โสภณธรรม ครั้งที่ 114


    ตอนที่ ๑๑๔

    สิ่งที่เคยยึดถือว่าเป็นเรา หรือเป็นเขา ในที่สุดก็ต้องถึงกาลที่จะต้องแตกสลาย แล้วก็กลายสภาพเป็นกองกระดูกหรือเถ้าถ่าน ซึ่งเป็นความจริงที่ทุกคนประสบอยู่ แต่สำหรับผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ ก็ควรที่จะได้สติจากการตายซึ่งท่านได้รับทราบเวลาที่เมื่อมีการสิ้นชีวิตของบุคคลหนึ่งบุคคลใด ควรพิจารณาจิตในขณะนั้นว่า ในขณะที่กำลังได้ทราบข่าว ได้ทราบข่าวนั้น จิตเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล

    ให้ทุกอย่างเป็นเรื่องของสติปัญญาที่จะระลึกได้ ในขณะนั้นถ้าสติเกิด ก็จะรู้ว่าโยนิโสมนสิการนั้นคืออย่างไร และอโยนิโสมนสิการนั้นคืออย่างไร แต่ถ้าสติไม่เกิด ไม่สามารถที่จะรู้ได้เลย

    เวลาที่ได้ข่าวคนสิ้นชีวิต ทุกคนก็คงจะบางครั้งตกใจ ไม่คาดฝัน บางครั้งก็รำพัน หรือเป็นทุกข์เศร้าหมอง หม่นหมอง ขณะนั้นอโยนิโสมนสิการ เป็นอกุศล ไม่เป็นประโยชน์เลย

    เพราะฉะนั้นถ้าสติเกิดระลึกได้ในขณะนั้น ก็รู้ว่าเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ความโศกเศร้า ความอาลัยอาวรณ์ ความเสียใจ ไม่มีประโยชน์อย่างใดทั้งสิ้น แต่ที่ควรจะเป็น คือ ควรที่จะเบิกบานใจที่มีโอกาสเข้าใจพระธรรม และได้เห็นว่าพระธรรมที่ทรงแสดงนั้นเป็นสัจจธรรม แทนที่จะเศร้าโศกเสียใจก็ควรที่จะได้รับประโยชน์จากทุกสิ่งทุกอย่างที่ไม่เที่ยง และเป็นอนัตตา

    สำหรับการฟังพระธรรมจะมีประโยชน์มาก เมื่อน้อมนำพระธรรมนั้นพิจารณาจิตใจของตนเอง เช่น ถ้าได้ข่าวการสิ้นชีวิตของใครก็ตาม ย้อนระลึกถึงตนเองนอกจากบุคคลนั้น เพราะเหตุว่าผู้ตายอาจจะเป็นผู้มีโลภะมาก ชอบภาพเขียน ชอบดนตรี ชอบสิ่งสวยงาม ชอบความเพลิดเพลินต่างๆ แล้วตัวของท่านเหมือนอย่างนั้นหรือเปล่า

    เพราะฉะนั้นสำหรับผู้ที่มีโลภะมาก มีความติดข้องในทรัพย์สมบัติ ก็ควรที่จะได้รู้ว่า แท้ที่จริงแล้วสิ่งต่างๆ ปรากฏทางตา จึงเกิดความยินดีพอใจชั่วในขณะที่เห็น เวลาที่ปรากฏทางหู เป็นเสียงที่ไพเราะ ก็ทำให้เกิดความยินดีพอใจชั่วขณะที่ได้ยินเสียงนั้น หรือว่ากลิ่นหอมๆ ที่ปรากฏ ก็ทำให้เกิดความพอใจเพียงชั่วขณะที่สั้นมาก คือชั่วขณะที่กลิ่นนั้นปรากฏ แม้รส แม้สัมผัสก็เช่นเดียวกัน

