โสภณธรรม ครั้งที่ 088


    ตอนที่ ๘๘

    การที่จะเห็นว่าเป็นภัยจริงๆ จะเริ่มจากภยญาณ ซึ่งการที่ค่อยๆ น้อมไปพิจารณาเห็นภัยของการดับไปของนามธรรมและรูปธรรมเรื่อยๆ เมื่อปัญญาสมบูรณ์พร้อมด้วยปัจจัยขณะใด ภยญาณก็เกิดขึ้นประจักษ์ลักษณะที่ดับของนามธรรมและรูปธรรม โดยความเป็นภัย ในขณะที่กำลังประจักษ์แจ้งการดับของนามธรรมและรูปธรรมด้วยวิปัสสนาญาณที่เป็นภยญาณ

    ข้อความในอรรถสาลินีแสดงว่า

    ภยญาณละความสำคัญหมายรู้ในธรรมอันเป็นไปกับด้วยภัยว่า ไม่มีภัยได้ ด้วยญาณเห็นว่าเป็นภัย

    ซึ่งข้อความในอรรถสาลินีก็ชัด ขณะนี้มีธรรมอันเป็นไปกับด้วยภัย แต่ว่าเห็นว่าไม่มีภัย ทั้งๆ ที่เป็นภัยอย่างนี้ คือ เกิดแล้วก็ดับไปจริงๆ เกิดแล้วก็ดับไปจริงๆ แต่ยังไม่สามารถจะเห็นได้ว่าเป็นภัย จนกว่าจะถึงภยญาณ เมื่อเห็นว่าเป็นภัยแล้ว

    วิปัสสนาญาณที่ ๗ คือ อาทีนวญาณ หรืออาทีนวานุปัสสนาญาณ คือ ญาณที่เห็นโทษของการเกิดดับของนามธรรมและรูปธรรม

    นี่แสดงถึงความเหนียวแน่นแค่ไหนของการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน ทั้งๆ ที่เห็นว่าเป็นภัย ยังไม่พอ ปัญญายังจะต้องเห็นยิ่งกว่านั้นอีก คือ ยังจะต้องเห็นว่า ภัย คือ การเกิดดับของนามธรรมและรูปธรรมนั้นเป็นโทษด้วย

    เพราะฉะนั้นแม้ว่าภยญาณจะเห็นภัยของการเกิดขึ้นและดับไปของนามธรรมและรูปธรรมแล้ว เมื่อภยญาณดับไปแล้ว ความยินดีพอใจในการยึดถือนามธรรมและรูปธรรมว่าเป็นตัวตน ก็ยังไม่ดับไป เพราะฉะนั้นผู้เจริญสติปัฏฐานจึงรู้ว่า ต้องเห็นโทษของนามธรรมและรูปธรรมที่เกิดดับเพิ่มขึ้นโดยประการต่างๆ ที่จะเกื้อกูลให้เห็นว่าเป็นโทษจริงๆ จนกว่าจะคลายการยึดถือนามธรรมและรูปธรรมว่าเป็นตัวตนลงไปอีก เมื่อสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดดับ

    หลังจากอุทยัพพยญาณดับไปแล้ว สติปัฏฐานจะระลึกลักษณะของสภาพธรรมและการเกิดดับก็จะปรากฏ แต่ถึงแม้ว่าการเกิดดับจะปรากฏ ก็ขึ้นอยู่กับปัญญาในขณะที่กำลังประจักษ์การเกิดดับว่า เพิ่มขึ้นอีกหรือเปล่า ถ้าปัญญานั้นเห็นว่าเป็นภัย ในขณะนั้นเป็นภยญาณ และยังจะต้องเกิดปัญญาที่เห็นว่าเป็นโทษในขณะที่ประจักษ์แจ้งด้วย เมื่อปัญญาพิจารณาเห็นโทษของการเกิดขึ้นและดับไปของนามธรรมและรูปธรรมละเอียดขึ้น จนปัจจัยสมบูรณ์พร้อมที่จะปรุงแต่งให้อาทีนวญาณเกิดขึ้นเมื่อไร อาทีนวญาณก็เกิดขึ้นประจักษ์แจ้งโทษของนามธรรมและรูปธรรมที่เกิดดับในขณะนั้น

