โสภณธรรม ครั้งที่ 098
ตอนที่ ๙๘
ขณะนั้นสติจะระลึกลักษณะของปรมัตถธรรมที่ปรากฏ การที่มีสภาพธรรมปรากฏแล้วสติไม่ระลึก ก็เป็นเพราะเหตุว่ายังไม่สามารถที่จะรู้ชัดว่า ความคิดทางใจเป็นเรื่องราวของสิ่งที่ปรากฏเท่านั้นเอง ทั้งๆ ที่สิ่งที่ปรากฏทางตานั้นก็ดับหมดไปแล้ว
เพราะฉะนั้นความทุกข์ยากต่างๆ ที่ปรากฏในพระไตรปิฎกจะเห็นได้ว่า แม้ท่านพระฉันนะท่านก็มีทุกสิ่งทุกอย่าง มีอาหารที่สะดวกสบาย มีผู้อุปัฏฐากที่สะดวกสบาย มียารักษาโรคที่สะดวกสบาย แต่ถึงกระนั้นทุกข์จริงๆ ของท่านก็คือ ความป่วยไข้ ฉันใด ทุกข์ของคฤหัสถ์หรือคนทั้งหลายในโลก ทุกข์จริงๆ ก็คือความป่วยไข้เท่านั้นเอง นอกจากความป่วยไข้แล้ว ก็เป็นเรื่องของทุกข์ใจทั้งหมด ซึ่งไม่ถึงกายเลย ไม่เจ็บ ไม่ปวด แต่ว่าความคิดก็ทำให้เกิดความเร่าร้อน เดือดร้อนได้
เพราะฉะนั้นถ้าสามารถจะรู้แหล่งของความทุกข์ คือ ความคิด และเห็นความไม่มีสาระของความคิด ก็จะทำให้ละคลายการที่จะหลงยึดถือความคิดว่าเป็นสิ่งที่ควรจะเดือดร้อน
สำหรับผู้ที่ยากไร้จริงๆ ที่คิดว่าตนเองกำลังมีความทุกข์ความเดือดร้อนมาก ก็ยังเป็นผู้ที่มีสมบัติมากกว่าบรรพชิต เพราะเหตุว่าบรรพชิตมีผ้านุ่งห่มเพียง ๓ ผืน สำหรับผู้ที่ยากไร้จริงๆ ก็คงจะมีมากกว่า ๓ ผืน หรือว่าก็คงจะมีพอใช้ และสำหรับบรรพชิตก็มีบาตรเพียง ๑ ใบ สำหรับผู้ที่มีความทุกข์ ความเดือดร้อน ความยากไร้ ก็คงจะมีสมบัติมากกว่าบาตรเพียง ๑ ใบ และสำหรับผู้ที่มีความทุกข์ยากเรื่องที่อยู่ที่อาศัย สำหรับบรรพชิตก็ยังมีที่อยู่ที่อาศัยที่น้อยกว่าผู้กำลังมีความทุกข์ยาก เพราะเหตุว่าที่อยู่ที่อาศัยของบรรพชิตนั้นก็เป็นร่มไม้บ้าง เป็นถ้ำ เป็นป่า เป็นที่อาศัย
เพราะฉะนั้นถ้าจะพิจารณาจริงๆ ถึงความทุกข์ ก็จะเห็นได้ว่าเป็นเรื่องของทุกข์กาย ถ้าเป็นความทุกข์จริงๆ ก็ต้องเป็นกายวิญญาณที่ประสบกับโผฏฐัพพะที่ไม่เป็นที่สบาย เพราะฉะนั้นถ้าทุกคนจะสบายใจขึ้นในวันหนึ่งๆ ก็ด้วยการรู้ความจริงว่า ธรรมใดจะทำให้เป็นที่สบาย
ข้อความในสังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค ปฐมสัปปายสูตร มีข้อความว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงข้อปฏิบัติอันเป็นที่สบาย แก่การเพิกถอนซึ่งความสำคัญสิ่งทั้งปวง ด้วยตัณหา มานะ และทิฏฐิแก่เธอทั้งหลาย
พูดเท่านี้ก็พอจะทราบแล้วใช่ไหมคะว่าต่อไปเป็นอย่างไร ถ้ายังมีตัณหา มีมานะ มีทิฏฐิ สบายไม่ได้ เพราะฉะนั้นที่จะละคลายตัณหา มานะ และทิฏฐิ ก็จะต้องเป็นข้อปฏิบัติที่จะทำให้ปัญญารู้แจ้งชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏเท่านั้น มิฉะนั้นแล้ววันหนึ่งๆ แม้วันนี้หลังจากที่ฟังพระธรรมแล้ว ถ้าอกุศลวิตกเกิดก็เป็นทุกข์อีกแล้ว จนกว่าสติปัฏฐานจะเกิด แล้วก็ระลึกได้ว่า ถ้าจะสบาย พ้นจากอกุศลวิตก ก็ต่อเมื่อรู้ว่า ธรรมที่เป็นข้อปฏิบัติที่สบายคืออย่างไร