    เพราะฉะนั้นวันหนึ่งๆ จะเห็นได้ว่า แม้ว่ารูปจะเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปเร็วมาก เร็วสักเท่าไรก็ตาม ความพอใจก็ยังติดตามรูปที่ปรากฏนั้นเร็วอย่างนั้น จนกว่าปัญญาจะเจริญขึ้น และสำหรับผู้ที่มากด้วยโทสะ ซึ่งแต่ละท่านก็จะต้องพิจารณาตนเองว่า เป็นผู้ที่มักโกรธขุ่นเคือง เดือดร้อนใจบ่อยๆ หรือว่าผูกโกรธใครไว้บ้าง ก็จะได้พิจารณาตามความเป็นจริง แท้ที่จริงก็หามีบุคคลนั้นไม่ จะมีบุคคลนั้นก็เพียงชั่วชาติเดียวที่ท่านพบเท่านั้นเอง หลังจากนั้นแล้วจะไม่มีอีกเลย

    เพราะฉะนั้นจะโกรธหลังจากที่บุคคลนั้นสิ้นชีวิตไปแล้ว ควรหรือไม่ควร ในเมื่อไม่มีบุคคลนั้นอีก ตราบใดที่ยังมีบุคคลนั้นให้เห็น ก็อาจจะทำให้ท่านนึกโกรธหรือผูกโกรธ แต่ถ้าคิดได้ว่า บุคคลนั้นจะอยู่ในโลกนี้ไม่นาน และก็จะจากไปโดยสิ้นเชิง จะไม่มีบุคคลนั้นอีกเลย ควรจะโกรธบุคคลนั้นเมื่อสิ้นชีวิตแล้วหรือไม่ ถ้าไม่ควร แม้ในขณะนี้เอง ก็เป็นชั่วขณะที่นามธรรมและรูปธรรมเกิดดับเท่านั้น ไม่นานเลย เพราะฉะนั้นถ้าใครเป็นคนที่มักจะขุ่นเคืองใจ ไม่พอใจบุคคลอื่นๆ ง่ายๆ หรือว่าไม่ลืมความโกรธ ความขุ่นเคืองใจนั้น ก็ควรที่จะระลึกรู้ความจริงว่า พบกันเพียงชาตินี้ชาติเดียวจริงๆ แล้วก็จะไม่พบกันอีกเลย

    เพราะฉะนั้นก็ควรจะดีต่อกัน มีเมตตากัน หรือว่าควรจะโกรธกัน เพราะเหตุว่าการเห็นกันครั้งหนึ่งๆ ไม่มีใครสามารถรู้ได้ว่า เป็นการเห็นกันครั้งสุดท้ายหรือไม่ เพราะถ้าไม่คิดว่าเป็นการเห็นกันครั้งสุดท้าย ก็อาจจะไม่ทำดีกับบุคคลนั้น แต่ถ้ารู้ว่านี่เป็นโอกาสสุดท้ายที่จะได้เห็นกัน ก็อาจจะทำให้จิตใจอ่อนโยน แล้วก็มีความเมตตากรุณาต่อกันได้

    ถ้าท่านเป็นผู้ที่มากด้วยโมหะ ซึ่งก่อนที่จะได้ศึกษาพระธรรม ทุกคนก็ไม่ได้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจเลย เมื่อได้ศึกษาพระธรรมแล้วก็จะรู้ว่า มีสภาพธรรมที่ปรากฏที่จะต้องศึกษา ไม่ใช่เพียงศึกษาจากตำราหรือการรับฟังเท่านั้น แต่ขณะนี้เองมีสภาพธรรมที่ปรากฏที่ควรต้องประจักษ์แจ้งในสัจจธรรม ลักษณะที่แท้จริงของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นและดับไป ถ้ารู้อย่างนี้ก็ยังเป็นเครื่องเตือนให้รู้ว่า ควรที่จะฟังและพิจารณาธรรมเพื่อที่จะเป็นสังขารขันธ์ให้สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนี้ โดยที่จะไม่ละเลย หรือจะสนุกสนานต่อไปโดยที่ไม่ขวนขวายในการเจริญกุศล

