โสภณธรรม ครั้งที่ 058


    ตอนที่ ๕

    ผู้ฟัง ตอบว่าเป็นเหตุให้สติปัฏฐานเกิดได้ไหม

    ท่านอาจารย์ เป็นสติปัฏฐานหรือเปล่า เมื่อสักครู่บอกว่ามีหนทางเดียว คือ สติเกิด เพราะฉะนั้นที่กำลังพูดอย่างนั้นเป็นสติปัฏฐานหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ถ้าระลึกในขณะนั้น รูปไม่เที่ยง ในขณะที่เสียงไม่เที่ยง

    ท่านอาจารย์ ยังไม่ทันรู้เลยว่า เสียงกับได้ยินต่างกันอย่างไร ก็ได้ยินไม่เที่ยง เสียงไม่เที่ยง แล้วจะมีประโยชน์อะไร เพราะเหตุว่าไม่ได้ทำให้รู้ลักษณะของเสียงซึ่งต่างกับได้ยิน

    ถาม ผมขอเรียนถามอาจารย์เกี่ยวกับการอบรมเจริญสติปัฏฐานของกระผมเอง ซึ่งตอนที่กระผมได้มาฟังอาจารย์ใหม่ๆ อาจารย์ก็พูดว่า เป็นปกติ แล้วก็หมั่นพิจารณาศึกษาหรือระลึกรู้บ่อยๆ น้อมระลึกศึกษา แล้วพยายามน้อมใจไป เป็นนาน ผมก็พยายามทำอย่างที่อาจารย์ว่า จะทำอะไรก็พยายามระลึกรู้ตามไปเรื่อย ก็ไม่เกิดเหตุอะไรขึ้นมาสักครั้งหนึ่ง แม้กระทั่งอย่างอาจารย์ว่า ถ้าระลึกรู้ว่าแข็งแล้ว ก็ให้น้อมพิจารณาศึกษา แต่ในขณะที่เรายังเป็นตัวเป็นตนอยู่ พอนึกถึงเรื่องแข็ง ก็เหมือนแข็งทุกครั้งเลย แล้วนึกถึงเรื่องอ่อนก็อ่อน เย็นก็เย็น ร้อนก็ร้อน เป็นอย่างนี้เรื่อยมานาน จนผมคิดว่าวิธีที่เราตั้งอกตั้งใจที่จะระลึกรู้ หรือทำอย่างใดอย่างหนึ่ง อย่างแข็ง หรือเย็น หรือร้อน หรืออ่อน หรือเห็น ครั้งแรกยังคิดว่า เป็นวิธีการอันหนึ่งซึ่งจะเป็นเหตุเป็นปัจจัยทำให้สติเกิด ได้พยายามปฏิบัติตนและประพฤติตนอย่างนี้มาเรื่อยๆ ก็ยังมีความรู้สึกเหมือนเดิมว่า ในขณะที่ตั้งใจจะระลึกรู้เรื่องแข็ง แข็งก็ปรากฏอย่างนั้น ไม่ปรากฏว่า ที่จะเป็นสติหรืออะไรอย่างนี้ที่แน่นอน ผมเข้าใจอย่างนั้นมาจนกระทั่งความต้องการอันนั้นค่อยๆ เลือนหายไป หลังจากนั้นเมื่อได้ฟังพระธรรมไปเรื่อยๆ จนกระทั่งการฟังในขั้นเข้าใจได้เกิดขึ้นว่า การที่อาจารย์บอกว่า สติเกิดและระลึกรู้ แล้วน้อมพิจารณาศึกษาสภาพธรรมในขณะนั้นว่า อะไรปรากฏตามความเป็นจริง ถ้าหากว่าเป็นอย่างนั้นจริงๆ ผมสังเกตว่าตัวเราเองยังไม่ทันได้นึกเลยว่า จะเป็นอย่างนั้นจริงๆ

    สมมติยกตัวอย่างว่า วันหนึ่งผมจะไปทำบุญ ผมก็เอาปิ่นโตไปแล้วไปซื้อของ ในขณะที่หยิบปิ่นโตลงจากรถไปใส่ของ ขณะที่เห็นปิ่นโตมีฝุ่นหรือสกปรก โทสะเกิด ในขณะนั้นสติก็สามารถระลึกรู้ได้ว่า ความไม่ยินดีพอใจ หรือความขุ่นข้องหมองใจกำลังเกิดขึ้น มันเกิดขึ้นอยู่ชั่วขณะนิดเดียวเท่านั้นเอง แล้วในขณะนั้นก็เกิดระลึกคิดว่า สติที่เกิดขึ้นคงจะมีลักษณะอย่างนี้เอง อย่างนี้จะเป็นสติหรือเปล่า

