โสภณธรรม ครั้งที่ 113
ตอนที่ ๑๑๓
สุชาติ ก็อยากเป็นผู้มีความเห็นถูกต้อง อยากเรียนถามสักนิดว่า มีความเห็นถูกต้องเพียงอย่างเดียว ทำให้ทุกข์ไม่เกิดเลยหรือ
ท่านอาจารย์ ทุกข์ทั้งหลายถ้าไม่มีตัณหา ไม่มี
สุชาติ ความเห็นกับตัณหานี้อย่างเดียวกันหรือ
ท่านอาจารย์ ความเห็นผิด พอใจในความเห็นนั้น
สุชาติ ถ้ายึดถือว่ามันเป็นตัวตน เป็นตัณหาไหม
ท่านอาจารย์ แน่นอน เพราะว่าทิฏฐิเจตสิกต้องเกิดกับโลภมูลจิต ต้องเกิดร่วมกันกับโลภเจตสิก
สุชาติ ผู้ได้โสตาปัตติมรรค โสตาปัตติผล เป็นพระโสดาบัน เป็นผู้ไม่มีตัณหาแล้วหรือ
ท่านอาจารย์ มิได้ ไม่ใช่ว่าดับตัณหาหมด แต่ว่าดับโลภมูลจิต ๔ ดวง คือ โลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ยังคงมีโลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปยุตต์ ก็ยังคงมีความทุกข์อยู่ แต่ว่าน้อยลง
สุชาติ ทุกข์อะไร ทุกขอริยสัจจ์
ท่านอาจารย์ แน่นอน ยังมีความพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เพราะฉะนั้นก็ต้องมีทุกข์ซึ่งเกิดจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ
สุชาติ เพราะฉะนั้นพระโสดาบันละได้แต่ทิฏฐิ
ท่านอาจารย์ ละได้เฉพาะความเห็นผิดทั้งหมด
สุชาติ ละกามราคะ ปฏิฆะไม่ได้
ท่านอาจารย์ ไม่ได้
สุชาติ อีกเรื่องหนึ่ง ที่เมื่อสักครู่บอกว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง ถ้าผมบอกว่า สังขารทั้งปวงเที่ยง เป็นมิจฉาทิฏฐิ
ท่านอาจารย์ แล้วจริงไหม
สุชาติ จริง
ท่านอาจารย์ สังขารทั้งปวงเที่ยง จริงหรือเปล่า
สุชาติ ไม่จริง เพราะฉะนั้นสังขารทั้งปวงไม่เที่ยง ทีนี้เราจะรู้ได้อย่างไร สิ่งที่ไม่เที่ยง คือ มีรูปกับนามเท่านั้น สังขารเป็นปรมัตถ์หรือ
ท่านอาจารย์ สังขารธรรม ได้แก่ จิต เจตสิก รูป สังขารขันธ์ ได้แก่ เจตสิก ๕๐ ดวง สังขารที่เป็นอภิสังขารในปฏิจจสมุปปาท ได้แก่ เจตนาเจตสิก ๑ ดวง นี่คือการที่จะต้องฟังคำ แล้วก็เข้าใจศัพท์หรือความหมายของพยัญชนะแต่ละพยัญชนะให้ถูกต้อง
สุชาติ จิต เจตสิก รูป
ท่านอาจารย์ เป็นสังขารธรรม
สุชาติ สังขารเป็นแต่ชื่อ
ท่านอาจารย์ ไม่มีลักษณะหรือ จิตไม่มีหรือ มีแต่ชื่อว่า จิต หรืออย่างไร
สุชาติ จิตมี
ท่านอาจารย์ จิตเป็นสังขารธรรม เพราะเหตุว่าจิตเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วดับไป
สุชาติ สังขารอย่างหนึ่ง จิตอย่างหนึ่ง ไม่ใช่อย่างนั้นหรือ
