โสภณธรรม ครั้งที่ 087


    ตอนที่ ๘๗

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ผู้มีสัมปชัญญะ ความว่า บุคคลใดย่อมรู้โดยประการทั้งปวงด้วยดี

    ไม่ใช่รู้ผิด แต่ว่ารู้ด้วยดี

    ฉะนั้นบุคคลนั้นชื่อว่า สมฺปชาโน ผู้รู้ด้วยดี

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ขันติญาณ นี้เป็นตรุณวิปัสสนาญาณ อันเป็นไปแล้วด้วยสัมมสนญาณ มีการพิจารณาสังขารธรรมโดยความเป็นกลาป เป็นต้น

    สำหรับขันติญาณนั้นก็เริ่มตั้งแต่สัมมสนญาณ ซึ่งเป็นตรุณวิปัสสนา จนกว่าจะถึงอุทยัพพยญาณ เป็นความสมบูรณ์ของขันติญาณ เพราะเหตุว่าสามารถที่จะประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปที่เป็นปัจจุบันของสภาพธรรมแต่ละอย่าง

    ก่อนที่จะถึงภยญาณ ซึ่งเป็นญาณประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมตั้งแต่ญาณขั้นต้นๆ มาโดยตลอด จนกระทั่งจะเห็นว่าสังขารทั้งหลายในขณะนี้เป็นภัยอันใหญ่หลวงจริงๆ ซึ่งยากที่จะเห็นได้ ไม่เดือดร้อนเลยกับเห็น ก็ยังเห็น แล้วก็ยังเห็น จะเป็นภัยได้อย่างไร เพราะเหตุว่ายังไม่ประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไป

    เพราะฉะนั้นก็ขอกล่าวถึงข้อความในสัทธัมมปกาสินี อรรถกถาปฏิสัมภิทามรรค อุทยัพพยญาณ ซึ่งมีข้อความว่า

    สังขารทั้งหลายใหม่เป็นนิจ

    สำหรับผู้ที่ประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปจริงๆ ของสภาพธรรมในขณะนี้ จะพิจารณารู้ได้จริงๆ ว่า สังขารทั้งหลายใหม่เป็นนิจ ไม่มีของเก่าเลยสักขณะเดียว เพราะเหตุว่าสิ่งใดก็ตามซึ่งอาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้นแล้วดับไปทันที หมดไปแล้ว แล้วก็มีสิ่งอื่นมีปัจจัยเกิดขึ้นเป็นของใหม่ แล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้นสังขารทั้งหลายใหม่เป็นนิจ

    ธรรมเหล่านี้ที่ยังไม่เคยเกิดก็เกิด ที่เกิดแล้วก็ดับไป ดังนี้

    จริงไหม ได้ยินขณะเมื่อกี้นี้ ยังไม่เคยเกิดมาก่อน แต่ว่าเกิดเมื่อมีปัจจัย แล้วก็ดับไปดังนี้ เห็นขณะใหม่ ซึ่งยังไม่เคยเกิด เมื่อเกิดแล้วก็ดับไป นี่คือการประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง

    สังขารทั้งหลายมิใช่ใหม่เป็นนิจอย่างเดียว สังขารทั้งหลายย่อมปรากฏดุจหยาดน้ำค้างในเวลาพระอาทิตย์ขึ้น ดุจฟองน้ำ ดุจรอยไม้ขีดในน้ำ ดุจเมล็ดผักกาดบนปลายเข็ม ดุจฟ้าแลบ ดุจมายา ดุจพยับแดด ดุจความฝัน ดุจลูกไฟ ดุจต่อมน้ำและต้นกล้วยเป็นต้น หาแก่นสารมิได้ ไม่มีสาระ