    เพราะฉะนั้นในขณะนี้กระผมเองเข้าใจว่า ช่วงขณะที่สติเกิดระลึกรู้ว่า โทสะเกิดขึ้นนั้น มีการที่จะน้อมพิจารณาศึกษาสภาพธรรมในขณะนั้นเกิดขึ้นเป็นอย่างไร และความเพียรในขณะนั้นที่จะศึกษาว่า ในขณะที่ไม่พอใจปิ่นโตที่สกปรก ก่อนเหตุการณ์อย่างนี้จะเกิดขึ้น การที่จะน้อมพิจารณาศึกษา หรือการที่จะมีความเพียร หรือจะมีศรัทธาในเรื่องอย่างนี้ ถ้าหากว่าเราตั้งใจหรือจดจ้องที่จะทำอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว มันจะไม่มีความรู้สึกอย่างนี้เกิดขึ้น กระผมคิดว่าวิธีการที่กระผมประพฤติปฏิบัติมาจนถึงระยะหลังๆ ก็น่าจะสงสัยว่า ผมก็ต้องมีความสงสัยอย่างนี้ตลอดไป จนกว่าจะถึงอะไรดี อาจารย์

    ท่านอาจารย์ ทุกอย่างเป็นนามธรรมและเป็นรูปธรรม แต่สติที่เพิ่งเกิดระลึกได้บ้าง ยังมีกำลังน้อยมากหรือว่าอ่อนมาก แล้วก็ยังไม่ทั่ว ใช่ไหม เพราะว่าเพียงแต่ระลึกลักษณะของโทสะ และอย่างอื่น ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจในชีวิตประจำวัน แต่ให้ทราบว่า นั่นคือความเป็นผู้มีปกติที่สติจะเกิด แล้วก็ระลึก ซึ่งเหตุการณ์นี้ สติระลึก แต่ว่าเหตุการณ์อื่นๆ สติไม่เกิด ก็แสดงถึงความเป็นอนัตตาของสติว่า แล้วแต่สติจะเกิดเมื่อไร

    ผู้ฟัง คือกระผมเข้าใจว่า ถ้าหากว่าเราไปท่องว่า สิ่งนี้แข็ง สิ่งนี้อ่อน ผมก็คิดว่าลักษณะนั้นเป็นการท่อง แล้วถ้าเรายังจดจ้องที่จะท่อง เพื่อที่จะให้สติเกิด ในขณะนั้นก็เป็นโลภะอย่างหนึ่ง มีความยินดีพอใจหรือหวังผล ผมเข้าใจว่า ลักษณะนั้นสติผมยังไม่เกิด

    ท่านอาจารย์ ทำไมถึงจะต้องท่องในเมื่อขณะที่กำลังเห็น ยังไม่ได้ท่อง ก็เป็นนามธรรม เป็นรูปธรรม แต่ไม่รู้ เพราะฉะนั้นเพื่อที่จะได้รู้ คือ สติระลึก โดยที่ว่าไม่ต้องไปทำอย่างอื่นขึ้นด้วยความเป็นตัวตน ถ้าอย่างนั้นก็จะปิดบัง แล้วสติปัฏฐานก็ไม่เกิด เพราะว่าท่องเพื่ออะไร ถ้าท่านผู้หนึ่งผู้ใดใช้คำว่าท่อง ก็ควรที่จะเข้าใจจุดประสงค์ของการท่องด้วยว่า เวลาที่ท่านท่องเพื่ออะไร คำธรรมดาๆ ที่ใช้คำว่า “ท่อง” กัน แต่ละคนที่นึกจะท่องอะไร ท่องเพื่ออะไร ลองตอบแทนท่านผู้อื่นก็ได้

    ผู้ฟัง ท่องเพื่อที่จะให้เกิดผลตามต้องการ

    ท่านอาจารย์ ผลที่ต้องการจากการท่องคืออะไร นี่ เหตุผลต้องมีอยู่ตลอด แม้แต่การที่จะใช้คำว่า “ท่อง” อาจจะไม่ได้พิจารณาเลยว่า การท่องเพื่ออะไร ทุกคนที่ท่อง ท่องเพื่อให้จำได้ ถูกไหม ที่ใช้คำว่า “ท่อง” ไม่ว่าจะท่องเรื่องอะไรก็ตาม ไม่ว่าจะท่องสูตรคูณ หรือว่าวันพรุ่งนี้จะทำอะไร กลัวจะลืม ก็อาจจะท่องๆ ๆ ไว้ ทุกครั้งที่ใช้คำว่า “ท่อง” หมายความว่า เพื่อจำได้ ถูกไหม ไม่ใช่เพื่อเข้าใจ ไม่ใช่เพื่อรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ

    ผู้ฟัง ที่กระผมเรียนนี่คล้ายๆ กับว่า ฟังอาจารย์มาก็คงจะหลายปีกว่าจะเข้าใจว่า การอบรมเจริญสติปัฏฐานเป็นอย่างไร กว่าจะเข้าใจว่าศึกษา มีความเพียรที่จะระลึก ครั้งแรกก็คิดว่าตัวเองต้องมีความเพียร ต่อเมื่อสติเล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดขึ้น ในขณะนั้นก็มีความสงสัยว่า นี่เป็นสติใช่ไหม เป็นการน้อมมาศึกษาใช่ไหม ในขณะนั้นถ้าหากว่าเข้าใจอย่างนี้แล้ว ผมคิดว่าก็เป็นหนทางอันหนึ่งที่กระผมได้เรียนให้อาจารย์ทราบว่า กระผมได้อบรมเจริญสติปัฏฐานมาในลักษณะอย่างนี้

    ท่านอาจารย์ ความสงสัยจะค่อยๆ หมดไป เมื่อมีการค่อยๆ รู้ลักษณะที่เป็นนามธรรมและรูปธรรมเพิ่มขึ้น แต่ถ้าเป็นขั้นต้นๆ ความสงสัยก็ยังมีมาก จะสงสัยเรื่องนั้นบ้างเรื่องนี้บ้าง แต่ให้ทราบว่าหนทางเดียว คือ สติปัฏฐาน ใช้คำว่า “สติปัฏฐาน” ไม่ใช่ผัสสปัฏฐาน ไม่ใช่เจตนาปัฏฐาน ไม่ใช่สัญญาปัฏฐาน ด้วยเหตุที่ต้องอาศัยสติ ซึ่งเป็นสภาพที่ระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ

    ผู้ฟัง กระผมคิดว่าก่อนที่จะถึงสติปัฏฐาน ลักษณะของสติเล็กๆ น้อยๆ ในขั้นทาน ขั้นศีล คงจะต้องเกิดขึ้นอยู่เนืองๆ บ่อยๆ กว่าจะถึงขั้นสติปัฏฐาน ถ้าเราคิดอย่างนี้ก็คงไม่ถูกต้องอีกนะ

    ท่านอาจารย์ เวลาที่ตั้งใจจะให้ทาน มีเจตนาที่เป็นไปในการให้เกิดขึ้น ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด ขณะนั้นก็ไม่รู้ว่า มีสติที่ระลึกเป็นไปในทาน ยังคงเป็นเรา แต่ว่าการที่จะรู้สภาพธรรมทั้งหมดตามความเป็นจริงว่า เป็นจิตแต่ละประเภท และเป็นเจตสิกแต่ละประเภท เป็นรูปแต่ละชนิดได้ ก็ต่อเมื่อสติปัฏฐานเกิด ระลึกลักษณะของสภาพธรรมแล้วถึงจะค่อยๆ รู้ว่า ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโดยละเอียด เพื่อประโยชน์ที่เมื่อบุคคลใดเจริญสติปัฏฐานแล้ว จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมตรงตามลักษณะของสภาพธรรมนั้น ตามที่ได้ทรงแสดงไว้ เป็นความจริงอย่างนั้น ไม่คลาดเคลื่อน แม้แต่ลักษณะของโทสะ แม้แต่ลักษณะของนามธรรมอื่นๆ ที่เห็นบ้าง ได้ยินบ้าง เป็นต้น

    สำหรับสีลลัพพตปรามาสกายคันถะ คือ การลูบคลำข้อประพฤติปฏิบัติที่ผิด คลาดเคลื่อนไปจากมรรคมีองค์ ๘ จะค่อยๆ หมดไป เมื่อปัญญาพิจารณาแล้วก็รู้ในสัจจญาณ แล้วก็จะดับหมดเป็นสมุจเฉทเมื่อโสดาปัตติมรรคจิตเกิด

    เพราะฉะนั้นต้องเป็นผู้ที่ละเอียดรอบคอบ ระวังที่จะไม่ผิดพลาดไปจากหนทาง คือ มรรคมีองค์ ๘

