โสภณธรรม ครั้งที่ 093


    ตอนที่ ๙๓

    จะเป็นบุคคลไหน จะให้พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมประเภทไหน จะให้แสดงธรรมโดยกล่าวถึงอกุศล แล้วที่ข่ม ไม่ได้ข่มบุคคลหนึ่งบุคคลใดโดยเฉพาะ แต่ว่ากล่าวถึงโทษของอกุศล ให้เห็นชัดจริงๆ แต่ว่าผู้ใดที่มีอกุศลน้อย ก็กล่าวถึงกุศล ซึ่งเป็นการยกย่องให้เห็นประโยชน์ของกุศล

    ข้อความต่อไปในอรรถกถาโอฆตรณสูตร แสดงวิธีแสดงธรรมของพระผู้มีพระภาคมีข้อความว่า

    ลำดับนั้นพระบรมศาสดาจึงตรัสปัญหาทำให้เป็นปัญหาซ่อนเร้น

    คือเข้าใจยาก

    ด้วยพระดำริว่า เทวบุตรนี้ยังไม่ละมานะนี้ ก็ไม่ควรจะเพื่อรับธรรมเทศนา เปรียบเหมือนผ้าที่ยังเศร้าหมอง คือ ยังไม่ได้ซักให้สะอาด ไม่ควรจะย้อมสี เราจะข่มมานะของเทวบุตรนี้ก่อน แล้วจะประกาศเนื้อความนั้นอีกแก่เธอ โดยไม่มีจิตต่ำเช่นนี้ถามอยู่ ดังนี้

    ข้อความที่มาของปัญหานี้มีว่า

    ณ พระวิหารเชตวัน เทวดาองค์หนึ่งได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเมื่อปฐมยามล่วงไปแล้ว กราบทูลถามว่า “พระผู้มีพระภาคทรงข้ามโอฆะได้อย่างไร”

    พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “เราไม่พักอยู่ ไม่เพียรอยู่ ข้ามโอฆะได้แล้ว”

    เทวดากราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้ไม่มีทุกข์ ก็พระองค์ไม่พัก ไม่เพียร ข้ามโอฆะได้อย่างไรเล่า”

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “เมื่อใดเรายังพักอยู่ เมื่อนั้นเรายังจมอยู่โดยแท้ เมื่อใดเราเพียรอยู่ เมื่อนั้นเราลอยอยู่โดยแท้ เราไม่พัก เราไม่เพียร ข้ามโอฆะได้แล้ว อย่างนี้แล”

    ถ้าคิดว่ารู้แล้ว ก็ยากใช่ไหมคะ แต่ถ้ารู้ว่า สิ่งนี้ต้องเป็นสิ่งซึ่งลึกซึ้ง โดยที่พระผู้มีพระภาคไม่ได้ตรัสตอบง่ายๆ ทันที ตรงๆ แต่ว่านี่เป็นวิธีแสดงเทศนาของพระผู้มีพระภาค เพื่อที่จะให้ผู้ที่ไม่รู้ได้รู้สึกตัวว่า ยังไม่รู้ หรือผู้ที่คิดว่ามีปัญญามาก จะได้ทราบว่า ปัญญานั้นเป็นปัญญาที่ถูกต้อง หรือเข้าใจสิ่งที่พระผู้มีพระภาคตรัสอย่างลึกซึ้งได้อย่างไร ด้วยเหตุนี้การตรัสตอบปัญหาของพระผู้มีพระภาคเวลาที่มีผู้ทูลถาม บางครั้งพระผู้มีพระภาคก็ตรัสปัญหาทำให้เป็นปัญหาซ่อนเร้น คือ เข้าใจยาก