ท่านอาจารย์ สังขารธรรม หมายถึง ธรรมทั้งหลายซึ่งเกิดขึ้นเพราะมีปัจจัยปรุงแต่ง และดับ ปรมัตถธรรมที่เป็นสังขาร ได้แก่ จิต เจตสิก รูป จิตมีจริงๆ จิตเป็นสังขารธรรม เจตสิกมีจริงๆ เจตสิกเป็นสังขารธรรม รูปมีจริงๆ รูปเป็นสังขารธรรม ไม่ได้พูดถึงสิ่งซึ่งไม่มีจริง พูดถึงสิ่งที่มี และแสดงสภาพลักษณะของธรรมนั้นๆ ว่า ธรรมประเภทใดเป็นสังขารธรรม ธรรมประเภทใดไม่ใช่สังขารธรรม
คู่มือการศึกษาพระอภิธรรม คือ ปรมัตถธรรมสังเขป จิตสังเขป และภาคผนวก ก็ได้พิมพ์เสร็จแล้ว ซึ่งสำหรับท่านที่สนใจก็คงจะต้องอ่านช้าๆ และให้เข้าใจจริงๆ เพราะเหตุว่าการที่จะศึกษาพระไตรปิฎก ถ้าไม่มีพื้นฐานขั้นต้นที่มั่นคง ศึกษาไปก็อาจจะเบื่อที่เป็นเรื่องละเอียด หรือมีสิ่งที่จะต้องเข้าใจมาก บางคนก็คิดว่า ทำไมถึงละเอียดอย่างนี้ ที่จะต้องเข้าใจอย่างนี้ แต่ถ้ามีความเข้าใจจริงๆ แล้วจะเห็นคุณค่า เห็นประโยชน์ของพระธรรมที่ได้ทรงแสดงไว้ละเอียด เพราะเหตุว่ากิเลสมากมายเหลือเกิน และการที่จะละคลายกิเลสก็แสนที่จะยาก ไม่ใช่จะเป็นไปได้โดยรวดเร็ว
เพราะฉะนั้นก็จะต้องมีวิริยะอุตสาหะจริงๆ ที่จะต้องเข้าใจพระธรรมตั้งแต่ขั้นต้น ไม่ใช่จะไปข้ามขั้นไปเรียนเรื่องอื่นก่อน แต่จะข้ามการเข้าใจพระธรรมไปตามลำดับไม่ได้เลย คือ จะต้องเข้าใจเรื่องของปรมัตถธรรม
เพราะฉะนั้นสำหรับท่านที่จะอ่านหนังสือเล่มนี้ ก็ค่อยๆ อ่าน ค่อยๆ พิจารณา แล้วถ้าท่านมีมิตรสหายที่จะสนทนาธรรม ก็อาจจะใช้หนังสือเล่มนี้เป็นคู่มือในการสนทนาได้ เช่น คำถามทบทวนต่างๆ ก็ช่วยกันตอบ หรือตอบโดยนัยต่างๆ หรือตรวจสอบดูว่า มีความเข้าใจในสิ่งที่อ่านตรงกันหรือเปล่า ถูกต้องหรือเปล่า
ก็ขออนุโมทนากุศลศรัทธาของท่านผู้ฟังทุกท่านที่ร่วมกันบริจาคค่าพิมพ์หนังสือเล่มนี้
ธีรพันธ์ ปรมัตถธรรมหมายถึงสภาพที่คงที่ ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ปรมัตถธรรม คือ สภาพธรรมที่มีจริง แม้ว่าจะไม่ใช้ชื่อใดๆ เรียกเลยก็ตาม เช่น เห็น ไม่ต้องเรียกชื่อ ไม่ต้องบอกว่านี่คือเห็น แต่ก็กำลังเห็นในขณะที่จิตเห็นเกิดขึ้นเห็น ขณะที่ได้ยินเสียง ไม่ต้องเรียกอะไรทั้งหมด ปรมัตถธรรมคือสภาพธรรมที่มีจริงที่กำลังได้ยินเสียงในขณะนั้น โดยไม่ต้องใช้ชื่อใดๆ
ธีรพันธ์ คำว่า คงที่ ฟังดูแล้วเหมือนเที่ยง แต่ที่ผมถามนี่เกี่ยวเนื่องอะไรกับอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน
ท่านอาจารย์ เสียงเที่ยงไหม
