โสภณธรรม ครั้งที่ 092
ตอนที่ ๙๒
ถ้าเป็นอกุศลวิตกที่เป็นการสร้างสรรค์สิ่งที่เป็นประโยชน์สำหรับการดำเนินชีวิต ไม่ใช่การทำลาย ก็มีโทษน้อย เช่นอกุศลวิตกในการศึกษาค้นคว้าวิชาการต่างๆ ทางโลก ขณะนั้นไม่ใช่กุศล แต่ว่าอกุศลวิตกอย่างนั้น ไม่เป็นโทษมาก
เพราะฉะนั้นข้อที่น่าคิด น่าพิจารณา ที่จะรู้สึกตัวให้มีสติเกิดขึ้น ก็คือเมื่ออกุศลวิตกที่เป็นขั้นทำลายตัวเองและบุคคลอื่น ซึ่งเป็นอกุศลกรรมเกิดขึ้น มีไหมในวันหนึ่งๆ หรือว่าทำไปโดยไม่คิดเลย
นี่เป็นเรื่องแต่ละบุคคลซึ่งพระธรรมเกื้อกูลมากทีเดียวสำหรับผู้ที่เป็นสาวก คือ ฟังแล้วพิจารณา แล้วน้อมประพฤติปฏิบัติตามด้วย เพราะเหตุว่าถ้าผู้ใดฟังแล้วก็จงใจที่จะไม่ประพฤติปฏิบัติตาม หรือว่าจงใจที่จะหลีกเลี่ยง ผู้นั้นไม่ใช่สาวก คือ ไม่ใช่ผู้ที่ฟังแล้วน้อมประพฤติปฏิบัติตาม
เพราะฉะนั้นก็จะต้องเป็นผู้ที่เที่ยงตรง ในการที่จะรู้ลักษณะของอกุศลวิตกในวันหนึ่งๆ เกิดขึ้น โดยเฉพาะอกุศลวิตกของตนเอง เพราะว่าส่วนใหญ่แล้วมักจะคิดถึงอกุศลของคนอื่น แต่ว่าตามความเป็นจริงแล้วเมื่อไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตนเลย ก็เป็นเพียงชั่วขณะจิตที่เกิดขึ้น แล้วก็คิดเท่านั้นเอง หาความเป็นสัตว์ เป็นบุคคลในสิ่งที่กำลังคิด หรือว่าขณะจิตที่คิดไม่ได้เลย เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แล้วก็ดับไป
วิตกในวันหนึ่งๆ ซึ่งเกิดไม่หยุดเลย นอกจากขณะที่เป็นจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ ถ้าใครเขาโกรธคนอื่นและเราจะพลอยร่วมโกรธไปด้วย ถูกหรือผิด ควรทำอย่างไร ควรแสดงโทษของความหวั่นไหวของอกุศลจิตของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ขณะโกรธ ขณะนั้นหวั่นไหวไปด้วยเรื่องที่ได้ยิน ไปด้วยสิ่งที่ปรากฏทางตา หวั่นไหวไปตามความคิดนึก เพราะฉะนั้นควรที่จะเห็นโทษของอกุศลที่พระผู้มีพระภาคตรัสกับท่านพระอานนท์ในมหาสุญญสูตรซึ่งได้กล่าวถึงแล้ว ก็คงจะเป็นประโยชน์ถ้าจะระลึกถึงบ่อยๆ ที่ว่า
พระผู้มีพระภาคตรัสกับท่านพระอานนท์ว่า
เธออย่าได้ช่วยเหลือในฐานะที่ไม่ควรช่วยเหลือ
และวันหนึ่งๆ ลองคิดดูว่า ถ้าคนอื่นเล่าเรื่องที่น่าโกรธเคือง หรือความประพฤติที่ไม่ดีของบุคคลอื่น จะช่วยให้เขาเกิดโกรธมากๆ โกรธเยอะๆ ถูกหรือผิด เพราะเหตุว่าถ้าเป็นอย่างนั้นจริง ลืมคำที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เธออย่าได้ช่วยเหลือในฐานะที่ไม่ควรช่วยเหลือ คือไม่ควรที่จะช่วยเหลือให้ใครโกรธกันยิ่งขึ้น แต่ว่าควรที่จะชี้ให้เห็นโทษ และในขณะนั้นเองก็ไม่ใช่ร่วมโกรธเคืองไปด้วย แต่ว่าจะต้องเป็นผู้มีเมตตาจริงๆ
