โสภณธรรม ครั้งที่ 112
ตอนที่ ๑๑๒
เพราะจริงๆ แล้วจะต้องแยกมโนทวารออกจากทางปัญจทวาร จึงจะปรากฏว่าไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงการคิดที่กำลังคิดว่า เห็นคน เห็นสัตว์ เห็นบุคคลต่างๆ หรือคิดว่ากำลังนั่งอยู่ นั่นก็คือการคิด เพราะฉะนั้นก่อนที่จะรู้ตามความเป็นจริง ก็คือว่าสามารถจะรู้ความต่างกันของทางตากับทางใจ หรือว่าทางหูกับทางใจ ทางจมูกกับทางใจ ทางลิ้นกับทางใจ ทางกายกับทางใจ
ถ้ากล่าวว่าถูกต้อง ก็ต้องแสดงหนทางที่จะทำให้ปัญญารู้อย่างนี้ได้ คือต้องมีเหตุที่ปัญญาขั้นนี้จะเกิดได้ เพราะว่ายอมรับแล้วใช่ไหมว่า ทางตา จักขุทวารวิถีมีสีที่กำลังปรากฏที่ยังไม่ดับ ซึ่งความจริงแล้วรูปแต่ละรูปเกิดดับเร็วมาก เพราะฉะนั้นในขณะนี้เอง ทางตา สีที่กำลังปรากฏต้องกำลังเกิดดับ แต่เมื่อยังไม่ประจักษ์ เพราะเหตุว่ายังไม่รู้ว่ามโนทวารวิถีเกิดต่อ
เพราะฉะนั้นการที่ในวันหนึ่งๆ เคยเห็นคน เห็นสัตว์ เคยคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ เคยได้ยินเรื่องนั้นเรื่องนี้ สติปัฏฐานก็จะต้องเกิดและระลึกลักษณะของแต่ละทวารแยกขาดจากกัน เมื่อนั้นจึงจะรู้ได้ว่า โลกของสมมติสัจจะ คือ ทางมโนทวารที่กำลังคิด ซึ่งไม่ใช่ทางปัญจทวาร
เพราะฉะนั้นต้องมีเหตุที่จะทำให้ปัญญาขั้นนี้เกิดด้วย ไม่ใช่ปัญญาขั้นนี้ซึ่งเป็นผล เกิดโดยไม่มีเหตุ
สุชาติ ถูกต้อง ก็เลยถามว่ารูปยืนไม่มี รูปนั่งไม่มี เป็นการคิดหรือเปล่า ที่เราตอบอย่างนี้ เราคิดเอาหรือเปล่า
ท่านอาจารย์ กว่าจะแน่ใจจริงๆ ก็ต่อเมื่อปัญญาประจักษ์ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมแต่ละทวารแยกขาดจากกัน ซึ่งเป็นการเพิกอิริยาบถ ในขั้นนี้ก็เป็นขั้นฟังแล้วก็พิจารณา แล้วก็สติระลึกให้ตรงลักษณะสภาพของปรมัตถธรรม จึงจะประจักษ์ได้ว่า อิริยาบถไม่มี ณรงค์ ขออนุญาตท่านอาจารย์ เรียนถามท่านผู้ฟังถึงรูปนั่งว่า ที่ท่านบอกว่าจะดูรูปนั่งมีหรือไม่มี ท่านรู้จักรูปนั่งหรือยังว่าคืออะไร ขอให้ชี้แจงโดยละเอียด
สุชาติ คือผมถามครั้งแรก คล้ายมี และในที่สุดผมก็ตอบว่าไม่มี ผมก็ยืนยัน
ท่านอาจารย์ ในที่สุดตอบแล้วว่าไม่มี
เรื่องของการเข้าใจข้อปฏิบัติเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะฉะนั้นในชาติหนึ่งๆ ที่เกิดมามีโอกาสจะได้ฟังพระธรรม ซึ่งเป็นขณะที่แสนยากในสังสารวัฏฏ์ เพราะเหตุว่าบางคนเกิดมามีโอกาสแต่ไม่ฟัง หรือว่าบางคนฟังแล้วไม่มีการสะสมที่จะเห็นประโยชน์ ก็ผ่านเลยไปในแต่ละวัน เพราะฉะนั้นเมื่อมีโอกาสได้ฟังเรื่องของการอบรมเจริญมรรคมีองค์ ๘ ก็จะต้องพิจารณาให้รอบคอบเพื่อที่ปัญญาจะได้เจริญขึ้นอีกในแต่ละชาติ ที่มีโอกาสได้ฟังเรื่องของมรรคมีองค์ ๘
