โสภณธรรม ครั้งที่ 089
ตอนที่ ๘๙
ในขณะนี้เองเป็นผู้ที่มีปกติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ข้อสำคัญก็คือว่า สภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ก็ได้ยินได้ฟังมามากเหลือเกิน ทั้งในขั้นของการศึกษาปริยัติที่เป็นอภิธรรม หรือบางท่านก็อาจจะอ่านพระสูตร ศึกษาค้นคว้าก็ทราบได้ว่า ไม่มีอะไรเลยนอกจากนามธรรมและรูปธรรมเท่านั้น และธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา
ข้อความสั้นๆ เพียง“ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา” และไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน เป็นนามธรรมและรูปธรรมเท่านั้น ขอให้รู้จริงๆ จนประจักษ์แจ้ง เท่านี้เองค่ะ แต่เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมเพียงสั้นๆ อย่างนี้ ไม่มีผู้ใดสามารถที่จะประจักษ์แจ้งได้ จึงต้องทรงแสดงลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมโดยละเอียดแต่ละลักษณะ พร้อมทั้งเหตุปัจจัยมากมาย เพื่อที่จะให้พิจารณาแล้วพิจารณาอีก ฟังแล้วฟังอีก ซ้ำแล้วซ้ำอีก ก็เรื่องของขณะที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังได้กลิ่น กำลังลิ้มรส กำลังรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส กำลังคิดนึกในขณะนี้เอง
เพราะฉะนั้นถ้าจะเปลี่ยนการบรรยาย เป็นการเตือนด้วยการกล่าวถึงสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้ ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพื่อว่าสติปัฏฐานของใครจะเกิดระลึกทันที นั่นคือผลของการฟัง นั่นคือประโยชน์ที่สุดของการฟัง ไม่ใช่เป็นเรื่องเพียงจำเรื่องของนามธรรมและรูปธรรมไว้มาก โดยที่ไม่รู้จุดประสงค์ แต่ว่าการฟังเพื่อเกื้อกูลให้สติเกิดระลึกลักษณะของสภาพรู้ในขณะนี้ แล้วแต่ว่าใครจะระลึกสภาพรู้ทางตาในขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ ก็เป็นปกติอย่างนี้
สภาพรู้ทางตาในขณะนี้แยกจากสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาไม่ได้เข้ามาสู่ตัว ไม่มีสมบัติที่เคยเห็นว่าเป็นของเราอย่างหนึ่งอย่างใด จะเข้ามาสู่ร่างกายภายในไม่ได้เลย เมื่อปรากฏขณะใดก็เพียงปรากฏภายนอก คือ ปรากฏทางตาให้เห็นเท่านั้น
เพราะฉะนั้นการน้อมพิจารณาถึงสิ่งที่กำลังปรากฏโดยนัยของอายตนะภายในภายนอก จะทำให้เข้าใจลักษณะของนามธรรม ธาตุรู้ซึ่งเป็นภายใน