เพราะฉะนั้นถ้ามีคนที่มีความประพฤติไม่ดี และคนอื่นก็อยากจะให้ท่านพลอยโกรธไปด้วย เป็นสิ่งที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง เพราะเหตุว่าควรที่จะระลึกถึงพระกรุณาคุณของพระผู้มีพระภาคต่อท่านพระเทวทัต ท่านพระราหุล หรือช้างธนปาล มีความเมตตาเสมอกันไม่ว่ากับผู้ที่เป็นคนดี หรือผู้ที่มีความประพฤติที่ไม่ดี เพราะเหตุว่าแต่ละคนมีกิจที่จะต้องรักษาจิตของตนเอง
ถ้ายังไม่เคยเห็นอกุศลวิตกของท่านเอง ก็ลองพิจารณาจริงๆ เวลาที่มีเหตุการณ์แต่ละอย่างเกิดขึ้นว่า จิตของท่านในขณะนั้นเป็นอย่างไร เป็นผู้ที่น้อมประพฤติพรหมวิหารในชีวิตประจำวัน คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา หรือว่าพลอยเป็นไปด้วยเมื่อคนอื่นอยากจะให้ท่านพลอยโกรธเคืองไปด้วย
จะเห็นได้ว่า ขณะที่เป็นอกุศลวิตก ไม่มีทั้งเมตตา กรุณา มุทิตา แม้อุเบกขา แต่เวลาที่กุศลจิตเกิด คิดตรงกันข้าม คือ เมื่อเมตตาแล้วก็คิดที่จะสงเคราะห์ช่วยเหลือ เพราะฉะนั้นก็ย่อมนำมาซึ่งกุศลต่างๆ เป็นอันมากทีเดียว ถ้าเป็นทางฝ่ายอกุศลก็ตรงกันข้าม คือ ย่อมนำมาซึ่งความคิดที่จะเบียดเบียน และลองคิดดูว่า ความคิดที่จะเบียดเบียนตามหนังสือพิมพ์ที่อ่านมากมายสักแค่ไหน วิจิตรสักแค่ไหน สามารถที่จะเบียดเบียนกันได้สักแค่ไหน และสำหรับแต่ละบุคคลในแต่ละภพแต่ละชาติถ้ายังไม่สามารถที่จะดับกิเลสได้ ก็ไม่มีใครรู้ว่าวันหนึ่งวันใดจะกระทำกรรมอย่างนั้น
ลองพิจารณาอกุศลวิตกซึ่งเกิดขึ้นในวันหนึ่งๆ เกิดกับโลภะ คิดเป็นเรื่องของโลภะทั้งนั้น เกิดกับโทสะ คิดเป็นเรื่องของโทสะทั้งนั้น เกิดกับมิจฉาทิฏฐิ ก็คิดปรุงแต่งไปในเรื่องของความเห็นผิดทั้งนั้น เกิดกับมานะ ก็คิดสำคัญตนต่างๆ นานา มีความถือตนหรือความมัวเมาในลาภ ในยศ ในสรรเสริญ หรือว่าเกิดกับอิสสา เกิดกับมัจฉริยะ ก็ย่อมเป็นไปตามสภาพธรรมนั้นๆ ซึ่งอกุศลวิตกเกิดร่วมด้วย
นิภัทร ความคิดใคร่อยากจะพ้นทุกข์ เป็นแต่ความคิดอยากจะพ้นทุกข์ อย่างนี้ก็เป็นอกุศลจิต
ท่านอาจารย์ ไม่เกิดปัญญาเลย เพราะว่าทุกคนมีทุกข์ แล้วทุกคนก็ไม่ชอบทุกข์ ทุกคนก็ไม่อยากจะมีทุกข์ เวลาที่เป็นสุข ก็ไม่เคยคิดที่จะพ้นจากสุขด้วย ใช่ไหม
นิภัทร ทีนี้ มุญจิตุกัมยตาญาณ ญาณนี้ก็ประจักษ์จริงๆ เห็นว่าสังขารเป็นทุกข์จริงๆ ถึงอยากจะพ้น ถ้าเป็นญาณอย่างนี้ถึงจะไม่เป็นอกุศล