ข้อความในสังยุตตนิกาย มหาวารวรรค ปฏิปทาสูตรที่ ๒ ข้อ ๖๘ มีข้อความว่า
สาวัตถีนิทาน คือเรื่องนี้เกิดขึ้นที่พระนครสาวัตถี พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราไม่สรรเสริญมิจฉาปฏิปทาของคฤหัสถ์หรือบรรพชิต คฤหัสถ์หรือบรรพชิตปฏิบัติผิดแล้ว ย่อมไม่ยังญายธรรมอันเป็นกุศลให้สำเร็จ เพราะความปฏิบัติผิดเป็นตัวเหตุ ก็มิจฉาปฏิปทาเป็นไฉน ความเห็นผิด ความดำริผิด วาจาผิด ทำการงานผิด เลี้ยงชีพผิด ความเพียรผิด การระลึกผิด ความตั้งมั่นผิด นี้เรียกว่า มิจฉาปฏิปทา
ถ้าไม่มีความเห็นผิด การปฏิบัติผิดจะไม่ทรงแสดงไว้ ใช่ไหม เพราะฉะนั้นพระธรรมที่ทรงแสดงไว้มีประโยชน์เกื้อกูลให้ระลึกพิจารณาให้ถ่องแท้ เพื่อประโยชน์ของตนเองและบุคคลอื่นด้วย มิฉะนั้นแล้วถ้าบุคคลหนึ่งบุคคลใดเข้าใจผิด และก็ชักชวนบุคคลอื่นให้เข้าใจผิด ปฏิบัติผิดตามๆ กันไป ผู้นั้นก็ย่อมหมดโอกาสที่จะได้เข้าใจพระธรรมโดยถูกต้อง และย่อมจะไม่เป็นเหตุให้ได้เจริญมรรคมีองค์ ๘
ข้อความในมัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ สามคามสูตร ข้อ ๕๔ พระผู้มีพระภาคตรัสกับท่านพระอานนท์
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกรอานนท์ ความวิวาทที่เกิดเพราะเหตุอาชีวะอันยิ่งหรือปาติโมกข์ อันยิ่ง นั้นเล็กน้อย ส่วนความวิวาทอันเกิดในสงฆ์ ที่เกิดเพราะเหตุมรรคหรือปฏิปทา ความวิวาทนั้นมีแต่เพื่อไม่เกื้อกูลแก่ชนมาก ไม่ใช่สุขของชนมาก ไม่ใช่ประโยชน์ของชนมาก เพื่อไม่เกื้อกูล เพื่อความทุกข์แก่เทวดาและมนุษย์
และต่อจากนั้นพระผู้มีพระภาคก็ทรงแสดงมูลเหตุแห่งความวิวาท ๖ อย่าง
เรื่องของความวิวาทก็ขอให้ทราบว่า ต้องมีมูลเหตุ และสำหรับการวิวาทเรื่องอื่นๆ ทั้งหมด เมื่อเทียบกับการวิวาทในเรื่องของการเจริญมรรคมีองค์ ๘ แล้วละก็ การวิวาทในเรื่องอื่น แม้ในเรื่องของอาชีวะหรือในปาติโมกข์อันยิ่งนั้นก็ยังนับว่าเล็กน้อย เมื่อเทียบกับการวิวาทในเรื่องของมรรคมีองค์ ๘ และเหตุที่จะให้เกิดการวิวาทนั้นก็มี ๖ อย่าง คือ
- ๑. เป็นผู้มักโกรธ มีความผูกโกรธ
- ๒. เป็นผู้มีความลบหลู่ มีความตีเสมอ
- ๓. เป็นผู้มีความริษยา มีความตระหนี่
- ๔. เป็นผู้โอ้อวด เป็นผู้มีมายา
- ๕. เป็นผู้มีความปรารถนาลามก มีความเห็นผิด