คำว่า “ภายใน” ลองพิจารณาแยกจากสิ่งที่กำลังปรากฏซึ่งเป็นภายนอก รูปารมณ์ที่กำลังปรากฏในขณะนี้เป็นภายนอก อยู่ข้างนอก ปรากฏข้างนอก จิตไม่ได้ออกไปข้างนอกที่จะไปรู้รูปารมณ์ แต่ในขณะที่สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาปรากฏในขณะนี้เอง เพราะเหตุว่าธาตุรู้กำลังเป็นภายใน คือ เห็น นี่โดยนัยของอายตนะ มนายตนะเป็นภายใน รูปารมณ์เป็นภายนอก เวลาประจักษ์แจ้งก็ประจักษ์แจ้งอย่างนี้
สำหรับในคราวต่อไป ก็จะขอกล่าวถึงวิปัสสนาญาณขั้นต่อไป คงจะกล่าวเพียงเล็กน้อยสั้นๆ เพราะเหตุว่าก็เป็นเรื่องที่จะต้องประจักษ์แจ้งชัดด้วยตนเองเมื่อปัญญาสมบูรณ์ แต่เป็นแนวทางที่จะให้เข้าใจว่า ไม่ใช่เพียงขั้นที่จะอ่านและก็พิจารณา แล้วก็คิดว่าได้บรรลุญาณนั้นญาณนี้แล้ว
ถ้าไม่มีข้อสงสัย วันนี้ก็ขอกล่าวถึง
วิปัสสนาญาณที่ ๘ คือ นิพพิทาญาณ หรือนิพพิทานุปัสสนา ซึ่งดูเหมือนจะอีกไกลแสนไกลทีเดียวนะคะ ไม่ใช่ที่จะเกิดได้อย่างง่ายๆ หรือโดยรวดเร็ว แต่ถ้าข้อปฏิบัตินั้นถูกแล้ววันหนึ่งต้องเกิด
นี่เป็นความอุ่นใจ นี่เป็นความมั่นใจที่เมื่อสัมมาสติเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมแล้วศึกษา เมื่อศึกษาก็ย่อมจะต้องเข้าใจลักษณะของสิ่งที่ปรากฏเพิ่มขึ้นในสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน เพราะรู้ว่าตั้งแต่เกิดจนตาย เห็นเป็นสภาพรู้ ได้ยินเป็นสภาพรู้ ได้กลิ่นเป็นสภาพรู้ ลิ้มรสเป็นสภาพรู้ กระทบสิ่งที่เย็นร้อนอ่อนแข็งเป็นสภาพที่รู้เย็นร้อนอ่อนแข็ง ขณะที่กำลังคิดนึกต่อจากทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ก็คือนามธรรมเท่านั้น นี่คือสิ่งที่จะต้องรู้จนกระทั่งปัญญาเพิ่มขึ้น สมบูรณ์ขึ้น เป็นวิปัสสนาญาณตามลำดับขั้น จนถึงวิปัสสนาญาณที่ ๘ เป็นนิพพิทาญาณ หรือนิพพิทานุปัสสนา เป็นญาณที่ประจักษ์แจ้งลักษณะที่เกิดดับของนามธรรมและรูปธรรม ด้วยความรู้ชัดในความหน่าย ในการคลาย อาทีนวญาณเห็นเป็นโทษ แต่พอถึงนิพพิทาญาณเป็นความรู้ชัดในความหน่ายในนามธรรมและรูปธรรมที่ปรากฏ เพราะฉะนั้นจึงเป็นนิพพิทาญาณ ซึ่งละความสำคัญหมายรู้นามธรรมและรูปธรรมว่า น่ายินดีได้
นามธรรมและรูปธรรมในชีวิตประจำวัน บางครั้งก็มีลักษณะที่น่าชื่นใจ บางครั้งก็มีลักษณะที่น่ายินดี น่าพอใจ น่าติดข้อง ถ้าจะพิจารณาโดยละเอียดก็จะเห็นระดับขั้นของความติด ความพอใจในนามธรรมและรูปธรรมในวันหนึ่งๆ ซึ่งมีมากต่างกัน เพราะฉะนั้นปัญญาที่จะถึงความสมบูรณ์ที่จะปรุงแต่งให้เกิดการหน่าย การคลายจากความยินดียึดมั่นในนามธรรมและรูปธรรมว่าเป็นตัวตนได้ ก็จะต้องอบรมจนถึงความสมบูรณ์ของวิปัสสนาญาณที่เป็นนิพพิทาญาณ
