โสภณธรรม ครั้งที่ 096
ตอนที่ ๙๖
เพราะกิเลสไม่ได้อยู่ภายนอก ไม่ได้อยู่ที่สัตว์บุคคลอื่น สิ่งอื่น ไม่ได้อยู่ที่รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์ เพราะฉะนั้นเมื่อกิเลสเป็นธรรมที่อยู่ภายในตนเอง จึงเป็นอันเตวาสิก คือ ภายใน
ต่อไปนี้เวลาที่ใครพูดถึงลูกศิษย์ ก็ทราบได้ ไม่ใช่คนอื่นที่มาแสดงความเคารพนับถือ แต่ว่าขณะใดที่อกุศลธรรมเกิดขึ้นภายใน ขณะนั้นเป็นอันเตวาสิก
ถ้ายังคงเพลิดเพลินไป หรือจิตใจฟูขึ้นด้วยลาภ ยศ สรรเสริญ สักการะจากบุคคลอื่น ขณะนั้นเป็นอกุศลก็ต้องเป็นผู้ที่มีอันเตวาสิกภายใน แต่ถ้าเป็นผู้ที่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง แล้วไม่หวั่นไหวกับลาภ ยศ สรรเสริญ สุข หรือว่าเสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์
ขณะที่เป็นกุศลจิตที่ไม่หวั่นไหว ขณะนั้นก็ไม่มีอันเตวาสิก และเมื่อกิเลสอกุศลธรรมเหล่านั้นย่อมครอบงำ ท่วมทับ กิเลสเหล่านั้นก็ชื่อว่า เป็นอาจารย์ของผู้มีกิเลสนั้น ด้วยอรรถว่า อบรม คือ สั่งสอน กล่าวคือ ให้กระทำกายวาจาอย่างนั้นๆ
อาจารย์ก็ร้ายมาก ใช่ไหม คือทำให้เกิดกายทุจริต และวจีทุจริตต่างๆ ใครทำให้เกิดกายทุจริตและวจีทุจริต ถ้าไม่ใช่กิเลสอกุศลธรรมของตนเอง
เพราะฉะนั้นขณะใดที่เกิดกายทุจริตขึ้น ก็ให้ระลึกได้ว่า ขณะนั้นมีอาจารย์ คือ มีอกุศลธรรมซึ่งเป็นผู้ทำให้กายทุจริตนั้นเกิดขึ้น
สำหรับชีวิตประจำวันของแต่ละคนซึ่งเป็นผู้ที่ศึกษาธรรม และยังมีกิเลสอกุศลธรรมอยู่ ก็ย่อมจะมีทั้งความรักและความเคารพผู้ที่เป็นครูอาจารย์ จะมีแต่ความเคารพอย่างเดียว โดยที่ไม่มีความรักด้วย ก็รู้สึกว่าเป็นผู้ที่ต้องมีความมั่นคงในกุศลและเป็นผู้ที่ไม่หวั่นไหว แต่ส่วนใหญ่ของบรรดาผู้ที่ศึกษาธรรม ก็ยังจะได้ยินได้ฟังว่า เป็นผู้ที่มีความรักเคารพครูอาจารย์ ถ้าจะพิจารณาให้ละเอียดถึงแต่ละบุคคล ก็จะเห็นได้ว่า บางคนก็รักและเคารพเสมอกัน บางคนก็รักมากกว่าเคารพ และบางคนก็เคารพมากกว่ารัก
นี่ก็เป็นจิตใจธรรมดาของผู้ที่ยังมีอกุศลธรรม แต่ว่าแม้จะจำแนกออกถึง ๓ ประเภท คือ รักเคารพเสมอกัน รักมากกว่าเคารพ หรือว่าเคารพมากกว่ารัก แต่ว่าความปลีกย่อย ความละเอียดของระดับขั้น ก็ยังมีมากกว่านั้นอีก เช่น ถ้ากล่าวถึงผู้ที่รักและเคารพเสมอกัน ก็อาจจะเคารพนิดเดียว เพราะฉะนั้นความรักที่เท่ากันก็นิดเดียว เสมอกัน หรือว่าเคารพมากขึ้น ความรักก็มากขึ้นอีก ซึ่งก็เสมอกันไปเรื่อยๆ และสำหรับบางคนที่ว่ารักมากกว่าเคารพ รักนั้นก็อาจจะมากกว่าเคารพเพียงนิดเดียว แต่ว่าเคารพนั้นมีมากก็ได้ หรือผู้ที่เคารพมากกว่ารัก ก็อาจจะเคารพนิดหน่อย หรือว่าอาจจะเคารพมาก