    ทุกคนเคยเห็นหยาดน้ำค้าง เคยเห็นฟองน้ำ เคยเห็นรอยไม้ขีดในน้ำ เคยเห็นเมล็ดผักกาดบนปลายเข็ม เคยเห็นฟ้าแลบ เคยเห็นมายา พยับแดด ความฝัน ลูกไฟ ต่อมน้ำ ต้นกล้วย แต่ว่าเมื่อไม่พิจารณา จะไม่เห็นความหาแก่นสารมิได้ ไม่มีสาระ

    เพราะฉะนั้นสำหรับผู้ที่ได้ประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมด้วยอุทยัพพยญาณ และภังคญาณแล้ว ข้อความในสัทธัมมปกาสินี อรรถกถาภังคญาณ มีว่า

    ผู้ประจักษ์แจ้งภังคญาณย่อมพิจารณารู้ว่า สังขารทั้งหลายแม้ในอดีตแตกแล้ว แม้ในอนาคตก็จักแตกเหมือนสังขารนี้ ด้วยความเป็นไปตามอารมณ์ที่เห็นแล้วโดยประจักษ์ แม้โบราณาจารย์ก็กล่าวไว้ว่า ภิกษุผู้มีความเห็นบริสุทธิ์ในสังขารที่เป็นปัจจุบัน ย่อมน้อมนำความเห็นบริสุทธิ์นั้นไปพิจารณาสังขารที่เป็นอดีตและอนาคตว่า สังขารทั้งหลายแม้ทั้งหมดก็มีปกติแตกสลายไป เหมือนหยาดน้ำค้างแห้งไปในเมื่อพระอาทิตย์ขึ้นฉะนั้น

    ฝนตกบ่อยๆ ใช่ไหม บางคนก็อาจจะมองฝนตก แล้วก็เห็นต่อมน้ำบนหลังน้ำซึ่งเกิดขึ้นแล้วก็แตกไปๆ ๆ แต่มีขณะไหนบ้างที่จะพิจารณาเหมือนผู้ที่ได้ประจักษ์ภังคญาณ

    นี่เป็นแต่เพียงคำอุปมา แต่ก็สามารถที่จะประจักษ์ถึงความเกิดดับของสภาพของสังขารธรรมทั้งหลาย และก็ยังจะต้องพิจารณาเพื่อจะอบรมเจริญปัญญาต่อไป

    ซึ่งผลของภังคานุปัสสนาญาณ ข้อความในสัทธัมมปกาสินี อรรถกถาขุททกนิกายปฏิสัมภิทามรรค แสดงว่า

    บทว่า นิโรเธ อธิมุตฺตตา ความน้อมจิตไปในความดับ ความน้อมไป ความเป็นผู้หนักแน่น ความเอียงไป ความโอนไป ความลาดไปในความดับ อันได้แก่ภังคะ ความทำลายนั้น เพราะความเป็นผู้ฉลาดในความปรากฏ ๓ ประการนี้ คือ โดยความสิ้นไป โดยความเสื่อมไป และโดยความสูญไป

    ไม่ใช่เพียงสิ้นไปเฉยๆ แต่ไม่กลับมาอีกเลย สูญไปจริงๆ

    ย่อมไม่หวั่นไหวในทิฏฐิ มีประการต่างๆ มีสัสสตทิฏฐิ เป็นต้น พระโยคาวจรนั้นมิได้หวั่นไหวอยู่อย่างนี้ มีมนสิการเป็นไปแล้วว่า สิ่งไม่ดับ ย่อมดับ สิ่งไม่แตก ย่อมแตก

    ถูกไหม ในขณะที่ไม่ประจักษ์ สิ่งนั้นไม่ดับ แต่เมื่อประจักษ์ สิ่งไม่ดับย่อมดับ สิ่งไม่แตก ย่อมแตก ดังนี้ ก็สละนิมิตอันเป็นไปแล้วในอุปาทะ ฐิติแห่งสังขารทั้งปวง ดุจภาชนะเก่ากำลังแตก

