โสภณธรรม ครั้งที่ 110
ตอนที่ ๑๑๐
และเมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จไปประกาศพระธรรมจักรที่กรุงพาราณสี และได้เสด็จต่อไปยังพระนครราชคฤห์นั้น ท่านตปุสสะและท่านภัลลิยะก็ไปยังพระนครราชคฤห์ แล้วได้เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรม ท่านตปุสสะบรรลุโสตาปัตติผล และได้เป็นอุบาสกอย่างเดิม ส่วนท่านภัลลิยะบวชและได้อภิญญา ๖
นี่คือความต่างกันของการสะสมของท่าน ๒ ท่าน เมื่อครั้งที่ได้ถวายสัตตุผงและสัตตุก้อนนั้นก็ยังไม่ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน ไม่ได้บรรลุเป็นพระอริยบุคคล แต่เมื่อได้ฟังพระธรรมอีกครั้งหนึ่งก็ได้บรรลุ
เพราะฉะนั้นแต่ละท่านก็ไม่มีทางที่จะรู้ได้ว่า วันไหน ก็อาจจะเป็นอย่างท่านทั้งสองในวันหนึ่ง แล้วแต่ว่าเหตุจะสมบูรณ์พร้อมที่จะให้ผลอย่างนั้นเกิดเมื่อไร
ท่านภัลลิยเถระได้กล่าวกับมารซึ่งแสดงรูปน่ากลัวว่า ท่านกำจัดมัจจุ คือ ความตายได้แล้ว
มัจจุ ความตาย ก็คือความแตกแห่งขันธ์ทั้งหลาย
ข้อความในอรรถกถามีว่า
ก็มัจจุนั่นแหละ ชื่อว่า ราชา เพราะอรรถว่า เป็นใหญ่ เพราะยังสัตว์ทั้งหลายให้เป็นไปในอำนาจของตน เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่า มัจจุราชา
บทว่า เสนํ ได้แก่ เสนา มีความแก่และโรคเป็นต้น ก็ความแก่และโรคเป็นต้น ชื่อว่า เสนา เพราะเป็นองค์ประกอบในการที่มัจจุราชนั้นยังสัตว์ให้เป็นไปในอำนาจ
ทุกท่านก็ทราบว่า วันหนึ่งก็จะต้องถึงขณะนี้แน่นอน คือ ขณะที่จากโลกนี้ไป แต่ก็มีท่านผู้ฟังท่านหนึ่ง ท่านก็ได้กล่าวถึงความจริงว่า แม้ว่าจะรู้อย่างนี้ แต่วันนี้ก็ยังไม่ตาย เพราะฉะนั้นก็ยังคงเหมือนทุกวันๆ ก็ยังมีความพอใจ ความติดข้อง การแสวงหาเพลิดเพลินในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ เพราะเหตุว่ายังมีชีวิตอยู่ เมื่อยังไม่ตายก็จะต้องเป็นไปตามการสะสม
ข้อความในอรรถกถาต่อไปมีว่า
อีกอย่างหนึ่ง เทวบุตรมาร ท่านประสงค์เอาว่า มัจจุในพระคาถานี้ เพราะอรรถว่า ฆ่าเสียซึ่งคุณงามความดี
กามเป็นต้น ท่านประสงค์เอาว่า เป็นเสนา เพราะเข้าถึงความเป็นสหายกับมัจจุราช ดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า
กามทั้งหลาย เรากล่าวว่า เป็นเสนาที่ ๑ ของท่าน
มีเสนามารเผชิญหน้าอยู่เรื่อยๆ ก็ไม่เคยรู้เลยว่า เป็นเสนามาร มีทั้งมัจจุมารที่จะต้องประสบในวันหนึ่ง และยังมีเสนามารที่ปรากฏอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน แต่ไม่เคยรู้เลยว่า เป็นเสนามาร เพราะเหตุว่าสมดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า
