โสภณธรรม ครั้งที่ 100


    ตอนที่ ๑๐๐

    ท่านอาจารย์ แต่เมื่อสักครู่นี้ไม่ได้ถามอย่างนี้ ถามเรื่องกายคนอื่น เมื่อถามเรื่องกายคนอื่น ก็ต้องพิจารณาเรื่องที่เคยยึดถือว่าเป็นกายคนอื่น แท้ที่จริงก็เป็นรูปธรรมซึ่งปรากฏเมื่อกระทบกับกายปสาท และรูปนั้นก็ดับด้วยเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นของใคร สภาพธรรมตามความเป็นจริงแล้วไม่มีตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล

    ผู้ฟัง อันนี้ก็พอเข้าใจแล้ว ที่ผมถามนี่ไปโยงกับเรื่องเวทนาของตัวเอง กับเวทนาของคนอื่น เราจะไปรู้เวทนาของผู้อื่นได้อย่างไร มันเป็นปัญหาอย่างนี้ที่ผมถาม

    ท่านอาจารย์ ก่อนเจริญสติปัฏฐาน เคยคิดถึงใจเขาใจเรา อกเขาอกเราบ้างหรือเปล่า หรือมีแต่ใจเราคนเดียว มีแต่ความรู้สึกของเราคนเดียว ความรู้สึกของคนอื่นไม่มี เป็นก้อนอิฐ เป็นหิน เป็นไม้

    ผู้ฟัง ถึงจะคิดอย่างไร ความรู้สึกก็ไม่ใช่ความรู้สึกที่แท้จริง ความรู้สึกที่เกิดกับเขา เราก็ไม่รู้ว่าที่แท้จริงเป็นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ก่อนสติปัฏฐานเกิด มีคนอื่นไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ มีใจคนอื่นไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ มีความรู้สึกคนอื่นไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเมื่อสติปัฏฐานเกิด ก็จะได้รู้ว่า ไม่มีทั้งนั้น ไม่มีคนอื่นเลย มีแต่ลักษณะของความรู้สึกของตนเองที่กำลังคิดเรื่องของคนอื่น ถ้ายังไม่สามารถที่จะแยกความคิดออกจากปรมัตถธรรม ก็เจริญสติปัฏฐานไม่ได้

    ผู้ฟัง หมายความว่าที่เราถือว่าเป็นเวทนาของผู้อื่น ความจริงก็ไม่ใช่อะไรของใครทั้งนั้น เป็นแต่ธรรมที่เกิดขึ้น

    ท่านอาจารย์ เป็นเรื่อง เป็นความคิดเรื่องความรู้สึกของคนอื่น สำหรับผู้ที่ไม่มีเจโตปริยญาณ

    ผู้ฟัง ขอให้อธิบายคำว่า ไหว ตึง เป็นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ไม่เคยรู้สึกเลยหรือ

    ผู้ฟัง ก็บอกไม่ถูกว่า ขณะไหนไหว ตึง เวลาที่เราปวดเมื่อย มันตึงหรือ

    ท่านอาจารย์ ชีวิตประจำวัน ก็ถูกแล้วไง ก็เวลานั้นสติปัฏฐานเกิด ก็ระลึกตรง ลักษณะที่กำลังตึง กำลังไหว ไม่ใช่ให้ไปทำ ส่วนมากท่านผู้ฟังที่จะไม่เข้าใจเรื่องสติปัฏฐาน เพราะคิดว่าเมื่ออ่านเรื่องสติปัฏฐานแล้ว สติที่เกิดระลึกต้องไปทำอย่างอื่น คิดว่าต้องไปทำอะไรๆ ขึ้น แต่ความจริงสติปัฏฐานไม่ใช่ระลึกแล้วทำอย่างอื่น แต่ว่าสติระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ตามปกติ ตามความเป็นจริง เคยตึงแน่ๆ

    ผู้ฟัง ปวดเมื่อยแน่นอน

    ท่านอาจารย์ สติระลึกขณะใด ขณะนั้นก็รู้ลักษณะนั้นว่า เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง

