โสภณธรรม ครั้งที่ 095
ตอนที่ ๙๕
ก็ติตัวเอง ว่า ทำไมสติไม่ระลึกถึงสิ่งที่ปรากฏทางตา หรือเสียงที่ปรากฏทางหู ก็ไม่ทัน โอกาสที่สติจะระลึกก็ยังอ่อน ไม่ไหว แต่กลับมาแล้วก็ได้มาคิด และก็มาคิดถึงว่า นั่นเป็นอกุศลวิตก คือ ความคิดนึก นี่นะเรากำลังคิดนึกถึงเรื่องที่เกิดขึ้น นี่ก็ปาเข้าไปเกือบสองอาทิตย์แล้ว ก็ยังไม่ค่อยจาง
ท่านอาจารย์ ก็เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นสภาพธรรมตามความเป็นจริง ซึ่งในสัมโมหวิโนทนี วรรณนา ทุกนิทเทส มีข้อความว่า
บุคคลผู้ประกอบความโกรธด้วยลักษณะใด ย่อมไม่อาจสละเวร บุคคลนี้ย่อมติดตามซึ่งความโกรธอื่นๆ อีกด้วยลักษณะว่า บุคคลนี้ไม่สมควรพูดกับเราอย่างนี้ หรืออาจเป็นการกระทำก็ได้ ไม่ใช่คำพูด ดังนี้ ความโกรธของเขาย่อมลุกโพลงทีเดียว ราวกับฟืนไม้สนอันไฟติดทั่วแล้ว
ถึงขั้นนี้หรือเปล่า ลองคิดถึงไม้สนซึ่งเป็นเชื้อไฟอย่างดี เพราะฉะนั้นเวลาที่ประกอบด้วยความโกรธ และก็ยังไม่สละ คือยังไม่ทิ้งความโกรธนั้นไป เพราะฉะนั้นความโกรธอื่นๆ ก็จะติดตามมาอีก ควรที่จะจบเมื่อสิ่งนั้นหมดแล้ว ผ่านไปแล้ว แต่ว่าใจก็ยังติดตามยึดถือคิดถึงเรื่องนั้นด้วยความโกรธอื่นๆ อีก
อดิศักดิ์ คือยังไม่ถึงกับถือง่ามหนังสติ๊ก
ท่านอาจารย์ แต่ว่าลองพิจารณาความโกรธในขณะนั้นว่า ถ้าคิดถึงในลักษณะที่ว่า ราวกับฟืนไม้สนอันไฟติดทั่วแล้ว อยากจะให้เป็นอย่างนั้นหรือเปล่า
เพราะฉะนั้นเมื่ออกุศลวิตกเกิดขึ้น แต่ละบุคคลจะมนสิการอย่างไร จะตรึกอย่างไร จะพิจารณาอย่างไร ก็แล้วแต่แต่ละบุคคล แม้ว่ามีแบบวางอยู่ ให้อ่านด้วย แต่เวลาที่อกุศลวิตกเกิด จะเป็นไปได้ไหมที่จะทำได้อย่างนั้น หรือจะทำตามนั้นได้ หรือจะไม่ทำตามนั้น แต่ว่ามีอุบายอื่นที่เป็นความแยบคายของการสะสมของบุคคลนั้นที่เกิดขึ้น
เพราะฉะนั้นก็แล้วแต่แต่ละบุคคลจริงๆ
อดิศักดิ์ โดยสรุปแล้วก็ต้องเจริญ ต้องอบรม
ท่านอาจารย์ แน่นอนที่สุด จนกว่าจะถึงวิปัสสนาญาณขั้นต่างๆ ไม่ใช่เป็นผู้ที่ละเลยการเจริญกุศลทุกประการ
อดิศักดิ์ เอาตำรามากาง มาวางไว้ต่อหน้าอย่างนี้ก็ไม่มีทาง
ท่านอาจารย์ ต้องเข้าใจ
อดิศักดิ์ หรือไม่ก็เขียนเอาไว้รอบบ้านเลย เดินไปตรงไหนก็ชน
ท่านอาจารย์ ต้องเห็นโทษของอกุศล ไม่ใช่เพียงรู้เรื่องโทษของอกุศล เวลาที่เห็น อ่าน ก็รู้เรื่องโทษของอกุศล เพราะเหตุว่าถ้าเป็นอกุศลกรรม สามารถที่จะทำให้ปฏิสนธิในอบายภูมิได้ ทั้งๆ รู้ แต่ว่าเห็นโทษของอกุศลจริงๆ หรือยัง หรือว่าเพียงแต่รู้เรื่องของโทษของอกุศลเท่านั้น
อดิศักดิ์ บางที่บางแห่ง เขาก็เอาไปติดไว้ตามต้นไม้ ตามประตูห้องน้ำ จะเดินออกก็เจอ ชนกัน เป็นการเตือนสติได้บ้างไหม