กามทั้งหลาย เรากล่าวว่า เป็นเสนาที่ ๑ ของท่าน ความไม่ยินดี เรากล่าวว่า เป็นเสนาที่ ๒ ของท่าน ความหิวและความกระหาย เรากล่าวว่า เป็นเสนาที่ ๓ ของท่าน ตัณหา เรากล่าวว่า เป็นเสนาที่ ๔ ของท่าน ถีนมิทธะ เรากล่าวว่า เป็นเสนาที่ ๕ ของท่าน
บางท่านอาจจะกำลังมีอยู่ เพราะเหตุว่าบางท่านก็ชอบนอน
ความขลาดกลัว เรากล่าวว่า เป็นเสนาที่ ๖ ของท่าน ความสงสัย เรากล่าวว่า เป็นเสนาที่ ๗ ของท่าน ความลบหลู่และความหัวดื้อ เรากล่าวว่า เป็นเสนาที่ ๘ ของท่าน
มีเสนามารมากมายอยู่ตลอดเวลา แต่ไม่เคยรู้เลย เพราะฉะนั้นก็ควรตั้งใจมั่นที่จะเจริญกุศลยิ่งขึ้น
สำหรับกามทั้งหลายก็เป็นของธรรมดาที่มี ความไม่ยินดีก็เป็นของธรรมดาอีก ความหิวและกระหาย ก็มีอยู่เป็นประจำ แม้ตัณหา ความพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ก็มีอยู่ ถีนมิทธะก็มี เพราะเหตุว่าผู้ที่จะละได้ดับได้เป็นสมุจเฉท ก็ต้องเป็นพระอรหันต์ แต่ก็ควรจะพิจารณาถึงเสนาที่ ๖ ที่ ๗ ที่ ๘ คือ ความขลาดกลัว ความสงสัย ความลบหลู่และความหัวดื้อ
ถ้ามีก็ยากที่จะทำให้เข้าใจพระธรรมได้ถูกต้อง เพราะเหตุว่าเป็นผู้ขาดการพิจารณาในประโยชน์ที่ว่า พระธรรมทรงแสดงไว้อย่างไร มากมายที่แม้จะศึกษาพิจารณาตลอดชีวิตก็ยังไม่จบ เพราะฉะนั้นแทนที่จะคิดถึงธรรมโดยลักษณะอื่น โดยนัยอื่น โดยแนวอื่น หรือโดยความคิดอื่น คือ ความคิดของตนเอง ก็ควรที่จะได้ศึกษาและพิจารณาพระธรรมตามที่ได้ทรงแสดงไว้เป็นอันมากให้เข้าใจให้ถูกต้อง ก็จะเพียงพอ โดยที่ไม่จำเป็นต้องคิดเอง ซึ่งจะทำให้คลาดเคลื่อนและผิดพลาดด้วย
ซึ่งทุกคนจะต้องตาย เป็นของที่แน่นอน เพราะฉะนั้นก็ควรที่จะได้ฟังคาถาของพระเถระอีกรูปหนึ่ง ซึ่งท่านกล่าวถึงการตายของท่านไว้อย่างไร
ท่านพระอชิตเถระกล่าวคาถาก่อนปรินิพพาน มีข้อความตอนท้ายว่า
เราผู้เป็นแล้วอย่างนี้ จักทิ้ง คือ จักทอดทิ้งร่างกายของตน คือ สรีระ หรือร่างของตนกล่าวคือเคหะ อันเป็นภาระ คือ ทุกข์ และเมื่อจะทอดทิ้งก็คิดว่า กิจที่จะพึงยังประโยชน์ให้สำเร็จด้วยร่างกายนี้ เราให้สำเร็จแล้ว
ทุกคนกำลังมีร่างกาย ซึ่งจะทำประโยชน์ได้ แต่ว่าถ้ายังไม่บรรลุถึงความเป็นพระอรหันต์ กิจที่จะพึงยังประโยชน์ให้สำเร็จด้วยร่างกายนี้ ยังไม่สำเร็จ แต่สำหรับผู้ที่เป็นพระอรหันต์แล้ว ท่านเห็นว่า การที่จะจากโลกนี้ไปจะทอดทิ้งร่างกายหรือสรีระซึ่งเป็นภาระ โดยการที่ท่านได้กระทำกิจให้สำเร็จด้วยกายนี้แล้ว เพราะฉะนั้นท่านก็ทอดทิ้งไปโดยการสำเร็จกิจที่จะพึงใช้ร่างกายนี้