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ข้อปฏิบัติอันเป็นที่สบายแก่การเพิกถอนซึ่งความสำคัญสิ่งทั้งปวงด้วยตัณหา มานะและทิฏฐิเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในศาสนานี้ ย่อมไม่สำคัญซึ่งจักษุ ในจักษุ แต่จักษุ ว่า จักษุของเรา ย่อมไม่สำคัญรูป ย่อมไม่สำคัญจักษุวิญญาณ ย่อมไม่สำคัญซึ่งจักษุสัมผัส ย่อมไม่สำคัญซึ่งสุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะจักขุสัมผัสเป็นปัจจัย ในเวทนานั้น แต่เวทนานั้น ว่า เวทนานั้นเป็นของเรา
เท่านี้ ถึงจะเป็นผู้สบายจริงๆ เพราะเหตุว่ารู้ความจริงว่า ไม่มีของเราเลย ไม่ว่าจะเป็นจักษุ หรือรูป หรือว่าจักขุสัมผัส หรือทุกขเวทนา หรือสุขเวทนาที่เกิดเพราะการเห็น
ยากหรือง่าย แต่สบายจริงๆ ถ้าสามารถจะระลึกได้จริงๆ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะสิ่งใดที่ตนสำคัญไว้ เป็นที่ให้สำคัญ เป็นแดนให้สำคัญ เป็นเหตุให้สำคัญว่าเป็นของเรา สิ่งนั้นล้วนเปลี่ยนแปลงออกไปจากที่สำคัญนั้น คือ สัตว์ในภพก็มีความเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างอื่น สัตว์โลกย่อมเพลิดเพลินเฉพาะภพเท่านั้น ข้อความต่อไป ก็ตลอดไปจนถึง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
คือ ย่อมไม่สำคัญซึ่งใจ ในใจ แต่ใจ ว่า ใจของเรา ย่อมไม่สำคัญซึ่งธรรมารมณ์ ในธรรมารมณ์ แต่ธรรมารมณ์ ว่า ธรรมารมณ์ของเรา ย่อมไม่สำคัญซึ่งมโนวิญญาณ. ในมโนวิญญาณ แต่มโนวิญญาณ ว่ามโนวิญญาณของเรา ย่อมไม่สำคัญซึ่งมโนสัมผัส ในมโนสัมผัส แต่มโนสัมผัส ว่ามโนสัมผัสของเรา ย่อมไม่สำคัญซึ่งสุขเวทนา ทุกขเวทนาหรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัย ในเวทนานั้น แต่เวทนานั้น ว่า เวทนานั้นเป็นของเรา
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลนั้นย่อมไม่สำคัญซึ่งขันธ์ ธาตุและอายตนะ ในขันธ์ ธาตุและอายตนะ แต่ขันธ์ ธาตุ และอายตนะ ว่า ขันธ์ ธาตุและอายตนะเป็นของเรา บุคคลผู้ไม่สำคัญอยู่อย่างนี้ ย่อมไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก เมื่อไม่ถือมั่น ย่อมไม่สะดุ้งกลัว เมื่อไม่สะดุ้งกลัว ย่อมดับสนิทได้เฉพาะตนทีเดียว รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ดังนี้
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันนี้แลคือข้อปฏิบัติอันเป็นที่สบายแก่การเพิกถอนซึ่งความ สำคัญสิ่งทั้งปวงด้วยตัณหา มานะและทิฏฐิ ฯ
มีสถานที่ไหม ไม่มีเลย ไม่มีการที่จะต้องทำอะไร นอกจากรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง
สบายจริงๆ ถ้าสติจะเกิดระลึกได้อย่างนี้ ถ้าได้ยินแล้วก็เสมือนไม่ได้ยิน เดือดร้อนไหม ไม่ว่าใครจะแสดงกิริยาอาการอย่างไร ซึ่งคนอื่นอาจจะขุ่นเคืองใจหรือไม่เป็นที่พอใจ แต่ถ้าเห็นแล้วก็เหมือนไม่เห็น ก็สบาย โดยเฉพาะถ้าสติสามารถจะระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้นตามปกติตามความเป็นจริง ก็ยิ่งจะเบาสบายขึ้น และโดยเฉพาะเมื่อมีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย เช่น พรหมวิหาร
มีบางท่าน ท่านก็รู้สึกรังเกียจอกุศลของคนอื่น ลองพิจารณาดูว่า รังเกียจอกุศล ดีหรือไม่ดี แต่ว่ารังเกียจอกุศลของคนอื่น จะดีหรือไม่ดี นี่เป็นความละเอียดของธรรม ซึ่งถ้าไม่ใช่เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน ก็อาจจะเข้าใจว่าเป็นกุศลแล้ว หรือว่าดีแล้ว แต่ตามความเป็นจริง ถ้าจะเกิดการรังเกียจหรือหิริจริงๆ ต้องเป็นความรังเกียจหรือหิริในอกุศลของตนเอง ไม่ใช่รังเกียจอกุศลของคนอื่น เพราะบางคนก็เห็นกายวาจาของคนอื่นที่ไม่ดีงาม ที่น่ารังเกียจ แต่ว่าขณะใดที่คิดรังเกียจอกุศลของคนอื่น ที่จะไม่เกื้อกูล ไม่เมตตา ไม่สงเคราะห์ ไม่กรุณา ขณะนั้นก็ลองพิจารณาดูว่า การรังเกียจอกุศลของคนอื่นเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ดีหรือไม่ดี รังเกียจอกุศลของคนอื่น
ถ้าไม่มีเมตตาเป็นเครื่องเทียบ ไม่มีกรุณาเป็นเครื่องเทียบ ไม่มีมุทิตาเป็นเครื่องเทียบ ไม่มีอุเบกขาเป็นเครื่องเทียบ ก็อาจจะเข้าใจว่าในขณะที่รังเกียจอกุศลของคนอื่นนั้นดีแล้ว แต่ถ้าคิดถึงว่า ไม่จำเป็นต้องรังเกียจอกุศลของคนอื่น เพราะเหตุว่าในขณะที่รังเกียจอกุศลของคนอื่นนั้น ลืม ไม่รังเกียจอกุศลของตนเองที่กำลังรังเกียจอกุศลของคนอื่น
เพราะฉะนั้นธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดจริงๆ ผลของการฟังพระธรรมในครั้งหนึ่งๆ ยังไม่ต้องคิดถึงสติปัฏฐานที่จะเกิดอย่างมากมาย และปัญญาจะรู้แจ้งชัดในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม เพียงแต่ว่า แต่ละท่านจะพิจารณาเห็นโทษของอกุศล แล้วก็มีความตั้งใจมั่นที่จะเจริญกุศลขึ้น แล้วก็ละคลายอกุศลลง นั่นก็จะเป็นการปฏิบัติซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า เป็นการเจริญสมถะและวิปัสสนา เพราะเหตุว่าเวลาที่บางท่านคิดถึงสมถะ ก็คิดถึงแต่การที่จะต้องไปนั่งหลับตา แล้วก็ระลึกถึงอารมณ์ที่ทำให้จิตสงบตั้งมั่นคง จนกระทั่งอุปจารสมาธิเกิด อัปปนาสมาธิเกิด เป็นฌานจิต แต่ลืมว่า ขณะนั้นกุศลจิตจะตั้งมั่นคงอย่างนั้นไม่ได้เลย ถ้าปกติไม่เป็นผู้ที่มีจิตสงบจากอกุศล
