โสภณธรรม ครั้งที่ 117


    ตอนที่ ๑๑๗

    พระ เคยสนทนาเขาบอกว่า เขาทุกข์มากเลย เพราะเขามีโทสะ มีความกลัวบ้าง กลุ้มใจบ้าง แต่เพราะมาท่อง อะไรเกิดขึ้น เขารู้สึกว่าเขาลืมเรื่องนั้นได้ พอลืมเรื่องนั้นเสร็จ เขาก็บอกว่าสบายใจจริงๆ

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นอยากท่องไหม

    พระ อยาก

    ท่านอาจารย์ เป็นโลภะหรือเป็นปัญญาที่อยาก

    พระ ถ้าอย่างนี้ในขณะที่อบรมความอยากบ่อยๆ เมื่อเกิดปัญหานั้น แต่เขาก็บอกว่าไม่ใช่ว่าไปหาสิ่งนั้นแล้วจะสุขทุกครั้ง บางครั้งก็ไม่สุข บางครั้งก็สุข อย่างนี้ถ้าความอยากเจริญขึ้นมากๆ อะไรจะเกิดขึ้น

    ท่านอาจารย์ ความอยากก็เจริญ ความอยากเกิดมาก ความอยากก็เจริญ แล้วก็ติดในความอยากนั้นด้วย เพราะเหตุว่าลักษณะของความอยากเป็นลักษณะที่ต้องการและติด แต่เรื่องของปัญญาเป็นเรื่องรู้แล้วละ นี่คือสิ่งที่ผิดกันมากทีเดียว รู้แล้วละ ย่อมสงบ แต่อยากแล้วติดแล้วพอใจ จะกล่าวว่าสงบได้อย่างไร

    พระ เพราะฉะนั้นต้องเกิดความคิดที่ถูกต้องอยู่บ่อยๆ เนืองๆ ในขณะที่มีอกุศลบ้าง หรือความไม่พอใจที่เราจะแส่ส่ายหาสิ่งหนึ่ง เพื่อให้สิ่งนั้นหมดไป

    ท่านอาจารย์ แต่ว่าการอบรมเจริญภาวนา ไม่ว่าจะเป็นสมถภาวนาก็ดี วิปัสสนาภาวนาก็ดี ต้องเจริญด้วยมหากุศลญาณสัมปยุตต์ คือต้องประกอบด้วยปัญญา ถ้าปราศจากปัญญาแล้ว ก็เป็นมิจฉาสมาธิแน่นอน

    พระ บางครั้งเขาก็เอาผลของการอดข้าวได้ ไม่ต้องกินข้าวก็ได้วันสองวัน มาเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า มันเกิดความสุขความปีติจนร่างกายสบาย จนกระทั่งไม่ต้องกินข้าวก็ได้ อย่างนี้จะเป็นเครื่องวัดได้ไหมว่า บุคคลบางคนเจริญแล้ว ไม่รู้ตัวว่าเป็นกุศล แต่กุศลเกิดเสียจนตัวเขาสบาย

    ท่านอาจารย์ สบายเป็นกุศล หรือเป็นอกุศล

    พระ ถ้าเป็นเวทนา ก็ไม่ใช่ทั้งกุศลและอกุศล

    ท่านอาจารย์ เวทนาต้องเกิดร่วมกับจิต ถ้าเป็นการอบรมเจริญสมถภาวนา จะไม่ประกอบด้วยปัญญาได้ไหม

    พระ ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ แล้วปัญญารู้อะไร

    พระ ไม่รู้

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่รู้ ไม่ใช่ปัญญา

    พระ แสดงว่าปัญญานั่นเองที่จะเป็นเครื่องละกิเลสในขั้นสมถภาวนา แต่ยังมีความเป็นตัวตน