เหลือความรักเพียงเล็กน้อย ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่ถูกต้องเพราะเหตุว่าถ้าสามารถที่จะเปลี่ยนความรักให้เป็นความเมตตา คือเป็นผู้ที่มีความเคารพและเมตตาในครูอาจารย์ นั่นก็ย่อมจะเป็นกุศลซึ่งควรแก่การอนุโมทนา เพราะเหตุว่าเป็นผู้เห็นโทษของอกุศล เพราะเหตุว่าเมตตาเป็นกุศล แต่ความรักซึ่งยังมีเจือปนอยู่กับความเคารพนั้นก็ยังเป็นอกุศล
เพราะฉะนั้นถ้าผู้ใดสามารถที่จะพิจารณาเห็นโทษของอกุศล และความเคารพเป็นกุศล เพราะฉะนั้นความรักก็ลดลง และก็เปลี่ยนเป็นความเมตตาเพิ่มขึ้น อันนั้นก็เป็นผู้ที่ขัดเกลากิเลส และเป็นผู้ที่เห็นโทษของอกุศล
ข้อความในสารัตถปกาสินี อรรถกถา สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค อรรถกถาปฐมทารุขันธสูตรที่ ๔ มีข้อความว่า
บทว่า อันโตปูติ ความว่า ชื่อว่า เป็นผู้เน่าใน เพราะเป็นความเน่าของคุณความดี แม้ของบุคคลผู้ไม่เน่าในอาการ ๓๒ มีไตและหัวใจเป็นต้น
นี่คือข้อความในอรรถกถาซึ่งก็มีประโยชน์ เพราะเหตุว่าเป็นชีวิตประจำวัน ที่จะชี้ให้เห็นแต่ละบุคคลตามความเป็นจริงว่า แม้ว่าเป็นผู้ที่อวัยวะไม่เน่า คือ หัวใจก็ดี ปอด ตับไตดีหมด แต่ก็ชื่อว่าเป็นผู้ในเน่าใน ในขณะที่เป็นอกุศล แม้ว่ากำลังมีชีวิตอยู่ จิตใจก็เน่าได้ แม้ว่าร่างกายจะไม่เน่า
ใคร ไม่ใช่ท่านผู้ฟังหรือว่าใช่ แต่ละคนตามความเป็นจริง เป็นผู้ที่ตรง อาจหาญที่จะพิจารณาตัวเอง แล้วก็รู้ว่ากำลังดีขึ้น คือ เป็นผู้ที่มีศรัทธาที่จะประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมโดยเห็นโทษของอกุศล แล้วก็มีความตั้งใจที่จะขัดเกลา ไม่ใช่ตั้งใจที่จะหลีกเลี่ยง มิฉะนั้นแล้วข้อความนี้จะไม่มีประโยชน์เลยที่แสดงให้เห็นว่า จิตใจเน่า แม้ว่าร่างกายไม่เน่า
ที่จะเห็นความเน่า ที่จะมีกลิ่นที่ไม่ดีออกมา ก็คือขณะใดที่กายทุจริตเกิดขึ้น วาจาทุจริตเกิดขึ้น แสดงให้เห็นว่ากว่ากายทุจริตและวาจาทุจริตจะเกิด อกุศลจิตภายในต้องมากสักแค่ไหน เพราะเหตุว่าอาจจะต้องคิดโดยยังไม่พูด ซึ่งเป็นอกุศลวิตก แต่ว่าเมื่อคิดมากเข้า และก็อกุศลมีกำลังขึ้น ก็ทำให้เกิดวจีทุจริตรึกายทุจริต
เพราะฉะนั้นวันหนึ่งๆ ถ้าเห็นกายทุจริตและวจีทุจริตก็จะรู้ได้ว่า อกุศลวิตกย่อมเกิดนับไม่ถ้วน
สำหรับบรรพชิต ข้อความตอนท้ายของอรรถกถาพระสูตรนี้มีว่า
ภิกษุในศาสนานี้เป็นผู้ต้องอาบัติที่เศร้าหมองอย่างใดอย่างหนึ่ง การออกจากอาบัติเช่นนั้นยังไม่ปรากฏ นี้เราเรียกว่า ความเป็นผู้เน่าภายใน
สำหรับผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ ก็เป็นผู้ที่ควรจะพิจารณาเพื่อที่จะขัดเกลากิเลสของตนเอง ถ้ารู้สึกตัวว่าจิตเน่า ก็น่ารังเกียจมากทีเดียว แต่ก็จะต้องใช้ยารักษา มิฉะนั้นแล้วก็ไม่สามารถที่จะทำให้จิตเน่ากลับคืนสู่สภาพปกติได้ เพราะฉะนั้นก็เป็นผู้ที่ฟังพระธรรม แล้วก็อบรมเจริญกุศลทุกประการให้ถึงพร้อม ซึ่งไม่ต้องเป็นห่วงกังวลเรื่องของวิปัสสนาญาณต่างๆ เลย เพราะเหตุว่าการที่วิปัสสนาญาณต่างๆ จะเกิดขึ้นเมื่อไร ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาเลย แต่ว่าเมื่อเป็นผู้ที่สะสมเหตุ คือ การอบรมเจริญสติปัฏฐานไปเรื่อยๆ วันหนึ่งวันใดก็จะต้องถึง เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้จริงๆ ว่า ไม่ต้องเป็นห่วงเรื่องของวิปัสสนาญาณแต่ละขั้น แต่ต้องเป็นผู้ที่เข้าใจพระธรรมและข้อปฏิบัติถูกต้องเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน และเป็นผู้ที่ขัดเกลากิเลส
การอ่านและการพิจารณาพระธรรมในพระไตรปิฎก ทำให้เห็นความเป็นผู้ละเอียดของบุคคลต่างๆ ในพระไตรปิฎกเป็นตัวอย่าง ซึ่งก็จะเป็นเครื่องสอนให้ประพฤติปฏิบัติตามได้ยิ่งขึ้น เมื่อเห็นความละเอียดของสภาพธรรม เช่น เห็นโทษของแม้การเพียงเหน็บแนม เป็นโทษหรือเปล่ะ ดีหรือไม่ดี หรือว่าใครมีวาจาเหน็บแนมเก่ง น่าสรรเสริญเหลือเกิน นั่นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องเลย เพราะเหตุว่าถ้าผู้ใดเห็นโทษ แม้การเพียงเหน็บแนม ก็แสดงว่าผู้นั้นต้องเป็นผู้ที่ละเอียด
ข้อความในสังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค โลหิจจสูตร ข้อ ๒๐๕ มีข้อความว่า
สมัยหนึ่ง ท่านพระมหากัจจายนะอยู่ ณ อรัญญกุฎี ใกล้มักกรกฏนคร ในอวันตีชนบท ครั้งนั้น พวกพราหมณ์มาณพผู้เที่ยวหาฟืนเป็นอันมากซึ่งเป็นอันเตวาสิกของโลหิจจพราหมณ์ ได้พากันเข้าไปยังอรัญญกุฎีของท่านพระมหากัจจายนะ ครั้นแล้วพากันเดินตามกันไปมา เที่ยวตามกันไปรอบๆ กุฎี เล่นเสเลยยกกีฬา มีเสียงเอ็ดอึงอึกทึกอยู่ว่า
อันสมณะโล้นเหล่านี้เป็นเชื้อแถวคฤหบดี เป็นคนดำ เป็นเหล่ากอของพวกเกิดแต่เท้าแห่งพรหม อันชาวภารตแว่นแคว้นเหล่านี้สักการะเคารพ นับถือ บูชา ยำเกรง ดังนี้ ฯ
เห็นอกุศลไหม มีวาจาที่กล่าวว่า อันสมณะโล้นเหล่านี้เป็นเชื้อแถวคฤหบดี เป็นคนดำ เป็นเหล่ากอพวกเกิดแต่เท้าแห่งพรหม
นี่ดูถูกดูหมิ่น และก็มีวาจาที่เหยียดหยามหรือเปล่า ซึ่งข้อความในอรรถกถามีว่า
ท่านพระมหากัจจายนะคิดว่า พวกเหล่านี้มัดไม้เป็นกำแล้วเหวี่ยงไว้ที่บริเวณอันน่ารื่นรมย์ อันมีทรายที่เกลี่ยไว้สม่ำเสมอส่องแสงระยิบระยับคล้ายแผ่นเงิน คุ้ยทราย เอามือจับมือกันเล่นไปรอบๆ บรรณกุฎี โห่ร้อง แล้วร้องเล่นว่า