    ผู้ฟัง เรื่องของการเจริญสติปัฏฐานเป็นเรื่องยาก เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจ จากคำถามต่างๆ ที่มีผู้ถามผ่านมา อาจารย์บอกให้ฟัง ก็จะถามว่า ฟังเท่าไร แค่ไหน อาจารย์บอกว่า ต้องเข้าใจ ก็จะมีคำถามอีกว่า เท่าไร แค่ไหน ผมเองผมได้ยินคำถามอย่างนี้มาไม่น้อย และก็น่าเห็นใจ เพราะว่าเขาอยากได้ เขาอยากให้มีสติเกิด คำถามเหล่านี้จากที่ผ่านมาของผม ผมคิดว่าเป็นทางที่เราเดินมาด้วยกัน เราเดินมาในทางเดียวกัน และเราก็มีความสงสัยคล้ายๆ กัน ผมก็อยากเอาสิ่งที่ผมผ่านมา มาเล่าให้เพื่อนธรรมฟังว่า ฟังเท่าไรไม่มี ไม่มีจำกัดขอบเขต ไม่มีบทที่ หรือจะบอกว่า ต้องสติขั้นทานเกิดก่อน สติขั้นศีลเกิดก่อน ก็ไม่มีอีก ไม่มีขอบเขตจริงๆ ไม่มีเครื่องหมาย ไม่มีนิมิต สิ่งที่อยากจะบอกก็คือว่า สติระลึกรู้ทางตา พอสิ่งที่ปรากฏทางตาเกิดขึ้น เราระลึก เมื่อเราระลึกแล้ว ก็คือนึกคิดนั่นเอง ตอนแรกก็คิดนึกก่อน แต่การคิดนึกนั้นก็เกิดจากความเข้าใจที่เรามีอยู่ระดมกันเข้าไป ก็สิ่งที่ปรากฏทางตากับเห็น ๒ อย่าง คือ รูปธรรมกับนามธรรม อาจารย์ก็บอกว่าให้สำเหนียก สังเกต เราก็ดูว่า อย่างนี้คนตาบอดไม่มี เห็นนี่ไม่มี หรือหลับตาไม่มี คนตายไม่มีอย่างนี้ หรือจะเอาหูไปรู้ ไปเทียบเคียงอย่างนี้ ก็ไม่ได้ ทางหูก็จะรู้ของมัน คือ ได้ยิน ได้ยิน เป็นเสียง เป็นลักษณะดัง เราก็เทียบเคียงจากทวารต่างๆ ก็จะใช้คำว่า สำเหนียก สังเกตผมว่าก็ดีที่สุดแล้ว เราเทียบเคียงทางทวารต่างๆ ไม่ต้องไปบอกว่า เสียงไม่เที่ยง ได้ยินก็ไม่เที่ยง แต่โดยการศึกษาไม่เที่ยงอยู่แล้ว แต่เรายังไม่ประจักษ์ไตรลักษณะ เรายังไม่รู้แจ้งแทงตลอดในอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แต่ว่าโดยการศึกษา มันไม่เที่ยงอยู่แล้ว ไม่ต้องไปท่องแล้วสติจะเกิด เราใช้วิธีเทียบเคียงตามทวารต่างๆ ทางใจ รู้ได้อย่างไร ใจก็รู้จากการนึกคิด จะเอาตาไปนึกคิดก็ไม่ได้ จะเอาหูไปนึกคิดไม่ได้ ผมคิดว่า ผมจะใช้เวลาเท่านี้ชี้แจง ถ้ามีอะไร อาจารย์จะเพิ่มเติม

    ท่านอาจารย์ ขอบพระคุณ เพราะว่าคงจะเกื้อกูลท่านผู้ฟังหลายท่าน ซึ่งท่านเพิ่งจะเริ่มฟัง และท่านก็บอกว่า ที่ท่านมาฟังครั้งแรกๆ ท่านก็ไม่เข้าใจเลย แต่หลังจากที่ได้ฟังสัก ๒ – ๓ ครั้ง ก็เริ่มจะเข้าใจขึ้น และทั้งทางวิทยุท่านก็เพิ่งจะเริ่มฟัง เพราะฉะนั้นก็คงจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่สนใจในการที่เมื่อเห็น แล้วปัญญาจะเพิ่มขึ้น อกุศลจะลดลง แทนที่จะให้เห็นแล้วกิเลสก็เพิ่มขึ้นอยู่เรื่อยๆ

