โสภณธรรม ครั้งที่ 118
ตอนที่ ๑๑๘
อดิศักดิ์ การเลื่อมใสในพระธรรมอย่างที่อาจารย์พูดเป็นเรื่องยาก อย่างผมได้พิจารณาตัวเองว่า การพิจารณาธรรมโดยละเอียดจะทำให้เห็นความเลื่อมใสได้ อย่างการฟังเมื่อสักครู่นี้ ก็ทำให้เกิดความเลื่อมใสในพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเพิ่มขึ้นอีกว่า วิปัสสนาญาณต่างๆ เป็นเรื่องที่ลึกซึ้งมาก แม้กระทั่งการเจริญสติปัฏฐานทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนี้ จะปรากฏก็น้อยเหลือเกิน แล้วพระพุทธองค์ยังได้ทรงแสดงถึงญาณ มีถึง ๑๖ ญาณ จากญาณที่ ๑ ไป ที่จะเกิดขึ้นก็น้อยมาก เมื่อได้ฟังถึงความลึกซึ้ง แต่ก็เชื่อด้วยความมั่นคงว่า พระพุทธองค์ตรัสไว้ ทรงแสดงสั่งสอนไว้นี่ถูกต้องแน่ ก็ทำให้เกิดความเลื่อมใสยิ่งขึ้นว่า พระปัญญาคุณของท่านแท้ๆ ท่านถึงสามารถที่จะแยกแยะวิปัสสนาญาณได้อย่างนี้ เราเองโอกาสที่จะเฉียดเข้าไปก็น้อยเหลือเกิน แต่ก็คิดว่า ด้วยความมั่นคงก็คงจะเชื่อในปัญญาของพระพุทธองค์ ที่อาจารย์พูดเมื่อสักครู่นี้ก็ทำให้เกิดความเลื่อมใสพระพุทธองค์มากขึ้น
ท่านอาจารย์ ข้อสำคัญคือ ปัญญา คืความเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม หรือ
ปรมัตถธรรมสังเขป ก็ได้ถามท่านผู้ฟังท่านหนึ่งว่า ท่านอ่านหรือยัง ท่านก็บอกว่าอ่านแล้ว จำไม่ได้ ปฏิบัติไม่ได้ คือ ตอบเลย เพราะว่าอ่านแล้ว แต่จำไม่ได้ ปฏิบัติไม่ได้ ไม่ต้องจำ แล้วไม่ต้องปฏิบัติค่ะ เข้าใจก่อน ใครบอกว่าต้องจำถ้าไม่เข้าใจ มีประโยชน์อะไรที่จะจำโดยไม่เข้าใจ แล้วจะปฏิบัติอะไรเมื่อไม่เข้าใจ เพราะฉะนั้นก็ไม่ต้องทั้งจำ และไม่ต้องปฏิบัติอะไรด้วย แต่ขอให้เข้าใจเสียก่อน เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เมื่ออ่าน เวลาที่อ่านก็เป็นเรื่องของพระธรรมที่มีจริงๆ ซึ่งสามารถจะพิสูจน์ได้แม้ในขณะกำลังอ่านนั้นเอง
เพราะฉะนั้นก็ไม่ใช่เรื่องที่จะต้องห่วงว่าจำไม่ได้ ถ้าเข้าใจก็เป็นสิ่งที่ถูกต้อง แล้วก็ยังไม่ต้องปฏิบัติอะไรเลย เข้าใจเพิ่มขึ้นๆ จนกระทั่งรู้ว่า ลืมตาขึ้นมาก็นามธรรมและรูปธรรมแล้ว ได้ยินเสียง ก็นามธรรมและรูปธรรมแล้ว ไม่ว่าจะได้กลิ่น ไม่ว่าจะลิ้มรส ไม่ว่าจะรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสขณะใด ก็นามธรรมและรูปธรรมตามที่เข้าใจนั่นเอง