ท่านอาจารย์ แน่นอน เพราะเหตุว่าเป็นปัญญาที่ถึงความสมบูรณ์ หลังจากที่หน่าย เพราะเห็นโทษของการเกิดดับของนามธรรมและรูปธรรม และเมื่อปัญญาอบรมเจริญต่อไป ความหน่ายก็จะเพิ่มขึ้นจนถึงระดับขั้นที่เป็นการใคร่ที่จะพ้นด้วยปัญญา
นิภัทร แต่ถ้าคิดเบื่อหน่าย ก็เป็นอกุศล
ท่านอาจารย์ ต้องเป็นอกุศล เพราะเหตุว่าปัญญาไม่เกิด
นิภัทร ทีนี้ถ้าเราคิดอยากจะถึงพระนิพพาน จึงมาศึกษาเล่าเรียนพระธรรม อยากให้มีความรู้ความเข้าใจเพื่อจะเป็นปัจจัยให้บรรลุพระนิพพาน จะเป็นอกุศลวิตกหรือเปล่า
ท่านอาจารย์ ถ้าเข้าใจว่านิพพาน คือ ธรรมที่ดับกิเลส แล้วก็จะต้องอบรมเจริญปัญญาจนกระทั่งประจักษ์แจ้ง และไม่ใช่เพียงแต่อยาก แต่ว่าศึกษาข้อปฏิบัติที่ถูก และก็อบรมเจริญข้อปฏิบัติที่ถูกด้วย แม้จะไม่กล่าวออกมาเป็นคำว่า อยากจะบรรลุถึงนิพพาน หรือแม้แต่ไม่ต้องคิด แต่ว่าขณะใดที่สติปัฏฐานเกิด ขณะนั้นก็แสดงถึงความตั้งใจมั่นที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมจนกว่าจะถึง
นิภัทร เพราะเหตุว่าก็ขึ้นอยู่กับความเข้าใจของเราที่ศึกษาด้วยว่า มีความเข้าใจในพระธรรมแค่ไหนที่จะเป็นปัจจัยให้ถึงพระนิพพาน
ท่านอาจารย์ ถูกต้อง
นิภัทร และอีกอย่างหนึ่ง เวลาเราทำบุญทำกุศลแล้ว สวดมนต์ไหว้พระ หรือทำบุญให้ทาน ก็ปรารถนาอยากจะให้ถึงพระนิพพาน ขอให้เป็นปัจจัยให้สิ้นกิเลสอาสวะ จะเป็นอกุศลวิตกด้วยหรือเปล่า
ท่านอาจารย์ ขณะนั้นสติปัฏฐานเกิดแล้วก็ถูกต้อง ระลึกรู้ลักษณะของจิตที่กำลังคิดในขณะนั้นว่า เป็นแต่เพียงสภาพคิดซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แทนที่จะอยากอยู่เสมอ
อดิศักดิ์ เมื่อสักครู่อาจารย์พูดถึงอกุศลวิตกที่มีโทษน้อย กับอกุศลวิตกที่มีโทษมาก แล้วอาจารย์ก็ถามว่า ระลึกถึงอกุศลเหล่านั้นบ้างไหม ผมไม่ค่อยได้ระลึก เพราะส่วนมากเป็นการหลงลืมสติมากกว่า ทีนี้ผมอยากถามว่า เหตุปัจจัยที่จะทำให้การระลึกถึงอกุศลวิตกก็ดี หรือกุศลวิตกก็ดี อกุศลวิตกที่มีโทษมาก จะระลึกได้มากกว่าอกุศลวิตกที่มีโทษน้อยไหม
ท่านอาจารย์ แล้วแต่บุคคล แล้วแต่ขณะจิต ไม่มีกฎเกณฑ์เลย
อดิศักดิ์ อย่างอกุศลวิตกที่มีโทษน้อย ที่อาจารย์บอก คิดไป เพลินไปในการทำงานก็ดี หรือในการฟังเพลงก็ดี เป็นอกุศลวิตกที่มีโทษน้อย ก็มองไม่ค่อยเห็น ไม่เหมือนอย่างอกุศลวิตกที่มีโทษมาก อาจจะไปโดนทำร้าย รู้สึกว่าเป็นอกุศลวิตกที่มีโทษมาก เพราะความโกรธจะเกิดขึ้นแผดเผาจิตใจขึ้นมาทันที ผมว่าจะมีเหตุปัจจัยมากกว่าอกุศลวิตกที่มีโทษน้อย