    นี่เป็นสิ่งซึ่ง ก็คงเป็นสังขารขันธ์ที่จะปรุงแต่ง จนกว่าปัญญาจะเข้าใจและระลึกได้ว่า เป็นนามธรรม เป็นรูปธรรม แต่ไม่รู้ ทางเดียวที่จะรู้ คือ ศึกษา ในขณะที่กำลังพิจารณานั้น คือ ขณะที่สติเกิดระลึก ถ้าสติไม่เกิด ไม่ระลึกที่ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ปัญญาก็จะศึกษาไม่ได้เลย ด้วยเหตุนี้จึงเป็นสติปัฏฐาน เพื่อสติจะต้องระลึกได้ แล้วปัญญาก็จะค่อยๆ พิจารณาสังเกตจนกว่าจะรู้ลักษณะที่ต่างกันของนามธรรมและรูปธรรม ไม่ใช่ทำอย่างอื่น แต่เวลานี้ไม่รู้อะไร ไม่รู้ว่านามธรรมมีลักษณะอย่างไร รูปธรรมมีลักษณะอย่างไร เพราะเหตุว่าได้ยินได้ฟังแต่ว่าไม่มีตัวตน มีแต่นาม มีแต่รูป แต่ถึงจะได้ยินอย่างนี้ ก็ไม่ใช่ว่าจะรู้ว่า นามธรรมคือลักษณะอย่างนี้ แม้จะได้ทราบว่า เป็นธาตุรู้ เป็นลักษณะรู้ ก็จะรู้ขึ้นได้จริงๆ ในขณะที่สติระลึก หรือว่าขณะที่กำลังศึกษาสังเกต ในขณะนั้นไม่ต้องคิดถึงความเพียร ไม่ต้องคิดถึงอะไรเลย เพราะเหตุว่าขณะที่กำลังสังเกตที่ลักษณะของสภาพธรรมนั้น สติระลึกแล้ว ปัญญาจึงสังเกต

    เพราะฉะนั้นเป็นเรื่องของการอดทน ระลึกไปเรื่อยๆ จากไม่รู้เลย เป็นค่อยๆ ระลึกได้ เป็นค่อยๆ รู้ขึ้นจนกว่าจะประจักษ์แจ้งในลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน เพราะเป็นแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรมเท่านั้น ไม่มีอย่างอื่นเลยตลอดในสังสารวัฏฏ์ จะต้องเป็นอย่างนี้ อบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะที่ต่างกันของนามธรรมและรูปธรรม เพราะเหตุว่าทางตาที่กำลังเห็น เป็นนามธรรม เป็นรูปธรรม แต่ไม่รู้ ยากใช่ไหม ที่จะแยกลักษณะของนามธรรมที่เป็นสภาพรู้ออกจากสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา แล้วสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาต้องไม่ใช่ใครทั้งสิ้น ไม่ใช่สิ่งใดทั้งสิ้น เป็นเพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งมีจริงและกำลังปรากฏเท่านั้นเอง

    เพราะฉะนั้นความยากอยู่ที่ทางตาที่เห็น วิถีจิตทางตา จักขุทวารวิถีดับไปหมดแล้ว ภวังคจิตแม้ว่าจะเกิดคั่น แต่ว่ามโนทวารวิถีซึ่งเกิดต่อ ก็รับรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา ปัญญาจะต้องรู้ชัดในความต่างกันของนามธรรมที่เห็นและนามธรรมที่คิดนึก มิฉะนั้นแล้วก็เป็นเราเห็นคนนั้นคนนี้ เช่นเดียวกับทางเสียง ถ้าจะให้เข้าใจได้ง่าย ขณะนี้ทุกท่านกำลังได้ยิน แต่ว่ารวดเร็วเหลือเกิน ไม่ได้รู้เลยว่า ได้ยินเสียงก่อนทางโสตทวารวิถี เป็นเสียงเท่านั้นที่ยังไม่ดับ และเมื่อเสียงดับ โสตทวารวิถีจิตดับหมดแล้ว ภวังคจิตเกิดคั่นแล้ว มโนทวารวิถีจิตจึงรู้ความหมายของเสียงซึ่งสูงๆ ต่ำๆ แต่ละเสียงแต่ละคำมีเสียงสูงๆ ต่ำๆ ที่จะทำให้นึกตามเสียงสูงๆ ต่ำๆ ที่ได้ยินว่า หมายความว่าอย่างไร แต่เวลาที่ได้ยิน ดูเสมือนว่าได้ยินคำพูดทันทีเลย ใช่ไหม

    เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่า การที่จะแยกสภาพธรรมทางหูซึ่งได้ยินเสียงออกจากสภาพที่คิดคำตามเสียงที่ได้ยิน ยากฉันใด ทางตาก็ยากฉันนั้น แล้วก็รวดเร็วอย่างนั้น คือ ทางตา สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาต้องดับ แล้วทางใจถึงจะคิดถึงรูปร่างสัณฐาน แล้วก็รู้ว่าสิ่งที่เห็นเป็นอะไร