    ผู้ฟัง แล้วไหว

    ท่านอาจารย์ เคยไหวไหม

    ผู้ฟัง ไหวหมายถึงโคลงตัวไปมา แกว่งแขน แกว่งอวัยวะอย่างนั้นหรือ

    ท่านอาจารย์ อันนั้นนึกไหว ลักษณะของธาตุลมจริงๆ อาจจะยังไม่ละเอียดพอ แต่ว่าจะพิจารณาอย่างหยาบๆ ไปก่อนก็ได้ กระพริบตาเมื่อกี้นี้ไหวหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไหว

    ท่านอาจารย์ สติปัฏฐานก็เกิดระลึกได้ ที่จริงแล้วขณะนั้นถ้าธาตุลมเป็นประธาน แต่ว่าไม่ต้องใช้ชื่อเสียงเรียงนามอะไรหมดทั้งสิ้น ไม่จำเป็นที่จะต้องอยากจะรู้ลักษณะของธาตุลมในขณะที่กำลังกระพริบตาหรืออะไรก็ตามแต่ แต่ว่าสิ่งใดก็ตามที่สติเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏแม้เล็กน้อย ขณะนั้นเป็นของจริง แต่ว่าปัญญาในขั้นต้นยังไม่สามารถที่จะรู้ลักษณะที่เป็นนามธรรมแยกขาดจากรูปธรรมได้ แต่สติเกิดอีกบ่อยๆ เนืองๆ ซึ่งใช้คำว่า “อนุปัสสนา” สติระลึกบ่อยๆ เนืองๆ นี่เป็นความจริง เพราะเหตุว่าสภาพธรรมทุกอย่างดับเร็ว ทันทีที่สติระลึก สิ่งนั้นก็ดับแล้ว แต่ก็ยังมีปัจจัยที่จะทำให้สิ่งนั้นเกิดปรากฏอีก อย่างแข็งอย่างนี้ ก็มีปัจจัยที่จะให้ปรากฏอยู่ ยังไม่ประจักษ์การดับไป ต่อเมื่อใดปัญญาสมบูรณ์ถึงขั้นที่จะประจักษ์แจ้งลักษณะที่เกิดดับ ไม่มีอะไรจะปิดกั้นการประจักษ์แจ้งของปัญญาได้เลย แต่ต้องเกิดจากการที่สติเริ่มระลึกเสียก่อน โดยไม่เลือก โดยไม่เจาะจงว่าจะรู้ลักษณะของรูปใดหรือนามใด

    ผู้ฟัง อย่างนั้นอาการไหว มีการเคลื่อนไหว ก็เป็นอาการไหวหรือ

    ท่านอาจารย์ ยังไม่ต้องไประลึกถึงอาการไหว ถ้าอาการไหวไม่ปรากฏ ถ้าแข็งปรากฏ ไม่ต้องระลึกถึงอาการไหว ถ้าเย็นปรากฏ ไม่ต้องระลึกถึงอาการไหว แล้วแต่ว่าลักษณะใดสติระลึก ก็ศึกษาพิจารณา เพื่อที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    ผู้ฟัง ที่ผมถามนี่หมายความว่า อยากจะรู้ว่าลักษณะอย่างนั้นเป็นอย่างไร เพื่อจะเอาไปประกอบกับเวลาที่เราไปพิจารณาในเรื่องสติปัฏฐาน เพราะฉะนั้นผมอาจจะถามโดยที่ไม่มีการไหว ผมก็ถามอาจารย์อย่างนี้

    ท่านอาจารย์ ไม่ต้องแกว่งมือก็มีธาตุลม ถ้าไม่ปรากฏ ก็ไม่ต้องไปรู้

    ผู้ฟัง ที่ว่าท่านพระสารีบุตรเวลาเดินไป ๑ ก้าว มีความรู้สึกถึง ๖ ขณะ หมายความว่าอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ท่านรู้ ก็เป็นเรื่องของท่านรู้ ท่านก็รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ท่านสามารถที่จะรู้ถึงการเกิดขึ้นและดับไปของ วิตกเจตสิกบ้าง วิจารเจตสิกบ้าง นามธรรมบ้าง รูปธรรมบ้าง อย่างรวดเร็วเหลือเกิน

