โสภณธรรม ครั้งที่ 119
ตอนที่ ๑๑๙
ท่านอาจารย์ และสำหรับเรื่องการที่จะอาศัยวิธีอื่นที่จะช่วยในการเจริญสติปัฏฐาน ก็จะต้องพิจารณาเหตุกับผลให้ตรงกันด้วยที่ว่า สติเกิดน้อย จึงหาวิธีอื่นที่จะช่วย นี่เป็นเรื่องหนึ่ง
ก็ควรจะได้ทราบว่า ทำไมถึงจะต้องการที่จะมีสติ ถ้ายังไม่รู้จุดประสงค์ว่าทำไมจึงต้องการมีสติ ก็เคลื่อนผิด หรือเพี้ยนผิดไปอีก
การที่สติจะระลึกลักษณะของสภาพธรรม ไม่ใช่เพื่อให้มีสติมากๆ แต่เพื่ออะไร
พระ เพื่อเข้าใจลักษณะ
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นจุดประสงค์ คือ ขณะนี้มีสภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรมกำลังปรากฏ ในขณะนี้เองมีสภาพปรมัตถธรรมกำลังปรากฏ อยากจะพูดซ้ำกันซ้ำมา เพื่อเป็นการเตือนว่า สภาพที่เป็นปรมัตถธรรมกำลังปรากฏแล้ว อวิชชาทำให้ไม่ระลึกรู้ลักษณะของปรมัตถธรรม ไม่ใช่ต้องไปทำอย่างอื่นเลย เพราะฉะนั้นที่ขาด คือขาดปัญญาที่จะรู้ประโยชน์ของการที่สติจะระลึกแม้เพียงเล็กน้อย เพราะเหตุว่าถ้าในขณะนี้สภาพธรรมกำลังปรากฏ แต่สติปัฏฐานไม่เกิด ไม่ระลึก ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรม ไม่สังเกตพิจารณาว่า เป็นเพียงอาการรู้ ซึ่งเป็นนามธรรม ที่ฟังมาตลอดเวลา หรือเป็นลักษณะของรูปธรรม ซึ่งก็ฟังมาตลอดเวลา ก็อาจจะพูดตามได้ว่าลักษณะใดเป็นรูป ลักษณะใดเป็นนาม แต่นั่นเป็นการฟัง การจำเรื่องของนามธรรมและรูปธรรม ยังไม่ใช่การที่สติจะระลึก เพื่อที่จะศึกษาให้เข้าใจจริงๆ
เพราะฉะนั้นถ้าเข้าใจอย่างนี้ว่า การที่สติปัฏฐานแม้เพียงชั่วขณะจะเกิดระลึกลักษณะของปรมัตถธรรม ก็เป็นประโยชน์ ไม่ใช่ให้ไปทำอย่างอื่นขึ้นมาช่วย ทำอย่างอื่นแล้วปัญญาไม่มีทางที่จะเกิด แล้วสังเกตพิจารณาลักษณะของนามธรรมหรือรูปธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ แต่ว่ามุ่งหวังว่าทำอย่างอื่นเสียก่อนเพื่อจะรู้อย่างนี้ นี่เป็นสิ่งที่เคลื่อนไปทั้งหมดเลย คือ ไม่เห็นประโยชน์ของแม้สติชั่วขณะที่จะระลึกลักษณะของนามธรรมหรือรูปธรรมที่กำลังปรากฏ
เพราะฉะนั้นสาสตสัมปชัญญะ ก็ให้รู้ประโยชน์ของสติปัฏฐาน ไม่ใช่ให้ไปทำอย่างอื่นเลย ไม่ใช่ให้ไปเอาอย่างอื่นมาสับสน แล้วก็คิดว่า หวังว่าจะเกิดปัญญา แต่การที่เพียรฟังพระธรรมให้เข้าใจประโยชน์ของสติ แม้เพียงชั่วขณะเล็กๆ น้อยๆ ก็รู้ว่า สติปัฏฐานเป็นอนัตตา ไม่ใช่อยากจะมีมากๆ แล้วก็ไม่รู้อะไรเลย