เพราะฉะนั้นทุกท่านก็ยังมีร่างกาย มีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย มีใจ ที่จะคิด ที่จะไตร่ตรองธรรม ที่จะพิจารณารูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่จะเป็นประโยชน์ ก็ควรที่จะใช้ร่างกายนี้ให้เป็นประโยชน์
ในเรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน ไม่ทราบว่ายังมีท่านผู้ฟังยังมีข้อสงสัยอะไรบ้างหรือเปล่า
ในคราวก่อนก็ยังมีท่านผู้ฟังที่ได้มาถามหลังจากการบรรยาย เรื่องของอิริยาบถบรรพ ก็ยังมีความสงสัยว่า ในการเจริญสติปัฏฐาน กายานุปัสสนาสติปัฏฐานในหมวดของอิริยาบถบรรพนั้น คือเจริญอย่างไร
ท่านที่สงสัยในอิริยาบถบรรพ ก็จะต้องพิจารณาโดยละเอียดจริงๆ คือ ก่อนอื่นต้องพิจารณาให้เข้าใจจริงๆ เสียก่อนว่า อิริยาบถคืออะไร
คือไม่ว่าจะพูดถึงเรื่องอะไรทั้งสิ้น จำเป็นจะต้องเข้าใจเรื่องนั้นๆ อย่างถ่องแท้ จึงจะเป็นเหตุผลที่จะทำให้ปัญญาเจริญขึ้นได้จริงๆ
เพราะฉะนั้นเมื่อจะพูดถึงเรื่องอิริยาบถ ก็ควรที่จะได้เข้าใจตั้งแต่ต้นว่า อิริยาบถคืออะไร มิฉะนั้นแล้วก็ไม่รู้ว่าพูดเรื่องอะไร เพราะฉะนั้นตามที่เคยเข้าใจกันในเรื่องของอิริยาบถคือกิริยาอาการต่างๆ ของกาย ซึ่งนั่งบ้าง นอนบ้าง ยืนบ้าง เดินบ้าง
เพราะฉะนั้นควรที่จะพิจารณาให้เข้าใจว่า ที่นั่ง ที่นอน ที่ยืน ที่เดิน ที่เรียกว่าเป็นอิริยาบถนั้นคืออะไร คือ อาการที่รูปหลายๆ รูป หรือรูปหลายๆ กลาป คือ หลายๆ กลุ่มรวมกันทรงอยู่ในอาการอย่างหนึ่งอย่างใด ถ้ามีรูปหลายๆ รูป หลายๆ กลุ่ม คือ หลายๆ กลาปประชุมรวมกันแล้ว ที่จะไม่ทรงอยู่ ไม่ตั้งอยู่ในอาการอย่างหนึ่งอย่างใดย่อมเป็นไปไม่ได้เลย เพราะเหตุว่าถ้ารูปแตกย่อยกระจัดกระจายออกหมดเป็นกลุ่มเล็กๆ ไม่สามารถที่จะกล่าวได้ว่า รูปกลาปนั้นกลุ่มนั้นทรงอยู่ในอาการอย่างไร แต่ว่าเมื่อใดก็ตามที่รูปแต่ละกลุ่มเกิดรวมกันประชุมกัน รวมกัน มีการทรงอยู่ ตั้งอยู่เกิดขึ้น ในขณะนั้นก็จะมีความสำคัญหมายรู้ว่า นั่งห้อยเท้า นั่งขัดสมาธิ นั่งไขว้ห้าง