    ถูกใจหรือไม่ถูกใจคนฟัง คนฟังมีหลายประเภท อกุศลวิตกก็คอยจะเกิดร่ำไป เดี๋ยวก็เกิด เดี๋ยวก็เกิด เกิดง่ายๆ แต่ถ้าจะพิจารณาถึงประโยชน์จริงๆ ถึงพระมหากรุณาคุณจริงๆ ซึ่งจะทำให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดสามารถที่จะรู้สึกตัวในขณะที่มีอกุศล เป็นประโยชน์อย่างมากทีเดียว

    ถ้าใครมีอกุศล แล้วก็มีผู้อื่นสามารถที่จะทำให้ผู้มีอกุศลนั้นรู้ตัวว่ามีอกุศล เป็นประโยชน์อย่างมากทีเดียว ชอบหรือไม่ชอบ จะยอมรับหรือว่ายังคิดดูก่อน หรือว่าไม่อยากให้รู้ว่า มีอกุศล ต้องเป็นผู้ที่ตรงจริงๆ ซึ่งขอให้ทราบว่าผู้ใดก็ตามที่ยังเข้าใจพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคไม่ถูก ก็อบรมเจริญสติปัฏฐาน เจริญปัญญาไม่ได้ เพราะว่าไม่รู้หนทางว่า พระผู้มีพระภาคทรงปฏิบัติอย่างไร จึงไม่พักและไม่เพียร

    นี่คือมัชฌิมาปฏิปทา

    อดิศักดิ์ หลักการของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นดีแน่ การแสดงธรรมโดยชี้ให้เห็นอกุศลและโทษของอกุศล ให้บุคคลนั้นๆ รู้สึกตัว ผมว่าสำหรับผู้ที่ศึกษาธรรม และเข้าใจธรรมพอสมควร และมีความตรงต่อตัวเอง คงไม่มีปัญหาที่จะยินยอมให้เทศนาอย่างนั้นได้ แต่ทีนี้มาใช้คำว่า “ข่มบุคคลที่ควรข่ม” คำพูดอาจจะรุนแรงไปหน่อย คือ ใช้คำว่า ข่ม เขาไม่ยอมขึ้นมาตั้งแต่ตอนแรก เพราะมานะ ความสำคัญตนมาแล้ว ก็ไม่ยอมฟัง แต่ผมกล่าวพูดได้เต็มปากเลย สำหรับผมถ้าเป็นธรรมเทศนาแล้วก็จี้มาที่จุดใจดำของผมเลย หรือตรงไหนก็แล้วแต่ ผมยอมรับโดยดุษฎี และก็ยอมรับอย่างตรงๆ

    ทีนี้ก็มีเรื่องที่น่าจะพูดในที่นี้เหมือนกัน การแสดงธรรมอย่างที่อาจารย์แสดงออกมา ก็มีหลายครั้งก็เป็นการชี้อกุศล ผมเห็นชัดครับ ชี้อกุศลของหลายๆ คนด้วย ทั่วๆ ไป ไม่ได้ชี้เฉพาะเจาะจง ทีนี้ถ้าบางท่านยังไม่ยอมรับก็ลำบาก

    ท่านอาจารย์ ไม่ต้องคิดถึงคนอื่น เลิกคิดถึงคนอื่นจริงๆ เพราะว่าคิดแล้วก็ห่วง คิดแล้วก็กังวล คิดแล้วก็ไม่พอใจ เมื่อไรคนนั้นถึงจะดีขึ้นมาสักทีหนึ่ง ฟังพระธรรมก็มากแล้ว ยังไม่เห็นจะดีขึ้น ก็ขณะนั้นเป็นเรื่องที่ไม่เข้าใจว่า ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน มีสภาพของจิตที่กำลังคิด และขณะนั้นเป็นอกุศลวิตก นี่เป็นสิ่งที่ควรจะเข้าใจ

    อรรถกถาอธิบายข้อความนี้ไว้ ๗ หมวด

    เมื่อใดที่ยังพักอยู่ เมื่อนั้นยังจมอยู่โดยแท้ เมื่อใดเพียรอยู่ เมื่อนั้นลอยอยู่โดยแท้ ไม่พัก ไม่เพียร ข้ามโอฆะได้แล้วอย่างนี้