    นี่ยังไม่ถึงนิพพิทาญาณ ซึ่งเคยมีท่านผู้ฟังเขียนถามมาว่า ได้แต่กล่าวถึงญาณขั้นต้นๆ แต่ว่ายังไม่กล่าวถึงนิพพิทาญาณ ซึ่งไม่ใช่ว่าจะเกิดความหน่าย ความคลายความยินดี ความพอใจในนามธรรมและรูปธรรมได้โดยง่ายเลย เพราะเหตุว่าแม้ว่าจะเป็นวิปัสสนาญาณสำหรับผู้ที่ไม่ใช่อุคฆติตัญญู ไม่ใช่วิปัญจิตัญญู แต่เป็นเนยยบุคคล การที่วิปัสสนาญาณแต่ละขั้นจะเกิดก็ต้องอาศัยความพากเพียร อบรมเจริญปัญญา น้อมระลึกพิจารณาลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม พร้อมกับการเจริญกุศลทุกประการมากทีเดียวกว่าวิปัสสนาญาณแต่ละขั้นจะเกิดขึ้นได้

    ข้อความในขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค ญาณกถา มีข้อความว่า

    ปัญญาในความปรากฏเป็นของน่ากลัว เป็นอาทีนวญาณอย่างไร

    ปัญญาในความปรากฏโดยความเป็นภัยว่า ความเกิดขึ้นเป็นภัย ความเป็นไปเป็นภัย สังขารนิมิตเป็นภัย ฯลฯ กรรมเครื่องประมวลมาเป็นภัย ปฏิสนธิเป็นภัย คติเป็นภัย ความบังเกิดเป็นภัย ความอุบัติเป็นภัย ชาติเป็นภัย ชราเป็นภัย พยาธิเป็นภัย มรณะเป็นภัย ความโศกเป็นภัย ความรำพันเป็นภัย ความคับแค้นใจเป็นภัย เป็นอาทีนวญาณแต่ละอย่าง

    ซึ่งข้อความในอรรถกถามีว่า

    ความเกิดขึ้นเป็นภัย บทว่า อุปาโท ความเกิดขึ้น คือ เกิดขึ้นในโลกนี้เพราะกรรมเก่าเป็นปัจจัย

    ข้อความในขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค เกี่ยวกับอริยสัจจ์ จะแสดงเรื่องภัยของการเกิดตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ซึ่งแต่ละคนก็มีชีวิตผ่านมาจนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้ ก็ผ่านภัยหลายประการ ผ่านโรคหลายชนิด ผ่านเหตุการณ์ต่างๆ ผ่านความทุกข์ยากลำบาก โดยที่ว่าแม้ในขณะนี้เอง ก็ยังไม่แน่ว่าจะมีภัยอะไรเกิดขึ้นต่อไป คืออาจจะเป็นผู้พิการไปเมื่อไร ในขณะไหนก็ย่อมจะเป็นได้ เพราะฉะนั้นความเป็นไปจึงเป็นภัย

    บทว่า ปวัตตํ ความเป็นไป คือ ความเป็นไปของความเกิดขึ้นเป็นไป

    ซึ่งทุกคนจะหยุดความเป็นไปของชีวิตที่เกิดมาไม่ได้เลย และนอกจากนั้นยังไม่สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงความเป็นไปสักขณะจิตเดียว เหตุการณ์ที่ไม่อยากจะให้เกิด จะไม่ให้เกิดได้ไหม

    บทว่า นิมิตตํ คือ สังขารนิมิตทั้งหมดเป็นภัย

    คำว่า นิมิตตํ ที่นี่ หมายความถึงสังขารนิมิต คือ นามธรรมและรูปธรรมที่เกิดขึ้น มีนิมิต คือ ลักษณะต่างๆ นั่นเอง

