โสภณธรรม ครั้งที่ 111


    ตอนที่ ๑๑๑

    ใครจะอย่ายึดถือได้ ถ้าปัญญาไม่เกิด เพราะเหตุว่าอวิชชา ความไม่รู้ ยังมีอยู่ตราบใด ความยินดีพอใจในสิ่งที่เกิดขึ้นปรากฏก็ต้องมีอยู่ตราบนั้น

    เพราะฉะนั้นที่ใครจะบอกว่า นั่ง หรือว่านอน หรือว่ายืน หรือว่าเดิน ให้ละเสีย อย่ายึดถือ ไม่มีเหตุเลยที่จะเป็นไปได้ เพราะฉะนั้นก็ต้องพิจารณาว่า เพราะความไม่รู้อะไร จึงยึดถือ ถ้ามีความรู้เกิดขึ้น ความรู้นั้นย่อมละการยึดถือ

    เพราะฉะนั้นเมื่อไม่รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม เพราะเหตุว่าที่ปรากฏเกิดขึ้นมาว่าเป็นเรา เป็นสัตว์ เป็นบุคคลต้องมีนามธรรมและรูปธรรมเกิดรวมกัน เช่นรูปก็ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า เป็นรูปแต่ละกลาป แต่ละกลุ่มซึ่งเล็กละเอียดมาก แล้วก็มีอากาสธาตุแทรกคั่นอยู่ แล้วก็กำลังทยอยกันเกิดดับ

    ถ้าไม่รู้ความจริงอย่างนี้ คือว่าก็ยังไม่เห็นว่ามีอากาศธาตุแทรกคั่นอยู่ ยังเป็นรูปที่รวมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน แล้วก็ทรงอยู่ในลักษณะหนึ่งลักษณะใด เป็นปกติประจำวัน แล้วก็บอกให้ละเสีย อย่ายึดถือ เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

    และที่กล่าวว่า จะให้กำหนดอะไร หรือว่าจะให้ปฏิบัติอย่างไร จะให้ทำอย่างไร ไม่มีการที่จะให้ทำ หรือให้กำหนด แต่เข้าใจลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมหรือยัง ถ้าใครก็ตามที่ยังไม่เข้าใจเรื่องลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมเลย และจะมาบอกว่า กำลังนั่งอย่างนี้จะให้กำหนดอย่างไร ไม่มีทางที่สติปัฏฐานจะเกิดได้ เพราะคนนั้นไม่รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม

    นิภัทร แล้วในขณะนั้นนั่ง เมื่อไม่ให้กำหนดรูปนั่ง หรือการนั่งที่นิยมพูดกัน เราก็จะต้องรู้ เข้าใจลักษณะของสภาวธรรมที่ปรากฏในขณะนั้นว่า อะไรปรากฏ อย่างนั้นใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ นี่เป็นเหตุที่ทุกท่านจะต้องฟังพระธรรมเป็นอันมากในเรื่องของนามธรรมและรูปธรรม ซึ่งเป็นลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงๆ และเกิดขึ้นเป็นไปในวันหนึ่งๆ ในสังสารวัฏฏ์ ซึ่งไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่า ที่เคยเป็นเรา แท้ที่จริงก็คือนามธรรมและรูปธรรมเท่านั้นเอง เมื่อไรรู้อย่างนี้ เมื่อนั้นก็จะละคลายการยึดถือสภาพของนามธรรมว่าเป็นเราที่กำลังเห็น ที่กำลังได้ยิน ที่กำลังเป็นสุข ที่กำลังเป็นทุกข์ ที่กำลังคิดนึก และก็จะละคลายการยึดถือลักษณะของรูปที่ปรากฏแต่ละทาง เช่น ทางตา สีสันวัณณะต่างๆ กำลังปรากฏ ทางหู เสียงกำลังปรากฏ ทางจมูก กลิ่นปรากฏ ทางลิ้น รสปรากฏ ทางกาย โผฏฐัพพะ คือ เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหวปรากฏ

    นิภัทร ถ้าในขณะที่เราสามารถจะระลึกรู้สภาวธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้นได้ เช่น ขณะยืนก็ดี ขณะเดินก็ดี ขณะนั่งก็ดี ขณะนอนก็ดี ถ้าสามารถจะรู้ลักษณะของสภาวธรรมที่ปรากฏในขณะนั้น การยืน การเดิน การนั่ง การนอนก็ไม่มี