    ใครที่อยากจะเพียร ควรที่จะฟัง เพราะว่าดูมุ่งหน้าที่จะไปพากเพียรกันมากมายเหลือเกิน โดยที่ไม่ได้ระลึกรู้เลยว่า ต้องเป็นมัชฌิมาปฏิปทาจริงๆ เป็นหนทางสายกลางซึ่งจะต้องเป็นอริยมรรคมีองค์ ๘

    อรรถกถาอธิบายข้อความนี้ไว้ ๗ หมวด ดังนี้คือ

    ประการที่ ๑ ว่าด้วยกิเลสและอภิสังขาร

    วิตกเจตสิกเรื่องเดียวก็เต็มในพระไตรปิฎกทั้งหมด

    ประการที่ ๑ เมื่อบุคคลพักอยู่ด้วยกำลังของกิเลส ชื่อว่า จม เมื่อบุคคลเพียรด้วยกำลังของอภิสังขาร ชื่อว่า ลอย

    อยู่ในประการไหน หรือว่าทั้ง ๒ ประการ พักอยู่ด้วยกิเลส ชื่อว่า จม สนุกสนานกันก่อน เอาไว้แก่เฒ่า หรือว่านาทีสุดท้ายที่จะจากโลกนี้ไปจะทำอย่างไร คอยจนกระทั่งถึงวาระนั้น พักอยู่ด้วยกำลังของกิเลส ชื่อว่า จม ส่วนอีกบุคคลหนึ่งเพียรอยู่ด้วยกำลังของอภิสังขาร ชื่อว่า ลอย อภิสังขาร ได้แก่ เจตนาเจตสิกซึ่งไม่ใช่มรรคมีองค์ ๘ ไม่ใช่องค์ของมรรคหนึ่งมรรคใดเลยในมรรคมีองค์ ๘

    เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่า ไม่ใช่เรื่องของความตั้งใจ จงใจ ขวนขวาย ต้องการพากเพียร แต่เป็นเรื่องที่จะต้อง สติเกิด เมื่อเข้าใจลักษณะของสติ และก็รู้ว่า สตินั้นระลึกรู้อะไร เพื่ออะไร ถ้ายังไม่รู้ว่า สติจะต้องรู้อะไร ปัญญาจะต้องรู้อะไร และก็ไปพากเพียรทำอะไร ขณะนั้นก็จะเห็นลักษณะของอภิสังขาร ซึ่งเมื่อบุคคลเพียรด้วยกำลังของอภิสังขาร ชื่อว่า ลอย

    ประการที่ ๒ ว่าด้วยตัณหา ทิฏฐิ และว่าด้วยกิเลสที่เหลือและอภิสังขารทั้งหลาย คือ อีกอย่างหนึ่งเมื่อบุคคลพักอยู่ด้วยกำลังของตัณหาและทิฏฐิ ชื่อว่า จม เมื่อบุคคลเพียรด้วยกำลังแห่งกิเลสที่เหลือและอภิสังขารทั้งหลาย ชื่อว่า ลอย

    ไม่ว่าจะทรงแสดงด้วยประการต่างๆ อย่างไร ก็ให้ทราบว่าคือชีวิตประจำวันของแต่ละคนนั่นเอง เพียงแต่ว่าแล้วแต่จะแสดงโดยนัยใดเท่านั้น

    ประการที่ ๓ ว่าด้วยตัณหา และว่าด้วยทิฏฐิ

    คือแยกออกไปอีก

    อีกอย่างหนึ่ง คือ เมื่อบุคคลพักอยู่ด้วยกำลังแห่งตัณหา ชื่อว่า จม เมื่อบุคคลเพียรอยู่ด้วยกำลังแห่งทิฏฐิ ชื่อว่า ลอย