เพราะฉะนั้นแม้แต่คำว่า “สมถะ” และ “วิปัสสนา” ถ้า พิจารณาจริงๆ สำหรับผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน ก็จะรู้ว่า หมายความถึงการเจริญกุศล เพราะเหตุว่าถ้ากุศลจิตไม่เกิด สงบไม่ได้ แทนที่จะรังเกียจอกุศลของคนอื่น และก็ไม่รู้ตัวว่าขณะนั้นจิตไม่สงบ ก็จะมีการละเอียดที่จะพิจารณารู้ว่า ขณะใดเป็นกุศล ขณะใดเป็นอกุศล และก็เจริญกุศลขึ้น พร้อมกับการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม นั่นก็เป็นการเจริญคู่กันไปของสมถะและวิปัสสนา เพราะเหตุว่าขณะใดที่กุศลจิตเกิด ขณะนั้นสงบ มิฉะนั้นแล้ววันหนึ่งๆ ก็จะไม่เห็นความละเอียดของอกุศล และไม่เข้าใจว่าที่กล่าวถึงสมถะและวิปัสสนา หมายความถึงชีวิตประจำวันอย่างไร ถ้ามุ่งหวังเพียงแต่ให้อุปจารสมาธิเกิดโดยที่ชีวิตประจำวันไม่เป็นกุศล ก็ยากที่ความสงบของจิตจะมั่นคงขึ้น
มีท่านผู้ฟังที่รู้สึกว่า ชีวิตประจำวันของท่านสงบขึ้นบ้างไหม เวลาที่อ่านพระธรรมแล้วก็ซาบซึ้ง แล้วเข้าใจ พร้อมสติปัฏฐานที่เกิดระลึกในขณะนั้น ก็อาจจะมีปัจจัยที่จะทำให้ความสงบนั้นมั่นคงขึ้นได้ แต่ถ้าจะเป็นผู้ที่สังเกตชีวิตประจำวัน ว่าเป็นผู้ที่ไม่หวั่นไหว ไม่เดือดร้อนในกายวาจาของคนอื่น อันนั้นก็พอที่จะส่องไปถึงความสงบของใจได้ว่า ท่านเป็นผู้ที่มีความสงบของใจเพิ่มขึ้น มิฉะนั้นแล้วย่อมหวั่นไหวไปตามกายวาจาของบุคคลอื่น
เพราะฉะนั้นตัวเองก็เป็นเครื่องพิสูจน์ได้ว่า เมื่อได้รับกระทบกับกายวาจาที่ไม่น่าพอใจแล้ว หวั่นไหวไหม ถ้าหวั่นไหวก็หมายความว่า ไม่ได้เจริญความสงบด้วย หรือว่าใจยังไม่สงบพอ แต่ถ้าไม่หวั่นไหว ก็หมายความว่าเป็นผู้ที่เจริญสมถวิปัสสนาในชีวิตประจำวัน
เรื่องของวิปัสสนาญาณก็จะกล่าวถึงต่อไปไปเรื่อยๆ แต่ว่าเป็นข้อความสั้นๆ ในพระไตรปิฎก เพราะว่าเป็นเรื่องที่จะต้องอบรมจนกว่าจะถึงวิปัสสนาญาณแต่ละขั้นจริงๆ แต่ข้อสำคัญคือชีวิตประจำวันที่จะต้องเจริญกุศลขึ้น
สำหรับผู้ที่ไม่หวั่นไหวในกายวาจาของบุคคลอื่น ก็ต้องเป็นผู้ที่บรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันต์ ตามข้อความในพระไตรปิฎก แต่ก่อนที่จะถึงความเป็นพระอรหันต์จริงๆ การอบรมเจริญกุศลก็จะทำให้จิตใจสงบขึ้นๆ ได้
ข้อความในสังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เวรหัญจานีสูตร ข้อ ๒๑๐ แสดงลักษณะของผู้ที่มั่นคงในกุศลธรรม เพราะฉะนั้นก็ไม่หวั่นไหวในกายวาจาของบุคคลอื่น
ข้อความในเวรหัญจานีสูตรมีว่า
สมัยหนึ่ง ท่านพระอุทายีอยู่ ณ สวนมะม่วงของโตเทยยพราหมณ์ ใกล้กามัณฑานคร ครั้งนั้น มาณพผู้เป็นศิษย์ของนางพราหมณีผู้เป็นเวรหัญจานิโคตร ได้เข้าไปหาท่านพระอุทายีถึงที่อยู่ ได้ปราศรัยกับท่านพระอุทายี ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
ครั้นแล้ว ท่านพระอุทายียังมาณพนั้นให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้รื่นเริงด้วยธรรมีกถา