    ท่านอาจารย์ กายอยู่ที่ไหน ก็มีการยึดถือกายว่าเป็นเราที่นั่ง ไม่ว่าจะกำลังหายใจอยู่ หรือว่ากำลังนอนอยู่ กำลังทำกิจการงานอยู่ กำลังพูดอยู่ กำลังเคลื่อนไหวอยู่ กายอยู่ที่ไหน ก็ยังคงมีการยึดถือนามธรรมและรูปธรรมว่าเป็นตัวตน

    เพราะฉะนั้นหนทางเดียวก็คือปัญญาเกิดพร้อมสติที่ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมหรือรูปธรรมที่กำลังปรากฏตามที่ฟังแล้วเข้าใจ แต่ต้องมีการฟังเรื่องของนามธรรมและรูปธรรมจนเข้าใจจริงๆ เสียก่อน มิฉะนั้นแล้วสติจะระลึกอะไร สติไม่ได้เกิดที่จะรู้อะไรเลยสักอย่างเดียว เพราะฉะนั้นก็จะไปกำหนดหรือจะไปละ ก็ย่อมเป็นไปไม่ได้

    เพราะฉะนั้นการที่จะละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน ขอให้ทราบว่า ในชีวิตประจำวันจริงๆ จากเมื่อวานนี้ หรือเมื่อวันก่อน หรือเดือนก่อน หรือปีก่อน หรือหลายๆ ปีก่อน ที่ได้ฟังพระธรรม แล้วมีความเข้าใจเรื่องของนามธรรมและรูปธรรม เรื่องของจิต เจตสิก รูปเพิ่มขึ้นตามการฟังที่เพิ่มขึ้น ก็ควรที่จะได้พิจารณาว่า การละคลายนั้น ละคลายขั้นไหน ขั้นซึ่งฟังทีแรกไม่ค่อยจะเข้าใจ เพราะเหตุว่าเป็นเรื่องที่ไม่เคยได้ฟังมาก่อน แล้วก็ดูเป็นเรื่องที่เข้าใจยากเสียเหลือเกิน เพราะเหตุว่าไม่เคยคิดว่า จิตซึ่งเราเคยพูดกันว่า จิตใจ ธรรมดาๆ แท้ที่จริงแล้วก็มีลักษณะที่ยากแก่การที่จะประจักษ์แจ้งได้

    แม่ชี ที่บอกว่ารูปนั่งไม่มี เขาถามว่า ถ้าอย่างนั้นอะไรนั่ง

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีรูปเลย มีนั่งไหม

    แม่ชี ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นที่เข้าใจว่า นั่งนั้นคืออะไร

    แม่ชี หนูเข้าใจว่า นั่งเป็นเราทุกที

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นที่ถามเมื่อกี้นี้ ทวนคำถามอีกที

    แม่ชี ที่บอกว่ารูปนั่งไม่มี เขาถามว่า แล้วอะไรนั่ง

    ท่านอาจารย์ รูปที่ประชุมรวมกันมีไหม

    แม่ชี มี

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีรูปประชุมรวมกัน มีนั่งไหม

    แม่ชี ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้ เพราะฉะนั้นที่กำลังนั่งอยู่ มีรูปหลายๆ รูป หลายๆ กลาป หลายๆ กลุ่ม เกิดรวมกันใช่ไหม

    แม่ชี ใช่

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นคำตอบก็คือว่า ที่กำลังนั่งนั้นคือรูปหลายๆ กลุ่ม หลายๆ กลาปเกิดรวมกันนั่นเอง

    แม่ชี อย่างนั้นรูปนั่งก็ถูกสิ

    ท่านอาจารย์ ถูกได้อย่างไร รูปนั่งไม่ใช่ปรมัตถธรรม ที่มีลักษณะอาการอย่างหนึ่งอย่างใด แต่ว่ารูปแต่ละรูปที่ประชุมรวมกันมีลักษณะเฉพาะของรูปนั้นๆ ซึ่งเป็นแต่ละรูป แต่ละลักษณะ แข็ง มีไหม