    ไม่ใช่มัชฌิมาปฏิปทาทั้ง ๒ นี่เป็นข้อที่จะต้องเข้าใจให้ถูก มิฉะนั้นแล้วการปฏิบัติก็จะไม่ใช่สัมมามรรค

    ประการที่ ๔ ว่าด้วยสัสสตทิฏฐิ และว่าด้วยอุจเฉททิฏฐิ คือ อีกอย่างหนึ่ง เมื่อบุคคลพักอยู่ด้วยสัสสตทิฏฐิ ชื่อว่า จม เมื่อบุคคลเพียรอยู่ด้วยอุจเฉททิฏฐิ ชื่อว่า ลอย

    ประการที่ ๕ ว่าด้วยลินะ (การติด) และอุทธัจจะ คือ อีกอย่างหนึ่ง เมื่อบุคคลพักอยู่ด้วยกำลังของการติด ชื่อว่า ย่อมจม เมื่อบุคคลเพียรด้วยกำลังของอุทธัจจะ ชื่อว่า ย่อมลอย

    ประการที่ ๖ ว่าด้วยกามสุขัลลิกานุโยคและอัตตกิลมถานุโยค คือ อีกอย่างหนึ่งเมื่อบุคคลพักอยู่ด้วยกามสุขขัลลิกานุโยค ชื่อว่า ย่อมจม เมื่อบุคคลเพียรอยู่ด้วยอัตตกิลมถานุโยค ชื่อว่า ย่อมลอย

    ประการที่ ๗ ว่าด้วยอกุศลาภิสังขารทั้งหมดและกุศลาภิสังขารอันเป็นโลกียะทั้งหมด คือ อีกอย่างหนึ่ง เมื่อบุคคลพักอยู่ด้วยอกุศลาภิสังขารทั้งหมด ชื่อว่า ย่อมจม เมื่อบุคคลเพียรอยู่ด้วยกุศลาภิสังขารทั้งหมด ชื่อว่า ย่อมลอย

    แล้วแต่ว่าจะทรงแสดงโดยหมวดไหน นัยไหน แต่ให้ทราบว่า เป็นชีวิตปกติประจำวัน

    มีบางท่านบอกว่า ท่านชอบอ่านหนังสือมาก และหลายท่านก็คงจะเหมือนกัน คือ ชอบอ่านหนังสือ เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ แต่ขอให้ระลึกในขณะที่อ่านว่า เป็นอกุศลวิตกหรือกุศลวิตก อ่านสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ได้ไหม น่าอ่านไหม มีของจริงๆ ที่กำลังปรากฏทางตา แล้วยังไม่รู้ ยังไม่เข้าใจ แต่ว่าไปอ่านหนังสือเรื่องต่างๆ โดยลืมที่จะอ่านลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    เพราะฉะนั้นก็เป็นข้อที่น่าคิดได้หลายอย่างแม้แต่ผู้ที่ชอบอ่านหนังสือ วันหนึ่งๆ ถ้าเกิดระลึกขึ้นมาได้ว่า สิ่งที่สติจะระลึกศึกษาเหมือนกับที่อ่านหนังสือและพยายามเข้าใจเรื่องในหนังสือ ฉันใด สิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ น่าศึกษา น่าอ่าน น่าพิจารณา เพราะเหตุว่าถ้าศึกษาพิจารณาจริงๆ แล้ว จะเห็นความว่างจากสิ่งหนึ่งสิ่งใดในสัญญา ในความจำ ไม่ว่าจะเป็นการจำหรือการคิดเรื่องสัตว์ เรื่องบุคคลต่างๆ เรื่องวัตถุสิ่งต่างๆ แท้ที่จริงแล้วหามีสิ่งนั้นๆ ไม่ แต่ว่าสัญญาก็ยังไปจำไว้มากมายเหลือเกิน

    นี่ก็ต่อจากเรื่องของวิตก เป็นเรื่องของสัญญา ไม่ใช่แยกจากกันเลย วิตกเป็นสภาพที่ตรึกตามสัญญาที่จำ