เพราะฉะนั้นก็ลองคิดดูว่า จะยากสักแค่ไหนในชีวิตประจำวันซึ่งในแสนโกฏิกัปป์ก็ไม่เคยหน่ายคลายความพอใจ ความยึดมั่นในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ท่านที่พอใจในรูปภาพสวยๆ เห็นรูปภาพสวยๆ ครั้งใดก็อยากได้ ลองคิดดูซิคะว่า วันไหนจะหน่าย จะคลาย จะเห็นว่าไม่น่าชื่นใจ ไม่น่ายินดีอีกต่อไป ต้องเป็นเรื่องจริง ต้องเป็นปัญญา ต้องเป็นความรู้ชัดจึงสามารถที่จะทำให้เกิดความหน่าย ความคลายได้โดยถูกต้อง ไม่ใช่เป็นความเบื่อ ซึ่งความเบื่อเป็นลักษณะที่ติดพอใจ อยากจะได้สิ่งหนึ่งสิ่งใด แล้วขณะนั้นไม่ได้จึงเบื่อ
เพราะฉะนั้นความหน่าย ไม่ใช่เป็นความเบื่อ เพราะเหตุว่าความเบื่อเป็นอกุศลจิต เป็นโทสมูลจิต แต่ความหน่ายด้วยปัญญาเพราะประจักษ์แจ้งในสภาพที่แท้จริงของสิ่งซึ่งเคยเป็นที่ชื่นใจ เคยเป็นที่ยินดี
เพราะฉะนั้นก็จะเห็นความต่างกันว่า การที่ปัญญาจะสมบูรณ์จริงๆ และก็หน่ายด้วยปัญญาจริงๆ จะต้องตามลำดับขั้นจนถึงวิปัสสนาญาณที่เป็นนิพพิทาญาณ
ผู้ที่ไม่ได้ศึกษาโดยละเอียดถี่ถ้วนจริงๆ และไม่ได้อบรมเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ย่อมเข้าใจผิดในนิพพิทาญาณ เพราะเหตุว่าส่วนใหญ่ก็จะได้ยินคำถามหรือคำบอกเล่าของบางท่านที่ว่า ท่านผู้นั้นท่านผู้นี้ได้บรรลุถึงนิพพิทาญาณ แต่ท่านที่กล่าวไม่มีข้อวินิจฉัย เพียงแต่ว่าได้รับฟังมาอย่างไร ก็เข้าใจไปอย่างนั้น โดยไม่ได้ศึกษาว่า นิพพิทาญาณคืออย่างไร
เพราะฉะนั้นการไม่ศึกษาก็ทำให้เข้าใจนิพพิทาญาณผิด แล้วก็อาจจะคิดว่า การที่จะบรรลุถึงนิพพิทาญาณนั้นไม่ยากเลย ซึ่งถ้าเข้าใจอย่างนั้นก็หมายความว่า ไม่เข้าใจลักษณะของนิพพิทาญาณ และไม่เข้าใจเหตุที่จะให้บรรลุถึงนิพพิทาญาณ
เพราะฉะนั้นก็จะต้องพิจารณาโดยความถี่ถ้วนรอบคอบจริงๆ อย่างบางท่านสอนให้ละ ฟังดูไม่ยาก อย่าติด อย่ายึดถือ ละเสีย ไม่ต้องยินดี ไม่ต้องพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ในเห็น ในได้ยิน ดูเหมือนกับว่าง่าย ก็บอกให้ละเสีย ละเสีย ซึ่งทำให้ผู้ที่มีความเลื่อมใสเห็นว่าเป็นคำสอนที่ถูกต้อง เพราะเหตุว่าสอนให้ละ เพราะฉะนั้นก็เกิดศรัทธาที่จะละโดยรักษาศีล ๘ และบางท่านก็ไม่บริโภคเนื้อสัตว์ และก็คิดว่า เมื่อปฏิบัติเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ก็จะค่อยๆ คลายกิเลสไปเรื่อยๆ และไม่นานก็จะเป็นพระอริยบุคคล
ซึ่งบางท่านก็คิดว่า ถ้าเป็นอุบาสกก็คงจะเป็นพระอนาคามี และถ้าเป็นพระภิกษุก็จะถึงความเป็นพระอรหันต์แล้ว เพราะจากการสนทนากับบางท่าน ท่านก็บอกว่า ท่านได้รับคำสอนเรื่องการปฏิบัติจากพระอรหันต์