    แม่ชี มี

    ท่านอาจารย์ เย็นมีไหม

    แม่ชี มี

    ท่านอาจารย์ ที่กายที่นั่งลองกระทบสัมผัส มีอะไรปรากฏ

    แม่ชี มีแข็ง

    ท่านอาจารย์ นั่นคือลักษณะของรูป ถ้าไม่มีแข็ง ไม่มีเย็น ไม่มีธาตุดินน้ำไฟลม จะมีนั่งไหม

    แม่ชี ไม่มี

    ท่านอาจารย์ ไม่มีเลย เอารูปที่เข้าใจว่ากำลังนั่งอยู่แตกย่อยกระจัดกระจายออกให้ละเอียด จะมีท่านั่งไหม ไม่มี แต่มีลักษณะที่อ่อน ที่แข็ง ที่ตึง ที่ไหว ที่เย็น ที่ร้อนไหม

    แม่ชี มี

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นสิ่งใดเป็นความจริง เป็นสัจจธรรม เมื่อแตกย่อยกระจัดกระจายไปแล้ว นั่งไม่มี แต่ว่าอ่อนแข็งเย็นร้อนตึงไหวมี

    เพราะฉะนั้นก็จะต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่า สิ่งใดเป็นสิ่งที่มีจริง ที่เป็นปรมัตถธรรมที่ปัญญาจะต้องประจักษ์แจ้ง จึงจะละการยึดถือว่าเป็นเรา หรือว่าเป็นตัวตนได้

    เพราะฉะนั้นตราบใดที่ยังไม่รู้ลักษณะอ่อน แข็ง เย็น ร้อน ตึง ไหวที่กายจนประจักษ์การเกิดดับ อิริยาบถยังปิดบังทุกขลักษณะอยู่ เพราะเหตุว่ารูปแต่ละลักษณะยังไม่ได้แยกขาดจากกัน จึงประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปของรูปที่กำลังปรากฏไม่ได้ ต่อเมื่อใดคลายอัตตสัญญา อิริยาบถไม่ได้ปิดบังทุกขลักษณะอีกต่อไป เพราะเหตุว่าสติปัฏฐานระลึกตรงลักษณะของรูปทีละรูป ซึ่งพิสูจน์ได้ในขณะนี้ เวลานี้ที่กาย ทุกท่านต้องมีอ่อนหรือแข็งแน่นอน ไม่มีท่านใดที่จะปฏิเสธและบอกว่าไม่มี ใช่ไหม

    ในขณะที่ลักษณะอ่อนหรือแข็งกำลังปรากฏนั้น มีอะไรปรากฏอีก ขณะที่อ่อนกำลังปรากฏ มีอะไรปรากฏอีก

    แม่ชี ขณะที่อ่อนปรากฏ ก็มีอ่อน

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นขอความกรุณาตอบอีกครั้งหนึ่ง ขณะที่อ่อนกำลังปรากฏ มีอะไรปรากฏอีก ไม่มี มีแต่อ่อน ท่านั่งมีไหม

    แม่ชี ไม่มี

    ท่านอาจารย์ ท่านอนมีไหม

    แม่ชี ไม่มี

    ท่านอาจารย์ ท่าเดินมีไหม

    แม่ชี ไม่มี

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นที่ทรงจำไว้ว่านั่ง หรือทรงจำไว้ว่านอน หรือทรงจำไว้ว่ายืน หรือทรงจำไว้ว่าเดิน คือ อัตตสัญญา ซึ่งไม่มีทางที่จะประจักษ์การเกิดดับของท่าทางนั้นได้เลย แต่ว่าในขณะใดที่อ่อนกำลังปรากฏ เมื่อปัญญาอบรมเจริญขึ้นจะประจักษ์การเกิดดับของรูปอ่อนในขณะนั้น เพราะเหตุว่ารูปอ่อนเกิดจึงได้ปรากฏ แล้วรูปอ่อนนั้นเองก็ดับไป เป็นการเพิกอิริยาบถ ไตรลักษณะจึงจะปรากฏได้ ถ้าตราบใดที่ยังประชุมควบคุมรวมกันเป็นท่าเป็นทาง ไม่เพิกอิริยาบถ ไม่สามารถที่จะประจักษ์ไตรลักษณะได้