ขอให้เป็นอย่างนี้จริงๆ เพราะเหตุว่าการอบรมเจริญปัญญาต้องเป็นตามลำดับขั้น ไม่ต้องคิดที่จะปฏิบัติ แต่ว่าขอให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ จนกว่าจะรู้ว่า สติปัฏฐานก็คือขณะที่ระลึกได้ กำลังเห็น ตามที่ได้เข้าใจนั่นเอง แล้วก็ค่อยๆ สังเกตพิจารณาจนรู้ว่า ธาตุรู้ ลักษณะรู้ ซึ่งเป็นนามธรรมไม่ใช่อยู่ในหนังสือ แต่ในขณะที่กำลังเห็นเป็นธาตุรู้อย่างไร ค่อยๆ พิจารณาไปนั่นคือ อริยมรรคมีองค์ ๘
ซึ่งข้อความตอนท้ายของพระสูตรนี้ มีว่า
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความนี้แล้ว ในพระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสคาถา
ประพันธ์ดังนี้ว่า
เมื่อชนทั้งหลายเลื่อมใสแล้วในพระรัตนตรัยที่เลิศ รู้แจ้งธรรมอันเลิศ เลื่อมใสแล้วในพระพุทธเจ้าผู้เลิศ ซึ่งเป็นทักขิไนยบุคคลผู้ยอดเยี่ยม เลื่อมใสแล้วในธรรมอันเลิศซึ่งเป็นที่สิ้นกำหนัดและเป็นที่สงบ เป็นสุข เลื่อมใสแล้วในพระสงฆ์ผู้เลิศ ซึ่งเป็นบุญเขตอย่างยอดเยี่ยม ถวายทานในพระรัตนตรัย ที่เลิศ บุญที่เลิศย่อมเจริญ อายุ วรรณะ ยศ เกียรติคุณ สุขะและพละอันเลิศย่อมเจริญ นักปราชญ์ถวายไทยธรรมแก่พระรัตนตรัยที่เลิศ ตั้งมั่นอยู่ในธรรมอันเลิศแล้ว เป็นเทวดาหรือเป็นมนุษย์ก็ตาม เป็นผู้ถึงความเป็นผู้เลิศบันเทิงอยู่ ฯ
เนื้อความแม้นี้พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วฉะนี้แล
จบสูตรที่ ๑
มีอะไรสงสัยไหม ที่กล่าวถึงอายุ วรรณะ ยศ เกียรติคุณ สุขะและพละอันเลิศย่อมเจริญ ไม่ได้ทรงแสดงให้หวัง แต่แสดงเหตุและผลตามความเป็นจริง เมื่อมีความเลื่อมใสพระรัตนตรัย ในพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ในพระธรรม และเป็นผู้ที่น้อมประพฤติปฏิบัติตามด้วย
เพราะฉะนั้นในขณะที่จิตเป็นกุศล แล้วอายุก็ดี วรรณะก็ดี ยศก็ดี เกียรติคุณก็ดี สุขก็ดี และพละก็ดี จะไม่เลิศได้อย่างไร แต่ไม่ใช่หมายความว่า ผู้ที่อ่าน หรือผู้ที่เคยชินกับการที่ต้องการหรือหวังผลของกุศล ที่คิดว่าทำอย่างไรถึงจะได้บุญมากๆ ก็จะมาติดข้อความนี้อีก แต่สำหรับผู้ที่ไม่ติด เพราะรู้ว่าเป็นเรื่องรู้แล้วละ เพราะฉะนั้นก็จะเข้าใจได้ทันทีว่า ที่ทรงแสดงนี้ทรงแสดงตามเหตุและตามผล เมื่อเหตุเลิศ ผลก็ต้องเลิศเป็นของธรรมดา เพราะเหตุว่าเมื่อได้อบรมเจริญปัญญา ก็ย่อมไม่เป็นผู้ที่ทำทุจริต ทั้งกาย วาจาก็เป็นสัมมา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ กุศลจะเจริญขึ้นๆ เพราะฉะนั้นจะมีเหตุอะไรที่จะทำให้ได้ผลที่ไม่ดี แต่ว่าผู้ที่ไม่เข้าใจก็คอยอยากจะทำ เพราะว่าอยากจะได้ผล