    ผู้ฟัง ในขณะยกก้าวไป ๑ ก้าวนี่หรือ

    ท่านอาจารย์ ท่านจะรู้อะไร ท่านก็รู้ได้อย่างรวดเร็วมาก แล้วสงสัยอะไร

    ผู้ฟัง ก็เพราะมีพระ หรือมีสำนัก บางองค์ที่ท่านเดิน ยกหนอ ย่างหนอไป ๑ ก้าว ไปช้าๆ เพื่อจะให้มีความรู้สึก ๖ ขณะ เหมือนกับท่านพระสารีบุตรอย่างนี้ ผมก็เกิดความสงสัยว่า ที่ท่านพระสารีบุตรมีความรู้สึกถึง ๖ ขณะนั้น ท่านรู้สึกอย่างไร เราจะมาพยายามที่จะทำเหมือนท่าน มันจะได้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ ท่านอนาถบิณฑิกะเป็นคฤหบดี ไม่ใช่เป็นบรรพชิต และท่านก็เป็นพระโสดาบัน จะเอาอย่างท่านพระสารีบุตร หรือพระโสดาบันที่เป็นคฤหัสถ์ ในเมื่อชีวิตจริงๆ ของท่านผู้ฟังเป็นเพศไหน

    ผู้ฟัง อันนี้เราไม่ได้พูดถึงขนาดนั้น เราหมายความว่าที่เขาทำอย่างนี้ ถ้าเราจะทำแล้วจะเกิดประโยชน์อะไรขึ้นมา

    ท่านอาจารย์ ท่านผู้ฟังยกตัวอย่างท่านพระสารีบุตร จะเอาอย่างท่าน ใช่ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ใช่ ทำไมเขาถึงคิดอย่างนั้น

    ท่านอาจารย์ ท่านผู้ฟังเองสนใจอะไร จะอบรมเจริญปัญญา หรือว่าจะสะสมความสงสัย ความไม่รู้

    ผู้ฟัง คืออยากจะทราบว่า ท่านทราบได้อย่างไร ที่เขาปฏิบัติกันนั้น เป็นอย่างไร มันทะแม่งๆ อย่างไรก็ไม่รู้

    ท่านอาจารย์ มิได้ ท่านผู้ฟังจะต้องพิจารณาว่า ท่านผู้ฟังจะอบรมเจริญปัญญา ซึ่งสมบูรณ์พร้อมด้วยเหตุผล และก็เป็นสภาพธรรมที่ปรากฏให้พิสูจน์ว่าเป็นความจริง ทุกกาลสมัย หรือว่าท่านผู้ฟังจะสะสมความสงสัย ความไม่รู้ไปเรื่อยๆ

    ผู้ฟัง ก็ไม่อยากสะสม ถึงได้ถามอาจารย์

    ท่านอาจารย์ เมื่อไม่อยากจะสะสม ก็จะต้องฟังเรื่องของข้อปฏิบัติที่จะทำให้ปัญญาเกิด เพราะทราบแล้วว่า ปัญญาจะต้องรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ตามปกติ ซึ่งกำลังเกิดดับอย่างรวดเร็ว ถ้าเดินอย่างนั้นแล้วเกิดปัญญาอย่างไรใช่ไหม

    ผู้ฟัง ก็ไม่เกิดอะไร

    ท่านอาจารย์ ไม่เกิด ก็ไม่ต้องปฏิบัติ

    ผู้ฟัง อย่างอานาปานสติที่จะเอามาเป็นอารมณ์ของวิปัสสนา จะมนสิการ หรือจะคิดอย่างไร

    ท่านอาจารย์ คำถามนี้คือ เมื่อสติเกิดก็จะทำอย่างอื่น คือจะปฏิบัติอย่างไร ไม่ใช่เป็นการระลึกลักษณะของรูป หรือลักษณะของนามที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย แล้วพิจารณาเพื่อจะรู้ว่า ลักษณะนั้นเป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรม

    นี่คือความต่างกัน ถ้ายังเข้าใจว่า สติเกิดแล้วจะทำอย่างอื่น เช่น จะต้องทำอานาปานสติ หรืออะไรๆ อย่างนั้น ขณะนั้นไม่ใช่สติปัฏฐาน ถ้าเป็นสติปัฏฐานเกิด คือ ระลึกตรงลมหายใจ แล้วก็พิจารณาลักษณะที่กำลังปรากฏ ซึ่งเป็นรูปธรรม หรือลักษณะของสภาพรู้ซึ่งเป็นนามธรรม นั่นคือสติปัฏฐาน แต่ไม่ใช่ว่าให้ไปทำอะไรอย่างอื่น ซึ่งส่วนมากมักจะคิดว่า ต้องทำอย่างอื่นขึ้นมา ใช่ไหม