    สำหรับเจตสิก ๕๒ ดวง ถ้าทบทวนก็จะทราบว่า เจตสิก ๕๒ เป็นนามขันธ์ ๓ คือ เวทนาเจตสิก ๑ ดวง เป็นเวทนาขันธ์ สัญญาเจตสิก ๑ ดวง เป็นสัญญาขันธ์ เจตสิก ๕๐ ดวงที่เหลือเป็นสังขารขันธ์

    ในการกล่าวทบทวนเรื่องของปรมัตถธรรมบ้าง หรือเรื่องของขันธ์ ๕ บ้าง ก็เพื่อจะแสดงให้เห็นความละเอียดว่า ในบรรดาเจตสิกซึ่งเป็นสังขารขันธ์ ๕๐ ดวงนั้น เฉพาะเจตสิก ๙ ดวงเท่านั้นที่เป็นมรรค คือ เป็นทางที่นำออกไปสู่คติต่างๆ ซึ่งโดยมากก็ทราบกันอยู่แล้วว่า อริยมรรคมีองค์ ๘ ได้แก่ เจตสิก ๘ ดวง คือ สัมมาทิฏฐิ ได้แก่ ปัญญาเจตสิก สัมมาสังกัปปะ ได้แก่ วิตกเจตสิก สัมมาวาจา ได้แก่ สัมมาวาจาเจตสิก สัมมากัมมันตะ ได้แก่ สัมมากัมมันตเจตสิก สัมมาอาชีวะ ได้แก่ สัมมาอาชีวเจตสิก สัมมาวายามะ ได้แก่ วิริยเจตสิก สัมมาสติ ได้แก่ สติเจตสิก สัมมาสมาธิ ได้แก่ เอกัคคตาเจตสิก

    สำหรับเจตสิกที่เป็นมรรคทั้งหมดมี ๙ ดวง แต่ที่เป็นอริยมรรคมีองค์ ๘ ได้แก่ เจตสิก ๘ ดวง เพราะฉะนั้นเหลืออีก ๑ ดวงที่เป็นมรรค คือ มิจฉาทิฏฐิ

    มิจฉามรรค ๘ ได้แก่ ๑. มิจฉาทิฏฐิ ได้แก่ ทิฏฐิเจตสิก มิจฉาสังกัปปะ ก็ได้แด่ อกุศลวิตก มิจฉาวาจา มิจฉากัมมันตะ มิจฉาอาชีวะ มิจฉาวายามะ มิจฉาสติ มิจฉาสมาธิ

    มิจฉาวายามะ ได้แก่ วิริยเจตสิก มิจฉาสติ ได้แก่ โลภมูลจิต มิจฉาสมาธิ ก็ได้แก่ เอกัคคตาเจตสิกที่เกิดกับอกุศลจิต

    เพราะฉะนั้นไม่มีมิจฉาวาจาเจตสิก ไม่มีมิจฉากัมมันตเจตสิก ไม่มีมิจฉาอาชีวเจตสิก

    แสดงให้เห็นว่าชีวิตประจำวันเต็มไปด้วยอกุศลเป็นปกติ จนกว่าขณะใดที่กุศลจิตเกิด เป็นการวิรัติทุจริตทางวาจาเมื่อไร ขณะนั้นก็เพราะสัมมาวาจาเจตสิกเกิดขึ้นทำกิจวิรัติวจีทุจริต ขณะที่ละเว้นการกระทำที่ไม่ดีซึ่งเกิดขึ้นเพราะอกุศลจิต ขณะนั้นก็เพราะสัมมากัมมันตะเกิดขึ้นทำกิจวิรัติการกระทำทุจริตทางกาย ขณะใดที่ละเว้นอาชีพที่ทุจริต ขณะนั้นสัมมาอาชีวะเกิดขึ้นทำกิจวิรัติอาชีพทุจริต