เพราะฉะนั้นที่ใช้คำว่า อิริยาบถบรรพ หรืออิริยาบถ ก็คืออาการของรูปที่เคยยึดถือว่าเป็นเรา เพราะเหตุว่ามีกลุ่มของรูปรวมกันหลายๆ รูปนั่นเอง เมื่อเป็นความสำคัญผิดยึดถือรูปซึ่งเกิดดับแต่ละกลุ่มซึ่งเกิดรวมกันว่าเป็นอาการหนึ่งอาการใด สติก็ต้องระลึกลักษณะของรูปแต่ละรูปที่ปรากฏ แล้วก็พิจารณาศึกษาจนกระทั่งรู้ชัดในลักษณะของรูปแต่ละลักษณะซึ่งมีลักษณะจริงๆ ปรากฏ ซึ่งเวลาที่ลักษณะของรูปปรากฏ จะไม่ปรากฏว่ารวมกันเป็นอาการอย่างหนึ่งอย่างใด เพราะเหตุว่าลักษณะของรูปที่เย็น ก็มีลักษณะที่เย็น ลักษณะของรูปที่แข็ง ก็มีลักษณะที่แข็ง
เพราะฉะนั้นก็ไม่ใช่อาการของกลุ่มของรูปที่รวมกันให้ยึดถือทรงจำว่า เป็นอาการนั่ง หรือเป็นอาการนอน เป็นอาการยืน เป็นอาการเดิน เพราะฉะนั้นปัญญาก็จะต้องศึกษาลักษณะของรูปที่ปรากฏที่กาย จนกว่าจะประจักษ์ชัดในลักษณะของรูปที่เกิดดับ โดยไม่รวมกัน ที่จะปรากฏเป็นอิริยาบถหนึ่งอิริยาบถใดนั้น ไม่ใช่การประจักษ์ชัดในลักษณะของรูป
มีข้อสงสัยในเรื่องนี้ไหม ไม่ทราบท่านที่ถามเมื่ออาทิตย์ก่อนโน้น ยังมีข้อสงสัยหรือเปล่าในเรื่องของอิริยาบถบรรพ
และต้องเข้าใจด้วยว่า ก่อนที่จะดับความยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลได้จริงๆ ไม่ใช่เพียงแต่พิจารณาแล้วก็คิดเอาว่า ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา แต่ต้องเป็นปัญญาที่รู้ลักษณะที่เป็นนามธรรมแยกขาดจากลักษณะที่เป็นรูปธรรมไปเรื่อยๆ แม้แต่ขณะหนึ่งขณะใดที่สติเกิด ปัญญาของบุคคลนั้นย่อมจะรู้ด้วยตัวเองว่า ขณะที่สติกำลังระลึกลักษณะของสภาพธรรมนั้น ปัญญารู้ชัดในลักษณะที่เป็นนามธรรม ปัญญารู้ชัดในลักษณะที่เป็นรูปธรรมแล้วหรือยัง
นี่เป็นสิ่งซึ่งเป็นปัญญาของแต่ละคน ซึ่งจะรู้ได้ด้วยตัวเอง รู้ได้เฉพาะตน เป็นปัจจัตตัง ถ้ายังสงสัยอยู่ในขณะที่สติเกิด และขณะนี้ก็ไม่แน่ใจว่า ได้ยินมา ได้ฟังมาว่า เห็นเป็นนามธรรม ได้ยินได้ฟังมาหลายครั้งหลายหน และในขณะนี้ก็กำลังเห็น เพราะฉะนั้นที่จะรู้ว่า ในขณะที่กำลังเห็นเป็นสภาพรู้ เป็นอาการรู้ โดยไม่สงสัยในลักษณะที่เป็นเพียงอาการรู้ และสิ่งที่ปรากฏทางตานั้น ก็เป็นแต่เพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งปรากฏเฉพาะทางตา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ส่วนความคิดนึกซึ่งรู้ว่า เห็นอะไร เห็นใคร นั้นไม่ใช่ในขณะที่กำลังเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา
ถ้าปัญญารู้ชัดอย่างนี้จริงๆ ผู้นั้นก็เป็นผู้ที่อบรมเจริญหนทางที่จะประจักษ์แจ้งการเกิดขึ้นและดับไปของนามธรรมและรูปธรรมได้ แต่ถ้าในขณะที่กำลังเห็น ก็สงสัยในลักษณะของสภาพรู้ ก็แสดงว่าบุคคลนั้นเป็นผู้ที่ตรงต่อตัวเอง และรู้ว่าปัญญาที่จะเจริญขึ้น ต้องไม่ใช่ขณะอื่น แต่เป็นขณะที่เห็นอย่างนี้แหละ และสติก็เกิดระลึก แล้วก็ศึกษา คือ สังเกตพิจารณาน้อมที่จะรู้จริงๆ ว่า ขณะนี้เป็นอาการรู้ เป็นลักษณะรู้อย่างหนึ่งเท่านั้นเอง และก็มีการเห็นบ่อยๆ เพราะฉะนั้นก็จะรู้ได้ว่า ขณะใดหลงลืมสติ และขณะใดสติเกิด และในขณะที่สติเกิดนั้น ปัญญาค่อยๆ เพิ่มขึ้น ค่อยๆ รู้ขึ้น ค่อยๆ ชินขึ้นในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทีละเล็กทีละน้อยจริงๆ
นี่คือการเจริญปัญญาที่จะรู้สัจจธรรม คือ สภาพธรรมที่เป็นปกติที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยในชีวิตประจำวัน ซึ่งเคยยึดถือว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน
นิภัทร ตามที่อาจารย์ว่า อิริยาบถ คือ การยืน การนั่ง การเดิน การนอนนี้เป็นแต่เพียงอาการของรูปหลายๆ รูปที่ทรงอยู่ ตั้งอยู่ในลักษณะหนึ่งลักษณะใด เพราะฉะนั้นอิริยาบถทั้ง ๔ คือ ยืน เดิน นั่ง นอน ก็เป็นอารมณ์ของวิปัสสนาไม่ได้เลย
ท่านอาจารย์ ไม่ได้แน่นอน บางคนก็อาจจะค้านทันทีว่า ถ้าอย่างนั้นทำไมจึงกล่าวไว้ในสติปัฏฐาน ก็ดูเหมือนกับว่าเป็นค้านกับพระพุทธพจน์ ถ้าเป็นการศึกษาพระธรรมโดยตัวอักษร โดยตัวหนังสือ โดยที่ไม่เข้าใจถึงอรรถลักษณะของธรรม ก็จะคิดว่าต้องผิด ถ้ากล่าวว่า อาการนั่ง อาการนอน อาการยืน อาการเดิน เป็นท่าทางต่างๆ นั้น ไม่ใช่สติปัฏฐาน ไม่สามารถจะให้ปัญญารู้ชัดเป็นวิปัสสนาญาณได้ เพราะเหตุว่าในกายานุปัสสนาสติปัฏฐานมีอิริยาบถบรรพ แต่การศึกษาพระธรรมที่จะรู้ชัดในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ต้องเป็นผู้ศึกษาโดยตลอดและโดยละเอียด และต้องเข้าใจเหตุที่ทรงแสดงอิริยาบถบรรพไว้ด้วย เพราะเหตุว่ากายมีจริงตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า ลมหายใจมีจริง เป็นส่วนของกาย เมื่อสิ่งใดที่เป็นส่วนของกาย และก็เคยยึดถือว่าเป็นลมหายใจของเรา หรือว่าเราหายใจ
ทุกท่านกำลังหายใจในขณะนี้ ลองคิดถึงลมหายใจในขณะนั้น ถ้าหายใจแรงหรือเหนื่อยหอบ เป็นเราหรือเปล่าที่กำลังเป็นอย่างนั้น เมื่อมีการยึดถือส่วนหนึ่งส่วนใดของกาย หรือว่าตลอดทั้งกายว่าเป็นเรา สติจึงจะต้องเกิดเพื่อจะพิจารณารู้ชัดว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล
เพราะฉะนั้นที่ทรงแสดงกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เพราะยึดถือกายานุปัสสนาสติปัฏฐานว่าเป็นเรา ที่ทรงแสดงอานาปานบรรพ เพราะยึดถือลมหายใจว่าเป็นเรา ที่ทรงแสดงอิริยาบถบรรพ เพราะยึดถืออิริยาบถว่าเป็นเรา ที่ทรงแสดงสัมปชัญญบรรพ เพราะยึดถือสัมปชัญญะ คือการเคลื่อนไหวกายว่าเป็นเรา ที่ทรงแสดงปฏิกูลมนสิการบรรพ คือ ไม่ว่าจะเป็นผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ก็เพราะเหตุว่ายึดถือผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ส่วนต่างๆ ของกายว่าเป็นเรา ที่ทรงแสดงซากศพว่าเป็นนวสีวถิกาบรรพ ก็เพราะเหตุว่ายึดถือซากศพนั้นว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน
เพราะฉะนั้นกายานุปัสสนาสติปัฏฐานทุกบรรพทรงแสดงเพราะเคยยึดถือทุกบรรพนั้นว่าเป็นเรา ด้วยเหตุนี้เมื่อสติปัฏฐานเกิด จึงไม่ใช่ไปยึดเป็นท่าเป็นทาง หรือว่าไปทำ เพราะว่าบางคนบอกว่า ต้องทำเดิน ทั้งๆ ที่ขณะนั้นกำลังนั่ง มีนามธรรมมีรูปธรรมซึ่งเคยยึดถือว่าเป็นตัวตน เพราะอวิชชาไม่รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมตามความเป็นจริง ด้วยเหตุนี้สติปัฏฐานจึงจะต้องระลึกลักษณะของปรมัตถธรรม มิฉะนั้นแล้วเราจะเรียนศึกษาพระธรรมทำไม พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ ทรงแสดงว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ก็คือ จิตต่างๆ เจตสิกต่างๆ รูปต่างๆ ที่ทรงแสดงไว้ ไม่ได้ทรงแสดงไว้ให้ไปนึกถึงท่าทางที่รวมกัน แล้วจะได้ประจักษ์ชัดว่า รูปนั่งดับไป หรือว่ารูปยืนดับไป รูปเดินดับไป ไม่ใช่อย่างนั้น แต่ทรงแสดงสามัญลักษณะของสังขารธรรม ไม่ว่าจะเป็นจิตประเภทใดก็ตาม เจตสิกประเภทใดก็ตาม รูปประเภทใดก็ตามเกิดขึ้นแล้วดับไป
นี่เป็นสิ่งที่จะต้องประจักษ์สามัญลักษณะ คือ การเกิดดับของสังขารธรรม แล้วยังทรงแสดงวิเสสลักษณะ คือ ลักษณะเฉพาะของรูปแต่ละรูปซึ่งจะปรากฏให้รู้ได้แต่ละทาง เพื่อที่จะได้ประจักษ์ว่า รูปใดกำลังปรากฏ รูปนั้นเอง ลักษณะที่กำลังปรากฏนั้นดับ แข็งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ วิปัสสนาญาณจะประจักษ์ว่า เกิดดับ ไม่ใช่ให้ไปรู้สิ่งที่ไม่ใช่ปรมัตถธรรม แต่ว่าต้องมีลักษณะจริงๆ ที่กำลังปรากฏ และวิปัสสนาญาณก็แทงตลอดในลักษณะที่เกิดดับนั้น