    กว่าที่จะประจักษ์ไตรลักษณะ ชีวิตประจำวันจริงๆ จากการที่ได้ฟังพระธรรมมานานแล้ว ก็พอที่จะได้พิจารณาว่า มีการละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนบ้างไหม แล้วก็ละคลายขั้นไหน ถ้าขั้นการฟัง ทุกคนตอบได้หมด เหมือนกันทีเดียวว่า ไม่มีตัวตน ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล มีแต่ปรมัตถธรรม มีแต่จิต มีแต่เจตสิก มีรูป ขั้นฟังขั้นศึกษา ทุกคนแสดงอย่างนี้ กล่าวอย่างนี้ แต่ว่าขั้นพิจารณา เป็นขั้นที่สำคัญด้วยที่จะเกื้อกูลต่อการที่สติปัฏฐานจะเจริญขึ้น เพราะเหตุว่าถ้าศึกษาพระธรรมโดยไม่พิจารณาในอรรถ แต่ว่าเพียงอ่าน เช่นอ่านสติปัฏฐาน กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ก็คิดว่าจะต้องดูท่าทาง เพราะเหตุว่าเป็นอิริยาบถบรรพ ถ้าคิดอย่างนี้ หรือว่าเข้าใจอย่างนี้ ไม่เกื้อกูลต่อการที่ปัญญาจะเจริญขึ้น เพราะเหตุว่าไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏจริงๆ

    ไม่ทราบมีท่านผู้ฟังที่ไม่เห็นด้วยบ้างหรือเปล่า หรือคิดว่าจะต้องดูรูปนั่ง รูปนอน รูปยืน รูปเดิน

    อดิศักดิ์ ผมก็อยากจะเพิ่มเติมว่า การเจริญสติปัฏฐานโดยเฉพาะเรื่องอิริยาบถกับสัมปชัญญบรรพ คนจะเข้าใจตามพยัญชนะ พยัญชนะจะพาไปในทางที่ว่าให้รู้รูปนั่ง ให้รู้เดิน ให้รู้ยืน ให้รู้นอน ความจริงแล้ว ยืน เดิน นั่ง นอนไม่เป็นปรมัตถ์ ไม่เป็นธาตุ ไม่มีธาตุเดิน ธาตุยืน ไม่มี ไม่เป็นปรมัตถธรรม ไม่เป็นสัจจธรรม สัจจธรรม ความจริงแล้ว ขณะที่ยืนอยู่อย่างนี้ มีสิ่งจริงๆ สิ่งที่จริงๆ คือ สภาวธรรม ท่านอยากทราบไหม ในขณะที่ยืนอยู่นี่ มีสภาวธรรม เพราะเมื่อกี้นี้มีผู้มาถามแล้ว ก็ยังไม่ได้ชี้ออกไป ขณะที่ยืนอยู่นี่ มีอะไรจริง อะไรที่เป็นสัจจธรรม ซึ่งความจริงอาจารย์ก็ได้บรรยายแล้ว ขณะที่ยืนอยู่นี่ ผมก็อยากจะย้ำว่า เห็นก็มี สิ่งที่ปรากฏทางตาก็มี ได้ยินก็มี แข็งก็มี เย็นก็มี ร้อนก็มี นี่คือสัจจธรรม แต่ยืน เดิน นั่ง นอนนั้นไม่ใช่สัจจธรรม

    ท่านอาจารย์ อันนี้ก็เป็นข้อคิดอย่างหนึ่งเพื่อท่านผู้ฟังจะได้พิจารณาตามที่ท่านผู้ฟังท่านนี้ได้กล่าวคือ เรื่องของธาตุต่างๆ เช่นในขณะที่กำลังอยู่นี้ มีเห็น เป็นธาตุชนิดหนึ่ง สภาพธรรมใดที่มีจริง สภาพธรรมนั้นเป็นธาตุแต่ละอย่างๆ เพราะฉะนั้นในขณะที่กำลังเห็น เมื่อเป็นปรมัตถธรรม ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ก็ต้องเป็นธาตุ คือ จักขุวิญญาณธาตุ จิตแต่ละชนิดทรงแสดงไว้ว่าเป็นธาตุแต่ละอย่าง แม้แต่โลภะ ก็ใช้คำว่า โลภธาตุ โทสะ ก็โทสธาตุ โมหะก็โมหธาตุ แข็งก็เป็นปฐวีธาตุ เย็นก็เป็นเตโชธาตุ