นี่ก็แสดงให้เห็นถึง การที่จะฟังด้วยความละเอียดจริงๆ แล้วรู้ว่า ธรรมเป็นเรื่องรู้แล้วละ ไม่ว่าจะเดินทางไปที่ไหน ก็จะต้องมีคำถามซึ่งมีผู้ถามว่า ทำอย่างไรถึงจะได้บุญมาก เป็นธรรมดาที่สุดเลย จะทำบุญแต่ก็ยังต้องการให้ได้บุญมาก แล้วก็คิดว่า มีวิธีที่จะทำให้ได้บุญมาก แต่ถ้ารู้ว่า บุญอยู่ที่ไหน อยู่ที่จิตที่ไม่มีโลภะ โทสะ โมหะ
เพราะฉะนั้นวันนี้กุศลจิตจะเกิดสักเท่าไรก็ได้ สำหรับผู้ที่รู้ว่า ขณะใดที่ไม่โกรธ ไม่ริษยา ขณะใดที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีความเมตตา มีความหวังดีต่อคนอื่น มีการให้อภัย ขณะนั้นก็ไม่ต้องนับแล้วใช่ไหมคะ แล้วไม่ต้องถามใครด้วยว่า บุญมากไหม เพราะเหตุว่าผู้นั้นย่อมรู้ดีว่า ขณะนั้นเป็นกุศลจิต
เพราะฉะนั้นเรื่องของทำอย่างไรถึงจะได้บุญมากสำหรับผู้ที่เข้าใจเรื่องของกุศลจิตแล้ว จะไม่มีปัญหาเลย เพราะเหตุว่าย่อมเป็นผู้ที่รู้ด้วยตนเองว่า ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับการกระทำ แต่ว่าขึ้นอยู่กับสภาพของจิต ซึ่งเป็นกุศล ไม่มีโลภะ โทสะ โมหะ ขณะใดก็เป็นบุญขณะนั้น เพราะฉะนั้นวันหนึ่งจะมากหรือจะน้อย แต่ละท่านก็ย่อมรู้ดี
สุชาติ เมื่อฟังความเลื่อมใสต่อพระผู้มีพระภาค ผมก็มีความเลื่อมใสเช่นเดียวกัน แต่มีความเลื่อมใสที่จะรู้ เลื่อมใสที่จะเข้าใจอย่างที่ท่านอาจารย์กล่าวไว้ ก็อยากจะทราบว่า เมื่อตาเห็นรูปต่างๆ แล้ว ยากที่จะเห็นความเกิดดับ ผมก็เห็นว่า ก็คงจะยากจริงๆ มีทางเป็นไปได้ไหมที่อาจารย์จะเกื้อกูล หรือท่านผู้ฟังจะเกื้อกูลบ้าง ขณะที่เห็นนั้นเห็นความเกิดดับ เอาแค่ทำความเข้าใจก็พอว่า จะอธิบายได้อย่างไรที่จะเห็นความเกิดดับของวัณณรูป เอาแค่ความเข้าใจ แบบ slow motion หน่อยก็ดี
ท่านอาจารย์ ขณะที่กำลังรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่กำลังแข็ง ลองกระทบ ขณะนี้มีสภาพแข็งปรากฏ ขณะที่กำลังรู้ตรงแข็ง เห็นอะไรหรือเปล่า กำลังมีแข็งปรากฏ มองเห็นอะไรหรือเปล่า
สุชาติ มีความรู้สึกเห็น
ท่านอาจารย์ เห็นอยู่ใช่ไหม ขณะนี้เห็นด้วย แล้วก็รู้ตรงแข็งด้วย ถูกไหม
สุชาติ ถูก