    เพราะฉะนั้นถ้าทราบว่า เป็นผู้ที่ยังมีโมหะมากที่จะต้องขัดเกลา ก็จะทำให้ไม่ละเลยในการฟังพระธรรม และไม่ละเลยการเจริญกุศลทุกประการด้วย เพราะเหตุว่าความประมาทย่อมพลิกชีวิตจากความเจริญไปสู่ความเสื่อมได้ จากการเป็นมนุษย์ในชาตินี้ จะไปสู่ความเป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์ดิรัจฉาน เป็นสัตว์ในนรก อาจจะเป็นพรุ่งนี้หรือเย็นนี้ก็ย่อมได้ทั้งสิ้น ถ้ารู้อย่างนี้ก็จะทำให้เป็นผู้ที่ไม่ประมาท

    ข้อความในอรรถกถา ขุททกนิกาย เปตวัตถุ อุรควรรคที่ ๑ อรรถกถาเขตตูปมเปตวัตถุที่ ๑ มีข้อความว่า

    ครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคประทับที่พระวิหารเวฬุวัน ใกล้กรุงราชคฤห์ ทรงปรารภเปรตบุตรเศรษฐีคนหนึ่ง จึงตรัสเรื่องนั้นดังต่อไปนี้

    น่าพิจารณา เป็นบุตรเศรษฐีในชาตินี้ และก็เพียงระยะที่สั้นที่สุด ที่เร็วยิ่งกว่ากระพริบตาก็เป็นเปรตได้

    ได้ยินว่าในกรุงราชคฤห์ ได้มีเศรษฐีคนหนึ่งเป็นคนมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคมาก มีเครื่องอุปกรณ์แห่งทรัพย์ที่น่าปลื้มใจอย่างมากมาย สั่งสมทรัพย์ไว้เป็นจำนวนหลายโกฏิ

    แต่ละคนในชาติหนึ่งๆ ทั้งที่ผ่านไปแล้ว ที่เคยเป็นอย่างนี้ หรือว่าจะเป็นอย่างนี้ในชาติหน้าก็ได้ ผู้ที่มีโภคมาก มีทรัพย์มาก จะเห็นได้ว่ามีอุปกรณ์แห่งทรัพย์ที่น่าปลื้มใจมากมาย ถ้าเข้าไปในพระราชวังสักแห่งหนึ่ง ก็ย่อมจะมองเห็นสมบัติเครื่องปลื้มใจ อุปกรณ์ต่างๆ ที่น่าดูน่าชมมาก หรือแม้แต่ในบ้านของเศรษฐีทั้งหลาย

    เศรษฐีนั้นมีบุตรคนเดียว น่ารักน่าชอบใจ เมื่อบุตรนั้นรู้เดียงสา มารดาบิดาก็คิดว่า แม้ว่าบุตรของเราจะจ่ายทรัพย์ให้สิ้นเปลืองไปวันละหนึ่งพันทุกวัน แม้ถึงร้อยปี ทรัพย์ที่สั่งสมไว้นี้ก็ไม่หมดสิ้นไป

    ในสมัยโน้นเพียงพันเดียว แต่สมัยนี้ก็เพิ่มขึ้นไปอีกตามสภาพของเหตุการณ์ บางท่านแม้ว่าจะใช้ทรัพย์ถึง ๑๐๐ ปี ทรัพย์นั้นก็ไม่หมดสิ้นไป

    เพราะฉะนั้นจะประโยชน์อะไรด้วยการที่จะให้บุตรนี้ลำบากในการศึกษาวิชาการต่างๆ ขอให้บุตรนี้จงไม่ลำบากกายและจิตบริโภคโภคสมบัติตามสบายเถิด

    นี่ก็เป็นความเห็นของมารดาบิดาซึ่งไม่ให้บุตรศึกษาศิลปวิทยาใดๆ เลย

    เมื่อบุตรนั้นเจริญวัยแล้ว มารดาบิดาได้นำหญิงสาวแรกรุ่นผู้สมบูรณ์ด้วยสกุลรูปร่างความเป็นสาวและความงาม ผู้เอิบอิ่มด้วยกามคุณบ่ายหน้าออกจากธรรมสัญญา