    เพราะฉะนั้นปรมัตถธรรมทั้งหมดเป็นธาตุแต่ละอย่าง แต่ในพระไตรปิฎกจะไม่มีธาตุยืน ธาตุเดิน ธาตุนั่ง ธาตุนอน แต่จะทรงแสดงว่า ในขณะที่กำลังยืนเป็นอาการของธาตุใด ซึ่งจะไม่พ้นจากมหาภูตรูป

    นี่ก็แสดงให้เห็นแล้วว่า การที่จะรู้ลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรม การที่จะรู้ว่าเป็นแต่เพียงธาตุแต่ละอย่างนั้น ก็เพราะเหตุว่าลักษณะของธาตุนั้นๆ มีจริงๆ ปรากฏให้ระลึกได้ ให้ประจักษ์แจ้งได้

    สุชาติ คงจะเป็นเรื่องนานมาแล้ว ฟังดูแล้ว เหมือนกับว่า ดูกับไม่ให้ดู กับมีกับไม่ให้มี ฟังแล้วแยกประเภทได้ว่า ฟังแล้วให้มันมี คือ รูปนั่ง ให้ดูรูปนั่ง ถ้าไม่ให้ดูรูปนั่ง ในอิริยาบถบรรพจะมีได้อย่างไร และอีกประเด็นหนึ่ง คือ ไม่ให้มีและไม่ให้ดูด้วย ถ้าเกิดผมจะดูว่า ดูว่ามันไม่มี เพราะฉะนั้นผมคิดว่าการกล่าวเป็นเรื่องของภาษา เช่นจะบอกว่าดูรูปนั่ง ถ้าจะถามว่ารูปนั่งนั้นคืออะไร รูปนั่งในพระไตรปิฎกไม่มี ถ้าอิริยาบถ มี เรามาแปลเป็นภาษาไทยว่า รูปนั่ง ก็คือท่านั่งนั่นเอง ไม่ใช่รูปปรมัตถ์ ต้องบอกว่าไม่มี เพราะฉะนั้นก็กลายเป็นว่าดูแล้วไม่ให้มี หรือเราห้ามว่าไม่ให้ดูเพราะมันไม่มี

    ท่านอาจารย์ ขอประทานโทษ ดูอย่างไรถึงจะว่าไม่มี

    สุชาติ ก็ดูว่ามีแต่รูปกับนาม เมื่อเห็นว่าเป็นรูปเป็นนามแล้ว อิริยาบถบรรพนั้นไม่ได้มี

    ท่านอาจารย์ นั่นไม่ใช่ขั้นที่จะเจริญปัญญา เพราะเหตุว่าขั้นเจริญปัญญามี ๓ ขั้น คือ สุตมยปัญญา ปัญญาที่เกิดจากการฟังและเข้าใจเรื่องของสภาพธรรมที่มีจริง ที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นลักษณะของจิตแต่ละประเภท เจตสิกแต่ละประเภท รูปแต่ละประเภท นี่ขั้นฟัง และขั้นพิจารณา คือ บางท่านเวลาที่เกิดโกรธขึ้น ก็บอกว่าโทสะ ขณะนั้นก็เป็นการคิดเรื่องลักษณะของสภาพโทสะ แต่ไม่ใช่สติปัฏฐานที่ระลึกตรงลักษณะอาการของโทสะ

    เพราะฉะนั้นนี่ก็แสดงให้เห็นว่า มีปัญญาอีกขั้นหนึ่ง คือ ขั้นคิดเรื่องชื่ออย่างถูกต้อง ไม่ใช่ว่าคิดผิด แล้วเวลาที่ฟังจนกระทั่งเข้าใจเรื่องลักษณะของปรมัตถธรรม เรื่องนามธรรมและรูปธรรมที่จะเป็นอารมณ์ปรากฏจริงๆ ได้ ทางตา มีรูปหนึ่ง คือ สีต่างๆ ที่ปรากฏจนกว่าจะรู้ว่า เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา เสียงเป็นอีกรูปหนึ่งที่ปรากฏทางหู กลิ่นเป็นอีกรูปหนึ่งที่ปรากฏทางจมูก รสเป็นอีกรูปหนึ่งที่ปรากฏทางลิ้น และทางกายจะมีรูปปรากฏได้ ๓ รูป คือ เย็นหรือร้อน ๑ รูป อ่อนหรือแข็ง ๑ รูป ตึงหรือไหว ๑ รูป