ท่านอาจารย์ ใครจะทำอย่างไร ก็เป็นเรื่องของแต่ละบุคคล แล้วแต่
อดิศักดิ์ ก็อย่างที่อาจารย์ว่า เอาตำรามากาง ถ้าไม่อบรม ไม่ได้เจริญ ก็ไม่มีทางที่จะละได้ คลายได้
ท่านอาจารย์ แต่ประโยชน์ที่สุด คือ การฟังพระธรรมแล้วก็พิจารณาพระมหากรุณาคุณที่ทรงแสดงพระธรรมไว้เป็นอันมาก ที่จะให้เห็นโทษของอกุศลของตนเอง และจะได้เจริญกุศลยิ่งขึ้น เพราะเหตุว่าอกุศลทั้งหลายย่อมเป็นเหตุให้เกิดการวิวาทกัน ถูกหรือผิด
ข้อความในสัมโมหวิโนทนี วรรณนา ทุกนิทเทส ได้แสดงลักษณะสภาพของอกุศลต่างๆ เช่น มักขะ ความลบหลู่คุณ
คำอุปมาจะทำให้เห็นชัดว่า ลักษณะไหนเกิดขึ้นเป็นไปอย่างไร ที่เป็นอกุศลประเภทใด
มักขะ ความลบหลู่คุณ เป็นราวกับว่า ย่ำยีความดีของผู้อื่นไว้ด้วยเท้า
คิดถึงกิริยาอาการแล้วก็เข้าใจ เพราะเหตุว่าพอพูดถึง มักขะ ความลบหลู่คุณ ก็ไม่ทราบว่าเป็นลักษณะไหน อย่างไร แต่ถ้าคิดถึงการกระทำที่เปรียบเทียบอุปมาเหมือนกับย่ำยีความดีของผู้อื่นไว้ด้วยเท้า ก็แสดงให้เห็นว่า ขณะใดมีความรู้สึกเหมือนอย่างนั้น ขณะนั้นคือความลบหลู่คุณ
ปลาสะ คือเป็นผู้ตีเสมอ
ลักษณะไหนจะเป็นปลาสะ
คือ ไม่แสดงคุณของผู้อื่น ย่อมทำคุณทั้งหลายคล้ายกับเป็นคุณของตน
นี่ลักษณะของกิเลสทั้งนั้นเลย เพราะว่าทุกคนอยากจะเป็นคนดี อยากจะมีความเก่ง อยากจะได้รับคำชม หรืออยากจะเป็นผู้มีเกียรติ มีลาภสักการะ เพราะฉะนั้นอกุศลนี้ทำให้ไม่แสดงคุณของคนอื่น แล้วก็ ย่อมทำคุณทั้งหลายคล้ายกับเป็นคุณของตน เป็นอาหารเพราะการนำมาซึ่งความชนะของตนด้วย ชื่อว่า ปลาสาหาร
โดยมากถ้าใครคิดถึงคนอื่นในลักษณะที่ว่า ใครถูก ใครผิด หรือว่าท่านต้องถูก คนอื่นต้องผิด นั่นก็แสดงลักษณะของการที่ใคร่จะเป็นผู้ชนะ ซึ่งที่จริงแล้ว ธรรมเท่านั้นที่จะชนะอธรรม แม้แต่ความรู้สึกหรือความคิดในขณะนั้น ถ้าเป็นอกุศล ไม่มีทางที่จะชนะเลย ไม่ว่าจะแสวงหาวิธีการใดๆ ก็ตาม ถ้าเป็นไปด้วยอกุศลแล้ว เป็นผู้แพ้ เพราะเหตุว่าแพ้กิเลสของตนเอง
วิวาทัฏฐานัง ได้แก่ เหตุแห่งความวิวาทกันโดยถือการเอาธุระเสมอกันในหน้าที่การงานซึ่งเป็นการแข่งดี ซึ่งมีอยู่เป็นประจำ ไม่ว่าใครจะทำกิจธุระอะไร ก็ลองพิจารณาดูว่า มีอกุศลวิตกเกิดแทรกแซงอย่างไรบ้างหรือเปล่า แม้แต่เพียงชั่วขณะเล็กๆ น้อยๆ นิดๆ หน่อยๆ เพราะเหตุว่าการไม่สละธุระอันตนถือเอาแล้ว ชื่อว่า การไม่ลดละ
นี่คือการที่จะต้องแข่งต่อไปเรื่อยๆ บางคนมีทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่น่าที่จะเดือดร้อน แต่ว่าเป็นผู้สะสมการแข่งขันมา อาจจะไม่ใช่แต่เฉพาะในชาตินี้ เพราะฉะนั้นตลอดชีวิตของคนนั้นจะมีแต่การเปรียบเทียบ และจะมีการแข่งขัน ไม่ว่าจะเป็นในระหว่างผู้ใกล้ชิดหรือว่าผู้ห่างไกล
นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ถ้าขณะใดเกิดจิตที่คิดเปรียบเทียบ ซึ่งจะเป็นลักษณะเหมือนกับการแข่งขันซึ่งไม่มีวันหยุด เพราะเหตุว่าไม่สละธุระอันตนถือเอาแล้ว ชื่อว่า การไม่ลดละ
ลักษณะของอกุศลอีกประการหนึ่งซึ่งทุกคนก็จะพิจารณาว่า มีบ้างไหม คือ
มายา ความเจ้าเล่ห์ เป็นราวกับว่าเล่นกล คือ จักขุโมหนมายา เพราะการปกปิดไว้ซึ่งโทษอันตนรู้อยู่ สัตว์ทั้งหลายทำบาปแล้ว ก็ยังล่วงละเมิด คือ ทำบาปอีก เพราะความเป็นผู้ปกปิดไว้ด้วยสภาวะใด สภาวะนั้นชื่อว่า ความเป็นเจ้าเล่ห์ ชื่อว่า ลวง เพราะย่อมลวงโดยให้เห็นเป็นไปโดยประการอื่น ด้วยการกระทำทางกายและวาจา
ถ้าเป็นผู้ละเอียด เป็นผู้ที่ศึกษาธรรม และพิจารณาตนเองจริงๆ จะเห็นว่า แม้ในการศึกษาพระธรรม จะมีบ้างไหมที่จะเป็นผู้ที่มีมายา แม้ในเรื่องการเข้าใจพระธรรมผิด ก็ลวงให้เห็นว่าเป็นถูกได้ ถ้าเป็นผู้ที่มีมายา เพราะปกปิดไว้ซึ่งโทษอันตนรู้อยู่ สัตว์ทั้งหลายทำบาปแล้ว ก็ยังล่วงละเมิด คือ ทำบาปอีก เพราะความเป็นผู้ปกปิดไว้ด้วยสภาวะใด สภาวะนั้นชื่อว่า ความเป็นเจ้าเล่ห์
นี่อาจจะเป็นบุคคลหนึ่งบุคคลใดในชาติหนึ่งชาติใดก็ได้ ชาตินี้อาจจะไม่ได้กระทำ แต่ว่าถ้าเป็นการสะสมความยึดติด ความสำคัญตนไว้มาก ถึงแม้ว่าจะได้ศึกษาพระธรรมบ้าง การสะสมความยึดมั่นในตัวตน ในลาภ ในยศ ในสักการะ ก็อาจจะทำให้วันหนึ่งวันใดอาจจะเป็นอย่างนี้ก็ได้
เพราะฉะนั้นก็ต้องเป็นผู้ที่ไม่ประมาท แล้วก็เห็นโทษเห็นภัยของอกุศลจริงๆ ว่า ถ้าวันนี้ยังไม่เห็นโทษของอกุศลแม้เพียงเล็กน้อย วันต่อๆ ไป อกุศลก็ย่อมเพิ่มพูนขึ้น
สำหรับบางคนก็อาจจะมีอกุศลวิตกต่อไปอีก คือ กลบเกลื่อน
ชื่อว่า กลบเกลื่อน เพราะยังบาปทั้งหลายให้เกิดสับสนกันไป
วิธีที่จะกลบเกลื่อนก็ต้องทำอย่างนี้ คือว่าทำให้สับสนกันหมด จับไม่ได้ว่าตรงไหนเป็นอย่างไร
ชื่อว่า การปกปิด เพราะย่อมปกปิดบาปด้วยกายกรรม วจีกรรม ราวกับคูถอันบุคคลปกปิดไว้ด้วยหญ้าและใบไม้ทั้งหลาย
บุคคลประกอบด้วยลักษณะนี้ใด ย่อมเป็นราวกับถ่านเพลิงอันปิดไว้ด้วยขี้เถ้า ย่อมเป็นราวกับตอไม้อันน้ำปกปิดไว้ ย่อมเป็นราวกับว่าสาตราอันบุคคลพันไว้ด้วยเศษผ้า
ไม่ใช่ใครอื่น แต่ว่าทุกคนมีโอกาสจะเป็นอย่างนี้ ถ้ายังไม่เป็นพระอริยบุคคล
เป็นเรื่องความละเอียดของธรรม ข้อที่ควรระลึกในการศึกษาพระธรรม ก็คือเพื่อการปฏิบัติตามพระธรรมในชีวิตประจำวัน หรือว่าท่านผู้ฟังจะมีความคิดอื่นนอกจากนี้