    เพราะฉะนั้นการอบรมเจริญสติปัฏฐานจึงต้องละเอียด และต้องอบรมไปเรื่อยๆ ค่อยๆ ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นสภาพรู้ ธาตุรู้ซึ่งเป็นนามธรรม ซึ่งต่างจากรูปธรรมเสียก่อน ยังไม่ต้องไปคิดที่จะประจักษ์แต่ละทวารที่แยกขาดออกจากกันเป็นรูปธรรมแต่ละชนิด เป็นนามธรรมแต่ละชนิด เพราะเหตุว่ายังไม่ได้คุ้นเคยกับลักษณะที่เป็นนามธรรมที่เป็นสภาพรู้ ธาตุรู้ ซึ่งต่างกับรูปธรรม ในขณะที่กำลังเห็น ในขณะที่กำลังได้ยิน ในขณะที่กำลังได้กลิ่น ในขณะที่ลิ้มรส ในขณะที่กระทบสัมผัส

    เพราะฉะนั้นเรื่องของการอบรมเจริญสติปัฏฐานจึงเป็นเรื่องที่จะต้องนานแสนนานทีเดียว เพราะเหตุว่าอวิชชาและความหลงลืมสติในสังสารวัฏฏ์ที่มีมากนั้นก็มากมายจริงๆ จนกระทั่งสามารถที่จะปิดกั้น ไม่ให้รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงซึ่งเป็นนามธรรมและรูปธรรมได้ แต่ว่าอบรมได้ เจริญได้ จนกว่าสภาพธรรมจะปรากฏทางมโนทวาร

    สำหรับวิปัสสนาญาณที่ ๑ คือ นามรูปปริจเฉทญาณ เป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์ ซึ่งเกิดขึ้นประจักษ์แจ้งลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่แยกขาดจากกัน ทีละอารมณ์ ซึ่งในขณะนั้นโลกปรากฏสภาพที่สูญเปล่าจากตัวตน เพราะเหตุว่ามีแต่เฉพาะนามธรรมซึ่งเป็นธาตุรู้ สภาพรู้ กำลังรู้อารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งเพียงอย่างเดียว ทีละอารมณ์ทางมโนทวาร

    เวลานี้มีมโนทวารเกิดต่อจากจักขุทวารวิถี เวลานี้มีมโนทวารต่อจากโสตทวารวิถี และระหว่างจักขุทวารและมโนทวารก็มีภวังค์คั่น ระหว่างโสตทวารและมโนทวารก็มีภวังค์คั่น แต่ว่าขณะนี้มโนทวารปรากฏหรือเปล่า ทั้งๆ ที่มโนทวารมากกว่าทางปัญจทวาร เพราะเหตุว่ารูปมีอายุเท่ากับ ๑๗ ขณะของจิตแล้วดับ ถ้าเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตาก็เหมือนกัน สิ่งที่ปรากฏทางตามีอายุเท่ากับ ๑๗ ขณะจิตแล้วดับ จักขุทวารวิถีจิตดับ ภวังคจิตเกิดคั่น มโนทวารเกิดต่อ กว่าจะรู้ว่าเป็นคนหรือเป็นสัตว์ หรือเป็นวัตถุสิ่งของ กว่าจะรู้ชื่อ กว่าจะเข้าใจความหมาย

    เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่า มโนทวารวิถีเกิดมากกว่าทางจักขุทวารวิถี ในขณะที่กำลังเห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด คิดเรื่องสิ่งนั้นทันที และถ้าเป็นคนที่รู้จัก ก็อาจจะคิดเรื่องของคนที่รู้จัก อาจจะคิดถึงบุตรหลานของคนที่รู้จักซึ่งกำลังป่วยไข้อยู่ที่โรงพยาบาล ก็เป็นเรื่องยาวที่เกิดจากการเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาที่มีอายุสั้นมาก เพียงแค่ ๑๗ ขณะแล้วดับ

    เพราะฉะนั้นทางมโนทวารวิถีมากกว่าทางจักขุทวารวิถี มากกว่าทางโสตทวารวิถี มากกว่าทางปัญจทวารวิถี แต่ลักษณะของมโนทวารวิถีก็ไม่ได้ปรากฏ เพราะเหตุว่าอารมณ์ทางปัญจทวารปิดกั้นไม่ให้ปรากฏลักษณะสภาพของมโนทวารวิถี

    เพราะฉะนั้นนามรูปปริจเฉทญาณซึ่งเป็นสภาพที่ประจักษ์แจ้งในลักษณะที่ต่างกัน ที่แยกขาดจากกันของนามธรรมและรูปธรรม เป็นปัญญาที่รู้ชัดในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทีละอย่างทางมโนทวาร ซึ่งจะไม่มีความสงสัยในลักษณะของมโนทวารวิถีเลย ซึ่งในขณะนี้ตามปกติแม้มโนทวารวิถีเกิดสลับคั่นกับทางปัญจทวารวิถีแต่ละทวาร ก็ยังไม่ปรากฏลักษณะของมโนทวาร