ท่านอาจารย์ ขณะที่ถูกอย่างนั้นแล้วจิตเป็นอย่างไร โกรธ ก็ระลึกได้อย่างไร ขณะที่ระลึกแล้วก็ควรจะเป็นกุศลใช่ไหม คือไม่เกิดความโกรธ
เพราะฉะนั้นธรรมก็เป็นเรื่องที่ละเอียดจริงๆ มีสภาพธรรมในวันหนึ่งๆ ที่จะให้รู้ชัดได้ แต่ว่าต้องเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน มีปกติฟังพระธรรม พิจารณาพระธรรม ใคร่ครวญพระธรรม และเห็นประโยชน์ของพระธรรมจริงๆ เพราะพระธรรมทั้งหมดเกื้อกูลให้สาวก คือ ผู้ฟังได้ประโยชน์ คือ ละคลายอกุศล
เพราะฉะนั้นทุกคนมีกิจที่จะต้องกระทำ อยู่ในโลกของตัวเอง คือ ละคลายอกุศล ไม่ใช่ว่าจะต้องพลอยเป็นไปตามบุคคลอื่นที่ต้องการจะให้ท่านเป็น ถ้าใครอยากจะโกรธ ก็ช่วยไม่ได้ ใช่ไหม จะไปบอกให้คนโน้นว่าอย่าโกรธ ใครจะบอกได้ ใครจะทำได้ เพราะฉะนั้นเฉพาะตัวจริงๆ เมื่อฟังพระธรรมแล้วจะพิจารณาอย่างไร ใครอยากจะโกรธก็โกรธไป หรือใครอยากจะเจริญเมตตา ก็เจริญไป อยู่ที่ว่าจะคิดอย่างฉลาด หรือจะคิดอย่างเขลา อย่างไม่ฉลาด อย่างโง่ นั่นก็เป็นเรื่องของแต่ละบุคคลจริงๆ
เพราะฉะนั้นวันหนึ่งๆ สามารถที่จะรู้สึกตัวได้เมื่อเทียบกับเรื่องที่ได้ยินได้ฟังว่า เมื่อได้ฟังเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเพื่อให้รัก หรือเพื่อให้ชังก็ตาม จิตใจในขณะนั้นหวั่นไหว หรือว่าเป็นกุศล
ทุกท่านคงคุ้นเคยต่อการบูชาพระรัตนตรัยด้วยดอกไม้ธูปเทียน แต่ก็ควรที่จะพิจารณาถึงพระพุทธประสงค์ในการทรงแสดงธรรม เพราะฉะนั้นการบูชาพระรัตนตรัยด้วยการฟังพระธรรม น้อมประพฤติปฏิบัติตาม เห็นโทษของอกุศล เห็นประโยชน์ของกุศล และเจริญกุศลยิ่งขึ้น จะมีประโยชน์กว่าการเพียงบูชาด้วยอามิสทั้งหลาย
ข้อความในอรรถกถาสังยุตตนิกาย สคาถวรรค โลกสูตร ข้อ ๑๙๖ มีข้อความว่า
เมื่ออายตนะภายใน ๖ เกิดขึ้นแล้ว อายตนะภายนอกนี้ก็ชื่อว่า เกิดขึ้นแล้ว โลกย่อมทำความชมเชยในอายตนะภายนอก ๖ โลกยึดถืออายตนะภายใน ๖ โลกย่อมเดือดร้อนในเพราะอายตนะภายนอก ๖ ดังนี้
เป็นข้อความที่สั้น แต่ก็ครอบคลุมทุกขณะ ทุกชีวิตในโลก รวมทั้งหมดทุกจักรวาล ถ้าจะพิจารณาพระธรรม สามารถที่จะเข้าใจและเห็นจริงในขณะนี้เอง ซึ่งทุกคนกำลังมีอายตนะภายใน ๖ คือ ตา ๑ หู ๑ จมูก ๑ ลิ้น ๑ กาย ๑ ใจ ๑
เมื่ออายตนะภายใน ๖ เกิดขึ้นแล้ว อายตนะภายนอกนี้ก็ชื่อว่า เกิดขึ้นแล้ว