จุดประสงค์ของการศึกษาพระธรรมเพื่ออะไร เพื่อชีวิตประจำวันจะได้ละคลายอกุศล และเจริญกุศลให้ถึงพร้อม ซึ่งการที่กุศลทั้งหลายจะถึงพร้อมได้ก็ด้วยการเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานและฟังพระธรรม จนเห็นโทษของอกุศล และเห็นประโยชน์ของกุศลธรรมยิ่งขึ้น มิฉะนั้นกุศลก็เจริญไม่ได้
เพราะฉะนั้นก็จะต้องฟังเรื่องของอกุศลต่อไป เพื่อให้เห็นโทษของอกุศลต่อไปอีก เพราะเหตุว่าเพียงแต่รู้ว่า ทุกๆ วันมีอกุศล ถึงรู้แล้วเมื่อวันก่อน อาทิตย์ก่อน อกุศลจิตก็ยังคงเกิดอีกเรื่อยๆ ในทุกๆ วัน
เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่า ถึงแม้ว่าจะรู้เรื่องของอกุศลที่คิดว่า ได้ฟังมากแล้ว ก็ยังไม่พอ จนกว่ากุศลวิตกจะเกิดขึ้นมากกว่าอกุศลวิตก ซึ่งทุกท่านก็พอที่จะรู้จักตนเองตามความเป็นจริงได้ว่า เมื่อได้ฟังพระธรรมแล้ว กุศลวิตกเกิดมากกว่าอกุศลวิตกหรือเปล่า หรือว่ากุศลวิตกเกิดเพิ่มขึ้น แต่ถึงกระนั้นก็ยังไม่มากกว่าอกุศลวิตกในวันหนึ่งๆ
นี่เป็นเหตุที่จะต้องรู้จักตนเองตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้นก็ควรที่จะได้คิดว่า จะฟังเรื่องของอกุศลอีกมากๆ ในชีวิตประจำวันดี หรือว่าจะฟังเรื่องของกุศลซึ่งยังไม่ได้เกิดบ่อยๆ หรือว่ายังไม่ได้เกิดในชีวิตประจำวัน เช่นกุศลบางประเภทยังไม่ได้เกิดในชีวิตประจำวัน เช่น วิปัสสนาญาณต่างๆ หรือว่าความสงบของจิตขั้นต่างๆ
เพราะฉะนั้นก็ขอกล่าวถึงความละเอียดของอกุศล เพื่อที่ว่าจะได้พิจารณาเห็นอกุศลซึ่งบางอย่างเห็นยาก และอาจจะไม่เข้าใจว่าเป็นอกุศล เพราะเหตุว่าเป็นอกุศลที่เกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว เช่น
สาเถยยะ ความโอ้อวด คือ การไม่กล่าวโดยชอบ เพราะแสดงคุณอันตนไม่มีอยู่
โดยมากความที่รักตน ยึดมั่นในตัวตน จะทำให้มีกายวาจาและการคิดนึกตรึกไปในเรื่องของตัวตนทั้งนั้น แม้แต่ในเรื่องของอกุศลทั้งหลายที่ละเอียด และบางคนอาจจะคิดว่าเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เพราะเหตุว่าเป็นเพียงการโอ้อวด แต่แม้กระนั้นก็แสดงให้เห็นอกุศลที่ทำให้ไม่กล่าวโดยชอบ เพราะแสดงคุณอันตนไม่มีอยู่ จึงชื่อว่า โอ้อวด
นอกจากนั้นอาจจะพิจารณาตนเองว่า เป็นผู้ที่มีศรัทธาในพระธรรมมากน้อยแค่ไหน เพราะเหตุว่าอาการแห่งความเป็นผู้ไม่มีศรัทธา คือ กิริยาที่ไม่เชื่อฟัง การไม่ถือเอาโดยไม่ไว้ใจ ไม่เข้าไปใกล้ ชื่อว่า กิริยาที่ไม่ปลงใจเชื่อ ความไม่เลื่อมใสยิ่ง เพราะอรรถว่าความไม่ยินดี
นี่แสดงให้เห็นถึงความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันทั้งหมดของธรรม ในขณะที่เป็นผู้ที่ไม่มีศรัทธา คือ เป็นผู้ที่ไม่เชื่อฟัง ไม่ว่าพระธรรมจะกล่าวว่าอย่างไร จะแสดงอย่างไร แต่ก็ไม่ถือเอา แล้วก็ยังไม่เข้าใกล้ คือไม่ปลงใจเชื่อ ไม่เลื่อมใสยิ่ง ไม่ยินดีในพระธรรมนั้น