ท่านอาจารย์ นี่ก็แสดงให้เห็นว่าแล้วว่า สภาพธรรมเกิดดับเร็วมาก เพราะฉะนั้นปัญญาที่ไม่สามารถที่จะรู้ลักษณะของนามธรรมว่าเป็นเพียงธาตุรู้ และลักษณะของรูปธรรมจริงๆ เมื่อไม่ถึงนามรูปปริจเฉทญาณ ก็ยังไม่มีการที่จะแยกสภาพธรรมที่ปรากฏแต่ละอย่าง ให้เห็นว่าไม่ได้สืบต่อเหมือนกับเป็นขณะเดียวกัน ในขณะนี้ทางตาเห็นสี และในขณะที่สติเริ่มที่จะระลึกรู้ลักษณะที่แข็ง ทางตานี่ยังไม่ได้ดับ ซึ่งที่จริงแล้วต้องดับในขณะที่รู้แข็ง สำหรับผู้ที่ประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมที่แยกขาดจากกันเป็นแต่ละทวาร แต่ในขณะนี้การเกิดดับของสภาพธรรมก็ยังเร็ว เหมือนกับผู้ที่ได้ประจักษ์แล้ว แต่ว่าผู้ที่ประจักษ์แล้ว ปัญญาสามารถที่จะแทงตลอดทันทีโดยความรวดเร็ว เพราะเหตุว่ามีปัจจัยที่จะทำให้ประจักษ์แจ้งได้
เพราะฉะนั้นผู้ที่เริ่มอบรมเจริญสติปัฏฐานก็จะรู้ว่า แม้ทรงแสดงไว้ว่า ทางตาต้องดับ แต่เมื่อในขณะนี้ยังไม่ปรากฏว่าทางตาดับ ก็จะต้องเป็นอย่างนี้ ถ้าสมมติผู้อื่นจะมาบอกท่านผู้ฟัง ต้องเห็นว่าดับซิ ท่านผู้ฟังก็จะเถียงได้เลยว่า เป็นไปไม่ได้ เพราะเหตุว่าความจริงต้องเป็นอย่างนั้นก่อน จนกว่าปัญญาจะค่อยๆ เจริญขึ้น แต่ถ้าจะพิจารณาจริงๆ ในขณะที่แข็งกำลังปรากฏ และไม่ได้สนใจสีสันวัณณะที่กำลังปรากฏทางตา เริ่มที่จะมนสิการเฉพาะแข็ง ก็จะรู้ได้ว่า ขณะที่กำลังรู้เฉพาะแข็งจริงๆ จะไม่สนใจทางตา ไม่ใช่จะปรากฏว่าทางตาดับ แต่เริ่มคลายความติดหรือความสนใจทางตา ขณะที่สติสัมปชัญญะระลึกและศึกษาลักษณะสภาพที่แข็ง
เพราะฉะนั้นปัญญาจะต้องค่อยๆ เพิ่มขึ้นเป็นขั้นๆ จริงๆ แต่เมื่อสภาพธรรมเป็นจริงอย่างนี้ ก็จะต้องประจักษ์แจ้งอย่างนี้ด้วย เพียงแต่ว่าจากการที่เคยยึดมั่นในสิ่งที่ปรากฏทางตา พร้อมกับในขณะที่รู้แข็ง เวลาที่สติปัฏฐานระลึกศึกษาลักษณะแข็ง จะคลายความสนใจความติดทางตา และจะรู้ว่าขณะนั้นกำลังพิจารณาลักษณะสภาพที่รู้แข็ง หรือลักษณะของแข็งที่ปรากฏ ทุกทวารก็เหมือนกัน คือ จะคลายความสนใจในทวารอื่นลงเรื่อยๆ แล้วก็จะใส่ใจในลักษณะของรูปธรรมหรือนามธรรมเฉพาะทวารเดียว จนกว่าวิปัสสนาญาณจะเกิด
สุชาติ กำลังคิดว่า ตาเห็นรูปแล้วถึงเกิดดับ น่าจะอธิบายว่ามันเกิดมันดับ แล้วถึงอธิบายว่ามันเกิดดับจริงๆ พอจะอธิบายได้ไหมครับ เข้าใจได้ไหม
ท่านอาจารย์ จักษุปสาทมีอายุเท่าไรคะ นานทั้งวัน หรือว่าเร็วมาก
สุชาติ เร็วมาก
ท่านอาจารย์ เร็วมาก รูปที่ปรากฏทั้งวันทางตา มีอายุเท่าไร
สุชาติ ๑๗ ขณะจิต
ท่านอาจารย์ เหมือนกัน ซึ่งเร็วมาก นี่ก็เป็นการตอบตามตำรา
สุชาติ ตามหลักการที่ว่าทุกอย่างก็เป็นอย่างนั้น