    เพราะฉะนั้นก็ไม่มีมิจฉาวาจาเจตสิก ไม่มีมิจฉากัมมันตเจตสิก และไม่มีมิจฉาอาชีวเจตสิก

    นี่คือชีวิตประจำวัน ก็แสดงให้เห็นว่า ถ้าพิจารณาศึกษาลักษณะของจิต เจตสิกในชีวิตประจำวันจริงๆ จะทำให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่เคยยึดถือว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลได้ว่า เป็นแต่เพียงสภาพธรรมแต่ละประเภทที่อาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้น แม้แต่วิตกเจตสิกซึ่งเป็นสังขารธรรม เป็นสังขารขันธ์นั้น จะเกิดขึ้นเองตามลำพังไม่ได้ ต้องอาศัยสภาพธรรมอื่นจึงเกิดได้ โดยจะต้องอาศัยเวทนาเจตสิก สัญญาเจตสิก และเจตสิกอื่นๆ แล้วแต่ว่าวิตกเจตสิกนั้นจะเกิดกับกุศล หรือว่าเกิดกับอกุศลธรรม

    ซึ่งไม่ว่าจะเป็นธรรมฝ่ายกุศล หรือเป็นธรรมฝ่ายอกุศล ก็ปรุงแต่งวิตกเจตสิกจนเป็นความละเอียดในเรื่องการตรึกนึกคิดต่างๆ บางครั้งก็เป็นอกุศลที่ไม่น่าจะคิดได้ถึงอย่างนั้นเลย แต่อาศัยการสะสมของสภาพธรรมที่เกิดมาแล้ว ก็เป็นปัจจัยทำให้อกุศลวิตกนั้นๆ เกิดขึ้นได้ หรือขณะที่วิตกเจตสิกเกิดกับสภาพธรรมฝ่ายดี เป็นโสภณ บางครั้งก็ประกอบด้วยปัญญาซึ่งเริ่มเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง จนกระทั่งสามารถที่จะเจริญถึงขั้นที่แทงตลอดถึงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ที่กำลังเกิดดับในขณะนี้ได้

    นี่ก็แสดงให้เห็นถึงความวิจิตรของสภาพธรรมแต่ละขณะ

    สำหรับวิตกเจตสิกซึ่งเกิดในชีวิตประจำวันของแต่ละบุคคล ความละเอียดของการปรุงแต่งของสังขารขันธ์ทั้งหลายก็เป็นปัจจัยให้จิตคิดนึกไปต่างๆ เช่น ขอกล่าวถึงความคิดนึกของท่านผู้ฟังบางท่าน ในการบรรยายพระธรรมทุกครั้ง จะสังเกตได้ว่ามีผู้ที่มีกุศลวิตกต่างๆ กัน บางท่านก็ตรึกไปในเรื่องของการช่วยจัดสถานที่อำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ที่มาฟังคำบรรยาย บางท่านก็ตรึกไปในเรื่องการจัดน้ำดื่ม ที่จะปรุงเปลี่ยนรสต่างๆ ที่เป็นประโยชน์แก่ร่างกาย บางท่านก็มีกุศลวิตกตรึกไปในการเก็บล้างแก้วน้ำ เป็นต้น บางท่านก็มีกุศลวิตกที่คิดจะเกื้อกูลบุคคลอื่นด้วยการถามปัญหาที่เข้าใจว่าจะเป็นประโยชน์กับท่านผู้ฟัง หรือว่ามีกุศลวิตกที่จะเล่าประสบการณ์ของท่านที่จะเป็นประโยชน์แก่ท่านผู้ฟังท่านอื่นๆ แต่ก็มีการตรึกหรือวิตกละเอียดด้วย เช่น บางท่านก็คิดว่า น้ำปานะที่ยังมีเหลืออยู่อีกหลังจากการบรรยายพระธรรมแล้วนั้น สมควรจะถวายแก่พระภิกษุต่อไปอีกหรือไม่