และความไม่ต้องการจะพบพระอริยะ ความเป็นผู้ไม่ต้องการไปสู่ที่ใกล้แห่งพระอริยะเหล่านั้น ชื่อว่า ความไม่ต้องการจะสมาคมกับพระอริยะทั้งหลาย
ความเป็นผู้ไม่ต้องการเพื่อจะฟังพระสัทธรรมนั้น ความเป็นผู้ไม่ศึกษาพระธรรม ชื่อว่า ความไม่ต้องการจะเรียน
ความเป็นผู้คัดค้าน แข่งดี ชื่อว่า ความไม่ต้องการจะทรงพระธรรมไว้
แม้แต่เล็กๆ น้อยๆ นิดๆ หน่อยๆ อาจจะไม่ได้สังเกตว่า ความไม่ต้องการจะเรียนก็เป็นอกุศลธรรม เพราะเหตุว่าจะทำให้ไม่ศึกษาพระธรรม และไม่เกิดปัญญาที่จะพิจารณาสภาพธรรมได้ตามความเป็นจริง
นอกจากนั้นถ้าเป็นผู้ที่แม้ศึกษา แต่ว่าเป็นผู้คัดค้านแข่งดี ก็ชื่อว่าไม่ต้องการจะทรงพระธรรมไว้
นี่ก็เป็นเรื่องที่ละเอียดที่จะต้องพิจารณาว่า ถ้ามีความสำคัญตนที่จะต้องเป็นผู้เก่ง ผู้ถูก ผู้เลิศกว่าคนอื่น ก็อาจจะทำให้พยายามเปลี่ยนแปลง หรือว่าแปลพระธรรมเป็นอย่างอื่นได้
กิเลสทั้งหลายในวันหนึ่งๆ นี่มากมาย ขอให้คิดถึงกิเลสอื่นต่อไป ซึ่งอาจจะคิดว่าเล็กน้อยเหลือเกิน เช่น
ความดูถูก ได้แก่ การรู้ที่ทำให้ต่ำช้า
การที่จะดูถูกบุคคลหนึ่งบุคคลใด ก็หมายความว่าต้องได้ยินได้ฟังเรื่องราวของบุคคลนั้นที่ทำให้เกิดความรู้สึกว่า เป็นผู้ด้อยหรือเป็นผู้ต่ำ จึงทำให้เกิดอกุศลจิตที่คิดดูถูกในความด้อย ในความต่ำของบุคคลนั้น ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องใดๆ ทั้งสิ้น
ขณะใดก็ตาม วันหนึ่งๆ ทุกคนคิดถึงคนอื่น แต่ลองพิจารณาจิตในขณะที่คิดถึงคนอื่นนั้น แทรกด้วยความดูถูกในบุคคลนั้นแม้เพียงเล็กน้อยหรือไม่ แม้ในเรื่องความดี แม้ในเรื่องความประพฤติ แม้ในเรื่องการกระทำ หรือแม้แต่การที่อกุศลจิตของบุคคลนั้นจะมีมากจนกระทั่งทำให้เกิดทุจริตกรรม ขณะที่คิดถึงบุคคลนั้น คิดด้วยความดูถูก หรือคิดด้วยเมตตา คิดด้วยความเห็นจริงในการสะสมของธรรมว่า ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน เมื่อสภาพธรรมใดเกิดบ่อยก็สะสมจนกระทั่งปรากฏเป็นอุปนิสัย ซึ่งถ้าผู้ที่ไม่ประกอบด้วยธรรมก็จะดูถูกในความต่ำ หรือในอกุศลธรรมนั้นได้ แต่ถ้าเป็นผู้ที่ระลึกถึงจิตของตนเอง และก็พิจารณาเรื่องของปรมัตถธรรม ก็จะทำให้เป็นผู้มีเมตตาแทนที่จะแทรกด้วยความดูถูก
ความดูหมิ่น ได้แก่ การเหยียดหยาม
ดูถูกก็มี แล้วก็ยังมีดูหมิ่นด้วย
ความเย้ยหยัน ชื่อว่า ความดูแคลน
บางคนก็ไม่เพียงแต่ดูถูกและดูหมิ่นในใจ แต่ก็ถึงกับเย้ยหยัน คือมีวาจาที่ดูแคลนบุคคลอื่นด้วย
ความเป็นผู้แสวงหาข้อบกพร่อง