    นี่จะเห็นได้ว่า ชีวิตของแต่ละคนแม้ว่าจะเป็นญาติสนิทมิตรสหายที่ไม่สนใจในพระธรรมเลย ยังคงเพลิดเพลินในเรื่องของโลก เวลาที่ชักชวนในเรื่องฟังธรรม ก็ไม่สนใจ จะเห็นได้ว่า เป็นผู้บ่ายหน้าออกจากธรรมสัญญา แม้ว่าในอดีตชาติโน้นๆ อาจจะเคยได้ฟังพระธรรมมาบ้าง แต่ว่าชาติใดก็ตามที่ไม่สนใจ และก็ยังหลงอยู่ในความเพลิดเพลิน ชาตินั้นก็บ่ายหน้าออกจากธรรมสัญญา

    เขาอภิรมย์อยู่กับหญิงสาวนั้น ไม่ให้เกิดแม้ความคิดถึงธรรม ไม่มีความเอื้อเฟื้อในสมณพราหมณ์และคนที่ควรเคารพ ห้อมล้อมด้วยพวกนักเลง กำหนัดยินดีติดอยู่ในกามคุณ ๕ เป็นผู้มืดมนไปด้วยโมหะ ให้เวลาผ่านไป เมื่อมารดาบิดาถึงแก่กรรมลง เขาก็ให้สิ่งที่น่าปรารถนาแก่พวกนักรำ นักร้องเป็นต้น ผลาญทรัพย์ให้หมดสิ้นไป ไม่นานเท่าไรนักก็สิ้นเนื้อประดาตัว เที่ยวขอยืมเงินเลี้ยงชีพ เมื่อยืมหนี้ไม่ได้อีก และถูกเจ้าหนี้ทวงถามก็ต้องให้ที่นา ที่สวน และเรือนเป็นต้นของตนแก่พวกเจ้าหนี้เหล่านั้น แล้วก็ถือกระเบื้องเที่ยวขอทานกิน พักอยู่ที่ศาลาคนอนาถาในพระนครนั้นนั่นแล

    ก็คงจะมีเศรษฐีหลายคนที่ต้องเปลี่ยนสภาพเป็นผู้ที่ยากไร้ถึงกับเป็นผู้ขอทาน แต่ว่าชีวิตของคนหนึ่งที่กรรมยังไม่เป็นปัจจัยให้จบสิ้นชีวิตนั้นลง ก็ยังมีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อไปอีก คือ

    อยู่มาวันหนึ่งพวกโจรมาประชุมกัน และได้ชักชวนเขาว่า จะมีประโยชน์อะไรด้วยการเป็นอยู่ลำบากอย่างนี้ ท่านยังเป็นหนุ่มมีเรี่ยวแรงกำลังสมบูรณ์ เหตุไฉนจึงอยู่เหมือนคนที่มือเท้าพิกลพิการ มีร่วมกับพวกเราเที่ยวปล้นทรัพย์ของชาวบ้าน และจะได้อยู่สบายๆ

    ซึ่งชายคนนั้นก็กล่าวว่า เขาไม่รู้วิธีโจรกรรม พวกโจรก็บอกว่าจะสอนให้ แล้วไม่ต้องทำอะไร เพียงแต่ทำตามคำของพวกโจรอย่างเดียวเท่านั้น ซึ่งชายนั้นก็รับคำแล้วก็ได้ไปกับพวกโจรเหล่านั้น พวกโจรนั้นเมื่อไปทำโจรกรรมก็ได้ใช้ให้เขายืนถือค้อนใหญ่ตรงปากช่องทาง แล้วก็สอนว่า ถ้ามีคนมาทางนี้ก็ให้เอาค้อนทุบให้ตาย แต่ชายคนนั้นก็เป็นคนที่บอดเขลา ไม่รู้ว่าอะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ เมื่อสั่งอย่างไรก็ทำอย่างนั้น เขาก็ได้แต่ยืนดูทางที่ตรงปากทางนั้นอย่างเดียว

    เมื่อพวกโจรเข้าไปทำโจรกรรมในเรือนนั้นแล้ว ก็ถือเอาสิ่งของที่ควรจะถือเอาไปด้วย เมื่อพวกคนในเรือนรู้ตัว พวกโจรก็พากันหนีไปคนละทิศคนละทาง ซึ่งคนในเรือนนั้นก็พากันวิ่งตามจับ เมื่อเห็นชายคนนั้นยืนตรงช่องประตูก็ช่วยกันจับไว้ และได้นำไปกราบทูลพระราชาว่า จับโจรคนนี้ได้ที่ปากทางประตู