ธีรพันธ์ เสียงไม่เที่ยง
ท่านอาจารย์ การเกิดขึ้นและดับไปเป็นสุขหรือเป็นทุกข์
ธีรพันธ์ เป็นทุกข์
ท่านอาจารย์ และบังคับได้ไหม
ธีรพันธ์ ไม่ได้
ท่านอาจารย์ นั่นคืออนัตตา
ธีรพันธ์ และที่ว่าคงที่ในความหมายของปรมัตถธรรม คงที่อย่างไร
ท่านอาจารย์ อะไรคงที่
ธีรพันธ์ คือสภาพที่ไม่เปลี่ยนแปลง จิต เจตสิก
ท่านอาจารย์ อะไรไม่เปลี่ยนแปลง
ธีรพันธ์ ที่ว่าคงที่ เช่น เสียง หรือทางตาก็อย่างหนึ่ง ความหมายอย่างนั้นหรือเปล่า
ท่านอาจารย์ ไม่มีคำว่า คงที่ สภาพธรรมอย่างใดเกิดขึ้นมีลักษณะอย่างใดก็เปลี่ยนแปลงลักษณะของสภาพนั้นให้เป็นอย่างอื่นไม่ได้ นั่นเป็นวิเสสลักษณะของสภาพธรรมนั้น แต่สภาพธรรมใดก็ตามที่เกิดขึ้น สภาพธรรมนั้นก็ดับไป นี่เป็นสามัญลักษณะของสภาพธรรมนั้น
ก่อนที่การเจริญปัญญาจะสมบูรณ์ถึงขั้นที่เป็นวิปัสสนาญาณแต่ละขั้นได้ ชีวิตวันหนึ่งๆ ก็ผ่านไปตามกรรมและสภาพธรรมที่ปรุงแต่งให้สังขารธรรม คือ จิต เจตสิก รูปเกิดขึ้นเป็นไปโดยหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย
เพราะฉะนั้นถ้าทุกคนมีความมั่นคงในเรื่องของกรรม ในเรื่องของสภาพธรรมที่เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ชีวิตดำเนินไปในแต่ละวัน ซึ่งมีทั้งสุขบ้าง ทุกข์บ้าง บางครั้งก็ตื่นเต้นดีใจ บางครั้งก็เสียใจ ตกใจ สมหวัง ผิดหวัง มีทั้งเรื่องดีเรื่องร้าย มีทั้งเรื่องเกิด เรื่องแก่ เรื่องเจ็บ เรื่องตาย ก่อนที่ปัญญาแต่ละวันๆ จะเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นในลักษณะที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แต่เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย
เพราะฉะนั้นในวันหนึ่งๆ ไม่ว่าเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นเป็นไปอย่างไร สติปัฏฐานและปัญญาก็จะต้องระลึกศึกษารู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ เช่น ในขณะที่ได้ข่าวการสิ้นชีวิตอย่างกะทันหันของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐาน ขณะที่ได้ยินได้ฟังเรื่องสติปัฏฐาน สติปัฏฐานก็สามารถเกิดขึ้น ไม่ใช่เฉพาะในขณะที่ได้ยินได้ฟังเรื่องนั้น เพราะเหตุว่าเป็นผู้ที่มีปกติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ไม่ว่าจะได้ยินได้ฟังเรื่องหนึ่งเรื่องใดก็ตาม สติระลึกลักษณะของเสียงก็ได้ ระลึกลักษณะของเสียงขณะใด ขณะนั้นก็รู้สภาพที่ไม่ใช่นามธรรม เพราะเหตุว่ามีลักษณะของเสียงปรากฏเป็นเสียง ในขณะนี้เสียงที่กล่าวว่าเป็นรูปธรรม เพราะเหตุว่ามีลักษณะของเสียงปรากฏ นามธรรมเป็นสภาพรู้ ไม่ใช่เสียง เพราะฉะนั้นไม่มีลักษณะของเสียง ไม่มีลักษณะของกลิ่นในขณะที่นามธรรมเกิดขึ้น แต่ว่านามธรรมเป็นสภาพที่รู้เสียง