    ผู้ฟัง ก็อย่างลมหายใจก็ไม่ต้องไปทำ

    ท่านอาจารย์ ไม่ต้องไปทำ มีเหตุปัจจัยเกิด สติปัฏฐานเกิดคืออย่างไร ระลึกที่ไหน ถ้าเป็นลมหายใจ ไม่ใช่สั่งให้ไประลึกที่ลมหายใจ นี่ผิด นี่ไม่ใช่สติปัฏฐาน ถ้ามีใครสั่งให้ระลึกที่ลมหายใจ นั่นไม่ใช่สติปัฏฐานเลย เพราะเหตุว่าพยายามด้วยความเป็นตัวตน ไม่ได้มีความรู้ว่า แม้ลมหายใจที่เกิดก็ดับ เป็นสภาพธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่ว่าต้องไประลึกที่ลมหายใจ ไม่ใช่ไปบังคับให้ไปรู้ที่นั่น และไม่ต้องมีวิธีว่าจะต้องทำอย่างนั้นๆ ถ้าเป็นวิธีอย่างนั้นๆ ก็ไม่ใช่สติปัฏฐาน เพราะว่าสติปัฏฐานระลึกตรงรูปลมที่ปรากฏ แล้วก็ศึกษาพิจารณารู้ว่า เป็นรูปธรรมเพราะไม่ใช่สภาพรู้

    ผู้ฟัง อย่างนั้นเวลาเราหายใจออกพอมาสุดแล้ว ก็เป็นหายใจออกดับ เวลาหายใจเข้ามันสุดแล้วก็ดับ

    ท่านอาจารย์ เวลาเจริญสติปัฏฐานจริงๆ ไม่มีการจำกัดว่า จะหายใจออก หายใจเข้า เพราะเหตุว่าสติจะระลึกลักษณะของลมขณะไหนได้ทุกขณะ ถ้าสติปัฏฐานไม่ระลึก ก็ไม่ต้องไปสนใจทำอะไรขึ้นมา ถ้าสนใจจะทำอะไรขึ้น นั่นไม่ใช่สติปัฏฐานแล้ว ขณะนี้กำลังยืนอย่างนี้ ลมหายใจก็มี ผม ขน เล็บ ฟัน หนังก็มี ธาตุอ่อน แข็ง เย็น ร้อนก็มี

    เพราะฉะนั้นก็แล้วแต่ว่า สติปัฏฐานจะเกิดระลึกลักษณะของรูปอะไร ไม่ใช่ให้ทำ ต้องเข้าใจให้ถูกว่า ไม่ใช่ “ทำ”

    ผู้ฟัง ก็อย่างลมหายใจนี่ เราก็ไม่ได้ทำ เป็นแต่ว่าถ้าเรารู้สึกว่า ลมหายใจมันออกมาจนสุดแล้ว ก็ถือว่ามันดับ

    ท่านอาจารย์ ถือไม่ได้ ไม่ได้รู้ว่าเป็นรูปนาม ถ้าตราบใดที่ยังไม่ประจักษ์แจ้งลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมโดยแยกขาดจากกัน ที่เป็นนามรูปปริจเฉทญาณ และวิปัสสนาญาณขั้นอื่นๆ ยังไม่เกิด จะประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปของนามธรรมและรูปธรรมไม่ได้

    คำว่า “ประจักษ์” หมายความถึงปัญญา ขณะนี้เสียงดับไป ทุกคนรู้ว่าเสียงดับ เป็นปัญญาหรือเปล่า เห็น ไม่ใช่ได้ยิน ทุกคนก็รู้โดยการฟังว่า เห็นก็ดับ และได้ยินในขณะนี้ก็ดับ แล้วจึงเห็นอีก ไม่ใช่เห็นเกิดสืบต่อไปเรื่อยๆ มีได้ยินเกิดสลับ แล้วมีจิตอื่นเกิดสลับ ขณะนั้นเป็นปัญญาหรือยัง ถ้าไม่เป็น จะใช้คำว่า “ประจักษ์” ไม่ได้ เพราะเหตุว่าประจักษ์หมายความถึงปัญญาที่รู้ชัด ลักษณะของสภาพธรรมนั้นเป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว แต่ว่ายังไม่ได้อบรมเจริญปัญญาที่จะประจักษ์ในสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ต่อเมื่อใดปัญญาเจริญขึ้นรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรม สภาพธรรมปรากฏตามความเป็นจริง ปัญญาขั้นนั้นจึงประจักษ์ เพราะเหตุว่าสภาพธรรมปรากฏแก่ปัญญาที่อบรมเจริญแล้ว