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นปัญญาก็ค่อยๆ พิจารณาไป อย่างเรื่องของสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ถ้าพิจารณาถึงธาตุที่เป็นประธาน ๔ ธาตุ คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม มีลักษณะที่อ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน ตึงหรือไหว หรือเกาะกุม เป็นสภาพที่ปรากฏเมื่อกระทบได้เพียง ๓ ลักษณะ คือ ลักษณะของธาตุดินที่อ่อนหรือแข็ง ลักษณะของธาตุลมที่ตึงหรือไหว ลักษณะของธาตุไฟที่เย็นหรือร้อน อันนี้เป็นประธาน หมายความว่าในทุกกลุ่มของรูปที่เล็กที่สุด ซึ่งมีอากาศธาตุแทรกคั่นอยู่ จะต้องมีมหาภูตรูป ๔ แต่ก็ไม่มีเพียงเฉพาะมหาภูตรูป ๔ ยังมีอีกรูปหนึ่งซึ่งปรากฏให้รู้ได้ทางตา
นี่ก็ค่อยๆ พิจารณาไปถึงความจริง ถึงความละเอียดของธรรม จนกว่าจะแยกออกได้ว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาไม่ใช่มหาภูตรูป ๔
เพราะฉะนั้นความรู้จะต้องเพิ่มขึ้นทีละขั้น แล้วเรื่องของการประจักษ์แจ้ง ก็ต้องประจักษ์แจ้งจริงๆ แต่ขอให้เข้าใจขึ้น เพื่อที่สติปัฏฐานจะได้ระลึก โดยที่ทางตาอาจจะไม่เคยระลึกเลยว่า เป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏ เพราะว่ามักจะปรากฏเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดทันที แม้ว่าจะได้ยินได้ฟังมาก็ตาม แต่ว่าอาศัยการฟังบ่อยๆ ก็จะมีบางขณะที่สติระลึก แล้วก็รู้โดยน้อมไปว่า สิ่งนี้เป็นแต่สิ่งที่ปรากฏ ไม่ใช่บุคคลหนึ่งบุคคลใดเลยถ้าไม่คิด
เพราะฉะนั้นก็จะเห็นความสำคัญของสังขารขันธ์อีก ซึ่งก็คงจะต้องกล่าวถึงว่า ถ้ามีแต่เพียงวิญญาณขันธ์เท่านั้น คือ จิตซึ่งเป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้แจ้งลักษณะของอารมณ์ โดยที่ไม่มีสัญญาขันธ์ สภาพที่จำ หรือว่าไม่มีสังขารขันธ์ที่ตรึกหรือนึกถึงรูปร่างของสิ่งที่ปรากฏแล้วละก็ จะเป็นแต่เพียงปรมัตถธรรมที่ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตนเลย
เพราะฉะนั้นกิจหน้าที่ของวิญญาณขันธ์ ไม่ใช่เห็นผิด แต่กิจที่ทำให้เห็นผิดเป็นหน้าที่ของทิฏฐิเจตสิก ซึ่งเป็นสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งเกิดหลังจากการมีการใส่ใจในรูปร่างลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ
เพราะฉะนั้นก็จะแยกทางตากับทางใจออกได้ โดยการรู้ว่า เฉพาะทางตาเพียงเห็น และเวลาที่กำลังจำ หรือกำลังรู้ว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ขณะนั้นก็เป็นทางใจเสียแล้ว