สมณะโล้นเหล่านี้ พวกกฎุมพีสักการะแล้วๆ จึงกระทำเล่นๆ กันเกินไป ทั้งไม่รู้ว่ามีภิกษุทั้งหลายอยู่ในที่อยู่ จำเราจักแสดงภิกษุเหล่านั้นอยู่ดังนี้ จึงออกจากบรรณกุฎี
เห็นว่าเล่นกันมากนักและกล่าวคำที่ไม่เป็นประโยชน์ด้วย คงจะคิดว่าไม่มีภิกษุอยู่ในที่อยู่นั้น เพราะฉะนั้นเพื่อให้ทราบว่า มีภิกษุอยู่ในที่นั้น
ครั้งนั้น ท่านพระมหากัจจายนะออกจากวิหารแล้ว ได้กล่าวกับมาณพเหล่านั้นว่า
ดูก่อนมาณพทั้งหลาย พวกเธออย่าได้ส่งเสียงไป เราจักกล่าวธรรมให้เธอทั้งหลายฟัง
เมื่อท่านพระมหากัจจายนะกล่าวอย่างนี้แล้ว มาณพเหล่านั้นก็ได้พากันนิ่งอยู่ ครั้งนั้นแล ท่านพระมหากัจจายนะได้กล่าวกับมาณพเหล่านั้นด้วยคาถาทั้งหลายว่า
พราหมณ์เหล่าใด ระลึกถึงธรรมของพราหมณ์เก่าๆ พราหมณ์เหล่านั้นเป็นผู้สูงสุดโดยศีลมาก่อน ทวารทั้งหลายย่อมเป็นอันพราหมณ์เหล่านั้นคุ้มครองแล้วรักษาดีแล้วเพราะครอบงำความโกรธเสียได้ พราหมณ์เหล่าใดระลึกถึงธรรมของพราหมณ์เก่าได้ พราหมณ์เหล่านั้นเป็นผู้ประพฤติในธรรม คือในกุศลกรรมบถ และในฌาน
ฟังดูเหมือนกับไม่มีอะไร แต่ว่าอรรถกถาอธิบายว่า
ที่ท่านพระเถระกล่าวอย่างนี้ เพราะคิดว่าเมื่อกล่าวถึงคุณของผู้มีคุณ ความไม่มีคุณของผู้ไม่มีคุณ ก็จะปรากฏชัด
ท่านผู้ฟังเป็นอย่างนี้หรือเปล่า เปรียบเทียบคุณของคนอื่นมี เช่น พระอริยเจ้าหรือผู้ที่มีคุณความดี แล้วก็ระลึกถึงตนเองได้ว่า ตนเองยังไม่มีคุณอย่างนั้น เพื่อที่จะรู้ได้ตามความเป็นจริงว่า เป็นธรรมที่สะสมมาต่างกัน
เพื่อที่จะย่ำยีความเมาของพราหมณ์ในปัจจุบัน ท่านพระมหากัจจายนะจึงได้กล่าวต่อไปว่า
พราหมณ์เหล่าใดละเลยธรรมเหล่านี้เสีย เป็นผู้เมาด้วยโคตร เป็นผู้ถูกความโกรธครอบงำแล้ว มีอาชญาในตนมากมาย ประพฤติผิดในสัตว์ทั้งหลาย ทั้งที่มีใจหวาดสะดุ้งและมั่นคง จึงประพฤติไม่เรียบร้อย การสมาทานวัตรทั้งปวง คือ การไม่กิน การนอนบนพื้นดิน การอาบน้ำในเวลาเช้า และพระเวท ๓ ของบุคคลผู้ไม่คุ้มครองทวาร เป็นการเปล่าผล เหมือนทรัพย์เครื่องปลื้มใจอันบุรุษได้แล้วในความฝันฉะนั้น
บริขารภัณฑ์เหล่านี้ คือ หนังเสือหยาบๆ ชฎา เหงือก มนต์ ศีลพรต ตบะ การล่อลวง ไม้เท้าคดๆ และการเอาน้ำลูบหน้า เป็นวรรณของพวกพราหมณ์ การภาวนาเห็นแก่อามิส พวกพราหมณ์ก็ทำกันแล้ว
และได้กล่าวเตือนต่อไปว่า
ส่วนจิตอันตั้งมั่นดีแล้ว อันผ่องใส ไม่ขุ่นมัว ไม่เหี้ยมโหดในสัตว์ทั้งปวง ข้อนั้นเป็นทางถึงพรหม
ถ้าท่านผู้ฟังจะสังเกตคำที่ท่านพระมหากัจจายนะกล่าวว่า การไม่กิน การนอนบนพื้นดิน การอาบน้ำในเวลาเช้า และพระเวท ๓ ของบุคคลผู้ไม่คุ้มครองทวาร เป็นการเปล่าผล
จุดสำคัญอยู่ที่การไม่คุ้มครองทวาร ซึ่งก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจ ถ้าฟังจริงๆ แล้วก็จะได้สนใจว่า การเป็นผู้คุ้มครองทวารหมายความว่าอย่างไร