เพราะฉะนั้นในขณะนี้เอง มีเสียงซึ่งเป็นรูปธรรม เพราะฉะนั้นสติปัฏฐานเกิดระลึกรู้ลักษณะของเสียง ซึ่งเกิดปรากฏแล้วหมดไป สภาพของเสียงก็คือเท่านั้นเอง มีเหตุปัจจัยปรุงแต่งให้เสียงเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป และในขณะนั้นสติปัฏฐานจะระลึกลักษณะของได้ยิน ในขณะที่เสียงปรากฏต้องมีสภาพรู้เสียง มีลักษณะที่รู้เสียง ในขณะที่ระลึกลักษณะของได้ยิน ซึ่งเป็นอาการรู้ เป็นลักษณะรู้ ในขณะนั้นก็เป็นการระลึกถึงลักษณะของวิญญาณขันธ์
นี่แสดงให้เห็นว่า สติปัฏฐานจะระลึกลักษณะของขันธ์หนึ่งขันธ์ใดใน ๕ ขันธ์ ซึ่งชินหู คำว่า “รูปขันธ์” ก็ไม่ใช่อื่นไปจากในขณะที่เสียงปรากฏ แล้วสติระลึก ขณะที่ได้ยิน กำลังรู้เสียง ขณะนั้นกำลังระลึกลักษณะของได้ยิน ขณะนั้นก็เป็นวิญญาณขันธ์ ไม่ใช่เพียงแต่คล่องเรื่องชื่อ แต่จะต้องรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นขันธ์จริงๆ ในขณะที่สภาพธรรมนั้นปรากฏ และสำหรับวิญญาณขันธ์มีตั้งแต่เกิดจนตาย สภาพรู้ ธาตุรู้ อาการรู้ เมื่อเกิดขึ้นก็ต้องมีจิตซึ่งเป็นวิญญาณขันธ์ จนกระทั่งถึงขณะสุดท้ายที่จุติจิตเกิดแล้วดับไปสำหรับชาติหนึ่ง
เพราะฉะนั้นสภาพรู้ ธาตุรู้มีอยู่จนชิน ความชินทำให้ไม่รู้ว่า ในขณะที่กำลังเห็นในขณะนี้ ก็เป็นสภาพรู้ หรือในขณะที่เสียงกำลังปรากฏได้ยินในขณะนี้ ก็เป็นสภาพรู้นั่นเอง
เพราะฉะนั้นสติปัฏฐานจึงเป็นการระลึกถึงสภาพธรรมที่เป็นจริง มีจริง เป็นปกติในชีวิตประจำวัน จะกว่าปัญญาจะเจริญขึ้นเป็นวิปัสสนาญาณแต่ละขั้น
เพราะฉะนั้นเรื่องของรูปขันธ์ก็มีปรากฏให้สติระลึก เรื่องของวิญญาณขันธ์ก็มีปรากฏให้สติระลึกได้ในขณะที่อารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งปรากฏทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แต่ว่าถ้าไม่ระลึกรู้ลักษณะของเวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ก็ดับกิเลสไม่ได้