ค่อยๆ แยกทางตากับทางใจออก ทางหูกับทางใจออก ทางจมูกกับทางใจออก ทางลิ้นกับทางใจออก ทางกายกับทางใจออก แล้วถึงจะรู้ว่า ปรมัตถธรรมแท้ๆ ไม่ใช่ขณะที่กำลังคิดเรื่องรูปร่างหรือเรื่องราวต่างๆ นี่ก็จะต้องเป็นเพราะสติปัฏฐาน
สุชาติ นี่ก็เข้าใจ
ท่านอาจารย์ เข้าใจก็จะต้องปฏิบัติตามที่เข้าใจ จนกว่าปัญญาจะเจริญขึ้น เพราะเหตุว่าถ้าเข้าใจอย่างนี้ก็นำไปสู่การเกิดดับได้ เพราะเหตุว่าเมื่อรูปารมณ์กระทบกับจักขุปสาทก็ดับแล้ว ๑๗ ขณะ เร็วมาก
สุชาติ ถ้าเกิดเห็นรูปที่บอกว่า อาจารย์บอกว่า เห็นวัณณรูปของมหาภูตรูป อย่างนั้นจริงๆ หรือ
ท่านอาจารย์ เป็นอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่แข็ง ไม่ใช่อ่อน
สุชาติ เราสามารถเห็นเนื้อแท้ๆ ของมันหรือ
ท่านอาจารย์ ก็กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ นี่ก็แสดงให้เห็นแล้วว่า ต้องมีอีกรูปหนึ่ง ซึ่งเป็น
รูปารมณ์ในกลุ่มนั้น ในกลาปนั้น เหมือนกับดูเงาในกระจกตลอดชีวิต แท้จริงไม่มี แต่ก็เหมือนมี เวลาที่ส่องกระจก เห็นใคร ยืนส่องกระจกเห็นใคร ยึดถือว่าเป็นเราในกระจก แล้วมีเราไหม ฉันใด ในขณะนี้ก็กำลังเห็นเหมือนอย่างนั้น แต่ก็มีการคิดนึกสัณฐานที่ทำให้ยึดถือว่า ยังคงเป็นเราอยู่ จนกว่าจะรู้จริงๆ ว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาก็เหมือนเงาให้คิดนึกเป็นเรื่องเป็นราวต่างๆ โดยที่ว่าหามีสิ่งนั้นจริงๆ ไม่ เป็นแต่เพียงสิ่งที่เกิดแล้วก็ดับไปๆ แต่ก็สืบต่อกันอย่างเร็วมาก จนกระทั่งทำให้เหมือนว่ายังมีสิ่งนั้นอยู่ทุกครั้งที่เห็น
พระ อาตมาจะพูดเรื่องมีการสนทนาธรรมเรื่องของสมถภาวนาในหนังสือ “ปรมัตถธรรมสังเขป” คือเปิดหนังสืออ่านกัน แล้วพิจารณาดูว่า การเจริญสมถะนั้นเจริญถูกต้องแล้วหรือยัง หรือว่าเข้าใจละเอียดแล้วหรือยัง ก็สนทนากันว่า ผู้ที่เจริญสมถภาวนา ถ้าไม่ศึกษาพระพุทธศาสนาแล้ว เขาก็รู้ลักษณะของธรรมต่างๆ เหมือนกัน เช่น กุศลก็ดี อกุศลก็ดี หรือวิตก หรือวิจาร เขาก็รู้ลักษณะ แต่เขาไม่รู้จักชื่อ ทีนี้ถ้าเขาไม่รู้ลักษณะจากชื่อแล้ว อาตมาก็สนทนากันถึงชื่อ ถ้าอย่างนี้ผู้ที่เจริญสมถภาวนาต้องมีปัญญามาก ถึงขนาดที่ไม่ได้ศึกษาจากพระพุทธแล้ว สังเกตธรรมทุกอย่างจนรู้ว่า ลักษณะใดทำให้จิตสงบ เช่น วิตกหรือวิจารที่ตรึกไปในอารมณ์กัมมัฏฐาน เสร็จแล้วก็สนทนาต่ออีกว่า ถ้ารู้ลักษณะของสภาพธรรม เช่นมีอกุศลเป็นอารมณ์ จะต่างกันอย่างไรกับวิปัสสนา หรือสติปัฏฐาน คือสมมติโทสะเกิดขึ้น