ผลของการฟังด้วยอโยนิโสมนสิการ คือ การไม่ฟังด้วยดี คือ
ครั้งนั้นแล มาณพเหล่านั้นขัดเคือง ไม่พอใจ ได้พากันเข้าไปหาโลหิจจพราหมณ์ถึงที่อยู่ ครั้นแล้วได้กล่าวกะโลหิจจพราหมณ์ว่า ขอท่านผู้เจริญพึงทราบเถิด พระสมณมหากัจจายนะขอดค่อน ด่าว่าถึงมนต์ของพราหมณ์ทั้งหลายโดยส่วนเดียว
เมื่อมาณพเหล่านั้นกล่าวแล้วอย่างนี้ โลหิจจพราหมณ์ก็ขัดเคือง ไม่พอใจ
เป็นธรรมดาใช่ไหม ลองคิดถึงทุกคนเวลาที่ได้ยินอย่างนั้นก็จะเกิดความไม่พอใจ
ลำดับนั้น โลหิจจพราหมณ์จึงคิดดังนี้ว่า การที่เราพึงด่า พึงเหน็บแนม พึงบริภาษพระสมณมหากัจจายนะ เพราะเชื่อฟังคำของมาณพเป็นแน่นอนนี้ ไม่สมควรแก่เราเลย อย่ากระนั้นเลย เราไปหา แล้วถามดูเถิด
นี่คือผู้ที่สะสมความละเอียด แม้ว่าจะโกรธในขณะที่ได้ยินได้ฟัง แต่ก็ยังระลึกได้ว่า การที่จะพูดไม่ดี แล้วก็พลอยบริภาษบุคคลอื่นไปด้วย เป็นสิ่งที่ไม่ควร ควรที่จะได้ไปสอบถามดูก่อน
ครั้งนั้นแล โลหิจจพราหมณ์กับมาณพเหล่านั้นได้เข้าไปหาท่านพระมหากัจจายนะถึงที่อยู่ ได้ปราศรัยกับท่านพระมหากัจจายนะ ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ถามท่านพระมหากัจจายนะว่า
ท่านกัจจายนะผู้เจริญ พวกมาณพผู้เที่ยวหาฟืนเป็นอันมากซึ่งเป็นอันเตวาสิกของข้าพเจ้า ได้มาในที่นี้หรือหนอ
ท่านพระมหากัจจายนะตอบว่า
ดูก่อนพราหมณ์พวกมาณพผู้เที่ยวหาฟืนเป็นอันมาก ซึ่งเป็นอันเตวาสิกของท่าน ได้มาแล้วในที่นี้
โลหิจจพราหมณ์ถามว่า ท่านกัจจายนะได้ปราศรัยอะไรกับมาณพเหล่านั้นบ้างหรือ
ท่านพระมหากัจจายนะตอบว่า ดูกรพราหมณ์ อาตมาได้ปราศรัยกับมาณพเหล่านั้น
โลหิจจพราหมณ์ถามว่า ก็ท่านกัจจายนะได้ปราศรัยกับมาณพเหล่านั้นอย่างไรเล่า
นี่คือผู้ที่ฟังและสอบถามเพื่อความถูกต้องก่อนที่จะเชื่อคำที่มานพทั้งหลายไปบอกว่า ท่านพระมหากัจจายนะขอดค่อนด่าว่าพวกพราหมณ์
ซึ่งท่านพระมหากัจจายนะได้กล่าวกับโลหิจจพราหมณ์ตามที่ท่านสนทนากับมานพเหล่านั้น ซึ่งความเป็นผู้ละเอียดของโลหิจจพราหมณ์ ทำให้ท่านถามท่านพระมหากัจจายนะว่า
ท่านกัจจายนะได้กล่าวว่า ผู้มีทวารอันไม่คุ้มครองแล้ว ดังนี้ ท่านกัจจายนะ ด้วยเหตุมีเท่าไรหนอ บุคคลจึงชื่อว่าเป็นผู้มีทวารอันไม่คุ้มครองแล้ว
ซึ่งผู้ที่มีทวารอันไม่คุ้มครอง คือ เมื่อเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส แล้วก็คิดนึก อกุศลจิตก็เกิด มีความสงสัยอะไรไหม ความเป็นผู้ละเอียดของการที่จะศึกษาพระธรรมเพื่อที่จะสอนตนเอง