    ท่านอาจารย์ ปัญญาขั้นสมถะระงับอกุศลธรรม แต่ไม่สามารถที่จะดับเป็นสมุจเฉทได้ แต่ว่าระหว่างที่เป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์ ขณะนั้นอกุศลธรรมไม่เกิด จนกระทั่งถึงขั้นของความสงบที่มั่นคงขึ้นเป็นสมาธิขั้นต่างๆ จนถึงขั้นฌานจิตที่เป็นรูปาวจระ จึงข้ามพ้นจากสภาพของกามาวจรจิต ไม่มีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การคิดนึกเรื่องของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

    นั่นคือความมั่นคง เพราะเหตุว่าจิตขึ้นถึงขั้นรูปาวจรจิต เป็นจิตอีกภูมิหนึ่ง ซึ่งต้องประกอบด้วยปัญญา และก่อนที่จะถึงจิตภูมินั้น ก็จะต้องเป็นมหากุศลที่ประกอบด้วยปัญญาด้วย จะทิ้งปัญญาไม่ได้เลย ถ้าเป็นการเจริญอบรมความสงบที่เป็นสมถภาวนา

    พระ ทีนี้ตามเหตุผลแล้ว ที่เห็นด้วย เนื่องจากสังเกตจากการวิรัติก็ดี หรือให้ทานก็ดี ยังต้องประกอบไปด้วยความผ่องใส หรือว่าเห็นชัดๆ ว่าได้ทำประโยชน์อะไรเกิดขึ้น เช่น เห็นมดแล้วไม่เหยียบมด รู้สึกว่าจิตใจสบายจริงๆ แต่เวลาไปนั่งท่องแล้ว รู้สึกได้บุญง่ายๆ แล้วก็เกิดกุศลมากๆ ที่บอกว่าเป็นขั้นสูงกว่าทาน กว่าศีล อาตมายังรู้สึกว่า ไม่เห็นด้วยแน่นอน และจากการศึกษาด้วย ยิ่งเข้าใจเนื่องจากศึกษา

    ทีนี้อีกปัญหาหนึ่ง สังขารุเปกขาญาณ คือ การวางเฉย ที่เห็นสภาพธรรมต่างๆ ตามความเป็นจริงแล้ว ขณะนั้นวิปัสสนาญาณก็เกิดมหากุศลญาณสัมปยุตต์

    ท่านอาจารย์ แน่นอน

    พระ ทีนี้เวทนาจะต้องเป็นอุเบกขาด้วยไหม

    ท่านอาจารย์ ไม่จำเป็น เพราะเหตุว่ามหากุศลญาณสัมปยุตต์เกิดกับโสมนัสเวทนาก็ได้ อุเบกขาเวทนาก็ได้

    พระ ทีนี้อุเบกขาเวทนาก็คือการวางเฉย

    ท่านอาจารย์ มิได้ ตัตตรมัชฌัตตตาเป็นโสภณเจตสิก เป็นสภาพที่ไม่หวั่นไหว เป็นกลาง ไม่ใช่ความรู้สึก

    พระ แสดงว่าที่เป็นสังขารุเปกขาญาณก็คือ ตัตตรมัชฌัตตตาที่มีกำลังมาก

    ท่านอาจารย์ เพราะปัญญา รู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรม จึงไม่หวั่นไหวพร้อมที่จะประสบกับนามธรรมและรูปธรรมใดๆ ก็ได้ เพียงแต่ว่ายังไม่สามารถที่จะประจักษ์ลักษณะของพระนิพพาน ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ละเอียดกว่าแม้ลักษณะของจิตประเภทต่างๆ แม้ว่าจะเป็นความสงบประเภทต่างๆ หรือว่าจะเป็นอกุศลที่เป็นโมหมูลจิต หรือภวังคจิต ก็ยังเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ เพราะฉะนั้นพระนิพพานเท่านั้นที่ต้องละเอียดกว่า เพราะเหตุว่าไม่ใช่แม้สภาพที่เกิดขึ้นรู้