- ๖. เป็นผู้มีความเห็นเอาเอง มีความเชื่อถือผิวเผิน มีความถือรั้น สละคืนได้ยาก
ภิกษุเป็นผู้มีความเห็นเอาเอง มีความเชื่อถือผิวเผิน มีความถือรั้น สละคืนได้ยากนั้น ย่อมไม่มีความเคารพ ไม่มีความยำเกรงแม้ในพระศาสดา แม้ในพระธรรม แม้ในพระสงฆ์อยู่ ทั้งไม่เป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ในสิกขา ภิกษุผู้ไม่มีความเคารพ ไม่มีความยำเกรงแม้ในพระศาสดา แม้ในพระธรรม แม้ในพระสงฆ์อยู่ ทั้งไม่เป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ในสิกขานั้น ย่อมก่อความวิวาทให้เกิดในสงฆ์ ซึ่งเป็นความวิวาทที่ไม่เกื้อกูลแก่ชนมาก ไม่ใช่สุขของชนมาก ไม่ใช่ประโยชน์ของชนมาก เพื่อไม่เกื้อกูล เพื่อความทุกข์แก่เทวดาและมนุษย์
เพราะฉะนั้นแต่ละท่านต้องฟัง พิจารณา หนักแน่น ไม่หวั่นไหวในพระธรรมที่ได้ฟัง ที่ได้พิจารณาในลักษณะของสภาพธรรม ในอริยสัจจธรรมว่า ข้อปฏิบัติใดเป็นข้อปฏิบัติที่ทำให้ปัญญาเจริญขึ้นได้จริงๆ เพราะเหตุว่าสามารถที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติในชีวิตประจำวัน และการที่จะละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล ก็ละคลายจากกำลังเห็นเดี๋ยวนี้ กำลังได้ยินเดี๋ยวนี้ กำลังคิดนึกเดี๋ยวนี้ กำลังเป็นสุขเป็นทุกข์เดี๋ยวนี้ ลักษณะของสภาพธรรมเกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย สภาพธรรมใดมีลักษณะอย่างใดก็เป็นอย่างนั้น ไม่เปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น แต่ว่าอวิชชาไม่สามารถที่จะรู้ในลักษณะของสภาพธรรมถูกต้องตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้นได้ แต่ว่าปัญญาที่ค่อยๆ เกิด เพราะสติระลึกศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ จะทำให้ค่อยๆ รู้ในลักษณะของเห็นที่กำลังเห็น เมื่อรู้แล้วก็ค่อยๆ คลายการยึดถือสิ่งที่ปรากฏว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล และค่อยๆ ละการยึดถือเห็นว่าเป็นเราเห็น
เพราะฉะนั้นการจะพิสูจน์การเจริญปัญญานี่ไม่ยากเลย ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ขณะใด สติเกิด ก็จะรู้ได้เลยว่า ปัญญารู้อย่างนี้ไหม เมื่อรู้แล้วก็ค่อยๆ คลายตามปกติ ตามธรรมดาในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่ไปสู่สถานที่หนึ่งสถานที่ใดแล้วก็เข้าใจว่าปัญญาเกิด แต่ว่าปกติที่กำลังเห็น ไม่มีการรู้เลยว่าเป็นนามธรรม เพราะฉะนั้นก็ไม่มีการละคลายการยึดถือเห็น ที่กำลังเป็นปกติในขณะนี้ว่าเป็นตัวตน ไม่มีการละคลายที่จะเข้าใจว่า สภาพของปรมัตถธรรมที่ปรากฏทางตา เป็นแต่เพียงสีสันวัณณะต่างๆ ที่ปรากฏทางตาเท่านั้น