เพราะฉะนั้นการที่บางท่านสามารถที่จะรักษาศีล ๘ ตามความคิดที่ว่า ละเสีย ละไปเรื่อยๆ และไม่บริโภคเนื้อสัตว์ ก็จะทำให้คนที่ดูเผินๆ ภายนอกมีความเลื่อมใส เพราะเหตุว่าไม่ได้ศึกษาเรื่องของการอบรมเจริญปัญญาเลย ก็เข้าใจว่า ผู้ที่สามารถปฏิบัติอย่างนั้นก็จะต้องละคลายกิเลสไปพอสมควรทีเดียว โดยที่ไม่เฉลียวใจเลยว่า พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้สัจจธรรมอะไร และทรงแสดงหนทางข้อปฏิบัติที่จะทำให้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมอย่างไร
นี่เป็นสิ่งที่ถ้าไม่ศึกษาจริงๆ จะใช้คำว่า นิพพิทาญาณ หรือว่าวิปัสสนาญาณโดยง่าย และก็เข้าใจว่าได้บรรลุโดยข้อปฏิบัติอื่น ซึ่งไม่ใช่การอบรมเจริญสติรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ
นี่สำหรับผู้ที่ไม่ได้ศึกษาเลย เพราะฉะนั้นก็จะไม่มีคำว่า นิพพิทาญาณ หรือวิปัสสนาญาณใดๆ เลย เพียงแต่ว่าให้ละเสีย ละเสีย ละเสีย แล้วก็รักษาศีลไปๆ แล้วก็จะเป็นพระอริยบุคคล ซึ่งบางท่านก็คิดว่า ได้มีผู้ที่เป็นพระอนาคามีบ้างแล้วสำหรับอุบาสก และมีหลายท่านที่เป็นพระอรหันต์แล้วสำหรับผู้ที่เป็นบรรพชิต
บางท่านก็นั่งทำสมาธิ แล้วก็คิดเรื่องสังขารทั้งหลายไม่เที่ยง ทุกอย่างเกิดขึ้นแล้วก็เปลี่ยนแปลงไป ไม่ยั่งยืน ขณะนั้นก็เลยเบื่อ เพราะเห็นว่าสังขารทั้งหลายที่ไม่ยั่งยืนนั้นก็เป็นทุกข์ ขณะนั้นก็เข้าใจเอาเองว่า ความเบื่อนั้นเป็นนิพพิทาญาณ และเมื่อไปถามท่านผู้ที่สอนให้ปฏิบัติ ถ้าผู้ใดบอกว่าเป็นนิพพิทาญาณก็เชื่อ เพราะอยากจะถึงนิพพิทาญาณอยู่แล้ว
เพราะฉะนั้นเรื่องวิปัสสนาญาณไม่ใช่เรื่องที่ฟังใครพูด แล้วก็เชื่อ แต่ว่าต้องเป็นเรื่องต้องศึกษาพิจารณาให้เหตุสมควรแก่ผลจริงๆ ไม่ใช่เป็นผู้ที่ตื่นเต้นง่ายเมื่อเวลาที่ได้ยินได้ฟังใครบอกว่า ท่านผู้นี้ได้ฌาน หรือว่าท่านผู้นี้ได้วิปัสสนาญาณ ท่านผู้นี้ถึงนิพพิทาญาณ หรือว่าท่านผู้นี้เป็นพระโสดาบัน ท่านผู้นี้เป็นพระอรหันต์
ขออนุโมทนาท่านผู้ฟังที่ท่านยังไม่ซาบซึ้งในวิปัสสนาญาณต่างๆ เพราะเหตุว่าเป็นเรื่องที่จะต้องอบรมเจริญด้วยปัญญาของท่านเองจริงๆ เพื่อที่จะให้บรรลุผลอย่างถูกต้องจริงๆ มิฉะนั้นแล้วก็จะเป็นผู้ที่สนใจแต่เรื่องผล โดยที่ไม่ได้พิจารณาเหตุให้ตรงว่า การที่วิปัสสนาญาณแต่ละขั้นจะเกิดขึ้นได้นั้นต้องอาศัยปัญญาที่อบรมเจริญขึ้นอย่างไร
ธรรมในชีวิตประจำวันเป็นเครื่องสอบปัญญาของทุกท่านอย่างดีที่สุด ซึ่งไม่จำเป็นต้องถามบุคคลอื่นเลย ในขณะที่หลงลืมสติ ในขณะที่มีสติ ในขณะที่ศึกษา ในขณะที่พิจารณาและปัญญาค่อยๆ เพิ่มขึ้น