    เพราะฉะนั้นคำว่า นิมิต ก็เป็นอีกคำหนึ่งของนามธรรมและรูปธรรม เพราะเหตุว่านามธรรมและรูปธรรมแต่ละอย่างที่เกิดขึ้นมีลักษณะของตนที่ปรากฏให้รู้ เป็นเครื่องหมายลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมนั้นๆ

    เพราะฉะนั้นสังขารนิมิตทั้งหมดเป็นภัย ทั้งหมดนี่ไม่เว้นเลย คือ ไม่ว่าจะเป็นนามธรรมชนิดใด รูปธรรมชนิดใดเกิดขึ้นเพียงชั่วขณะแล้วก็ดับไป

    ถ้าจะให้ละเอียดจากเหตุการณ์ทั้งเหตุการณ์ ก็ย่อยย่อลงเป็นแต่ละขณะจิตเดียว คือ จะไม่ให้ได้ยินเป็นไปไม่ได้ จะไม่ให้เห็นก็เป็นไปไม่ได้ จะไม่ให้คิดนึกก็เป็นไปไม่ได้ และโดยเฉพาะถ้าเกิดคิดนั้นเป็นอกุศล ก็จะพิจารณาเห็นภัยได้ชัดเจนว่า ภัยนั้นจะเพิ่มขึ้นอีกสักเท่าไร

    ข้อความในอรรถกถาอธิบายกรรม เครื่องประมวลมาเป็นภัย มีข้อความว่า

    บทว่า อายูหนํ กรรมที่ประมวลมาเป็นภัย คือ กรรมอันเป็นเหตุแห่งปฏิสนธิต่อไป เป็นภัย

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ปฏิสนธิ คือ การเกิดต่อไปชาติหน้าเป็นภัย คติ คือ ทางของปฏิสนธิเป็นภัย ความบังเกิดเป็นภัย ความบังเกิด คือ ความเกิดขึ้นของขันธ์ทั้งหลาย ความอุบัติเป็นภัย ชาติเป็นภัย โดยนิปปริยาย คือโดยตรง ชาติคือความปรากฏครั้งแรกของขันธ์ทั้งหลายที่ปรากฏแก่สัตว์ผู้เกิดในที่ภพนั้นๆ

    คือหมายความถึงจิตขณะแรกที่เป็นชาติ เป็นความปรากฏครั้งแรกของขันธ์ทั้งหลาย

    ชราเป็นภัย บทว่า ชรา ได้แก่ ความเก่าของขันธสันดานที่เนื่องกันในภพหนึ่ง ในสันตติที่รู้กันว่า มีฟันหัก เป็นต้น

    นามธรรมและรูปธรรมก็เกิดดับสืบเนื่องติดต่อกันไปเรื่อยๆ แต่ว่าชราคือความปรากฏความเก่าของขันธสันดานที่เกิดดับสืบเนื่องกันในภพหนึ่ง ทำให้รู้ว่าเป็นลักษณะของชรา เพราะเหตุว่าเกิดดับสืบต่อเป็นเวลานาน

    ความโศกเป็นภัย บทว่า โศโก ได้แก่ความเดือดร้อนใจของผู้ที่ถูกความเสื่อมจากญาติเป็นต้นกระทบ

    ไม่มีใครจะผ่านพ้นความโศกไปได้ บางท่านอาจจะผ่านแล้ว บางท่านอาจจะเพิ่งประสบ และบางท่านก็จะประสบต่อไป เพราะฉะนั้นก็เป็นของธรรมดาในขณะที่ความเดือดร้อนใจของผู้ที่ถูกความเสื่อมจากญาติเป็นต้นกระทบ ก็จะไม่มีใครสงสัยว่า ลักษณะของความโศกเป็นอย่างไร เพราะเหตุว่าทุกคนต้องประสบ