    ขณะที่ประจักษ์ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมซึ่งเป็นนามรูปปริจเฉทญาณ ในขณะนั้นไม่มีอัตตสัญญาที่เคยทรงจำสภาพธรรมรวมกันเป็นโลก อย่างที่เคยปรากฏเวลาที่ไม่ใช่วิปัสสนาญาณ

    สัญญาในลักษณะที่เป็นอนัตตาจะเริ่มมีตั้งแต่นามรูปปริจเฉทญาณ เพราะเหตุว่าก่อนที่นามรูปปริจเฉทญาณจะเกิด เป็นอัตตสัญญา ใช่ไหม เห็นคน เห็นวัตถุ เห็นสิ่งต่างๆ แต่เวลาที่สภาพธรรมปรากฏทางมโนทวาร ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมแยกขาดกันเป็นทีละลักษณะ โดยสภาพที่เป็นอนัตตา สัญญาในขณะนั้นก็เป็นสัญญาในลักษณะที่เป็นอนัตตาก็เริ่มมีได้ หลังจากที่นามรูปปริจเฉทญาณดับแล้ว โลกก็ปรากฏรวมกันเหมือนเดิม แต่ว่าเนื่องจากอนัตตสัญญามีแล้ว จากการประจักษ์แจ้งลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทางมโนทวารวิถี ผู้ที่จะอบรมเจริญปัญญาต่อไปได้ ต้องไม่ลืมลักษณะของอนัตตสัญญาที่เคยประจักษ์แล้ว เพราะฉะนั้นถ้าใครหลงลืม ไม่ระลึกถึงอนัตตสัญญาที่เคยประจักษ์แล้ว สติปัฏฐานก็ไม่ค่อยจะเกิด หรือว่าเมื่อเกิดแล้วก็ยังเป็นปัญญาที่ยังอ่อนอยู่ ซึ่งจะแสดงให้เห็นว่า กว่าปัญญาจะดับความยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนได้ ไม่ใช่เพียงสามารถที่จะประจักษ์แจ้งนามรูปปริจเฉทญาณเท่านั้น

    ธรรมดาแล้วอัตตสัญญาย่อมมีมากในวันหนึ่งๆ เพราะฉะนั้นช่วงขณะที่เป็นวิปัสสนาญาณที่เป็นอนัตตสัญญาย่อมน้อยกว่า ใช่ไหม เพราะฉะนั้นถ้าขณะใดที่สติไม่เกิด ไม่ระลึก ไม่น้อมนึกถึงสภาพที่เป็นอนัตตสัญญาที่เคยประจักษ์ อัตตสัญญาที่สะสมมาพอกพูนในสังสารวัฏฏ์ก็ไม่สามารถที่จะหมดไปได้ เพียงด้วยการประจักษ์ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทางมโนทวารเพียงชั่วขณะที่เป็นวิปัสสนาญาณสั้นๆ เท่านั้น

    อย่าเป็นผู้ที่ใจร้อน เพราะเหตุว่าบางคนพอได้ยินคำว่า “สมถะ” ก็คิดว่า สงบ โดยการที่ว่าจดจ้องอยู่ที่อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด แล้วก็อ่านเรื่ององค์ของฌาน ๕ ก็คิดว่าในขณะนั้นมีวิตกเจตสิก มีวิจารเจตสิก มีปีติ มีสุข มีเอกัคคตา ก็เข้าใจว่าถึงปฐมฌานแล้ว บางท่านก็เข้าใจไปจนกระทั่งถึงว่า เมื่อสงบขึ้นอีก ขณะนั้นไม่ได้มีวิตกแล้ว ก็เป็นทุติยฌาน เพราะเหตุว่ามีวิจาร มีปีติ มีสุข มีเอกัคคตา บางท่านเข้าใจเอาเองว่า ได้บรรลุฌานตั้งแต่ปฐมฌาน จนถึงทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน บางท่านถึงกับเข้าใจว่าได้บรรลุอรูปฌาน

    นี่เป็นเรื่องของสมถะ เพราะฉะนั้นเรื่องของวิปัสสนา ก็ต้องเป็นเรื่องที่ละเอียด และต้องเป็นเรื่องที่จะต้องระวังว่า วิปัสสนาต้องเป็นความรู้ เพราะฉะนั้นถ้าสติไม่ระลึก ความรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏไม่เริ่ม ไม่เจริญ ไม่เพิ่มขึ้น ก็อย่าได้ไปคิดฝัน หรือเข้าใจเอาว่าขณะนั้นเป็นนามรูปปริจเฉทญาณแล้ว เพราะเหตุว่าบางคนอาจจะต้องการถึงนามรูปปริจเฉทญาณ จนกระทั่งรอและคอย แล้วก็หวัง แล้วก็คิดเทียบเคียงว่า ตอนนี้ตรงนี้ต้องเป็นนามรูปปริจเฉทญาณแล้ว แต่ให้ทราบว่า แม้วิปัสสนาญาณก็เป็นอนัตตา ไม่ใช่ว่ากำลังคอย กำลังคิด กำลังเทียบ แล้วเป็นวิปัสสนาญาณ แต่ว่าการที่สภาพของปัญญาจะประจักษ์แจ้งลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทางมโนทวาร จะเกิดขึ้นโดยความเป็นอนัตตาในขณะไหนก็ได้ เมื่อเหตุสมควรแก่ผล