นี่คือกุศลจิตหรืออกุศลจิตที่จะเกิดในชีวิตประจำวัน กุศลวิตกหรืออกุศลวิตก ถ้าเป็นผู้ที่แสวงหาข้อบกพร่อง ชื่อว่า ความคอยแสวงหาโทษ
ใจสบายหรือเปล่า เวลาที่มัวคอยแสวงหาโทษของคนอื่น ควรจะเป็นผู้ที่จิตใจสบาย ปลดปล่อย ไม่คิดถึงคนอื่นในทางที่จะทำให้ตนเองเดือดร้อน แต่แม้กระนั้นก็เป็นผู้ที่คอยแสวงหาโทษของคนอื่น ซึ่งความจริงแล้วน่าจะต้องเป็นการกระทำที่น่าเหนื่อย เพราะเหตุว่าอยู่ว่างๆ ก็สบายดี หรือว่าเป็นกุศลก็น่าจะดีกว่า คือมีเมตตา จิตใจก็เบาสบาย แต่ถ้าเป็นผู้ที่สะสมมาที่จะแสวงหาโทษของคนอื่น วันหนึ่งๆ ก็ไม่ว่าง คอยแต่จะคิดว่าคนนั้นมีโทษอะไร คนนี้มีโทษอะไร โทษเท่านี้ยังไม่พอ ยังแสวงมากกว่านั้นอีกว่า คนนั้นจะมีโทษมากกว่านั้นอีกแค่ไหน
นี่ก็แสดงให้เห็นถึงสภาพของอกุศลจิตซึ่งผู้นั้นอาจจะไม่รู้ตัวว่าเป็นอกุศลจิต และบางคนก็อาจจะบอกว่า การคิดถึงความดีของคนอื่นยากกว่าการที่จะคิดถึงความไม่ดีของคนอื่น นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ลักษณะของอกุศลวิตกเป็นอย่างนั้นเพราะการสะสม จนกว่าจะเห็นโทษและกุศลวิตกก็เริ่มคิดถึงความดีของคนอื่น ละเลยการที่จะต้องคิดถึงความไม่ดีของคนอื่น
ข้อความในอรรถกถามีว่า
บุคคลใดประกอบแล้วด้วยลักษณะ คือ คอยติดตามดูโทษของผู้อื่นใดนั้น เปรียบเหมือนช่างชุน คลี่ผ้าออกแล้วก็ตรวจดูผ้าทะลุนั่นแหละฉันใด บุคคลผู้มีจิตคิดแข่งดีก็ฉันนั้นแหละ ลบหลู่คุณแม้ทั้งปวงของผู้อื่น แล้วดำรงอยู่ในอคุณทั้งหลายเท่านั้น
ถ้าได้ยินใครที่กำลังเดือดร้อนเพราะความไม่ดีของคนอื่น ก็คิดถึงลักษณะของช่างชุนผ้า ที่คลี่ผ้าออกแล้วตรวจหาดูผ้าทะลุ เพราะฉะนั้นก็คิดถึงแต่อคุณ ความไม่ใช่คุณของบุคคลอื่นทั้งนั้นในวันหนึ่งๆ
ถ้าใคร่ที่จะรู้ว่าอกุศลธรรมในตนเองมีมากเพียงไร ก็จะอ่านได้ในพระไตรปิฎกและในอรรถกถา ซึ่งพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงจะไม่พ้นไปจากอกุศลธรรมและกุศลธรรม
สำหรับเรื่องของวิปัสสนาญาณเป็นเรื่องสั้นๆ เพราะเหตุว่าเป็นสิ่งที่ทุกคนจะต้องเจริญปัญญาจนกว่าจะประจักษ์แจ้งด้วยวิปัสสนาญาณ ด้วยโลกุตตรปัญญาขณะใด ก็เป็นผู้ที่หมดความสงสัยในพระธรรมทั้งหมดที่ทรงแสดง แต่ว่าเมื่อยังเป็นผู้ที่ไม่ถึง และอกุศลธรรมในวันหนึ่งๆ ก็มีมาก กุศลธรรมในวันหนึ่งๆ ก็น้อยกว่าอกุศลธรรม ข้อความในพระไตรปิฎกทั้งหมด พระผู้มีพระภาคจึงได้ทรงแสดงเรื่องของอกุศลธรรมและกุศลธรรมในชีวิตประจำวันนั่นเอง
ความละเอียดของการพิจารณาพระธรรมเพื่อสอนตนเอง ที่พระผู้มีพระภาคทรงพระมหากรุณาแสดงไว้ในสังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค อนันเตวาสิกานาจริยสูตร ข้อ ๒๓๖ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้อยู่ประพฤติพรหมจรรย์นี้อันไม่มีอันเตวาสิก ไม่มีอาจารย์