ขณะที่เห็นเป็นจิต จะไม่มีสิ่งที่ถูกเห็นไม่ได้เลย ต้องเห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดทางตา ขณะที่ได้ยินเสียง สภาพที่ได้ยินเป็นจิตเกิดขึ้นแล้ว จะไม่มีอายตนะภายนอก คือ เสียงไม่ได้ เพราะฉะนั้นในขณะที่ได้ยิน อายตนะภายใน เกิดขึ้นแล้ว อายตนะภายนอกนี้ก็ชื่อว่า เกิดขึ้นแล้ว
เพราะฉะนั้นข้อความต่อไป ขอให้พิจารณาว่าเป็นความจริงเพียงไรที่ว่า
โลกยึดถืออายตนะภายใน ๖
เป็นเราในขณะที่เห็น เป็นเราในขณะที่ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส กระทบสัมผัส คิดนึก
ข้อความต่อไป คือ
โลกย่อมเดือดร้อนในเพราะอายตนะภายนอก ๖ ดังนี้
สิ่งที่ผ่านมาให้เห็น ทำให้จิตใจหวั่นไหวเดือดร้อนอยู่เสมอ ด้วยโลภะ หรือโทสะ โมหะ และบริวารของอกุศลทั้งหลาย เช่น อิสสา มัจฉริยะ มานะ ความสำคัญตนต่างๆ เพราะฉะนั้นก็ให้ทราบว่า กำลังเดือดร้อนหรือเปล่า เวลาที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส
เพราะฉะนั้นถ้าไม่ใช่ปัญญาจริงๆ แล้วไม่พิจารณาจริงๆ ก็ไม่มีทางที่จะเข้าใจพระธรรมที่ทรงแสดงทั้งหมดเป็นความจริง ก็จะต้องอาศัยการฟัง การอ่าน การพิจารณาพระธรรมแม้ว่าจะเป็นข้อความเพียงสั้นๆ แต่ก็สามารถจะพิสูจน์ได้ทุกๆ ขณะ
ขอยกตัวอย่างท่านพระอานนท์ และความละเอียดของวิตกเจตสิกของท่านพระอานนท์ ข้อความในอรรถกถา มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ สุญญตวรรค จูฬสุญญตสูตร ข้อ ๓๓๓
ครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ปราสาทของอุบาสิกาวิสาขามิคารมารดา ในพระวิหารบุพพาราม พระนครสาวัตถี
ท่านพระอานนท์เถระกระทำวัตร คือ กิจที่อุปัฏฐากที่ควรกระทำแด่พระผู้มีพระภาคแล้ว ก็ได้ไปสู่ที่พักกลางวันของท่าน เจริญสุญญตพลสมาบัติมีพระนิพพานเป็นอารมณ์ และออกจากพลสมาบัติตามเวลาที่กำหนด ท่านใคร่ที่จะฟังสุญญตกถาที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้อย่างพิสดารให้แจ่มแจ้ง แต่ท่านก็มีความคิดว่า ท่านเป็นผู้มีธุระมาก ไม่อาจกราบทูลขอให้พระผู้มีพระภาคทรงโปรดตรัสสุญญตกถาแก่ท่าน
นี่คือวิตกเจตสิกของท่านพระอานนท์
ท่านจึงกราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ศากยนิคม ชื่อนครกะ ในสักกชนบท ณ ที่นั้น ข้าพระองค์ได้สดับ ได้รับพระดำรัสนี้เฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคว่า
ดูกรอานนท์ บัดนี้เราอยู่มากด้วยสุญญตวิหารธรรม
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้อนี้ข้าพระองค์ได้สดับดีแล้ว รับมาดีแล้ว ใส่ใจดีแล้ว ทรงจำไว้ดีแล้วหรือ”