    นี่คือการฟังและการพิจารณาจนกระทั่งเข้าใจลักษณะของรูป เมื่อเข้าใจลักษณะของรูปอย่างนี้ สติปัฏฐาน คือ มีปัจจัยที่เป็นสังขารขันธ์ ความเข้าใจขั้นการฟังและขั้นพิจารณาทำให้เกิดระลึกรู้ลักษณะของปรมัตถธรรม

    เพราะฉะนั้นไม่ใช่ดู แต่หมายความว่าสติปัฏฐานเกิดเพราะสังขารขันธ์ มีความเข้าใจ มีปัญญาขั้นฟัง ขั้นพิจารณา เป็นปัจจัยให้เกิดระลึกได้ที่จะรู้ว่า ขณะนี้ที่กาย มีสภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรมใดกำลังปรากฏ

    เพราะฉะนั้นไม่ใช่ให้ไปดูรูปนั่ง แต่ว่าสติปัฏฐานจะระลึกตรงลักษณะของสภาพธรรมที่ฟังแล้วเข้าใจ เพราะฉะนั้นจึงต้องฟังก่อน และก็เข้าใจจริงๆ จึงจะเกื้อกูลให้สติปัฏฐานเจริญได้ ถ้าฟังแล้วก็ยังไม่เข้าใจ หรือว่าฟังแล้วเข้าใจผิด จะปฏิบัติต่างๆ โดยที่ไม่ใช่การฟังเรื่องของปรมัตถธรรม สติปัฏฐานจะไม่เกิด

    เพราะฉะนั้นถ้าจะดู ก็หมายความว่าสติปัฏฐานไม่เกิด เพราะเป็นตัวตนที่จะดู แล้วยังเข้าใจว่าจะดูเพื่อจะให้รู้ว่าไม่มี เป็นไปไม่ได้ที่จะรู้ว่าไม่มีท่านั่ง ท่านอน ท่ายืน ท่าเดิน ซึ่งจะเป็นการเพิกอิริยาบถนั้น จะต้องเพราะสติระลึกที่ลักษณะของปรมัตถธรรม จนกระทั่งสามารถที่จะรู้การแยกขาดจากกันของนามธรรมและรูปธรรมแต่ละทวาร จนกระทั่งละคลายการที่เคยยึดถือว่า เรายืน หรือเรานั่ง เรานอน เราเดิน ตั้งแต่เกิด และตลอดมาในอดีตแสนโกฏิกัปป์ ที่สติปัฏฐานไม่เกิด ไม่ประจักษ์ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม

    เพราะฉะนั้นต้องเป็นการที่สติปัฏฐานเกิด ศึกษาพิจารณาลักษณะของรูปและนามที่ปรากฏทีละเล็กทีละน้อยไปเรื่อยๆ และการละคลาย ก็คือว่า ขณะใดที่เห็น สติปัฏฐานก็ระลึกรู้ว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาก็เป็นแต่เพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่ง และก็จะรู้ว่า การคิดถึงอาการรูปร่างสัณฐานต่างๆ ทำให้มีความสำคัญหมายว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล

    เพราะฉะนั้นผู้ที่อบรมเจริญปัญญา จึงสามารถที่จะรู้สภาพปรมัตถธรรมแต่ละทวารได้ถูกต้อง และจึงจะรู้ได้ว่า แท้ที่จริงแล้ว มโนทวารวิถีจิตเกิด ทำให้เข้าใจลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ โดยอาการสัณฐานต่างๆ เพราะถ้ามโนทวารวิถีจิตไม่เกิด ไม่มีการตรึกนึกถึงรูปร่างสัณฐานใดๆ เลย จะไม่มีความสำคัญหมายว่า สิ่งที่กำลังปรากฏทางตานี้เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด

    เพราะฉะนั้นด้วยการที่สามารถที่จะรู้ปรมัตถสัจจะ และสมมติสัจจะว่า สมมติสัจจะเกิดมีได้ เมื่อมโนทวารวิถีจิตตรึกนึกถึงรูปร่างสัณฐานของปรมัตถสัจจะที่เพียงปรากฏแล้วก็ดับไป