    พระราชาทรงมีพระบัญชาให้ผู้รักษาพระนครลงโทษตัดศีรษะเขา ผู้รักษาพระนครรับสนองพระบรมราชโองการแล้ว ก็ให้จับชายคนนั้นมัดไพล่หลังอย่างมั่นคง และคล้องพวกมาลัยสีแดงห่างๆ ศีรษะของเขาก็เปรอะเปื้อนด้วยฝุ่น ผู้รักษาพระนครให้ตีกลองพาเขาประจานโทษ จากทางรถบรรจบทางรถ จากทางสี่แพร่งบรรจบทางสี่แพร่ง แล้วให้เฆี่ยนด้วยหวาย แล้วก็ได้นำตัวไปสู่ที่ประหารชีวิต ประชาชนก็พากันแตกตื่นมาดู

    สมัยนั้นในพระนครนั้นมีหญิงงามเมืองคนหนึ่ง ชื่อ สุลสา ยืนอยู่ที่ปราสาทมองออกไปทางช่องทางต่างก็เห็นชายคนนั้นถูกนำตัวไปยังที่ประหารชีวิต เธอเคยถูกชายผู้นั้นบำเรอมาในกาลก่อน ก็เกิดความสงสารว่า ชายคนนี้เคยเสวยสมบัติเป็นอันมากในพระนครนี้เอง บัดนี้ถึงความพินาศวอดวายถึงเพียงนี้ ก็เลยส่งขนมต้ม ๔ ลูกและน้ำดื่มไปให้ และได้แจ้งให้ผู้รักษาพระนครทราบว่า ขอให้เขากินขนมและดื่มน้ำเสียก่อน แล้วจึงประหารชีวิต

    ขณะนั้นท่านพระมหาโมคคัลลานะได้ตรวจดูด้วยทิพยจักษุ เห็นชายคนนั้นจะถูกประหารชีวิต ท่านจึงคิดด้วยความกรุณาว่า ชายคนนี้ไม่เคยทำบุญ ทำแต่บาป เพราะฉะนั้นเขาจะเกิดในนรก แต่เมื่อท่านไปและเขาถวายขนมต้มและน้ำดื่มแก่ท่าน เขาก็จะเกิดเป็นภุมมเทวดา ดังนั้นท่านก็ได้ไปปรากฏข้างหน้าของชายผู้นั้น ในขณะที่มีคนนำน้ำดื่มและขนมต้มเข้าไปให้เขา

    เมื่อเขาเห็นท่านพระมหาโมคคัลลานะก็มีจิตเลื่อมใสคิดว่า เราเมื่อจะถูกคนเหล่านี้ฆ่าในบัดนี้เอง จะมีประโยชน์อะไรที่จะบริโภคขนมต้มนี้ ก็ผลทานนี้จะเป็นเสบียงไปสู่ปรโลก ดังนั้นเขาจึงได้ถวายขนมต้มและน้ำดื่มแก่พระเถระ และเพื่อที่จะเจริญความเลื่อมใสของชายผู้นั้น เมื่อชายผู้นั้นกำลังดูอยู่นั่นเอง ท่านพระเถระก็ได้นั่งในที่นั้นฉันขนมต้มและน้ำดื่มแล้ว ลุกจากอาสนะหลีกไป และชายผู้นั้นก็ถูกเพชฌฆาตตัดศีรษะ

    ด้วยบุญที่เขาทำไว้ท่านพระมหาโมคคัลลานะผู้เป็นบุญเขตอย่างยอดเยี่ยม แม้ว่าเขาควรจะเกิดในเทวโลกชั้นเยี่ยม แต่ว่าเพราะเหตุที่เขามีจิตเศร้าหมองในเวลาใกล้จะตาย เพราะคิดถึงด้วยความผูกพันในนางสุลสาซึ่งเป็นผู้ที่ให้เขาได้มีโอกาสถวายไทยธรรม เขาก็เกิดเป็นรุกขเทวดาที่ต้นไทรใหญ่มีร่มเงาอันสนิทที่เกิดแทบภูเขา