ฟังดูก็แปลกสำหรับผู้ที่ยังไม่ได้อ่านข้อความนี้โดยตลอด เพราะเหตุว่าทุกท่านก็เคยได้ยินแต่อันเตวาสิก คือ ลูกศิษย์ และอาจารย์
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุยังมีอันเตวาสิก ยังมีอาจารย์ อยู่เป็นทุกข์ ไม่สำราญ
อยากมีลูกศิษย์ไหม อยากมีอาจารย์ไหม ถ้าไม่อยากมีลูกศิษย์ ไม่ดีทั้ง ๒ อย่าง ไม่ใช่ไม่มีลูกศิษย์แล้วไม่ดี แต่ว่าไม่มีอาจารย์ดี แต่ถ้ายังมีอันเตวาสิก ยังมีอาจารย์ อยู่เป็นทุกข์ ไม่สำราญ
ส่วนภิกษุไม่มีอันเตวาสิก ไม่มีอาจารย์ ย่อมเป็นสุขสำราญ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุยังมีอันเตวาสิก ยังมีอาจารย์ ย่อมอยู่เป็นทุกข์ ไม่สำราญเป็นไฉน
ธรรมทั้งหลายอันเป็นบาป เป็นอกุศล คือ ความดำริอันฟุ้งซ่าน อันเป็นเครื่องประกอบสัตว์ไว้ในภพ ย่อมบังเกิดขึ้นแก่ภิกษุในศาสนานี้ เพราะเห็นรูปด้วยจักษุ อกุศลธรรมเหล่านั้นย่อมอยู่ภายในของภิกษุนั้น เพราะอกุศลธรรม อยู่ภายในของภิกษุนั้น เหตุนั้น เราจึงเรียกภิกษุนั้นว่า มีอันเตวาสิก เพราะอกุศลธรรมอันลามกเหล่านั้นย่อมครอบงำภิกษุนั้น เหตุนั้นเราจึงเรียกภิกษุนั้นว่า มีอาจารย์
มีทั้งลูกศิษย์มีทั้งอาจารย์เต็มทุกวัน แต่ว่าไม่รู้สึก จนกว่าเมื่อไรจะไม่มีอันเตวาสิก คือ ไม่มีลูกศิษย์ และไม่มีอาจารย์ เมื่อนั้นจึงจะเป็นสุข
ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
อีกประการหนึ่ง อกุศลธรรมอันลามก คือ ความดำริฟุ้งซ่านเป็นเครื่องประกอบสัตว์ไว้ในภพ ย่อมเกิดขึ้นแก่ภิกษุ เพราะฟังเสียงด้วยหู เพราะสูดกลิ่นด้วยจมูก เพราะลิ้มรสด้วยลิ้น เพราะถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย เพราะรู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจ อกุศลธรรมเหล่านั้นอยู่ภายในของภิกษุนั้น เพราะอกุศลธรรมอันลามกเหล่านั้นอยู่ภายในของภิกษุนั้น เหตุนั้นเราจึงเรียกภิกษุนั้นว่า มีอันเตวาสิก เพราะอกุศลธรรมอันลามกเหล่านั้นย่อมครอบงำภิกษุนั้น เหตุนั้นเราจึงเรียกภิกษุนั้นว่า มีอาจารย์
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้มีอันเตวาสิกมีอาจารย์ ย่อมอยู่เป็นทุกข์ ไม่สำราญ อย่างนี้แล ฯ
วันนี้มีลูกศิษย์นับไม่ถ้วน เพราะเหตุว่าทางตาเห็น อกุศลธรรมมีภายใน ทางหูได้ยิน ทางจมูกได้กลิ่น ทางลิ้นลิ้มรส ทางกายรู้โผฏฐัพพะ ทางใจคิดนึก
อยู่สำราญ หรืออยู่ไม่สำราญในวันหนึ่งๆ เข้าใจว่าสำราญมาก แต่ว่าแท้ที่จริงแล้วเวลาที่อกุศลจิตเกิด จะชื่อว่า อยู่สำราญไม่ได้เลย