ต้องการที่จะได้ฟัง แต่ด้วยความเคารพในพระผู้มีพระภาค ก็เห็นว่าตัวท่านเองเป็นผู้มีธุระมากเพราะฉะนั้นแม้พระผู้มีพระภาคจะได้ทรงแสดงแล้ว ก็ยังจะต้องมาแสดงกับท่านอีก
เพราะฉะนั้นก็เป็นจิตที่ตรึก คิดด้วยความยำเกรงในพระผู้มีพระภาค ซึ่งถึงแม้ว่าจะอยากฟังสุญญตกถา แต่ก็เพียงทูลถามเรื่องที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ศากยนิคม เพื่อแล้วแต่ว่าพระผู้มีพระภาคจะทรงพระกรุณาตรัสประทานยาว สั้น ประการใด
นี่คือความละเอียดของจิตของแต่ละบุคคล ซึ่งก็จะพิจารณาเห็นได้ว่าต่างกัน
ข้อความในอรรถกถามีว่า
ฉะนั้นการที่ผู้ประสงค์จะฟัง ทำเป็นเหมือนคนรู้แล้วถาม ไม่สมควร บางคนแม้ไม่รู้ ก็ทำเป็นเหมือนคนรู้ ท่านพระอานนท์เถระจะกระทำการหลอกลวงได้อย่างไรเล่า ท่านพระอานนท์เถระแสดงความเคารพต่อพระผู้มีพระภาค จึงกราบทูลดังนี้
ไม่ควรที่จะคิดว่าเป็นอุบาย แต่ว่าควรที่จะพิจารณาด้วยความละเอียดจริงๆ ว่า เพราะเหตุใดท่านพระอานนท์จึงได้ทูลอย่างนั้น
เพราะฉะนั้นการฟังพระธรรม จะได้ประโยชน์จากการพิจารณาแม้แต่วิตกเจตสิกของท่านพระอานนท์ ซึ่งก็จะต้องเข้าใจให้ถูกต้องด้วยว่า ไม่ใช่การหลอกลวง หรือว่าไม่ใช่เป็นอกุศลวิตก
พระผู้มีพระภาคทรงมีพระพุทธดำริว่า อานนท์ประสงค์จะสดับสุญญตกถา ก็บางคนสามารถจะสดับ แต่ไม่สามารถที่จะเรียน บางคนสามารถทั้งสดับทั้งเรียน แต่ไม่อาจจะแสดง แต่สำหรับพระอานนท์สามารถทั้งสดับ ทั้งเรียน ทั้งแสดง เราจักกล่าวสุญญตากถาแก่เธอ
ซึ่งข้อความในอรรถกถามีว่า
ท่านพระอานนท์นั้นจำได้ หรือระลึกขึ้นได้เพียงบทเดียว ก็สามารถจะค้นคว้าทรงจำได้ถึง ๖๐,๐๐๐ บท
นี่คือกำลังของวิตกเจตสิก ซึ่งท่านเป็นพหูสูตร เป็นผู้ที่ได้ฟังพระธรรมมาก และสามารถที่จะพิจารณาธรรมโดยละเอียดๆ ๆ ต่อไป ซึ่งก็ย่อมเป็นไปได้ แม้สภาพของวิตกเจตสิกประเภทเดียว ก็วิจิตร ละเอียดมากมายได้ คือ ลองคิดดู สามารถที่จะเป็นกุศลประการต่างๆ ในเรื่องต่างๆ เป็นอกุศลประการต่างๆ ในเรื่องต่างๆ เป็นทานประการต่างๆ วิตกไปในเรื่องของทานประการต่างๆ วิตกไป คือ คิดไปในเรื่องของศีลประการต่างๆ ในเรื่องของสมถภาวนาประการต่างๆ จนถึงปรุงแต่งเป็นสัมมาสังกัปปะในมรรคมีองค์ ๘ และแทงตลอดลักษณะของวิตกเจตสิกโดยสภาพของปัจจัยต่างๆ โดยเป็นอารัมมณปัจจัย อนันตรปัจจัย ไม่ทราบลืมไปหมดหรือยังเรื่องของปัจจัย แต่ให้ทราบว่า ทั้งหมดนี้เพียงวิตกเจตสิกอย่างเดียว ท่านพระอานนท์ก็สามารถที่ทรงจำได้ถึง ๖๐,๐๐๐ บท ซึ่งก็เป็นความจริงได้ ถ้าจะคิดถึงลักษณะของวิตก โดยลักษณะของปัจจัยด้วย เช่น เป็นอารัมมณปัจจัย คำว่า “อารมณ์” คงไม่มีข้อสงสัย อนันตรปัจจัย เป็นสภาพธรรมเมื่อเกิดร่วมกับจิตแล้วดับไป เป็นอนันตรปัจจัยทำให้จิตและเจตสิกขณะต่อไปเกิดขึ้น