คงจะมีท่านผู้ฟังหลายท่านที่อาจจะได้ยินมิตรสหายบางท่านบอกว่า เบื่อโลก ซึ่งเมื่อกี้นี้ก็ได้ยินท่านผู้ฟังท่านหนึ่ง ท่านปรารภว่า มีเพื่อนของท่านคนหนึ่งเบื่อโลก แต่ว่าท่านผู้นั้นที่จะเบื่อโลก รู้จักหรือยังว่า โลกคืออะไรที่จะเบื่อ ถ้ายังไม่รู้จักว่า โลกคืออะไร ขณะนั้นที่กล่าวว่าเบื่อโลก ก็เป็นแต่เพียงไม่ชอบความรู้สึกที่เป็นทุกข์ เป็นโทมนัสเวทนาต่างๆ เท่านั้นเอง แต่ถ้าโทมนัสเวทนานั้นหมดสิ้นไป ท่านผู้นั้นก็คงจะไม่กล่าวว่าเบื่อโลก เพราะเหตุว่ายังไม่ได้รู้จักโลกพอที่จะกล่าวว่า หน่าย หรือคลายความติดความพอใจในโลก
เพราะฉะนั้นผู้ที่เบื่อโลก โดยที่ไม่รู้จักโลก ในขณะนั้นก็เป็นอกุศลจิต ไม่ใช่ปัญญา เพราะว่าเบื่อทุกข์ โดยที่ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นทุกข์ แต่ว่าเบื่อโทมนัสเวทนาบ้าง เบื่อทุกขเวทนาบ้าง
มีท่านผู้ฟังที่เริ่มจะรู้สึกเบื่อๆ บ้างไหม หรือยัง ยังไม่แม้แต่คิดที่จะเบื่ออะไรสักอย่างเดียว ซึ่งตามความเป็นจริงตั้งแต่เกิดมาจนถึงเดี๋ยวนี้ถ้าพิจารณาจริงๆ แล้ว ถึงแม้ว่ายังไม่ใช่วิปัสสนาญาณที่เป็นนิพพิทาญาณ แต่ถ้าจะพิจารณาไตร่ตรองถึงความยาก ความลำบากของการที่ชีวิตที่เกิดมาแล้วจะต้องดำเนินไป ก็จะเห็นว่าเป็นสภาพที่น่าจะหน่าย น่าจะคลายแม้เพียงในขั้นคิด ยังไม่ถึงขั้นประจักษ์แจ้งด้วยวิปัสสนาญาณ
แต่ว่าถ้าขณะใดที่ไม่ใช่วิปัสสนาญาณ ความรู้สึกเบื่อในขณะนั้น ถ้าสติเกิดระลึกรู้ก็จะเห็นสภาพของโทมนัสเวทนา หรืออกุศลจิต ซึ่งต่างกับขณะที่เป็นกุศลจิต ซึ่งเบื่อโดยที่ไม่ใช่เฉพาะในความรู้สึกที่เป็นทุกข์หรือโทมนัสเท่านั้น แต่ต้องในขณะที่ไม่ใช่ทุกข์โทมนัส ก็ยังพิจารณาแล้วก็พอจะเห็นความลำบาก ความทุกข์ยากของการที่ชีวิตจะต้องดำเนินไป
บางท่านเบื่อที่มีร่างกายอ่อนแอ ขี้โรค หรือพิการ ไม่สมประกอบ คนที่มีร่างกายแข็งแรงสดชื่น กระปรี้กระเปร่า สนุกสนาน ร่าเริง สมประกอบ กับคนที่ร่างกายอ่อนแอ ขี้โรค พิการ ไม่สมประกอบ นี่ก็เป็นความต่างกัน แต่ว่าจิตใจของทั้ง ๒ ท่าน ก็แล้วแต่ว่าจะประกอบด้วยกุศล หรืออกุศล หรือปัญญาที่จะพิจารณาสภาพธรรมในขณะนั้น
ในขณะที่ป่วยไข้ หรือว่ามีโรคภัยร้ายแรง ในขณะนั้นเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล เบื่อแบบไหน เบื่อโลก หรือเบื่อลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่พ้นไปจากโลกเมื่อมีการเกิดขึ้น