เพราะฉะนั้นการฟังพระธรรมเพื่อเกื้อกูลที่จะเห็นว่า ยิ่งมีความเข้าใจในลักษณะของนามธรรมหรือรูปธรรมเพิ่มขึ้น ปกติธรรมดา แม้ว่า ขณะที่คิดว่าสติจะไม่เกิดเลย เช่นขณะที่กำลังเพลิดเพลินสนุกสนาน สติปัฏฐานก็ยังระลึกได้ แล้วแต่ว่าจะระลึกที่ความรู้สึกที่กำลังเป็นสุข แล้วก็รู้ว่าเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งเท่านั้นเอง
นี่คือสิ่งที่จะต้องอบรมเจริญไปจนกว่าจะประจักษ์แจ้งในลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน โดยนามธรรมและรูปธรรมปรากฏทีละลักษณะทางมโนทวาร พร้อมด้วยสติสัมปชัญญะ ต้องการอย่างนี้หรือเปล่า ถ้าไม่ต้องการอย่างนี้ก็ไปทำอย่างอื่น แต่ถ้าต้องการอย่างนี้ เหตุกับผลต้องตรงกัน คือถ้าต้องการปัญญาอย่างนี้จะไม่มีวิธีอื่นเลย แม้ว่าจะเป็นวิธีที่ช้า เป็นวิธีที่มองดูยิ่งกว่าจับด้ามมีด เพราะเหตุว่าด้ามมีดเป็นวัตถุ เป็นรูปยังสึกได้ด้วยการจับ แม้ว่าจะกินเวลานานแสนนาน แต่ว่านามธรรมในแสนโกฏิกัปป์ ซึ่งเกิดดับสืบต่อมาจนกระทั่งถึงชาตินี้ แล้วก็ในชาติหนึ่งๆ การฟังพระธรรมแต่ละท่านมีเท่าไร ฟังแล้ว ยังเก็บ คิด จำ พิจารณามากน้อยเท่าไร แล้วก็วันหนึ่งๆ ที่สติปัฏฐานจะเกิดมากน้อยเท่าไร แล้วชีวิตชาติหนึ่งสั้นแค่ไหน ก็ลองคิดดูว่า จะได้ปัญญาจากชาติหนึ่งเท่าไร ที่จะเป็นสติปัฏฐานที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏจริงๆ แล้วถ้าไม่สะสมสติปัฏฐานแม้ว่าจะน้อย แต่ก็ไม่ใช่ไปทำอย่างอื่นแต่ละชาติๆ ๆ ไปจนกว่าจะถึง แต่ถ้าไปทำอย่างอื่น ก็ยิ่งเมินความสำคัญของสติชั่วขณะที่จะระลึกของสิ่งที่กำลังปรากฏที่เป็นปรมัตถธรรม
การฟัง เข้าใจได้ แต่ว่าลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตนจะไม่หมดไปด้วยการฟัง ต้องเป็นเพราะสติปัฏฐานแม้ชั่วขณะนิดเดียวก็ให้รู้ว่า นั่นคือลักษณะของสติสัมปชัญญะที่กำลังมีลักษณะของปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ เพียงแต่ว่าปัญญายังไม่รู้ชัดว่า ลักษณะนั้นไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน เพราะเหตุว่าอัตตสัญญายังจำไว้มั่นคงว่า ยังเป็นเราที่ยืน ที่เห็น ที่พูด ที่นั่ง ที่นอน ที่คิด ที่นึก ที่สุข ที่ทุกข์
พระ นี่ก็เป็นคำตอบที่ดีมาก เพราะเหตุว่าคราวที่แล้วอาตมาก็พูดถึงเรื่องที่อยากจะไปปฏิบัติหลายๆ แบบ หลังจากโยมอาจารย์เลิกบรรยาย ก็มีโยมคนหนึ่งมาถามอาตมาว่า ปกติเขาก็พูดกันว่า “อยาก” พออยากไปแล้ว บางทีก็ปฏิบัติถูกได้ แล้วก็เข้าใจได้ ใหม่ๆ ก็ต้องอยากก่อน ทีนี้อย่างที่โยมอาจารย์บอกว่า เริ่มต้นเป้าหมายต้องมี แล้วก็เหตุต้องตรงกับผล คือ อาตมาเคยเป็นมา ในขณะที่อยากปฏิบัติ ถ้าไม่มีความทุกข์เรื่องของโทสะเกิดขึ้น ไม่ค่อยเจริญเลยกุศล แต่เมื่อมีโทสะเกิดขึ้น ถึงจะเจริญ อันนี้อาตมาคิดว่า เป็นปัจจัยให้กุศลไม่เจริญเป็นปกติ แต่อาตมาก็อธิบายให้ฟังว่า ต่างกับผู้ที่เห็นโทษของกาม เห็นโทษของอกุศล แล้วไปเจริญกุศลด้วยกุศล จะต่างกันมาก แม้กระนั้นตอนนี้จิตใจไม่มีโทสะ แต่เข้าใจโทษต่างๆ ของอกุศล จะดีกว่าใช่ไหม