ครั้งนั้นแล มาณพผู้อันท่านพระอุทายีให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้รื่นเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว ลุกขึ้นจากอาสนะเข้าไปหานางพราหมณีเวรหัญจานิโคตรถึงที่อยู่ ครั้นแล้วได้กล่าวกะนางพราหมณีเวรหัญจานิโคตรว่า
ขอแม่เจ้าผู้เจริญ พึงทราบเถิด พระสมณะอุทายีแสดงธรรมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง ดังนี้
นางพราหมณีเวรหัญจานิโคตรก็สนใจที่จะได้ฟัง ก็ได้กล่าวกะมาณพว่า ถ้าอย่างนั้นเธอจงนิมนต์พระสมณะอุทายีตามคำของเราเพื่อฉันอาหารอันจะมีในวันพรุ่งนี้ด้วยเถิด
มาณพนั้นรับคำของนางพราหมณีเวรหัญจานิโคตรแล้ว เข้าไปหาท่านพระอุทายี แล้วได้กล่าวกะท่านพระอุทายีว่า ขอท่านพระอุทายีโปรดรับอาหารเพื่อฉันอันจะมีในวันพรุ่งนี้ ของนางพราหมณีเวรหัญจานิโคตรผู้เป็นอาจารย์ของข้าพเจ้าด้วยเถิด
ท่านพระอุทายีได้รับนิมนต์ด้วยดุษณีภาพ ครั้งนั้น โดยราตรีนั้นล่วงไป ในเวลาเช้าท่านพระอุทายีนุ่งแล้ว ถือบาตรและจีวรเข้าไปยังนิเวศของนางพราหมณีเวรหัญจานิโคตร แล้วนั่งบนอาสนะที่เขาปูลาดไว้แล้ว
ครั้งนั้นนางพราหมณีเวรหัญจานิโคตรเลี้ยงดูท่านพระอุทายีให้อิ่มหนำสำราญ ด้วยขาทนียโภชนียหารอันประณีต ด้วยมือของตนเอง นางพราหมณีเวรหัญจานิโคตรทราบว่าท่านพระอุทายีผู้ฉันแล้ว ลดมือจากบาตรแล้ว ได้สวมเขียงเท้านั่งบนอาสนะอันสูง คลุมศีรษะแล้ว ได้กล่าวกะท่านพระอุทายีว่า ท่านสมณะ ขอท่านจงกล่าวธรรม
ท่านพระอุทายีกล่าวว่า น้องหญิง เวลาจักมี ดังนี้แล้ว ลุกขึ้นจากอาสนะแล้วหลีกไป
ไม่ได้แสดงธรรม เพราะเหตุว่านางพราหมณีเป็นผู้ที่ถือตนว่าเป็นอาจารย์ และยังไม่มีคุณธรรมที่จะประพฤติเหมือนผ้าเช็ดธุลี เพราะฉะนั้นแม้แต่จะนิมนต์ให้ท่านพระอุทายีแสดงธรรม ก็สวมเขียงเท้า นั่งบนอาสนะอันสูง คลุมศีรษะ ท่านพระอุทายีเป็นผู้ที่เคารพพระธรรม เพราะฉะนั้นท่านก็ไม่ได้กล่าวว่าอะไรเลย
เพียงแต่กล่าวว่า น้องหญิง เวลาจักมี ดังนี้ ลุกจากอาสนะแล้วหลีกไป
แม้ครั้งที่สอง มาณพนั้นได้เข้าไปหาท่านพระอุทายีถึงที่อยู่ ได้ปราศรัยกับท่านพระอุทายี และเมื่อท่านพระอุทายีได้แสดงธรรมแล้ว มาณพนั้นก็เข้าไปหานางพราหมณีเวรหัญจานิโคตรถึงที่อยู่ และก็ได้กล่าวกะนางพราหมณีเวรหัญจานิโคตรว่า ท่านพระอุทายีแสดงธรรมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด
นางพราหมณีเวรหัญจานิโคตรรก็กล่าวว่า ก็เธอกล่าวคุณของพระสมณะอุทายีอย่างนี้ๆ ท่านพระสมณะอุทายีถูกฉันขอให้ท่านกล่าวธรรมนี้ กลับกล่าวว่า น้องหญิง เวลาจักมี ดังนี้ ก็ลุกขึ้นจากอาสนะหลีกไปเสีย