    อาจารย์บางพวกกล่าวว่า ได้ยินว่า ถ้าในปฐมวัยเขาจะได้ขวนขวายในการดำรงวงศ์ตระกูลไซร้ เขาจะเป็นผู้เลิศกว่าเศรษฐีทั้งหลายในพระนครนี้เอง ถ้าขวนขวายในมัชฌิมวัย เขาจะเป็นเศรษฐีวัยกลางคน ถ้าขวนขวายในปัจฉิมวัย เขาก็จะเป็นเศรษฐีในวัยสุดท้าย แต่ถ้าในปฐมวัยเขาจักได้บวชไซร้ เขาก็จะได้เป็นพระอรหันต์ ถ้าบวชในมัชฌิมวัย เขาก็จะได้เป็นพระสกทาคามีหรือพระอนาคามี ถ้าบวชในปัจฉิมวัย เขาก็จะได้เป็นพระโสดาบัน แต่เพราะเขาคลุกคลีด้วยปาปมิตร เขาจึงเป็นนักเลงหญิง นักเลงสุรา ยินดีแต่ในทุจริต เป็นคนไม่เอื้อเฟื้อ เสื่อมจากสมบัติทั้งปวง ถึงความย่อยยับอย่างใหญ่หลวงโดยลำดับ

    นี่ก็เป็นผู้ที่ประมาทในชีวิต ในการเจริญกุศล เพราะฉะนั้นความประมาทนั้นเองก็พลิกชีวิตจากการเป็นเศรษฐี หรือจากการเป็นพระอริยเจ้าสู่ความเป็นรุกขเทวดาหลังจากที่สิ้นชีวิตแล้ว

    นิภัทร ผมได้ฟังเรื่องของบุตรเศรษฐีแล้วก็โล่งใจหน่อย เพราะว่าถูกตัดคอแล้วก็ยังไปเกิดเป็นรุกขเทวดา แต่ได้ฟังบรรยายออกอากาศทางสถานีวิทยุว่า อัครมเหสีของพระเจ้าอัสสกะ ชื่อ อุพรี ตายแล้วไปเกิดเป็นหนอน อันนี้น่าอนาถจริงๆ กระผมคิดแล้วว่าชีวิตเราไม่มีอะไรเป็นหลักประกัน ตายแล้วไม่ทราบจะไปเกิดเป็นอะไร เกิดเป็นเทวดา เป็นมนุษย์ เป็นเทวดาถึงจะชั้นต่ำก็ยังดี ก็ยังมีโอกาสที่จะได้บำเพ็ญกุศลได้บ้าง แต่ถ้าเกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉาน โอกาสที่จะได้บำเพ็ญกุศลไม่มีเลย

    และที่อาจารย์พูดถึงเรื่องการศึกษาธรรม อย่างหนังสือที่ออกมาเล่มใหญ่ ก็ให้ค่อยๆ อ่าน ค่อยๆ พิจารณาไป เพื่อจะทำความเข้าใจให้ถูกต้องแน่ชัดจริงๆ กระผมก็มานึกถึงตัวเองว่า อ่านหนังสือธรรมก็อ่านมาพอสมควร แต่ยังไม่ค่อยเกื้อกูลแก่การปฏิบัติของตัวเองเท่าไร เพราะว่าอ่านชีวิตตัวเองไม่ค่อยจะออก คือยังเข้าใจว่า ธรรมอยู่ในหนังสืออยู่เรื่อย นึกว่าธรรมยังอยู่ในพระไตรปิฎกอยู่เรื่อย นึกว่าธรรมยังอยู่ในคำบรรยายของอาจารย์ หรืออยู่ในเทปที่ฟังอยู่เรื่อย ไม่ได้นึกว่าธรรม คือ ชีวิตประจำวันของเราแต่ละขณะนี่เอง

    บางทีความโลภเกิดขึ้นก็ดี ความโกรธเกิดขึ้นก็ดี เราก็ปล่อยให้มันผ่านไป โดยที่ไม่ได้พิจารณา แล้วจะทำอย่างไรการศึกษาธรรมจึงจะเป็นประโยชน์เกื้อกูลที่จะให้มีสติระลึกได้ในชีวิตประจำวันบ้าง