เพราะฉะนั้นถ้าเข้าใจว่า ชีวิตประจำวันเป็นอย่างไร ก่อนที่จะได้ฟังพระธรรม เต็มไปด้วยอวิชชาและความยึดมั่น แต่เมื่อได้ฟังแล้ว มีความเข้าใจเกิดขึ้นเป็นขั้นๆ และสติก็เริ่มระลึกรู้ การละคลายก็จะค่อยๆ เป็นไปตามลำดับ แต่ต้องเป็นปกติในชีวิตประจำวัน
ข้อความในมโนรถปุรณี อรรถกถา อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เอตทัคคบาลี แสดงประวัติของท่านสูรัมพัฏฐเศรษฐีอุบาสก ซึ่งท่านเป็นผู้เลิศกว่าอุบาสกสาวกผู้เลื่อมใสโดยไม่หวั่นไหว
ข้อความในมโนรถปุรณี อรรถกถา อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต มีข้อความว่า
ท่านสูรัมพัฏฐเศรษฐีอุบาสก ซึ่งข้อความในพระบาลีเรียกว่า สูรอัมพัฏฐอุบาสก ในสมัยของพระผู้มีพระภาคพระองค์นี้ ท่านเกิดในสกุลเศรษฐี เป็นอุปัฏฐากของเหล่าอัญญเดียรถีย์
นี่ไม่กล่าวถึงการสะสมปัญญาและบารมีในอดีตชาติ ที่จะทำให้ท่านได้เป็นพระโสดาบัน ซึ่งท่านก็ต้องได้เคยฟังพระธรรม ได้อบรมเจริญสติปัฏฐานมาแล้ว
ในชาติที่ท่านจะได้เป็นพระโสดาบันนั้น ท่านเกิดในตระกูลเศรษฐี มีนามว่า สูรอัมพัฏฐะ แต่ข้อความในอรรถกถาแสดงว่า ท่านชื่อว่า อูรพันธเศรษฐี
ครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคได้ตรวจดูโลกเวลาใกล้รุ่ง ทรงเห็นอุปนิสัยแห่งโสดาปัตติมรรคของท่าน จึงได้เสด็จไปถึงประตูบ้านของท่านในเวลาที่เสด็จบิณฑบาต เมื่อท่านเห็นพระผู้มีพระภาค ท่านก็คิดว่า พระสมณโคดมทรงอุบัติในสกุลใหญ่ และเป็นผู้อันมหาชนรู้จักกันอย่างดีในโลก ด้วยเหตุนี้การไม่ไปเฝ้าพระองค์นั้นไม่สมควร
ดังนั้นท่านจึงเข้าไปเฝ้า และกราบที่พระยุคลบาท รับบาตรและอาราธนาให้เสด็จเข้าไปในเรือน ให้ประทับนั่งบนบัลลังก์มีค่ามาก แล้วได้ถวายภัตตาหาร เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงเสร็จภัตตกิจแล้ว ท่านก็นั่ง ณ ที่สมควรข้างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมตามควรแก่อุปนิสัยของท่าน เมื่อจบเทศนา ท่านก็ดำรงอยู่ในโสตาปัตติผล และพระผู้มีพระภาคก็ได้เสด็จกลับไปยังพระวิหารเชตวัน
ทุกท่านอยากจะเป็นอย่างนี้ใช่ไหม ง่ายดี แต่ก่อนที่จะเป็นอย่างนี้นั้นก็ไม่ง่ายเลย จะต้องอาศัยการฟังจนกระทั่งเข้าใจจริงๆ และก็อบรมเจริญปัญญาจนพร้อมที่เมื่อได้ฟังพระธรรม ถึงกาลที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ก็ได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม
ลำดับนั้นมารคิดว่า ชื่อว่า อูรพันธะนี้เป็นสมบัติของเรา เพราะเหตุว่ากาลครั้งหนึ่งท่านเคยเป็นอุปัฏฐากของพวกเดียรถีย์ มารคิดว่า แต่ว่าพระผู้มีพระภาคเสด็จไปเรือนของเขาวันนี้ เขาจะได้บรรลุมรรคผลเพราะได้ฟังพระธรรมของพระผู้มีพระภาคหรือไม่หนอ
เพื่อจะรู้ว่า อูรพันธเศรษฐีบรรลุมรรคผลหรือไม่ มารก็เนรมิตรูปเป็นพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับยืนใกล้ประตูเรือนของอูรพันธอุบาสก
อยากรู้มาก มีวิธีที่จะรู้ได้ ก็ได้แปลงกายเป็นพระผู้มีพระภาค
แม้อูรพันธอุบาสกได้ฟังว่า พระผู้มีพระภาคเสด็จมาอีกแล้ว ก็คิดว่า ธรรมดาการเสด็จไปชนิดไม่แน่นอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ไม่มีเลย เหตุไรหนอจึงเสด็จมา ดังนี้
คือการที่พระผู้มีพระภาคจะเสด็จไปแล้วเสด็จกลับมาอีกย่อมไม่มีเลย
เพราะฉะนั้นท่านก็มีความสงสัย ท่านจึงรีบไปที่ๆ มารแปลงเป็นพระพุทธเจ้ายืนอยู่ เมื่อกราบแล้วก็ได้ยืนที่สมควรข้างหนึ่ง และกราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคทรงกระทำภัตกิจเสร็จในเรือนของข้าพระองค์ ทรงอาศัยเหตุอะไรจึงเสด็จมาอีก
มารกล่าวว่า
ดูก่อนอูรพันธะ เราเมื่อกล่าวธรรม ไม่ทันพิจารณา แล้วกล่าวคำไปข้อหนึ่ง มีอยู่ แท้จริงเรากล่าวไปว่า ปัญจขันธ์ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา หมดทุกอย่าง แต่ความจริงไม่ใช่ทั้งหมดเห็นปานนั้น ด้วยว่าขันธ์บางจำพวกที่เที่ยง มั่นคง ยืนยงมีอยู่
ทีนั้นอูรพันธอุบาสกคิดว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องหนักอย่างยิ่ง
คือเป็นสิ่งที่ไม่ควรจะทำเลยที่จะกล่าวอย่างนี้
ด้วยธรรมดาว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสเป็นคำสองไม่มี จึงคิดใคร่ครวญว่า ขึ้นว่ามารเป็นข้าศึกของพระทศพล ผู้นี้ต้องเป็นมารแน่ จึงกล่าวว่า
ท่านเป็นมารหรือ
ซึ่งมารก็ยอมรับว่าใช่ อูรพันธอุบาสกจึงชี้นิ้วกล่าวว่า
มารตั้งร้อย ตั้งพัน ก็ทำศรัทธาของเราให้หวั่นไหวไม่ได้หรอก พระผู้มีพระภาคเมื่อทรงแสดงธรรมแก่เรา ก็ทรงแสดงธรรมปลุกให้ตื่นว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง ท่านอย่ายืนใกล้ประตูเรือนของเรานะ มารก็ได้อันตรธานไปในที่นั้นนั่นเอง
และในตอนเย็นอูรพันธอุบาสกก็ได้ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค กราบทูลให้ทรงทราบ