พระ ขอถามเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน คือ การเจริญสติปัฏฐานจะต้องรู้ลักษณะของรูปธรรมนามธรรม ทีนี้ผู้ที่เจริญสติปัฏฐาน เป็นไปได้ไหมที่ประจักษ์ลักษณะของรูปธรรม โดยที่ยังไม่เคยพิจารณาลักษณะของนามธรรมมาก่อน แล้วก็สามารถประจักษ์ได้ว่า ลักษณะของรูปธรรมไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน โดยที่ไม่รู้ลักษณะของสภาพรู้ว่า เป็นอย่างไร เป็นไปได้ไหม
ท่านอาจารย์ ถ้าสติปัฏฐานของบุคคลนั้นระลึกลักษณะของรูปหนึ่งรูปใดที่กำลังปรากฏ และปัญญาเริ่มพิจารณาสังเกตที่จะรู้ลักษณะของรูป โดยสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่เรา ไม่ใช่นิ้ว ไม่ใช่แขน ไม่ใช่มือ เป็นแต่เพียงลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ที่ปรากฏ เช่น ลักษณะที่อ่อนหรือแข็งที่ปรากฏ ถ้าสติขณะนั้นระลึกศึกษาลักษณะที่แข็ง ก็รู้ว่าไม่ใช่เราเลย เป็นแต่เพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่ง ขณะนั้นก็เป็นการเริ่มต้นที่จะพิจารณารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน แต่ว่ายังไม่ถึงขั้นความสมบูรณ์ของปัญญาที่จะเป็นวิปัสสนาญาณ
พระ ทีนี้ถ้าเกิดปัญญาเริ่มค่อยๆ พิจารณาจนรู้ลักษณะของสภาพรู้ เป็นนามธรรม หรือลักษณะของจิต ถ้าเกิดว่าลักษณะของสภาพรู้ที่ปรากฏ เช่น จักขุวิญญาณปรากฏ เป็นไปไม่ได้ที่จะไม่แทงตลอดถึงลักษณะของรูปธรรม ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ขณะนี้มีนามธรรมซึ่งต่างกับรูปธรรม ถ้าปัญญาจะรู้ลักษณะของรูปธรรม ก็เพราะสติเกิดระลึกตรงลักษณะของรูปธรรม ถ้าปัญญาจะรู้ลักษณะของนามธรรมก็เพราะสติเกิดระลึกศึกษารู้ในสภาพที่เป็นนามธรรม
พระ แต่ผู้ที่พิจารณาลักษณะของนามธรรม เช่นจักขุวิญญาณซึ่งเป็นสภาพรู้สี หรือรู้สิ่งที่ปรากฏ ถ้าสติเกิดขึ้นระลึกตรงลักษณะ จะต้องรู้ว่าขณะนั้นเป็นธาตุชนิดหนึ่งที่กำลังรู้ว่า ที่ปรากฏ เพราะฉะนั้นสติจะระลึกรู้ถึงลักษณะของสภาพของสีด้วย ไม่อย่างนั้นจะรู้ไม่ได้ว่า ลักษณะนั้นเป็นลักษณะของสภาพรู้ ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ไม่ว่าจะเป็นสภาพรู้ทางตา หรือสภาพรู้ทางหู เวลาที่สติปัฏฐานเกิดก็คือ คุ้นเคยใกล้ชิดที่จะรู้ในลักษณะของนามธาตุ ซึ่งเป็นธาตุรู้ เพราะเหตุว่าทุกท่านได้ยินได้ฟังคำว่า นามธรรม หรือนามธาตุ เพียงชื่อ แม้แต่ในขณะที่กำลังได้ยิน ได้ยินก็ไม่ใช่ตัวตน แต่แม้กระนั้นก็เพียงฟังเข้าใจเรื่องนามธรรมว่า เป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ แต่ว่ายังไม่ได้มีปัญญาที่จะแทงตลอดจริงๆ ว่าในขณะที่ได้ยินนั้นเป็นอาการรู้