ซึ่งมาณพนั้นก็ได้กล่าวว่า ที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะเหตุว่า นางพราหมณีสวมเขียงเท้า นั่งบนอาสนะสูง คลุมศีรษะ เพราะฉะนั้นท่านพระอุทายีเป็นผู้ที่หนักในธรรม เป็นผู้เคารพธรรมจึงไม่กล่าวธรรมกับนาง
นางพราหมณีเวรหัญจานิโคตรก็ได้ให้มาณพนั้นไปนิมนต์ท่านพระอุทายีมารับภัตตาหารในวันรุ่งขึ้น เมื่อเห็นท่านพระอุทายีฉันแล้ว ลดมือจากบาตรแล้ว นางก็ได้ถอดเขียงเท้า นั่งบนอาสนะต่ำ เปิดศีรษะแล้วก็ได้นิมนต์ให้ท่านพระอุทายีแสดงธรรม โดยกล่าวกับท่านพระอุทายีว่า
ท่านเจ้าข้า เมื่ออะไรหนอมีอยู่ พระอรหันต์ทั้งหลายจึงบัญญัติสุขและทุกข์ เมื่ออะไรไม่มีพระอรหันต์ทั้งหลายจึงไม่บัญญัติสุขและทุกข์
ท่านพระอุทายีตอบว่า
ดูก่อนน้องหญิง เมื่อจักษุมีอยู่พระอรหันต์ทั้งหลายจึงบัญญัติสุขและทุกข์ เมื่อจักษุไม่มีพระอรหันต์ทั้งหลายจึงไม่บัญญัติสุขและทุกข์ ตลอดไปจนถึง หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
ถ้าไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย จะมีสุขมีทุกข์ไม่ได้เลย แต่เพราะเหตุว่าเมื่อมีตาเกิดขึ้น ก็มีสุขทุกข์ที่เกิดเพราะตาเห็น เมื่อมีหู ก็มีสุขทุกข์เกิดขึ้นเพราะการได้ยิน เมื่อมีจมูก ก็มีสุขทุกข์เกิดขึ้นเพราะการได้กลิ่น เมื่อมีลิ้น ก็มีสุขทุกข์เกิดขึ้นเพราะการลิ้มรส เมื่อมีกาย ก็มีสุขทุกข์เกิดขึ้นเพราะการกระทบสัมผัส เมื่อมีใจ ก็มีสุขทุกข์เกิดขึ้นเพราะการคิดนึก
เมื่อท่านพระอุทายีกล่าวอย่างนี้แล้ว นางพราหมณีเวรหัญจานิโคตรได้กล่าวกะท่านพระอุทายีว่า
ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ภาษิตของท่านแจ่มแจ้งนักๆ ข้าแต่ท่านอุทายีผู้เจริญ ดิฉันนี้ขอถึงพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น กับทั้งพระธรรม และพระภิกษุสงฆ์เป็นสรณะ ขอพระคุณเจ้าอุทายีโปรดจำดิฉันไว้ว่าเป็นอุบาสิกาผู้ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
นางพราหมณีเวรหัญจานิโคตรไม่ได้แสดงความวิตกกังวลเลยว่า สติปัฏฐานจะเกิดเมื่อไร มากน้อยแค่ไหน และวิปัสสนาญาณจะเกิดเมื่อไร แต่ว่าเป็นผู้ที่เข้าใจพระธรรม และก็รู้ว่า จะต้องรู้แจ้งลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ
ข้อความโดยตรงจากพระไตรปิฎก ก็เป็นเรื่องของกุศล อกุศล และก็เหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิตประจำวันของบุคคลในครั้งนั้น ซึ่งก็ไม่ต่างกับบุคคลในครั้งนี้ แม้แต่การที่จะได้ฟังพระธรรมส่วนละเอียด ในเรื่องของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ซึ่งเป็นพระอภิธรรม และการที่จะต้องได้ฟังพระสูตรต่างๆ ประกอบกันด้วย มิฉะนั้นแล้วก็ไม่มีทางที่จะเกื้อกูลให้สติปัฏฐานเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ
นิภัทร อุบาสิกาที่ได้ฟังท่านพระอุทายีพูดว่า เมื่อมีจักษุก็มีทุกข์ ท่านพระอุทายีกล่าวเพียงเท่านั้น นางก็สามารถเข้าใจได้ แต่ว่าส่วนใหญ่ท่องจำได้แล้ว ก็ยังไม่เข้าใจ กระผมได้สนทนากันเมื่อวานนี้ มีอยู่ข้อหนึ่งว่า อริยสัจจ์ ๒ เบื้องต้น คือ ทุกขสัจจ์ กับสมุทัยสัจจ์ เป็นของที่ลึกซึ้งและรู้ได้ยาก เห็นได้ยาก กระผมก็เลยมานึกว่า ชีวิตประจำวันที่ประสบอยู่ทุกวันนี้ ที่เราสุข เราทุกข์ เราเดือดร้อน ก็เพราะเราไม่เข้าใจทุกขสัจจ์ ไม่เข้าใจสมุทัยสัจจ์ ก็เลยเห็นเป็นเรื่องราว เป็นสิ่งของต่างๆ
ที่ว่าทุกขสัจจ์ สมุทัยสัจจ์ เป็นของที่ลึกซึ้งและเห็นได้ยาก ส่วนอริยสัจจ์ ๒ ข้างท้าย คือ มรรคสัจจ์และนิโรธสัจจ์ เป็นของที่เห็นได้ยากเพราะลึกซึ้ง กระผมฟังแล้วก็รู้สึกว่าเหมือนกัน ขอให้ท่านอาจารย์โปรดให้ความกระจ่างด้วย
สุ. ขณะนี้มีทุกข์ เพราะเหตุว่ามีสภาพธรรมที่เกิดดับ แต่ว่าเห็นได้ยาก ไม่ใช่ใครจะเห็นได้ง่ายๆ เลย เพียงแต่เข้าใจได้ว่า ขณะนี้สิ่งที่กำลังปรากฏปรากฏทางตาต้องดับ ในขณะที่เสียงกำลังปรากฏทางหู
นิภัทร ไม่ได้เห็นว่าเป็นธรรม เห็นเป็นเสียงคน เสียงสัตว์ไปเลย
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็ไม่สามารถจะเห็นสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ ถ้าไม่เข้าใจจริงๆ ว่า ปัญญาจะต้องรู้อะไร โลกุตตรปัญญาจะต้องรู้อะไร หรือว่าวิปัสสนาญาณจะต้องรู้อะไร เพราะฉะนั้นก็ต้องอาศัยการฟังเรื่องลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏไปจนกว่าจะเข้าใจจริงๆ เข้าใจอย่างลึกซึ้ง เข้าใจอย่างละเอียดถี่ถ้วน เข้าใจลักษณะอาการของสภาพธรรมนั้นพร้อมทั้งสติที่จะเริ่มระลึกรู้ ไม่ใช่เพียงแต่ฟัง
นิภัทร เข้าใจจริงๆ นี่ไม่ใช่เข้าใจเพราะว่าจำได้
ท่านอาจารย์ แน่นอน
นิภัทร ความเข้าใจเพราะจำได้ เพราะได้ยินได้ฟังได้ศึกษา กับความเข้าใจจริงๆ หมายความว่า เข้าใจโดยประจักษ์สภาวะลักษณะที่ปรากฏอย่างนั้นใช่ไหม
ท่านอาจารย์ แม้แต่ขั้นของการฟัง ก็จะต้องอาศัยการพิจารณาและการฟังด้วยดี และก็รู้ว่า จะต้องฟังเรื่องของสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาโดยนัยต่างๆ ให้เห็นในความเป็นอนัตตา อย่างบางคนก็พยายามจะให้อธิบายว่า จะปฏิบัติอย่างไร คือรู้สึกว่า ต้องการเสียเหลือเกินที่จะปฏิบัติ แล้วก็คิดว่ามีวิธีที่จะปฏิบัติด้วย เพราะฉะนั้นก็อยากจะให้อธิบายว่าตอนปฏิบัติจะปฏิบัติอย่างไร ซึ่งความจริงไม่ใช่อย่างนั้นเลย
นิภัทร ถ้าถามในลักษณะนี้ก็แสดงว่า ยังไม่เข้าใจจริงๆ