    ขณะที่เห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดกำลังแตก ดูเป็นของธรรมดาจริงๆ แต่ถ้าเป็นสังขารธรรม คือสภาพธรรมที่จะเป็นนามธรรมหรือรูปธรรมก็ตาม ที่สติกำลังระลึก แล้ววิปัสสนาญาณประจักษ์ในความดับไปของธรรมนั้น ก็จะเหมือนกับคนธรรมดาๆ ซึ่งเห็นภาชนะเก่ากำลังแตก แก้วแตก เคยเห็นไหมคะ นั่นแหละคือลักษณะของการแตกของขันธ์โดยอุปมา

    ดุจธุลีละเอียดกำลังกระจัดกระจาย

    เวลาที่เห็นฝุ่นฟุ้ง ไม่เคยคิดเลยว่า สิ่งที่เคยเข้าใจว่า เป็นก้อนแท่งทึบ แต่ว่าเมื่อปัญญาประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมแล้ว จะไม่มีก้อนแท่งทึบเลย มีแต่ลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่างที่ละเอียด เพราะเหตุว่าแต่ละกลาปเป็นสภาพธรรมที่เล็กน้อย ละเอียดมาก เพราะฉะนั้นดุจธุลีละเอียดกำลังกระจัดกระจาย

    ดุจเมล็ดงาถูกคั่วอยู่ ย่อมเห็นความทำลายนั่นเอง พระโยคาวจรนั้นย่อมเห็นว่า สังขารทั้งหลายทั้งปวงย่อมทำลายไปๆ เหมือนบุรุษผู้มีตาดียืนอยู่บนฝั่งสระโบกขรณีหรือบนฝั่งแม่น้ำ เมื่อฝนหนาเม็ดตก พึงเห็นฟองน้ำฟองใหญ่ๆ ผุดขึ้นๆ บนหลังน้ำ แล้วก็แตกไป ฉะนั้น

    พระผู้มีพระภาคตรัสหมายถึงพระโยคาวจรเห็นปานนั้นว่า มัจจุราชย่อมไม่เห็นผู้พิจารณาเห็นโลกอยู่ เหมือนพระโยคาวจรเห็นฟองน้ำหรือพยับแดดฉะนั้น

    ถ้าใครสามารถจะเห็นโลกเหมือนกับฟองน้ำหรือพยับแดด ต่อไปมัจจุราชย่อมไม่เห็นผู้ที่ประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังแตกหรือดับไปอย่างนั้น

    เมื่อพระโยคาวจรนั้นเห็นบ่อยๆ อย่างนี้ว่า สังขารทั้งหลายทั้งปวงย่อมแตกไปๆ ดังนี้ ภังคานุปัสสนาญาณมีอานิสงส์ ๘ เป็นบริวารย่อมมีกำลัง อานิสงส์ ๘ เหล่านี้ คือ การละภวทิฏฐิ ๑ การสละความใคร่ในชีวิต ๑ การประกอบความขวนขวายในการบุญทุกเมื่อ ๑ ความมีอาชีพบริสุทธิ์ ๑ การละความขวนขวายในการทำบาป ๑ ความปราศจากภัย ๑ การได้ขันติและโสรัจจะ ๑ การอดกลั้นความยินดียินร้าย ๑

    ด้วยเหตุนั้นพระโบราณาจารย์จึงกล่าวว่า พระมุนีผู้เห็นสังขารทั้งหลายแตกดับไปเนื่องๆ ครั้นเห็นอานิสงส์อันมีการละภวทิฏฐิเป็นต้นเหล่านี้ว่า เป็นธรรมสูงสุดด้วยคุณ ๘ ประการแล้ว เพื่อบรรลุอมตะ คือ พระนิพพาน จึงพิจารณาสังขารด้วยภังคานุปัสสนาญาณบ่อยๆ เหมือนบุคคลมีผ้าโพกศีรษะอันไฟกำลังลุกไหม้ฉะนั้น

    นี่ก็เป็นการที่วันหนึ่งจะประจักษ์ได้แน่นอนสำหรับผู้ที่เข้าใจข้อปฏิบัติที่ถูก แล้วก็อบรมเจริญสติปัฏฐาน อบรมเจริญปัญญาไปเรื่อยๆ