    นี่เป็นปัญญาที่จะต้องอบรมเจริญโดยถูกต้อง แต่ว่าไม่ใช่โดยการเข้าใจผิดคิดว่า ไปดูจนกระทั่งไม่มี

    สุชาติ เข้าใจ หมายความว่าสิ่งที่มันไม่มีแล้ว จะไปดูอย่างไรก็คงไม่มี แต่ผมหมายถึงว่า อย่างที่อาจารย์พูด ผมกำหนดอย่างนี้ อย่างที่ผมยืนอยู่ ผมก็กำหนดอย่างที่อาจารย์พูดทุกอย่าง มีสติระลึกถึงตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจทุกตอนให้เป็นสติปัฏฐานเสียก่อน เมื่อเป็นแล้วผมก็มาปฏิเสธว่า เห็นแล้วว่ามีแต่รูปกับนาม

    ท่านอาจารย์ ต้องเป็นปัญญาที่รู้ว่าสติเกิดหรือหลงลืมสติ แล้วก็รู้ด้วยว่าในขณะที่สติเกิดเท่านั้นที่เป็นการอบรมเจริญมรรคมีองค์ ๘ ขณะอื่นไม่ใช่

    สุชาติ แต่ผมหมายถึงว่า ขณะที่เราไม่สามารถที่จะรู้ตามความเป็นจริงแล้ว เราก็สามารถที่จะตอบได้ว่า รูปยืนที่เรากำลังยืนอยู่นี้ เราต้องรู้ได้ ถ้าเรารู้ไม่ได้ มันมีหรือไม่มี เราจะรู้ได้อย่างไรว่า จะปฏิเสธได้อย่างไรว่ามันไม่มี เราก็พูดไม่ได้ว่ามี ไม่มีก็พูดไม่ได้ บอกไม่มีก็ไม่ได้ เพราะมันไม่มี ใช่ไหม แต่เมื่อเรารู้ว่าสิ่งที่มันมี นอกเหนือจากนี้เราต้องรู้ว่า รูปยืนมันไม่มี

    ท่านอาจารย์ รู้ทางทวารไหน

    สุชาติ ก็มโนทวาร

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก่อนที่จะรู้ว่า ทางตาไม่ใช่มโนทวารวิถี จะต้องเจริญอย่างไร เพราะจริงๆ แล้วจะต้องแยกมโนทวารออกจากทางปัญจทวาร จึงจะปรากฏว่าไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงการคิดที่กำลังคิดว่า เห็นคน เห็นสัตว์ เห็นบุคคลต่างๆ หรือคิดว่ากำลังนั่งอยู่ นั่นก็คือการคิด เพราะฉะนั้นก่อนที่จะรู้ตามความเป็นจริง ก็คือว่าสามารถจะรู้ความต่างกันของทางตากับทางใจ หรือว่าทางหูกับทางใจ ทางจมูกกับทางใจ ทางลิ้นกับทางใจ ทางกายกับทางใจ

    ถ้ากล่าวว่าถูกต้อง ก็ต้องแสดงหนทางที่จะทำให้ปัญญารู้อย่างนี้ได้ คือต้องมีเหตุที่ปัญญาขั้นนี้จะเกิดได้ เพราะว่ายอมรับแล้วใช่ไหมว่า ทางตา จักขุทวารวิถีมีสีที่กำลังปรากฏที่ยังไม่ดับ ซึ่งความจริงแล้วรูปแต่ละรูปเกิดดับเร็วมาก เพราะฉะนั้นในขณะนี้เอง ทางตา สีที่กำลังปรากฏต้องกำลังเกิดดับ แต่เมื่อยังไม่ประจักษ์ เพราะเหตุว่ายังไม่รู้ว่ามโนทวารวิถีเกิดต่อ

    เพราะฉะนั้นการที่ในวันหนึ่งๆ เคยเห็นคน เห็นสัตว์ เคยคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ เคยได้ยินเรื่องนั้นเรื่องนี้ สติปัฏฐานก็จะต้องเกิดและระลึกลักษณะของแต่ละทวารแยกขาดจากกัน เมื่อนั้นจึงจะรู้ได้ว่า โลกของสมมติสัจจะ คือ ทางมโนทวารที่กำลังคิด ซึ่งไม่ใช่ทางปัญจทวาร


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 25
    11 ก.พ. 2565

    ซีดีแนะนำ