ท่านอาจารย์ แล้วท่านเหล่านั้นไม่เห็นโทษของอวิชชาใช่ไหม
พระ ไม่เห็น
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นต้องเห็นโทษของอวิชชา ความไม่รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ
พระ ถ้าไม่เห็นโทษของอวิชชา ก็ไม่คิดที่จะเจริญสติปัฏฐาน
ท่านอาจารย์ จะไม่คิดที่จะเจริญปัญญาเลย เพราะว่าไม่เห็นโทษของอวิชชา เพราะเหตุว่าที่จริงแล้วเพราะอวิชชา จึงมีความยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน แล้วเกิดความอยาก ความต้องการเพื่อตัว แม้แต่การที่จะปฏิบัติก็เพื่อตัว อยากจะให้ตัวเองมีสติมากๆ ไม่มีหนทางที่จะละความเป็นตัวตนด้วยวิธีอื่น
พระ แต่เพราะรู้ว่าเนื่องจากยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน อวิชชาปกปิดความจริงจึงเกิดทุกข์ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ แล้วก็อยากจะปฏิบัติก็คือความยึดมั่นในตัวตนนั่นเอง
พระ แทนที่จะเจริญเหตุ
ท่านอาจารย์ แทนที่จะละความเป็นตัวตนว่าไม่มีเรา คือ ปัญญาเป็นเรื่องละเอียดมาก เป็นเรื่องที่จะต้องเจริญขึ้นถูกต้อง จึงจะประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมได้ เพราะเหตุว่าถ้าเป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์ธรรมดาขั้นของการรู้เรื่องของกรรม แต่ที่จริงแล้วข้อความในอรรถกถามีว่า วิปัสสนาญาณทั้งหมดเว้นขณะที่มรรคจิตจะเกิด เป็นกัมมสกตาญาณ เพราะเหตุว่าเป็นผู้ที่รู้ว่า ในขณะนี้เองไม่มีใครสามารถที่จะทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้ ทุกอย่างเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แม้แต่กำลังเห็นขณะนี้
ขณะนี้ใครทำอะไรได้ เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยทั้งสิ้น เมื่อรู้ว่าสภาพธรรมทั้งหลายต้องมีเหตุปัจจัย การเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การกระทบสัมผัสเกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นปัจจัย จะไม่ทำอย่างอื่นเลย นอกจากเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่อาศัยปัจจัยเกิดขึ้น
ผลของกรรมทางตาที่ต้องเห็นในขณะนี้ไม่มีใครทำอะไรได้ เพราะฉะนั้นก็ไม่ไปทำอย่างอื่น นอกจากเพียรระลึกลักษณะของสภาพธรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย การปรุงแต่งก็น้อยลง การที่จะเป็นเรื่องราวต่างๆ เป็นตัวตน เป็นความคิดนึก เป็นสัตว์ บุคคล ก็จะรู้ได้ว่า แท้ที่จริงแล้วก็คือขณะจิตที่คิด