ผู้ที่เจริญสมถภาวนาก็จะต้องรู้ลักษณะของโทสะเหมือนกัน เสร็จแล้วผู้ที่เจริญสติปัฏฐานก็ต้องมีลักษณะของโทสะเป็นอารมณ์ แต่จะต่างกันโดยที่ว่า ลักษณะของสมถภาวนานั้นเห็นโทษ และยังยึดถือว่า เป็นเรารู้อยู่ ใช่ไหม ทีนี้ในเมื่อผู้ที่เจริญสมถภาวนา ยังต้องรู้ลักษณะของกุศลก็ดี อกุศลก็ดี แต่เข้าใจการละอกุศล ข่มกิเลสในขณะนั้นชั่วคราว จะต้องมีปัญญามากทีเดียว ทีนี้ก็เลยบอกว่า ถ้าเกิดเช่นนั้น เราศึกษาพระธรรม แล้วก็รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่พระพุทธทรงแสดงแล้วจะปลอดภัยกว่า หรือว่าทำการเผยแพร่ให้ผู้ที่เจริญสมถภาวนา โดยให้ศึกษาพระธรรมวินัยให้ละเอียดเสียก่อนดีกว่า แทนที่จะให้เสี่ยงให้ผู้ที่เจริญสมถภาวนาไปพิจารณาอารมณ์ เช่น ลมหายใจ และไปสังเกตเอาเองว่า ตอนไหนเป็นกุศลอกุศล สรุปได้ว่า อารมณ์ของสมถภาวนานั้นจะเป็นปรมัตถ์ก็ดี หรือเป็นบัญญัติก็ได้ แต่ถ้าเป็นวิปัสสนาภาวนาแล้วจะต้องมีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์อย่างดี ใช่ไหม แล้วปัญญายังต้องรู้มากกว่านั้นอีก เช่น รู้เหตุเกิด เหตุดับ รู้ความเกิดความดับต่างๆ พอสนทนาไปถึงตอนนี้แล้ว ก็มีปัญหาที่ว่า ผู้ที่จะเจริญวิปัสสนาโดยเอาสมถะขึ้นมาช่วย แม้กระทั่งเข้าใจการเจริญสมถะแล้ว เข้าใจการเจริญวิปัสสนาแล้ว ถ้าเจริญวิปัสสนาในขณะที่อารมณ์ไม่สงบก็ดี ฟุ้งซ่านก็ดี มีสมถภาวนาเข้ามาช่วย อย่างนี้จะเป็นผู้ที่เข้าใจไหม
ท่านอาจารย์ ช่วยอย่างไร คือการที่จะพูดอะไรก็ตามแต่ ก็จะต้องมีข้อปฏิบัติด้วย ไม่ใช่เพียงพูดเฉยๆ ถ้าพูดเฉยๆ แล้วก็ไม่สามารถที่จะเข้าใจได้จริงๆ เช่นบางท่านให้บอกว่า ให้ดับผัสสะ ถ้ากล่าวว่าอย่างนั้น เพราะเหตุว่าถ้ามีผัสสะแล้วก็ยังมีโลภะ มีโทสะ เพราะฉะนั้นวิธีที่จะกัน ก็คือให้ดับผัสสะ พูดอย่างนี้ก็เป็นอันว่า ไม่ทราบจะปฏิบัติอย่างไรเพื่อจะดับโทสะ เพราะเหตุว่าผัสสะเป็นสภาพธรรมที่กระทบอารมณ์ ถ้าจิตเกิดขึ้นขณะใด ที่จะปราศจากผัสสะย่อมเป็นไปไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นจะดับผัสสะอย่างไร ในเมื่อผัสสะจะต้องเกิดกับจิตทุกขณะ
เพราะฉะนั้นการพูดจะต้องมีวิธีการปฏิบัติด้วย เพราะฉะนั้นที่ว่าจะอาศัยสมถภาวนาช่วย จะอาศัยอย่างไร ข้อปฏิบัติอย่างไรที่เป็นวิปัสสนาที่ช่วยในการเจริญสติปัฏฐาน
พระ เช่นการเจริญอานาปานสติ ขณะที่อยู่ในชีวิตประจำวัน พอคิดว่าสติปัฏฐานเกิดน้อย ก็เลยคิดว่า กุศลขั้นอื่นๆ ควรเจริญ ก็นั่งพิจารณาลมหายใจเพื่อที่จะให้จิตสงบ แล้วอารมณ์ใดๆ ปรากฏ คิดว่าสติปัฏฐานจะเกิดได้