ท่านผู้ฟังพิจารณาธรรมหนักแน่น มั่นคง ไม่หวั่นไหว ที่จะรู้ว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง ไม่ว่าใครจะกล่าวว่าอย่างไร ก็หนักแน่น มั่นใจ มั่นคงว่า สิ่งใดที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย สิ่งนั้นก็ดับ ที่จะยั่งยืนมั่นคงนั้นไม่มีเลย หรือว่าขันธ์บางขันธ์อาจจะยั่งยืนมั่นคง ถ้าคิดอย่างนี้ เข้าใจอย่างนี้ ก็เป็นความเห็นผิด และเป็นการไม่มั่นคงในเหตุในผล ซึ่งการที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ ก็ต้องเป็นผู้มีความมั่นคงในเหตุในผลจริงๆ ไม่คลอนแคลน ไม่ว่าจะในการที่จะพิจารณากายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน หรือธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ก็จะต้องพิจารณาในเหตุผลที่จะทำให้สติปัฏฐานเจริญขึ้นโดยถูกต้อง
อดิศักดิ์ มารนี่มาได้แนบเนียนมาก ถ้าอูรพันธะไม่ได้โสดาบัน ก็เสร็จแน่ซิ
ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นผู้ที่หนักแน่นมั่นคง ฟังธรรมด้วยความเข้าใจ ในขั้นของการฟัง ก็จะต้องประกอบด้วยเหตุผลที่จะต้องรู้ว่า พระธรรมที่ทรงแสดง ไม่มีสอง เพราะเหตุว่าทรงแสดงตามที่ทรงตรัสรู้ ที่จะกลับไปกลับมาเป็นไปไม่ได้ และโดยเหตุผลจริงๆ ที่จะเป็นไปอย่างนั้นไม่ได้
อดิศักดิ์ ฉันใดก็ฉันนั้น เมื่อเราฟังอาจารย์แล้ว เราก็ต้องมั่นคงว่า รูปนั่งกับปรมัตถธรรมต้องต่างกันแน่
ท่านอาจารย์ ต้องพิจารณา เป็นความเข้าใจจริงๆ ในเรื่องของปรมัตถธรรม ในเรื่องลักษณะของสภาพธรรมที่พิสูจน์ได้ ไม่ใช่ให้เพียงแต่ให้เชื่อ หรืออ้างตำรา โดยที่บอกว่า เมื่ออิริยาบถบรรพมีในกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ก็จะต้องดูรูปนั่ง หรือว่ารู้รูปนั่ง ท่าทางที่นั่ง ที่นอน ที่ยืน ที่เดิน นั่นก็แสดงว่า ไม่เกื้อกูลต่อพระธรรมที่ทรงแสดงเรื่องของปรมัตถธรรมไว้โดยละเอียด เพราะแม้แต่โดยธาตุ ก็ไม่มีธาตุยืน ไม่มีธาตุเดิน ไม่มีธาตุนั่ง ไม่มีธาตุนอน มีแต่ธาตุดิน มีธาตุน้ำ มีธาตุไฟ ธาตุลม มีวิญญาณธาตุ มีโลภธาตุ มีโทสธาตุ มีกามธาตุ มีธาตุต่างๆ ซึ่งมีลักษณะจริงๆ เป็นปรมัตถธรรม
เมื่อปัญญารู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมเพิ่มขึ้น เจริญขึ้น มั่นคงขึ้น ก็ยิ่งรู้ว่า ไม่มีตัวตนที่จะทำอะไรได้เลยสักอย่างเดียว