ด้วยเหตุนี้ถ้าไม่ได้ศึกษาโดยละเอียดจริงๆ ก็จะไม่ทราบแม้จุดประสงค์ที่ทรงแสดงแต่ละบรรพของกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เพราะฉะนั้นจึงมีการทำ แทนที่สติจะระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังเกิดเพราะเหตุปัจจัย ที่กล่าวว่า ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา เพราะเหตุว่าไม่มีใครที่สามารถจะทำให้เกิดขึ้นได้ ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้าที่กำลังปรากฏลักษณะอ่อนหรือแข็ง ไม่มีใครทำให้อ่อนนั้นเกิดได้ ไม่มีใครทำให้แข็งนั้นเกิดได้ ไม่มีใครเป็นเจ้าของที่จะบังคับบัญชาว่าไม่ให้ดับไป แต่เพราะเหตุว่าเมื่อไม่รู้ความจริงของสังขารธรรม ก็ทำให้เข้าใจผิดและคิดว่า การเจริญสติปัฏฐานนั้นต้องทำ ต้องไปทำอย่างหนึ่งอย่างใด เช่น ต้องนั่งขัดสมาธิ ต้องทำลมหายใจ ซึ่งความจริงไม่จำเป็นเลย เพราะเหตุว่าปัญญาต้องละคลายความต้องการ การอบรมเจริญปัญญาในพระพุทธศาสนาเพื่อรู้แล้วละ แม้แต่ในการศึกษา ที่จะศึกษาเรื่องของนามธรรมและรูปธรรมก็เพื่อประโยชน์อย่างเดียว คือ เพื่อเข้าใจถูก เพื่อรู้ถูก และเพื่อละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล
เพราะฉะนั้นไม่ใช่ว่าให้ไปทำบรรพหนึ่งบรรพใดในกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน หรือว่าไม่ใช่ให้ไปทำนั่งท่าต่างๆ ไปทำเดินท่าต่างๆ ไปทำยืน ไปทำนอน ไม่ใช่เลย เพราะฉะนั้นก็ต้องเข้าใจให้ถูกด้วยว่า ปัญญาที่รู้ชัดในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ต้องรู้ตรงลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นวิเสสลักษณะของแต่ละสภาพธรรม เช่น จิตแต่ละประเภท หรือเจตสิกแต่ละประเภท รูปแต่ละชนิด แต่ละลักษณะ
นิภัทร การยึดถือการยืน การเดิน การนั่ง การนอน เพราะว่าเรายืน เราเดิน เรานั่ง เรานอน ทีนี้การที่จะทำลายหรือขจัดการยึดถือว่า เรายืน เราเดิน เรานั่ง เรานอน ในขณะนั้นจะไม่ให้ยึดถือว่าเรายืน ไม่ให้ยึดถือว่าเราเดิน ไม่ให้ยึดถือว่าเรานั่ง ไม่ให้ยึดถือว่าเรานอน ขณะที่เรายืน ความรู้สึกนึกคิดว่าเรายืนก็จะทำลายความยึดถือว่าเรายืน ขณะนั้นจะกำหนดอะไร
ท่านอาจารย์ นี่ไม่ใช่เหตุว่า จะกำหนดอะไร และไม่ใช่เหตุที่จะบอกว่า อย่ายึดถือ ใครจะอย่ายึดถือได้ ถ้าปัญญาไม่เกิด เพราะเหตุว่าอวิชชา ความไม่รู้ ยังมีอยู่ตราบใด ความยินดีพอใจในสิ่งที่เกิดขึ้นปรากฏก็ต้องมีอยู่ตราบนั้น
เพราะฉะนั้นที่ใครจะบอกว่า นั่ง หรือว่านอน หรือว่ายืน หรือว่าเดิน ให้ละเสีย อย่ายึดถือ ไม่มีเหตุเลยที่จะเป็นไปได้ เพราะฉะนั้นก็ต้องพิจารณาว่า เพราะความไม่รู้อะไร จึงยึดถือ ถ้ามีความรู้เกิดขึ้น ความรู้นั้นย่อมละการยึดถือ