    พระ ในขณะที่เป็นสังขารุเปกขาญาณ ขณะนั้นมีนิพพานเป็นอารมณ์ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ไม่มี แต่ก็รู้ว่า สังขารธรรมทั้งหลายไม่ใช่พระนิพพาน

    พระ เห็นความต่างได้หรือ คือปัญญาที่เจริญจนกระทั่งรู้ชัดจริงๆ และประจักษ์ชัดแล้ว จนกระทั่งเห็นลักษณะของสภาพธรรมเป็นเช่นนี้ จนกระทั่งเริ่มมีปัญญาที่รู้ว่า พระนิพพานนั้นก็ยังไม่ใช่ลักษณะของสังขารธรรม

    ทีนี้ตัตตรมัชฌัตตตากระทำกิจวางเฉยที่มีกำลัง ใช่ไหม คือ อาตมาเข้าใจว่า ในขณะที่สังขารุเปกขาญาณเกิดขึ้น เวทนาจะต้องเป็นอุเบกขา

    ท่านอาจารย์ ไม่จำเป็น เพราะเหตุว่าแม้แต่ผู้ที่ได้โลกุตรฌาน เวทนาก็จะต้องเกิดพร้อมกับโสมนัส เพราะเหตุว่าเป็นขั้นของปฐมฌาน

    ก็ยังไม่ต้องเป็นห่วงเป็นใยอะไรทั้งสิ้น แม้แต่สติจะเกิดน้อยหรือว่าจะเกิดมาก ขอให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเพิ่มขึ้น จนกว่าสติจะระลึกลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรม เพราะว่าขณะนี้ก็เป็นปรมัตถธรรมนั่นเอง แต่ทำไมสติจึงไม่ระลึกให้บ่อยๆ ก็เพราะเหตุว่ายังขาดความเข้าใจในลักษณะของสภาพธรรม ต่อเมื่อเข้าใจจนกระทั่งเพิ่มขึ้นจนชิน ก็ไม่มีอะไรที่จะกั้นไม่ให้สติเกิดระลึกได้ว่า แท้ที่จริงแล้วลักษณะของสภาพธรรมก็คือเพียงแต่เป็นลักษณะแต่ละลักษณะที่ปรากฏแต่ละทางเท่านั้นเอง

    มีบางคนก็ยังสงสัยว่า ในขณะที่กำลังเห็นอย่างนี้ จะประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปได้อย่างไร ดูเหมือนว่าจะไม่มีทางที่จะเป็นไปได้เลย สำหรับผู้ที่ยังไม่ประจักษ์ ก็จะต้องคิดว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะประจักษ์แจ้ง แต่ถ้าคิดถึงท่านที่เชื่อในหลักของวิทยาศาสตร์ และเวลาที่เปิดไฟฟ้า กระแสไฟไม่ได้สว่างอยู่ตลอดเวลา จะต้องมีช่วงที่ดับไปอย่างเร็วมาก จนกระทั่งทำให้ปรากฏเหมือนกับสว่างอยู่ตลอดเวลา ก็ยังลวงให้เห็นว่า ไม่มีการดับฉันใด ขณะนี้นามธรรมซึ่งกำลังเกิดดับในขณะที่กำลังเห็น แล้วก็มีการได้ยิน มีการคิดนึก มีภวังคจิตเกิดคั่น มีจิตประเภทต่างๆ เกิดดับ ก็ย่อมไม่ประจักษ์กับอวิชชา เพราะเหตุว่าสติไม่ได้ระลึกที่จะแม้รู้ว่า กำลังเห็นนี้ก็ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงธาตุชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ อาศัยเหตุปัจจัยเกิดแล้วก็ดับไป

    เพราะฉะนั้นทุกขลักษณะไม่ใช่อื่นเลย นอกจากการเกิดขึ้นและดับไปของสภาพธรรมที่เป็นสังขารธรรมนั่นเอง จึงเป็นทุกข์ เพราะเหตุว่าไม่ใช่ตัวตน แล้วก็เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แล้วก็ดับไปเท่านั้นเอง