นี่คือการละคลายความเป็นตัวตน โดยการรู้เหตุปัจจัยของสภาพธรรมแต่ละอย่างที่เกิดขึ้นว่า เป็นเพียงแต่นามธรรมและรูปธรรมที่เกิดขึ้นทำกิจของสภาพธรรมนั้นๆ และจะรู้ด้วยว่า มัชฌิมาปฏิปทา คือ ขณะที่สติระลึกรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมเป็นสติปัฏฐาน มิฉะนั้นแล้วก็จะไม่ใช่มัชฌิมาปฏิปทา เพราะเหตุว่าจะไม่ทำให้ปัญญารู้ชัดในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม
ข้อความในสัมโมหวิโนทนี อรรถกถาวิภังคปกรณ์ มีข้อความว่า
นอกจากมรรคแล้ว เครื่องนำออกอย่างอื่นย่อมไม่มี แม้มรรคนั้นไม่ใช่เครื่องนำออกก็หาไม่ เพราะฉะนั้นมรรคนั้นบัณฑิตจึงรู้ว่าเป็นสัจจะ เพราะอรรถว่าเป็นเครื่องนำออกอย่างแท้จริง
ทุกคนกำลังมีกิเลสสะสมมามากเหลือเกิน ก็อยากให้กิเลสนั้นหมดไป เบาบางไป ดับไป แต่ว่าจะไม่มีหนทางอื่นเลย นอกจากมรรคมีองค์ ๘ เพราะฉะนั้นเครื่องที่จะนำกิเลสทั้งหลายออกอย่างอื่นนอกจากมรรค ไม่มีเลย หรือใครคิดว่าจะมีหนทางอื่น วิธีอื่น ดับกิเลส แต่ว่าข้อความในพระไตรปิฎกและอรรถกถาแสดงไว้โดยชัดเจนว่า
เครื่องนำออกอย่างอื่นย่อมไม่มี แม้มรรคนั้นไม่ใช่เครื่องนำออกก็หาไม่
ยังปฏิเสธกำกับไว้อีก ที่มรรคนั้นจะไม่ใช่เครื่องนำออกนั้นเป็นไปไม่ได้ แต่ละขณะที่สติเกิดระลึกลักษณะสภาพธรรม แล้วสังเกตพิจารณาเพื่อที่จะแยกลักษณะของ นามธรรม ซึ่งเป็นสภาพรู้ ออกจากลักษณะของรูปธรรมที่ปรากฏ นั่นเป็นหนทางที่จะนำกิเลสออกอย่างแท้จริง แต่ว่า เพราะฉะนั้นมรรคนั้น บัณฑิตจึงรู้ว่าเป็นสัจจะ ต้องเป็นบัณฑิต เป็นผู้ฉลาด จึงจะรู้ว่า หนทางที่จะละกิเลสนั้นมีหนทางเดียว
ข้อความต่อไปในสัมโมหวิโนทนี วิภังคปกรณ์มีว่า
ทุกข์นั้น ตัณหามิได้สร้างแล้ว ย่อมไม่มา ทุกข์ย่อมมีเพราะเหตุภายนอก มีเพราะพระอิศวรบันดาลก็หาไม่ ที่แท้ทุกข์ย่อมมีเพราะตัณหานี้
เป็นข้อความสั้นๆ แต่ว่าเป็นชีวิตประจำวันของทุกคนซึ่งมีทุกข์ คงไม่มีใครเลยที่เกิดมาแล้วไม่มีทุกข์ เพียงแต่ว่าจะทุกข์มาก หรือทุกข์น้อย จะทุกข์กาย หรือจะทุกข์ใจ แต่ว่ามีใครที่จะพิจารณาอริยสัจจธรรมที่ว่า ทุกข์นั้น ตัณหามิได้สร้างแล้ว ย่อมไม่มา
ถ้าไม่มีตัณหาแล้ว ทุกข์ย่อมเกิดไม่ได้ แม้แต่เพียงความเป็นเราด้วยตัณหา ความเป็นเราด้วยทิฏฐิ ความเป็นเราด้วยมานะ ก็ไม่พ้นจากโลภมูลจิตเลย ความเป็นเราด้วยทิฏฐิ คือ โลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ เกิดร่วมกับสักกายทิฏฐิ ที่ยึดถือนามธรรมและรูปธรรมเป็นตัวตน ในขณะนั้นก็ควรจะพิจารณาดูว่า เป็นทุกข์แค่ไหน ทุกข์ทั้งหมดย่อมมาจากการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตน หรือเป็นเรา ซึ่งขณะนั้นก็เกิดร่วมกับโลภะ ความยินดีพอใจในความเห็น ในการยึดถืออย่างนั้น