เพราะฉะนั้นเมื่อไม่รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม เพราะเหตุว่าที่ปรากฏเกิดขึ้นมาว่าเป็นเรา เป็นสัตว์ เป็นบุคคลต้องมีนามธรรมและรูปธรรมเกิดรวมกัน เช่นรูปก็ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า เป็นรูปแต่ละกลาป แต่ละกลุ่มซึ่งเล็กละเอียดมาก แล้วก็มีอากาสธาตุแทรกคั่นอยู่ แล้วก็กำลังทยอยกันเกิดดับ
ถ้าไม่รู้ความจริงอย่างนี้ คือว่าก็ยังไม่เห็นว่ามีอากาศธาตุแทรกคั่นอยู่ ยังเป็นรูปที่รวมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน แล้วก็ทรงอยู่ในลักษณะหนึ่งลักษณะใด เป็นปกติประจำวัน แล้วก็บอกให้ละเสีย อย่ายึดถือ เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้
- โสภณธรรม ครั้งที่ 101
- โสภณธรรม ครั้งที่ 102
- โสภณธรรม ครั้งที่ 103
- โสภณธรรม ครั้งที่ 104
- โสภณธรรม ครั้งที่ 105
- โสภณธรรม ครั้งที่ 106
- โสภณธรรม ครั้งที่ 107
- โสภณธรรม ครั้งที่ 108
- โสภณธรรม ครั้งที่ 109
- โสภณธรรม ครั้งที่ 110
- โสภณธรรม ครั้งที่ 111
- โสภณธรรม ครั้งที่ 112
- โสภณธรรม ครั้งที่ 113
- โสภณธรรม ครั้งที่ 114
- โสภณธรรม ครั้งที่ 115
- โสภณธรรม ครั้งที่ 116
- โสภณธรรม ครั้งที่ 117
- โสภณธรรม ครั้งที่ 118
- โสภณธรรม ครั้งที่ 119
- โสภณธรรม ครั้งที่ 120
- โสภณธรรม ครั้งที่ 121
- โสภณธรรม ครั้งที่ 122
- โสภณธรรม ครั้งที่ 123
- โสภณธรรม ครั้งที่ 124
- โสภณธรรม ครั้งที่ 125
- โสภณธรรม ครั้งที่ 126
- โสภณธรรม ครั้งที่ 127
- โสภณธรรม ครั้งที่ 128
- โสภณธรรม ครั้งที่ 129
- โสภณธรรม ครั้งที่ 130
- โสภณธรรม ครั้งที่ 131
- โสภณธรรม ครั้งที่ 132
- โสภณธรรม ครั้งที่ 133
- โสภณธรรม ครั้งที่ 134
- โสภณธรรม ครั้งที่ 135
- โสภณธรรม ครั้งที่ 136
- โสภณธรรม ครั้งที่ 137
- โสภณธรรม ครั้งที่ 138
- โสภณธรรม ครั้งที่ 139
- โสภณธรรม ครั้งที่ 140
- โสภณธรรม ครั้งที่ 141
- โสภณธรรม ครั้งที่ 142
- โสภณธรรม ครั้งที่ 143
- โสภณธรรม ครั้งที่ 144
- โสภณธรรม ครั้งที่ 145
- โสภณธรรม ครั้งที่ 146
- โสภณธรรม ครั้งที่ 147
- โสภณธรรม ครั้งที่ 148
- โสภณธรรม ครั้งที่ 149
- โสภณธรรม ครั้งที่ 150
- โสภณธรรม ครั้งที่ 151
- โสภณธรรม ครั้งที่ 152
- โสภณธรรม ครั้งที่ 153
- โสภณธรรม ครั้งที่ 154
- โสภณธรรม ครั้งที่ 155
- โสภณธรรม ครั้งที่ 156
- โสภณธรรม ครั้งที่ 157
- โสภณธรรม ครั้งที่ 158
- โสภณธรรม ครั้งที่ 159
- โสภณธรรม ครั้งที่ 160