ท่านอาจารย์ การเจริญอานาปานสติต้องกระทำด้วยปัญญา แล้วก็เป็นผู้ที่เป็นมหาบุรุษ คือเป็นผู้มีปัญญามากจริงๆ แต่คนที่มีปัญญาเพียงเล็กน้อย ถ้าเทียบปัญญาของปุถุชนซึ่งยังไม่เกิดอะไรเลย แล้วก็จะไปทำอานาปานสติ โดยที่ยังไม่รู้ว่า การเจริญอานาปานสติจะต้องเป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์อย่างไร และสำหรับเรื่องการที่จะอาศัยวิธีอื่นที่จะช่วยในการเจริญสติปัฏฐาน ก็จะต้องพิจารณาเหตุกับผลให้ตรงกันด้วยที่ว่า สติเกิดน้อย จึงหาวิธีอื่นที่จะช่วย นี่เป็นเรื่องหนึ่ง
- โสภณธรรม ครั้งที่ 101
- โสภณธรรม ครั้งที่ 102
- โสภณธรรม ครั้งที่ 103
- โสภณธรรม ครั้งที่ 104
- โสภณธรรม ครั้งที่ 105
- โสภณธรรม ครั้งที่ 106
- โสภณธรรม ครั้งที่ 107
- โสภณธรรม ครั้งที่ 108
- โสภณธรรม ครั้งที่ 109
- โสภณธรรม ครั้งที่ 110
- โสภณธรรม ครั้งที่ 111
- โสภณธรรม ครั้งที่ 112
- โสภณธรรม ครั้งที่ 113
- โสภณธรรม ครั้งที่ 114
- โสภณธรรม ครั้งที่ 115
- โสภณธรรม ครั้งที่ 116
- โสภณธรรม ครั้งที่ 117
- โสภณธรรม ครั้งที่ 118
- โสภณธรรม ครั้งที่ 119
- โสภณธรรม ครั้งที่ 120
- โสภณธรรม ครั้งที่ 121
- โสภณธรรม ครั้งที่ 122
- โสภณธรรม ครั้งที่ 123
- โสภณธรรม ครั้งที่ 124
- โสภณธรรม ครั้งที่ 125
- โสภณธรรม ครั้งที่ 126
- โสภณธรรม ครั้งที่ 127
- โสภณธรรม ครั้งที่ 128
- โสภณธรรม ครั้งที่ 129
- โสภณธรรม ครั้งที่ 130
- โสภณธรรม ครั้งที่ 131
- โสภณธรรม ครั้งที่ 132
- โสภณธรรม ครั้งที่ 133
- โสภณธรรม ครั้งที่ 134
- โสภณธรรม ครั้งที่ 135
- โสภณธรรม ครั้งที่ 136
- โสภณธรรม ครั้งที่ 137
- โสภณธรรม ครั้งที่ 138
- โสภณธรรม ครั้งที่ 139
- โสภณธรรม ครั้งที่ 140
- โสภณธรรม ครั้งที่ 141
- โสภณธรรม ครั้งที่ 142
- โสภณธรรม ครั้งที่ 143
- โสภณธรรม ครั้งที่ 144
- โสภณธรรม ครั้งที่ 145
- โสภณธรรม ครั้งที่ 146
- โสภณธรรม ครั้งที่ 147
- โสภณธรรม ครั้งที่ 148
- โสภณธรรม ครั้งที่ 149
- โสภณธรรม ครั้งที่ 150
- โสภณธรรม ครั้งที่ 151
- โสภณธรรม ครั้งที่ 152
- โสภณธรรม ครั้งที่ 153
- โสภณธรรม ครั้งที่ 154
- โสภณธรรม ครั้งที่ 155
- โสภณธรรม ครั้งที่ 156
- โสภณธรรม ครั้งที่ 157
- โสภณธรรม ครั้งที่ 158
- โสภณธรรม ครั้งที่ 159
- โสภณธรรม ครั้งที่ 160