    ความรำพันเป็นภัย บทว่า ปริเทโว ได้แก่ ความพร่ำเพ้อของผู้ที่ถูกความเสื่อมจากญาติเป็นต้นกระทบ

    เวลาที่มีความเสื่อมจากญาติ เคยพูดถึงคนที่จากไปบ้างไหมคะ คิดถึงเรื่องต่างๆ การกระทำต่างๆ เหตุการณ์ต่างๆ ด้วยความอาลัย ขณะนั้นจิตไม่ใช่โสมนัส แต่ว่าขณะนั้นเป็นโทมนัสที่ทำให้เกิดความรำพัน

    เพราะฉะนั้น ปริเทโว ได้แก่ ความพร่ำเพ้อของผู้ที่ถูกความเสื่อมจากญาติเป็นต้นกระทบ อย่างน้อยที่สุดก็คงจะอดกล่าวคำว่า คิดถึง ไม่ได้ นั่นคืออย่างน้อย แต่ถ้าอย่างมากก็จะเห็นถึงการพร่ำเพ้อ ซึ่งพูดบางเรื่องแล้วก็หยุดไป แล้วก็ต่อเรื่องใหม่ แล้วก็หยุดไป นั่นก็เป็นลักษณะของความพร่ำเพ้อของผู้ที่ถูกความเสื่อมจากญาติเป็นต้นกระทบ

    ความคับแค้นใจเป็นภัย บทว่า อุปายาโส ได้แก่ ความคับแค้นใจมาก คือโทสะที่เกิดจากทุกข์ใจมากมายของผู้ที่ถูกความเสื่อมจากญาติเป็นต้นกระทบ

    บางคนทุกข์มากจนกระทั่งใจแห้งผาก หมดชีวิตชีวา นี่จะทำให้เห็นระดับขั้นของความโศกว่า มีมากมายหลายขั้น เพ้อจนกระทั่งจิตใจแห้งหมด ในขณะนั้นก็เป็นความคับแค้นใจซึ่งเป็นอุปายาโส

    ญาณ ปัญญาที่เห็นภัยอย่างนี้ เป็นอาทีนวญาณแต่ละอย่างๆ

    ไม่น่าที่จะเป็นอาทีนวญาณได้ แต่ว่าอาทีนวญาณต้องเห็นโทษ ต้องเห็นภัยของสิ่งซึ่งดูเป็นธรรมดาๆ ที่เกิดขึ้นแล้วก็ผ่านไป เกิดขึ้นแล้วก็ผ่านไป เพราะเหตุว่าความทุกข์ความโศกเหล่านี้ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่ดับ ในขณะที่เกิดก็เป็นทุกข์อย่างยิ่ง แต่ว่าทุกข์นั้นก็หมดไปด้วย เพราะฉะนั้นบางท่านก็อาจจะค่อยๆ คลายความทุกข์ไป ลืมไป แต่ว่าวิปัสสนาญาณต้องเห็นภัยจริงๆ และก็เห็นโทษจริงๆ เพราะเหตุว่าไม่สามารถจะยับยั้งความเป็นไปต่างๆ เหล่านี้ได้ จึงรู้ว่าสังขารทั้งหลายต้องเกิดขึ้น ต้องดับไป