เพราะฉะนั้นตั้งแต่เกิดจนตายที่มีความสำคัญว่าเป็นเรา ก็เพราะคิด มีความสำคัญว่าเป็นเขา ก็เพราะคิด จะชังใคร จะรักใคร ก็เพราะคิด
เพราะฉะนั้นถ้าสติปัฏฐานระลึกลักษณะของปรมัตถธรรม แล้วก็เพิ่มความรู้ในลักษณะของปรมัตถธรรมขึ้น ก็จะลดการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เพราะรู้ลักษณะว่าเป็นเพียงความคิด ไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏทางตาจริงๆ ถ้าแยกรู้ว่า ในขณะนี้สิ่งที่ปรากฏทางตาจริงๆ กำลังปรากฏ ไม่จำเป็นต้องใช้คำอะไรเลย ไม่จำเป็นต้องใช้คำว่า สีสันวัณณะรูปร่างสัณฐาน หรืออะไรทั้งสิ้น สูงต่ำดำขาว หรืออะไรทั้งหมด ไม่ต้องใช้เลย เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่กระทบจักขุปสาทแล้วดับ มีอายุที่สั้นที่สุดเลย แต่ว่าความคิดสืบต่อ
เพราะฉะนั้นถ้าสามารถจะแยกความคิดซึ่งสืบต่อจากการเห็น ก็จะทำให้รู้ว่า ในขณะที่เป็นตัวตน เป็นเรา เป็นเขา วันหนึ่งๆ อย่างมากมายนั้นก็เพราะความคิด
พระ ก็จะต้องแยกลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตาจากความคิดออกจากกัน
ท่านอาจารย์ แน่นอน มิฉะนั้นก็จะไม่รู้ความต่างกันของปรมัตถธรรมกับบัญญัติ
พระ เดี๋ยวนี้รูปร่างสัณฐานมี เพราะความคิด และสีก็มีทางตา
ท่านอาจารย์ ถ้าใช้คำว่า “สิ่งที่ปรากฏทางตา” แล้วก็สั้นมาก ความคิดยังไม่ทันจะเกิด ถ้าคิดถึงว่าสั้นมาก ยังไม่ทันจะคิดถึงรูปร่างสัณฐาน แต่ว่าสิ่งที่ปรากฏทางตาปรากฏแล้ว โดยยังไม่ได้คิดถึงรูปร่างสัณฐาน ก็จะรู้ได้ว่ารวดเร็วสักแค่ไหน กับการที่เพียงเห็นแล้วยังไม่ทันจะคิดถึงรูปร่างสัณฐาน
นั่นคือความจริงของสิ่งที่ปรากฏทางตา แล้วถ้าสติปัฏฐานไม่ค่อยๆ เกิดระลึกไปเรื่อยๆ อบรมเจริญไปทีละเล็กทีละน้อย แต่ไปทำอย่างอื่น ก็ไม่มีทางที่จะประจักษ์แจ้งได้ว่า สภาพธรรมที่กำลังเห็นในขณะนี้เป็นแต่เพียงลักษณะที่รู้อย่างเร็ว แล้วก็มีสิ่งที่ปรากฏให้รู้แล้วก็ดับไป แล้วความคิดนึกก็เกิดสืบต่ออย่างเร็ว จนกระทั่งไม่ปรากฏเลยว่า สภาพธรรมใดดับ
เพราะฉะนั้นก็ปรากฏเหมือนกับมีสัตว์ มีบุคคลจริงๆ ที่ทำให้รักบ้าง ชังบ้าง
พระ อาตมาสังเกตดู ขณะหลับตา ก็ยังมีรูปร่างสัณฐาน หรือคิดนึกถึง เหมือนกับเห็นทางตา แต่ถ้าทางตาปรากฏจริงๆ มีลักษณะของสิ่งที่ปรากฏซึ่งต่างกับคิด อาตมาก็คิดว่า ในขณะที่สติปัฏฐานยังไม่มีกำลัง หรือยังไม่เข้าใจละเอียด ไม่สามารถแยกความคิดกับเห็นทางตาออกจากกันได้