    สำหรับผู้ที่ยังไม่ถึงภังคานุปัสสนาญาณ ก็จะเห็นได้ว่า ยังไม่สามารถจะได้อานิสงส์ ๘ ซึ่งเป็นบริวาร คือ การละภวทิฏฐิ ความเห็นว่ามีสภาพธรรมที่เที่ยง เป็นสัสสตทิฏฐิ เพราะขณะนี้ไม่แตกดับ เพราะฉะนั้นก็เห็นว่ายังอยู่ และผู้นั้นจริงๆ แล้วก็ไม่ใช่สละความใคร่ในชีวิตด้วยปัญญา เพราะว่าบางคนอาจจะเบื่อโลก ไม่อยากจะอยู่ในโลก แต่ขอให้ทราบว่า นั่นไม่ใช่ด้วยปัญญา จะอยากอยู่หรือไม่อยากอยู่ ก็ต้องอยู่ ยังพ้นโลกไปไม่ได้ ไม่โลกนี้ก็โลกอื่น และถ้าไม่ใช่โลกนี้ แต่ว่าเป็นโลกอื่นซึ่งทุกข์ทรมานมากกว่าโลกนี้ ก็จะคิดใหม่ คือว่าไม่อยากจะอยู่ในโลกนั้นเสียแล้ว อยู่ในโลกนี้ยังจะดีเสียกว่า เพราะเหตุว่าไม่สามารถจะพ้นจากโลกไปได้

    นอกจากนั้นผู้ที่ได้เห็นความเกิดดับ และน้อมไปสู่ความดับ ก็จะเป็นผู้ที่ประกอบความขวนขวายในการบุญทุกเมื่อ

    สำหรับหลายท่านทีเดียวซึ่งแม้ว่าจะยังไม่ได้ประจักษ์ภังคญาณ แต่ท่านก็เป็นผู้ที่สะสมอุปนิสัยที่จะประกอบความขวนขวายในการบุญทุกเมื่อ เพราะฉะนั้นก็เป็นการสะดวก เพราะว่าจิตของท่านน้อมไปแล้วสู่การที่จะสละภพ หรือว่าสละชีวิตด้วยปัญญา สละความใคร่ในชีวิตด้วยปัญญา จะทำให้ท่านผู้นั้นเป็นผู้มีอาชีพบริสุทธิ์ แต่ว่าถ้ายังไม่ถึงความเป็นผู้ที่ประจักษ์แจ้งลักษณะของภังคญาณ ก็ยังมีเยื่อใยในชีวิต ยังมีความรักชีวิตต้องการที่จะให้ชีวิตเต็มสมบูรณ์ด้วยความสุขความสบาย เพราะฉะนั้นก็ยังจะต้องมีโอกาสที่จะมีอาชีพไม่บริสุทธิ์

    เพราะฉะนั้นสำหรับผู้ที่ได้ประจักษ์วิปัสสนาญาณแล้ว อานิสงส์ก็คือ ความมีอาชีพบริสุทธิ์ การละความขวนขวายในการทำบาป ซึ่งเมื่อเป็นอย่างนั้นก็จะปราศจากภัย และก็จะเป็นผู้ที่มีขันติและโสรัจจะ จะมีการอดกลั้นความยินดียินร้าย

    ซึ่งขณะนี้ก็ได้กล่าวถึงโสภณเจตสิกตามลำดับ จนกระทั่งมาถึง “ตัตตรมัชฌัตตตา” ซึ่งไม่ว่าจะกล่าวถึงวิปัสสนาญาณหรือว่าเรื่องของกุศลที่เป็นไปในทาน ในศีล ในสมถะ คือความสงบของจิต หรือในการเจริญสติปัฏฐาน หรือแม้วิปัสสนาญาณแต่ละขั้นที่เกิดขึ้น ก็จะต้องประกอบด้วยตัตตรมัชฌัตตตา ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เป็นกลาง ไม่เอนเอียงไปในอกุศลธรรม เพราะฉะนั้นก็เป็นสิ่งซึ่งจะพิจารณาเห็นได้ว่า ขณะใดที่เป็นกุศลจริงๆ ขณะนั้นเป็นกลาง