    ข้อสำคัญคือ เหตุต้องถูกตั้งแต่ตอนต้น ถ้าเหตุไม่ถูกตั้งแต่ตอนต้น แม้วิปัสสนาญาณที่ ๑ คือ นามรูปปริจเฉทญาณก็เกิดไม่ได้

    ข้อความในอรรถกถา สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค สุขสูตร ข้อ ๔๒ ถึงข้อ ๔๔ แสดงข้อปฏิบัติผิดว่า ไม่ทำให้เกิดปัญญา เพราะฉะนั้นก็ไม่ละอวิชชา และไม่สามารถที่จะรู้แจ้งนิพพานได้ ข้อความตอนหนึ่งมีว่า

    บทว่า มิจฺฉา ปณิหิตตฺตา ภิกฺขเว ทิฏฐิยา ความว่า เพราะกัมมัสสกตปัญญาและมรรคภาวนาตั้งไว้ผิด คือ เพราะไม่ประพฤติตามกัมมัสสกตปัญญาและมรรคภาวนา

    เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรมต้องประกอบกันทุกส่วนของพระไตรปิฎก เพื่อที่จะไม่คลาดเคลื่อน เห็น เป็นผลของกรรมหรือเปล่า ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส คิดนึก ถ้าเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานจะรู้ผลของกรรมไหม ไม่มีตัวตนเลยขณะที่กำลังเห็น ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า อาจจะไม่เคยคิดว่า มีได้อย่างไร แต่ว่าถ้าระลึก ก็จะรู้ได้ กัมมัสสกตปัญญา ไม่มีใครสามารถที่จะให้จักขุปสาท โสตปสาท เหล่านี้เกิดได้เลย แต่ว่ามีกรรมเป็นปัจจัย

    เพราะฉะนั้นการอบรมเจริญสติปัฏฐานจะทำให้ปัญญารู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมเพิ่มขึ้นตามความเป็นจริง ซึ่งไม่ใช่เป็นเรื่องการที่จะไม่รู้กรรม เพราะเหตุว่าขณะที่กำลังเห็นขณะนี้เป็นผลของกรรมแล้ว

    บางคนก็เล่าให้ฟังว่า มีเหตุการณ์อย่างนั้นๆ เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นก็เป็นกรรมของคนนั้น หมายความว่าเป็นผลของกรรมที่ได้ทำมา แต่ว่ากำลังเห็นเดี๋ยวนี้ เป็นผลของกรรมหรือเปล่า ไม่ทราบ เพราะฉะนั้นเขาสามารถที่จะคิดเรื่องผลของกรรม หรือเรื่องวิบากของกรรมเวลาที่เป็นเหตุการณ์ทั้งเหตุการณ์ แต่ว่าตามความเป็นจริงแล้วผู้ที่ อบรมเจริญปัญญาจะต้องรู้ละเอียดกว่านั้น ถี่ถ้วนกว่านั้น คือ ไม่ใช่เพียงแต่รู้เหตุการณ์ทั้งเหตุการณ์ว่าเป็นผลของกรรม แต่จะต้องรู้ว่า ขณะที่กำลังเห็นนี้เอง เป็นผลของกรรม กำลังได้ยินเป็นผลของกรรม

    มีข้อสงสัยอะไรอีกไหม สำหรับวิปัสสนาญาณที่ ๑

    ธรรมทั้งหมดที่ได้ยินได้ฟังทั้ง ๓ ปิฎก รวมทั้งอรรถกถา ฎีกา ก็เพื่อที่จะให้ปัญญาเกิดขึ้นรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ตามความเป็นจริง ตามปกติ ไม่ว่าจะเรียนมาก ฟังมาก สนทนาธรรมมาก ตรึกตรองธรรมมากสักเท่าไร ก็เพื่อที่จะให้สติเกิดระลึก ศึกษา รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้เอง ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แม้ว่าจะได้ยินได้ฟังอย่างนี้ครั้งแล้วครั้งเล่า ก็ขึ้นอยู่กับการเข้าใจสภาพธรรม ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงๆ

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 24
    24 ม.ค. 2565

    ซีดีแนะนำ