เพราะฉะนั้นถ้ามีปัญญาที่สามารถจะรู้ความจริงว่า ไม่ใช่เรา เพียงละคลายการยึดถือนามธรรมและรูปธรรมว่าเป็นตัวตน และสามารถที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมในวันหนึ่งๆ ก็จะทำให้ความทุกข์เบาบางได้ แม้ในขั้นของการพิจารณาว่า สภาพธรรมที่กำลังปรากฏนั้นๆ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา แต่ที่จะดับจริงๆ เป็นสมุจเฉท ก็ต้องถึงโสตาปัตติมรรคจิต จึงจะดับการยึดถือสภาพธรรมเป็นตัวตน และความเห็นผิดต่างๆ ได้ แต่ถ้ายังไม่ถึงในบางกาลก็ต้องเป็นทุกข์ เพราะการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน และถ้ายึดถือเหนียวแน่นมาก ทุกข์นั้นก็ต้องเพิ่มมากขึ้น
- โสภณธรรม ครั้งที่ 101
- โสภณธรรม ครั้งที่ 102
- โสภณธรรม ครั้งที่ 103
- โสภณธรรม ครั้งที่ 104
- โสภณธรรม ครั้งที่ 105
- โสภณธรรม ครั้งที่ 106
- โสภณธรรม ครั้งที่ 107
- โสภณธรรม ครั้งที่ 108
- โสภณธรรม ครั้งที่ 109
- โสภณธรรม ครั้งที่ 110
- โสภณธรรม ครั้งที่ 111
- โสภณธรรม ครั้งที่ 112
- โสภณธรรม ครั้งที่ 113
- โสภณธรรม ครั้งที่ 114
- โสภณธรรม ครั้งที่ 115
- โสภณธรรม ครั้งที่ 116
- โสภณธรรม ครั้งที่ 117
- โสภณธรรม ครั้งที่ 118
- โสภณธรรม ครั้งที่ 119
- โสภณธรรม ครั้งที่ 120
- โสภณธรรม ครั้งที่ 121
- โสภณธรรม ครั้งที่ 122
- โสภณธรรม ครั้งที่ 123
- โสภณธรรม ครั้งที่ 124
- โสภณธรรม ครั้งที่ 125
- โสภณธรรม ครั้งที่ 126
- โสภณธรรม ครั้งที่ 127
- โสภณธรรม ครั้งที่ 128
- โสภณธรรม ครั้งที่ 129
- โสภณธรรม ครั้งที่ 130
- โสภณธรรม ครั้งที่ 131
- โสภณธรรม ครั้งที่ 132
- โสภณธรรม ครั้งที่ 133
- โสภณธรรม ครั้งที่ 134
- โสภณธรรม ครั้งที่ 135
- โสภณธรรม ครั้งที่ 136
- โสภณธรรม ครั้งที่ 137
- โสภณธรรม ครั้งที่ 138
- โสภณธรรม ครั้งที่ 139
- โสภณธรรม ครั้งที่ 140
- โสภณธรรม ครั้งที่ 141
- โสภณธรรม ครั้งที่ 142
- โสภณธรรม ครั้งที่ 143
- โสภณธรรม ครั้งที่ 144
- โสภณธรรม ครั้งที่ 145
- โสภณธรรม ครั้งที่ 146
- โสภณธรรม ครั้งที่ 147
- โสภณธรรม ครั้งที่ 148
- โสภณธรรม ครั้งที่ 149
- โสภณธรรม ครั้งที่ 150
- โสภณธรรม ครั้งที่ 151
- โสภณธรรม ครั้งที่ 152
- โสภณธรรม ครั้งที่ 153
- โสภณธรรม ครั้งที่ 154
- โสภณธรรม ครั้งที่ 155
- โสภณธรรม ครั้งที่ 156
- โสภณธรรม ครั้งที่ 157
- โสภณธรรม ครั้งที่ 158
- โสภณธรรม ครั้งที่ 159
- โสภณธรรม ครั้งที่ 160