ต้องคิดอีกมากมายใช่ไหม เรื่องของการที่จะตรึกพิจารณาสภาพธรรม ยิ่งคิดก็ยิ่งเข้าใจ เพราะฉะนั้นขอทบทวนเพียงชื่อของปัจจัย สำหรับท่านที่ได้ฟังเรื่องของปัจจัยแล้ว ซึ่งเพียงวิตกเจตสิกประเภทเดียว อย่างเดียว ก็สามารถที่จะระลึกตรึกโดยลักษณะที่เป็นอารัมมณปัจจัย อนันตรปัจจัย สมันตรปัจจัย สหชาตปัจจัย อัญญมัญญปัจจัย สหชาตนิสสยปัจจัย อุปนิสสยปัจจัย อาเสวนปัจจัย ปัจฉาชาตปัจจัย วิปากปัจจัย ฌานปัจจัย มรรคปัจจัย สัมปยุตตปัจจัย อัตถิปัจจัย นัตถิปัจจัย วิคตปัจจัย อวิคตปัจจัย
ก็ลองคิดดู ธรรมสำหรับผู้ที่เข้าใจกว้างขวางลึกซึ้งจะสอดคล้อง และก็จะเชื่อมโยงกันมากน้อยแค่ไหน
นอกจากจะคิดโดยความเป็นปัจจัย ก็ยังคิดโดยความเป็นปัจจยุปบัน คือ เป็นผลของปัจจัยอะไรได้บ้าง เป็นปัจจยุปบันธรรมของเหตุปัจจัยได้ เป็นปัจจยุปบันธรรมของอารัมมณปัจจัย อนันตรปัจจัย สมันตรปัจจัย อัญญมัญญปัจจัย สหชาตนิสสยปัจจัย อุปนิสสยปัจจัย อาเสวนปัจจัย สหชาตกัมมปัจจัย วิปากปัจจัย อาหารปัจจัย อินทริยปัจจัยฌานปัจจัย มรรคปัจจัย สัมปยุตตปัจจัย อัตถิปัจจัย นัตถิปัจจัย วิคตปัจจัย อวิคตปัจจัย
เป็นการทบทวนให้ทราว่า สภาพธรรมละเอียดกว้างขวางลึกซึ้ง สามารถจะคิดถึงวิตกเจตสิกโดยภูมิต่างๆ และโดยการเกิดร่วมกับเวทนาต่างๆ โดยลักษณะที่หยาบ โดยลักษณะที่ละเอียด โดยลักษณะที่เลว โดยลักษณะที่ประณีต
เพราะฉะนั้นวันหนึ่งๆ ถ้าวิตกเจตสิกของท่านผู้ใดจะตรึกไปในการพิจารณาให้เข้าใจธรรมยิ่งขึ้น นั่นก็เป็นกุศล ซึ่งจะสะสมไปทุกชาติ เพื่อที่จะเกื้อกูลต่อการที่จะเห็นจริงๆ ว่า สภาพธรรมแต่ละขณะในขณะนี้ ทุกๆ ขณะที่เกิด ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เพราะว่ายิ่งพิจารณาโดยนัยของปัจจัยโดยละเอียด จะรู้ได้เลยว่า ไม่สามารถจะยึดถือสภาพธรรมอย่างหนึ่งอย่างใดว่าเป็นตัวตนได้
ข้อความสังยุตตนิกาย สคาถวรรค อรรถกถาเทวตาสังยุตตวรรณนา นฬวรรคที่ ๑ โอฆตรณสูตร ข้อ ๑ มีข้อความว่า
ก็เทศนาของพระผู้มีพระภาคมี ๒ อย่าง คือ ทรงแสดงโดยนิคคหมุข และอนุคคหมุข
ในบรรดา ๒ อย่างนั้น บุคคลเหล่าใดมีความถือตัวว่าเป็นบัณฑิต ย่อมสำคัญในสิ่งที่ตนยังไม่รู้ว่ารู้แล้ว