    เรื่องการปฏิบัติธรรมก็เป็นเรื่องที่ละเอียด เป็นเรื่องที่จะต้องฟังจริงๆ แล้วก็เข้าใจจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสมถภาวนา หรือวิปัสสนาภาวนา แล้วก็ไม่สับสนปะปนกันเรื่องของมิจฉาสมาธิ เรื่องของสัมมาสมาธิ เรื่องของสมถภาวนาต่างกับวิปัสสนาภาวนาอย่างไร หรือว่าในชีวิตประจำวันซึ่งเป็นการอบรมเจริญกุศลทุกประการ ก็เป็นทั้งสมถะและวิปัสสนาด้วย ถ้าสติปัฏฐานเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    สำหรับความสัมพันธ์กันของทั้ง ๓ ปิฎก ก็จะเห็นได้ว่า เพื่อให้ปัญญาอบรมรู้สภาพธรรมตามเพศของคฤหัสถ์และบรรพชิต บางท่านสับสน เป็นคฤหัสถ์ แต่ก็อยากจะทำ คืออยากจะปฏิบัติธรรมยิ่งกว่าเพศบรรพชิต เพราะฉะนั้นนั่นก็ไม่สามารถจะบรรลุผลได้ หรือว่าถ้าเป็นบรรพชิตซึ่งยังมีการประพฤติอย่างคฤหัสถ์ ก็ไม่สามารถจะบรรลุผลที่ประสงค์ได้ เพราะเหตุว่าชีวิตของบรรพชิตกับชีวิตของคฤหัสถ์ต่างกันมาก ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานก็เป็นผู้ที่ตรงตามความเป็นจริงว่า ถ้าเป็นคฤหัสถ์ ก็อบรมเจริญปัญญาในเพศของคฤหัสถ์ ไม่ใช่ว่าจะไปทำอย่างบรรพชิต คือ จะต้องไปสู่สถานที่หนึ่งสถานที่ใด แล้วก็ไม่ทำกิจการงานใดๆ ซึ่งแม้บรรพชิต ท่านก็ยังมีกิจที่จะต้องกระทำตามเพศของบรรพชิต แต่ต้องเข้าใจว่า ก่อนที่สติปัฏฐานจะเกิด เพราะเคยยึด เคยคิดว่า เป็นเรา เพราะฉะนั้นทุกบรรพของสติปัฏฐาน เพื่อให้พิจารณาลักษณะของรูปและนามที่ปรากฏ

    ถ้าจะขอเรียนถามท่านผู้ฟังที่ยังอาจจะไม่แจ่มแจ้ง หรือว่าอาจจะสงสัย ไม่แน่ใจ เช่นถามว่า เจริญสติปัฏฐานเพื่ออะไร บางทีได้กล่าวไปแล้ว กล่าวทบทวนอีกครั้งหนึ่ง ก็อาจจะทำให้เพิ่มความแจ่มแจ้งขึ้นได้ เช่น ถ้าถามว่า เจริญสติปัฏฐานเพื่ออะไร

    การกระทำทุกอย่างต้องมีจุดประสงค์ ถ้าไม่รู้จุดประสงค์ ก็ไม่สามารถที่จะบรรลุความสำเร็จได้ เพราะฉะนั้นท่านที่จะเจริญสติปัฏฐาน จะเจริญสติปัฏฐานเพื่ออะไร

    คำตอบเปลี่ยนได้ แต่ต้องถูก จะตอบอย่างไรก็ได้

    ตอบ รู้สภาพธรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    ท่านอาจารย์ ตอบอย่างนี้ก็ได้ จะตอบอย่างอื่นอีกได้ไหม เรื่องเดียวกันสัมพันธ์กันทั้งหมด แล้วแต่ว่าจะตอบแง่ไหน ถ้าจะตอบว่า เพื่อละความไม่รู้ ได้ไหม ก็ได้อีก ไม่รู้อะไร ละความไม่รู้อะไร ไม่รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้