นี่ก็เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ ที่จะพิจารณาได้ตั้งแต่เกิดจนตาย เพราะว่าชีวิตก็จะต้องเปลี่ยนแปลงไปตั้งแต่เด็ก จนกระทั่งร่างกายเติบโตแข็งแรง จนกระทั่งถึงวัยชราที่ไม่แข็งแรงเหมือนเดิม ความจำหรือกำลังเรี่ยวแรงก็ถดถอย ปวดเมื่อย อวัยวะน้อยใหญ่ย่อหย่อน อินทรีย์วิกลวิการ ฟันหัก เนื้อหนังเหี่ยวย่น ตามัว รูปร่างหน้าตาก็เปลี่ยนไป อาจจะไม่เบื่อสำหรับบางท่าน หรือถ้าจะเบื่อก็ด้วยอกุศลจิต
ข้อความในอรรถกถา ทุกขสัจจนิทเทส ปฏิสัมภิทามรรค จึงกล่าวว่า
อันที่จริง ทุกข์นี้มีอยู่ในโลกตลอดกาล
ผู้ที่มีปัญญาจะไม่เว้นเลยที่จะรู้ว่า ทุกขณะเป็นทุกข์
ประโยชน์อะไรที่จะต้องพูดมากไปในกาลไหนๆ มิใช่หรือ
คือไม่จำเป็นต้องจารนัย เป็นทุกข์ไปเสียทุกสิ่งทุกอย่าง ทุกประการทีเดียว ไม่ว่าในเรื่องการบริโภค การที่บริโภคแล้วก็เป็นทุกข์อีก ปวดท้อง เจ็บไข้ได้ป่วย ถ้าจะพิจารณาจริงๆ แล้ว
ประโยชน์อะไรที่จะต้องพูดมากไปในกาลไหนๆ มิใช่หรือ ทุกข์เว้นจากชาติเสียแล้ว ก็มีไม่ได้ เพราะพระผู้มีพระภาคทรงแสวงหาคุณยิ่งใหญ่ตรัสถึงชาตินี้ว่าเป็นทุกข์ก่อนทุกข์อื่นทั้งหมด ดังนี้
ถ้าจะรู้ที่มาของทุกข์ ก็จะต้องรู้ว่า ชาติ คือ ความเกิดขึ้นนั่นเองนำมาซึ่งทุกข์ทั้งปวง ถ้าเพียงแต่ไม่มีชาติ ความเกิด ทุกข์ทั้งหลายก็ย่อมจะมีไม่ได้
เพราะฉะนั้นการเกิดของอุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ โดยสภาพของขันธ์ ๕ นั้นก็เป็นทุกข์อยู่แล้ว แต่ก็ยังมีการยึดถือขันธ์ ๕ ซึ่งเป็นทุกข์ ด้วยความเป็นของเรา หรือด้วยความเป็นตัวตนอีก เพราะฉะนั้นก็ลองคิดดูว่า ความทุกข์นั้นจะเพิ่มสักแค่ไหน ทั้งๆ ที่ขันธ์ ๕ ก็ไม่เที่ยง ก็ยังยึดถือสภาพที่เกิดดับไม่เที่ยงนั้นว่าเป็นของเราด้วย
ทุกข์ทั้งหลายถ้าไม่มีชาติ คือ ความเกิดขึ้น ทุกข์ทั้งหลายก็มีไม่ได้เลย การเกิดของอุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ ดุจไฟกำจัดเชื้อไฟ ดุจหญ้าและเถาวัลย์เกิดบนแผ่นดิน ดุจดอกไม้ ผลไม้ และใบไม้อ่อนเกิดในต้นไม้
นี่เป็นคำอุปมาที่น่าคิด ลักษณะของทุกข์อยู่ที่ไหน ทุกข์อยู่ที่ขันธ์ ๕ ดุจไฟกำจัดเชื้อไฟ
ไฟไม่ได้กำจัดอย่างอื่นเลย นอกจากเชื้อไฟ เพราะฉะนั้นทุกข์ที่เกิดก็เพราะขันธ์ ๕ เกิด ไม่ใช่นอกไปจากขันธ์ ๕ เลย เมื่อมีขันธ์ ๕ ก็มีทุกข์ เพราะฉะนั้นก็อุปมาเหมือนไฟกำจัดเชื้อไฟ
หรือดุจหญ้าและเถาวัลย์เกิดบนแผ่นดิน ถ้าไม่มีแผ่นดิน หญ้าและเถาวัลย์ก็เกิดไม่ได้ ดุจดอกไม้ ผลไม้ และใบไม้อ่อนเกิดในต้นไม้
ถ้าจะพิจารณาพระธรรม ก็จะค่อยๆ เห็นความจริงแม้แต่ลักษณะที่เป็นทุกข์ของขันธ์ ๕
ข้อความต่อไปแสดงว่า