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ว่ามีวิธี หรือว่าไม่ใช่มีการอธิบายว่าให้สติระลึกอย่างนั้น พิจารณาอย่างนั้น แต่ว่าจะต้องฟังพระธรรมจนเข้าใจเรื่องของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏจริงๆ เสียก่อน เช่น สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา พูดแค่นี้ แต่ว่าสติก็ไม่ได้ระลึกสักที จนกว่าจะรู้ว่าสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ไม่ใช่ขณะที่กำลังคิดนึกรูปร่างสัณฐาน
นิภัทร สมัยก่อนอย่างนางพราหมณีอุบาสิกานี้ ท่านฟังพระอุทายีเทศน์ให้ฟังแค่สั้นๆ ท่านก็เข้าใจ แล้วก็แจ่มแจ้ง อาจหาญร่าเริงในธรรม และขอถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะที่พึ่ง แต่สมัยนี้ฟังแล้วก็ขอถึงพระรัตนตรัยเป็นพึ่งเหมือนกัน แต่ไม่เข้าใจ
ท่านอาจารย์ นี่เป็นความต่างกันของการอบรมปัญญา เพราะฉะนั้นถ้าคิดย้อนไปเมื่อ ๒,๕๐๐ กว่าปี จริงๆ แล้วก็ไม่นาน ถ้าจะเกิดในภพภูมิบางภูมิก็อาจจะเพียงชาติเดียวก็มาเกิดในโลกนี้ก็ได้ หรือถ้าจะเกิดเป็นสัตว์เล็กสัตว์น้อย หรือเป็นมนุษย์ก็นับไป อายุไม่เกิน ๑๐๐ ปี ก็อาจจะ ๒๐๐ กว่าชาติ บางชาติก็อายุสั้นอายุน้อย แต่ก็ไม่ไกลนักถ้าเทียบกับ ๑ กัป จะเห็นได้ว่าระยะเวลาเพียง ๒,๕๐๐ กว่าปีที่ผ่านไป ถ้ามีผู้ที่เคยฟังพระธรรมแม้ว่าในครั้งกระนั้นยังไม่ได้อบรมเจริญปัญญาไว้มาก แต่ก็ยังมีปัจจัยที่จะทำให้มีความสนใจที่จะไม่เข้าใจผิดที่จะพิจารณาพระธรรมโดยถูกต้อง และก็สะสมอบรมต่อไป
- โสภณธรรม ครั้งที่ 051
- โสภณธรรม ครั้งที่ 052
- โสภณธรรม ครั้งที่ 053
- โสภณธรรม ครั้งที่ 054
- โสภณธรรม ครั้งที่ 055
- โสภณธรรม ครั้งที่ 056
- โสภณธรรม ครั้งที่ 057
- โสภณธรรม ครั้งที่ 058
- โสภณธรรม ครั้งที่ 059
- โสภณธรรม ครั้งที่ 060
- โสภณธรรม ครั้งที่ 061
- โสภณธรรม ครั้งที่ 062
- โสภณธรรม ครั้งที่ 063
- โสภณธรรม ครั้งที่ 064
- โสภณธรรม ครั้งที่ 065
- โสภณธรรม ครั้งที่ 066
- โสภณธรรม ครั้งที่ 067
- โสภณธรรม ครั้งที่ 068
- โสภณธรรม ครั้งที่ 069
- โสภณธรรม ครั้งที่ 070
- โสภณธรรม ครั้งที่ 071
- โสภณธรรม ครั้งที่ 072
- โสภณธรรม ครั้งที่ 073
- โสภณธรรม ครั้งที่ 074
- โสภณธรรม ครั้งที่ 075
- โสภณธรรม ครั้งที่ 076
- โสภณธรรม ครั้งที่ 077
- โสภณธรรม ครั้งที่ 078
- โสภณธรรม ครั้งที่ 079
- โสภณธรรม ครั้งที่ 080
- โสภณธรรม ครั้งที่ 081
- โสภณธรรม ครั้งที่ 082
- โสภณธรรม ครั้งที่ 083
- โสภณธรรม ครั้งที่ 084
- โสภณธรรม ครั้งที่ 085
- โสภณธรรม ครั้งที่ 086
- โสภณธรรม ครั้งที่ 087
- โสภณธรรม ครั้งที่ 088
- โสภณธรรม ครั้งที่ 089
- โสภณธรรม ครั้งที่ 090
- โสภณธรรม ครั้งที่ 091
- โสภณธรรม ครั้งที่ 092
- โสภณธรรม ครั้งที่ 093
- โสภณธรรม ครั้งที่ 094
- โสภณธรรม ครั้งที่ 095
- โสภณธรรม ครั้งที่ 096
- โสภณธรรม ครั้งที่ 097
- โสภณธรรม ครั้งที่ 098
- โสภณธรรม ครั้งที่ 099
- โสภณธรรม ครั้งที่ 100