    เพราะฉะนั้นก็ต้องเป็นผู้ที่รู้จักตัวเองตามความเป็นจริงว่า ไม่รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้แค่ไหน แค่ที่ยังไม่รู้เลย ว่าเป็นนามธรรมและรูปธรรมอย่างไร หรือว่าแค่ที่ยังไม่ประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปของนามธรรมและรูปธรรม วิปัสสนาญาณทุกญาณประจักษ์แจ้งอะไร คำตอบจะเหมือนเดิมไหม

    วิปัสสนาญาณทุกวิปัสสนาญาณประจักษ์แจ้งอะไร

    ประจักษ์ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม จะประจักษ์อย่างอื่นนอกจากลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมได้ไหม

    ชีวิตตามความเป็นจริงในวันหนึ่งๆ ของผู้ที่เจริญสติปัฏฐาน จะเห็นความสัมพันธ์ของสภาพปรมัตถธรรมที่ปรากฏกับความคิดนึก และการเจริญสติปัฏฐาน เพราะเหตุว่าสติปัฏฐานจะเกิดสลับกับปรมัตถธรรมที่ปรากฏ

    ขณะนี้ ทางตาเป็นสิ่งที่มีจริง กำลังเห็น สติปัฏฐานเกิดสลับกับปรมัตถธรรมที่ปรากฏ เพราะเหตุว่าสติปัฏฐานจะระลึกลักษณะของธาตุรู้ที่กำลังเห็นในขณะนี้ หรือว่าระลึกศึกษาลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตา จนรู้ชัด ละคลายการยึดถือสิ่งที่เคยยึดถือว่าเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นวัตถุ เป็นพี่ เป็นน้อง เป็นเพื่อน เป็นบุคคลต่างๆ โดยการรู้ว่า คิดนึกเกิดสืบต่อจากทางตา

    นี่คือการที่สติปัฏฐานจะเกิดสลับกับปรมัตถธรรมที่ปรากฏในวันหนึ่งๆ เพราะเหตุว่ามีสภาพปรมัตถธรรมปรากฏให้ศึกษา เพราะฉะนั้นสติปัฏฐานก็ศึกษาโดยระลึกลักษณะของปรมัตถธรรมที่ปรากฏ สติปัฏฐานจึงเกิดสลับกับปรมัตถธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ซึ่งผลก็คือว่า เมื่อปัญญาเจริญขึ้นก็จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง แล้วปัญญาจะค่อยๆ โน้มไป สู่การที่จะละคลายการยึดถือสภาพธรรม เช่น ถ้าสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น ไม่ใช่ใครเลยทั้งสิ้น แล้วจะรักจะชังสิ่งที่ปรากฏทางตาแล้วก็ดับไปอย่างนั้นหรือ

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ปัญญาที่จะเจริญจากการเป็นปุถุชน จนกระทั่งถึงความเป็นพระอรหันต์ที่จะดับกิเลสได้ ก็คือการรู้สัจจธรรม ของจริงที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ โดยแยกออกได้ว่า สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาเป็นอย่างไร และหลังจากนั้นคิดนึกเรื่องสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นรูปร่าง สัณฐาน อย่างไร

    เพราะฉะนั้นวันหนึ่งๆ ก็จะอยู่กับความคิดเรื่องของสิ่งที่ปรากฏทางตา ซึ่งทั้งหมดก็เป็นเพียงชั่วขณะเดียวที่เกิดแล้วก็ดับไป

    อดิศักดิ์ การเจริญสติปัฏฐานเท่าที่ได้ฟังมา ได้ศึกษามาก็ว่า ต้องมีปัจจุบันอารมณ์ คือ ต้องมีอารมณ์ปัจจุบัน เพื่อที่จะระลึกถึงปรมัตถธรรมที่ปรากฏในขณะนั้น ทีนี้ในการสนทนาธรรมในวันเสาร์ก่อน มีผู้หนึ่งบอกว่า ได้ค้นคว้าในพระไตรปิฎกแล้วว่า การเจริญสติปัฏฐาน ใครนะเป็นคนพูดว่า จะต้องมีปัจจุบันเป็นอารมณ์ อดีตก็ได้ อนาคตก็ได้ มีตั้ง ๗ อารมณ์ ในพระไตรปิฎกก็ไม่ได้บอกว่า จะต้องมีปัจจุบันเป็นอารมณ์ มีหลักฐานอย่างไรที่จะแสดงให้เห็นว่า ต้องใช้อารมณ์ปัจจุบันตามที่ได้ศึกษามาว่าถูกต้อง