    บางท่านอาจจะเคยเบื่อ ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาว่า ขณะที่เบื่อนั้นเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล บางคนก็ไม่รู้เลยว่า ก่อนที่จะได้ฟังพระธรรมแล้วก็เบื่อ ขณะนั้นเบื่อเพราะอะไร เพราะว่าชีวิตของแต่ละคน ขอให้พิจารณาจริงๆ ว่า ไม่พ้นการถูกครอบงำด้วยความอยาก ความติด และความต้องการ คือ โลภะ สิ่งที่มีแล้วก็เป็นที่พอใจ แต่ก็ยังไม่พอ ยังจะต้องการสิ่งอื่น เพราะฉะนั้นก็มีการเปลี่ยนทั้งสถานที่บ้าง เปลี่ยนสิ่งที่จะดูจะเห็นบ้าง เปลี่ยนวัตถุเครื่องใช้ต่างๆ บ้าง เปลี่ยนเสื้อผ้า เปลี่ยนหลายอย่าง แม้แต่บางทีก็เปลี่ยนสีของที่อยู่อาศัยก็ได้

    นี่ก็แสดงให้เห็นอยู่แล้วว่า ถ้าไม่เบื่อจะเปลี่ยนไหม อะไรทำให้ต้องเปลี่ยน เพราะความเบื่อ แต่ว่าลักษณะของความเบื่อ ความซ้ำ ความจำเจอย่างนั้น ไม่ใช่ลักษณะของปัญญา และก่อนที่จะได้ฟังพระธรรมจริงๆ ไม่ว่าใครจะเบื่อชีวิต เบื่อโลก เบื่อความซ้ำทางตา ทางหู ในชีวิตประจำวันสักเท่าไร ก็ยังไม่ใช่ปัญญาที่หน่ายในการที่จะรู้ว่า ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปเท่านั้นเอง

    เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่า ใครก็ตามที่อาจจะเข้าใจตัวเองว่า คิดถึงเรื่องต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงแล้วก็เกิดเบื่อหน่ายขึ้นมา ขณะนั้นจะเป็นปัญญาแล้ว ก็ให้ทราบว่า ยังไม่ใช่ปัญญาขั้นที่จะหน่ายจากความเป็นตัวตน เพราะเหตุว่ายังไม่รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏ โดยลักษณะที่เป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรม ไม่ใช่เรา

    ท่านผู้ฟังอยากจะให้คนอื่นเข้าใจพระธรรมบ้างไหม เรื่องของความอยากก็มีลักษณะต่างๆ แต่จะต้องพิจารณาว่า อย่างไร ขณะไหนเป็นกุศล และอย่างไร ขณะไหนเป็นอกุศล

    เวลาที่อยากจะให้คนอื่นเข้าใจพระธรรมเป็นโลภะ หรือว่าเป็นฉันทะ สามารถที่จะรู้ได้ไหม ถ้าอยากที่จะให้คนอื่นฟังพระธรรม และผิดหวังที่เขาไม่ฟัง ขณะนั้นจะรู้ได้ว่า ความอยากของท่านเป็นโลภะหรือเป็นฉันทะ ขณะใดก็ตามที่อยากจะให้คนอื่นได้ฟัง พยายามทุกอย่างที่จะช่วยให้เขาเข้าใจ แม้ว่าเขาไม่สนใจก็ไม่เดือดร้อน เพราะเหตุว่ายังไม่ถึงกาล ยังไม่ถึงเวลา เขาไม่มีปัจจัยที่สะสมมาที่จะเห็นประโยชน์ของการฟังธรรม ไม่หวั่นไหว ไม่เป็นทุกข์ ขณะนั้นก็ไม่ใช่โลภะ เพราะเหตุว่าเป็นแต่เพียงฉันทะที่จะให้คนอื่นเข้าใจพระธรรม แต่ไม่เดือดร้อนถ้าเขาไม่สนใจ และไม่ผิดหวังเวลาที่เขาไม่เห็นคุณค่าของพระธรรม