ซึ่งข้อความในอรรถกถายกตัวอย่างพราหมณ์ ๕๐๐ คนที่บวชเป็นบรรพชิต เพื่อข่มมานะของพราหมณ์และบรรพชิตเหล่านั้น พระผู้มีพระภาคจึงทรงแสดงธรรมเช่นกับพระสูตรทั้งหลาย มีมูลปริยายสูตรเป็นต้น นี้ชื่อว่า นิคคหมุขเทศนา คือ ข่มบุคคลผู้ควรข่ม
พระดำรัสนี้สมดังที่ตรัสไว้ในมัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ มหาสุญญตสูตร ที่ได้กล่าวถึงแล้ว ที่มีข้อความว่า
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกรอานนท์ เราจักกล่าวข่มบุคคลผู้ควรข่ม เราจักยกย่องบุคคลผู้ควรยกย่อง ภิกษุใดมีธรรมเป็นสาระ ภิกษุนั้นจักดำรงอยู่ ดังนี้
ส่วนชนเหล่าใดเป็นผู้ตรง ใคร่ต่อการศึกษา พระผู้มีพระภาคย่อมทรงแสดงธรรมแก่ชนเหล่านั้น กระทำให้เป็นผู้รู้ได้ง่าย เช่นในสูตรทั้งหลาย มีอากังเขคยยสูตร เป็นต้น ทั้งยังชนเหล่านั้นให้ปลอดโปร่งใจ เช่นในคำว่า
ดูกรติสสะ ผู้ยินดียิ่ง ดูกรติสสะ ผู้ยินดียิ่ง ฯลฯ ด้วยโอวาทอันเรากล่าวแล้ว ด้วยการศึกษาอันเรากล่าวแล้ว ด้วยอนุสาสนีอันเรากล่าวแล้ว ดังนี้ชื่อว่า อนุคคหมุขเทศนา
- โสภณธรรม ครั้งที่ 051
- โสภณธรรม ครั้งที่ 052
- โสภณธรรม ครั้งที่ 053
- โสภณธรรม ครั้งที่ 054
- โสภณธรรม ครั้งที่ 055
- โสภณธรรม ครั้งที่ 056
- โสภณธรรม ครั้งที่ 057
- โสภณธรรม ครั้งที่ 058
- โสภณธรรม ครั้งที่ 059
- โสภณธรรม ครั้งที่ 060
- โสภณธรรม ครั้งที่ 061
- โสภณธรรม ครั้งที่ 062
- โสภณธรรม ครั้งที่ 063
- โสภณธรรม ครั้งที่ 064
- โสภณธรรม ครั้งที่ 065
- โสภณธรรม ครั้งที่ 066
- โสภณธรรม ครั้งที่ 067
- โสภณธรรม ครั้งที่ 068
- โสภณธรรม ครั้งที่ 069
- โสภณธรรม ครั้งที่ 070
- โสภณธรรม ครั้งที่ 071
- โสภณธรรม ครั้งที่ 072
- โสภณธรรม ครั้งที่ 073
- โสภณธรรม ครั้งที่ 074
- โสภณธรรม ครั้งที่ 075
- โสภณธรรม ครั้งที่ 076
- โสภณธรรม ครั้งที่ 077
- โสภณธรรม ครั้งที่ 078
- โสภณธรรม ครั้งที่ 079
- โสภณธรรม ครั้งที่ 080
- โสภณธรรม ครั้งที่ 081
- โสภณธรรม ครั้งที่ 082
- โสภณธรรม ครั้งที่ 083
- โสภณธรรม ครั้งที่ 084
- โสภณธรรม ครั้งที่ 085
- โสภณธรรม ครั้งที่ 086
- โสภณธรรม ครั้งที่ 087
- โสภณธรรม ครั้งที่ 088
- โสภณธรรม ครั้งที่ 089
- โสภณธรรม ครั้งที่ 090
- โสภณธรรม ครั้งที่ 091
- โสภณธรรม ครั้งที่ 092
- โสภณธรรม ครั้งที่ 093
- โสภณธรรม ครั้งที่ 094
- โสภณธรรม ครั้งที่ 095
- โสภณธรรม ครั้งที่ 096
- โสภณธรรม ครั้งที่ 097
- โสภณธรรม ครั้งที่ 098
- โสภณธรรม ครั้งที่ 099
- โสภณธรรม ครั้งที่ 100