ชาติเป็นทุกข์ในเบื้องต้นของอุปาทานขันธ์ ชราเป็นทุกข์ในท่ามกลาง มรณะเป็นทุกข์ในที่สุด โสกะ เป็นทุกข์ที่ถูกเผาผลาญ เพราะเหตุว่าเมื่อความโศกเกิดขึ้นนั้นย่อมดุจไฟเผาผลาญ หรือดุจถูกแทงด้วยลูกศรอาบยาพิษ
คนที่กำลังโศกจะรู้จักดี และในชีวิตทุกคนต้องโศก แต่เวลาที่ความโศกยังไม่เกิด หรือว่าความโศกผ่านพ้นไปแล้ว ก็ค่อยๆ คลาย แต่ว่าในขณะที่กำลังโศก ลักษณะของความโศกดุจไฟเผาผลาญ ขณะนั้นไม่มีความสุขเลย หรือดุจถูกแทงด้วยลูกศรอาบยาพิษ ใครก็ได้ที่กำลังโศกเศร้า ลองถามดู จะมีความรู้สึกอย่างนี้จริงๆ
ปริเทวะเป็นทุกข์ด้วยการพร่ำเพ้อ เพราะทนทุกข์นั้นไม่ได้
บางคนโศก แต่ไม่ได้แสดงออก แต่ว่าบางคนโศก ก็อดที่จะกล่าวคำรำพันไม่ได้ แล้วแต่จะพร่ำเพ้อมากน้อยเพียงใด ก็ตามกำลังของความทุกข์นั้น
ทุกข เป็นทุกข์ด้วยความเจ็บป่วยของร่างกาย เพราะสัมผัสอันไม่น่าปรารถนา กล่าวคือธาตุกำเริบ ย่อมบีบคั้นกาย และให้เกิดทุกข์ใจยิ่งขึ้น
เวลาที่ธาตุกำเริบ คือ ธาตุทั้ง ๔ ไม่สม่ำเสมอ ทำให้เกิดโรคภัยต่างๆ เป็นทุกขเวทนาทางกาย ใจก็เป็นทุกข์ไปด้วย ยากนักยากหนาที่สติจะระลึกรู้ลักษณะของสภาพที่เป็นทุกขเวทนา ที่ไม่ใช่ตัวตนในขณะนั้น ต้องเป็นผู้มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐานจริงๆ ไม่ใช่ชีวิตประจำวันไม่เจริญสติปัฏฐาน แล้วก็คอยว่า เวลาเจ็บป่วยไข้ขึ้นก็จะเจริญสติปัฏฐาน เพื่อที่จะได้ไม่เกิดทุกข์กาย นั่นเป็นสิ่งที่หวังไม่ได้เลย
โทมนัส เป็นทุกข์ ด้วยการรบกวนทางใจ เพราะเกิดปฏิฆะ ความขึ้งเครียดในโทมนัส ของผู้ถูกโทมนัสนั้นเบียดเบียน
ความทุกข์ใจเป็นชื่อของความลำบากใจ มีลักษณะบีบคั้นทางใจ และนำมาซึ่งความทุกข์ทางกายด้วย
คนที่ทุกข์ใจมากๆ ก็จะมีทุกข์กายติดตามมา นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย แล้วก็คิดมาก ปวดศีรษะ โรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ก็จะติดตามมา รับประทานอาหารไม่ได้ ก็จะทำให้เพิ่มความทุกข์นั้นด้วย ไม่ใช่แต่เฉพาะทุกข์ใจอย่างเดียว ทุกข์กายก็จะติดตามมาด้วย
อุปายาสะ เป็นความทุกข์ใจที่มีกำลัง
ข้อความในอรรถกถาอุปมาลักษณะของความทุกข์ คือ โสกะ ปริเทวะ อุปายาส มีข้อความว่า
โสกะ พึงเห็นเหมือนหุงข้าวด้วยไฟอ่อน น้ำเดือดอยู่ภายในภาชนะ
ทุกคนก็หุงข้าวกันบ่อยๆ ประจำวัน ก็ลองดูเวลาที่ไฟอ่อน และมีน้ำเดือดอยู่ในภาชนะนั้น นี่เป็นลักษณะของโสกะ ซึ่งเป็นทุกข์อยู่ภายใจ
พึงเห็นปริเทวะ เหมือนน้ำหุงข้าวด้วยไฟแรง น้ำข้าวก็เดือดล้นออกนอกภาชนะ พึงเห็นอุปายาสเหมือนน้ำหุงข้าวส่วนที่เหลือจากที่ล้นออก ไม่เพียงพอที่จะออกได้ น้ำข้าวที่หุงก็จะหมดสิ้นไปภายในภาชนะนั่นเอง