    นิภัทร นามธรรมและรูปธรรมก็เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปตลอดเวลา แต่วิปัสสนาญาณที่เกิดขึ้นรู้รูปธรรมนามธรรมเป็นขั้นๆ อย่างที่อาจารย์บรรยายเป็นลำดับมา สมมติว่าเกิดญาณขั้นต้นแล้ว แล้วรู้รูปธรรมนามธรรมที่ปรากฏในขณะนั้นชัดเจนแล้ว แล้วปัญญาเจริญขึ้นโดยลำดับไปจนถึงญาณขั้นสูงๆ ขึ้นไป เมื่อถึงญาณขั้นสูงขึ้นไปจนถึงอาทีนวญาณแล้วอย่างนี้ จะหวนกลับไปมีญาณขั้นต่ำๆ หรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ สภาพธรรมในขณะนี้เป็นนามธรรม เป็นรูปธรรม แต่ว่าเมื่อลักษณะยังไม่ปรากฏชัด ยังไม่ได้ประจักษ์แจ้งด้วยวิปัสสนาญาณ ก็ยังไม่เป็นนามรูปปริจเฉทญาณ ใช่ไหมคะ แต่เมื่อเป็นนามรูปปริจเฉทญาณ คือ การประจักษ์ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทางมโนทวาร เหมือนขณะนี้ตามปกติ เพราะเหตุว่าแม้ในขณะนี้ก็มีมโนทวารวิถี แต่ว่าปัญญาที่กำลังพิจารณา ไม่ใช่ปัญญาที่ประจักษ์แจ้ง แต่เมื่อประจักษ์แจ้งก็เป็นมโนทวารวิถี ซึ่งชัดและประจักษ์ลักษณะสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ หมดความสงสัยในลักษณะของมโนทวาร เพราะฉะนั้นจึงรู้ว่า วิปัสสนาญาณแต่ละขั้นต้องเป็นการประจักษ์แจ้งทางมโนทวาร ซึ่งเคยประจักษ์แจ้งแล้ว เพราะฉะนั้นเมื่อสภาพธรรม คือนามธรรมและรูปธรรมปรากฏทางมโนทวารสำหรับวิปัสสนาญาณขั้นสูงขึ้น ก็คือลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม แต่ว่าในขั้นต้นปัญญาไม่คม เพราะฉะนั้นในขั้นต้นปัญญาที่เกิดและประจักษ์ลักษณะที่แยกขาดจากกันของนามธรรมและรูปธรรม จึงเป็นนามรูปปริจเฉทญาณ

    ถ้าเอาชื่อออก คือ ไม่ต้องตั้งชื่อ ไม่ต้องเรียกชื่อว่า นามรูปปริจเฉทญาณ ขณะนั้นปัญญาขั้นนั้นก็คือขั้นประจักษ์แจ้งลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม เพียงขั้นประจักษ์ลักษณะ โดยที่ว่าปัญญายังไม่ได้พิจารณาจนกระทั่งมนสิการถึงสภาพการเกิดและดับ ซึ่งในขณะที่นามรูปปรากฏทางมโนทวาร ไม่ใช่นามเดียว ไม่ใช่รูปเดียว เมื่อเป็นนามรูปปริจเฉทญาณ ต้องมีนามธรรมหลายนามธรรม และรูปธรรมหลายลักษณะที่ปรากฏ แต่ว่าปัญญาไม่คมพอที่จะมนสิการการเกิดและการดับสืบต่อกัน

    เพราะฉะนั้นในขณะนั้นก็เพียงประจักษ์แจ้งลักษณะที่เป็นนามธรรมนี้ไม่เคยรู้ ไม่เคยประจักษ์ ไม่เคยรู้ชัดแจ้งอย่างนี้ว่า ธาตุรู้ อาการรู้ ลักษณะรู้นั้น ไม่มีรูปธรรมใดๆ เจือปนเลยทั้งสิ้น ขณะนั้นลองคิดดู โลกซึ่งเคยเต็มไปด้วยสี เสียง กลิ่น รส เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ไม่ได้ปรากฏรวมกัน และขณะนั้นลักษณะของทวารอื่นไม่ปรากฏ เพราะเหตุว่าขณะนั้นกำลังเป็นมโนทวาร โดยที่ว่าสภาพของนามธรรมแต่ละลักษณะปรากฏ และรูปธรรมซึ่งผ่านปัญจทวารแต่ละทวารทีละทวาร แล้วแต่รูปใดจะปรากฏกับมโนทวาร การประจักษ์แจ้งครั้งแรกคือลักษณะที่แยกขาดจากกันของนามธรรมและรูปธรรมในขณะนั้น เป็นปัญญาที่สมบูรณ์เพียงขั้นนั้น จึงเป็นนามรูปปริจเฉทญาณ แต่เมื่อปัญญาจะประจักษ์ขั้นต่อไปก็จะพ้นจากลักษณะเดิมได้ไหม เพียงแต่ว่าปัญญาคมขึ้นเท่านั้นเอง