    ขอกล่าวถึงข้อความที่จะแสดงให้เห็นถึงลักษณะของตัตตรมัชฌัตตตา ในอรรถกถา สังยุตตนิกาย สคาถวรรค อัตถกรณสูตร ข้อ ๓๔๓ ถึงข้อ ๓๔๕ ซึ่งมีข้อความสั้นๆ ว่า

    ปลาทั้งหลายเข้าไปสู่เครื่องดักที่เขาดักไว้ ยังไม่รู้สึกตัว ฉันใด สัตว์ทั้งหลายล่วงเข้าไปสู่วัตถุกามด้วยกิเลสกาม ก็ไม่รู้สึกตัว ฉันนั้น

    ข้อความในอรรถกถามีว่า

    เหตุที่พระผู้มีพระภาคตรัสข้อความนี้ ก็เมื่อพระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จออกประทับนั่ง ฟังการพิจารณาคดีความ ในคดีนั้นพวกอมาตย์รับสินบนเขามาก่อนนั่งวินิจฉัยคดี ตัดสินให้ผู้มิใช่เจ้าของทรัพย์สินกลายเป็นเจ้าของทรัพย์สินไป พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงทราบเรื่องนั้นแล้ว ทรงพระดำริว่า ต่อหน้าเราผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน อำมาตย์พวกนี้ยังกระทำถึงเพียงนี้ ลับหลังเรา เขาจักไม่ทำกระไรได้

    การที่ยกตัวอย่างในพระไตรปิฎก ก็เพื่อจะแสดงให้เห็นว่า ทุกยุคทุกสมัยเหมือนกันหมด เพราะเหตุว่าโลภะ โทสะ โมหะในครั้งอดีตเป็นอย่างไร ในขณะที่เป็นปัจจุบันนี้ก็ต้องเป็นอย่างนั้น หรือแม้แต่อนาคตที่จะเกิดต่อไป ลักษณะของโลภะ โทสะ โมหะ ก็ไม่เปลี่ยนแปลง มีบางท่านให้ความคิดเห็นว่า ในเรื่องการยกตัวอย่างของธรรม ก็น่าที่จะยกตัวอย่างเหตุการณ์ปัจจุบัน แต่ตามความเป็นจริงแล้ว เหตุการณ์ปัจจุบันทุกคนย่อมทราบตามหน้าหนังสือพิมพ์หรือวงศาคณาญาติ ญาติสนิทมิตรสหาย เพราะเหตุว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดในสมัยนี้ แต่ว่าถ้ายกตัวอย่างเหตุการณ์ในอดีต คือ ในพระไตรปิฎกเมื่อ ๒,๕๐๐ กว่าปี ก็จะเห็นได้ว่า ไม่มีความต่างกันเลย โลภะ โทสะ โมหะในครั้งก่อน กับ โลภะ โทสะ โมหะหรือแม้เหตุการณ์คล้ายคลึงกัน ก็ยังมีได้ ตามข้อความในอรรถกถา สังยุตตนิกาย สคาถวรรค อัตตกรณสูตร ที่ได้กล่าวถึง

    เพราะฉะนั้นถึงแม้ว่าจะไม่ได้กล่าวโดยตรงถึงตัตตรมัชฌัตตตาเจตสิก แต่กล่าวถึงสูตรหนึ่งสูตรใดก็ตาม ในพระสูตร หรือข้อความในพระวินัย หรือข้อความอื่นๆ ในพระอภิธรรม ซึ่งเป็นเรื่องของกุศลแล้ว ก็แสดงว่าตัตตรมัชฌัตตตาย่อมเกิดร่วมกับกุศล ซึ่งทั่วไปในพระไตรปิฎกในกุศลทุกประเภท