นี่ก็แสดงให้เห็นความต่างกันของผู้มีปัญญากับผู้ที่ยังมืดมน ยังไม่เห็นสภาพธรรมตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้นก็มีความหลงในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะที่เข้าใจว่าทำให้สุขสำราญ แต่แท้ที่จริงแล้ว ขณะใดที่ยังเป็นไปด้วยอกุศล ขณะนั้นจะชื่อว่า อยู่สำราญย่อมไม่ได้
ฟังดูก็เข้าใจทุกอย่าง ไม่มีอะไรที่จะไม่เข้าใจเลย แต่ว่าการที่จะเข้าใจจนกระทั่งถึงเห็นโทษของอกุศล แล้วก็น้อมประพฤติปฏิบัติตามพร้อมกับการเป็นผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐาน ต้องอาศัยการฟังพระธรรมไปเรื่อยๆ
สำหรับภิกษุผู้ไม่มีอันเตวาสิก ไม่มีอาจารย์ ก็โดยนัยตรงกันข้าม คือ เมื่อเห็นรูป ฟังเสียง เป็นต้น ก็ไม่มีอกุศลวิตก จึงย่อมอยู่เป็นสุข สำราญ
ความสุขสำราญนี้ก็มีเป็นขั้นๆ ไป คือ ถ้าเห็นรูป ได้ยินเสียง ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้โผฏฐัพพะ คิดนึกด้วยกุศลจิต ขณะนั้นสบาย เบา ไม่เป็นอกุศล นี่ก็สำราญขั้นหนึ่งแล้ว แต่ถ้ายิ่งสามารถจะดับอกุศลธรรมได้เป็นสมุจเฉทตามลำดับขั้น ก็ยิ่งจะสบายขึ้น
ข้อความในอรรถกถาอธิบายว่า
เพราะกิเลสไม่ได้อยู่ภายนอก
- โสภณธรรม ครั้งที่ 051
- โสภณธรรม ครั้งที่ 052
- โสภณธรรม ครั้งที่ 053
- โสภณธรรม ครั้งที่ 054
- โสภณธรรม ครั้งที่ 055
- โสภณธรรม ครั้งที่ 056
- โสภณธรรม ครั้งที่ 057
- โสภณธรรม ครั้งที่ 058
- โสภณธรรม ครั้งที่ 059
- โสภณธรรม ครั้งที่ 060
- โสภณธรรม ครั้งที่ 061
- โสภณธรรม ครั้งที่ 062
- โสภณธรรม ครั้งที่ 063
- โสภณธรรม ครั้งที่ 064
- โสภณธรรม ครั้งที่ 065
- โสภณธรรม ครั้งที่ 066
- โสภณธรรม ครั้งที่ 067
- โสภณธรรม ครั้งที่ 068
- โสภณธรรม ครั้งที่ 069
- โสภณธรรม ครั้งที่ 070
- โสภณธรรม ครั้งที่ 071
- โสภณธรรม ครั้งที่ 072
- โสภณธรรม ครั้งที่ 073
- โสภณธรรม ครั้งที่ 074
- โสภณธรรม ครั้งที่ 075
- โสภณธรรม ครั้งที่ 076
- โสภณธรรม ครั้งที่ 077
- โสภณธรรม ครั้งที่ 078
- โสภณธรรม ครั้งที่ 079
- โสภณธรรม ครั้งที่ 080
- โสภณธรรม ครั้งที่ 081
- โสภณธรรม ครั้งที่ 082
- โสภณธรรม ครั้งที่ 083
- โสภณธรรม ครั้งที่ 084
- โสภณธรรม ครั้งที่ 085
- โสภณธรรม ครั้งที่ 086
- โสภณธรรม ครั้งที่ 087
- โสภณธรรม ครั้งที่ 088
- โสภณธรรม ครั้งที่ 089
- โสภณธรรม ครั้งที่ 090
- โสภณธรรม ครั้งที่ 091
- โสภณธรรม ครั้งที่ 092
- โสภณธรรม ครั้งที่ 093
- โสภณธรรม ครั้งที่ 094
- โสภณธรรม ครั้งที่ 095
- โสภณธรรม ครั้งที่ 096
- โสภณธรรม ครั้งที่ 097
- โสภณธรรม ครั้งที่ 098
- โสภณธรรม ครั้งที่ 099
- โสภณธรรม ครั้งที่ 100