เพราะฉะนั้นสำหรับบางท่าน สติปัฏฐานก็ระลึกรู้ลักษณะของความรู้สึก ไม่ว่าในขณะนั้นจะเป็นการเห็นอะไร ได้ยินได้ฟังเรื่องอะไร จะสุข จะทุกข์ จะดีใจ จะเสียใจ ลักษณะของสภาพความรู้สึกในขณะนั้นเป็นอย่างไร สติปัฏฐานก็สามารถที่จะระลึกรู้ได้ว่า เป็นแต่เพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ความเสียใจก็เป็นสภาพความรู้สึกที่ไม่สบายใจอย่างหนึ่ง ตรงกันข้ามกับความดีใจ ซึ่งเป็นความรู้สึกสบายใจนั่นเอง
เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่า สติปัฏฐานจะระลึกลักษณะของความรู้สึกขณะใด ขณะนั้นก็เป็นเวทนาขันธ์นั่นเอง
สำหรับลักษณะของสัญญาขันธ์และสังขารขันธ์ ก็ต้องเป็นเรื่องที่ต้องระลึกต่อไปอีก คือจะหยุด จะไม่ระลึก เป็นไปไม่ได้ที่จะละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เพราะฉะนั้นก็ต้องรู้ว่า ในขณะที่จำเรื่องราวต่างๆ หรือสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ชั่วขณะที่จำได้ ขณะนั้นก็เป็นสัญญาขันธ์ หรือได้แก่สัญญาเจตสิกนั่นเอง
เคยระลึกบ้างไหม ความต่างกันของสัญญาขันธ์และสังขารขันธ์ เพราะเหตุว่าถ้าไม่ได้ฟังและไม่ได้กล่าวถึงสภาพธรรมในชีวิตประจำวันบ่อยๆ ก็ไม่มีเครื่องที่จะทำให้พิจารณาระลึกได้ในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเป็นขันธ์ ๕ ที่จะต้องแยกแม้ในขณะนี้ เพื่อที่สติจะได้ระลึกและศึกษาจนกระทั่งรู้ชัดขึ้น
สำหรับสัญญาเจตสิกซึ่งเป็นสัญญาขันธ์ เป็นสภาพจำ ที่จะเริ่มสังเกตรู้ลักษณะของสัญญาได้ว่าต่างกับสังขารขันธ์ แม้ว่านามขันธ์ทั้ง ๔ จะต้องเกิดร่วมกัน คือ ทั้งเวทนาขันธ์ก็ตาม สัญญาขันธ์ก็ตาม สังขารขันธ์ก็ตาม วิญญาณขันธ์ก็ตาม นามขันธ์ทั้ง ๔ ไม่แยกกันเลยในขณะนี้ แต่สติปัฏฐานก็จะต้องระลึกลักษณะของนามธรรมทั้ง ๔ เพื่อที่จะละคลายความเป็นตัวตน
เพราะฉะนั้นการที่จะรู้ว่าในขณะนี้เอง ลักษณะอย่างใดเป็นสัญญาเจตสิก เป็นสัญญาขันธ์ และลักษณะอย่างใดเป็นเจตสิกอื่นๆ ซึ่งเป็นสังขารขันธ์ ก็จะต้องเริ่มสังเกตรู้ลักษณะของสัญญาอย่างหยาบๆ ไปก่อน เช่น รู้ว่าขณะใดที่ไม่ลืม ขณะนั้นคือจำ
นี่กำลังมีสัญญาขันธ์ ขณะใดที่ไม่ลืม ขณะนั้นคือจำ ขณะนี้ทางตาที่รู้ว่า เห็นสิ่งใด ขณะนั้นคือจำ รู้ไหมว่า ขณะนี้เห็นอะไร ถ้ารู้ว่าเห็นอะไร ขณะนั้นคือจำ จึงรู้ว่าเห็นอะไร และขณะได้ยินเสียงเป็นเรื่องราวของบุคคลนั้นบุคคลนี้ ในขณะที่รู้เรื่องราวนั้น ในขณะนั้นก็คือจำ ถ้าไม่จำ จะรู้เรื่องได้ไหม เสียงผ่านไปทีละคำๆ ไม่เป็นเรื่องเลยถ้าจำไม่ได้ แต่นี่เพราะจำในขณะที่ได้ยินเสียงจึงได้รู้ว่า เรื่องอะไร