    สำหรับอุเบกขามี ๑๐ ที่ได้กล่าวถึงแล้วบางประการ

    อุเบกขา ๑๐ คือ ๑. ฉฬังคุเบกขา ๒. พรหมวิหารุเบกขา ๓. โพฌังคุเบกขา ๔. วิริยุเบกขา ๕. สังขารุเบกขา ๖. เวทนุเบกขา ๗. วิปัสสนูเบกขา ๘. ตัตตรมัชฌัตตุเบกขา ๙. ฌานุเบกขา ๑๐. ปาริสุทธุเบกขา

    นี่เป็นลักษณะของความเป็นกลางต่างๆ ซึ่งความเป็นกลาง ๑๐ ประการนี้ สำหรับฉฬังคุเบกขา ได้แก่ ตัตตรมัชฌัตตตาเจตสิก พรหมวิหารุเบกขาก็ได้แก่ ตัตตรมัชฌัตตตาเจตสิก โพฌังคุเบกขาก็ได้แก่ ตัตตรมัชฌัตตตาเจตสิก วิริยุเบกขาก็ได้แก่ วิริยเจตสิก ซึ่งได้กล่าวถึงแล้ว

    ในขณะนี้กำลังกล่าวถึงสังขารุเบกขา ซึ่งได้แก่ปัญญาเจตสิก แต่ว่าก่อนที่จะถึงสังขารุเบกขา ซึ่งเป็นวิปัสสนาญาณใกล้ที่จะได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม ก็ได้กล่าวถึงการอบรมเจริญปัญญาและวิปัสสนาญาณแต่ละขั้น เพราะเหตุว่าไม่ใช่ว่าเมื่อเริ่มอบรมเจริญสติปัฏฐาน แล้วก็จะถึงสังขารุเบกขาญาณทันที

    สำหรับวิปัสสนาญาณ คือ ปัญญาที่รู้ชัด รู้แจ้งในลักษณะของสภาพธรรม มี ๑๖ คือ ๑. นามรูปปริจเฉทญาณ ๒. ปัจจยปริคคหญาณ ๓. สัมมสนญาณ ๔. อุทยัพพยญาณ ๕. ภังคญาณ ๖. ภยญาณ ๗. อาทีนวญาณ ๘. นิพพิทานุปัสสนาญาณ ๙. มุญจิตุกัมยตาญาณ ๑๐. ปฏิสังขาญาณ ๑๑. สังขารุเปกขาญาณ ๑๒. อนุโลมญาณ ๑๓. โคตรภูญาณ ๑๔. มัคคญาณ ๑๕. ผลญาณ ๑๖. ปัจจเวกขณญาณ

    เพียงแต่ชื่อก็ยากที่จะจำ แต่ก็ให้ทราบว่า เป็นปัญญาที่อบรมเจริญขึ้นตามลำดับขั้น จนกระทั่งสามารถที่จะประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมชัดเจนขึ้นตามลำดับ เพราะฉะนั้นเรื่องชื่อก็เป็นสิ่งซึ่งถ้าเข้าใจลักษณะของสภาพของวิปัสสนาญาณแต่ละขั้น ชื่อก็คงจะไม่ลืม เช่น

    วิปัสสนาญาณที่ ๑ นามรูปปริจเฉทญาณ ซึ่งข้อความในอรรถสาลินี นิกเขปกัณฑ์ ใช้คำว่า นามรูปววัฏฐานะ คือ ปัญญาที่ประจักษ์ชัดในสภาพที่แยกขาดจากกันของนามธรรมและรูปธรรม