    นี่ก็ห้ามไม่ได้เลยในเรื่องการที่บางท่านจะเกิดความรู้สึกอย่างนี้ แต่ก็ควรจะเข้าใจให้ถูกต้องว่า ความผิด ความถูก ในการกระทำทุกอย่าง หรือว่าแม้ในพิธีกรรมต่างๆ นั้น ความควร ความไม่ควรนั้นอยู่ที่กุศลจิตหรืออกุศลจิตนั่นเอง ไม่ใช่ว่าจะต้องมีสิ่งอื่นเป็นเครื่องวัดว่า ทำอย่างนั้นแล้วถูก ทำอย่างนี้แล้วผิด แต่ถ้าสติสามารถจะระลึกรู้ลักษณะสภาพของจิตในขณะที่คิด หรือในขณะที่ทำ ก็จะรู้ได้ว่า ความควรหรือไม่ควรอยู่ที่กุศลจิตหรืออกุศลจิต

    เพราะฉะนั้นท่านผู้นั้นก็ควรที่จะพิจารณาว่า ขณะที่คิดจะให้หรือคิดที่จะถวายน้ำปานะที่ยังมีเหลือหลังจากการฟังพระธรรมแล้วนั้น ที่จะถวายแก่พระภิกษุสงฆ์ ขณะที่คิดจะให้หรือจะถวายแก่พระภิกษุ ขณะนั้นเป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิต บางท่านไม่กล้าถวาย เพราะคิดว่า ดูเหมือนเป็นของเหลือ แต่จิตก็มีการคิดพิจารณาได้หลายอย่าง คือ พิจารณาว่าขณะที่คิดจะให้ คิดจะถวาย ต้องรู้ว่าขณะนั้นเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล เป็นกุศล ขณะที่คิดว่าเป็นของเหลือไม่ควรให้ หรือไม่ควรถวาย ขณะนั้นเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล

    ความคิดรวดเร็วมาก และก็เกิดดับสลับกัน เพราะฉะนั้นขณะที่คิดว่า เป็นของเหลือ ไม่ควรให้ ลองคิดดูดีๆ ขณะนั้นเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ถ้าคิดว่าไม่ควร ก็น่าจะพิจารณาต่อไปว่า เพราะอะไรถึงไม่ควร เป็นสิ่งที่มีประโยชน์หรือเป็นสิ่งที่ไม่มีประโยชน์แก่ผู้รับ และถ้าไม่ได้ถวายหรือไม่ได้ให้ไป พระภิกษุผู้ควรที่จะได้รับ จะเสียประโยชน์หรือจะได้ประโยชน์จากน้ำปานะที่ยังเหลืออยู่นั้น

    คิดได้หลายขั้นในการถวายหรือจะไม่ถวาย และต้องคิดแม้แต่ว่า ขณะที่เกิดความคิดจะไม่ถวายนั้นเพราะเหตุใดจึงไม่ถวาย ถ้าเพียงเพราะกลัวว่า จะเป็นของเหลือ ก็ควรที่จะพิจารณาว่า ผู้ที่จัดน้ำดื่มเพื่อผู้ฟังพระธรรม ซึ่งผู้ฟังพระธรรมนั้นก็มีทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ เมื่อจัดเป็นทานแก่ผู้ฟังพระธรรม แม้ยังมีน้ำเหลืออยู่อีก ก็เป็นประโยชน์แก่ภิกษุซึ่งเป็นผู้ฟังพระธรรม เป็นผู้ศึกษาพระธรรม เป็นผู้ที่ปฏิบัติพระธรรมในเพศของบรรพชิต เพราะฉะนั้นจะถวายหรือจะไม่ถวาย