    เพราะฉะนั้นแต่ละขั้น ก็คือปัญญาที่คมขึ้น เมื่อลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมปรากฏทางมโนทวาร

    นิภัทร ก็คงจะเป็นนามธรรมรูปธรรม แต่ว่าปัญญาคมชัดขึ้น

    ท่านอาจารย์ แน่นอน เพราะฉะนั้นวิปัสสนาญาณแต่ละขั้นก็เกื้อกูลทำให้วิปัสสนาญาณขั้นต่อไปเกิด จะกล่าวว่าเป็นนามรูปปริจเฉทญาณอีกได้ไหม ในเมื่อประจักษ์แล้ว แล้วปัญญาก็คมกว่านั้นแล้ว แต่ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมก็ปรากฏ เพียงแต่ว่าปัญญาที่จะประจักษ์แจ้งนั้นเพิ่มกำลังขึ้น เช่น ปัจจยปริคคหญาณ ในขณะนั้นก็จะคลายการที่เคยจดจ้อง หรือต้องการนามหนึ่งนามใด เพราะรู้ว่าขณะนั้นสภาพนั้นเกิดเพราะปัจจัย ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏแต่ละลักษณะ แสดงว่ามีปัจจัยแต่ละอย่างที่ทำให้สภาพธรรมนั้นเกิด ไม่ว่าจะเป็นวิปัสสนาญาณขั้นไหน ที่ถามว่าจะย้อนกลับไปเป็นอันเก่าได้ไหม ก็เป็นปัญญาที่คมขึ้น

    ข้อความในขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค ญาณกถา ข้อ ๒๗๖ มีข้อความว่า

    ชื่อว่า โทษ คือ กิเลสทั้งหลาย ทุจริตทั้งปวง อภิสังขารทั้งปวง กรรมอันเป็นเหตุให้สัตว์ไปสู่ภพทั้งปวง เป็นโทษ ความสำคัญในโลกนี้และโทษนี้ว่าเป็นภัยอันแรงกล้า ปรากฏแล้วด้วยประการดังนี้

    ยังไม่ปรากฏก็ต้องฟังพระธรรม อบรมเจริญปัญญาโดยไม่ท้อถอย ค่อยๆ ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏจนกว่าจะเห็นโทษจริงๆ

    เมื่อปัญญาเห็นโทษภัยของการเกิดขึ้นของธรรมทั้งหลายแล้ว ย่อมน้อมไปสู่สันติบท

    บทว่า สันติปเท ในสันติบท ได้แก่ ในส่วนแห่งสันติ คือ ในนิพพาน

    ถ้าจะไม่พูดว่า นิพพาน จะใช้คำว่า สันติ ก็ได้ คือ ความสงบจริงๆ ดับระงับทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่มีการเกิดที่จะทำให้เป็นทุกข์เดือดร้อนเลย

    ข้อ ๑๑๕ มีข้อความว่า

    ญาณในสันติบทว่า ความไม่เกิดขึ้นปลอดภัย ความไม่เป็นไปปลอดภัย ฯลฯ ความไม่คับแค้นใจปลอดภัย

    เพราะฉะนั้นจึงเป็นปัญญาที่เห็นความต่างกันชัดเจนว่า

    ความเกิดขึ้นเป็นภัย ความไม่เกิดขึ้นปลอดภัย ความเป็นไปเป็นภัย ความไม่เป็นไปปลอดภัย ฯลฯ ความคับแค้นใจเป็นภัย ความไม่คับแค้นใจปลอดภัย