    เพราะฉะนั้นก็คงจำได้ นามรูปปริจเฉทญาณ

    ญาณที่ ๒ ปัจจยปริคคหญาณ คือ ปัญญาที่รู้ปัจจัยที่ทำให้สภาพธรรมนั้นๆ เกิดขึ้น เพียงแต่รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่แยกขาดจากกัน ยังไม่พอที่จะดับกิเลส แต่ถ้าสามารถที่จะรู้ถึงปัจจัยของนามธรรมแต่ละอย่าง รูปธรรมแต่ละอย่าง ที่สติกำลังระลึกในขณะนี้ ก็จะทำให้เพิ่มการละคลายแล้วก็รู้ว่า สภาพธรรมทั้งหลายไม่ใช่ตัวตน ไม่มีใครสามารถจะทำให้สภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใดเกิดขึ้นได้เลย เพราะเหตุว่าสภาพธรรมทุกอย่างมีปัจจัยจึงเกิดขึ้น

    มีใครทำเห็นให้เกิดขึ้นได้ไหม มีใครทำให้ได้ยินเกิดขึ้นบ้าง มีใครทำให้นึกคิดเกิดขึ้นบ้าง ไม่มีเลย แต่สภาพธรรมทุกอย่างที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ผู้ที่ไม่เคยคิดเลย ไม่เคยพิจารณาเลย ก็ไม่ใส่ใจที่จะรู้ว่า สภาพธรรมแต่ละอย่างนี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร เพราะเหตุว่าเมื่อเกิดมาแล้วยึดถือสภาพธรรมเหล่านี้ว่าเป็นเรา เป็นตัวตน โดยไม่พิจารณาว่าแท้ที่จริงแล้ว ถ้าเพียงแต่พิจารณาแล้วศึกษาพระธรรม ก็จะรู้ได้จริงๆ ว่า สภาพธรรมแต่ละอย่างต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่างเพื่อที่จะเกิดขึ้นเพียงชั่วขณะเดียวแล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว ขอให้คิดดูถึงความไม่มีแก่นสารของสิ่งซึ่งต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่างเกิดขึ้น แต่ว่าเกิดขึ้นเพียงชั่วขณะนิดเดียวแล้วก็ดับไป เมื่อดับไปก็สูญไป ไม่กลับมาเกิดอีกเลย

    เพราะฉะนั้นถ้ารู้อย่างนี้จริงๆ ก็จะทำให้ค่อยๆ ละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล และเมื่อละคลายการยึดถือสภาพธรรมโดยสติระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ โดยไม่ต้องเลือก เพราะสภาพธรรมทั้งหมดเหมือนกัน เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แล้วก็ไม่สามารถที่จะบังคับบัญชาให้เกิดขึ้นได้ เพราะฉะนั้นไม่ใช่ไปคอยรอ รู้สภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใดที่ยังไม่เกิด แต่ว่าสภาพธรรมใดที่เกิดแล้วก็พิจารณารู้ในลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตนเพิ่มขึ้น จนกระทั่งเป็นสัมมสนญาณ

    ญาณที่ ๓ สัมมสนญาณ ประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไป เกิดขึ้นและดับไปสืบต่อกัน อย่างรวดเร็ว ซึ่งแม้อย่างนั้นก็ยังไม่สามารถที่จะละคลายการยึดถือสภาพธรรมที่เคยยึดถืออย่างเหนียวแน่นว่า เป็นเราได้ เพราะเหตุว่านามรูปปริจเฉทญาณ ปัจจยปริคคหญาณ สัมมสนญาณ เป็นตรุณวิปัสสนา แต่ก็เริ่มที่จะเป็นขันติญาณตั้งแต่สัมมสนญาณ เพราะเหตุว่าจะต้องพิจารณาลักษณะของนามและรูปทั่วทั้ง ๖ ทาง