    ท่านอาจารย์ ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่า ปัญญาที่จะประจักษ์แจ้งทุกขอริยสัจจะนั้นคือรู้อะไร เพราะเหตุว่าอริยสัจจธรรมมี ๔ อริยสัจจ์ที่ ๑ คือ ทุกขอริยสัจจะ ได้แก่ การเกิดดับของสภาพธรรมตามปกติที่กำลังเกิดดับในขณะนี้ ถ้ายังไม่ประจักษ์แจ้งการเกิดขึ้นและดับไปของสภาพธรรมที่กำลังเกิดดับในขณะนี้ จะชื่อว่า รู้ทุกขอริยสัจจะไม่ได้

    เพราะฉะนั้นในขณะนี้ทางตาเกิดแล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด ไม่ศึกษา ไม่พิจารณารู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏ ย่อมไม่สามารถที่จะประจักษ์การเกิดดับของสภาพธรรมได้ เพราะฉะนั้นก็จะไม่ประจักษ์แจ้งลักษณะของทุกขอริยสัจจะ

    อดิศักดิ์ ที่อาจารย์ตอบมานี่ก็เป็นเหตุผล ผมเองได้ตอบไปด้วยเหตุผลอีกอันหนึ่งบอกว่า ถ้าเผื่อยังนำอดีตมาเป็นอารมณ์ เอาอนาคตมาเป็นอารมณ์ หรือจะเอาอารมณ์ทั้ง ๗ ที่เขาไปค้นคว้ามาอย่างไรก็แล้วแต่ จะเป็นอารมณ์อดีต หรือเป็นอารมณ์อนาคต ถ้าเผื่อมาสู่ปัจจุบันในขณะนั้น ถ้าเป็นปัจจุบันแล้ว จะไม่มีเรื่องราว จะไม่มีสัตว์ จะไม่มีบุคคล แต่ถ้ายังเป็นสัตว์ ยังเป็นบุคคล ยังเป็นเรื่องราวอยู่แล้ว แล้วจะตัดวัฏฏะได้อย่างไร ขณะนั้นจิตก็ยังปรุงแต่งเป็นเรื่องราวอยู่ ก็ไม่มีทางที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ จากคำตอบของผมที่ตอบไปนี่ พอจะเป็นเหตุผลไหม

    ท่านอาจารย์ ไม่ทราบว่าจะเจริญปัญญา หรือเจริญสติปัฏฐานเพื่ออะไร

    อดิศักดิ์ ก็เพื่อตัดวัฏฏะ

    ท่านอาจารย์ คือถ้ายังไม่รู้จุดประสงค์ของการเจริญสติปัฏฐาน ก็จะเจริญสติปัฏฐานทำไม หรือว่าจะเจริญสติปัฏฐานเพื่ออะไร

    เพราะฉะนั้นในการศึกษาพระอภิธรรม หรือการฟังพระธรรม ก็จะต้องรู้ว่า จุดประสงค์คือเพื่ออะไร

    การฟังพระธรรมเพื่อที่จะให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริง ที่กำลังปรากฏในขณะนี้ และที่ชื่อว่า อภิธรรม ก็คือว่าเป็นธรรมส่วนละเอียด ที่จะทำให้เห็นจริงว่า สภาพธรรมเหล่านี้ ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เพราะเหตุว่าก่อนที่จะฟังพระธรรม ก็ยึดถือสภาพธรรมทั้งหมดว่าเป็นเรา เป็นตัวตน ที่กำลังเห็น ก็เป็นเราเห็น ที่กำลังได้ยิน ก็เป็นเราได้ยิน ที่กำลังคิดนึก ก็เป็นเราคิดนึก ที่กำลังเป็นสุขเป็นทุกข์ ก็เป็นเรา นี่เป็นความเห็นผิดจึงศึกษาพระธรรมส่วนละเอียดที่เป็นพระอภิธรรม เพื่อที่จะให้เข้าใจได้จริงๆ ว่า ไม่มีสักขณะเดียวซึ่งเป็นตัวตน เป็นแต่เพียงสภาพธตรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย

    นี่คือขั้นฟัง ขั้นศึกษาให้เข้าใจจริงๆ แต่ไม่ใช่ขั้นประจักษ์แจ้ง เพราะฉะนั้นการที่จะประจักษ์แจ้ง เป็นปัญญาขั้นที่ไม่ใช่เพียงขั้นการฟัง แต่ว่าเป็นปัญญาที่เจริญขึ้นจนกระทั่งสามารถแทงตลอดลักษณะเกิดดับของสภาพธรรมในขณะนี้ได้ ก็จะต้องอาศัยสติปัฏฐานที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยการฟังเข้าใจจุดประสงค์ของการศึกษาพระธรรมว่า ศึกษาเพื่อประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรม เมื่อเข้าใจอย่างนี้ สติปัฏฐานจึงจะเกิดได้ มิฉะนั้นแล้วสติปัฏฐานก็เกิดไม่ได้ ถ้าไม่เข้าใจจุดประสงค์ของการศึกษา และจุดประสงค์ของสติปัฏฐาน

    ด้วยเหตุนี้สติปัฏฐานจึงเป็นขณะที่สติเกิดระลึกได้ ตามที่ได้ยินได้ฟังในขณะนั้น ที่เป็นสติปัฏฐานคือระลึกตรงลักษณะของสภาพที่กำลังเป็นนามธรรมชนิดหนึ่งชนิดใด หรือรูปธรรมชนิดหนึ่งชนิดใด

    จะตรงไหมกับการศึกษาถ้าเป็นโดยลักษณะนี้ มิฉะนั้นแล้วการที่จะศึกษาเรื่องของสภาพธรรมทั้งหมดจะมีประโยชน์อะไร ศึกษาเรื่องจิตมีประโยชน์อะไร ถ้าไม่รู้ลักษณะของจิต ศึกษาเรื่องรูปแล้วมีประโยชน์อะไร ถ้าจะไม่รู้ลักษณะของรูป การศึกษาทั้งหมดก็ไม่ได้เป็นประโยชน์เกื้อกูลในการที่จะประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรม แต่ในการที่ทุกท่านในขณะนี้กำลังฟังเรื่องของสภาพธรรม ก็เพื่อเป็นปัจจัยให้สติปัฏฐานเกิดระลึกรู้ลักษณะของของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏ จนกว่าปัญญาจะรู้ชัดประจักษ์แจ้งได้ในสภาพธรรมที่กำลังเกิดดับในขณะนี้

    นี่คือจุดประสงค์ของการศึกษา หรือว่าจะมีท่านผู้ใดศึกษาโดยที่ไม่มีจุดประสงค์ คือศึกษาไปเฉยๆ เรื่อยๆ เพื่อจะเป็นความรอบรู้เท่านั้น หรือว่าศึกษาเพื่อจะได้พิจารณาลักษณะของสภาพธรรมตรงตามที่ได้ยินได้ฟัง แม้ในขณะนี้เองถ้าจะพูดเรื่องจิต แต่ละท่านก็เข้าใจความหมาย ลักษณะ อรรถของจิต คือ สภาพที่รู้อารมณ์ที่กำลังปรากฏ เพื่อขณะนี้จะได้รู้ว่า กำลังเห็นเป็นจิต นี่คือจุดประสงค์ของการศึกษา จนกว่าจะประจักษ์แจ้งว่า ขณะที่กำลังเห็นนี่ก็ไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป

    เพราะฉะนั้นจุดประสงค์คือการดับกิเลสทั้งหมด แน่นอนที่สุดสำหรับผู้ที่ศึกษาธรรม แต่การที่จะบรรลุจุดประสงค์นี้ได้ ต้องเริ่มจากละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนเป็นสัตว์เป็นบุคคล โดยปัญญาเจริญขึ้น เพราะฉะนั้นทิ้งปัญญาไม่ได้เลย ถ้ามีใครที่มีความโกรธ แล้วก็สติปัฏฐานระลึกตรงลักษณะของนามธรรมแล้วประจักษ์แจ้งในสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 24
    10 ก.พ. 2565

    ซีดีแนะนำ