ท่านอาจารย์ ถ้าแยกไม่ออก นามรูปปริจเฉทญาณซึ่งเป็นวิปัสสนาญาณที่ ๑ ก็เกิดไม่ได้ แล้วจะไปทำอย่างอื่นเพื่อจะให้นามรูปปริจเฉทญาณเกิดได้อย่างไร ถ้าจะอาศัยวิธีอื่น
พระ ขึ้นอยู่กับการศึกษาและเข้าใจมากกว่า
ท่านอาจารย์ แน่นอนที่สุด เพราะฉะนั้นการอบรมเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นเรื่องละเอียด และเป็นสังขารธรรม เพราะเหตุว่ามรรคมีองค์ ๘ ก็ได้แก่เจตสิก ๘ ดวง ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เกิดดับ ในบรรดาสังขารธรรมทั้งหลาย อริยมรรคเป็นเลิศ คือ ในชาติหนึ่งๆ ที่สัมมาสติจะเกิดพร้อมกับสัมมาสังกัปปะ คือ วิตกเจตสิก พร้อมด้วยสัมมาวายามะ พร้อมด้วยสัมมาสติ และสัมมาสมาธิ คือ มรรคมีองค์ ๕ ซึ่งเกิดพร้อมกัน ในขณะที่ระลึกถึงลักษณะของสภาพธรรมเพียงชั่วเล็กน้อย ก็เป็นเลิศของสังขตธรรม ซึ่งกว่าจะอบรมเจริญไปทีละเล็กทีละน้อยจริงๆ ไม่ใช่ว่าไม่มีหนทาง มี แต่ต้องใจเย็นๆ แล้วก็รู้ว่า สภาพธรรมเกิดดับเร็วอย่างนี้ ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด แล้วปัญญาไม่เจริญ ก็ไม่สามารถที่จะประจักษ์การแยกขาดจากกันของนามธรรมและรูปธรรมแต่ละทวารได้
เพราะฉะนั้นสภาพธรรมตามความเป็นจริงคืออย่างนี้ คือ สังขารธรรมทั้งหลายเกิดแล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว ปัญญาจะต้องอบรมจนประจักษ์แจ้งได้ เพราะฉะนั้นอย่าได้ไปคิดทำวิธีอื่นเลย ซึ่งวิธีอื่นไม่ใช่อริยมรรคมีองค์ ๘
พระ ทีนี้อีกปัญหาหนึ่ง การที่จะศึกษาลักษณะของสัญญา อาตมามีความคิดอย่างนี้ จะคิดถูกหรือเปล่า คือ ขณะใดที่เห็นหรือได้ยิน หรือได้กลิ่น กลิ่นก็คือกลิ่น คือ สภาพที่ไม่รู้อารมณ์ เสร็จแล้วจะมีลักษณะของรู้หรือจำได้ว่า กลิ่นอะไร ลักษณะนั้นเป็นลักษณะของสัญญาหรือเปล่า
ท่านอาจารย์ ตามความเป็นจริงแล้ว สัญญาเจตสิกเกิดกับจิตทุกดวง แต่การที่สติจะระลึกลักษณะของสัญญา ซึ่งเป็นสัญญาขันธ์เกิดกับจิต เกิดกับนามขันธ์อื่นพร้อมๆ กัน โดยเคยมีสัญญาที่จำผิดมาโดยตลอด คืออัตตสัญญา นิจจสัญญา เห็นว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดโดยไม่ดับ ขณะนั้นก็รู้ได้ว่า ที่จะให้เกิดสัญญาที่ถูกต้องที่เกิดร่วมกับปัญญา ก็จะต้องอาศัยเพราะสติระลึกว่า ในขณะที่รู้ ไม่ลืมว่าสิ่งนั้นเป็นอะไร ขณะนั้นพอจะรู้ลักษณะของสัญญาได้ ไม่ใช่ว่าจะต้องไปรู้สัญญาที่เกิดกับภวังคจิตบ้าง หรือจิตอื่นๆ บ้าง แต่ว่าการที่จะเริ่มระลึกลักษณะของสัญญาซึ่งเกิดร่วมกับนามขันธ์อื่นๆ ลักษณะของโลภะอาจจะพอปรากฏ ลักษณะของโทสะ ทุกคนก็รู้จักดี แต่ว่าลักษณะของสัญญา ในขณะที่เห็นแล้วรู้ คือ เห็นแล้วไม่ลืม รู้ว่าสิ่งนั้นเป็นอะไร ขณะนั้นก็พอที่จะเริ่มพิจารณาว่า นั่นคือลักษณะของสัญญา