ค่อยๆ แห้งลง นั่นคือลักษณะของอุปายาส
การประสบกับสัตว์และสังขารอันไม่เป็นที่รัก ก็เป็นทุกข์ การพลัดพรากจากสังขารอันเป็นที่รัก ก็เป็นทุกข์ การไม่ได้สมความปรารถนา ก็เป็นทุกข์
ทุกคนก็ยังไม่หน่าย ต่อให้พรรณนาทุกข์สักเท่าไรๆ ก็ตาม ถ้าปัญญายังไม่ถึงนิพพิทาญาณจริงๆ ไม่มีทางเลยที่จะหน่าย แม้ว่าจะฟังเรื่องทุกข์ แม้ว่าทุกข์จะเกิด แต่ทุกนั้นก็ดับ ไม่ใช่ว่าทุกข์นั้นจะตั้งอยู่ยั่งยืน
เพราะฉะนั้นสภาพธรรมที่เกิดต่อจากนั้น ก็ยังเป็นที่ชื่นใจ หรือเป็นที่น่ายินดีได้ ถ้าปัญญายังไม่เจริญขึ้นจริงๆ
เพราะฉะนั้นในชีวิตประจำวันเป็นอย่างไร วิปัสสนาญาณก็ไม่ใช่ปัญญาที่เห็นอย่างอื่น แต่เห็นสภาพธรรมที่กำลังเป็นทุกข์ต่างๆ เหล่านี้ แต่ว่าไม่ใช่ในลักษณะที่เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน แต่ว่าสามารถจะรู้ในลักษณะที่เป็นนามธรรม หรือเป็นรูปธรรมที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ถ้าสติระลึกบ่อยๆ เนืองๆ วันหนึ่งก็สามารถที่จะประจักษ์ได้จริงๆ
เพราะฉะนั้นก็ขอกล่าวถึงเรื่องของนิพพิทาญาณเพียงย่อๆ
- โสภณธรรม ครั้งที่ 051
- โสภณธรรม ครั้งที่ 052
- โสภณธรรม ครั้งที่ 053
- โสภณธรรม ครั้งที่ 054
- โสภณธรรม ครั้งที่ 055
- โสภณธรรม ครั้งที่ 056
- โสภณธรรม ครั้งที่ 057
- โสภณธรรม ครั้งที่ 058
- โสภณธรรม ครั้งที่ 059
- โสภณธรรม ครั้งที่ 060
- โสภณธรรม ครั้งที่ 061
- โสภณธรรม ครั้งที่ 062
- โสภณธรรม ครั้งที่ 063
- โสภณธรรม ครั้งที่ 064
- โสภณธรรม ครั้งที่ 065
- โสภณธรรม ครั้งที่ 066
- โสภณธรรม ครั้งที่ 067
- โสภณธรรม ครั้งที่ 068
- โสภณธรรม ครั้งที่ 069
- โสภณธรรม ครั้งที่ 070
- โสภณธรรม ครั้งที่ 071
- โสภณธรรม ครั้งที่ 072
- โสภณธรรม ครั้งที่ 073
- โสภณธรรม ครั้งที่ 074
- โสภณธรรม ครั้งที่ 075
- โสภณธรรม ครั้งที่ 076
- โสภณธรรม ครั้งที่ 077
- โสภณธรรม ครั้งที่ 078
- โสภณธรรม ครั้งที่ 079
- โสภณธรรม ครั้งที่ 080
- โสภณธรรม ครั้งที่ 081
- โสภณธรรม ครั้งที่ 082
- โสภณธรรม ครั้งที่ 083
- โสภณธรรม ครั้งที่ 084
- โสภณธรรม ครั้งที่ 085
- โสภณธรรม ครั้งที่ 086
- โสภณธรรม ครั้งที่ 087
- โสภณธรรม ครั้งที่ 088
- โสภณธรรม ครั้งที่ 089
- โสภณธรรม ครั้งที่ 090
- โสภณธรรม ครั้งที่ 091
- โสภณธรรม ครั้งที่ 092
- โสภณธรรม ครั้งที่ 093
- โสภณธรรม ครั้งที่ 094
- โสภณธรรม ครั้งที่ 095
- โสภณธรรม ครั้งที่ 096
- โสภณธรรม ครั้งที่ 097
- โสภณธรรม ครั้งที่ 098
- โสภณธรรม ครั้งที่ 099
- โสภณธรรม ครั้งที่ 100