ถ้ารู้ว่าในขณะที่ได้ยินเป็นอาการรู้ ในขณะที่เห็นเป็นอาการรู้ ในขณะที่คิดนึกเป็นอาการรู้ ในขณะนั้นก็จะรู้ว่า ลักษณะของสภาพรู้ ไม่ได้เป็นรูปอย่างหนึ่งอย่างใดเลย แต่ว่าขณะใดที่สติระลึกลักษณะของนาม ก็จะค่อยๆ พิจารณารู้ในอาการที่เป็นธาตุรู้ ในขณะที่พิจารณาลักษณะของรูป ก็ค่อยๆ พิจารณารู้ลักษณะของสภาพที่เป็นรูปธรรม
พระ ทีนี้ถ้าเกิดลักษณะของสภาพรู้กำลังปรากฏ สติก็ค่อยๆ ระลึกแล้วพิจารณา รู้ลักษณะที่กำลังเป็นสภาพรู้ ปัญญาค่อยๆ ศึกษา จะต้องมีลักษณะของรูปธรรมสลับกันใช่ไหม
ท่านอาจารย์ แต่ว่าขณะนั้นแล้วแต่ว่าสติจะระลึกลักษณะที่เป็นนามธรรม หรือว่าระลึกตรงลักษณะของรูปธรรม
พระ ใช่ เพราะว่าปัญญาต้องรู้ทีละอย่างในขั้นแรกๆ ก่อน ก่อนที่จะรู้ความต่าง ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ต้องมีการฟังเรื่องของนามธรรมและรูปธรรม จนกระทั่งมีความเข้าใจจริงๆ แล้วจึงจะเป็นปัจจัยให้สติปัฏฐานเกิดระลึกตรงลักษณะนั้นๆ ได้ เช่น ในขณะที่กำลังเห็น ก็จะต้องฟังแล้วพิจารณารู้ว่ามีสภาพรู้ มีธาตุรู้ มีอาการรู้ ในขณะที่กำลังเห็น แล้วก็มีการได้ยิน หรือว่ามีการคิดนึก
เพราะฉะนั้นสติปัฏฐานไม่มีการเจาะจงตั้งใจที่จะระลึกเฉพาะนามใดหรือรูปใด แล้วแต่ว่าสติจะเกิดระลึกที่ลักษณะของสภาพธรรมใด
เพราะฉะนั้นก็แล้วแต่ว่าสติจะระลึกลักษณะของสภาพของนามธรรม หรือจะระลึกลักษณะของรูปธรรมก็ได้
พระ ทีนี้อีกคำถามหนึ่ง วิปัสสนาญาณทั้ง ๑๖ ขั้น ผู้ที่เป็นพระอริยบุคคลท่านมีวิปัสสนาญาณครบทั้ง ๑๖ ขั้นแล้ว แล้วความต่างของปัญญาของพระโสดาบันกับพระสกทาคามี ท่านมีปัญญาต่างกันอย่างไร ในเมื่อปัญญาก็รู้ญาณ ๑๖ ขั้นเหมือนกัน อาตมาหมายถึงท่านก็ประจักษ์การเกิดดับของนามรูป จนกระทั่งวิปัสสนาญาณทั้ง ๑๖ ขั้นก็เกิดแล้ว ท่านพระสกทาคามีก็ไม่ได้พิจารณาอย่างอื่น นอกจากพิจารณาในลักษณะของธรรมตามวิปัสสนาญาณนี้อีก ใช่ไหม
ทีนี้กิเลสที่เป็นอนุสัยที่ถูกปัญญานั้นปหานไป ปัญญาท่านเกิดเนื่องจากรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมชัดขึ้นหรืออย่างไร
ท่านอาจารย์ พระโสดาบันรู้ตามความเป็นจริงว่า ท่านยังมีกิเลสอะไรเหลืออยู่ ท่านเพียงแต่ดับทิฏฐิความเห็นผิดที่เคยยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล แต่เวลาที่โลภะเกิดขึ้น พระโสดาบันก็รู้ว่า เป็นสภาพนามธรรมซึ่งยังมีปัจจัยจึงเกิด ท่านยังมีความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ด้วยเหตุที่ท่านเป็นผู้ที่รู้จักตนเองตามความเป็นจริง จึงรู้ว่าเป็นผู้ยังมีกิเลสเหลือ ด้วยเหตุนี้จึงอบรมเจริญปัญญาเพื่อที่จะรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม จนคลายการที่จะยึดติดมั่นอย่างหยาบในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ
เพราะท่านเป็นผู้ที่ประจักษ์แจ้งว่า การที่จะดับกิเลสนั้นจะต้องดับตามลำดับขั้น ไม่ใช่ว่าเมื่อเป็นพระโสดาบันแล้วจะเหมือนพระอรหันต์ คือไม่มีกิเลสเลย แต่ว่าเมื่อได้ระลึกลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมจนทั่ว ก็รู้ชัดว่า สภาพธรรมทุกอย่างเป็นแต่เพียงธาตุแต่ละชนิด ซึ่งอาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้น จึงไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล นี่คือปัญญาขั้นพระโสดาบันที่ดับการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนได้ แต่ท่านก็รู้ตามความเป็นจริงว่า ยังมีกิเลสที่จะต้องละต่อไป
พระ มีอีกปัญหาหนึ่ง คือ เรื่องของอารมณ์ โลภมูลจิต หรือโลภเจตสิก เว้นโลกุตตรธรรม ๙ ที่โลภเจตสิกรู้ไม่ได้ ทีนี้ลักษณะของมหากิริยาจิตที่โลภมูลจิตสามารถมีมหากิริยาจิตเป็นอารมณ์ได้ ช่วยยกตัวอย่าง
ท่านอาจารย์ เป็นการใคร่ที่จะเป็นเช่นพระอรหันต์ เท่านั้นเอง
ข้อสำคัญก็คือว่า ไม่ต้องกังวลเลยว่า นามรูปปริจเฉทญาณ หรือว่าวิปัสสนาญาณขั้นอื่นๆ จะเกิดเมื่อไร เพราะเหตุว่านั่นเป็นเรื่องของผล ถ้าเหตุมีสมควรแก่ผลเมื่อไร ผลจึงจะเกิดได้
- โสภณธรรม ครั้งที่ 051
- โสภณธรรม ครั้งที่ 052
- โสภณธรรม ครั้งที่ 053
- โสภณธรรม ครั้งที่ 054
- โสภณธรรม ครั้งที่ 055
- โสภณธรรม ครั้งที่ 056
- โสภณธรรม ครั้งที่ 057
- โสภณธรรม ครั้งที่ 058
- โสภณธรรม ครั้งที่ 059
- โสภณธรรม ครั้งที่ 060
- โสภณธรรม ครั้งที่ 061
- โสภณธรรม ครั้งที่ 062
- โสภณธรรม ครั้งที่ 063
- โสภณธรรม ครั้งที่ 064
- โสภณธรรม ครั้งที่ 065
- โสภณธรรม ครั้งที่ 066
- โสภณธรรม ครั้งที่ 067
- โสภณธรรม ครั้งที่ 068
- โสภณธรรม ครั้งที่ 069
- โสภณธรรม ครั้งที่ 070
- โสภณธรรม ครั้งที่ 071
- โสภณธรรม ครั้งที่ 072
- โสภณธรรม ครั้งที่ 073
- โสภณธรรม ครั้งที่ 074
- โสภณธรรม ครั้งที่ 075
- โสภณธรรม ครั้งที่ 076
- โสภณธรรม ครั้งที่ 077
- โสภณธรรม ครั้งที่ 078
- โสภณธรรม ครั้งที่ 079
- โสภณธรรม ครั้งที่ 080
- โสภณธรรม ครั้งที่ 081
- โสภณธรรม ครั้งที่ 082
- โสภณธรรม ครั้งที่ 083
- โสภณธรรม ครั้งที่ 084
- โสภณธรรม ครั้งที่ 085
- โสภณธรรม ครั้งที่ 086
- โสภณธรรม ครั้งที่ 087
- โสภณธรรม ครั้งที่ 088
- โสภณธรรม ครั้งที่ 089
- โสภณธรรม ครั้งที่ 090
- โสภณธรรม ครั้งที่ 091
- โสภณธรรม ครั้งที่ 092
- โสภณธรรม ครั้งที่ 093
- โสภณธรรม ครั้งที่ 094
- โสภณธรรม ครั้งที่ 095
- โสภณธรรม ครั้งที่ 096
- โสภณธรรม ครั้งที่ 097
- โสภณธรรม ครั้งที่ 098
- โสภณธรรม ครั้งที่ 099
- โสภณธรรม ครั้งที่ 100