พระ สมมติดื่มน้ำส้ม ขณะที่ดื่ม รสของน้ำส้ม ก็คือรส แต่รู้ว่าเป็นน้ำส้ม ขณะนั้นเป็นจำหรือเปล่า
ท่านอาจารย์ ขณะที่ไม่ลืม ขณะที่รู้ ขณะนั้นก็เป็นสัญญา แต่แท้ที่จริงในขณะที่กำลังลิ้มรสน้ำส้ม ขณะนั้นก็ต้องมีสัญญาเจตสิกด้วย มีสัญญาขันธ์ด้วย แต่ว่าแม้นามธรรมรูปธรรมก็ยังไม่ได้ระลึก เพราะฉะนั้นจะแยกนามธรรมออกมาเป็นสัญญาขันธ์บ้าง หรือเวทนาขันธ์บ้าง หรือวิญญาณขันธ์บ้าง หรือสังขารขันธ์บ้าง ก็เป็นสิ่งที่ปัญญาจะต้องค่อยๆ เจริญขึ้น จนกว่าจะค่อยๆ รู้ขึ้น
เพราะฉะนั้นขั้นแรกที่สุด คือ ขณะนี้ลักษณะของนามธรรมซึ่งเป็นสภาพรู้ แม้ว่ามีอยู่ คือ กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ แต่ถ้าสติไม่ระลึกพิจารณาศึกษา จะไม่รู้เลยว่าเป็นแต่เพียงสภาพรู้
เพราะฉะนั้นก่อนอื่น ไม่ใช่ไปแยกเป็นสัญญาขันธ์ หรือสังขารขันธ์ หรือเวทนาขันธ์ แต่ว่าลักษณะของสภาพรู้ต่างกับลักษณะของรูปธรรม ซึ่งไม่ใช่สภาพรู้ ไม่ว่าจะเป็นสัญญา หรือเวทนา หรือจิตก็ตามแต่ เป็นลักษณะรู้ เป็นอาการรู้
พระ ค่อยๆ สังเกตระหว่างสภาพที่ไม่รู้อารมณ์กับสภาพที่รู้อารมณ์ไปก่อน แล้วสิ่งที่ปรากฏและรู้ได้ในขณะนั้น เข้าใจในขณะนั้น
ท่านอาจารย์ อย่างเวลาที่รู้ลักษณะของสภาพรู้ ก็อาจจะมีลักษณะของเจตสิกซึ่งทรงแสดงไว้ว่าชื่ออะไรปรากฏในขณะนั้นได้ โดยที่ว่าขณะนั้นกำลังพิจารณาเพียงลักษณะสภาพรู้ แต่ว่าลักษณะสภาพรู้ที่กำลังพิจารณานั่นเอง ต่างกันเป็นหลายอย่าง คือ สภาพรู้อย่างนี้เป็นความพอใจ สภาพรู้อย่างนั้นเป็นความเมตตา สภาพรู้อย่างนั้นเป็นความกรุณา สภาพรู้อย่างนั้นเป็นความสุข สภาพรู้อย่างนั้นเป็นความทุกข์
อย่างทุกข์กาย ไม่มีใครไม่รู้ ทุกคนรู้จักดีทีเดียว แต่ว่าขณะที่กำลังปรากฏ ก็รู้ว่าขณะนั้นเป็นแต่เพียงสภาพรู้สึก ซึ่งเป็นอาการรู้ หรือสภาพรู้อย่างหนึ่ง นี่ก็ต่างกันแล้ว ระหว่างความทุกข์กายกับเห็นที่กำลังเห็นทางตา
เพราะฉะนั้นขณะที่กำลังศึกษาลักษณะของนามธรรมแต่ละชนิด ก็คือการรู้สภาพของนามขันธ์หนึ่งนามขันธ์ใดใน ๔ นามขันธ์ ซึ่งจะค่อยๆ ละเอียดขึ้น
พระ ยกตัวอย่าง บางครั้งเกิดโทสะขึ้น มีทุกขเวทนาเกิดร่วมด้วย แล้วสติก็ใส่ใจเพียงลักษณะ แต่ก็ใส่ชื่อไม่ถูกว่า ขณะนั้นเป็นทุกขเวทนา หรือเป็นลักษณะของประทุษร้ายอารมณ์ บางครั้งก็แยกชื่อไม่ถูก แต่ก็ค่อยๆ ศึกษาไปเรื่อยๆ คงจะเป็นความไม่ละเอียดของสติที่ค่อยๆ ระลึกไปเรื่อย