    และญาณในสันติบทว่า ความเกิดขึ้นเป็นทุกข์ ความไม่เกิดขึ้นเป็นสุข ความเป็นไปเป็นทุกข์ ความไม่เป็นไปเป็นสุข ฯลฯ ความคับแค้นใจเป็นทุกข์ ความไม่คับแค้นใจเป็นสุข

    และญาณในสันติบทว่า ความเกิดขึ้นเป็นสังขาร และความไม่เกิดขึ้นเป็นนิพพาน ความเป็นไปเป็นสังขาร ความไม่เป็นไปเป็นนิพพาน ฯลฯ ความคับแค้นใจเป็นสังขาร ความไม่คับแค้นใจเป็นนิพพาน

    ข้อที่พระโยคาวจรพิจารณาเห็นความเกิดขึ้น ความเป็นไป สังขารนิมิต กรรมเครื่องประมวลมาและปฏิสนธิว่า เป็นทุกข์ นี้เป็นอาทีนวญาณ

    ข้อที่พระโยคาวจรพิจารณาเห็นความไม่เกิดขึ้น ความไม่เป็นไป ความไม่มีนิมิต ความไม่มีกรรมเครื่องประมวลมา และความไม่ปฏิสนธิว่า เป็นสุข นี้เป็นญาณในสันติบท อาทีนวญาณนี้ย่อมเกิดในฐานะ ๕ ญาณสันติบทย่อมเกิดในฐานะ ๕ พระโยคาวจรย่อมรู้ชัดญาณ ๑๐ ย่อมไม่หวั่นไหวเพราะทิฏฐิต่างๆ เพราะเป็นผู้ฉลาดในญาณทั้ง ๒ ฉะนี้แล

    ชื่อว่าญาณ เพราะอรรถว่ารู้ธรรมนั้น ชื่อว่าปัญญา เพราะอรรถว่ารู้ชัด เพราะเหตุนั้นท่านจึงกล่าวว่า ปัญญาในความปรากฏโดยความเป็นภัย เป็นอาทีนวญาณ

    ข้อความในอรรถสาลินีแสดงอานิสงส์ของอาทีนวญาณว่า

    อาทีนวทัสสนะ คือ ญาณเห็นว่าเป็นโทษนั้นละความสำคัญหมายรู้ว่า เป็นสิ่งที่น่าชื่นใจได้

    สิ่งที่น่าชื่นใจมีอยู่ในชีวิตประจำวันทั้งนั้นสำหรับผู้ที่ปัญญาไม่เกิด ไม่ว่าจะเป็นรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะก็เป็นสิ่งที่ปรารถนาต้องการ เพราะเหตุว่าทำให้รู้สึกเหมือนกับว่าเป็นสิ่งที่น่าชื่นใจ เพราะฉะนั้นอานิสงส์ของอาทีนวญาณ คือ ละความสำคัญหมายรู้ว่า สภาพธรรมเป็นสิ่งที่น่าชื่นใจได้

    สุชาติ อาทีนวญาณก็เห็นความเกิดขึ้นเป็นภัย เห็นความเสื่อมไปก็เป็นภัย ความเป็นไปก็เป็นภัย ก็ไม่ทราบว่า ความดับเป็นภัยหรือไม่ เพราะไม่เห็นมีกล่าวไว้

    ท่านอาจารย์ เมื่อเห็นเกิดก็ต้องดับด้วย ไม่มีสภาพของสังขารธรรมใดซึ่งเกิดแล้วไม่ดับ เพราะฉะนั้นเมื่อเห็นความเกิดขึ้นก็รวมถึงสิ่งนั้นก็จะต้องดับด้วย