    การที่กล่าวย้ำแล้วย้ำอีก ก็เพื่อที่จะให้ท่านผู้ฟังได้เห็นการค่อยๆ เจริญขึ้นของปัญญา ซึ่งไม่ใช่อย่างอื่นเลย นอกจากรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่จะไปทำอย่างอื่น แต่ว่าสิ่งนี้ในขณะนี้ที่กำลังปรากฏ เป็นเครื่องสอบปัญญาว่า รู้แค่ไหน ทางตาที่กำลังเห็น รู้แค่ไหน ถ้ายังรู้ไม่พอ สติระลึกต่อไป พิจารณาต่อไป และเมื่อถึงอุทยัพพยานุปัสสนาญาณ

    ญาณที่ ๔ อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ หรือ อุทยัพพยญาณ ก็เป็นปัญญาที่ละเอียดและคมขึ้นที่จะพิจารณาประจักษ์ชัดการเกิดขึ้นและดับไปของสภาพธรรมที่เป็นปัจจุบันทีละอย่าง และเมื่อปัญญาเจริญต่อไป ก็ถึงภังคญาณ

    ญาณที่ ๕ ภังคญาณ เพราะเหตุว่าการที่ประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปแม้ของสภาพธรรมที่เป็นปัจจุบัน แต่ว่าเมื่อสภาพธรรมนั้นดับก็ยังมีสภาพธรรมอื่นเกิดสืบต่อทันที

    เพราะฉะนั้นการที่จิตใจจะละคลาย ก็ยังเป็นไปได้โดยที่ไม่ถึงขั้นที่จะเป็นขั้นปหานปริญญา เพราะเหตุว่ายังมีสภาพธรรมซึ่งเกิดขึ้นสืบต่อจากสภาพธรรมที่ดับไป ต่อเมื่อใดพิจารณาน้อมถึงความดับ จึงจะเพิ่มความรู้ในความไม่เป็นแก่นสารของนามธรรมและรูปธรรมขึ้น แต่แม้กระนั้นปัญญาขั้นนั้นก็ยังไม่ดับการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนได้

    สำหรับวิปัสสนาญาณที่ ๖ ต่อจากภังคญาณ ซึ่งเป็นวิปัสสนาญาณที่ ๕ วิปัสสนาญาณที่ ๖ คือ ภยญาณ หรือภยตูปัฏฐานานุปัสสนาญาณ เป็นปัญญาที่พิจารณาเห็นความดับของสภาพธรรมโดยความเป็นภัย เริ่มเห็นภัยของการที่สภาพธรรมเกิดแล้วก็ดับๆ ๆ ซึ่งในขณะนี้ในขั้นปริยัติที่ฟัง แม้ว่าจะได้ฟังว่า ในขณะนี้เห็นเกิดแล้วดับ ได้ยินเกิดแล้วดับ แต่เมื่อยังไม่ใช่วิปัสสนาญาณที่จะเห็นความเป็นภัย ยังเป็นไปไม่ได้เลย

    เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ เทียบปัญญาขั้นการฟังกับปัญญาขั้นประจักษ์แจ้งว่า ต้องเป็นปัญญาที่คมกล้ากว่ากันมากทีเดียว

    เมื่อภังคญาณดับหมดแล้ว ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานก็รู้ว่า กิเลสทั้งหลายยังมีกำลังเกิดขึ้นเป็นไปตามการสะสม ซึ่งแม้ว่าจะใฝ่ใจระลึกถึงลักษณะที่ดับไปๆ ของนามธรรมและรูปธรรม ความยินดีที่ยึดถือนามธรรมและรูปธรรมว่าเป็นตัวตน ก็ยังไม่หมดสิ้นไป แต่ก็จะละคลายลงไปได้อีก ด้วยการเห็นภัยของการดับไปๆ ของนามธรรมและรูปธรรมนั่นเอง

    เพราะฉะนั้นสติปัฏฐานก็เกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมต่อไป เนืองๆ บ่อยๆ แต่ว่าพิจารณาเห็นภัยของการดับไปของนามธรรมและรูปธรรม

    การที่จะเห็นว่าเป็นภัยจริงๆ จะเริ่มจากภยญาณ


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 24
    8 ก.พ. 2565

    ซีดีแนะนำ