ท่านอาจารย์ นี่คือการสลับกันของขณะที่สติปัฏฐานเกิด กับขณะที่หลงลืมสติ คือ ขณะที่สติปัฏฐานเกิด จะระลึกตรงลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรม ขณะนั้นปัญญาจะค่อยๆ ศึกษา คือ ระลึกรู้ว่า เป็นแต่เพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ขณะนั้นไม่ได้เอ่ยเป็นคำ และขณะนั้นก็เป็นสติปัฏฐาน แต่ขณะที่พยายามจะนึกว่า นี่เป็นความรู้สึกอะไร กำลังพยายามจะแยกขณะนั้นไม่ใช่สติปัฏฐาน เพราะว่ากำลังจะใส่ชื่อ
เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่า สติปัฏฐานสลับกับจิตที่ไม่ใช่สติปัฏฐาน
พระ แล้วก็มีปัญหาหนึ่ง คือ พระอรหันต์ท่านละกิเลสได้หมดแล้ว แล้วมีมหากิริยาจิต สตินั้นต้องเกิดกับมหากิริยาจิต พูดถึงในชวนะ และจิตนั้นจะเรียกชื่อว่าเป็นสติปัฏฐานได้ไหม มหากิริยาจิตของพระอรหันต์มีทั้งหมดอย่างละ ๔ ดวง ประกอบด้วยปัญญา ๔ ดวง ไม่ประกอบด้วยปัญญา ๔ ดวง ขณะใดที่ประกอบไปด้วยมหากุศลญาณสัมปยุตต์เป็นสติปัฏฐาน
ท่านอาจารย์ ขณะใดเป็นญาณสัมปยุตต์ ก็แล้วแต่ระดับขั้น เพราะเหตุว่าญาณสัมปยุตต์ขณะที่ปัญญาเกิด แล้วแต่ว่าจะเป็นปัญญาระดับใด
พระ ต้องแล้วแต่ปัญญาที่รู้
ท่านอาจารย์ แต่ว่าพระอรหันต์ก็ยังมีมหากิริยาญาณวิปยุตต์ด้วย ไม่ใช่ว่าจะต้องมหากิริยาญาณสัมปยุตต์ทุกครั้ง
พระ เพราะว่าอ่านในสูตรๆ หนึ่ง ท่านพระอนุรุทธะท่านมีสติปัฏฐาน ๔ เป็นวิหารธรรม แสดงว่าท่านก็ไม่ได้มีสติปัฏฐานตลอดเวลา
ท่านอาจารย์ เรื่องของการเจริญสติปัฏฐานเป็นเรื่องที่ละเอียด เป็นเรื่องที่จะต้องมีความมั่นคงในการเห็นประโยชน์จริงๆ เพราะเหตุว่าถ้าจะทำอย่างอื่นโดยไม่รู้ ก็ไม่ควรจะทำ เพราะเหตุว่าผลก็ต้องเป็นความไม่รู้อยู่นั่นเอง
ท่านที่อยากจะทำสมาธิ จะรู้สึกได้ตั้งแต่ต้นถ้าเป็นผู้ที่ประกอบด้วยปัญญาว่า เป็นความอยาก ไม่ใช่เป็นความรู้ถ้าเป็นเรื่องของการทำสมาธิ แต่ถ้าเป็นเรื่องที่เกิดอกุศลจิตขึ้น แล้วสติระลึกรู้ว่า ขณะนี้เป็นอกุศล แล้วก็เจริญกุศล ขณะนั้นเป็นการเจริญสมถภาวนาในชีวิตประจำวัน เพราะเหตุว่าถ้าขณะใดที่จิตเป็นกุศล ขณะนั้นสงบ
อดิศักดิ์ เนื่องจากยังเป็นปุถุชนอยู่ ก็ทำให้คิดหาวิธีกันอยู่เรื่อยเวลาเจริญสติปัฏฐาน ผมเองในระยะที่ผ่านมาก็คิดเหมือนกันว่า สติไม่ค่อยได้ระลึกเท่าไร คือระลึกน้อย ก็เกิดคิดว่า ถ้าเกิดสติไม่ระลึก เราก็ท่องพระพุทธคุณเลย อิติปิโส ภควา อรหันตสัมมาสัมพุทโธไปเรื่อย เพราะว่าการท่องอิติปิโส ภควา ก็เป็นสมถภาวนาอย่างหนึ่ง ผมก็คิดว่าเป็นกุศล ก็น่าจะเจริญ และเนื่องจากยังมีสัตว์ มีบุคคลเป็นอารมณ์ คือไม่เป็นอนัตตา คือเราสามารถจะเปล่งวาจาออกมาได้ น่าจะง่ายกว่าสติปัฏฐานที่จะต้องระลึกรู้ ซึ่งเป็นอนัตตา เหตุปัจจัยยังไม่ได้ก็ยังไม่ระลึก
