้ว พระราชาไม่เข้าใจ พระราชาก็จะขัดพระทัยในครูทั้ง ๖ ก็ขู่ด้วย แสดงว่าถ้าไม่เชื่อหรือว่าไม่เห็นด้วย ไม่เข้าใจในคำตอบของพวกครู พระราชาเองก็จะต้องประสบกับสิ่งที่ไม่ใช่บุญเป็นอันมาก
ข้อความต่อไป พวกครูกล่าวว่า
เพราะความเอ็นดูพระราชา พวกเราจึงไม่ทูลว่า พวกเราเป็นพุทธะ แต่ความจริงพวกเราก็เป็นพุทธะนั่นแหละ ความเป็นพุทธะของพวกเรา ใครๆ ก็ไม่อาจเอาน้ำล้างออกไปได้ ดังนั้น พวกเราจึงเป็นพุทธะภายนอก
หมายถึงภายนอกพระราชวัง เพราะเหตุว่าในพระราชวังบอกว่าไม่ใช่พุทธะ แต่ว่านอกพระราชวังก็บอกว่าเป็นพุทธะ เพราะเหตุว่า พวกนิครนถ์ไม่ทูลในสำนักของพระราชาว่า พวกเราเป็นพุทธะ
เพราะฉะนั้นพระเจ้าปเสนทิโกศลก็ถือเอาข้อนี้ แล้วตรัสกับพระผู้มีพระภาคว่า
ท่านพระโคดม ยังหนุ่มโดยกำเนิด และยังใหม่โดยการบวช ทำไมจึงทรงปฏิญาณว่า ตรัสรู้ยิ่งพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิเล่า
เพราะเหตุว่าพวกนิครนถ์เหล่านั้น เป็นคนแก่ และบวชมานาน ก็ยังไม่ปฏิญาณว่าเป็นพุทธะ เพราะฉะนั้นทำไม พระผู้มีพระภาคซึ่งยังหนุ่มโดยกำเนิดและยังใหม่โดยการบวช แต่ทรงปฏิญาณว่า ตรัสรู้ยิ่งพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ
ซึ่งพระผู้มีพระภาคได้ตรัสตอบ ข้อความในอรรถกถามีว่า
ก็ในบทว่า ภิกฺขุ นี้ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงถึงบรรพชิตผู้มีศีล ยกพระองค์เป็นภายใน คือเป็นตัวอย่าง เพราะทรงฉลาดในเทศนาวิธี ในสภาวะ ๔ อย่าง สภาวะ ๔ อย่าง คือ
๑.กษัตริย์ ไม่ควรดูถูกดูหมิ่นว่ายังทรงพระเยาว์
๒. งู ไม่ควรดูถูกดูหมิ่นว่าตัวเล็ก
๓. ไฟ ไม่ควรดูถูกดูหมิ่นว่าเล็กน้อย
๔. ภิกษุ ไม่ควรดูถูกดูหมิ่นว่ายังหนุ่ม
นี่แสดงให้เห็นถึงความคิด ไม่ใช่แต่ในสมัยโน้น แม้ในสมัยนี้จะในสมัยต่อๆ ไป ซึ่งผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐาน ก็จะต้องเป็นผู้ละเอียดที่จะรู้สภาพของจิตจากพระธรรมที่ทรงแสดง ถ้าปกติไม่เคยระลึกถึงสภาพของจิตของตนเองเลย แต่ว่าเมื่อได้ฟังพระธรรมโดยละเอียดก็จะเริ่มระลึกว่า เป็นอกุศลขั้นไหน
ในสภาวะ ๔ อย่างนั้น บุคคลพบพระราชกุมารหนุ่ม ทรงดำเนินสวนทาง ไม่ถวายทาง ไม่ลดผ้าห่ม ไม่ลุกจากที่นั่งที่นั่งอยู่ ไม่ลงจากหลังช้างเป็นต้น กระทำความประพฤติที่ไม่สมควรเห็นปานนั้นแม้อย่างอื่น โดยดูหมิ่นว่า อยู่ในที่ต่ำ
คือพระราชาเสด็จดำเนินมา และตนเองอยู่บนหลังช้าง ถ้าเป็นอย่างนั้น การกระทำนั้นชื่อว่า ดูหมิ่นกษัตริย์
ชีวิตประจำวันตามความเป็นจริงของทุกคน บางครั้งกุศลจิตก็เกิด บางครั้งอกุศลจิตก็เกิด เวลาเห็นบุคคลนั้นบ้าง เวลาเห็นบุคคลนี้บ้าง ความดูหมิ่น ถึงแม้ว่าบุคคลนั้นจะไม่ใช่พระราชาก็ตาม จิตในขณะนั้นเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล
การที่ฟังพระธรรมแล้ว ก็ยังคิดเปรียบเทียบไปถึงขณะจิตอื่นๆ แล้วก็เทียบกับบุคคลอื่นๆ ด้วย เพราะมิฉะนั้นแล้วก็จะคิดถึงเฉพาะแต่ผู้ที่สูงกว่า เช่นพระราชา แต่แม้บุคคลอื่น ก็ลองพิจารณาถึงจิตในขณะนั้นว่า ขณะใดที่มีความคิดดูหมิ่นสักเล็กน้อย นิดหน่อย ไม่ว่าในความประพฤติ ในกิริยา ในคำพูด ในความคิด ในความไม่รู้ของคนอื่นก็ตาม ขณะนั้นจิตนั้นต้องเป็นอกุศล ถ้าไม่รู้จะขัดเกลาไหมคะ แต่ถ้ารู้แล้วก็เห็นโทษจริงๆ ก็คงจะรู้ตนเองว่า ไม่ควรเลยที่จะดูหมิ่นใครสักคน แม้ว่าจะเป็นพระราชา หรือว่าไม่ใช่พระราชาก็ตาม
ข้อความต่อไปมีว่า
ถ้าผู้นั้นเมื่อกล่าวว่า พระราชกุมารผู้น่ารักพระองค์นี้ พระปรางยุ้ย อุทรพลุ้ย จักทรงสามารถระงับโจรผู้ร้าย ทรงปกครองราชกิจในตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งได้หรือ ดังนี้เป็นต้น ชื่อว่า ดูแคลน
คือมีทั้งอกุศลที่ดูหมิ่น และอกุศลที่ดูแคลน ถ้าไม่พิจารณาก็คิดว่า มีแต่เพียงความดูหมิ่น คือ ประมาทผู้นั้น แต่ว่าจิตมีความละเอียดซับซ้อนยิ่งกว่านั้น คือ ถึงแม้ไม่ดูหมิ่น แต่ว่าดูแคลนได้ โดยเห็นว่าเล็กน้อย เพราะเห็นว่าเป็นพระราชกุมารผู้น่ารัก พระปรางยุ้ย อุทรพลุ้ย ก็คงจะไม่สามารถที่จะระงับโจรผู้ร้าย หรือว่าปกครองราชกิจในตำแหน่งหนึ่งตำแหน่งใดได้
นี่สำหรับกษัตริย์ ข้อความต่อไป เป็นเรื่องของงู ซึ่งข้อความมีว่า
เอาลูกงูพิษแม้ขนาดเท่าไม้ป้ายยาตามาประดับหูเป็นต้น ให้มันกัดนิ้วมือก็ดี
ลิ้นก็ดี ชื่อว่า ดูหมิ่นงู
นอกจากดูหมิ่นคน ใจที่เป็นอกุศล ก็ยังดูหมิ่นงู ในชีวิตประจำวันมีได้ไหมคะ ในโลกนี้ไม่ได้มีแต่มนุษย์ สัตว์ก็มี และเวลาที่เห็นสัตว์ ลองระลึกถึงจิตในขณะนั้นว่า เป็นกุศล หรือเป็นอกุศล
- โสภณธรรม ครั้งที่ 051
- โสภณธรรม ครั้งที่ 052
- โสภณธรรม ครั้งที่ 053
- โสภณธรรม ครั้งที่ 054
- โสภณธรรม ครั้งที่ 055
- โสภณธรรม ครั้งที่ 056
- โสภณธรรม ครั้งที่ 057
- โสภณธรรม ครั้งที่ 058
- โสภณธรรม ครั้งที่ 059
- โสภณธรรม ครั้งที่ 060
- โสภณธรรม ครั้งที่ 061
- โสภณธรรม ครั้งที่ 062
- โสภณธรรม ครั้งที่ 063
- โสภณธรรม ครั้งที่ 064
- โสภณธรรม ครั้งที่ 065
- โสภณธรรม ครั้งที่ 066
- โสภณธรรม ครั้งที่ 067
- โสภณธรรม ครั้งที่ 068
- โสภณธรรม ครั้งที่ 069
- โสภณธรรม ครั้งที่ 070
- โสภณธรรม ครั้งที่ 071
- โสภณธรรม ครั้งที่ 072
- โสภณธรรม ครั้งที่ 073
- โสภณธรรม ครั้งที่ 074
- โสภณธรรม ครั้งที่ 075
- โสภณธรรม ครั้งที่ 076
- โสภณธรรม ครั้งที่ 077
- โสภณธรรม ครั้งที่ 078
- โสภณธรรม ครั้งที่ 079
- โสภณธรรม ครั้งที่ 080
- โสภณธรรม ครั้งที่ 081
- โสภณธรรม ครั้งที่ 082
- โสภณธรรม ครั้งที่ 083
- โสภณธรรม ครั้งที่ 084
- โสภณธรรม ครั้งที่ 085
- โสภณธรรม ครั้งที่ 086
- โสภณธรรม ครั้งที่ 087
- โสภณธรรม ครั้งที่ 088
- โสภณธรรม ครั้งที่ 089
- โสภณธรรม ครั้งที่ 090
- โสภณธรรม ครั้งที่ 091
- โสภณธรรม ครั้งที่ 092
- โสภณธรรม ครั้งที่ 093
- โสภณธรรม ครั้งที่ 094
- โสภณธรรม ครั้งที่ 095
- โสภณธรรม ครั้งที่ 096
- โสภณธรรม ครั้งที่ 097
- โสภณธรรม ครั้งที่ 098
- โสภณธรรม ครั้งที่ 099
- โสภณธรรม ครั้งที่ 100