    ท่านอาจารย์ นี่ก็แสดงให้เห็นว่า อกุศลที่สะสมมาเนิ่นนานในสังสารวัฏฏ์มีกำลัง เพราะฉะนั้นการที่สติและปัญญาจะค่อยๆ เจริญขึ้นจนกว่าจะมีกำลังที่จะดับกิเลสนั้นได้ ก็จะต้องอาศัยวิริยะ ความพากเพียร ความอดทน ซึ่งไม่ใช่ชาตินี้ชาติเดียว เพราะเหตุว่าชาตินี้ชาติเดียว ก็เห็นกำลังของอกุศลแล้ว ทั้งๆ ที่ได้ยิน ได้ฟัง ได้ศึกษาก็เหมือนกับยังอยู่ในตำราจนกว่าสิ่งที่ได้ทรงแสดงไว้นั้น คือ สิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้เอง ไม่ว่าจะอธิบายเรื่องของขันธ์ เรื่องของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ โลภะ โทสะ โมหะ ก็ไม่พ้นจากชีวิตประจำวันเลย

    เพราะฉะนั้นก็ศึกษาธรรมโดยสติระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏว่าตรงตามที่ได้ฟังหรือเปล่า เช่น ทางตาขณะนี้เป็นสภาพรู้จริงๆ

    นิภัทร และขณะที่ความโกรธเกิดขึ้นก็ดี หรือความพอใจ ความโลภเกิดขึ้นก็ดี แล้วเราไม่ได้รู้ว่าเป็นธรรม เราหลงลืมไปอย่างนี้ ถือว่าเราขาดความเพียรหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ความเพียรในที่นี้ ไม่ได้หมายความว่ามีตัวเราที่จะเพียร ขณะใดที่มีตัวเราที่จะเพียร ขณะนั้นไม่ใช่สัมมามรรค ไม่ใช่มรรคมีองค์ ๘ เพราะไม่รู้ความเป็นอนัตตา แต่ต้องรู้ลักษณะของขณะที่สติเกิด กับขณะที่หลงลืมสติ และก็รู้ด้วยว่า ปัจจัยที่จะให้สติเกิด ก็คือการฟัง การพิจารณาจนกระทั่งเข้าใจ และเมื่อสติเกิดขึ้นครั้งหนึ่ง ก็รู้ว่าขณะนั้นปัญญายังไม่เจริญ แต่ปัญญาจะเจริญก็ในขณะที่สติกำลังระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏนั่นเอง ไม่ใช่ในขณะอื่น

    นิภัทร ในขณะที่สติเกิด ความเพียรก็ต้องเกิดด้วยในขณะนั้น

    ท่านอาจารย์ แน่นอน แต่ไม่ใช่เราจะเพียร ในขณะที่สติระลึกนั่นเอง ความเพียรสังเกตที่จะรู้ว่า ในขณะนั้นเป็นรูปธรรมหรือเป็นสภาพรู้

    นิภัทร แต่ถ้าคิดว่าความโกรธเกิดขึ้นก็ดี หรือความพอใจเกิดขึ้นก็ดี เราคิดว่าเราต้องพยายามกำจัดมัน หรือข่มไว้ ก็ถือว่าเป็นเราทำ

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นไม่ใช่ความรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม

    ถาม สองสามอาทิตย์ก่อนที่บรรยายตอนเช้ามีว่า ท้าวสักกะมาฟังธรรมของพระพุทธองค์ พระองค์ท่านสอนว่าอย่างไรคะ เพราะตอนนั้นฟังไม่ได้ และที่ท่านพระมหาโมคคัลลานะไปสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ไปถามว่า ท่านสักกะ พระพุทธองค์ท่านสอนอะไร แต่ว่าช่วงระยะนี้หนูฟังไม่ทัน เลยไม่ทราบว่าพระพุทธองค์ท่านสอนอะไรบ้าง


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 25
    12 ก.พ. 2565

    ซีดีแนะนำ