    สุชาติ พิจารณาดูเมื่อกี้ผมจด มีแต่ความเกิดขึ้น ความเสื่อมไป ถึงชรา ไม่เห็นมีมรณะ

    ท่านอาจารย์ บางครั้งที่ทรงแสดงธรรมก็ละไว้ในที่เข้าใจ

    สุชาติ อย่างอาทีนวญาณ ภังคานุปัสสนาญาณ เห็นความดับนี่ ก็ไม่เห็นบอกว่า เห็นความดับเป็นภัย ก็เลยคิดว่า ความดับไม่เป็นภัย

    ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่าผ่านภังคญาณแล้ว น้อมไปที่ความดับ ถึงจะละคลายการติดยึดถือนามธรรมและรูปธรรม ค่อยๆ คลายลง แต่ว่าก่อนที่จะถึงภยญาณที่จะเห็นว่าเป็นภัย ต้องถึงภังคญาณก่อน ถ้าไม่ถึงภังคญาณ จะพิจารณาเห็นโดยความเป็นภัยไม่ได้

    นิภัทร การเจริญสติปัฏฐาน ยังมีผู้เข้าใจสับสนกันอยู่มาก ความเข้าใจว่าจะต้องหาสิ่งใดสิ่งหนึ่งมาเป็นอารมณ์ของสติปัฏฐาน วิธีที่จะทำให้เราเข้าใจว่า การเจริญสติปัฏฐานไม่จำเป็นต้องหา จะต้องศึกษาทำความเข้าใจอย่างไร คือโดยมากคนจะเข้าใจว่า การเจริญสติปัฏฐานจะต้องหาอารมณ์มาพิจารณา ทีนี้วิธีที่ถูกต้องที่จะไม่คิดว่า จะต้องไปหาอารมณ์มาพิจารณา ที่เป็นการเจริญสติปัฏฐานที่ถูกต้อง จะทำอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ไม่ต้องหา เพราะเหตุว่าขณะนี้มีอารมณ์ที่สติจะระลึกได้แล้วค่ะ

    นิภัทร หมายความว่าอารมณ์มีอยู่แล้ว

    ท่านอาจารย์ ทุกขณะเป็นสภาพธรรมที่ปรากฏเกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย อย่างเห็นในขณะนี้ก็มี

    นิภัทร อารมณ์ของสติปัฏฐานไม่ต้องหา

    ท่านอาจารย์ จะไปหาที่ไหน

    นิภัทร แต่ที่จะหานั้นคืออะไร ต้องหาปัญญาหรือเปล่า ต้องศึกษา ต้องหาความเข้าใจให้เกิดให้ได้เสียก่อน เพราะถ้าหากไม่มีความเข้าใจแล้ว ก็จะไปหาอารมณ์สติปัฏฐานอยู่ตลอดเวลา เพราะว่าการที่คิดว่าไปหาอารมณ์ เมื่อได้อารมณ์แล้ว ก็จะทำให้ปัญญาเจริญขึ้น ความเข้าใจโดยมากจะเป็นอย่างนี้ ถึงได้เที่ยวไปนั่งหากัมมัฏฐานกัน เพราะถ้าได้กัมมัฏฐานแล้ว ปัญญาจะเจริญขึ้น เท่าที่ผมสังเกตดูความเข้าใจของคนส่วนใหญ่จะเป็นอย่างนี้ โดยที่ไม่ได้ตั้งต้นให้ถูกเสียก่อนว่า ที่ถูกแล้วจะต้องหาความรู้ความเข้าใจเสียก่อน ถ้ายังไม่มีความรู้ความเข้าใจแล้วก็ไม่มีโอกาสที่จะเจริญสติปัฏฐานได้ อย่างนี้จะถูกต้องไหม

    ท่านอาจารย์ ต้องเข้าใจว่า เป็นผู้มีปกติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ นั่นคือ การอบรมเจริญสติปัฏฐาน ไม่จำเป็นต้องไปหาอารมณ์ หรือว่าไม่จำเป็นต้องไปสู่สถานที่หนึ่งสถานที่ใด ในขณะนี้เองเป็นผู้ที่มีปกติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 24
    8 ก.พ. 2565

    ซีดีแนะนำ