    ลองคิดดู ท่านผู้ฟังไม่ทราบเผชิญกับปัญหานี้หรือเปล่า แต่ถ้าเผชิญก็จะได้ทราบว่า ควรจะทำอย่างไรด้วยกุศลจิต ผู้ที่ไม่ถวายเพราะกลัวว่า จะได้บุญน้อย มีไหม บางท่านอาจจะไม่อยากถวายเพราะคิดว่าจะได้บุญน้อย เพราะเหตุว่าเป็นของที่เหลือจากผู้ฟังทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิตแล้ว แต่ขณะนั้นคงจะไม่ได้สังเกตว่า ความอยากได้บุญปิดบังไม่ให้เห็นว่า ขณะที่อยากได้บุญนั้นเป็นอกุศล กุศลจิตควรจะเกิดทันที ไม่ใช่ว่าต้องรอ หรือลังเล หรือว่าสงสัย เพราะเหตุว่าขณะที่รอ หรือลังเล หรือสงสัย ในขณะนั้นลักษณะของจิตเป็นอย่างไรจึงได้รีรอ จึงได้ลังเล จึงได้สงสัย

    เพราะฉะนั้นปัญญาจะต้องรู้ละเอียด กุศลถึงจะเกิดได้ทันที เมื่อเห็นว่าเป็นประโยชน์ขณะใด ก็ให้เพื่อประโยชน์ในขณะนั้น ขณะที่ให้หรือขณะที่ถวายนั้น ถ้ากระทำด้วยความนอบน้อม ก็เป็นความยำเกรงในสงฆ์ ถ้าขณะที่คิดว่าได้บุญน้อย หรือผลของบุญนั้นก็อาจจะไม่เต็มที่ เว้าๆ แหว่งๆ เพราะเหตุว่าเป็นของเหลือ ขณะนั้นคิดถึงใคร ลองคิดดู ผู้ที่ไม่ถวายเพราะกลัวว่า จะได้บุญน้อย ขณะนั้นคิดถึงใคร คิดถึงตัวเอง ถึงผลของบุญที่จะได้ หรือว่าคิดถึงประโยชน์ของผู้รับ ซึ่งถ้าไม่ถวาย ผู้รับก็จะไม่ได้ประโยชน์

    เพราะฉะนั้นการกระทำทุกครั้งไม่ควรที่จะหวังในผล เมื่อเป็นโอกาสที่จะให้หรือที่จะถวาย หรือที่จะกระทำกุศล น้อยมากไม่สำคัญเลย และผลที่จะเกิดขึ้นก็ไม่ควรที่จะคำนึงด้วยว่า จะได้รับผลไม่เต็มที่ หรือว่าจะได้รับผลน้อย จะได้รับผลที่ไม่ดี เพราะเหตุว่าบุญเป็นสิ่งที่ควรกระทำ โดยที่ว่าไม่จำเป็นต้องคิดถึงผลต่อมาซึ่งจะเกิดขึ้น

    นี่ก็แสดงให้เห็นถึงความละเอียดของวิตกเจตสิกที่จะไตร่ตรองพิจารณาเหตุผลของสภาพธรรมให้ถูกต้องตรงตามสภาพของกุศลจิตและอกุศลจิต จึงจะเป็นเหตุให้เจริญกุศลได้ยิ่งขึ้น มิฉะนั้นก็จะมีอุปสรรคอยู่เสมอ เพราะเหตุว่ากลัวผลบุญจะน้อย แม้แต่ในเรื่องของพิธีการหรือพิธีกรรมต่างๆ ถ้าไม่พิจารณาในเรื่องของกุศล ขณะนั้นก็เป็นเรื่องกลัวผลของบุญอีกเช่นเดียวกัน

    การกระทำทุกอย่างในพระพุทธศาสนาเป็นการกระทำที่จะต้องพิจารณาถึงจิต ซึ่งเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล บางท่านก็เรียกกันมารับพรพระ หลังจากที่มีการถวายทาน หรือว่าทำกุศลแล้ว ซึ่งความจริงแล้วพระภิกษุท่านกล่าวคาถาอนุโมทนา คือ แสดงอานิสงส์ของกุศลนั้น


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 24
    9 ก.พ. 2565

    ซีดีแนะนำ