    นี่ก็จะเป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่า พอที่จะรู้ได้ว่า ขณะใดเป็นกุศล ขณะใดเป็นอกุศล ถ้าขณะใดที่จิตใจสม่ำเสมอไม่หวั่นไหว ไม่ว่าจะมีความปรารถนาอย่างใด แต่ก็ไม่เดือดร้อน เวลาที่สิ่งนั้นไม่เป็นไปตามความปรารถนา

    เพราะฉะนั้นเรื่องของการฟังพระธรรม จะได้ประโยชน์มากที่สุด เมื่อน้อมนำมาพิจารณาจิตใจของตนเองในชีวิตประจำวันจริงๆ ซึ่งไม่พ้นไปจากเรื่องของกุศลและอกุศล แล้วก็ค่อยๆ อบรมเจริญธรรมที่เป็นโสภณเจตสิกขึ้นจนกว่าจะสมบูรณ์ถึงขั้นที่เป็นวิปัสสนาญาณแต่ละขั้น แม้แต่การฟังพระธรรมเรื่องหนึ่งเรื่องใดก็จะได้ประโยชน์ ถ้าพิจารณาถึงความละเอียดของพระธรรมนั้นๆ เช่น ข้อความในขุททกนิกาย อิติวุตตกะ ปสาทสูตร แสดงถึงการที่จะต้องพิจารณาถึงความเลื่อมใสของท่านเองว่า เป็นไปในลักษณะใด

    ข้อความในปสาทสูตร ข้อ ๒๗๐ มีว่า

    จริงอยู่ พระสูตรนี้พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว พระสูตรนี้พระผู้มีพระภาคผู้เป็นพระอรหันต์ตรัสแล้ว เพราะเหตุนั้นข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วว่า

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความเลื่อมใสอันเลิศ ๓ ประการนี้ ๓ ประการเป็นไฉน

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตว์ไม่มีเท้าก็ดี ๒ เท้าก็ดี ๔ เท้าก็ดี มีเท้ามากก็ดี มีรูปก็ดี ไม่มีรูปก็ดี มีสัญญาก็ดี ไม่มีสัญญาก็ดี มีสัญญาก็ดี มิใช่ไม่มีสัญญาก็มิใช่ก็ดี มีประมาณเท่าใด พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า บัณฑิตกล่าวว่าเลิศกว่าสัตว์ประมาณเท่านั้น

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ชนเหล่าใดเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า ชนเหล่านั้นชื่อว่าเลื่อมใสในบุคคลผู้เลิศ ก็และผลอันเลิศย่อมมีแก่บุคคลผู้เลื่อมใสในพระพุทธเจ้าผู้เลิศ ฯ

    พิจารณาตนเองได้ไหม เป็นผู้เลื่อมใสในพระพุทธเจ้าผู้เลิศ หรือว่าเลื่อมใสในวัตถุมงคล เพียงเท่านี้ก็จะเห็นได้ว่าต่างกัน ความเลื่อมใสในพระพุทธเจ้าผู้เลิศ ต้องเป็นผู้เห็นพระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระมหากรุณาคุณ โดยฟังพระธรรมแล้วก็เข้าใจในธรรมที่ลึกซึ้ง ในข้อปฏิบัติที่ยากและลึกซึ้ง จึงจะเห็นพระคุณของพระผู้มีพระภาคและเลื่อมใสในพระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระมหากรุณาคุณได้ ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงแสดงหนทางข้อปฏิบัติที่จะทำให้รู้แจ้งสภาพธรรม ความเลื่อมใสนั้นก็คงจะลดน้อยลงไป เพราะเหตุว่าแม้ว่าสภาพธรรมจะปรากฏ ก็ไม่สามารถที่จะประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมนั้นได้ แต่เพราะเหตุว่าทรงแสดงหนทางข้อปฏิบัติที่จะทำให้ประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรม ผู้ที่อบรมเจริญปัญญาเพิ่มขึ้น ก็ยิ่งเห็นพระคุณเพิ่มขึ้น และความเลื่อมใสนั้นก็ต้องเพิ่มขึ้นตามขั้นของปัญญาด้วย

    ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย สังขตธรรมก็ดี อสังขตธรรมก็ดี มีประมาณเท่าใด วิราคะ คือ ธรรมเป็นที่บรรเทาความเมา นำเสียซึ่งความระหาย ถอนขึ้นด้วยดีซึ่งอาลัย ตัดซึ่งวัฏฏะ สิ้นไปแห่งตัณหา สิ้นกำหนัด ดับ นิพพาน บัณฑิตกล่าวว่าเลิศกว่าสังขตธรรมและอสังขตธรรมเหล่านั้น

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ชนเหล่าใดเลื่อมใสในวิราคธรรม ชนเหล่านั้นชื่อว่าเลื่อมใสในธรรมอันเลิศ ก็ผลอันเลิศย่อมมีแก่บุคคลผู้เลื่อมใสในธรรมอันเลิศ

    นี่ก็เป็นการที่จะเลื่อมใสในธรรมที่มีจริง ที่สามารถที่จะดับกิเลสได้ แต่ว่าไม่ใช่เป็นสิ่งที่ง่าย และจะต้องพากเพียรเจริญไปทีละเล็กทีละน้อย

    ได้อ่านบทความหนึ่ง ซึ่งมีท่านผู้หนึ่งเป็นชาวต่างประเทศเขียนว่า ท่านได้ยินการสนทนาของ ๒ ท่านเรื่องของการทำสมาธิ ท่านก็ทำสมาธิ แล้วก็รู้สึกว่าจิตใจสงบมาก สบายมาก ขณะนั้นก็คงพอจะรู้ได้ว่า เป็นการอบรมเจริญปัญญาหรือเปล่า เพียงได้ยินได้ฟังเรื่องของการทำสมาธิ จะเป็นการอบรมเจริญปัญญา ซึ่งจะเป็นข้อปฏิบัติที่จะทำให้รู้แจ้งสัจจธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจได้ไหม

    เพราะฉะนั้นถ้าใครยังเข้าใจผิด คิดว่านิพพานสวย สว่าง หรือว่าเหมือนสวรรค์ น่าเพลิดเพลิน น่าพอใจ ก็แสดงให้เห็นแล้วว่า ในขณะนั้นไม่ใช่การละ ไม่ใช่การเจริญความรู้ที่จะละความติด แม้ในขณะที่กล่าวว่า นิพพานสวย สว่าง หรือว่าเหมือนสวรรค์

    ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย สังขตธรรมมีประมาณเท่าใด อริยมรรคมีองค์ ๘ คือสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ บัณฑิตกล่าวว่าเลิศกว่าสังขตธรรมเหล่านั้น

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ชนเหล่าใดเลื่อมใสในธรรมคืออริยมรรค ชนเหล่านั้นชื่อว่าเลื่อมใสในธรรมอันเลิศ ก็ผลอันเลิศย่อมมีแก่บุคคลผู้เลื่อมใสในธรรมอันเลิศ ฯ

    ผู้เลื่อมใสในธรรมอันเลิศ คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ ต้องเป็นผู้ที่อดทนที่จะเจริญปัญญา แม้ว่าในชาติหนึ่งจะเจริญได้เพียงเล็กน้อย ไม่มากเลย แต่ก็ยังเป็นหนทางที่ถูก ที่จะไม่ใช่ไปทำให้ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    เพราะฉะนั้นแม้ว่าในชาตินี้จะยาวสั้นมากน้อยสักเพียงใด ก็ขอให้เป็นการอบรมเจริญอริยมรรคจริงๆ ที่จะทำให้รู้ลักษณะของสภาพธรรมจนกระทั่งวันหนึ่งก็สามารถประจักษ์แจ้งลักษณะของนิพพานได้

    ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย หมู่ก็ดี คณะก็ดี มีประมาณเท่าใด หมู่สาวกของพระตถาคต คือ คู่บุรุษ ๔ บุรุษ บุคคล ๘ บัณฑิตกล่าวว่าเลิศกว่าหมู่และคณะเหล่านั้น

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ชนเหล่าใดเลื่อมใสในพระสงฆ์ ชนเหล่านั้นชื่อว่าเลื่อมใสในหมู่ผู้เลิศ ก็ผลอันเลิศย่อมมีแก่บุคคลผู้เลื่อมใสในพระสงฆ์ผู้เลิศ

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความเลื่อมใสอันเลิศ ๓ ประการนี้แล

    เพราะฉะนั้นก็จะต้องพิจารณาความเลื่อมใสของท่านว่า เลื่อมใสในคู่บุรุษ ๔ คือ พระโสดาบัน ได้แก่ โสตาปัตติมรรคจิต ๑ โสตาปัตติผลจิต ๑ พระสกทาคามี คือ สกทาคามิมรรคจิต ๑ สกทาคามิผลจิต ๑ พระอนาคามีบุคคล คือ อนาคามิมรรคจิต ๑ อนาคามิผลจิต ๑ พระอรหันต์บุคคล คือ อรหัตตมรรคจิต ๑ อรหัตตผลจิต ๑ เป็นบุรุษบุคคล ๘ หรือว่าเลื่อมใสในผู้ที่ไม่ได้แสดงหนทางที่จะให้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    ถ้ามีผู้กล่าวว่า ไม่ต้องศึกษาพระธรรม ไม่ต้องเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่ต้องเข้าใจเรื่องลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ก็ปฏิบัติได้ อันนี้จะชื่อว่า ท่านเป็นผู้เลื่อมใสในบุคคลผู้เลิศหรือเปล่า

    เพราะฉะนั้นการฟังพระธรรมสามารถที่จะพิจารณาและระลึกตามความเป็นจริงถึงความเลื่อมใสของท่านได้จริงๆ

    อดิศักดิ์ การเลื่อมใสในพระธรรมอย่างที่อาจารย์พูดเป็นเรื่องยาก อย่างผมได้พิจารณาตัวเองว่า การพิจารณาธรรมโดยละเอียดจะทำให้เห็นความเลื่อมใสได้ อย่างการฟังเมื่อสักครู่นี้ ก็ทำให้เกิดความเลื่อมใสในพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเพิ่มขึ้นอีกว่า วิปัสสนาญาณต่างๆ เป็นเรื่องที่ลึกซึ้งมาก แม้กระทั่งการเจริญสติปัฏฐานทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนี้ จะปรากฏก็น้อยเหลือเกิน แล้วพระพุทธองค์ยังได้ทรงแสดงถึงญาณ มีถึง ๑๖ ญาณ จากญาณที่ ๑ ไป ที่จะเกิดขึ้นก็น้อยมาก เมื่อได้ฟังถึงความลึกซึ้ง แต่ก็เชื่อด้วยความมั่นคงว่า พระพุทธองค์ตรัสไว้ ทรงแสดงสั่งสอนไว้นี่ถูกต้องแน่ ก็ทำให้เกิดความเลื่อมใสยิ่งขึ้นว่า พระปัญญาคุณของท่านแท้ๆ ท่านถึงสามารถที่จะแยกแยะวิปัสสนาญาณได้อย่างนี้ เราเองโอกาสที่จะเฉียดเข้าไปก็น้อยเหลือเกิน แต่ก็คิดว่า ด้วยความมั่นคงก็คงจะเชื่อในปัญญาของพระพุทธองค์


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 25
    14 ก.พ. 2565

    ซีดีแนะนำ