นี่คือลักษณะของสัญญาเจตสิกซึ่งเป็นสัญญาขันธ์
ขณะที่ได้กลิ่นและรู้ว่าเป็นกลิ่นอะไร ขณะนั้นก็คือจำ ขณะที่รู้นั้น คือ ขณะที่จำ ขณะที่ลิ้มรสและรู้ว่าเป็นรสอะไร วันนี้รับประทานอาหารอะไรบ้างคะ วันนี้รับประทานผลไม้อะไรบ้าง ที่ตอบว่า รับประทานมะม่วง หรือรับประทานองุ่น หรือรับประทานเงาะ นั่นก็คือขณะนั้นจำรสที่ปรากฏ ถ้าไม่จำ จะไม่รู้เลยว่าขณะนั้นเป็นรสอะไร
เพราะฉะนั้นในขณะใดที่จำ ต่อไปนี้ก็ระลึกได้เลยว่า ขณะที่จำนี่เองเป็นสัญญาขันธ์ หรือสัญญาเจตสิก ขณะที่กระทบสัมผัสแล้วรู้ว่า กระทบสัมผัสอะไร ขณะนั้นก็จำเหมือนกัน เช่นกระทบสัมผัสก็รู้แล้วว่า สัมผัสอะไร ทั้งๆ ที่แข็ง แต่ที่จำลักษณะที่แข็ง เป็นสัญญาอย่างหนึ่งอย่างใด คือ รู้ว่ากระทบสัมผัสอะไร ขณะนั้นก็เป็นสัญญาเจตสิกที่เป็นสัญญาขันธ์นั่นเอง
นี่เป็นสิ่งที่สติจะต้องระลึกเพื่อเห็นว่าไม่ใช่เรา ในขณะที่จำ ส่วนสังขารขันธ์ก็คือ สภาพธรรมที่ปรุงแต่งหลังจากที่จำรู้ว่าเป็นอะไร ขณะนี้เห็นแมวตัวหนึ่ง เป็นสัญญาหรือเปล่าที่รู้ว่าเป็นแมว เป็น รู้สึกอย่างไรกับแมวตัวนั้น สวย ชอบ น่ารัก นั่นคือสังขารขันธ์ แต่บางคนไม่ชอบแมว สังขารขันธ์ก็ปรุงแต่งให้ไม่น่ารัก หรือว่าน่ารังเกียจก็แล้วแต่ แมวตัวนั้นก็อาจจะผอมหรือพิกลพิการต่างๆ เพราะฉะนั้นเมื่อเห็นแล้วจำว่าเป็นสิ่งใด แต่สังขารขันธ์ปรุงแต่งเป็นความชอบ ความไม่ชอบ เป็นความรัก เป็นความชัง เป็นความเมตตา หรือเป็นความกรุณา เป็นความอาฆาตพยาบาท เป็นความคิดดีหรือคิดร้ายในสิ่งที่ปรากฏ ซึ่งสัญญากำลังจำ
นี่คือความต่างกันของสัญญาขันธ์และสังขารขันธ์ ซึ่งก็เป็นชีวิตประจำวัน ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด ปัญญาไม่พิจารณาลักษณะสภาพธรรมแต่ละอย่าง ก็ไม่มีทางที่จะละคลายการยึดถือสภาพธรรมในขณะที่จำ ในขณะที่ปรุงแต่งเป็นรักบ้าง ชังบ้าง คิดดี คิดร้ายบ้างว่า แท้ที่จริงแล้วไม่ใช่ตัวตน เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่างนั่นเอง
ในชีวิตประจำวันของยุคนี้สมัยนี้ ทุกคนก็ดูโทรทัศน์ เวลาที่ดูโทรทัศน์จำ ใครในโทรทัศน์ นั่นคือสัญญาขันธ์ รู้เรื่องเพราะว่ามีทั้งภาพมีทั้งเสียง ชอบหรือไม่ชอบในขณะนั้น มีความห่วงใยกังวลตื่นเต้นตกใจอะไรบ้างจากเห็นและได้ยินเรื่องราวในโทรทัศน์ นั่นคือสังขารขันธ์กำลังปรุงแต่งพร้อมกับสัญญาที่กำลังจำ ซึ่งจะต้องแยกสังเกตรู้จนกว่าจะละการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตน
นั่นคือช่วงเวลาพักผ่อนยามว่างขณะที่ดูโทรทัศน์ นอกจากนั้นขณะที่ทำธุรกิจการงานต่างๆ ซึ่งก็เป็นเรื่องของสัญญา จำทั้งนั้น ตั้งแต่จำว่าไปไหน นั่งที่ไหน โต๊ะไหน พูดกับใคร เรื่องอะไร ปากกา ดินสอ สมุดอยู่ที่ไหน โทรศัพท์ วันนี้มีแขกมากยุ่งมาก เรื่องมาก ติดต่อมาก ต้องเดินทาง ต้องคิดตัวเลข หรืออะไรต่างๆ ทั้งหมด ขณะที่จำก็คือเห็นแล้วรู้ แล้วสังขารขันธ์ก็ปรุงแต่งเป็นเรื่องราวเป็นความคิดตามธุรกิจการงานของแต่ละคน
นี่คือชีวิตในวันหนึ่งๆ ซึ่งทุกขณะก็จะไม่พ้นจากขันธ์ ๕ ตั้งแต่เกิดจนตาย ซึ่งกว่าปัญญาจะค่อยๆ เจริญขึ้น แล้วสังเกตพิจารณารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนนี่ ทุกคนก็จะเห็นได้ว่า ชีวิตชาติหนึ่งๆ มากหรือน้อยสำหรับการที่จะอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมเพิ่มขึ้น เพราะว่าวันหนึ่งๆ ก็เต็มไปด้วยความวุ่นวายของธุรกิจการงานต่างๆ และก็ยังการรื่นเริง การขวนขวาย เพลิดเพลินพักผ่อนต่างๆ การที่จะสนุกสนานโดยวิธีฟังเพลงบ้าง หรือวาดภาพต่างๆ บ้าง หรือซื้อของบ้าง ปรุงอาหารบ้าง ปลูกต้นไม้บ้าง ในวันหนึ่งๆ
เพราะฉะนั้นชีวิตของชาติหนึ่งซึ่งปัญญาจะเจริญขึ้น ที่จะอบรมเจริญความเห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมจะมากหรือจะน้อย เพราะว่าบางชีวิตก็สั้นมาก บางชีวิตก็อาจจะยืนยาวพอสมควร แต่ก็เป็นชีวิตที่ไร้สาระ เพราะเหตุว่าไม่ได้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ
เพราะฉะนั้นแต่ละคนก็จะต้องจากโลกนี้ไป หมดสภาพความเป็นบุคคลนี้ แล้วก็สะสมกุศลบ้าง อกุศลบ้าง มากน้อยต่างๆ กันไป แต่ว่าสิ่งที่แน่นอนที่สุด ก็คือต้องจากเหตุการณ์และเรื่องราวต่างๆ ของโลกนี้โดยสิ้นเชิงในวันหนึ่ง
เพราะฉะนั้นสิ่งที่ควรจะติดตัวไป ก็ควรจะเป็นการเจริญกุศล และการเข้าใจสภาพธรรมเพิ่มขึ้นโดยการฟัง การพิจารณา และการอบรมเจริญสติปัฏฐาน
บางท่านก็สะสมสมบัติไว้มากมาย เช่น มีความพอใจที่จะสะสมภาพเขียนต่างๆ แต่ว่ารูปทั้งหลายไม่ใช่สภาพรู้ รูปทั้งหลายไม่มีใครเป็นเจ้าของ ไม่ว่าผู้เป็นเจ้าของจะมีความหวงแหนรักษาสมบัตินั้นเพียงใด แต่รูปธรรมเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปๆ ๆ ไม่มีใครเป็นเจ้าของ แม้ว่าใครจะคิดว่าเป็นเจ้าของสมบัติสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตาม แต่ว่าตามความเป็นจริงแล้ว รูปก็เกิดดับ แม้ว่าเจ้าของจะจากไปหรือไม่จากไป รูปก็เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปๆ โดยที่ว่าใครจะหลงคิดว่า เป็นเจ้าของรูปหนึ่งรูปใด ก็เป็นแต่เพียงการยึดถือ โดยที่ว่าไม่ว่าจะเป็นรูปภายนอก เช่นสมบัติต่างๆ หรือรูปร่างกายซึ่งทุกคนยึดครองว่าเป็นของเรา รูปก็ไม่ใช่สภาพรู้ รูปเพียงเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไปเท่านั้นเอง
สิ่งที่เคยยึดถือว่าเป็นเรา หรือเป็นเขา ในที่สุดก็ต้องถึงกาลที่จะต้องแตกสลาย แล้วก็กลายสภาพเป็นกองกระดูกหรือเถ้าถ่าน
- โสภณธรรม ครั้งที่ 101
- โสภณธรรม ครั้งที่ 102
- โสภณธรรม ครั้งที่ 103
- โสภณธรรม ครั้งที่ 104
- โสภณธรรม ครั้งที่ 105
- โสภณธรรม ครั้งที่ 106
- โสภณธรรม ครั้งที่ 107
- โสภณธรรม ครั้งที่ 108
- โสภณธรรม ครั้งที่ 109
- โสภณธรรม ครั้งที่ 110
- โสภณธรรม ครั้งที่ 111
- โสภณธรรม ครั้งที่ 112
- โสภณธรรม ครั้งที่ 113
- โสภณธรรม ครั้งที่ 114
- โสภณธรรม ครั้งที่ 115
- โสภณธรรม ครั้งที่ 116
- โสภณธรรม ครั้งที่ 117
- โสภณธรรม ครั้งที่ 118
- โสภณธรรม ครั้งที่ 119
- โสภณธรรม ครั้งที่ 120
- โสภณธรรม ครั้งที่ 121
- โสภณธรรม ครั้งที่ 122
- โสภณธรรม ครั้งที่ 123
- โสภณธรรม ครั้งที่ 124
- โสภณธรรม ครั้งที่ 125
- โสภณธรรม ครั้งที่ 126
- โสภณธรรม ครั้งที่ 127
- โสภณธรรม ครั้งที่ 128
- โสภณธรรม ครั้งที่ 129
- โสภณธรรม ครั้งที่ 130
- โสภณธรรม ครั้งที่ 131
- โสภณธรรม ครั้งที่ 132
- โสภณธรรม ครั้งที่ 133
- โสภณธรรม ครั้งที่ 134
- โสภณธรรม ครั้งที่ 135
- โสภณธรรม ครั้งที่ 136
- โสภณธรรม ครั้งที่ 137
- โสภณธรรม ครั้งที่ 138
- โสภณธรรม ครั้งที่ 139
- โสภณธรรม ครั้งที่ 140
- โสภณธรรม ครั้งที่ 141
- โสภณธรรม ครั้งที่ 142
- โสภณธรรม ครั้งที่ 143
- โสภณธรรม ครั้งที่ 144
- โสภณธรรม ครั้งที่ 145
- โสภณธรรม ครั้งที่ 146
- โสภณธรรม ครั้งที่ 147
- โสภณธรรม ครั้งที่ 148
- โสภณธรรม ครั้งที่ 149
- โสภณธรรม ครั้งที่ 150
- โสภณธรรม ครั้งที่ 151
- โสภณธรรม ครั้งที่ 152
- โสภณธรรม ครั้งที่ 153
- โสภณธรรม ครั้งที่ 154
- โสภณธรรม ครั้งที่ 155
- โสภณธรรม ครั้งที่ 156
- โสภณธรรม ครั้งที่ 157
- โสภณธรรม ครั้งที่ 158
- โสภณธรรม ครั้งที่ 159
- โสภณธรรม ครั้งที่ 160