อันนี้ก็รู้สึกว่าจะตรงกับคำถามของพระคุณเจ้าที่ถามอาจารย์ อาจารย์ว่าเป็นอย่างไร
ท่านอาจารย์ ที่จริงแล้วตอนที่ระลึกได้ว่า ขณะนั้นสติไม่เกิด สติควรจะระลึกทันทีแทนที่จะไปทำอย่างอื่น ในเมื่อรู้ว่าเมื่อสักครู่นี้หลงลืมสติ ต้องมีสิ่งที่สติจะระลึก ทำไมไม่ระลึกทันที กลับไปทำอย่างอื่น
อดิศักดิ์ เพราะเหตุปัจจัยยังไม่มี ก็เพียรระลึกไม่ได้ อาจารย์บอกให้เพียรระลึกเลยใช่ไหม
ท่านอาจารย์ มิได้ เวลาที่รู้ว่าหลงลืมสติ ขณะนั้นคือสติที่รู้ว่าหลงลืมสติแล้ว ทำไมมีลักษณะของปรมัตถธรรมที่ปรากฏแล้วไม่ระลึกละคะ ในเมื่อรู้แล้วว่า เมื่อสักครู่นี้หลงลืมสติ สติปัฏฐานก็ระลึกทันที
อดิศักดิ์ ก็นั่นซิ ก็เนื่องจากอินทรีย์ยังไม่แก่กล้าก็ไม่ระลึก ไม่ระลึกก็ไปหาวิธีอื่น ผมว่าเป็นธรรมดาของปุถุชน ที่จะไขว่คว้า ที่จะหาสติปัฏฐานมาให้ได้
- โสภณธรรม ครั้งที่ 101
- โสภณธรรม ครั้งที่ 102
- โสภณธรรม ครั้งที่ 103
- โสภณธรรม ครั้งที่ 104
- โสภณธรรม ครั้งที่ 105
- โสภณธรรม ครั้งที่ 106
- โสภณธรรม ครั้งที่ 107
- โสภณธรรม ครั้งที่ 108
- โสภณธรรม ครั้งที่ 109
- โสภณธรรม ครั้งที่ 110
- โสภณธรรม ครั้งที่ 111
- โสภณธรรม ครั้งที่ 112
- โสภณธรรม ครั้งที่ 113
- โสภณธรรม ครั้งที่ 114
- โสภณธรรม ครั้งที่ 115
- โสภณธรรม ครั้งที่ 116
- โสภณธรรม ครั้งที่ 117
- โสภณธรรม ครั้งที่ 118
- โสภณธรรม ครั้งที่ 119
- โสภณธรรม ครั้งที่ 120
- โสภณธรรม ครั้งที่ 121
- โสภณธรรม ครั้งที่ 122
- โสภณธรรม ครั้งที่ 123
- โสภณธรรม ครั้งที่ 124
- โสภณธรรม ครั้งที่ 125
- โสภณธรรม ครั้งที่ 126
- โสภณธรรม ครั้งที่ 127
- โสภณธรรม ครั้งที่ 128
- โสภณธรรม ครั้งที่ 129
- โสภณธรรม ครั้งที่ 130
- โสภณธรรม ครั้งที่ 131
- โสภณธรรม ครั้งที่ 132
- โสภณธรรม ครั้งที่ 133
- โสภณธรรม ครั้งที่ 134
- โสภณธรรม ครั้งที่ 135
- โสภณธรรม ครั้งที่ 136
- โสภณธรรม ครั้งที่ 137
- โสภณธรรม ครั้งที่ 138
- โสภณธรรม ครั้งที่ 139
- โสภณธรรม ครั้งที่ 140
- โสภณธรรม ครั้งที่ 141
- โสภณธรรม ครั้งที่ 142
- โสภณธรรม ครั้งที่ 143
- โสภณธรรม ครั้งที่ 144
- โสภณธรรม ครั้งที่ 145
- โสภณธรรม ครั้งที่ 146
- โสภณธรรม ครั้งที่ 147
- โสภณธรรม ครั้งที่ 148
- โสภณธรรม ครั้งที่ 149
- โสภณธรรม ครั้งที่ 150
- โสภณธรรม ครั้งที่ 151
- โสภณธรรม ครั้งที่ 152
- โสภณธรรม ครั้งที่ 153
- โสภณธรรม ครั้งที่ 154
- โสภณธรรม ครั้งที่ 155
- โสภณธรรม ครั้งที่ 156
- โสภณธรรม ครั้งที่ 157
- โสภณธรรม ครั้งที่ 158
- โสภณธรรม ครั้งที่ 159
- โสภณธรรม ครั้งที่ 160